fbpx
จอนนอนไร่ เหตุผลของการมีชีวิตอยู่

จอนนอนไร่ เหตุผลของการมีชีวิตอยู่

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง

อาทิตย์ที่ผ่านมา มีโอกาสขับรถไปเยี่ยมเพื่อนเก่าสมัยเป็นนักเรียนอัสสัมชัญ ชื่อ เสกสรรค์ อุ่นจิตติ หรือตุ้ย ในไร่แถวอำเภอปากช่อง

เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ตุ้ยเรียนจบคณะมัณฑณศิลป์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ออกมาทำงานบริษัทโฆษณา อาชีพอันดับต้นๆ ของคนสมัยนั้น จนกลายเป็นครีเอทีฟชื่อดัง กวาดรางวัลมากมาย ก่อนจะเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นเอ็มดีของบริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง

แต่เมื่อหกปีก่อน ตุ้ยก็ตัดสินใจลาออกจากงานบริหารที่มีเงินเดือนหลายแสนบาท ด้วยเหตุผลสั้นๆ ว่า เบื่องานบริหาร และไม่ค่อยสนุกแล้ว

ตุ้ยเปิดบริษัทโฆษณาเล็กๆ ทำคนเดียวพอเลี้ยงตัวเองได้ แต่เลือกลูกค้าที่มั่นใจฝีมือ ลูกค้าเรื่องมากไม่รับงาน

พอมีเวลาว่าง ก็ขับรถตระเวนเที่ยวเมืองไทยให้ครบ 77 จังหวัด เพราะที่ผ่านมาหลายสิบปี ไปเมืองนอกมากกว่าจากงานโฆษณาที่ทำ

ตุ้ยชอบไปตามชนบท ตื่นมาดูตลาดเช้า และเห็นแม่ค้าเอาผักพื้นบ้านมาขายหลากหลายชนิดเหลือเกิน โลกนี้มีพืชผักมากมายที่ไม่รู้มาก่อน ไปดูสวนผักชาวบ้านหลายแห่ง มันสวยและดีงาม เลยสนใจปลูกผักกินเอง

จอนนอนไร่ เหตุผลของการมีชีวิตอยู่

บนที่ดินแปลงเล็กๆ แถวปากช่อง ตุ้ยลงมือปลูกผักปลอดสาร เรียนรู้ด้วยตนเอง ตั้งแต่ขุดดิน สร้างโรงเรือน หมักปุ๋ย ฯลฯ

ตุ้ยบอกว่า เป็นคนนิสัยไม่ดี ชอบกินของอร่อย ไม่อร่อยไม่กิน ดังนั้นเมื่อสนใจปลูกผักอินทรีย์ จึงปรับปรุงดิน การให้ปุ๋ย จนได้ผักรสชาติดีมีสกุล อร่อย

ตุ้ยเป็นนักทดลอง เขาพบว่า ผักที่ใช้สารเคมี ใบงาม ใหญ่สมบูรณ์ แต่เป็นพิษ ส่วนผักปลอดสารจะแกร็น ใบเหี่ยว แต่ไม่มีพิษภัย

“กูถามตัวเองว่า ทำไมผักปลอดสารต้องแคระแกร็น ทำไมมันสมบูรณ์ ใบงามไม่ได้ กูเลยทดลองปรับปรุงคุณภาพดิน คุณภาพปุ๋ยไปเรื่อย”

ตุ้ยเอ่ยปากขณะไปชงชาเขียวมาให้เพื่อนเก่ากิน กลางสวนผักขนาดห้าไร่ที่เขาเช่าที่ดินจากเพื่อนมาปลูก

ตอนแรกปลูกกินเองเล่นๆ พอเพื่อนทราบข่าวว่าย้ายมาอยู่ในไร่ ทำผักออร์แกนิกกินเอง จึงตามมาเยี่ยม ลองให้เพื่อนชิมผักที่ปลูกเอง เพื่อนบอกว่า ผักมึงอร่อยดี ขากลับก็ยังแจกฟรีกลับบ้านไปอีก

ตอนหลังบางช่วงมีผักเหลือ จึงลองวางขายในตลาดนัดเสาร์อาทิตย์แถวเขาใหญ่ที่คนมาเที่ยวกัน ปรากฏว่า ไม่มีใครซื้อเลย

“วันนั้นไม่มีใครซื้อผักกูเลยสักถุง”

ความรู้สึกนี้คงไม่ต่างจากฝันสลายของหลายคนที่อุตส่าห์ลาออกจากงานประจำ หาที่ดินวิวสวยๆ อากาศดีๆ มาปลูกผักออร์แกนิกขาย แต่ไม่มีใครซื้อหรือถูกกดราคาจากร้านใหญ่จนขาดทุน

ตุ้ยได้ข้อสรุปว่า ที่ขายไม่ได้ เพราะไม่มีคนรู้จัก ไม่มีคนรู้ว่าของดีจริง เลยสร้างแบรนด์ตัวเองขึ้นมา

ด้วยการที่ตุ้ยเป็นแฟนเพลงจอห์น เลนนอน อย่างเหนียวแน่น นึกเล่นๆ หากจะสร้างแบรนด์ตัวเอง จะผวนชื่อเป็น จอนนอนเล่น และสุดท้ายมาลงตัวที่ “จอนนอนไร่”

จากนั้นเขาขึ้นป้ายสีขาวหน้าไร่ของเขาเด่นเป็นสง่า “จอนนอนไร่”

แต่ตุ้ยบอกว่า แบรนด์จะดังแค่ไหน หากสินค้าไม่มีคุณภาพจริงก็อยู่ยาก

ตุ้ยศึกษาหาความรู้เรื่องผักจากทั่วไทยและทั่วโลก ใช้นวัตกรรมทำให้ผักปลอดสาร ไม่แคระแกร็น ใบเล็กอีกต่อไป

วิถีปลูกผักแบบ จอนนอนไร่ คือไม่ทำแบบผักฉีดสารเคมี ไม่ทำแบบผักอินทรีย์ที่ปลูกออกมาแคระแกร็น แต่ผักของเขา ใหญ่ สวย ใบอวบ โดยไม่ใช้สารเคมี

“กูใช้ความรู้ครีเอทีฟ ความรู้โฆษณาที่ทำตลอดชีวิต มาใส่ในผักที่กูปลูก”

ตุ้ยบอกว่า ก่อนจะปลูก เราต้องรู้จักธรรมชาติผักของเราให้ถ่องแท้ เหมือนกับลูกค้าแต่ละราย

ลูกค้าจากบริษัทขายรถยนต์ มีธรรมชาติไม่เหมือนกับลูกค้าขายคอมพิวเตอร์ ผักก็เช่นกัน

“ผักแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน ลูกค้าแต่ละรายก็ไม่เหมือนกัน”

“ไม่ใช่ว่าปลูกผักอินทรีย์แล้ว มึงก็ตะบี้ตะบันใส่ปุ๋ยขี้วัว ขี้ไก่ ให้กับผักทุกชนิด แล้วมันจะงามหมดหรือ”

ผักแต่ละชนิดก็อยากได้ปุ๋ยแตกต่างกันไป ตุ้ยศึกษาอยู่นานจนรู้ว่า ธรรมชาติของผักแต่ละชนิดอยากกินอาหารแบบใด เวลาใด จนได้ผักปลอดสารแต่ละชนิดที่ใบสมบูรณ์ น่ากิน

ตุ้ยเคยปลูกกะหล่ำปลี ผักที่ใช้สารเคมีสูงที่สุด จนได้กะหล่ำปลีปลอดสารใบอวบใหญ่ จากการทดลองใช้ปุ๋ยอินทรีย์ต่างๆ นานา

แต่สำคัญกว่านั้นคือ ดิน คุณภาพดินต้องดี เป็นพื้นฐานมาก่อน

จอนนอนไร่ เหตุผลของการมีชีวิตอยู่

ผมมองออกไปบริเวณไร่ของเขา ตุ้ยโชคดี ไร่ของเขาอุดมไปด้วยดินดำคุณภาพสูง มีต้นไม้ใหญ่แทรกอยู่ตลอด เศษใบไม้มากมายที่ทับถมก่อนหน้านี้ ทำให้ดินมีปุ๋ยชั้นดีมาโดยตลอด

“แต่สิ่งสำคัญคือ มึงต้องปลูกผักเหมือนลูก เอาใจเขามาใส่ใจเรา พวกเค้าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องทะนุถนอม ต้องการเอาใจใส่ดูแลจากเรา ไม่ใช่ปลูกแบบทิ้งๆ ขว้างๆ”

“ตอนทำงานโฆษณา กูเป็นหนึ่งเดียวกับลูกค้า ตอนนี้กูเป็นหนึ่งเดียวกับผัก”

“สมัยทำงานโฆษณา หลักการพื้นฐานคือ what why when where how ปลูกผักก็เหมือนกัน มึงต้องหาสิ่งเหล่านี้ให้เจอก่อน”

วิธีคิดเป็นเรื่องสำคัญในการทำงานทุกชนิด ไม่ว่าจะปลูกผักหรือทำงานโฆษณา หลายอย่างวิธีคิดเป็นเรื่องเดียวกัน แต่คนเรามักจะหาไม่ค่อยเจอ

“หากใครจะปลูกผัก กรุณาเอาวิธีคิดในอาชีพที่ตัวเองทำ มาปรับใช้กับการปลูกผัก ไม่ว่าจะเป็นวิศวกร สถาปนิก หมอ หรือนักการเงิน แล้วจะรู้ว่าหลายอย่างไปด้วยกันได้”

หลังจากเรียนรู้การปลูกจากประสบการณ์จริงด้วยการลงมือทำเองแล้ว ก้าวย่างต่อมาคือ การสร้างความแตกต่างของสินค้า

“ไม่แปลกไม่ปลูก” คือสิ่งที่สร้างความแตกต่างชัดเจน จอนนอนไร่ เลือกปลูกผักจากต่างประเทศที่แปลก อร่อย เป็นจุดขาย

ด้วยความที่ตัวเองชอบกินผักญี่ปุ่นเป็นหลัก จึงลองสั่งซื้อพันธุ์ผักจากญี่ปุ่นมาทดลองปลูก อาทิ แตงโม ฟักทอง หัวผักกาดญี่ปุ่น มะเขือเทศเชอรี่สีแดง เขียว เหลือง ชมพู และดำ ปลูกเสร็จแล้วทดลองกินเทียบกับผักญี่ปุ่นในซูเปอร์มาร์เก็ต ว่าผักใครจะอร่อยกว่า หากยังไม่อร่อยก็ไม่ขาย ทดลองใช้ปุ๋ยต่างๆ จนมั่นใจว่าผักจอนนอนไร่อร่อยกว่าผักที่วางขายตามท้องตลาด

แบรนด์จอนนอนไร่ จึงเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการว่าเป็นผักออร์แกนิก อร่อย แปลก และราคาแพง อาทิ มะเขือเทศเชอร์รี่ กิโลกรัมละ 200 บาท กะหล่ำปลี กิโลกรัมละ 100 บาท

แบรนด์ดีแต่ของไม่อร่อยก็รอดยาก

จอนนอนไร่ สรรหาผักดีๆ ที่ตลาดไม่มีมาปลูก

“หากมึงจะปลูกผัก จงเริ่มจากปลูกผักที่ตัวเองชอบกินก่อนนะเพื่อน”

ตุ้ยพูดขึ้นขณะพาผมเดินดูผักเคล ตอนนี้เป็นผักที่สร้างรายได้หลักให้กับเขาชนิดหนึ่ง

“เคลเป็นผักจากเมืองนอก เพื่อนกูชอบกินมาก กูเลยมาทดลองปลูก ได้ผลดีและตลาดต้องการสูง”

ไม่แปลกที่ผักจากจอนนอนไร่จะราคาแพง แต่มีคนสั่งจองล่วงหน้าตลอด ห้างชื่อดังติดต่อมาซื้อ ก็ไม่มีผักขาย

ทุกวันนี้ทำแบบมีความสุข แม้ออร์เดอร์จะล้น แต่ไม่คิดจะขยาย เท่านี้ก็มีความสุข สงบ และพอใจกับการเดินสายไปให้ความรู้แก่คนทั่วไป เพื่ออยากให้คนปลูกผักอินทรีย์กินกันทั้งประเทศ

ตุ้ยบอกว่า เขาอยากเป็น food craft คือนักสร้างสรรค์อาหารคุณภาพดี อร่อย ให้แก่ชาวโลก

เหตุผลการมีชีวิตอยู่ของผู้ชายคนนี้ อาจมีเพียงเท่านี้

จอนนอนไร่ เหตุผลของการมีชีวิตอยู่

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save