fbpx
ฉายแสงกลางคืนหม่น : สนทนากับ 'จาตุรนต์ ฉายแสง' ก้าวต่อไปท่ามกลางไฟการเมือง

ฉายแสงกลางคืนหม่น : สนทนากับ ‘จาตุรนต์ ฉายแสง’ ก้าวต่อไปท่ามกลางไฟการเมือง

ธิติ มีแต้ม, สมคิด พุทธศรี, วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

จาตุรนต์ ฉายแสง ดำรงตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติได้เพียง 5 เดือน ก่อนถูกยุบพรรคไป

ยังไม่ทันได้ถอนหายใจ, เขาและแกนนำพรรคฯ บางส่วนประกาศตั้งกลุ่ม ‘ก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย’ เดินหน้าปราศรัยสนับสนุนให้ประชาชนที่เลือกข้างประชาธิปไตยออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 24 มีนาฯ ท่ามกลางกติกาของ คสช. ที่อยู่ยงคงกระพันมาจวนครบ 5 ปี

“เมื่อคืนอยู่ฉะเชิงเทราจนเกือบสามทุ่ม พรุ่งนี้ไปนครศรีธรรมราช ต่อพิษณุโลกและเพชรบูรณ์ เป็นโปรแกรมใหม่หมดหลังจากพรรคโดนยุบ” อดีตรองนายกรัฐมนตรีบอกด้วยน้ำเสียงสุภาพ

101 นัดสัมภาษณ์จาตุรนต์ในโมงยามที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงอย่างชนิดถึงลูกถึงคน – ‘คนที่เลือกจะเปลี่ยนไปยังวันเก่า’ กับ ‘คนที่ต้องการไปสู่วันใหม่’

แววตาของอดีตตัวเต็งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรียังคงมุ่งมั่น เปี่ยมไปด้วยกำลังที่ตั้งใจก้าวเดินไปข้างหน้า ทว่าเป็นย่างก้าวที่สุขุม

เขาอ่านการเมืองไทยวินาทีนี้อย่างไร นั่นประเด็นหนึ่ง

แต่อะไรคือสิ่งที่เขาครุ่นคิดและตกผลึกกับตัวเอง นี่ก็อีกประเด็น

ผู้อ่านที่เกาะติดการเมืองไทยอย่างไม่กะพริบตาโปรดเลื่อนสู่บรรทัดถัดไป, ผู้อ่านที่กำลังระคายเคืองตาจากภาวะฝุ่นตลบ รีบล้างหน้า และค่อยๆ อ่านทัศนะของเขา

จาตุรนต์ ฉายแสง

หลังจากถูกยุบพรรคไป อะไรทำให้รู้สึกว่าต้องเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อทันที จริงๆ คนรุ่นใหม่ในพรรคก็ลุยต่อได้

นักการเมืองรุ่นใหม่จะทำอะไรได้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องของพวกเขา มันไม่เชิงเกี่ยวกับว่าผมเป็นคนที่ตัดสินใจจะทำกิจกรรมต่อหรือไม่ คนรุ่นใหม่หลายคนก็ถูกเพิกถอนสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง มีบางคนที่ทำอะไรได้จำกัด นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ไม่ใช่ว่าคนรุ่นใหม่จะทำอะไรไม่ได้ เลยต้องมาให้เป็นคนรุ่นไม่ใหม่ทำ (หัวเราะ)

เราพ้นจากการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ถูกเพิกถอนสิทธิอื่นใด ที่สำคัญคือเรายังมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งคนอาจไม่ค่อยคุ้นว่าทำไมยังทำเป็นผู้สมัคร แต่กฎหมายจริงๆไม่ได้ห้าม แล้วเราคิดว่าการทำงานทางการเมืองไม่ใช่เรื่องของการได้ตำแหน่งอย่างเดียว

การที่เรามาลงสมัครเลือกตั้งในครั้งนี้ก็เพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ และอยากทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ในเมื่อเราไม่เป็นผู้สมัครแล้วเราก็ยังทำในเรื่องที่เราตั้งใจไว้ต่อไปได้ นั่นคือพูดจาปราศรัยกับประชาชน คนในกลุ่มก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตยหลายคนก็มีความรู้มีประสบการณ์ และมีความสามารถในการพูดจาสื่อสารกับประชาชน เราก็ใช้ความรู้เหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ไปจนถึงวันที่ 23 มีนาฯ ตอนเย็น ดีกว่านอนอยู่บ้านและเศร้า

ช่วงหลังจากการยุบพรรคมา คุณถูกมองว่าเริ่มโต้ตอบกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองมากขึ้น เป็นเพราะอะไร

จริงๆ ผมไม่ได้ทำอะไรแบบหัวชนฝาที่ต้องการให้เกิดการเผชิญหน้าอย่างรุนแรง ช่วงนี้มันเป็นช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ทุกอย่างมันโยงไปที่การเลือกตั้ง ไม่มีเรื่องที่จะไปขัดแย้งอะไร การสื่อสารกับประชาชนของพวกเรา ก็ทำเพื่อจะเสนอให้ประชาชนไปลงคะแนนอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ได้เสนอให้ประชาชนลุกขึ้นมาแล้วไปรื้อรั้วทำเนียบรัฐบาล เราจะไปยึดเอารัฐบาลมาเป็นของประชาชนโดยการกาบัตรในวันที่ 24 มีนาฯ

ส่วนที่ไปนั่งรถตู้กินข้าว พวกผมทำกันมาเยอะแล้วในการหาเสียงเลือกตั้ง หลายครั้งการหาเสียงต้องทำหลายจุด ต้องเดินทางจากโน่นไปนี่ ชีวิตแบบนี้เราอยู่มาจนชิน ไม่ต้องไปบอกใคร การที่นั่งกินข้าวกันในรถตู้มันคือเจตนาเพื่อให้เห็นว่าจะสร้างภาพ ไม่ใช่ของจริง โดยเฉพาะคนที่ยึดอำนาจมา เขาจะมาทำอะไรให้ง่ายติดดินหรือเข้าถึงประชาชน มันเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดจากความจริงใจ

จากวิกฤตการเมืองที่ผ่านมาจนกระทั่งวันที่ถูกยุบพรรค คุณคิดว่าสังคมไทยได้รับบทเรียนอะไรบ้าง อะไรเป็นหลุมพรางที่ประเทศกำลังพบเจอ

12 ปีที่ผ่านมา เป็นกระบวนการต่อเนื่องจากความพยายามของผู้มีอำนาจที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชน ชนชั้นนำที่เกี่ยวข้องกับอำนาจไม่ยึดโยงกับประชาชน ต้องการหยุดยั้งพัฒนาการทางการเมืองที่ประชาชนเป็นผู้กำหนดความเป็นไปของประเทศ ผ่านระบบพรรคการเมือง

เราเห็นผ่านวิธีต่อต้านรัฐบาล สร้างความขัดแย้ง สร้างเงื่อนไขให้เกิดการยึดอำนาจ หลังปี 2549 ใช้วิธีทำให้อำนาจของประชาชนน้อยลง และเอาอำนาจไปอยู่กับองค์กรที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน วิธีนี้ก็สามารถทำอะไรได้พอสมควร แต่ก็เริ่มด้วยการถูกปฏิเสธโดยประชาชนผ่านการเลือกตั้งปี 2550 ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ประชาชนเองต้องการอยู่แล้ว เขาจึงต้องใช้กลไกทางรัฐธรรมนูญจัดการกับพรรคการเมืองและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า นำไปสู่การล้มรัฐบาลและจัดตั้งรัฐบาล

พอมีการเลือกตั้งก็แพ้อีก มันก็เกิดกระบวนการซ้ำรอย มีความร่วมมืออย่างเข้มข้นในการสร้างเหตุการณ์ที่รัฐรักษากฏหมายไม่ได้ เป็นความร่วมมือกันหลายฝ่าย รวมทั้งผู้นำกองทัพด้วย องค์กรหลายองค์กรในกระบวนการยุติธรรม ชนชั้นนำ กลุ่มองค์กรที่ปฏิเสธการเลือกตั้ง ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตย ร่วมกันสร้างเงื่อนไขจนเกิดสภาพที่รัฐบาลพลเรือนไม่สามารถบริหารการปกครองได้ ในที่สุดก็นำไปสู่การรัฐประหาร

เมื่อรัฐประหารแล้วก็ร่างรัฐธรรมนูญ วางกติกาที่เข้มข้นแน่นหนากว่าปี 2550 เพื่อนำไปสู่การปกครองที่ผู้มีอำนาจไม่เชื่อว่าประชาชนควรมีสิทธิมีเสียงในการปกครองประเทศ และสร้างระบบเพิ่มอำนาจให้ตัวเองมากขึ้น เช่น ส.ว.250 คน การแทรกแซงต่ออายุหรือการแต่งตั้งองค์กรอิสระสำคัญๆ จนทำให้องค์กรอิสระตอนนี้ก็ไม่มีแล้วในประเทศไทย

แล้วยังสร้างพรรคการเมืองที่เชื่อมโยงกับการใช้งบของรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติ ที่เป็นระบบสังคมที่ล้าหลัง ไม่ตอบสนองความต้องการประชาชน ไม่สามารถปรับตัวยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ความขัดแย้งมันสะสมมาจนปั่นป่วนวุ่นวาย และถูกจัดการด้วยความรุนแรง คือการใช้อำนาจของกองทัพเข้ามายึดอำนาจ คนจำนวนมากก็เห็นว่าดี เพราะมันทำให้เกิดความสงบลงได้ แต่จริงๆ แล้วมันคือการใช้ความรุนแรงเข้าแก้ปัญหา มันจึงเป็นปัญหาโดยพื้นฐาน ไม่มีทางทำให้เกิดสังคมที่คนอยู่ด้วยกันได้อย่างราบรื่น แม้จะมีความเห็นต่างกัน

5 ปีที่ผ่านมานี้ทำให้เราเห็นว่าความขัดแย้งเดิมยังมีอยู่ แต่เกิดความขัดแย้งใหม่ที่เข้มข้นชัดเจน และมีปัญหามากกว่าเดิม เป็นความขัดแย้งระหว่างผู้ที่มีอำนาจเชื่อมโยงกับกองทัพ คนกลุ่มนี้เป็นองค์กรและระบบที่ทรงอำนาจซึ่งขัดแย้งกับประชาชน กับพรรคการเมืองที่อยู่ฝ่ายประชาชน

คนที่อาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาวุ่นวายกลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง สังคมพัฒนามาถึงจุดที่คนพยายามสืบทอดอำนาจใช้ความสงบเรียบร้อยเป็นตัวประกัน พยายามสร้างเงื่อนไขจนคนรู้สึกว่าถ้าไม่ใช่พลเอกประยุทธ์ บ้านเมืองจะไม่สงบ เพราะฉะนั้นต้องให้พวกเขาปกครองต่อไป ถึงแม้เศรษฐกิจจะแย่หรือประชาชนจะไม่มีสิทธิเสรีภาพอย่างไร ก็ขอให้แลกกับความสงบก็แล้วกัน

อีกด้านหนึ่ง ความผิดพลาดของฝ่ายประชาธิปไตย ได้ถูกทบทวนบ้างไหมว่าที่ผ่านมาอาจเป็นฝ่ายที่สร้างเงื่อนไขให้เกิดวิกฤตด้วยหรือไม่

ผมคิดว่าควรต้องเรียนรู้ นี่อาจเป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งของฝ่ายประชาธิปไตยที่สรุปบทเรียนในเรื่องต่างๆ น้อยไปหน่อย อาจมีความรู้สึกว่าเรื่องมันผ่านมาแล้วก็ให้ผ่านไป หรือพูดแล้วจะกระทบกันเอง การสรุปบทเรียนเลยมีน้อยเกินไป ในครั้งหน้าเราต้องสรุปบทเรียนมากขึ้นและหาทางแก้ไขปัญหา

แต่มันไม่ได้หมายความว่า เมื่อฝ่ายประชาธิปไตยทำอะไรผิด แล้วควรเป็นเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหาร หรือจะเป็นความชอบธรรมในการให้ใครมาสร้างเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับรัฐประหาร

อย่างการผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ในความเห็นผมมันเป็นความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญมากของเพื่อไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายประชาธิปไตย มันกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการชุมนุมต่อต้านกฏหมายและต่อต้านรัฐบาลหรือต่อต้านพรรคเพื่อไทย ถามว่าควรสรุปบทเรียนไหม ก็ควรสรุป การออก พ.ร.บ. เป็นการตัดสินใจบนข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ไม่เข้าใจว่าฝ่ายต่างๆ ในสังคมไทยคิดอย่างไร

ส่วนการชุมนุมต่อต้านของ กปปส. ถ้าหากทำโดยสันติวิธีหรือตามกฎหมายก็เป็นสิทธิ จะไปว่าเขาไม่ได้ แต่มันมีการทำเกินไปเยอะ เมื่อยุบสภาแล้ว กฎหมายตกไปแล้วก็ไม่หยุด ยุบสภาแล้วก็ควรจะเดินไปสู่การเลือกตั้ง แต่เขาไม่หยุด คำว่าไม่หยุดนั้นก็มีหลายอย่างที่ไม่ถูกต้อง เช่น มีการชุมนุมที่สามารถทำผิดกฎหมายได้อย่างมหาศาลโดยไม่ต้องรับผิดอะไร จนบัดนี้ก็ยังถูกกระบวนการยุติธรรมดำเนินการอะไรน้อยมาก

สำหรับผมในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเกิดเหตุอะไรขึ้น ก็ไม่เป็นความชอบธรรมที่จะให้เกิดการรัฐประหาร และคนที่สร้างเงื่อนไขรัฐประหารก็ทำอะไรอีกสารพัดที่ผิดกฎหมาย

ในพรรคที่คุณเคยสังกัด เคยมีการตั้งวงถอดบทเรียนเรื่องนี้อย่างจริงจังไหม

ก็มีบ้าง แต่น้อย

เหตุการณ์ 8 กุมภาฯ ควรถอดบทเรียนแบบไหน สังคมไทยควรทำความเข้าใจอย่างไร

ส่วนตัวผม 8 กุมภาฯ ควรมีการทำความเข้าใจและสรุปบทเรียน แต่ขอไม่แสดงความเห็นในเวลานี้

อาจมีใครอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องการจะสรุปก็ได้ เป็นสิทธิ เพราะการสรุปบทเรียนเป็นเรื่องจำเป็น แต่ในส่วนของผม เนื่องจากว่าผมอยู่ในเหตุการณ์ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว ผมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ผมได้เลือกทางที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง คือการพูดจาปราศรัยการเลือกตั้งโดยไม่ชี้แจงหรือแสดงความเห็นใดๆ ต่อเหตุการณ์นี้ และไม่ต้องการนำเอาเหตุการณ์นี้ไปเกี่ยวข้องในทางใดทางหนึ่งกับการเลือกตั้ง

เพราะฉะนั้นในวันข้างหน้า เราควรสรุปบทเรียนไหม ก็ควร วันหน้าผมอาจอยู่ในจุดที่หากมีวงพูดคุยที่เหมาะสมก็พร้อมแสดงความเห็น

จาตุรนต์ ฉายแสง

หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า ประชาชนที่เลือกข้างประชาธิปไตยระส่ำระสายจากการยุบพรรค ส่วนหนึ่งเพราะความไม่เป็นประชาธิปไตยของพรรคไทยรักษาชาติเองด้วย ระหว่างที่กำลังเคลื่อนไหวต่อในนามกลุ่มก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย พบอุปสรรคอะไรไหม

ในเวลานี้ไม่มีพรรคไทยรักษาชาติแล้ว นักการเมืองที่สังกัดมาก่อนก็ไม่มีแล้ว มีเพียงเจตนารมณ์ตามที่เคยมีมา และเจตนารมณ์นั้นไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 8 กุมภาฯ

เหตุการณ์ 8 กุมภาฯ เกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็ว ไม่มีใครพยายามที่จะนำเอาความคิดความตั้งใจหรือผล รวมทั้งความคิดเห็นที่ตามมา มาใช้ประโยชน์ทางการเมืองในพรรคไทยรักษาชาติ เพราะฉะนั้นผลกระทบทางการเมืองมันก็ไม่มีเท่าไหร่ นอกจากเรื่องการยุบพรรคและการพ้นจากการเป็นผู้สมัคร

ทีนี้นักการเมืองที่เป็นอดีตผู้สมัคร เขาก็ตัดสินใจที่จะเข้ามามีบทบาทกันเท่าที่พวกเขาทำได้ มากน้อยแตกต่างกันไป โดยรวมแล้วเป็นเรื่องที่สอดคล้องกันไปในทิศทางการหยุดการสืบทอดอำนาจ ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้

เรื่องที่ยกขึ้นมาก็เข้าใจได้ ว่าทำไมเขาถึงตั้งคำถามเหล่านั้น แต่ผมเองไม่อยู่ในฐานะที่จะชี้แจงอะไร และไม่ต้องการที่จะชี้แจงหรือแสดงความเห็นอะไรอย่างที่บอกไปแล้ว ผมคิดว่าในเวลานี้ สำหรับคนที่ต้องการให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ก็ต้องกลับมาตั้งหลักกันตรงที่ว่า วันนี้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจะทัดทานพลังของฝ่ายเผด็จการได้แค่ไหน ท่ามกลางกฎกติกาของฝ่ายสืบทอดอำนาจ รอบนี้เป็นการต่อสู้ในประเด็นนี้ พอพ้นจากนี้ก็ต้องมาดูเรื่องการตั้งรัฐบาล ดูว่าประเทศอยู่ในสภาพที่เป็นประชาธิปไตยมากน้อยขนาดไหน

ถึงตอนนั้นผมว่าน่าจะมาสรุปบทเรียนกัน แล้วเราอาจค้นพบอะไรได้ชัดเจนขึ้นว่าใครเป็นยังไง ใครทำอะไรถูกผิด อะไรที่ควรแก้หรือไม่แก้ ต้องมาคิดกันตอนนั้น

คุณอยู่ในสนามการเมืองไทยมา 30 กว่าปี ทำความเข้าใจประชาธิปไตยไทยอย่างไร เมื่อก่อนกับเวลานี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

มันต่างกันมาก เป็นพัฒนาการคนละขั้นคนละตอน ช่วง 14 ตุลาฯ ประชาชนคนไทยถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการมายาวนานมาก และระบบนั้นมันก็ค่อยๆ เสื่อมลงในช่วงหนึ่ง แล้วเกิดช่องว่างให้ประชาชนลุกขึ้นเปลี่ยนแปลง เกิดสภาพที่คนใช้สิทธิเสรีภาพมากขึ้น แต่ก็มีกระแสความคิดสังคมนิยมเข้ามา และมีเรื่องของคอมมิวนิสต์เข้ามาด้วย ผสมกันกับการต่อสู้ต่อต้านเผด็จการ

แล้วมันก็นำมาสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ซึ่งผู้มีอำนาจจัดการปัญหาด้วยการใช้ความรุนแรงสังหารหมู่และรัฐประหาร ต่อมาก็มีความเสื่อมสลายของประเทศสังคมนิยม มันทำให้อิทธิพลทางความคิดของสังคมนิยม และบทบาทของพรรคการเมืองที่เป็นสังคมนิยมต่อประเทศไทยลดลงอย่างมาก

ต่อมาก็เป็นระบบประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ก็ยังมีรัฐประหาร รสช. ตามมา ใช้ข้ออ้างเรื่องคอร์รัปชัน มันเป็นข้ออ้างที่สุดท้ายพิสูจน์อะไรไม่ได้สักอย่าง พอยึดอำนาจแล้วคนในสังคมไทยตอนนั้นไม่ยอม รัฐบาลที่สืบทอดอำนาจก็อยู่ต่อไม่ได้ จุดนี้มันก็ก้าวไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมือง กระทั่งเราได้รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตยมาก พัฒนาการของระบบประชาธิปไตยก็ก้าวหน้าไปตามลำดับ ประชาชนได้ประสบการณ์โดยตรงว่าประชาธิปไตยกินได้แปลว่าอะไร

แต่ถ้าพูดในแง่พรรคการเมืองที่มีอำนาจและองค์กรภาคประชาชน-ประชาสังคม ผมว่ามีปัญหาร่วมกันคือยังขาดความตระหนักว่า พื้นฐานจริงๆ ของสังคมไทยที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมทางการเมือง มันยังไม่เป็นประชาธิปไตย มันพร้อมจะเกิดแรงตีกลับเสมอ

พรรคการเมืองก็บริหารบ้านเมืองไป คนหาประโยชน์ก็หาประโยชน์ไป เอ็นจีโอไทยเกิดขึ้นในยุคที่พลังคอมมิวนิสต์หายไป และเป็นช่วงเดียวกับที่แนวคิดเสรีประชาธิปไตยในไทยอ่อนแอ เอ็นจีโอเลยไปจับปัญหาชายขอบและผลกระทบของการพัฒนาอุตสาหกรรม และทำไปโดยไม่ได้เน้นพัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยหรือระบบการปกครอง ไม่สนใจเรื่องอำนาจรัฐ แต่เน้นการ empower ชุมชนเล็กๆ มีความสุขกับการหามุมเล็กๆ และอยู่กับคนเล็กๆ ที่ได้เพิ่มอำนาจตน ไม่ใช่การส่งเสริมอำนาจให้ประชาชน กลายเป็นว่านักการเมืองหรือนักวิชาการ และเอ็นจีโอ ขาดการสร้างประชาธิปไตยในช่วงก่อนปี 2540-2549

ปัญหาของประเทศคือการเมืองมันยังไม่เป็นประชาธิปไตย คำว่าการเมืองนี้กินความกว้างกว่าพรรคการเมืองและนักการเมือง พอมันพลาดโอกาสนี้ ก็เกิดกระแสตีกลับจากฝ่ายที่ไม่เอาประชาธิปไตย ไม่คุ้นเคย ไม่ชอบ ไม่เชื่อ เป็นฝ่ายที่รับไม่ได้ถ้าประชาชนจะมากำหนดประเทศผ่านพรรคการเมือง แต่ผู้มีอำนาจถนัดการเป็นฝ่ายมอบให้ประชาชน เช่น เอาตุ่มน้ำไปแจก มีบ่อบาดาลทุกหมู่บ้าน ถ้าจะสรุปบทเรียน ก็สรุปได้ว่าประเทศไทยในช่วง 12 ปีมานี้ มันพลาดโอกาสการสร้างประชาธิปไตยไป

เมื่อเปรียบเทียบ 30 ปีที่แล้วกับตอนนี้ มันเป็นพัฒนาการคนละขั้นตอน แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหากับสังคมไทยคือ บางเรื่องมันไม่ได้เป็นการพัฒนาอย่างที่มันควรจะเป็น บางเรื่องพัฒนา แต่ผู้มีอำนาจยังไม่เชื่อในการเลือกตั้ง เขาสามารถครอบงำและสร้างวัฒนธรรมการปกครอง และความเชื่อที่เอื้อต่อการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยได้มากกว่าเดิม ซึ่งมันล้าหลังและยากต่อการปรับตัวมากยิ่งกว่าช่วงปี 2519-2522

ที่สำคัญคือมันเป็นระบบที่ออกแบบมาอย่างซับซ้อนและประณีต แยบยล โดยผ่านการสรุปบทเรียนของฝ่ายชนชั้นนำมาอย่างดี มันเลยทำให้ประเทศไทยอยู่ในจุดที่ล้าหลัง ยากที่จะปรับตัวทันในอนาคต เว้นแต่ว่าเราจะมีความตื่นตัวของประชาชนแต่ละฝ่าย โดยแสดงมติร่วมกันด้วยวิธีทางใดทางหนึ่ง ซึ่งตอนนี้จินตนาการไปคงยาก เพราะผมคิดว่าการเคลื่อนไหวชุมนุมเดินขบวนสำหรับสังคมไทย ไม่น่ามีศักยภาพในระยะเวลาอันใกล้นี้ เพราะมันเหนื่อยล้ากันไปมาก และผู้คนเองก็ระอาต่อสภาพอย่างนั้น แต่มันก็ยังมีช่องทางในการแสดงออกผ่านพรรคการเมือง ผ่านการเลือกตั้ง และผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งโซเชียลมีเดีย

เวลาลงพื้นที่ เจอประชาชนจริงๆ เห็นกระแสพลังประชาธิปไตยแค่ไหนเวลานี้

มีอยู่สูงเหมือนกัน เพราะประชาชนเกินครึ่งเคยได้ประโยชน์จากระบบพรรคการเมือง และเชื่อว่าพลังนี้ยังอยู่ คนเชื่อว่าการเลือกตั้งผ่านตัวแทนพรรคการเมืองจะเข้าไปแก้ปัญหาประเทศ ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น พลังนี้ไม่ไปไหน แต่มันกำลังเจอกับการแทรกแซงบิดเบือนจากการเขียนกฎกติกาการเลือกตั้งที่ลดความสำคัญของพรรคการเมืองลง แล้วไปเน้นที่ตัวคน เป็นการทำลายพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้งให้อ่อนแอ

ในฐานะนักการเมือง มองการดูด ส.ส.ของพรรคฝ่ายสืบทอดอำนาจอย่างไร ยังได้ผลในสมัยนี้ไหม

วิธีที่พรรคพลังประชารัฐใช้ก็เข้มข้น และเข้มข้นกว่าพรรคการเมืองที่คณะรัฐประหารเคยตั้งขึ้นมาในสมัย รสช. เช่น พรรคสามัคคีธรรม หรือพรรคสหประชาไทย สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร

สมัยนี้ใช้ชื่อพรรคตรงกับนโยบายของรัฐบาลที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน หัวหน้า คสช. ยังสามารถใช้อำนาจในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารและนายกรัฐมนตรี โดยไม่ยอมทำตัวเป็นนายกฯ รักษาการ ยังคงมีการอนุมัติงบประมาณแจกจ่ายไปที่ต่างๆ มีการออกคำสั่งให้หน่วยราชการเกณฑ์คนมาต้อนรับเพื่อเป็นการหาเสียง มันทำได้ไม่จำกัด เท่ากับว่าเขามีกลไก มีเครื่องมือที่เข้มแข็งเป็นพิเศษ

ดังนั้นการที่พรรคพลังประชารัฐจะประสบความสำเร็จก็มีค่อนข้างมาก จะไปดูถูกเขาก็ไม่ได้เสียทีเดียว เพราะเขามีตัวช่วยเยอะ และโจทย์ของเขาไม่เหมือนกับพรรคสามัคคีธรรมในอดีต ซึ่งคิดจะเป็นพรรคอันดับหนึ่งตั้งรัฐบาล แต่ตอนนี้เขาแค่รวมเสียงพรรคแนวร่วมของเขาให้ได้ 126 เสียง แล้วค่อยไปรวมกับสมาชิกวุฒิสภาในการตั้งนายกฯ หลังจากนั้นค่อยสร้างเงื่อนไขบีบคั้นจูงใจยั่วยวนให้พรรคอื่นไปเข้าร่วม

ผมคิดว่าพลังส่วนสำคัญของสังคมจะปฏิเสธ อย่างพวกธุรกิจอุตสาหกรรม บริการ ชนชั้นกลาง คนในเมืองทั้งหลาย หรือดีไม่ดีภาคเกษตรเองก็จะปฏิเสธ ต้องมาดูกันว่าจะมีผลขนาดไหนในช่วงโค้งสุดท้าย มันอาจจะทำให้คนไม่อยากเข้ามาลงทุน

ในฐานะนักการเมืองด้วยกัน คิดว่าทำไมในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐถึงจัดหนักจัดเต็มนโยบายขนาดนี้

มันคงเป็นความสิ้นหวังว่าสู้ไปคงไม่ได้เสียงที่ต้องการ เขาต้องพยายามใช้ไม้เด็ดที่สุดในโค้งสุดท้าย แต่มันก็แสดงความอ่อนแอทางความคิด อ่อนแอทางวิชาการและการวางแผนยุทธศาสตร์ คุณทำแบบนี้เหมือนกับว่าคุณไปเกทับคนอื่นเพื่อจะได้คะแนน แต่มันไปติดกับดักคนที่ยึดอำนาจมาได้เคยวิจารณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้ ที่ประณามโจมตีพรรคการเมืองมาตลอดว่าจะทำให้ประเทศเสียหาย ทำให้เศรษฐกิจเสียหาย ขาดวินัยทางการคลัง และเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ต้องยึดอำนาจและปฏิรูปประเทศ แต่สุดท้ายคุณกลับทำหนักกว่าที่เคยด่าไว้

ทำไมชนชั้นนำยังเลือกใช้กลไกการสืบทอดอำนาจแบบสร้างพรรคการเมืองขึ้นมา ทั้งที่ประวัติศาสตร์บอกว่าล้มเหลว

ก็เพื่อไปบอกชาวโลกเขาว่าเป็นประชาธิปไตย มันก็เป็นความจริงของประเทศไทยที่การเมืองได้พัฒนา ในขณะที่คณะรัฐประหารอยากให้รัฐธรรมนูญออกมา แล้วหัวหน้าคณะรัฐประหารยังสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีต่อได้โดยไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง เหลืออยู่หนึ่งติ่งคือต้องให้พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอชื่อ เขาเลยต้องหาพรรคการเมืองมาสนับสนุน

แต่การที่จะได้พรรคการเมืองมายกมือให้อย่างสมัยพรรคสามัคคีธรรมในอดีต มันเป็นไปไม่ได้แล้ว ตอนนี้มันเลยอยู่ในสภาพครึ่งๆ กลางๆ

จาตุรนต์ ฉายแสง

คุณคิดว่าทำไมชนชั้นนำยังต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อ

คงเป็นเพราะเขาถูกวางตัวมาเป็นผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งมีลูกพี่ที่สนับสนุนอย่างพล.อ.ประวิตร พล.อ.อนุพงษ์ เขาทำงานด้านความมั่นคงและช่วยรัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์จัดการกับฝ่ายประชาชนมาแล้ว เขาเตรียมการมานาน มันก็ต้องเป็นพล.อ.ประยุทธ์

เขาคงมองว่าพล.อ.ประยุทธ์ ยังเข้มแข็งและเหมาะกว่าคนอื่น มันมีการทำงานเป็นทีมเป็นระบบ มีเครือข่ายอำนาจกว้างมากกว่าคณะรัฐประหารอื่นๆ ในอดีต

นี่ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ถูกวินิจฉัยว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และขาดคุณสมบัติที่จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็คงจะป่วนมากเหมือนกัน

คิดอย่างไรกับการที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เขาจะมีโอกาสได้เป็นนายกฯ อีกรอบไหม

ผมคิดว่าไม่น่าจะถึงขั้นนั้น คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของกระแสมากกว่า เพราะกระแสสังคมที่ไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ สืบทอดอำนาจมันแรง สัมผัสได้แทบทั่วประเทศ

คุณอภิสิทธิ์น่าจะรู้สึกได้ แล้วตัวคุณอภิสิทธิ์เองแทงกั๊กมาตลอด ก็จำเป็นต้องตัดสินใจประกาศไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะพาให้คะแนนเสียงต่ำกว่า 100 แล้วตัวเองก็ต้องพ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคไป เขาก็ต้องเลือกวิธีดึงคะแนนกลับมา

แต่ว่าเรื่องของพรรคประชาธิปัตย์มันจะไม่ง่ายขนาดว่า ร่วมมือกับพรรคพลังประชารัฐและตั้งรัฐบาล แล้วต่อรองให้ตัวเองเป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาล ส่วนพลังประชารัฐเป็นพรรคร่วม เพราะว่าคนของคุณสุเทพเองก็มีพลังค่อนข้างมากในพรรคประชาธิปัตย์

คุณสุเทพเชื่ออย่างสุดใจว่าสุดท้ายแล้วประชาธิปัตย์จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ โดยประชาธิปัตย์ไปร่วมรัฐบาล พอเป็นแบบนี้ก็เลยมีการอาละวาด

สุดท้ายมันก็อาจบีบให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ดี การประกาศในเชิงแท็กติกของคุณอภิสิทธิ์อาจจะไม่ทำให้เกิดผลอย่างที่เขาต้องการอะไรเลย หรือพูดอีกแบบคือ มันจะจบในแบบที่คุณอภิสิทธิ์ต้องจำยอม หรือบอกว่าก็ดีเหมือนกันที่พรรคตนเองได้เป็นรัฐบาล

ถึงตอนนั้นประชาธิปัตย์ก็อาจจะลงมติตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ แล้วพลังประชารัฐต้องการอีกอย่างน้อย 80-90 เสียงเพื่อตั้งรัฐบาล ประชาธิปัตย์ก็จะลงมติเข้าร่วม ด้วยเหตุผลว่าประเทศไม่อาจขาดรัฐบาล คำพูดนี้เขาเคยใช้มาแล้วในอดีต

หลังการเลือกตั้ง ควรคิดอย่างไรกับบทบาทของทักษิณ ชินวัตร ถ้าชนชั้นนำยังก้าวข้ามไม่พ้น ฝ่ายประชาธิปไตยต้องทบทวนอะไรไหม

นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องมาคุยกันหลังการเลือกตั้ง คุยตอนนี้ยังไม่ใช่ประเด็นเท่าไหร่

ในบางแง่มุม คำว่าการตกผลึกของฝ่ายประชาธิปไตยอาจจะยังไม่มี และก็จะยังไม่มีไปอีกนาน เพราะมันเป็นความแตกต่างหลากหลาย

ส่วนคุณทักษิณจะมีบทบาทอย่างไรนั้น ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันได้จำกัดความสัมพันธ์ระหว่างคุณทักษิณกับพรรคการเมืองไปมาก เพราะกฎหมายห้ามบุคคลภายนอกครอบงำพรรคการเมือง ถ้าพบว่ากรรมการยอมให้ครอบงำ ก็จะถูกยุบพรรค

พรรคการเมืองอื่นเขาก็ไม่ต้องคิดประเด็นนี้ แต่ว่าพรรคการเมืองที่มีประวัติความเชื่อมโยง ก็ต้องระมัดระวังมาก แต่ว่าคนจะคิดกันอย่างไร หรือผมคิดอย่างไร ขอไว้พูดหลังเลือกตั้ง

ถ้าพลังประชารัฐและพรรคฝ่ายสืบทอดอำนาจได้ 126 เสียง ถือว่าฝ่ายประชาธิปไตยพ่ายแพ้ไหม

126 เสียง มันนิดเดียว การที่ได้ 126 เสียงไม่ได้แสดงว่าเข้มแข็งอะไร บอกแค่ว่าคุณเอาเปรียบเขามากในการตั้งรัฐบาลได้

พรรคฝ่ายประชาธิปไตยพูดเรื่องการปฏิรูปกองทัพ คุณคิดว่าควรทำและทำได้จริงเลยทันทีไหม

เป็นเรื่องหนึ่งที่ควรทำ แต่มันก็มีอีกหลายเรื่อง ดังนั้นเราต้องมาชั่งน้ำหนักดูว่ารัฐบาลมีเสียงแค่ไหน มีเสถียรภาพแค่ไหน สามารถทำอะไรได้แค่ไหน ทำอะไรให้เกิดสนับสนุนจากประชาชน เพื่อจะจัดการในเรื่องที่ยากได้หลายเรื่องมากขึ้น ต้องไปคิดกันอีกทีหลังเลือกตั้ง

โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ในฐานะคนมากประสบการณ์ มีอะไรที่ควรจับตาเป็นพิเศษ

ผมคิดว่าอยู่ที่การแทรกแซงการเลือกตั้งโดยฝ่ายผู้มีอำนาจ ปรากฏการณ์นี้อาจมีมากกว่าการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังมีอำนาจเต็ม

การสืบทอดอำนาจผ่านพรรคพลังประชารัฐจะเป็นเรื่องใหญ่มาก ถ้าหากทำอย่างนั้นจริงๆ จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจหรือถ้าหากไม่ทำเลยก็กลายเป็นเรื่องตลก แล้วคนก็จะมาพูดได้ว่าคุณทำให้ประเทศเสียหายโดยพรรคการเมือง ทั้งที่พรรคการเมืองนั้นมาจากคณะรัฐประหาร และกำลังผลักดันเรื่องที่คนทั่วไปทำไม่ได้ และไม่ได้ทำ เพื่อให้ผู้ที่มาจากการยึดอำนาจสามารถสืบทอดอำนาจต่อไป เพียงแต่ทำในคราบของนักการเมือง

จาตุรนต์ ฉายแสง

ย้อนมามองชีวิตทางการเมืองของตัวเอง เหตุการณ์ไหนกระทบชีวิตและความรู้สึกมากที่สุด

หากย้อนไปถึง 6 ตุลาฯ มันเป็นคนละบริบทกัน ทั้งเรื่องของยุคสมัยและเรื่องของอุดมการณ์การต่อสู้ เรื่องของการตกเป็นเหยื่อของเผด็จการ มีผลหักเหชีวิต จะพูดว่าเมื่อเทียบกับขาดโอกาส-เสียสิทธิเลือกตั้ง มันเป็นคนละเรื่อง

พอเป็นนักการเมือง การที่พรรคไทยรักไทยถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งห้าปี อันนี้อาจมีผลมาก ในแง่ความรู้สึกที่ว่าการยุบพรรคมันไม่ถูกต้อง มันทำโดยคณะตุลาการที่ไม่ใช่ศาล และมีการใช้กฎหมายที่ออกภายหลังให้มีผลย้อนหลังเพิกถอนสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง มันทำให้เราไม่มีความเป็นประชาชนไทยอยู่ ทั้งที่เราไม่ได้ทำผิดอะไรเลย นี่เป็นความทารุณอย่างหนึ่ง แล้วมาคราวนี้ก็ถูกทำให้พ้นจากการเป็นผู้สมัครอีก เพียงแต่ยังไม่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

วิกฤตการเมืองทำให้ชีวิตผมอยู่กับการไม่มีสิทธิไปออกเสียงเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลานาน ตอนนี้ไม่ได้เป็นผู้สมัครแล้ว ต้องรอไปถึงการเลือกตั้งคราวหน้า

จริงๆ มันก็เป็นผลจากสภาพโดยรวมของประเทศด้วย เป็นเรื่องที่เกิดผลต่อคนทั้งประเทศ ทั้งๆ ที่บุคคลไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

คุณเคยพูดตอนรัฐประหาร 2557 ใหม่ๆ ว่าเดาได้ถึงวิบากกรรมทางการเมืองของตัวเอง ว่าคงถูกจับถ้าเลือกไม่ไปรายงานตัว กรณียุบไทยรักษาชาติถือว่าเดาล่วงหน้าได้ไหม

ตั้งแต่ปี 2529 เรามีรัฐประหารมา 3 ครั้ง แต่ละครั้งผมจะออกมาพูดว่าผมไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร อย่างช้าไม่เกิน 48 ชั่วโมงหลังการรัฐประหาร 2 ครั้งแรกผมไม่ถูกเรียกตัว แต่ครั้งล่าสุดนี้ถึงถูกเรียกให้ไปรายงานตัว

มันเป็นไปตามสัญชาตญาณที่เราได้พูดอะไรไว้เยอะก่อนการรัฐประหาร ว่าต้องไม่ยอมรับ ต้องคัดค้าน พอถูกเรียกตัว ถ้าไม่ไปรายงานตัวก็ต้องหลบ ซึ่งจะให้หลบไปเรื่อยๆ ก็คงไม่ได้ ไม่งั้นจะถูกตามหาและจับกุม ผมไม่เคยคิดจะสู้ใต้ดิน และมองไม่เห็นว่าถ้าหากตัวเองหนีไปต่างประเทศแล้วจะทำอะไรได้ เราก็ต้องยอมให้เขาจับ แต่ไม่ใช่ไปมอบตัว เลยเลือกให้เขามาจับแทน

เวลาเราไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แล้วยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับพวกเขามาตลอด มันไม่ต้องคิดเท่าไหร่ มันเป็นเรื่องประจำตัว ที่ผ่านมาก็คิดว่ามันคงไม่ถึงขั้นถูกกวาดล้าง เราต่อสู้ด้วยการแสดงความคิดเห็น และสุดท้ายก็ใช้พรรคการเมืองต่อสู้ เพียงแต่ว่าช่วงหลังมันถูกกระทำ ถูกทำร้ายเกินปกติอย่างต่อเนื่อง และไม่นึกว่าจะมาถึงการยุบไทยรักษาชาติ

ถัดจากนี้ ก้าวต่อไปที่ชัดเจนที่สุดของคุณคือการรณรงค์สร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย มากกว่าการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองใช่ไหม

ตอนปราศรัย ผมพูดเหตุผลว่าทำไมเมื่อพ้นจากการเป็นผู้สมัครแล้วยังมาปราศรัยอยู่ มันเป็นเรื่องแปลก ผมตั้งคำถามเองและตอบเองว่า เพราะเป้าหมายชีวิตทางการเมืองผมไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่งทางการเมืองใดตำแหน่งหนึ่ง แต่อยู่ที่ความต้องการให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยและก้าวหน้า นี่เป็นจุดมุ่งหมายตั้งแต่เริ่มเป็นนักการเมืองตั้งแต่ปี 2529

ถ้าไปหาบทสัมภาษณ์ช่วงนั้นมา ก็จะพบว่าผมยังเป็นคนเดิม วันนี้สิ่งที่ทำอยู่ก็คือหยุดการสืบทอดอำนาจ และส่งเสริมให้ฝ่ายประชาธิปไตยได้จัดตั้งรัฐบาล เพื่อไปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนยอมรับรัฐบาลประชาธิปไตยและบริหารบ้านเมืองอย่างเป็นธรรมมากขึ้น ผมพูดมาหลายรอบจนจำได้แม่นและจำได้เร็วแล้ว

ส่วนเรื่องระยะยาวว่าผมจะทำอะไรต่อไป ถ้าจะลงรายละเอียดมากคงขอพูดหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว

จาตุรนต์ ฉายแสง

แล้วสุดท้ายคุณมองตัวเองอย่างไร ถ้าตั้งต้นว่าอยากได้อำนาจมากๆ อาจง่ายกว่านี้ไหม ไม่ต้องถูกดำเนินคดีให้ลำบาก

บางช่วง ผมสวมหมวกนักการเมือง บางช่วงผมสวมหมวกนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล ผมจะมีหมวกใบนี้อยู่

การสวมหมวกนักการเมืองเพราะในช่วง 20 ปีมานี้ พรรคการเมืองพัฒนาและมีความเชื่อมโยงกับประชาชนอย่างที่เราพูดกันมาแล้ว ผมเห็นว่าระบบพรรคการเมืองเป็นกลไกที่มีประโยชน์อย่างมากในการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ที่ผ่านมาก็คิดว่าจะใช้สถานะนี้มากกว่าการเป็นนักเคลื่อนไหว หรือไปทำกิจกรรมนอกสภา

แต่ทั้งหมดนี้ ก็อาจเป็นจุดอ่อนของผมก็ได้ ที่คิดจริงจังกับการทำให้ตัวเองเป็นผู้มีอำนาจน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ผู้นำประเทศที่มีบทบาทหลายๆ คนมีลักษณะเฉพาะที่ต้องการมีอำนาจ แต่บางคนก็เป็นเรื่องการอุทิศชีวิต สิ่งสำคัญของเขาไม่ใช่ตำแหน่ง แต่เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงประเทศ

ด้วยวัยและวันเวลาของคุณ คิดว่าจะทันเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างที่อยากเห็นไหม

ผมเจอคำถามมาเรื่อย ตั้งแต่เริ่มเป็นนักการเมือง ตอนนั้นเป็นยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ คำถามว่าเมื่อไหร่ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยเต็มที่ ตอนนั้นเราประสบการณ์ไม่มาก เพิ่งจะผ่านสังคมเผด็จการมา ก็ตอบเขาไปว่าคงอีกเป็นสิบๆ ปี แต่พอปี 2534 หลังจากที่ผมเริ่มเป็นนักการเมืองมาไม่นานก็มีการยึดอำนาจ

หลังจากนั้นก็มีคนถามอีก ผมก็ตอบไปว่าน่าจะอีกประมาณ 15 ปีมั้ง แล้วการเมืองไทยก็มีการพัฒนาดีขึ้น แต่พอถึงปี 2549 ครบ 15 ปีพอดี ก็ยึดอำนาจอีก ตอนนี้ถ้าใครถามว่าอีกสัก 15 ปีประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยไหม ผมก็เบื่อที่จะตอบแล้ว (หัวเราะ)

คำถามว่าเมืองไทยจะเป็นประชาธิปไตยเมื่อไหร่ เวลานี้มันป่วยการที่จะตอบ มันตอบมาแล้วซ้ำซาก และหลายครั้งเราพบว่าบ้านเมืองล้าหลังไปมากกว่าวันแรกที่ผมเป็นนักการเมืองด้วยซ้ำ

บางแง่มุม มันก็มีหลายด้านที่พัฒนาเจริญก้าวหน้ามากกว่าอดีต เช่น พลังของประชาชน และความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนแปลงมันก็มีอยู่ เนื่องจากสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้หลายคนเห็นความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยน มีปัจจัยด้านบวกที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน

ผมไม่เคยเป็นคนที่เชื่อเรื่องการต่อสู้ครั้งสุดท้าย เมื่อผมพูดแบบนี้ หลายคนก็คิดว่าเหนื่อยตายสิ เพราะเขาคิดกันว่าเป็นครั้งสุดท้าย เราต้องชนะแล้วจะได้จบกัน แต่ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติไม่มีการต่อสู้ครั้งสุดท้ายที่เป็นจริง มันเป็นจริงในเชิงการปลุกใจเพื่อรวบรวมคนมาต่อสู้ในขณะหนึ่งเท่านั้น

แต่จริงๆ คุณต้องสู้กันเรื่อยไป ถ้ายังมีแรงอยู่ก็สู้ไป ไม่ต้องไปปลุกใจตัวเองว่าครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย สู้ไปแล้วมันจะยืดเยื้อไปอีก เราก็ต้องสู้

สู้ในขณะที่เรามีแรง เราทำประโยชน์ได้ ทำให้เต็มที่

จาตุรนต์ ฉายแสง

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save