fbpx
ทำไมไม่แบนพาราควอต ตีแผ่ทุกเบื้องหลัง กับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

ทำไมไม่แบนพาราควอต ตีแผ่ทุกเบื้องหลัง กับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

[et_pb_section fb_built=”1″ _builder_version=”3.22″][et_pb_row _builder_version=”3.25″ background_size=”initial” background_position=”top_left” background_repeat=”repeat”][et_pb_column type=”4_4″ _builder_version=”3.25″ custom_padding=”|||” custom_padding__hover=”|||”][et_pb_text _builder_version=”3.27.4″]

ชลธร วงศ์รัศมี เรียบเรียง

“หัวหน้า ตรงนี้ชาวบ้านไม่ไหวแล้วนะ เขาไม่กล้าเดินเข้าไปในไร่นา หลังฉีดยา เจอใบหญ้าใบข้าวเกิดแผลบาด ทำให้เกิดโรคเนื้อเน่า กลายเป็นโรคผิวหนังเต็มไปหมด”

ข้างต้นคือถ้อยคำที่ อุบล อยู่หว้า หัวหน้าเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน เอ่ยกับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาโจนเข้าสู่การต่อต้านสารเคมีทางการเกษตรเต็มตัว ทั้งที่สิ่งที่เขาร่ำเรียนมาสมัยเป็นนักศึกษาภาควิชาพืชไร่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือวิธีจับคู่สารเคมีให้เข้ากับพืชแต่ละชนิด

หนึ่งในสารเคมีที่วิฑูรย์ผลักดันให้รัฐ ‘แบน’ มาเกือบ 15 ปี คือ ‘พาราควอต’ สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่เกษตรกรรู้จักกันในชื่อ ‘ยาฆ่าหญ้า’ สารเคมีมีพิษเฉียบพลันสูง ที่ขณะนี้ถูก 53 ประเทศแบน ทั้งประเทศต้นทางผู้คิดค้นอย่างอังกฤษ ผู้ผลิตรายใหญ่อย่างสวิตเซอร์แลนด์และจีน ผู้ใช้รายใหญ่อย่างบราซิลและอเมริกา ฯลฯ

ทว่าในสังคมไทยที่ผู้คนตอบรับกระแสการรักสุขภาพและเกษตรอินทรีย์ จากสถิติพบว่าประเทศไทยซึ่งเล็กกว่าอเมริกา 20 เท่า ปัจจุบันใช้พาราควอตมากกว่าอเมริกา 4 เท่าตัว หากวัดความเข้มข้นในระดับพื้นที่ นับว่าไทยใช้พาราควอตเข้มข้นกว่าอเมริการาว 70 เท่า และจากงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร International Environmental and Public Health ระบุว่านอกจากพาราควอตเป็นอันตรายต่อเกษตรกรผู้คลุกคลีโดยตรง ปัจจุบันยังพบสารพาราควอตตกค้างทั้งในหญิงตั้งครรภ์และในเด็กแรกเกิด

และในเวลาเดียวกัน เกษตรอินทรีย์ในประเทศที่เริ่มต้นหลังไทยอย่างเวียดนาม ศรีลังกา ลาว ฯลฯ เริ่มทิ้งห่างเราไปไกลเรื่อยๆ

เพราะเหตุใด เราจึงแบน ‘พาราควอต’ ไม่ได้ รายการ 101 One-on-One ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ชวน วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ มาเผยเบื้องลึกเกี่ยวกับพาราควอต เปิดเอกสารประกอบการตัดสินใจ ‘ไม่แบน’ ที่รัฐไม่เปิดเผยให้ใครได้อ่าน และแนะนำตัวละครมากมายที่ต้องจดชื่อและจดจำเอาไว้

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

ทำไมถึงต้องแบนพาราควอต

เราเกิดคำถามว่า สิ่งที่เราพยายามทำมาตลอด คือการเพิ่มสัดส่วนเกษตรกรรมยั่งยืน ในภาพรวมทำไมไปไม่ถึงไหน ขณะเดียวกันประเทศเรากลับนำเข้าสารเคมีมากมาย

เรื่องสารเคมีเมืองไทยแย่มากเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในเวียดนาม มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย นโยบายเรื่องนี้ของเขาก้าวหน้ากว่าเราเยอะ สารเคมีหลายตัวที่เพื่อนบ้านแบนบ้านเรายังไม่แบนเลย เป็นตัวชี้วัดที่ดีอย่างหนึ่ง

ส่วนในอเมริกา เดนมาร์ก และประเทศในทวีปยุโรปทั้งหมด มีการปฏิรูปเรื่องสารเคมีโดยการแบนสารเคมีประมาณ 40% ของสารทั้งหมดที่เขาใช้ตั้งแต่ 15-20 ปีก่อน ปรากฏว่าช่วยได้เยอะมาก ประเทศเหล่านี้มีเกณฑ์เลยว่าถ้าสารใดมีปัญหาจะจัดการแบนเลย แต่เมืองไทยยังไม่ทำ

ท้ายที่สุดแล้วการแบนทำให้การถูกนำเข้ามาใช้เป็นเรื่องยาก เพราะถูกทำให้ผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นการแบนที่ต้นทางจึงเป็นเครื่องมือสำคัญของทุกประเทศในการจัดการเรื่องสารเคมีเหล่านี้

แนวโน้มการใช้สารเคมีในสังคมไทยเพิ่มขึ้นเพราะนโยบายสมัย รสช. ที่ยกเลิกภาษีสารเคมีทางการเกษตรด้วยไหม

แนวโน้มการใช้สารเคมีเพิ่มขึ้นตลอดเวลาอยู่แล้ว แทบไม่มีปีไหนที่การใช้น้อยลง แต่ผมอาจบอกไม่ได้ว่าเงื่อนไขนั้นทำให้มีสารเคมีเพิ่มขึ้นหรือเปล่า แต่ว่าเงื่อนไขนั้นเอื้ออำนวยให้ธุรกิจสารเคมีทางการเกษตรอย่างเห็นได้ชัด เพราะนับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา สารเคมีการเกษตรไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้าเลย ต่อมาภาษีมูลค่าเพิ่มของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชก็ไม่มีการเก็บภาษีอีกเลย ด้วยเหตุผลว่าคือการช่วยเหลือเกษตรกร

พอพูดถึงวัตถุอันตรายเราจะนึกสารเคมี แต่เราเคยมีช่วงหนึ่งที่รัฐประกาศให้สมุนไพรหลายชนิดเป็นวัตถุอันตราย ตอนนั้นเกิดจากอะไร

ปี 2552 มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้พืชสมุนไพรทั้งหมด 13 ชนิด คือขิง ข่า ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน พริก สะเดา ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 1 นะครับ ถ้าเป็นสมัยนี้เราคงสงสัยว่าเอ๊ะ นี่เป็น fake news หรือเปล่านะครับ แต่ปรากฏว่าเป็นเรื่องจริง

ช่วงนั้นเกษตรกรเริ่มนำสมุนไพรมาใช้กำจัดศัตรูพืชแทนสารเคมีเป็นสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ คณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยข้อเสนอของกรมวิชาการเกษตรจึงประกาศให้สมุนไพรเหล่านั้นเป็นวัตถุอันตราย ใครก็ตามผลิตสมุนไพรในรูปแบบบด แห้ง หมัก บรรจุซอง ฯลฯ เพื่อจำหน่ายในท้องถิ่น ถ้าคุณไม่ไปแจ้งหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตร คุณมีความผิด โดยทางคณะกรรมการฯ อ้างว่าต้องการคุ้มครองเกษตรกรให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดี

หลังจากประกาศนี้ออกไปก็เป็นเรื่องใหญ่เลยนะครับ มติชน บางกอกโพสต์ ผู้จัดการ ลงข่าวกันหมด ผมทราบข่าวนี้ทีหลัง กลุ่มที่ทราบก่อนคือกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเห็นว่าการประกาศดังกล่าวทำลายการพัฒนาสมุนไพร ตอนนั้นประกาศเป็นราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่โดยเสียงคัดค้านของประชาชน ทำให้กรรมการวัตถุอันตรายต้องเรียกประชุมเพื่อทบทวน อธิบดีกรมวิชาการเกษตรขณะนั้นต้องออกมาขอโทษประชาชน

สิ่งที่เชื่อมโยงกับปัจจุบันคือ หลายคนที่ผลักดันให้สมุนไพรเป็นวัตถุอันตราย และสกัดกั้นการนำสมุนไพรมาใช้แทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในสมัยนั้น คือคนเดียวกันกับกรรมการวัตถุอันตรายฯ ชุดปัจจุบันที่บอกว่าให้ใช้พาราควอตต่อได้ แต่ถ้าเป็นสมุนไพรต้องควบคุม

นี่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คุณวิฑูรย์และทางไบโอไทยระดมเครือข่ายมาขับเคลื่อนการแบนสารเคมีที่อันตรายร้ายแรง ?

ใช่ครับ และหลังปี 2552 เราทำสำรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างในผัก ผลไม้ และในอาหาร เราพบความจริงหลายอย่างซึ่งสะท้อนความไม่รับผิดชอบและการปล่อยปละละเลยเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของหน่วยงานรัฐ ราชการบอกว่าผักผลไม้ของประเทศไทยปลอดภัย สารตกค้างอาจไม่ถึง 3-5 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่าง บางกรมบอกว่าไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ

แต่ปีแรกที่เราเริ่มทำสำรวจ เราสุ่มตรวจสารแค่เพียง 4 กลุ่มเท่านั้น รวมแล้วไม่เกิน 10-15 เปอร์เซ็นต์ของสารเคมีที่เราใช้ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนราว 400 สาร และนำเข้าจริงประมาณ 200 สาร

จากผลการตรวจเราพบว่าผักผลไม้ที่เรากินอยู่ทุกวัน เกินครึ่งมีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน ส้มทุกผลที่เราซื้อในประเทศนี้มีสารเคมีเกินมาตรฐานทั้งสิ้น และสารเคมีที่ใช้ในส้มมีถึง 10 ชนิดขึ้นไป ผักอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน นั่นคือสิ่งที่เราพบ ผลักดัน และกดดัน

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

จากผลการสำรวจนี้ทำภาคธุรกิจปรับตัวมากขึ้นไหม

ตอนแรกที่เราทำเรื่องนี้ เราเชิญองค์กรธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) มาร่วมรับฟังปัญหา ตอนแรกเหมือนเขาจะไม่ยอมรับเรา แต่ด้วยเหตุผล และด้วยห้องปฏิบัติการที่เราใช้น่าเชื่อถือ ผ่านการรับรองมาตรฐานถูกต้อง เมื่อเราเรียกร้องให้เขามีมาตรการจัดการไม่ให้มีสารตกค้างมากขนาดนี้ เราพบว่าในช่วง 3-4 ปีหลังจากนั้น การตกค้างของผักผลไม้โดยเฉพาะในห้างเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ

นับว่าภาคเอกชนพอคุยกันได้ แต่ภาคราชการบางกรมเราเจอหนักมาก บางหน่วยงานขู่จะฟ้องเรา อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่อยู่ในช่วงประกาศให้สมุนไพรเป็นวัตถุอันตราย ขู่ว่าจะฟ้อง Thai-PAN (Thailand Pesticide Alert Network : เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช) ท้ายที่สุดเป็นแค่คำขู่เพราะฟ้องอะไรเราไม่ได้ เรามีหลักฐานชัดเจน

ปัจจุบันเรายกระดับขึ้นไปอีก จำนวนที่เราส่งตรวจแต่ละปีมากขึ้น จากเคยตรวจ 30-50 ตัวอย่าง เพิ่มเป็น 100 ตัวอย่าง และใช้ห้องแล็บต่างประเทศซึ่งได้มาตรฐานและมีขีดความสามารถในการตรวจสูงขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันเราตรวจประมาณ 400 สาร เรียกได้ว่าอาจมากกว่าทุกหน่วยงาน

ผลตรวจดีขึ้นเป็นลำดับ ผู้บริโภคก็ตื่นตัวมากขึ้น แต่ทำไมคุณวิฑูรย์ถึงยังต้องทำงานหนักอยู่

ผมขอย้อนไปก่อนที่เราจะเสนอให้มีการแบนพาราควอตในปี 2555 ผมอยากชวนมองให้เห็นภาพว่าการตอบสนองทางนโยบายแต่ละยุคเป็นอย่างไร เราเสนอให้แบนสาร 4 ตัว ในสมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สมัยนั้น ดร.ยุคล ลิ้มแหลมทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ คุณณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่ดูแลกรมวิชาการเกษตร

สาร 4 ตัวที่ว่านี้ คือ คาร์โบฟูราน, เมโทมิล, ไดโครโตฟอส, อีพีเอ็น ซึ่งต่างประเทศทั่วโลกแบนไปหมดแล้ว แต่ไทยยังไม่แบน ‘คาร์โบฟูราน’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ฟูราดาน’ สมัยก่อนถ้าหยอดไปก้นหลุมปลูกแตงโม ช้างกินช้างล้มเลยนะครับ ปรากฏว่าในสมัยนั้น ตอนที่เราไปยื่นหนังสือที่กระทรวงเกษตรฯ คุณณัฐวุฒิโทรมาหาว่าได้รับเรื่องแล้ว วันนั้นเขาไม่อยู่นะ แต่ว่าเขาจะรับเรื่องนี้ ปฏิกิริยาเป็นไปในทางบวกมาก แต่ที่สุดแล้วในยุคนั้นเขาแบนได้สองตัว คืออีพีเอ็นกับไดโครโตฟอส แต่อีกสองตัวคือคาร์โบฟูราน เมโทมิล  มีการเสนอไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้แบน แต่อนุกรรมการพิจารณาเรื่องนี้เป็นคนกลุ่มเดียวกับที่ดูเรื่องพาราควอตไม่ยอมแบน

คุณดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรในขณะนั้นบอกว่าไม่แบนไม่เป็นไร แต่กรมฯ จะไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียน ซึ่งไม่ขึ้นทะเบียนก็ขายไม่ได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการแบน แต่ถึงจุดหนึ่งเขาอาจมาขอขึ้นทะเบียนใหม่ได้ ถ้ารัฐบาลยุคหลังอนุญาต

เท่ากับว่าข้อเสนอของเราตั้งแต่ปี 2555-2557 ให้แบนสารพิษ 4 ตัวนี้ สิ่งที่เราได้รับคือ แบน 2 ตัว อีก 2 ตัวไม่ขึ้นทะเบียน ซึ่งถ้าใครขายถือว่าผิด เพราะกฎหมายระบุให้ไม่สามารถมีไว้ในครอบครองได้ หลัง พ.ศ. 2557 การแบนสารสองตัวทำให้แทบจะไม่เจอการตกค้างของสารพวกนี้เลย

หลังรัฐประหารปี 2557 สถานการณ์เรื่องนี้เปลี่ยนไปอย่างไร

เราพบว่าหลังรัฐประหารสิ่งที่เราได้รับแตกต่างจากเดิม ในปี 2555-2557 การผลักดันให้แบนทำโดย Thai-PAN ตามลำพัง โดยที่เราไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสุขภาพอย่างกระทรวงสาธารณสุขเลย แต่ว่าสามารถมีผลในทางปฏิบัติได้เป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง แต่ในปี 2559 เหตุการณ์หลายอย่างแตกต่างไปมาก

ผมยกตัวอย่างว่าการเสนอให้แบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเสตที่เราเริ่มผลักดันมาในยุค คสช. ปรากฏว่ากระทรวงสาธารณสุขเอาด้วย เป็นเจ้าภาพหลักเลย ท่านรัฐมนตรี ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประกาศตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 ว่าจะต้องแบนสารสองตัวนี้ภายในปี 2562 ให้ได้

ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 คณะทำงานรวม 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมติให้มีการแบน และมีข้อเสนอว่าขณะที่ยังไม่แบน กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตรไม่ควรจะอนุญาตให้มีการต่อทะเบียน

สภาเกษตรกรแห่งชาติซึ่งเป็นตัวแทนของเกษตรกรซึ่งได้จากการสรรหาภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ก็ประกาศเอาด้วย สมัชชาสุขภาพซึ่งมาจากเครือข่ายของคนจำนวนมากในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงภาคธุรกิจก็ประกาศเอาด้วย แต่ตอนนี้ผ่านมาปีกว่าแล้วยังแบนไม่ได้

ผมขอเล่าเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ไม่เคยเล่าในที่สาธารณะมาก่อนเลย แต่วันนี้จำเป็นต้องเล่าเรื่องนี้  คือหลังจาก กระทรวงสาธารณสุขมีมติว่าจะต้องแบนสองสารนี้ ผมได้รับเชิญจากคุณชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในช่วง พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ไปพบในกรรมวิชาการเกษตร

ในที่ประชุมนั้นมีทั้งคุณสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ซึ่งปัจจุบันเป็นเลขาสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) มีคุณพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการ มกอช. คนปัจจุบัน และมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมวิชาการเกษตรหลายคนมานั่งพูดคุยด้วย

ผมจำได้ชัดเจนว่าผมเสนอคุณชุติมาว่า ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขสั่งให้แบน เราอยากเห็นกระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการเรื่องนี้ในฐานะที่เป็นคนดูแล และเป็นหนึ่งในกรรมการวัตถุอันตราย คุณชุติมาพูดเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากว่า “อย่างสารบางตัวที่ประเทศต้นทางเขาไม่ใช้แล้ว เราควรไม่ใช้แล้วใช่ไหม” ท่านตอบรับเลยว่าควรต้องแบน แล้วก็หันไปหาอธิบดี รองอธิบดี แสดงให้เห็นว่าคุณชุติมาที่ดูแลกรมวิชาการเกษตรเห็นด้วยว่าควรจะแบน เห็นด้วยกับกระทรวงสาธารณสุข

แต่แล้วปรากฏว่าเมื่อเดือนตุลาคม 2560 คุณสุวิทย์ ไชยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกลับอนุญาตให้บริษัทซินเจนทา ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ บริษัทสารเคมีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ต่อทะเบียนพาราควอตได้

ลองเปรียบเทียบดูสิครับว่า สมัยก่อนหน้านี้ คุณดำรงค์ จิรสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรในสมัยรัฐบาลเลือกตั้ง ปฏิเสธที่จะต่อทะเบียน ทั้งที่เป็นข้อเสนอจาก Thai-PAN เพียงแค่องค์กรเดียว แต่สมัยนี้เป็นข้อเสนอจากทุกฝ่าย รวมทั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรก็เห็นด้วยที่จะให้แบน แต่ว่า คุณสุวิทย์ ไชยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรคนปัจจุบัน กลับอนุญาตให้ต่อทะเบียน

ผมตั้งคำถามว่า คนที่ให้ไฟเขียวในเรื่องการต่อทะเบียนต้องใหญ่กว่าคุณชุติมา ซึ่งนับว่าเป็นการขัดกับนโยบายของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ

ผมคิดว่าประชาชนควรจะได้ทราบเรื่องนี้ว่านี่เป็นเหตุผลหนึ่งหรือเปล่า ที่ผลักดันให้การแบนพาราควอตถึงทำได้ยากเย็นเข็ญใจเหลือเกิน

หลังคุณสุวิทย์ ไชยเกียรติยศ ให้ซินเจนทาต่อทะเบียนจำหน่ายพาราควอตในเดือนตุลาคม ช่องทางเดียวที่เราจะผลักดันเรื่องการแบนได้คือเสนอเรื่องต่อกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งเราได้นำเสนอไปในเดือนพฤศจิกายน 2560 จากนั้นกรรมการวัตถุอันตรายใช้เวลาพักใหญ่ จนกระทั่งเดือนธันวาคมจึงตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาคณะหนึ่งที่มีสมาชิกทั้งหมด 14 คน เพื่อศึกษาหาข้อยุติว่าจะแบนหรือไม่แบนพาราควอต

ตรงนี้น่าสนใจมาก เพราะตอนที่กระทรวงเกษตรฯ บอกให้ต่อทะเบียนพาราควอต กระทรวงเกษตรฯ บอกเหตุผลว่าเป็นเพราะกระทรวงเกษตรฯ ไม่มีความรู้เรื่องผลกระทบต่อสุขภาพเพียงพอ จึงเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาว่าจะแบนหรือไม่

โครงสร้างของคณะกรรมการฯ ตอนนั้นประกอบไปด้วยใครบ้าง

โครงสร้างของคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีทั้งหมด 19 คน เราจะพบว่าใน 3 คนนี้ เกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชน 1 คน อีก 2 คนเป็นอดีตข้าราชการในกรมวิชาการเกษตร ซึ่งหลังออกจากราชการก็มาทำงานให้กับ ‘สมาคมอารักขาพืชไทย’ ซึ่งเป็นสมาคมของบริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืช คนหนึ่งเป็นผู้จัดการสมาคม อีกคนเป็นตัวแทนของสมาคม ตอนเกิดกรณีผลักดันให้ปลูกพืช GMO อดีตข้าราชการคนนี้ซึ่งอยู่ในกรรมการวัตถุอันตราย ก็เป็นหนึ่งตัวแทนของสมาคมอารักขาพืชไทยไปผลักดันพืช GMO ในสมัยพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ด้วย

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ เมื่ออยู่กระทรวงพาณิชย์ ก็ผลักดันเรื่องจีเอ็มโอ ต่อมาย้ายมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ก็เกี่ยวข้องกับการต่อทะเบียนให้สารพิษที่ถูกเสนอให้แบน

ใช่ครับ หลังจากพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ ย้ายจากกระทรวงพาณิชย์เข้ามาดูแลกรมวิชาการเกษตรก็มีการต่อทะเบียนพาราควอต ซึ่งเมื่อเราเทียบกับมาตรฐานที่เราเห็นในยุคของรัฐบาลก่อนหน้านี้ ผมคิดว่าน่าตั้งคำถามมากในเชิงความสัมพันธ์ คืออาจมีนโยบายที่โอนเอียงไปทางที่เป็นประโยชน์กับบริษัทเอกชนอย่างชัดเจน

ส่วนคณะกรรมการอีกคนเป็นผู้จัดการห้องเรียนเคมีของ บริษัท ดาวเคมิคอล ซึ่งขายคลอไพริฟอส เพราะฉะนั้นกรรมการชุดนี้ที่เป็นคนเสนอให้ตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อทำการศึกษาว่าจะแบนหรือไม่แบนพาราควอตและคลอไพริฟอสมีสามคนที่มีบทบาทที่ผมว่าดังกล่าว ดังนั้นไบโอไทยจึงประเมินตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคมแล้วว่า มีโอกาสไม่ถึง 30% ที่กรรมการวัตถุอันตรายจะเสนอให้มีการแบนพาราควอต

เพราะเมื่อมาดูโครงสร้างของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจที่ว่า ล้วนแล้วแต่มีตัวแทนจากกรมวิชาการเกษตรและข้าราชการในกระทรวงเกษตรแทบทั้งสิ้น คนที่ไม่ได้อยู่ในกระทรวงเกษตรฯ แต่มาจากสมาคมพิษวิทยาก็ปรากฏว่าเป็นคนใกล้ชิดกับบริษัทเอกชน

ถ้าใครย้อนไปดูการประชุมของสมาคมฯ ที่ว่าก็จะเห็นการจัดประชุมโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่เชียร์พาราควอตเข้ามาในการประชุม ด้วยโครงสร้างเหล่านี้จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแบนพาราควอต

 

แต่น่าสนใจว่า ใน พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ในมาตรา 12 เขียนไว้ชัดเจนว่ากรรมการผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนต้องไม่สามารถหรือไม่ได้รับอนุญาตให้โหวต ทำไมถึงมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น

นี่คือเหตุผลจริงๆ ที่ประมาณ 700 องค์กรที่เรียกร้องให้แบนพาราควอต เรียกร้องให้มีการทบทวนเรื่องนี้ชัดเจน แต่ผมอยากสรุปตรงนี้นิดหนึ่งว่า เราเห็นบทบาทฝ่ายการเมืองแต่ละยุคที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายเรื่องของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชว่าไปสู่ทิศทางไหน ในแง่นี้ชัดเจนว่ารัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งชุดที่แล้ว มีจุดยืนในการดำเนินนโบบายที่ปกป้องประโยชน์และสุขภาพของประชาชนมากกว่ารัฐบาลยุคปัจจุบัน เทียบกับยุคนี้ตอนนี้มาตรฐานย่ำแย่กว่าอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม เราเห็นโครงสร้างของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งเป็นคนกลุ่มเดียวกันที่อยู่ในยุคที่ประกาศให้สมุนไพรเป็นวัตถุอันตราย และปัจจุบันก็ประกาศให้ใช้พาราควอตต่อ คนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มเดียวกัน และมีอำนาจในการตัดสินใจ คณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ก็เป็นคนกลุ่มเดียวกัน

เพราะฉะนั้นโดยกลไกของระบบราชการไม่ว่ายุคก่อนหรือยุคนี้ก็เหมือนกัน แทบจะไม่แตกต่างกัน เรียกได้ว่าอิทธิพลของบริษัทยักษ์ใหญ่กำหนดตัวเนื้อหาของการตัดสินใจทางนโยบายร่วมอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นการจะแบนพาราควอตหรือไม่ การจะแบนนโยบายเรื่องสารเคมีมีอิทธิพลของกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหลายชั้น

ผมอยากให้ดูเอกสาร นี่คือเอกสารของกรมวิชาการเกษตรที่เสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายนะครับ ถ้าท่านดูที่เขียนวงเอาไว้นะครับ จะเห็นว่าเป็นการอ้างข้อมูลของ US-EPA (United States Environmental Protection Agency : องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งอเมริกา) เมื่อปี 1997 ซึ่งปัจจุบันผ่านมาแล้ว 22 ปี เหตุผลที่กรมวิชาการเกษตรเลือกข้อมูลเก่าขนาดนี้ไปเสนอต่อกรรมการว่าด้วยวัตถุอันตรายก็เพียงเพื่อจะบอกว่า พาราควอตไม่ได้มีพิษอะไรร้ายแรง มีพิษแค่ปานกลาง

จริงๆ แล้วมีเอกสารใหม่กว่านี้ไหม

แน่นอนครับ ทั้งๆ ที่มีเอกสารใหม่กว่านี้ แต่เขาไม่ใช้ และหนังสือที่กรมวิชาการเกษตรใช้ในการเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อจะบอกว่าแบนหรือไม่แบนพาราควอต เป็นหนังสือที่จัดทำโดยองค์กรหนึ่งคือ BCPC (British Crop Protection Council) เป็นองค์กรซึ่งฟังดูเป็นวิชาการมาก

แต่เมื่อเราดูโครงสร้างองค์กร เราจะพบว่าคนที่เป็นประธานของ BCPC คือ Collin Ruscoe เป็นอดีตผู้บริหารของซินเจนทา เจ้าของพาราควอต และในโครงสร้างคณะกรรมการ มีหัวหน้าคณะทำงานวัชพืชชื่อ Barrie Hunt จากบริษัทมอนซานโต้ เจ้าของไกลโฟเสต และอีกท่านหนึ่งคือ Jason Tatnell คณะทำงานวัชพืชจากบริษัทซินเจนทาเช่นเดียวกัน

การใช้ข้อมูลบรรษัท เพื่อไม่แบน พาราควอต

เอกสารเล่มนี้เป็นเอกสารที่วิชาการมากๆ เป็นแหล่งอ้างอิง ซึ่งกรมวิชาการเกษตรก็ใช้เล่มนี้ หนึ่ง คุณใช้เอกสารเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว สอง คุณใช้เอกสารของบรรษัทเอกชน นี่คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังเหตุผลว่า ทำไมเราถึงแบนพาราควอต ไกลโฟเสต หรือคลอร์ไพริฟอสไม่ได้

คณะกรรมการวัตถุอันตรายทำไมถึงเชื่อเอกสารนี้ 

นี่เป็นคำถามที่ประชาชนควรหาคำตอบนะครับ ส่วนผมได้คำตอบแล้วว่า เพราะเหตุว่าคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมาก็มาจากกรมวิชาการเกษตรและอดีตข้าราชการกรมวิชาการเกษตร คนเหล่านี้เกี่ยวข้องมาตั้งแต่ยุคที่มีการประกาศให้สมุนไพรเป็นวัตถุอันตรายเมื่อปี 2552 คนเหล่านี้คือคนที่ไม่แบนคาร์โบฟูราน จนกรมวิชาการเกษตรขณะนั้นประกาศที่จะไม่ต่อทะเบียนเอง

ทราบไหมครับว่าคาร์โบฟูรานหรือฟูราดานนั้น บริษัทผู้ผลิตคือ FMC อเมริกาต่อสู้เพื่อจะขึ้นทะเบียนในอเมริกาไม่สำเร็จเพราะว่ามันมีพิษร้ายแรงมาก จนในที่สุดศาลสูงสหรัฐ ตัดสินว่ามันเสี่ยงเกินกว่าจะอนุญาตให้ใช้ได้ เขาถึงกับต้องสมัครใจถอนสินค้าตัวนี้ออกจากตลาด แต่คณะกรรมการในประเทศไทยกลับไม่แบน และคนเหล่านี้ก็อยู่ในคณะกรรมการชุดนี้นั่นเอง

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

ตอนที่ทาง 700 กว่าองค์กรไปยื่นหนังสือที่หน้าทำเนียบฯ คุณกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่าอยู่ๆ จะกลับไปทบทวนมตินั้นทำไม่ได้ ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาใหม่ทั้งหมด ฟังแล้วเป็นอย่างไร

วันนั้นสิ่งที่ท่านรัฐมนตรีกฤษฎาพูดมีอยู่ 2 เรื่องสำคัญ ซึ่งขัดแย้งกันเอง คือท่านบอกแล้วว่าได้ประชุมกันแล้วในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าการตัดสินใจเรื่องพาราควอตจะตัดสินใจโดยเหตุผลเรื่องสุขภาพเป็นสำคัญ ผู้ที่ชุมนุมในวันนั้นก็ฮือฮากัน พากันปรบมือ มีความสุข ที่มีการบอกหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเรื่องนี้

ขณะเดียวกันท่านบอกว่ากระทรวงเกษตรฯ ขอเป็นเจ้าภาพ อันนี้ก็ตกใจขึ้นมาหน่อย ทั้งๆ ที่เอาเรื่องสุขภาพเป็นหลัก แต่ทำไมเอากระทรวงเกษตรฯ เป็นเจ้าภาพ ทั้งๆ ที่เขาบอกว่าตัวเองไม่มีความรู้ และคนที่มาดำเนินการเรื่องนี้ในกระทรวงเกษตรฯ จะเป็นใครก็น่าตกใจมาก เพราะหลายคนที่เราเห็นก็เกี่ยวข้องกับธุรกิจเคมี แล้วก็อีกอย่างการทบทวนนั้นจะต้องดูว่าข้อมูลนั้นใหม่หรือไม่ใหม่ ถ้าไม่ใหม่อาจไม่ทบทวนนะครับ ทีนี้ก็ตลกร้ายสิ เพราะว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายและอนุกรรมการเฉพาะกิจไม่เคยเปิดเผยตัวเอกสารการพิจารณาเลย จนบัดนี้เป็นความลับ

อันที่เราโชว์คือแอบหลุดออกมา เพราะว่ายังเป็นความลับอยู่

ใช่ครับ มีคนที่เห็นว่าประเทศชาติจำเป็นต้องรู้เรื่องนี้เลยให้เราได้เห็นบ้างบางส่วน แต่ไม่ทั้งหมด นั่นแสดงว่าที่คุณไปประชุมกัน เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีการเสนอข้อมูลใหม่อะไรบ้าง เพราะเท่าที่เราเห็นมันเก่ามากๆ เมื่อ 21 ปีที่แล้ว

เพราะฉะนั้นตอนนี้เรานำเสนออะไรไปก็ใหม่หมด แต่ว่าเราเสนออะไรไปแล้วใครจะเป็นคนตัดสินใจ ใครจะบอกว่าใหม่ไม่ใหม่ เพราะคุณไม่ให้เราเห็นเลยว่าเอกสารในการตัดสินใจมีรายละเอียดอะไรบ้าง เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครยกมือแบบไหนยังไง ทุกคนไม่มีทางได้เห็น แม้แต่เมื่อกรมวิชาการเกษตรอนุญาตให้มีการต่อทะเบียนพาราควอตเมื่อตุลาคม ปี 2560 โดยเหมือนการตบหน้ากระทรวงสาธารณสุข Thai-PAN ทำหนังสือขอดูว่าคุณให้ทะเบียนบริษัทไหนไปบ้าง ด้วยเหตุผลอะไร ก็ถูกปฏิเสธโดยกรมวิชาการเกษตร

ตอนนี้กลายเป็นว่าการพิจารณาเรื่องนี้ทั้งหมดกลายเป็นความลับที่ไม่ต้องการให้ประชาชนทราบ เพราะฉะนั้นต้องดูว่าคำประกาศที่จะให้ทบทวนภายใน 60 วัน เป็นไปได้หรือเปล่า แต่แน่นอนว่า 700 กว่าองค์กรประกาศชัดเจนว่าถ้าไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย โปร่งใส และปกป้องประโยชน์ประชาชน จะมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องแน่ๆ และขณะนี้เครือข่ายหลายเครือข่ายจะเคลื่อนไหวโดยอิสระ เพื่อปกป้องสุขภาพและวิถีของเขา

Thai-PAN หรือ NGO ที่ออกมาต่อต้านได้รับเงินจากบริษัทสารเคมีอีกเจ้าหนึ่งที่เป็นคู่แข่งกับพาราควอตหรือเปล่า 

จริงๆ ตอนที่เราเคลื่อนไหวเรื่อง GMO ก็มีคนบอกว่าเรารับเงินมาจากบริษัทสารเคมีเพื่อต่อต้านเรื่อง GMO พอเราทำเรื่องสารเคมี คำถามนั้นก็หายไปเลย แต่มีคำถามใหม่ว่าต้านพาราควอต เพราะได้ประโยชน์จากการเสนอชื่อสารอื่นหรือเปล่า

ผมเรียนเลยว่า 700 องค์กรที่เคลื่อนไหวครั้งนี้ ไม่มีองค์กรใดเลยที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายและมีผลประโยชน์กับสารพิษ ถ้าไปดูในโครงสร้างของ 700 องค์กร ส่วนใหญ่มาจากฝั่งที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรอินทรีย์ อีกส่วนหนึ่งมาจากเครือข่ายผู้บริโภคและสุขภาพ เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้  ถ้าเราตามดูจุดยืนเขาจะไม่มีทางสนับสนุนเรื่องการใช้สารเคมีเลย ไม่ว่าจะเป็นสารใดก็ตาม

ถ้าประชาชนเลิกใช้พาราควอตจะเอาสารอะไรมาใช้แทน

อะไรบ้างที่ใช้แทนพาราควอต ผมต้องตอบว่าที่จริงเราเสนอทางเลือก 3 ทางใหญ่ๆ ทางที่ 4 ถึงจะเป็นสารเคมีซึ่งเป็นทางที่กรมวิชาการเกษตรเสนอมา

ทางเลือกที่หนึ่ง เราเสนอให้มีการใช้พืชคลุมดิน พืชคลุมดินไม่ไม่ใช่แค่เพียงควบคุมวัชพืชแต่ว่าจะสร้างปุ๋ยด้วย จากงานศึกษาของกรมวิชาการเกษตร โดยสถาบันวิจัยพืชสวน พบว่าตอนนี้เกษตรกรต้องใช้พาราควอตมากในปาล์มกับยางพารา แต่ทราบไหมครับว่าถ้าใช้พืชคลุมดินซึ่งต้นทุนอาจสูงขึ้นบ้างในระยะแรกจากการเพิ่มแรงงาน แต่เราจะได้ประโยชน์ปุ๋ยธรรมชาติที่เกิดจากพืชคลุมดิน ซึ่งสถาบันวิจัยพืชสวนคำนวณแล้วครับว่าใน 5 ปีข้างหน้า เราจะได้มูลค่าปุ๋ยธรรมชาติเพิ่มขึ้นประมาณ 175,000 ล้านบาทภายในระยะเวลา 5 ปี

กรมวิชาการทางเกษตรไม่เอาผลการศึกษานี้มาประกอบการตัดสินใจบ้างเลยหรือ

ผมก็แปลกใจ ทั้งที่ผลการศึกษานี้มาจากกรมวิชาการทางเกษตรเอง

ทางเลือกที่สอง พืชเช่นอ้อยที่ใครๆ มักอ้างว่าต้องใช้สารพาราควอต ไม่ใช้ไม่ได้ จากงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรเองที่ทำในจังหวัดใหญ่ๆ ที่ปลูกอ้อย พบว่าทางออกที่ดีกว่าพาราควอตคือการใช้ ‘แทรคเตอร์ติดโรตารี’ หรือจอบหมุน ปรากฏว่าผลผลิตดีกว่า ต้นทุนน้อยกว่า หรือถ้าเป็นเกษตรกรรมขนาดเล็กก็ใช้ ‘รถไถเดินตาม’ จริงๆ มี ‘รถไถจิ๋ว’ ของชาวบ้านที่เขาพัฒนาขึ้นมาด้วย ไว้ใช้ในแปลงมันสำปะหลังกับข้าวโพด จากการทำสำรวจหากใช้วิธีเหล่านี้การใช้พาราควอตจะลดลงเหลือประมาณ 1 ใน 4 รถไถจิ๋วนี่เป็นนวัตกรรมของชาวบ้านเลยนะครับ ถ้าเราแบนพาราควอต จะสร้างงานมหาศาล สร้างรายได้ ลดผลกระทบต่อสุขภาพไปด้วย

ทางเลือกที่สามคือการจัดการระบบการปลูกพืช บางทีคุณไม่ต้องใช้สารเคมีเลย อย่างในสวนยาง งานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พบว่า ถ้าคุณไม่ปลูกยางเชิงเดี่ยว คุณปลูกแบบผสมผสาน คุณไม่ต้องจำกัดวัชพืช แล้วคุณจะได้กำไรมากด้วย ปัจจุบัน รศ.ดร.สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์​ มหาวิทยลัยสงขลานครินทร์ เอาราคายางตอนสูงๆ ไปคิด ปรากฏว่าก็ยังสู้ระบบเกษตรผสมผสานไม่ได้

ทางที่สี่จึงค่อยไปหาสารเคมี ด้วยเหตุที่พวกเราทำเกษตรอินทรีย์ พวกเราไม่ได้แนะนำ แต่กรมวิชาการเกษตรแนะนำเอง กรมวิชาการการเกษตรส่งตัวแทนท่ามกลางคณะอนุกรรมการหลักของสารที่มีความเสี่ยงสูง เสนอให้มีการใช้สารที่เป็นสารทางเลือก เป็นสารเคมีอีกตัวของบริษัทไบเออร์-มอนซานโต้ ที่รวมตัวกันแล้ว ตัวนี้แพงกว่าพาราควอตประมาณ 4-5 เท่า แต่จากงานวิจัยที่มาเลเซียกับอินโดนีเซียทำพบว่า ได้ผลเหมือนพาราควอตในปริมาณที่ใช้น้อยกว่า 5 เท่า ถ้าคิดดูแล้วมันจะถูกกว่า เพราะควบคุมได้ดีกว่า

บริษัทอะไรนำเข้าพาราควอต

บริษัทใหญ่สุดคือบริษัทซินเจนทา บริษัทนี้มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวต่อต้านการแบนพาราควอต เมื่อเช้านี้อดีตนักการเกษตรคนสำคัญในกรมส่งเสริมการเกษตรที่ปัจจุบันเป็นคอลัมน์นิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์หลายหัว บอกข้อมูลผมว่าคุณวิฑูรย์ มีการลงขันกันนะครับ 1,500 ล้าน สำหรับต้านการแบนพาราควอต

แต่มูลค่าของสารเคมีกำจัดวัชพืชทั้งหมด มูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 6-8 หมื่นล้านบาทต่อปี พาราควอตมีการนำเข้ามาคิดเป็นประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของสารเคมีทั้งหมด เท่ากับมีมูลค่าราว 18,000 ล้านบาทต่อปี

การต่อทะเบียนครั้งหนึ่งทำให้เขาอยู่ได้ 6 ปี เพราะฉะนั้นการต่อทะเบียนเมื่อเดือนตุลาคม 2560 ถ้าหากบริษัทเหล่านี้ผลักดันทุกวิถีทาง ลงทุนทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ทะเบียนขึ้นมา มันก็คุ้มค่ามากๆ ที่จะจ่าย 1,500 ล้านบาทใช่หรือไม่?

ที่สำคัญกว่านั้นคือหากว่าประเทศไทยแบน จะกลายเป็นโดมิโนไปยังประเทศอื่น เพราะฉะนั้นบรรษัทต่างๆ ต้องยึดตลาดในประเทศไทยให้ได้

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

อยากให้คุณวิฑูรย์วิเคราะห์ว่าทำไมนโยบายรัฐจึงสนับสนุนกลุ่มธุรกิจใหญ่มากกว่าผู้บริโภค

ถ้าในยุคนี้ เราต้องไปดูโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร นี่คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังนโยบายและการตัดสินใจทางนโยบาย ดูจากภาพนี้ครับ สิ่งที่เห็นอยู่อธิบายว่าทำไมการแบนพาราควอตถึงทำได้ยากขนาดนั้น

นี่คือประชารัฐภาคเกษตรนะครับ เราเห็นผู้เล่นที่เป็นตัวแทนของบริษัทมอนซานโต้ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการจากไบโอเทค ยืนอยู่เคียงข้างกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่อยู่ด้านหน้าคือคนจากซินเจนทาซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากพาราควอต และอีกท่านหนึ่งคือตัวแทนจากยักษ์ใหญ่ของบริษัทสารเคมี โครงสร้างเหล่านี้เองที่อยู่เบื้องหลังการกำหนดนโยบายการเกษตรหลายยุคหลายสมัย

เพราะฉะนั้นการตัดสินใจเรื่องจะแบนหรือไม่แบน ในประเทศไทยหลายยุคที่ผ่านมาก็เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้เป็นสำคัญมากกว่ามาจากผู้บริโภคหรือเกษตรกรซึ่งต้องรับความเสี่ยงเป็นกลุ่มแรก

ไม่ใช่แค่โครงสร้างทางการเมือง หรือระบบรัฐสภาเท่านั้น ภาคราชการของเราก็สัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มทุนมาก บริษัทยักษ์ใหญ่ก็เอาข้าราชการมาทำงาน ตอนรับราชการอยู่ก็เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชน  กรรมการในสมาคมวัตถุอันตรายที่ปัจจุบันผลักดันพาราควอต ตอนรับราชการก็ผลักดันกฎหมายพันธุ์พืช GMO ที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ อีกคนหนึ่งก็เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทสารเคมี เมื่อคุณออกจากข้าราชการก็มาทำงานให้กับบรรษัทเอกชนข้ามชาติ แล้วบรรษัทก็มีกลไกที่คุมกลไกรัฐอีกที เพราะว่าคุณก็ยังมาอยู่ในคณะกรรมการวัตถุอันตราย

การที่เสียงของทุนใหญ่ดูเหมือนจะดังกว่าเสียงของประชาชน เป็นเพราะเราตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไม่ได้ด้วยหรือเปล่า

ผมพูดได้เลยว่า ในรัฐบาลก่อนหน้านี้ เราเคลื่อนไหวโดยไปยื่นหนังสือกันที่กระทรวงเกษตรฯ ประมาณ 30 คน แต่เราได้ผลตอบรับมา แต่ปัจจุบันเราเคลื่อนไหวกว่า 700 องค์กร เมื่อต้นเดือนมิถุนายนเราชุมนุมกันประมาณ 300 คน ยื่นหนังสือใน 50 กว่าจังหวัดทั่วประเทศ แต่การตอบรับเหมือนที่เราเห็น เรายังไม่เห็นผล

 

เมื่อเป็นอย่างนี้ ผู้บริโภคจะดูแลตัวเองอย่างไรในสังคมไทยที่อาหารเต็มไปด้วยสารพิษ

ตอนนี้สิ่งที่ดีที่สุดกลายเป็นว่าเราต้องปลูกพืชผักเองถ้ามีที่ดิน แต่แน่นอนว่าเราอยู่ในเมืองที่ดินหาได้ยากขึ้นทุกที เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรทำคือต้องสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มเกษตรกรที่เขาผลิตเชิงนิเวศรูปแบบต่างๆ หรือเลือกผักที่มาจากท้องถิ่นก็จะดีขึ้นหน่อย เช่น พวกผักยืนต้น เป็นต้น

แต่อย่าไปเชื่อพวกผักท้องถิ่นที่กลายเป็นผักตลาดไปแล้ว อย่างใบบัวบก เรากลับพบว่าสารตกค้างหนักมากกว่าผักทั่วไปอีก ทางที่ดีที่สุดคือสนับสนุนกลุ่มเกษตรกร แล้วสร้างความสัมพันธ์ขึ้นมา ถ้าไม่มีเราก็ต้องสร้างด้วย ตอนนี้เราจะผลักภาระว่ารอให้ซื้อสะดวกแล้วถึงจะไปซื้อ ทำแบบนั้นไม่ได้แล้วในยุคปัจจุบัน เราต้องกลายเป็นผู้บริโภคเชิงรุกมากขึ้น สร้างระบบขึ้นมาเองด้วย ต้องขนาดนั้นถึงจะเอาตัวรอดได้

อย่างตอนนี้พืชผักที่เราตรวจแล้วเจอการตกค้างมากสุด ถ้าในเชิงระบบคือ หนึ่ง ผักที่ติดตรา Q-GAP นี่เราไม่แนะนำ เพราะเราพบว่ามีสารพิษตกค้างมากกว่าผักที่เราซื้อในตลาดโดยทั่วไปเสมอ สอง ผักไฮโดรโปนิกส์ เหลือเชื่อเหมือนกันที่พบว่าเจอสารเคมีตกค้างมากกว่าผักทั่วไป

ส่วนผักที่เราเจอสารเคมีตกค้างติดอันดับต้นๆ เสมอคือ พวกคะน้า พริก กะเพรา ถั่วฝักยาว ใบบัวบก ส่วนที่น้อยคือกะหล่ำปลีกับผักกาดขาว แต่เราก็ไม่ควรกินซ้ำๆ ต้องกินหลากหลาย

ผักผลไม้เกรดส่งออกมีปัญหาเรื่องสารตกค้างบ้างไหม และต่างชาติที่นำเข้าพืชผักผลไม้ของเรามีท่าทีอย่างไรต่อสารเคมีที่ตกค้าง 

ยุโรปจะมีระบบเตือนภัยที่เรียกว่า RASFF (Rapid Alert System for Food and Feed) ระบบนี้รายงานเลยว่าเมื่อใดก็ตามที่เราส่งผักผลไม้ปนเปื้อนสารพิษเข้าไปในยุโรป เขาจะสุ่มและประกาศทันทีทันควัน และจะตีกลับ

จากระบบนี้แสดงให้เห็นข้อมูลว่า ผักและผลไม้จากประเทศไทยที่เราส่งไป เจอสารตกค้างและถูกตีกลับประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ นี่ขนาดเป็นผักผลไม้ที่เลือกอย่างดีแล้ว เพราะผักผลไม้ที่ส่งออกเป็นของเกรดดีกว่าที่เรากินอยู่ในปัจจุบัน

ช่วงท้ายนี้คุณวิฑูรย์มีอะไรอยากฝากอะไรทั้งกับทางผู้บริโภคและทางภาครัฐบ้าง

ผมอยากให้กำลังใจ ถ้าดูในเชิงพัฒนาการ ผมคิดว่าประชาชนนี่แหละทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เราไม่อาจเชื่อถือให้รัฐทำงานได้โดยลำพัง ไม่ว่าเชิงการเมืองก็ดี หรือระบบราชการก็ดี ประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมเรื่องปัญหาผัก ผลไม้ อาหาร ไปจนถึงเรื่องอื่นๆ มิฉะนั้นเราไม่มีทางสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเรามีความรู้ เราติดตามเรื่องนี้ เราสามารถที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ เราจะไม่ยอมจำนนต่อระบบราชการหรือระบบการเมืองที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งตรงนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

 

ตอนนี้ประชาชนทำอะไรได้บ้าง

ตอนนี้ ง่ายที่สุดคือช่วยกันแชร์ข้อมูลข่าวสารเรื่องนี้ ในปัจจุบันนอกเหนือจาก Thai-PAN ก็มีเครือข่ายวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัยอย่างสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ รวมตัวกัน ถ้าเราช่วยกันแชร์ความเคลื่อนไหวนี้ออกไปให้กว้างขวาง ผมคิดว่าเขาต้องแพ้เรา ถ้าเราแชร์กันเยอะพอ

แต่แชร์อย่างเดียวไม่พอ รัฐบาลบอกว่าจะทบทวนเรื่องพาราควอตภายในเวลา 60 วันนับตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2561 ถ้าครบ 60 วันแล้วยังไม่ทบทวนหรือทบทวนแล้วกลับไปที่เก่า ผมคิดว่าเราควรมองมาที่ท้องถนน แล้วทำให้การเปลี่ยนแปลงเรื่องอาหารกลายเป็นจุดเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือเรื่องอื่นๆ นะครับ ต้องทำแบบนั้นให้ได้

[/et_pb_text][et_pb_text admin_label=”box” _builder_version=”3.27.4″ background_color=”#eaeaea”]

ชีวิตและงานของวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ จบการศึกษาจากภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งต้องท่องชื่อวัชพืชทุกตัวที่มีในประเทศ และชื่อสารเคมีที่ไว้จัดการกับวัชพืช เช่นเดียวกับนักกีฏวิทยาต้องท่องชื่อแมลงพร้อมยากำจัดแมลง และนักปฐพีวิทยาต้องท่องเรื่องดินพร้อมปุ๋ยเคมี

วิฑูรย์กล่าวว่า ใน ของคนจบพืชไร่ มักไปประกอบอาชีพเกี่ยวกับการค้าขายสารเคมีหรือพันธุ์พืช ส่วนที่เหลือรับราชการ คนที่ตัดสินใจไปเป็นเกษตรกรมีน้อยมาก

ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยราวปี 2522-2523 เป็นช่วงนักศึกษาที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเริ่มออกมาจากป่ากลับมาเรียนหนังสือ วิฑูรย์ไม่ได้รับอิทธิพลจากความคิดสังคมนิยมมากนัก แต่การทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยทำให้วิฑูรย์ตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดเกษตรกรผู้มีวิถีชีวิตที่ทำงานหนักแต่กลับมีคุณภาพชีวิตไม่ดี

หลังเรียนจบปริญญาตรี วิฑูรย์เข้าทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชน และทำอย่างต่อเนื่องมาร่วมกว่า 30  ปี เขากล่าวถึงชีวิตในช่วงนี้ว่า

“ปี 2527 ผมตัดสินใจสมัครเป็นอาสาของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) องค์กรที่ผมเลือกทำงานด้วยคือสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม ตอนผมเริ่มงานเป็นช่วงที่ราคาข้าวตกต่ำมาก เกวียนหนึ่งประมาณ 1,300-1,500 บาทต่อตัน ซึ่งถือว่าต่ำมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราสนใจคือเราจะทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหานี้ได้ ตอนนั้นผมสนใจแค่ปัญหาในเชิงระบบการผลิต การค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับราคาสินค้าเกิดทีหลัง ผมถูกมอบหมายให้ไปหาวิธีการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ เช่น การลดต้นทุน เป็นต้น

“จากการได้รับมอบหมาย ผมเลยต้องเดินทางไปทั่ว ตอนนั้นบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเจริญโภคภัณฑ์ เสนอวิธีช่วยชาวนาแก้ปัญหาราคาข้าว โดยการทำเกษตรแบบสมัยใหม่ ใช้เครื่องดำนาจากญี่ปุ่น ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้พันธุ์ข้าวอย่างดี ปรากฏว่าเจริญโภคภัณฑ์เองก็เอาตัวไม่รอด เกษตรครบวงจรที่ทำที่ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ภายในสามปีที่เข้าร่วมโครงการนี้ เกษตรกรเจ๊งหมดเลย แสดงว่าคนที่จบเกษตรที่มีความรู้มากสุดในหมู่ชาวนาก็ไม่รอด บริษัทยักษ์ใหญ่ก็ไม่รอด มันต้องมีปัญหาบางอย่างแน่ แล้วผมก็ได้ไปพบกับปราชญ์ชาวบ้าน คือพ่อมหาอยู่ สุนทรธัย ตอนนั้นเขาทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน แล้วแกก็อยู่ได้โดยบริหารเรื่องการผลิต การตลาด การบริโภคด้วย จนกลายมาเป็นต้นทางของสิ่งที่เรียกว่า ‘เกษตรแบบผสมผสาน’ หรือ ‘เกษตรทางเลือก’

“เราเก็บข้อมูลความรู้แบบนี้ไปเรื่อยๆ ตอนแรกที่เริ่มต้นทำก็ทำกันเล็กๆ อยู่ในหมู่บ้าน แต่ว่ามันกลายเป็นทางออกของคนจำนวนมากในพื้นที่ เราเล็งเห็นว่าเรื่องแบบนี้ถ้าทำอยู่เล็กๆ อาจได้คำตอบแค่บางหมู่บ้าน มันไม่พอ หลายคนที่มีความเห็นเดียวกันเลยมาร่วมกันทำเป็นขบวนการ ประมาณปี 2530-2532 เริ่มมีการตั้ง ‘เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก‘ ขึ้น เป็นเครือข่ายแรกๆ ที่พวกเรามีบทบาทและยังอยู่ถึงปัจจุบัน ทำตั้งแต่เรื่องของเทคนิค ระบบการผลิตไปจนถึงเรื่องนโยบาย

“เราเห็นว่าเกษตรแบบยั่งยืนที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมต้องทำระดับนโยบาย  ถ้าเราทำแบบตั้งรับสิ่งที่เราทำคงไปไม่ถึงไหน เพราะสวนทางกับนโยบายใหญ่ซึ่งถูกผลักดันและมีคนได้รับประโยชน์จากนโยบายเหล่านั้น เราเลยขยายจากสิ่งที่ทำระดับชุมชน ตอนประมาณปี 2535 เราจัด ‘สมัชชาเกษตรกรรมทางเลือก’ ขึ้น เอาผลผลิตต่างๆ หรือเอาความรู้ที่เรามีมาเผยแพร่ให้คนในเมือง มีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเจ้าภาพร่วมกับกรมวิชาการเกษตร หลายคนอาจแปลกใจที่สมัยนั้นกรมวิชาการเกษตรมาร่วมเป็นเจ้าภาพด้วย ถ้าสมัยนี้เชิญกรมวิชาการเกษตรนี่น่าจะถูกปฏิเสธ

“พอถึงจุดหนึ่งสิ่งที่เราเสนอก็ไปปรากฏในนโยบาย อย่างตอนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ก็เอาสิ่งที่เราผลักดันไปไว้ในยุทธศาสตร์ ว่าจะต้องปรับเปลี่ยนเกษตรกรรมของประเทศให้เป็นเกษตรกรรมยั่งยืน มีเกษตรอินทรีย์ เกษตรทางเลือก วนเกษตร เป็นต้น ให้ได้ 25 ล้านไร่ หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ปรากฏว่าผ่านมา 20 ปีไปไม่ถึงไหน แผนพัฒน์ฯ ฉบับที่ 12 ที่เพิ่งออกมา โดยตั้งต้นไว้ว่าขอให้ได้ 5 ล้านไร่ก่อน

“การที่มีนโยบายออกมาอย่างนี้ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เราเสนอเป็นสิ่งที่ดี สังคมและรัฐบาลยอมรับ น่าจะต้องทำ แต่ด้วยกลไกทำให้มันเป็นไปไม่ได้” วิฑูรย์กล่าว
[/et_pb_text][et_pb_text _builder_version=”3.27.4″]


หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถติดตามชมเทปบันทึกภาพรายการ 101 One-on-One ตอน “พาราควอตกับชะตากรรมผู้บริโภคไทย” ฉบับเต็ม โดย วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ออกอากาศเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2561 ทาง The101.world

YouTube video
[/et_pb_text][/et_pb_column][/et_pb_row][/et_pb_section]

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021