fbpx
จัดจ้าน น้ำเน่า เบาหวิว : เปิดใจ 4 ศิลปินรุ่นใหม่ มองประเทศไทยหลังเลือกตั้ง 2562

จัดจ้าน น้ำเน่า เบาหวิว : เปิดใจ 4 ศิลปินรุ่นใหม่ มองประเทศไทยหลังเลือกตั้ง 2562

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

ธิติ มีแต้ม ภาพ

 

ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้ง นอกจากบรรยากาศการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ที่พากันงัดไม้เด็ดออกมาประชัน เรายังได้ยินได้ฟังสุ้มเสียงจากผู้คนในแวดวงต่างๆ ผ่านสื่อมวลชนหลายค่ายหลายแขนง โดยตัวละครกลุ่มหนึ่งที่ถูกจ่อไมค์ และสามารถสร้างอิมแพคให้คนหมู่มากได้ ย่อมหนีไม่พ้นกลุ่มของศิลปิน ดารา นักแสดง ที่ผู้คนคุ้นหน้าคุ้นตากันดี

ในโอกาสนี้ 101 ถือโอกาสปิดท้ายซีรีส์ ‘เลือกตั้งที่รัก’ โดยการชักชวนตัวแทนศิลปินรุ่นใหม่มาล้อมวงสนทนา ว่าพวกเขาคิดเห็นกับการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไร ประเมินอดีตและอนาคตแวดวงศิลปะวัฒนธรรมของไทยอย่างไร และต่อไปนี้คือ 4 ศิลปินที่ 101 อยากรับฟังสุ้มเสียงของเขาและเธอสักครั้ง

พิช-วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล นักร้อง-นักแสดง ผู้แจ้งเกิดจากภาพยนตร์เรื่อง ‘รักแห่งสยาม’ ก่อนจะหันมาคลุกคลีอยู่ในแวดวงละครเวทีโรงเล็ก ทั้งในบทบาทนักแสดง ผู้เขียนบท รวมถึงผู้กำกับ ผลงานล่าสุดคือละครเวทีเรื่อง ‘นางร้าย’

ผ้าป่าน-สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ ช่างภาพสายสตรีท อดีตบรรณาธิการนิตยสาร The Jam Factory Magazine และผู้ร่วมก่อตั้ง Clapper Club

น้ำใส ศุภวงศ์ กราฟิกดีไซน์เนอร์ ผู้สร้างสรรค์งานภาพประกอบอันเป็นเอกลักษณ์ใน The Matter เป็นหนึ่งในทีมงานของ Boonmee Lab ร่วมจัดทำเว็บไซต์ ELECT ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2562 อย่างเจาะลึก

คาลิล พิศสุวรรณ นักเขียนและคอลัมนิสต์รุ่นใหม่ไฟแรง ผู้เติบโตมาในครอบครัวของนักการเมืองสายประชาธิปัตย์

ที่ผ่านมา คุณอาจเคยชมหรือเสพผลงานของพวกเขาและเธอผ่านจอภาพยนตร์ โรงละครเวที แกลลอรี่ศิลปะ ไปจนถึงคอนเทนต์ในโลกออนไลน์

แต่พนันได้ว่า คุณน่าจะยังไม่เคยได้รับฟังทรรศนะเกี่ยวกับสังคมการเมืองไทยจากพวกเขา อย่างเปิดอกและตรงไปตรงมาเท่าบทสนทนาต่อไปนี้

จัดจ้าน น้ำเน่า เบาหวิว : เปิดใจ 4 ศิลปินรุ่นใหม่ มองประเทศไทยหลังเลือกตั้ง 2562

แต่ละคนมองการเลือกตั้งที่กำลังมาถึงยังไงบ้าง

คาลิล ผมเติบโตมากับครอบครัวที่ลุงเป็นนักการเมือง อาก็เป็นนักการเมือง แล้วเราก็อยู่กับความเป็นประชาธิปัตย์ที่เข้มข้นมาก ทีนี้ถ้าย้อนไปตอนเลือกตั้งเมื่อปี 2557 ที่ประชาธิปัตย์บอยคอต แล้วการเลือกตั้งเป็นโมฆะ มันเป็นจุดที่เราเริ่มตั้งคำถามกับความเป็นประชาธิปัตย์ เพราะเห็นว่ามีความไม่ชอบธรรมบางอย่าง แต่การจะให้เรากระโดดจากประชาธิปัตย์ไปหาเพื่อไทยเลย ก็ยังทำไม่ได้ เพราะเราก็ยังติดอยู่กับวาทกรรมผีทักษิณอยู่ในระดับหนึ่ง

พอมาถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ สุดท้ายมันกลับมาสู่การเลือกใน 2 ขั้วที่ว่า จะเอาเผด็จการหรือไม่เอาเผด็จการ เอาประยุทธ์หรือไม่เอาประยุทธ์ ซึ่งไม่ต่างจากยุคก่อนหน้านี้ ที่ว่าจะเอาหรือไม่เอาทักษิณ

ความน่าเศร้าคือว่า ในบรรยากาศที่คนในประเทศดูกระตือรือร้นขึ้น เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้มากขึ้น มีการถกเถียงกันมากขึ้น แต่กลายเป็นว่าสุดท้ายแล้ว เราหนีประเด็นนี้ไม่พ้น ว่าเราจะเอาหรือไม่เอาประยุทธ์ จะเลือกเผด็จการหรือไม่เลือกเผด็จการ ซึ่งผมว่าเป็นการบดบังโอกาสที่เราจะได้เข้าไปศึกษานโยบายจริงๆ ว่าแต่ละพรรคเขาทำอะไร หรือต่อให้เรารับรู้ถึงนโยบายก็ตาม แต่สุดท้ายจะมาสรุปตรงที่ว่าพรรคนั้นจะอยู่ฝั่งไหนอยู่ดี

ผ้าป่าน : เราคิดเหมือนคาลิล คือสุดท้ายมันยังเป็นบทสนทนาเดิม ว่าถ้าไม่เลือกประยุทธ์ก็ได้ทักษิณ ซึ่งถ้าคนยังไม่สามารถก้าวข้ามจุดนี้ ก็อาจรู้สึกสิ้นหวัง ว่าทำไมมันถึงมีอยู่แค่ 2 อย่างให้เลือก

พิช : ของเราจะเป็นความรู้สึกทำนองว่า เรารู้แล้วแหละว่าจะไม่เอาอันนี้แน่ๆ แต่อีกทางหนึ่งที่มองไป เราก็ไม่แน่ใจว่าจะได้สิ่งที่เราอยากได้จริงๆ มั้ย หรือถึงที่สุดแล้วมันจะเปลี่ยนไปเป็นอะไรที่เราไม่ชอบรึเปล่า

น้ำใส : สำหรับเรา นี่เป็นการเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรกเลย ก่อนหน้านี้เคยเลือกแต่ผู้ว่ากทม. ซึ่งเราก็เลือกตามพ่อแม่ตลอด

จริงๆ ช่วงนี้รู้สึกสับสนมาก โซเชียลมีเดียทำให้รู้สึกสับสน คือตอนเด็กๆ ที่เราเริ่มโตมา เราก็รู้สึกว่าพ่อแม่เป็นคนที่มีเหตุผลนะ หมายถึงว่าเราคุยกันได้ แล้วเราก็เชื่อสิ่งที่เขาบอกเรา แต่พอมาเจอโลกโซเชียลมีเดีย เจอข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่พูดคนละแบบกับที่พ่อแม่เราเคยพูดมา ก็เลยสับสนว่าตกลงจะเชื่อใครดี

แน่นอนว่าโลกโซเชียลที่เราเห็น ก็ขึ้นอยู่กับอัลกอริทึ่มด้วยที่คัดกรองบางอย่างมาให้เราดู บางเรื่องเราอ่านแล้วก็เคลิ้มๆ คล้อยตามไป แต่ขณะเดียวกัน เราก็นึกถึงฟีดของคนอื่นด้วยว่าจะเป็นยังไง เช่นฟีดของพ่อแม่ ที่จะน่าเป็นโลกอีกใบซึ่งไม่เหมือนของเราแน่ๆ เราจึงไม่แปลกใจถ้าเขาจะเคลิ้มเหมือนกัน และไม่แปลกที่ต่างคนจะต่างรู้สึกว่าโลกของตัวเองเป็นโลกที่ถูก

 

แต่คราวนี้มีพรรคที่เป็นตัวละครใหม่เกิดขึ้นมา อย่างเช่นพรรคอนาคตใหม่ ที่ออกตัวชัดเจนว่าเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ สำหรับพวกคุณถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไหม จากเดิมที่ดูจะมีแค่สองพรรคใหญ่ๆ ให้เลือก

พิช : เอาจริงๆ เรามองว่าก็ยังเป็นพรรครองอยู่ดี หมายถึงว่า เป็นไปได้ยากที่จะได้เป็นเบอร์หนึ่งจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งสมมติถ้าเราเลือกกันไป แล้วเขาได้คะแนนมาจำนวนหนึ่ง สุดท้ายเขาก็ต้องไปรวมกับขั้วใหญ่อยู่ดี ไม่ขั้วใดก็ขั้วหนึ่ง

ผ้าป่าน : อย่างที่พิชพูด ถ้าเราเลือกพรรครอง ไม่ได้เลือกพรรคหลัก ถึงแม้ว่านโยบายจะดีมากๆ แต่สุดท้ายพอเข้าไปจัดตั้งรัฐบาล เขาก็ต้องไป follow ตามนโยบายของพรรคหลักอยู่ดีรึเปล่า ยกตัวอย่างพรรคที่ชูเรื่องเปิดเสรีกัญชา สมมติถ้าเขาได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคใหญ่ ก็อาจไม่ได้ชูเรื่องกัญชาขึ้นมาเหมือนเดิม แต่ชูเรื่องอื่นขึ้นมาแทน ซึ่งสุดท้ายถ้าเราเลือกเพราะเราอยากได้เสรีกัญชา ก็อาจจะอกหัก เพราะถึงเวลาจริงมันทำไม่ได้

คาลิล : ผมว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยยังก้าวข้ามจุดนี้ไม่พ้น คือการที่เรายังยึดติดกับตัวบุคคลเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นประยุทธ์ ทักษิณ อภิสิทธิ์ กระทั่งมีพรรคอนาคตใหม่เข้ามา ก็ยังยึดติดกับธนาธร ซึ่งแง่หนึ่งทำให้เราไม่ได้มองลึกไปกว่านั้น แม้แต่ตัวพรรคเอง ก็ชูคุณธนาธรอย่างชัดเจน มันเลยวนลูปกลับมาว่าตกลงคุณชอบใคร และจะเลือกใคร ซึ่งอาจไม่ได้เกี่ยวกับตัวพรรคหรือนโยบายที่พรรคนั้นๆ เสนอเท่าไหร่

พิช : จริงๆ ช่วงก่อนหน้านี้ ถ้าเรามองแบบ Game of Thrones มันสนุกมากนะ ยิ่งตอนที่พรรคไทยรักษาชาติเสนอแคนดิเดตขึ้นมา มันทำให้หลายคนตื่นตัวมาก เห็นเลยว่าเป็นเกมที่อำนาจมันคานกัน แต่พอผ่านไปสักพัก เราก็เริ่มเห็นว่ารัฐมีวิธีจัดการกับเกมนี้ยังไง กำจัดคู่แข่งออกไปยังไง จนทำให้เราเกิดความรู้สึกว่า ตกลงแล้วเรามีสิทธิเลือกจริงๆ รึเปล่า สุดท้ายแล้วการเลือกของเรามันมีผลอะไรไหม

น้ำใส : จริงๆ ตอนแรกคิดแบบสวยๆ เลยนะ ก็คือดูนโยบาย แต่พอไปนั่งดูนโยบายจริงๆ ก็อย่างที่รู้กัน คือมันแทบไม่ต่าง

ถ้ามองในแง่ของข้อมูล ด้วยความรู้กับประสบการณ์ที่เรามี เราก็ไม่รู้หรอกว่านโยบายที่แต่ละพรรคพูดมา สุดท้ายทำได้จริงหรือเปล่า แม้บางนโยบายเราจะรู้สึกว่าดีมากก็ตาม แล้วเวลาผู้สมัครมาดีเบตกัน เอาสถิติโน่นนี่นั่นมาให้ดู เราก็ไม่รู้อยู่ดีว่าจริงไม่จริง ถ้าอยากรู้ก็ต้องตามไปค้นดูเอาเอง ซึ่งข้อมูลบางอย่าง เราก็ไม่รู้ว่าจะไปค้นที่ไหน แต่ถ้ามองในฐานะคนที่ทำงานกับข้อมูล หนูรู้สึกว่าเวลาที่คนเอาข้อมูลมาเล่า เขาจะเลือกเล่าตรงไหนก็ได้ที่ทำให้เขาดูดี แล้วก็เลือกข้อมูลอีกชุดที่ไม่ดีมาเปรียบเทียบ

ฉะนั้น ถ้าถามในมุมส่วนตัวว่า ดูจากนโยบายอย่างเดียวได้ไหม ก็อาจไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งพอไม่ดูนโยบาย แล้วจะไปดูเรื่องไหน ก็กลับไปดูเรื่องคาแรคเตอร์ของคนนั้นๆ ดูว่าเขามีไหวพริบในการตอบคำถามมั้ย หรือมีการควบคุมอารมณ์ที่ดีรึเปล่า ซึ่งเป็นเรื่องเปลือกนอก เป็นเรื่องของ branding ซึ่งทุกคนก็มีอคติเจือปนอยู่แล้ว แต่ถ้าให้ดูแก่นอย่างเดียว ก็ไม่รู้จะดูยังไงแล้ว เพราะมันเห็นแค่นั้นจริงๆ สุดท้ายพอพ้นจากนโยบาย เราก็ต้องมาดูองค์ประกอบอื่นๆ ร่วมด้วยอยู่ดี

แต่ละคนมีเกณฑ์ในการเลือกจากอะไรกันบ้าง

พิช : สำหรับเราจะมองว่า เขาให้อะไรในสิ่งที่เราอยากได้ตอนนี้ไหม แล้วมันมีแนวโน้มว่าจะทำได้จริงมั้ย ถ้าถามว่าใช้อะไรเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ เราจะมีขอบกว้างๆ ว่า ไม่อยากได้อันนี้แน่ๆ อะไรเดิมๆ ที่เราเห็นอยู่แล้วว่า ณ เวลานี้มันไม่เวิร์ค เราจะไม่เลือก

ผ้าป่าน : จริงๆ ก็ดูนโยบายนะ แต่อย่างที่หลายๆ คนคงรู้สึก คือสุดท้ายนโยบายมันก็เหมือนกันไปหมด เอาจริงๆ จนถึง ณ ตอนนี้ เราคุยกับเพื่อนหลายคนมาก ก็ยังตอบไม่ได้เหมือนกันว่าจะเลือกอะไรดี มันยากมากเลย

พิช : เออ มันไม่ได้ง่ายเหมือนเมื่อก่อน ที่แบบว่าไม่อันนี้ ก็อันนั้น เวลาถามกันเล่นๆ ในวง ทุกคนก็จะนิ่งไปประมาณ 3 วิ แล้วก็ถอนหายใจ (หัวเราะ)

น้ำใส : เวลาเพื่อนถาม หนูตอบได้นะ ว่าเลือกอันนี้แหละ แต่ไม่ได้ตอบด้วยความมั่นใจ ไม่ค่อยอยากออกตัวแรงว่าจะเลือกใคร 50/50 ไว้ก่อน ซึ่งถ้าเกิดเขาเข้าสภาไป แล้วทำงานแย่ ก็อย่ามาด่าเรานะ (หัวเราะ) เพราะเราไม่ได้มั่นใจ เราเลือกเพราะภาพตรงหน้า แต่ก็คิดว่าถ้าเลือกไปแล้วเขาได้เข้าไปทำงาน ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ต้องติดตามต่อไปด้วยว่า เขาทำได้จริงรึเปล่า ถ้าเกิดเขาทำงานแย่เราก็จะไม่เลือกเขาอีก

อีกอย่างหนึ่งที่นึกออก ก็คือดูคนที่เราเชื่อเขา เช่นนักเขียนที่เราติดตาม ชอบความคิดเขา แล้วรู้สึกว่าเขามีเหตุผล พอเราเห็นว่าเขาเขียนวิเคราะห์วิจารณ์ ก็ช่วยให้เราตัดสินใจได้มากขึ้น

พิช : ปัญหาอย่างนึงที่เห็นคือ คนไทยมักไม่ค่อยมองอะไรยาวๆ จะมองอะไรสั้นๆ ประมาณว่า เอาอันนี้มาก่อน เพื่อให้อันนี้ออกไป แล้วเดี๋ยวมันก็จะเป็นแบบนั้นแบบนี้เอง แต่ขณะเดียวกัน จะไปโทษว่ามันเป็นเพราะคนชอบมองแต่ระยะสั้น ก็ว่าได้ไม่เต็มปาก เพราะถ้าจะให้มองยาวๆ เราก็มองไม่ค่อยเห็นอยู่ดีว่าข้างหน้ามันมีอะไร หรือบางทีเห็นแล้ว ก็ไม่รู้ว่ามีอะไรที่มองไม่เห็นอยู่อีกมั้ย

 

พ่อแม่หรือคนในครอบครัว มีอิทธิพลกับพวกคุณแค่ไหน ได้แลกเปลี่ยนกันบ้างไหม แต่ละคนเจอสถานการณ์แบบไหนบ้าง

ผ้าป่าน : ของป่านได้คุยนะ คุยกับคุณพ่อ คุยกับคนที่บ้าน เอาจริงๆ บรรยากาศคึกคักมาก สนุกมาก เหมือนมาดีเบตกัน แต่ว่าบ้านป่านเป็นบ้านที่ไม่ได้มีใครเชียร์พรรคไหนหรือใครเป็นพิเศษ เวลาพูดเรื่องนี้ ก็เลยพูดกันในหลายมุมมากๆ แต่คนที่คุยเยอะจะเป็นคุณพ่อ เพราะพ่อป่านเป็นคนที่ติดตามการเมืองมาตลอด เรียกว่าหัวก้าวหน้าเลยแหละ เป็นคนเสพข่าวเยอะ รู้เบื้องลึกเบื้องหลังต่างๆ เยอะ

เวลาสงสัยอะไรป่านก็จะถามเขา เขาจะคอยบอก insight ให้ข้อมูลเรา เช่น ป่านบอกว่านโยบายนี้ดีนะ ป่านสนใจที่เขาพูดถึงเรื่องการส่งออกศิลปะวัฒนธรรม พ่อก็จะบอกข้อมูลว่า ประวัติของคนนี้มันเป็นแบบนี้ เคยอยู่ตรงนี้มาก่อน ผลงานเป็นแบบนี้ ช่วยเสริมข้อมูลจากมุมของเขา โดยรวมเลยรู้สึกว่ามันคือการอภิปรายที่ค่อนข้างมีประโยชน์

พิช : ของเราจะต่างกับป่านมาก เราจะไม่ค่อยคุยเรื่องนี้กับแม่เลย หรือแม้กระทั่งว่าในการคุยกัน มันจะไม่ใช่คำถามที่ว่า เธอจะเลือกอะไร แต่แม่จะถามเล่นๆ ว่า คิดว่าใครจะได้ มันข้าม step ไปตรงนั้นเลย เราก็เลยบอกว่าเราคิดว่าจะเลือกอันนี้ แต่เราคิดว่าอันนี้จะได้ (หัวเราะ)

คาลิล : เคสของครอบครัวเรา แน่นอนว่าทุกคนจะมีความผูกพันกับประชาธิปัตย์ ที่นี้มันเลยเกิดกรณีของการ assume ว่าทุกคนก็คงเลือกประชาธิปัตย์ แต่พอเราไม่เห็นด้วยกับประชาธิปัตย์ หรือคิดว่าจะไม่เลือก มันเลยเกิดภาวะที่กระอักกระอ่วนที่จะสื่อสารกัน โดยเฉพาะกับคนอีกเจเนอเรชันหนึ่ง

ทีนี้สิ่งที่ต้องระวัง ก็คือคอมมอนเซ้นส์ของคนยุคเรา ซึ่งบางทีอาจใช้ไม่ได้กับคอมมอนเซ้นส์ของคนยุครุ่นพ่อรุ่นแม่เรา

สมมติเราก็รู้อยู่แล้วว่า ประยุทธ์ไม่ดี แล้วไปบอกแม่ว่าประยุทธ์ไม่ดี อย่าเลือกเลย แม่ก็จะไม่เข้าใจ เพราะว่าเขามองไม่เห็น ซึ่งถ้าถามเรา เราสามารถอธิบายได้ว่าประยุทธ์ไม่ดียังไง แต่ถ้าถามแม่เรา แม่อาจมองไม่เห็น ซึ่งไม่ได้เป็นความผิดของเขาหรอก เพราะว่ามันไม่ใช่สิ่งที่มากระทบเขาโดยตรง ประเด็นคือการสื่อสารระหว่างเจเนอเรชั่นในเรื่องนี้ มันต้องดำเนินไปอย่างใจเย็นมาก แล้วเราก็ต้องพยายามที่จะเข้าใจเขามากๆ

แต่ปัญหาของคนยุคใหม่ เท่าที่ผมสังเกต จะกลายเป็นว่าพอเรารู้ว่าพ่อแม่หรือญาติพี่น้อง ยังไงก็อาจเลือกพรรคที่อยู่คนละขั้วกับเรา เราจะ assume ไปทันทีว่าเขาคงไม่คุยกับเรา หรืออาจคุยกันไม่รู้เรื่อง พอเป็นอย่างนี้ มันก็ยิ่งผลัก conversation ให้ห่างออกไป ยิ่งไม่เกิดการสื่อสารกัน

ผมว่าบางครั้งคนรุ่นเราก็ใจร้ายเกินไป ในแง่ที่เราไปวาดภาพผู้ใหญ่ให้เป็นผู้ร้ายอย่างชัดเจนมาก แล้วก็ไม่รับฟังเขาเท่าที่ควร ซึ่งพอเป็นอย่างนี้ ก็จะเกิดสภาวะอย่างที่เราเคยประสบมาตอนเด็กๆ คือการที่ผู้ใหญ่พยายามกีดกันเราออกจากการเมือง โดยบอกว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ แต่ตอนนี้มันกลับกลายเป็นว่า คนรุ่นใหม่ก็กีดกันผู้ใหญ่ด้วยเหมือนกัน

พิช : เราก็เข้าใจนะสำหรับคนบางคน สิ่งที่เขาอยากได้คือบ้านเมืองสงบสุข ซึ่งการที่ทุกวันนี้ไม่มีความวุ่นวาย ก็อาจตอบโจทย์เขาได้ เพราะเขามองแค่นั้น แต่สำหรับเรา เรามองเห็นมิติอื่นๆ ด้วยไง มันสงบก็จริง แต่อาจไม่สุข ที่มันสงบเพราะมันถูกควบคุมไว้ด้วยอะไรบางอย่าง

แต่แน่นอนว่าการจะมี conversation แบบนี้กับคนที่คิดไม่ตรงกัน ส่วนใหญ่จะคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง รู้สึกว่าคุยแล้วเดี๋ยวก็ทะเลาะกัน สุดท้ายมันก็จะเลี่ยงๆ ไม่คุย เพราะไม่อยากทะเลาะกัน

น้ำใส : จริงๆ ของหนูก็คล้ายครอบครัวพี่ป่านนะ คือคุยกันได้ แล้วตอนแรกก็คิดว่าคุยกันได้แบบขำๆ ด้วย นั่นคือตอนที่เรายังไม่ได้มีจุดยืนที่ชัดเจนเท่าไหร่

แต่พอเราเริ่มเจอโลกอีกขั้วที่ไม่เหมือนโลกของพ่อแม่ แม้เราจะเริ่มด้วย mindset ว่าจะคุยกันแบบเป็นกลาง ไม่อคติ แต่พอคุยไปสักพัก ก็จะเริ่มมีอารมณ์ขึ้นมา ประมาณว่า ถ้าเราไปด่าหรือว่าพรรคที่พ่อชอบ มันก็เหมือนเราว่าพ่อด้วย ส่วนเวลาพ่อมาว่าพรรคที่เราชอบ มันก็เหมือนว่าเราด้วย ยิ่งพอเถียงกัน มันยิ่งมีความคุกรุ่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่พอกลับไปนั่งคิด ก็มีบางจุดที่เขาพูดแล้ว make sense เหมือนกัน แต่ที่เถียง ณ จุดนั้นเพราะรู้สึกว่าเราต้องชนะก่อน พอมานั่งย้อนคิดดู การเมืองเป็นเรื่องที่คุยแบบสันติได้ยากมาก แต่บ้านเราจะไม่ได้สุดโต่งถึงขั้นว่าเชียร์ประยุทธ์ พ่อจะหยุดอยู่แค่ประชาธิปัตย์ (หัวเราะ)

 

น้ำใส ศุภวงศ์
น้ำใส ศุภวงศ์

แล้วในโลกโซเชียลหรือในพื้นที่สาธารณะ แต่ละคนต้องระมัดระวังกันแค่ไหนในการพูดเรื่องเหล่านี้

น้ำใส : ถ้ากับเพื่อนๆ เราจะไม่ค่อยคุยนะ เพราะรู้สึกว่าทุกคนมาทิศทางเดียวกัน จะเป็นผู้รับฟังมากกว่า แต่ถ้าเป็นที่บ้าน บางทีจะออกตัวแรงมากกว่าที่ตัวเองมั่นใจด้วยซ้ำ เหมือนกับว่าอยู่ข้างนอก ดูเหนียมๆ เพราะเราก็ไม่ได้มีความรู้เยอะ แต่ว่าพออยู่ที่บ้าน มันมีความอยากเอาชนะพ่อแม่นิดนึง บางทีก็พูดมากกว่าที่ตัวเองมั่นใจ เหมือนว่าพอเถียงแล้วก็ต้องมั่นใจไว้ก่อน (หัวเราะ)

ผ้าป่าน : เราไม่เคยพูดเรื่องการเมืองข้างนอกเลย ครั้งนี้ครั้งแรก ซึ่งเอาจริงๆ ตอนที่บอกพ่อว่าจะมาสัมภาษณ์ พ่อบอกว่าไม่ต้องพูดเยอะ (หัวเราะ) เอาจริงๆ มันคือการเซนเซอร์ตัวเองนั่นแหละ เราว่าเราเซนเซอร์ตัวเองเยอะมาก แต่ไม่ใช่ในแง่ที่กลัวจะโดนอุ้มหรืออะไรแบบนั้น แต่กลัวในแง่ที่มันจะกระทบกับคนที่อยู่ในสังคมหรือแวดวงที่เราเกี่ยวข้อง กลัวว่าเขาจะมองเรายังไงมากกว่า

พิช : ใช่ บางทีมันโดนแปะป้ายทันทีเลยนะ แค่คุณแสดงความคิดบางอย่าง หรือพูดบางประโยคออกมา โดนเหมารวมทันทีว่ามึงเป็นฝั่งนี้แน่ๆ

ผ้าป่าน : เออ เรารว่ามันไม่แฟร์เลย เพราะมันผิวเผินมาก เหมือนโดนแปะป้ายไว้ แล้วก็ให้ดูแค่นี้พอ

 

นอกจากเรื่องที่ถูกสังคมแปะป้ายว่าเป็นฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ มีเงื่อนไขอะไรที่ทำให้พวกคุณสามารถใช้เสรีภาพในการยืนยันความเชื่อทางการเมืองได้บ้าง

พิช : เรารู้สึกว่าเราต้องอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยที่จะพูดได้ ซึ่งย้อนกลับมาที่มุมของคนทำงานศิลปะ เวลาที่ต้องครีเอทงานออกมา มันสามารถสื่อสารได้หลายแบบ พูดด้วยปาก เขียนออกมา ทำเป็นเพลง ทำละคร ทำหนัง

ปัญหาของประเทศในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าไม่ค่อยมีเสรีในการแสดงออกทางความรู้สึกและความคิดเท่าไหร่ สมมติถ้าเราอยู่ในพื้นที่ที่สามารถบ่นขิงข่าอะไรก็ได้ โดยที่ไม่มีใครมาว่า เราน่าจะทานทนกับสิ่งที่เป็นอยู่ได้ดีกว่านี้ เพราะกูได้พูด กูได้ด่า แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เรื่องนี้ก็พูดไม่ได้ เรื่องนั้นก็ห้ามพูด งั้นกูแปรสภาพเป็นงานศิลปะแทนละกัน

ผ้าป่าน : หลักการใช้ชีวิตของเรา เราจะรู้สึกว่า ‘อื่นๆ อีกมากมาย’ แบบเพลงของพี่ๆ วงเฉลียง คำนี้มันดังอยู่ในหัวตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่องการเมือง เฮ้ย ผ้าป่าน อื่นๆ อีกมากมายที่แกไม่รู้ อย่าเถียงแทนใครขนาดนั้น แม้กระทั่งเถียงเพื่อตัวเอง เรายังไม่รู้ขนาดนั้นเลยว่าเรามองเห็นรอบด้านไหม มีข้อมูลครบไหมที่จะเถียงสิ่งนี้ ซึ่งเวลาเราเจอคนที่สามารถเถียง หรือยืนยันอะไรสักอย่างได้อย่างสุดตัว เราแอบนับถือเขาเล็กๆ ว่าเขามีความเชื่อกับสิ่งนั้นขนาดนั้นได้ยังไง มันคมมาก ก้าวหน้ามาก แต่ในอีกมุมหนึ่งคือ ฉันเป็นอย่างนั้นไม่ได้เหมือนกันว่ะ เพราะฉันดันรู้สึกว่า ชีวิตมันคืออื่นๆ อีกมากมายที่เรายังไม่รู้

พิช : ทุกวันนี้เวลาทำงานอะไรออกมา นี่ไม่กล้าสรุปความเลยนะ (หัวเราะ)

ผ้าป่าน : เหมือนกัน เราจะวิตกมากว่า ตกลงแล้วฉันควรสรุปอะไรได้บ้างไหม

พิช : มันจะมีความ “Who are you to say” อยู่ตลอด

ผ้าป่าน : ใช่! แล้วยิ่งโซเชียลมีเดียยิ่งต้องระวัง ส่วนใหญ่เวลาป่านแชร์อะไร จะเป็นแค่ข้อมูลจริงๆ ประมาณว่า เฮ้ย พวกแกดูอันนี้กันหรือยัง

คาลิล : สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งในช่วงที่เป็นรัฐบาลเผด็จการคือ ในแวดวงศิลปะจะมีกลวิธีหรือนวัตกรรมบางอย่างเกิดขึ้นมา เพื่อสื่อสารประเด็นบางอย่างที่ถูกห้ามพูด หรือสื่อสารตรงๆ ไม่ได้ แง่หนึ่งการที่เราถูกปิดกั้นเสรีภาพ ก็บีบให้เราต้องพยายามหาทางถ่ายทอดความรู้สึกของเราออกมาให้ได้ แต่ต้องไม่ใช่ในระดับที่ชัดเจนจนสามารถสร้างอันตรายให้เรา โดยที่คนรับสารก็สามารถรับรู้ได้ว่าสิ่งที่เราต้องการจะสื่อคืออะไร

ผ้าป่าน : ใช่ๆ นี่เป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากของศิลปะและงานสร้างสรรค์ เป็น soft power ที่ powerful มากๆ แต่อีกมุมหนึ่งก็อาจเป็นข้อเสีย ในแง่ที่มันอาจสื่อสารกับคนกลุ่มเล็กๆ ที่พอจะรู้บริบท หรือพอจะถอดความสิ่งนี้ออกมาได้เท่านั้น แต่อาจไปไม่ถึงคนวงกว้างเท่าไหร่

พิช : เราเห็นด้วยว่างานของคนทำงานศิลปะในยุคนี้ ที่อยู่ภายใต้การบริหารปกครองประเทศแบบนี้ มันพูดอะไรไม่ได้เต็มปากสักอย่าง แต่เราจะเห็นสิ่งที่ศิลปินหรือนักเขียนพยายามชี้ชวนให้ตั้งคำถาม ซึ่งเขาจะไม่เดินไปบอกตรงๆ หรอก แล้วถ้าพูดในฐานะคนผลิต เราไม่ได้รู้สึกว่ามันต้องแมส หรือต้องเข้าถึงทุกคนทันที ไม่ได้หวังว่ายิงสิ่งนี้ไปแล้วจะต้องได้นกทุกตัว แต่หวังแค่ให้โดนบ้างบางตัว แล้วมันอาจเกิดอิมแพคบางอย่างต่อไป เราทำได้แค่นั้น

วิธีคิดแบบนี้ ที่ไม่จำเป็นต้องยิงโดนนกทุกตัว สุดท้ายแล้วมันจะสร้างอิมแพคได้จริงไหม วัดผลลัพธ์ยังไง

พิช : ถามว่าอิมแพคไหม สำหรับเรา เราจะรู้สึกกับตัวเองก่อนว่า วันนี้เราได้ทำอะไรสักอย่างแล้ว แล้วพอกาลเวลามันค่อยๆ เดินไปข้างหน้าเราก็หวังว่าวันหนึ่งสิ่งนี้อาจถูกหยิบขึ้นมาเป็น reference ของสิ่งที่ใหญ่กว่าก็ได้ แต่ประเด็นคือมันต้องมีก่อนไง จะไปคาดหวังให้มันอิมแพคเลยคงยาก

ผ้าป่าน : สิ่งที่พิชพูดมา คือมุมจากคนสร้างจริงๆ เพราะถ้าเป็นมุมจากคนเสพ ทุกคนก็คงอยากให้มันไปไกลกว่านี้ หรือตรงไปตรงมากว่านี้ แต่วิธีคิดของคนสร้างงานศิลปะหลายคน เท่าที่สัมผัสมา จะค่อยๆ ทำไป ค่อยๆ ทำหน้าที่เป็นสะพานให้คนอื่นได้เดินต่อไป ไม่ใช่ว่ายิงปุ๊บแล้วต้องเข้าเป้าทุกอัน เห็นผลทันที เรารู้สึกว่าศิลปินหลายๆ คนจะคิดในมุมนี้ ว่าอย่างน้อยฉันขอเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง

พิช : หลังๆ เราไม่คาดหวังกับผลลัพธ์แล้ว แต่คาดหวังกับกระบวนการมากกว่า อย่างน้อยถ้าคนอื่นไม่ได้ เราก็ได้ แล้วถ้าเราได้ คนใกล้ๆ ตัวเราที่รับรู้ถึงสิ่งที่เราทำ ก็น่าจะได้รับบางอย่างด้วยเหมือนกัน มันเป็นแรงสะเทือนที่ส่งถึงกันได้

คาลิล : เห็นด้วยครับ แล้วผมว่าสิ่งนี้มันสะท้อนให้เห็นถึงความหวังนะ แม้ในชั่วโมงที่มันมืดมน แต่เรายังเห็นว่ามีความพยายามที่จะส่งเสียง หรือสื่อสารบางอย่างออกมา ไม่ว่าจะในรูปแบบไหนก็ตาม ขอแค่อย่างน้อยมันมีอยู่ แน่นอนว่ามันอาจไม่สื่อสารกับคนวงกว้างได้ในทันที โดยเฉพาะเมื่อมันเกิดขึ้นมาในชั่วโมงที่ประเทศสิ้นหวังมากๆ ผมว่างานเหล่านี้คือความหวัง

น้ำใส : จริงๆ ก็น่าคิดนะ ที่ถามว่าถ้าเราไม่เก็ตเมสเสจขนาดนั้น แล้วมันจะอิมแพคอยู่ไหม แต่โดยประสบการณ์ส่วนตัว สมมติเราอ่านหนังสือของพี่แหม่ม วีรพร (นิติประภา) แล้วเราชอบมากเลย แต่ได้เข้าใจประเด็นหรือนัยยะของมันขนาดนั้น เราจะเก็บความสงสัยนั้นไว้ในใจนิดนึง แต่พอวันนึงที่เหมือนเราจะถอดใจไปแล้ว ไม่อยากรู้แล้ว แล้วจู่ๆ มันบังเอิญไปลิงก์กับเรื่องบางเรื่องที่เราเจอ มันจะเก็ททันทีเลย อ๋อ เรารู้แล้วว่างานนั้นมันพูดอะไร หมายถึงอะไร บางทีการเข้าใจงานพวกนี้ก็ต้องอาศัยเวลา

พิช : ใช่ เราต้องเปิดรับมัน และให้มันเข้าไปนอนอยู่ในตัวเราก่อน แล้วแต่ละคนมันก็จะมีการเรียนรู้ในวิธีที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและประสบการณ์ที่คนนั้นๆ เจอ

วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล
วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล

อยากให้ช่วยแชร์หน่อยว่า การทำงานศิลปะในช่วงที่ผ่านมา มีปัญหาอะไรบ้างไหม โดยเฉพาะในแง่ของการควบคุมปิดกั้นจากเจ้าหน้าที่รัฐ

พิช : จริงๆ ก็เยอะนะ แกลลอรี่มีทหารไปเฝ้า กดดันเจ้าของผลงานจนเขาต้องปลดภาพบางภาพออก อีกกรณีคือละครเวที บางเรื่องเคยมีจดหมายมาถามว่าขออนุญาตหรือยัง มีทหารเข้ามาดูทุกรอบแล้วบันทึกการแสดง กระทั่งการจัดงานเสวนาต่างๆ ช่วงหนึ่งจะมีทหารนอกเครื่องแบบไปคุมตลอด

คาลิล : ถ้าในมุมของนักเขียน หรือแวดวงการอ่าน ผมอยากพูดถึงในเชิงนโยบายของรัฐ ซึ่งผมเห็นปัญหาอยู่ 3 ระดับใหญ่ๆ ที่เชื่อมโยงกัน ระดับแรกคือเรื่องวัฒนธรรมการอ่าน ระดับที่สองคือเรื่องเมือง ระดับที่สามคือเรื่องของเศรษฐกิจ

เอาเรื่องวัฒนธรรมการอ่านก่อน ผมมองว่าประเทศไทยมีปัญหามาก ตั้งแต่การเรียนการสอนในโรงเรียนเลย ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า การที่ครูสั่งให้อ่านหนังสือเล่มนี้ แล้วถามว่าคุณได้อะไรจากหนังสือบ้าง มันสะท้อนว่า การอ่านหนังสือมันจำเป็นต้องได้อะไรบางอย่าง เราไปสร้างความคาดหวังให้กับเด็กว่าการอ่านหนังสือจะนำมาซึ่งอะไรบางอย่าง ซึ่งไม่จำเป็นเสมอไป การอ่านหนังสืออาจไม่นำมาซึ่งอะไรเลยก็ได้

สมมติว่าคนอ่านรามเกียรติ์ มันจะมีสารที่ชัดเจนว่าคุณจะต้องนำสารนี้ไปตอบคำถาม แล้วคุณจะได้คะแนน เราสอนให้เด็กอ่านถูก แต่ไม่เคยสอนให้เด็กอ่านผิดเลย คำว่าอ่านผิดในที่นี้คือการอ่านให้เห็นในสิ่งที่ต่างออกไป ไม่จำเป็นต้องมีคำตอบตายตัว ไม่จำเป็นว่าจะต้องได้ข้อคิดหรือได้อะไร แต่การอ่านหนังสือของประเทศเรา จะถูกกำหนดไว้เลยว่า ถ้าคุณตอบแบบนี้จะได้ 10 คะแนน ถ้าพ้นจากนี้คือผิด โดยไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้คิดในรูปแบบอื่น ปัญหาที่ตามมาคือ มันจะยิ่งทำให้สถานะของหนังสือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่คุณไม่สามารถทำอะไรกับมันได้เลย ทั้งที่หนังสือควรจะเป็นสิ่งที่คุณสามารถรื้อสร้าง สามารถถกเถียง กระทั่งสามารถด่าหรือวิจารณ์นักเขียนก็ได้

ปัญหาระดับต่อมาคือเรื่องของเมือง เอาง่ายๆ ว่าพื้นที่ในกรุงเทพ เมืองหลวงของเรา คุณว่าบรรยากาศมันน่าอ่านหนังสือมั้ย ตอนผมไปสิงคโปร์ รถเมล์มันวิ่งเงียบชิบหาย โคตรนิ่งเลย อ่านหนังสือได้สบาย และก็มีพื้นที่สาธารณะอีกมากมาย ที่สร้างบรรยากาศให้คุณอยากอ่าน แต่ประเทศไทยแทบไม่มีเลย ถ้าอยากอ่านจริงๆ คุณต้องไปนั่งร้านกาแฟ ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเข้ามา โยงไปถึงปัญหาสุดท้ายคือเรื่องเศรษฐกิจ

สมมติว่าเราอยากอ่านหนังสือในคาเฟ่ เราต้องเสียเงิน 90 บาท เพื่อซื้อกาแฟมา เพื่อให้เป็นข้ออ้างทำให้เรานั่งอ่านหนังสือได้ แล้วสุดท้ายการแก้ปัญหาด้านการอ่านทั้งหมดทั้งมวล จะย้อนกลับมาสู่เรื่องพฤติกรรมการอ่านของปัจเจกบุคคล ว่าถ้าคุณอยากอ่านหนังสือคุณก็ต้องจัดการเวลาของคุณให้ได้ เช่น ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะใช้เวลา 2 ชั่วโมงก่อนนอนเพื่ออ่านหนังสือ แต่ความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำอย่างนั้นได้ ซึ่งการไปโทษคนอื่นๆ ว่าไม่รักการอ่าน หรือไม่สนใจ ผมว่ามันผิดประเด็น เป็นการผลักปัญหาโดยไม่ได้มองเลยว่า มันมีความเหลื่อมล้ำที่ทำให้คนเราไม่สามารถเข้าถึงหนังสือได้อย่างเท่าเทียมกัน

ผ้าป่าน : เราว่ามันไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่หนังสือ แต่คือภาพรวมของวงการศิลปะเลยแหละ อย่างเรื่องนโยบาย ตอนที่ป่านคุยกับพ่อ ป่านพูดถึงนโยบายเรื่องศิลปะวัฒนธรรมที่พรรคหนึ่งอยากจะผลักดันเรื่องการส่งออกศิลปะวัฒนธรรม พอเล่าให้พ่อฟังจบ พ่อก็พูดมาแค่คำเดียวว่า นี่คือวิธีคิดของคนกลุ่มเธอ การที่เธอคิดแบบนี้ได้เพราะว่าเธอมีกินไง แต่ถ้าเธอลองถามคนที่ไม่มีกิน เขาไม่มีเวลาว่างมาคิดแบบเธอหรอก เพราะชีวิตของเขามันเป็นหนูติดจั่น ตื่นตี 4 ขึ้นมาเตรียมของ กว่าจะขายเสร็จก็ตกเย็น เหนื่อย พักผ่อน แล้วก็ตื่นมาดิ้นรนกันใหม่ จะให้เอาเวลาที่ไหนไปคิดเรื่องพวกนี้ หรือกระทั่งมองเห็นคุณค่าความดีงามของสิ่งนี้ ในเมื่อท้องเขายังไม่อิ่มเลย

พิช : เออ สุดท้ายเรื่องปากท้องมันต้องมาเป็นอันดับ 1 อยู่แล้ว ยิ่งถ้าโยงมาทางสายภาพยนตร์ หรือละครเวที ก็จะเห็นชัดๆ เลยว่าเมื่อเราไม่มีเงินใช้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่เราตัดออกเป็นลำดับแรกๆ พอเราไม่มีเงิน เราก็จะไม่ออกไปข้างนอก ไม่ไปแกลลอรี่ ไม่ไปโน่นไม่ไปนี่ หรือบางครั้งที่เราไปดูละครหรือไปดูหนัง เราจะอ่านรีวิวก่อน เพราะอยากรู้ว่ามันดีไหม คุ้มกับการเสียเงินหรือเปล่า

ผ้าป่าน - สิริมา ไชยปรีชาวิทย์
ผ้าป่าน – สิริมา ไชยปรีชาวิทย์

ผ้าป่าน : แต่เอาเข้าจริง สมมติว่ารัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ให้มันเฟิื่องฟู แล้วคุณสามารถเข้าถึงทั้งละคร ทั้งวรรณกรรมต่างๆ ได้เยอะขึ้น มันยิ่งทำให้คนแข็งแกร่ง ทำให้คนพัฒนา ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ผู้มีอำนาจเขากลัวรึเปล่า ก็เลยไม่ผลักดัน ไม่พยายามทำให้เกิดขึ้นสักที

พิช : ประเทศเรามันถูกวางอยู่บนไม้บรรทัดของศีลธรรมอันดีงาม แต่เราว่าการจะทำให้ศิลปะต่อยอดไปได้ มันไม่ใช่แค่การเอาศิลปะไปแช่แข็งไว้ เช่นเดียวกับการยกให้เป็นของสูงส่ง เพราะสุดท้ายจะไม่มีใครกล้าหยิบมันขึ้นมา แล้วจะหวังให้มันพัฒนาได้ยังไง

น้ำใส : ถ้าในมุมการทำงาน หนูอาจไม่ได้อยู่ในวงการศิลปะโดยตรง แต่ถ้าแชร์ประสบการณ์จากการทำเว็บ ELECT ปัญหาสำคัญที่เจอคือเรื่องข้อมูลของหน่วยงานรัฐ ที่ไม่ได้เปิดข้อมูลขนาดนั้น ไม่ได้เป็น Open Data เหมือนประเทศอื่นๆ ซึ่งถ้ามองในมุมของคนที่ต้องเอาข้อมูลมาย่อย ถือเป็นปัญหามากๆ

สมมติว่าเราอยากนำเสนอสิ่งนี้ให้มันเข้าใจง่าย แต่บางทีเราเจอกำแพง เพราะไม่รู้จะไปหาข้อมูลที่ไหน บางทีก็ต้องอาศัยข้อมูลจากวงในบ้าง หรือไม่ก็ต้องไล่ถามจากคนนั้นคนนี้ ถึงจะได้ข้อมูลที่ต้องการ ซึ่งเราว่ามันไม่ถูกต้อง ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ คนทั่วไปควรเข้าถึงได้โดยง่าย ไม่ต้องใช้วิธีซับซ้อนขนาดนี้

ที่หนักกว่านั้นคือ บางเรื่องที่เราอยากทำกัน แต่กลับพบว่ามันไม่มีการเก็บข้อมูลบ้าง ไม่ก็อยู่ในรูปแบบที่ไม่พร้อมใช้งาน เช่น เป็นไฟล์ที่สแกนมาจากเอกสารอีกที

คาลิล พิศสุวรรณ
คาลิล พิศสุวรรณ

ถ้าให้เปรียบเทียบสังคมไทยตอนนี้กับหนังสักเรื่อง หนังสือสักเล่ม หรืองานศิลปะสักชิ้น แต่ละคนจะเปรียบกับงานชิ้นไหน เพราะอะไร

คาลิล : ผมนึกถึงหนังเรื่องหนึ่งของฟิลิปปินส์ที่ได้ดูเมื่อเดือนก่อน คือเรื่อง Season of the devil ของผู้กำกับชื่อ Lav Diaz เป็นเรื่องของฟิลิปปินส์ในยุคเฟอร์นานด์ มาร์กอส ที่เป็นเผด็จการ ประชาชนถูกกดขี่ มีทหารเข้าไปปล่อยข่าวลือว่าในชุมชนว่มีผีดิบผีดูดเลือดอะไรต่างๆ ทำให้ผู้คนตกอยู่ในสภาวะของความหวาดกลัว ขณะเดียวกันก็ทำให้รัฐบาลสามารถสร้างความชอบธรรมกับการมีทหารในพื้นที่นั้นๆ

ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้ คือมันเป็นหนังเรื่องแรกของผู้กำกับคนนี้ที่ทำเป็นหนังเพลง เขาบอกว่าโดยปกติแล้วหนังเพลงจะถูกรับรู้ในฐานะเรื่องราวของสุขนาฏกรรม แต่ในเรื่องนี้เขาเอามาสร้างเป็นโศกนาฏกรรม ก็คือตอนจบมืดมน ชวนหงุดหงิด มองไม่เห็นแสงสว่างอะไรเลย

สิ่งที่หนังเรื่องนี้สะท้อนออกมา ทำให้เราฉุกคิดถึงประเทศไทยในตอนนี้ว่า ภายในบรรยากาศของความบันเทิงเริงรมย์ เรามีเพลง มีศิลปะ มีดนตรีต่างๆ ให้ดูให้เสพ ซึ่งถ้าเราไม่ได้ตั้งใจมองให้ดี เราอาจมองไม่เห็นว่าภายใต้ความบันเทิงเหล่านี้ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน มันมีความสิ้นหวังซ่อนอยู่อย่างชัดเจนมาก แม้กระทั่งวิธีที่ คสช. พยายามใช้ เพื่อกล่อมให้คนไม่รู้สึกว่าการมีอยู่ของเขาเป็นปัญหาเท่าไหร่ ถ้าคุณไม่ใส่ใจจริงๆ คุณก็จะมองไม่เห็น

แต่ถ้าคุณมองให้ดี คุณจะเห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่สิ้นหวังเหี้ยๆ แน่นอนว่าเราอยากมีความหวังอยู่แล้ว แต่ในความจริงมันแทบมองไม่เห็น คุณลองมองการเลือกตั้งครั้งนี้ดูสิ อย่างกรณีพรรคไทยรักษาชาติที่โดนยุบไป หรือกรณีการเลือกตั้งในต่างประเทศที่บัตรเลือกตั้งหายไป มันน่าหดหู่ สิ้นหวัง

แล้วยิ่งถ้าคุณมองลึกไปเรื่อยๆ คุณจะเห็นเลยว่าไม่ใช่แค่ คสช. เท่านั้นที่เป็นปัญหา แต่ยังมีอย่างอื่นที่เหนือไปกว่านั้นอีกที่เราไม่เคยตั้งคำถาม กระทั่งไม่สามารถตั้งคำถามได้ ซึ่งต่อให้เราถกเถียงกันแทบตาย คิดกันแทบตาย หรือพยายามมองให้เห็นความหวังแค่ไหน แต่พอไล่ไปถึงจุดนั้น จบเลย มันกลบทุกอย่างไปหมดเลย ซึ่งเราก็ยังมองไม่เห็นทางเหมือนกันว่าสังคมจะผ่านพ้นจุดนั้นไปได้ยังไง

พิช : เราว่าประเทศไทยก็เหมือนละครทีวีน้ำเน่า ซึ่งมองได้สองระดับ ระดับแรกคือภาพใหญ่ของอุตสาหกรรมทีวี ซึ่งบ้านเราจะมีความคล้ายกับประเทศแถบอเมริกาใต้บางประเทศ ที่ช่องต่างๆ ถูกควบคุมโดยกองทัพ แปลว่าสื่อต่างๆ ที่ออกมา ผ่านการคัดกรองจากรัฐมาอีกที ระดับต่อมาคือเนื้อหา ถ้าเป็นละคร ก็จะเป็นละครประโลมโลก แบบขาวจัดดำจัดไปเลย ผู้ชายผมสั้น ผู้หญิงผมยาว ผู้ร้ายมีหนวด ดีสุดร้ายสุดชัดเจน แล้วจะมีความไม่สมเหตุสมผลบางอย่าง หรือไม่มีที่มาที่ไป ซึ่งคนดูก็เหมือนจะยอมรับร่วมกันว่ามันเป็นสิ่งปกติ เช่น คนแต่งหน้านอน

ยิ่งกว่านั้นคือ ตัวละครที่อยู่ในระดับสังคมแบบหนึ่ง จะไม่มีวันกระโดดขึ้นไปอยู่ในจุดที่สูงกว่าได้เลย ถ้าไม่เกิดการแต่งงานข้ามชนชั้น ฉะนั้นวิธีเดียวที่จะทำให้เธอก้าวผ่านชนชั้นที่เธออยู่ได้ คือต้องหาผัวรวย พูดง่ายๆ ว่าชีวิตมันไม่ได้มีทางเลือกมากนักในโลกของละคร ที่จะทำให้เรากล้าออกจากจุดที่เรายืนอยู่ ไปสู่จุดที่เรารู้สึกว่านี่แหละคือชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล ก็เพราะโลกใบนี้มันถูกครอบไว้ด้วยอำนาจบางอย่างที่เรามองไม่เห็น หรือมองเห็นแต่ไม่สามารถพูดถึงมันได้

เคยมีเพื่อนต่างชาติถามเราว่า ทำไมอาหารไทยถึงมีรสจัด พอคิดไปคิดมา เออ อาหารไทยก็เหมือนประเทศไทยนะ ไม่ว่าเป็นเรื่องวัฒนธรรมไทย ละครน้ำเน่าแบบไทยๆ ที่พูดไป สังเกตว่าทุกอย่างมันดูจัดจ้าน ดูอลังการไปหมด เช่นเดียวกับอาหารไทย หลายๆ ครั้งมันถูกปรุงให้จัดจ้านก็เพื่อกลบวัตถุดิบที่ไม่สด

น้ำใส : เรานึกถึง Game of Thrones โดยส่วนตัวเราว่าสังคมไทยตอนนี้เป็นช่วงที่น่าติดตาม เหมือนกำลังรอ Season 8 คือรอผลการเลือกตั้ง รู้สึกลุ้นพอพอๆ กับเวลาที่รอดูตอนจบ เพราะก่อนหน้านี้ทุกอย่างที่เราเห็นมา ไม่ว่าจะเป็นในเฟซบุ๊ก หรืออะไรก็แล้วแต่ เราแทบมองไม่เห็นภาพรวมเลย เหมือนเห็นแค่ชิ้นส่วนต่างๆ ที่พอจะเอามาปะติดปะต่อกันได้บ้าง แต่ไม่มีทางรู้ตอนจบแน่ๆ เวลาเห็นกระแสพรรคโน้นพรรคนี้ เราจะรู้สึกสงสัยตลอดเวลาว่าที่เราเห็นมันจริงหรือเปล่าวะ ซึ่งสิ่งเดียวที่จะเฉลยปมทุกอย่าง ก็คือผลของการเลือกตั้ง ตอนนี้คือรอลุ้นอย่างเดียว เป็นความรู้สึกเดียวกับที่รอคอย Season 8 ของ Game of Thrones

ผ้าป่าน : เราตอบอีกมุมนึงแล้วกัน อยากให้กำลังใจกลุ่มคนทำงานกลุ่มศิลปะ เช่นเดียวกับกลุ่มคนที่พยายามเรียกร้องหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ซึ่งต้องเผชิญกับคอมเมนต์ ต้องต่อสู้กับคำดูถูกต่างๆ นานา รวมถึงการแปะป้ายว่าเธอเป็นแบบนั้นแบบนี้ โดยที่ไม่มีใครมาคอยซัพพอร์ตอย่างจริงจัง เราว่าหลายคนกำลังต่อสู้กับภาวะนี้อยู่ ซึ่งเราอยากบอกว่า ถ้าทุกคนยังมีความเชื่อกับสิ่งนี้อยู่ ถ้าคุณยังเชื่อในพลังของศิลปะ ถ้าคุณไม่หมดหวัง สุดท้ายมันจะช่วยเปลี่ยนแปลงประเทศได้จริงๆ ไม่ว่าในระดับไหนก็ตาม อย่างที่มันเคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศอื่น

สมมติว่าตัวเองได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม แล้วสามารถผลักดันนโยบายบางอย่างได้ แต่ละคนอยากทำเรื่องอะไรมากที่สุด

พิช : เราอยากจะทบทวนไม้บรรทัดของความดีงามใหม่ เพราะไม้บรรทัดที่เราใช้วัดสิ่งเหล่านี้อยู่ มันเป็นไม้บรรทัดตั้งแต่ยุคสมัยไหนก็ไม่รู้ เรารู้สึกว่าเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ก็ควรมองโลกด้วยเลนส์ Progressive มองโลกด้วยแว่นใหม่ๆ ไม้บรรทัดใหม่ๆ ได้แล้ว

ในขณะเดียวกัน เราก็อยากจะดึงเอาของที่มันถูกดำรงไว้ในฐานะที่เป็นของคู่ชาติ ของที่มันถูกยกให้สูงค่าทั้งหลาย เอามา re-construct ใหม่ เพื่อทำให้เข้าถึงได้ทุกคน เพราะการที่คุณจะปกป้องไม่ให้มันสูญหายไป มันต้องทำให้คนเข้าถึงได้ นำไปใช้ต่อได้ ไม่ใช่เอาไปใส่ไว้ในตู้เซฟ

น้ำใส : เราคงไม่มีความรู้ไม่มากพอที่จะทำทุกอย่างได้ แต่สมมติถ้าตัวเองได้เป็นจริงๆ เราจะเลือกคนที่มีความสามารถในด้านต่างๆ มาช่วยทำงาน จะพยายามจะเลือกคนที่เก่งที่สุดในด้านนั้นๆ มาทำงาน เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด โดยที่ไม่มีผลประโยชน์

ผ้าป่าน : เราคิดว่ามีสองส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรกคือในแง่ของการสร้างพื้นที่ให้เขา ไม่ว่าจะเป็นด้านเธียเตอร์ ด้านวรรณกรรม หรือศิลปะแขนงใดๆ ก็ตาม เพราะถ้ายิ่งมีพื้นที่ คนก็ยิ่งจะมารวมตัวกันสร้างคอมมูนิตี้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการสร้างสรรค์งานศิลปะ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณทำศิลปะ แต่ไม่มีคอนมูนิตี้ในการมาแชร์หรือแลกเปลี่ยนกัน มันจะตัน ไปต่อไม่ได้ แล้วสุดท้ายจะจบที่ individual ตัวใครตัวมัน แล้วก็ค่อยๆ มอดไป

อีกส่วนหนึ่งคือการสังคายนาการเรียนการสอนศิลปะ เพราะถ้าเอาตามแบบที่เราเคยเรียนกันมา มันคือการสอนแบบถูกผิดเลย ซึ่งทำให้เราเป็นคนที่กลัวศิลปะไปเลย เพราะกลัวผิด

เอาง่ายๆ อย่างตอนที่เราเรียนการไล่สี ครูให้ตีเส้นแบ่งเลย แล้วก็ต้องไล่ไปทีละช่อง ทีละสี ถ้าไม่เรียงตามนี้ถือว่าผิด พอเราเจอแบบนั้น มันทำให้เรากลัวศิลปะมาก แต่พอมาเจอโลกของศิลปะจริงๆ เจอคนที่เป็นศิลปินจริงๆ เราพบว่ามันกว้างกว่าที่เราเรียนมาก แต่เราไม่เคยถูกสอนมาแบบนั้น

คาลิล : สิ่งที่เราอยากทำมันไม่อยู่ในสโคปของกระทรวงวัฒนธรรม ถ้าเลือกได้อยากจะทำกระทรวงศึกษามากกว่า เพราะกระทรวงศึกษาเป็นรากฐานของการรับรู้ทางวัฒนธรรม นโยบายหนึ่งที่เราว่าน่าสนใจคือนโยบายของพรรคสามัญชน ที่บอกว่าจะถอดถอนวิชาความรู้หรือแนวคิดที่มีความชาตินิยมออกไปจากระบบการศึกษา

เอาง่ายๆ ว่าตอนนี้ปี 2019 แล้ว แต่เด็กไทยยังเรียนเรื่องไทยรบพม่าอยู่เลย ผมว่าการปลูกฝังแนวคิดชาตินิยมมันไม่เท่าทันกับบริบทของโลกปัจจุบันแล้ว เหมือนอังกฤษที่ต้องย้อนกลับมาทบทวนตัวเองใหม่หลังจากเกิดกรณี Brexit ผมคิดว่าเราต้องรื้อสร้างระบบการศึกษากันใหม่ โดยเปิดรับสิ่งต่างๆ ให้กว้างขึ้น อ้าแขนเปิดรับความหลากหลาย มากกว่าที่จะกอดตัวเองไว้แล้วตายกันเอง

อีกนโยบายหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่อยากให้รัฐบาลหน้าโฟกัสอย่างจริงจัง คือเราอยากให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงน้ำดื่มได้ คุณเดินไปไหนก็มีน้ำดื่มที่คุณสามารถดื่มได้เลย เพราะการมีน้ำดื่ม มันคือการที่รัฐบาลมองเห็นคนเป็นมนุษย์จริงๆ ไม่ใช่แค่คนที่มีรายได้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนไร้บ้านที่เขาอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศด้วย

บางคนอาจมองว่าน้ำแค่ขวดละ 10 บาท เดินเข้าเซเว่นก็ซื้อได้ แต่มันไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเงิน 10 บาทเพื่อซื้อน้ำขวดเดียว ที่กินแป๊บเดียวก็หมด ถ้ารัฐบาลสามารถทำให้ทุกคนมีน้ำดื่มได้ อย่างน้อยๆ ก็สะท้อนว่าประเทศไทยเริ่มมองเห็นประชาชนเป็นมนุษย์มากขึ้น

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save