fbpx
รัสเซีย : มหาอำนาจเอเชียแปซิฟิก?

รัสเซีย : มหาอำนาจเอเชียแปซิฟิก?

จิตติภัทร พูนขำ เรื่อง

 

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นอาณาบริเวณที่มีพลวัตมากที่สุดแห่งหนึ่งในการเมืองโลกปัจจุบัน และยังได้รับการจับตามองจากประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาอำนาจ ทั้งในเชิงยุทธศาสตร์ การเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม จนมีหลายคนเรียกว่าเป็น “ศตวรรษแปซิฟิก” หรือ “ศตวรรษแห่งเอเชีย”

บทความนี้ลองสำรวจนโยบายการหันหาเอเชีย (Pivot to Asia) ของรัสเซีย โดยตั้งคำถามว่าทำไมรัสเซีย ในฐานะมหาอำนาจหนึ่งของโลกนั้น ยังมีสถานะและบทบาทระหว่างประเทศในเอเชียแปซิฟิกค่อนข้างจำกัด

บทความนี้เสนอว่ารัสเซียยังคงพยายามที่จะเป็นมหาอำนาจในเอเชียแปซิฟิก หรือมุ่งหมายที่จะยกระดับความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์กับภูมิภาคนี้ อาจกล่าวได้ว่า รัสเซียเป็นรัฐที่ใฝ่ฝันที่จะเป็นมหาอำนาจเอเชียแปซิฟิก (aspiring Asia-Pacific power) แม้ว่าในทางปฏิบัติ รัสเซียจะยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากเท่าที่ควร (ยกเว้นแต่ในกรณีความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับจีนและกับเวียดนาม) ทั้งนี้เนื่องมาจากปัจจัยต่างๆ เช่น (1) อัตลักษณ์แห่งชาติของรัสเซียที่ยังให้ความสำคัญกับโลกตะวันตก (2) ยุทธศาสตร์ที่ยังไม่ชัดเจน และ (3) ผลประโยชน์แห่งชาติที่ยังมีไม่มากนักในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

 

อัตลักษณ์แห่งชาติ

 

หากมองในประวัติศาสตร์ช่วงยาว ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแทบจะไม่ได้เป็นอาณาบริเวณที่ได้รับความสำคัญทางยุทธศาสตร์อันดับต้นๆ ของรัสเซีย ทั้งนี้เพราะหัวใจสำคัญของนโยบายต่างประเทศรัสเซียคือ โลกตะวันตก

โดยพื้นฐานแล้ว รัสเซียมีอัตลักษณ์แห่งชาติเป็น “มหาอำนาจตะวันตก” มาอย่างยาวนาน อย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่การย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในปี 1703 ในรัชสมัยของพระเจ้าซาร์ปีเตอร์มหาราช ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการนำเสนอภาพลักษณ์ของความเป็นตะวันตกของรัสเซียในการเมืองโลก

ความเป็นมหาอำนาจตะวันตกของรัสเซียจะแปรเปลี่ยนเป็นอัตลักษณ์แบบ “มหาอำนาจแบบยูเรเชีย” ก็ต่อเมื่อรัสเซียถูกเบียดขับออกมาจากโลกตะวันตก หรือไม่พอใจโลกตะวันตกในบางช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ของรัสเซีย เช่น หลังสงครามไครเมีย (1856) หรือหลังสงครามอิรัก (2003) หรือระลอกล่าสุดหลังวิกฤตการณ์ไครเมีย (2014)

การส่งเสริมอัตลักษณ์แห่งชาติแบบมหาอำนาจยูเรเชียนั้นมาพร้อมๆ กับการหันมาหาเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่า นโยบายหันหาเอเชียของรัสเซียนั้นเป็นนโยบายที่ตอบโต้กับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ระหว่างประเทศในโลกตะวันตก มากกว่าที่จะเป็นความริเริ่มเชิงยุทธศาสตร์ของรัสเซียในเอเชียแปซิฟิก

ตั้งแต่ช่วงรัฐบาลของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินสมัยที่สาม (2012-2018) จนถึงปัจจุบัน เราจะเห็นอัตลักษณ์แห่งชาติของมหาอำนาจยูเรเชียในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัสเซียโดดเด่นมากขึ้น โดยมีหมุดหมายสำคัญ ได้แก่ การที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ในปี 2012 ที่เมืองวลาดิวอสต็อก  โดย ปูติน กล่าวว่า รัสเซียเป็น “ส่วนหนึ่งที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”

การเบียดขับรัสเซียออกมาเป็นชายขอบยิ่งทำให้นโยบายการหันหาเอเชียนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากการหวนคืนสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สามของปูติน ซึ่งนำมาสู่การดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัสเซียที่แข็งกร้าวและโจมตีโลกตะวันตก รวมทั้งวิกฤตการณ์ยูเครน/ไครเมียในปี 2014 รัสเซียถูกโดดเดี่ยว และถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากโลกตะวันตก

แม้ว่ารัสเซียจะมีอัตลักษณ์แห่งชาติแบบมหาอำนาจยูเรเชียในปัจจุบัน แต่ความสัมพันธ์กับเอเชียแปซิฟิกก็ยังมีความเปราะบาง ทั้งนี้เพราะรัสเซียยังคงมอง “โลกตะวันตก” เป็นสำคัญ (ถึงแม้ว่าจะเป็นไปในเชิงความเป็นศัตรูก็ตาม) และมองเอเชียแปซิฟิกเป็นเพียง “ไพ่” ใบหนึ่งในเกมการเมืองโลก ซึ่งรัสเซียต้องการแสวงหาสถานะความเป็นมหาอำนาจของตน รวมทั้งผู้กำหนดนโยบายของรัสเซียเองก็ไม่มีกลุ่มผลประโยชน์ที่ส่งเสริมหรือผลักดันนโยบายหันหาเอเชียอย่างเด่ดชัด

อาจกล่าวได้ว่า การที่รัสเซียมีอัตลักษณ์แห่งชาติที่มุ่งเน้นตะวันตกมาอย่างยาวนานนั้นเป็นปัจจัยในเชิงโครงสร้างที่ทำให้นโยบายการหันหาเอเชียนั้นยังมีความไม่ชัดเจนเท่าที่ควร

 

ยุทธศาสตร์แห่งชาติ

 

แม้ว่าจะมีความพยายามที่จะพัวพันกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในระดับหนึ่ง แต่รัสเซียยังไม่ค่อยมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งก็ทำให้ไม่ค่อยมีความมุ่งมั่นเชิงนโยบายตามไปด้วย ดังจะเห็นได้จาก ประการแรก การจัดลำดับความสำคัญของภูมิภาคนี้ในนโยบายต่างประเทศของรัสเซียยังอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับอาณาบริเวณอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโลกตะวันตก สหภาพยุโรป ประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) หรือตะวันออกกลาง (เช่น ซีเรีย) แม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้จะมีการขยับอันดับของภูมิภาคเอเชียขึ้นมาบ้างก็ตาม แต่ก็ยังอยู่อันดับที่ 3 หรือ 4 ในแนวนโยบายต่างประเทศของรัสเซียเท่านั้น

ประการที่สอง เมื่อยุทธศาสตร์ยังไม่ชัดเจน ก็ทำให้รัสเซียไม่ได้ส่งผู้แทนระดับสูงของตนเข้าร่วมการประชุมระดับพหุภาคีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากเท่าที่ควร ตัวอย่างสำคัญได้แก่ การประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS)         ประธานาธิบดีของรัสเซียไม่เคยเข้าร่วมการประชุมแม้แต่ครั้งเดียวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งสัญญาณเชิงลบ และผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในเชิงสัญลักษณ์ของรัสเซียว่ามีความมุ่งมั่นที่จะหันมาหาเอเชียแปซิฟิกอย่างจริงจังหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด

ประการที่สาม โดยปกติแล้ว ในระดับทวิภาคี รัสเซียมักให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจหรือรัฐขนาดใหญ่ ในกรณีความสัมพันธ์กับเอเชียแปซิฟิกก็เช่นเดียวกัน จนทำให้ผู้สังเกตการณ์หลายคนมองว่า การหันหาเอเชียของรัสเซียนั้นเป็นเพียงแค่การสร้างพันธมิตรกับจีนเท่านั้น

กล่าวโดยย่อ ถ้าหากว่ารัสเซียยังไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นโยบายต่างประเทศของรัสเซียทั้งในระดับทวีภาคีและพหุภาคีก็จะยังคงไม่เป็นรูปธรรมมากนัก โจทย์ท้าทายสำคัญที่สุดประการหนึ่งของรัสเซียในเอเชียแปซิฟิกคือ การกำหนดยุทธศาสตร์ต่อภูมิภาคนี้ในระยะยาวและรอบด้าน

 

ผลประโยชน์แห่งชาติ

 

รัสเซียยังมีผลประโยชน์แห่งชาติต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกค่อนข้างจำกัด ซึ่งสะท้อนผ่านรูปธรรมหลายประการ ดังนี้

ประการแรก หากพิจารณาผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ จะเห็นว่าการค้าระหว่างรัสเซียกับเอเซียแปซิกมีปริมาณน้อย เช่น ในกรณีของอาเซียน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับคู่ค้ารายอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น หรือสหรัฐฯ โดยการค้าโดยรวมระหว่างรัสเซียกับอาเซียนมีปริมาณ 13.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนซึ่งมีปริมาณ 212 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่การลงทุนของรัสเซียในอาเซียนเองก็ยิ่งน้อยมากในเชิงเปรียบเทียบ แม้ว่าจะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างจำกัดก็ตาม ในปี 2016 รัสเซียลงทุนโดยตรงในกลุ่มประเทศอาเซียนกว่า 56.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่อียูและสหรัฐอเมริกาลงทุนโดยตรงในกลุ่มประเทศอาเซียนกว่า 32,000 ล้านบาท และ 12,000 ล้านบาท ตามลำดับ

ประการที่สอง ผลประโยชน์ของรัสเซียในภูมิภาคนี้มีลักษณะเป็นผลประโยชน์เฉพาะด้านที่รัสเซียมีความเชี่ยวชาญพิเศษ เช่น พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ การค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ การต่อต้านการก่อการร้าย หรือความร่วมมือทางด้านการข่าวกรอง เป็นต้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ (1) ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับภูมิภาคนี้ไม่ได้มีความรอบด้านมากเท่าที่ควร และ (2) รัสเซียมักพิจารณาผลประโยชน์เฉพาะเจาะจงเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญในการกำหนดสถานะของความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้

เราจะเห็นได้ว่าในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น มีเพียงเวียดนามเท่านั้นที่มีผลประโยชน์แห่งชาติสอดคล้องต้องกันอย่างดีกับรัสเซีย ทั้งนี้เนื่องมาจากการที่เวียดนามซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางการทหารและพลังงานจากรัสเซีย รวมทั้งอนุญาตให้รัสเซียใช้ฐานทัพเรือที่อ่าวคัมรานห์อีกด้วย จนทั้งสองประเทศยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership)

ประการที่สาม ผลประโยชน์ของรัสเซียในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังมีมิติของการแสวงหาสถานะ  (status seeking) ของความเป็นมหาอำนาจ การสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นตัวอย่างสำคัญของความพยายามของรัสเซียในการแสวงหาสถานะระหว่างประเทศในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรัสเซียต้องการการยอมรับจากมหาอำนาจอื่นว่าตนก็เป็นหนึ่งในมหาอำนาจที่จริงจังในภูมิภาคนี้

การค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่คู่ขัดแย้งในทะเลจีนใต้นั้นทำให้รัสเซียมีอำนาจในการเจรจาต่อรอง และจัดวางสถานะและตำแหน่งแห่งที่ของตนในภูมิภาคได้ในระดับหนึ่ง ในปัจจุบัน รัสเซียขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่เอเชียแปซิฟิกเป็นร้อยละ 43.1 ในช่วงระหว่างปี 2000-2016 เวียดนามนำเข้าอาวุธจากรัสเซียมากกว่าร้อยละ 80 ของการนำเข้าอาวุธทั้งหมด เมียนมาและลาวซื้ออาวุธจากรัสเซียร้อยละ 60 และร้อยละ 80 ตามลำดับ

แม้กระทั่งอาเซียนเองก็ตระหนักดีว่า ผลประโยชน์ทางวัตถุระหว่าวอาเซียนกับรัสเซียยังมีไม่มากนักและพิจารณาสถานะของรัสเซียในฐานะมหาอำนาจหนึ่งของโลกเป็นสำคัญ ดังที่ Rodolfo Severino อดีตเลขาธิการอาเซียนชาวฟิลิปปินส์ (1998-2000) เคยเสนอเอาไว้อย่างน่าสนใจว่าการที่รัสเซียเป็นหุ้นส่วนสำคัญของอาเซียนนั้นไม่ได้มาจากศักยภาพทางการค้าของรัสเซีย แต่มาจากสถานะมหาอำนาจของรัสเซียที่มีบทบาทสำคัญในเวทีโลก

โดยรวมแล้ว ผลประโยชน์ของรัสเซียที่จำกัดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจึงทำให้สถานะและบทบาทของรัสเซียไม่ได้มีมากนัก

 

ศักยภาพ vs. สภาพจริง

 

กระนั้นก็ดี รัสเซียเองก็มีศักยภาพที่จะพัฒนาหรือยกระดับความสัมพันธ์ทั้งพหุภาคีและทวิภาคีกับภูมิภาคนี้อย่างมีนัยสำคัญ

พหุภาคี

ในระดับพหุภาคี รัสเซียได้เข้าร่วมในกลไกความร่วมมือพหุภาคีต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็นการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) (ตั้งแต่ปี 1994) การประชุมผู้นำกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) (ตั้งแต่ปี 1998) การประชุมเอเชีย-ยุโรป (ASEM) (ตั้งแต่ปี 2010) และการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก (EAS) (ตั้งแต่ปี 2011) เป็นต้น

รัสเซียมีรากฐานความสัมพันธ์กับอาเซียนที่ค่อนข้างดีในระดับหนึ่ง กล่าวคือ รัสเซียเป็นคู่เจรจา (dialogue partner) กับอาเซียนมาตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา และมีความร่วมมือระหว่างกันในหลายด้านด้วยกัน ทั้งในระดับรัฐ ในระดับภาคเอกชน (เช่น การประชุมเวทีธุรกิจรัสเซีย-อาเซียน) และในระดับภาคประชาชน (เช่น ความร่วมมือระหว่างเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนและศูนย์อาเซียน ณ มหาวิทยาลัย MGIMO)

หมุดหมายสำคัญคือ การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-รัสเซียสมัยพิเศษเพื่อฉลองวาระครบรอบ 20 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-รัสเซีย ณ เมืองโซชิ ประเทศรัสเซีย ในเดือนพฤษภาคม 2016 ซึ่งทั้งรัสเซียและอาเซียนได้มีการลงนามปฏิญญาโซชิ (Sochi Declaration) และกำหนดแผนการดำเนินงานอย่างรอบด้านเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนและรัสเซีย (Comprehensive Plan of Action to Promote Cooperation) (ระหว่างปี 2016-2020) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่มีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างรอบด้าน

แม้ว่ารัสเซียกับอาเซียนจะส่งเสริมความสัมพันธ์หลายด้าน แต่ก็ยังคงต้องอาศัยความต่อเนื่อง ความจริงจังและความจริงใจในการร่ววมมือระหว่างกันต่อไปในอนาคต

นักวิชาการบางคน มองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับอาเซียนนั้นดำเนินไปด้วยแถลงการณ์ร่วมที่ว่างเปล่าและไร้ความหมาย โดยปราศจากการนำนโยบายไปปฏิบัติแต่อย่างใด ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอและจำกัด (ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปของปริมาณมูลค่าการค้าการลงทุนที่มีไม่มากนักในช่วงกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา) ยังคงเป็นปัญหาอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการเพิ่มบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองของรัสเซียในภูมิภาคนี้

ในปัจจุบัน รัสเซียได้เสนอให้มีการเจรจาการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union) ซึ่งเป็นการร่วมกลุ่มทางเศรษฐกิจในประเทศเครือรัฐเอกราชที่รัสเซียมีบทบาทนำ แต่ประเทศสมาชิกอาเซียนยังคงไม่มีความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องการค้าเสรีกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย

 

ทวิภาคี

ในระดับทวิภาคี รัสเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมทั้งไทย การเดินทางเยือนของผู้นำระดับสูงของรัสเซีย เช่น Dmitry Medvedev นายกรัฐมนตรี ในปี 2015 หรือ Sergey Lavrov รัฐมนตรีต่างประเทศในปี 2017 นั้นได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะเพิ่มปริมาณการค้าและการลงทุนกับประเทศในภูมิภาคนี้

นอกจากนี้ รัสเซียยังมีศักยภาพในภูมิภาคนี้ เนื่องจากรัสเซียไม่มีความสัมพันธ์ที่บาดหมางร้าวลึกกับประเทศใด โดยแตกต่างไปจากจีน ซึ่งมีความขัดแย้งทางด้านดินแดนทางทะเลหรือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้กับบางประเทศในอาเซียน เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

ในทางกลับกัน รัสเซียพยายามส่งเสริมหุ้นส่วนยุทธศาสตร์กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ โดยเวียดนามเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นและรอบด้าน ในปี 2016 รัสเซียยังได้บรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับเวียดนาม

รัสเซียในปัจจุบันมีความพร้อมที่จะสร้างความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนในภูมิภาคใหม่ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนตุลาคม 2017 รัสเซียได้มอบปืนไรเฟิล 5,000 กระบอกให้แก่กองทัพฟิลิปปินส์ เมื่อ Sergey Shoygu รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย เดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ASEAN Defense Ministers’ Meeting: ADMM) ที่กรุงมะนิลา

ในภาพรวมแล้ว รัสเซียเป็นมหาอำนาจที่มีศักยภาพในการสร้างพันธมิตรกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งทางด้านการถ่ายโอนเทคโนโลยีนิวเคลียร์ การเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะพลังงาน การสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ การเป็นตลาดสำหรับสินค้าเกษตรกรรมจากภูมิภาคนี้ การเป็นแหล่งลงทุนใหม่ของเอเชียแปซิฟิก และความร่วมมือทางด้านการต่อต้านการก่อการร้าย รวมทั้งแนวโน้มการเปิดการค้าเสรีระหว่างสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union) กับภูมิภาคนี้

 

แนวโน้ม

 

หลังการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 4 (2018-2024) ของประธานาธิบดีปูตินในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัสเซียมีแนวโน้มที่จะคงความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายการหันหาเอเชียเอาไว้ต่อไป ทั้งนี้เนื่องมาจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการโดดเดี่ยวจากโลกตะวันตกเป็นสำคัญ โจทย์สำคัญของรัสเซียคือ จะทำอย่างไรให้รัสเซียได้รับการยอมรับในฐานะเป็นมหาอำนาจเอเชียแปซิฟิก

ในเชิงสัญลักษณ์ ปีนี้ (2018) เป็นปีที่สิงคโปร์เป็นประธานของอาเซียน และยังเป็นปีครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูต 50 ปีระหว่างรัสเซียกับสิงคโปร์ รัสเซียพึงที่จะอาศัยโอกาสนี้ในการกำหนดวาระทางยุทธศาสตร์ และขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การสร้างหุ้นส่วนยุทธศาสตร์กับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หมุดหมายสำคัญอีกประการหนึ่งคือ รัสเซียควรที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก (EAS) ซึ่งย่อมเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกว่ารัสเซียมีความมุ่งมั่นที่จะหันหาเอเชียแปซิฟิกอย่างจริงจัง

การที่รัสเซียจะสามารถบรรลุความเป็นมหาอำนาจเอเชียแปซิฟิกได้จำเป็นต้องอาศัยทั้งความชัดเจนของยุทธศาสตร์ และการเสริมสร้างอัตลักษณ์ของมหาอำนาจแปซิฟิกเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งความสอดคล้องต้องกันระหว่างผลประโยชน์ของรัสเซียกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้อีกด้วย ทั้งนี้เพราะความเป็นมหาอำนาจเอเชียแปซิฟิกของรัสเซียย่อมหมายถึงการได้รับการยอมรับสถานะดังกล่าวจากประชาคมระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้นั่นเอง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save