ชลธร วงศ์รัศมี เรื่องและภาพ
ทองหล่อ – เอกมัย เป็นย่านที่ใครๆ มองว่าจะใช้ชีวิตแถวนี้ได้ต้องมีไลฟ์สไตล์หรูหราน่าตื่นเต้น (อย่างน้อยโฆษณาคอนโดมิเนียมก็บอกเราอย่างนั้น) และเป็นที่อยู่อาศัยแสนสมบูรณ์แบบ จนน่าสงสัยว่าจะเป็นอย่างไรถ้าฉันจะลองเลือกรองเท้าสบายๆ มาสวม แล้วเดินผจญภัยย่านนี้ด้วยตัวเองโดยใช้แค่สองเท้า (สวมหมวกด้วยแดดมันร้อน) โดยลืมไปให้หมดทุกรีวิว และนี่คือสิ่งที่ฉันได้ค้นพบ ตามเวลาที่เดินไปข้างหน้าในช่วงหนึ่งวัน
กินข้าวเช้ากันก่อน

หกโมงเช้า หลังลงจากรถไฟฟ้าสถานีทองหล่อ ฉันเดินตรงมาเรื่อยๆ ถึงปากซอยสุขุมวิท 57 แล้วก็ได้พบ ‘ตลาดนัด’ เล็กๆ ตรงที่ว่างหน้าอาคารพาณิชย์ เยื้องโรงแรมมาริออท จริงๆ แล้วขอบเขตของทองหล่อมักจะนิยามเพียงแค่ซอยสุขุมวิท 55 แต่ที่นี่นับเป็นตลาดสดแบบไทยๆ คุ้นตา ในช่วงเช้าเพียงแห่งเดียวที่พบได้ในย่าน และมีผู้คนจากทองหล่อไม่น้อยเดินทางมาซื้อหาของสดจากที่นี่ เช่นผัก ปลา เนื้อสัตว์ เครื่องปรุงอาหาร ฯลฯ ตลาดขนาดย่อมแห่งนี้จะสลายตัวเวลาราว 10.00 น. จากนั้นอาคารพาณิชย์ต่างๆ จะเริ่มตื่น และพื้นที่นี้จะกลายเป็นที่จอดรถ

ชมตลาดพอให้ชื่นใจ แม้หมูกรอบจะดูน่ากินมาก แต่ฉันไม่ได้ซื้ออะไรเพราะนึกไม่ออกว่าซื้อแล้วจะเอาไปกินที่ไหน เพราะอาหารทุกอย่างเหมาะกับซื้อไปกินที่บ้านมากกว่า จึงเดินย้อนกลับมาใกล้ BTS ทองหล่อ และได้พบกับร้านรวงมากมายเรียงรายตามแนวรถไฟฟ้า มีทั้งร้านขายก๋วยเตี๋ยว ราคา 40-50 บาท ร้านราเมนแบบญี่ปุ่นที่เริ่มต้นที่ 60 บาท ร้านข้าวแกง แผงลอยขายขนมปังปิ้ง หมูปิ้ง ผลไม้ ดอกไม้รับวันพระ ฯลฯ ปากทางเข้าสู่ทองหล่อไม่แตกต่างจากซอยอื่นๆ ในประเทศไทยแต่อย่างใด มีความคึกคักจอแจ พนักงานออฟฟิศ คนทำงานสู้ชีวิตขวักไขว่บนทางเท้าตะปุ่มตะป่ำ ความเคลื่อนไหวต่างๆ ผ่านไปอย่างเร่งรีบหน้าตึกแถวอมฝุ่นสีหม่น และเต็มไปด้วยมอเตอร์ไซค์รับจ้างผู้เป็นเหมือนเส้นเลือดสูบฉีดผู้คนไปทั่วทั้งย่าน

เมื่อเดินเข้ามาในซอย กิจกรรมเศรษฐกิจริมทางเท้าก็ยังไม่หมดลง มีแต่จะเห็นมากขึ้นๆ เช่นร้านขายไก่ที่อยู่ตรงข้ามมัสยิดด่อฮีรุ้ลอิสลามร้านนี้ เมื่อเดินต่อมาจะเห็นแม่ค้าตั้งโต๊ะชั่วคราวขายกับข้าวสดอีกเป็นระยะๆ และมีแทบทุกอย่าง แน่นอนว่าพอเข้าช่วงสาย เมื่อผู้คนขวักไขว่หนาแน่นมากขึ้น พื้นที่ขายอาหารสดราคาย่อมเยาเหล่านี้ก็จะหายไป และเป็นช่วงเวลาที่ร้านขายข้าวแกงและร้านอาหารที่มีกำลังจ่ายค่าเช่าหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ในย่านนี้จะเริ่มต้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจบ้าง

ร้านขายอาหารมื้อสาย (brunch) เป็นร้านอีกรูปแบบหนึ่งที่มีให้เลือกมากมายในทองหล่อ การได้ตื่นสายๆ แล้วมานั่งอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่ทุกอย่างสวยงาม เป็นระเบียบ แต่มีความคึกคักจากการสนทนารอบตัวอยู่ในที มีอาหารที่จัดเตรียมอย่างพิถีพิถันอยู่ตรงหน้า ล้วนเป็นสิ่งที่ช่วยสูบซับความเหน็ดเหนื่อยจากชีวิตคนเมืองไปได้ไม่น้อย การกินบรันช์จึงเป็นการเสพความสดชื่นรื่นเริงอันลึกซึ้งที่ซ่อนแทรกอยู่ในน้ำส้มคั้นสด ออมเล็ตที่พนักงานบรรจงตะล่อมคือความช้าที่ชีวิตไม่ค่อยอนุญาตให้เราได้ช้า มะเขือเทศออร์แกนิกและฟักทองญี่ปุ่นย่างล้วนบอกกับเราว่าโลกนี้ยังมีสิ่งจริงแท้ อย่างน้อยก็ในอาหารตรงหน้า
ทางเดินที่ใช่
ฉันยังคงเดินลัดเลาะอยู่ในตรอกซอกซอยต่างๆ ของทองหล่อและพบว่ามีทั้งเส้นทางที่เดินง่าย (ทางราบเรียบ ทางเท้ากว้าง) และเดินยาก (ลักษณะตรงข้ามกับทางเดินง่าย) สลับๆ กันไป แต่ที่แน่ๆ คือมีร่มไม้คอยให้ร่มเงาอยู่เยอะหากเทียบกับหลายๆ ย่านในกรุงเทพฯ และมีสิ่งน่าดูเป็นระยะๆ เช่นร้านรวงที่น่าสนใจ แต่ไม่ใช่ถึงขนาดเป็นย่านธรรมชาติหรือศิลปวัฒนธรรมที่เหมาะกับการเดินเท้าตลอดทั้งเส้นทางขนาดนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ริมทางในทองหล่อขาดสิ่งสำคัญคือพื้นที่สาธารณะที่จะนั่งพักได้ หากคุณเป็นขาวิ่งหรือขาเดิน

อย่างไรก็ตามเรายังได้เห็นการพัฒนาพื้นที่สาธารณะร่วมกันระหว่างเอกชนและชุมชนอยู่บ้าง เช่นพื้นที่ของสวนครูองุ่น มาลิก ข้างสถาบันปรีดี พนมยงค์ ทองหล่อซอย 3 ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปมาทำกิจกรรมสร้างสรรค์ได้ท่ามกลางสวนเขียวสด หรือพื้นที่สาธารณะในตึกโปร่งสถาปัตยกรรมแบบยุคอุตสาหกรรมในซอย 17 ของคอมมูนิตี้มอลล์ ‘The Common’ ซึ่งเปิดให้ผู้คนทั่วไปเข้าไปใช้งานได้ โดยจะซื้อสินค้าจากโซนขายสินค้าหรือไม่ก็ได้ นับว่าเป็นที่นั่งพักและพื้นที่พบปะยอดนิยมของชาวทองหล่อในเวลานี้

ฉันเดินต่อไปจนกระทั่งมาถึงร้านสะดวกซื้อ แล้วคว้าโอเด้งร้อนๆ มาหลากหลายชนิดเพื่อเป็นกำลังสำหรับเดินต่อไป ร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาเก็ตละแวกนี้มีเครื่องปรุง อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่มหลายอย่างที่รองรับความต้องการของคนญี่ปุ่น เพราะมีคนญี่ปุ่นอยู่ในย่านมาก (มีกระทั่งตู้หยอดกาชาปอง) ตามคำบอกเล่าของคนที่อยู่แถวนี้กล่าวว่า มีคนญี่ปุ่นอยู่ที่นี่มาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

หนุ่มพนักงานเงินเดือนคนหนึ่งใช้ชีวิตย่านทองหล่อ-เอกมัยอย่างไร
สายวันนี้ฉันมีนัดกับชายหนุ่มอายุ 26 ปีคนหนึ่ง เขามีอาชีพเป็นภัณฑารักษ์ทางเนื้อหา (content curator) ของสตาร์ทอัพอย่าง Storylog.co ‘ไข่’ พักอยู่ในโฮมออฟฟิศที่เอกมัย ซอย 2 โดยเขาทั้งทำงานและอยู่ที่นี่ โดยช่วยดูแลบ้านเป็นการตอบแทนการได้พักอาศัย ไข่ขี่จักรยานไปมาระหว่างทองหล่อ-เอกมัยเป็นประจำ ไข่เป็นคนที่บอกกับฉันว่า “คนอาจมองว่าคนอยู่ทองหล่อ-เอกมัยเป็นคนรวย แต่ผมเจอคนมากมายที่ทำให้รู้สึกว่าจริงๆ เขาไม่ใช่คนรวยนะ แต่เขาต่อสู้เพื่อให้ได้มาอยู่ในย่านแบบนี้ครับ”

‘ย่านแบบนี้’ ในความหมายของไข่คือย่านที่ไข่ตื่นสัก 7 โมง ออกจากบ้านสัก 8 โมง เรียกแกร็บคาร์ไปสวนเบญจศิริ วิ่งตอนเช้า กลับเข้าบ้าน 9 โมง อาบน้ำ จากนั้นก็ปั่นจักรยานไปซุปเปอร์มาเก็ตเปิด 24 ชั่วโมงที่เขาซื้อกับข้าวมาทำเองบ่อยๆ หรือโทรสั่งอาหารจากไลน์แมนที่เต็มใจเข้ามาย่านนี้ไม่ได้ขาด แล้วเข้าทำงานตอน 10 โมงครึ่ง ตอนเย็นเต็มไปด้วยทางเลือกในการทำกิจกรรมมากมาย ทั้งการเล่นฟิตเนสที่จะได้เจอแต่เทรนเนอร์หัวกะทิ กินอาหารอร่อยๆ ชวนเพื่อนไปผับเพื่อแฮงก์เอาท์ เดินดูแกลอรี สตูดิโอศิลปะต่างๆ ที่แทรกอยู่หลายแห่งในย่าน บางวันอาจนั่งทำงานต่อในร้านกาแฟดีๆ และถ้าจะไปเดินทางไปไหนก็ไปได้อย่างรวดเร็วได้ด้วยรถไฟฟ้าและเรือ
ไม่เพียงเท่านั้นไข่บอกว่า ‘ชุมชน’ ก็น่ารักไม่แพ้กัน “ซอย 4 จะมีร้านตัดผมชื่อว่า ‘ติ๋ว บาร์เบอร์’ คนในออฟฟิศจะชอบไปกันมาก เจ้าของร้านแกตัดผมที่นี่มานานมากจนแกขยายร้านของแกได้ แกเป็นช่างตัดผมที่เฮฮา คุยสนุก เช่นแกจะถามเราว่ากินเบียร์หรือกินน้ำเปล่า พอเราบอกเบียร์ แกเปิดเบียร์เลี้ยงเลย ตัดผมไปตัดผมมากินเบียร์กัน คุยกันถูกคอ นั่งกินเบียร์กันต่ออีก กลายเป็นว่าค่าเบียร์ที่เขาเลี้ยงเยอะกว่าค่าตัดผมอีก ได้ข่าวว่าตอนนี้เขาหมักเบียร์เองแล้วนะครับ
“แถวทองหล่อ-เอกมัยมีคนญี่ปุ่นเยอะ เราจะเห็นการรวมตัวกันและสร้างวัฒนธรรมน่ารักๆ ขึ้นมา เช่นเอกมัยซอย 2 ทุกวันอังคารจะมีคนญี่ปุ่นทำขนมปังมาขอพื้นที่หน้าโรงแรมขาย ตั้งโต๊ะเล็กๆ ขายวันเดียวต่อสัปดาห์ ตอนเย็นๆ แม่บ้านญี่ปุ่นหลังมารับลูกที่โรงเรียนอนุบาลก็จะมาซื้อกัน มันเป็นซอยแต่ผมรู้สึกว่าเป็นซอยที่มีความเป็นหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ในนั้นนะครับ ไม่รู้ว่าเขาไปรู้จักกัน ไปสร้างชุมชนกันได้ยังไง แต่เห็นได้ว่าเขาเชื่อมกัน”
ไข่บอกว่าเขามีหลายวิธีช่วยให้ใช้ชีวิตอยู่ในย่านที่ค่าครองชีพสูงนี้ได้อย่างรุ่มรวยพอสมควร “ถ้ามองโดยสายตาแล้วเอกมัยค่าครองชีพแพงจริง กินข้าวมื้อหนึ่งต้องจ่ายมื้อละร้อยขึ้นไป แต่ถ้าอยู่มาสักพักจะรู้ว่ามีร้านเล็กๆ ไม่แพงมาก อยู่ในเรท 40-50 บาท แต่ถือว่ายังมี โอเคอยู่”
นอกจากการบริการจัดการค่าอาหารแล้วไข่ยังไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากนัก ไข่ใช้จักรยานเป็นประจำซึ่งเขากล่าวว่าเขาไม่ใช่สายปั่นเพื่อสุขภาพแต่ปั่นเพื่อความสะดวกล้วนๆ “ผมว่าถนนเอกมัยรถเยอะจนไม่มีที่ให้กับจักรยาน เวลาเราปั่นจักรยานต้องชิดซ้าย แต่ถนนฝั่งซ้ายกลับไม่ค่อยเวิร์กต่อการปั่น บางทีถนนแตกมีร่อง เราต้องหลบร่อง เบี่ยงขวา รถก็มาเร็วอีก ส่วนทองหล่ออย่างผมปั่นมาสตาร์บัคส์ จะเจอรถยนต์จอดกินเลนไปเลนหนึ่งเป็นประจำ ซึ่งทำให้รู้สึกว่าเสียดายครับ จะมีคำถามเสมอว่าทำไมเขาถึงจอดกินเลนไปหนึ่งเลนได้”

ไข่ใช้รูปแบบการเดินทางหลากหลายผสมผสานกัน เมื่อต้องเดินทางระยะใกล้เขามักจะใช้แท็กซี่ เมื่อไปไกลๆ เขาจะเลือกรถไฟฟ้าและเรือโดยสารในคลองแสนแสบ ใช้แอ็พพลิเคชันเช็กเส้นทางเพื่อโดยสารรถเมล์ในบางครั้ง บางครั้งเขาเดินเท้าและขี่จักรยานจนมีเวลาสังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัว และบางครั้งเขาก็ไม่เดินทางไปไหนเลย
“อย่างหนึ่งที่รู้สึกคือพอมาอยู่แถวๆ เอกมัยเมื่อ 2 ปีก่อน เริ่มรู้ตัวเองว่าเราเป็นคนติดสบายขึ้นมากๆ อย่างตอนผมอยู่แถววัชรพล-สะพานใหม่ แกร็บคาร์คนขับยังน้อย แทบไม่มีเลย ไม่ต้องพูดถึงเรื่องของการสั่งอาหาร แต่พอมาในย่านนี้ คนขับแกร็บมารับเราได้เยอะมาก สั่งอาหารกับไลน์แมน คนขับพร้อมส่ง หรือแม้กระทั่งการสั่งพวกข้าวของเครื่องใช้ บางทีก็รู้สึกว่าตัวเองติดความสะดวกของความเป็นย่านเมืองที่แอ็พพลิเคชันมารองรับเยอะเหมือนกัน มีบางอาทิตย์ที่ไม่ออกไปไหนเลยก็มีครับ เลิกงานก็อยู่ตรงนี้ หรือเต็มที่ก็สั่งอะไรมากิน เรามีบัตรเครดิตใบเดียว ทำอะไรออนไลน์ได้ทั้งหมด ไม่ต้องออกไปไหนก็ช็อปปิ้งอยู่บ้านได้ บริษัทมีสวัสดิการข้าวกลางวันให้ด้วย ซึ่งบางครั้งมื้อเย็นเราก็เหลือจากกลางวันนั่นแหละ ก็ประหยัดไปได้”

ไข่เล่าให้ฟังว่าชีวิตทำงานของเขาค่อนข้างสนุกสนาน เต็มไปด้วยบรรยากาศการทำงานแบบคนรุ่นใหม่ที่กระฉับกระเฉง ได้เจอผู้คนที่น่าสนใจแทบทุกวัน และได้รับความคิดสร้างสรรค์จากการอยู่ในย่านนี้ นอกเวลางานที่นี่เชื่อมต่อไปยังสถานที่ได้หลากหลาย นอกจากงานประจำ ไข่เล่าให้ฟังว่าช่วงนี้เขาพยายามเขียนสารคดีเกี่ยวกับชีวิตกลางคืนในซอยคาวบอย ซึ่งการเดินทางด้วย BTS จากเอกมัยไปซอยคาวบอยก็แสนจะง่ายดาย หรือถ้าจะไปฟังดนตรีดีๆ ที่ถนนข้าวสารก็ไม่ยากเช่นกัน
“เวลาไปข้าวสารใช้เรือครับ สะดวกมาก ไปขึ้นที่ท่าเรือทองหล่อ ท้ายซอยทองหล่อ (นั่งรถเมล์แดง 7 บาทไปท่าเรือจากต้นซอยได้) ถ้าเราไม่อยากอยู่แถวนี้ก็จะนั่งเรือไปขึ้นที่ข้าวสาร ไปหอสมุดกรุงเทพฯ บ้าง ถ้ากลับไม่ดึกก็นั่งเรือกลับมา เรือหมดไม่เกินสองทุ่ม สำหรับเรือผมให้ค่าเท่าๆ กับมอเตอร์ไซค์ พอจะกะเวลาได้ แต่ยังมีความอันตรายอยู่ ผมรู้สึกว่าจริงๆ ชีวิตเมืองจะง่ายมากถ้าเรารู้ตารางการเดินทางทั้งหมด รู้ผังและเวลาที่รถหรือเรือจะมาล่วงหน้าก็จะดี ตอนนี้ผมวางแผนการเดินทางจากรถไฟฟ้าเป็นหลักก่อนครับ ดูว่าถ้าตั้งต้นจากที่มีรถไฟฟ้าจะไปทางไหนสะดวกกว่ากัน”

“คนที่ขึ้นเรือมีหลากหลาย นอกจากพนักงานออฟฟิศก็จะมีพ่อค้าแม่ค้า เพราะเรือจะไปถึงโบ๊เบ๊ พ่อค้าแม่ค้าซื้อเสื้อผ้าจากโบ๊เบ๊แล้วขึ้นเรือกลับได้เลย มีนักท่องเที่ยวบ้างประปราย เรือในคลองแสนแสบมาถี่อยู่แล้วครับ ไม่เกิน 5 นาทีก็มาแล้ว แต่เรือจะแน่นมากช่วงเลิกงาน แน่นยิ่งกว่ารถไฟฟ้าอีก เราต้องรอเรือประมาณ 5-6 ลำ กว่าจะได้ขึ้น โดยเฉพาะถ้าไปขึ้นที่ท่าเรืออโศก จะเห็นได้ชัดว่าแน่นมากจริงๆ ผมว่าพอพูดถึงชีวิตคนทำงานออฟฟิศ จะเห็นภาพว่าอยู่ย่านอโศกมากกว่าเอกมัยหรือทองหล่อ ถ้าเอาแว๊บแรกๆ เร็วๆ ภาพของอโศกจะขึ้นมาปุ๊บเลย” ไข่กล่าว
ทองหล่อ-เอกมัยสำหรับคนมีครอบครัว
นับว่าย่านทองหล่อ-เอกมัย เป็นย่านที่เอื้อต่อรูปแบบการใช้ชีวิตที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่อย่างไข่และช่วยปลดปล่อยศักยภาพให้คนรุ่นใหม่อย่างเขาทำอะไรได้มากมายและมีเวลาคุณภาพมากขึ้น แต่สำหรับคนมีครอบครัว มีความคิดเห็นต่อย่านนี้อย่างไร ‘ซู’ นักธุรกิจสาวสวยบุคลิกดีวัย 40 กว่าปีชาวเกาหลีกล่าวว่าบางครั้งย่านที่ดูเหมือนมีข้อดีเพียบพร้อมก็มีข้อเสียเหมือนกัน
ฉันพบซูที่วัดเกาหลีชื่อว่า ‘ฮันมาอึม ซอนวอน’ ซึ่งเป็นวัดพุทธมหายานในเอกมัย ซอย 4 ซึ่งเปิดมาได้ 19 ปีแล้ว ในขณะที่ศาสนิกชนชาวเกาหลีราว 30 กว่าคนกำลังซ้อมร้องเพลงเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาเนื่องในวันวิสาขบูชาอย่างไพเราะและตั้งใจ

“คนเกาหลีมาอยู่เมืองไทยประมาณ 15,000 คนทั้งกรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ เยอะมากค่ะ แต่คนถือคริสต์ประมาณครึ่งหนึ่ง คนคริสต์วันอาทิตย์เขาไปโบสถ์ แต่คนถือศาสนาพุทธ ปีละครั้งหนึ่งมาก็โอเคแล้ว เป็นเรื่องปกติ คนไทยก็เหมือนกันใช่ไหมคะ” ซูถามยิ้มๆ
“สมัยก่อนในกรุงเทพฯ มีโบสถ์คริสต์ตั้ง 20-30 ที่ แต่วัดของเกาหลีไม่มี ครั้งแรกเลยคนเกาหลีเลยรวมตัวกันมาตั้งวัดครั้งแรกอยู่แถวนี้ คนเกาหลีส่วนมากอยู่ย่านเกาหลี สุขุมวิท เยอะค่ะ คนเกาหลีที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยชอบมาวัดวันอาทิตย์ มีสัก 27 คนที่มาประจำ ถ้ารวมเด็กคนก็ 30 กว่าคน มาจากทั่วกรุงเทพฯ วันวิสาขบูชาเราจะถวายร้องเพลงด้วย จริงๆ ถวายมีหลายอย่างใช่มั้ยคะ ดอกไม้ ผลไม้ แต่ว่าถวายร้องเพลงด้วยก็เป็นความหมายที่ดี ตอนเย็นที่นี่จะสวยมาก จะจุดเทียน ทำกับข้าวกินกัน” ซูเล่าถึงกิจกรรมวันวิสาขบูชาซึ่งวัดฮันมาอึมฯ จัดเป็นประจำทุกปี

“ดิฉันมีลูก 3 คนค่ะ ดิฉันจริงๆ อยู่สังคมไทยมากกว่า ทำงานในเมืองไทยที่เอ็มโพเรียม เอ็มควอเทียร์ และสามีเป็นคนไทย ชอบเอกมัย-ทองหล่ออยู่แล้วค่ะ เมื่อก่อนอยู่บ้านเอกมัย ซอย 12 แต่ตอนนี้ย้ายไปอยู่บางนาแล้ว อยู่ในเมืองจะสะดวกสบายกว่า แต่ว่าเรื่องสุขภาพเรื่องอากาศบางนาจะดีกว่าเยอะ ตอนอยู่เอกมัยลูกไม่สบายบ่อยๆ เป็นภูมิแพ้ ไปนอนโรงพยาบาลบ่อยมากเลย แต่ตอนนี้ไม่มีอาการแล้วค่ะ
“มาเมืองไทยนานจนเรารู้สึกชอบอากาศที่เกาหลีมากกว่า เพราะว่ายังไงก็มี 4 ฤดู อาจจะอยู่นานเกินจนอารมณ์รู้สึกเหมือนคนไทยน่ะ อยากอยู่อากาศเย็นๆ ไม่เอาร้อนแล้ว ไม่ชอบแอร์คอนดิชันเนอร์ ร้อนก็ร้อนได้แต่เช้าเย็นขอให้สบาย แต่กลายเป็นว่าเดี๋ยวนี้เราอาศัยพึ่งแต่แอร์อย่างเดียวในชีวิต เราเบื่อแล้ว”
ซูกล่าวว่าเธอไม่ได้อยากใช้ชีวิตในห้องแอร์หรือกระทั่งขับรถยนต์ เธอก็อยากเดินเช่นกัน
“ที่เกาหลีคนเดินกันเยอะ น่าจะเป็นเพราะเกาหลีใช้ผังเมืองใหม่ แต่กรุงเทพฯ ถือว่าเป็นผังเมืองเก่า มีปัญหาที่ดินแพงขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นจะซื้อมาทำถนนยาก รถยนต์ก็แพงกว่าที่เกาหลีเพราะค่าภาษีสูง และผลิตรถยนต์เองไม่ได้ แต่คนต้องยอมซื้อเพราะขนส่งสาธารณะไม่สะดวก ทางเดินเพื่อคนยังไม่ค่อยมี มีแต่ทางเดินเพื่อรถ แต่รถก็ไปไม่ได้อีก เกาหลีก็เหมือนกันค่ะ วางแผนดีๆ ก็ยังติดอยู่ เป็นลักษณะของเมืองที่เป็นแค็ปปิตอล (มหานคร)”
เช่นเดียวกับซู ‘รศ.ทพ.สุรกิจ’ เป็นอีกคนหนึ่งที่กำลังจะย้ายบ้านจากย่านกลางเมืองไปบางนาเช่นเดียวกัน ฉันพบคุณหมอสุรกิจที่สวนครูองุ่น ในทองหล่อ ซอย 3 ขณะที่กำลังมีการจัดกิจกรรมของโรงเรียนมาร์แตเดอี ซึ่งลูกสาวอายุ 7 ขวบของคุณหมอเรียนอยู่ คุณหมอเป็นคนหนึ่งที่เดินทางมาทำงานแถวต้นซอยทองหล่ออยู่หลายปี

“ส่วนใหญ่แล้ว สถานีที่สองรองจากบ้านก็คือที่ทำงานครับ โชคดีที่ที่ทำงานใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า เลยกลายเป็นจุดเชื่อมต่อที่สองรองจากบ้าน เสียดายว่าบ้านอยู่ห่างจากรถไฟฟ้าพอสมควร ไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ เวลาจะไปไหนผมจะจอดรถไว้ที่ทำงาน แล้วจากที่ทำงานค่อยกระจายไปด้วยรถไฟฟ้า ซึ่งมันเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเราใช้พื้นที่บนท้องถนน เราไปไม่ทันหรอก แล้วเราก็เหนื่อย เราเสียเวลาบนถนนไปมาก

“อย่างลูกก็โชคดีที่มาแตร์ฯ เข้าตั้งแต่ 7 โมงเช้า เพราะฉะนั้นเราจะออกเร็วกว่าคนที่ไปทำงานนิดหนึ่ง นี่คือโชคดีนะครับ แต่ตอนเย็นลำบาก เพราะว่ารับลูกบ่าย 3-4 โมง ยังไงก็ติด บางทีก็ไปรับด้วยรถไฟฟ้า แล้วเอาเขาเข้ามาที่ทำงานแล้วค่อยกลับบ้านด้วยกัน จะเป็นอย่างนั้นมากกว่า ขับรถก็ไม่มีที่จอดรถ อย่างมางานวันนี้ก็ไม่มีที่จอดรถ เราก็วนไปตามหาที่ตามหลืบตามซอยครับ”
คุณหมอกล่าวว่าอยากให้ลูกเติบโตอย่างมีอากาศบริสุทธิ์ให้หายใจและใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ย้ายไปอยู่บ้านย่านชานเมือง และแน่นอนว่าเพื่อจะเข้าสู่ใจกลางเมือง การเอารถมาจอดไว้ที่ทำงานย่อมเป็นทางเลือกลงตัว ทว่าฉันเกิดคำถามว่า สำหรับคนที่ไม่มีรถยนต์ ไม่มีบ้านชานเมือง จะเข้าถึงภาพชีวิตที่ดี อากาศบริสุทธิ์ และความรุ่มรวยมีสีสันของชีวิตเมืองไปพร้อมๆ กันได้อย่างไร
ของดีก้นซอย
ช่วงเย็น ฉันเดินหาอะไรในกินในย่านทองหล่อแล้วก็ได้เจอกับร้านอาหารญี่ปุ่น ‘ไซยะ’ ของคุณนิชิฮิระ หรือ ‘พี่เป้’ ซึ่งมาอยู่เมืองไทยได้ 4 ปีแล้ว พี่เป้เป็นคนญี่ปุ่นที่มีความสุขกับการไปวัด โดยมีวัดภาษีเจริญเป็นวัดประจำ ส่วนวัดชื่อดังในอุดรธานีหรือนครศรีธรรมราชพี่เป้ก็ไปมาหมดแล้ว
“ที่นี่คนญี่ปุ่นเยอะ สะดวก อะไรก็มี อโศกไฮโซ ที่นี่ 4 ปีก่อนธรรมดา แต่พอขยายรถไฟออกไป ทองหล่อก็จะเริ่มอัพขึ้น ไฮโซขึ้นๆ” พี่เป้กล่าวด้วยภาษาไทยสำเนียงญี่ปุ่น

“ร้านเราทำอาหารจังหวัดโอโกยามา บ้านนอกของญี่ปุ่น น้องสาวก็ทำร้านอาหาร รสชาติคุณแม่ ลูกค้าคนญี่ปุ่นที่มากินจะบอก เนี่ย รสชาติเหมือนสมัยมากินตอนเด็กๆ เลย ที่ร้านจะมีอาหารญี่ปุ่นกับอาหารไทย ถ้าเป็นอาหารไทยจะเป็นรสชาติคนไทยจริงๆ ถ้าลูกค้าอยากลดรสจัดลงก็จะลดให้ แต่พยายามจะบอกก่อนว่าเป็นรสชาติคนไทยนะ ธรรมดาที่อื่นขายอาหารไทยไม่ค่อยเผ็ด แต่ที่นี่จะไม่ทำอาหารไทยให้ถูกปากคนต่างชาติค่ะ”
ร้านของพี่เป้ตั้งอยู่สุดซอย 7 ของย่านทองหล่อ มีบรรยากาศอบอุ่นเรียบง่ายเหมือนกินข้าวบ้านเพื่อน ลูกค้า 80% เป็นชาวญี่ปุ่น อาหารมีหน้าตาง่ายๆ ไม่ซับซ้อนแต่สดใหม่และอร่อยมาก อีกทั้งยังราคาไม่แพงเพราะเพิ่งเปิดมาเพียงปีกว่า ‘วิไล’ ผู้จัดการร้านกล่าวว่าปัจจุบันนี้ยังมีลูกค้าคนไทยน้อยกว่าคิดไว้ หนึ่งในสาเหตุนั้นเป็นเพราะขาดแคลนที่จอดรถ
“ลูกค้าบ่นเยอะมากค่ะว่าแถวนี้หาที่จอดรถยากมาก ร้านเรามีที่จอดได้หนึ่งคัน หรือไม่ก็ไปจอดตามซุปเปอร์มาเก็ตแล้วค่อยเดินมากิน แต่แนะนำว่าถ้าจะดื่มไม่ต้องเอารถมาดีกว่า สะดวกกว่าเยอะ บางทีก็ต้องมาเลื่อนรถ เพื่อนจะมาก็บอกว่าหาที่จอดรถให้หน่อยได้มั้ย เราก็บอกว่าต้องวัดดวงเอา ถ้ามีก็จอดข้างๆ กำแพง”
พี่เป้กล่าวว่าในย่านทองหล่อยังมีร้านอาหารดีๆ ที่หลบอยู่ตามซอกซอย หรือห้องเล็กๆ ใต้อาคารที่พักอาศัยอยู่มาก ร้านเหล่านี้ถ้าไม่เดินเท้าเข้ามาจะไม่พบเลย และแนะนำให้ฉันไปกินราเมนเจ้าอร่อยที่ใต้คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งที่เจ้าของซึ่งเป็นคนญี่ปุ่นอาศัยพื้นที่แคบๆ เปิดร้าน

อิ่มจากร้านอาหารของพี่เป้ ฉันรวบตะเกียบด้วยความอิ่มเอม แล้วเตรียมเดินท่องทองหล่อภาคกลางคืนต่อไป การเดินเท้าทำให้ฉันไปถึงแต่ละจุดหมายอย่างเชื่องช้า แต่ก็ทำให้ได้พบสิ่งที่น่าสนใจมากมายเช่นกัน
พบกับการเดินทางต่อไปในย่านทองหล่อ-เอกมัย กับการเดินเท้าหาที่ประทับใจในยามค่ำคืน ได้ที่ ค้นหาทองหล่อ-เอกมัยฉบับคนเดินเท้า (2)
[/et_pb_text][et_pb_text admin_label=”box” _builder_version=”3.0.106″ background_color=”#eaeaea” background_layout=”light”]ในไทย ก็มีโครงการส่งเสริมการเดินที่เรียกว่า GoodWalk Thailand อยู่ (ดูได้ที่ goodwalk.org) เป็นโครงการของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินการศึกษาตั้งแต่กลางปี 2557 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเดินของผู้คนในพื้นที่เมืองในชีวิตประจำวัน
GoodWalk เป็นการศึกษา ‘การเดินได้’ ของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อคัดเลือกพื้นที่ตัวอย่างสำหรับการศึกษาเชิงลึก เพื่อพัฒนาดัชนีศักยภาพการเดินเท้า รวมไปถึงเสนอแนวทางการออกแบบและปรับปรุงพื้นที่ตัวอย่าง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
[/et_pb_text][/et_pb_column][/et_pb_row][/et_pb_section]