fbpx
อ่านแนวทางการศึกษา IR จากความทรงจำ

อ่านแนวทางการศึกษา IR จากความทรงจำ

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

 

หลังชื่อเรื่องของบทความเดือนนี้ ความจริงผมอยากทัดเลข 1 ในวงเล็บไว้เพื่อบอกว่ายังเขียนได้อีกหลายตอน แต่การจะเขียนเรื่องที่แน่ใจได้ว่ามีคนสนใจอ่านอย่างจำกัดติดต่อกันอย่างนั้น อย่างน้อยควรได้รับฉันทานุมัติจากบรรณาธิการก่อน ไม่อาจเขียนตามใจสมัครเพราะรักจะเขียนได้ ดังนั้นเดือนนี้ผมจึงขอเขียนยาวสักหน่อยให้จบในตัว ไม่มีตามไปต่อตอนหน้า ส่วนเดือนหน้าจะได้เรื่องใดมาต่อนั้น รออาณัติจากพี่บ.ก.อีกทีครับ

ออกตัวอย่างนั้นแล้ว ผมขอเล่าถึงปฐมเหตุที่ทำให้เขียนเรื่องนี้ว่ามาจากพี่ที่เคารพคนหนึ่ง เมื่อท่านทราบว่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กำลังจะครบ 70 ปีในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ท่านถามผมว่าผมเป็นสิงห์ดำรุ่นไหน เมื่อเรียนให้ท่านทราบแล้ว ท่านให้ข้อคิดว่า “ก็เท่ากับว่าอาจารย์ได้รู้เห็นและเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนมาครึ่งหนึ่งของเวลาที่สาขาวิชาการด้าน IR เปิดสอนอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ทีเดียว อาจารย์ไม่อยากจะบันทึกอะไรไว้หน่อยหรือ”

ท่านยังพูดถึงบันทึกของอาจารย์ประทุมพร วัชรเสถียรผู้ล่วงลับไปแล้วที่เคยเขียนเล่าถึงสมาชิกและบรรยากาศของภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสมัยที่อาจารย์เรียนและทำงานที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จนเกษียณอายุ ท่านให้คำแนะนำผมว่าถ้าจะเขียนบันทึก อยากให้ผมเขียนอีกแบบหนึ่งที่ต่างออกไปจากบันทึกของอาจารย์ประทุมพรฯ คือขอให้เล่าในสิ่งที่ผมประสบรู้เห็นมาในช่วงครึ่งหลังของ 70 ปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับแนวทางการสอนและเนื้อหาการเรียนการสอนในวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือ IR ของอาจารย์รุ่นก่อนและรุ่นปัจจุบัน

ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น อาจารย์ร่วมภาควิชาเดียวกันกับผมคือ อาจารย์วีระ สมบูรณ์ ได้ตีพิมพ์ผลงานสำคัญออกมา คือ ทฤษฎีการเมืองกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หนังสือเล่มนี้ของอาจารย์วีระฯ ใช้ชื่อเดียวกันกับรายวิชาบังคับระดับปริญญาตรีวิชาหนึ่งในหลักสูตรความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ก่อนหน้านั้นไม่นาน อาจารย์อาวุโสของพวกเราคืออาจารย์กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ได้ปรับปรุงแก้ไขตำราที่ท่านใช้สอนในวิชาเก่าแก่สมัยที่ผมเป็นนิสิตตีพิมพ์ออกมาใหม่อีกครั้ง วิชานั้นเป็นวิชาบังคับพื้นฐานที่นักเรียนรัฐศาสตร์สมัยผมต้องเรียนกันทุกคน คือวิชาภูมิหลังของโลกปัจจุบัน ก่อนที่อาจารย์จะเกษียณ วิชาภูมิหลังฯ ได้กลายร่างและเปลี่ยนชื่อมาเป็นวิชาพัฒนาการของสังคมสมัยใหม่ ตำราของอาจารย์กุลลดาฯ ในฉบับพิมพ์ล่าสุดครั้งที่ 3 อาจารย์ก็เปลี่ยนชื่อใหม่เช่นกันว่า วิวัฒนาการรัฐอังกฤษ ฝรั่งเศสในกระแสเศรษฐกิจโลก จากระบบฟิวดัลถึงการปฏิวัติ

เนื้อหาอันหนักแน่นของตำราทั้ง 2 เล่มที่เพิ่งจัดพิมพ์ออกมา รวมทั้งวิชาอันเป็นที่มาของตำรานั้น เมื่อพิจารณาประกอบกับผลงานตำราในด้านกฎหมายระหว่างประเทศก่อนหน้านี้ ที่เรียบเรียงโดยอาจารย์ที่เคยสอนอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ [1] ทำให้ผมนึกถึงแง่มุมบางอย่างที่น่าบันทึกไว้เกี่ยวกับการศึกษา IR ในแนวทางหลักกระแสหนึ่ง ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เลือกใช้จัดการเรียนการสอนและเป็นฐานของการสร้างความรู้ของสำนักนี้มาตั้งแต่แรกตั้ง และคิดว่าน่าจะเล่าเรื่องนี้ตอบสนองคำขอของพี่ที่เคารพได้

คนที่เรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเบื้องต้นมาจะทราบว่าในพัฒนาการของสาขาวิชานี้มีข้ออภิปรายใหญ่ๆ เกี่ยวกับแนวทางการสร้างความรู้หลายรอบ ที่สำคัญได้แก่ การอภิปรายของพวก realist โต้แย้งพวก idealist รอบหนึ่ง การอภิปรายของพวกที่ยึดแนวทางศึกษา IR ด้วยวิธีการแบบวิทยาศาสตร์โต้แย้งกับพวกที่ใช้แนวทางศึกษาแบบเดิมรอบหนึ่ง และพวกที่ยึดความรู้ว่ามีฐานอันแน่นอนจากการยืนยันด้วยข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์โต้แย้งกับพวกที่เห็นว่าการสร้างความรู้ไม่ได้มีหนทางแบบนั้นแบบเดียวอีกรอบหนึ่ง

แต่เมื่อนำข้ออภิปรายเหล่านี้มาพิจารณากับการจัดและพัฒนาการของการศึกษา IR ในประเทศไทยหรือจำกัดลงมาที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เราจะพบว่าตลอด 70 ปีมานี้มิได้มีการอภิปรายและข้อโต้แย้งเกี่ยวกับแนวทางการศึกษาเพื่อหาทางกำหนดทิศทางการสร้างความรู้ให้เป็นไปตามแนวทางของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเช่นที่เกิดขึ้นในวงวิชาการของประเทศหลักที่เป็นผู้นำในการศึกษาวิชาการด้านนี้แต่อย่างใด

ผมเห็นว่าความราบเรียบนี้อาจพิจารณาได้ว่าสะท้อนถึงอำนาจนำทางวิชาการของแนวทางศึกษา IR กระแสหนึ่งที่ครองการกำหนดทิศทางในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน การสร้างความรู้และการวิจัยในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มายาวนาน ที่น่าจะมีการอธิบายเกี่ยวกับลักษณะที่เกิดขึ้นอยู่เหมือนกัน

แต่เพื่อไม่ให้เรื่องที่จะเขียนกลายเป็นบทความแก่เกรียมวิชาการที่มาอยู่ผิดที่ผิดทาง ผมเขียนเป็นบันทึกความทรงจำเล่าความหลังบางเรื่องที่ช่วยสะท้อนเรื่องนี้น่าจะดีกว่า

 

ผมขอเล่าความทรงจำบางเรื่องเกี่ยวกับอาจารย์กุสุมา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กับอาจารย์อภิญญา รัตนมงคลมาศ จริงๆ มีเรื่องอีกมากที่ควรเขียนถึงเกี่ยวกับการเรียนการสอนวิชาความรู้ด้าน IR ของอาจารย์ทั้ง 2 และของอาจารย์อาวุโสท่านอื่นๆ ซึ่งคงต้องเก็บไว้ในโอกาสหลัง

ในที่นี้ ผมจะเล่าถึงความแตกต่างบางอย่างในการมองแนวทางการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอาจารย์กุสุมาฯ กับอาจารย์อภิญญาฯ เพื่อโยงให้เห็นสิ่งที่เป็นลักษณะสำคัญของแนวทางการศึกษาที่ใช้จัดการเรียนการสอน IR ในเมืองไทย อย่างน้อยก็ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในช่วงที่ผมมีส่วนรับรู้ และจากลักษณะสำคัญของแนวทางการศึกษาแบบนี้ที่ทำให้วิชาและตำราของอาจารย์วีระฯ และวิชาและตำราของอาจารย์กุลลดาฯ รวมทั้งวิชาและตำราด้านกฎหมายระหว่างประเทศกลายเป็นส่วนที่จะขาดไม่ได้สำหรับคนเรียน IR ในกระแสนี้

สมัยเป็นนิสิต ผมมีโอกาสคุ้นเคยกับอาจารย์อภิญญาฯ เพราะตั้งต้นเรียนวิชาการอ่านวรรณกรรมด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับอาจารย์ วิชานี้เป็นวิชาใหม่ในการปรับหลักสูตรก่อนหน้าที่ผมจะเข้ามาเป็นนิสิตไม่นาน จัดเรียนกันต่อเนื่องถึง 4 เทอมในช่วงปีสามและปีสี่ เรื่องราวเกี่ยวกับการเรียนการสอนวิชานี้ที่เปลี่ยนแปลงวิธีการจัดและเปลี่ยนเนื้อหามาเป็นลำดับหลังจากที่ผมเข้ามาเป็นอาจารย์แล้ว ก็น่าบันทึกเป็นต่างหากออกมา ว่าเป็นจุดที่เปิดให้แนวทางกระแสวิพากษ์ในการศึกษา IR ปรากฏตัวขึ้นในหลักสูตรของคณะได้อย่างไร ผมขอเล่าในที่นี้เพียงว่า จากความคุ้นเคยกับอาจารย์อภิญญาฯ ที่เกิดจากการเรียนคลาสเล็กๆ ในวิชา Reading สมัยนั้น ผมเลยได้โอกาสถามอาจารย์เกี่ยวกับนักวิชาการและแนวทางการศึกษา IR ที่อาจารย์เห็นเหมาะและพอใจ

อาจารย์บอกผมว่าชอบใจงานของ J. David Singer เป็นพิเศษ คนเรียน IR รุ่นหลังที่อาจไม่ทันได้รู้จักงานของเขา ผมขอแนะนำโครงการศึกษาวิจัยการสงครามที่ยังอยู่มาจนถึงเดี๋ยวนี้คือ Correlates of War Project [2] ที่แต่แรกนั้นมีศูนย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนเพราะ Singer สอนที่นั่น ก่อนที่โครงการทั้งหมดจะย้ายมาที่ Penn State เมื่อเขาเกษียณจากงานวิชาการ

แนวทางการศึกษาสงครามของ Singer เป็นการศึกษา IR ในเชิงปริมาณจากชุดข้อมูลขนาดใหญ่ที่เก็บข้อมูลเชิงประจักษ์เกี่ยวกับพฤติกรรมการแสดงออกหลายรูปแบบของรัฐ และของตัวแสดงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเงื่อนไขในสภาพแวดล้อมต่างๆ ข้ามเวลาและข้ามพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์หาสหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ เพื่อสร้างและพิสูจน์สมมติฐานสำหรับอธิบายปรากฏการณ์ความขัดแย้งที่เป็นการใช้กำลังระหว่างรัฐหรือระหว่างกลุ่มภายในรัฐ

แต่สิ่งที่อาจารย์อภิญญาฯ พอใจในแนวทางการศึกษาของ Singer จริงๆ ไม่ใช่เรื่องวิธีศึกษาเชิงปริมาณทีเดียวนัก แต่อยู่ที่อาจารย์เห็นว่างานของ Singer และคนที่ศึกษาในแนวทางเดียวกันกับเขา มีความชัดเจนในความหมายในนิยามของคำที่ใช้ และให้ความสำคัญแก่เรื่องพื้นฐานเรื่องนี้มาก เพราะการศึกษาเชิงปริมาณแบบนี้ก่อนที่จะเก็บข้อมูลได้ จำเป็นต้องตั้งต้นด้วยนิยามหลักและความหมายในเชิงปฏิบัติการออกมาให้ชัดเจนก่อน เช่น จะต้องชัดว่าอะไรคือความขัดแย้ง อะไรคือความรุนแรง จะจัดประเภทอย่างไร จัดออกมาได้กี่ประเภท แบบไหนจัดว่าเป็นหรือไม่จัดว่าเป็นสงคราม แบบไหนเรียกว่าสงครามกลางเมือง แบบไหนเป็นการสู้รบหรือปะทะด้วยกำลัง อะไรเป็นรัฐ อะไรและเมื่อใดที่ไม่จัดว่าเป็นรัฐอีกต่อไปแล้ว ฯลฯ

คำหลักที่บ่งถึงปรากฏการณ์ที่ต้องการศึกษาเหล่านี้ ถ้าหากไม่ทำออกมาให้ชัดตั้งแต่ต้นจะเก็บข้อมูลไม่ได้ หรือเก็บมาแล้วก็ไม่อาจนำมาใช้เปรียบเทียบกันได้ เพราะเก็บมาจากฐานความหมายและนิยามปฏิบัติการที่ต่างกัน อาจารย์อภิญญาฯ ยังเตือนผมด้วยว่าศัพท์จำนวนมากที่เราใช้ๆ กันอยู่ แล้วเหมือนว่าทุกคนคิดว่าเข้าใจตรงกัน เช่น ประเทศตะวันตก จักรวรรดินิยม ผู้ก่อการร้าย มหาอำนาจ ขั้วอำนาจ ฯลฯ จริงๆ แล้วไม่เพียงคนพูดคนฟังจะเข้าใจความหมายหรือปิ๊งภาพขึ้นมาในใจแตกต่างกันเมื่อได้ยินคำเหล่านี้ แต่ความหละหลวมไม่ชัดเจนในความหมายของศัพท์ที่ใช้กัน ยังทำให้การพิจารณาปรากฏการณ์ที่เนื่องด้วยคำๆ นั้นเป็นการมองแบบคลุมไปหมด เพราะไม่ได้ถูกฝึกให้ต้องเพ่งเล็งกับความชัดเจนของความหมาย และคิดหาเครื่องมือมาจัดจำแนกให้เห็นความแตกต่างมโหฬารที่ซ่อนอยู่ในคำเหล่านี้ แล้วปรับหรือเปลี่ยนการจัดประเภทออกมาใหม่ให้เหมาะสม เพื่อให้เราจับมันศึกษาได้ถนัดและละเอียดยิ่งขึ้น จนได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นสะสมมากขึ้นโดยลำดับได้

การเคยชินกับการใช้คำอย่างหละหลวมยังทำให้คนใช้ไม่คิดจะวัดและหาตัวชี้วัดให้เกิดความชัดเจน แล้วเมื่อไม่ได้วัดและขาดตัวชี้วัดมาเตือนก็เลยมองไม่ค่อยเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงมโหฬารจากช่วงเวลาหนึ่งกับในระยะเวลาต่อมา ว่าเกิดขึ้นมากเพียงไรในแง่มุมหรือในมิติต่างๆ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่คำนั้นๆ บ่งถึง และเมื่อมิติการวัดไม่ชัด เมื่อความหมายของคำที่พูดถึงไม่ได้ถูกตรึงไว้ด้วยนิยามอันชัดเจน และมีตัวชี้วัดที่ตกลงกันได้จากนิยามปฏิบัติการ การจะหาและใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อมายืนยันหรือหักล้างข้อเสนอตรงไหนก็เลยทำได้ไม่ถนัด ส่วนใหญ่จึงเหลือแต่เพียงความเห็น ไม่ค่อยเป็นความรู้ที่ยืนยันอะไรได้แน่นอน

อาจารย์พูดให้ฟังว่า เมื่อเป็นอย่างนี้เราจึงไม่ค่อยได้ฝึกสายตาให้รู้จักมอง becoming in being และเลยไม่ค่อยตระหนักว่าจากคำที่เราใช้เรียกสิ่งหนึ่งสิ่งใดและเราคิดว่าสิ่งนั้นมีความหมายแบบนี้ๆ และเป็นแบบนี้ๆ ความจริงมันอาจเปลี่ยนสภาพภายในของมันไปนานแล้ว จนเราเองต่างหากที่เป็นฝ่ายควรต้องปรับความหมายความเข้าใจของเราเกี่ยวกับสิ่งนั้นเสียใหม่ ถึงแม้ว่าเราจะยังคงเรียกมันในชื่อในศัพท์คำเดิมอยู่ก็ตาม

อย่างไรก็ดี แนวทางการศึกษา IR ในเชิงปริมาณของ Singer ที่อิงการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงประจักษ์ขนาดใหญ่ไม่เกิดในเมืองไทย ตามความเห็นอาจารย์ อาจารย์คิดว่าเป็นเพราะงบวิจัยสนับสนุนมีไม่พอให้เกิดได้ และคนสอนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศส่วนใหญ่ในเมืองไทย (ขณะนั้น หรือขณะนี้ก็ตาม) ไม่ได้ถูกเทรนมาในแนวทางที่จะนิยมหรือตื่นเต้นกับงานจากโครงการแบบ Correlates of War Project ของ Singer

ผมเลยมาคิดต่อเล่นๆ ว่าถ้าหากองค์ประกอบของสมาชิกในภาควิชาในเวลาที่อาจารย์อภิญญาฯ จบกลับมาจากมหาวิทยาลัยอินดิแอนาเป็นอีกอย่างหนึ่ง หรือถ้าสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเริ่มต้นเปิดสอนที่คณะรัฐศาสตร์ช้ากว่าที่เกิดขึ้นจริงๆ สัก 20 ปี และอาจารย์รุ่นแรกที่เข้ามารับผิดชอบจัดการเรียนการสอน IR ที่คณะเป็นคนที่ถูกเทรนมาในสายพฤติกรรมศาสตร์ ใช้วิธีวิจัยในเชิงปริมาณ และยึดแนวทางการสร้างความรู้ในแบบวิทยาศาสตร์ปฏิฐานนิยม หรือพูดให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า สมมติว่าถ้าคณาจารย์รุ่นบุกเบิกสาขาวิชา IR ในเมืองไทยประกอบด้วยอาจารย์อย่างอาจารย์พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว อาจารย์โคริน เฟื่องเกษม และอาจารย์อภิญญาฯ ที่เมื่อจบกลับมาจากสหรัฐฯ ต่างสนใจการวิเคราะห์พฤติกรรมทางการเมืองและการต่างประเทศ โดยใช้วิธีวิจัยเชิงปริมาณ ทิศทางการเรียนการสอนของภาควิชาและการเทรนนิสิตที่เรียน IR จะพลิกไปหากระแสหลักของสหรัฐฯ อีกแบบหนึ่ง และสาขาวิชานี้คงไม่ได้เป็นหนึ่งในสาขาในฝันของนักเรียนสายศิลปฝรั่งเศสและศิลปภาษาทั้งหลาย ที่เห็นตัวเลขและการคำนวณทางสถิติเป็นเหมือนยาขมหม้อใหญ่ และนั่นต้องนับรวมผมไว้ด้วยคนหนึ่ง

ที่สำคัญกว่านั้นคือถ้าการศึกษาในแนวทางของ Singer และ Correlates of War เป็นกระแสหลักในการสร้างความรู้และการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนในเมืองไทย อาจารย์ที่เลือกทำงานวิชาการจากฐานของอาณาบริเวณศึกษา ที่ลงลึกไปในความเข้าใจประวัติศาสตร์ การเมือง สังคมวัฒนธรรม และลักษณะเฉพาะต่างๆ ของพื้นที่หรือของประเทศต่างๆ คงจะอึดอัดไม่น้อยจากแนวทางการศึกษาและการยึดฐานการสร้างความรู้ที่ต่างกัน และคงเกิดความตึงเครียดขึ้นมามิใช่เล่นระหว่างนักวิชาการ 2 ฝ่าย ดังเช่นที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ หลายแห่งที่มีคณะศึกษาด้านนี้

หรือมิเช่นนั้น การรับอาจารย์ในรุ่นที่ 2 และในรุ่นต่อๆ มาเพื่อมาสืบต่องานวิชาการและการเรียนการสอนด้าน IR ก็คงจะเป็นไปในทิศทางอีกแบบหนึ่ง ในทางที่ทำให้เราคงไม่มีโอกาสได้เห็นตำราอย่างของอาจารย์วีระฯ และตำราอย่างของอาจารย์กุลลดาฯ เป็นผลงานที่ผลิตออกมาโดยนักวิชาการในสาขาหรือภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นแน่ และแน่นอนว่าผมเองก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เข้ามาเป็นอาจารย์ที่นี่และเขียนบันทึกความทรงจำนี้ขึ้นมา

แต่เมื่อแนวทางแบบ Singer ที่อาจารย์อภิญญาฯ พอใจจุดกระแสไม่ติดในประเทศไทย จึงกลายเป็นว่าเป็นตัวอาจารย์เองที่เป็นฝ่ายต้องกลมกลืนเข้าหาแนวทางการศึกษา IR ในอีกกระแสหนึ่ง ซึ่งเป็น และยังคงจัดว่าเป็น กระแสหลักในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในประเทศไทย แนวทางนั้นคือแนวทางที่อาจารย์กุสุมาฯ เรียกว่าการศึกษา “แนวประเพณี” ที่ประกอบด้วย “การบรรยายแบบประวัติศาสตร์ การวิเคราะห์ซึ่งใช้วิธีการของวิชากฎหมาย ประวัติศาสตร์ และปรัชญา” [3]

เมื่อเข้ามาอยู่ในกระแสที่เป็นมาแต่แรกตั้งสาขาวิชานี้ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผลรูปธรรมก็คืออาจารย์อภิญญาฯ ต้องปรับมารับเป็นผู้สอนวิชาด้านอาณาบริเวณศึกษาคือ จีนและญี่ปุ่น ในช่วงเวลาที่ภาควิชาอยู่ในระหว่างรออาจารย์ที่ลาไปศึกษาต่อด้านรัฐศาสตร์เน้นญี่ปุ่นศึกษาโดยตรงกลับมา อาจารย์สอนวิชาอาณาบริเวณเหล่านั้นตามแนวทางประเพณีได้อย่างดีไม่มีบิดพลิ้ว และเก็บความชอบส่วนตัวของอาจารย์ในการหาความรู้แบบที่ได้ลงไปเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์ด้วยการสำรวจสัมภาษณ์ในพื้นที่ไว้สำหรับงานวิจัยที่อาจารย์รับทำกับบริษัทวิจัยที่ให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานภาครัฐแทน

ภายใต้แนวทางประเพณีในการศึกษา IR ในเมืองไทย การเรียนการสอนและการวิจัยทั้งของอาจารย์และนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศและนโยบายต่างประเทศจึงอยู่ร่วมกันกับ area studies ได้อย่างสอดคล้องสนับสนุนกัน ถ้าใช้คำบรรยายของอาจารย์กุสุมาฯ ก็คือ ด้านหนึ่งเป็น “การศึกษาพลังและอิทธิพลต่างๆ ที่มีต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐ วิธีการและกลไกที่รัฐใช้ในการดำเนินนโยบายของตน กับหนทางที่จะปรับความขัดแย้งที่มีอยู่ระหว่างกัน” และอีกด้านหนึ่งเป็น “การสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งในประเทศ หรือบริเวณหนึ่ง ที่เป็นผู้กระทำ (actor) ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”[4]

เมื่อแนวทางการศึกษาในแบบของ Singer ไม่มีที่ทางให้หยั่งรากได้ในภาควิชา IR ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แต่เป็นการศึกษา IR แนวประเพณีที่ได้ปักหลักเข้มแข็งอยู่ในภาควิชามาช้านานตั้งแต่เริ่มต้น ก่อนจะเริ่มเปิดทางให้แก่กระแสวิพากษ์ในเวลาต่อมา การจะเล่าความทรงจำถึงพัฒนาการตรงนี้ในโอกาสต่อไป (ถ้ามีโอกาสนั้น) จึงต้องเล่าให้เห็นว่าความรู้จากฐานส่วนที่เข้มแข็งที่สุดของแนวทางประเพณีในการศึกษา IR คือความรู้จาก ปรัชญาการเมือง กฎหมาย และประวัติศาสตร์ รวมทั้งผลงานของอาจารย์ที่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้จากรากฐานเหล่านี้มีส่วนทำให้การศึกษาในแนวประเพณีกับกระแสวิพากษ์ในปัจจุบันเชื่อมต่อกันอยู่อย่างไร ในที่นี้ ผมอยากเสนอว่ารหัสความคิดที่อยู่เบื้องหลังการศึกษา IR ในแนวประเพณีที่อาจารย์กุสุมาฯ ให้ผมไว้เป็นตัวเชื่อมหนึ่งที่สำคัญมาก

 

อะไรคือรหัสที่ว่านี้?

รหัสที่ว่านี้ อาจารย์กุสุมาฯ ให้ผมมาแบบอ้อมๆ ในวิธีของอาจารย์ เท่าที่ผมสังเกต อาจารย์ไม่ชอบพูดอธิบายอะไรให้ใครฟังยืดยาว แต่มักชี้แนะหรือให้เบาะแสสำคัญแก่คนถาม แล้วให้เราเก็บไปคิดต่อจนกระทั่งเข้าใจเรื่องนั้นๆ ขึ้นมาเอง คนเก่งๆ หลายคนที่ผมรู้จักมาก็เป็นแบบอาจารย์ คือชี้บอกส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญของเรื่องที่อยากรู้ให้เราทราบโดยตรง สั้นๆ ไม่อ้อมค้อม แต่เราเห็นแล้วทราบแล้ว จะเข้าใจทราบซึ้งแค่ไหนขึ้นอยู่กับระดับความรู้ของเรา หรือถ้าไม่ซาบซึ้งอะไร ก็แล้วกันไปเท่านั้น

พวกเรา คือผมและเพื่อน ๆ ที่เรียน IR ด้วยกัน ต่างนิยมในบุคลิกและนับถือในความรู้ความสามารถของอาจารย์กุสุมาฯ มาก แต่ตลอดการเรียนผมไม่ได้เป็นนิสิตที่ใกล้ชิดกับอาจารย์แต่อย่างใด จริงๆ ต้องพูดว่าอาจารย์เป็นอาจารย์ที่ผมเกรงมากที่สุดก็ว่าได้ แต่เหตุที่ทำให้อาจารย์กุสุมาฯ คุ้นหน้าผมและรู้จักชื่อรู้จักตัวก็เพราะว่าเวลาบรรยายในชั้น อาจารย์จะหาจุดกำหนดสายตาไว้ที่นิสิตบางคนเสมอ เพื่อสำหรับใช้เป็นจุดสังเกตว่ามีนิสิตสนใจติดตามฟังอาจารย์บรรยายอยู่และมีท่าทางว่าเข้าใจที่อาจารย์กำลังบรรยายอยู่นั้นไหม อาจารย์เลือกมองในตำแหน่งที่ผมนั่งอยู่บ่อยๆ จึงจำหน้าจำชื่อได้ อาจารย์ยังรู้มาว่าผมเป็นคนจดคำบรรยายดี เคยเรียกสมุดจดงานของผมไปตรวจ และได้รับคำชมจากอาจารย์ว่าจดได้ดีมาก

สมุดจดคำบรรยายที่ผมส่งให้อาจารย์ตรวจนั้นความจริงคือผมคัดลอกใหม่จากเล่มต้นฉบับที่จดด้วยลายมืออันยุ่งเหยิงในตอนที่ฟังคำบรรยายในชั้น โดยผมจะเขียนเรียบเรียงเนื้อหาคำบรรยายวิชาต่างๆ ลงในหน้าขวาของสมุดจด แล้วเว้นหน้าซ้ายไว้สำหรับบันทึกเรื่องต่างๆ ซึ่งผมได้จากหนังสือและเอกสารอ่านประกอบที่อาจารย์กำหนด เพื่อเสริมหรือขยายความเนื้อหาคำบรรยายของอาจารย์ที่อยู่หน้าขวา เพื่อนๆ ที่ได้ถ่ายสำเนาสมุดจดคำบรรยายวิชาต่างๆ ด้วยวิธีนี้ของผมไปเตรียมตัวสอบจึงรักผมทุกคน

ผมเก็บสมุดจดคำบรรยายวิชาโลกตะวันตกและวิชายุโรปศตวรรษที่ 19 และ 20 ของอาจารย์กุสุมาฯ ไว้เป็นที่ระลึก แต่ยังมีหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่อาจารย์หยิบให้ในวันหนึ่งที่ผมแวะเข้าไปเยี่ยมอาจารย์ที่ภาควิชาก่อนจะออกไปเรียนต่อในคราวหลัง และถือโอกาสนั้นเรียนถามอาจารย์เกี่ยวกับแนวทางการศึกษา IR แบบประเพณีที่เรียนกันในคณะกับแนวทางแบบสังคมศาสตร์/วิทยาศาสตร์ที่เป็นกระแสหลักในสหรัฐฯ เมื่อถามอาจารย์ว่าอะไรเป็นจุดเด่นของการศึกษา IR แนวทางประเพณี อาจารย์หยิบหนังสือขนาดใหญ่เล่มหนึ่งจากชั้นให้ผม แล้วบอกว่าศุภมิตรเก็บไว้เลย อาจารย์ยกให้ มีเวลาเมื่อไหร่ก็ลองอ่านและทำความเข้าใจดู อ่านบทนำของหนังสือให้ดี มีหัวใจของการศึกษาแนวประเพณีอยู่ในนั้น เข้าใจสิ่งที่เป็นหัวใจนี้ได้กระจ่างเมื่อไหร่ ก็จะจับหลักในการศึกษาหาความรู้ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้

แน่นอนว่าผมกลับมาอ่านคำนำนั้นทันที แต่อ่านตอนนั้นก็ยังมองเห็นไม่กระจ่างนักว่าหัวใจของการศึกษา IR ที่อาจารย์กุสุมาฯ หมายถึงอยู่ตรงไหน ด้วยความที่หนังสือเล่มนั้นหนามาก ผมจึงไม่ได้นำติดตัวไปเรียนต่อด้วย แต่พอเรียนและอ่านอะไรต่ออะไรในทางวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากเข้า แล้วกลับมาอ่านบทนำของหนังสือที่อาจารย์ให้ผมมานั้นใหม่ ผมก็เริ่มมองความหมายของรหัสที่อาจารย์บอกเบาะแสไว้ออกและเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ และคิดว่าผมเข้าใจสิ่งที่อาจารย์กุสุมาฯ ต้องการจะบอกในที่สุด

รวมทั้งแจ่มแจ้งในวิธีสอนของอาจารย์ด้วยว่า เมื่อมาถึงตอนนั้น อาจารย์ไม่ได้ปฏิบัติอย่างเห็นผมเป็นนิสิตในชั้นเรียนของอาจารย์อีกต่อไป แต่อยากให้ผมเป็นผู้ที่ศึกษาด้วยตนเองได้ ดังนั้น แทนที่อาจารย์จะบรรยายขยายความให้ผมฟังต่อจากบทความเก่าที่อาจารย์เคยเขียนแนะนำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแนวทางต่างๆ ที่ผมนำมาอ้างถึงข้างต้น เพื่อที่ผมจะได้นำคำและความคิดของอาจารย์ไปจดลงไว้ในหน้าขวาของสมุดจดคำบรรยายอีกครั้งหนึ่ง แต่อาจารย์ทำให้ผมรู้ว่า ถึงเวลาแล้วที่เนื้อหาในหน้าขวาของสมุดจดที่เคยมีคำบรรยายของอาจารย์ ต่อจากนี้ผมต้องเรียบเรียงออกมาจากความรู้จากความคิดของตัวเราเอง คำแนะนำที่อาจารย์จะมีให้ผมได้คือคำแนะนำบทความ งานเขียน หรือหนังสือสำหรับที่จะอยู่ในหน้าซ้ายของสมุดจดเท่านั้น และเมื่ออ่านแล้วตรองแล้ว ถ้าสกัดความคิดจากสิ่งที่อาจารย์แนะนำนั้นออกมาได้อย่างไร ได้เท่าไร คือตัวเรา ไม่ใช่อาจารย์ ที่จะเป็นคนเรียบเรียงความคิดเหล่านั้นตามความเข้าใจของเราเองลงไปในหน้าขวาของสมุดนั้น

ในบทนำของหนังสือเล่มที่อาจารย์ให้ผมมา ไม่มีส่วนไหนเลยที่พูดถึงปรัชญาหรือปรัชญาการเมืองในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่มีส่วนไหนเลยที่พูดถึงความสำคัญของการเข้าใจพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของรัฐต่อการเข้าใจลักษณะและความเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลก ไม่มีส่วนไหนเลยที่พูดถึงความสำคัญของกฎหมายในการจัดความสัมพันธ์ในสังคมระหว่างประเทศและการจัดความสัมพันธ์ในสังคมพลเมืองโลก ไม่มีส่วนไหนเลยที่ตั้งใจจะแสดงให้เห็นว่าแนวทางการศึกษา IR แนวประเพณีมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ไหน และหัวใจสำคัญนั้นเปิดพื้นที่และเชื่อมโยงส่งผ่านความรู้อะไรให้แก่การศึกษา IR กระแสวิพากษ์

แต่ถ้าท่านสนใจ ขอให้ลองอ่านบทนำที่ว่านี้ตามเบาะแสที่อาจารย์กุสุมาฯ ให้ไว้ดูเถิด ว่าท่านถอดรหัสอะไรออกมาได้บ้างที่จะให้หลักสำคัญสำหรับการสืบเสาะแสวงหาความรู้ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในแนวประเพณีหรือในกระแสวิพากษ์ หรือเชื่อมทั้งสองแนวทางเข้าด้วยกัน

เล่ามาจนจะจบ ผมยังไม่ได้บอกชื่อหนังสือที่อาจารย์กุสุมาฯ ยกให้ในวันนั้นเลย หนังสือที่อาจารย์มอบให้ผมมาคือ History of Political Philosophy ฉบับพิมพ์ครั้งแรกปี 1963 ที่ Leo Strauss และ Joseph Cropsey เป็นบรรณาธิการ หนังสือเล่มนี้อาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ ได้อุตสาหะลงมือแปลทั้งเล่มจากฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 และจัดพิมพ์ออกมาโดยสำนักพิมพ์คบไฟในปี 2550 ผมอ่านบทนำตามเบาะแสที่อาจารย์กุสุมาฯ ให้ไว้แล้ว ผมเห็นรหัสซึ่งแสดงหลักของการศึกษาในแนวประเพณีหลายประเด็น และคิดว่าหลักเหล่านี้น่าจะเป็นตัวเชื่อมการศึกษา IR ตามแนวทางประเพณีกับแนวทางศึกษา IR ของกระแสวิพากษ์ได้ดี ไม่แน่ใจว่าท่านที่อ่านบทนำนี้แล้วจะเห็นด้วยกับผมหรือไม่ ผมขอใช้ฉบับแปลของอาจารย์สมบัติฯ[5] เรียบเรียงออกมาให้พิจารณากัน ดังนี้

 

บทนำในหนังสือของ Strauss กับ Cropsey ถ้าพิจารณาตามการชี้แนะที่อาจารย์กุสุมาฯ ให้ไว้ บันทึกเป็นข้อคิดได้ว่า การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตามแนวทางประเพณีนั้น

1. ไม่แยกปรัชญากับวิทยาศาสตร์ออกจากกัน ไม่แยกปรัชญาการเมืองออกจากการศึกษารัฐศาสตร์ และไม่แยกการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบวิทยาศาสตร์ขาดออกไปจากการศึกษาในเชิงปรัชญาการเมือง แต่ถือว่าพึงใช้ความรู้ 2 ด้านนี้ส่องทางให้กัน และใช้ตรวจสอบกัน

2. ฐานคิดของการศึกษา IR ในแนวทางประเพณีมีรากฐานสำคัญอยู่ที่ปรัชญาและปรัชญาการเมือง โดยที่เรื่องว่าด้วย “ธรรมชาติ/ nature / physis” คือหัวใจของปรัชญา คำถามพื้นฐานทางปรัชญาจึงเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาธรรมชาติ ว่าอะไรคือธรรมชาติ ธรรมชาติต่างจากขนบธรรมเนียมหรือครรลองที่มนุษย์สร้างขึ้นมาหรือไม่ หรือว่าการมีครรลองและขนบธรรมเนียมประเพณีของมนุษย์นับเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ด้วยเหมือนกัน แต่ถ้าแยกสิ่งที่เป็นธรรมชาติกับสิ่งที่เป็นขนบธรรมเนียมออกจากกัน เช่น การพูดถือเป็นคุณลักษณะตามธรรมชาติของมนุษย์ แต่ภาษาที่มีแตกต่างกันไประหว่างมนุษย์ในถิ่นที่ต่างๆ ถือเป็นธรรมเนียมตามขนบแห่งระเบียบของภาษาแต่ละแห่ง มันก็มีบางอย่างที่ตกลงได้ยากเหมือนกันว่าจะจัดสิ่งนั้นเป็นธรรมชาติหรือจัดเป็นธรรมเนียมประเพณี หรือว่าส่วนไหนของสิ่งนั้นที่ถือว่ามาจากธรรมชาติ และส่วนไหนมาจากประเพณี และจะตัดสินส่วนที่สอดคล้องกับธรรมชาติกับส่วนที่สอดคล้องกับประเพณีได้อย่างไร ว่าอย่างไหนดีอย่างไหนไม่ดี อย่างไหนยุติธรรมอย่างไหนไม่ยุติธรรม อย่างไหนถูกต้องอย่างไหนไม่ถูกต้อง

เช่น สิ่งซึ่งเป็นการเมืองและกฎหมายเป็นเรื่องประเพณีของประชาคมการเมืองแต่ละแห่ง หรือว่าควรต้องถือว่ามีรากเหง้าอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์ด้วย แล้วประชาคมการเมืองเองจัดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หรือว่าเป็นผลมาจากประเพณี แล้วถ้าเป็นเช่นนั้น การเมืองและกฎหมายควรมีความสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ โดยยอมรับสิ่งซึ่งถูกต้องโดยธรรมชาติว่าดี หรือว่าไม่ใช่ “ถ้าจะเป็นกฎหมายที่ดี กฎหมายนั้นจะต้องไม่ ‘สอดคล้องกับธรรมชาติ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับธรรมชาติของมนุษย์ใช่หรือไม่”

ความยากของการตอบคำถามพื้นฐานเหล่านี้ส่วนหนึ่งอยู่ที่ว่า แม้ว่าธรรมชาติจะเป็นเรื่องว่าด้วยคุณลักษณะและคุณสมบัติที่ติดตัวอยู่ในสิ่งต่างๆ หรืออยู่ในตัวมนุษย์ แต่ธรรมชาติมิได้เป็นสิ่งที่เราจะล่วงรู้ได้เองโดยธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่ต้องถูกค้นพบ เช่น รากไม้มีลักษณะและคุณสมบัติบางอย่างตามธรรมชาติของมันอยู่ในตัวของมันเอง แต่มันไม่ได้บอกและเราก็ไม่ได้รู้ได้เอง เราจะต้องค้นพบและเข้าใจถึงลักษณะและคุณสมบัติต่างๆ ของมันก่อน เราถึงรู้ว่ามันให้ประโยชน์หรือมีโทษอย่างไร การค้นพบความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของสิ่งต่างๆ จึงต้องอาศัยการสืบเสาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสืบเสาะเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติของมนุษย์

นอกจากนั้น การตัดสินเกี่ยวกับความดี ความยุติธรรม ความถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นความดีความยุติธรรมความถูกต้องโดยธรรมชาติหรือโดยประเพณี ยังมี “‘รูปแบบ’ (form) หรือ ‘มโนภาพ’ (idea)” เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้เข้ามาเกี่ยวข้อง รวมทั้งรูปแบบหรือมโนภาพเกี่ยวกับธรรมชาติและประเพณีเอง

ด้วยเหตุนั้น คำถามพื้นฐานสำหรับสืบเสาะความรู้ในทางปรัชญาคือการ “ตั้งคำถามว่า ‘อะไรคือ …?’ กับทุกๆ สิ่ง” โดยพยายามให้การสืบเสาะ “ไปให้พ้นปริมณฑลทั้งหมดของความเห็นอันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป [เพื่อ] ไปสู่ความรู้” ซึ่งนอกจากจะเป็นความรู้เกี่ยวกับคุณลักษณะหรือธรรมชาติของสิ่งนั้นๆ แล้ว ยังรวมถึงการตระหนักว่า ความเข้าใจรูปแบบและมโนภาพเกี่ยวกับลักษณะและคุณสมบัติของสิ่งนั้นๆ คืออะไร เข้าใจเหมือนกันหรือแตกต่างกันอยู่อย่างไร หรือสุดท้ายแล้ว คือการเปลี่ยนความตระหนักจากที่เคยคิดว่ารู้นั้น มาเป็นการตระหนักรู้ว่ายังไม่รู้อะไร

3. เมื่อการเมือง กฎหมาย ความยุติธรรม ความถูกต้องดีงาม และชุมชนการเมืองเป็นเรื่องคาบเกี่ยวกันระหว่าง physis กับ nomos และมโนภาพเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ที่มีรูปแบบแตกต่างกัน เส้นทางการสืบเสาะความรู้เกี่ยวกับปัญหาของมนุษย์ในการเมือง รวมทั้งการเมืองระหว่างประเทศ คือการเดินไปตาม “เส้นทางจากประเพณีหรือกฎหมายก้าวไปสู่ธรรมชาติ” และในทางกลับกัน คือการก้าวออกจากธรรมชาติไปสู่การสร้างกฎหมายหรือสร้างปทัสถานประเพณี และเมื่อใช้ธรรมชาติของมนุษย์เป็นตัวตั้ง การพิจารณาความแตกต่างตามธรรมชาติ และความแตกต่างตามกฎหมายและประเพณี กับความเหมือนกันโดยธรรมชาติและความเหมือนกันของกฎหมายและประเพณี ว่าคุณลักษณะอะไรแบบไหน ที่จัดหรือควรนับและยอมรับได้อย่างเป็นสากล คุณลักษณะอะไรแบบไหนที่จัดว่าเป็นลักษณะเฉพาะที่ยอมรับได้ แบบไหนที่ไม่พึงยอมรับและพึงหาทางแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง และคุณลักษณะอะไรแบบไหนที่ควรทำให้เจริญงอกงามและสมบูรณ์ดียิ่งขึ้น

4. จากฐานคิดทางปรัชญาการเมือง การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในแนวประเพณีถือว่าเราไม่อาจเข้าใจธรรมชาติมนุษย์ได้ ถ้าเราไม่เข้าใจธรรมชาติของสังคมมนุษย์ และควรระลึกว่า การจะเข้าใจธรรมชาติของสิ่งใดด้านหนึ่งให้หาความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ให้กำเนิดหรือกระบวนการก่อตัวของสิ่งนั้น และอีกด้านหนึ่งให้หาความรู้เกี่ยวกับรูปแบบและลักษณะขององค์ประกอบทุกส่วนของสิ่งนั้นเพื่อมองให้เห็นภาวะรวมทั้งหมดของมัน

โดยนัยนี้ การศึกษาธรรมชาติของสังคมมนุษย์คือการศึกษาจุดกำเนิดและกระบวนการก่อตัวของสังคมรูปแบบหนึ่งๆ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของมัน กับการศึกษาการทำงานขององค์ประกอบส่วนต่างๆ ประกอบกันเพื่อให้เข้าใจภาวะรวมทั้งหมด ไม่ศึกษาแบบแยกเป็นส่วนๆ ว่าส่วนนี้เป็นรัฐที่อยู่ตรงข้ามกับสังคม หรือศึกษาส่วนที่เป็นสังคมอย่างแยกออกมาจากเศรษฐกิจ

5. “การที่สังคมขนาดใหญ่จะเป็นมหาชนรัฐหรือสังคมเสรีนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้” การศึกษาการเมืองระหว่างประเทศในบริบทสังคมโลกพึงพิจารณานัยของข้อความนี้และมองหาเงื่อนไขของความเป็นไปได้ที่ว่านี้ เพื่อตรวจสอบทางเลือกเหล่านั้นและนัยของมันต่อการจัดหรือการเปลี่ยนแปลงระเบียบระหว่างประเทศ

6. จากการใช้การสนทนาเป็นวิธีสืบเสาะหาความรู้ นำมาสู่คำถามที่ว่า อะไรคือเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับการสนทนาเพื่อหาความรู้ที่ว่านี้ในการเมืองระหว่างประเทศ

 

6 ข้อข้างต้นนี้คือส่วนที่ผมเห็นว่าเป็นรหัสการหาความรู้ในแนวทางประเพณีที่อาจารย์กุสุมาฯ ให้ผมไว้ ถ้าท่านเห็นว่ารหัสเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการสืบเสาะแสวงหาความรู้ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อไปก็เท่ากับว่าผมได้มีส่วนเชื่อมต่อความรู้ที่ได้รับจากอาจารย์กุสุมาฯ มาถึงท่าน

แต่ก็ไม่จำเป็นว่าท่านจะเห็นรหัสเหมือนกับที่ผมเห็น หรืออาจไม่เห็นว่าเป็นรหัสที่มีความหมายอะไรเลยต่อการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือไม่เห็นว่ามันจะเชื่อมแนวทางประเพณีของการศึกษา IR เข้ากับกระแสวิพากษ์ได้ตรงไหนเลย ก็เป็นได้ เราไม่ว่ากันอยู่แล้ว เพราะไม่มีใครมากำหนดให้ท่านต้องเห็นหรือต้องอ่านอะไร และต้องเห็นต้องอ่านออกมาในความหมายอย่างไร อันที่จริงหนังสือทุกเล่มที่เราอ่านก็เป็นแบบนั้น เพราะในที่สุดเราแต่ละคนเองที่จะเป็นผู้เขียนความรู้ความเข้าใจของเราขึ้นมา ถ้าหากว่าเรารักในการเรียนรู้และรักที่จะสร้างความรู้ที่เป็นของเราเอง.

 

อ้างอิง

[1] เริ่มต้นด้วยผลงานเรียบเรียงตำราด้านกฎหมายระหว่างประเทศของอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และผลงานแปลตำรากฎหมายระหว่างประเทศร่วมกันระหว่างอาจารย์ฉัตรทิพย์ฯ กับอาจารย์สมศักดิ์ ชูโต: ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, กฎหมายระหว่างประเทศ (กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2511); ฟิลลิป ซี. เจสสัป, กฎหมายระหว่างประเทศปัจจุบัน, สมศักดิ์ ชูโตและฉัตรทิพย์ นาถสุภา แปล (กรุงเทพฯ: สภาวิจัยแห่งชาติ, 2514).

และตามมาด้วยหนังสือตำราด้านนี้ที่เรียบเรียงโดยอาจารย์สมพงศ์ ชูมาก สำหรับการเรียนในหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา และของอาจารย์ดำรง ธรรมารักษ์ สำหรับหลักสูตรระดับปริญญาตรี ตามลำดับ: สมพงศ์ ชูมาก, กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530); ดำรง ธรรมารักษ์, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2537).

[2] ท่านที่สนใจแนวทางการศึกษาสงครามที่ J. David Singer วางรากฐานไว้ โปรดเข้าไปเยี่ยมชมประวัติความเป็นมาและโครงการวิจัยในปัจจัยของ Correlates of War Project ได้ ที่นี่

[3] กุสุมา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, “การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” ใน รวมบทความความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, กุสุมา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, บรรณาธิการ (กรุงเทพฯ: แผนกวิชาการต่างประเทศและการทูต, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2515), หน้า (1) – (23).

[4] เพิ่งอ้าง.

[5] ลีโอ สเตร๊าส์ และโจเซ็ฟ คร็อปซีย์, บรรณาธิการ, ประวัติปรัชญาการเมือง เล่มที่ 1, สมบัติ จันทรวงศ์ แปล (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คบไฟ, 2550). ท่านผู้อ่านที่สนใจบทนำ หรือบทอื่นๆ ของหนังสือในฉบับการพิมพ์ครั้งที่ 3 ในพากย์ภาษาอังกฤษ อ่านต้นฉบับได้ที่นี่

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save