fbpx
ค้นใจตุลาการ-ค้นหาความยุติธรรม : สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ค้นใจตุลาการ-ค้นหาความยุติธรรม : สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ธิติ มีแต้ม เรียบเรียง

ปนัฐ ธนสารช่วงโชติ ภาพ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สนทนากับ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากไอลอว์ ว่าด้วยบทบาทขององค์กรตุลาการและผู้พิพากษาในสังคมการเมืองไทยในช่วงทศวรรษแห่งความขัดแย้งที่ผ่านมา

โดยเฉพาะเหตุการณ์ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักษาชาติ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่ผ่านมา

สังคมไทยเรียนรู้อะไรกับเรื่องดังกล่าว, ประชาชนทั่วไปวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลได้หรือไม่, ตุลาการเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยอย่างไร, ผู้พิพากษาไม่มีอคติ ปราศจากผลประโยชน์และอุดมการณ์จริงไหม, ทำอย่างไรองค์กรตุลาการจะยึดโยงกับประชาชน ฯลฯ

สารพัดคำถามในยามประเทศหน้าสิ่วหน้าขวาน ทรรศนะของนักนิติศาสตร์ผู้นี้น่ารับฟังอย่างยิ่ง

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

อาจารย์เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ศึกษาเรื่อง ‘ตุลาการณ์ภิวัตน์’ อย่างจริงจัง การแสดงบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ที่เพิ่งผ่านไป เป็นการยุบพรรคที่สามของเครือข่ายทักษิณ คำวินิจฉัยของศาลครั้งนี้เหมือนหรือต่างจากคำวินิจฉัยในคดีก่อนๆ อย่างไร ส่งผลกระทบต่อสังคมการเมืองไทยอย่างไร

อาจจะพูดได้กว้างๆ ก่อน คือก่อนหน้าที่จะมีคำวินิจฉัยนี้ สมมตินั่งคุยกันแล้วมีคนถามผมหรือผมถามคุณว่า คิดว่าคดีนี้การตัดสินจะเป็นเรื่องของหลักกฎหมายหรือเรื่องของการเมือง เรื่องนี้ผมคิดว่าไม่ใช่ปัญหาของการใช้หลักกฎหมาย แต่เป็นปัญหาเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมือง เป็นเรื่องของการตีความที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองกำกับอยู่สูง

ผมคิดว่าวิธีการตัดสินแนวทางอย่างนี้ เราเห็นมาแล้วอย่างน้อยในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2549 – 2557 จะเห็นได้ชัดว่ามันมีคำวินิจฉัยจำนวนมากที่ไม่อาจตอบคำถามได้ด้วยหลักการทางกฎหมาย เช่น กรณีคุณสมัคร สุนทรเวช เป็นการเถียงว่าคุณสมัครเป็นหรือไม่เป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน ผมก็ตอบง่ายๆ ว่าโดยหลักกฎหมาย คุณสมัครยังไงก็ไม่เป็นลูกจ้างบริษัท ดูหลักกฎหมายสัญญาจ้างแรงงานชัดเจนว่าไม่เป็น เพราะหลักกฎหมายแรงงานมันชัดว่าเขาไม่ได้จ้างงานกันเป็นรายเดือน นายจ้างไม่มีอำนาจบังคับบัญชาลูกจ้าง แล้วคุณสมัครก็ไปทำอาทิตย์ละครั้ง อาทิตย์ไหนไม่พอใจก็ไม่ไป แล้วจะไปเรียกว่าลูกจ้างได้อย่างไร

พอศาลตัดสินมาบอกว่ากรณีนี้ไม่อาจใช้หลักกฎหมายมาพิจารณาได้ ต้องใช้หลักทั่วไป ต้องยึดถือตามความหมายของ ‘พจนานุกรม’ ตามพจนานุกรมใครจ่ายเงิน คนนั้นเป็นนายจ้าง ฝ่ายรับเงินเป็นลูกจ้าง จบเลย

แต่กรณีนี้ (ยุบ ทษช.) หลังจากมีบทเรียนมาจากคดีก่อนๆ เราพึงตระหนักได้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น เราไม่อาจใช้หลักกฎหมายเพียงอย่างเดียวมาวัดได้ เราต้องพิจารณาถึงพลังอำนาจของอุดมการณ์ทางการเมืองด้วย

กรณี ทษช. มีประเด็นหลักเรื่องเดียวคือการเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งไม่ต้องใช้ความรู้ทางนิติศาสตร์เท่าไหร่ แต่ใช้วิธีคิดทางการเมืองว่าจะตีความเรื่องนี้อย่างไร

ถ้าเราคิดถึงศาลรัฐธรรมนูญในตอนแรกที่ถูกตั้งขึ้น เขาคาดหวังว่าจะได้ผู้ที่มีความรู้ทางด้านกฎหมายมหาชนหรือกฎหมายรัฐธรรมนูญมาเป็นองค์ประกอบสำคัญ อันนี้เป็นความตั้งใจในปี 2540 หากเรามาดูชุดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปีนี้ ถามว่ามีใครเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญบ้าง

พอเป็นแบบนี้เลยเกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงที่ผ่านมา การตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นในโลกนี้เพราะความคาดหวังว่าจะได้คนที่พอจะมีความเชี่ยวชาญหรือหลักการส่วนหนึ่งที่สนใจเรื่องรัฐธรรมนูญที่พอจะให้คำตอบหรืออธิบายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแบบเสรีประชาธิปไตย

ผมคิดว่าสำหรับคนที่ติดตามการเมืองจะเห็นว่าพอมีการยึดอำนาจในปี 2549 ก็เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำให้องค์ประกอบของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเปลี่ยนไป เราเห็นว่า ‘ผู้พิพากษาอาชีพ’ เข้ามาเป็นองค์ประกอบมากขึ้น ก่อนหน้านั้นมีผู้พิพากษาอาชีพไหม มีแต่เป็นส่วนน้อย แต่หลังปี 2549 ผู้พิพากษาอาชีพเป็นเสียงข้างมาก แล้วมาเรื่อยๆ เป็นคนที่มาจากศาลปกครองและศาลยุติธรรมเป็นหลัก ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญก็คัดเลือกกันมาเป็นส่วนประกอบ ผมคิดว่านี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เราเห็น

หากเราดูแนวทางศาลรัฐธรรมนูญตัดสินมา ผมคิดว่าคำตัดสินครั้งนี้เดินตามแนวทางที่เคยทำมาหลังปี 2549 ซึ่งคำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญกับปัญหาทางการเมืองมันชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยจำนวนมากซึ่งยืนอยู่ตรงกันข้ามกับสถาบันที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วเป็นเสียงข้างมาก เขาไม่ได้ปฏิเสธสถาบันทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เขามีแนวโน้มที่จะเล่นเฉพาะพรรคการเมืองที่เป็นเสียงข้างมาก เมื่อไหร่เป็นเสียงข้างน้อย เช่น พรรคประชาธิปัตย์ก็จะอยู่ต่อไปได้

ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ยุบแค่พรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และไทยรักษาชาติ ศาลยุบมาเยอะแล้ว พรรคเล็กพรรคน้อยเต็มไปหมด แต่พลันที่มีคนร้องให้ยุบประชาธิปัตย์เนื่องจากใช้เงินที่ได้รับการอุดหนุนจาก กกต. ผิดประเภท คดีนั้นไปถึงศาลรัฐธรรมนูญและศาลบอกว่า กกต. ส่งเรื่องมาช้าไปเกินเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ กกต.ซึ่งเคยยื่นเรื่องยุบพรรคมาเกือบร้อยพรรค ไม่เคยยื่นผิดเวลา แต่พอเป็นพรรคประชาธิปัตย์กลับทำเกินเวลา

ที่บอกกันว่าสมัยนี้มีอภินิหารทางกฎหมาย มีคุณวิษณุ อย่าไปด่าเขา มันไม่ใช่ ไม่ใช่เขาคนแรก

แล้วคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์กันได้ไหมหรือต้องระวังเรื่องละเมิดอำนาจศาล     

การละเมิดอำนาจศาลไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญ หลักการพื้นฐานคือเราไม่ควรกระทำการใดๆ ที่ทำให้กระบวนวิธีพิจารณาคดีของศาลเดินต่อไปไม่ได้  เช่น ศาลพิจารณาคดีแล้วมีใครโดดขึ้นบนบัลลังก์ อย่างนี้คือละเมิดอำนาจศาล หรือไปเขียนด่าผู้พิพากษาว่าโง่ ชั่ว อันนี้คือละเมิด

แต่ถ้าเราวิจารณ์ด้วยความเห็นว่าการตัดสินแบบนี้ไม่ถูกต้อง วิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ใช่การด่าพ่อล่อแม่ เช่น การวิจารณ์ว่าการตัดสินนั้นออกมาไม่เป็นธรรม ทุกคนควรมีสิทธิที่จะได้พูด ไม่ใช่เฉพาะนักวิชาการ มันไม่ควรจำกัดอยู่ที่นักวิชาการ เพราะคนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษาเป็นชาวบ้าน

อย่างการตัดสินยุบ ทษช. สมมติพรรคเขาบอกว่ามันไม่เป็นธรรม เขาพูดได้ไหม ผมคิดว่าพูดได้ ถ้าเขารู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรม แต่เขาไม่ได้ปฏิเสธโทษ เขาก็รับโทษไป ผมยืนอยู่บนหลักว่าตราบเท่าที่เราไม่ได้ไปขัดขวางกระบวนพิจารณา ไม่ได้ไปด่า หรือข่มขู่ เราสามารถวิจารณ์ได้

ทำไมเราควรมีสิทธิวิจารณ์ เพราะผู้พิพากษาเหล่านี้ได้เงินเดือนมาจากภาษีของประชาชน ประชาชนเป็นผู้โอบอุ้มเลี้ยงดูและจ้างเขา เสียงวิพากษ์วิจารณ์คือเสียงสะท้อนของคนที่จ้าง แล้วเรื่องที่เขาตัดสินคดีก็ไม่ใช่เรื่องในบ้านผู้พิพากษา แต่เป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนสาธารณะ ทำไมคนในสังคมที่โอบอุ้มเลี้ยงดูพวกเขาจึงควรจะถูกตัดสิทธิ

การที่ตุลาการภิวัตน์เข้ามามีบทบาททางการเมือง ส่งผลอย่างไรต่อสังคมไทย    

ส่วนหนึ่งที่เกิดตุลาการณ์ภิวัตน์ในสังคมไทยมันสอดคล้องกับกระแสโลกในช่วงปลายศตวรรษที่ 20-21 ศาลเข้าไปทำหน้าที่ในเรื่องต่างๆ มากขึ้น หรือที่บางคนเรียกว่าเป็นการเข้าไปตีความแบบก้าวหน้า ประเทศอื่นๆ ก็มีที่ศาลเข้าไปมีบทบาทเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะของสังคมในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ซึ่งมันมาพร้อมกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ของไทย เพราะฉะนั้นมันเป็นส่วนหนึ่งของกระแสโลก

แต่สำหรับเมืองไทยการเกิดขึ้นของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะชนชั้นนำไทยรู้สึกว่านักการเมืองเป็นปัญหา การออกแบบศาลรัฐธรรมนูญในไทย แง่หนึ่งก็มีมาเพื่อควบคุมนักการเมือง พร้อมกับองค์กรอิสระอื่นๆ ด้วย เช่น กกต. ปปช. ผมคิดว่านี่เป็นไอเดียที่เกิดแต่แรก

หลังรัฐประหาร 2549 ผมมองว่านี่คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้กระบวนการสรรหาจากเดิมที่ค่อนข้างสัมพันธ์กับสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งค่อยๆ ถอยห่างออกไปหรืออีกนัยหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ห่างไกลจากอำนาจอธิปไตยของประชาชน

ในปี 2540 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ตอนนั้นวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง แต่พอมาปี 2550 วุฒิสภาประมาณครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง อีกครึ่งจากเลือกตั้ง นี่เรายังไม่พูดถึงวุฒิสภาที่มาจาก คสช. ล้วนๆ

ในแง่ผลงาน ศาลรัฐธรรมนูญในต่างประเทศที่ถูกเรียกว่า judicial activism เป็นเพราะศาลเข้าไปตีความหรือทำหน้าที่ขยายสิทธิเสรีภาพประชาชน เช่น ตีความว่าเมื่อมีการรับรองสิทธิในที่อยู่อาศัยของประชาชน รัฐจะไม่สามารถมาไล่คนไร้บ้านไปได้ หากตัวเองไม่สามารถหาที่อยู่อาศัยให้พวกเขาได้ นี่คือกรณีในอินเดีย

แต่ในเมืองไทย พอจะมีกรณีขยายสิทธิเสรีภาพประชาชนอยู่บ้าง แต่ศาลจะขยายสิทธิเหล่านั้นในแง่มุมที่ไม่แตะกับอำนาจรัฐ ถ้ากรณีไหนแตะกับอำนาจรัฐ อันนี้เขาไม่รับ เช่น เรื่องสิทธิชุมชนที่ผลักดันกันตั้งแต่ปี 2540 ศาลรัฐธรรมนูญกลับบอกว่าแม้จะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มี พ.ร.บ.รับรองสิทธิดังกล่าว สิทธินี้จึงยังไม่สามารถบังคับได้

หากเรารับรองสิทธิชุมชน มันจะทำให้หน่วยงานรัฐจำนวนมากเผชิญปัญหา ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ แต่หน่วยงานรัฐจะเอาพื้นที่ไปทำอะไรแบบง่ายๆ เช่น เอาไปให้บริษัทเอกชนทำเหมืองสัมปทาน มันจะทำไม่ได้ง่ายๆ เพราะมีคนอ้างสิทธิว่าเราเป็นชุมชนในพื้นที่ได้

เพราะฉะนั้นการรับรองสิทธิชุมชนในสังคมไทย คนที่สู้ก็จะไปผลักดันให้ออกเป็น พ.ร.บ. แต่ผมคิดว่ามันไม่ใช่ปัญหาที่เราไม่มีพ.ร.บ. แต่เป็นปัญหาว่าเรื่องนี้มันเป็นสิทธิที่กระทบอำนาจรัฐอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นกฎหมายนี้ยากมากที่จะออกมา หรือถ้าออกมาก็ไม่ถูกบังคับใช้ เพราะมันกระทบกับอำนาจรัฐเหนือดินแดนที่เป็นมาอย่างยาวนาน ดังนั้นอย่าหวังว่าเมื่อมีการเขียนสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญแล้วจะทำให้เกิดการรับรอง

จนกระทั่งวันนี้ เราเห็น คสช. ทวงคืนผืนป่าในความหมายที่ว่ามันเป็นของรัฐ หากมันไม่ใช่ของรัฐแล้วคุณจะทวงคืนได้อย่างไร นโยบายนี้ชัดเจนว่ารัฐคิดว่านี่เป็นพื้นที่ของเขา

ถามว่ามีเรื่องไหนที่ศาลรัฐธรรมนูญขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็พอมี เช่น เรื่องคำนำหน้านามของผู้หญิง หรือเรื่องการที่แต่งงานแล้วต้องเปลี่ยนนามสกุล เรื่องแบบนี้ศาลบอกว่าขัดกับหลักความเสมอภาค

อาจารย์เคยทำวิจัยเกี่ยวกับตุลาการภิวัตน์ไว้ด้วย พบอะไรที่น่าสนใจและมีผลกระทบกับสาธารณะ

การเมืองหลังปี 2549 ผมเรียกว่า ‘ตุลาการปฏิปักษ์ประชาธิปไตยเสียงข้างมาก’ ในงานวิจัยของผม ศึกษาคดีที่เข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยดูว่าใครเป็นจำเลย ใครเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก หรือใครเป็นพรรคการเมืองเสียงข้างมาก หรือถ้าไม่เป็นก็คืออยู่ฝ่ายเดียวกับเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง ก็จะมีแนวโน้มสูงที่จะมีคำวินิจฉัยไม่เป็นผลดีกับฝ่ายนั้น นี่เป็นข้อสรุปจากงานวิจัยซึ่งผมได้รับทุนจากสำนักงานสนับสนุนกองทุนส่งเสริมการวิจัย (สกว.) ชื่อว่า ‘การเมืองเชิงตุลาการและศาลรัฐธรรมนูญไทย’ ความยาวประมาณ 500 กว่าหน้า

ผมนั่งอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 ถึงปี 2557 หลายร้อยฉบับ ก่อนปี 2557 คดีของศาลมีเยอะมาก แต่หลังปี 2557 มันน้อยลง มีคนไปร้องอยู่ แต่เราไม่ค่อยเห็นคำวินิจฉัยออกมา คดี ทษช. น่าจะเป็นคดีต้นๆ ของปีนี้

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

นอกจากศาลรัฐธรรมนูญ เราเห็นการขึ้นศาลปกครอง – ศาลคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องปกติทั่วโลกหรือไม่ และส่งผลต่ออำนาจตุลาการในไทยอย่างไร

บางประเทศไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ ใช้ศาลยุติธรรมปกติ ถ้าถามว่ามีการตีความของศาลอย่างก้าวหน้ามีไหม มี แต่บางประเทศก็ตีความได้น่าสนใจ อย่างในแอฟริกาใต้ช่วงก่อนและหลังยุคแบ่งแยกสีผิว (apartheid) ซึ่งยุคนั้นคนดำกว่า 80% ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ก่อนการยกเลิกนโยบายนี้ บทบาทของศาลไม่ค่อยมี ผู้นำพูดว่าหากใครให้ศาลเข้ามาตรวจสอบอำนาจนิติบัญญัติ หลักการเช่นนี้มาจากนรก ปีศาจ เพราะนิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้ง พูดแบบนี้คือเขาสนับสนุนการเลือกตั้งเพราะว่าคนขาวเท่านั้นที่มีสิทธิเลือกตั้ง เป็น 20% ของประเทศ

พอยกเลิกนโยบาย พรรคคนดำชนะ มีการร่างรัฐธรรมนูญ กลายเป็นว่าคนขาวผลักดันให้มีศาลรัฐธรรมนูญและพอมีข้อขัดแย้ง คนจำนวนหนึ่งก็บอกว่าเราต้องให้ศาลทำหน้าที่ตัดสินข้อพิพาท จากเดิมที่บอกว่าเป็นหลักคิดของปีศาจ เป็นเพราะว่าพอระบบการเลือกตั้งเปลี่ยน อำนาจได้ถ่ายโอนจากคนขาวเป็นคนดำ แต่สถาบันตุลาการยังครอบครองไว้โดยชนชั้นนำเดิม รัฐธรรมนูญใหม่เปิดโอกาสให้ศาลเข้ามาทำหน้าที่ในการชี้ขาด

เมื่อเป็นเช่นนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือศาลรับรองกรรมสิทธิเอกชนเหนือที่ดินอย่างเข้มแข็ง รัฐไปเวนคืนไม่ได้ เพราะที่ดินเป็นของคนขาวส่วนใหญ่ มันฟังดูดีนะ แต่คุณต้องถามว่าในโลกของความเป็นจริงมันเป็นไปอย่างไร พอมีคนเรียกร้องสิทธิสวัสดิการจากรัฐในเรื่องที่อยู่อาศัยที่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ศาลก็ยอมรับการบัญญัติไว้ แต่บอกว่ามันขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ด้านงบประมาณของแต่ละรัฐบาล ถ้ารัฐมีเงินไม่เยอะก็ทำไม่ได้ คือศาลไม่บังคับให้

ตัวอย่างของแอฟริกาใต้ นักวิชาการชื่อ Ran Hirschl เสนอคำว่า juristocracy หรือหลักตุลาการธิปไตย ซึ่งเป็นหลักที่ตุลาการเป็นคนชี้ขาดในเรื่องต่างๆ เขาทำให้เราเห็นว่าจากบทเรียนของแอฟริกาใค้ สถาบันตุลาการทำหน้าที่เป็นพวกธำรงอำนาจนำดั้งเดิม

ผมว่าน่าสนใจเพราะนักเรียนกฎหมายไทยเรามักไม่ได้วิเคราะห์สถาบันตุลาการในเงื่อนไขทางการเมือง เรามักคิดว่าสถาบันตุลาการคือฝ่ายที่ทำหน้าที่ชี้ขาดข้อพิพาทด้วยหลักวิชา เป็นกลาง เป็นธรรม

ตอนนี้เราจะสามารถอธิบายบทบาทของสถาบันตุลาการให้สัมพันธ์กับโลกความจริงได้มากน้อยขนาดไหน ผมคิดว่านี่เป็นกระแสระดับโลก เราเริ่มมีการศึกษาบทบาทของตุลาการในแง่มุมเปรียบเทียบมากขึ้นโดยฝรั่ง มันทำให้เราเห็นตุลาการที่เป็นจริงมากขึ้น ไม่ใช่ตุลาการที่เป็นอิสระ ปลอดจากอคติ ตอนนี้ถ้าเรามองสถาบันตุลาการด้วยสายตาว่าเขาเป็นสถาบันทางการเมืองประเภทหนึ่ง หน้าที่ที่เขาทำมีผลประโยชน์ จุดยืน อุดมการณ์บางอย่างกำกับอยู่ ผมคิดว่าถ้าอ่านแบบนี้เราจะเห็นตุลาการในแง่มุมที่ต่างไปจากเดิม

ทำไมถึงควรมองว่าศาลมีผลประโยชน์ มีอุดมการณ์ได้

โดยความเชื่อพื้นฐาน ผมไม่เชื่อว่าศาลจะตัดสินเรื่องต่างๆ โดยปราศจากอคติ ซึ่งผู้พิพากษาบางคนอาจจะไม่ชอบเพราะถูกแปลในแง่ลบ แต่ทัศนะของผมคือเราตัดสินหรืออธิบายเรื่องบางเรื่องไปตามประสบการณ์ส่วนตัว ความรู้ภูมิหลัง อุดมการณ์ทางศาสนา ผมมีความเชื่อพื้นฐานเป็นแบบนั้นมาตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นลักษณะแบบนี้มันอยู่ในคำตัดสินของศาลมาตั้งแต่ต้น เพียงแต่สังคมไม่ค่อยสนใจ

ที่ผ่านมาจะพบว่าในหลายคดีที่ตัดสินแล้ว ทำไมทำให้เรารู้สึกเคลือบแคลง สิ่งที่ควรจะทำคือสังคมอย่าไว้วางใจอำนาจตุลาการ อำนาจตุลาการต้องถอยกลับไปอยู่กับหลักเกณฑ์มากขึ้น ต้องตัดสินเรื่องต่างๆ ตามกฎเกณฑ์มากขึ้น เช่น หากคุณเป็นศาลรัฐธรรมนูญ คุณต้องกลับไปอยู่กับหลักการของระบบรัฐธรรมนูญแบบเสรีประชาธิปไตยมากขึ้น

อย่างกรณียุบ ทษช. คำถามส่วนตัวของผมคือถ้าหากผิดจริง ทำไมวันที่ ทษช. ไปยื่นรายชื่อผู้เสนอเป็นนายกรัฐมนตรี วันนั้นเลขาฯ กกต. กลับตอบว่าสามารถขึ้นป้ายรับสมัครได้เลย ถ้าอย่างนั้น เลขาฯ กกต. ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองได้กระทำไปหรือไม่ นี่กลายเป็นว่าหน่วยงานรัฐไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น

อีกเรื่องที่เห็นอาจารย์พูดบ่อย คือศาลรัฐธรรมนูญเป็นเพียงหน่วยย่อยนิดเดียวในสถาบันศาลทั้งหมด พอคนเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ ก็ลามมาถึงสถาบันศาลยุติธรรมตามปกติด้วย คนเริ่มออกมาตั้งคำถามว่าตุลาการเงินเดือนก็เยอะ ได้สวัสดิการดี เช่น กรณีบ้านพัก อาจารย์มองปรากฏการณ์นี้อย่างไรบ้าง 

คนจำนวนหนึ่งอาจพูดว่าวิจารณ์ทำไม เดี๋ยวมันจะทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือ ผมคิดว่าปัญหาเรื่องนี้มันไม่ได้อยู่ที่คำวิจารณ์ แต่มันอยู่ที่ว่าผู้พิพากษาหรือคนที่ทำงานในกระบวนการยุติธรรมสามารถให้คำตอบกับเรื่องนั้นๆ ได้อย่างมีเหตุมีผลหรือไม่

ถ้ามีคนมาตั้งคำถาม เช่น กรณีบ้านพักตุลาการที่เชียงใหม่ ก็ต้องตอบคำถามว่าทำไมถึงขึ้นไปตั้งอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น เพราะคนจำนวนหนึ่งอาจจะรู้สึกว่าทำไมไม่ไปหาพื้นที่อื่น ทำไมต้องไปอยู่บนพื้นที่ป่า แต่คำตอบที่ได้คือตุลาการทำตามกฎหมาย เป็นพื้นที่ราชพัสดุ คำถามที่น่าสนใจคือเราอยู่ในสังคมเดียวกันหรือเปล่า ทำไมเราถึงมองเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน หรือว่าประชาชนที่อยู่ในสังคมโง่ไม่มีสติปัญญาเพียงพอที่จะมองเรื่องนี้ หรือเป็นเรื่องที่ฝ่ายตุลาการมองว่าเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของตนเองเป็นแบบนี้หรือเปล่าเราก็ไม่รู้ เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน

เรามองเรื่องนี้ต่างกันอย่างสิ้นเชิงจนน่าตกใจ กรณีบ้านป่าแหว่ง น่าจะเป็นตัวอย่างที่สะท้อนว่าโลกมันมีสองใบ ไม่รู้ว่าใครสร้างไว้ แต่เรามีโลกสองใบที่ห่างไกลกันเหลือเกิน โลกใบหนึ่งคือโลกที่มีตุลาการในสังคมไทยอยู่ กับอีกโลกคือโลกที่มีประชาชนคนไทยอยู่ และเราอาจต้องตอบว่าโลกใบไหนเป็นปัญหามากกว่ากัน

ในหลายเรื่องไม่สามารถคิดโดยใช้ตรรกะทางกฎหมายล้วนๆ โดยไม่สัมพันธ์กับบริบทแวดล้อม เช่นเมื่อไหร่ที่จะตัดสินเกี่ยวกับเรื่องทรัพยากร ถ้าหากเราไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชุมชนเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ เราก็จะได้คำตัดสินว่ามันเป็นพื้นที่ป่าตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นทักษะความรู้ที่มันแข็งตัวของนักกฎหมายต้องถูกปรับ ไม่อย่างนั้นสังคมวุ่นวายแน่

ดังนั้นถ้าหากจะให้คิดแบบใช้กฎหมายอย่างเดียว ผมคิดว่าเราต้องพูดถึงกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค คสช. ผมอยากจะเรียกว่านี่มันเป็นโรงงานนรก คุณผลิตกฎหมายกันเหมือนเป็นโรงงาน (หัวเราะ)

กฎหมายจำนวนมากที่ผ่านในช่วง สนช. กี่ร้อยฉบับ กฎหมายในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2475 ถึงปี 2557 เรามีการออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติประมาณ 700 ฉบับ แต่ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปี 2562 เรามีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเพิ่มขึ้นอีก 420 ฉบับ แล้วกฎหมายที่ออกมาจำนวนมากก็ถูกโต้แย้งอย่างต่อเนื่อง

ตอนนี้กฎหมายหลายๆ เรื่องยังไม่ถูกบังคับใช้เท่าไหร่ โดยจารีตคือเมื่อไหร่ที่เดินเข้าสู่การเลือกตั้ง อำนาจที่บังคับก็จะแผ่วๆ ลง อย่างเรื่องทวงคืนผืนป่า ตอนเข้ามาใหม่ๆ ดำเนินการเข้มข้น แต่พอใกล้เข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งก็เบาบางลง

อาจารย์บอกว่าผู้พิพากษาไม่ควรใช้กฎหมายจากตัวบทอย่างเดียว แต่ต้องใช้อย่างอื่น การเรียนการสอนกฎหมายได้สอนความรู้อื่นๆ นอกจากกฎหมายสำหรับคนที่จะไปเป็นผู้พิพากษาในอนาคตหรือไม่

โดยทั่วไปเวลาเขียนกฎหมาย มันจะเป็นการเขียนหลักการในเชิงนามธรรม ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้พิพากษาสามารถใช้เหตุผลเข้าไปประกอบเพื่อตีความหรือใช้กฎหมายให้มันส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เพื่อความเป็นธรรม แต่วัฒนธรรมการตีความกฎหมายแบบนั้นในบ้านเรามันไม่เห็นเท่าไหร่

ในแง่นี้เลยค่อนข้างยาก เพราะการเรียนการสอนกฎหมายในบ้านเราเป็นการสอนภายใต้อิทธิพลแบบวิชาชีพนำ คือเรียนเพื่อให้สามารถรู้และใช้กฎหมายเป็น มันจึงเป็นการท่องตัวบทว่าตัวบทเป็นอย่างไรและถูกใช้อย่างไร แล้วต้องตีความอย่างไร มีแนวคำพิพากษาวางไว้อย่างไร พอมันเป็นอิทธิพลแบบนี้ก็เป็นการครอบงำของวิชาชีพ ทำให้คนเรียนและคนสอนกฎหมายจะอยู่ภายใต้กรอบนี้

อาจจะมีบางส่วนที่พยายามแหวกออกไปจากกรอบนี้ แต่ในกระแสหลักการสอนที่ออกนอกกรอบนี้จะถูกตั้งคำถาม อย่างวิชาที่ผมสอนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีวิชานิติปรัชญา กฎหมายกับสังคม กฎหมายกับโลกสมัยใหม่ ซึ่งเป็นวิชาที่ไม่ได้เอาไปทำมาหากิน แต่ช่วยให้เข้าใจกฎหมายในมิติต่างๆ

ในแง่หนึ่งผมคิดว่าเป็นปัญหาของสถาบันการศึกษา และความคาดหวังของคนที่เข้ามาเรียนเอง  ในฐานะคนสอนกฎหมายในมหาวิทยาลัย ผมยืนยันว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้สอนช่างกฎหมาย แต่เราสอนคนที่จะไปเรียนรู้ทำความเข้าใจและนำกฎหมายไปใช้ในสังคมอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ดังนั้นมันจำเป็นต้องมีมิติอื่นๆ ที่จะทำให้เราเข้าใจตัวกฎหมายและบริบททางสังคมต่างๆไปด้วย

ตุลาการกับประชาธิปไตยเกี่ยวโยงกันอย่างไร        

ตุลาการเป็นได้ทั้งสถาบันที่สามารถช่วยทำให้ระบอบประชาธิปไตยลงหลักปักฐานได้อย่างมั่นคง หรืออาจจะเป็นสถาบันที่ไปสั่นคลอนระบอบประชาธิปไตยได้เช่นเดียวกัน

มีกรณีที่คณะรัฐประหารใช้อำนาจลงโทษฝ่ายต่อต้านการรัฐประหาร หลายประเทศใช้ศาลเป็นเครื่องมือและศาลก็ยอมตัดสินลงโทษบุคคลต่างๆ ในแง่นี้เท่ากับว่าสถาบันตุลาการกำลังส่งเสริมอำนาจของคณะรัฐประหาร แต่ก็มีหลายประเทศที่ศาลมีท่าทีที่แตกต่างออกไป

สถาบันตุลาการเป็นสถาบันที่จำเป็นสำหรับสังคมสมัยใหม่ เพราะเวลาเกิดข้อพิพาทเราต้องการสถาบันที่มาตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทนั้น ใครถูกใครผิดอย่างไร แต่ว่าเพียงการมีอยู่ของสถาบันตุลาการไม่ได้หมายความว่าจะทำให้มีการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันกับระบบประชาธิปไตยเสมอไป ในโลกนี้มีหลายประเทศที่ตุลาการหันหลังให้ระบอบประชาธิปไตย

ส่วนประเทศไทย ถ้ายึดเอาตั้งแต่คำพิพากษาที่ 45/2496 ซึ่งมีคนไปร้องว่ารัฐธรรมนูญที่เขียนโดยคณะรัฐประหารไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีนั้นถือว่าเป็นต้นกำเนิดของการรับรองอำนาจของคณะรัฐประหารในระบบกฎหมายไทย

ในทางประวัติศาสตร์ ศาลไทยเคยท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหาร ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เคยออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการตุลาการโดยเพิ่มเอาฝ่ายการเมืองเข้าไป ในช่วงนั้นฝ่ายตุลาการคัดค้านคำสั่งนี้โดยการแต่งชุดดำประท้วงทั้งศาล เพียง 3 วัน 7 วันเท่านั้น คณะรัฐประหารก็ยกเลิกคำสั่งนี้ ในกรณีนี้เป็นการยืนหยัดเพื่อต่อสู้ปกป้องความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ซึ่งเขาบอกว่าสิ่งสำคัญหากมีอำนาจภายนอกแทรกแซงก็จะเป็นปัญหา แต่สิ่งที่ผมจะบอกคือฝ่ายตุลาการไทยไม่ใช่ไม่เคยหันหลังให้กับอำนาจคณะรัฐประหาร เคย แต่ไม่บ่อย

ทำไมตุลาการภิวัตน์ ถึงประสบความสำเร็จในประเทศไทย 

ถ้าจะตอบแบบให้สั้นที่สุด ผมอยากให้อ่านบทความของอาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ ในวารสารมิติสังคมศาสตร์ มช. ฉบับ ‘เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน’ ตีพิมพ์ปี 2559 อาจารย์ไม่ใช่นักกฎหมายแต่เป็นนักประวัติศาสตร์ อาจารย์อธิบายว่าทำไมอำนาจตุลาการจึงสามารถขยายบริเวณเข้ามาในการเมืองไทยได้

ถ้าพูดสรุปคือความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจตุลาการสืบเนื่องมาในสังคมการเมืองไทยและในช่วงจังหวะที่สถาบันทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเสื่อมอำนาจลง สิ่งที่เกิดขึ้นคือฝ่ายที่ต้องการควบคุมสถาบันทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งก็หยิบยืมเอาสถาบันที่มีต้นทุนสูงที่สุดคือฝ่ายตุลาการมาใช้ เพราะฉะนั้นตุลาการภิวัตน์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยจึงมีเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ประกอบอยู่ด้วย เพราะเขามีต้นทุนบางอย่างในทางประวัติศาสตร์และในทางวัฒนธรรม

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

 

ปัจจุบันมีประเทศ ไหนบ้างที่มีความคล้ายคลึงในกรณีตุลาการภิวัตน์กับไทย       

แอฟริกาใต้ ผมคิดว่าบรรยากาศคล้ายกับสังคมไทย เป็นสังคมที่เดิมการเลือกตั้งสามารถถูกกำกับโดยชนชั้นนำ แต่พอหลังปี 2540 เป็นต้นมา เมื่อมีพรรคไทยรักไทย ปรากฏว่าชนชั้นนำเดิมไม่สามารถกำกับสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้ สังเกตว่าเมื่อไหร่ที่มีการยุบพรรค ก็จะเกิดพรรคใหม่ขึ้นมาแทน แต่เวลาเลือกตั้งคนกลุ่มนี้ก็ยังชนะ ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง สถาบันตุลาการก็ค่อยๆ ขยายเข้ามา

สิ่งที่เหมือนกันคือเมื่อชนชั้นนำเดิมไม่สามารถจัดการกับสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้ สถาบันตุลาการจะถูกยกขึ้นมาบนเงื่อนไขที่ว่าสถาบันตุลาการในสังคมนั้นมีสถานะความน่าเชื่อถือ

เมื่อสถาบันตุลาการเข้ามา เขาจะทำหน้าที่ธำรงอำนาจนำดั้งเดิม (hegemonic preservation)  ผมอยากเพิ่มเติมว่าการศึกษาเรื่องบทบาทตุลาการในโลกสมัยใหม่ มีคนศึกษากันเยอะมาก แม้ว่าการศึกษาตุลาการไม่ทำให้สถาบันตุลาการในสังคมนั้นถูกยกเลิก แต่จะทำให้เรามองเห็นภาพของตุลาการที่เป็นจริง รวมถึงกรณีที่ตุลาการออกนอกลู่นอกทาง

แล้วการศึกษาทำความเข้าใจสถาบันตุลาการในประเทศไทยเป็นอย่างไร               

ผมคิดว่ายังอยู่ในระยะการศึกษาเบื้องต้น คือมีคนทำ แต่ยังไม่เยอะมากพอ ยังนับนิ้วมือได้ หรือก็เป็นการศึกษาแบบ normative approach ซึ่งดูองค์ประกอบไปตามตัวบทตามหน้าที่ปกติของศาล ซึ่งการศึกษาแบบนี้จะไม่ทำให้เราเข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ เราต้องศึกษาเชิงเปรียบเทียบถึงบทบาทหน้าที่ของสถาบันตุลาการ การเปรียบเทียบในเมืองไทยเป็นข้ออ่อนของนักรัฐศาสตร์และนักนิติศาสตร์

นักนิติศาสตร์ไทยจะศึกษาแบบ normative approach ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีกี่คน มีหน้าที่อย่างไร ส่วนนักรัฐศาสตร์มักไม่ศึกษาสถาบันตุลาการ อาจเป็นเพราะความไม่คุ้นเคยหรือเชื่อว่าเป็นเรื่องของกฎหมายหรือสถาบันตุลาการย่อมเป็นธรรม เป็นอิสระ

แต่ทั้งสองศาสตร์ไม่ค่อยศึกษาสถาบันตุลาการในแง่ของการเมืองตามความเป็นจริง ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันตุลาการในประเทศไทยมันไม่กว้างขวางนัก แต่หลังจากปี 2550 เป็นต้นมา เราเริ่มเห็นว่าปรากฏการณ์นี้เริ่มเปลี่ยนไป เริ่มมีงานวิจัยมากขึ้นที่เกี่ยวข้องกับสองด้าน

สถาบันตุลาการควรจะยึดโยงกับประชาชนได้มากกว่านี้หรือไม่ เพื่อทำให้ผู้คนยอมรับและไว้วางใจสถาบันตุลาการได้มากขึ้น

การยึดโยงมีได้หลายแบบ ตั้งแต่กระบวนการเข้ามา เช่น สหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีเป็นคนเสนอศาลสูง แล้วให้วุฒิสภาเป็นคนเห็นชอบ ทั้งคนเสนอและคนเห็นชอบล้วนมาจากการเลือกตั้ง การยึดโยงกับประชาชนไม่ใช่ให้ประชาชนไปโหวตให้คนเป็นผู้พิพากษา เพราะหน้าที่ของฝ่ายตุลาการต้องอาศัยความรู้และความเชี่ยวชาญ แต่ในขั้นตอนการแต่งตั้งควรจะมีกระบวนการที่สัมผัสกับประชาชน

ถามว่าทำอะไรได้บ้าง เช่น ควรต้องเปิดโอกาสให้สังคมสามารถวิจารณ์คำพิพากษา วิจารณ์การทำงานของตุลาการได้เต็มที่ หรืออย่างน้อยต้องเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและคำวินิจฉัยได้อย่างเปิดเผยกว้างขวาง

ที่ผ่านมาบางช่วงผมเคยศึกษาเรื่องเพศวิถีในคำพิพากษา ผมศึกษาว่าศาลฎีกาตัดสินอย่างไรบ้าง คำพิพากษาศาลฎีกาไม่ได้เปิดเผยทั้งหมด 100% ทุกคดี เขาเปิดเผยบางส่วน ไม่แน่ใจว่าสมัยนี้ยังเป็นแบบนั้นอยู่หรือไม่ สมมติมีการตัดสิน 150 คดีเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ เขาอาจจะตีพิมพ์แค่ 100 คดี แต่ส่วนที่เหลือไม่ได้ตีพิมพ์ ซึ่งส่วนที่เหลือก็มีคุณค่าที่สังคมควรจะได้เห็นว่าเวลาเขาเถียงกัน เถียงกันอย่างไร ผมคิดว่านี่เป็นข้อมูลที่ต้องเปิดโอกาสให้เข้าถึงได้ และความน่าเชื่อถือมันไม่ได้อยู่ที่คนวิจารณ์ แต่มันอยู่ที่คุณตอบคำถามได้ชัดเจนมากน้อยขนาดไหน

นอกจากนั้นควรเปิดโอกาสให้มีกระบวนการถอดถอน ถ้าการกระทำนั้นนอกลู่นอกรอย เช่น ตีความกฎหมายกลับด้าน

เป็นไปได้ไหมที่ฝ่ายตุลาการจะถูกตรวจสอบ          

เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ตอนนี้ยังเป็นไปไม่ได้ (หัวเราะ)

สามารถตรวจสอบศาลที่ทำผิดพลาดได้ ?                 

ตอบในเชิงวิชาการคือเคยมีคดีของคุณจินตนา แก้วขาว โดนข้อหาคดีบุกรุก ในการพิจารณามีพยานบุคคลชุดหนึ่ง ศาลชั้นต้นบอกว่าพยานชุดนี้มีความเคลือบแคลงไม่น่ารับฟัง แต่ศาลอุทธรณ์กลับบอกว่ารับฟังได้และพิพากษาลงโทษ คำถามคือพยานชุดเดียวกันแต่ศาลรับฟังไปคนละทาง ศาลล่างรับฟังด้วยหูตาจมูก ส่วนศาลอุทธรณ์ดูจากพยานเอกสาร การฟังพยานแบบใดน่าเชื่อถือกว่ากัน

ถ้าตอบในแง่ของโครงสร้าง เขาจะบอกว่าศาลอุทธรณ์เป็นศาลทบทวน อาจจะเปลี่ยนศาลชั้นต้นได้ แต่ถ้าหากว่าเกิดปรากฏการณ์แบบนี้ขึ้นบ่อยๆ จะเป็นอย่างไร

ในอนาคตหากมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญจะยังสามารถอ้างจารีตประเพณีดั้งเดิมอยู่ได้หรือไม่ ปัญหาในปัจจุบันอยู่ที่ศาลหรืออยู่ที่รัฐธรรมนูญ อะไรทำให้การตีความต้องอ้างจารีตไม่อิงตัวบทกฎหมาย      

ถ้าตอบคำถามนี้จริงๆ ผมคิดว่าเราเตรียมตัวรับหลายข้อหาละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ คดียุบ ทษช. ก็มีความลำบากในการวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา

ในสหรัฐอเมริกา มีคนพูดกันว่าเวลาศาลจะตัดสินอะไร อย่าไปคิดว่ามันขึ้นกับหลักกฎหมายมากนักเลย เอาเข้าจริงมันขึ้นอยู่กับรสนิยม ภูมิหลัง ประสบการณ์ หรือกระทั่งทานอาหารเช้ามาไม่ถูกปาก (หัวเราะ) เราแทบจะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าศาลจะใช้หลักกฎหมายหรือใช้สิ่งที่เป็นคติส่วนตัว

น่าสนใจว่าวิธีคิดแบบนี้จะสามารถนำมาใช้ในเมืองไทยได้หรือเปล่า ผมคิดว่ามันคงไม่ไปถึงขนาดเรื่องอาหารเช้าไม่ถูกปาก แต่ในบ้านเราจากการอ่านคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าเราเห็นอุดมการณ์ทางการเมืองของตุลาการว่าจะดึงเอาอะไรมาเป็นหลักการในการตัดสินคดี

ถึงที่สุดศาลรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมีไหม

บางประเทศก็ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ เขาใช้วิธีโยนข้อขัดแย้งต่างๆ ไปให้ศาลปกติเป็นผู้ตัดสิน เพราะยังไงต้องมีคนวินิจฉัยชี้ขาด ถ้าเปรียบเทียบกับทั่วโลก ศาลรัฐธรรมนูญจะมีหรือไม่มีก็ได้ เพียงแต่ว่าในประเทศในยุคหลังๆ และประเทศที่เกิดใหม่ในปลายทศวรรษ 1990 มีแนวโน้มจะมีศาลรัฐธรรมนูญเพื่อชี้ขาดข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพหรือปัญหาทางรัฐธรรมนูญ ถามว่าทุกประเทศที่เกิดขึ้นบนโลกนี้จำเป็นต้องมีไหม ก็ไม่ ประเทศไทยก่อนปี 2540 ก็ไม่มี ก่อนหน้าเราจะใช้เป็นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ

อาจารย์มองระบบการสอบผู้พิพากษาอย่างไร โดยเฉพาะถ้าไม่เชื่อมโยงกับประชาชน        

ตอบสั้นๆ คือ การสอบผู้พิพากษาในเมืองไทยนั้น หลักการพื้นฐานคือจบ ป.ตรี นิติศาสตร์ เรียนเนติบัณฑิต เก็บคดี 20 คดี ก็มีคุณสมบัติสอบได้

อาจารย์ต่างชาติท่านหนึ่งที่ผมรู้จักมาถามผมเรื่องระบบการสอบผู้พิพากษา ผมก็เล่าให้ฟัง เล่าเสร็จ อาจารย์ท่านนี้ตาเบิกกว้างและถามว่าจริงหรือ แล้วเขาก็อธิบายวิธีการคัดเลือกตุลาการในบ้านเข้าให้ฟัง พอฟังเสร็จแล้วผมก็ตาเบิกกว้างแล้วถามเขากลับไปว่าจริงเหรอ เขาบอกว่าคนที่จะเป็นผู้พิพากษาในบ้านเขาต้องทำงานเกี่ยวกับกฎหมายเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 10-20 ปี แล้วถูกเสนอชื่อจากองค์กรวิชาชีพที่มีความน่าเชื่อถือ

คนจะเป็นผู้พิพากษาได้ต้องมีความน่าเชื่อถือ มีความไว้วางใจระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นระบบการคัดเลือกผู้พิพากษาในเมืองไทยไม่ใช่ระบบปกติที่ใช้กันในโลก

แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้ประชาชนรู้สึกถูกละเมิดจากตุลาการ

ทำให้ตุลาการยึดโยงกับประชาชน ถ้ามีการยึดโยงก็อาจจะทำให้การละเมิดประชาชนไม่เกิดขึ้น แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ตุลาการหลุดลอยออกไปจากประชาชน ชนิดที่ไม่สามารถกำกับควบคุมได้เลย เสมือนอยู่กันบนโลกคนละโลกตอนนั้นน่าจะเป็นปัญหา

อาจารย์คิดว่าสังคมไทยถึงจุดต่ำสุดของความสง่างามในกระบวนการยุติธรรมหรือยัง      

ผมคิดว่าหลังวันที่ 24 มีนาฯ เมื่อมีการเลือกตั้งเสร็จ จะทำให้เราเห็นคำตอบนี้ชัดเจน

อาจารย์พูดเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ศาลมาตลอด นี่เป็นเหตุผลให้อาจารย์มาศึกษาเรื่องนี้หรือไม่ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมกลับมาสง่างาม

จริงๆ มันก็มีเหตุผลอื่นที่ผมพูดไม่ได้ เพราะผมก็สนใจเป็นการส่วนตัว ในแง่หนึ่งมันก็เป็นพื้นที่ว่างในเชิงวิชาการ อีกแง่หนึ่งคือตั้งแต่ตอนเรียนหนังสือหรือทำงาน ผมมักจะต้องสัมพันธ์กับกระบวนการยุติธรรมในฐานะที่ต้องไปยืนอยู่กับฝ่ายที่ถูกกระทำ เช่น ไปเป็นพยานให้จำเลย ให้ความเห็นกับชาวบ้านที่ต้องติดคุก นักกิจกรรมที่ถูกจับ ส่วนใหญ่แล้วผมต้องไปยืนอยู่ฝั่งนี้ มันทำให้เราเห็นโลกของกระบวนการยุติธรรมในแบบที่ต่างไปจากที่เราเคยถูกปลูกฝังมา ในสมัยที่เราเรียนหนังสือ เราคิดว่ามันเป็นโลกที่สะอาด เป็นกลาง เป็นธรรม แต่ในความจริงมันไม่ใช่แบบนั้น

สถาบันตุลาการเป็นสถาบันที่ควรมี แต่ไม่ควรจะแตะต้องไม่ได้ ตราบใดที่ยังกินเงินภาษีของประชาชน ถ้าไม่มีประชาชน สถาบันตุลาการอยู่ไม่ได้ อำนาจทางกฎหมายของตุลาการนั้นถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์มาก ผมเห็นว่าหลายเรื่องมันไม่ใช่ มันมีปัญหาอยู่ ซึ่งตัวผมจะมีปัญหากับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save