ธนาพล อิ๋วสกุล เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ
ในตอนแรก ผู้เขียนนำเสนอเส้นทางการเมืองของชวน หลีกภัย ตั้งแต่เข้ามาเล่นการเมือง ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยแรกเมื่อปี 2512 จนถึงต้นปี 2534 ก่อนขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในตอนที่สองนี้ ผู้เขียนจะสำรวจเส้นทางการเมืองของชวนหลังจากรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก้าวขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี จนถึงการเป็นประธานรัฐสภาในปัจจุบัน
หัวหน้าพรรคคนที่ 5:
ประวัติศาสตร์การเมืองต้อง (ไม่) จารึกความล้มเหลว
ก่อนขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 5 ผู้คนมักไม่ทราบว่าชวนเกือบจะได้เป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 3 ตั้งแต่ปี 2522 ภายหลังจากที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เมื่อพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง ขณะนั้นมีแคนดิเดตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อยู่ 2 คน คือ พันเอก ถนัด คอมันตร์ ส.ส.หนึ่งเดียวของพรรคในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเพิ่งเข้าสังกัดพรรค กับอุทัย พิมพ์ใจชน นักการเมืองหนุ่มที่อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์มา 10 ปี อุทัยมีจุดยืนต่อต้านเผด็จการอย่างชัดเจนและปฏิเสธที่จะลงเลือกตั้งในปี 2522 เนื่องจากเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2521 เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจเผด็จการ
อุทัยมีแนวโน้มที่จะได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 3 แต่ 2 วันก่อนเลือกตั้ง ชวน หลีกภัยได้เสนอตัวขึ้นมาเป็นทางเลือกที่ 3 ท่ามกลางเสียงคัดค้านของหลายคนเนื่องจากกลัวเสียงแตก และก็เป็นจริงดังคาด เมื่อผลออกมา อุทัย พิมพ์ใจชน ได้ 52 คะแนน ชวน หลีกภัย ได้ 51 คะแนน แต่ถนัด คอมันตร์ ได้ 62 คะแนน จึงชนะเลือกตั้ง ซึ่งถ้าชวนและอุทัยไม่ตัดคะแนนกันเอง ไม่อุทัยก็ชวนคงได้เป็นหัวหน้าพรรคแล้ว ในยุคที่ถนัด คอมันตร์ เป็นหัวหน้าพรรค ถือเป็นยุคแห่งความตกต่ำของพรรคประชาธิปัตย์อีกยุคหนึ่ง เนื่องจากถนัดแทบไม่เป็นที่ยอมรับและมีเรื่องกระทบกระทั่งกับคนในพรรคตลอดเวลา
กว่าชวนจะลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกครั้งต้องรอถึง 12 ปี หลังจากพิชัย รัตตกุล ลงจากตำแหน่ง ขณะนั้นพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคฝ่ายค้าน ในการเลือกหัวหน้าพรรคเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2534 คู่แข่งของชวนคือ มารุต บุนนาค ส.ส.กทม. ผลปรากฏว่า ชวน หลีกภัยได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค ได้ 85 คะแนน ขณะที่มารุตได้ 72 คะแนน ส่วนตำแหน่งเลขาธิการพรรค ได้แก่ พันโท สนั่น ขจรประศาสน์ (ยศในขณะนั้น) ซึ่งรับตำแหน่งเป็นครั้งที่ 2
หลังจากนั้น “ชวน-เสธ.หนั่น” ก็กลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระดับตำนาน ระหว่างหัวหน้าพรรคที่ขายความใจซื่อมือสะอาด กับแม่บ้านพรรคที่พยายามทุกวิถีทางที่จะส่งหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี ชวนได้กล่าวสปีชในฐานะหัวหน้าพรรคคนใหม่ว่า
“เมื่อ 22 ปีที่แล้วไม่คิดว่าจะมีวันนี้เกิดขึ้น นับแต่อยู่ร่วมพรรคตลอดมา ไม่เคยบอกว่าจะตายที่นี่ แต่ก็จะอยู่ที่นี่ตลอดไป นับเป็นความยิ่งใหญ่ของชีวิต ซึ่งมีอยู่ 2 ประการคือ การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคในครั้งนี้พิสูจน์ว่าประชาธิปัตย์เป็นสถาบันการเมือง ดำเนินต่อเนื่องและอยู่ได้ แม้หัวหน้าพรรคจะเปลี่ยนไป และอีกประการคือ วันนี้ผมได้รับเกียรติจากเพื่อนร่วมพรรค ที่ยอมรับสภาพลูกชาวบ้านให้เป็นหัวหน้าพรรค ผมจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อนำไปข้างหน้าโดยไม่ให้ประวัติศาสตร์การเมืองจารึกความล้มเหลว แต่จะให้จารึกความสำเร็จแทน”[1]
ถัดมาไม่ถึงเดือน วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดย พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ และ พลเอก สุจินดา คราประยูร ได้ทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกสภาผู้แทนราษฎร และห้ามไม่ให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จากนั้น คณะรัฐประหารได้ประกาศรายชื่อนักการเมือง 26 คนที่เข้าข่ายร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งมีคนของพรรคประชาธิปัตย์อยู่ด้วย 3 คน คือ ประจวบ ไชยสาส์น สนั่น ขจรประศาสน์ และไตรรงค์ สุวรรณคีรี ประกาศนี้ใช้ปรามนักการเมืองไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหว และใช้เป็นเงื่อนไขสนับสนุนคณะรัฐประหารในการสืบทอดอำนาจต่อไป
ในฐานะหัวหน้าพรรค ชวน หลีกภัย และพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่ได้มีท่าทีในการต่อต้านรัฐประหารเหมือนเช่นเคย เมื่อคณะรัฐประหารตั้งสภานิติบัญญัติขึ้นเพื่ออุปโลกน์ให้เป็นสภาผู้แทนราษฎร โดยให้มีตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้าไปร่วมพรรคละ 1 คน พรรรคประชาธิปัตย์ก็ให้ความร่วมมือส่ง นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ อดีต ส.ส.นครราชสีมาเข้าร่วมด้วย
กว่าที่พรรคประชาธิปัตย์จะออกมาคัดค้านก็ต้องรอจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2534 เมื่อร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารที่ชัดเจนว่าเขียนเพื่อสืบทอดอำนาจ กำลังจะเข้าสู่วาระ 3 นำไปสู่การประท้วงอย่างเข้มข้น จนมีกระแสพระราชดำรัสในหลวง ร.9 เรื่อง “รู้รักสามัคคี” ออกมาในวันที่ 4 ธันวาคม 2534
หลังจากนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็แถลงว่า ให้รับรัฐธรรมนูญไปก่อนเพื่อจะแก้ในภายหลัง ทั้งหมดเพื่อจะนำไปสู่การเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535
หนึ่งปี สองเลือกตั้ง:
จากหัวหน้าพรรค สู่หัวหน้ารัฐบาล
การเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535 คือการนำทัพลงสู้ศึกเลือกตั้งครั้งแรกของชวน หลีกภัย เป็นการลงเลือกตั้งที่ไม่มีใครคาดหวังว่าพรรคประชาธิปัตย์จะมีลุ้นชนะเลือกตั้ง เพราะไม่มีจุดเด่นอะไรชัดเจน ด้านการบริหารเศรษฐกิจก็เทียบกับรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ แห่งพรรคชาติไทย ก่อนถูกรัฐประหารไม่ได้ ด้านการต่อต้านเผด็จการ ก็ถูกพรรคพลังธรรม นำโดย พลตรี จำลอง ศรีเมือง แย่งชิงการนำไป ด้านการระดมอดีตข้าราชการเข้าร่วมก็มีพรรคความหวังใหม่ของพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นตัวชูโรง ส่วนพรรคสามัคคีธรรมคงไม่ต้องพูดถึง เพราะเป็นพรรคทหารที่คณะรัฐประหาร 2534 ตั้งขึ้นมากับมือ
ในขณะที่ปี 2531 พรรคประชาธิปัตย์ถือว่าตกต่ำแล้วยังได้ 48 ที่นั่ง ผลการเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535 ออกมาเลวร้ายกว่าเดิม คือได้เพียง 44 ที่นั่ง ในกรุงเทพมหานคร ได้เพียง 1 ที่นั่งจากนักการเมืองหน้าใหม่ชื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถ้าจะมีความหวังอยู่บ้างคือ ส.ส.ในภาคใต้ จากที่เคยได้ 16 ที่นั่ง แต่เมื่อชู ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี กลับได้เพิ่มขึ้นมาถึง 26 ที่นั่ง
หลังการเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535 พลเอก สุจินดา คราประยูร ผู้เป็นเจ้าของประโยค “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใต้การสนับสนุนของ 5 พรรคการเมือง โดยมีพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งคณะรัฐประหารตั้งขึ้นมาสืบทอดอำนาจเป็นแกนนำรัฐบาล ร่วมด้วยพรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ได้ร่วมกับพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 4 พรรค อันประกอบด้วยพรรคความหวังใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังธรรม และพรรคเอกภาพ ทำหน้าที่ต่อต้านคณะรัฐประหารทั้งในและนอกสภา
เหตุการณ์จบลงที่การปราบปรามผู้ชุมนุมในเดือนพฤษภาคม 2535 ทำให้รัฐบาลหมดความชอบธรรม แม้พลเอกสุจินดาจะลาออกแล้ว แต่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ก็ไม่สำเร็จ เพราะถูกแทนที่ด้วยนายกฯ คนนอกหน้าเดิม คืออานันท์ ปันยารชุน ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 10 มิถุนายน 2535 เมื่ออานันท์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ทำการโยกย้ายทหาร แล้วประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 13 กันยายน 2535
ในการเลือกตั้ง 13 กันยายน ภาพของพลตรี จำลอง ศรีเมือง ถูกเปลี่ยนจากผู้นำในการสู้กับเผด็จการกลายเป็นผู้นำในการพาคนไปตาย โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ฉวยโอกาสออกแคมเปญ “ผมเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา” ชูภาพชวน หลีกภัย เป็นตัวแทน ถือเป็นการประกาศไม่เอาการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ รสช. ขณะเดียวกันก็ไม่เอาท่าทีแข็งกร้าวแบบพรรคพลังธรรมที่นำโดยพลตรี จำลอง ศรีเมือง
แคมเปญดังกล่าวได้ส่งผลให้ชวน หลีกภัย และพรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งปี 2535 และเป็นการชนะเลือกตั้งครั้งเดียวในชีวิตของชวน หลีกภัย ในฐานะหัวหน้าพรรค ทำให้ชวน หลีกภัย ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
ผลการเลือกตั้งในครั้งนั้นที่น่าสนใจคือ พรรคประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นในทุกภาค ในกรุงเทพมหานคร จาก 1 ที่นั่ง เป็น 9 ที่นั่ง ส่วนภาคกลางได้ 9 ที่นั่งจากที่ไม่ได้แม้แต่ที่นั่งเดียว ภาคเหนือเพิ่มจาก 5 ที่นั่ง เป็น 8 ที่นั่ง ส่วนภาคอีสานจาก 12 ที่นั่ง เป็น 17 ที่นั่ง ภาคใต้จาก 26 ที่นั่ง กลายเป็น 36 ที่นั่ง ทั้งนี้ ส.ส ทั้ง 79 คนนั้น เป็น ส.ส.เก่า 46 คน และเป็น ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งครั้งแรก 33 คน เมื่อรวมกับการเลือกตั้ง 22 มีนาคม ซึ่งมี ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งครั้งแรก 20 คน นั่นหมายความว่า ในการเลือกตั้งสองครั้งในรอบหนึ่งปีที่ชวนนำทัพสู้ศึกเลือกตั้ง มี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ได้รับการเลือกตั้งครั้งแรกมากถึง 53 คน
ชวนให้นึกถึงที่มาของ “ตำนานเสาไฟฟ้า” โดยเฉพาะในภาคใต้ที่บอกว่า “แม้ประชาธิปัตย์ส่งเสาไฟฟ้าเราก็จะเลือก”[2]
ปลัดประเทศ
ชวน หลีกภัย บริหารประเทศโดยอาศัยระบบราชการ ดังจะเห็นจากการบริหารกระทรวงต่างๆ ตั้งแต่ปี 2519 คือ ความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏ (ไม่สามารถสร้างผลงานที่นอกเหนือจากระบบราชการ) นอกจากนั้น การทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ก็มีปัญหากับพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ตลอดเวลาเพราะไม่ไว้วางใจกัน ในงานวิจัย “50 ปี พรรคประชาธิปัตย์ กับการเมืองไทย” แถมสุข นุ่นนนท์ ได้สรุปภาพรวมของการบริหารประเทศของชวนไว้อย่างชัดเจนว่า
“มีความรู้สึกว่าการดำเนินงานของรัฐบาลเป็นไปอย่างเชื่องช้า จนได้ฉายาว่ารัฐบาล “มะงุมมะงาหรา” เหมือนกับข้าราชการประจำที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีจินตนาการทางการเมือง ไม่คิดเป็นระบบ ไม่ลำดับปัญหา ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้ารับผิดชอบ พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคแกนนำได้รับการมองว่าเล่นเกมการเมืองและหวาดระแวงพรรคร่วมรัฐบาลอื่นมากเกินไป ทั้งยังอิงแอบข้าราชการประจำจนถูกชี้นำตลอดมา”[3]
แก้วสรร อติโพธิ เคยให้นิยามชวน หลีกภัย ว่าเป็นแค่ “ปลัดประเทศ” ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี แต่ความโชคดีของชวนในเวลานั้นคือยังไม่มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่โดดเด่นกว่า ยิ่งไปกว่านั้น ในวันที่ 22 มีนาคม 2539 นายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 260 คน มาเป็นฐานอำนาจให้กับตัวเอง วุฒิสภาชุดนี้แม้จะไม่มีอำนาจเหมือนวุฒิสภาในรัฐธรรมนูญ 2521 แต่ก็มีอำนาจในการตรวจสอบกลั่นกรองกฎหมายและการผ่านความเห็นชอบรัฐธรรมนูญได้
เป้าหมายทางการเมืองที่ชวนพูดไว้เสมอว่าจะเป็นรัฐบาลชุดแรกที่อยู่ครบวาระ 4 ปี อาจเจือความหวังว่าจะได้แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 260 คนในอนาคตด้วยก็ได้
พังเพราะเทพเทือก
รูปธรรมจับต้องได้ที่พรรคประชาธิปัตย์โฆษณาว่าเป็นความสำเร็จ คือการเร่งรัดปฏิรูปที่ดินเพื่อกระจายสิทธิการถือครองที่ดินให้แก่ ‘เกษตรกรผู้ยากไร้’ ซึ่งระหว่างปี 2536-2537 ได้จัดสรรที่ดินให้เกษตรกร 592,809 ราย ใน 64 จังหวัด โดยรัฐบาลได้โฆษณาว่า “มากที่สุดในประวัติการณ์ซึ่งไม่มีรัฐบาลไหนทำได้มาก่อน”
แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดคือ ในเดือนพฤศจิกายน 2537 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงข่าวการแจกที่ดิน สปก.4-01 ให้กับเศรษฐีภูเก็ต 10 ตระกูล โดยเฉพาะปรากฏชื่อ ทศพร เทพบุตร และสุทิน เทพบุตร สามีและพ่อสามีของ อัญชลี วานิช เทพบุตร ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับด้วย ภาพที่ออกมาตรงกันข้ามกับนโยบายปฏิรูปที่ดินให้แก่ ‘เกษตรกรผู้ยากไร้’ ซึ่งผู้รับผิดชอบคือ สุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เมื่อสังคมสงสัยในการดำเนินนโยบาย ในฐานะหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย กลับปกป้องสุเทพว่าการดำเนินการถูกต้องแล้ว ด้วยวาทกรรม “สอบชิงทุน” ไม่ว่ารวยหรือจน ถ้าคุณสมบัติเข้าข่ายก็จะได้รับที่ดิน สปก.4-01
แต่นั่นกลับทำให้สังคมโกรธแค้นมากขึ้น พร้อมกับตั้งข้อสงสัยต่อชวน หลีกภัย ในฐานะนายกรัฐมนตรี เมื่อบวกกับท่าทีของสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เล่นเกินบทถึงขนาดตั้งป้ายต่อต้านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ก็ยิ่งทำให้เรื่องขยายใหญ่ขึ้น แม้ภายหลังสุเทพจะลาออกจากตำแหน่ง แต่ก็สายเกินไป ขณะที่ฝ่ายค้านก็ผนึกกำลังกันตรวจสอบอย่างเข้มแข็งโดยเฉพาะกลุ่ม 16 ที่มีเนวิน ชิดชอบ จากพรรคชาติไทย และไพโรจน์ สุวรรณฉวี จากพรรคชาติพัฒนาเป็นแกนนำ
สิ่งที่ต้องบันทึกไว้ก็คือ ในระหว่างนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นเมื่อพรรคความหวังใหม่ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ซึ่งหลายคนคาดว่าจะเป็นจุดจบของรัฐบาลชวน แต่กลายเป็นพรรคชาติพัฒนาเข้ามา “เสียบ” ทั้งๆ ที่พรรคชาติพัฒนากำลังตรวจสอบทุจริต สปก. 4-01 อย่างเข้มข้น
และนี่เองเป็นที่มาของข้อวิจารณ์ของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนักการเมืองหนุ่มว่า ชวน หลีกภัย ขาดความสง่างาม และได้ “สูญเสียโอกาสที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ยิ่งใหญ่ เป็นได้เพียงแค่นายกรัฐมนตรีที่ดีคนหนึ่งเท่านั้น” ก่อนที่จะโดนชวน ‘กรีด’ กลับไปถึงครอบครัวอภิสิทธิ์ จนอภิสิทธิ์ต้องมาขอโทษในที่สุด
แต่สิ่งที่รัฐบาลชวนเผชิญตั้งแต่ปี 2538 คือวิกฤตความชอบธรรม ดังนั้น เมื่อถึงเดือนพฤษภาคม 2538 ฝ่ายค้านนำโดยพรรคชาติไทยได้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พรรคพลังธรรมได้มีมติงดออกเสียง แทนที่ชวน หลีกภัย จะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กลับประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 19 พฤษภาคม 2538 ถือเป็นการปิดฉากรัฐบาลชวน 1 และปิดโอกาสที่จะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่อยู่ครบวาระ 4 ปี รวมถึงการแต่งตั้งวุฒิสภาอีก 260 คนด้วย
แพ้ซ้ำซาก โดยไม่สรุปบทเรียน
เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งปี 2538 คู่แข่งสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์คือ พรรคชาติไทยของบรรหาร ศิลปอาชา นักการเมืองสุพรรณบุรี ที่มีภาพลักษณ์ตรงข้ามกับชวน หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์ใช้กลยุทธ์ “เนกาทีฟ แคมเปญ” โดยตั้งสมการว่าต้องเลือกประชาธิปัตย์เท่านั้นเพราะ “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” โดยพุ่งเป้าไปที่บรรหารโดยตรง แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่สำเหนียกว่าตัวเองก็มีภาพลักษณ์ที่ย่ำแย่ไม่ต่างกัน อีกทั้ง พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ได้ลงสนามเลือกตั้งครั้งแรกในนามพรรคพลังธรรม มาแย่งความนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ด้วย เพราะในเวลานั้นทักษิณคือตัวแทน “อัศวินคลื่นลูกที่สาม” ที่มีภาพลักษณ์ตรงกันข้ามกับ “ชวน เชื่องช้า”
ผลการเลือกตั้ง แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังสามารถรักษาฐานเสียงในภาคใต้ไว้อย่างเหนียวแน่น แต่ภาคอื่นๆ กลับพ่ายแพ้ เช่นในกรุงเทพมหานครเหลือเพียง 7 ที่นั่งเท่านั้น ส่วนพรรคพลังธรรมได้ถึง 16 ที่นั่ง ผลรวมทั้งประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ได้ 86 ที่นั่ง แม้ว่ามากกว่าการเลือกตั้ง 13 กันยายน 2535 ส่วนหนึ่งเพราะมี ส.ส.ย้ายมาจากพรรคอื่น ขณะที่ ส.ส.เดิมสอบตกไปถึง 23 คน ส่วนพรรคชาติไทยของบรรหาร ศิลปอาชา ได้มา 92 ที่นั่ง กลายเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและบรรหารได้เป็นนายกรัฐมนตรีในที่สุด
บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ในการทำหน้าที่ฝ่ายค้านนั้นมุ่งตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาลโดยเฉพาะรัฐมนตรีจากกลุ่ม 16 ที่เคยมีบทบาทในการล้มรัฐบาลชวน 1 มีการหยิบยกการทุจริตในธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ พร้อมๆ กับการโจมตีเรื่องส่วนตัวของบรรหาร ศิลปอาชา
ถึงแม้ว่ารัฐบาลบรรหารต้องยุบสภาในเดือนกันยายน 2539 แต่บรรหารยังได้ตั้งวุฒิสภาที่หน้าตาไม่ขี้เหร่เกินไปนัก และที่สำคัญ ผลงานชิ้นสำคัญคือการผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อปฏิรูปการเมือง และเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญ 2540 ในที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้คงไม่เกิดขึ้น ถ้าชวน หลีกภัย ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
กองทัพงูเห่า เรามาช่วยชวน
การเลือกตั้ง 17 พฤศจิกายน 2539 ถือเป็นการแก้มือของชวน หลีกภัย และเป็นการลงเลือกตั้งในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งที่ 4 แต่คู่ต่อสู้รอบนี้คือพรรคความหวังใหม่ของพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
ผลการเลือกตั้งออกมาสูสีมาก พรรคประชาธิปัตย์ยังคงผูกขาดภาคใต้เช่นเดิม ส่วนกรุงเทพมหานครก็กลับมาครองแชมป์ได้อีกครั้งด้วยจำนวน ส.ส. 28 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้จำนวน ส.ส.มากที่สุดในประวัติศาสตร์ถึง 123 ที่นั่ง แต่ก็ยังแพ้พรรคความหวังใหม่ที่ได้ 125 ที่นั่ง ในการจัดตั้งรัฐบาลในคืนวันที่ 17 พฤศจิกายน ชวนได้แสดงสปิริตคือให้พรรคที่ได้อันดับ 1 คือพรรคความหวังใหม่จัดตั้งรัฐบาลก่อน และเมื่อจัดตั้งได้สำเร็จ ชวนก็ดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านต่อไป
รัฐบาลชวลิตอยู่ได้เพียง 1 ปีก็ต้องลาออกในเดือนพฤศจิกายน 2540 ซึ่งในเวลา 1 ปี รัฐบาลได้ฝากผลงานไว้ 2 อย่าง คือ การลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ต่อเนื่องเป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง และการผ่านรัฐธรรมนูญ 2540 หลังจากนั้นมีความพยายามที่จะจัดตั้งรัฐบาลในขั้วเดิม โดยชูพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ จากพรรคชาติพัฒนาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ได้ไปเอา ส.ส.พรรคประชากรไทยของสมัคร สุนทรเวช มา 12 คน จาก 18 คน ทำให้ชวน หลีกภัย ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2
มารุต บุนนาค ได้เล่าเบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาลชวน 2 ไว้อย่างน่าสนใจว่า
“ในการจัดตั้งพรรครัฐบาลชวน 2 นั้นมีปัญหา เพราะเป็นการแข่งขันการจัดตั้งรัฐบาลกับคุณเสนาะ เทียนทอง เลขาธิการอีกพรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นการช่วงชิงโอกาสทางการเมืองและอาศัยไหวพริบทางการเมือง ท่านพลตรีสนั่นสามารถไปชักชวนสมาชิกกลุ่มหนึ่งของพรรคประชากรไทยมาร่วมสนับสนุนด้วย ซึ่งเรียกกันว่ากลุ่มงูเห่า เมื่อมีการปรึกษากันในกลุ่มผู้บริหารพรรค ผมได้ทักท้วงว่าการจัดตั้งแบบนี้น่าจะไม่เหมาะเพราะไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย เนื่องจากไปเอาคนของพรรคอื่นมาโดยหัวหน้าพรรคเขาไม่ได้รู้เห็นด้วย จะเป็นที่เสียหายและอาจจะเป็นตราบาปของพรรคที่จะถูกกล่าวอ้างไปในทางที่ไม่ดีในภายหน้า พลตรีสนั่นมีความรู้สึกเครียดขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด และชี้แจงผมว่าถ้าจะจัดตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย 100% จะไม่มีทางได้เป็นรัฐบาล ท่านเป็นเลขาธิการพรรคจะต้องทำให้พรรคเป็นรัฐบาลให้ได้”[4]
กำเนิดของรัฐบาลชวน 2 นั้นแลกด้วยการทำลายหลักการดังที่มารุตได้กล่าวไว้ แต่ก็มาพร้อมความคาดหวังว่าจะแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจด้วยมันสมองของ 2 มือเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ คือ ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่ปรากฏว่า ธารินทร์เป็น “เด็กดีของไอเอ็มเอฟ” ดำเนินนโยบายตามแนวทางของไอเอ็มเอฟอย่างเคร่งครัด มีความขัดแย้งกับศุภชัยในหลายเรื่อง ส่งผลให้การบริหารนโยบายเศรษฐกิจไทยไม่มีทิศทาง ประกอบกับนโยบาย “อุ้มคนรวย” โดยการโอบอุ้มสถาบันการเงินมากกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ขณะที่เศรษฐกิจรากหญ้าไม่ได้รับการเหลียวแล ในช่วงเวลาใกล้กันนั้น พรรคไทยรักไทย ถูกก่อตั้งขึ้นโดยทักษิณ ชินวัตร ในปี 2541 และนำเสนอนโยบาย “คิดใหม่ ทำใหม่” เป็นทางเลือก
ปีสุดท้ายของรัฐบาลชวน 2 สร้างความรู้สึกเบื่อหน่ายและไร้ทางออกให้กับสังคม ชวนตัดสินใจยุบสภาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2543 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 6 มกราคม 2544 ซึ่งในขณะนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็มั่นใจว่าจะชนะเลือกตั้ง โดยหารู้ไม่ว่าหายนะครั้งใหญ่รออยู่ข้างหน้า
นำทัพเลือกตั้งครั้งสุดท้าย กับความพ่ายแพ้อย่างคาดไม่ถึง
เมื่อถึงการเลือกตั้งปี 2544 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นครั้งแรก มีระบบ ส.ส.เขต 400 คน แบบเขตเดียว-เบอร์เดียว และระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ทำให้ชวนต้องลงปาร์ตี้ลิสต์ และเป็นครั้งแรกในรอบ 32 ปี ที่ ส.ส.ตรังไม่มีชื่อชวน หลีกภัย การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์นี้ถือเป็นการนำทัพเลือกตั้งครั้งที่ 5 ของชวน โดยมีอนันต์ อนันตกูล อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นเลขาธิการพรรค หลังจากพลตรีสนั่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เนื่องจากมีความผิดฐานจงใจแสดงบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ
ถึงแม้พรรคประชาธิปัตย์จะได้คะแนนเสียง 128 ที่นั่ง แบ่งเป็นระบบเขต 97 ที่นั่ง ระบบบัญชีรายชื่อ 31 ที่นั่ง มากที่สุดเท่าที่พรรคประชาธิปัตย์เคยได้ที่นั่งในสภา แต่พรรคอันดับหนึ่ง คือ พรรคไทยรักไทย ได้ถึง 248 ที่นั่ง แบ่งเป็นระบบเขต 200 ที่นั่ง และระบบบัญชีรายชื่อ 48 ที่นั่ง จำนวนเก้าอี้ที่ห่างกัน 120 ที่นั่งนั้นเป็นสิ่งที่ชวน หลีกภัย ไม่เคยคาดคิดมาก่อน
นอกจากทักษิณ ชินวัตร จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 และพรรคไทยรักไทยสามารถอยู่ในตำแหน่งครบ 4 ปีแล้ว ยังสร้างมิติใหม่ทางการเมือง คือสามารถคิดนโยบายที่ออกจากกรอบราชการ ที่สำคัญสามารถส่งมอบนโยบายให้ผู้ลงคะแนนได้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์และชวน หลีกภัย ไม่เคยทำได้มาก่อน ดังกรณีโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค[5]
ส่วนชวน หลีกภัย แม้จะพ่ายแพ้การเลือกตั้ง 4 ครั้งจาก 5 ครั้ง แต่ก็ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จนครบวาระในปี 2546 ศึกชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนที่ 6 คือการต่อสู้กันระหว่าง บัญญัติ บรรทัดฐาน กับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งทั้งคู่เป็นคนที่ชวนให้การสนับสนุน ผลปรากฏว่าบัญญัติชนะเลือกตั้งในพรรค โดยชวนดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์
ความพ่ายแพ้ที่นำไปสู่การไม่เชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา
ถ้าความพ่ายแพ้ในปี 2544 ถือเป็นความพ่ายแพ้อย่างหมดรูป ความพ่ายแพ้ในปี 2548 หนักกว่ามาก พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงเพียง 96 ที่นั่ง ขณะที่พรรคไทยรักไทยได้ถึง 376 ที่นั่ง ห่างกัน 280 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์จึงมีการเลือกหัวหน้าพรรคอีกครั้ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เป็นหัวหน้าพรรค โดยมีสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการพรรค แน่นอนทุกคนรู้ว่าถ้าจะชนะเลือกตั้งให้ได้ด้วยวิธีการทางรัฐสภาแบบปกติ ก็ห่างไกลความเป็นจริงมาก
แต่การเมืองกลับพลิกผันเร็วมาก รัฐบาลทักษิณต้องยุบสภาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549 หลังจากมีอายุเพียง 1 ปี ด้วยวิกฤตการขายหุ้นชินคอร์ป โดยการเคลื่อนไหวมวลชนของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มีวาระซ่อนเร้นคือการออกบัตรเชิญให้รัฐประหาร[6] แต่กลายเป็นว่าแทนที่พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะลงสนามเลือกตั้งแข่งขัน กลับไปเล่นเกมนอกสภาร่วมกับกลุ่มพันธมิตร โดยเข้าร่วมกระบวนการบอยคอตการเลือกตั้งเพื่อสร้างทางตันให้ระบบรัฐสภา ในที่สุดก็เกิดรัฐประหาร 2549 ซึ่งมาพร้อมกับบันได 4 ขั้นเพื่อกำจัด “ระบอบทักษิณ”[7]
เมื่อถึงการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 พรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ยังพ่ายแพ้ให้กับพรรคพลังประชาชน ซึ่งมาแทนที่พรรคไทยรักไทยอีกเช่นเดิม แต่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ขึ้นมาได้ไม่นานก็ต้องออกจากตำแหน่งเนื่องจากถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิ์ ต่อมา สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นมาก็ต้องถูกยุบพรรคอีกเช่นกัน ด้วยการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มพันธมิตรฯ ไปถึงขั้นปิดสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ
เมื่อพรรคพลังประชาชนถูกยุบ จึงเป็นที่มาของการตั้งรัฐบาลในค่ายทหารเพื่อผลักดันให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ก็ได้มีตำนาน “งูเห่าภาค 2” มี ส.ส.พรรคพลังประชาชน 32 คนออกมาตั้งพรรคภูมิใจไทยเพื่อมาร่วมรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
แต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่มีความชอบธรรมในการบริหารประเทศและหมดความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิงเมื่อใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 ที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 ศพ[8]
เมื่อถึงการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 หลังจากพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี ด้วยความล้มเหลวในการบริหารประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ก็ประสบความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับอีกครั้ง โดยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้เปิดตัวลงเล่นการเมืองเพียง 49 วัน กลับชนะไปอย่างขาดลอยเช่นเดิม
รัฐบาลยิ่งลักษณ์บริหารประเทศ 2 ปีกว่าก็ไม่มีทีท่าว่าจะล้มลงได้ จนเมื่อรัฐบาลดำเนินนโยบายผิดพลาดโดยการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่งสุดซอย ครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ก็ลงมาเล่นการเมืองนอกสภาอย่างเต็มตัว โดยเริ่มจากการชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เราจึงเห็นภาพของชวน หลีกภัย ออกมาเป่านกหวีดร่วมกับกลุ่ม กปปส. ร่วมกับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จนรัฐบาลยุบสภาในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 แต่พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่หยุดแค่นั้น กลับบอยคอตเลือกตั้งเพื่อสร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหารเช่นเดียวกับปี 2549 ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีทางชนะด้วยวิถีทางเลือกตั้งอีกต่อไป
ในห้วงเวลานั้น เราไม่เห็นบทบาทของชวน หลีกภัย ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรค ออกมาห้ามปรามหรือแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยแต่อย่างใด
ไม่เกินความคาดหมาย เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และไม่เกินความคาดหมายที่คณะรัฐประหารภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการสืบทอดอำนาจด้วยพรรคการเมืองของตัวเอง โดยวางพรรคประชาธิปัตย์เป็นเพียงแนวร่วมเท่านั้น
เมื่อผลการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ออกมา พรรคประชาธิปัตย์ได้พ่ายแพ้อย่างย่อยยับ สูญเสียสถานะพรรคใหญ่อันดับ 2 ที่ยึดครองมาตั้งแต่ปี 2538 กลายมาเป็นพรรคอันดับ 4 ภาคใต้ที่เคยเชื่อกันว่าแม้แต่ส่งเสาไฟฟ้าลงไปคนก็เลือก ก็ไม่เป็นความจริงอีกต่อไป
สำหรับชวนแล้ว เหตุผลต่อความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง 2562 ก็ยังคงเหมือนเดิมคือโดนโกง[9] แต่สิ่งที่ชวนยังไม่บอกหรือไม่กล้าบอกคือ ถ้าหากมีการโกงกันจริงๆ แล้ว พรรคการเมืองที่ลงมือโกงได้ก็คือพรรคพลังประชารัฐ พรรคที่เกิดจากการรัฐประหาร 2557 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์สร้างมากับมือนั่นเอง
เท่านั้นยังไม่พอ พรรคประชาธิปัตย์กลับเข้าร่วมรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร ทั้งๆ ที่ตอนหาเสียงเลือกตั้ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค พูดชัดเจนว่า ไม่สนับสนุนประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี[10]
พรรคประชาธิปัตย์กลับมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้ง แม้จะเป็นเพียงลูกไล่พรรคพลังประชารัฐ ส่วนชวน หลีกภัย ก็ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา ทั้งๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกเป็นอันดับที่ 4 เท่านั้น
บทสรุป
ตลอดเวลากึ่งศตวรรษบนเส้นทางนักการเมืองชื่อ ‘ชวน หลีกภัย’ (2512-2562)
เราได้เห็นภาพของนักการเมืองหนุ่มที่ยึดมั่นอุดมการณ์ เชื่อมั่นในระบอบรัฐสภาว่าจะเป็นทางออกของประเทศ แม้ว่าช่วงหนึ่งเขาโดนเล่นงานจากฝ่ายขวาจัด จนต้องหลบหลีกภัย
เราได้เห็นนักการเมืองที่ภักดีต่อพรรคที่ตนเองสังกัด โดยยอมทิ้งหลักการเพื่อความสำเร็จของพรรค คือการยึดอำนาจรัฐ
เราได้เห็นการถอยห่างจากความเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภามาอาศัยทางลัด โดยพรรคประชาธิปัตย์ร่วมสร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหารเพื่อหวังล้มคู่แข่งทางการเมืองที่ตนเองหมดทางสู้ผ่านการเลือกตั้งตามระบอบรัฐสภา
นี่คือสิ่งที่ผู้เขียนเห็น เมื่อมองเส้นทางการเมืองของชวน หลีกภัย
ผู้เขียนคงไม่สามารถเสนอแนะอะไรกับชวน หลีกภัย หรือพรรคประชาธิปัตย์ได้ เพราะว่า พริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และแกนนำกลุ่ม New Dem ได้เขียนไว้แล้วในจดหมายเปิดผนึก “ถึงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนต่อไป…” ซึ่งผู้เขียนเองคิดว่าอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อย่างชวน หลีกภัย ก็ควรจะได้อ่านเช่นกัน
เนื้อความตอนหนึ่งว่า
“พรรคประชาธิปัตย์เป็นทางเลือกหลักของประเทศมายาวนานกว่า 70 ปี ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ชี้ให้เห็นชัดว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่ทางเลือกหลักของประชาชนในวันนี้ และพรรคประชาธิปัตย์ต้องเปลี่ยนแปลง
พันธกิจหลักของพรรคตอนนี้ไม่ใช่การพยายามเปลี่ยนแปลงประเทศในวันที่คนส่วนใหญ่ในประเทศไม่ต้องการเรา แต่ถอดบทเรียนและปรับปรุงตัวเองก่อนเราจะกล้ากลับมาเสนอตัวเองเป็นทางเลือกหลักของคนไทยในภายภาคหน้า
ถึงเวลา ที่เราต้องรื้อโครงสร้างทั้งหมด เพื่อความอยู่รอดของพรรคในอนาคต
หมดเวลา แทงกั๊ก…..
หมดเวลา ล้าสมัย….
หมดเวลา ล่าช้า….
ประชาธิปัตย์ใหม่ ต้อง “ชัดเจน ทันสมัย ทันใจ”[12]
……………………………………………………………………………………………….
เชิงอรรถ
[1] มติชนรายวัน 27 มกราคม 2534
[2] “นิพิฏฐ์” เล่าขาน 20 ปีผูกผันชาวบ้าน สวนกลับปม ‘เสาไฟฟ้า’ ลั่น ปชป.ไม่ต้องซื้อเสียง แนวหน้า 7 กุมภาพันธ์ 2562
[3] แถมสุข นุ่มนนท์ “50 ปี พรรคประชาธิปัตย์กับการเมืองไทย” 2539, หน้า 304
[4] มารุต บุนนาค “พลตรีสนั่น ผู้เป็นปิยมิตร” อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ 21 พฤษภาคม 2556, หน้า 150
[5] ‘หมอเลี้ยบ’ โพสต์ย้อนความฝันกลางฤดูร้อน สู่ 16 ปีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ข่าวสด 1 ตุลาคม 2560
[6] ธนาพล อิ๋วสกุล “แกะรอยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย: ผู้ออกบัตรเชิญให้คณะรัฐประหาร” ใน ธนาพล อิ๋วสกุล (บรรณาธิการ). รัฐประหาร 19 กันยา : รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข. กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2550.
[7] “สนธิ” เปิดแผนบันได 4 ขั้นล้างเผ่าพันธุ์ ทรท. ผู้จัดการออนไลน์ 25 มิถุนายน 2560
[8] ชัยธวัช ตุลาธน และคณะ. ความจริงเพื่อความยุติธรรม : เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53. กรุงเทพฯ : ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.), 2555.
[10] “ชวน” ปลุก ปชป.ยึดมั่นความสุจริต รับสู้คนโกงยาก ขออย่าเพิ่งไปฟังร่วมกับฝ่ายใด ผู้จัดการออนไลน์ 25 มีนาคม 2562
[11] ฟังชัดๆๆ ‘มาร์ค’ ปล่อยคลิปไม่หนุนบิ๊กตู่สืบทอดอำนาจ ไทยโพสต์ 10 มีนาคม 2562
[12] พริษฐ์ วัชรสินธุ “ถึง หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนต่อไป…” 26 มีนาคม 2562