fbpx
'แยก-ยึด-ร่วม' บทเรียนชัยชนะ 'ตรัง' เขต 1 : นิพันธ์ ศิริธร ส.ส.พลังประชารัฐ

‘แยก-ยึด-ร่วม’ บทเรียนชัยชนะ ‘ตรัง’ เขต 1 : นิพันธ์ ศิริธร ส.ส.พลังประชารัฐ

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

หนึ่งในปรากฏการณ์ที่น่าสนใจของการเลือกตั้ง 2562 คือผลคะแนนเลือกตั้งในจังหวัดตรัง โดยเฉพาะเขต 1 ที่พรรคพลังประชารัฐได้คะแนนไป 39,416 คะแนน ชนะพรรคประชาธิปัตย์แชมป์เก่าที่ได้ 38,332 คะแนน ต่างกันฉิวเฉียดที่หลักพันคือ 1,084 คะแนน

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสำหรับ ‘ตรัง’ เป็นของประชาธิปัตย์ แต่ปัจจุบันต้องบันทึกใหม่ว่าสำหรับตรัง เขต 1 เป็นของพลังประชารัฐ

คำถามคือทำไมคนตรังเปลี่ยนใจ

101 คุยกับ นิพันธ์ ศิริธร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ หนึ่งในตัวละครสำคัญที่เป็นคนบุกเบิกประวัติศาสตร์ใหม่ แม้เจ้าตัวจะเกิดที่พัทลุง แต่การรับราชการในตรัง ตั้งแต่นายอำเภอ จนขึ้นมาเป็นรองผู้ว่าฯ​ รวมแล้วอยู่ตรังมา 15 ปี ต้องยอมรับว่าเขาเข้าใจตรังอย่างทะลุ กระทั่งจะบอกว่าเป็นหนึ่งในผู้ภักดีกับประชาธิปัตย์ก็ไม่แปลก

แต่นิพันธ์เลือกพลังประชารัฐ และชาวตรัง เขต 1 เลือกนิพันธ์

ระหว่างที่สังคมไทยกำลังจะมีรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 2562 รัฐสภาเพิ่งได้ ชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่วนพรรคพลังประชารัฐเพิ่งเดินสายสู่ขอพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยให้มาร่วมรัฐบาล ซึ่งเดาไม่ยากว่าอำนาจของ คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้รับการสืบทอดต่อไปอีก

อะไรคือร่องรอยหรือลายแทงที่เกิดมาก่อนหน้านั้น, การอ่านปรากฏการณ์สนามเลือกตั้งของตรังอาจสะท้อนร่องรอยบางประการ

ประการที่ 1 – นิพันธ์เลือกจะ ‘แยก’ จากประชาธิปัตย์ไปสู่พลังประชารัฐ

ประการที่ 2 – นิพันธ์สามารถ ‘ยึด’ คะแนนเสียงสำเร็จ

ประการที่ 3 – นิพันธ์บอกว่าตัวเองไม่เคยขัดแย้งกับประชาธิปัตย์ และวันนี้ประชาธิปัตย์ก็ทำท่าจะเข้า ‘ร่วม’ กับพลังประชารัฐ

การเมืองไทยจึงมีสีสันที่สามารถอ่านได้จากส่วน ‘กลาง’ และส่วน ‘ตรัง’

 

นิพันธ์ ศิริธร ส.ส.พลังประชารัฐ

เป็นราชการมาทั้งชีวิต ทำไมตัดสินใจเข้าสู่สนามการเมือง

อันดับแรกคือต้องชอบก่อน เราสนใจการเมืองมาตั้งแต่เป็นนักศึกษาแล้ว เพียงแต่พอเข้าสู่ระบบราชการแล้วก็เป็นการช่วยเหลือประชาชนอีกแบบหนึ่ง พอสิ้นสุดจากชีวิตราชการ ส่วนตัวยังถือว่าสุขภาพยังดีอยู่ พอมีประสบการณ์จะช่วยเหลือบ้านเมืองได้ เลยอยากใช้ประสบการณ์ที่มีอยู่ทำงานกับส่วนรวมสักระยะหนึ่ง แค่นั้นเอง ไม่ได้คิดอะไรเป็นพิเศษ

อีกข้อหนึ่งคือ เรามองเห็นปัญหาของจังหวัดตรังมาโดยตลอด บางเรื่องตอนเราเป็นนายอำเภอ เป็นรองผู้ว่าฯ เราไม่สามารถแก้ได้ บางเรื่องต้องอาศัยการขับเคลื่อนทางการเมือง อาศัยอำนาจทางการเมืองมาช่วยแก้ไขปัญหา เพื่อพัฒนาเมืองตรังให้ได้

เรื่องอะไรบ้างที่ตรังเจอปัญหาแล้วงานราชการอาจแก้ไขไม่ได้ทั้งหมด

อันดับแรกคือปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจของตรังขึ้นอยู่กับภาคเกษตรเป็นหลัก พืชเศรษฐกิจ 2 ตัวหลักๆ คือยางกับปาล์ม เป็นพืชที่มีความเสี่ยงสูง พอยางราคาตก ปาล์มราคาตก คนเดือดร้อนกันทั่ว ถนนหนทางห้างร้านในตรังก็เงียบ เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ราคาผลผลิตมันมีเสถียรภาพ ไม่ใช่ปีนี้โลละ 80 พอปีหน้าเหลือโลละ 30 จะทำอย่างไรให้เกษตรกรลดความเสี่ยงในการทำการเกษตร นี่เป็นโจทย์ที่หนึ่ง

อันดับที่สอง ที่เห็นอยู่ว่ายังเป็นปัญหาและยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่คือเรื่องการท่องเที่ยว เพราะตรังมีทรัพยากรทางการท่องเที่ยวมากมายมหาศาล สวยงาม มีคุณภาพ แต่ทำไมนักท่องเที่ยวยังมาเยี่ยมชมตรังในอัตราส่วนที่น้อยกว่ากระบี่ หาดใหญ่ หรือภูเก็ต มันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น เราก็อยากขับเคลื่อนตรงนี้

สมัยที่เป็นรองผู้ว่าฯ เราทำได้แค่อีเว้นท์เล็กๆ แต่ถ้าเข้ามาอยู่ในงานการเมือง มีอำนาจหน้าที่กว้างขวางกว่าเดิม ก็อาจจะขับเคลื่อนผลักดันให้การท่องเที่ยวเป็นเศรษฐกิจหลักอีกขานึงที่สำคัญของตรังได้ แทนที่จะพุ่งไปเรื่องการเกษตรอย่างเดียว

ในเชิงการเมืองที่กำลังฝุ่นตลบ บางคนอาจรอเวลาให้สถานการณ์นิ่งก่อน แทนที่คุณจะนอนพักหลังเกษียณก่อน ทำไมลงมาคลุกฝุ่นเลย ประเมินสนามการเมืองปัจจุบันอย่างไร

ตอนที่ตัดสินใจหรือว่าตอนโยนหินถามทาง มีเพื่อนที่หวังดีหลายคนพูดเหมือนกันว่า เฮ้ย เกษียณแล้วอยู่บ้านให้สบายๆ ไม่ดีกว่าเหรอ ไปยุ่งทำไม สู้เขาไม่ได้หรอก มาลงเล่นการเมืองให้เจ็บตัวทำไม เลยย้อนกลับไปว่าถ้าทุกคนคิดอย่างนี้หมด ก็ไม่มีใครเสนอเป็นตัวเลือก มีแต่คนเดิมๆ ประชาชนก็ชอบบ่นให้ได้ยินเป็นประจำตั้งแต่เป็นนายอำเภอที่ตรังว่าไม่รู้จะเลือกใคร ไม่มีตัวเลือก

ทีนี้ถ้าทุกคนกลัวสอบตก กลัวบาดเจ็บ กลัวสู้เขาไม่ได้ มันก็อยู่กันเหมือนเดิม โอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงไม่มี เลยต้องมีคนที่กล้าอาสา มีความพร้อมมาทางนี้ คุณต้องมองการเมืองแง่บวกว่าเราอาสาเข้ามาเพื่อเป็นตัวเลือกใหม่เท่านั้น เพราะเรามีประสบการณ์ มีความสามารถ ถ้าชาวบ้านไม่เลือกก็แล้วไป ต้องมีทัศนคติต่อการเมืองในเชิงบวกด้วย ไม่ใช่มองการเมืองในแง่ที่ว่าเป็นเรื่องสกปรก ต้องต่อสู้แย่งชิง ต้องเจ็บตัว อับอายตอนสอบตกแค่นั้น

อะไรทำให้คุณรู้สึกว่าต้องการล้างภาพการเมืองแบบเก่าที่คนรู้สึกว่าไม่รู้จะเลือกใคร

การเลือกตั้งครั้งนี้มันเป็นการเลือกตั้งในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง หลังจากสังคมเราประสบปัญหาความขัดแย้งมานาน เกือบจะเกิดสงครามกลางเมือง จนมีทหารเข้ามาระงับและทำให้หยุดการเลือกตั้งไป 4 ปีกว่า พอเหตุการณ์บ้านเมืองดีขึ้น ความแตกแยกลดน้อยลง ก็นำมาสู่การเปิดให้มีการเลือกตั้งในครั้งนี้มา ก็ถือว่าอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน

ถ้าเกิดเลือกตั้งเสร็จ ตั้งรัฐบาลได้ บ้านเมืองเรียบร้อย ไม่มีการประท้วงกันบนถนน ประเทศไทยก็น่าจะเดินหน้าไปได้ ความขัดแย้งจะลดน้อยลง

ที่เราตัดสินใจลงการเมืองมา ส่วนหนึ่งก็เพราะโอกาสมันเปิด คือช่วงเปลี่ยนผ่านนี่แหละ ที่เห็นว่าชาวบ้านอยากเปลี่ยนแปลงแล้ว เรามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองต่างๆ ส่งผู้สมัครหลากหลาย มีพรรคใหม่ดีๆ ที่เป็นความหวังเกิดขึ้นเยอะมาก เราเห็นว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่อาสาเข้ามา และตั้งใจทำให้มันเป็นการเมืองแบบใหม่จริงๆ

ตั้งแต่เริ่มหาเสียง เราก็เน้นการนำเสนอนโยบายอย่างเดียวว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในจังหวัดตรัง ทำยังไงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศ โดยไม่ไปพาดพิง โจมตี ใส่ร้ายป้ายสีผู้สมัครรายอื่นเลยแม้แต่นิดเดียว เราก็ยึดแนวทางนี้มาตลอด เราถือว่าถ้าทุกพรรคทำได้แบบนี้ การเมืองจะได้รับการพัฒนาขึ้น และชาวบ้านก็จะตัดสินจากนโยบาย จากคุณภาพตัวบุคคล

การพยายามหาเสียงแบบไม่ดิสเครดิตคู่แข่ง ถือว่ายากไหม ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐถูกตั้งคำถามจากทุกทิศทุกทางว่าเข้ามาช่วยสืบทอดอำนาจ คสช.

สำหรับผมไม่ยาก ผมไม่สนใจและไม่เคยแก้ตัวเลย (ยิ้ม)

อย่าลืมว่าในยุคนี้การที่แต่ละคนนำเสนออะไร ชาวบ้านเขารู้ทันหมดแล้ว ชาวบ้านไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารน้อยเหมือนสมัยก่อน ปัจจุบันชาวบ้านเขารับข้อมูลข่าวสารมากมายเลย เช่น ตอนเช้าเขาจะรู้จากโซเชียลมีเดียก่อนผมแล้วด้วยซ้ำ (หัวเราะ) นักการเมืองกับชาวบ้าน ตอนนี้ชาวบ้านรู้มากกว่าแล้ว ถ้าพูดอะไรที่มันไม่จริงก็จะถูกต่อต้าน ถูกคอมเมนต์ไปทางเฟซบุ๊ก ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทันทีเลย

ไม่ต้องรอข่าวผ่านหนังสือพิมพ์ตอนเช้าแล้ว

ไม่ต้องรอ นี่ช่วยได้เยอะเลย ผมเลยไม่ห่วงว่าจะมีใครว่าอะไร เพราะยึดแนวทางนำเสนอนโยบายอย่างเดียว ส่วนไอ้เรื่องตัวบุคคลยิ่งไม่ห่วงใหญ่เลย เพราะว่าผมไม่มีแผลอะไรให้โจมตี ถ้ามีแผลก็คงไม่ลงแข่ง (หัวเราะ)

ประเด็นคือพื้นที่ที่คุณลง เป็นพื้นที่ประชาธิปัตย์ครองเสียงมาตลอด ทำอย่างไรถึงทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนใจได้

เกือบทั้งภาคใต้เป็นพื้นที่เดิมของเขา แล้วยังไงล่ะ เพราะผมเน้นการนำเสนอนโยบาย นำเสนอตัวเราเองไง ส่วนหนึ่งก็เพราะชาวบ้านรู้จักผมดีอยู่แล้ว นอกจากพื้นที่อำเภอนาโยง ย่านตาขาว นาชุมเห็ด เท่านั้นที่ไม่เคยรับราชการ อาจรู้จักเพียงผิวเผิน แต่พื้นที่อำเภอเมืองชาวบ้านรู้จักแล้วว่าเราทำงานยังไง เป็นคนแบบไหน หน้าเลือดหรือไม่หน้าเลือด ไม่ต้องพูดมาก

เรื่องนโยบายผมก็พยายามชี้แจงว่าเขาจะได้รับประโยชน์ทันที และในอนาคตก็จะได้ต่อไป เช่น บัตรสวัสดิการ ราคาสินค้าการเกษตร โครงการมารดาประชารัฐ เราอธิบายให้เขาเข้าใจ สุดท้ายก็เป็นเรื่องของตัวคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ชาวบ้านเขารู้อยู่แล้วว่าถ้าเลือก พล.อ.ประยุทธ์ บ้านเมืองคงจะสงบเรียบร้อยเดินหน้าไปต่อได้

แต่ถ้าในทางยุทธวิธี ผมก็ใช้หลายวิธีเพื่อที่จะเข้าถึงชาวบ้าน ตั้งแต่สื่อโซเชียลมีเดีย ปราศรัยย่อย ปราศรัยใหญ่ แต่ที่เหนื่อยที่สุดและได้ผลที่สุดก็คือการเดินเคาะประตูบ้านทุกหลังไปเลย เราก็บอกชาวบ้านว่าเป็นพรรคใหม่ ไม่มีแกนนำ ไม่มีหัวคะแนนมาก่อน พูดตรงๆ แบบนี้ แม้จะเหนื่อยจนน้ำหนักลดไปเยอะ (หัวเราะ)

และด้วยความสัตย์จริง ผมไม่มีอะไรให้หนักใจเลย หนึ่งเราเดินไปที่ไหน ชาวบ้านเขาตอบรับดีหมด พอเป็นแบบนี้เรามีกำลังใจ ไม่ใช่เดินไปไหนชาวบ้านด่า ไม่ต้อนรับ ถูกเมิน มันก็หมดกำลังใจ แต่ถ้าเราเดินทุกวันแล้วชาวบ้านเขายิ้มแย้มแจ่มใส โอบกอด ลูบหน้าลูบหลัง มันก็ไม่เครียด เพราะว่ามันเหมือนการทำโพลล์ การได้สัมผัสชาวบ้านอย่างน้อยมันบอกเราได้ว่าเขาจะเลือกเราไหม ใน 100 คน อาจมีสัก 30-40 คน ก็ทำให้เรามีกำลังใจได้ และสำคัญที่สุดคือทัศนคติตัวเราเอง

สำคัญยังไง

ต้องบอกตัวเองให้ได้ว่า ถ้าเขาไม่เลือกเราก็ไม่เป็นไร เราได้พิสูจน์ตัวเองแล้ว

ปกติจริงๆ เราก็อยู่สบายอยู่แล้ว แต่ว่าเราต้องยอมบ้าง ถ้าเกิดว่าเราไม่ได้รับเลือกตั้ง ต้องรับตรงนี้ให้ได้ พอเรารับตรงนี้ได้ ก็ไม่เครียดไง นี่เป็นทัศนคติเป็นหลัก ไม่ใช่ว่าแพ้ไม่ได้ แบบนี้จะเครียด ถึงแพ้ก็ไม่เป็นไร รู้แพ้รู้ชนะ เป็นการแข่งขันปกติ

 

นิพันธ์ ศิริธร ส.ส.พลังประชารัฐ

ประเมินคู่แข่งยังไงบ้าง โดยเฉพาะแชมป์เก่า

เขาเป็นคนดี มีความสามารถ และก็เป็นมาหลายสมัยแล้ว เราก็ต้องให้เกียรติเขา เพียงแต่ว่าคนใหม่คนเก่ามันได้เปรียบเสียเปรียบกันคนละอย่าง คนเก่าที่ผ่านมาชาวบ้านเขาก็ได้เห็นผลงานแล้ว ตัดสินใจได้ว่าจะเลือกหรือไม่เลือกต่อ ถ้าเขาผลงานดี เขาก็ได้เปรียบเราใช่ไหม เพราะเรายังไม่เคยทำเลย แต่ขณะเดียวกัน คนใหม่ก็ได้เปรียบที่ว่าไม่เคยมีแผลมาก่อน ชาวบ้านมองเป็นคนใหม่ น่าลอง ข้อเสียคือไม่เคยมีผลงานไง เราก็ให้เกียรติคู่ต่อสู้

ปัจจัยชี้ขาดตรงไหนที่ชาวบ้านเลือก  

ในมุมของเรา ที่ชนะก็เพราะ 3 เรื่อง หนึ่ง ตัวบุคคล สอง นโยบายพรรค สาม ชื่อนายกรัฐมนตรี ทั้งสามปัจจัยนี้ทำให้ชนะการเลือกตั้ง

บวกกับความคาดหวังของชาวบ้านที่กล่าวไปแล้วตอนต้น หนึ่ง เรื่องปากท้อง สอง ให้จังหวัดตรังพัฒนาก้าวหน้าไปมากกว่านี้ โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การประมง ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ตรังมีอยู่แล้ว เขาก็คาดหวังอย่างนั้น ยังไม่นับการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม เชื่อมโยงตรังกับโลกภายนอก สนามบินนานาชาติ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และอีกหลายความคาดหวัง

อะไรทำให้คุณเห็นความคาดหวังในหลายเรื่อง แม้จะเพิ่งเป็น ส.ส. ครั้งแรก

ก็เพราะเรารู้หมดแล้วไง จากการเป็นนายอำเภอ เป็นรองผู้ว่าฯ มาก่อน ซึ่งเราเชื่อว่าถ้าขับเคลื่อนด้วยภาคการเมือง มันจะเร่งแก้ปัญหาได้ดีกว่าที่ผ่านมา

ท่ามกลางภาวะการเมืองที่ไม่นิ่ง คุณประเมินยังไงว่าความตั้งใจทั้งหมดจะได้ขับเคลื่อนต่อ

การที่ผมมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ก็เพราะว่ามั่นใจว่าจะได้เป็นรัฐบาล แต่ในทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ก็ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้เหมือนกัน แต่ตามความจริง การเป็นรัฐบาลมันทำประโยชน์ได้มากกว่า (หัวเราะ)

อย่างหนึ่งที่เราต้องทำความเข้าใจคือ เราไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจในการคุมเกม แต่เราเชื่อว่าพรรคที่เราสังกัดน่าจะคุมเกมประเทศได้ ช่วยทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพได้ มันอยู่ที่ว่ารัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพและอยู่ได้ยาวแค่ไหน ถ้าอยู่ได้ยาวก็ถือว่าเป็นผลดีต่อประเทศชาติ เพราะการพัฒนาจะได้ต่อเนื่อง แต่ถ้าอยู่ได้ไม่นานก็คงทำให้การพัฒนาประเทศสะดุด ส่วนตัวก็เอาใจช่วยแค่นั้น

แต่ความขัดแย้งที่มีอยู่ ทุกข้อครหาที่เกี่ยวกับพรรคพลังประชารัฐ ไม่ทำให้คุณรู้สึกว่าเป็นความยากในการขับเคลื่อนประเทศด้วยความหวังดีหรือ

อันนั้นมันเป็นความเห็นต่าง เป็นเรื่องธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งที่ผ่านมาเราก็ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนทั่วประเทศมากที่สุด มันแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านที่ชอบแนวทางของพลังประชารัฐก็มีมากที่สุด เรามีความชอบธรรมในการเป็นรัฐบาล ส่วนที่ไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องธรรมดา

แต่จะทำอย่างไรเมื่อขึ้นเป็นผู้บริหารแล้วจะสามารถลดความขัดแย้งเหล่านี้ได้ เพราะการเป็นนักปกครอง เป็นนักบริหาร ก็ต้องหาวิธีการลดความขัดแย้ง แม้จะไม่หมด แต่ให้มันลดลงเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ก็เป็นหน้าที่ของคนที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาล

สำหรับคนที่มองการแข่งขันในพื้นที่ตรัง อาจรู้สึกเซอร์ไพรส์ที่เก้าอี้ ส.ส. เปลี่ยน ในระยะยาวคุณประเมินตัวเองยังไงว่าจะรักษาแชมป์ใหม่ต่อไปได้

จริงๆ เรากับประชาธิปัตย์ไม่ได้มีเรื่องอะไรที่ขัดแย้งอะไรกันนะ มีความสัมพันธ์ที่ดีกันด้วยซ้ำ แต่พอมาอยู่กันคนละพรรคเราก็ต้องหาวิธีที่จะเชื่อมโยงทำงานร่วมกันให้ได้ เพราะในการพัฒนาประเทศเราจะต้องแสวงหามิตร อย่าแบ่งแยกกัน เพราะทุกคนก็มีความตั้งใจ ความปรารถนาที่จะพัฒนาจังหวัดตรังให้ดีขึ้น ถ้าเป้าหมายตรงกันแล้วทำไมจะร่วมทำงานกันไม่ได้ นี่คือคิดเชิงบวก ถ้ามองบวกก็คือแข่งขันกัน แต่ถ้าแบ่งพรรคแบ่งพวกก็ขัดแย้งกันไปไม่จบสิ้น ถ้าได้ทำงานร่วมกันประชาชนก็จะได้ประโยชน์

ความสัมพันธ์ส่วนตัวคุณกับประชาธิปัตย์เป็นอย่างไร

ไม่มีอะไรขัดแย้งเลย ตัวเราเองก็ไม่เคยสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เพียงแต่ว่าการเป็นข้าราชการนั้นก็ต้องทำงานร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะว่าพรรคประชาธิปัตย์ครองอำนาจในตรังมาโดยตลอด ก็ต้องทำงานร่วมกับเขา สำหรับผม ความสัมพันธ์กับประชาธิปัตย์ค่อนข้างจะดีมากด้วยซ้ำไป

ถ้ามีความสัมพันธ์ที่ดี การมาอยู่กับพลังประชารัฐทำให้คิดมากไหม

ไม่เลย เพราะเราเชื่อว่าประชาชนเลือกแล้ว และผลการตัดสินออกมาแล้วว่าชาวตรังเลือกทางนี้มากกว่า ที่เขาเลือกเรา เพราะเขาต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง นี่เป็นความท้าทายอันดับแรกเลย การที่เรามาอยู่ตรงนี้ พอจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อย เราจะทำยังให้จังหวัดตรังเกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย แม้จากประชาธิปัตย์เองก็ตาม

คุณประเมินว่าทำงานร่วมกันได้ไหม

ไม่ประเมิน, แต่ต้องทำให้ได้

นิพันธ์ ศิริธร ส.ส.พลังประชารัฐ

ประเมินคู่แข่งอื่นอย่างไร เช่น พรรคอนาคตใหม่ที่เป็นคู่ต่อสู้คนละฝั่งกันเลย แต่คะแนนอนาคตใหม่ในเขต 1 ก็มาเป็นอันดับ 3

ก็เหมือนที่ทุกคนทราบ เขามีแนวคิดในการต่อต้าน คสช. แล้วเราก็ต้องยอมรับว่าคนที่คิดแบบนี้ก็มีมากพอสมควร มันแสดงออกมาในผลการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย

ในระบอบประชาธิปไตยเราก็ต้องยอมรับในความคิดเห็นของประชาชน ผมมองว่ามันไม่มีอะไรแปลกในการเห็นไม่เหมือนกัน บางคนเห็นว่า คสช.ไม่ได้ปฏิวัติ แต่เข้ามาเพื่อแก้ปัญหา อีกฝ่ายเห็นว่าปฏิวัติ ยึดอำนาจ ต้องการประชาธิปไตยมากกว่า มันเห็นต่างกันได้ พรรคอนาคตใหม่ก็เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่เกิดขึ้น เป็นทางเลือกให้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน

ส่วนตัวไม่ได้มองว่าเป็นคู่ขัดแย้ง ?

ไม่เลย เพราะว่าผ่านการเลือกตั้งมาเหมือนกันใช่ไหมล่ะ แล้วทุกคนก็เข้าใจว่าต่อไป คสช. จะหมดอำนาจไป สังคมเข้าสู่ประชาธิปไตยแบบเต็มใบ ประเด็นตอนนี้มันอยู่ที่ว่าเราจะลดความขัดแย้งกันยังไงเท่านั้นแหละ

มองการเมืองในระยะยาว อะไรทำให้คุณมั่นใจว่าถ้าพรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาล ประเทศไทยจะเดินหน้าต่อได้ เพราะเสียง ส.ส. สูสีกันมาก และหลายคนก็มองว่าในสภาฯ คงวุ่นวายกันน่าดูเลย

ผมเพิ่งเข้าสู่วงการเมืองนะ แต่ว่าติดตามการเมืองมานาน เลยมีทัศนคติว่าการที่รัฐบาลจะอยู่ยาวหรือไม่ยาว ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่เสียงปริ่มน้ำหรือว่ามีเสียงท้วมท้น แม้จะมีเสียงปริ่มน้ำก็จริง แต่ถ้ารัฐบาลมีผลงานดี ประชาชนทั่วประเทศก็จะสนับสนุน ช่วยเป็นฐานสำคัญให้รัฐบาลสามารถบริหารประเทศได้อย่างราบรื่น ถ้ารัฐบาลมีผลงาน ทำดี ประเทศดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น ไม่มีปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น เสียงปริ่มน้ำก็อยู่ยาวได้

ขณะเดียวกัน ถ้ามีเสียงสนับสนุนท่วมท้น ซึ่งเคยเห็นมาหลายรัฐบาลแล้วใช่ไหม แต่ถ้าบริหารประเทศไม่ดี เศรษฐกิจไม่ดี มีปัญหาคอร์รัปชั่นเข้ามา ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ สื่อมวลชนไม่ให้ความไว้วางใจ ประชาชนก็ไม่ไว้วางใจ หมดความน่าเชื่อถือ ถึงจะมีเสียงท่วมท้นก็ต้องลาออก ต้องยุบสภา มีม็อบเดินขบวนขึ้นมา

จากที่ถาม เราก็ได้แค่หวัง เป็นความหวัง แต่เราก็ต้องเชื่อด้วยว่าพรรคของเราหรือผู้นำในพรรคจะมีความดีและความเข้มแข็งเพียงพอที่จะพาประเทศไปได้ ไม่รู้จะคิดอะไรได้ดีกว่านี้แล้ว

ถ้าพ้นจากเรื่องว่าใครเป็นรัฐบาล คุณมองอนาคตประเทศไทยต่อจากนี้ยังไงบ้าง ตั้งแต่ความหวังของคนรุ่นลูกรุ่นหลาน ไปจนถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

พูดตรงๆ ถ้าเห็นแก่อนาคตลูกหลาน ไอ้รุ่นนี้ก็อย่าทะเลาะกันมากเกินไป ประนีประนอมกันก็อยู่กันได้ ไม่เห็นจะยากลำบากตรงไหน อย่าให้มันขัดแย้งถึงขั้นไม่เผาผีกัน

เอาเข้าจริงๆ ไม่ว่าฝ่ายไหนมาเป็นรัฐบาล นโยบายก็จะคล้ายๆ กันหมด แล้วทำไมจะประนีประนอมหรือสนับสนุนกันไม่ได้ เพื่อให้ประเทศชาติเดินต่อไปข้างหน้าได้ เวลานี้สังคมเราไม่ได้แตกต่างเหมือนซ้ายกับขวาสมัยก่อน

คุณเห็นความเป็นไปได้ไหม

(หัวเราะ) ก็ต้องช่วยๆ กัน

แต่คนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้อยากเห็นรัฐประหารอีก ก็คาดหวังว่าคนที่มาลงสมัคร ส.ส. ต้องเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย คำถามคือคุณคิดว่า ส.ส. จะรักษาความคาดหวังนี้ได้ไหม

ตั้งแต่พฤษภาฯ 2535 ตอนนั้นผมเชื่อแล้วว่าจะไม่มีใครกล้ายึดอำนาจอีกต่อไป ฝ่ายปฏิวัติโดนประชาชนต่อต้าน ก็คิดว่าจะไม่มีอีกแล้ว เพราะเราผ่าน 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ เคยมีประชาธิปไตยครึ่งใบสมัย พล.อ.เปรม และก็มีการเลือกตั้งมาเรื่อยๆ แต่สุดท้ายก็มีอีก ทีนี้ถามว่าขัดแย้งกันเรื่องอะไร ขัดแย้งกันเรื่องของอำนาจใช่ไหม แต่ถ้าทุกฝ่ายทุกคนรักประเทศชาติจริง ก็ต้องช่วยกันลดความขัดแย้งคือปรองดองให้ได้ เราพูดคำว่าปรองดองกันตลอด แต่ไม่เคยทำกันเป็นเรื่องเป็นราว

คุณเห็นความเป็นไปได้ในการปรองดองไหม

(หัวเราะ) ก็ต้องช่วยๆ กัน แต่เพราะคนไทยยังไม่ไว้ใจกัน ปัญหาก็ไม่จบ

 

คุณอยู่ในระบบราชการมาทั้งชีวิต เห็นอะไรที่เป็นปัญหาไหม แล้วควรแก้เรื่องอะไรบ้าง

ระบบราชการที่สำคัญอันดับแรกก็คือการเอาคนเข้าสู่ระบบ เหมือนการเมือง อันดับแรกคือการเอาคนเข้าสู่ระบบการเมือง มันต้องได้คนดี คนมีความรู้ คนมีความสามารถ แล้วก็ให้ประชาชนเลือก ถ้าโกงก็มีใบเหลืองใบแดง

ระบบราชการก็เหมือนกัน ทำยังไงให้เราได้คนดี มีความรู้ เข้ามารับราชการ ปัจจุบันผมว่าก็ทำสำเร็จแล้วระดับหนึ่ง คือใช้ระบบสอบวัดความรู้ คนที่ได้เข้ามาก็ถือว่ามีความยุติธรรมที่ผ่านการสอบเข้ามา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบราชการต่อมาก็คือปัญหาการเลื่อนตำแหน่ง ตรงนี้แหละปัญหา เพราะมันมีระบบอุปถัมภ์ ทำให้ไม่ได้ผู้บริหารที่ดีมีความสามารถเข้ามาบริหารหน่วยงาน

เหมือนไปติดที่คอขวด?

การคัดเลือกคนเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารขององค์กร ยังใช้ระบบอุปถัมภ์เป็นส่วนใหญ่ ทำให้คนเก่ง ทำงานดี หมดกำลังใจ ถ้าแก้ไขการแต่งตั้งการเลื่อนตำแหน่งตรงนี้ได้ คนก็จะมีกำลังใจทำงาน ได้ผู้บริหารที่ดีเข้ามาบริหารหน่วยงาน ประชาชนก็ได้ประโยชน์ ยกตัวอย่างตำรวจ ถ้าโรงพักได้ผู้กำกับที่ดีมาอยู่ดูแล ประชาชนก็อยู่เย็นเป็นสุข

 

เช่นเดียวกับตำแหน่งผู้ว่าฯ ?

เหมือนกันแหละ ทุกองค์กร ถ้าได้ผู้ว่าฯ ที่ดีมา ชาวบ้านก็อยู่เย็นเป็นสุข แต่นี่มันไม่มีระบบ จนปัจจุบันเราก็ยังค้นหาระบบนี้ไม่เจอว่าทำยังไง

ถ้าหากเราแก้การแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงได้ ก็จะไม่มีใครเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ หรือผู้บริหารระดับสูง แต่ตราบใดที่ผู้บริหารเหล่านี้ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลาง และไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้ เสียงเรียกร้องของประชาชนให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สักวันหนึ่งสังคมก็ต้องเดินไปถึงจุดนั้นอยู่ดี จะกี่ปีไม่ทราบ แต่กรุงเทพฯ หรือเมืองพัทยา เขาก็เดินไปถึงจุดนั้นแล้ว

คนในมหาดไทยเขาก็รู้ว่าเขาต้องทำงานให้ดี เพราะว่าถ้าทำงานไม่ดี เสียงเรียกร้องเหล่านี้ก็จะเพิ่มขึ้น แม้การแต่งตั้งจากส่วนกลางจะมีข้อดีในตัวของมันอยู่ คือไม่อิงการเมือง ประสานงานกับทุกฝ่ายได้ แต่จะทำยังไงให้ผู้ว่าฯ สามารถแก้ไขปัญหาของชาวบ้านได้มากกว่านี้

ผู้ว่าฯ บางคนมาถึงใหม่ๆ มีความตั้งใจ มีนโยบายดีๆ เยอะ แต่อยู่ได้ปีเดียวก็โดนย้ายแล้ว บางจังหวัดในปีนึงต้องเลี้ยงต้อนรับผู้ว่าฯ ถึงสามครั้ง ชาวบ้านก็เริ่มมีความคิดว่า เฮ้ย เป็นแบบนี้เลือกตั้งกันดีกว่า ในอนาคตทุกหน่วยงานก็ต้องปรับปรุงตัวเองให้สามารถก้าวทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ หน่วยงานไหน องค์กรไหนก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลง สุดท้ายก็ถูกบังคับให้เปลี่ยนอยู่ดี

เหมือนคุณเชื่อในการตัดสินใจของประชาชน ?

ใช่, แล้วแต่ว่าชาวบ้านชอบแบบไหน ชาวบ้านเขาเช็คบิลเอง

ส่วนตัวคุณตั้งใจอยู่ในเก้าอี้นานแค่ไหน

ตั้งใจว่าระยะนึง

10 ปี ?

นานไป, ต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่บ้าง จริงๆ ส่วนตัวผมชอบใช้ชีวิตแบบสบายๆ แต่ว่าเสียดายประสบการณ์ที่มีอยู่ ก็ต้องการทำงานให้ส่วนรวมสักหน่อยเหมือนที่บอกไป

อยากพิสูจน์ ?

ไม่ต้องพิสูจน์ เพราะตอนเป็นรองผู้ว่าฯ เป็นนายอำเภอ ชาวบ้านก็ยอมรับอยู่แล้ว ผมต้องการต่อยอดสักระยะนึงเท่านั้นเอง.

นิพันธ์ ศิริธร ส.ส.พลังประชารัฐ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save