fbpx
หลักประกันสุขภาพที่รัก (11) : การร่วมจ่าย

หลักประกันสุขภาพที่รัก (11) : การร่วมจ่าย

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

“คุณหมอพูดเหมือนคอมมิวนิสต์”

อาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งพูดถึงตัวผมเองในที่ประชุมร่วมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2546 ณ โรงแรมชายทะเลแห่งหนึ่ง จังหวัดภูเก็ต

ก่อนที่จะทันลุกขึ้นตอบโต้เพราะมัวแต่ช็อกอยู่ นายแพทย์พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้ล่วงลับไปแล้ว สั่งปิดประชุมในทันที ทุกวันนี้ยังเสียใจอยู่ว่าไม่ได้ต่อว่าคุณหมอพงษ์ให้หนำใจ ท่านก็ด่วนจากไปเสียก่อน นับเป็นการสูญเสียบุคลากรคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของระบบหลักประกันประเทศไทย

หากจะจารึกชื่อใครสักคนนอกจากคุณหมอสงวนที่เป็นกลจักรสำคัญในการผลักดันให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งมั่นในประเทศไทย  คุณหมอพงษ์เป็นคนหนึ่ง

ขุนพลตายไปแล้วสอง

 

นายแพทย์พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข

 

นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์

 

หลังประชุมวันนั้น คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ มาสอบถามเรื่องราวที่เกิดขึ้น ผมจึงเล่าให้ฟัง

ที่ประชุมบ่ายวันนั้น เราคุยกันเรื่องการร่วมจ่าย หรือที่เรียกว่า copayment ผมเป็นคนหนึ่งที่คัดค้านการร่วมจ่ายมาตั้งแต่แรก ด้วยเห็นว่าการร่วมจ่าย เฉพาะการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ จะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเป็นตัวของตัวเอง สามารถถูกโน้มน้าวด้วยความกลัวของตัวเองที่จะจ่ายเพื่อให้ได้บริการที่ดีที่สุด หรือเพื่อให้บุคคลอันเป็นที่รัก คือสามี ภรรยา ลูก หรือพ่อแม่บุพการี ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด

อันนี้พูดแค่เรื่องจิตวิทยาของผู้ป่วยอย่างเดียว ยังมิพักต้องพูดถึงความฉ้อฉลของระบบ

ลำพังความกลัวเจ็บ กลัวพิการ กลัวตาย กลัวยากลำบาก ผู้ป่วยก็ยินดีจ่ายโดยไม่ต้องมีใครร้องขออยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงคือไม่มีใครรู้จริงว่าอะไรที่เรียกว่า “บริการที่ดีที่สุด” ความจริงข้อนี้นายแพทย์รู้อยู่แก่ใจ การจัดบริการที่มากที่สุดให้แก่ผู้ป่วยนั้นทำได้ ให้ไปเรื่อยๆ ให้ทุกอย่าง แต่มิใช่ดีที่สุดแน่นอน ความอยากได้บริการไม่รู้จบของผู้ป่วยเองนั่นแหละคือตัวปัญหา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีกำลังจ่าย แต่ความอยากลักษณะนี้ไม่เข้าใครออกใคร สามารถลามไปสู่ชนชั้นกลางที่มีเงินออมพอจ่ายและยินดีทุ่มหมดตัว รวมทั้งลามไปสู่คนยากจนที่พร้อมจะขายที่นาสักผืนเพื่อแลกกับการฟอกไต

“หมอไปดูที่กันมั้ย แปดไร่ริมคลอง มีบ่อน้ำแล้ว หมอไปดูมั้ย” ญาติของผู้ป่วยฟอกไตคนหนึ่งถามผมเมื่อปีที่แล้วนี้เอง

“ที่ไหน เจ้าของเขาทำไมอยากขาย”

“ห้วยสักนี่เอง เข้าไปน้อยเดียว เลยไร่ท่านวอไม่ไกล มีใบเรียบร้อย หมอดูโฉนดมั้ยเดี๋ยวหนูจะเอามาให้ดู พี่เขาจะให้พ่อฟอกไต ร้อนเงินอยู่”

“เขาบอกเท่าไร”

“ล้านห้าหมอ ไปดูมั้ย”

เป็นที่ดินรูปตัวแอล ห่างจากถนนใหญ่เพียงสามร้อยเมตร มีร่องน้ำผ่านตลอดแนวยาวของที่ ร่มรื่นมาก เจ้าของเดิมทำนาและขุดบ่อน้ำเลี้ยงปลาเอาไว้แล้ว ที่ดินผืนนี้เป็นผืนที่พ่อถางมากับมือ แล้วยกให้ลูก ลูกๆ คิดว่าเอามาขายเพื่อช่วยชีวิตพ่อเป็นเรื่องถูกต้อง เป็นความกตัญญู

และเป็นกตเวทิตา

ถ้าผู้ป่วยขายที่ดินของตัวเองให้แก่แพทย์เจ้าของไข้  ผิดจริยธรรมแน่นอน เป็น unethical

ถ้าญาติผู้ป่วยขายที่ดินของตัวญาติเองให้แก่แพทย์เจ้าของไข้ หมิ่นเหม่จริยธรรม เป็น problematic ในบางประเทศเป็นผิดจริยธรรม เป็น unethical

ญาติผู้ป่วยขายที่ดินของตัวญาติเองให้แก่แพทย์ที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ป่วย คิดว่าอย่างไร

จะเห็นว่าความเจ็บป่วยถึงตายนำมาซึ่งการตัดสินใจที่หมิ่นเหม่หลายสิ่งหลายอย่างไม่มากก็น้อย ลำพังความต้องการของผู้ป่วยเองที่อยากรอดชีวิต หรือของญาติที่ต้องการแสดงความกตัญญูอย่างมากที่สุด ก็สามารถทำให้ชาวบ้านจำนวนมากมายพร้อมที่จะทุ่มหมดตัว และการแพทย์เราสามารถให้สิ่งที่มากที่สุดได้คือการฟอกไต

แต่อาจจะมิใช่สิ่งที่ดีที่สุด

หันกลับมาทางผู้ให้บริการ คือนายแพทย์ และโรงพยาบาลเอกชน การเสนอวิธีรักษาที่ “ดีที่สุด” เป็นเรื่องที่สร้างปัญหาเสมอมา ตัวอย่างที่พบบ่อยคือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) หรือเอกซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ดังที่ทราบกันว่าประเทศไทยมีเครื่องเอกซเรย์สองประเภทนี้มากที่สุดในภูมิภาค ลำพังในกรุงเทพฯ ที่เดียวมีมากกว่าที่หลายประเทศพัฒนาเขามีกัน ชาวบ้านเราชอบเอ๊กซ์และโรงพยาบาลของเราก็พร้อมให้เอ๊กซ์ โดยมิพักพูดถึงค่าคอมมิชชั่นที่เข้ากระเป๋าใคร เช่นนี้แล้วเราจะวางใจระบบได้อย่างไรว่าสามารถมอบการรักษาที่ดีที่สุด มิใช่มากที่สุด

การร่วมจ่ายที่จุดบริการ คือสถานที่ที่ต่อรองได้ แต่เนื่องจากร้านค้านี้มีชื่อว่าโรงพยาบาล การต่อรองจึงมิใช่การต่อรองสินค้า แต่เป็นการต่อรองความตาย คุณภาพชีวิต ความกตัญญู และความพึงพอใจอันหาที่สุดมิได้ของมนุษย์ เช่นนี้เราจะจัดระบบต่อรองอย่างไร

อาจารย์ผู้ใหญ่ท่านนั้นพูดในที่ประชุมว่า “เราควรเสนอผู้ป่วยว่าเรามียาแก้ปวดกล้ามเนื้อ 2 ชนิด ชนิดที่หนึ่งคือ diclofenac ยาตัวนี้ฟรี ใช้สิทธิสามสิบบาทได้ แต่กัดกระเพาะอาหารรุนแรงและสามารถทำให้กระเพาะทะลุได้ กับมียาอีกตัวหนึ่งชื่อ cox 2 inhibitor ตัวนี้ไม่กัดกระเพาะเลยและออกฤทธิ์เร็วกว่ามาก หายปวดรวดเร็ว แต่ต้องจ่ายเพิ่มในราคาเม็ดละ 30 บาท (ราคาเมื่อปี พ.ศ. 2546) เราให้ผู้ป่วยเลือกว่าอยากใช้ยาตัวไหน เป็นสิทธิผู้ป่วย”

เมื่อผมค้านและพยายามอธิบายเรื่องอำนาจต่อรองของผู้ป่วยที่จุดบริการซึ่งไม่น่าจะมี จึงได้ข้อหาคอมมิวนิสต์มาโดยไม่ทันระวัง

ว่าที่จริงสามสิบปีก่อนหน้าเหตุการณ์วันนั้น ผมได้ข้อหาว่าเป็นพวก “ปฏิกิริยา” มาก่อนแล้วจากโรงเรียนมัธยมปีที่พวกเราเผาวรรณคดีกลางสนามฟุตบอลของโรงเรียนประมาณช่วงวิกฤตการณ์เดือนตุลา นึกไม่ถึงเลยว่าผ่านไปสามสิบปีจะถูกกล่าวหาเป็นคอมมิวนิสต์ไปเสียได้

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save