fbpx
รอมฎอน ปันจอร์ : สมรภูมิใหม่ชายแดนใต้ บทพิสูจน์ผู้แทนราษฎรกับการเมืองแบบ

รอมฎอน ปันจอร์ : สมรภูมิใหม่ชายแดนใต้ บทพิสูจน์ผู้แทนราษฎรกับการเมืองแบบ “ใครจะ final say”

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

                 

ระหว่างที่สังคมไทยกำลังรอคอยความคลี่คลายทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาฯ เหตุความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้กลับยังคงรุดหน้าต่อไป ไม่ว่าหน่วยงานนับคะแนนจะสร้างความสับสนต่อสาธารณชนเพียงใด แต่ความบาดเจ็บล้มตายในพื้นที่ดังกล่าวนั้นปรากฏชัดเจนมาตลอดร่วม 15 ปี

คำถามคลาสสิกที่ทุกฝ่ายต่างอยากทราบกันคือ “เมื่อไหร่ความรุนแรงจะยุติ” – “ความสงบสันติจะคืนสู่แผ่นดินชายแดนใต้เมื่อไหร่”

แต่ดูเหมือนว่ายังไม่มีสัญญาณคำตอบที่ชัดเจนลอยลงมาให้ประชาชนทราบในเร็ววันนี้

ระหว่างนี้ 101 ชวนสนทนากับ รอมฎอน ปันจอร์ ภัณฑารักษ์แห่งศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) องค์กรที่ทำงานวิจัยและสื่อสารประเด็นความรุนแรงในชายแดนใต้มาตั้งแต่ปี 2549 เพื่อหาทางออกที่ประชาชนต่างต้องการมากที่สุดคือ ‘สันติ’

ท่ามกลางสมรภูมิที่ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายก่อเหตุต่างกำลังสู้รบกัน สิทธิและเสียงที่ประชาชนต่างมอบให้ผู้แทนราษฎร จะนำไปสู่สันติสุขได้อย่างไรบ้าง และอะไรคือความท้าทายใหญ่หลวงที่ผู้แทนราษฎรไม่อาจเลี่ยง

รอมฎอน ปันจอร์

ตั้งแต่รัฐประหารผ่านมาเกือบ 5 ปี นอกจากจะมองเห็นวิกฤตการเมืองไทยแล้ว ควรทำความเข้าใจจังหวัดชายแดนใต้หลังการเลือกตั้งอย่างไร

ประเทศไทยเปลี่ยนไปเยอะในช่วง 5 ปีมานี้ มันไม่ใช่แค่มีรัฐประหารอย่างเดียว

ประเด็นคือเวลานี้ทั้งนักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ต่างก็ไม่รู้จะเรียกตัวระบอบการเมืองที่เป็นอยู่เวลานี้ว่าอะไร เราบอกว่าเราเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ในความเป็นจริง ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันต่างๆ ในประเทศไทยกำลังเปลี่ยนไป

จุดเริ่มต้นอาจพูดได้ว่าปัญหามาจากการรัฐประหารและการมีรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งสังคมไทยกำลังแสวงหาฉันทามติแบบใหม่ที่สถาบันต่างๆ จะอยู่ร่วมกันอย่างลงตัว เรื่องนี้สัมพันธ์กับปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้ตรงที่ ข้อตกลงใหม่ๆ ที่จะก่อตัวขึ้นในสังคมไทยนั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

หากมีการเจรจาสันติภาพในนามของรัฐบาล มีการส่งผู้แทนไปเจรจากับกลุ่มกบฏ ความชอบธรรมของผู้แทนรัฐบาลจะมีพอหรือไม่ เพราะท้ายที่สุดแล้วคนที่จะตัดสินใจของฝ่ายรัฐไทย อาจไม่ได้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรืออาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับมติจากรัฐสภาไทยที่ผ่านการเลือกตั้งมา แต่อยู่ที่อำนาจที่เหนือกว่า

แล้วกลุ่มกบฏมองสังคมไทยเวลานี้เป็นอย่างไร หลังการเลือกตั้งคุณคิดว่าเขาอ่านสังคมไทยแบบไหน

ถ้าให้เดา ผมคิดว่าพวกเขาไม่ได้มองว่ารัฐบาลไหนจะขึ้นมามีอำนาจเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แต่โดยพื้นฐานแล้วพวกเขามีปัญหากับสถานะของรัฐไทยในปัจจุบัน ที่พวกเขาต้องการจะปรับเปลี่ยน ความต้องการมากที่สุดคือแยกตัวเป็นรัฐอิสระ นี่เป็นข้อเสนอที่ไกลที่สุดที่เขาเรียกร้องมาตลอด

ถ้าจะมีการประนีประนอมในทางการเมือง แนวทางที่เป็นไปได้คือการแชร์อำนาจบางอย่าง เพื่อที่ผู้คนในพื้นที่แห่งนี้จะดูแลตัวเองและมีความสัมพันธ์บางระดับกับกรุงเทพฯ หรือศูนย์กลางของรัฐไทย ซึ่งการจะทำการเจรจาต่อรองข้อตกลงที่สำคัญเช่นนี้ได้ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างของรัฐไทยเพื่อให้เอื้อกับการอยู่ร่วมกัน เป็นการเคลื่อนตัวของความขัดแย้งจากสนามสู้รบไปสู่อีกรูปแบบหนึ่ง

เรายังบอกไม่ได้ว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ แต่คงอีกนาน เพราะเรื่องนี้มันกระทบกับหลักการเรื่องความเป็นตัวตนของรัฐ หมายความว่าถ้าฝ่ายที่ต้องการแยกตัวออกจากรัฐยังมองการเมืองแบบเดิม คือมุ่งต่อรองกับรัฐบาลไทยเท่านั้น มันมีแนวโน้มที่จะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะถึงที่สุดแล้ว พวกเขาต้องการที่จะพูดกับคนที่สามารถกำหนดทิศทางตัวจริง ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถมานั่งลงต่อรองเพื่อหาข้อยุติร่วมกันได้

สถานการณ์เดียวกันนี้ ที่จริงแล้วเป็นข้อวิจารณ์ฝ่ายกบฏหรือขบวนการต่อสู้ด้วยเช่นกันว่า คนที่เข้าสู่กระบวนการพูดคุยหรือเจรจาในรอบหลายปีมานี้ ถือเป็นตัวจริงหรือได้รับฉันทานุมัติจากองค์กรมากน้อยเพียงใด

นี่เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะพื้นที่การเมืองของไทยเป็นการเมืองซ้อน 2-3 ชั้น แต่ไม่ว่าอย่างไร สุดท้ายมันก็ต้องกลับมาพูดเรื่องความชอบธรรมในการปกครอง ซึ่งพื้นที่แถบนี้แม้จะมีการพูดถึงอยู่บ้าง แต่ก็เป็นไปอย่างจำกัด ทำได้มากที่สุดคือการปรับเปลี่ยนผู้บริหารหรือแม่ทัพนายกองแบบที่รัฐบาลไทยทำมาโดยตลอด คือจัดการมันในฐานะที่เป็นปัญหาภายในกลไกรัฐ เป็นปัญหาที่ดูแลแก้ไขด้วยการส่งคนลงมาจัดการโดยนโยบายบางอย่างเท่านั้น แต่ไม่ได้แตะไปถึงปัญหาใจกลางในเชิงโครงสร้างการเมืองการปกครองอย่างจริงจัง

เมื่อกลางปี 2561 กลุ่มมารา ปาตานี (MARA Patani) เคยประกาศว่าขอพึ่งพระบารมี ร.10 ในการคลี่คลายปัญหา คุณมองเรื่องนี้อย่างไร    

เวลานั้นไม่รู้เหมือนกันว่าพวกเขาคำนวณจากอะไร แต่มีความเป็นไปได้อย่างหนึ่งคือ พวกเขาต้องการเพิ่มความจริงจังของการพูดคุยเจรจา หลังจากพิสูจน์แล้วว่าก่อนหน้านั้นกระบวนการที่ผลักดันโดยรัฐบาล คสช. มีข้อจำกัดอย่างไร ดังนั้นการพูดถึงพระมหากษัตริย์ก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะเรียกความสนใจของสังคมได้

เรื่องนี้สร้างความแปลกใหม่อยู่เหมือนกัน เพราะเมื่อก่อนการพูดถึงรัฐไทยของเขาหมายถึงรัฐบาล ก็น่าสนใจถ้าหากเขามองเห็นรัฐไทยมากไปกว่าการมองเห็นรัฐบาลเหมือนความขัดแย้งในหลายประเทศ และดูเหมือนว่าการที่คณะรัฐประหารจะเคลมตัวเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ก็ยังไม่เพียงพอ

ความท้าทายอยู่ที่ว่า ความขัดแย้งนี้มันเห็นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือฝ่ายเสียงข้างมากในสภา อาจไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ มันสะท้อนว่ามีอำนาจที่แตกกระจายในรัฐไทยอยู่เต็มไปหมด

นักวิชาการไม่น้อยมองว่าเหตุการณ์ 8 กุมภาฯ ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองไทยไปอีกขั้น คิดว่ามีผลกับจังหวัดชายแดนใต้ไหม

นี่คือความท้าทายในช่วงเลือกตั้ง เพราะมันคือความพยายามขยับเส้นในการพูดถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ให้เข้ามาในอาณาเขตทางการเมืองอย่างเปิดเผย แต่พอมีการใช้ช่องทางทางกฎหมายจัดการไปโดยศาลรัฐธรรมนูญ มันก็ยังทิ้งคำถามเอาไว้ ซึ่งสะท้อนว่าสถานการณ์การเมืองยังไม่นิ่งพอที่จะบอกว่าเราอยู่ในระบอบการเมืองแบบไหน

ช่วงก่อนเลือกตั้ง มีคนไม่น้อยพูดถึงความหวังที่จะเห็นสังคมไทยคลี่คลาย และเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย พอหลังการเลือกตั้ง คุณเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในพื้นที่บ้าง

เราเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนบางอย่างที่น่าสนใจ บางคนบอกว่าเป็นการเลือกตั้งที่คึกคักที่สุดในช่วง 15 ปีของเหตุรุนแรงเลยก็ว่าได้ จากปี 2547 มีผู้คนเสียชีวิตไปกว่า 7 พันคน มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ที่เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มข้นในการบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ

ถ้าเราดูกิจกรรมทางการเมือง เช่น มีคนเข้าไปสมัครรับเลือกตั้งจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เปิดโอกาสให้พรรคเล็กพรรคน้อยเข้าสู่การเมืองมากขึ้น มีผู้สมัครมากกว่าเดิม แสดงว่าผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กับการเมืองในระบบมากขึ้นและหลากหลาย ไม่ได้มีแค่พรรคใหญ่เหมือนเมื่อก่อน แม้กระทั่งพรรคที่ชูพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติอย่าง ‘พรรคแผ่นดินธรรม’ ก็มีผู้สมัครลงทุกเขตในจังหวัดชายแดนใต้

กิจกรรมหาเสียงก็หลากหลาย คุณลองคิดดูว่าการไปฟังปราศรัยการเมืองในพื้นที่ที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ตั้งแต่ช่วงค่ำถึงประมาณเที่ยงคืน มันเป็นไปได้อย่างไร การเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ก็มีเหมือนกัน แต่ไม่ได้ใช้เวลามากมายขนาดนี้

อีกอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือ แม้จะมีความรุนแรงอยู่บ้างประปรายก่อนหน้าการเลือกตั้ง แต่เรายังไม่เห็นความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งชัดเจนโดยตรง ก่อนหน้านี้เราพยายามศึกษารูปแบบของความรุนแรงที่มีนัยทางการเมือง เราพบความสัมพันธ์ในบางระดับ

แต่รอบนี้น่าสนใจตรงที่ความพยายามของคนที่ถืออาวุธทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไทยกับขบวนการ BRN ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีกองกำลังมากที่สุดในพื้นที่ ดูเหมือนว่าพวกเขาจะมีฉันทามติอย่างไม่ได้ตกลงกัน หรือตั้งใจร่วมกันในการเว้นพื้นที่และช่วงเวลาก่อนหน้าการเลือกตั้ง เพื่อให้คนรู้สึกปลอดภัยมากพอที่จะเข้าไปแสดงสิทธิของตนเอง บรรยากาศเลยค่อนข้างคึกคัก เหมือนเป็นช่วงพักรบ

รอมฎอน ปันจอร์

ถ้าไม่นับการนับคะแนนของ กกต. ถือเป็นการเลือกตั้งที่ราบรื่น

ผมว่ามันราบรื่นอย่างน่าประหลาดใจ เพราะตอนปี 2554 ที่มีการเลือกตั้ง ก็มีเหตุรุนแรงเกินขึ้น มันเหมือนเป็นการปล่อยให้คนได้ไปใช้สิทธิ ถ้าเทียบกับช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคม 2559 ตอนนั้นมีความรุนแรงเยอะกว่า และพื้นที่นี้ก็โหวตโนเยอะ

ถ้ามีเหตุรุนแรงหลังประชามติรัฐธรรมนูญ เสมือนแสดงความไม่พอใจ ทำไมหลังเลือกตั้งที่การนับคะแนนส่อพิรุธมาก และโอกาสที่ฝ่าย คสช. จะสืบทอดอำนาจต่อไปมีสูง ถึงยังไม่มีการก่อเหตุ หากมองว่าเป็นการต่อต้านอำนาจรัฐเหมือนกัน

ผมตอบอย่างนี้แล้วกัน การเมืองของความขัดแย้งมันมีมิติของการรักษาทิศทางให้เป็นไปในทางเดียวกันมากน้อยขนาดไหนของแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะในฝ่ายกบฏหรือบรรดาแนวร่วมของขบวนการต่อสู้ แม้จะมีการแข่งขันต่อสู้กันของกลุ่มพรรคการเมืองต่างๆ แต่การประชันขันแข่งเหล่านี้จะต้องไม่กระทบต่อการแสดงความเป็นเอกภาพของประชาชน

หมายความว่า ไม่ว่าคุณจะไปอยู่หรือช่วยพรรคไหน ภูมิใจไทย ประชาชาติ หรือพลังประชารัฐ ในฐานะใดก็ตาม แต่ทั้งหมดนี้มันเป็นเกมที่คุณต้องเล่น เพียงแต่พวกเขาจะต้องตอกย้ำว่ายังมีภารกิจเรื่องของการปลดปล่อยปาตานีอยู่ เพราะฉะนั้นการที่ขบวนการต่อสู้ไม่ว่าจะเป็นพรรคบีอาร์เอ็น หรือพรรคพูโล เลือกถือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง มันจะเป็นปัญหา บ่อนทำลายทิศทางร่วมที่ควรจะต้องมีโดยไม่จำเป็น

ที่น่าสนใจคือ การเลือกตั้งครั้งนี้ดูเหมือนว่าเราจะเห็นฉันทามติร่วมกันของทั้งฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายกบฏ ที่ระมัดระวังและไม่พยายามแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้งมากนัก ดูเหมือนว่าพวกเขาความพยายามที่จะเว้นระยะห่าง และต้องไม่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเงื่อนไขในการสร้างความแตกแยกภายในมากไปกว่าที่เป็นอยู่

การที่พวกเขาเฝ้ามองรัฐไทยในเวลานี้ คือการดูว่าอำนาจต่อรองของฝ่ายรัฐจะมากขึ้นหรือน้อยลงขนาดไหน เพราะว่ารัฐมีต้นทุนสูงกว่า ไม่ใช่แค่การมีกองทัพหรืออำนาจบังคับตามกฎหมายที่ใช้กันอย่างกว้างขวางเท่านั้น แต่ยังเหนือกว่าตรงที่มีสถานะทางการเมืองในเวทีระหว่างประเทศ เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ มีข้อตกลงผูกมัดผลประโยชน์ร่วมกันในบรรดามิตรประเทศ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากในความขัดแย้งแบบที่เราเจออยู่

ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งต้องการแยกตัวเป็นอิสระ พวกเขาก็จะต้องมีเพื่อนในเวทีระหว่างประเทศมากพอด้วยเช่นกัน แม้พวกเขาจะยึดกุมความนึกคิดของมวลชนในพื้นที่อยู่บ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่าพวกเขามีอำนาจต่อรองน้อยกว่า มีปืนน้อยกว่า มีคนน้อยกว่า ซึ่งก็บีบให้พวกเขาต้องคิดอีกแบบ

ด้วยเหตุนี้จึงพออนุมานได้ว่า วิธีการที่พวกเขาเลือกใช้ก็คือการเฝ้ามองความเป็นไปของการเมืองภายในของอีกฝ่าย ตอนนี้พวกเขาแค่มองความขัดแย้งในสังคมไทย แล้วปล่อยให้มันเดินต่อไปโดยไม่เข้าไปยุ่ง เพราะมันอาจเป็นประโยชน์กับพวกเขาในอนาคต พวกเขาต้องไม่ทำให้ตัวเองกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งแข็งแกร่งได้ ฉะนั้นท่าทีแบบนี้น่าจะเป็นสิ่งที่เขาพิจารณามาแล้ว

หรือที่เป็นไปได้อีกอย่างก็คือ จริงๆ แล้ว พวกเขาไม่ได้มีขีดความสามารถในทางการเมืองและทางทหารมากขนาดที่สร้างผลสะเทือนอะไรได้มากนัก เท่าที่ทราบคือเวลานี้เขาอยู่ในช่วงการปรับตัวบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมกำลังในทางการเมือง เสริมทักษะและความพร้อมในทางการเมือง ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพักหนึ่ง

ดังนั้นสถานการณ์ที่ข้าศึกของพวกเขากำลังอยู่ในช่วงการเผชิญกับความท้าทายภายใน จึงเป็นโอกาสของเขาที่ไม่ต้องมานั่งรับมืออะไรกันมาก

ที่ผ่านมาข้อกังวลของพวกเขาในความเห็นของผมคือ รัฐบาลประยุทธ์มาพร้อมกับแรงสนับสนุนของสังคมไทย มันทำให้เขาต่อรองยาก ดังนั้นโจทย์ของพวกเขาคือจะทำอย่างไรให้สังคมไทยไม่เป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งวันนี้พวกเขาไม่ต้องทำอะไรมากมาย เพราะมันก็เป็นแบบนั้นอยู่แล้ว อย่างน้อยนอกจากเสียงในชายแดนใต้แห่งนี้ เสียงจากภาคอีสานและภาคเหนือที่ไม่พอใจรัฐธรรมนูญก็มีไม่น้อย

พอเกิดความไม่เป็นเนื้อเดียวกันของสังคมไทย มันมีผลกับการเลือกตั้งในจังหวัดชายแดนใต้ไหม

การเลือกตั้งที่ผ่านมาอาจมีฝ่ายที่ถือไพ่ว่าอยู่ฝ่ายรัฐบาล อีกฝ่ายบอกว่าถือไพ่ฝ่ายประชาธิปไตยที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ แต่สุดท้ายไพ่ที่ใช้ได้ผลที่นี่ คือไพ่ชาตินิยมมลายูและไพ่หลักการอิสลาม

ด้านหนึ่งก็เพื่อต้องการแรงสนับสนุนจากชาวบ้านว่าเราเป็นพวกเดียวกัน และอีกด้านหนึ่งเพื่อที่จะขีดเส้นแบ่งระหว่างพรรคเขากับพรรคเรา เช่น นโยบายเกี่ยวกับกัญชาหรือนโยบายเกี่ยวกับคนข้ามเพศ มันมีผลกับคะแนนเสียงในพื้นที่ โดยเฉพาะช่วงโค้งสุดท้ายของการปราศรัยในพื้นที่ มีผลต่อบทสนทนาของผู้คนในร้านน้ำชามาก ทำให้ผู้คนตัดสินใจได้ง่ายขึ้นนอกเหนือไปจากปัจจัยอื่นๆ

การปรากฏตัวของพรรคอนาคตใหม่ แม้ว่าจะมีปัญหาสำหรับมุสลิมบางกลุ่มที่รับไม่ได้ แต่ว่ามันเปลี่ยนเกมในการต่อสู้แข่งขันพอสมควร ไพ่บางไพ่ที่เคยได้ผลอาจไม่ได้ผลเหมือนเดิมอีกต่อไป มีคนตั้งข้อสังเกตว่าไพ่เงินอาจมีประโยชน์น้อยลง หลังจากที่เราเห็นว่าคนรุ่นใหม่เทเสียงให้อนาคตใหม่จำนวนไม่น้อย

การเจรจาสันติภาพที่ผ่านมา จะมีการอ้างความต้องการของประชาชนเสมอ เหมือนเป็นกลยุทธ์หาความชอบธรรม แต่หลังเลือกตั้งที่จะมีผู้แทนราษฎร การอ้างประชาชนของแต่ละฝ่ายยังจะชอบธรรมอยู่ไหม

ถ้าจะตอบคำถามนี้ ต้องเริ่มจากภูมิหลังสองข้อก่อน

หนึ่ง ความขัดแย้งที่เราเจอมันไม่ใช่เรื่องของความแตกต่างระหว่างชุมชนพุทธกับมุสลิมยกพวกตีกัน แต่มันคือเรื่องว่า ตกลงคุณจะปกครองที่นี่อย่างไร เมื่อมีประวัติศาสตร์หลายชุด ชุดหนึ่งบอกว่าที่นี่ถูกยึดครองเป็นอาณานิคม อีกชุดหนึ่งบอกว่าที่นี่เป็นของสยามมาแต่ไหนแต่ไร

ยิ่งการที่รัฐสมัยใหม่ที่เชิดชูองค์อธิปัตย์ในระบบประชาธิปไตยก็คือประชาชน ดังนั้นคุณก็ต้องกลับไปอ้างอิงกับประชาชน ไม่ได้ไปอ้างอิงกับเจ้าเหมือนอดีต

เวลาเราพูดถึง ‘บังซา’ (Bangsa) อันนี้น่าสนใจ บังซาแปลว่าชาติ ถ้ามองผ่านมโนทัศน์แบบอิสลามก็คือ ‘อุมมะฮ์’ หรือบางคนแปลว่า ‘ประชาชาติ’ น่าสนใจที่พรรคประชาชาติก็แสดงความเป็นประชาชาติในความหมายที่ลื่นไหล แล้วแต่ว่าจะพูดกับใคร ถ้าคุณพูดกับคนทั้งประเทศมันก็มีความหมายแบบหนึ่ง แต่ถ้าพูดในพื้นที่ชายแดนใต้ ก็ตีความได้อีกแบบหนึ่ง เหลื่อมซ้อนกันอยู่

แต่ทั้งหมดมันวนกลับไปว่า ทำไมคุณถึงต้องการอำนาจในการจัดการชีวิตสาธารณะของตนเอง มันก็จะอ้างไปสู่บังซา หรือแนวคิดเรื่องมาตุภูมิ หรือ ‘ตานะห์ อาย’ (Tanah Air) และ ‘อะกามอ’ (Agama) ของศาสนาอิสลาม เพราะบางเรื่องมันมีเส้นแบ่งชนิดที่คนจำนวนหนึ่งคิดว่าเราอยู่ด้วยกันไม่ได้ ถ้าเราไม่มีระเบียบภายในของเราเอง ก็เหมือนขบวนการชาตินิยมที่ลุกขึ้นต่อสู้กับผู้ยึดครองทั่วไป สมาชิกระดับนำของพวกเขาไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง เขาไม่ได้มีความเป็นตัวแทนในลักษณะที่ตรวจวัดได้ผ่านการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย แต่เขาถือมั่นตามเจตนารมณ์ร่วมกันของชุมชน ผ่านการสานต่อระหว่างผู้นำคนก่อนมาถึงคนปัจจุบัน นี่คือฐานความชอบธรรมอีกแบบที่ฝ่ายกบฎมี

ในขณะที่รัฐไทยก็จะเคลมอีกแบบหนึ่งว่า นี่ไงประเทศไทย แล้วรัฐก็จัดให้มีสิทธิเสรีภาพในทางศาสนา แม้ว่าด้านหนึ่งจะมีโครงสร้างทางวัฒนธรรมเป็นพุทธ แต่ก็แฟร์พอที่จะเปิดโอกาสให้ศาสนาอื่นดำรงอยู่ได้ในรัฐสยาม เมื่อเปรียบเทียบกับหลายรัฐที่มีมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่แล้ว รัฐไทยถือว่าเปิดกว้างในด้านศาสนามากกว่าด้วยซ้ำ

ปัญหาคือในขบวนการต่อสู้ ก็มักจะเจอคู่แข่งภายในของตนเอง มีปัญหาเรื่องความเป็นตัวแทนและความชอบธรรมเสมอ ถ้าเป็นคนละกลุ่มจะมาเคลมว่าเป็นผู้แทนอีกกลุ่มได้อย่างไร เพราะแต่ละกลุ่มต่างก็พูดแทนในนามประชาชนเหมือนกัน นี่คือปมเขื่องในประวัติศาตร์การเมืองของปาตานีสมัยใหม่เสมอมา ตรงที่ว่ามันมีความปรารถนาและความพยายามที่จะรวมตัวเป็นหนึ่งเสมอในตลอดระยะเวลา 60-70 ปีที่ผ่านมา แต่มันเป็นแค่ความปรารถนาและความพยายามเท่านั้น ยังไม่สามารถบรรลุความเป็นเอกภาพได้

ยกตัวอย่างผ่านชื่อขบวนการต่อสู้ อย่าง BRN เอง B ตัวแรกนั้นมาจากคำว่า Barisan อาจแปลว่าแนวร่วม แต่ก็สะท้อนความเป็นเอกภาพ ส่วน PULO ก็มีคำว่า United ซึ่งก็มีนัยเกี่ยวกับการรวมตัวกัน หรือแม้แต่ BERSATU ซึ่งเป็นองค์กรร่วมที่รวบรวมหลายกลุ่มเข้าไว้ด้วยกัน ก็แปลว่ารวมกันเป็นหนึ่ง

กลุ่มการเมืองที่ไม่ได้อยู่ใต้ดิน และเคลื่อนไหวต่อสู้ตามกรอบของกฎหมายและระบบรัฐสภาไทยอย่าง ‘วาดะห์’ ก็แปลว่าเอกภาพ นอกจากนี้ก็ยังมีแนวคิดและการเคลื่อนไหวมากมายที่ประสงค์สร้างความเป็นหนึ่งเดียวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ในเชิงการเมือง สำหรับคนที่นี่ไม่ว่าคุณจะสู้เพื่ออะไรก็แล้วแต่ คุณจะคิดเรื่องความเป็นหนึ่งเสมอ แต่มันไม่เคยบรรลุถึงในระดับที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ได้อย่างจริงจัง

สอง คุณเจอระบบการเมืองแบบใหม่ที่เปิดกว้างมากขึ้น หลังสงครามเย็นวิธีการที่รัฐเอาชนะคอมมิวนิสต์ได้ ด้านหนึ่งคือการเปิดกว้างในทางประชาธิปไตย คนที่อยากเล่นการเมืองก็กลับมาเข้าร่วมพรรคการเมืองและได้รับเลือกตั้ง คนที่ต้องการเคลื่อนไหวการเมืองกับชาวบ้านก็ไปเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรารู้จักในเวลาต่อมาว่า การเมืองภาคประชาชน

แต่ในกรณีชายแดนใต้ ก็มีปัญหาตามมาในแง่ว่าการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานี จะอาศัยช่องทางรัฐสภาได้หรือไม่ เพียงใด และจะใช้มันในฐานะอะไรดี นี่เป็นคำถามใหม่ที่สำคัญมากเมื่อการเมืองเริ่มเปิดกว้างขึ้น

เพราะเวลาคุณลงสมัคร ส.ส. คุณต้องลงในนามพรรคการเมือง แล้วคุณกำลังยึดโยงตัวเองเข้ากับชนชั้นนำส่วนหนึ่งในสังคมไทย คุณมีอำนาจต่อรองในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่มันสะเทือนสำหรับคนในพื้นที่ คือเวลาที่มีการเลือกตั้ง คุณสามารถอ้างและพิสูจน์ได้ว่าคุณเป็นตัวแทนของประชาชนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้

ส่วนขบวนการใต้ดินก็จะเผชิญกับคู่แข่งที่มีความเป็นทางการและเป็นคนที่รัฐไทยยอมรับด้วย ต่อให้ผู้แทนราษฎรจะมีแนวคิดชาตินิยมขนาดไหนก็ตาม แต่เมื่อผ่านกระบวนการเลือกตั้ง คุณปฏิเสธที่ยืนของเขาในสภาไม่ได้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ปฏิเสธได้ยาก

ดูเหมือนการมีผู้แทนราษฎรท่ามกลางการอ้างความเป็นหนึ่งนั้น ไปด้วยกันไม่ได้ ?                

ผมเคยพูดคุยกับหลายคน ตัวอย่างที่สะท้อนความไม่ลงรอยระหว่างขบวนการปลดปล่อย และแนวทางการเมืองในระบบรัฐสภาที่มักอ้างอิงถึงคือ เหตุการณ์เผาโรงเรียน 36 แห่ง ในวันที่ 1 สิงหาคม 2536 หรือราว 10 ปี ก่อนหน้าเหตุการณ์ปล้นปืนในค่ายทหารที่นราธิวาส เหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นรอยร้าวระหว่างชนชั้นนำและระหว่างแนวทางการต่อสู้สองแบบ

สิ่งที่ผมรับรู้คือเหตุการณ์นั้นเป็นปฏิบัติการของขบวนการ BRN และถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการอัพเกรดกองกำลังขึ้นมาใหม่ ที่ในปัจจุบันเรียกว่ากองกำลังตัจรี แต่ผลในทางการเมืองนั้นกว้างไกล เพราะด้านหนึ่งก็เพื่อที่จะสั่นคลอนอำนาจต่อรองของกลุ่ม ส.ส.ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้ง โดยเฉพาะกลุ่มวาดะห์ที่ครั้งนั้นได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี การผงาดขึ้นของกลุ่มการเมืองนั้นน่ากลัวมากในความเห็นของพวกเขา เพราะผู้แทนเหล่านี้ไม่เพียงแต่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ฝ่ายความมั่นคงก็ระแวงนักการเมืองกลุ่มนี้ เพราะนักการเมืองบางคนก็เป็นญาติกับผู้นำคนสำคัญของคู่ขัดแย้ง แต่จริงๆ มันมีการแข่งขันประชันกันอยู่ภายใน ปัญหาว่าใครจะเป็นคนพูดแทนคนปาตานีทั้งหมดได้ นี่เป็นคำถามที่ใหญ่มากในแวดวงนักต่อสู้ ดังนั้นคำถามว่าตกลงจะสู้แบบรัฐสภาหรือไม่ ยังเป็นคำถามสำคัญเสมอมา

ถ้าวันดีคืนดีคุณได้ ส.ส.มา แล้วคุณมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ผมว่านี่เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้นำของ BRN บางส่วนในเวลานั้น ตัดสินใจเปิดยุทธการปล้นปืนในปี 2547 และตามมาด้วยปฏิบัติการหลากหลายชนิดที่ไม่เคยเจอมาก่อน

ผมเดาว่าถ้าช้าไปกว่านี้ พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือปาตานีแห่งนี้ จะถูกชนชั้นนำใหม่ที่เติบโตขึ้นภายใต้พื้นที่การเมืองที่เปิดกว้างของรัฐธรรมนูญปี 2540 เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทั้งการเมืองในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

การเปิดโอกาสทางการเมืองท้องถิ่น จะทำให้คนกลุ่มนั้นเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยที่เปิดกว้าง ซึ่งจะทำให้เงื่อนไขหรือแรงขับที่จะทำให้เกิดการปลดปล่อยมันน้อยลง พูดอีกอย่างก็คือ การที่คุณเปิดให้มีการเลือกตั้ง มีประชาธิปไตยมากขึ้นโดยตัวมันเอง ไปขัดกับแนวทางการต่อสู้แบบใช้กองกำลังของกลุ่มชาตินิยมมลายูปาตานีนั่นเอง

ดังนั้นการเลือกตั้งมันจึงสัมพันธ์กับภูมิหลังเหล่านี้ด้วย นี่เราไม่ได้พูดถึงพวกเจ้ามลายู แต่พูดถึงนักการเมืองกลุ่มใหม่ ปัญญาชนใหม่ที่เติบโตมาในทศวรรษที่ 1980 คนพวกนี้เป็นเจเนอเรชั่นเดียวกันกับผู้นำของขบวนการติดอาวุธ อายุประมาณ 40-60 ปี เขาผ่านกระบวนการรูปแบบนี้มา ดังนั้นหากต้องมองการเลือกตั้งผ่านสายตาขบวนการต่อสู้ จะเป็นอะไรที่ขัดแย้งกันมาก

รอมฎอน ปันจอร์

การเลือกตั้งครั้งนี้ นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองถือเป็นตัวแปรในการกำหนดอนาคตของจังหวัดชายแดนใต้ไหม เช่น การลดกำลังกองทัพของพรรคอนาคตใหม่ ถือว่ามีผลกับคะแนนเสียงในพื้นที่แค่ไหน

พรรคอนาคตใหม่ในพื้นที่นี้ มีความน่าสนใจตรงที่มันสร้างกระแสคนรุ่นใหม่ การปรากฏตัวของพรรคอนาคตใหม่ทำให้พรรคการเมืองอื่นต้องปรับทิศทางการหาเสียงพอสมควร แม้จะรู้ว่าพรรคอนาคตใหม่ไม่ใช่คู่แข่งในพื้นที่นี้ก็ตาม แต่ก็ปรับตาม

ทีนี้จากการดูผลการเลือกตั้งบางหน่วย โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดง ดูเหมือนว่าคู่แข่งหลักๆ คือ ประชาชาติกับภูมิใจไทย แต่ในบางหมู่บ้านที่เคยผ่านการปิดล้อมตรวจค้นหลายครั้ง คะแนนของอนาคตใหม่กลับไล่เลี่ยประชาชาติมาเป็นอันดับที่ 2 ยังไม่ต้องพูดถึงพื้นที่ในเมืองอย่างในตลาดเก่ายะลาหรือในเมืองปัตตานีบางหน่วย เดิมทีเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ตอนนี้อนาคตใหม่ได้คะแนนมากกว่า แต่ถ้ามองผลการเลือกตั้งในภาพใหญ่สุด จะเห็นว่าผลคะแนนมันสอดคล้องกับแนวคิดแบบชาตินิยมมลายูอยู่

คือ 6 ที่นั่งจาก 11 เขตในสามจังหวัดคือปัตตานี ยะลา นราธิวาส เป็นของพรรคประชาชาติ ที่เป็นตัวแทนแนวความคิดแบบชาตินิยมมลายู ขณะเดียวกันพรรคอนาคตใหม่ก็แทรกขึ้นมาได้ โดยเฉพาะในบางหน่วยที่มีปัญหาความมั่นคงมาก แม้จะไม่ชนะก็ตาม แต่ผู้คนคงชั่งใจว่าจะเลือกตามอัตลักษณ์ด้วยกัน ยึดมั่นในส่วนของชาตินิยมหรือให้โอกาสพลังที่เป็นตัวแทนประชาธิปไตยที่จะเข้ามาถ่วงดุลกับรัฐบาลทหาร

ถ้าจะดูละเอียด ต้องไปดูรายหน่วย และเทียบกับพื้นที่ภูมิศาสตร์ของการเคลื่อนไหวและความรุนแรง ถ้าเอาข้อมูลสองชุดนี้มาซ้อนทับกัน เราน่าจะรู้ แต่ตอนนี้เราตอบได้แค่ว่า การเข้ามาของอนาคตใหม่มันกำลังเปลี่ยนวิธีการเล่นเกมและการใช้เงิน เท่าที่ผมทราบ พรรคอนาคตใหม่เขาเคลมว่าเขาไม่ได้ใช้เงินมาก และบางคนก็ตั้งข้อสังเกตว่า แนวโน้มของการใช้เงินในพื้นที่แบบนี้ซึ่งแต่ก่อนมีสูง อาจลดน้อยถอยลงในอนาคตหรือเปล่า

แต่ถ้าถามถึงนโยบายที่จะเป็นตัวแปรในการเปลี่ยนแปลง ตอนนี้เรายังมองไม่ชัดเจนขนาดนั้น เพราะไม่ใช่ว่านักการเมืองทุกคนหรือกลุ่มการเมือง จะมีปฏิสัมพันธ์กับกระบวนการสันติภาพหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหา ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเรียกว่าพวกเขาหลุดออกไปเลย หลุดไปจากวงจรที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย เพราะการกำหนดอะไรบางอย่างที่มีผลต่ออนาคตปาตานี เป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคงเป็นหลัก

จริงๆ การแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ อยู่ในมือของฝ่ายความมั่นคงมาตั้งแต่รัฐประหาร 2549 แล้ว เราพูดได้ว่ารัฐบาลอาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหากำหนดนโยบาย แต่การประเมินสถานการณ์และการกำหนดทิศทางนั้น กองทัพมีส่วนสำคัญ

บทบาทของนักการเมืองแต่เดิมมันก็น้อยอยู่แล้ว อย่างคุณทวี (สอดส่อง) ที่เข้ามาผนึกกับหลายอย่าง แต่เพราะว่าเขาเป็นข้าราชการ เลขาธิการ ศอ.บต. มีงบประมาณอยู่ในมือ มีคน มีเครือข่าย สามารถทำบางอย่างที่ถ่วงดุลฝ่ายความมั่นคงได้ ชาวบ้านไม่ได้เห็นภาพเขาแบบนักการเมืองที่คุ้นเคยกัน

นักการเมืองในสมรภูมิที่หันขวาเจอกองทัพ หันซ้ายเจอฝ่ายก่อเหตุ จะทำอะไรได้บ้างในเวลานี้

ต้องบอกว่าหลังจากยุคทักษิณ นักการเมืองเงียบไปเลย คุณหืออะไรไม่ได้ คุณไม่สามารถยึดกุมทิศทางได้ คณะกรรมาธิการในรัฐสภาได้แค่ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาเท่านั้น การตรวจสอบฝ่ายบริหารหรือฝ่ายที่ใช้กำลังก็มีน้อย พูดอย่างสรุปก็คือมันไม่สมดุล

ในสายตาของฝ่ายความมั่นคง ในรายงานข่าวกรองก็มักจะเชื่อมโยงบรรดานักการเมืองท้องถิ่นให้เข้ากับอีกฝ่ายหนึ่งเสมอ ทำให้เขาต้องระวังตัว ดังนั้นนักการเมืองก็ต้องรักษาระยะ ส่งเสียงต่อรองได้ในระดับย่อยๆ แค่ปัญหาในระดับพื้นที่ แต่ไม่ใช่การเสนอยุทธศาสตร์ใหม่แล้วต่อสู้จริงจังกับมัน

จริงๆ ต้องบอกว่าตั้งแต่ปี 2549 ฝ่ายความมั่นคงเขาคุมไว้หมด ประชาธิปัตย์พยายามฝืนตั้ง ศอ.บต. บริหารงบประมาณเอง มีเครือข่ายข้าราชการของตนเองเข้ามายัน พอเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลเพื่อไทย ก็เปลี่ยนมาใช้คนของตนเอง เปลี่ยนทิศทางด้วยการเปิดหน้าการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงไม่โอเคมากๆ แต่ทั้งหมดนี้เราแทบจะไม่เห็นบทบาทของนักการเมืองในพื้นที่เลย ที่ผ่านมานักการเมืองในพื้นที่ถูกเขี่ยออกไปจากเกม เพราะเกมนี้มันใหญ่กว่าบทบาทที่เขาจะทำได้

คนที่เชียร์ให้รัฐบาลชุดใหม่รวมพลังกันในฝ่ายประชาธิปไตย จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในพื้นที่บ้างไหม

ผมคิดว่าความขัดแย้งที่ยืดเยื้อและรัฐประหารที่ผ่านมา ได้ทอนกำลังให้นักการเมืองมีศักยภาพน้อยมาก ผมไม่ค่อยมั่นใจว่าฝ่ายบริหาร ต่อให้เป็นเพื่อไทยรวมกับอนาคตใหม่ หรือรวมกับอะไร ความท้าทายของเขามีเยอะมาก ตั้งแต่ในกรุงเทพฯ ยันระดับประเทศ แล้วในพื้นที่ชายแดนใต้คุณต้องเจอกับฝ่ายความมั่นคง

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมามันมีความอึดอัดบางอย่าง ถ้าคุณสามารถใช้รัฐสภาขับเคลื่อนได้ และมีประเด็นที่แหลมคม ผมว่าน่าสนใจ เพราะว่ากลไกบางเรื่องที่รัฐบาลทหารตั้งขึ้นมาในตอนนี้ก็สร้างความสับสน ไม่ใช่เฉพาะกับชาวบ้านในพื้นที่เท่านั้น แต่ในหน่วยงานรัฐเองด้วย แต่ถามว่าเขาจะสามารถเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายอะไรได้ไหม ผมยังไม่มั่นใจ

แน่นอน เขาต้องอ้างเสียงที่สนับสนุน แต่การอ้างเสียงประชาชนแบบนั้นอยู่ที่เขาจะอ้างหรือเปล่า เพราะ 5 ปีที่หายไป พวกเขาถูกถีบออกไปนอกระบบ สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาคือภาคประชาสังคม เป็นกลุ่มที่จริงจังและจัดจ้านในบางประเด็น ช่วงที่ไม่มี ส.ส. เสียงของชาวบ้านก็สะท้อนมาจากการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมแทน ซึ่งมีหลายเฉดมาก

แต่ภาคประชาสังคมมีปัญหาเดียวกันคือไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งมา ความชอบธรรมที่เขามีคืออะไร ก็คือตัวประชาชนคนธรรมดาซึ่งเป็นผู้ประสบชะตากรรมภายใต้พื้นที่ความขัดแย้งเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นเหยื่อจากการซ้อมทรมาน จากคดีความมั่นคง หรืออีกด้านหนึ่งก็คือ น้ำหนักที่เกิดจากการเกาะติดและเชี่ยวชาญในประเด็นปัญหาด้านต่างๆ พวกนี้จะมีความชอบธรรมแบบหนึ่ง

ต้นทุนของภาคประชาสังคมอีกประการคือ พวกเขาสามารถนำเสียงขึ้นไปสู่เวทีระหว่างประเทศได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลกังวล และเป็นสิ่งที่บรรดาผู้แทนราษฎรหรือขบวนการปฏิวัติทำไม่ได้ เขามีความชอบธรรมแบบนี้

ความสำคัญที่มีมากขึ้นเหล่านี้ ทำให้ 2-3 ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นความพยายามของภาครัฐ ในการทำให้กลุ่มประชาสังคมนี้เงียบเสียงที่เห็นต่างคัดง้างกับแนวทางของรัฐบาลทหาร หรือไม่ก็เน้นการอุดหนุนบางกลุ่มบางเครือข่าย เพื่อทำให้เสียงที่แข็งกร้าวเหล่านี้เจือจางลงไป พูดอีกแบบก็คือ ทำให้ภาคประชาสังคมเชื่องพอที่จะไม่ทำอันตรายกับการดำเนินการใดๆ ที่รัฐผลักดันอยู่ สิ่งนี้ทำให้เวลาจะอ้างอิงเสียงสะท้อนของประชาชนจากในพื้นที่โดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มักจะมีคู่แข่งเสมอ

แต่ผู้แทนราษฎรน่าจะมีความชอบธรรมในการเคลมเสียงประชาชนมากที่สุด ?

เรายังไม่เคยมีผู้แทนราษฎรในพื้นที่ ที่มีทั้งอำนาจต่อรองและความเชี่ยวชาญเรื่องความขัดแย้ง ที่สามารถเสนอหรือโต้แย้งทั้งในแง่ของรากเหง้าของปัญหา และทิศทางของกระบวนการสันติภาพที่ควรจะเป็น คงต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่ง รอให้พวกเขามั่นใจว่าจะสามารถต่อรองกับกลไกของฝ่ายความมั่นคงได้ เพราะที่ผ่านมามันเป็นขาลงของนักการเมือง

ทีนี้ทิศทางที่ควรจะเป็นคือ การทำงานร่วมกันของพลังเหล่านี้ที่จะสามารถสร้างสมดุลในการแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ การผนึกกำลังของนักการเมืองและภาคประชาสังคมเป็นไอเดียที่ปรากฏอยู่บ้าง มีนักการเมืองบางคนเริ่มทำงานกับภาคประชาสังคมมากขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา ล่าสุดเราก็เห็นคนทำงานภาคประชาสังคมไปสมัครรับเลือกตั้ง แล้วก็ได้รับเลือก เช่น ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม นักกิจกรรมกลุ่มผู้หญิง เป็นต้น

เพียงแต่เรายังบอกไม่ได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ทั้งในบริบทการแก้ไขปัญหาของพื้นที่และการต่อสู้ในรัฐสภา ถ้าสภาเปิดได้จริง เราน่าจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ จากพวกเขาในแบบที่เราไม่เคยเห็นตลอด 15 ปีที่ผ่านมา อย่างน้อยผมคนหนึ่งที่คาดหวังว่าบรรดาผู้แทนของเราจะทำอะไรได้มากกว่าเดิม

7 ข้อเสนอของ Peace Survey จะถูกรับไปสานต่อโดยผู้แทนราษฎรได้ไหม เพราะถือว่ามีเสียงประชาชนรองรับอยู่แล้วส่วนหนึ่ง

ต้องบอกก่อนว่า 7 ข้อเสนอดังกล่าวไม่ใช่ยาวิเศษ เป็นเพียงแค่การประมวลผลจากการฟังเสียงของชาวบ้าน ผ่านการสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำอย่างต่อเนื่องหลายปี

ถ้าให้ผมมองมันอย่างวิพากษ์อีกทีหนึ่ง ผมคิดว่ามันไม่ใช่ข้อเสนอใหม่อะไรเลย แค่มีเสียงของชาวบ้านเข้ามาสนับสนุนข้อเสนอที่ถูกพูดถึงอยู่บ้างแล้วก่อนหน้านั้น และทำให้หนักแน่นขึ้น มันพูดเรื่องหลักการซึ่งเป็นจุดแข็งของข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพราะบางเรื่องคุณไม่สามารถเสนอรายละเอียดได้ การนำเสนอรายละเอียดจะยิ่งทำให้พลังของมันน้อยลง แต่การเสนอหลักการจะทำให้พลังและการตีความนำไปประยุกต์ต่อได้ง่ายกว่า และอาจได้พลังอีกแบบหนึ่ง

แต่ยังไงก็ดีกว่า หากมีฝ่ายที่จะมารับลูกต่อและทำมันต่อไปให้ดีที่สุด แต่ละพรรคก็คงมีรายละเอียดของตัวเอง สิ่งที่ผมสนใจคือมันจะติดตามการทำงานต่อจากนี้อย่างไร อย่างน้อยการที่พรรคประชาชาติได้ 6 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐ 3 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 2 ที่นั่ง และพรรคประชาธิปัตย์อีก 2 ที่นั่ง พวกเขาก็ต้องพิสูจน์ว่าจะจริงจัง และเข้าไปมีส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้อย่างไร

ที่น่าสนใจคือ นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่คนมลายูมุสลิมได้รับการเลือกตั้งครบทั้ง 11 เขตของ 3 จังหวัด แม้ว่าจะมาจากต่างพรรคและมีความสัมพันธ์กันหลากหลาย แต่ผมเองก็ยังไม่เห็นสัญญาณชัดๆ ว่าพวกเขาจะรวมตัวกันผลักดันอะไรบางอย่างได้

แต่การมีผู้แทนในพื้นที่ที่อยู่คนละพรรค ซึ่งเป็นพรรคที่ขัดแย้งกันทางอุดมการณ์อย่างหนัก เช่น พลังประชารัฐกับประชาชาติ จะทำให้การแก้ปัญหาร่วมกันยากขึ้นไหม

ไม่เกี่ยวเลย ผมกลับคิดว่ายิ่งมีความต่างกันยิ่งดี เพราะคุณสามารถคุยกับแต่ละพรรคได้ ถ้าคุณสามารถตกลงบางอย่างร่วมกันอย่างน้อยในเชิงหลักการ แล้วช่วยกันผลักดันเสียงเหล่านี้ ทั้งในฐานะฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน อย่างน้อยกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกับภาคใต้ต้องมีคนพวกนี้อยู่จำนวนหนึ่ง ส่วนจะทำได้หรือเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะปัญหาของคนที่นี่คือปัญหาของการรวมตัวกันให้เป็นเอกภาพเพื่อส่งเสียง

ในอีกมุมหนึ่ง การมีพรรคการเมืองที่ก้าวหน้า สร้างความหวังให้ปาตานี เป็นข้อดีหรือข้อเสียต่อกลุ่มเคลื่อนไหวอย่าง BRN

ท้าทายมาก อย่างที่บอกไป การมีอยู่ของพรรคการเมืองหรือกลุ่มพลังที่ผ่านการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ในทางยุทธศาสตร์แล้วมันรบกวนแนวทางในการปฏิวัติ เพราะแนวทางการปฏิวัติมันหล่อเลี้ยงด้วยเงื่อนไขการใช้กำลัง และเป้าหมายการแยกตัวจากรัฐมีน้ำหนักอยู่เสมอ มันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีประวัติศาสตร์การต่อสู้

ประเด็นคือแต่ละฝ่ายจะปรับตัวอย่างไร พรรคการเมืองใต้ดินจะทำงานร่วมกับพรรคการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งอย่างไร ทั้งสองฝ่ายต่างก็รู้ว่าต่างกัน นักการเมืองปฏิเสธไม่ได้ที่จะไม่เผชิญหน้ากับความขัดแย้งระหว่างการเมืองของปาตานีกับกรุงเทพฯ ไม่ช้าก็เร็วคุณต้องมีบทบาทบางอย่างเพราะคุณมีความชอบธรรมมากที่สุดที่ชาวบ้านในพื้นที่เลือกมาแล้ว

ผมคิดว่าสิ่งที่พวกเขาอาจทำได้ คือการเชื่อมต่อกับภาคประชาสังคม ภาควิชาการ การทำเช่นนี้จะทำให้สถานะของเขาแข็งแกร่งขึ้น เขามีความเสี่ยงที่ต้องแสวงหาการทำงานกับผู้เชี่ยวชาญและฝ่ายความมั่นคง

ในมุมหนึ่งเราอาจคาดหวังจากพวกเขามากเกินไป แต่ด้วยพื้นที่ความขัดแย้งแบบนี้ และภายใต้กรอบที่เราพอจะมีอยู่ในเวลานี้ เราควรต้องคาดหวังว่าผู้แทนที่มีความชอบธรรมเหล่านี้จะทำอะไรได้บ้าง

รอมฎอน ปันจอร์

ถ้านักการเมืองเชื่อมต่อกับภาคประชาสังคมและภาควิชาการได้อย่างที่ว่า จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรกับปาตานี             

ผมยกตัวอย่างนะ เช่น การพูดคุยสันติภาพในปี 2556 ถามว่าก่อนหน้านั้นเคยมีการพูดคุยไหม ก็มี เราเคยมีความพยายามในการหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยการนั่งคุยกันมาตลอด แต่เมื่อการพูดคุยมันปรากฏในทางสาธารณะ แล้วประเด็นความขัดแย้งถูกยกขึ้นมาให้คนเถียงกัน มันก็ทำให้คนเห็นกันมากขึ้นว่าความขัดแย้งที่ผ่านมา เราขัดแย้งกันเรื่องอะไร

เช่น คนพุทธก็บอกว่าตัวเองไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันกับรัฐ เขาก็มีผลประโยชน์ของเขา บางเรื่องก็ต้องการบอกรัฐว่ารับไม่ได้ และเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลง ในด้านกลับกัน คนพุทธเป็นชนกลุ่มน้อยมีอำนาจน้อยในพื้นที่ เขาจำเป็นจะต้องทำให้คนมลายูซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ฟังเสียงของเขาด้วย โดยเฉพาะขบวนการแบ่งแยกดินแดน

การพูดคุยเมื่อปี 2556 ก็เป็นการกระตุ้นให้ผู้คนออกมาแสดงเสียงของพวกเขาเอง นี่เรายังไม่ได้พูดถึงกลุ่มของเยาวชนหรือกลุ่มต่างๆ ที่ปรากฏตัวเคลื่อนไหวด้วย ทั้งหมดคือผลสะเทือนที่เกิดขึ้น การปรับตัวของภาคประชาสังคมเหล่านี้วางอยู่บนฐานของงานความรู้บางอย่าง และส่งผลให้สังคมได้เรียนรู้ตามไปด้วย

ผมว่านี่คือบทบาทที่ควรจะเป็นของนักการเมืองด้วยเช่นกัน นักการเมืองต้องกระตุ้นให้สังคมได้เผชิญหน้ากับความขัดแย้งอย่างเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่มอบหมายให้รัฐราชการรับมือแก้ไขกันไป หรือให้เป็นเรื่องของขบวนการแบ่งแยกดินแดนจัดการเท่านั้น

ต้องย้ำว่านักการเมืองเป็นตัวแสดงที่มีความชอบธรรมในการสร้างพื้นที่ต่อรอง นี่อาจถือเป็นเรื่องใหม่ แต่เราควรคิดถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน ก่อนหน้านี้นักการเมืองอาจมีบทบาททางการทูตที่ส่งสารข้ามฝ่ายต่างๆ ปรากฏตัวแต่ในที่ลับ เพราะโดนจับตามอง แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว วันนี้เราต้องการผู้เล่นคนใหม่ที่มีความชอบธรรมสูงเข้ามาเปิดพื้นที่ทางการเมือง

ถ้าเรามีพื้นที่ให้คนขัดแย้งกันได้เจอกัน ความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นก็จะเคลื่อนมาสู่พื้นที่ทางการเมือง และทำให้ผู้คนได้เรียนรู้ นี่อาจเป็นหน้าที่สำคัญที่สุดของนักการเมืองด้วยซ้ำ

ภาพที่ต้องการจะเห็นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ โดยเฉพาะถ้ามองกระบวนสันติภาพเป็นโจทย์ใหญ่

ผมคิดว่าการเมืองไทยยังคลี่คลายลำบาก เปรียบเทียบนะ ตอนนี้ฝ่ายไทยไม่ชัด ลองนึกภาพตอนที่พวก BRN ยังไม่ปรากฎตัวชัดเจน ตอนที่พวกเขายังอยู่ในเงามืด ตอนนั้นฝ่ายไทยคิดว่าตัวเองต้องไปเจรจากับใคร คุณจะไปรู้ได้อย่างไรว่าพวกเขาต้องการอะไร เราแทบจะมองปัญหาบิดเบี้ยวไปตามกรอบการมองที่แตกต่างกันไปของผู้คน

ถ้าคุณมาจากฝ่ายความมั่นคง คุณจะมีทฤษฎีแบบหนึ่ง ถ้าคุณเป็นนักสันติวิธี ก็จะตีความสถานการณ์อีกแบบหนึ่งด้วยข้อมูลอันจำกัด แต่เมื่อพวกเขาปรากฏตัวขึ้น และกระโดดเข้าสู่เวทีทางการเมือง อย่างน้อยที่สุดเราได้ยินเสียงเขา แทนที่จะได้ยินแค่เสียงระเบิด และบางครั้งเราโต้แย้งถกเถียงกับเขาได้ มันทำให้เรารู้ว่าหากจะคลี่คลายความขัดแย้ง พวกเขานี่แหละจะเป็นตัวแสดงสำคัญกลุ่มหนึ่งที่ขาดไม่ได้

เช่นเดียวกัน ถ้าเราไม่รู้ไม่เห็นภาพความขัดแย้งในสังคมไทยเวลานี้อย่างกระจ่างชัด หรือเห็นแค่ตัวแสดงที่เป็น proxy อย่างเดียวก็แย่แล้ว เพราะการวิเคราะห์ความขัดแย้งโดยพื้นฐานที่สุด เราต้องตอบให้ได้ก่อนว่าตกลงสถานะของความขัดแย้งเป็นอย่างไร มีใครเกี่ยวข้อง มีได้ มีเสีย กับความขัดแย้งนี้บ้าง

วิธีการอย่างหนึ่งคือคนคิดต่างกันอาจต้องมานั่งลงด้วยกัน แล้วดูว่าในโต๊ะนี้มีใครบ้าง มองภาพแบบนี้ให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดของการแก้ไขปัญหา

กรณีปัญหาชายแดนใต้ ปัญหาใหญ่คือการตีโจทย์ที่ไม่ชัดแจ้ง การไม่ยอมรับการมีอยู่ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งบ่อนเซาะทิศทางในคลี่คลายปัญหาและกระบวนการสันติภาพโดยตัวมันเอง กระทั่งว่าทำให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ รู้สึกไม่แน่ใจว่าตัวเองกำลังเจอปัญหาแบบไหน เขากำลังเจอกับอาชญากรบ้าดีเดือดทั่วไปหรือขบวนการปฏิวัติที่มีเป้าหมายทางการเมือง

สุดท้ายคุณต้องมองให้เห็นความขัดแย้งนี้ว่า มันเป็นความขัดแย้งระหว่างใครกับใครกันแน่ และขัดแย้งกันเรื่องอะไร ถ้าคุณเห็นว่าเขาไม่ได้สู้กับรัฐบาล แต่เขาสู้กับรัฐ แล้วสำหรับรัฐไทยเวลานี้ ใครจะเป็นผู้ที่เคาะคนสุดท้ายหรือมี ‘final say’ ของกระบวนการตัดสินใจว่ารูปแบบการปกครองของรัฐไทยจะเป็นอย่างไร ดังนั้นก็ต้องตั้งสติ แล้ววิเคราะห์ความขัดแย้งด้วยกัน ถ้าคุณไม่ชอบความรุนแรง คุณก็ต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง

อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เสนอแนวทางเผชิญกับความขัดแย้งนี้ด้วยกระบวนการที่เรียกว่าสานเสวนาระดับชาติ หรือ National Dialogue ที่หลายประเทศเจอความขัดแย้งร้าวลึกเลือกใช้ ในบางแง่ก็คล้ายๆ กับกระบวนการสันติภาพหรือการเจรจาสันติภาพ แต่มองในกรอบของการแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในระดับชาติ

แต่ปัญหา National Dialogue ก็คือคุณต้องหาให้ได้และเห็นร่วมกันระดับหนึ่งก่อนว่าใครที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งบ้าง อย่างในเลบานอนก็มีตัวละครเป็นสิบ คุณต้องวิเคราะห์ความขัดแย้งก่อนว่าใครเกี่ยวบ้าง

ถ้าจะหวังกับผู้แทนราษฎรที่มีความชอบธรรมมากที่สุดในการมองความขัดแย้งให้ชัดแบบที่ว่าเป็นไปได้ไหม

พูดตรงๆ ในเวลานี้ก็ยังไม่เห็นหรอก เท่าที่ฟังและสัมผัสจากการหาเสียง มันลำบากมากในการที่จะพูดเรื่องเหล่านี้ ตรงนี้ผมเข้าใจพวกเขา แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นที่พวกเขาจะต้องมานั่งคุยกันว่าจะเอายังไงต่อ

ผมคิดว่าถ้าเรามีนักการเมืองที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อประสานและรับฟังผู้คนแล้วช่วยสื่อสารไปในระหว่างคู่ขัดแย้งได้ ก็น่าจะสามารถเปลี่ยนสถานการณ์ได้

ท้ายที่สุด ปัญหาของชายแดนใต้มันเป็นปัญหาของผู้คนทั้งประเทศที่จะให้ความชอบธรรมในการแก้ปัญหาร่วมกัน มันไม่ใช่แค่คนในพื้นที่เท่านั้น ไม่ใช่แค่ความเห็นของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง หรือใครที่มีอำนาจคนใดคนหนึ่งเท่านั้น

ปฏิบัติการที่ผู้แทนรัฐบาลไทยเดินทางไปพูดคุยกับอีกฝ่ายหนึ่งนั้นก็ใช่ว่าคนไทยทั้งประเทศจะเข้าใจและเห็นพ้องต้องกัน เพราะวันนี้คนยังงงกันอยู่เลยว่าเขาทะเลาะกันเรื่องอะไร แม้แต่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในเองพื้นที่ก็ยังมึนว่ามันคือเรื่องอะไรกัน

นักการเมืองจึงสำคัญตรงจุดนี้ เพราะฉันทามติของทั้งสังคมเป็นสิ่งที่เราอยากได้ยิน.

รอมฎอน ปันจอร์

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Thai Politics

20 Jan 2023

“ฉันนี่แหละรอยัลลิสต์ตัวจริง” ความหวังดีจาก ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงสถาบันกษัตริย์ไทย ในยุคสมัยการเมืองไร้เพดาน

101 คุยกับ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงภูมิทัศน์การเมืองไทย การเลือกตั้งหลังผ่านปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ และอนาคตของสถาบันกษัตริย์ไทยในสายตา ‘รอยัลลิสต์ตัวจริง’

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

20 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save