fbpx
เกียรติยศของคนดื้อ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

เกียรติยศของคนดื้อ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

กลิ่นผัดมาม่าลอยคลุ้งบางเบาเตะจมูก ให้พอเดาได้ว่ามื้อเที่ยงที่ผ่านมาเขาเพิ่งทำครัวไปไม่นาน

เขาเปิดตู้เย็นหยิบน้ำแอปเปิ้ลหวานอมเปรี้ยวเทใส่แก้วยื่นให้มิตรสหายที่มาเยี่ยมเยียนได้ดื่มดับกระหายจากไอร้อนเดือนมิถุนายน

“ทุกวันนี้ผมติดผัดมาม่า ในคุกนี่เป็นอาหารชั้นเลิศเลยนะ” เขาว่าพลางยกแก้วจิบน้ำแอปเปิ้ลให้ชื่นใจ

แต่ความชื่นใจในรสชาติน้ำแอปเปิ้ลกับความชื่นใจในอิสรภาพที่เขาเพิ่งได้รับหลังถูกคุมขังมานานถึง 7 ปี อาจเทียบกันไม่ติด

สมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง จ.สระแก้ว ระหว่างที่เขาเคลื่อนไหวรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็จับกุมตัวเขาด้วยข้อหามาตรา 112 ในฐานะที่เขาเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin เช่นเดียวกัน ก่อนจะพาขึ้นรถไปควบคุมตัวไว้รอสั่งฟ้อง และหลังจากนั้นอีก 7 ปี โลกของเขาก็อยู่หลังกำแพงสูงตลอดมา

อะไรคือรสชาติที่เขาได้รับหลังกำแพงสูงนั้น ความหวานหอมและความขมขื่นของคนในจะเหมือนหรือต่างอย่างไรกับที่คนนอกได้รับรู้ และบ้านเมืองที่เขาเห็นก่อนเข้าไปและหลังออกเป็นอย่างไร

ถ้าจำลองสังคมเป็นห้องเรียนขนาดเล็กลงมา และมีเด็กอยู่สองประเภท คือประเภทเด็กดีเรียบร้อยเชื่อฟังคำสั่ง กับประเภทเด็กดื้อขัดขืนคำสั่ง เขาย่อมเป็นเด็กประเภทหลังโดยไม่ลังเล

แม้บนถนนแห่งวิกฤตการเมืองไทยที่ผ่านมาจะพัดพาให้เด็กดื้อหลายคนหลุดออกจากถนนลูกรังไปสู่ทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบก็ตาม

สมยศ พฤกษาเกษมสุข

 

หน้าทำเนียบฯ วันนี้-หน้าทำเนียบฯ วันนั้น

 

ออกจากคุกได้เดือนเศษ สมยศปฏิเสธคำเชิญชวนพร้อมพ็อกเก็ตมันนี่ของเพื่อนฝูงที่เสนอให้เขาไปเที่ยวพักผ่อนต่างประเทศให้สบายใจ

เขาเลือกไปหน้าทำเนียบรัฐบาลแทน เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนแก่รัฐบาล คสช. 3 ข้อ ได้แก่ 1. ลดราคาน้ำมันและแก๊สหุงต้ม 2. คัดค้านการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 3. ปรับลดงบประมาณรัฐที่ฟุ่มเฟือย

“ผมออกจากคุกมา แล้วรู้สึกว่าค่าครองชีพมันสูงมาก และผมยังไม่มีรายได้จากการทำงาน เวลาจับจ่ายใช้สอย เงินมันหายไปไวมาก เคยจ่ายค่าทางด่วน 20-30 บาท เดี๋ยวนี้ล่อไป 50-60 บาท กว่าจะถึงปลายทางบางทีโดนไปร้อยกว่าบาท ผมว่ามันเป็นรายจ่ายที่รุนแรงไป”

เขาอธิบายถึงภาษีมูลค่าเพิ่มที่เข้าใจว่ารัฐมีแนวคิดจัดเก็บเพิ่มว่า ถ้าเขามีรายได้วันละ 1,000 บาท อีกคนมีรายได้วันละ 300 บาท แต่จ่ายภาษีเท่ากัน ถ้าซื้อน้ำ 1 ขวด 10 บาท คนที่มีรายได้น้อยก็จะมีสัดส่วนรายจ่ายมากกว่า แต่ 4 ปีที่ผ่านมา แทนที่รัฐบาลจะนำเงินลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้ประชาชนสะดวกสบายขึ้น กลับเอาเงินไปซื้ออาวุธแทน ผมรับไม่ได้ แล้วนายพลกินเงินเดือนซ้อนกันสองตำแหน่งอีกหลายคน สังคมไทยรับกันได้ยังไง”

ไม่ได้ชุมนุมทางการเมืองมานานถึง 7 ปี สมยศรับรู้ถึงอารมณ์ของการชุมนุมได้ดีว่าเปลี่ยนไปจากอดีต เขาบอกว่าตอนชวนคนในกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เขาเห็นความหวาดกลัวของแต่ละคน

“บางคนบอกไปได้เหรอ ไปแค่ 4 คนดีไหม เมื่อก่อนเราไม่ต้องคุยกันว่าการไปร้องทุกข์หน้าทำเนียบมันจะผิดกฎหมายไหม แต่ตอนนี้ผู้คนลังเล เกร็ง พอไปถึงจะยืนตรงนี้ได้ไหม เจ้าหน้าที่บอกเป็นพื้นที่ต้องห้าม มี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือจะให้ไปประท้วงบนต้นไม้ดี สิทธิเสรีภาพมันหายไป ไม่น่าเชื่อว่าเราอยู่ใต้รัฐบาลที่มีคนบอกว่าน่ารักและเก่ง แต่ประชาชนส่วนใหญ่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว มันจะอยู่กันยังไง”

ดูเหมือนสมยศในวันนี้อาจไม่ต่างจากสมยศในอดีต นอกจากบ้านที่เป็นรังนอนอันแสนสุข ทำเนียบรัฐบาลก็เป็นอีกที่ที่เขาแวะมาร้องทุกข์-ประท้วงอย่างสม่ำเสมอ

อะไรบ่มเพาะให้เขาลิขิตชีวิตตัวเองแบบนี้ พูดแบบรวบรัด เขาบอกว่าพลังทางการเมืองยุค 14 ตุลาฯ ถึง 6 ตุลาฯ ได้เปลี่ยนเด็กชายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ไปตลอดกาล จากที่เคยเป็นนักเรียนลูกแม่รำเพย วิ่งเล่นในรั้วโรงเรียนเทพศิรินทร์ เขาเริ่มออกไปสัมผัสชีวิตบนท้องถนนของผู้คน จนกระทั่งเข้าสู่วัยนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยรามคำแหง ประตูบานใหญ่ของโลกกิจกรรมทางสังคมก็เปิดรับให้เขาเดินเข้าไป

เมื่อเดินไปสู่โลกใบใหม่ แปลว่าต้องเดินออกจากโลกใบเก่า เขาเลือกหันหลังให้ที่บ้านที่กำลังทำธุรกิจ และหันหน้าเดินเข้าโรงงานในฐานะผู้ใช้แรงงาน

“สมัยก่อนโรงงานอุตสาหกรรมมันไม่มีระบบอะไร คุณอยากทำงานก็เข้าไปทำ โรงงานแถวอ้อมน้อย แถวสมุทรปราการ ก็ยังเป็นโรงงานสังกะสี จะออกจะเข้าเมื่อไหร่ก็ได้ ผมจำได้ว่าผมได้ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 20 บาท อีกที่เป็นโรงงานน้ำตาลอยู่ที่กาญจนบุรี มีเด็กรามฯไปทำงานกันเยอะ ผมก็ตามเขาไป เพราะการออกมาจากบ้านแปลว่าผมต้องหาเงินส่งตัวเองเรียน”

การเข้าไปอยู่ในโรงงาน ทำให้สมยศซึมซับชีวิตและจิตใจแรงงานไปโดยปริยาย ขณะนั้นเขาพอมีทักษะการเขียนหนังสือบ้าง จึงใช้ทักษะที่มีเขียนรายงานสภาพปัญหาแรงงานที่ได้สัมผัสกระจายกันอ่านในหมู่นักกิจกรรม จนเกิดการผลักดันเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ ผลักดันกฎหมายประกันสังคม กฎหมายลาคลอด เป็นต้น

“อย่างน้องไท ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข (ลูกชาย) ตอนที่เขาเกิดมาได้เดือนแรก เป็นช่วงรัฐประหารโดย รสช. ใหม่ๆ ผมก็อุ้มไปเรียกร้องที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ต้องการให้ผู้หญิงสามารถลาคลอดได้ 90 วัน เพราะสมัยนั้นแฟนทำงานเป็นพยาบาล ลาคลอดได้แค่ 30 วัน หลังจากนั้นผมก็ต้องเลี้ยงเอง แล้วทำงานไปด้วย มันเหนื่อยมาก พอการเรียกร้องเกิดขึ้น มีองค์กรเอ็นจีโอต่างๆ มาร่วมกันกดดันรัฐบาล มันก็นำไปสู่การแก้กฎหมาย แต่สมัยนี้ 90 วันอาจจะไม่พอแล้ว”

สมยศเล่าว่า ช่วงเวลานั้นมีข่าวสะเทือนใจเกิดขึ้นพอดี ผู้ใช้แรงงานสตรีคนหนึ่ง ทำงานเย็บรองเท้าในโรงงานแถวคลองตัน พอเธอคลอดลูกปุ๊บ เธอหนีไปจากโรงพยาบาล ทิ้งลูกไว้กับพยาบาล แต่ภายหลังเธอเปลี่ยนใจกลับมารับลูกคืน แล้วทางโรงพยาบาลเกิดความผิดพลาด สลับเอาลูกคนอื่นให้ไป พอเธอกลับไปบ้าน ถูกสามีทิ้ง เธอเลี้ยงเด็กต่อไม่ไหวก็ฆ่าเด็กทิ้งเอาไปหมกป่า พ่อแม่เด็กตัวจริงก็ตามหา โรงพยาบาลก็เพิ่งรู้ว่ามีการสลับเด็กผิดไป ตำรวจตามหาจนพบว่าเด็กตายไปแล้ว

“ตอนนั้นองค์กรสตรีก็ออกมารณรงค์ว่าเพราะระบบสังคมมันทำร้าย ค่าจ้างก็ต่ำมาก วันลาคลอดก็ยังน้อย สมัยนั้นคดีทิ้งเด็กเยอะมาก มันก็มีการเดินขบวนเรียกร้องด้านสิทธิแรงงาน และการลาคลอดได้ 90 วัน เป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับด้านสิทธิแรงงาน” สมยศเล่าพลางหยิบกรอบรูปที่เขาเคยขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์จากกรณีเรียกร้องสิทธิลาคลอดให้ดู

สมยศ พฤกษาเกษมสุข

แรงงาน

 

ในสายธารการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ขบวนการแรงงานร่วมสร้างโมเมนตัมให้การเคลื่อนไหวบนท้องถนนมาเสมอ และสมยศเองก็แทบหายใจเข้าออกอยู่กับขบวนการแรงงานมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2530 ในนามประธานสหภาพพันธมิตรแรงงานประชาธิปไตย และเมื่อมีรัฐประหารเกิดขึ้น เขาบอกว่าแรงงานก็เป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กชั้นแรกๆ ที่รับแรงปะทะจากอำนาจปืนมาเสมอ

“ทุกครั้งที่เกิดการสูญเสียบาดเจ็บล้มตายในการชุมนุม มักจะเป็นชนชั้นแรงงานก่อนเพื่อน” นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานบอก แต่นั่นอาจไม่น่าผิดหวังไปกว่ามีผู้นำแรงงานบางส่วนกลับเข้าไปสมประโยชน์กับระบอบอำนาจนิยม ตอนพฤษภาฯ 2535 พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นมามีอำนาจปุ๊บ มีผู้นำแรงงานบางส่วนเอาดอกไม้ไปให้ ยินดีกับการยึดอำนาจของกองทัพ”

เขายกตัวอย่างวันที่รัฐบาล รสช. เรียกผู้นำแรงงานเข้าไปพูดคุย ซึ่งแบ่งเป็น 2 ขั้ว

“ขั้วหนึ่งบอกยึดอำนาจดีครับ อีกขั้วฝ่ายต่อต้าน ทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานพูดต่อหน้าในที่ประชุม วันนี้สามช่า วันหน้าไม่มีแผ่นดินอยู่ พวกรัฐประหาร พวกควาย มันแรงมาก แล้วหลังจากนั้นไม่นาน แกก็ถูกอุ้มหายไป”

หลังรัฐประหารครั้งนั้น สมยศบอกว่ารัฐบาลทหารสั่งยุติสหภาพรัฐวิสาหกิจ ห้ามนัดหยุดงาน ไม่ให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ สิทธิเสรีภาพการรวมตัวของคนงานไม่มี และเป็นเช่นนี้มาจนถึงปัจจุบัน — ทุกครั้งที่มีรัฐประหาร

สมยศพยายามวิเคราะห์สามัญสำนึกของผู้นำแรงงานที่ต่อต้านทุนนิยมสามานย์ แต่ยินดีปรีดากับการรัฐประหารว่า เป็นความไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ และประเมินปัญหาสังคมอย่างผิวเผิน

“อย่างแรก เขาอาจจะมีความคิดความเชื่อแบบฝ่ายซ้าย ต้องเป็นปฏิปักษ์กับทุนนิยม มองรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นพวกทุนนิยม ซึ่งเป็นกับดักทางความคิดของผู้นำแรงงานพวกนี้ เขาไม่ได้มองว่าการรัฐประหารกลับส่งเสริมความสามานย์ของทุนนิยมอย่างรุนแรงกว่าอย่างไร”

“อย่างที่สอง อาจเป็นเรื่องส่วนตัว ชอบแสวงหาอำนาจ ผู้ใช้แรงงานถือว่าไม่มีอำนาจทางการเมืองมาตลอด ไม่ได้อยู่ในสายตาของอำนาจรัฐ พอรัฐประหารก็อาจได้รับเศษเนื้อที่ทหารโยนมาให้นิดหน่อย เขาก็รีบงับไว้ บางคนเคยเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจกินเงินเดือนไม่กี่บาท พอได้เข้าไปรับใช้รัฐประหารมีตำแหน่งเป็นวุฒิสภา เงินมันมโหฬารมากสำหรับเขา เลยกลายร่างจากผู้ใช้แรงงานไปเป็นขุนนาง ถือเป็นรางวัลเกียรติยศสำหรับชีวิตเขาไป”

ยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน ในนามของผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม 24 มิถุนาฯ เขามองเห็นการเติบโตของขบวนการแรงงานฝ่ายประชาธิปไตยอย่างไร มีการเชื่อมโยงตัวแรงงานกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 บ้างหรือไม่

“เราคงต้องเข้าใจข้อเท็จจริงว่า สำหรับแรงงาน เอาแค่พวกเขาดิ้นรนเพื่อให้ตัวเองมีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนคนทั่วไปก็นับว่าเขาต่อสู้ด้วยความลำเค็ญแล้ว พูดง่ายๆ คือไม่มีจะแดกอยู่แล้ว กูจะไปสู้อะไรแบบปัญญาชนอีก สู้เพื่อให้ตัวเองมีกิน พอเรียกได้ว่าเป็นผู้เป็นคน ให้ชีวิตมันหลุดพ้นจากกรงขังความยากจนมันก็ลำบากแล้ว”

สมยศอธิบายสั้นๆ ว่า เรื่องนี้เป็นความเข้าใจของตัวบุคคล ยังมีไม่มาก แต่อย่างน้อยคำว่า “ตาสว่าง” ก็เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนพอสมควร แม้เขาอาจไม่ได้ลึกซึ้งในเชิงที่มาที่ไป แต่เขารู้ตัวว่าเขาเป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง เขารู้ว่าอำนาจสูงสุดในประเทศนี้เป็นของประชาชนทุกคน

 

กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย

 

สมาชิกทั้งหมดไม่มีใครเกิดทันยุคอภิวัฒน์สยาม 2475 หน้าตาคณะราษฎรแต่ละคนเป็นอย่างไรก็พบได้เพียงในรูปภาพ แต่อะไรดลใจให้รักใคร่ชอบพอถึงขั้นเอาวันย่ำรุ่งแห่งการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาตั้งชื่อกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมทางการเมือง

“พอเกิดรัฐประหารปุ๊บ ทำให้เราต้องมาคิดกันว่าใครคือเจ้าของประเทศ ประเทศนี้เป็นของใคร ถ้าดูมาตรา 1 ของคณะราษฎร คือ อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย ประโยคนี้ประโยคเดียวชัดเจน กลุ่ม 24 มิถุนาฯ ก็เกิดขึ้น เรารู้สึกว่าการที่มีทหารมายึดอำนาจมันเหยียบหัวประชาชน เมื่อไล่ดูประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน มันเป็นการอภิวัฒน์ที่ยังไม่แล้วเสร็จ แม้เจตนารมณ์ยังคงอยู่ แต่ผลของการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นค่อยๆ ถูกบิดเบือน เพื่อจะทำลายเจตนารมณ์ของคณะราษฎร และต้องการลบประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงนี้ออกไปเพื่อให้คนลืม”

สมยศตอบคำถามเรื่องที่มาของชื่อกลุ่มและเล่าถึงช่วงเวลาของการก่อตั้งกลุ่มว่า ตอนเกิดรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 วันแรกก็มีการต่อต้านการรัฐประหารโดยคนจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นปัญญาชน นักศึกษา รวมกันในนามเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร แต่เวลานั้นยังไม่ถึงขั้นเป็นขบวนการต่อต้านที่ใหญ่โต

กระทั่งปี 2550 สมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 กำลังก่อตัวซึ่งเป็นผลผลิตของการรัฐประหาร เขาบอกว่ามีการพูดคุยกันในเครือข่ายที่ต่อต้านการรัฐประหารว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นพัฒนาการต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา เห็นได้ตลอดว่าฝ่ายชนชั้นนำได้ทำลายประชาธิปไตยไปทีละขั้น ทำลายสัญลักษณ์ เช่น โรงละครศาลาเฉลิมไทยที่คณะราษฎรเคยใช้เผยแพร่วัฒนธรรมความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญ ก็ถูกรื้อไป

“แม้แต่วันชาติที่เคยเป็นวันที่ 24 มิ.ย. มีการเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ เฉลิมฉลองศักราชใหม่ของไทยในแง่ที่เปลี่ยนจากระบอบเก่ามาเป็นระบอบใหม่ ก็ถูกลบหายไปในปี 2503 รวมไปถึงหมุดคณะราษฎรที่เพิ่งหายไปเมื่อปี 2560 นี้เอง เมื่อตกผลึกร่วมกัน หลายคนที่คลุกคลีตีโมง กอดคอต่อต้านรัฐประหารมาด้วยกัน จึงเห็นพ้องกันว่าการต่อสู้ทางการเมืองต้องกลับไปตั้งต้นที่เจตนารมณ์การเปลี่ยนแปลงเมื่อ 2475 ใหม่”

สมยศบอกว่า กลุ่ม 24 มิถุนาฯ เริ่มจากคนกลุ่มเล็กๆ มีตั้งแต่คนชนชั้นล่าง คนว่างงาน คนยากจน คนทำงานออฟฟิศ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่ไม่ใช่คนร่ำรวย มาร่วมกันต่อต้านการรัฐประหาร

ขณะนั้นคนเสื้อแดงชุมนุมอยู่ที่สนามหลวง พวกเขาเข้าไปเป็นแนวร่วมอิสระ มีการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกด้วยการแต่งชุดเป็นนักรบโบราณใช้ธนูเป็นอาวุธ เขาเรียกกิจกรรมนี้ว่ายิงธนูถล่มกองทัพบก

“พอเราประกาศไปว่าจะมีกิจกรรม ฝ่ายรัฐบาลตกใจ คงนึกไม่ออกว่ามันหมายถึงอะไร ด้วยรูปแบบการต่อสู้ที่มีสีสัน แปลกใหม่ เราใส่ชุดนักรบโบราณถือธนู 15 คน เป็นธนูที่ซื้อมาจากสวนจตุจักร แต่ตำรวจปราบจลาจลมากันเป็นพันคนเพื่อสกัดพวกเราไม่ให้เข้าไปในกองทัพบก เราก็ใช้วิธียิงธนูข้ามรั้วเข้าไป เลยเป็นข่าวการต่อต้านการรัฐประหารเชิงสัญลักษณ์ขึ้นมา”

ในขณะที่คนเสื้อแดงส่วนใหญ่โฟกัสไปที่การขับไล่ทหารให้พ้นไปจากการเมืองไทย กลุ่ม 24 มิถุนาฯ ใช้วันชาติและหมุดคณะราษฎร ทบทวนความทรงจำของผู้คนที่มีใจรักประชาธิปไตยว่าอะไรคือที่มาของประโยคว่าอำนาจสูงสุดเป็นของปวงชนชาวไทย

เช้าตรู่วันที่ 24 มิ.ย. 2550 จึงมีข่าวว่ามีกลุ่มคนไปอ่านประกาศคณะราษฎรและวางดอกไม้รำลึกถึงคณะผู้มาก่อนกาล กลุ่มนั้นก็คือกลุ่ม 24 มิถุนาฯ นั่นเอง  10 ปีที่ผ่านมาปรากฏภาพการรำลึกถึงการอภิวัฒน์ 2475 อย่างต่อเนื่องทุกปี ก่อนจะมีหมุดประชาชนสุขสันต์หน้าใสเข้ามาแทนที่ พวกเขาจึงย้ายไปวางดอกไม้กันที่รูปปั้นปรีดี พนมยงค์ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แทน

แม้ว่าหมุดคณะราษฎรจะหายไป แต่เขาบอกว่า “ต่อให้สัญลักษณ์ของคณะราษฎรหายไป แต่หมุดที่หายไปจากที่แห่งนั้นก็กลับมาปักอยู่กลางใจผู้คนจำนวนมาก”

“การเปลี่ยนแปลงจาก 2475 วันนี้ได้เข้าไปสู่การรับรู้ของคนระดับล่างจำนวนมากในสังคมไทย ที่ไม่ใช่เฉพาะปัญญาชน เราควรจะดีใจนะ กรณีหมุดหาย แต่มีคนไปแจ้งความไว้ ถ้าเป็นก่อนปี 2549 คงไม่มี หรืออาจจะมีแค่กลุ่มอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ 4-5 คน ไปอยู่ตรงนั้นเพื่อเรียกร้อง”

สมยศย้ำว่า เราอยู่ในสังคมที่เป็นผลผลิตตกทอดมาจากประวัติศาสตร์ของการปะทะกันระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายอนุรักษนิยม คำถามว่าทำไมการรัฐประหารยังมีอยู่ ก็ต้องไปดูที่จุดเริ่มต้นว่าเกิดความผิดพลาดตรงไหน ทำไมคนแบบปรีดี พนมยงค์ ต้องไปตายในต่างแดน ถ้าเราต้องการให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตย เราไม่อาจละเลยบทเรียนต่างๆ ที่ผ่านมาใน 80 กว่าปีนี้ได้

สมยศ พฤกษาเกษมสุข

คุก ตรวน วัณโรค

 

จากที่เคยอุ้มลูกวัยทารกไปประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อปี 2534 อีก 21 ปีต่อมา ในปี 2555 ลูกชายของเขา-ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข ก็มาโกนหัว อดข้าวประท้วงที่หน้าศาลอาญา เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้เขา

ไอลอว์ระบุว่าตั้งแต่ถูกคุมขังมา สมยศเคยยื่นประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีอย่างน้อย 16 ครั้ง และเคยวางเงินประกันสูงสุด 4,762,000 บาท แต่ศาลปฏิเสธการให้ประกันตัวทุกครั้ง จนความหวังของเขาต่อกระบวนการยุติธรรมไทยเริ่มริบหรี่ สิ่งนี้ทำให้เขาเริ่มลังเลกับการมีชีวิตต่อไป ตัดสินใจใช้ความตายแลกเอาอิสรภาพกลับคืน

“ผมมีความเชื่อพื้นๆ ว่าคนเราเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสิ่งที่หลีกหนีไม่ได้ ถูกสอนมาว่าตายไปก็เอาสมบัติไปไม่ได้ แต่ว่าจะใช้ชีวิตขณะหายใจอย่างไรให้เป็นประโยชน์ ผมเลยคิดว่าขณะที่เราถูกกระทำแล้วไม่มีทางต่อสู้อื่นใดอีก ก็เอาชีวิตไปเลย คิดว่าอุทิศตนเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า ครั้งนั้นคิดแบบนั้นจริงๆ แต่ไม่ใช่ว่าจะคิดแบบนี้ตลอดไป มันเป็นจังหวะที่รู้สึกตกต่ำ นอกจากสิทธิที่ถูกขโมยไป แล้วยังป่วยด้วย แต่เพราะเราได้กำลังใจจากมิตรสหายมาก ก็อยู่รอดมาถึงวันนี้”

อดีตนักโทษทางความคิดเล่าว่า ในชีวิตเขาไม่เคยถูกล่ามโซ่ใส่ตรวน วินาทีที่เขาตีตรวนเราเรียบร้อย น้ำตาร่วง สิ่งที่ตามมาคือแผลอักเสบที่หน้าขาข้อเท้า เพราะตรวนเป็นเหล็กที่ขึ้นสนิม แม้แผลถลอกนิดเดียว แต่การติดเชื้อในคุกคือหายนะ ยาแก้อักเสบหายากมาก เขาคิดเข้าข้างตัวเองว่าไม่เป็นไร คงหายตามธรรมชาติได้

“ขาผมเน่าอยู่นาน 3-4 เดือน ทั้งสองข้างบวมเดินไม่ได้” เขาเล่าพลางเอามือลูบที่หน้าแข้งตัวเอง ร่องรอยที่ชัดเจนยิ่งทำให้ความทรงจำย่ำแย่ เพราะเป็นร่องรอยที่เกิดจากความอยุติธรรม

ความป่วยไข้ทำให้สมยศรู้สึกบั่นทอนจิตใจ แต่การไม่ได้รับสิทธิอันควรมีควรได้ โดยเฉพาะการประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญยิ่งทำให้เขาเข้าใกล้โลกมืดไปทุกที

“เสรีภาพเหมือนลมหายใจ พอถูกจับไปอยู่ในกรงขังแล้วมันเปลี่ยนคนให้เหมือนสัตว์ป่า นักโทษส่วนใหญ่พอรู้ว่าตัวเองไม่มีสิทธิก็จะไม่มีใครคิดว่าตัวเองเป็นคนด้วย เวลาเรียกกันก็เรียกไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์ เป็นบุรุษที่ 1 กับบุรุษที่ 2 ไม่มีใครเป็นมนุษย์”

“ผมอ่านรัฐธรรมนูญ คดีอาญาถ้ายังไม่ถึงที่สุด เรายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ จะปฏิบัติต่อผู้บริสุทธิ์เหมือนผู้ต้องขังไม่ได้ แต่ความจริงผมก็กินอยู่แบบผู้ต้องขัง แถมสิทธิก็ด้อยกว่าผู้ต้องขังคนอื่นๆ ด้วยซ้ำ บางคดีโทษประหารชีวิตกลับได้ประกันตัว แต่เราไม่ได้ เลยคิดว่าคงไม่มีอะไรดีไปกว่าเอาชีวิตผมไปเถอะ ผมจะได้เสรีภาพของผมสักที เวลาใครสิ้นชีวิตในคุก เขาจะประกาศปล่อยตัว ผมคิดว่าถ้าเขาประกาศปล่อยตัว นช.สมยศ พฤกษาเกษมสุข ป่อเต็กตึ๊งก็จะเข้าไปรับศพออกมา ผมก็จะมีอิสรภาพ”

ผ้าขาวม้าที่สมยศใช้อยู่ทุกวันถูกเปลี่ยนเป็นเชือกแขวนคอเพื่ออำนวยความสะดวกให้เขาเข้าใกล้อิสรภาพเร็วขึ้น แต่ระหว่างดำเนินการในกลางดึกมีเพื่อนนักโทษมาเห็นเสียก่อน อิสรภาพของเขาจึงถอยห่างรางเลือนออกไป

เขาชื่นชมระบบราชทัณฑ์ว่า สำหรับใครที่อยากฆ่าตัวตายเป็นเรื่องยากมาก เพราะมันอยู่ในสายตาคนอื่นตลอดเวลา มีทั้งกล้องวงจรปิด มีนักโทษด้วยกันมาคอยประกบเฝ้าระวังคนที่มีลักษณะเสี่ยงจะฆ่าตัวตาย

สำหรับสมยศเมื่อดำเนินการฆ่าตัวไม่สำเร็จ เขาก็ไม่เคยคิดจะทำซ้ำอีกเลย เพราะได้กำลังใจจากทั้งครอบครัวและมิตรสหายที่สืบสานกันเข้ามาเยี่ยมยามถามไถ่ไม่ขาดสาย

“ผมค้นพบว่าถ้าอยู่ในคุกแล้วยังมีคนต่อสู้อยู่ข้างนอกด้วย ผมจะไม่ท้อ แม้มีสักหนึ่งคนที่ร่วมสู้ ก็ต้องสู้กันไป”

หลังจากนั้นสมยศได้รับไปรษณียบัตรทั้งในไทยและต่างประเทศเป็นหมื่นๆ ใบ ที่เขียนมาให้กำลังใจ มันทำให้เขาเห็นว่าต่างประเทศกำลังตั้งคำถามถึงการใช้กฎหมายรังแกคนที่คิดต่าง เล่นงานกันทางการเมือง ส่วนในเรือนจำที่เคยแจกผ้าขาวม้าสำหรับผู้ต้องขังก็ถูกยกเลิกไป เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย

ว่าด้วยความตาย แม้สมยศจะล้มเลิกความพยายามดับชีวิตตัวเองไป ยุติปัจจัยภายในได้สำเร็จ แต่ปัจจัยภายนอกที่เขาควบคุมไม่ได้ก็ว่ายเวียนอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด

เขาเล่าว่า เมื่อไม่ได้ประกันตัว ระหว่างที่ต่อสู้คดี เขาต้องถูกเบิกตัวไปนำสืบพยานตามศาลต่างจังหวัด

“ไปปทุมธานี ใกล้ๆ แค่นี้ แทนที่จะส่งไปเช้าเย็นกลับก็ได้ หรือไปล่วงหน้า 1 วันก็ได้ เขาก็ส่งไปล่วงหน้าเลย 3 เดือน พอขึ้นศาลเสร็จก็อาจอยู่ต่ออีกหนึ่งเดือน เพื่อรอส่งไปศาลอีกจังหวัดหนึ่ง ระหว่างรอ แทนที่จะส่งกลับกรุงเทพฯ เขาไม่ส่ง มันแย่ตรงที่คุณต้องปรับตัว ไปเรือนจำแต่ละที่คุณต้องเจอคนหน้าใหม่ตลอด และที่แย่ที่สุดคือมันแออัดมาก ยิ่งกว่าหมูหมากาไก่ในเล้า”

“ผมไปสระแก้ว คืนแรกไม่ค่อยสบาย ไปนอนในห้องพยาบาลของเรือนจำ คนข้างๆ ไอแค่กๆ ผมก็นอนไม่ได้ กังวลว่าจะติดวัณโรค ลุงคนข้างๆ ลุกขึ้นมานั่งหัวเราะบอกไม่ต้องห่วงไอ้น้อง พี่ไม่ได้เป็นวัณโรค ไม่งั้นติดกันทั้งห้องไปแล้ว อ้าว แล้วพี่เป็นอะไร ลุงบอกแค่เอดส์ ผมก็อยู่กับเขาได้ จนกระทั่งไปอยู่ที่นครสวรรค์ คราวนี้ของจริง ผมไอแรง มีเลือดออก เริ่มเบื่ออาหาร หมอเรือนจำก็ว่าไม่เป็นหรอก แต่พอกลับมากรุงเทพฯ ลองตรวจดูปรากฏว่าติดวัณโรคมา แต่โชคดีที่เพิ่งเป็น ไม่ใช่ระยะแพร่เชื้อ ก็กินยาจนหาย แต่น้ำหนักลดลงไป 10 กิโลฯ จนผอมกะหร่อง”

เมื่อยอมรับความทุกข์ทรมานทางจิตใจได้ เขาบอกกับตัวเองว่าการสูญเสียอิสรภาพต้องเกิดประโยชน์ต่อคนอื่น การติดคุกครั้งนี้ไม่ใช่การรอคอยนับวันออก

“ผมใช้เวลาทั้งหมดที่เหลือในคุกเพื่อทบทวนประสบการณ์การต่อสู้ที่ผ่านมา ทบทวนบทเรียนที่เกิดขึ้น เวลาใครมาเยี่ยมจะให้ของฝาก ผมบอกว่าไม่เอาของกิน ขอเป็นหนังสือแทน ห้องสมุดที่ผมดูแลอยู่มีหนังสือประมาณสองหมื่นเล่ม ครึ่งหนึ่งมาจากคนที่มาเยี่ยม”

สมยศพยายามทำให้คุกกลายเป็นที่เติมไฟทางปัญญาให้ตัวเองและนักโทษคนอื่นๆ ในช่วงเวลาที่ไฟแห่งความหวังของใครหลายคนกำลังมอดลงจากวิกฤตการเมือง กระทั่งเกิดรัฐประหาร ไฟทางปัญญาที่กำลังส่องสว่างภายในเรือนจำก็คล้ายกลับถูกลมพายุลูกใหญ่ซัดดับสนิท จากที่เคยอ่านหนังสือพิมพ์ได้ จากที่เคยตัดข่าวเก็บไว้ได้ เขาถูกสั่งห้ามทั้งหมด

“มติชนสุดสัปดาห์ นิตยสารฟ้าเดียวกัน ถูกสั่งห้ามเอาเข้าเรือนจำ ใครจะอ่านอะไรจะมีผู้คุมมายืนคุม หนังสือการเมืองห้ามอ่าน เวลาจะไปเยี่ยมญาติ ผู้คุมก็เดินมาประกบเพื่อดูว่าพูดอะไรกัน”

สมยศไม่เคอะเขินที่ตอบคำถามว่า 7 ปีที่ถูกคุมขัง หลังผ่านจุดสิ้นหวังที่สุดจนลองเอาชีวิตเข้าแลกแล้ว เคยมีสักครั้งไหมที่บอกตัวเองว่าพอดีกว่า หยุดดีกว่า สู้ไปไม่ได้อะไร เหนื่อยเปล่า เขาบอกว่ามีประจำ ต่อสู้กับความคิดตัวเองตลอด เหนื่อยแล้ว เสียน้ำตาเยอะเหลือเกิน

“เราบ้าหรือเปล่าวะ บางทีเพื่อนฝูงพูดกระแทกมากๆ ก็คิดมากเหมือนกัน เช่น อุดมการณ์กินไม่ได้หรอก แต่เราก็คิดง่ายๆ ว่ากินไม่ได้ แต่เท่” เขาหัวเราะให้กับความดื้อรั้นของตัวเอง

อย่างที่คนทั่วไปมักตัดสินกันว่าคุกคือบ้านของคนเลว แล้ว 7 ปีในสายตาของสมยศในฐานะนักโทษทางความคิด เขามองความคิดความเชื่อของสังคมนี้อย่างไร เขาบอกว่าจากที่ได้สัมผัส โดยพื้นฐานทุกคนเป็นคนดีมาก่อน การทำผิดไม่ใช่เรื่องสันดาน แต่มีปัจจัยทางสังคมมาเกี่ยวข้อง เช่น ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง แต่พอมาอยู่รวมกัน เจอกฎระเบียบเดียวกัน เขาเห็นการเอื้อเฟื้อต่อกัน

เขาบอกว่า ปัญหาวิธีคิดของราชทัณฑ์คือการทำให้คนที่ถูกจองจำเข็ดหลาบ ไม่ใช่การทำให้คนปรับตัวใหม่ได้ เพราะสิ่งแวดล้อมในคุกที่แออัดและกดดันมักทำให้คนคุกคิดว่าตัวเองไร้ประโยชน์ต่อสังคม

“ความเกื้อกูลมันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่ผมสัมผัสได้ และคนทุกคนต้องการโอกาส ผมเองยังเคยรู้สึกว่าถ้าได้ออกไปคงต้องทำตัวลีบๆ ขนาดไปทำฟันมา หมอบอก โอ้โห ฟันคุณแย่มาก ไม่ขูดหินปูนมากี่ปีแล้ว ผมบอก 7 ปี หมอก็ถามว่าไปทำอะไรมา 7 ปีไม่ดูแลสุขภาพช่องปาก ผมก็พูดไม่ออก ไม่กล้าพูด”

“แม้แต่ทางบ้านผมเขาก็เปลี่ยนนามสกุลไปเลย เขาคงรู้สึกว่าถ้าใช้นามสกุลนี้แล้ว คงได้รับผลกระทบจากการทำธุรกิจ เขาจะได้ไม่ต้องไปตอบคำถาม เฮ้ย เป็นพี่น้องกับผู้ต้องขังคดี112 หรือเปล่า” สมยศพูดพร้อมรอยยิ้ม

สมยศ พฤกษาเกษมสุข 

อิสรภาพหลังไร้เสรีภาพ

เขาเปรียบว่าตอนอยู่ในคุก คล้ายกับถูกบังคับให้เป็นนักบวช พอออกมาแล้วตบะก็ต้องแตกกันบ้างเป็นธรรมดา มิตรสหายมาหา พกสุราพาเบียร์มาเยี่ยมเยียนกัน เขาก็พลอยอดใจไม่ไหว จากที่ก่อนเข้าคุกดื่มกินทุกวัน และถูกหักดิบไป 7 ปี

“วันแรกอ้วกเลย เหมือนมีการประท้วงจากกระเพาะ ลำไส้ มันเลยตีกลับ แล้วผมหลับใหลไปเลย 2-3 วัน กินอะไรไม่ได้เลย มันอ้วกออกมาหมด” เขาเล่าด้วยเสียงขำขันถึงสภาพร่างกายตัวเองเมื่อได้เหล้าคำแรกเข้าปากในรอบ 7 ปี แม้ยังไม่พร้อมลงสมรภูมิชนแก้ว แต่บรรยากาศของวันคืนชื่นมิตรคงมีแต่หุ่นยนต์ตั้งโปรแกรมห้ามดื่มไว้เท่านั้นที่จะปฏิบัติตามได้

ผ่านร้อนผ่านหนาวบนสนามการต่อสู้ทางการเมืองไทยมาค่อนชีวิต ผ่านการเผชิญหน้าทั้งนายทุนและทหารมาอย่างต่อเนื่อง อะไรคือความท้าทายที่ยากยิ่งสำหรับชีวิตของนักต่อสู้อย่างเขา

สมยศตอบทันทีว่า ยากที่สุดคือการติดคุก เสียเวลาไป 7 ปี ชีวิตสะดุด ต้องมาตั้งต้นกันใหม่

“ออกจากคุกมา ผมถามตัวเองว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรในปัจจุบันนี้ ผมเดินเข้าคุกตอนที่เป็นไทยแลนด์ 2.0 ตอนนี้เขาประกาศเป็นไทยแลนด์ 4.0 เราจะทำยังไงดี” สมยศหัวเราะเย้ยตัวเอง เขายอมรับว่าเขาอ่อนเรื่องความรู้ทางเทคโนโลยี การใช้โซเชียลมีเดียก็ต้องมานั่งเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด แต่โชคดีที่พรรคพวกเพื่อนฝูงคอยเกื้อกูลไม่ขาดหาย

เขาเล่าถึงป้าไร้นามคนหนึ่ง ที่เดินทางเข้าไปเยี่ยมเขาในเรือนจำพิเศษกรุงเทพในช่วงปีแรกๆ ที่เขาติดคุก สมยศบอกว่าไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ป้าเข้ามาเยี่ยม มาถึงป้าพูดกับเขาผ่านลูกกรงว่าป้าแก่แล้ว สุขภาพไม่แข็งแรง ไม่รู้จะตายเมื่อไหร่ ป้าก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่เป็นห่วงนักต่อสู้

“แกควักเงินจากกระเป๋ามาหนึ่งร้อยบาทแล้วฝากให้ญาติที่อยู่ด้วยกันส่งให้ผม ป้าบอกว่าแกช่วยได้แค่นี้ แล้วแกก็หายไปเลย นี่คือประชาชนที่ห่วงใยผมโดยที่ผมไม่รู้จัก”

โดยอายุอานามและเรี่ยวแรงที่ร่วมขับเคลื่อนเรียกร้องคุณภาพชีวิตที่ดีกว่ากันมา หลายคนยกธงขาวไปก่อนสีผมจะเปลี่ยนแล้ว แต่ภาพฝันในบั้นปลายของสมยศเป็นอย่างไร เขายิ้มและนิ่งเงียบ ค่อยๆ เงยหน้าขึ้นไปมองต้นไม้สูงที่ช่วยให้ร่มเงาจากแดดแรง

“ผมรู้สึกว่าเวลาผมเหลือน้อยลงแล้ว เท่าที่รู้สึกกับตัวเอง ผมแค่คิดทำเท่าที่ทำได้ ผมคิดถึงคนที่เคยสนับสนุนเรา ทั้งกำลังใจและเงินทุนจากคนเล็กคนน้อย ไม่ได้มากมาย แค่พอประทังชีวิตไปได้ มันทำให้ผมไม่ได้คิดว่าจะเกษียณตัวเองจากการต่อสู้”

การต่อสู้เพิ่งเริ่มต้นใหม่

ไม่มีใครปฏิเสธ เมื่อพื้นที่ของประชาธิปไตยหดหาย กองทัพก็ขยายอำนาจอย่างเต็มกำลัง ในขณะที่วัยคนเดือนตุลาเริ่มโรยรา วันเวลาเริ่มถูกนับถอยหลัง คนรุ่นใหม่โผล่ขึ้นมารับยุคสมัยของตัวเอง คำถามคือการอภิวัฒน์ 2475 ยังจำเป็นต่อการนำมาอ้างอิงการต่อสู้ ณ วินาทีนี้หรือไม่

เขาบอกว่า จำเป็น ไม่เช่นนั้นเราจะไม่หลุดพ้นจากวงจรเผด็จการนี้เลย “คุณจะไม่สามารถถอนรากถอนโคน คสช.ได้ เพราะที่เราเห็นกันอยู่นี้มันแค่ลำต้น แต่โคนและรากมันยังอยู่ เนื้อดินก็ยังอยู่ ต้นไม้เผด็จการจึงเติบใหญ่มาจนถึงปัจจุบันนี้ ถ้าเราไม่สามารถนำเสนอภาพสังคมที่ดีกว่า มีอุดมการณ์ดีกว่าของเก่า เราจะไม่มีพลังไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ และเราจะอยู่ในวังวนนี้ไปอีกนาน”

แล้วอะไรคือช่องว่างหรือส่วนที่ขาดหายไปของพลังคนรุ่นใหม่ที่กำลังวาดภาพสังคมที่พวกเขาอยากอยู่ สมยศนิ่งคิดไปชั่วครู่ ก่อนจะอธิบายว่า สังคมที่อยากอยู่ไม่ใช่ภาระของคนรุ่นใหม่ มันเป็นภาระของประชาชน

“สมมติว่าเราสู้ไปจนถึงได้เลือกตั้ง ผู้ที่ได้ประโยชน์อันดับแรกคือพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองกลับไม่ต่อสู้เท่าที่ควร มันไม่ได้สัดส่วนในการที่พรรคการเมืองจะได้รับประโยชน์ไป โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร แต่กลับไม่เข้มแข็งสมดังที่เป็นพรรคการเมืองที่ถูกกระทำ เขาก็ไม่มีวันที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ตอนนี้ผมเชื่อว่าเขาสัมผัสความจริงได้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาแล้ว แต่ว่าในทางอุดมการณ์การต่อสู้เขายังไม่พร้อมแตกหักกับโครงสร้างเก่า”

สมยศยอมรับว่า เมื่อคิดว่าจะสู้อย่างไร เขาก็คิดไม่ออกเช่นกัน รู้สึกว่าได้แต่คลำทางไปเรื่อยๆ บางช่วงก็ติดคุกไปก่อน ลองผิดลองถูกกันไป ถามว่าจะทันเห็นการเปลี่ยนแปลงในช่วงชีวิตไหม เขาบอกไม่แน่ใจ แต่รูปธรรมที่เขาเห็นว่าชัดเจนที่สุดในเวลานี้คือข้อเสนอของพรรคอนาคตใหม่ เรื่องลบล้างผลพวงรัฐประหาร และฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ทิ้งเสีย

“สิ่งเหล่านี้เป็นความกล้าหาญ แต่หากลบล้างได้จริงๆ คุณจะเอาอะไรแทนที่ คุณต้องเหนือกว่า นี่เป็นการบ้านของฝ่ายประชาธิปไตย สังคมที่คุณปรารถนา การเมืองที่คุณอยากเห็นมีหน้าตาเป็นอย่างไร เป็นการบ้านของประชาชน ไม่ใช่การบ้านแค่ของคนรุ่นใหม่”

เมื่อพูดถึงการต่อสู้ ในขณะที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นสมรภูมิการต่อสู้ทางการเมืองที่ไม่มีใครปฏิเสธ สำหรับสมยศเองหลังออกจากคุกมา เขาก็เปิดเฟซบุ๊กใหม่ในชื่อตัวเองเพื่อมอนิเตอร์สังคมและสื่อสารสิ่งที่เขาอยากพูด

“ก่อนติดคุก ผมเคยมีเฟซบุ๊กอันหนึ่ง ไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีราษฎรผู้ล่วงลับจัดการเปิดให้ ผมเล่นได้ไม่ถึงปีก็ติดคุกไปก่อน พอออกมาก็ลืมหมด ต้องให้เพื่อนฝูงมาสอนกันใหม่”

สมยศตอบคำถามถึงการต่อสู้ทางการเมืองที่ขยับเข้าไปอยู่ในโลกโซเชียลว่าอะไรคือความท้าทายของตัวเขาที่เคยสู้อยู่แต่บนท้องถนน เขาบอกว่ามันสบายขึ้น แต่เป็นการประท้วงในอากาศ การโต้ตอบกันก็มีข้อจำกัดที่ต้องผ่านตัวอักษร และมีแนวโน้มที่จะปะทะกันทางอารมณ์สูง แต่ที่ยากที่สุดคือมีการใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมตามเข้าไปในโลกโซเชียลด้วย

มีคนโดนจับดำเนินคดีไม่น้อย เขาไม่มั่นใจว่าเอาเข้าจริงเป็นผลดีในการเรียกร้องประชาธิปไตยหรือไม่ ยุคสมัยเปลี่ยนไป รูปแบบการประท้วงก็เปลี่ยนไป แต่อย่างน้อยเขาก็เห็นว่าวินาทีนี้โซเชียลมีเดียกลับมีพลังมากกว่าสื่อเก่าอย่างทีวีหรือหนังสือพิมพ์ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึง

สมยศ พฤกษาเกษมสุข

คำเตือน

เขาบอกว่า อันที่จริง ถ้าย้อนไปวันเวลาที่เขาถูกควบคุมตัวด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในปี 2553 แล้วต้องการให้ตัวเองรอดพ้นจากคดี 112 ก็ย่อมได้ เขาถูกคุมตัวในค่ายทหารที่สระบุรีร่วมกับอาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักประวัติศาสตร์ฝ่ายประชาธิปไตยผู้ล่วงลับ และถูกกล่าวหาจากกองทัพด้วยผังล้มเจ้าอันลือลั่น

“อาจารย์ยิ้มอยู่ 7 วัน เขาก็ปล่อยตัวไป ผมอยู่ 30 วัน มีคนมาสอบสวนผมทุกวัน เขายื่นข้อเสนอว่า ถ้าคดีนี้ไปอยู่กับทักษิณ คุณหลุด ผมจะกันคุณเป็นพยาน ตอนนั้นผมเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin แค่ชื่อมันก็โยงได้แล้ว แต่ผมต้องทรยศกับตัวเอง ทรยศกับความจริง ผมทำไม่ได้ ทั้งที่ตอนนั้นยังไม่เป็นคดีด้วยซ้ำ พูดง่ายๆ ว่าเขาขู่นั่นแหละ ผมก็ตอบว่าทำไม่ได้ เอาผมไปตัดคอดีกว่า สุดท้ายเขาบอกงั้นคุณก็รับไปแล้วกัน ตอนนั้นผมยังไม่เชื่อว่าจะมีคดีเกิดขึ้นจริงๆ”

แม้แต่เมื่อครั้งได้รับอิสรภาพมาวันแรก สมยศบอกว่าเขาก็ยังได้รับคำเตือนด้วยความหวังดีอีกครั้ง แต่เป็นความหวังดีที่ต้องการให้เขาเงียบเสีย

“ผู้หลักผู้ใหญ่ที่นับถือกันบอกผมว่า เขาบอกด้วยความรัก ด้วยความเป็นห่วง ไม่อยากให้ผมพบกับอันตราย เพราะฉะนั้นขอให้ผมอย่าพูดเรื่องการเมืองอะไรเลย ผมก็น้อมรับความห่วงใยมา แต่ถือว่าผมใช้สิทธิเสรีภาพที่ไม่ได้เกินเลยอะไร มันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ผมต้องการต้องรักษาไว้ คือเสรีภาพในการคิด เขียน พูด”

ถ้าโลกยังสดสวย และชวนมองให้เห็นความหวังและกำลังใจ 7 ปีที่หายไปของสมยศคืออะไรที่ซ่อนอยู่ภายใต้รอยยิ้มอันสะอาดสะอ้านนี้

“ผมได้สู้แล้ว แม้ผลลัพธ์จะออกมาเป็นความทุกข์ทรมาน แต่พื้นฐานความเป็นมนุษย์ของผมยังรักษาไว้ได้” สมยศกล่าว

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save