fbpx
อ่านเกาหลีผ่านวัฒนธรรมบันเทิงร่วมสมัย กับ จักรกริช สังขมณี

อ่านเกาหลีผ่านวัฒนธรรมบันเทิงร่วมสมัย กับ จักรกริช สังขมณี

ชลธร วงศ์รัศมี เรียบเรียง

เมื่อนำประวัติศาสตร์ไทยมาทาบทับกับเกาหลี เราได้เห็นความละม้ายคล้ายกันอย่างน่าทึ่ง

ถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการมายาวนานเหมือนกัน เกิดการลุกฮือของนักศึกษา ประชาชน และการล้อมปราบประชาชนที่จบลงด้วยความสูญเสียและนองเลือดเช่นเดียวกัน

ทว่าความแตกต่างคือเกาหลีเลือกที่จะ ‘จำ’ ประวัติศาสตร์เหล่านั้นและจารึกผ่านสื่อบันเทิงเช่นภาพยนตร์ และซีรีส์ต่างๆ อยู่เสมอ ในภาพยนตร์ The Attorney เราได้เห็นการอ่านหนังสือเป็นอาชญากรรม จนนักศึกษาหนุ่มผู้คิดดีต่อเพื่อนมนุษย์ผู้ครอบครองหนังสือไว้ถูกทำทารุณกรรมอย่างโหดร้าย ไม่ต่างจากช่วงหนึ่งที่นักศึกษาไทยต้องเผา ‘หนังสือต้องห้าม’ ก่อนที่การถูกจับได้ว่าครอบครองไว้จะนำไปสู่ข้อหาร้ายแรงอย่างการเป็นคอมมิวนิสต์

ไม่เพียงแค่เรื่องราวในอดีต เมื่อครั้งประธานาธิบดีอย่าง พัก กึน-ฮเย เริ่มมีข่าวทุจริต ซีรีส์อิงประวัติศาสตร์ระยะใกล้เกี่ยวกับศาล การทุจริตของนักการเมือง และกระบวนการยุติธรรมของเกาหลีก็ทยอยมาแบบจัดเต็มราวกับจะบอกผู้ชมว่า ‘จับตาดูศาลไว้ อย่าให้การแทรกแซงศาลเกิดขึ้นซ้ำ อย่าให้คนผิดลอยนวล’

ผศ.ดร.จักรกริช สังขมณี  จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่าทุกวันนี้แม้ใครๆ จะเรียกขานสื่อบันเทิงว่าเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (soft power) แต่สำหรับเกาหลีนั้น ชักจะไม่ซอฟต์อีกต่อไป ในเกาหลีซีรีส์ทำหน้าที่แทนหนังสือประวัติศาสตร์ คอยย้ำเตือนความโหดร้ายของระบอบเผด็จการเพื่อไม่ให้คนรุ่นใหม่เดินตามรอยเดิมอยู่เป็นระยะ ในความมุ้งมิ้งชวนกันทำกับข้าวในฉากใช้ชีวิตด้วยกันของหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ ได้แอบวางกรอบอุดมคติและค่านิยม ชาย-หญิง ที่มีความเท่าเทียม (และเป็นสิ่งใหม่ในสังคมเกาหลี) ให้คนอยากดำเนินรอยตามไว้อย่างแนบเนียน และในภาพยนตร์แอ็กชั่นโปรดักชันอลังการได้ตอกย้ำประวัติศาสตร์บาดแผลที่ญี่ปุ่นละเมิดความเป็นมนุษย์ของคนเกาหลีเอาไว้ เพื่อสร้างน้ำหนักบางประการในการเจรจาบนเวทีโลก ฯลฯ

ในความสนุกสนาน และ ‘จริงจังเรื่องบันเทิง’ ของวัฒนธรรมบันเทิงของเกาหลี มีสิ่งต่างๆ ซ่อนไว้มากมาย รายการ One-on-One จึงชวน ผศ.ดร.จักรกริช สังขมณี นักวิชาการผู้มีความสนใจหลากหลายด้าน ทั้งความสนใจในงานวิชาการในกลุ่ม Science and Technology Studies (STS) การศึกษาสังคมวัฒนธรรมในสื่อร่วมสมัย ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ฯลฯ และเป็นผู้สอนวิชา Korean Film and Society ซึ่งนำภาพยนตร์เกาหลีมาสะท้อนให้เห็นพัฒนาการทั้งหมดของสังคมเกาหลีสมัยใหม่ มาร่วมสำรวจบาดแผลทางประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของสังคมเกาหลีร่วมสมัย และความเป็นไปได้ในการรวมชาติในอนาคต ผ่านหนังและซีรีส์เกาหลี ชวนสนทนาโดย ธร ปีติดล และร่วมด้วยคำถามมากมายจากผู้ชมทางบ้าน

จักรกริช สังขมณี

เพราะอะไรวัฒนธรรมบันเทิงเกาหลีจึงเป็นหนึ่งในความสนใจของอาจารย์

ในแง่วิชาการผมกำลังทำงานวิจัยเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนา (ODA Official Development Assistance) ของเกาหลีกับประเทศอื่นๆ โดยดูว่าการให้ความช่วยเหลือของเกาหลี ได้นำเอาวัฒนธรรม และอุดมการณ์ของเกาหลี ไปใช้ร่วมด้วยอย่างไร ซึ่งจะต่างจากการให้ความช่วยเหลือจากประเทศอื่นๆ และโดยส่วนตัวแล้วผมชอบดูหนัง ดูซีรีส์เกาหลี หลังๆ เริ่มขยับมาอ่านวรรณกรรมเกาหลีมากขึ้น ซึ่งผมคิดว่าจริงๆ แล้วสื่อบันเทิงมีความซีเรียสอยู่ในตัว มีประเด็นทางสังคม และการตั้งคำถามอยู่พอสมควร เป็นส่วนหนึ่งของการสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของเกาหลีให้เราเห็นได้

สื่อบันเทิงเกาหลีกลายเป็นกระแสขึ้นมาเพราะอะไร

มีคำหนึ่งที่สำคัญมากๆ ในอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี คือคำว่า ‘ฮันรยู’ (Hallyu)  แปลว่า ‘คลื่นวัฒนธรรมเกาหลี’ คนอาจรู้จักคำว่า K Pop เป็นหลัก แต่คำที่ใช้ในวงวิชาการคือคำว่าฮันรยู  คำนี้กำเนิดจากสื่อมวลชนในจีนซึ่งเรียกการขยายตัวของสื่อเกาหลีที่เข้าไปในจีนแล้วตอนหลังขยายตัวไปทั่วโลก

ฮันรยูก่อตัวขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1990 หรือราว 20 ปีผ่านมา ก่อนหน้านี้เกาหลีเป็นประเทศยากจน เจอทั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามเกาหลี และสงครามเย็น เกาหลีเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจยาวนาน จึงให้ความสำคัญกับความบันเทิงน้อยมาก จนกระทั่งลืมตาอ้าปากได้ในช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เกาหลีถึงค่อยให้ความสนใจอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละคร แล้วเรื่องเพลงตามมาทีหลัง โดยส่วนตัวของผม ยังจำได้ว่าในสมัยรอยต่อเข้าสู่ปี 2000 ผมเริ่มเสพภาพยนตร์เกาหลี สมัยนั้นต้องไปที่ร้านเช่าซีดี กลุ่มคนดูตอนนั้นน้อยมาก เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มเล็กจริงๆ

สื่อของเกาหลีทั้งหมด เติบโตไปพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกิดขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นมันผนวกกันพอดีระหว่างความพร้อมของเกาหลีที่จะสร้างเนื้อหาบางอย่าง และมีเทคโนโลยีที่จะช่วยส่งเนื้อหาเหล่านี้ออกไปข้างนอก เป็นจังหวะพอเหมาะพอสมควร

มีหลายปัจจัยดันให้กระแส ‘ฮันรยู’ กระจายไปทั่วโลก รวมถึงบทบาทรัฐด้วยใช่ไหมครับ

ใช่ครับ บทบาทรัฐสำคัญ บางคนคิดว่าเกาหลีประสบความสำเร็จได้เพราะมีความสร้างสรรค์หรือมีการแข่งขันในเชิงของธุรกิจเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วรัฐมีส่วนช่วยอย่างมากที่ทำให้ฮันรยูเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 รัฐจำกัดโควต้าภาพยนตร์ต่างประเทศที่จะฉายในเกาหลี ให้โรงภาพยนตร์ฉายภาพยนตร์เกาหลีอย่างน้อยราว 100 วันต่อปี และตั้งหน่วยงานทางด้านวัฒนธรรมเยอะมาก นอกจากกระทรวงวัฒนธรรม เกาหลียังมีหน่วยงานย่อยๆ ช่วยทำงานวิจัยในเชิงของการตลาด และในเชิงเนื้อหา ว่าจะใช้วัฒนธรรมเกาหลีมาบรรจุหีบห่อใหม่ (re-package) หรือปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องต่อความต้องการของผู้ชมนอกประเทศอย่างไร ท้ายที่สุดแล้วคลื่นวัฒนธรรมนี้เป็นความตั้งใจ โดยเฉพาะรัฐเองที่มองว่าสื่อทำเงินได้

จริงๆ พอเราพูดถึงปลายทศวรรษที่ 1990 เราอาจนึกถึงช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย เกาหลีเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลจากวิกฤติเศรษฐกิจนี้ แต่เกาหลีฟื้นตัวได้เร็วมาก สามารถคืนเงินกู้ IMF ได้เร็วมากประเทศหนึ่ง ความสำเร็จนี้มาจากส่วนหนึ่งเกาหลีมองว่า ต้องผลิตรถยนต์ฮุนไดถึงประมาณ 1,500,000 คัน เพื่อจะทำรายได้ให้เท่ากับภาพยนตร์จูราสสิคพาร์คเพียง 1 เรื่อง ซึ่ง 1,500,000 คัน เป็นยอดสองเท่าของจำนวนรถที่ขายได้ในแต่ล่ะปีด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นแทนที่จะผลิตรถยนต์เพียงอย่างเดียว หรือสนใจแต่เรื่องของอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมเคมี ทำไมเราไม่มาสนใจอุตสาหกรรมบันเทิง ซึ่งจะเป็นแหล่งรายได้อย่างมาก หลังจากนั้นเกาหลีก็ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์มากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ การส่งออกวัฒนธรรมเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจด้วยหรือเปล่าครับ

เวลาเราพูดถึงการ ‘ส่งออก’ วัฒนธรรม เราหมายถึงการใช้วัฒนธรรมเป็นอำนาจอ่อน (soft power) ทำให้ประเทศอื่นรับรู้ว่าเกาหลีคือใครในเวทีโลก เป็นการสื่อสารกับภายนอก แต่ขณะเดียวกันสื่อภาพยนตร์ ซีรีส์ เพลงจำนวนมาก เป็นการสะท้อนหรือสนทนา ‘กลับเข้าไป’ ภายในประเทศ เป็นการพูดคุยกับคนของเขาเองด้วย เพื่อให้การศึกษา ขัดเกลาคนให้คนตั้งคำถามใหม่ๆ หรือให้มุมมองว่าอะไรคืออุดมคติที่ดีของสังคม

สื่อบันเทิงช่วยก่อให้เกิดบทสนทนาในประเทศ ตอนเราดูภาพยนตร์เกาหลี แน่นอนว่าเราอาจรับรู้เรื่องราวบางอย่างได้ แต่คนภายในประเทศเขาอาจดูเนื้อหาเดียวกันกับเรา แต่มีประเด็นถกเถียง ประเด็นที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องแตกต่างจากคนนอก ถ้าเราติดตามภาพยนตร์ ซีรีส์ ของเกาหลีมานาน เราจะเห็นพัฒนาการความพยายามสะท้อนปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลง แง่มุม ข้อห่วงใยที่เกิดขึ้นในสังคมตลอดเวลา

มีช่วงหนึ่งที่รัฐมีบทบาทเข้าไปกำกับเนื้อหา เซ็นเซอร์สื่อบันเทิง และสื่อบันเทิงถูกใช้เพื่อกดความสร้างสรรค์เอาไว้ แต่ทว่าทำไมวันหนึ่งรัฐจึงกลับมามีความพยายามใช้สื่อบันเทิงเป็นเครื่องมือให้คนเกาหลีมองไปสู่โลกภายนอก และเปลี่ยนแปลงค่านิยมเดิม

สาเหตุที่สื่อบันเทิงเกาหลีไม่เติบโตตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 – 1980 เป็นต้นมา เพราะเกาหลีอยู่ใต้รัฐเผด็จการทหาร คนไม่สามารถเสพงานใหม่ๆ ได้เลย การที่คุณอ่านวรรณกรรมต่างประเทศ การที่คุณเสพอะไรก็แล้วแต่เป็นเรื่องต้องห้าม แน่นอน หน้าที่หลักของสื่อในรัฐเผด็จการทหารคือสร้างโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อก่อให้เกิดอุดมการณ์ชาตินิยม การอุทิศตนทำงานอย่างหนักเพื่อพัฒนาประเทศชาติ ให้เชื่อผู้นำ ไม่ให้คิดต่าง

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวคือไม่มีความคิดสร้างสรรค์อะไรเลย มีเฉพาะวัฒนธรรมอเมริกันจากคนอเมริกันที่เข้าไปอยู่เพื่อดูแลเรื่องความมั่นคงในภายหลัง ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นได้เพราะเกิดกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม-การเมือง ที่ประชาชนลุกฮือขึ้น 2-3 ครั้งใหญ่ๆ แล้วเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมือง เรียกร้องการเปลี่ยนนโยบายต่างๆ สังคมกดดันรัฐบาลมากขึ้น และปัจจัยทางเศรษฐกิจทำให้รัฐต้องปรับตัว

ในแง่หนึ่งสื่อบันเทิงโตได้ มีความคิดสร้างสรรค์ได้ เพราะอำนาจนิยมหายไปด้วย คนต่อสู้ เพราะฉะนั้นกระบวนการประชาธิปไตย กับขบวนการเติบโตขึ้นของเศรษฐกิจบันเทิงมันไปด้วยกัน

สิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้เรื่อยๆ จากการดูหนังเกาหลี โดยเฉพาะเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว คือเศร้า ผมสงสัยตลอดว่าทำไมภาพยนตร์เกาหลีต้องเศร้าขนาดนั้น 

วัฒนธรรมของเกาหลีมีความเศร้าอยู่ในตัว คนเกาหลีมีสิ่งหนึ่งที่คนเกาหลีเขาเข้าใจกัน คือ ‘ฮัน’  เป็นลักษณะทางวัฒนธรรมร่วมของชาวเกาหลี ซึ่งหมายถึงความรู้สึกของการถูกบีบบังคับ การถูกเอาเปรียบ ความอยุติธรรมหรือการต้องเผชิญกับความยากลำบาก ความทุกข์ระทมที่ยากจะข้ามพ้นไปได้ง่ายๆ ส่วนหนึ่งของความรู้สึกดังกล่าวมาจากการรับรู้เชิงประวัติศาสตร์ของการถูกครอบงำ ความพลัดพราก ความยากลำบาก อีกส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างทางสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำในหลายๆ ด้าน

‘ฮัน’ ได้หล่อหลอมให้คนเกาหลีมีบุคลิกลักษณะบางอย่าง คือถ้าเราบอกว่าคนไทยคือคนที่อะไรก็ได้ ไม่เป็นไร คนเกาหลีจะตรงข้าม ทุกคนจะมี ‘ฮัน’ อยู่ในตัว ฮันคือความรู้สึกของความรับรู้ถึงความอยุติธรรม ความเจ็บปวด ความรู้สึกหดหู่ ที่จะต้องก้าวข้ามไปให้พ้น แต่ว่าการก้าวข้ามความรู้สึกเหล่านี้ที่อยู่ลึกในจิตใจ ไม่ได้ก้าวข้ามภายในวันสองวัน บางคนใช้เวลาทั้งชีวิตในการก้าวข้ามสิ่งที่เราข้ามไม่ผ่าน

เพราะฉะนั้น พอคนมีปมแบบนี้ คนทั้งชาติมีปมอย่างนี้ ประเทศกลายเป็นประเทศที่เดินหน้าด้วยปม ถูกผลักด้วยปมบางอย่าง เพราะฉะนั้นในแง่หนึ่งการรับรู้ประวัติศาสตร์เกาหลีคือการรับรู้เกี่ยวกับปม เช่น การไม่ได้รับความยุติธรรม การถูกครอบงำโดยประเทศอื่น หรือการต้องเผชิญกับความลำบากยากแค้น เป็นประวัติศาสตร์การเล่าที่สะท้อนตัวตนของคนเกาหลี

คนที่สนใจประวัติศาสตร์เกาหลีสมัยใหม่ มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งว่า Ode to My Father (2014) หรือบทกวีแด่ผู้เป็นพ่อ ซึ่งคนที่สนใจประวัติศาสตร์เกาหลีตั้งแต่ยุค 1950 เป็นต้นมาเป็นภาพยนตร์ที่ต้องดู มีช่วงหนึ่งที่ตัวละครต้องไปขายแรงงานอยู่ในเหมืองแร่ที่เยอรมนี สะท้อนประวัติศาสตร์ช่วงที่เกาหลีส่งออกแรงงานจำนวนมากไปต่างประเทศ ในช่วงแรกคือยุค 1960 ซึ่งไปขายแรงงานในเยอรมนี ไปเป็นพยาบาลอยู่ในยุโรป ในช่วง 1970-1980 ไปเป็นทหารรับจ้างในสงครามเวียดนาม แล้วพอทุกอย่างเริ่มดีขึ้น ก็มีความพยายามที่จะรวมชาติหลายครั้ง เพราะฉะนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้จะฉายให้เห็นชีวิตคนหนึ่งคนที่เติบโตขึ้นมาในช่วงเวลา 50-60 ปีที่ผ่านมา ว่าเขาต้องเผชิญอะไรบ้าง เป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเกาหลีได้เป็นอย่างดี

วัฒนธรรมของเกาหลีมีความเศร้าอยู่ในตัว คนเกาหลีมีสิ่งหนึ่งที่คนเกาหลีเขาเข้าใจกัน คือ ‘ฮัน’ ฮันคือบุคลิกลักษณะบางอย่าง คือถ้าเราบอกว่าคนไทยคือคนที่อะไรก็ได้ ไม่เป็นไร คนเกาหลีจะตรงข้าม ทุกคนจะมี ‘ฮัน’ อยู่ในตัว

ใน Ode to My Father เริ่มแรกตัวเอกต้องพลัดพรากจากพ่อตอนสงคราม (Hungnam Evacuation 1950) ต้องไปดูแลน้องกับแม่ แล้วก็เลี้ยงดูครอบครัว ไปทำงานต่างประเทศ เพื่อจะให้น้องอีกคนได้เรียนหนังสือ การที่ทั้งครอบครัวทุ่มเททุกอย่างให้คนหนึ่งคนในครอบครัวได้เรียนหนังสือ เป็นสิ่งที่คนเกาหลีทุ่มเทเป็นปกตินะครับ และนำมาสู่การให้ความสำคัญอย่างมากต่อเรื่องการศึกษา

จริงๆ มีอีกประเด็นที่หนังเรื่องนี้ และวงการบันเทิงเกาหลีพยายามเล่าคือการพยายามนำคนที่จากกันไปกลับมาเจอกัน มีช่วงหนึ่งที่สถานีโทรทัศน์เกาหลีทำรายการเรียลลิตี้โชว์ ตามหาครอบครัว หลังออกอากาศไปว่าคุณสามารถโฆษณาตามหาครอบครัวที่สูญหายหรือจากไปได้ เป็นเรื่องที่เศร้ามาก มีคนพลัดพรากกันมาเป็นเวลา 20-30 ปีมากมายมาที่สถานี ปรากฏการณ์นี้กลายเป็นปรากฏการณ์ใหญ่มาก เดิมทีสถานีตั้งใจจะใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 1-2 วันในการรับแจ้ง แต่สุดท้ายแล้วคนมารวมตัวกันมหึมา ทำให้เรียลลิตี้โชว์ ของคนที่ตามหาครอบครัว ทอดยาวนานเป็นเดือนๆ เกิดความผิดหวัง บางคนเจอ แต่บางคนไม่เจอ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่)

 

แสดงว่าคนเกาหลีรุ่นหนึ่งต้องดิ้นรนมาก

ตอนนี้เราอาจได้เห็นข่าวคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อพยพไปทำงานในเกาหลีเยอะ เราได้ข่าวคนไทยถูกปฏิเสธ เกาหลีไม่ให้เข้าประเทศ เพราะมีคนลักลอบเข้าไปทำงานเยอะ แต่เกาหลีช่วง 1960-1970 คนเกาหลีเองเป็นฝ่ายอพยพไปหางานทำข้างนอกเยอะมาก และเอาเงินกลับเข้าประเทศเยอะมาก เพราะคนเกาหลีทำอะไรแล้วจริงจังมาก ประหยัด มัธยัสถ์ สู้ชีวิต นี่เป็นส่วนหนึ่งของกระแสชาตินิยมที่เกิดขึ้นด้วย ว่าคุณต้องอุทิศตนเพื่อชาตินะ ตายเพื่อชาติ สละแรงงานเพื่อชาติด้วย

ตัวอย่างภาพยนตร์ Ode to My Father

นอกจากประเด็นการต่อสู้เพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว ยังมีประเด็นการต่อสู้ทางการเมืองด้วยใช่ไหมครับ

มีเยอะครับ แล้วเหตุการณ์พวกนี้สร้างจากเรื่องจริง เวลาเราพูดถึงหนังประวัติศาสตร์การเมืองในเมืองไทยเราจะหาได้ยาก แล้วยิ่งหนังดีๆ ยิ่งหาได้ยากมาก แต่ในเกาหลีในแต่ละหน้าประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีการชำระประวัติศาสตร์เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่คนไทยน่าจะรู้จักดีคือการสลายการชุมนุมที่เมืองควังจู หรือที่เรียกกันว่าเหตุการณ์ ‘May 18’ ซึ่งเป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นในวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 เหตุการณ์ผ่านมา 30-40 ปี จนถึงทุกวันนี้ยังมีความพยายามชำระประวัติศาสตร์หรือเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างไม่หยุด ยังมีคนที่ยังสูญหาย ยังมีความพยายามเอาคนกระทำผิดมารับผิดชอบอยู่ เพราะฉะนั้นภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ May 18  (2007) ซึ่งเล่าถึงช่วงเวลา 10 วันของเหตุการณ์นั้นเลย

May 18 คือช่วงเวลาที่ประชาชน นักศึกษา ในควังจูร่วมกันชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดี ช็อน ดู-ฮวัน  เกิดการล้อมปราบรุนแรง เกิดการฆ่าพลเรือนตายมหาศาล ปีที่แล้วมีภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งซึ่งพูดถึงเหตุการณ์เดียวกัน แต่ทำให้ทันสมัยแล้วมองอีกมิติหนึ่งชื่อว่า The Taxi Driver แทนที่จะมองจากมุมมองของประชาชน ก็มองจากนักข่าวเยอรมันที่เข้าไปทำข่าวในตอนนั้น เป็นหนึ่งในคนที่เอาเรื่องนี้ออกมาเผยแพร่ไปทั่วโลก

ตอนคนที่ควังจูถูกล้อมปราบ คนเมืองอื่นในเกาหลีแทบจะไม่รู้เรื่องนี้ เพราะถูกปิดข่าว มีโฆษณาชวนเชื่อว่าคนเหล่านี้เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นคนก้าวร้าว บ้านนอก ไม่ได้รับการศึกษา แต่ว่าการที่เรื่องนี้ได้รับแรงกดดันจากต่างประเทศ เพราะมีนักข่าวชาวเยอรมันเข้าไปทำข่าว แล้วสุดท้ายด้วยการช่วยเหลือของคนขับแท็กซี่ชาวเกาหลี ทำให้เขาสามารถเอาภาพ เอาฟุตเทจต่างๆ ออกมาได้ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริง

นักข่าวเยอรมันตัวจริงกับในภาพยนตร์ สื่อมวลชนคนสำคัญที่ทำให้โลกรับรู้ความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในควังจู ภาพ l SBS
นักข่าวเยอรมันตัวจริงกับในภาพยนตร์ สื่อมวลชนคนสำคัญที่ทำให้โลกรับรู้ความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในควังจู ภาพ l SBS

เมื่อ 1-2 ปีที่แล้ว นักข่าวชาวเยอรมันคนนี้เสียชีวิต แต่ก่อนเสียชีวิตเขาใช้เวลานานมากเพื่อตามหาคนขับแท็กซี่คนนี้ ด้วยความอยากกลับมาเจอ แต่ประกาศหาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ ไม่แน่ใจว่าตอนที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน คนขับแท็กซี่ใช้ชื่อปลอมหรือเปล่า เพราะตอนนั้นทุกคนหวาดกลัวกับทุกอย่าง สุดท้ายก็ไม่ได้เจอ

อย่างน้อยภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นการระลึกถึงวีรบุรุษคนหนึ่ง ที่มีส่วนช่วยให้ขบวนการภาคประชาสังคมตอนนั้นเติบโตขึ้นได้ แม้ว่าการสลายการชุมนุมครั้งนั้น สุดท้ายแล้วประชาชนพ่ายแพ้ต่อรัฐบาลมาก แต่ว่าอย่างน้อยเป็นบทเรียนสำคัญที่จะบอกกับคนรุ่นต่อไป บอกกับรัฐบาลว่า การกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนแบบนี้ มันกระทำไม่ได้ มันป่าเถื่อนมาก  ประวัติศาสตร์หรือคนทั่วไปในเกาหลีต้องรับรู้เรื่องนี้ คนรุ่นใหม่เรียนรู้ May 18 ผ่านสื่อ  นอกจากบทเรียน เขาเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ที่ไม่ควรจดจำหรือไม่ควรให้เกิดขึ้นผ่านภาพยนตร์

นับว่าเกาหลีเป็นประเทศที่มีประวัติการต่อสู้หนักหน่วงเหมือนกันนะครับ

ใช่ครับ แล้วจริงๆ ไม่ใช่แค่สู้ในเรื่องของการเมืองระดับชาติใหญ่ๆ เท่านั้น อย่างที่ผมบอกว่าคนเกาหลีมี ‘ฮัน’  ความเก็บกด ความรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม  เพราะฉะนั้นถ้าไปเกาหลี หน้าที่ว่าการหรือแถวคลองชองคเยชอนก็แล้วแต่ จะมีคนมาประท้วงอยู่ตลอดเวลา ทั้งประท้วงเรื่องไม่ได้รับความชอบธรรมจากระบบยุติธรรม  เรื่องตกงาน ฯลฯ การประท้วงหรือการไม่ยอมจำนนเป็นลักษณะหนึ่งของชาวเกาหลี 

หนังอีกเรื่องเกี่ยวกับการต่อสู้ที่น่าสนใจคือเรื่อง The Attorney ที่เราน่าจะพูดถึงกัน

จริงๆ แล้วอยากแนะนำให้ดูนะครับ The Attorney (2013) เป็นประวัติชีวิตของอดีตประธานาธิบดี โน มู-ฮย็อน ในช่วงหลังเกิดเหตุการณ์ May 18 ที่ควังจู ในตอนนั้นประธานาธิบดี ช็อน ดู-ฮวัน ล้อมปราบประชาชนแล้วยังสามารถดำรงตำแหน่งออกไปได้อีก ผลจากตรงนั้นแน่นอนว่ามีกระแสการต่อต้านรัฐบาลเกิดขึ้นมากมาย

ฉากหนึ่งจากภาพยนตร์เรื่อง The Attorney ซึ่งรับบทนำโดยดารามากฝีมือ
ฉากหนึ่งจากภาพยนตร์เรื่อง The Attorney ซึ่งรับบทนำโดยดารามากฝีมือ ภาพ l news.khan.co.kr

ในสมัยรัฐบาลช็อน ดู-ฮวัน พยายามจับนักศึกษาที่มีความคิดก้าวหน้า โดยยัดเยียดเอาวาทกรรมเรื่องคอมมิวนิสต์ เรื่องการไม่รักชาติ การเป็นกบฏให้คนเหล่านี้ The Attorney เป็นเรื่องเกี่ยวกับทนายความคนหนึ่งซึ่งจริงๆ เป็นทนายทั่วไป ไม่ได้มีอุดมการณ์อะไรเท่าไหร่ในตอนแรก แต่จับพลัดจับผลูเข้าไปเกี่ยวกับคดีหนึ่งที่รัฐบาลจับนักศึกษาที่อ่านหนังสือที่รัฐอ้างว่าเป็นหนังสือต้องห้ามมาขึ้นศาล แล้วกระทำการทารุณต่างๆ มากมาย เพื่อให้รับสารภาพ และเป็นเยี่ยงอย่างว่าไม่ควรต่อต้านรัฐบาล ในเกาหลีเรียกคดีนี้ว่า ‘Burim case’ เป็นคดีที่โด่งดังมาก สุดท้ายทนายคนนี้ยอมสละอาชีพ ยอมสละชื่อเสียง เงินทองทั้งหมด เพื่อจะเข้าไปช่วยว่าความให้นักศึกษาเหล่านี้ที่ถูกรัฐบาลยัดเยียดคดีให้อย่างไม่เป็นธรรม สุดท้ายเขาต่อสู้จนชนะ เด็กเหล่านั้นก็ได้รับเสรีภาพ

โน มู-ฮย็อนตัวจริง (ขวา) ในช่วงเวลาที่ยังเป็นทนายความให้กับ Burim Case
โน มู-ฮย็อนตัวจริง (ขวา) ในช่วงเวลาที่ยังเป็นทนายความให้กับ Burim Case

หนังเรื่องนี้สะท้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐเอาผู้บริสุทธิ์มาเป็นจำเลยของรัฐอยู่ตลอดเวลา ส่วนที่พ้นไปจากหนังคือ โน มู-ฮย็อน หลังจากนั้นได้กลายเป็นทนายความสิทธิมนุษยชนที่ว่าความ ดูแลกฎหมายให้กับนักต่อสู้รุ่นใหม่ และภายหลังเขาได้กลายมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 12 ของคนเกาหลี เป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่มากขึ้น แล้วคะแนนเสียงก็มาจากคนที่เป็นฝ่ายก้าวหน้าหน่อย

มุน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีคนปัจจุบัน ก็เคยเป็นนักต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชน และเป็นทนายมาก่อนเหมือนกัน

ใช่ครับ มุน แจ-อินเป็นคนหัวก้าวหน้า เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่า มีหลายนโยบายของมุน-แจอินเปลี่ยนจากสมัยก่อนหน้าทั้งสมัยของ อี มย็อง-บัก และ พัก กึน-ฮเย สองคนนี้มาจากพรรคอนุรักษนิยม ซึ่งมีแนวนโยบายคือ หนึ่ง ไม่เจรจาและมีความเป็นปฏิปักษ์กับเกาหลีเหนือ  สอง มีความพยายามจะควบคุมแบบเรียน สองคนนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อภาคประชาสังคม มุน-แจอินเป็นคนค่อนข้างเสรีนิยมพอสมควร และพยายามดึงเอานโยบายที่ประธานาธิบดีสองคนก่อนหน้าปฏิเสธขึ้นมาหาประเด็นใหม่ๆ ในการพูดคุยและทบทวน ในฐานะที่ตัวเองเคยเป็นนักต่อสู้มาก่อน

เกาหลีผ่านช่วงที่เป็นเผด็จการมามากเหมือนไทย เช่น สมัยประธานาธิบดี พัก ช็อง-ฮี ซึ่งคล้ายยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อมองผ่านสื่อบันเทิงเกาหลี เราพบเรื่องราวของคนที่สู้กับเผด็จการ แต่ทำไมในสื่อบันเทิงไทย กลับไม่เห็นเรื่องของผู้คนมากมาย ทั้งที่มีคนลุกขึ้นสู้เผด็จการ บาดเจ็บล้มตายไปเยอะ ทำไมเราไม่ย้อนกลับไปที่ประวัติศาสตร์แบบนั้นบ้าง

เราไม่เคยจำไงครับ อย่างที่ผมบอกคนเกาหลีมี ‘ฮัน’ ถ้าอาจารย์ธรทำอะไรผม ทำให้ผมเจ็บแค้นใจ  นี่สิ่งที่ขับเคลื่อนชีวิตที่เหลือของผม คนเกาหลีพยายามเรียนหนังสือให้เก่งที่สุด หรือตั้งใจเราจะต้องเป็นทนาย ต้องเป็นนักข่าวให้ได้  เพราะเขาต้องการจะแก้ไขปมบางอย่าง เช่น เขาเคยถูกเอารัดเอาเปรียบตอนเป็นเด็ก เขาเรียนอย่างหนักเพื่อจะเป็นทนาย เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงโลก เพราะฉะนั้นมีสิ่งเหล่านี้ที่เป็นแรงขับเคลื่อนอยู่ แต่คนไทยไม่มีแรงขับเคลื่อนอะไรอย่างนี้

จากประเทศที่เสียหายหนักจากสงคราม เรารู้กันว่าในระยะเวลาอันสั้นเกาหลีกระโดดมาเป็นประเทศที่ระดับประชาธิปไตยสูง พัฒนาเศรษฐกิจสูงมาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันคือการเกิดพื้นที่แออัดในเมือง การขยายตัวของชนชั้นกลาง และคนจำนวนมากทิ้งชนบทเพื่อย้ายเข้ามาอยู่ในเมือง ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

การเริ่มความเป็นเมืองเกิดขึ้นในสมัยของผู้นำเผด็จการอย่าง พัก ช็อง-ฮี  ครับ ซึ่งเน้นการการพัฒนาโดยเอารัฐชี้นำ (state-led development) คือรัฐเลือกว่าบริษัทไหน โรงงานไหน ที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งก็เป็นบริษัทที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะมีทุนบางอย่างอยู่แล้ว รัฐใช้วิธีหยิบจับเลือกเข้ามา แล้วสนับสนุนให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ เช่นบริษัทนี้ผลิตอุตสาหกรรมเหล็ก บริษัทนี้ทำพวกเซมิคอนดักเตอร์ บริษัทนี้ทำเรื่องเสื้อผ้า ทำให้เกิดการพัฒนาที่รวดเร็วเกิดขึ้น รัฐสามารถบอกได้ว่าใครผลิตอะไร และถ้าไม่มีประสิทธิภาพ ภายใน 2 -5 ปี รัฐก็หยุดให้ความช่วยเหลือ

จากผลของนโยบายนี้ ทำให้เกาหลีเป็นประเทศที่มีองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันส่วนหนึ่งเกิดความเหลื่อมล้ำขึ้น ภาษาเกาหลีเรียกองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่เหล่านี้ว่า ‘แชร์บอล’ (Chaebol) คือบริษัทอย่าง ฮุนได ซัมซุง แอลจี บริษัทเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐเผด็จการที่เคยเข้าไปอุ้มเขาตั้งแต่ต้น จนทำให้เกิดโรงงาน เกิดพื้นที่อุตสาหกรรม คนจากชนบทเริ่มอพยพเข้ามาในพื้นที่อุตสาหกรรมมาก จนเกิดสภาวะที่ชนบทแทบจะไม่มีคนอยู่ แม้กระทั่งถึงทุกวันนี้ อัตราคนชนบทในเกาหลี ผมเข้าใจว่าอยู่ที่ 10-20 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำไป น้อยมาก คนส่วนใหญ่เข้ามาแล้วกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่เมือง พื้นที่บริการเป็นส่วนใหญ่

คนที่อพยพเข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ในยุค 1970 รัฐไม่อนุญาตให้มีการตั้งสหภาพแรงงานหรือการประท้วงต่อต้านอะไรทั้งสิ้น เพราะรัฐต้องการให้เกิดความมั่นคงต่อสายพานการผลิตเพื่อการส่งออก และคนที่ทำงานแทบจะไม่ได้รับสวัสดิการและสวัสดิภาพในการทำงานต่างๆ แม้จะมีกฎหมายแรงงานเกิดขึ้นบ้างแต่แทบจะไม่มีการปฏิบัติใช้จริง การควบคุมให้กฎหมายบังคับใช้ได้จริงไม่เกิดขึ้น

จริงๆ แล้วมีภาพยนตร์อยู่เรื่องหนึ่ง ชื่อ A Single Spark (1995) หรือประกายไฟ พูดถึงนักต่อสู้คนหนึ่งที่ชื่อ ‘ชอน แท-อิล’ ใครไปเกาหลี ถ้าไปเดินอยู่ตามแถวคลองชองคเยชอน จะมีตลาดหนึ่งชือว่า ‘ตลาดพยองฮวา’ จะมีอนุสาวรีย์ของชอน แท-อิลอยู่  ชอน แท-อิลเป็นเด็กหนุ่มอายุ 20 กว่าๆ เขาพยายามเรียกร้องให้มีการสนใจเรื่อง สวัสดิภาพของแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานผู้หญิงที่เข้ามาทำงานในโรงงานทอผ้า สุดท้ายเรียกร้องแล้วไม่มีใครช่วยเหลือ รัฐบาล หน่วยงานต่างๆ ละเลย สุดท้ายเขาจุดไฟเผาตัวเองพร้อมถือกฎหมายแรงงานของเกาหลี แล้ววิ่งไปตามท้องถนนในกรุงโซล เพื่อประท้วงให้เห็น

การกระทำของชอน แท-อิลก่อให้เกิดกระแสการหันกลับมาสนใจเรื่องสวัสดิภาพแรงงานจากหลายฝ่าย ทำให้นักศึกษาฝั่งก้าวหน้าในตอนนั้นเริ่มทำงานกับแรงงานมากขึ้น สนใจเรื่องสวัสดิภาพแรงงานมากขึ้น แรงงานช่วงที่ชอน แท-อิลทำงานอยู่ ทำงานวันละ 10 กว่าชั่วโมงเป็นเรื่องปกติ และบางวันมากถึง 15-18 ชั่วโมงด้วยซ้ำไป สวัสดิภาพแรงงานแย่มาก เพราะฉะนั้นในช่วงยุค 1970-1980 การเรียกร้องที่เกิดขึ้นในตอนนั้นคือการเรียกร้องสวัสดิภาพการทำงานที่ดี

นายกเทศมนตรีกรุงโซล นำดอกไม้ไปวางที่อนุสาวรีย์ ชอน แท-อิล ภาพ
นายกเทศมนตรีกรุงโซล นำดอกไม้ไปวางที่อนุสาวรีย์ ชอน แท-อิล ภาพ l Kim Jung-hyo

มีภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่ใหม่กว่า A Single Spark แต่พูดถึงประเด็นแรงงานเหมือนกัน ชื่อว่า Cart (2014) พูดถึงการประท้วงของพนักงานที่ทำงานอยู่ในซูเปอร์มาเก็ต แล้วประท้วงนายจ้างซึ่งไล่พนักงานออก โดยไม่ให้ค่าตอบแทน ไม่ให้ค่าชดเชยอะไรเลยที่ยุติธรรม ประท้วงอยู่ 500 กว่าวัน จนกระทั่งได้รับการต่อสัญญา ได้รับค่าตอบแทน การเจริญเติบโตของเกาหลีที่มาไกล มารวดเร็ว ไม่ได้ไม่มีต้นทุนเลย มันมีต้นทุนเรื่องของแรงงาน เรื่องของคนที่ถูกลิดรอนสิทธิด้วย นั่นคือด้านหนึ่งของอุตสาหกรรม

ส่วนในชนบท มีปัญหาความยากจนเกิดขึ้น ซึ่งมีโครงการหนึ่งที่ พัก ช็อง-ฮี นำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหานี้คือ ‘แซมาอึล อุนดง’ หรือ นวชุมชน (New Village Movement) ซึ่งเป็นความพยายามที่จะเอากระแสชาตินิยมลงไปในชนบท แล้วสอนคนชนบทว่าต้องขยันแบบนี้ ต้องทุ่มเทแบบนี้ แล้วก็เกิดการแข่งขันกัน โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก แน่นอนว่าเพราะรัฐบาลทหารด้วย ทำให้ชนบทฟื้นตัวขึ้นมาได้อีกครั้งหนึ่ง ถึงจุดหนึ่งที่รายได้ของคนชนบทดีกว่าคนที่ทำงานโรงงานอุตสาหกรรมด้วยซ้ำไป

ในตอนหลังพอหมดสมัย พัก ช็อง-ฮีแล้ว เกาหลีพัฒนาเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้ว และอยู่ในกลุ่มประเทศสมาชิก OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ Organisation for Economic Co-operation and Development) เกาหลีต้องให้ความช่วยเหลือกับต่างประเทศ ‘แซมาอึล อุนดง’ ถูกส่งออกไปต่างประเทศ เป็นการเอาความคิดชาตินิยมแบบเดิมไปปล่อยให้นานาชาติ ถือว่าเป็นคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีแบบหนึ่งซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องของวงการบันเทิงเท่านั้น แต่อยู่ในกิจกรรมอื่นๆ ด้วย

ผมทำวิจัยเรื่องการให้ความช่วยเหลือของเกาหลีด้านการพัฒนาในต่างประเทศ ผมเพิ่งไปพม่ามาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไปดูหมู่บ้านที่เกาหลีให้เงิน ให้ความช่วยเหลือในแบบ แซมาอึล อุนดง ผมคุยกับคนพม่าคนหนึ่ง แล้วเขาก็บอกว่า คนพม่าดูละครเกาหลีเยอะมาก ละครไทยนี่ตกกระป๋องมาสักพักแล้ว

ลองคิดดูก็แล้วกันว่า เวลาเจ้าหน้าที่ของเกาหลีเขาไปในหมู่บ้านชนบท ซึ่งคนเขาดูรายการทีวี ดูละครของเกาหลีแล้วมีความผูกพัน เขาจะรับการพัฒนาง่ายมาก ในขณะที่คุณเป็นคนให้ความช่วยเหลือจากอิตาลี อเมริกา ยุโรป กว่าคุณจะเข้าถึงหมู่บ้าน คุณเข้าถึงยากมาก แต่คนเกาหลีเข้าหมู่บ้านได้ง่ายมาก คนพม่า เวียดนาม หรือคนฟิลิปปินส์รับรู้เกี่ยวกับสังคมเกาหลี ทั้งอาหารการกิน และวัฒนธรรรมแทบทุกอย่าง

ผมเคยอ่านหนังสือสายนวชุมชนของเกาหลีอยู่เล่มหนึ่ง พบว่าโรแมนติกมากเลยครับ เช่น บอกว่าหลังภูเขาลูกนั้น มีหมู่บ้านที่สดใสซ่อนอยู่

การขับเคลื่อนเรื่องนวชุมชนของเกาหลีจะมีทั้งบทเพลงที่ทำให้ตื่นตัว มีพลัง มีความสามัคคี มีภาพยนตร์ที่ปลูกฝังจิตสำนึกเหล่านี้ด้วย มีตำราเรียนมากมาย เพราะเป็นการปลูกสร้างอุดมการณ์ เวลาพูดถึงการให้ความช่วยเหลือของเกาหลีจึงไม่ใช่เรื่องของเทคนิค แต่เป็นการสอนจริยธรรมบางอย่าง ว่าคนที่จะพัฒนาได้ ต้องมีจริยธรรมแบบนั้นแบบนี้ ต่างจากความช่วยเหลือจากตะวันตก ซึ่งเน้นเรื่องของเทคนิค การมีส่วนร่วม แต่ท้ายที่สุดแล้วถึงแม้ แซมาอึล อุนดง จะประสบความสำเร็จ แต่คนก็อพยพเข้ามาอยู่ในเมือง ไม่ได้ทำให้คนกลับไปชนบทมากเท่าไหร่

เพื่อนคนเกาหลีบอกผมว่า ที่ประเทศเรากำลังฮิตเรื่องกลับสู่ชนบท เมื่อก่อนเกาหลีเคยพยายามทำ ตอนนี้ไม่ได้แล้ว เลยจุดนั้นไปแล้ว คนย้ายเข้าเมืองไปแล้ว มีชนชั้นกลางเกิดขึ้นมากมาย และกลายเป็นคนกลุ่มใหม่ที่รับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา

วัฒนธรรมเกาหลีที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มาจากสองอย่างผสมกันครับ อย่างแรกคือกระแสชาตินิยม อย่างที่ผมบอก พัก ช็อง-ฮี เป็นคนสร้างให้เกิดขึ้น และเขาครองตำแหน่งอย่างยาวนาน แต่อีกกระแสหนึ่งมาจากความเป็นตะวันตกที่เข้าไปในเกาหลี เมื่อเกิดชนชั้นกลางขึ้นมาแล้วและเขาเริ่มมีรายได้ เริ่มมีเงินทองก็เริ่มสนใจการบริโภคสิ่งต่างๆ มากขึ้น คนเกาหลีบ้าเบสบอล บาสเก็ตบอล ฟังเพลงตะวันตกมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ดื่มกาแฟมากกว่าประเทศไหนๆ ในโลกด้วยซ้ำไป มีร้านกาแฟในเกาหลีมากกว่า 50,000 ร้านนะครับ ในโซลเองมีหลายหมื่นร้าน

ถ้าหากใครเคยไปทานอาหารร้านเกาหลีจะมีแกงชนิดหนึ่ง ชื่อว่า ‘บุเดชิเก’ มีไส้กรอก มีแฮม มีบะหมี่ที่เรียกว่า ‘รามยอน’ ใส่เข้าไป ‘บุเด’ แปลว่ากองทัพ ‘ชิเก’ แปลว่าแกงหรือต้ม, ตุ๋น บุเดชิเกเป็นผลมาจากการรับเอาอาหาร และของเหลือของกองทัพสหรัฐฯ มาต้มรวมๆ กันในช่วงที่ยังยากจนอยู่ เกิดเป็นแกงที่อร่อยขึ้นมา ทุกวันนี้ก็ไม่ใช่ถูกๆ นะฮะ เป็นอาหารที่คนก็ยังนิยมอยู่

'บุเดชิเก' อาหารที่กำเนิดขึ้นจากยามยามในช่วงสงครามของเกาหลี
‘บุเดชิเก’ อาหารที่กำเนิดขึ้นจากยามยามในช่วงสงครามของเกาหลี ภาพ l Klook

เกาหลีรับวัฒนธรรมต่างชาติมาก็เยอะ แต่ยังมีความภูมิใจในวัฒนธรรมของเขาและมองว่าตัวเองสืบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมมาเหมือนกัน สองส่วนนี้ปะทะกันอย่างไร

จริงๆ สังคมเกาหลีเป็นสังคมที่มีความลักลั่นสูง คนหนึ่งคนอยู่บนฐานของโลกสองแบบ คือเสรีนิยมใหม่ สนใจเรื่องสิทธิของปัจเจกบุคคล สนใจเรื่องระบบการแข่งขันที่เป็นธรรม (merit system) สนใจเรื่องรัฐสวัสดิการ สนใจสื่อที่มาจากสังคมตะวันตก แต่ในอีกแง่หนึ่ง สังคมเกาหลีเป็นสังคมที่มีระบบอุปถัมภ์ มีความเป็นพี่เป็นน้องอยู่ร่วมกันอยู่เสมอ และการอุปถัมภ์ของคนเกาหลี ในแง่หนึ่งนำไปสู่เรื่องคอร์รัปชัน ถึงแม้เกาหลีจะมีการพัฒนาเรื่องการเติบโตของประชาธิปไตยดีมาก มีสถาบันการเมืองที่แข็งแกร่ง มั่นคง มีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง เป็น watchdog แต่การคอร์รัปชันในชีวิตประจำวัน เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และตลอดเวลา

มีความพยายามที่จะแก้เรื่องคอร์รัปชันในเชิงสถาบันหลายครั้ง ปี 2516 มีกฎหมายหนึ่งที่สำคัญคือ ‘Improper Solicitation and Graft Act‘ ซึ่งเป็นกฎหมายที่พูดถึงพฤติกรรมบางอย่างซึ่งห้ามทำ เช่นการเลี้ยงข้าวและให้ของขวัญ

ถ้าเราทำงานบริษัทเกาหลี เวลาเราทำงานเสร็จ หัวหน้าจะพาไปกินข้าว คนอาวุโสต้องเลี้ยงดูปูเสื่อคนอื่น ผู้น้อยต้องทำหน้าที่สวามิภักดิ์หรือว่าทำงานให้กับผู้ใหญ่ มันก็เกิดเรื่องของการอุปถัมภ์ ภาษาเกาหลีมีอยู่คำหนึ่งคือคำว่า ‘ชอง’ แปลว่าความเป็นพี่เป็นน้อง ความเป็นเครือข่าย ความเป็นญาติ คนที่จบโรงเรียนเดียวกัน คนที่จบมหาวิทยาลัยสำคัญๆ จะมีเครือข่ายเหล่านี้ ที่จะทำให้ได้งาน ได้สถานะต่างๆ กฎหมายฉบับนี้ห้ามไม่ให้มีการเลี้ยงข้าวกัน ไม่ให้ข้าราชการ ไม่ให้ครู สื่อมวลชน รับของขวัญราคาเกินประมาณ 50,000 วอน (1,500 บาท)

สมมติผมมาออกรายการ อาจารย์ธรพาผมไปทานข้าว เลี้ยงได้แต่ว่าห้ามเลี้ยงเกิน 30,000 วอน (900 บาท) ถ้าเกินนั้นถ้าถูกรายงานจะโดนทำโทษ ผิดหลัก ห้ามทำสิ่งนี้ เราจะเห็นว่าเกาหลีพยายามแก้ปัญหานี้ไปถึงรากของวัฒนธรรม ว่าห้ามมีการอุปถัมภ์ค้ำจุนดูแลกัน ‘ชอง’ ควรถูกทำให้สลายไปได้แล้ว เน้นความเป็นปัจเจก เน้นเรื่องระบบการแข่งขันที่เป็นธรรม

เห็นได้ว่าเขาพยายามแก้ไขสิ่งที่เป็นค่านิยมเก่า เป็นรากฐานของการคอร์รัปชันโดยใช้การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือ

ใช่ครับ คือเขามองว่าวัฒนธรรมมีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี และต้องปรับเปลี่ยนตามโลก ความสำเร็จของเกาหลี คือการสามารถเอาวัฒนธรรมมาใช้ มาปรับเปลี่ยน ตกแต่งบรรจุหีบห่อใหม่ แล้วสืบทอดต่อไปได้ ในลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป วัฒนธรรมไม่ได้ถูกแช่แข็ง

กระทรวงที่มีนวัตกรรม (innovative) มากที่สุดกระทรวงหนึ่งในเกาหลีคือกระทรวงวัฒนธรรรม ถ้าหันกลับมาดูกระทรวงวัฒนธรรมไทยอาจจะเป็นอีกเรื่อง กระทรวงวัฒนธรรมของเกาหลีทำงานจริงจังมาก ทำงานบนฐานวิชาการ ทำงานร่วมกับภาคเอกชน เกาหลีมีผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง เพราะกระทรวงวัฒนธรรมเกาหลีมีความก้าวหน้า ผู้กำกับเกาหลีที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งคือ ‘อิ ชาง-ดง’ ก็เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของเกาหลี เวลาเรานึกถึงหนึ่งในเทศกาลหนังที่ดีที่สุดในโลกเราจะนึกถึง ‘ปูซานฟิล์มเฟสติวัล’ ซึ่งทำให้ภาพยนตร์เกาหลีเป็นที่รู้จักของทั่วโลกและไปคานส์ได้

เมื่อเราพูดถึงในเชิงวัฒนธรรม มีมิติหนึ่งที่เกาหลีพยายามปรับเปลี่ยนแน่นอนคือเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว เราจะเห็นอยู่เรื่อยๆ ผ่านสื่อบันเทิงว่าเกาหลีมีวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่

จริงๆ เรื่องนี้สังคมเอเชียเป็นกันเยอะ เกาหลีก็เป็น เมื่อก่อนผู้หญิงเลี้ยงลูกอยู่บ้านได้ แต่ในสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ มันยากแล้วที่ผู้หญิงจะทำอย่างนั้น เกาหลีก็รณรงค์เรื่องนี้ผ่านทีวีว่าจะทำอย่างไร ไม่ใช่มาบอกว่า ผู้ชายจะต้องเปลี่ยนบทบาทนะ

มันมี reality show หนึ่งนะครับชื่อว่า The Return of Superman (2013-ปัจจุบัน) หลักๆ คือให้คุณพ่อมาเลี้ยงลูกชายแฝดสามโดยปราศจากแม่ ผมคิดว่าคนที่เป็นแฟนเกาหลีน่าจะรู้จัก พ่อซง อิล-กุก ก็เลี้ยงลูกชายสามคนคือ แทฮัน มินกุก มันเซ ชื่อลูกก็เป็นชาตินิยมพอสมควร เพราะพอเรียกรวมกันแล้วแปลว่าเกาหลีจงเจริญ ซง อิล-กุก เลี้ยงดูลูกโดยให้แก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น คนเกาหลีดูเรียลลิตี้โชว์นี้แล้วติดกันงอมแงม ในไทยเอามาทำเป็นรายการของไทยด้วยนะครับ แต่ว่าไม่น่ารักเท่า ของเกาหลีน่ารัก มีความฉลาด และมีแง่มุมบางอย่างที่เราเรียนรู้ได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วกลายเป็นกระแสซึ่งเกิดขึ้นยาวนานมาก

คุณพ่อ ซง อิล-กุก และแฝดสามที่คนติดกันทั่วบ้านทั่วเมือง
คุณพ่อ ซง อิล-กุก และแฝดสามที่คนติดกันทั่วบ้านทั่วเมือง ภาพ l K Drama Star

ผู้ชายที่ดูก็จะรู้สึกว่า ผู้ชายที่เป็นซุปเปอร์แมน เป็นฮีโร ไม่ใช่คนที่ทำงาน สูบบุหรี่ กินเหล้า หาเงินอย่างเดียว แต่ว่าเป็นผู้ชายที่เลี้ยงลูกได้ และผู้หญิงก็เปลี่ยนบทบาทได้ ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติในเชิงของเพศสภาพ และบทบาทการทำงานของแต่ละเพศที่เปลี่ยนไป ว่าผู้ชายควรต้องเปลี่ยนบทบาทนะ ถ้าคุณอยากได้รับความนิยมแบบ ซง อิล-กุก คุณควรจะต้องเป็นคนรักครอบครัวแบบนี้ การสอนหรือการขัดเกลาทางสังคมเป็นไปอย่างแยบยลมาก คนรับสื่อมากขึ้นเรื่อยๆ หรือคนรุ่นใหม่ที่เห็นสิ่งเหล่านี้ จะเรียนรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นอุดมคติของสังคม หรือสิ่งที่ควรจะเป็น

The Return of Superman เวอร์ชันไทย
The Return of Superman เวอร์ชันไทย ภาพ l ไทยรัฐ

เราดูอย่างนี้เราเห็นแต่เรื่องที่เกาหลีเก่ง สามารถปรับวัฒนธรรม เปลี่ยนวัฒนธรรมเพื่อก้าวไปข้างหน้าได้ เหมือนกับเกาหลีไม่ได้มีปัญหาอะไรมาก แต่จริงๆ เกาหลีมีปัญหามาก ปัญหาหนึ่งที่เป็นที่รู้กันคือ เด็กเกาหลีเครียด ทั้งเรื่องเรียนที่ต้องแข่งขันเยอะมาก

ใช่ครับ จริงๆ อย่างที่ผมบอกไปว่า คนเกาหลีมองว่าหนทางการก้าวเลื่อนสถานะของสังคมคือเรื่องการศึกษา แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากปรัชญาขงจื๊อ จากสมัยโบราณ ว่าชนชั้นยังบัน (Yangban) หรือชนชั้นที่มีการศึกษาจะเลื่อนตำแหน่งได้

มีภาพยนตร์สารคดีเรื่องหนึ่งที่เมืองไทยเอามาฉาย คือ Reach for The SKY (2015) หรือเอื้อมมือให้ถึงฟ้า คำว่า SKY มีลูกเล่น คือนอกจากแปลว่าท้องฟ้ายังมาจากชื่อของ 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำและมีชื่อเสียงที่สุดในเกาหลีคือ Seoul National University, Korea University และ Yonsei University สามมหาวิทยาลัยถ้าใครได้เข้าไปตำแหน่งทางสังคมก็จะมา คู่สมรสที่ดี งานที่ดี สายสัมพันธ์ที่ดีก็จะตามมาด้วย เพราะฉะนั้นเด็กมัธยมจำนวนมากเรียนอย่างหนัก นอกจากเรียนในโรงเรียนแล้ว ยังไปเรียนต่อโรงเรียนกวดวิชา ถ้าเราไปแถวกังนัม ที่เป็นย่านของคนมีอันจะกิน ก็จะมีโรงเรียนกวดวิชาหรือที่คนเกาหลีเรียกว่า ‘ฮักวอน’ เยอะมาก เป็นพันๆ แห่ง แล้วเด็กๆ เรียนถึงเที่ยงคืน คนเกาหลีใช้เงินไปกับการเรียนพิเศษนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำไป

เพราะฉะนั้นมันแปลว่าอะไร ยิ่งคุณมีตังค์ ยิ่งคุณเป็นลูกคนรวย คุณก็ยิ่งใช้เงินซื้อโอกาสเข้าไป และโอกาสนั้นก็นำคุณไปสู่การต่อสายสัมพันธ์ที่ดีขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ในแง่หนึ่งการบ้าคลั่งการศึกษาแบบนี้ ทำให้เกิดช่องว่างมากขึ้นเรื่อยๆ คนที่ดีอยู่แล้วยิ่งดีขึ้นไปอีก คนที่ไม่มีโอกาสก็เข้าไม่ถึง กลายเป็นคนที่ไม่มีความมั่นคงในชีวิต ได้งานที่ไม่ดี ได้สังคมที่ไม่ดี ไม่มีสายสัมพันธ์เบิกทาง เป็นวงจรเกิดขึ้นซ้ำๆ

ตัวอย่างภาพยนตร์ Reach for the Sky

ท้ายที่สุดความบ้าคลั่งนี้นำไปสู่ความเครียดสูงมาก เด็กจะต้องไปเข้าค่ายวิชาการ เด็กที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้วไม่ได้ก็ไปเรียนพิเศษซ้ำเป็นปีๆ ไม่ใช่ปีเดียวนะครับ 2-3 ปีด้วยซ้ำไป หรือเข้ามหาวิทยาลัยที่ไม่ดีก็เอ็นท์ใหม่ เรียกว่าเป็น ‘repeater’ บ้านเราเรียกว่าเด็กซิ่ว แต่ที่นั่นซิ่วเยอะ การซิ่วเป็นธรรมดามาก เพราะฉะนั้นเวลาเราไปดูในมหาวิทยาลัยเกาหลี เราจะเห็นว่านักศึกษาปีเดียวกันอายุไม่เท่ากัน วิธีการเรียนแบบนี้ ทำให้เกิดความเครียดมาก มีการฆ่าตัวตายสูงมาก

เกาหลีเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศในกลุ่ม OECD ด้วยซ้ำ ภาพยนตร์เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่ตั้งคำถามกับสังคมว่า เราต้องการให้ลูกหลานเราอยู่ภายใต้ระบบแบบนี้หรือเปล่า การเอื้อมมือถึงฟ้านำมาซึ่งความทุกข์ทรมาน ผิดหวัง แล้วสุดท้ายการเรียนหนังสือ ผลของการศึกษาไม่ใช่เพื่อการเรียนรู้ แต่เพื่อให้ได้สถานะบางอย่างในสังคม สุดท้ายแล้วการเรียนแบบนี้ไม่ได้ทำให้ประเทศเกิดคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง สมองที่ควรมีความคิดสร้างสรรค์กลับไม่เกิดขึ้น เพราะสุดท้ายแล้ว เกิดการเรียนแบบกดดัน เป็นที่กังวลมากว่าสุดท้ายแล้วคนเหล่านี้จะนำพาประเทศเกาหลีในอีก 10-30 ปีข้างหน้าไปได้ขนาดไหน คนรุ่นนี้ไม่มีวิถีอะไรเหมือนคนรุ่นก่อนอย่างในภาพยนตร์ Ode to My Father ที่มีวิถีอีกแบบหนึ่ง

ความเครียดของสังคมคนทำงานเกาหลีล่ะครับ เป็นอย่างไร

แนะนำให้ไปดูซีรีส์ชื่อว่า Misaeng (2014) ครับ เป็นซีรีส์เกี่ยวกับพนักงานบริษัทเกาหลี ว่าต้องต่อสู้ดิ้นรนให้ตัวเองมีงานทำ ให้ตัวเองอยู่รอดอย่างไร ชื่อเรื่องแปลว่าชีวิตที่ยังไม่สมบูรณ์ คนเกาหลีรู้สึกว่าต้องต่อสู้ดิ้นรนตลอดเวลาเพื่อให้ได้การยอมรับในการทำงาน ซึ่งมากเกินไป เราเพิ่งเห็นข่าวว่าเกาหลีพยายามปิดไฟ ไล่คนออกจากตึก เพราะสุดท้ายคนเกาหลีทำงานมากเกินไป

แต่อย่างไรผมก็รู้สึกว่าคนเกาหลีเครียดน้อยกว่าญี่ปุ่น ผมรู้สึกว่าคนเกาหลีเป็นคนที่แสดงออก ไม่มีฟอร์ม จะพอใจไม่พอใจก็จะง่าย เวลาต่อว่าก็ว่ากันเลย เวลาสนุกสนานเฮฮาก็ชัดเจน คนเกาหลีไม่สนใจว่าคุณจะต้องมีฟอร์มเพื่อให้ดูมีความศิวิไลซ์หรือดูมีวัฒนธรรม คนเกาหลีเป็นนักปฏิบัตินิยม (pragmatic) เขาสนว่าวัฒนธรรมมันใช้ได้ ขายได้ ทำเงินได้ ทำงานได้ เพราะฉะนั้น เขาไม่แคร์เรื่องใครจะจัดลำดับชั้นทางวัฒนธรรมอย่างไร

นอกจากคนรุ่นใหม่ที่เครียดและแข่งขันสูงมาก อีกเรื่องหนึ่งที่ในเกาหลีมองว่าเป็นปัญหา คือปัญหาคอร์รัปชัน ถ้ามองไปถึงระบบรัฐ ประธานาธิบดี 5 คนล่าสุด ลงเอยในคุกไม่ก็ฆ่าตัวตาย เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น

ในเกาหลี แม้ว่านักการเมืองจะหลุดจากตำแหน่งไปแล้ว แต่การเอานักการเมืองกลับมาลงโทษเกิดขึ้นตลอดเวลา ผลจาก May 18  การสลายการชุมนุมที่ควังจู ทำให้คดีความทางการเมืองโดยเฉพาะเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน การสลายการชุมนุมที่ละเมิดต่อประชาธิปไตย ไม่มีอายุความ ไม่ว่ามันจะผ่านมากี่สิบปีแล้ว การเอาความผิด เอาคนผิดกลับมาชำระ เป็นเรื่องที่สำคัญตั้งแต่นักการเมืองลงมาถึงระดับข้าราชการ

มีภาพยนตร์อยู่เรื่องหนึ่งซึ่งสร้างจากเรื่องจริงเหมือนกันชื่อ Way Back Home (2013) เล่าถึงผู้หญิงชาวเกาหลีคนหนึ่งซึ่งถูกหลอกให้ขนโคเคนไปต่างประเทศ แล้วไปถูกจับได้ที่สนามบินที่ฝรั่งเศส ผู้หญิงคนนี้พูดภาษาอังกฤษ พูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้เลย สุดท้ายแล้วถูกนำไปขังคุกอยู่บนเกาะมาร์ตีนิกในทะเลแคริบเบียน ซึ่งเป็นที่ที่ห่างไกลและไม่มีคนพูดภาษาเกาหลีเลย เธอพยายามติดต่อให้สถานทูตเกาหลีช่วย เพื่อจะต่อสู้คดีความและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ แต่คนของสถานทูตเกาหลีที่อยู่ในฝรั่งเศส วันๆ มัวแต่รับแขก ไปกินอาหารอย่างดี ใช้ชีวิตที่ดี ไม่ได้ดูแลรับผิดชอบประชาชนของเกาหลีเลย สุดท้ายเรื่องนี้ก็ไม่เดินหน้าเลย จนผู้หญิงคนนี้ถูกจำคุกอยู่ 2 ปี

คนที่ช่วยให้ผู้หญิงคนนี้กลับมาได้คือแฟนของเธอไปโพสต์ทางอินเทอร์เน็ต ให้ช่วยหาคนเกาหลีในเกาะมาร์ตีนิกที่พูดภาษาฝรั่งเศสและสามารถเป็นล่ามให้เธอได้ สุดท้ายก็พบว่ามีคนเกาหลีอยู่ที่นั่นหนึ่งคน ผู้หญิงคนนี้จึงสามารถสู้คดีแล้วกลับมาเกาหลีได้ หลังไปอยู่ในคุกสองปีโดยตัวเองไม่ได้มีความผิดเพราะการละเลยหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศ พอกลับมาคนเกาหลีก็เกิดกระแสกดดันและไม่พอใจจนเอามาสร้างเป็นหนัง เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่า เรื่องอะไรที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นบทเรียนแล้ว คนเกาหลีเขาตั้งมั่นว่าจะต้องสะท้อนออกมาให้สังคมรับรู้ไว้ จะต้องไม่ลืม โดยบันทึกไว้ผ่านสื่อบันเทิงเหล่านี้ เสื่อบันเทิงเป็นสื่อที่ซีเรียส เป็นสื่อซึ่งมีสติปัญญา เป็นสื่อที่พยายามตอบปัญหาทางสังคมตลอดเวลา

เรียกได้ว่าละครเกาหลีมักเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือสอดรับกับสถานการณ์ ทางสังคมการเมืองในแต่ละช่วงเวลาเสมอ

เวลาเราดูละครหรือภาพยนตร์ที่ออกมา เราคิดว่าก็น่าสนใจดี แต่ว่าถ้าคุณตั้งคำถามให้ดีว่าทำไมมันถึงออกมาเวลานี้ มันมีวาระตลอดเวลา

เมื่อ 1-2 ปีที่แล้ว เกาะหนึ่งในญี่ปุ่นชื่อเกาะฮาชิมะ กำลังจะเข้าจดทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโก้ เกาหลีก็ผลิตภาพยนตร์ เรื่อง The Battleship Island (2017) ขึ้นมา ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าถึงประวัติศาสตร์ช่วงที่ญี่ปุ่น เอาแรงงานเกาหลีไปใช้แรงงานที่เกาะฮาชิมะ ซึ่งเป็นเกาะที่มีถ่านหิน แล้วญี่ปุ่นใช้ถ่านหินเหล่านี้พัฒนาประเทศช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ฉากการทำงานในเหมืองแร่ถ่านหินของชาวเกาหลีใน The Battleship Island ภาพ
ฉากการทำงานในเหมืองแร่ถ่านหินของชาวเกาหลีใน The Battleship Island ภาพ l Star 2

หนังเรื่องนี้เอา ซง จุง-กิ และ โซ จิ-ซบ มาแสดง เอานักแสดงใหญ่ๆ มา พูดถึงเหตุการณ์ในตอนนั้นเลย ทำให้ยูเนสโกต้องชะลอ ไม่ยอมให้ญี่ปุ่นจดทะเบียน จนกว่าจะสะสางประวัติศาสตร์เรื่องนี้สำเร็จ จนกว่าจะขอโทษแรงงานที่ญี่ปุ่นเอาไปใช้แบบบังคับ กว่าญี่ปุ่นจะขอโทษเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งหมดก็อีกยาวนาน ซอฟต์พาวเวอร์แบบนี้ถูกเอามาใช้ในเวทีระหว่างประเทศจนไม่ซอฟต์อีกต่อไปแล้ว และมันถูกทำให้แข็งขืนขึ้น

เวลาเราพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ มันมีดีกรีของความซอฟต์ไม่ซอฟต์อยู่ ภาพยนตร์ที่ออกมา 2-3 เรื่อง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีเรื่องเกี่ยวกับหญิงบำเรอ (comfort women) ซึ่งเล่าประวัติศาสตร์ตอนญี่ปุ่นเข้ามาปกครองเกาหลี ตั้งแต่ช่วง 1910-1945 รวม 30 กว่าปี ที่คนญี่ปุ่นมาใช้แรงงานคนเกาหลี กดขี่ เปลี่ยนภาษา เปลี่ยนรูปแบบการแต่งกาย และมีการล่วงละเมิดทางเพศ นำผู้หญิงไปบริการทางเพศให้ทหารของญี่ปุ่นอย่างทารุณกรรม

เรื่องหญิงบำเรอเป็นข้อพิพาทมายาวนาน เพื่อให้ได้คำขอโทษ เกาหลีถึงกับมีภาพยนตร์ออกมา 2-3 เรื่อง ก่อนหน้านั้นมี I Can Speak (2017) ปีก่อนมีเรื่อง Spirits’ Homecoming (2016) นี่คือภาพยนตร์ที่พูดให้เห็นภาพเลยว่าผู้หญิงเหล่านั้นถูกปฏิบัติอย่างไรในช่วงสงคราม

เกาหลีมีเรื่องต้องห้าม หรือเรื่องที่ห้ามเล่าหรือไม่

มีครับ คุณจะไม่เห็นตัวละครที่เป็นโฮโมเซ็กซ์ชวล เป็น LGBT Queer จะไม่เห็นในภาพยนตร์เกาหลี เกาหลีเป็นสังคมที่ยังไม่ยอมรับเรื่องนี้

ถ้าคุณไปเกาหลี คุณจะเห็นผู้ชายสนิทกันมาก จับมือ เดินกอดกัน เล่นกัน สนิทกัน แก้ผ้าอาบน้ำกัน คือความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างเพศเดียวกันมีสูงมาก การที่ยอมรับให้เกิด LGBTQ ยอมรับว่าประเทศตัวเองมี LGBTQ มันจะทลายความวางใจนี้ คุณจะไม่สามารถเชื่อใจเพื่อนผู้ชายที่นอนกอดกัน จับมือกัน ในเกาหลีการสัมผัสพวกนี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าไม่มีวัตถุประสงค์ทางเพศ (sexual purpose) เลย ถ้าเกิดยอมให้เรื่องนี้โผล่ขึ้นเมื่อไหร่ มันจะทลายความเชื่อแบบเดิม เพราะฉะนั้นแม้ว่าผู้ชายเกาหลีจะมีความเป็นหญิง (feminine) สูงมาก นักร้อง หรือว่าพระเอกหน้าหวานเลย แต่ว่าต่อให้เขาหวาน ต่อให้เขาสวยอย่างไรเขาเป็นผู้ชาย มันจะแยกชัดว่าคุณคือผู้ชาย ต่อให้คุณหวานยังไงก็ตาม ไม่มีคนที่เป็นก้ำกึ่ง ไม่มีพื้นที่สีเทาสำหรับเรื่องเพศในเกาหลี

เราจะเห็นว่าการเมืองและเศรษฐกิจส่งผลต่อการเติบโตของคลื่นเกาหลี เช่นซีรีส์อย่างมาก  แต่ด้านกลับซีรีส์ส่งผลต่อการเมืองและเศรษฐกิจเกาหลีอย่างไร

ถ้าเราดูซีรีส์เกาหลีเป็นประจำ เราจะเห็นว่าเนื้อหาจะหมกมุ่นอยู่กับ 3-4 สถาบันทางสังคม-การเมือง ได้แก่ วงการแพทย์ กระบวนการยุติธรรม สื่อมวลชน และโรงเรียน เช่น เรื่องเกี่ยวกับการเรียนการสอนในโรงเรียน การละเมิดทางเพศในโรงเรียน การกดขี่ การคุกคามในโรงเรียน ซีรีส์จะทำให้ประชาชนจับตามองปัญหาที่เกิดขึ้นในสถาบันเหล่านี้ ฉะนั้นในแง่หนึ่งสถาบันทางสังคม-การเมือง เหล่านี้ก็ต้องระวังตัวมากขึ้น ผู้คนเรียนรู้จากซีรีส์ว่าเหตุการณ์อะไรเคยเกิดขึ้นแล้ว และจับตาว่าเหตุการณ์นั้นต้องเป็นที่จดจำ ต้องถูกนำมาเป็นบทเรียน ไม่ให้หายไป

ประวัติศาสตร์เกาหลีที่นำมาสร้างเป็นละครหรือภาพยนตร์ ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายหรือไม่ หรือยังมีการช่วงชิงวาทกรรมกันอยู่และถกเถียงยังไม่สิ้นสุดเหมือนประวัติศาสตร์ไทย

มีการโต้แย้งกันอยู่ตลอดเวลาครับ แม้แต่ May 18 ก็ยังมีข้อถกเถียงเถียงกันอยู่ ว่าให้ความชอบธรรมกับใคร หรือไม่ให้ความชอบธรรมกับใคร เรื่อง Way Back Home กระทรวงต่างประเทศของเกาหลีก็ออกมาโต้แย้งว่าข้อมูลที่นำเสนอไม่เป็นความจริงทั้งหมด

หรือว่าเวลาเราพูดถึง ‘ฮันรยู’ คนบอกว่าทำรายได้ให้เกาหลีมาก เป็นการทำให้ทั่วโลกรู้จักเกาหลี แต่คนเกาหลีไม่น้อยเกลียดฮันรยู ยกตัวอย่างเพลง กังนัมสไตล์ ของ PSY ซึ่งมียอดวิวในยูทูป 3 พันล้านวิว ถล่มทลายในช่วงเวลา 5 ปี ทุกคนเวลาเจอคนเกาหลี จะคุยเรื่องกังนัมสไตล์ ซึ่งถามว่าคนเกาหลีชอบหรือเปล่า กังนัมสไตล์เป็นเพลงประชดถึงการใช้ชีวิตที่หรูอู้ฟู่แต่ไร้สาระของคนเกาหลี มีเรื่องทางเพศ เรื่องผู้หญิงเอาตัวเข้าแลกเพื่อให้ได้ใช้ชีวิตหรูหรา การโชว์ความเป็นชายของผู้ชายในสังคมของคนมีอันจะกินของเกาหลี คนเกาหลีไม่ได้ชอบเพลงนี้ทุกคน รวมทั้งไม่ได้ชอบ PSY ด้วย

ศิลปินเกาหลีส่วนใหญ่จะถูกให้ความสำคัญเรื่องของการวางตัวมาก เราแทบจะไม่ได้ยินเรื่องศิลปินเกาหลีที่ประพฤติตัวผิดเลย เพราะว่าจะถูกจับตามองอย่างมาก PSY เป็นคนที่มีภูมิหลังไม่ค่อยดี ทั้งเรื่องของการเกณฑ์ทหาร การทะเลาะกับคนในบ้าน คนเกาหลีก็ไม่ได้ปลื้มกับศิลปินแบบนี้ เพราะฉะนั้นมันมีการช่วงชิง มีความไม่พอใจ ‘ฮันรยู’ ที่ออกมา การไปรับใช้ต่างประเทศเยอะๆ ก็ทำให้คนเกาหลีรู้สึกไม่พอใจ

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ส่งออกวัฒนธรรมป๊อบของตัวเองเหมือนกัน อยากให้อาจารย์เปรียบเทียบ K Pop กับ J Pop จากแว่นของอาจารย์

J Pop เกิดขึ้นก่อนแน่นอน แต่ปรับตัวน้อยกว่า ทั้งการปรับตัวในเชิงของเนื้อหา ญี่ปุ่นคิดว่าจะสื่อสารกับคนต่างชาติอย่างไรน้อยกว่าเกาหลี ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่โดดเดี่ยวตัวเอง ไม่ใช่เพราะเป็นเกาะอย่างเดียว แต่โดดเดี่ยวทางวัฒนธรรม ญี่ปุ่นเชื่อมั่นการมองเข้าไปข้างใน (inward looking) คนเกาหลีเมื่อมองว่าวัฒนธรรมเชื่อมโยงกับอะไรได้ เขาดัดแปลง เปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมเขาถึงคงทนได้

ในด้านรูปแบบ เกาหลีรู้วิธีการว่าจะนำเนื้อหาทางวัฒนธรรมมาผสมเทคโนโลยีอย่างไร คนพูดกันว่า K Pop ที่ยังอยู่เพราะเกิดขึ้นในช่วง 20 กว่าปีนี้เอง 10 ปีข้างหน้าอาจจะหายไปก็ได้ ก็มีแนวโน้มครับ แต่ผมมองว่าซีรีส์อาจหายไป บทเพลงอาจหายไป แต่เกมออนไลน์ลูกอาจารย์ธรอาจจะได้เล่นแน่นอน หรือเคลื่อนไปสู่เรื่องเครื่องสำอาง การ์ตูน ฯลฯ

Netflix ให้เงินเกาหลีสร้างภาพยนตร์กับซีรีส์ไว้ฉายเฉพาะใน Netflix เยอะมาก แต่คุณจะไม่เห็นเลยว่า Netflix ไปเชื่อมกับญี่ปุ่น เกาหลีเรียนรู้ที่จะใช้สื่อของตัวเองจัดวางอยู่ในแพล็ตฟอร์มที่เคลื่อนไปเรื่อยๆ และเรียนรู้วิธีการนำไปสู่พื้นที่แบบใหม่ มีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ และปรับตัวได้ดีกว่าญี่ปุ่น

ถ้าเทียบบอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ปของเกาหลีกับญี่ปุ่น สังเกตได้ว่า เกิร์ลกรุ๊ปหรือบอยแบนด์ของเกาหลีไม่ได้มองแต่คนในประเทศตัวเอง แต่เอาศิลปินจากข้างนอกเข้าไปอยู่ เช่น เขาคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยรู้สึกเป็นเจ้าของวัฒนธรรม K Pop ก็เอานิชคุณเข้าไปอยู่ในวง 2 PM  อยากทำให้คนจีนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง ก็เอาศิลปินจีนเข้าไป ตลาดจีนใหญ่มาก คุณเอาศิลปินจีนเข้าไป 1-2 คนในวงก็สร้างความรู้สึกชื่นชอบได้ คุณจะไม่เห็นอะไรอย่างนี้ในญี่ปุ่น

ประธานาธิบดี พัก กึน-ฮเย เคยแบล็กลิสต์คนในอุตสาหกรรมบันเทิงเกือบหมื่นรายชื่อ เรื่องนี้มีที่มาอย่างไร

เข้าใจว่า พัก กึน-ฮเย เซ็นเซอร์คนในอุตสาหกรรมบันเทิงจำนวนหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วที่ผมสนใจมากกว่าเรื่องนี้ คือความพยายามที่จะสร้างแบบเรียนที่เป็นแบบเรียนมาตรฐานขึ้นมาในเกาหลี น่าสนใจว่านอกจากสื่อที่คนพยายามสร้างภาพยนตร์ จนมีอุตสาหกรรมบันเทิงที่สร้างเนื้อหาได้หลากหลายแล้ว ในโรงเรียนมีแบบเรียนประวัติศาสตร์เกาหลีที่หลากหลายด้วย ครูในโรงเรียนมัธยมแต่ละโรงเรียนเลือกใช้แบบเรียนของตัวเองได้ ไม่มีใครที่ต้องสอนแบบเดียวกันหมด พัก กึน-ฮเย อยากจะให้ทำแบบนั้น แต่เกิดการประท้วงของครูเกาหลีขึ้นมา ว่าเราจะเลือกวิธีการสอนของเราเอง เราจะไม่ใช้หนังสือที่รัฐบอกให้ใช้เท่านั้น

แต่แนวคิดแบบ พัก กึน-ฮเย ก็เคยได้รับความนิยมใช่ไหมครับ ตอน พัก กึน-ฮเย ขึ้นเป็นประธานาธิบดีได้ ว่ากันว่าเป็นเพราะกระแสความนิยมในเผด็จการที่เกิดขึ้น และส่วนหนึ่งเป็นเพราะลูกสาว พัก กึน-ฮเย เป็นลูกสาวอดีตประธานาธิบดี พัก ช็อง-ฮี ซึ่งเป็นเผด็จการที่วางรากฐานหลายอย่างให้เกาหลี

คนที่เลือก พัก กึน-ฮเย ก็เป็นคนรุ่นพ่อ รุ่นที่เคยผ่านประสบการณ์ของ พัก ช็อง-ฮี มาแล้ว และคิดว่าลูกสาวก็น่าจะใช้นโยบายแบบนั้น เป็นกระแสอนุรักษนิยม เกิดกระแสของต้องการควบคุมหลายอย่างมากขึ้น แต่คนรุ่นใหม่มันเปลี่ยนไปแล้ว คนเปิดรับสื่อมากขึ้น ประชาสังคมเข้มแข็งขึ้น สุดท้าย พัก กึน-ฮเย ถูกขับไล่ด้วยเรื่องทุจริตอย่างที่เราเห็นว่ากระบวนการประชาชนออกมาขับไล่เยอะมาก เพราะคนในสังคมเกาหลีไม่ใช่คนแบบเดิมแล้ว แต่เป็นคนเกาหลีสมัยใหม่

คนเกาหลีสมัยใหม่มองประวัติศาสตร์บางด้านของตัวเองด้วยความขมขื่น เช่นแน่นอนว่า พัก ช็อง-ฮี ทำให้เกาหลีเติบโต แต่มันเป็นความรู้สึกของความหวานปนความขม คือแง่หนึ่งไม่ชอบความเป็นเผด็จการ ไม่ชอบนโยบายบางอย่าง ในแง่หนึ่งก็รู้สึกว่าเป็นหนี้บุญคุญ พัก ช็อง-ฮี นะ ที่ทำให้มีการพัฒนาแบบนี้ขึ้นมาได้ มีความรู้สึกถึงทางแพร่งที่ไม่น่าปรารถนา (dilemma) ที่เกิดขึ้น

ช่วงประมาณ 10 ปีที่แล้วมีช่วงหนึ่ง หนังเกาหลีเล่าเรื่องสงครามเยอะมาก ตรงนี้เกิดจากอะไร

หนังสงครามมาในช่วงประธานาธิบดี อี มย็อง-บัก และ พัก กึน-ฮเย เป็นส่วนใหญ่ จริงๆ แล้วมีอยู่ 5-6 เรื่องที่ผมเคยเห็นนะครับ เช่น ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งชื่อ Joint Security Area (JSA) (2000)  จริงๆ ถ้าใครได้ดูตอนที่มุนไปจับมือกับคิม น่าจะเห็นว่ามีสถานที่ที่จับมือกันอยู่ในหนังด้วย ภาพยนตร์เรื่องนี้พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างทหารเกาหลีเหนือกับทหารเกาหลีใต้ ซึ่งมีความรู้สึกเป็นเพื่อนกัน หนังถ่ายทอดว่าในแง่ของประชาชน เขาอยากสร้างมิตรไมตรีต่อกัน แต่ว่าด้วยสถานภาพของความเป็นการเมืองที่ต่างกัน ทำให้คนเหล่านี้ต้องแยกออกจากกัน

ตอนนี้ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ มุน แจ-อิน จริงๆ เขาค่อนข้างให้อิสระกับการทำงานของสื่อ ผมคิดว่าภาพยนตร์ส่วนใหญ่ที่จะออกมาหลังจากนี้ เราจะเห็นภาพยนตร์เกาหลีที่มีข้อวิพากษ์ (criticism) กับสังคมเยอะมาก เพราะมุน แจ-อิน ค่อนข้างเปิดกว้างกับพื้นที่การทำงานแบบนี้ น่าจะมีภาพยนตร์เกาหลีแปลกๆ ใหม่ๆ ออกมาให้ได้ดูเยอะขึ้น

แน่นอน ประเด็นที่เราสนใจอยู่ตอนนี้คือเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้สามารถจับมือมาใกล้ชิดกันได้ไหม อาจารย์คิดอย่างไรครับ

เป็นเรื่องที่ยากมากและนับวันจะยิ่งยากขึ้นเรื่อยๆ มีความพยายามมาเป็นสิบปีแล้ว สิ่งที่ยากกว่าการที่สองประเทศนี้จะทำสัญญาสันติภาพ คือหลังจากนั้นถ้าเกิดการรวมชาติจะทำอย่างไร จากการสำรวจเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุกวันนี้คนเกาหลีรุ่นใหม่อายุ 20-30 ปีที่มองว่าการรวมชาติมีประโยชน์ นับวันยิ่งน้อยมาก ในสังคมเกาหลีใต้ มีทั้งปัญหาความเครียด การหางานทำ ปัญหาที่อยู่อาศัย ทรัพยากรทุกอย่างตึงเครียดมาก การรวมชาติกับเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ต้องรับภาระในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่คิดไม่ออกเลยว่าเขาจะต้องถูกเก็บภาษีมากขึ้นอีกเท่าไหร่ เกิดคำถามว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ใหญ่พอที่จะอุ้มเกาหลีเหนือหรือเปล่า

นั่นคือความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือวิธีคิด (mentality) ตอนนี้จากการสำรวจว่าคนเกาหลีใต้ผูกพันกับประเทศใดมากที่สุด คำตอบคือสหรัฐอเมริกา รองลงมาคือจีน คนเกาหลีเหนืออยู่หลังๆ แล้วมองด้วยความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ด้วยซ้ำไป ถึงแม้ว่าการรวมชาติจะเกิดขึ้น แม้ว่าเกาหลีจะมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาเป็นพันปี แต่ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ ความรู้สึกการเกลียดชัง การกีดกัน การเหยียดได้เกิดขึ้น ถูกรับรู้และปลูกฝังแล้ว เพราะฉะนั้นกระบวนการรวมชาติในเชิงของวัฒนธรรม ความคิดในเชิงสังคม แทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ต้องใช้เวลาหลายสิบปี

แน่นอนว่ามันมีสมมติฐานเยอะมากว่าถ้ารวมชาติได้จะทำอย่างไร แน่นอนว่าส่วนใหญ่คิดจะใช้การพัฒนาทางเศรษฐกิจเข้าไปกรุยทางก่อน แต่ต้องใช้เวลาเป็นช่วงอายุคน ไม่ได้ใช้เวลาแค่ 40-50 ปี เราอาจตายไปก่อนที่จะเห็นการรวมชาติอย่างสมบูรณ์ หรืออาจไม่มีวันเกิดขึ้น เพราะในมุมมองของคนเกาหลีใต้ เขามองว่าไม่เกิดประโยชน์ แล้วคนที่ต้องการจะรวมชาติคือคนรุ่นในภาพยนตร์ Ode to My Father นับวันยิ่งตายจากไป แรงกดดันที่มีต่อรัฐบาลก็น้อยลงด้วย เพราะรัฐบาลจะไม่ทำเรื่องนี้ถ้าได้คะแนนเสียงน้อย ถ้าไม่คุ้มค่า

ขณะนี้ที่เกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้กำลังคุยกันอยู่ เขาหาจุดเดินหน้าที่จุดไหน

ผมคิดว่าน่าจะเริ่มจากความมั่นคงก่อน  ถ้าคุยเรื่องนิวเคลียร์กันได้แล้ว  คงไปเริ่มเรื่องเกาหลีเหนือจะเปิดตลาดอย่างไร นโยบายเรื่องต่างประเทศ เรื่องกฎหมายการใช้ทรัพยากร ซึ่งใช้เวลาหลายสิบปีแน่นอน การรวมกันทางเศรษฐกิจจะไม่ตกลงกันได้ในระยะเวลาอันใกล้ การปรับจะไม่ใช่การที่เกาหลีใต้ปรับส่วนหนึ่ง เกาหลีเหนือปรับส่วนหนึ่ง แต่เป็นการปรับที่เกาหลีเหนือต้องค่อยๆ ซึมซับความเป็นเกาหลีใต้ ทั้งในเชิงสังคม วัฒนธรรม และการเมืองเข้าไป

ถ้าประเทศไทยจะเดินตามรอยเกาหลี อะไรคือนโยบายที่จะต้องทำ นโนบายการอุดหนุนของรัฐยังใช้ได้อยู่จริงหรือไม่ในบริบทปัจจุบัน

ผมคิดว่าการอุดหนุนของรัฐก็อาจจะทำได้ แต่ผมคิดว่าตอนนี้เศรษฐกิจไทย เอกชนไทยมีทุนเพียงพอที่จะทำอะไรหลายๆ อย่าง ผมคิดว่าถ้าพูดถึงรัฐ รัฐไทยควรจะเป็นรัฐที่ทำอะไรให้จริงจังและมีประสิทธิภาพแบบเกาหลี แค่นั้นก็ช่วยได้เยอะแล้ว สิ่งที่รัฐไทยทำ เกาหลีทำมาหมดแล้ว ไทยก็ทำตาม แต่ทำด้วยประสิทธิภาพที่ต่างกัน เพราะเราไม่มีความจริงจัง เราไม่มีภาคประชาสังคมเข้าไปตรวจสอบมากอย่างเพียงพอ สื่อมวลชนของเราที่ผลิตละครทีวี ที่ผลิตสารคดีไม่ได้มีอะไรเท่ากับเขา ผมคิดว่าถ้าจะเรียนรู้จากเกาหลีคือเรียนรู้เรื่องการไม่ลืมความทรงจำ เรียนรู้เรื่องความจริงจัง ผมยังจินตนาการไม่ได้ว่าเราจะดูละครไทยที่มีความจริงจังทางสังคมการเมืองได้อย่างไร มีวิธีคิดแบบซีรีส์เกาหลีได้เมื่อไหร่ นี่อาจเป็นสิ่งที่เราเรียนรู้ได้

ถ้าเราอยากจะทำอะไรที่ไม่ใช่แค่ละครที่เฮฮาไปวันๆ ความบันเทิงแฝงไว้ด้วยปัญญาได้ นี่อาจเป็นสิ่งที่อาจต้องคิดให้มากขึ้น


หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถติดตามชมเทปบันทึกภาพรายการ 101 One-on-One ตอน “อ่านเกาหลี ผ่าน K-pop” ฉบับเต็ม โดย จักรกริช สังขมณี ดำเนินรายการโดย ธร ปีติดล ออกอากาศเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 ทาง The101.world

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save