“สีไม่ได้เป็นเพียงคุณสมบัติด้านความสวยงาม แต่ยังเป็นพาหะของความหมาย มันเป็นส่วนประกอบสำคัญของโลกใบนี้ ซึ่งกำหนดการรับรู้และมีอิทธิพลต่อทุกช่วงเวลาที่ตื่นของเรา สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักถึงความหมายและความเชื่อมโยงที่แตกต่างกันของสี นักออกแบบต้องเข้าใจถึงความหมายแฝงที่แตกต่างกันของสีในวัฒนธรรมต่างๆ สีเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับนักออกแบบ นักการตลาดและนักสื่อสารในการทำความเข้าใจและใช้มัน เพื่อให้แน่ใจว่าได้สื่อสารอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ”
ผมคิดว่าข้อเขียนของ จอห์น เกจ (John Gage) ข้างต้นจากหนังสือ ‘Color and Meaning’ สรุปอิทธิพลของสีที่มีต่อตัวเราได้เป็นอย่างดี
ในโลกงานออกแบบ สีคือส่วนประกอบสำคัญทั้งในการกำหนดอารมณ์ความรู้สึกของสิ่งนั้นๆ ถ้าเป็นในแง่ของการตลาด สีสร้างการรับรู้ในเชิงสัญลักษณ์ให้กับตัวสินค้า เช่น พอเห็นสีแดง หลายคนอาจนึกถึงโค้กหรือรถเฟอร์รารี สีเหลืองอาจทำให้เราหิวเพราะนึกถึงแมคโดนัล สีส้มก็อาจทำให้เรานึกถึงความหรูหราอย่างกระเป๋าแอร์เมส หรือไม่ก็อาจเป็นน้ำส้มเย็นๆ สักแก้ว
สีสร้างการจดจำและเร้าอารมณ์ความรู้สึกให้เราจินตนาการตามได้อย่างเลิศเลอเพอร์เฟ็ก แม้กระทั่งวัตถุที่ไม่มีสีสันอย่างสีขาว ก็ยังมีอิทธิพลต่อความคิดของเราอยู่ดี
นอกเหนือจากนักออกแบบ นักการเมืองและชนชั้นปกครองหลายคนก็รู้ถึงพลังอำนาจของสี ที่มีผลต่อการรับรู้ของประชาชนเช่นกัน
สีถูกนำมาใช้ในการสื่อสารทางการเมืองมานานแล้วครับ เพราะสีมันมีข้อดีหลายอย่าง ไม่ต้องเขียนให้ยุ่งยาก มีความเป็นสากลและเข้าใจง่าย สีบางสีเห็นปุ๊ปก็เร้าอารมณ์ความรู้สึกได้แทบจะทันที
สีเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองก็คงตั้งแต่เรามีการเมืองนั่นแหละครับ สีถูกนำมาใช้ในการสื่อสารและจัดหมวดหมู่ เช่น ราชวงค์บูร์บองของฝรั่งเศสเลือกใช้สีขาวนกกระตั้วมาเป็นตัวแทน ในจีน สีเหลืองทองและสีเขียวมรกตถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองและวรรณะ เช่นเดียวกับในอินเดียที่แต่ละวรรณะก็ถูกแบ่งโดยสี ในหลายสังคมสียังถูกใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารในเชิงจิตวิญญาณ เช่นสีขาวอาจหมายถึงศาสนา ความบริสุทธ์หรืออาจหมายถึงความเศร้าโศก สีแดงอาจหมายถึงความโชคดีหรืออันตราย สีเขียวคือธรรมชาติ ความสงบ สีน้ำเงินสื่อถึงน้ำ ความร่มเย็น เหล่านี้เป็นสีที่คนเรารับรู้ โดยอิงจากสิ่งแวดล้อมที่เราได้เจอ
ในบริบทการเมืองไทย นักการเมืองก็หยิบเอาสีแหล่านี้แหละครับมาใช้เพื่อแสดงจุดยืนและสะท้อนความคิดอ่าน ความรู้สึก และอุดมการณ์ (ถ้ามีน่ะนะ) ที่มีต่อสังคม
เรามาเริ่มกันที่สีแดงเป็นไร
สีแดง
สีแดงเป็นสีที่แข็งแกร่ง มีความสัมพันธ์ทั้งบวกและลบต่อความรู้สึกของคน ในด้านบวกสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่ง น่าหลงใหล มั่นใจ แต่อีกด้านสีแดงยังเป็นตัวแทนของ ความก้าวร้าว ความโกรธ ความตื่นตัวหรือสิ่งที่น่าอันตราย
และหากคุณยังไม่ทราบ สีแดงเป็นสีหนึ่งที่ถูกหยิบมาใช้ในการทางเมืองมากที่สุด
อลิซ่า แอคเคอร์แมน (Aliza Ackerman) นักออกแบบที่ปรึกษาของ Adobe กล่าวว่าที่เป็นอย่างนั้นเพราะ “สีแดงสามารถช่วยผลักดันให้คนตัดสินใจได้เร็วขึ้น” อาหารฟาสต์ฟู้ดเกือบทุกยี่ห้อมีสีแดงอยู่ในนั้น เพราะสีแดงกระตุ้นการตอบสนองทางกายภาพ ทำให้คนรู้สึกหิว กระตุ้นความอยาก ในทำนองเดียวกัน แบรนด์มักเลือกสีแดงเพื่อประกาศการขาย เพราะมันนำความเร่งด่วนมาสู่ข้อความ
สุขภาพ ความแข็งแรง สงคราม ความกล้าหาญ ความโกรธ ความรัก ความเคร่งศาสนา หัวข้อพวกนี้คือความหมายที่โดดเด่นของสีแดง
ในทางการเมือง สีแดงถือเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของประชาชน หลายประเทศพรรคการเมืองที่มีจุดยืนข้างเสรีนิยม มักใช้สีแดงเช่น พรรคเสรีนิยมในแคนาดา ในพรรคแรงงานสังคมนิยมในสเปน พรรคคอมมิวนิสต์ประชาชนในไต้หวัน ในประเทศจีน พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้สีแดงเป็นสีประจำพรรค อันนี้ก็น่าสนใจเพราะในมุมหนึ่งสีแดงก็ถูกใช้เป็นตัวแทนของลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งบางทีก็เกิดความสับสนในหมู่ประชาชน
เว้นก็แต่ในสหรัฐอเมริกาที่สีแดง กลายเป็นสีประจำของพรรครีพับลิกัน ซึ่งมีจุดยืนอยู่ฝั่งอนุรักษนิยมมากกว่า
ว่ากันว่าที่สีแดงที่ถูกหยิบนำมาใช้ทางการเมืองนั้นได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อทางศาสนา ในโลกตะวันตกสีแดงเป็นตัวเทนของเลือดพระเยซูที่มาจากการถูกตรึงกางเขน เป็นสัญลักษณ์ของความเสียสละ สีแดงจึงถูกใช้เป็นตัวแทนของการต่อสู้ของประชาชน
ในประเทศไทย พรรคการเมืองอย่างเพื่อไทย ใช้สีแดงโยงเข้ากับการต่อสู้ของประชาชน ‘คนเสื้อแดง’ มาเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสาร จนหลายคนคิดว่าสีแดงคือสีโลโก้ของพรรคเพื่อไทยไปแล้ว แต่ในความเป็นจริง ถ้ากลับไปดูโลโก้ของพรรคเพื่อไทยย้อนหลังไปตั้งแต่สมัยที่เป็นพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชนจนถึงพรรคเพื่อไทย จะพบสิ่งที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะเราจะพบว่าโลโก้ของพรรคใช้สีน้ำเงินและแถบธงชาติเป็นตัวแทนของพรรค เพื่อเชื่อมโยงถึงความผูกพันกับสถาบันหลักของประเทศ
แนวการออกแบบโลโก้แบบนี้ ทุกพรรคการเมืองของไทยใช้เป็นส่วนประกอบในการออกแบบ โดยเฉพาะฝั่งอนุรักษนิยมเลือกใช้การสื่อสารที่อิงกับสถานบันหลักและระบบราชการ
แต่หลังจากเหตุความขัดแย้งในช่วงสิบปีที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยนำเอาสีแดงมาใช้เป็นสีหลักในการสร้างแบรนด์ใหม่ ตัวตนใหม่ แต่ไม่เปลี่ยนโลโก้
สิ่งนี้ก็บอกอะไรเราได้หลายอย่าง
สีเหลือง
สีเหลืองสื่อถึงความร่าเริง ความสดชื่น เป็นสีที่ดึงดูดสายตา รวมถึงเป็นตัวแทนของความหรูหรา ในมุมหนึ่ง สีแหลืองไม่แตกต่างจากสีแดงมากนัก เราจะเห็นว่าหลายแบรนด์ที่ต้องการขายความด่วน การเร่งเร้า กระตุ้นความอยากของผู้บริโภค ก็มักเลือกใช้สีเหลืองคู่กับแดง และยังทำหน้าที่ในการ ‘แจ้งเตือน’ ให้เราด้วย
สีเหลืองในดินแดนสุวรรณภูมิเป็นตัวแทนของศาสนาพุทธ ซึ่งใช้กันอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ รวมถึงเป็นตัวแทนของสถาบันกษัตริย์ ทั้งในจีน ไทย เนปาล
ในสังคมตะวันตก สีเหลืองทางการเมืองถูกใช้เป็นตัวแทนของเสรีนิยมกลาง ถึงกลาง-ซ้าย ไม่ก็เป็นตัวแทนของฝ่ายที่อยู่ข้างชนชั้นปกครองมากกว่า ฝรั่งเศสยุคหนึ่งสีเหลืองก็ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ที่เอาไว้พูดถึงแนวคิดสังคมนิยม ในแนวคิดปิแอร์ บิเอตรี เขาเป็นนักปรัชญาที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดแบบมาร์กซิสต์ เขาเชื่อว่าสังคมจะขับเคลื่อนได้ ต้องมีการสมยอมกันทั้งกลุ่มทุนและกลุ่มชนชั้นแรงงาน แต่หากข้างใดข้างหนึ่งแข็งแรงไปอาจนำไปสู่รัฐเผด็จการได้เช่นกัน
ในบ้านเราสีเหลืองก็พร้อมๆ กับความขัดแย้งของสองขั้นความเห็นต่างทางการเมือง สีเหลืองก่อนหน้านั้นถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ แต่ไม่ก็ไม่ได้ใช้อย่างกว้างขวางมากนัก จนเมื่อเกิดการชุมนุมทางการเมืองและมีการแบ่งแยกฝูงชนออกเป็นสองข้าง สีเหลืองก็เริ่มมีบทบาทในทางการเมืองมากขึ้น ทุกวันนี้สีเหลืองถูกใช้เป็นตัวแทนของจุดยืนของฝั่งขวาอนุรักษนิยม แต่จะเห็นว่าไม่มีพรรคไหน ที่ให้น้ำหนักแก่สีเหลืองแบบที่พรรคเพื่อไทยใช้กับสีแดง ซึ่งก็น่าสนใจว่าทำไม ทั้งๆ ที่ผมคิดว่ามุมหนึ่งมันก็น่าจะเป็นเครื่องมือหาเสียงที่ดี
พรรคการเมืองไทยหลายพรรคมากครับมีทั้งที่ให้ความสำคัญกับสถาบันกษัตริย์ และศาสนา เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งถึงแม้โลโก้เน้นสีแถบธงชาติบนพื้นขาว แต่ในการสื่อสารใช้สีเหลืองมากกว่า พรรคไทยภักดี พรรคชาติพัฒนากล้าก็คล้ายกัน ส่วนพรรคประชาภิวัฒน์ใช้สีเหลืองเพื่อประกาศตัวเองว่าเป็นพรรคที่หนุนพุทธศาสนา
ความเป็นเหลืองเป็นแดงที่ถูกหยิบมาใช้ในการหาเสียงครั้งนี้ เป็นรากเหง้าที่ยังคงหลงเหลืออยู่จากความขัดแย้งทางการเมือง และผมคิดว่าหากมีการเลือกตั้งครั้งหน้า เราก็อาจจะยังเห็นอยู่หากว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงขั้วในการจัดตั้งรัฐบาล
สีส้ม
สีส้มเป็นสีที่เกิดจากการผสมระหว่างสีแดงและสีเหลือง สีส้มเป็นตัวแทนของความหลงใหลในอดีต ความรู้สึกในแง่บวก ให้ความรู้สึกสดใส มีชีวิตชีวา สนุกสนาน เต็มไปด้วยความอ่อนเยาว์ พลังงาน และความสุข สามารถยกระดับอารมณ์ของผู้คนได้
สีส้มยังถูกใช้สื่อสารถึงความหรูหราและศักดิ์ศรีได้ด้วย
แต่ในทางกลับกัน สีส้มที่จืดชืด หรือส้มแบบส้มเข้มจนเกือบเป็นสีน้ำตาลอย่างสีใบไม้ในฤดูใบไม้ร่วง ก็อาจไปกระตุ้นความรู้สึกในแง่ลบ เช่นความสิ้นหวัง หลอกลวงได้ แม้แต่พลังงานของสีส้มที่สดใส ก็สามารถสร้างความคิดที่ไม่อดทนได้เช่นกัน
สีส้มจึงถือว่าเป็นความท้าทายของนักออกแบบพอสมควร
ในทางการเมือง เหตุการณ์ที่ทำให้สีส้มเป็นที่พูดถึงมากที่สุด หนีไม่พ้นการปฏิวัติสีส้มในปี 2004 โดยเริ่มจากยูเครน สีส้มถูกยกขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับเผด็จการในยุคของประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยูเชนโกและวิกเตอร์ ยานูโควิช ซึ่งทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองต่อเนื่องยาวนาน
การปฏิวัติสีส้มในยูเครนจุดประกายความเคลื่อนไหวในอีกหลายประเทศ และได้กลายเป็นตัวแทนความเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตยหลังยุคคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก แผ่ขยายไปยังส่วนต่างๆ ทั้งในเลบานอน ปาเลสไตน์ อียิปต์ บาร์เรนและอิสราเอล
สีส้มได้ก่อร้างสร้างตัว กลายเป็นสีทางการเมืองของคนรุ่นใหม่นับแต่นั้น
มีการตีความการใช้สีส้มของคนรุ่นใหม่เพื่อเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ทางการเมืองอยู่ไม่น้อยในตะวันตกสีส้มถูกตีความว่าเป็นสีที่แสดงออกถึงการเมืองแบบอนาธิปไตย เป็นจุดกึ่งกลางระหว่างอนาธิปไตยและทุนนิยม (สัมพันธ์กับสีแดงของลัทธิคอมมิวนิสต์และสังคมนิยม)
ความน่าสนใจของการเกิดสีส้มในการการเมืองในบ้านเราก็คือ สีส้มเป็นสีที่ไม่เคยอยู่ในสารระบบของการเมืองไทยมาก่อนการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ (ต่อมากลายเป็นพรรคก้าวไกล) ในมุมของนักออกแบบหรือนักการตลาด ผมคิดว่าการนำสีส้มามาใช้ได้รับความสนใจอยู่พอสมควร รวมถึงโลโก้ที่ไม่ได้นำคุณค่าเก่ามาใช้ แต่เล่าเรื่องใหม่ สอดคล้องกับการทำการเมืองในแบบของพรรคฯ ที่เน้นสื่อสารกับประชาชนอายุน้อย และคนที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบหัวก้าวหน้า
เป็นความหวังใหม่ เป็นภาพของการปฏิวัติที่เราเห็นจากคลื่นคนรุ่นใหม่ทั่วโลก
สีน้ำเงินและสีฟ้า
สีน้ำเงินเป็นสีที่ถูกใช้ในการงานออกแบบมากที่สุดในโลกเพราะคุณสมบัติที่ดีของมัน โทนสีน้ำเงินให้ความรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย ความกลมเกลียว เป็นมิตร ให้ความรู้สึกถึงความเป็นมืออาชีพและความเป็นกลาง แบรนด์ต่างๆ ในทุกอุตสาหกรรมใช้ประโยชน์จากสีนี้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ซึ่งถูกใช้ตั้งแต่ในอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างฟอร์ด ไปจนถึงธุรกิจอาหารอย่างเป๊ปซี่
แต่อีกด้านหนึ่ง สีน้ำเงินเป็นตัวแทนของความเศร้า (feel blue) นักจิตวิทยาบอกว่าส่วนหนึ่งเพราะสีน้ำเงินอยู่ปลายเย็นของสเปกตรัมสี ตรงข้ามกับสีโทนร้อนอย่างสีแดงและสีส้มซึ่งเร้าความรู้สึกมากกว่า หลายครั้งแบรนด์จึงพยายามเลี่ยงไปใช้เฉดสีฟ้าที่ให้อารมณ์ที่เบากว่า อย่างสีธงของสหประชาชาติก็ใช้สีฟ้าเพื่อสื่อถึงความหวังและสันติภาพ
ในแวดวงการเมือง สีน้ำเงินและฟ้าเป็นสีที่ถูกมาใช้ในงานออกแบบโลโก้พรรคการเมืองมากที่สุด เพราะเป็นตัวแทนของความเป็นชาติ ความกลมเกลียว ฝ่ายอนุรักษนิยมนิยมใช้สีนี้มากกว่าฝั่งหัวก้าวหน้า พรรคที่มีแนวคิดกลาง-ขวาหรือขวาจัดมักเลือกใช้สีโทนน้ำเงินเป็นหลัก เช่นพรรคประชานิยมฝ่ายขวาในออสเตรีย พรรคการเมืองในฮ่องกงที่สนับสนุนรัฐบาลปักกิ่งก็ใช้สีน้ำเงิน พรรคอนุรักษนิยมในอังกฤษและในเกาหลีใต้ก็ใช้สีน้ำเงิน แต่ก็มีข้อยกเว้นนะครับอย่างในญี่ปุ่น แคนาดาและสหรัฐอเมริกา สีน้ำเงินเป็นตัวแทนของพรรคที่มีแนวติดกลาง-ซ้าย ไปจนถึงฝ่ายซ้าย
ความรู้สึกแบบนี้คนไทยอย่างเราอาจจินตนาการไม่ค่อยออก เพราะสีน้ำเงินถูกใช้ในฝั่งอนุรักษนิยมมากกว่า พรรคที่ใช้สีโทนน้ำเงิน-ฟ้า ในการสื่อสารมากที่สุด คือพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมักพูดเสมอว่า ตัวเองเป็นพวก ‘เลือดสีฟ้า’ เพื่อสะท้อนอุดมการณ์ทางการเมืองของประชาธิปัตย์ที่มักสื่อสารว่าตัวเองนั้นคือสถาบันทางการเมืองประเทศ มีความเป็น corperate มากกว่าพรรคอื่นๆ
ส่วนพรรคที่รองลงมา เราก็จะเห็นพรรคในฝั่งอนุรักษนิยมหยิบสัน้ำเงินมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐหรือพรรคภูมิใจไทย
สีชมพู
สีชมพูเป็นตัวแทนของความเป็นผู้หญิง แบรนด์จำนวนมากที่เจาะกลุ่มผู้หญิงมักใช้สีชมพูในการสื่อสาร ซึ่งเป็นสีที่มีพลังทำให้ผู้ที่เห็นรับรู้ถึงความหลงใหล ความรักและความเยาว์วัย
สีชมพูเข้มสื่อถึงความเร่งรีบ ในขณะที่สีชมพูพาสเทลจะดูสงบและเป็นกลางมากกว่า สีชมพูยังเป็นตัวอย่างของสีที่สามารถเปลี่ยนแปลงตามสังคมเมื่อเวลาผ่านไป เพราะครั้งหนึ่งเคยเป็นสีของเด็กผู้ชาย ส่วนปัจจุบันสีชมพูกลับเกี่ยวข้องกับความเป็นผู้หญิงเสียส่วนใหญ่
ในสังคมการเมืองไทย สีชมพูก็เป็นหนึ่งในสีที่ถูกหยิบมาใช้ เท่าที่โตมาไม่เคยเห็นพรรคการเมืองระดับประเทศ หยิบสีชมพูมาเป็นสีหลัก (Key Visual) ในการสื่อสาร แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ มีพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นพรรคที่กล้าใช้สีที่แปลกใหม่กว่าพรรคอื่นๆ แม้ไม่มีอะไรเกี่ยวเนื่องกับความเป็นผู้หญิง หรือการรับรู้ทั่วไปของผู้คน และภาพลักษณ์หรือการรีแบรนด์ที่เป็นรูปธรรมจริงๆ ก็ยังไม่เกิดขึ้นแบบ 360 องศา แต่ก็นับว่าเป็นการใช้สีที่กล้าหาญ หลักๆ คิดว่าพรรคฯ คงต้องการเน้นย้ำความเป็น wow factor ซึ่งเป็นแนวคิดของนโยบายหลักของพรรค
น่าเสียดายที่บริบทของภาพรวมยังไปไม่ถึงความว้าวอย่างที่ตั้งใจ
สรุป
พรรคการเมืองไทยไม่ได้ทำการเมืองเชิงอุดมการณ์ที่เปิดกว้าง แต่เป็นการทำการเมืองแบบผูกขาดและการเมืองแบบสัมปทาน หากเปรียบเป็นการทำธุรกิจ นี่คือธุรกิจที่ผูกขาดอยู่กับไม่กี่ตระกูลในประเทศ แม้จะมีหลายพรรค แต่ก็ไม่ได้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี ประกอบกับการเลือกตั้งที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ของไทย ก็กระท่อนกระแท่นและไม่มีตัวกระตุ้นใหม่ๆ เข้ามาในตลาดเท่าที่ควร
การพัฒนาองค์ความรู้เรื่องงานออกแบบจึงมีอย่างจำกัดในแวดวงการเมือง
ลำพังแค่งานออกแบบกราฟฟิกดีไซน์ก็เป็นองค์ความรู้ที่ค่อนข้างใหม่ในบ้านเรา นับอายุก็อาจจะแค่คนเจนเนอเรชันเดียวด้วยซ้ำ
แต่การมาถึงของพรรคไทยรักไทย การมาถึงของคุณทักษิณ ตี๋ แมตชิ่ง และความคิดเรื่องการจ้างเอเจนซี่โฆษณามาช่วยวางแผนกลยุทธการสื่อสาร การทำประชาสัมพันธ์ ถือว่าเป็นการเปิดมิติใหม่ของการทำธุรกิจการเมืองในบ้านเราก็ว่าได้ ทิศทางของไทยรักไทยเมื่อสิบกว่าปีก่อน ได้เข้ามาเปลี่ยนทิศทางงานออกแบบของพรรคการเมืองไทยทั้งหมด โดยเฉพาะพรรคการเมืองใหญ่ๆ ต้องลุกขึ้นมารีแบรนด์ตัวเองให้ดูทันสมัยขึ้นเพื่อความอยู่รอด
วิวัฒนาการพวกนี้เกิดจากการ copy & paste ต่อๆ กันมา เห็นได้ว่าร่องรอยโลโก้แบบไทยรักไทย ตอนนี้กระจายอยู่ในโลโก้ของแทบจะทุกพรรคการเมืองในประเทศไทย
น่าเสียดายที่การเลือกตั้งของเราน้อย ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ การพัฒนางานออกแบบที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองจึงไม่ค่อยหลากหลาย
ที่สำคัญ คนที่อยู่ในแวดวงการเมือง เกือบทั้งหมดยังคงมีกรอบความคิดในเชิงอนุรักษนิยมค่อนข้างมากและยังไม่เปลี่ยนแปลง รวมถึงข้อห้ามบางอย่างที่ดูหยุมหยิมและเต็มไปด้วยความไม่สมเหตุสมผล จึงทำให้ไม่มีคนกล้าคิดนอกกรอบ
แต่เชื่อว่าหากประเทศไทยมีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง องค์ความรู้เหล่านี้ก็จะเติบโตตามพัฒนาการของการเมืองไทยที่เปลี่ยนแปลงไป
ว่าแต่เลือกกันรึยังครับว่าจะใส่เสื้อสีไหนไปเลือกตั้งดี?