เบื้องหลัง ‘พาราควอต’ ไม่โดนแบน

เบื้องหลัง ‘พาราควอต’ ไม่โดนแบน

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง

 

5 มิถุนายน วันสิ่งแวดล้อมโลก

เป็นที่น่ายินดีว่า ประเทศไทยยังอนุญาตให้มีการนำเข้าสารเคมีตัวร้ายที่ชื่อ พาราควอต ต่อไป

คนทั่วไปอาจจะไม่คุ้นหูกับยากำจัดวัชพืชที่เรียกว่า พาราควอต (Paraquat) ที่เป็นข่าวอยู่ตอนนี้

แต่หากบอกว่ายาชนิดนี้มีชื่อการค้าว่า กรัมม็อกโซน (Grammoxone) ยาฆ่าหญ้ายอดฮิตอันดับหนึ่งตลอดกาลที่เรารู้จักกันดี และแอบสยองขวัญหน่อยๆ เพราะชาวบ้านใช้ดื่มแทนยาฆ่าตัวตายราคาถูก เห็นผลทันตาเป็นข่าวอยู่เนืองๆ

พาราควอต เป็นยากำจัดวัชพืชอันดับหนึ่งของโลก ผลิตขึ้นจำหน่ายเมื่อปี พ.ศ. 2504 โดยบริษัทไอซีไอ (Imperial Chemical Industries) ในสหราชอาณาจักร มีคุณสมบัติทำให้ใบสีเขียวแห้งตาย จึงได้ผลดี พ่นไปพื้นที่ใด ใบหญ้าหรือวัชพืชก็หงิกงอแห้งตายสมใจผู้ใช้

เกษตรกรทั่วโลกนิยมใช้ เพราะราคาถูก เห็นผลเร็ว เพียงแค่ผสมกับน้ำ แล้วพ่นใส่วัชพืช ช่วยเพิ่มผลิตผลในพื้นที่การเกษตรและสร้างความร่ำรวยให้กับบริษัทผู้ผลิตและนำเข้ามาจำหน่ายเป็นเวลานาน

ปี 2560 ประเทศไทยนำพาราควอตถึง 30,000 กว่าตัน เป็นมูลค่านับพันล้านบาท แสดงให้เห็นถึงความนิยมไม่เสื่อมคลายจริงๆ

แต่ทุกอย่างเป็นเหรียญสองด้านเสมอ

พาราควอตละลายน้ำได้ดี จึงปนเปื้อนในแหล่งน้ำได้ง่าย

ลองนึกดูว่า ชาวไร่ชาวนาที่ฉีดพาราควอตหรือกรัมม็อกโซนบนที่ดินตัวเอง แล้วน้ำเหล่านี้ก็ไหลลงสู่ลำห้วย ลำธาร และแม่น้ำ มาจนถึงผู้ใช้ ผู้บริโภคกันถ้วนหน้า เช่นเดียวกับยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า และสารเคมีชนิดอื่นๆ

เพียงแต่ว่า พาราควอต ได้มีผลพิสูจน์ออกมาทั่วโลกแล้วว่า อันตรายร้ายแรง มีความเป็นพิษเฉียบพลันสูง ทำลายร่างกาย โดยเฉพาะ ตับ ไต หัวใจ ปอด แม้ในปริมาณเล็กน้อยเพียงหนึ่งช้อนชา ก็สามารถทำให้ตายได้ รวมถึงมีข้อกังวลเรื่องสารตกค้าง ที่อาจส่งผลต่อโรคพาร์กินสัน ชาวบ้านจึงนิยมใช้เมื่อคิดจะฆ่าตัวตาย

เมื่อปี 2560 กรมควบคุมโรค รายงานว่า ในจำนวนคนฆ่าตัวตายทั่วประเทศ ตายด้วยการกินกรัมม็อกโซนถึง 111 ราย และหากสัมผัสสารเคมีชนิดนี้มากเกินไป อาจทำให้ผิวหนังไหม้ได้ มีรายงานว่าชาวไร่อ้อยที่โดนน้ำยาชนิดนี้ บริเวณนิ้วมือ นิ้วเท้า เกิดแผลร้ายแรงจต้องตัดออก

ทุกวันนี้สารพิษชนิดนี้ถูกสั่งห้ามจำหน่ายใน 53 ประเทศแล้ว แม้กระทั่งประเทศอังกฤษ ประเทศที่โรงงานผลิตพาราควอตตั้งอยู่ รวมถึงประเทศจีนที่มีโรงงานขนาดใหญ่ที่สุดตั้งอยู่

หน่วยงานหลายแห่งในประเทศไทยได้ตระหนักถึงพิษภัยของยาฆ่าวัชพืช มีการตั้งกรรมการขึ้นมาหลายชุดเพื่อพิจารณาว่าจะยกเลิกการใช้สารเคมี พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส หรือไม่ ในที่สุดที่ประชุมสามฝ่ายของผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ มีความเห็นว่าควรสั่งแบน จากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน

แต่แล้วเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติ “ไม่ยกเลิก” การใช้สารเคมีพาราควอต คลอร์ไฟริฟอส และไกลโฟเซต ด้วยเหตุผลว่า ข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังไม่เพียงพอ ท่ามกลางกระแสคัดค้านของคนจำนวนมาก รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขเอง

ที่ตลกร้ายก็คือ เมื่อปี 2552 อันเป็นช่วงที่เกษตรกรไทยสนใจการทำการเกษตรแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี แต่ใช้พืชบางชนิดที่มีคุณสมบัติกำจัดศัตรูพืชแทน อาทิ ขมิ้นชัน ตะไคร้หอม สะเดา ฯลฯ  ทว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดนี้ กลับเห็นชอบตามข้อเสนอของกรมวิชาการเกษตร ประกาศให้พืชสมุนไพร 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 1 ซึ่งจะทำให้มีการควบคุมผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรดังกล่าว ที่นำไปใช้ “ป้องกันกำจัด ทำลาย ควบคุมแมลง วัชพืช โรคพืช ศัตรูพืช หรือควบคุมการเจริญเติบโตของพืช” โดยผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มติดังกล่าวถูกชาวบ้านวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทผู้นำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และกีดกันไม่ให้ชาวบ้านใช้สมุนไพรเพื่อกำจัดวัชพืชเองได้ สุดท้ายรัฐบาลก็ยอมยกเลิกมติดังกล่าว เพราะผู้คนเห็นเบื้องหน้าเบื้องหลังของมติอันนี้

กรรมการวัตถุอันตรายประหลาดหนักหนา ของตามธรรมชาติอย่างสมุนไพร ที่ช่วยกำจัดศัตรูพืช หรือวัชพืช กลับไม่ส่งเสริม แต่ทีพาราควอต ที่เห็นผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชนอย่างชัดเจน กลับไม่ห้ามปราม

แต่คงไม่น่าแปลกใจ หากเรารู้ว่าบางคนในกรรมการชุดที่ประกาศให้พืชสมุนไพร 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตราย เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้พาราควอตยังสามารถใช้ต่อไปได้ มีข้อสังเกตว่า กรรมการอย่างน้อย 3 คนในคณะกรรมการในชุดนี้ มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทค้าสารพิษอันตราย

ยังไม่นับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคนแห่งกรมวิชาการเกษตร ที่เมื่อเกษียณอายุแล้ว ก็มักรับจ็อบเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรและบริษัทจำหน่ายสารเคมีการเกษตร

ด้วยเหตุปัจจัยที่ว่ามา สุขภาพของชาวบ้านจึงมักเดินตามหลังผลประโยชน์ของบริษัทยักษ์ใหญ่เสมอ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save