เลือกตั้ง 62 : อนิจลักษณะของผลเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร

เลือกตั้ง 62 : อนิจลักษณะของผลเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร

กองบรรณาธิการ 101 เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

เลือกตั้ง 62

(1)

ผลการเลือกตั้งใน กทม. รอบนี้ เต็มไปด้วยเรื่องเกินความคาดหมาย

จากตัวเลขคะแนน ณ คืนวันเลือกตั้ง นับแล้ว 93% พลังประชารัฐ คว้าตำแหน่งพรรคที่ได้คะแนนเสียงรวมมากที่สุด 7.56 แสนเสียง ตามด้วยอนาคตใหม่ 7.47 แสนเสียง เพื่อไทย 5.77 แสนเสียง ขณะที่ประชาธิปัตย์ แชมป์ กทม.ครั้งก่อน (ย้อนหลังไป 8 ปี!) เข้าป้ายเพียงอันดับ 4 ได้คะแนนเสียงรวม 4.46 แสนเสียงเท่านั้น น้อยกว่าอันดับหนึ่งถึง 1.7 เท่า

[ตัวเลขล่าสุด วันที่ 25 มีนาคม คะแนนเสียงรวมของอนาคตใหม่แซงหน้าพลังประชารัฐแล้ว – แก้ไข 26 มีนาคม]

.

จากเดิมที่คาดว่าสนาม กทม. จะเป็นการแข่งขันกันระหว่างคู่ชิงเดิม คือประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยเป็นหลัก ส่วนพรรคอื่นคงคาดหวังเก็บคะแนนเสียงไม่ให้ตกน้ำ เพื่อเพิ่มเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เท่านั้น ปรากฏว่าคู่ชิงที่ 1 กับ 2 ในแต่ละเขต กลับกลายเป็นศึกระหว่างพลังประชารัฐกับเพื่อไทย 13 เขต และพลังประชารัฐกับอนาคตใหม่ 12 เขต เรียกว่าพลังประชารัฐยืนท้าชิงแชมป์ถึง 25 เขต จาก 30 เขต ที่เหลือเป็นศึกระหว่างอนาคตใหม่กับเพื่อไทย 3 เขต อนาคตใหม่กับประชาธิปัตย์ 1 เขต และเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์เพียง 1 เขตเท่านั้นเอง

แชมป์เก่าอย่างประชาธิปัตย์ติดอันดับคู่ชิงเพียงแค่ 2 เขต คือ สายไหมและบางขุนเทียน

เลือกตั้ง 62

(2)

สรุปผลการเลือกตั้งรวม 30 ที่นั่ง — พลังประชารัฐ คว้าไป 13 ที่นั่ง เพื่อไทย 9 ที่นั่ง และอนาคตใหม่ 8 ที่นั่ง [ตัวเลขล่าสุด วันที่ 25 มีนาคม พลังประชารัฐได้ 12 ที่นั่ง เพื่อไทย 9 ที่นั่ง และอนาคตใหม่ 9 ที่นั่ง  – แก้ไข 26 มีนาคม]

ส่วนประชาธิปัตย์ไม่ได้ ส.ส. กทม. เลยแม้แต่ที่นั่งเดียว!

แถม ส.ส.เก่าประชาธิปัตย์ ก็สอบตกอย่างหมดรูป แม้หลายคนจะชนะเลือกตั้งครั้งก่อนแบบขาดลอยเป็นเท่าตัวด้วยคะแนนสูงระดับ 4-5 หมื่นคะแนน คราวนี้กลับไถลเข้าป้ายไกลถึงอันดับ 4 เสียเป็นส่วนใหญ่ ด้วยคะแนนเพียง 1.3-1.7 หมื่นคะแนนเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเจิมมาศ จึงเลิศศิริ, อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์, ม.ล.อภิมงคล โสณกุล, อนุชา บูรพชัยศรี, ธนา ชีรวินิจ, อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี, สรรเสริญ สมะลาภา, นาถยา แดงบุหงา, สามารถ มะลูลีม, วิลาส จันทรพิทักษ์, รัชดา ธนาดิเรก รวมถึงตระกูลม่วงศิริแห่งฝั่งธนฯ ทั้งหมดกลายเป็นอดีต ส.ส.

ส่วนผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่ตัวความหวังอย่างกลุ่ม New Dem ล้วนไม่ประสบความสำเร็จในการลงสนามครั้งแรก ‘หมอเอ้ก’ คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ ได้ 1.2 หมื่นคะแนน, พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ 1.2 หมื่นคะแนน และ ‘ไอติม’ พริษฐ์ วัชรสินธุ 1.6 หมื่นคะแนน

ที่หนักหนาสาหัสคือ ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย ‘ลูกนัท’ ทายาทเครือโนเบิล ที่คุ้นหน้าคุ้นตาจากม็อบ กปปส. ได้เสียงเพียง 8.3 พันคะแนนเท่านั้นเอง ส่วนเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีตโฆษก กปปส. ก็สอบตกเช่นกัน แถมได้คะแนนมาเป็นอันดับ 4

ไม่ต้องพูดถึง รวมพลังประชาชาติไทย พรรคต้นตำรับ กปปส. ภายใต้การบัญชาการของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่กลายเป็นพรรคหลักร้อย … ไม่ใช่ได้ร้อยที่นั่งทั้งประเทศ แต่ได้คะแนนเสียงแต่ละเขตใน กทม. หลักร้อยคะแนนเท่านั้น มีเกินพันคะแนนแค่ 3 เขต มิพักต้องพูดถึงสามเทือกสุบรรณที่สอบตกยกจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ทางด้านเพื่อไทย ยังคงรักษาพื้นที่เก่าไว้ได้หลายเขต โดยเฉพาะพื้นที่ กทม.ฝั่งตะวันออก น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อนุสรณ์ ปั้นทอง พลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ จิรายุ ห่วงทรัพย์ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กลับเข้าสภาได้ ที่พลาดไปก็มีวิชาญ มีนชัยนันท์ ไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์ มาทางหลักสี่ สุรชาติ เทียนทอง สอบตกไม่ห่าง แต่การุณ โหสกุล ยังคงรักษาถิ่นดอนเมืองไว้ได้อย่างขาดลอย

วัฒนา เมืองสุข แกนนำคนสำคัญของเพื่อไทยมาลง ส.ส.กทม. เป็นครั้งแรก ยังไม่รอด ได้คะแนนแค่ลำดับสาม ส่วนที่เซอร์ไพรส์คนนอกเขตคือ ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ อดีต ส.ก.แย่งพื้นที่ดินแดงมาจากธนา โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ และที่สำคัญ วัน อยู่บำรุง บุตรชายหัวแก้วหัวแหวนของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้เป็น ส.ส. สมใจเสียที หลังจากคราวก่อนพ่ายประชาธิปัตย์ไปเพียงพันกว่าคะแนน

เจ้าถิ่น กทม.หน้าใหม่อย่างพลังประชารัฐ ส.ส.ใหม่หลายคนเคยมีประสบการณ์การเมืองสาย ส.ก. และ ส.ข. ในพื้นที่ ดึง-ดูดมาจากทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทย เครือข่ายสายประชาธิปัตย์ เช่น จักรพันธ์ พรนิมิตร กานต์กนิษฐ์ แห้วสันติ กษิดิ์เดช ชุติมันต์ กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา และสายเพื่อไทย เช่น ประสิทธิ์ มะหะหมัด ศิริพงษ์ รัสมี และฐิติภัสร์ โชติเดชาชัย คนหลังฝ่าด่านหินเอาชนะทั้ง ‘ไอติม’ ประชาธิปัตย์ และ ‘ปุ๊น’ ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส เพื่อไทย มาได้แบบพลิกความคาดหมาย

ส.ส.ใหม่คนอื่นๆ ของพลังประชารัฐที่น่าสนใจ เช่น ชาญวิทย์ วิภูศิริ ลูกชายของอัศวิน วิภูศิริ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตคนสนิท พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ย้ายไปอยู่ต่างพรรคกับพ่อ แต่สอบได้ ยังมี สิระ เจนจาคะ เจ้าของบ้านทรงไทยแจ้งวัฒนะ ศิษย์เอก ‘พุทธะอิสระ’ ซึ่งพลิกชนะสุรชาติ เทียนทอง ไม่กี่พันคะแนน ทั้งที่ลงเลือกตั้งคราวก่อนได้คะแนนหลักสองพันคะแนนเท่านั้น

และกลุ่ม ‘รุ่นใหม่ก่อการใหญ่’ ของพรรคอย่าง กฤชนนท์ อัยยปัญญา อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักธุรกิจ ผู้โค่นวิชาญ, พัชรินทร์ ซ้ำศิริพงษ์ ผู้โค่นอรอนงค์ อดีต Miss Intelligent จากการประกวดนางสาวไทย ดร.อาชญาวิทยาจาก ม.แซมฮิวสตันสเตท โรงเรียนเก่าของทักษิณ ชินวัตร, ภาดาท์ วรกานนท์ อดีตข้าราชการสภาพัฒน์ มือปราบอรรถวิชช์ ส่วน ไกรเสริม โตทับเที่ยง ทายาทปุ้มปุ้ย ชนะประชาธิปัตย์เจ้าของพื้นที่มาได้ แต่ต้านกระแสอนาคตใหม่ไม่ไหว ไปไม่ถึงฝัน

ปิดท้ายที่ ‘เซอร์ไพรส์ใหญ่’ ของสนาม กทม. อย่างอนาคตใหม่ที่หักปากกาเซียนคว้าเก้าอี้ ส.ส.เขต กทม.มาได้ถึง 9 ที่นั่ง ในพื้นที่พระรามสาม, บางนา-พระโขนง และฝั่งธนฯ และได้รองแชมป์อีก 7 ที่นั่ง

ทั้งหมดล้วนเป็นหน้าใหม่ทางการเมือง และเป็นคนธรรมดาๆ รุ่นหนุ่มสาวที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักของสังคมวงกว้าง แถมเพิ่งเข้าสู่โลกการเมืองมาได้ปีเศษๆ เท่านั้นเอง

ว่าที่ ส.ส.ใหม่เหล่านี้ ได้แก่ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร นักปรุงเบียร์ผู้ใฝ่ฝันอยากทำให้คราฟต์เบียร์ไทยถูกกฎหมาย, วรรณวรี ตะล่อมสิน นักธุรกิจ, โชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี นักธุรกิจ, ทศพร ทองศิริ พนักงานธนาคาร, สมเกียรติ ถนอมสินธุ์ พนักงานบริษัทเอกชน, ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ อดีตเด็กช่างกลสยามผู้สร้างตัวจนเป็นเจ้าของธุรกิจตกแต่งอาคาร, ณัฐพงษ์ ปัญญาเรืองวุฒิ นักธุรกิจสายไอที, จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ทนายความ และผู้อาวุโสหนึ่งเดียวในทีม ร.ต.ต.มณฑล โพธิ์คาย อดีตตำรวจชุมชนและวิทยากรรณรงค์ต้านยาเสพติด

เลือกตั้ง 62

(3)

การเลือกตั้ง 24 มีนาคม เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สะท้อนเสน่ห์ของสนาม กทม. สมรภูมิเลือกตั้งอันคาดเดาไม่ได้ วูบไหวตามกระแส และเจ้าอารมณ์

ด้านหนึ่งก็ใจดี เปิดโอกาสให้คนหน้าใหม่ได้แจ้งเกิดอย่างเฉิดฉาย ดังเช่นที่ สมัคร สุนทรเวช อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เคยได้รับโอกาสนั้น อีกด้านหนึ่งก็โหดร้ายแบบไม่แคร์เพื่อนเก่า ส.ส. เก่าแก่ระดับอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภา อดีตรัฐมนตรี ล้วนเคยสอบตกในสนามนี้กันมาหลายต่อหลายคน เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, มารุต บุนนาค รวมถึง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง

ความสำเร็จของอนาคตใหม่ในสนาม กทม. คงถูกบันทึกไว้เคียงคู่กับความสำเร็จของพรรคประชากรไทย ในการลงสนามเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2522 ครั้งนั้น สมัคร สุนทรเวช นำทีมกวาด ส.ส. 29 คน จาก 32 คน เหลือที่ให้เพียง ถนัด คอมันตร์ พรรคประชาธิปัตย์, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และเกษม ศิริสัมพันธ์ แห่งพรรคกิจสังคม

ในเวลาต่อมา พรรคประชากรไทยแทบสูญพันธุ์ในการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2535 โดยพรรคพลังธรรม ภายใต้การนำของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กวาด 32 จาก 35 เก้าอี้ เหลือที่ให้เพียง สมัคร สุนทรเวช ลลิตา ฤกษ์สำราญ คู่หูเขต 1 ของพรรคประชากรไทย และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส.ส.หน้าใหม่วัย 27 ปีจากประชาธิปัตย์ ก่อนที่การเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2539 พลังธรรมจะถูกกวาดเหี้ยนบ้าง เหลือ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็น ส.ส.เพียงหนึ่งเดียว โดยประชาธิปัตย์กลับมาทวงตำแหน่งเจ้า กทม.คืน

จากนั้นเมื่อพรรคไทยรักไทยของ ทักษิณ ชินวัตร ลงสนามใหญ่ จึงยึดเสียงข้างมากใน กทม.ไว้ได้ในการเลือกตั้งเดือนมกราคม 2544 และเดือนกุมภาพันธ์ 2548 สองครั้งติดกัน กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์กลับมายึด กทม. คืนในการเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 และเดือนกรกฎาคม 2554 และใช้ กทม.เป็นฐานเสียงหลักในการต่อสู้กับเครือข่ายทักษิณทุกวิถีทางทั้งในสภา ในค่ายทหาร และบนท้องถนน ก่อนที่ประชาธิปัตย์จะถูกประชาชนพิพากษาให้ปลาสนาการไปเสียสิ้นในการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 จนกลายเป็นกรณีแถวหน้าสุดในตำนานแห่งความล้มเหลวในสนาม กทม.

ด้วยอนิจลักษณะเช่นนี้ แม้การเลือกตั้งคราวนี้จะมี ‘เซอร์ไพรส์’ เชิงบวกสำหรับอนาคตใหม่และพลังประชารัฐ แต่หากการเลือกตั้งคราวหน้าๆ มี ‘เซอร์ไพรส์’ เสียงสองพรรคหายเรียบ ก็คงไม่ใช้เรื่อง ‘เซอร์ไพรส์’ แต่อย่างใด

เลือกตั้ง 62

(4)

ทุกครั้งที่การเลือกตั้งในสนาม กทม. สั่นไหว การเมืองไทยก็ไม่มีวันเหมือนเดิม

นี่ขนาดยังไม่ประกาศผลการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างเป็นทางการ ก็อดใจรอชมไม่ไหว ว่า ‘อนาคตใหม่’ รวมถึง ‘พลังประชารัฐ’ จะใช้แรงส่งทางการเมืองในสนาม กทม.นี้ไป shape การเมืองใหญ่อย่างไร, พรรคการเมืองต่างๆ จะปรับตัวรับผลเลือกตั้งนี้อย่างไร และดุลยภาพแห่งอำนาจของการเมืองไทยหลังเลือกตั้งจะจัดวางกันอย่างไร คลี่คลายหรือเขม็งเกลียวไปทางไหน

ก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ ที่อนิจลักษณะของสนามเลือกตั้ง กทม. จะทำหน้าที่ของมันตามปกติธรรมชาติอีกครั้ง.

หมายเหตุ: ปรับปรุงข้อมูลตามคะแนนล่าสุดของ กกต. เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2562

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save