ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ
ในความร้าวลึกของการเมืองไทยที่แผ่ขยายลงไปในระดับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล แทบไม่มีแวดวงไหนหลุดรอดจากรอยร้าว โดยเฉพาะแวดวงนักวิชาการที่อาจเป็นด่านแรกในการรับแรงกระแทกจากคลื่นวิกฤตการเมืองหลังรัฐประหาร
เป็นด่านแรกเพราะคำอธิบายหลักการประชาธิปไตยเพื่อต้านยันรัฐประหาร มักประกาศออกมาจากนักวิชาการที่แอนตี้รัฐประหาร ซึ่งตามมาด้วยรายจ่ายมหาศาลในการเผชิญหน้ารับมือกับอำนาจเถื่อน
ประเด็นคลาสสิกที่คั่งค้างในรอยร้าวมานมนานคือสังคมไทยต้องจ่ายเพิ่มอีกเท่าไหร่ หากนักวิชาการที่เคยแอนตี้รัฐประหารก้าวเข้าไปนั่งในตำแหน่งที่คณะรัฐประหารจัดสรรให้ พร้อมกับยกมือสนับสนุนหัวหน้าคณะรัฐประหาร
รูปธรรมแห่งรอยร้าวที่ชัดเจนที่สุดกำลังเกิดขึ้นกับ ซากีย์ พิทักษ์คุมพล สมาชิกวุฒิสภา บุตรของอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ที่เข้าสู่ตำแหน่ง ส.ว. ในโควต้าของสำนักจุฬาราชมนตรี
ทว่าในฐานะที่เขาเป็นอาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งวางตัวตนไว้บนจุดยืนสนับสนุนประชาธิปไตย มีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ ไปจนถึงความไม่ชอบธรรมของรัฐประหาร กลับกลายเป็นความกระอักกระอ่วนที่ยากจะคลี่คลาย
“อาจารย์คนเดิมได้จากพวกเราไปอย่างถาวรแล้ว” เสียงสะท้อนบางส่วนยิ่งตอกย้ำภาพความสะบั้นระหว่างนักวิชาการสายประชาธิปไตยด้วยกัน
นอกจากความพยายามเข้าใจภาพผิวปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น 101 สนทนากับ ‘ซากีย์’ ถึงตัวตนของเขา ตั้งแต่เรื่องครอบครัว สังคมมุสลิม จุดยืนทางการเมือง ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ และที่เลี่ยงไม่ได้คือวินาทีที่เขายกมือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
ไม่แน่, เป็นไปได้ว่าเราอาจเข้าใจสังคมไทยมากขึ้น ผ่านการทำความเข้าใจ ‘ซากีย์’ ซึ่งไม่มีทางลัดอื่นนอกจากฟัง…
ครอบครัว พ่อและลูกชาย
ผมโตมาในครอบครัวนักการศาสนาที่บ้านเดิมอยู่ในชุมชนชาวประมงเล็กๆ ที่สงขลา ส่วนใหญ่แต่ละบ้านก็จะส่งลูกหลานไปเรียนศาสนากัน คนที่เรียนสำเร็จกลับมาก็มาเป็นครูสอนศาสนาในชุมชน พ่อผมก็เป็นคนหนึ่งที่ย่าส่งให้ไปเรียนศาสนา เพราะย่าคาดหวังว่าอยากให้ลูกกลับมาสอนคนในชุมชน พ่อก็เริ่มจากจบ ป.4 แล้วไปเรียนต่อที่ปอเนาะ (โรงเรียนสอนศาสนา) ของลุงตัวเองในอำเภอจะนะ แล้วก็ไปเรียนต่อกับอีกปอเนาะที่ปัตตานี
พ่อพยายามดิ้นรนหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเอง เพราะพ่ออยากไปเรียนต่อต่างประเทศ แต่ย่าเป็นคนหัวโบราณ ไม่อยากให้ลูกไกลบ้าน แกก็เลยแสวงหาความรู้จากการอ่านหนังสือเอาเอง เวลาว่างก็ปั่นจักรยานไปอ่านหนังสือในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หรือบางครั้งก็ไปร้านขายหนังสือในตัวเมือง เพราะไม่มีเงินซื้อ
หลังจากพ่อสำเร็จการศึกษา แกก็กลับมาเป็นชาวประมงในหมู่บ้าน และไปบรรยายศาสนาตามหมู่บ้าน ตามมัสยิด แล้วก็ค่อยๆ ขยับไปบรรยายทั่วสงขลา และเดินสายไปทั่วภาคใต้ทั้งตอนบนและฝั่งอันดามันจนเป็นที่รู้จักกับมุสลิมภาคใต้ ได้รับการยอมรับให้มาเป็นกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา ตอนนั้นแกอายุประมาณ 32 ปี และต่อมาได้รับเลือกให้เป็นประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา ตอนอายุ 38 ปี ซึ่งผมยังเล็กมาก ขณะเดียวกันก็ได้รับการแต่งตั้งจากท่านอดีตจุฬาราชมนตรีประเสริฐ มะหะหมัด ให้เป็นกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และก็ได้รับเลือกเป็นจุฬาราชมนตรีในเวลาต่อมา
แต่พ่อทำงานในฐานะจุฬาราชมนตรีได้แค่ปีกว่าๆ ก็ล้มป่วย เพราะว่าไม่พักผ่อนแล้วยังพยายามเดินสายไปตามจังหวัดต่างๆ แกไม่ชอบทำตัวเป็นศูนย์กลางที่ให้คนแต่ละจังหวัดเข้ามาหา ผมเองก็มีโอกาสติดตามบ้าง อย่างเวลาไปภาคเหนือ เราจะขับรถไปเรื่อยๆ แวะทีละจังหวัด มันเป็นความดีใจของคนมุสลิมที่ได้มาพบกัน สังคมมุสลิมเป็นแบบนี้ ด้วยความที่คิดว่างานของตัวเองสำคัญ ชาวบ้านก็อยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ไปร่วมงาน และพ่อก็ไปตามคำเชิญตลอดเพราะแกปฏิเสธคนไม่เป็น ขี้เกรงใจ แล้วก็ประมาทเรื่องสุขภาพ คิดว่าตัวเองยังไหวอยู่ ปกติพ่อจะถือหลักว่าในวันๆ หนึ่งต้องทำงานอย่างน้อยให้ได้ 2-3 เรื่อง แล้วแกก็ไม่ชอบอยู่กรุงเทพฯ เพราะว่ากรุงเทพฯ รถติด ทำงานได้แค่วันละเรื่องเท่านั้น แต่เสียเวลาไปกับการเดินทาง
ตั้งแต่ผมจำความได้ ในทุกเช้าก่อนออกจากบ้าน หลังเที่ยง และก่อนนอน พ่อจะต้องถือหนังสือติดตัวตลอดเวลา เป็นพวกตำราศาสนากับหนังสือทั่วไป ภาพที่ผมเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะผมนอนกับแก คือเห็นภาพที่แกนอนอ่านหนังสือตลอดตั้งแต่เริ่มจำความได้
ในบรรดาลูกทั้งหมด ผมอาจจะเป็นคนใกล้ชิดกับพ่อมากที่สุด มีโอกาสติดตามพ่ออยู่บ่อย ผมจะเห็นบรรยากาศของการเจอผู้คน การแลกเปลี่ยน การถกเถียง ยิ่งเวลาแกนั่งถกเถียงในประเด็นศาสนากับเพื่อน มันเป็นบรรยากาศแบบเด็กปอเนาะ บรรยากาศของผู้รู้ศาสนาในโลกมุสลิมที่ล้อมวงกันถกเถียงแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันในเรื่องศาสนา ปรัชญาชีวิต ผมเห็นบรรยากาศแบบนั้นมาเสมอ ผมจึงคิดว่าเป็นคนที่สนิทกับพ่อมากที่สุด เราเถียงกันในเรื่องการเมือง วิชาการ แลกเปลี่ยนกันได้ทุกเรื่อง
จากเด็กชายซากีย์ ถึงนายซากีย์
พ่อกับผมนี่แปลกอยู่อย่างหนึ่ง แกเป็นคนที่เรียนศาสนามา แต่ว่าดันส่งผมไปเรียนโรงเรียนมัธยมทั่วไป แล้วผมก็โตมาจากชุมชนประมงที่เกือบจะเป็นสลัม มีวัฒนธรรมแบบนักเลง ความเกเรมีติดตัวบ้าง พอจบ ม.3 พ่อเห็นว่าผมเริ่มติดเพื่อนและเริ่มเกเร แต่ตัวแกเองก็ไม่มีเวลาสอนศาสนาให้ลูกเท่าที่ควร แกเลยส่งผมไปเรียนโรงเรียนประจำเอกชนที่สอนศาสนาอิสลามควบวิชาสามัญที่นราธิวาส ไม่ได้เป็นปอเนาะแบบที่พ่อเรียนมา
ความต่างคือปอเนาะแบบดั้งเดิมในสมัยพ่อเรียนไม่มีวิชาสามัญ แต่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามพัฒนามาจากปอเนาะ เป็นนโยบายในช่วงปี 2514 ที่รัฐบาลในอดีตพยายามจะเข้าไปเปลี่ยนให้เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งเพิ่มวิชาสามัญเข้าไปด้วย เพราะรัฐมองว่าปอเนาะเป็นที่บ่มเพาะความคิดแบ่งแยกดินแดน พอเปลี่ยนแล้วมันทำให้โรงเรียนสอนได้ครึ่งๆ กลางๆ เรียนสามัญครึ่งวัน ศาสนาครึ่งวัน เพราะฉะนั้นเด็กที่จะเรียนจบแล้วประสบความสำเร็จในการเข้ามหาวิทยาลัยในคณะที่ดี เช่น แพทย์ หรือ วิศวะฯ ต้องมีพื้นฐานที่ดีพอสมควร ซึ่งก็ไม่ได้มีมากเมื่อเทียบกับโรงเรียนสามัญทั่วไป
พอผมโตมาแบบนี้ ผมมองเห็นปัญหาหนึ่งของเด็กไทยจากสิ่งที่ผมโตมา คือเด็กส่วนใหญ่ไม่มีโฟกัสในชีวิต เราเรียนหนังสือเพราะว่าผู้ใหญ่อยากให้เรียน ตัวผมเองก็มีเป้าหมายไม่ชัดว่าเราอยากเป็นอะไร เราเรียนไปเพราะว่าทุกคนต้องเรียน ผมเองก็ไม่มีเข็มทิศ กว่าจะหาตัวเองเจอก็เริ่มเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว บางคนจบปริญญาตรีแล้วยังไม่รู้ว่าจะไปทางไหนต่อ
ตอนเข้ามหาวิทยาลัย ผมสอบได้คณะอิสลามศึกษาที่ ม.อ. ปัตตานี ทั้งที่ตัวเองอยากเรียนรัฐศาสตร์ แต่กว่าจะรู้ตัวว่าชอบรัฐศาสตร์ก็เข้ามหาวิทยาลัยไปแล้ว กลายเป็นว่าเวลาเรียน ถ้าเราชอบอาจารย์คนไหน เราจะตั้งใจเรียนเป็นพิเศษ ถ้าวิชาไหนไม่ชอบก็ไม่เข้าเรียนเลย พอจบ ป.ตรี ก็ไปฝึกภาษาอังกฤษต่อที่มาเลเซียอยู่ประมาณหนึ่งปี เพราะพ่อปลูกฝังผมเรื่องภาษา แกมีประสบการณ์รู้ว่าภาษาสำคัญ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ อีกอย่างผมต้องการเรียนต่อในระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติในมาเลเซียด้วย
แต่ระหว่างที่เรียนภาษาก็มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งแนะนำทุนต่อปริญญาโทให้ ผมก็ไปเรียนต่อคณะรัฐประศาสนศาสตร์ที่ออสเตรเลีย หลังจากนั้นผมรู้ตัวแล้วว่าคงไม่สามารถเดินตามแนวทางแบบพ่อได้ เพราะเราไม่มีความรู้ทางด้านศาสนาแบบพ่อ จริงๆ ก็เคยมีความคิดที่จะเป็นปลัดอำเภอบ้าง หรือเป็นอะไรก็ได้ที่เป็นข้าราชการ
หลังกลับจากออสเตรเลีย ผมกลับมาทำงานกับบริษัทของรุ่นน้องที่ออสเตรเลียอยู่พักหนึ่ง เป็นฝ่ายต่างประเทศ แต่ปัญหาคือผมไม่มีพื้นฐานด้านธุรกิจเลย ไม่มีพื้นฐานด้านนี้จากครอบครัวหรือคนแวดล้อมเลย แต่เรารู้ว่าเราชอบอ่านหนังสือ ชอบการเมือง ผมก็กลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชนในหาดใหญ่อยู่ประมาณปีหนึ่ง จากนั้นก็ไปสอบเป็นอาจารย์ที่สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เพิ่งก่อตั้งปี 2548 ซึ่งมันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดที่ปะทุในปี 2547 และผมเองก็โตมาในพื้นที่สามจังหวัดตั้งแต่มัธยมปลายจนถึงมหา’ลัย
ผมโชคดีที่ได้ทำงานกับอาจารย์ผู้ใหญ่ๆ หลายคนที่มีชื่อเสียงในประเทศและนานาชาติ ผมคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้ผมได้เรียนรู้วิธีคิด เรียนรู้วิธีการตั้งคำถาม เรียนรู้วิธีการจับประเด็นจากคนเหล่านี้ ทำให้ผมคิดว่าอาชีพนี้คงจะเหมาะกับผมจริงๆ จำได้ว่างานวิจัยชิ้นแรกที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัด คือเรื่องการย้ายถิ่น ตอนนั้นผมมีข้อสังเกตว่าทำไมมีคนจากจากสามจังหวัดมาอยู่ในหาดใหญ่เยอะมาก
ร้อยพ่อพันแม่ พุทธ มุสลิม
ผมชอบคุยเล่นกับเพื่อนว่าที่ผมมีตัวตนแบบนี้ ท้ายที่สุดก็ต้องโทษพ่อ ผมไม่ได้เรียนศาสนาแบบที่พ่อเรียนมา ตอนเป็นนักเรียนขาสั้นผมอยู่กับเพื่อนชาวพุทธ ผมเป็นคนส่วนน้อย ตรงนี้ทำให้ผมซึมซับทักษะหลายๆ อย่าง ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว ผมเป็นคนส่วนน้อยที่อยู่ในคนกลุ่มส่วนใหญ่ ผมถูกสอนมาว่าหากไม่จำเป็นเราไม่ควรเป็นภาระกับคนส่วนใหญ่ อันนี้เป็นสิ่งที่อยู่ในหัวเราอยู่ตลอดเวลาทำอะไรร่วมกับคนอื่น
บางคนอาจจะมองว่าผมเป็นคนที่ไม่เคร่ง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าใครมอง ผมยอมรับว่าบางเรื่องก็ไม่ได้เคร่งมากนัก เช่น เวลาอยู่กับเพื่อนที่เขานั่งกินหมูกัน ผมก็กินข้าวในจานของผมไป แต่เรานั่งร่วมโต๊ะกับพวกเขาได้ ถ้าเป็นคนที่เคร่ง เขาก็ไม่นั่งร่วมโต๊ะด้วย
ผมคิดว่าการรอมชอมนี้เป็นสิ่งที่ผมรับมาโดยไม่รู้ตัว มันไม่ใช่เรื่องของการยอมอ่อนข้อหรือละทิ้งหลักการอะไรเลย ตอนเรียนมัธยมต้นที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา ผมก็มีเรื่องชกต่อยกับเพื่อน เพราะมันแกล้งเอาหมูมาใส่ในจานเรา แต่ท้ายที่สุดแล้ววันหนึ่งเพื่อนมันก็เคารพผมได้ เพราะมันเข้าใจว่าเรื่องบางเรื่องไม่ควรข้ามเส้น ไม่ควรละเมิดกัน ที่ผมยกตัวอย่างนี้เพราะผมคิดว่ามันเป็นเรื่องประสบการณ์ ซึ่งเป็นความรู้อีกชนิดหนึ่งที่เราไม่สามารถหาได้ในตำรา แต่มันเป็นสิ่งที่ต้องไปแลกเปลี่ยน
การที่ผมถูกส่งไปเรียนหนังสือกับเพื่อนชาวพุทธทำให้ผมซึมซับความต่าง มันสะท้อนให้เห็นภาพของมุสลิมในประเทศนี้ด้วย เพราะว่าองค์ความรู้ที่ถูกสอนกันมาในสังคมมุสลิมส่วนใหญ่เป็นองค์ความรู้ที่รับเอามาจากตะวันออกกลาง แต่ตะวันออกกลางเป็นสังคมที่มีมุสลิมแทบร้อยเปอร์เซ็นต์ พอเอาเข้ามาสอนในพื้นที่ที่มีมุสลิมเป็นส่วนน้อย บางทีเราก็เผลอปฏิบัติกันอย่างกับเราเป็นคนส่วนมาก
ยกตัวอย่างเช่นหลักการหรือนิติบัญญัติในทางศาสนาอิสลามที่เขาบอกว่า เวลาคุณเดินทาง คุณสามารถย่นย่อการละหมาดแล้วเอามารวมกันได้กับการละหมาดในเวลาต่อมา มันเป็นไปเพื่อความสะดวก แต่ว่ามุสลิมบางคนเขาคิดว่าถ้าขับรถผ่านมัสยิดแล้วมันต้องหยุดรถ คุณลองจินตนาการดูว่าในรถบัสคันหนึ่งที่คนจำนวนมากไม่ใช่มุสลิม พอขับผ่านมัสยิด มุสลิมเรียกร้องว่าต้องหยุดรถเพื่อละหมาด ขณะที่ศาสนาบอกว่าคุณสามารถเอาเวลาละหมาดในช่วงเที่ยงไปรวมกับช่วงเย็น เพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องหยุดรถ มันเป็นข้อลดหย่อนที่เอื้อให้กับมุสลิมที่ไม่สะดวกเวลาเดินทาง
หรืออย่างเวลามีการจัดประชุมที่มีทั้งพุทธและมุสลิมอยู่ด้วยกัน เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยาก ผู้จัดบางคนก็ไปเอาอาหารฮาลาลมาอย่างเดียว ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิธีคิดแบบนี้ มันยัดเยียดกันเกินไป ผมรู้สึกว่าถ้าคนพุทธเขาอยากกินหมูของเขาจะทำยังไง ถ้าผมเป็นคนจัดผมก็จะแยกว่าอันนี้เป็นอาหารอิสลาม อันนี้เป็นอาหารทั่วไป แต่พอเราทำแบบนั้น คนพุทธก็จะรู้สึกว่ามุสลิมสนใจแต่เรื่องตัวเอง ซึ่งมันไม่ดีสำหรับสังคมที่มีความหลากหลาย
มีครั้งหนึ่ง ผมอยู่ในเลานจ์ของการบินไทย มีมุสลิมคนหนึ่งเดินมาบอกผมว่า “ทำไมเลานจ์การบินไทยถึงมีข้าวหมูแดง” ผมก็งง เพราะนี่มันเลานจ์การบินไทย อาหารฮาลาลที่เขาจัดไว้ให้มุสลิมก็มี และเลานจ์ไม่ได้มีแต่คนมุสลิม มีคนอื่นๆ อยู่ด้วย ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเป็นปัญหาสำหรับเขา แต่ส่วนตัวผมไม่มีปัญหา เพราะผมคิดว่าคนอื่นก็มีสิทธิที่จะกินอาหารของเขา มันเหมือนประสบการณ์ตอนเรียนหนังสือนะ คือตราบใดที่คุณไม่ตักหมูมาใส่ในจานของผม ต่างคนก็ต่างกินไป เราก็ไม่ต่อยกันเท่านั้นเอง
ผมว่าประสบการณ์ส่วนตัว ทำให้ผมเข้าใจปัญหาในสามจังหวัดภาคใต้มากยิ่งขึ้น ผมก็เข้าใจคนพุทธในสามจังหวัด เช่นที่เขาเถียงกันเรื่องครัวฮาลาลในโรงพยาบาลยะลาตอนนี้ ความจริงแล้วสำหรับโรงพยาบาล เขาคิดว่าถ้าทำอาหารฮาลาลไปเลยทีเดียวมันจัดการง่าย ซึ่งผมก็เข้าใจ แต่พอมันมีเหตุการณ์ความรุนแรง เรื่องแบบนี้มันไปสะกิดใจคนพุทธ มันมีความรู้สึกว่าเขาถูกรุกล้ำ ถามว่าผมเข้าใจไหม ผมเข้าใจความรู้สึกนี้ และไม่ปฏิเสธด้วย
แต่ถ้าผมเป็นผู้บริหารโรงพยาบาล ผมจะแยกครัวให้เขาเลย แม้จะลงทุนสูงไปบ้าง หรือจัดการยากขึ้นก็ตาม แต่ที่ผ่านมาโรงพยาบาลคิดว่ามันจัดการง่ายทีเดียวจบ เพราะมันเคยมีปัญหาจากการถูกคอมเพลนว่ามีการส่งอาหารผิดให้มุสลิม แต่เรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องของการจัดการ มันไม่ได้เป็นถึงระดับวัฒนธรรม คุณก็แค่แยกรถเข็น แยกถาด อาจจะลงทุนเพิ่มนิดหน่อย เพื่อรักษาความรู้สึกของเพื่อนต่างศาสนาไว้ เราควรละเอียดอ่อนกับเรื่องพวกนี้
ที่ผ่านมาในพื้นที่สามจังหวัด เราไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องแบบนี้มากเท่าที่ควร หรืออย่างเช่นเรื่องทุนการศึกษาจาก ศอ.บต. ที่ผ่านมาจะมีโครงการให้ทุนกับเด็กมุสลิมมาก แต่เราไม่เคยรู้สึกว่ามีคนพุทธที่รู้สึกน้อยใจว่าทำไมเขาก็เป็นคนในสามจังหวัดแต่เขาไม่ได้ทุน วันนี้มันเริ่มเป็นประเด็นขึ้นมา เพราะมีความรุนแรงมาเป็นจุดตัด เรื่องแบบนี้มันสะกิดใจคนกลุ่มน้อย ทำให้เขารู้สึกว่าเป็นพลเมืองชั้นสอง แต่ทั้งหมดทั้งมวล ความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะประเทศเราไม่ได้สอนให้เคารพความแตกต่างหลากหลาย
พรมแดนระหว่างไทยกับปาตานี
เวลาพูดถึงสามจังหวัดภาคใต้ ผมมีสองเรื่องที่ชอบอธิบาย หนึ่ง ในฐานะที่ผมเกิดที่สงขลา ผมรู้สึกว่าคนสงขลาเป็นแนวกันชน เพราะคนสงขลาไม่ได้พูดภาษามลายู ยกเว้นใน 4 อำเภอ คือ จะนะ นาทวี เทพา สะบ้าย้อย เวลาผมอยู่ในสามจังหวัด ผมถูกเรียกว่า “ซีแย” คือ พวกสยาม ทั้งๆ ที่เราเป็นมุสลิม ในขณะที่เราอยู่ในสงขลา เพื่อนจะเรียกเราว่า “แขก” ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นปัญหาเรื่องอัตลักษณ์ ผมไม่รู้ว่าคนอื่นเขาสนใจไหม แต่ผมรู้สึกว่าคนแบบผมไม่น้อยถูกผลักออกจากสองวัฒนธรรมที่กำลังปะทะกันอยู่
ผมคิดว่าต่อให้มันมีความรู้สึกว่าเราเป็นมุสลิมด้วยกัน แต่มันก็ยังมีกำแพง ซึ่งเป็นกำแพงที่หนา เราไม่สามารถที่จะเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนได้ มีอาจารย์ชาวต่างชาติคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า เพื่อนแกพูดกับแกว่า “คุณเป็นมุสลิม ผมรักคุณ แต่ถ้าคุณเป็นมลายู ผมจะรักคุณมากกว่า” แกเล่าให้ฟัง ผมตกใจมาก ไม่คิดว่าจะมีความรู้สึกแบบนั้นอยู่ แต่หลายครั้งผมก็ยังมีความรู้สึกว่าเรายังเข้าไปไม่ถึงความเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ผมคิดว่าผมยังติดอยู่ตรงกลาง เพราะสุดท้ายเราถูกขีดเส้นด้วยชาติพันธุ์ภาษา
เรื่องที่สอง ในฐานะที่เป็นคนสนใจประเด็นความรุนแรง ผมคิดว่าความรุนแรงมันไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน อาจจะแก้ได้ในระยะเวลาหนึ่ง แต่ท้ายที่สุดปัญหาเดิมก็จะกลับมา เพราะว่าความรุนแรงเป็นแค่เครื่องมือในการจัดการกับปัญหา แต่เรามีเครื่องมืออีกหลายอย่างในการแก้ปัญหา ที่ผ่านมาปัญหา 3 จังหวัด มันมีคนจากภาครัฐและฝ่ายขบวนการต่อสู้เชื่อว่าความรุนแรงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ เราจึงจมดิ่งอยู่กับความรุนแรงมาราว 15 ปีแล้ว ผมไม่เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้ว คนเราจะสามารถอยู่ในภาวะที่มีคนตายทุกวันได้ บางคนอาจจะมีความอดทนกับสภาพแวดล้อมแบบนี้ แต่ให้ทนอยู่ไปแบบนี้ตลอดชีวิตไม่ได้
ผมคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคใต้ มันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับชนกลุ่มน้อยทั่วโลก เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความเป็นสมัยใหม่ คือเมื่อเรามีรัฐประชาชาติขึ้นมา สิ่งที่รัฐประชาชาติต้องการคือการสลายความต่างให้หมดไป และสร้างความรู้สึกร่วมขึ้นมาใหม่เพื่อให้คนมีความสัมพันธ์บางอย่างร่วมกัน ไม่งั้นชาติก็เกิดขึ้นไม่ได้ นี่เป็นสิ่งที่ทั่วโลกเจอมาหมด ยุโรปเจอก่อนเรา แล้วก็ฆ่ากันอย่างมหาศาล ประสบการณ์เหล่านั้นเป็นตัวบ่งบอกว่าเราไม่สามารถที่จะปฏิเสธหรือสลายความต่างได้ ยังไงก็ตาม คนก็ต้องกลับมาอยู่ร่วมกับความต่าง ผมชอบคำพูดของอาจารย์ที่ผมเคารพท่านหนึ่งว่า “ไม่ใช่ว่าเราต้องทำให้ความขัดแย้งหมดไป เพียงแต่เราควรขัดแย้งกันอย่างอารยะ”
เหมือนที่ผมเล่าถึงสมัยเด็กๆ ที่นั่งกินข้าวร่วมโต๊ะกับเพื่อนชาวพุทธ ถ้าบนโต๊ะกินข้าวนั้นคือพื้นที่ทางวัฒนธรรม เราก็ควรจะ respect ต่อกัน ไม่ควรไปลดทอนคุณค่าว่าใครดีกว่าใคร หรือพยายามไปกีดกันให้ใครต้องหลุดออกจากโต๊ะไป เราอยู่ในสังคมสมัยใหม่ ศาสนาและความเชื่อเป็นพื้นที่ส่วนตัวของผู้คน ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับคนที่ทำงานในพื้นที่ภาคใต้ และทำงานเรื่องความขัดแย้ง
“วันที่ผมขานชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ มันเป็นความรู้สึกที่อธิบายยากมาก มันย้อนแย้งกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อ มันเป็น crisis of representation”
ความสัมพันธ์และคำวิพากษ์วิจารณ์
วันนี้มันมีความรู้สึกเหมือนกับว่าความขัดแย้งทางการเมืองทำให้เราเป็นศัตรูกันมากเกินไป ตอนนี้ผมเข้าไปอยู่ในอีกสังคม จากเดิมที่เคยมีชีวิตแบบนักวิชาการ มาสู่สังคมของผู้มีอำนาจทางการเมือง ผมรู้สึกว่าทั้งสองฝ่ายมันมีบรรยากาศเหมือนว่าเราไม่อยากให้อีกฝ่ายหนึ่งมีที่ยืนในสังคม เราตั้งหน้าตั้งตาที่จะทำลายกันมากเกินไป เราอยากให้อีกฝ่ายหนึ่งคิดเหมือนเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย
ผมเข้าใจคนที่วิจารณ์การรับตำแหน่ง ส.ว. ของผม ผมไม่โกรธใครเลย ผมรู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ของนักวิชาการที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์ และผมเคารพกับคำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้น ผมว่าถูกต้องแล้วที่เขาควรทำต่อไป มันเป็นหน้าที่ของเขา ลักษณะสำคัญของสังคมประชาธิปไตยอย่างหนึ่งก็คือการรักษาการวิพากษ์วิจารณ์ไว้ เพียงแต่ผมรู้สึกว่าบางครั้งเราไม่จำเป็นต้องรักษาหลักการด้วยการทำลายความเป็นมิตรภาพกัน
อาจารย์ผู้ใหญ่ที่ผมเคารพหลายท่านก็ให้กำลังใจและเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น บางคนพูดกับผมว่า “ผมเห็นใจคุณ” ผมคิดว่าคนเรามีต้นทุนในชีวิตไม่เหมือนกันหรอก บางเรื่องผมอยากจะทำอีกอย่าง แต่เงื่อนไขชีวิตมันไม่อนุญาตให้เราทำ เพื่อนที่สนิทกันก็เข้าใจ บางคนเข้าใจแต่ไม่ยอมรับกับเงื่อนไขเหล่านั้น ผมก็ไม่ได้ไปว่าอะไรเขา เพื่อนบางคนก็อันเฟรนด์ไป ผมก็ไม่ได้โกรธ มันเป็นความเป็นจริงที่ผมต้องรับมือและจัดการกับมัน
ผมคิดว่าที่ผ่านมามันมีการสร้างโลกขึ้นมาสองแบบ แล้วนักวิชาการส่วนใหญ่เราได้รับอิทธิพลความคิดว่าสังคมที่ควรเป็น มันควรเป็นแบบที่เราอยากให้เป็น เมื่อไหร่ก็ตามที่เราไม่เห็นสังคมแบบที่เราต้องการ เราก็จะดิ้นรนต่อสู้ให้ได้สังคมแบบที่เราวาดไว้ ในขณะเดียวกันโลกของความเป็นจริงมันมีคนจำนวนมากที่ไม่ได้คิดว่าโลกควรจะเป็นแบบไหน หรือไม่ได้อยากเห็นโลกแบบที่เราอยากเห็น และถ้าจะมีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เขาก็พยายามทำให้มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าที่สุด ผมคิดว่านี่เป็นความจริงที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่
มีบางคนเอาผมไปเปรียบเทียบกับพ่อตอนที่แกปฏิเสธตำแหน่ง สนช. แต่ผมคิดว่ามันคนละเงื่อนไขกัน เพราะตอนที่พ่อปฏิเสธตำแหน่ง สนช. พ่อผมมีสถานะเป็นผู้นำศาสนา เขามีความชอบธรรมที่จะปฏิเสธ สำหรับสังคมมุสลิม สถานะพ่อก็คล้ายกับสมเด็จพระสังฆราช ในขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจว่าโครงสร้างของสำนักจุฬาราชมนตรีอยู่ภายใต้ของการอุปถัมภ์ของรัฐ พูดอีกอย่างคือสำนักจุฬาฯ ก็ไม่ต่างจากหน่วยงานราชการที่ต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลทุกรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ
ผมเจอมุสลิมหลายคนที่มาแสดงความยินดี คนกลุ่มนี้เขามองว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ผู้มีอำนาจในประเทศให้เกียรติกับองค์กรมุสลิมและสังคมมุสลิม ซึ่งเราก็เห็นว่ามันเป็นมุมมองที่แตกต่างกันมาก มันจึงเป็นเรื่องของการจัดการตัวเองว่า การที่ผมรับตำแหน่งที่มีทั้งเสียงตอบรับและเสียงวิจารณ์นั้น ผมต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าผมจะทำประโยชน์กับคนอื่นในสังคมอย่างไร มันเป็นประโยชน์ที่ไม่ได้ใหญ่โตอะไรในระดับที่เปลี่ยนแปลงสังคมหรอก แต่อาจเป็นประเด็นที่ผมคิดว่าผมมีความสนใจเท่านั้นเอง ผมยังเชื่อมั่นในประชาธิปไตยนะ ยังอยากเห็นสังคมที่เป็นไปตามแบบที่ผมคาดหวัง แต่ก็เข้าใจคนที่มีความคิดต่างจากเรามากขึ้น เข้าใจว่าอะไรคือคุณค่าที่แต่ละฝ่ายหวงแหน แต่ก็อยากเห็นสังคมที่มีความเกลียดชังที่น้อยลงกว่านี้ แต่ผมไม่คาดหวังถึงขึ้นจะเปลี่ยนโลกแบบที่เขาพูดกันหรอก
อีกเรื่องที่ผมอยากอธิบาย คือมันมีปัญหาเรื่อง generation คนรุ่นเก่าที่ผมเจอเขาคิดว่าเขาหวงแหนโลกใบนี้ไว้ แต่คนอีกรุ่นหนึ่งอาจจะไม่ได้มีความรู้สึกว่ามันมีความสำคัญกับเขาแล้ว แต่ตอนนี้ปัญหาที่มันเกิดขึ้นเพราะคนรุ่นเก่าคิดว่าต้องไปจัดการกับคนรุ่นใหม่ คุณคิดว่าความคิดของพวกเขาถูกเบี่ยงเบน ถูกล่อลวงด้วยพรรคการเมืองบางพรรค ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ มันเป็นปัญหาระหว่างวัย เป็นปัญหาที่มองโลกคนละแบบ เขามองว่าสังคมไทยไม่ควรที่จะเป็นแบบเดิม นี่คือภาวะที่สังคมไทยกำลังค้างอยู่ตรงนี้ คำถามคือคนในโลกเก่ากับโลกใหม่จะ respect กันได้อย่างไร นี่เป็นโจทย์ที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกด้วยซ้ำ ทั้งที่อังกฤษในกรณี Brexit หรือในตะวันออกกลาง และกำลังเกิดในฮ่องกงตอนนี้ ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจะช่วยให้คนสองกลุ่มนี้จัดการความสัมพันธ์กันยังไง
เงื่อนไขที่ไม่อาจปฏิเสธ และการเรียนรู้ใหม่
ผมคิดว่ามีมุมที่คนมองเรื่องการรับตำแหน่งต่างกัน สำหรับสังคมวิชาการก็วิจารณ์ผม แต่สำหรับมุสลิมบางกลุ่มก็มองว่าเป็นการให้เกียรติจาก คสช. ซึ่งมีอำนาจในการบริหารบ้านเมืองในขณะนั้น เพราะเขามองว่าการเป็นคนส่วนน้อยนั้นจำเป็นที่จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ผมก็รู้ตัวว่าลำพังแค่ประสบการณ์ผมก็คงไม่ได้รับการแต่งตั้งหรอก ผมไม่ปฏิเสธความจริงข้อนี้ เพราะคนที่ได้รับการแต่งตั้งส่วนใหญ่เป็นผู้อาวุโส เคยดำรงตำแหน่งในองค์กรระดับสูงทั้งนั้น แต่เมื่อผมได้รับตำแหน่งแล้ว การปฏิเสธก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ภายใต้เงื่อนไขการเป็นลูกผู้นำศาสนาที่กำลังรักษาตัวจากการป่วย มันคงจะดีหากผมมีตัวเลือกหรือทางออกให้กับชีวิตมากกว่านี้
อย่างที่บอกนั่นแหละ การเป็นนักวิชาการพอมารับตำแหน่งนี้ก็โดนด่า ทุกคนก็พยายามรักษาหลักการ ผมก็เข้าใจมันได้ แต่บางครั้งเราก็ไม่สนใจว่าเงื่อนไขในชีวิตของคนเราไม่เท่าและไม่เหมือนกันเลย ผมยืนยันว่า ผมก็ยังเชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตยแบบสากลนั่นแหละ แต่ผมไม่เห็นว่าการรักษาหลักการมันต้องมีค่ามากกว่าการรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัว แบบที่อัลแบร์ กามู บอกว่าไม่ใช่เขาไม่รักความยุติธรรม แต่เขาขอเลือกแม่ก่อนความยุติธรรม ผมก็รู้สึกแบบนั้น ผมอาจเป็นคนที่ไม่ได้มีมาตรฐานศีลธรรมสูงอะไรมากมาย แต่ต้องทำหน้าที่ของลูกก่อน ผมคงพูดได้ว่าผมมองโลกตามความเป็นจริงมากขึ้นเท่านั้นเอง
วันที่ผมขานชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ มันเป็นความรู้สึกที่อธิบายยากมาก มันย้อนแย้งกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อ มันเป็น crisis of representation จริงๆ ระหว่างความเป็นตัวเองและการเป็นตัวแทนขององค์กรที่ต้องรักษาไว้ มันเป็นความย้อนแย้งที่สุดในชีวิตที่ผมเคยเจอ บางคนก็มองว่าผมเป็นพวก hypocrite ไม่มีความกล้าหาญเพียงพอ ซึ่งก็อาจจะจริงอย่างที่เขาว่าก็ได้ แต่เชื่อผมเถอะ มันไม่ง่ายหรอกครับ ถ้าคุณต้องแบกภาระอื่นไว้ด้วยที่ไม่ใช่แค่ความเป็นตัวเองเพียงลำพัง
แม้สุดท้ายผมจะรู้สึกว่าสถานะความเป็นนักวิชาการมันทิ่มแทงตัวเองอยู่ลึกๆ ความเชื่อเกี่ยวกับประชาธิปไตยผมอาจเป็นโมฆะ แต่เมื่อผมย้ายจากโลกอุดมการณ์มาสู่ในโลกความเป็นจริงที่สังคมไทยกำลังเผชิญ ผมเข้าใจมันมากขึ้นกว่าเดิมและได้เรียนรู้หลายอย่าง เข้าใจคนที่ผมไม่เคยคิดว่าต้องไปทำความเข้าใจพวกเขาเลย สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นในทางการเมืองมากขึ้นคือ ไม่ว่าจะถูกผลักไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ตาม ความจริงคือการเมืองไทยไม่มีพื้นที่ตรงกลาง เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามคือผมจะอยู่อย่างไรให้เป็นประโยชน์กับคนอื่นบ้าง ซึ่งผมเองคงต้องพยายามหาคำตอบต่อไปตราบที่ยังอยู่ในตำแหน่งนี้.