fbpx
ไทยลีก-ไทยแลนด์ กับ ‘มิตติ ติยะไพรัช’

ไทยลีก-ไทยแลนด์ กับ ‘มิตติ ติยะไพรัช’

หลังขุนพล ‘กว่างโซ้งมหาภัย’ หรือ ‘สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด’ คว้าแชมป์ฟุตบอลโตโยต้า ไทยลีก 2019 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสรอย่างยิ่งใหญ่ ทั้งยังเป็นทีมแรกจากภูมิภาค ที่เบียดทีมใหญ่อย่าง ‘เมืองทอง’ และ ‘บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด’ ขึ้นมาเป็นแชมป์ได้ในรอบ 11 ปี

ทุกสายตาก็จับจ้องไปที่ ‘มิตติ ติยะไพรัช’ ประธานที่ปรึกษา ‘สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด’ ว่า ‘กว่างโซ้งหนุ่ม’ ตัวนี้ทำอย่างไรจึงสร้างความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ได้

101 ถอดทัศนะบางส่วนของเขามาให้ได้อ่านกัน ทั้งเบื้องหลังความสำเร็จของสโมสร การเรียนรู้ในวงการฟุตบอล และอดีตเลขาธิการพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งโดนยุบพรรคไปแล้ว มุมมองทางการเมืองของเขาเป็นอย่างไร

:: ความท้าทายแรกของการควักกระเป๋าลงทุนทำทีม ::

ไทยลีก-ไทยแลนด์ กับ ‘มิตติ ติยะไพรัช’

ช่วงแรกเป็นธุรกิจที่เราต้องควักเนื้อก่อน การลงทุนมีทั้งลงเงิน ลงแรง และลงเวลาส่วนตัว และต้องพยายามสร้างการมีส่วนร่วม ทำอย่างไรให้ชาวบ้านรู้สึกว่าควรเสียเงินซื้อตั๋วเข้าไปดูฟุตบอล เมื่อก่อนฟุตบอลยังดูฟรี ทั้งบอลโค้กคัพ กีฬาเขตต่างๆ แต่ตอนนี้เราต้องให้ความรู้กับชาวบ้าน

ณ เวลานั้นก็ต้องบอกว่าเป็นความท้าทายที่ยากพอสมควร และเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าเราทำได้และส่งผลมาถึงทุกวันนี้ ตอนที่เริ่มสร้างทีมใหม่ๆ เรายังไม่มีสนามเป็นของตัวเอง ยังต้องไปขอใช้สนามของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง การแข่งขันนัดแรกที่เปิดสนามมีคนซื้อตั๋วเข้ามาดูประมาณ 100 คน ครั้งนั้นตั๋วยังขายอยู่ใบละ 20 บาท ตอนนั้นทีมยังอยู่ดิวิชั่น 2 ยังไม่รู้จะไปสู่จุดไหนต่อได้ ปัจจุบันตั๋วใบละ 100 บาท เป็นราคาสแตนดาร์ด

ช่วงเวลานั้นโซเชียลมีเดียยังไม่เข้มข้นเหมือนทุกวันนี้ ตอนนั้นยังเป็นการสื่อสารกันในลักษณะเว็บบอร์ดฟุตบอลไทย ไทยแลนด์สู้ๆ เกิดขึ้นมาจากคนเชียงรายที่ได้เข้าไปดูแล้วเขาก็สร้างเว็บบอร์ดเพื่อสนทนากันกับแฟนฟุตบอลกันเอง

หลังจากนั้นพอเราเริ่มประสบความสำเร็จ ผลการแข่งขันออกมาดี ก็เริ่มพูดกันปากต่อปาก มีการชักชวนกันให้มาดู เข้ามาสัมผัสบรรยากาศจึงเกิดความติดใจ จึงเป็นที่มาของการเป็นแฟนคลับทีมเชียงราย

:: สูตรธุรกิจสู่การเป็นแชมป์ ::

ไทยลีก-ไทยแลนด์ กับ ‘มิตติ ติยะไพรัช’

ผมคิดว่าธุรกิจนี้มันต้องมีทั้งศาสตร์ และจุดยืนของทีม การเซ็ทจุดยืนเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราจะเป็นแชมป์เราจะเป็นแชมป์อย่างไร มันมีตั้งแต่การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไป ดึงนักเตะเข้ามา เหมือนกับหลายๆ ทีมยักษ์ใหญ่ที่ทำกัน แต่เชียงรายเป็นทีมที่ลงทุนไปด้วยและทำ Academy ไปด้วย

ในอนาคต แน่นอนว่าเด็กๆก็ต้องต่อคิวกันขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่ แต่เราไม่ได้ละทิ้งการซื้อตัวนักเตะจากข้างนอกเข้ามาด้วย เพราะเป็นการเสริมจุดด้วยอ่อนจุดแข็ง

ฟุตบอลมีรายได้หลักอยู่ 4 อย่าง 1. ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอด  2. สปอนเซอร์ 3. ขายตั๋ว และ 4. ขายของที่ระลึก 4 อย่างนี้เป็นรายได้หลักจากการทำทีมฟุตบอลทั่วโลก เพราะฉะนั้นนอกจากรายได้ที่เราได้จากการขายตั๋ว ซึ่งน่าจะเป็น 1 ใน 5 ทีมของไทยที่มีรายได้จากการขายตั๋วมากที่สุด เราก็มีค่าสปอนเซอร์จากสิงห์และบางกอกแอร์เวย์

ช่วงตั้งต้นทำทีม จะเห็นผมเดินทางไปฮอลแลนด์บ้าง ไปอังกฤษบ้าง ไปญี่ปุ่นบ้าง เพราะว่าผมไปศึกษาโมเดลหลายๆ ที่และเอากลับมาผสมผสานกันเพื่อทำทีมเชียงราย

สุดท้ายแล้วความสำเร็จและแนวทางการทำทีมนั้นมีให้เห็นอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเลือกแนวทางไหน คุณอยากเป็นแบบบาร์เซโลน่าไหม หรือว่าคุณอยากจะใช้เงินเยอะๆ แบบแมนเชสเตอร์ ซิตี้ คุณอยากจะผสมผสานเหมือนลิเวอร์พูลที่มีทั้งการซื้อนักเตะและการสร้าง Academy ทั้งหมดนี้คุณเลือกได้

ผมคิดว่าฟุตบอลไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวเพื่อให้ทีมได้แชมป์ โดยเฉพาะฟุตบอลไทย มีเงินอย่างเดียวก็ไม่ได้ มีบารมีอย่างเดียวก็ไม่ได้ มันต้องมีทั้ง 2 อย่าง

:: เป้าหมายหลังชัยชนะ ::

ไทยลีก-ไทยแลนด์ กับ ‘มิตติ ติยะไพรัช’

เราอยู่ในช่วงเวลาที่ถูกต้อง อะไรที่มันใช่สำหรับนักฟุตบอล ผมไม่มีกั๊กอยู่แล้ว ความฝันของผมคงเหมือนความฝันของหลายคนคืออยากเห็นเด็กไทยได้ไปแข่งต่างประเทศ อยากเห็นเด็กไทยเอาประสบการณ์เหล่านั้นพาไทยไปฟุตบอลโลกสักครั้งนึง พูดแล้วขนลุก คือเราอยากไปดูฟุตบอลโลก แต่ไม่ได้อยากดูทีมอื่น อยากดูทีมไทย ทุกอย่างมันเกิดขึ้นได้

อย่างกรณี เอกนิษฐ์ ปัญญา ของทีมเชียงรายที่มีโอกาสจะไปเล่นต่างประเทศ ปีนี้อาจจะยังไม่ได้มีสโมสรที่อยู่ในเลเวลที่ถูกต้องเข้ามาติดต่อ แล้วผมคิดว่าสโมสรที่อยู่ในเลเวลที่ดี เขาก็ต้องดูก่อนว่า เอกนิษฐ์ในปีหน้าจะมีการเติบโตไหม มีฟอร์มที่สม่ำเสมอไหม แล้วสามารถที่จะทำสกอร์หรือจ่ายบอลอย่างน้อยๆ ได้ในระดับเดียวกับ เจ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ก่อนที่จะไปเล่นที่ญี่ปุ่นไหม

ผมคิดว่ามาตรฐานตรงนี้คือสิ่งที่ไม่ว่าจะในยุโรปหรือในญี่ปุ่น เกาหลี ที่เขายังมองอยู่ แต่ถ้าถามว่าจะให้ไปอยู่ในเลเวล เช่น J 2 ซึ่งมันมีอยู่แล้ว แต่ไปแล้วได้เล่นไหม เขาอาจจะเอาไปแล้วจองไว้ก่อน ไม่มีโอกาสได้เล่น แบบนี้กลับมามันเสียเวลาไหม เด็กอายุ 20  ยิ่งมีเกมให้เขาได้เล่นเยอะ ยิ่งดีกับเขา

:: สนามบอลสู่สนามการเมือง ::

ไทยลีก-ไทยแลนด์ กับ ‘มิตติ ติยะไพรัช’

ในเมื่อเรายังมีความหวัง ผมคิดว่ามันเหมือนสถานการณ์ของเชียงราย ยูไนเต็ด จะโดนบุรีรัมย์นำอยู่ 2 แต้ม แต่เราก็ต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด

ในส่วนของการเมือง เราก็ต้องคิดทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด แม้ว่ารัฐธรรมนูญถูกดีไซน์มาให้เป็นแบบนี้ ตามที่ผู้ใหญ่บางคนบอกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” มันก็สะท้อนให้เห็นว่ากติกาไม่ปกติ

ไม่ว่าเขาจะกำหนดสนามและกติกาแบบไหนมาให้เรา เราเป็นนักฟุตบอล เราเป็นไก่ชน เราก็ต้องสู้ในทุกสนาม ต้องสู้กับความไม่ถูกต้อง ไม่ว่าผลจะเกิดขึ้นอย่างไร ถ้าเราทำเต็มที่ให้ดีที่สุดแล้ว เราก็ไม่ต้องเสียใจ ตัวตนผมก็เป็นแบบนี้

:: ความหวังทางการเมือง ::

ไทยลีก-ไทยแลนด์ กับ ‘มิตติ ติยะไพรัช’

ช่วงก่อนเลือกตั้งที่ผ่านมา มีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคนที่มีแนวคิดและเห็นความไม่ถูกต้อง ได้เสนอตัวเข้ามา บางคนก็ไม่ได้อยู่ในเส้นทางการเมืองแล้ว ต้องบอกว่าพวกเขาก็ยังพยายามรักษาขุมพลังตรงนี้เอาไว้ เพื่อในอนาคตจะได้ต่อยอดหรือทำอะไรต่อได้

ในความเป็นจริงของสังคมไทย หรือแม้แต่ในประวัติศาสตร์โลก ไม่ว่าจะเป็นในยุโรปหรือละตินอเมริกา หรือในทุกๆ ที่ ความไม่ถูกต้องวันหนึ่งก็จะล่มสลายไป ความไม่ถูกต้องจะต้องแพ้ความยุติธรรม แต่ความเป็นธรรมอยู่ดี เราก็ต้องพยายามอดทน พยายามบอกเล่าให้คนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้ตระหนักกับแนวคิดเรื่องความถูกต้อง

ไม่ใช่การต่อต้านระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ต้องต่อสู้เพื่อเหตุและผลที่ถูกต้อง เราต้องทำให้พวกเขามีสิทธิที่จะได้เลือกในสิ่งที่พวกเขาอยากทำ อยากเป็นเสียที

ในอนาคตผมก็ฝันอยากจะเห็นระบบนิติรัฐนิติธรรมของบ้านเราได้อยู่ในหลักการที่ถูกต้อง เมื่อระบบนิติรัฐนิติธรรมถูกต้องชัดเจน สิทธิมนุษยชนก็จะเกิดขึ้นแน่นอน และเจตจำนงในการร่างรัฐธรรมนูญที่ยึดโยงกับประชาชนจะชัดเจน ซึ่งมันต้องใช้เวลา วันนั้นผมและหลายๆ คน อาจจะไม่ได้อยู่ดูก็ได้ แต่ผมคิดว่าวันนึงบ้านเมืองเราต้องไปสู่จุดนั้นอย่างแน่นอน

MOST READ

Life & Culture

1 Feb 2019

ทรมานแสนสุขสม : เปิดโลก ‘BDSM’ รสนิยมทางเพศที่ตั้งต้นจากความยินยอมพร้อมใจ

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ ชวนสำรวจรสนิยมทางเพศแบบ BDSM ผ่านการพูดคุยกับสองสาวเจ้าของเพจ Thailand BDSM : Let’s Play and Learn ว่าด้วยนิยาม รูปแบบ คำอธิบายของความสุขในความเจ็บปวด ไปจนถึงความเสี่ยงในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อตามหาผู้มีรสนิยมแบบเดียวกัน พร้อมเก็บบรรยากาศการแสดง ‘ชิบาริ’ โดยศิลปินชาวญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟังอย่างถึงเนื้อถึงหนัง

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

1 Feb 2019

Life & Culture

8 Sep 2021

คนกระโปกแห่งยุคสมัย 199x ทำไมเด็กเจนวายไม่ยอมโต

คอลัมน์ PopCapture พิมพ์ชนก พุกสุข เขียนถึงสาเหตุสำคัญว่าเพราะอะไร ‘ชาวมิลเลนเนียลส์’ ถึงไม่อาจเติบโตได้อย่างที่ใจหวัง

พิมพ์ชนก พุกสุข

8 Sep 2021

Politics

31 Jul 2018

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม

ธนาพล อิ๋วสกุล ย้อนสำรวจระบอบเปรมาธิปไตยและปัจจัยสำคัญเบื้องหลัง รวมทั้งถอดรื้ออภิมหาเรื่องเล่าของนายกฯ เปรม เพื่อรู้จัก “นักการเมืองชื่อเปรม” ให้มากขึ้น

ธนาพล อิ๋วสกุล

31 Jul 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save