fbpx

การเมือง 2019 : จากการ ‘เลือกตั้ง’ สู่วาระ ‘สัญญาประชาคมใหม่’

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ศักราชการเมืองไทย 2019 ว่าไปก็คล้ายสนามม้า

ม้าแต่ละตัวมีกองเชียร์ของตัวเองแน่นอัฒจันทร์ และม้าแต่ละตัวก็ฟิตซ้อมพร้อมลุยไปในทางที่หลายคนมองว่าโหดหินเอาเรื่อง

หนึ่งในความโหดหินอันดับต้นๆ หนีไม่พ้นรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เสมือนหลุมระเบิดสำหรับม้าบางกลุ่ม แต่กับม้าอีกบางกลุ่มอาจเป็นลู่วิ่งที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ นั่นเพราะสะท้อนอยู่ในคำพูดที่ว่า “รัฐธรรมนูญนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ของฝ่ายรัฐบาล

ไหนจะบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่เอื้อให้ 250 ส.ว. ยกมือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบหลังรัฐประหาร 2014 ซึ่ง คสช. ก็เป็นผู้แต่งตั้ง ส.ว. มาด้วยตัวเองตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นกองเชียร์ในสนามต่างทราบดีว่าม้าแต่ละตัวมีจุดสตาร์ทไม่เท่ากัน ยังไม่นับว่ากรรมการเตรียมตั้งท่าจับผิดม้าตัวไหนเป็นพิเศษ และโอบเอื้อช่วยเหลือม้าตัวไหนมากกว่ากัน

กล่าวอย่างรวบรัด พอเสียงสัญญาณปล่อยม้าวิ่งดังขึ้น การเมืองไทยก็ตลบอบอวลไปด้วยความพิศวงและทึมเทาไม่ต่างไปจากอากาศเมืองไทยที่ถูกปกคลุมด้วยฝุ่นละออง PM 2.5

เพื่อให้ภาพที่ชัดขึ้นว่าการเมืองไทยปี 2019 ทิ้งอะไรไว้ในสายธารประวัติศาสตร์ กองบรรณาธิการ 101 ได้รวบรวมและคัดสรรผลงานแนวการเมืองที่เผยแพร่ผ่าน The101.world ตลอดปีนี้มาให้ทบทวนกันอีกรอบ

 

เลือกตั้งที่ ‘รัก’

 

ก่อนการเลือกตั้งในรอบ 8 ปีจะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม นอกจากวงดีเบตและการลงพื้นที่หาเสียงอย่างเอาจริงเอาจังของตัวแทนพรรคการเมืองแล้ว 101 ได้สัมภาษณ์สรกล อดุลยานนท์นักเขียนและสื่อมวลชน เพื่อมอนิเตอร์อารมณ์สังคม ซึ่งเขาระบุถึงเสน่ห์ของการเลือกตั้งครั้งนี้ที่ต่างไปจากครั้งก่อนๆ ว่า เป็นการเลือกตั้งหลังรัฐประหารที่มีการสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน คล้ายๆ เหตุการณ์พฤษภา 35 แต่ไม่เหมือนเหตุการณ์รัฐประหารปี 49 ที่ไม่มีการสืบทอดอำนาจผ่านพรรคการเมือง

แถมยังพุ่งเป้าไปที่รัฐธรรมนูญเจ้าปัญหาด้วยว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้คือระเบิดเวลาของสังคมไทย เพราะคุณล็อคไว้นาน เอากลไกในวันเก่าที่คิดว่าดีที่สุดมาใช้วันนี้ … เราเห็นคนยุคเก่าที่มองว่าก่อนจะสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ต้องหมดถนนลูกรังก่อน นี่คือจินตนาการของคนยุคเก่าที่ไม่เข้าใจโลกยุคใหม่ คุณไม่ยอมรับ คุณตามไม่ทัน ถนนลูกรังกำลังอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้”

จากนั้น 101 ได้จัดซีรี่ย์วงสนทนาขึ้นทั้งหมด 5 วง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีจุดร่วมกันคือต่างคนต่างเพิ่งมีประสบการณ์กับเลือกตั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้

ได้แก่ 1. คนรุ่นใหม่ ผู้มีสิทธิ์​เลือกตั้ง​เป็นครั้งแรก 2. นักการเมืองรุ่นใหม่ ผู้ลงสนามการเมืองครั้งแรกในชีวิต 3. พรรคการเมืองหน้าใหม่ขนาดย่อมที่คิดการใหญ่ 4. เจ้าของ Start up รุ่นใหม่ที่อยากวาดภาพอนาคตประเทศ และ 5. ศิลปินรุ่นใหม่จากหลากสาขา

ตัวละครหน้าใหม่ทั้งหมดหลายสิบชีวิตไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกันอย่างไร แต่ภาพที่ทุกคนพยายามมองหาร่วมกันคืออนาคตของประเทศที่เปิดให้ทุกคนเข้าไปมีส่วนร่วม

สำหรับ ‘New Voter’ ที่พวกเขาได้ร่วมกันส่งเสียงว่าสังคมแบบไหนที่พวกเขาอยากเห็นและต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้เขียนกติกาไปอีกนาน สะท้อนถึงตัวตนและการเติบโตมาจากต่างพื้นที่ได้เป็นอย่างดี และนี่คือตัวอย่างในผลงานเรื่องจับเข่าคุย ‘New voter’ ท่ามกลางมรสุมการเมืองของ “ลุง ป้า น้า อา”

“คนในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ผ่านมาต้องอยู่กับการบริหารของรัฐบาลที่น่าอึดอัดมากๆ มีด่านตรวจความมั่นคงเป็นร้อยๆ ด่าน ถ้าเลือกตั้งครั้งนี้ฝั่งประชาธิปไตยไม่ชนะ แต่ฝ่ายเผด็จการชนะแทน อะไรจะเกิดขึ้น ด่านมันต้องเยอะกว่าเดิมแน่ๆ” – ซูรัยยา วาหะ นักศึกษาและนักกิจกรรมสันติภาพจากยะลา

“อยากให้ลุงตู่ไปนั่งรถเมล์ ทำยังไงก็ได้ให้มาขึ้นรถเมล์ที่รังสิต สาย 29 ช่วงไพร์มไทม์ตอนเช้า แล้วก็มารอรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ พอหมดวันกินข้าวแบบถูกๆ เลย เท่าที่คนๆ นึงจะกินได้ แล้วก็ขึ้นรถเมล์ช่วงไพร์มไทม์กลับบ้าน” – เทวรักษ์ รุ่งเรืองวิรัชกิจ บัณฑิตนิเทศศาสตร์หมาดใหม่

ส่วนเสียงของนักการเมืองหน้าใหม่ที่เพิ่งลงสมัครเลือกตั้งครั้งแรกก็ยิ่งน่าสนใจ พวกเขาทำการบ้านกันมาอย่างไร และอะไรคือหมุดหมายในการแข่งขันครั้งแรก นี่คือบางส่วนของทัศนะพวกเขาในผลงานเรื่อง ฝ่าขัดแย้ง มองความหวังใน ‘เลือกตั้งครั้งแรก’ ของนักการเมืองหน้าใหม่

“พลังประชารัฐมองโดยเอาโจทย์ของปัญหาเป็นตัวตั้ง สิ่งที่เราจะรับไม่ได้เลยคือไม่แก้ปัญหา ถ้าถึงจุดหนึ่งที่บอกว่าปัญหานี้ไม่แก้ เพราะมีอะไรบางอย่าง เราอาจพิจารณาว่าอย่างนี้เรารับไม่ได้ ไม่ได้มีเรื่องอุดมการณ์อะไรเป็นตัวตั้งจนคิดว่าจะรับมันไม่ได้ เพราะพลังประชารัฐมองโจทย์แค่ว่า ทำยังไงจะขับเคลื่อน ทำยังไงที่จะเสนอตัวแล้วประชาชนยอมรับเรื่องวิธีคิดของเรามากกว่า” – ดร.ไกรเสริม โตทับเที่ยง พรรคพลังประชารัฐ

“หากเรายังยึดมั่นกับคำว่าเสรีประชาธิปไตย และยึดมั่นระบอบประชาธิปไตย คุณต้องให้ที่มาของทุกอย่างมีการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกันได้ ไม่ใช่รัฐประหารอย่างนี้ เพราะทหารไม่มีอำนาจในการมาถ่วงดุลคนที่มาจากการเลือกตั้ง ระบบ 3 เสาหลักชัดเจนคือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ไม่ใช่กองทัพมาถ่วงดุล เพราะคุณไม่ใช่คนที่มาจากประชาชน” – ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส พรรคเพื่อไทย

ขณะที่เสียงของตัวแทนพรรคการเมืองขนาดย่อมกลับไม่ได้แผ่วเบาไปกว่าพรรคการเมืองใหญ่ เพราะการคิดการใหญ่คือตัวตนของพรรคทางเลือกที่เอาจริงเอาจังไม่แพ้กัน เสียงพวกเขาสะท้อนอยู่ในผลงานเรื่อง คิดใหญ่-ไซส์เล็ก : คุยกับพรรคการเมืองขนาดย่อม ที่อยากพลิกโฉมประเทศด้วยการเลือกตั้ง

“พรรคเล็กต้องรวมกัน ช่วยกัน ต้องใจใหญ่ๆ กล้าเสนอนโยบายที่เป็นสัจจะวิถี ไม่แจกตามเพื่อน แน่นอนพรรคใหญ่ๆ ทำอะไรแล้วคนจะเชื่อมากกว่า แต่วันหนึ่งถ้าเขาสืบค้นว่าพวกนี้มันทำมากี่ปีแล้ว มันโกหกทั้งนั้น ถ้าอยากให้ลึกจริงๆ ต้องดูพรรคเล็กๆ อย่างพวกเรา” – พงศา ชูแนม หัวหน้าพรรคกรีน

“วันที่โหวตโนแพ้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน สามัญชนคุยกัน 3 วัน 3 คืนว่าเราจะตั้งพรรคในรัฐธรรมนูญนี้ยังไง คำตอบที่ได้ก็คือว่า มันเป็นทางเลือกที่ราคาถูกที่สุดในการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง จังหวะที่เวลามือถือไมค์ไฟส่องหน้า ยืนบนหลังรถสิบล้อ มันห้าวหาญมากนะ แต่ขาก็สั่น เพราะมองไปเห็นทหารถือปืนอยู่สามกองร้อย แล้วมันก็ไม่รู้ว่าทางออกคืออะไร นอกจากการดันไปข้างหน้า” – ปกรณ์ อารีกุล อดีตโฆษกพรรคสามัญชน

นอกเหนือไปจากเสียงของนักการเมือง เสียงที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือภาคธุรกิจที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศ และเสียงของกลุ่มสตาร์ทอัพนั้นก็นับว่าน่าฟังอย่างยิ่ง

ผลงานเรื่อง ‘สตาร์ทอัพ’กับการเมืองก่อนและหลังเลือกตั้งได้สะท้อนถึงทัศนะของพวกเขาเหล่านักธุรกิจ ได้แก่ จักรพงษ์ คงมาลัย ผู้ก่อตั้ง Moonshot บริษัท ทำ Content Agency และ Digital PR, อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ผู้ก่อตั้ง Techsauce Thailand ศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารสตาร์ทอัพไทย และ ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์ ผู้ก่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน Treasurist และเพจ Thailand Investment Forum ในฐานะตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านสตาร์ทอัพและธุรกิจดิจิทัล มาพูดคุยในเรื่องธุรกิจยุคใหม่ กับการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง

รวมไปถึงทัศนะของเหล่าศิลปิน ได้แก่ พิช-วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล นักร้อง-นักแสดง, ผ้าป่าน-สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ ช่างภาพสายสตรีท อดีตบรรณาธิการนิตยสาร The Jam Factory, น้ำใส ศุภวงศ์ กราฟิกดีไซน์เนอร์ และคาลิล พิศสุวรรณ นักเขียนและคอลัมนิสต์ ก็ปรากฏอยู่ในผลงานเรื่องจัดจ้าน น้ำเน่า เบาหวิว : เปิดใจ 4 ศิลปินรุ่นใหม่ มองประเทศไทยหลังเลือกตั้ง 2562

อย่างไรก็ตาม นอกจากผลงานที่บันทึกทัศนะอันหลากหลายของพลเมืองไทยเกี่ยวกับการเลือกตั้งแล้วผลงาน “ฉันจะไปเลือกตั้ง” : Homeless Election ก็เป็นส่วนหนึ่งของการพยายามมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนไร้บ้านหรือคนจร แม้จะเป็นเสียงจากชายขอบก็ตาม

ส่วนพลเมืองไทยที่ไม่มีโอกาสได้มีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งครั้งนี้เลยแม้แต่วินาทีเดียวก็คือผู้ลี้ภัยการเมือง ซึ่งบางคนได้ถูกอุ้มหายและฆ่าทิ้งไปอย่างโหดเหี้ยม ผลงานเรื่อง 4 คำถาม – 4 คำตอบจากพรรคการเมือง : เมื่อผู้ลี้ภัยไม่อาจกลับมาเลือกตั้ง พยายามตอบคำถามว่าพรรคการเมืองจะมีส่วนร่วมในการยุติการผลักใสประชาชนให้กลายเป็นอื่นจนกระทั่งกลายเป็นศัตรูของรัฐอย่างไรได้บ้าง

 

ปรากฏการณ์ใหม่

 

อย่างที่ทราบกันดีว่าหลังการนับคะแนนผลการเลือกตั้งทั่วประเทศ พรรคเพื่อไทยได้จำนวน ส.ส. มากเป็นอันหนึ่ง รองลงมาทั้งอันดับสองและสามเป็นพรรคหน้าใหม่ทั้งคู่คือ พลังประชารัฐและอนาคตใหม่ ไม่มีประชาธิปัตย์เข้าท็อปทรีเลย

แต่ทว่าในรายละเอียดผลคะแนนแล้วอาจสะท้อนถึงสมรภูมิการเมืองที่เปลี่ยนไปอย่างเกินความคาดหมาย โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งผลงานเรื่องเลือกตั้ง 62 : อนิจลักษณะของผลเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครได้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงไว้อย่างน่าสนใจ

เช่น “คะแนนเสียงประชาธิปัตย์ แชมป์ กทม.ครั้งก่อน (ย้อนหลังไป 8 ปี!) เข้าป้ายเพียงอันดับ 4 ได้คะแนนเสียงรวม 4 แสนกว่าเสียงเท่านั้น

“จากเดิมที่คาดว่าสนาม กทม. จะเป็นการแข่งขันกันระหว่างคู่ชิงเดิม คือประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยเป็นหลัก ส่วนพรรคอื่นคงคาดหวังเก็บคะแนนเสียงไม่ให้ตกน้ำ เพื่อเพิ่มเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เท่านั้น ปรากฏว่าคู่ชิงที่ 1 กับ 2 ในแต่ละเขต กลับกลายเป็นศึกระหว่างพลังประชารัฐกับเพื่อไทย และพลังประชารัฐกับอนาคตใหม่ เป็นส่วนใหญ่

“ผลการเลือกตั้งรวม 30 ที่นั่ง — พลังประชารัฐ คว้าไป 13 ที่นั่ง เพื่อไทย 9 ที่นั่ง และอนาคตใหม่ 8 ที่นั่ง [ตัวเลขล่าสุด วันที่ 25 มีนาคม พลังประชารัฐได้ 12 ที่นั่ง เพื่อไทย 9 ที่นั่ง และอนาคตใหม่ 9 ที่นั่ง] ส่วนประชาธิปัตย์ไม่ได้ ส.ส. กทม. เลยแม้แต่ที่นั่งเดียว!

“เซอร์ไพรส์ใหญ่ของสนาม กทม. อย่างอนาคตใหม่ที่หักปากกาเซียนคว้าเก้าอี้ ส.ส.เขต กทม.มาได้ถึง 8 ที่นั่ง ในพื้นที่พระรามสาม, บางนา-พระโขนง และฝั่งธนฯ และได้รองแชมป์อีก 8 ที่นั่ง … ทั้งหมดล้วนเป็นหน้าใหม่ทางการเมือง และเป็นคนธรรมดาๆ รุ่นหนุ่มสาวที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักของสังคมวงกว้าง แถมเพิ่งเข้าสู่โลกการเมืองมาได้ปีเศษๆ เท่านั้นเอง”

 

เลือกตั้งที่ ‘ลัก’

 

แม้ว่า กกต. ประกาศผลคะแนนเลือกตั้งอย่างเป็นทางการไปนานแล้ว และการเมืองไทยก็เดินโซเซมาได้ร่วมปี แต่จนบัดนี้ความคลางแคลงใจในวิธีการนับคะแนนของสาธารณชนก็ยังไม่คลี่คลายหายสงสัย

ในคลิปข่าวการชุมนุม “เห็นหัวกูบ้าง” มีคนจำนวนไม่น้อยต่างตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของ กกต. อาทิ กกต. ใช้งบจัดเลือกตั้ง 5,800 ล้านบาท แต่ทำไมหน่วยเลือกตั้งที่มาเลเซียถึงใช้ลังกระดาษทำคูหา ทำไมบางหน่วยนับคะแนนจากบัตรเสียให้กลายเป็นบัตรดี ทำไมบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าจากนิวซีแลนด์กลายเป็นบัตรเสีย ทำไมยังไม่เปิดเผยคะแนนดิบรายหน่วยเลือกตั้ง ที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังข้องใจในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ บัตรเขย่งคืออะไร ฯลฯ

คำถามเหล่านี้เหมือนไฟที่สุมอยู่ในใจสาธารณชนที่ดูท่าคงไม่มอดดับง่ายๆ ขณะที่บทสัมภาษณ์ ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ รองประธานและเลขาธิการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย หรือที่สังคมไทยคุ้นหูในชื่อ ‘พีเน็ต’ องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการเลือกตั้งมาตั้งแต่หน่วยงาน กกต. ยังไม่คลอดออกมา ก็พอจะช่วยตอบคำถามได้บ้างว่า กกต. มีไว้ทำไม?

ลัดดาวัลย์ เล่าว่า สมัยก่อนตอนตั้ง กกต. ใหม่ๆ เขาทำงานกัน 24 ชั่วโมง ช่วงปีใหม่ก็ไม่ได้หยุด รอรับแจ้งเหตุทางโทรศัพท์ พอได้รับแจ้ง ก็ส่งให้ตำรวจวิ่งไปดูที่เกิดเหตุ ทำงานตั้งแต่เช้ายันค่ำมืด วันนับคะแนนก็นับถึงเช้าวันใหม่ นับกันจนกว่าจะเสร็จ คนนับก็ต้องนับ คนสังเกตก็ต้องคอยดู

“แม้แต่เฮลิคอปเตอร์ ก็ยังเคยขึ้นเพื่อไปขนหีบมาส่ง ถามว่าทำไมต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ ก็เพื่อให้ทันเวลา ไม่เกิดเป็นบัตรเสีย นี่เป็นช่วง กกต. ชุดแรกเลย ทำกันขนาดนั้น ถามว่าทำไปทำไม ก็เพื่อจะให้เกิดความสุจริตเที่ยงธรรม”

ถ้าถามเรื่องการคำนวณ เลขาธิการพีเน็ตบอกว่า “ช่วงหลังๆ แม้แต่นักคณิตศาสตร์ก็มาช่วยคำนวณให้ดูแล้ว พอคุณบอกว่านักคณิตศาสตร์ไม่รู้กฎหมาย นักกฎหมายก็ออกมาช่วยแล้ว ทำไม กกต. ยังไม่มั่นใจ คุณก็ประกาศมาเลย ถ้ามีปัญหาก็ค่อยไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นด้วยก็จบ ไม่เห็นด้วยก็จบ คุณได้ทำตามหน้าที่แล้ว คุณมีคำอธิบายแล้ว แต่เบื้องต้นคุณต้องทำหน้าที่ของตัวเองก่อน

“อย่าคิดว่าเป็นนักกฎหมาย เป็นผู้พิพากษา แล้วจะรู้ทุกเรื่อง เพราะคนเหล่านี้เขาไม่ได้มีประสบการณ์เรื่องการเลือกตั้ง เขาอาจรู้เรื่องกฎหมาย แต่การบังคับใช้กฎหมายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่ว่าคุณจะเข้ามาแล้วทำงานได้เลย ยิ่งถ้าในองค์ประกอบของคนเหล่านี้ ไม่มีใครมีประสบการณ์เลย ถือว่าอันตรายมาก” – ลัดดาวัลย์กล่าว

เมื่อ กกต. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากขนาดนี้ ในรายการ 101 One-on-One Ep.68 นักกฎหมายมหาชนอย่างเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เปิดประเด็นเรื่อง ‘อาการนิติศาสตร์นิยมล้นเกิน’ (hyper-legalism) ของสังคมไทย ได้ตั้งคำถามถึงการออกแบบองค์กรอิสระที่เต็มไปด้วยปัญหา โดยเฉพาะความรับผิดชอบต่อประชาชน

สอดคล้องกับทัศนะของสมชาย ปรีชาศิลปกุล ที่เขียนบทความเรื่องเมื่อองค์กรอิสระกลายเป็นภาระของประชาธิปไตย ซึ่งชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการและความตกต่ำของ ‘องค์กรอิสระ’ ตั้งแต่ยุครัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งยึดโยงอยู่กับประชาชน มาจนถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งถูกครอบงำเบ็ดเสร็จโดยระบอบอำนาจนิยมว่า

“องค์กรอิสระทั้งหมดได้กลายสภาพเป็นสถาบันการเมืองที่หลุดลอยจากการควบคุมของประชาชน ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายทางการเมืองของผู้มีอำนาจ องค์กรอิสระในขณะนี้จึงมีลักษณะเป็นองค์กรของระบอบอำนาจนิยม โดยระบอบอำนาจนิยม และเพื่อระบอบอำนาจนิยม”

เมื่อโครงสร้างการเมืองผิดเพี้ยน บทสัมภาษณ์เรื่องเลือกตั้ง​ครั้งแรก หัวใจก็แตกสลาย: สำรวจความหวังหลังเลือกตั้งของคนรุ่นใหม่ จึงสะท้อนเสียงของ ‘New Voter’ ออกมาได้อย่างเข้ากระดูกดำ ซึ่งน่าสนใจว่าสังคมไทยจะเป็นอย่างไร เมื่อต้นทุนของอนาคตเต็มไปความผิดหวัง

 

หน้าเก่า – หน้าใหม่ ทั้งในและนอกสภา

 

การเมืองไทย 2019 ไม่ได้แค่เปิดเผยเฉพาะความอลหม่านออกมาเท่านั้น แต่ทัศนะของตัวละครทางการเมืองเองก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเนื้อดินของสังคมไทยเป็นอย่างไร เมื่อกวาดตามองไปทั้งในและนอกสภาจึงน่าสนใจว่าใครบ้างที่กำลังขับเคลื่อนมวลความรู้สึกของสังคมอยู่ ไม่ว่าจะไปข้างหน้าหรือข้างหลังก็ตาม

สำหรับคนที่จัดว่าอยู่ในกลุ่มสร้างความเซอร์ไพรส์ทางการเมืองที่ 101 เคยสัมภาษณ์นั้น เริ่มจาก นิพันธ์ ศิริธร ส.ส.พลังประชารัฐ เขต 1 จังหวัดตรัง ที่ได้คะแนนไป 39,416 คะแนน ชนะพรรคประชาธิปัตย์แชมป์เก่าที่ได้ 38,332 คะแนน ต่างกันฉิวเฉียดที่หลักพันคือ 1,084 คะแนน ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสำหรับ ‘ตรัง’ เป็นของประชาธิปัตย์ แต่ปัจจุบันต้องบันทึกใหม่ว่าสำหรับตรัง เขต 1 เป็นของพลังประชารัฐ คำถามคือทำไมคนตรังเปลี่ยนใจ ทั้งที่เขต 1 นั้นเป็นกล่องดวงใจของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา

คนต่อมาคือ ซากีย์ พิทักษ์คุมพล บุตรของอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ที่เข้าสู่ตำแหน่ง ส.ว. ในโควต้าของสำนักจุฬาราชมนตรี ทว่าในฐานะที่เขาเป็นอาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งวางตัวตนไว้บนจุดยืนสนับสนุนประชาธิปไตย มีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ ไปจนถึงความไม่ชอบธรรมของรัฐประหาร กลับกลายเป็นความกระอักกระอ่วนที่ยากจะคลี่คลายเมื่อเขายกมือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะที่บทความเรื่อง “พลเอกประยุทธ์ ครับ” / “พลเอกประยุทธ์ ค่ะ” คำถามจากชายแดนใต้ เมื่อพิราบเลือกเหยี่ยว นอกจากจะตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ถึงจุดยืนของซากีย์แล้ว ยังมี ส.ส.จากสามจังหวัดภาคใต้อีกสองคนก็ถูกตั้งคำถามทำนองเดียวกัน ได้แก่

คนแรก แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นหลานของหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา ผู้นำทางความคิดของชาวมลายูมุสลิมที่ถูกรัฐไทยจับไปขังคุกและอุ้มหายเพียงเพราะเรียกร้องความเป็นธรรมให้คนมลายู

อีกคนคือ อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เขต 1 จังหวัดยะลา ที่ก่อนหน้านี้ทำงานเป็นประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม มีผลงานจากการทำหน้าที่ทนายความช่วยเหลือทางคดีให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฏหมายพิเศษของรัฐไทย ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก ซึ่งมีทหารเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง

สำหรับคนสองเจเนอเรชั่นที่เคยอยู่ในพรรคเดียวกันและมีความฝันจะปฏิรูปพรรคร่วมกันโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ น่าจะจัดอยู่ในกลุ่มเจเนอเรชั่น แก๊ป เพราะแม้จะมีความฝันร่วมกันแต่วิธีการต่างกันก็ทำให้เก้าอี้ในสภาของพรรคนี้สั่นคลอนได้

ทั้งสองคนที่ว่าคือ กรณ์ จาติกวณิช อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้เคยเป็นประธานนโยบายพรรคฯ ที่ระบุว่า

“พรรคประชาธิปัตย์ควรจะเป็นพรรคที่คนแบบ ‘ไอติม’ พริษฐ์ วัชรสินธุ อยู่ได้ ผมเองก็เสียดาย เช่น แนวคิดเรื่องสิทธิ LGBT ต้องยอมรับว่าถ้าไม่มีกลุ่มนิวเด็มเป็นผู้เสนอผลักดัน มันอาจจะเป็นเรื่องที่คนรุ่นผมไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร การปฏิรูประบบการเกณฑ์ทหาร ถ้าปล่อยให้คนรุ่นผมทำ ผมอาจจะไม่คิดเรื่องนี้

“ต้องยอมรับว่าที่พรรคประชาธิปัตย์อยู่มาได้ 70 กว่าปี เพราะเราเป็นพรรคที่เปิดรับคนรุ่นใหม่มากที่สุด ไม่งั้นเราอยู่ไม่ได้ มันต้องมีเลือดใหม่เข้ามาสมทบตลอดเวลา แต่ปัญหาตอนนี้คือมันขาดช่วง”

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายประชาธิปัตย์ก็เข้าร่วมรัฐบาลและสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของคนอย่างพริษฐ์ วัชรสินธุ ที่เขาเลือกจะเดินออกจากพรรคมาขับเคลื่อนกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้าอยู่ในขณะนี้

ส่วนกลุ่มที่นับว่าแมสที่สุดของประเทศนี้หนีไม่พ้นค่ายเพื่อไทย และคนที่ได้ใจมวลชนจนถูกเรียกว่าเป็นหนึ่งในดาวสภาก็คือ สุทิน คลังแสง ส.ส. เขต 5 จังหวัดมหาสารคาม และประธานวิปฝ่ายค้าน ที่เปิดใจกับ 101 ถึงบทบาทของตัวเองเป็นที่แรกว่า

“การทำการเมืองแบบตัดต่อพันธุกรรมผิดๆ หยิบกลุ่มนั้นกลุ่มนี้มารวมกันสารพัด ผมเชื่อว่าไม่นานก็แตก หน้าที่ของเราคือขยายภาพความไม่ชอบธรรมให้ชัดขึ้น เผลอๆ การเลือกตั้งครั้งหน้าเขาจะเจอปัญหาภายในทันที พลังประชารัฐอาจจะได้ไม่ถึงครึ่ง ประชาธิปัตย์ดีไม่ดีต่ำกว่ารอบล่าสุด

“ทุกวันนี้ คนที่อยู่ในพรรคเพื่อไทย มีสองแบบ แบบหนึ่งคือมีอุดมการณ์ชัดเจน ไม่สนเรื่องแพ้ชนะ กับอีกแบบคือ อยู่เพราะอยากเป็น ส.ส. อยากเป็นรัฐบาล ยิ่งถ้าฝั่งตรงข้ามพยายามสร้างเงื่อนไขให้ได้เปรียบทุกอย่าง คนเหล่านี้ก็มีโอกาสโบยบินไป กลุ่มที่อ่อนไหวมากก็บินไปแล้ว กลุ่มที่ยังหวั่นไหวอยู่ก็ยังมี”

อีกคนคือสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ 101 one-on-oneEp.97 ถึงความอ่อนไหวในพรรคเพื่อไทยว่า “ส.ส.รุ่นเฮฟวี่เวทไม่ได้เข้าสภา คนก็มองว่าแล้วสภาจะเหลือใคร เราก็ยังมีคนรุ่นถัดมาที่ขึ้นมาแทนได้ ทั้งคุณสุทิน คลังแสง หมอชลน่าน ศรีแก้ว และอีกหลายๆ คน รวมถึง ส.ส.รุ่นใหม่อีกหลายคน การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีผู้สมัคร ส.ส. เป็นสิบเขต ที่เปลี่ยนจากรุ่นพ่อแม่มาเป็นรุ่นลูก

“ถามว่ายากลำบากมั้ย ถ้าภาษาชาวบ้านก็ต้องบอกว่าเหมือนหัวหาย ตั้งแต่เจ้าอาวาสไปถึงพระลูกวัด แต่เราก็ต้องยอมรับความจริงว่าการที่เขาเขียนรัฐธรรมนูญไว้แบบนี้ ปาร์ตี้ลิสต์ไม่ได้สักคน เฮฟวี่เวทอยู่นอกสภา ยังไงเราก็ชกได้ไม่เต็มที่”

อีกกลุ่มที่นับว่าสั่นสะเทือนการเมืองไทยมาในช่วงต้นปีก็คือพรรคไทยรักษาชาติซึ่งถูกตัดสินยุบพรรคไป แม้ว่าจะถูกโดดเดี่ยวทางการเมือง แต่ในนามส่วนตัวทั้งมิตติ ติยะไพรัช อดีตเลขาธิการพรรคฯ และจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ ก็ยังพยายามสร้างพื้นที่ทางการเมืองในแบบของตัวเอง

สำหรับมิตตินั้นเพิ่งพาสิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด คว้าแชมป์ฟุตบอลโตโยต้าไทยลีก 2019 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร ส่วนจาตุรนต์ กำลังขับเคลื่อนการเมืองในนามกลุ่มก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเขาตกผลึกกับตัวเองไว้อย่างน่าสนใจว่า

“จุดอ่อนอย่างหนึ่งของฝ่ายประชาธิปไตย คือสรุปบทเรียนในเรื่องต่างๆ น้อยไปหน่อย อาจมีความรู้สึกว่าเรื่องมันผ่านมาแล้วก็ให้ผ่านไป หรือพูดแล้วจะกระทบกันเอง การสรุปบทเรียนเลยมีน้อยเกินไป ในครั้งหน้าเราต้องสรุปบทเรียนมากขึ้น และหาทางแก้ไขปัญหา”

เมื่อพูดถึงการตกผลึกทางการเมืองแล้ว คนหนึ่งที่ 101 สัมภาษณ์คือจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งผ่านสมรภูมิการเมืองมาตั้งแต่สภา ถนน คุกตาราง และความตาย เขาอธิบายถึงนักการเมืองที่เรียกตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตยว่า

“ตราบใดที่เราไม่มีนักประชาธิปไตยเป็นผู้แทน ประชาชนได้แค่นักเลือกตั้งมาเป็นผู้แทน ประเทศก็หนีวงจรอุบาทว์นี้ไปไม่ได้ อันที่จริงฝ่ายเผด็จการเขาปรับตัวตลอดเวลา ฝ่ายประชาธิปไตยต่างหากที่ล้าหลังไม่ยอมปรับตัว”

ส่วนกลุ่มที่มีอายุเป็นเพียงตัวเลขหรือผู้อาวุโสนั้น คนแรกคือชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ซึ่งบทความของธนาพล อิ๋วสกุล บก.บห.ฟ้าเดียวกัน ได้เขียนไว้ 2 ตอน ตอนที่ 1 : ลูกที่ดีของพรรค นักการเมืองที่รักของระบบราชการ และตอนที่ 2 : ปลัดประเทศผู้ (เคย) เชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา ทำให้เห็นเส้นทางการเมืองของ ‘ชวน’ กว่ากึ่งศตวรรษ ว่าอะไรคือตัวตนของผู้ที่มีฉายาว่า “มีดโกนอาบน้ำผึ้ง”

คนต่อมาคือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และประธาน กมธ.ปปช. ผู้ซึ่งได้รับเสียงกล่าวขานว่าเป็นคนกัดไม่ปล่อย โดยเฉพาะการสอบสวนปมถวายสัตย์ไม่ครบของพล.อ.ประยุทธ์

อีกคนคือวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ที่เขาระบุว่าการถูกฟ้องข้อหายุยง ปลุกปั่น สร้างความกระด้างเดื่องตามมาตรา 116 ร่วมกับผู้นำพรรคฝ่ายค้านและนักวิชาการรวม 12 คนนั้น เป็นการเมืองที่ไม่ต่างไปจาก 60 ปีก่อนที่คนมลายูมุสลิมต่างถูกรัฐไทยใส่ร้าย

กลุ่มสุดท้ายคือคลื่นลูกใหม่ จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากพรรคอนาคตใหม่ซึ่งกำลังเผชิญมรสุมการเมืองอันหฤโหดอยู่ในขณะนี้ คนแรกคือ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 22 ที่สร้างภาพจำให้สังคมไทยว่าคราฟต์เบียร์ไทยคือความเป็นไปได้

คนต่อมาคือปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธาน กมธ.กฎหมาย อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำคณะนิติราษฎร์ ซึ่งได้รับการกล่าวขานว่าเป็นหนึ่งในมันสมองทางกฎหมายของฝ่ายค้าน โดยเฉพาะการออกมาชี้ประเด็นการถวายสัตย์ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญของ พล.อ.ประยุทธ์

ปิยบุตรเคยประกาศว่า เขาเลือกหนทางของคนไม่ยอมจำนน หนทางที่เชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า หนทางของคนที่เชื่อในความเป็นไปได้

“พวกเรา ชาวอนาคตใหม่ จะไม่ยอมทนอยู่ในนรก พวกเราจะไม่ยอมถูกกลืนให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของนรก แต่พวกเราจะทำให้สิ่งที่ไม่ใช่นรกปรากฏขึ้น และเบียดขับเข้าแทนที่นรก ไม่มีหนทางใดที่เราจะออกจากนรกได้ นอกจากลงมือกําจัดมัน”

คนสุดท้ายที่ร้อนแรงที่สุดแห่งยุคสมัยคือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคฯ ที่เพิ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิ์ ส.ส. ในคดีถือหุ้นสื่อไปด้วยความงุนงง ธนาธรถูกตั้งข้อสังเกตว่าในบรรดานักการเมืองเวลานี้ เขาเป็นคนที่เดาใจง่ายที่สุด เพราะความตรงไปตรงมาทางความคิดซึ่งส่งผ่านทางสีหน้าและแววตา

เขาอธิบายถึงการตกเป็นเป้าโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามไว้อย่างลุ่มลึกว่า “ความเกลียดชังที่เรามีกันอยู่ในสังคมนี้ มันเป็นความเกลียดชังที่ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นความเกลียดชังที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างจงใจ เพื่อทำให้ประชาชนเกลียดกันเอง มันเกิดจากปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของผู้มีอำนาจต้องการให้ประชาชนแตกแยกกัน กลัวกันเอง”

ยังไม่ทันได้เริ่มคิกออฟเกมแก้รัฐธรรมนูญอย่างที่พรรคฯ ตั้งใจจะผลักดัน วันนี้พรรคอนาคตใหม่มาไกลและไวถึงขั้นถูกฟ้องยุบพรรคแล้ว คำถามคือถ้าการยุบพรรคเป็นดอกผลของไม้ใหญ่ แล้วอะไรคือรากที่ซุกซ่อนอยู่ใต้ดิน

 

ตุลาการธิปไตย

 

ในบรรดาความบิดเบี้ยวของโครงสร้างการเมืองไทย ดูเหมือนว่า 2 ใน 3 เสาหลัก ได้แก่ ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติจะถูกเชื่อว่ามีส่วนทำให้การเมืองไทยวิกฤตอยู่สม่ำเสมอ แต่ฝ่ายตุลาการไม่เคยถูกตั้งคำถามอย่างจริงจังว่ามีส่วนในการสร้างวิกฤตการเมืองอย่างไร

สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ 101 One-on-One Ep.63 ว่ากรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ หลังจากมีบทเรียนมาจากคดีก่อนๆ พึงตระหนักได้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ไม่อาจใช้หลักกฏหมายเพียงอย่างเดียวมาวัดได้ ต้องพิจารณาถึงพลังอำนาจของอุดมการณ์ทางการเมืองด้วย

“ตอนนี้ถ้าเรามองสถาบันตุลาการด้วยสายตาว่าเขาเป็นสถาบันทางการเมืองประเภทหนึ่ง หน้าที่ที่เขาทำมีผลประโยชน์ จุดยืน อุดมการณ์บางอย่างกำกับอยู่ ผมคิดว่าถ้าอ่านแบบนี้เราจะเห็นตุลาการในแง่มุมที่ต่างไปจากเดิม

“กรณีบ้านป่าแหว่ง น่าจะเป็นตัวอย่างที่สะท้อนว่าโลกมันมีสองใบ ไม่รู้ว่าใครสร้างไว้ แต่เรามีโลกสองใบที่ห่างไกลกันเหลือเกิน โลกใบหนึ่งคือโลกที่มีตุลาการในสังคมไทยอยู่ กับอีกโลกคือโลกที่มีประชาชนคนไทยอยู่ และเราอาจต้องตอบว่าโลกใบไหนเป็นปัญหามากกว่ากัน

“ที่ผ่านมาจะพบว่าในหลายคดีที่ตัดสินแล้ว ทำไมทำให้เรารู้สึกเคลือบแคลง สิ่งที่ควรจะทำคือสังคมอย่าไว้วางใจอำนาจตุลาการ อำนาจตุลาการต้องถอยกลับไปอยู่กับหลักเกณฑ์มากขึ้น ต้องตัดสินเรื่องต่างๆ ตามกฎเกณฑ์มากขึ้น เช่น หากคุณเป็นศาลรัฐธรรมนูญ คุณต้องกลับไปอยู่กับหลักการของระบบรัฐธรรมนูญแบบเสรีประชาธิปไตยมากขึ้น”

 

สัญญาประชาคมใหม่

 

ในปี 2019 คำว่า “ความหวัง” ถูกพูดถึงในทางการเมืองอย่างมหาศาล อย่างน้อยก็มากจากเสียงของฝ่ายต่อต้านอำนาจเผด็จการ เพราะต่างก็อยากเห็นอนาคตสังคมไทยเปลี่ยนไปจากเดิมและดีกว่าเดิม คำถามคืออะไรเป็นโจทย์รูปธรรมที่สุดของความหวังนั้น

ในบทสัมภาษณ์ รอมฎอน ปันจอร์ : สมรภูมิใหม่ชายแดนใต้ บทพิสูจน์ผู้แทนราษฎรกับการเมืองแบบ “ใครจะ Final Say” ตั้งคำถามว่าสำหรับรัฐไทยเวลานี้ใครจะเป็นผู้ที่เคาะคนสุดท้าย หรือมี ‘final say’ ในกระบวนการตัดสินใจ ว่ารูปแบบการปกครองของรัฐไทยจะเป็นอย่างไร

ส่วนบทสัมภาษณ์ รศ.ดร.มารค ตามไท อดีตผู้อำนวยการสถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ เรื่อง จากกรุงเทพฯ ถึงชายแดนใต้ คุยกับ ‘มารค ตามไท’ : เมื่อรัฐไทยเป็นพ่อแม่ที่ห้ามลูกฝัน ได้ตั้งคำถามว่า “สิ่งที่ท้าทายประเทศไทย คือจะทำยังไงให้คุณค่าในการให้ความสำคัญกับคนฟื้นขึ้นมา และไม่ใช่ฟื้นธรรมดา แต่อยากให้ฟื้นโดยไม่ต้องนองเลือดกัน เพราะหลายประเทศมันนองเลือดก่อน ถึงจะฟื้น เราก็เห็นตัวอย่างเยอะในประวัติศาสตร์ นี่เป็นโจทย์ของสังคมไทย

“สิ่งที่เราต้องการในฐานะมนุษย์ คือต้องการโอกาสในการพยายามหาสิ่งนั้นมา ไม่ต้องมีคนยกมาให้ก็ได้ แค่ขอให้โอกาสได้พยายามหาเอง”

ขณะที่ ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์ใน เปิดห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎรมองอนาคตการเมืองไทย ว่าด้วยโจทย์การเมืองไทยหลังเลือกตั้ง และโจทย์ยากๆ อย่างการรื้อกติการัฐประหาร ไปจนถึงการฟื้นฟูคุณค่าหายไป และการแสวงหาฉันทามติและสัญญาประชาคมใหม่ในสังคมไทย

“ผมคิดว่าคุณค่าบางอย่างของสังคมต้องถูกปลุกขึ้นมา เพื่อเป็นหลัก เป็นคุณลักษณะพื้นฐานของสังคม ประเทศในโลกตะวันตก รวมทั้งโลกตะวันออกที่พัฒนาแล้ว ไม่ได้ยึดถือตัวบุคคล แต่เขายึดมั่นในรัฐธรรมนูญ ส่วนประเทศไทย รัฐธรรมนูญถูกทำให้เสียความหมายไป

“จะว่าไป สิ่งที่สูญเสียมากที่สุดของสังคมไทยคือรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ รัฐธรรมนูญซึ่งควรจะเป็นกฎหมายสูงสุดกลับไม่มีความหมาย ไม่ได้เป็นแหล่งรวมคุณค่าพื้นฐานที่สังคมยอมรับร่วมกัน ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ปัญหานั้นจะถูกแก้ได้ด้วยตัวระบบและคุณค่าในรัฐธรรมนูญเอง

“โจทย์ใหญ่ของสังคมก็คือ เราจะแสวงหาคุณค่าอะไร ซึ่งเป็นคุณค่าร่วมกันให้คนในสังคมยึดถือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่สุด”

จะว่าไปความอลหม่านของการเมืองไทย 2019 ไม่ได้อยู่ที่การแข่งขันเอาชนะกันทางการเมืองอย่างเดียว แต่ได้เปิดเปลือยเนื้อแท้ออกมาแล้วว่าสังคมไทยยังไม่มีฉันทมติหรือสัญญาประชาคมใดๆ ทั้งสิ้น

สิ่งที่น่าจับตาในปี 2020 คือ เมื่อวาระการแก้รัฐธรรมนูญกลายเป็นบันไดขั้นแรก บันไดขั้นต่อไปจะเป็นฉันทมติของประชาคมหรือจะเป็นแค่ทางที่พากลับไปสู่หลุมดำเดิมๆ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save