fbpx
"วันทนีย์-กบ ไมโคร-Liberate P" เมื่อศิลปินไทยยืนตรงข้ามเผด็จการ

“วันทนีย์-กบ ไมโคร-Liberate P” เมื่อศิลปินไทยยืนตรงข้ามเผด็จการ

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

ตั้งแต่กองทัพเข้าสู่สนามการเมืองไทยในฐานะรัฐบาล คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ผ่านมา 4 ปี พลเมืองไทยได้ฟังเพลงที่แต่งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. มาแล้วทั้งหมด 6 เพลง ได้แก่ คืนความสุขให้ประเทศไทย (2557) เพราะเธอคือ…ประเทศไทย (2558) ความหวังความศรัทธา (2559) สะพาน (2560) ใจเพชร (2561) และสู้เพื่อแผ่นดิน (2561)

นับเป็นอีกประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่นอกจากการรัฐประหารจะให้รถถังคันใหม่เอี่ยมจากจีน รัฐธรรมนูญ 2560 ไปจนถึงคดีทางการเมืองที่ประชาชนหลายร้อยคนได้รับแล้ว ยังมีของขวัญเชิงศิลปวัฒนธรรมที่ผู้นำรัฐประหารส่งมอบให้ด้วย

ขณะที่อย่างน้อย 2 เหตุการณ์ที่พลเมืองทั่วไปพยายามมอบบทสนทนาด้านศิลปวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน แต่กลับไม่ได้รับอนุญาตหรือถูกควบคุมเป็นพิเศษ เหตุการณ์แรกคือที่ Ver Gallery และ Cartel Artspace ในการแสดงนิทรรศการศิลปะ เมื่อปี 2560 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้เข้าไปสั่งให้ปลดรูปของศิลปินที่กำลังจัดแสดงอยู่ และให้เหตุผลว่า “สถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้กำลังสุ่มเสี่ยงต่อการแตกแยก” 

เหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในงานคอนเสิร์ตดนตรีพังค์ “จะ 4ปีแล้วนะไอ้สัตว์” ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน เมื่อเสียงเพลงเริ่มกราดเกรี้ยวตั้งแต่ช่วงเย็น ผ่านค่ำไปจนดึก ทั้งแฟนเพลงและศิลปินต่างสบถถ้อยคำอันอัดอั้นถึงบรรยากาศทางสังคมที่พวกเขากำลังเผชิญ ก่อนจะมีการเผารูป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นการทิ้งท้ายคอนเสิร์ต

ระหว่างที่พวกเขากำลังเก็บเครื่องดนตรี เจ้าหน้าที่ตำรวจก็คุมตัวสมาชิกวงดนตรีและแฟนเพลงบางส่วนไปทำประวัติที่สถานีตำรวจ

แฟนเพลงดนตรีพังค์ในคอนเสิร์ต "จะ 4 ปีแล้วนะไอ้สัตว์"
แฟนเพลงดนตรีพังค์ในคอนเสิร์ต “จะ 4 ปีแล้วนะไอ้สัตว์”

ดูเหมือนที่อยู่ที่ยืนของแวดวงศิลปวัฒนธรรมไทยกำลังถูกจับตามองเป็นพิเศษ คำถามคือเมื่อศิลปินเลือกยืนในฝั่งตรงข้ามกับการควบคุมสิทธิเสรีภาพจากผู้มีอำนาจ ศิลปินคิดอ่านต่อปรากฏการณ์นี้อย่างไร และมองเห็นความท้าทายอะไรในการยืนยันสิทธิเสรีภาพ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

โลกของศิลปะคือโลกเสรี

นกแก้วแอฟริกันเกรย์ กำลังพยายามหาทางออกจากกรงพลาสติกที่ไม่ได้ล็อกกรง มันดูกระวนกระวายเมื่อถูกเสียงท่านผู้นำกำลังพูดถึงความสงบสุขของประเทศ แต่ไม่กี่นาทีมันก็บินออกจากกรงได้ ไม่ต้องทนฟังเสียงดังกล่าวต่อ

ผลงานวิดีโออาร์ตชิ้นนี้ชื่อ FREEZE TV, 2016 อยู่ในโปรเจ็กต์ LIKE BEUYS, LIKE BEUYS ของ วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร ศิลปินหญิงที่ทำงานร่วมกันกับบอยซ์-นกแก้ววัย 4 ปีของเธอ

นอกจากทำงานศิลปะ วันทนีย์ยังเป็นอาจารย์ประจำคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผลงานของเธอหลายชิ้นถูกไฮไลท์ในความหมายงานที่มีชั้นเชิง วิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ซึ่งเปิดให้คนดูตีความได้อย่างสม่ำเสมอ

วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร
วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร

เธอบอกกับ 101 ว่างานศิลปะของเธอเมื่อก่อนส่วนใหญ่เป็นงานที่พูดถึงเรื่องส่วนตัว ทั้งในมิติสถาบันครอบครัวหรือสถาบันศิลปะ แต่หลังจากการสูญเสียพ่อไป ทำให้เธอต้องพึ่งพาตัวเอง และเกิดคำถามขึ้นว่าเมื่อไม่มีเสาหลักแล้วจะอยู่อย่างไร

“ความรับผิดชอบทำให้เราโตขึ้น มันทำให้เราอยากจะพูดเรื่องที่ใหญ่ขึ้น อยากพูดเรื่องที่มีผลกระทบกับชีวิตมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราแทบไม่ได้สนใจชีวิตจริงในแง่ที่ว่าเราอยู่กินอย่างไร เพราะเราอยู่ภายใต้ร่มเงาของพ่อกับแม่ มีครอบครัวคอยซับพอร์ตเสมอ เพราะฉะนั้นชีวิตแบบนี้ไม่ได้ทำให้เราสนใจหรือตั้งคำถามกับสังคมเท่าไหร่ แต่พอเริ่มต้องพึ่งพาตัวเอง มันทำให้เราตั้งคำถามกับสิ่งที่เคยเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะคุณค่าความดีต่างๆ ของสังคมที่มักจะโปรโมทกัน”

ผลงาน (DIS)CONTINUITY ของเธอในปี 2555 ที่นอกจากจะพูดถึงความสัมพันธ์ ความทรงจำของอดีต ปัจจุบันและอนาคตแล้ว ยังพยายามพูดถึงภาวะของสังคมที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ

“สังคมที่พร่ำบอกว่าจะไม่มีคนจนแล้ว มันเป็นไปได้อย่างไร ทั้งที่ชีวิตของคนส่วนใหญ่เป็นหนี้เป็นสินกันทั้งชีวิต”

เมื่อโฟกัสไปที่การเป็นหนี้ของประชาชน วันทนีย์กลับไปตั้งคำถามกับอาชีพอาจารย์ของตัวเอง ทั้งฐานเงินเดือนกับภาระที่ต้องรับผิดชอบ รัฐต้องการให้คนมาเรียนหนังสือ ต้องการให้มีคนสอนหนังสือ แต่หลังจากเรียนจบไปแล้วจะเป็นอย่างไร วิธีการที่รัฐพยายามจัดการ วันทนีย์บอกว่ามองไม่เห็นอนาคต อนาคตที่เห็นคือการเป็นหนี้สิน

หากมองในแง่คนทำงานศิลปะหรือเรียนศิลปะมาแล้วอยากเป็นศิลปินแต่ไม่มีสปอนเซอร์ ต้องทำอย่างไร วันทนีย์ตั้งคำถามใหญ่ถึงการมีชีวิตอยู่ในสภาพดังกล่าว

“เราเกิดคำถามว่าเป็นอาจารย์ไปทำไม เมื่อรัฐไม่ได้มีตลาดรองรับอย่างทั่วถึง ทั้งคนสอนคนเรียนอยู่ในภาวะลำบากหมด ระบบกำลังเป็นปัญหาใช่หรือไม่ แล้วอาชีพอาจารย์นี่ สังคมชอบบอกว่าเป็นอาชีพที่ต้องเสียสละ หรือแม้แต่การทำงานศิลปะก็ต้องเป็นการเสียสละ จริงๆ มันเหมือนเป็นการพูดเพื่อกดไว้ ทั้งที่อาจารย์หรือศิลปินก็เป็นประชาชนทั่วไปของสังคม ต้องการสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่อยู่แบบถูกสะกดจิตว่าคุณภาพชีวิตแบบที่เป็นอยู่ดีแล้ว”

เธอยังมองว่าการทำงานศิลปะชิ้นหนึ่งของศิลปินที่ไม่ได้มีมรดกตกทอดมาให้ มักต้องแบกต้นทุนค่าใช้จ่ายจนเป็นหนี้ โดยเฉพาะศิลปินที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐหรือจากองค์กรใหญ่ที่มักจะเลือกสนับสนุนศิลปินที่สร้างงานรับใช้รัฐ

ยิ่งเมื่อสังคมไทยกำลังเดินเข้าสู่ความขัดแย้งทางการเมืองจนเกิดการรัฐประหาร เธอมองว่าเรามาถึงจุดนี้ได้ส่วนหนึ่งก็เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศนี้และไม่เคยได้รับการแก้ไข

10 กว่าปีมานี้ เธอเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่เคยเชื่อว่าหลักการที่เคยยึดถือนั้นถูกต้องจริงหรือเปล่า “เราเคยเชื่อว่าการทำรัฐประหารเพื่อเอานักการเมืองที่โกงกินออกไป จะช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ความเป็นจริงก็พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเลย มันกลับยิ่งสร้างปัญหาซับซ้อนมากขึ้นไปอีก กลายเป็นสังคมที่เหลื่อมล้ำมากขึ้นกว่าเดิม ตั้งแต่ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจไปจนถึงความไม่เท่าเทียมกันทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพ”

ผลงาน THE PRICE OF INEQUALITY วันทนีย์สร้างสรรค์ขึ้นหลังรัฐประหาร 2557 ได้เพียง 1 ปี เนื่องจากเธอเริ่มสนใจปัญหาความเหลื่อมล้ำ เธอตัดกระดาษสีเพื่อทำเป็นแผนที่โลก และแทนสีต่างๆ แต่ละทวีป-ประเทศ ตามข้อมูลสถิติความยากจน

ห้องขนาดใหญ่ถูกจำลองเป็นโลกของความเหลื่อมล้ำ โดยใช้ธนบัตรสกุลเงินจริงของแต่ละประเทศมาพับเป็นโมเดลเคลื่อนที่ได้ เพื่อสะท้อนว่าการหมุนเวียนของเงินในโลกนี้ไม่แฟร์ เงินจำนวนมากอยู่ในมือคนไม่กี่คน ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของโลกยากจน

และล่าสุด เธอเพิ่งแสดงนิทรรศการ THE BROKEN LADDER จบไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อต้องการวิพากษ์วิธีคิดการยกระดับคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะการมีบ้าน แทนที่บ้านจะเป็นความมั่นคงทางจิตใจ แสดงถึงความเท่าเทียมของมนุษย์ แต่บ้านในปัจจุบันกำลังถูกนักเล่นแร่แปรธาตุที่มีอำนาจทั้งหลายทำการเปลี่ยนดินให้กลายเป็นทอง

“การครอบครองบ้านจึงไม่ได้แค่หมายถึงการถือครองตลอดไป และความสามารถในการครอบครองบ้านจำกัดอยู่ในมือคนเพียงไม่กี่กลุ่ม”

แม้ผลงานของวันทนีย์จะพูดถึงปัญหาที่เป็นปัญหากระแสหลัก แต่ก็ใช่ว่ากระแสหลักจะเห็นตัวตนหรือผลงานเธอ และยอมเปิดประตูรับข้อวิพากษ์วิจารณ์ไปขบคิดต่อยอด ประเด็นดังกล่าวนี้ วันทนีย์มองว่า ไม่ใช่แค่ตัวศิลปินอย่างเดียวที่ทำงานประเด็นอะไร แต่สื่อกระแสหลักมักเลือกจะเสนอศิลปินแต่ละคนตามจุดยืนหรือทัศนคติทางการเมืองของสื่อเองด้วย

“สื่อก็มักเลือกศิลปินที่ทำงานเน้นไปทางความงามและมีอารมณ์สูง หรือเลือกงานที่รับใช้คุณค่าของกระแสหลัก พอเป็นแบบนี้มันทำให้คนดูเข้าใจผิดว่างานศิลปะมีแค่แบบเดียว ซึ่งไม่ใช่ จริงๆ โลกมันเคลื่อนไปตลอดเวลา ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ เพราะฉะนั้นงานศิลปะประเภทอื่นๆ ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ระบบเศรษฐกิจการเมือง มันมีอยู่ทั่วไป อาจจะยกเว้นประเทศไทยซึ่งต้องการงานศิลปะเพื่อ Propaganda ความเป็นไทย มากกว่าต้องการให้มาวิพากษ์ตัวเอง”

แต่ขณะที่สังคมไทยกำลังกลายเป็นดวงตามหึมาเพื่อสอดส่องสอดแนมพลเมืองของตัวเอง เพื่อไม่ให้มีใครแตกแถวหรือสร้างความระคายเคืองให้ผู้มีอำนาจ อะไรคือความท้าทายในการสร้างสรรค์งานท่ามกลางดวงตามหึมาเหล่านั้น

เธอบอกว่า ความสนุกและความท้าทายของศิลปินคือการวิพากษ์ผ่านศิลปะได้โดยมีคนเข้าใจ แต่คนที่ถูกวิพากษ์อาจไม่เข้าใจก็ได้ และผลงานยังสามารถถูกพูดได้ปากต่อปากไปถึงในวงกว้าง แต่จะทำอย่างไรนั้น เธอบอกว่าตอบยาก

“เราไม่คิดว่าจะต้องไปถึงขั้นติดคุกเพื่อให้คนอื่นมาเข้าใจงานศิลปะของเรา เรามองไม่เห็นความจำเป็นนั้น นี่คือความท้าทายของคนทำงานศิลปะที่ยังรักษาจุดยืนที่ถูกต้องและสามารถวิพากษ์วิจารณ์อำนาจ”

วันทนีย์ยังบอกอีกว่า ศิลปะอาจจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ แต่มันปลุกวิธีคิดและเปิดมุมมองใหม่ๆ เสมอ เพราะมันเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ เพื่อดึงคำถามออกมา

“นี่เป็นฟังก์ชั่นของมัน มันไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่ความงามเท่านั้น แต่ยังเป็นการบันทึกยุคสมัยด้วย”

เธอมองว่าโลกของศิลปะคือโลกเสรี “ใครใคร่จะวิพากษ์การเมืองก็วิพากษ์ ใครใคร่จะชื่นชมธรรมชาติก็ชื่นชมไป แต่นี่หมายถึงว่าคนดูงานมีโอกาสได้เลือกจริงๆ ว่าจะดูอะไร ไม่ใช่มีแต่งานประเภทเดียว”

แต่เมื่อสังคมไทยยังมีเพดานทางเสรีภาพค่อนข้างต่ำ และศิลปะก็แทบแยกไม่ออกจากสังคม แล้วสังคมแบบไหนที่จะเอื้อให้ศิลปินได้เลือกสร้างสรรค์งานตามที่ตัวเองสนใจ ไปจนถึงคนดูสามารถเลือกได้อย่างอิสระว่าจะดูงานประเภทไหน

เธอบอกว่า แม้สังคมที่มีเสรีภาพจะทำให้เกิดความหลากหลาย แต่โลกของศิลปะนั้น ต่อให้ผู้มีอำนาจปิดกั้นเสรีภาพ มันก็มีข้อยกเว้นและช่องว่างบางอย่าง อาจจะพูดได้ว่างานศิลปะเป็นเครื่องมือในการแสวงหาสิทธิเสรีภาพโดยตัวมันเอง

“พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าเราพอใจกับการเมืองที่เป็นอยู่ เราก็อยากจะไปให้พ้นจากสังคมที่ถูกปิดกั้น แต่เมื่อยังเป็นแบบนี้อยู่ งานศิลปะในไทยก็จะไปได้ไม่ไกลกว่าประเด็นเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ปัญหาคือต่อให้คนสร้างงานศิลปะได้ดีหรือแหลมคมขนาดไหนก็ตาม ก็ไม่สามารถถกเถียงหรือพูดกันได้อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา”

นอกจากการสะท้อนทัศนะของเธอต่อสังคมไทยในฐานะศิลปินแล้ว เมื่อมองกลับมาถึงฐานะอาจารย์ เธอยิ่งรู้สึกน่าเป็นห่วงกว่า เพราะศิลปินอาจจะพอหาทางสร้างสรรค์งานได้ แต่การเรียนการสอนที่ต้องใช้ความรู้ กลับเป็นความรู้ที่ไม่หลากหลาย ปมปัญหาหลายอย่างที่สงสัยยังไม่ได้รับการคลี่คลาย หนังสือประวัติศาสตร์ไทยที่รัฐพิมพ์ออกมามีคนเขียนไม่กี่คน

“มันทำให้การเรียนการสอนไม่เปิดกว้าง งานศิลปะไม่ได้เกิดจากกระบอกไม้ไผ่ มันเกิดจากความรู้ที่สะสมกันมา ผ่านการถกเถียงและตกผลึกทางวิธีคิดของสังคม” อาจารย์วันทนีย์ย้ำ

เรือลำนี้ไล่ใครตกทะเลไม่ได้

นอกจากเสียงกีตาร์ของ กบ ไมโคร หรือ ไกรภพ จันทร์ดี ที่สังคมไทยจำสำเนียงได้มาตลอด 30 กว่าปี แม้อาจจะน้อยกว่าขวบปีที่สังคมไทยถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพไปจากการทำรัฐประหาร ทัศนะทางการเมืองของมือกีตาร์ระดับตำนานผู้นี้ก็น่ารับฟังอย่างยิ่ง

ยิ่งเมื่อศิลปินที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่เลือกถนอมทัศนะทางการเมืองไว้ในเซฟโซนด้วยแล้ว การเปลือยทัศนะของกบ ไมโคร กับ 101 ในวาระ 4 ปี คสช.นี้ อาจชี้ให้เห็นว่าสิทธิเสรีภาพของศิลปินไม่สามารถถูกกักบริเวณได้ง่ายเสมอไป

กบ ไมโคร หรือ ไกรภพ จันทร์ดี
กบ ไมโคร หรือ ไกรภพ จันทร์ดี

เขาเริ่มต้นจากการเคยมองการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว ก่อนจะรู้สึกว่าไม่สามารถแยกออกจากชีวิตประจำวันได้  เมื่อก่อนรู้สึกแค่การเมืองมีแต่เสือ สิงห์ กระทิง แรด เต็มไปด้วยคนชั่ว ผลประโยชน์ ทำให้เขาเกลียดการเมือง จนมาถึงการรัฐประหาร 2549 ที่เห็นกระบวนการจัดตั้งอย่างเป็นระบบในการรัฐประหาร

“ตอนนั้นผมพยายามมองการเมืองไทยในมิติที่ส่งผลให้เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ได้ลืมตาอ้าปากจากนโยบายรัฐที่ช่วยให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากที่เห็นกันมาว่าชาวไร่ ชาวนา ต้องปากกัดตีนถีบ ชักหน้าไม่ถึงหลัง กู้หนี้ยืมสิน แต่พอมีรัฐประหาร มันทำให้เรากลับไปย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองไทยและเริ่มเห็นร่องรอยว่าทำไมสังคมไทยอยู่ในวังวนนี้”

กบ ไมโคร ทบทวนตัวเองเมื่อไม่สามารถผลักการเมืองออกไปจากชีวิตได้ว่า กระบวนการใช้งบประมาณอย่างมหาศาลของประเทศนี้ ไม่ว่าจะใช้ผ่านนักเลือกตั้งหรือนักลากตั้ง มันคือเงินของพวกเราทุกคน ชีวิตเราจะมีคุณภาพหรือไร้คุณภาพ ส่วนหนึ่งมาจากวิธีบริหารจัดการของรัฐ

“พอเห็นแบบนี้ เราก็กลับไปมองตัวเองในฐานะศิลปินว่า จอห์น เลนนอน พูดเรื่องอะไรวะ บ็อบ ดีแลน พูดเรื่องอะไรวะ ศิลปินที่เรากำลังก็อปปี้เขาอยู่เนี่ย ที่ผ่านมาเราไม่รู้ความหมายและหัวใจของเสรีนิยมจริงๆ”

เขามองว่าถึงที่สุด สิ่งที่ตรงข้ามกับเสรีนิยมประชาธิปไตยก็คือการรัฐประหาร ความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ถ้าอยู่ภายใต้การตรวจสอบได้ ย่อมสามารถเคลื่อนตัวไปได้โดยชอบธรรม แต่การรัฐประหารปิดโอกาสการตรวจสอบด้วยการเอาด้ามปืนทุบพื้นบอกว่า นี่แหละคืออำนาจสมบูรณ์ ทำให้สังคมสงบสุข และการคอร์รัปชันมันก็เริ่มจากจุดนี้

แม้จะชัดเจนในความคิดทางการเมือง แต่กบ ไมโคร ก็ออกตัวว่า การคุยเรื่องการเมืองไม่ใช่เรื่องสนุก คุยเรื่องดนตรี เรื่องกีต้าร์สนุกกว่า แต่เพราะหนีไปจากการเมืองไม่ได้ ตราบใดที่เรายังจ่ายภาษีให้ผู้มีอำนาจเอาไปถลุง

“ทุกวันนี้ผมไม่เคยเกลียดใครเลย ไม่ว่าจะแนวคิดสุดโต่งขนาดไหน ผมมองที่ปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่ความขัดแย้งส่วนบุคคล เพราะผมเชื่อว่าในที่สุด เรือลำนี้ที่ชื่อประเทศไทย จะไล่ใครตกทะเลไม่ได้ ความเป็นจริงของประเทศมากมายในโลกที่ผ่านความขัดแย้งมาแบบมีกูต้องไม่มีมึง จนเกิดสงครามแล้วก็ไม่จบ เพราะสุดท้ายก็ต้องกลับมาคุยกันอยู่ดี”

เขาโยนคำถามใหญ่เข้ามาว่า แล้วอะไรคือทางออกของประเทศเหล่านั้นหลังผ่านสงคราม กบบอกว่าในที่สุด เราก็ไปหย่อนบัตรเลือกตั้งคนละใบ กาคนละเบอร์

“การเลือกตั้งไม่ใช่ความขัดแย้งที่ต้องเอาเป็นเอาตาย เพราะเรารอให้ระบบเดินไปข้างหน้าได้ แต่ถ้าบอกว่าต้องได้ดั่งใจในวันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ มันก็กลับมาต่อยปากกันเหมือนเดิม แต่มันต้องต่อสู้กันที่ความคิด เพราะเป็นสันติวิธีมากที่สุดแล้ว”

“สมมติว่าเราตั้งภาพฝันว่าไม่อยากเห็นสังคมไทยใช้อำนาจนอกระบบในการแก้ปัญหา เราจะไม่ยอมให้อำนาจของประชาชนไปอยู่ในมือคนกลุ่มเดียว วิธีนี้จะทำได้มันต้องเคลื่อนย้ายมวลสารทางความคิดนี้ให้ไปสู่คนมากที่สุด เมื่อไหร่ก็ตามที่ความคิดนี้ของคนในสังคมมีมากถึงระดับ 70-80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อนั้นภาพที่เราฝันไว้ก็เกิด ในทางการเมืองความคิดไม่ใช่นามธรรม เมื่อ Mass ลุกขึ้นยืน ก้าวเข้าคูหา ลงคะแนน ความคิดนั้นก็นับได้”

มือกีตาร์ร็อกในวัย 51 ยังพูดถึงภาวะที่ศิลปินหลายคนรู้สึกถูกบั่นทอนจากสภาพการเมืองไทยว่า ตัวเขาไม่ได้รู้สึกแบบนั้น แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่วงการเพลงไทยส่วนใหญ่พูดถึงเสรีภาพกันเหมือนที่บ็อบ ดีแลน พูดไว้ในยุคก่อน วงการดนตรีอาจจะระเบิดได้ แต่ที่ยังไม่ระเบิด เพราะวงการดนตรีไทยยังอยู่กับเรื่องรัก โลภ โกรธ หลง

“ก่อนรัฐประหาร ผมเคยทำเพลง ‘คำถามของสายลม’ เนื้อหาพูดถึงว่าเราจะรักกันตลอดไปได้หรือเปล่า หากเราอยู่ใต้ฟ้าผืนเดียวกัน มันกลายเป็นจุดที่ถูกนำไปป้ายสีว่าไอ้กบมันมีทัศนะทางการเมือง แล้วทุกสีก็เข้ามาเถียงกันอย่างรุนแรง จนผมคิดว่าลบทิ้งไปดีกว่า ไม่คิดมาก เดี๋ยววันหน้าค่อยโพสต์ใหม่”

เขายอมรับว่า ทุกวันนี้เขามีความหวังกับคนรุ่นใหม่ถึงขนาดว่า เขามองเห็นตัวเองจะค่อยๆ กลายเป็นอนุรักษนิยมไปในวันหนึ่งวันหน้าด้วยซ้ำ

“ทุกวันนี้เราปฏิเสธองค์ความรู้ที่ระบาดไปทั่วโลกในแบบ 4G ไม่ได้ คุณไม่สามารถเอาบรรทัดฐานแบบไทยๆ ไปวางเทียบกับสากลได้ มันเชื่อมยังไงก็ไม่ติด เด็กรุ่นใหม่จะบอกว่า น้าๆ เล่นอะไรกันอยู่เหรอครับ ประเทศไทยไปไหนไม่ได้เพราะคนรุ่นน้านี่แหละ ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่จะเปลี่ยนสังคมไทยไปได้โดยไม่จำเป็นต้องอ้างถึงการต่อสู้ยุค 14 ตุลาฯ หรือไม่ต้องอ้างปรีดี พนมยงค์ก็ยังได้”

เมื่อถึงวันที่สังคมไทยเปลี่ยน เขายืนยันว่าก็จะเป็นกบที่คงเล่นกีต้าร์ต่อไป “ความเป็นอนุรักษนิยมหรือก้าวหน้า ไม่ใช่แนวคิด มันเป็นวัฏจักร ทุกคนจะเจอเหมือนกัน ทุกคนเคยเป็นหัวก้าวหน้า วันหนึ่งก็กลายเป็นอนุรักษนิยม หนีไม่พ้น”

“ผมกำลังจะกลายเป็นไดโนเสาร์ในวงการดนตรี วันที่สุนทราภรณ์เล่น แล้วต่อมาเป็นสตริง คนฟังรู้สึกว่าหยาบคาย พอวันหนึ่งดนตรีป๊อบเข้ามาแทน ร็อคแอนด์โรลเข้ามาแทน เมทัลเข้ามาแทน มันย้ำกับเราว่าไม่มีพลังใดที่จะห้ามวัฏจักรนี้ได้ตลอดกาล คนรุ่นเก่าจะค่อยๆ ตายลงไป คนรุ่นใหม่ก็เกิดขึ้น คลื่นความคิดที่เป็นสากลมันก็ไหลบ่าทะลักเข้ามา การเมืองไทยไม่อาจจะย่ำรอยเดิมได้”

ดูเหมือนว่าในทางการเมือง กบ ไมโครจะไม่มีอะไรต้องห่วงในยุคสมัยของเขาอีก เขาเปรียบเทียบว่า มือกีต้าร์คนรุ่นใหม่ทุกวันนี้เก่งมาก เก่งกว่าเขาเป็น 10 เท่า ซึ่งสะท้อนว่าสังคมพัฒนามาไกลแล้ว เพราะว่าองค์ความรู้ของการเล่นกีต้าร์ได้ระบาดไปทั่ว Google, YouTube เด็กที่ไหนก็ฝึกได้ ถ้ามีเวลาอยู่กับมัน ตั้งใจเล่นกับมัน นี่เป็นพลังของโลกเสรี ในที่สุดมันไม่ใช่มีแค่กีต้าร์ ทุกสาขาวิชา ทุกคนเข้าถึงองค์ความรู้ได้พร้อมๆ กัน ไม่ต้องรอได้จากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ

“ในอนาคตสังคมไทยจะเจอคนแบบเนติวิทย์ (โชติภัทร์ไพศาล) อีกเป็นร้อยคน” กบ ไมโครเผยรอยยิ้ม

ประเทศกูมี

แม้จะเกิดไม่ทันเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 และพฤษภาฯ 35 ก็ยังนับว่าเด็กมาก แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร 49 กลับทำให้เขาย้อนศึกษาทบทวนประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างลงลึก และยิ่งส่วนตัวชื่นชอบเพลงแร็ปเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อมีการสลายการชุมนุม 53 กระทั่งมามีรัฐประหาร 57 แรงอัดอั้นที่เขาระบายออกมาก็สะท้อนวิธีคิดทางการเมืองไว้อย่างแหลมคม ทั้งในชื่อตัวตนและเนื้อเพลง

Liberate P
Liberate P

Liberate P หรือ Liberate The People เป็นชื่อและวงของเขาในวงการเพลงแร็ปใต้ดิน ที่ค่อยๆ สะสมหลักไมล์ความสามารถผ่านเวที Rap is Now จนมีลายเซ็นเป็นของตัวเองชัดเจนจากเพลงที่เจ้าตัวแต่งและเผยแพร่ผ่านยูทูบให้ทั้งคอเพลงและคนทั่วไปได้ขมวดคิ้วตีความ

แสงไฟไซเรนกระพริบชีวิตยังสู้ด้วยสองมือ

เป้ามันเล็งที่หัวในขณะที่พื้นยังมีสมองมึง

นี่เหรอไอ้ที่เรียกว่าจัดระเบียบเพื่อสนองมึงอ่ะ

ไมต้องขีดเส้นบ้าๆ บอกว่านี่คือโลกกูและนั่นคือโลกของมึงวะ

ความเชื่อเมื่อเป็นอาวุธมนุษย์ฆ่าเป็นผักปลา

เมื่อรักมักเป็นคลั่งเหตุผลงั่งๆ ที่โง่ และดักดาน

การกระด้างกระเดื่องนั่นคือเรื่องถูกต้องแล้วนาย

ได้แค่ฝัน และเฟื่องเพราะถ้ามึงไม่เชื่องมึงก็ต้องตายอ่ะ

เนื้อเพลงส่วนหนึ่งของเพลง OC(T)YGEN ที่พูดถึงเหตุการณ์ฆ่าหมู่ประชาชน 6 ตุลาฯ 19 เขาโพสต์เพลงนี้ลงยูทูบเมื่อเดือนธันวาคม 2558 และอาจเป็นเพลงแร็ปเพลงเดียวในประเทศไทยที่พูดถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น

ต่อมาเดือนมิถุนายน 2560 ระหว่างที่สังคมไทยยังไม่มีการเลือกตั้ง Liberate P แต่งเพลง WONDERLAND โพสต์ลงยูทูบอีกเพลง จนบางคอมเมนต์บอกว่าเดือดถึงกระดูกจริงๆ และอีกไม่น้อยก็มองกระทบชิ่งไปได้อีกหลายประเทศที่เป็นเผด็จการ นี่เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเพลงนั้น

เพราะว่าพวกกูมีปืนเหนือรัฐธรรมนูญ

ทำรัฐประหารพวกกูมีอำนาจกว่าศาล

ถ้ากูสั่งมึงต้องทำ มึงต้องเจ็บมึงต้องจำ

ถ้ามึงเห่ามึงต้องพัง มึงต้องเข็ดต้องระวัง

ถ้ามึงอยากสู้กูก็คงจะจับแม่มึง

เพราะกูมีโซ่แส้เล็งแค่แม่มึงต้องแย่แน่

ความแหลมคมของถ้อยคำและท่วงทำนองของ Liberate P ยังทำให้แม้แต่ ‘กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่’ แร็ปเปอร์ชื่อดังเคยกล่าวถึงเขาในนิตยสาร Billboard Thailand หัวข้อ 10 ศิลปินแร็ป อันเดอร์กราวนด์ ที่อยากแนะนำให้ฟังในทรรศนะของข้าพเจ้า ว่า “Liberate P จัดเป็นอัจฉริยะด้านการปล่อยไรม์ (rhyme) ที่เป็นที่รู้จักน้อยกว่าที่ควรจะเป็น Liberate P คือแร็ปเปอร์หนึ่งในสมาชิกวง 6ick Town ที่โดดเด่นจากไรม์วิพากษ์การเมืองและสังคมอย่างรุนแรง และตรงไปตรงมา

แต่นั่นยังไม่เท่ากับถ้อยคำคล้องจองที่อุดมไปด้วยภาษากวีและมากด้วยน้ำหนักของความรู้ ทุกถ้อยคำที่เปล่งเสียงของเขาเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ที่คั้นเลือดแร็ปและเค้นสมองร้อง สไตล์ของ Liberate P นั้นจัดว่าเป็นยอดฝีมือของยุคนี้ น่าเสียดายที่การผลิตงานของเขานั้นออกมาน้อยกว่าที่ควร แต่ลองคลิกฟังเพลงอย่าง OC(T)YGEN ดูจะเข้าใจว่าหมอนี่มันแสบชะมัด”

ทั้งหมดทั้งปวง อะไรคือความคิดที่อยู่เบื้องหลังบทเพลงเหล่านี้ ทำไมเพลงแร็ปต้องพูดเรื่องการเมือง และความท้าทายของคนทำเพลงแนวการเมืองในยุคสมัยที่สังคมไทยมีปืนใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร Liberate P วางไมค์ชั่วคราว และอธิบายกับ 101 ถึงคำถามเหล่านี้

“รัฐประหาร 49 ผมงงว่าทำไมแทบไม่มีคนต้านรัฐประหารเลย มันเกิดไรขึ้นวะ ทำไมคนที่เคยแอนตี้ทหาร กลายเป็นว่ามาเชียร์เลย มันเกิดอะไรขึ้น แล้วผมก็ตามอ่านประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างหนักตั้งแต่ตอนนั้น จนรู้สึกว่าประเทศนี้มันถูกอำพรางปัญหาไว้ พอเหตุการณ์ทางการเมืองมันต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน จากที่ผมเคยชอบทักษิณ ชอบพรรคเพื่อไทย ผมหลุดจากคนพวกนี้ได้หมดเลย อาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งทำให้ผมตั้งชื่อตัวเองว่า Liberate P”

ช่วงที่เขาเริ่มแต่งเพลงแร็ปใหม่ๆ เขาเล่าว่า ยังใช้สไตล์แร็ปทั่วไปที่นิยมกัน “ประมาณว่ากูเป็นอย่างนั้น มึงเป็นอย่างนี้ กูเจ๋ง มึงกระจอก” ต่อมาเขาได้ดูหนังเรื่อง Straight Outta Compton เกี่ยวกับวงแร็ปอเมริกันชื่อ N.W.A. เป็นวงที่วิพากษ์สังคม ด่าตำรวจ ด่าคนขาวที่เหยียดสีผิว ทำให้เกิดคำถามต่อว่าพวกนี้เป็นศิลปินหรือเป็นอันธพาล เพราะเกิดการจลาจลขึ้นมา แปลว่าเพลงมันมีอิทธิพลต่อความคิดคน

“เมื่อก่อนผมจะมีปัญหากับพวกเพลงรัก หรือเพลงกระแสทั่วไป แต่ตอนนี้ผมเฉยๆ ใครจะทำแนวไหนก็ทำไปเถอะ แต่ผมจะมีปัญหากับเพลงที่พยายามจะเป็นการเมือง แต่ยังติดวาทกรรมความดีความเลว ด่านักนักการเมืองทั่วไป ด่าพระเลว ผมมองว่ามันไม่ได้ไปไหน ยังอยู่กับเปลือกของการเมือง”

Liberate P มองว่าเพลงมีอิทธิพลกับสังคมมาก เพราะนอกจากเนื้อหา มันสามารถปลุกเร้าด้วยอารมณ์ได้ โดยเฉพาะเพลงที่มีเนื้อหาทางสังคมการเมือง แต่ถ้าคนทำเพลงติดอยู่แค่เปลือก อาจจะกลายเป็นคนหลงยุคได้ และเพลงที่เปิดให้คนตีความตามยุคสมัยและไปถึงเพดานแห่งความกลัวได้ จะมีอิมแพคกว่า โดยเฉพาะการแร็ป ซึ่งต่างจากเพลงทั่วไปที่เน้นเนื้อหาที่สั้นและซ้ำ แต่แร็ปคือการพูดรวดเดียวไปเลย

“แร็ปเปอร์ในไทยตอนนี้มีเป็นพันคน ถ้านับจากทั้งเวที Rap is Now หรือล่าสุดอย่าง The Rapper และ Show Me The Money แต่พันกว่าคนนี้มีที่โฟกัสเรื่องการเมืองจริงๆ ไม่เกินสิบคน สัญชาตญาณของคนทำเพลงแร็ปมันต้องขบถหน่อย แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะขบถแบบไหน เพลงมันจะฟ้องว่าเป็นการเอาแต่ก่นด่า หรือวิพากษ์วิจารณ์ ที่ผ่านมาแร็ปไม่เคยเป็นกระแสหลักอยู่แล้ว คนที่มาแร็ปโดยพื้นฐานมักมีมุมมองต่อต้านกระแสหลักพอสมควร”

เมื่อสายตาโฟกัสไปที่โครงสร้างสังคมไทย แล้วอะไรคือความท้าทายของแร็ปเปอร์อย่าง Liberate P ที่จะขับเคลื่อนเพลงแร็ปเข้าสู่สาธารณะที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง

เขาอธิบายว่าตอนนี้กำลังทำโปรเจ็กต์ Rap Against Dictatorship ร่วมกับเพื่อนๆ เป้าหมายของโปรเจ็กต์นี้นอกจากวิพากษ์ระบบเผด็จการโดยตรง ยังต้องการให้คนทั่วไปมองแร็ปแบบที่ไม่ใช่ความบันเทิงอย่างเดียว

เพราะในความบันเทิงมีการต่อสู้แฝงอยู่ เช่น ศิลปินระดับโลกอย่าง Lady Gaga ที่เขาโพสต์ไว้ในเพจ Rap Against Dictatorship ว่า นอกจากภาพจำของเธอในฐานะ Mother Monster ศิลปินผู้สุดโต่งทางด้านแฟชั่น และด้านการแสดงสุดเหวี่ยงชนิดที่ไม่เคยทำให้ผู้ชมผิดหวังเลยแม้แต่โชว์เดียว

และอย่างที่รู้กัน Lady Gaga คือหนึ่งในศิลปินที่เป็นกระบอกเสียงให้กับชุมชน LGBTQ หรือกลุ่มเพศทางเลือก ยกตัวอย่างเช่นเพลง Poker Face ที่เธอเคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เพลงนี้พูดแทนผู้หญิงคนหนึ่งที่เราไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับชีวิตทางเพศของเธอ และในการสัมภาษณ์นั้นเธอได้ออกมาประกาศถึงการเป็น bisexual ของเธอด้วย รวมไปถึงการก่อตั้งมูลนิธิ Born This Way ตามชื่อเพลงของเธอที่สื่อถึงสิทธิการเลือกและพอใจในเพศสภาพของตัวเอง มูลนิธิของเธอได้ช่วยกลุ่มเด็ก LGBTQ ที่ถูกกลั่นแกล้ง เพียงเพราะเพศสภาพของเด็กๆ เหล่านั้น

ผมไม่ได้บังคับให้ทุกคนต้องพูดเรื่องการเมืองอย่างเดียว แต่อยากบอกกับคนที่คิดว่าไม่ควรพูดเรื่องการเมืองมากกว่า โดยเฉพาะคนทำงานศิลปะ ที่พยายามจะตัดเรื่องการเมืองออกไป ผมรู้สึกว่าวิธีคิดแบบนี้มันไม่จริง”

แร็ปเปอร์หนุ่มอธิบายอีกว่า แนวเพลงแร็ปหรือฮิปฮอปมันเป็นแนวเพลงที่ตรงไปตรงมา เป็นคำพูดทั่วไปในชีวิตประจำวัน ใครก็สามารถหยิบไมค์ขึ้นมาร้องได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปิน ไม่ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรมาก เราอยากสร้างพื้นที่ให้คนทั่วไปสามารถแสดงผ่านเพลงได้ ไม่ว่าจะมีความเชื่อทางการเมืองหรืออุดมการณ์แบบไหน ถ้าเห็นประเทศนี้มีปัญหาและอยากตะโกนออกมา Rap Against Dictatorship จะเป็นพื้นที่เปิดให้สำหรับทุกคน

“ถามว่ากลัวไหมที่ทำเพลงวิจารณ์การเมือง ตอบตรงๆ ว่ากลัว ทุกวันนี้ก็ยังกลัว ตอนที่โพสต์เพลง OC(T)YGEN ลงยูทูบ เวลาได้ยินเสียงไซเรนแล้วจะแอบหลอน คิดว่าตำรวจมาหา แต่วันนี้ผมว่าคิดถ้าวงการแร็ปยกระดับในการช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์การเมืองกันมากขึ้น ผมก็คงไม่กลัว”

โจทย์ที่ท้าทายของ Liberate P คือทำอย่างไรให้คนชั้นกลางที่ยังเกลียดและกลัวนักการเมืองมาเปิดอกมาคุยกันได้ ทำอย่างไรให้คนที่เห็นความเลวร้ายของทหารแต่ไม่กล้าแสดงออก ทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ช่วยกันพูดว่าทางออกแรกคือต้องมีการเลือกตั้ง ถ้ามีเวทีหรือพื้นที่ของฝ่ายแอนตี้ประชาธิปไตย แต่พยายามจะเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น เขาก็พร้อมที่จะไปร่วมโดยไม่ลังเล

“ผมคิดว่าฝ่ายประชาธิปไตยไม่น้อยแอนตี้คนชั้นกลางอนุรักษนิยมมากเกินไป จนเราไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไรที่สามารถสร้างฉันทมติกันได้ เลยหาข้อยุติกับเขาไม่ได้สักที ผมว่าโจทย์แบบนี้สำคัญกว่าการเอาแต่ด่าที่ได้แค่สะใจ” Liberate P ย้ำโจทย์ของตัวเองและยังแร็ปเพลงใหม่ล่าสุดของโปรเจ็กต์ Rap Against Dictatorship ชื่อเพลง “ประเทศกูมี” ให้ฟังคร่าวๆ

ประเทศที่ไร้คอร์รัปชันที่ไม่มีการตรวจสอบ

ประเทศที่นาฬิการัฐมนตรีเป็นของศพ

ประเทศที่สภาฯ เป็นห้องนั่งเล่นของนักรบ

ประเทศที่เขียนรัฐธรรมนูญให้กองทัพใช้ตีนลบ

ประเทศที่ศิลปินวางท่าเป็นขบถ

ประเทศที่ขบถเจออำนาจรัฐแล้วหัวหด

ประเทศที่ขบถเดินตามรัฐเป็นฝูงมด

ประเทศกูมี ประเทศกูมี

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save