fbpx
จับเข่าคุย 'New voter' ท่ามกลางมรสุมการเมืองของ "ลุง ป้า น้า อา"

จับเข่าคุย ‘New voter’ ท่ามกลางมรสุมการเมืองของ “ลุง ป้า น้า อา”

ธิติ มีแต้ม, ภาวิณี คงฤทธิ์, พิมพ์ใจ พิมพิลา เรื่อง

ธิติ มีแต้ม ภาพ

 

เป็นข้อเท็จจริงที่ว่าเมืองไทยไม่มีการเลือกตั้งมาแล้ว 8 ปี เมื่อสนามการเมืองเปิดไฟเขียวเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. นี้ ทำให้ผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งครั้งแรกจะมีอายุระหว่าง 18–26 ปี

คนกลุ่มนี้นับเป็น New Voter ท่ามกลางกติกาใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ ที่ผู้ร่างส่วนใหญ่มีอายุรุ่นราวคราวลุงคราวป้า ยังไม่นับว่าเป็น New Voter ท่ามกลางฝุ่นตลบของการเมืองไทย ที่ไม่มีใครรู้ว่าหลังเลือกตั้งแล้วการเมืองไทยจะออกหัวหรือก้อย สุดจะคาดเดาว่าประเทศจะราบรื่นหรือราบคาบ

แต่เมื่อมีสิทธิเลือก อะไรคือภาพที่พวกเขาอยากเห็น เมื่อ กกต.เริ่มนับคะแนนในหีบเลือกตั้ง สังคมแบบไหนที่พวกเขาอยากให้เป็นและต้องใช้ชีวิตร่วมไปอีกนาน แม้ว่าผู้เขียนกติกาอาจอยู่ไม่ถึงวันนั้น

101 ชวน New Voter 4 คนมาสังสรรค์เสวนาว่าพวกเขาคิดอ่านอะไรอยู่ เมื่อวันเลือกตั้งกำลังร่นเข้ามา บรรยากาศในการหาเสียง รวมไปถึงเสียงเมาท์มอยรอบตัวพวกเขาเป็นอย่างไร

วัยรุ่นทั้ง 4 คนได้แก่ แบม – ธัญชนก คชพัชรินทร์ นักเรียน ม.6 กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท, ซู – ซูรัยยา วาหะ นักศึกษาและนักกิจกรรมสันติภาพจากยะลา, พอลลีน – เทวรักษ์ รุ่งเรืองวิรัชกิจ บัณฑิตนิเทศศาสตร์หมาดใหม่ และ อาร์ต – จิรเมธ คิญชกวัฒน์ นักศึกษาปี 1 ด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์และระบบประสาท ที่เกาหลีใต้

ทรรศนะทั้งหมดจากบรรทัดนี้ไปจะกำหนดอนาคตของชาติได้หรือไม่ ไม่มีใครรู้ แต่เมื่อพวกเขาเปล่าเสียงออกมาแล้ว ก็น่ารับฟังอย่างยิ่ง

 

แบม - ธัญชนก คชพัชรินทร์ นักเรียน ม.6 กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท, ซู - ซูรัยยา วาหะ นักศึกษาและนักกิจกรรมสันติภาพจากยะลา, พอลลีน - เทวรักษ์ รุ่งเรืองวิรัชกิจ บัณฑิตนิเทศศาสตร์หมาดใหม่ และ อาร์ต - จิรเมธ คิญชกวัฒน์ นักศึกษาปี 1 ด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์และระบบประสาท ที่เกาหลีใต้

รู้สึกอย่างไรบ้างที่เป็น New Voter ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองไทยปัจจุบัน

อาร์ต รู้สึกแปลกนิดนึง ไม่ใช่เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้เลือกตั้ง แต่เป็นการเลือกตั้งที่ค่อนข้างวุ่นวาย เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมีอิมแพ็คในโซเชียลมีเดียวันต่อวันเลย และมีเรื่องที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นบ่อยๆ รู้สึกว่าเลือกตั้งครั้งก่อนๆ เราสามารถคาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้มากกว่านี้

พอลลีน สมัยตอนเราเรียนหน้าที่พลเมือง ป.4 ที่บอกว่าการเลือกตั้งคือหน้าที่ เราไม่เข้าใจ แต่มาตอนนี้มันเป็นยิ่งกว่าหน้าที่ รู้สึกว่าคนรุ่นเราค่อนข้างตื่นตัว เห็นได้จากกระแสการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า มันไม่ใช่แค่การเลือกตั้งเพื่อตัวเอง แต่มันคือการเลือกตั้งเพื่อคนข้างๆ เพื่อแบม เพื่อพี่ๆ เพื่อทุกคนรอบตัว

แบม การเลือกตั้งครั้งนี้เราเห็นความแตกต่างระหว่างวัยเยอะมาก เพราะว่าเรากับพ่อแม่คิดไม่เหมือนกัน ครอบครัวเราคือลุงตู่ทั้งบ้าน (หัวเราะ) เราถามเหตุผลเขาว่าทำไม เขาบอกว่าลุงตู่เป็นคนดี ความคิดมันต่างกันไปถึงอุดมการณ์ คนละเรื่องกันเลย ความดีของเราเป็นคนละชุดกัน แล้วเขาก็มองว่าเรายังเป็นเด็ก ยังไม่มีประสบการณ์ ไม่รู้อะไร เพราะเขาผ่านมาหมดแล้ว นักการเมืองมันก็ดีแต่พูด

ซู สำหรับคนในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่ผ่านมาต้องอยู่กับการบริหารของรัฐบาลที่น่าอึดอัดมากๆ มีด่านตรวจความมั่นคงเป็นร้อยๆ ด่าน ถ้าเลือกตั้งครั้งนี้ฝั่งประชาธิปไตยไม่ชนะ แต่ฝ่ายเผด็จการชนะแทน อะไรจะเกิดขึ้น ด่านมันต้องเยอะกว่าเดิมแน่ๆ

ถ้าเรามองตัวเลขของคนรุ่นใหม่ New Voter ประมาณ 6 ล้านกว่าคน ส่วนมากเขาจะไม่อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง เขาจะออกไปอยู่แถวมหา’ลัย ไปอยู่ข้างนอกพื้นที่ จึงต้องมีการเลือกตั้งนอกเขตกัน ความกังวลคือเรากลัวว่าเสียงของ New Voter จะหายไปด้วยการถูกโกงหรือเปล่า

อีกเรื่องคือตอนเรายังเด็ก เราพบว่าคนในชุมชนไม่ได้มองเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นเรื่องสำคัญ พอยุคนี้มันเป็นยุคที่รัฐแข็งขึ้น อะไรที่เกี่ยวกับปากท้องของคน จะอิงกับรัฐบาลมากขึ้น ทำให้คนในชุมชนมองเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ได้เป็นแค่การเลือกตั้งเหมือนที่ผ่านมา สถานการณ์ต่างๆ ทำให้คนรู้สึกกระตือรือร้นที่อยากออกไปเลือกตั้ง

แต่ละคนมาสนใจการเมืองตั้งแต่เมื่อไหร่

อาร์ต ผมสนใจการเมืองมานานแล้ว เพราะมันเป็นเรื่องของเรา อาจมีอีกหลายคนที่รู้สึกว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของเราสักเท่าไหร่ เพราะเป็นเรื่องของผู้บริหารตัดสินใจกัน แต่ในที่สุดการบริหารอะไรก็ตาม มันส่งผลกระทบมาถึงเราอยู่ดี และไม่ใช่แค่เราคนเดียวด้วย

พอลลีน ที่จริงเราเคยอยากเรียนรัฐศาสตร์มาก่อน และบ้านเราเป็นบ้านที่ชอบดูข่าว มีช่วงหนึ่งที่รู้สึกสิ้นหวังมากๆ แล้วก็เริ่มก่นด่า แล้วก็กลับมาสิ้นหวังใหม่ วนไปเรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้ถือว่าคงที่อยู่

พอเข้ามหาวิทยาลัย เราได้อ่านวรรณกรรม ได้เห็นโลกกว้างขึ้น เช่น เราเห็นว่าที่เดนมาร์กมีรัฐสวัสดิการ มันมีความหวังว่าถ้าเราต้องอยู่ประเทศไทยไปอีก 60 ปี จะทำอะไรไม่ได้เลยเหรอในเรื่องรัฐสวัสดิการ ทุกครั้งที่เราซื้อขนมป็อกกี้ 20 บาท เสีย VAT 7% ทำไมคุณเอาเงินไปซื้อไฟประดับถนน เรารู้สึกว่าทุกอย่างมันคือการเมือง มันเกี่ยวกับเราทั้งหมด

ในอีกมุมหนึ่ง สิ่งที่ทำให้เด็กรุ่นเราบางส่วนไม่สนใจการเมือง เพราะเราโตมากับความรู้สึกที่ว่าการเมืองไทยเป็นแบบแนวดิ่ง ผู้ใหญ่คือผู้มีพระคุณ เราไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องเรียก ส.ส. ว่าท่าน เวลามาหาเสียง ทุกคนไหว้เรานะ แต่หลังจากนั้นผ่านไป เราต้องไปบอกว่าท่านคะ ขออันนี้หน่อยได้ไหมคะ มันต่างจากที่เราเรียนมา สังคมที่เจริญแล้วควรเป็นสังคมแนวราบไม่ใช่เหรอ

แบม เรามาสนใจการเมืองตอนช่วง ม.4 ขึ้น ม.5 ซึ่งไม่ได้สนใจเพราะอยู่เมืองไทย แต่ตอนนั้นสนใจเพราะไปซัมเมอร์ที่อังกฤษ แล้วดันไปลงเรียนคอร์ส politics ตามเพื่อน ตอนนั้นไม่ได้แคร์การเมืองจริงๆ (หัวเราะ) เรียกว่าไม่แคร์อะไรเลยดีกว่า เรียนก็ไม่อยากเรียน เราไม่รู้จริงๆ ว่าการเมืองคืออะไร รู้แค่ว่ามันมีเสื้อเหลืองเสื้อแดงเกิดขึ้น แต่เราไม่มีความคิดเห็นอะไรเลย คุยกันเรื่องอะไรก็ไม่รู้ รู้แค่ว่าทักษิณไม่ดี

เราไม่ได้ตามข่าวสาร ไม่มีความสนใจ ติดอยู่กับโลกของเรา เล่นเกม ไปเที่ยวกับเพื่อน แล้วบ้านเราก็ฐานะไม่แย่ ไม่ลำบากอะไร เลยรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องไปสนใจเรื่องการเมือง

จนกระทั่งไปอังกฤษ แล้วได้ลงคอร์ส politics นี่แหละ ครูฝรั่งก็สอนเกี่ยวกับกษัตริย์ไทยกับการเมือง และ ม.112 เราก็ defend ไปว่าคุณเอาอะไรมาพูดเนี่ย กษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมืองสิ เพราะเราท่องหนังสือมาแบบนี้ มันต้องเป็นแบบนี้สิ แต่พ่อแม่เราสนใจการเมือง ก็เลยไปถามพ่อแม่ จากนั้นก็รู้เลยว่าเราเป็นพวก ignorance แต่เราไม่อยากเป็นแบบนั้น รู้สึกว่าโง่มากที่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับประเทศตัวเอง เลยไปเสิร์ชดูว่า ม.112 คืออะไร ม.44 คืออะไร เราก็อินทันทีเลย รู้สึกว่าเราปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในสังคมได้ยังไง เราต้องทำอะไรสักอย่าง พอกลับมาไทยก็กลายเป็น activist (หัวเราะ)

ซู เราเป็นคนไม่ชอบวิชาสังคมเลย ตั้งแต่ประถม มัธยมก็ยังไม่สนใจเหมือนเดิม ไม่ใส่ใจ ไม่ได้รู้สึกว่าสำคัญ จนกระทั่ง 2-3 ปีที่แล้ว เริ่มรู้สึกว่าเราโตขึ้น เพราะแปลกใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา เราไม่เคยรู้มาก่อนว่ารากเหง้าของปัญหาจังหวัดชายแดนใต้มันเกิดจากอะไร ไม่รู้ว่าต้องแก้ด้วยอะไร จนได้มาคุยกับอาจารย์ รุ่นพี่ พวกเขาก็พยายามผลักดันให้เราไปเจอพูดคุยกับชาวบ้าน เราจึงค่อยๆ เข้าใจ ทำให้รู้สึกว่าต้องมาสนใจการเมือง

“ถ้าเผด็จการมัน offer ผลประโยชน์ให้กับคนกลุ่มเดียว มันอยู่ไม่ได้ ผมว่าบางทีการที่จะหนีออกจากสภาพแบบนี้ ก็เป็นการลงทุนที่น้อยกว่าการอยู่แบบนี้ต่อไป” – อาร์ต

อาร์ต - จิรเมธ คิญชกวัฒน์
อาร์ต – จิรเมธ คิญชกวัฒน์

การออกไปเลือกตั้งครั้งนี้ของแต่ละคนมีเงื่อนไขอะไรบ้าง

พอลลีน ความคิดแรกเลยนะคะ ไม่เอาตู่ค่ะ พรรคไหนจะร่วมกับตู่คือไม่กา แล้วเหลือกี่ตัวเลือก เพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ก็เคยเห็นมาแล้ว ที่เหลือก็มีอนาคตใหม่ สามัญชน ที่สู้ให้กับคนรุ่นใหม่ ดูจริงใจที่สุด เหมือนตอนนี้เราไม่ได้เลือกตั้งเพื่อเอานายกฯ เราเลือกเพื่อชนะตู่แค่นั้น

บ้านเราอยู่เชียงราย ป้ายหาเสียงของอนาคตใหม่มีน้อยมากๆ แต่ว่ามีพรรคของคุณไพบูลย์ (หัวเราะ) ใจจริงเราพยายามดูนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมและศิลปวัฒนธรรมของพรรคต่างๆ รู้สึกว่าพรรคไหนที่แคร์เรื่องเหล่านี้ แปลว่าเขามองไปมากกว่าการเมืองในระบบ แม้เรื่องการศึกษา เศรษฐกิจ จะเป็นจุดขาย ทุกคนพูดได้ว่าจะให้เรียนฟรีกี่ปี มีประกันสุขภาพแค่ไหน แต่ขอโทษนะคะ มันเหมือนนักการเมืองรุ่นเก่าที่คิดว่าสิ่งเหล่านี้จะขายได้ แต่เขาลืมไปว่าเจนเนอเรชั่นมันเปลี่ยนไปแล้ว

คุยกับเพื่อนที่อยู่ชมรมอนุรักษ์ เขาบอกว่า “ตอนแรกๆ ก่อนจะมีเรื่องฝุ่น PM 2.5 ไม่มีใครเคยออกมาพูดเรื่องนโยบายสิ่งแวดล้อมเลย” เราได้ยินแล้วมันรู้สึกว่าเจ็บ

เราไม่ได้อยากอยู่ในจังหวัดที่มีฝุ่น PM 2.5 ยาวเป็นเดือนเป็นปี มันไม่น่าจะใช่คุณภาพชีวิตที่เราต้องการ แม้จะมีก็อปปี้ที่บอกว่า “กรุงเทพชีวิตดีๆ ที่ลงตัว” ติดอยู่ที่แยกอโศก มัน irony มาก

ที่พูดเรื่องศิลปวัฒนธรรม เพราะความที่เราเรียนนิเทศศาสตร์มาด้วย เรารู้สึกว่าศิลปะในประเทศนี้ถูกตั้งไว้ต่ำมากๆ ฐานะการเงินที่บ้านเราก็ไม่ได้ดี แต่แม่เราจะพยายามซื้อหนังสือให้อ่านตลอดเวลา

ตอนนี้กำลังอ่านเรื่อง หิมะ ของออร์ฮาน ปามุก ราคาหนังสือ 585 บาท แต่ไปยืมจาก TK park มา คำถามคือถ้าสมมติลูกของแรงงานที่เขาได้ค่าแรงวันละ 300 บาท แล้วเขาอยากอ่านสิ่งนี้เขาจะทำยังไง ห้องสมุดส่วนมากไม่มี TK park มีค่าสมัครรายปี มันไม่มีทางที่เขาจะเข้าถึงอะไรแบบนี้ได้เลย มีบางพรรคบอกว่าจะให้เด็กพูดได้ 3 ภาษา ไทย อังกฤษ จีน แต่เราแทบจะไม่ได้เล็งถึงมิติด้านอื่นๆ ที่สร้างความเป็นคนเลย

อาร์ต เห็นด้วยกับพอลลีนทั้งเรื่องศิลปะและเรื่องสิ่งแวดล้อม สุดท้ายแล้วถ้าพรรคการเมืองไม่ใส่ใจเรื่องพวกนี้ มันเหมือนขาดอะไรบางอย่างไป

สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ ผมคิดว่าเราไม่สามารถอยู่ในภาวะสิ่งแวดล้อมที่เป็นแบบนี้ได้ ถ้าเราไม่ทำนโยบายสิ่งแวดล้อมให้ดี สังคมมันจะหนักไปที่นโยบายด้านสุขภาพอีก แทบทุกพรรคพยายามที่จะพูดว่าให้โรงพยาบาลในเขตชุมชนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ว่าการทำแบบนั้นมันไม่ใช่เรื่องง่าย มันไม่สามารถจัดการได้ในเวลา 4 ปีแน่ๆ เพราะจะทำแบบนั้นได้ มันต้องมีคนบริหารเป็น สุดท้ายก็ต้องมีการผลักดันเรื่องการศึกษา เพื่อให้มีคนที่บริหารเป็นลงไปอยู่ตรงนั้น

ผมมองว่าเราไม่สามารถบอกได้แค่ว่าจะดันนโยบายด้านไหนไปด้านเดียว เพราะสุดท้ายแล้วการเป็นรัฐบาล คุณมีสิทธิจัดการหลายๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชน เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น และผมมองว่าศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมที่ดี ก็นับเป็นคุณภาพชีวิตที่ประชาชนควรได้รับเหมือนกัน แม้มันอยู่นอกโครงสร้างพื้นฐานแต่ผมมองว่าเราควรนับมันเป็นส่วนหนึ่งของคุณภาพชีวิต

พอลลีน มันเหมือนเป็นการเติมเต็มด้านจิตวิญญาณ ส่วนโครงสร้างพื้นฐานอาจจะเป็นด้านร่างกาย กินอิ่ม อยู่สุข นอนหลับ

แบม เงื่อนไขการเลือกตั้งของเราครั้งนี้คือไม่เอาลุงตู่ก่อน ไม่เอาเผด็จการ ต้องสู้ลุงให้ได้ก่อน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น (หัวเราะ) ถ้าเกิดว่าสู้ไม่ได้มันไม่มีความหมาย

ซู การเลือกตั้งครั้งนี้คือมีทางเลือกแค่เผด็จการหรือประชาธิปไตย ลุงตู่นี่ไม่มีในหัวเลย ก็เหมือนกับทุกๆ คน และดูเหมือนว่ากลไกการเลือกตั้งมันเอื้อต่อฝ่ายเผด็จการ แต่ยังไงการเลือกตั้งก็ถือว่าเป็นกระบวนการที่เป็นรูปธรรมที่สุดที่ทำให้เราสามารถมีส่วนร่วมในทางการเมืองได้

พรรคที่มีนโยบายพหุวัฒนธรรมก็ดี แต่คิดว่ามันไม่พอ ต้องดูความเป็นนักต่อสู้ของแต่ละพรรคด้วยว่ากล้าพูดความจริงออกมาแค่ไหน ซึ่งการพูดความจริงมันทำให้ปลุกไฟในตัวเราด้วย แม้ว่าอาจารย์เราเคยบอกว่าความจริงที่พูดออกไป มันอาจจะกลับมาทำร้ายคนพูด แต่ถึงยังไงถ้าความจริงมันไม่ถูกพูดออกมา สุดท้ายเราก็จะอยู่ในกับดักของการเมืองไทยแบบนี้ไปตลอด

ส่วนตัวเราไม่ได้ยึดติดกับตัวพรรคหรือตัวบุคคลเลย ต้องมองให้ออกว่าการเมืองไทยมันไม่ได้หยุดอยู่แค่รัฐบาล แต่มันยังมีพวกรัฐพันลึกอีกเยอะที่อาจทำให้นโยบายต่างๆ ที่ก้าวหน้าไม่สามารถทำได้

สันติภาพในปาตานีจะเกิดขึ้นได้ต้องมีประชาธิปไตย เพราะว่าประชาธิปไตยจะเป็นทางออกของสันติภาพ เป็นสิ่งที่ยึดโยงกับประชาชน

แต่เท่าที่สังเกต นโยบายเร่งด่วนคือนโยบายเศรษฐกิจ เคยเห็นบทสัมภาษณ์ของป้าคนหนึ่งที่เคยขายของที่ตลาดเช้าในยะลา ซึ่งเป็นตลาดที่เคยโดนระเบิดมาก่อน ป้าคนนั้นบอกว่าตอนนี้เขาไม่หวังแล้วว่าใครจะชนะเลือกตั้ง เขาหวังว่าขอให้รัฐบาลหน้ามาแก้ไขปัญหาปากท้องคนในพื้นที่ก่อน เพราะว่าตลาดมันเงียบเหงาเหมือนตลาดร้าง

เขาคิดว่าถ้าหากปัญหาปากท้องไม่สามารถแก้ได้ สิ่งอื่นๆ มันก็ยังแก้ไม่ได้ แต่ถ้าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น คนจะสามารถเอาเวลาไปคิดอย่างอื่นได้ ไม่ใช่คิดแต่เรื่องพรุ่งนี้จะกินอะไร มะรืนนี้จะกินอะไร ซึ่งมันจะส่งผลกระทบเป็นโดมิโน่ทั้งในเรื่องการศึกษา เรื่องการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพอนามัย

เมื่อก่อนจำได้ว่าชาวบ้านจะออกไปกรีดยางตั้งแต่เช้ามืด แต่หลังๆ มานี้ เก้าโมงเขาก็ยังไม่ออกไป เพราะว่าแรงจูงใจที่จะออกไปกรีดมันไม่มี ถึงไปกรีดก็ได้ไม่กี่ร้อย

อาร์ต จริงๆ หลักการของผมก็คล้ายกับคนอื่นๆ เราอยากได้ความเป็นประชาธิปไตยที่สุด ผมมองว่าฐานเสียงของเพื่อไทยค่อนข้างแน่นอนแล้ว ผมเลยอยากให้โอกาสกับคนรุ่นใหม่ได้เข้าไปทำงานเพิ่มขึ้น จะได้ไม่มีข้อกล่าวหาที่ว่าไม่มีประสบการณ์การทำงาน อย่างน้อยเขาก็ควรได้เข้าไปทำงานสักครั้ง

“เราเห็นภาพของพม่า ช่วงที่ทหารรัฐประหาร แล้วก็ออง ซาน ซู จี โดนจับไปกักบริเวณ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในไทยจริงหรือเปล่า เรามองว่าประชาชนคงทนไม่ไหว เขาคงไม่ทนอยู่แบบนี้ตลอดไป” – ซู

ซู - ซูรัยยา วาหะ
ซู – ซูรัยยา วาหะ

คิดยังไงที่คนรุ่นก่อนมองคนรุ่นใหม่ยังอ่อนประสบการณ์ จะเลือกไปทำไม หรือกระทั่งว่าไร้เดียงสาทางการเมือง

อาร์ต : การที่คนแก่กว่าจะเลือกคนที่มีประสบการณ์มากกว่าไม่ใช่เรื่องผิด มันก็เป็นความเห็นของเขา แต่มันก็อาจจะจริงอย่างที่เขาว่ากันว่า คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานการเมืองไม่ได้มีประสบการณ์ทางการเมือง แต่ถามว่าคนเหล่านี้ จากประสบการณ์การทำงานของเขาที่ค่อนข้างโชกโชน ทำมาหลายอย่างแล้ว ผมว่าอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำถ้าคนที่เข้าไปใหม่จะได้เรียนรู้จากคนที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว

พอลลีน รู้สึกว่าคนที่พูดว่าใครไร้เดียงสา มันเป็นชุดความคิดที่มาจากระบบอุปถัมภ์ เป็นผู้ใหญ่ที่ชอบบังคับเด็กมากๆ เลย เราอยากรู้ว่าในต่างประเทศ มีพ่อแม่เขาถามแบบนี้กับลูกบ้างไหม

ส.ส.หญิงอเมริกันที่อายุน้อยที่สุดที่เขาบอกว่า “มันน่าแปลกที่เราจะเลือกคนเก่า แล้วหวังว่าจะได้ผลลัพธ์ใหม่” ซึ่งเรารู้สึกว่าประเทศไทยมันเป็นแบบนั้น คนรุ่นเราอาจไม่ได้เลือกคนรุ่นใหม่จากการที่เขาจะทำได้จริง แต่เราเลือกเพราะเขากล้าพูดในสิ่งที่เราอยากพูด ซึ่งคนรุ่นก่อนไม่เคยพูดสิ่งเหล่านี้ นี่คือประเด็น

อาร์ต บ้านผมเองก็ไม่คุยเรื่องนี้ เราจะไม่ถามกันว่าใครเลือกอะไร แต่เวลาดูข่าวหรือดูนโยบาย อาจจะมีคุยกันบ้างว่านโยบายนี้ดีอย่างไร เพราะว่าพ่อกับแม่ผมบอกตลอดว่าอยากเลือกใครก็เลือก ถ้ามีนโยบายหรือมีอะไรก็มาคุยกันได้ แต่ไม่เคยบังคับว่าต้องคุยเรื่องอะไร

แบม ปู่เราบอกว่าจะให้หนึ่งหมื่นถ้าเลือกพลังประชารัฐ คือเขาจริงจัง เราก็บอกว่าต่อให้โอนให้แบมจริง พอเข้าคูหาไปก็ไม่รู้อยู่ดีว่าแบมกาเบอร์อะไร จริงๆ เงินมันไม่เคยซื้อเสียงได้หรอก เงินมันแค่ช่วยให้กินอิ่มนอนหลับ แต่เอาจริงๆ ในคูหา เราไม่กา (หัวเราะ)

กับคนรุ่นใหม่ที่มีจุดยืนประชาธิปไตย คำถามก็คือทำไมถึงต้องให้โอกาสเขาเข้าไปทำงาน ก็เพราะถ้าไม่ให้โอกาสเขา แล้วเราจะรู้ได้ไงว่าเขาสามารถทำได้จริงตามที่เขาพูดหรือเปล่า

มีญาติเราที่รุ่นเดียวกัน เขาบอกเลยว่าจะเลือกทหาร เขาบอกว่าเขาไม่เห็นด้วยกับประชาธิปไตยตั้งแต่ต้นแล้ว เขาเชื่อว่าคนชอบเลือกอะไรโง่ๆ ไม่เชื่อว่าคนจะฉลาด จะมีคนโกงเข้ามาบริหาร เลยเชื่อในระบอบเผด็จการมากกว่า เชื่อว่าจะมีผู้นำเพอร์เฟกต์คนหนึ่งแล้วประเทศจะไปได้ไกล คุมง่ายกว่า เราก็คิดว่าเหมือนเราเมื่อ 5 ปีก่อนเลย ช่วงนั้นชีวิตสบาย

พอลลีน เขาเอาเผด็จการหรือสังคมนิยม

แบม เผด็จการ เขาไม่ได้มองในแง่ของความเป็นมนุษย์ เขามองในแง่ GDP ประเทศต้องพัฒนา แล้วเขาบอกว่าถ้ามีโอกาสเขาก็อยากไปทำงานการเมือง เพราะเขาไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง เขาทำเพื่อประเทศชาติ เราก็แบบ “อิหยังวะ” (หัวเราะ)

ซู ประเทศไทยมีวาทกรรมเรื่องอุปถัมภ์ ความเป็นไทยสูง แต่เจนเนอเรชั่นเรากับยุคก่อนมีอุดมการณ์ที่ไม่เหมือนกัน ผู้ใหญ่อาจมองว่าพวกเรามีความอดทนน้อย แต่เรามองว่าคนรุ่นก่อนกลัวที่จะเจออะไรใหม่ๆ มากกว่า

แล้วทำความเข้าใจยังไงกับลุงๆ ป้าๆ ที่ยังชอบ พล.อ.ประยุทธ์อยู่

อาร์ต ผมมองว่าเรื่องการศึกษาจะช่วยได้ระดับหนึ่ง ถามว่ามีตัวอย่างจริงๆ ไหมในบางประเทศที่บอกว่าเผด็จการดีกว่าประชาธิปไตย อย่างจีน เรื่องเศรษฐกิจของเขาพัฒนาเร็วกว่าไทย ขณะเดียวกันประเทศก็เป็นเผด็จการ หรือประเทศประชาธิปไตยอื่นที่แย่มีไหม ก็มี สุดท้ายแล้วระบบการปกครองเป็นเรื่องของสองอย่างที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน จะพูดว่าประชาธิปไตยดีที่สุดเสมอก็ไม่ได้ ต้องดูสภาพแวดล้อมของแต่ละอย่างด้วย

สุดท้ายแล้ว ถ้าเขามองว่าเผด็จการทหารมีประโยชน์ต่อเขา ผมมองว่าไม่แปลก มันไม่ผิด มันอาจจะผิดในมุมมองของเรา

เราต้องทำให้เขาเห็นความเป็นไปได้ที่ดีกว่าจากการเลือกระบบอื่น หรือต้องทำให้เขาเห็นหนทางที่ดีกว่าจากการเลือกประชาธิปไตย ซึ่งมันอาจจะยากหรืออาจจะไม่ใช่แบบนั้นจริงๆ สำหรับบางคนด้วยซ้ำ

ผมว่าระบบอุปถัมภ์ที่เราคุยกันมีส่วน เพราะมันเป็นระบบที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย มันเสนอผลประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่มมากกว่าคนอีกกลุ่ม ทหารอาจจะเลือกเป็นรัฐบาลทหารมากกว่า

พอลลีน เรารู้สึกว่าคนที่เลือกลุงตู่มีสองแบบ คือคนที่คิดว่าตัวเองได้ประโยชน์กับคนที่ได้ประโยชน์จริงๆ เราว่ากลุ่มที่ได้ประโยชน์จริงๆ เป็นกลุ่มเล็ก แต่กลุ่มที่สื่อสร้างภาพว่าจะได้ประโยชน์นั้น มันเหมือนในหนังสือ 1984

แบม กลุ่มที่คิดว่าตัวเองจะได้ประโยชน์ เพราะมันโดนปลูกฝังมา สื่อหลักพูดตลอดว่าวันนี้ลุงตู่ไปทำภารกิจอะไรบ้าง วันนี้ทหารไปช่วยน้ำท่วม มันโดนพูดถึงซ้ำๆ เกี่ยวกับความดีที่เขาทำ มันก็ไม่แปลกที่คนจะคล้อยตามวาทกรรม

พอลลีน ถ้าสื่อใหม่ๆ สามารถเปิดให้คนคุยกันได้ มันจะไม่เทไปทางนั้นขนาดนั้น แต่เรารู้สึกว่าเราอยู่ในประเทศที่เหมือนจะมีข้อห้ามในการคุยกับเพื่อนบนโต๊ะ เช่น การเมือง ศาสนา เพศ ความเชื่อนี้เป็นบล็อกสำคัญที่ทำให้เราไม่เข้าใจอีกฝ่าย เสื้อเหลืองเสื้อแดงที่ปะทะกัน เพราะเราไม่เข้าใจกันเลย ไม่มีโอกาสคุยกันเลย

ซู เพื่อนๆ ไม่มีคนไหนที่ชอบลุงตู่เลย แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ในชุมชน ไลฟ์สไตล์ของเขาจะมีความคล้ายๆ กัน และความที่ลุงตู่เป็นคนที่พูดหยาบ แข็งกร้าวอยู่แล้ว เลยทำให้พวกเขารู้สึกว่าลุงตู่เข้าถึงได้ง่าย ไม่เหมือนกับรัฐบาลชุดอื่นๆ ที่ต้องอ่อนน้อม แต่ลุงตู่สบถได้ เขารู้สึกว่าเป็นกันเอง

อยากชวนมองข้อดีของพรรคพลังประชารัฐ คิดว่าคืออะไร

แบม มันไม่ใช่ข้อดีในสายตาเรา แต่มันคือข้อดีในสายตาของคนที่บ้าน เขาอาจมองว่าพลังประชารัฐเป็นพรรคทหาร แล้วทหารกับนักการเมืองก็ไม่ใช่คนเดียวกัน พอเป็นคำว่าทหารมันดูเป็นคนซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ไม่โกง มีความเป็นผู้นำ เด็ดขาด รักษาสถาบันของไทย คนแบบนี้เหมาะกับประเทศเรา ก็เลยต้องใช้คนที่เด็ดขาดมาปกครองเพื่อทำให้ประเทศชาติพัฒนาต่อไปได้ ถ้ามีนักการเมืองมาก็จะทะเลาะกันอีกไม่จบไม่สิ้น

มีเพื่อนในเฟซบุ๊กเราคนหนึ่ง เขาเป็นนักกฎหมาย และโปรทหาร เขาบอกว่าทหารควรปล่อยให้นักการเมืองบริหารประเทศไป ประชาชนจะได้เรียนรู้และรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองเลือก เพราะว่าเขาไม่เชื่อในนักการเมือง เขาเชื่อว่าทหารแก้ปัญหาได้ และมีอีกคอมเมนต์บอกว่าพี่เห็นอีกแบบนะ เราควรให้ทหารปกครองเต็มรูปแบบสักครั้ง จะได้ลองเรียนรู้กันไป ประชาธิปไตยมันลำบาก นักการเมืองมาก็โกง ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ประชาธิปไตยคือสิ่งที่จะมาฉุดรั้งประเทศไว้ ไม่ต้องมีเลือกตั้ง ทุกคนต้องรบเป็นและพร้อมรบตลอดเวลา เวลาโดนพม่าบุกเราจะได้มีทหารมืออาชีพไปประจำ ทหารเท่านั้นคือคำตอบที่จะพาเราไปสู่ยุครุ่งเรืองได้ มีคนคิดแบบนี้อยู่จริงๆ

อาร์ต ผมมองว่ารัฐบาลแบบทหารมีข้อดีในสภาวะที่ต้องการการตัดสินใจและต้องทำอะไรหลายๆ อย่างที่ต้องรวดเร็ว มันสามารถเกิดขึ้นได้ทันที แต่ผมก็ไม่ได้มีความมั่นใจในข้อดีขนาดนั้น เพราะปัญหามันอยู่ที่ความเป็นเผด็จการซึ่งแฝงอยู่ในนามของประชาธิปไตย

ถ้า ม.44 ไปอยู่ในมือฝ่ายประชาธิปไตย จะโอเคกันไหม

พอลลีน มันไม่ใช่เรื่องว่าอยู่ในมือของใคร ไม่ว่าจะเป็นทรัมป์ โอบาม่า หรือเหมาเจ๋อตง แต่ประเด็นคือสิ่งนี้มันไม่เป็นประชาธิปไตย สมมติว่าถึงเราจะรักธนาธรมาก แต่เราจะรู้ได้ไงว่าเขาจะใช้มันอย่างถูกต้อง เพราะมันผิดที่แนวคิด ขัดกับหลักการทั้งหมดไปแล้ว มันไม่ควรไปอยู่ในมือใครทั้งสิ้น ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นมหาตมะ คานธี หรือออง ซาน ซู จี ก็ตาม

แบม เราจะเชื่อได้ไง คสช. มาบอกว่า คสช. ไม่โกง แต่ว่าตัวเองมี ม.44 อยู่ในมือ สามารถฝ่าทุกอำนาจและกฎเกณฑ์อยู่แล้ว จะถือว่าไม่โกงได้ยังไง เพราะมันไม่มีกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล

“อยากให้เขาเล่นเกม ROV จะได้ติด แล้วปล่อยให้งานบริหารประเทศเป็นหน้าที่ของคนอื่นไป” – แบม

แบม - ธัญชนก คชพัชรินทร์
แบม – ธัญชนก คชพัชรินทร์

ถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้อยู่ในอำนาจต่อ และสังคมไทยต้องอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีต่อไป แต่ละคนจะทนกันได้ไหม จะอยู่กันยังไง

ซู มันมีความเป็นไปได้ แต่คิดว่าคนไม่ยอม แค่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ประกาศใช้ ก็มีการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมแล้ว แล้วประเทศที่ไม่ยอมฟังความคิดเห็นจากประชาชนจะอยู่รอดได้นานแค่ไหน ก็ไม่น่าอยู่ได้นาน ยิ่งอยู่นานไปมันจะเกิดเหตุการณ์เหมือนตอน 14 ตุลาฯ ไหม เพราะว่าแค่นี้คนก็ต่อต้านกันเยอะแล้ว

แบม ถ้าเกิดรู้ว่าลุงตู่จะอยู่ต่อไปอีก 20 ปี สำหรับเรา เราย้ายประเทศนะ

พอลลีน เราโตมากับครอบครัวที่รักความเป็นไทยมาก แต่ในทางที่ดีคือกับข้าวอร่อยนะ ตั้งแต่เกิดมาเราไม่เคยอยากไปอยู่ที่อื่นเลย จนกระทั่งช่วงนี้เริ่มคิดแล้ว มีความรู้สึกว่าถ้ารวยมากๆ คงจะปิดตาข้างหนึ่งแล้วอยู่ในประเทศนี้ต่อไป แล้วค่อยไปบริจาคเงินให้คนจน บริจาคช่วยพี่ตูน ให้พี่ตูนก็วิ่งอีกสัก 10 รอบ ก็คงรู้สึกดีขึ้น

แต่ด้วยความที่เราไม่ได้รวยขนาดนั้น ความหวังเดียวของเราคือการย้ายประเทศจริงๆ เรื่องนี้มันแปลกมาก เราไม่เคยคิดเลยว่าจะมาคุยเรื่องนี้กับเพื่อน แล้วมีเพื่อนหลายคนที่คิดว่าแคนาดาอยู่ 4 ปีได้สัญชาติแล้วนะ ไม่รู้ว่าจะเรียกสิ่งนี้ว่ามีหวังหรือสิ้นหวัง เพราะขนาดเราคิดถึงอาหารไทยแค่ไหน แต่ถ้าให้เราอยู่อย่างนี้ต่อไป มันรู้สึกว่าไปเรียนทำอาหารแล้วไปทำเองที่ต่างประเทศก็ได้

อาร์ต เรามองว่าไม่แปลก ถ้าหลายคนจะอยากหนีไป เหมือนที่ผมพูดไว้ก่อนหน้านี้ ถ้าเผด็จการมัน offer ผลประโยชน์ให้กับคนกลุ่มเดียว มันอยู่ไม่ได้ ผมว่าบางทีการที่จะหนีออกจากสภาพแบบนี้ก็เป็นการลงทุนที่น้อยกว่าการอยู่แบบนี้ต่อไป

ซู เราเห็นภาพของพม่า ช่วงที่ทหารรัฐประหาร แล้วก็ออง ซาน ซู จี โดนจับไปกักบริเวณ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในไทยจริงหรือเปล่า เรามองว่าประชาชนคงทนไม่ไหว เขาคงไม่ทนอยู่แบบนี้ตลอดไป

พอลลีน เรื่องทนไม่ทน ก็เป็นคำถามในใจเราเหมือนกันนะ ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นในช่วง 2516 – 2519 เราว่ามันก็จะบูมๆ เป็นเหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เลยรู้สึกว่าหรือว่าคนรุ่นเราแม่งป๊อดว่ะ เราคุยกันในโซเชียลมีเดีย แต่ในด้านแอคชั่นเราไม่มีเลย หรือต้องรอให้เจอคนแบบทรัมป์ก่อน หรือกรณี #Metoo ที่คนออกมาพูดกันมาก

แบม มีหลายคนอาจรู้สึกว่าบ้านเมืองมันฉิบหายจากการทะเลาะกัน ดังนั้นอย่าทะเลาะ อย่าออกไปก่อม็อบใดๆ อีกเลย

พอลลีน สุดท้ายมันจะวนลูป อย่างที่บอกว่าสิ้นหวังๆ พออยู่นิ่งๆ กับตัวเองสักพัก ก็โกรธเกรี้ยว พิมพ์ลงโซเชียล แล้วก็กลับมาสิ้นหวังใหม่ อยู่กับตัวเอง ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวบนถนน

คิดว่าวันหนึ่ง New Voter จะต้องลงไปเดินประท้วงบนถนนอีกไหม

พอลลีน เคยคิดตอนที่มีข่าวสามคดีติดๆ กัน เรื่องนักเรียนเตรียมทหาร อวัยวะหาย เสือดำ และนาฬิกา ตอนทีมีเรื่องนาฬิกานี่เราภาวนาขอให้มีประท้วงเลย

อาร์ต ถึงจุดหนึ่งก็อาจจะใช่ แต่ว่าผมก็ให้คำตอบไม่ได้ว่าจุดนั้นมันอยู่ตรงไหน แต่ผมรู้สึกได้เลยว่าการทำแบบนั้นมันเป็นการแสดงออกว่าคนกลุ่มหนึ่งจะไม่ทนกลับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ในขณะเดียวกันเราก็แอบมองว่า การลงมาปิดถนนก็เป็นการสร้างความวุ่นวายให้กับคนอื่นทั่วไปเหมือนกัน โดยธรรมชาติตัวผมเองไม่เห็นด้วยกับการเดินไปปิดถนน แต่เรารู้สึกว่าการออกมารวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องอะไรบางอย่าง ถ้ามันไม่มีเสรีภาพจริงๆ ก็ควรจะทำ คนที่ต้องการความสงบสุขเลยต้องออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ

ชอบนโยบายหาเสียงของใครบ้าง อยากให้ฝ่ายที่ชนะเลือกตั้งเป็นรัฐบาลแล้วดำเนินการต่อ

แบม ชอบนโยบายของพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคอะไรไม่ค่อยรู้จักนะ แต่นโยบายที่ว่าจะเอากระทรวงศึกษาฯ ออกจากการเมือง อันนี้ตรงใจ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ ของประเทศไทยมีอายุทำงานเฉลี่ยแค่ 6 เดือน น้อยมาก แล้วมีโครงการแปลกๆ เข้าไปในโรงเรียนเต็มไปหมด ทำให้นโยบายที่มันลงไปสู่โรงเรียนไม่ต่อเนื่อง เพราะเขาเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อย

เราว่าน่าจะดี ถ้าเอากระทรวงศึกษาฯ ออกจากการเมืองได้ เขาเสนอว่าให้หาคนกลางมานั่งเป็นรัฐมนตรี อาจจะเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง ไม่ใช่อยู่ๆ เรียนจบหมอหรืออะไรมาแล้วมานั่งบริหารกระทรวงฯ มันควรจะเป็นนักการศึกษาที่เจอปัญหาจริงๆ หรือว่าครูที่พร้อมจะแก้ปัญหาตรงนี้มาช่วยแก้

แล้วพรรคนี้ก็มีนโยบายจะพัฒนาห้องสมุดเป็นแหล่งเรียนรู้ครบวงจร ไม่แน่ใจในรายละเอียด แต่ฟังดูดี คือได้ยินคำนี้แล้วนึกถึง TK park มีทั้งคอมพิวเตอร์ หนังสือนานาชนิด มีห้องให้เล่นเปียโน มีความหลากหลาย ถ้ามันกระจายไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้นน่าจะดี

ส่วนพรรคเพื่อไทยบอกว่าจะสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอัจฉริยะ 20,000 แห่ง อันนี้ไม่แน่ใจในรายละเอียด แต่คิดว่าเป็นนโยบายที่ทำได้เลย อีกอันหนึ่งที่ชอบของพรรคอนาคตใหม่ นโยบายที่ให้เพิ่มสิทธิลาคลอดเป็น 180 วัน จากเดิมคือ 90 วัน

พอลลีน กำลังคิดว่าประเด็นไม่ได้อยู่ที่ระยะเวลาเท่าไหร่ เราไปดูสารคดีเรื่องหนึ่งมา มันเล่าว่าผู้หญิงกับผู้ชายรายได้เฉลี่ยไม่เท่ากัน แล้วผู้หญิงต้องลาไปคลอดและเลี้ยงลูกคนเดียว ถ้าสมมติว่าผู้ชายตำแหน่งเดียวกัน ผู้หญิงลาคลอด ต้องหยุดเลี้ยงลูก ในขณะที่ตำแหน่งผู้ชายจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นที่ไอซ์แลนด์เลยออกกฎหมายให้ผู้ชายสามารถลาไปช่วยเลี้ยงลูกได้ เรารู้สึกว่าจะลาเท่าไหร่ก็ได้ แต่อยากให้ผู้ชายลาไปช่วยด้วย

สมมติว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงไหนก็ได้ เรื่องไหนเป็นเรื่องแรกที่จะทำ

แบม มันมีเรื่องที่ทำได้เลย กับเรื่องที่ต้องทำในเชิงโครงสร้างอย่างการแก้กฎหมาย ซึ่งคงไม่ประสบความสำเร็จในทันที ต้องใช้เวลา เราอาจจะเลือกทำเชิงโครงสร้างนะ เราชอบนโยบายกระจายอำนาจ อันนี้มีแทบทุกพรรคเลย บอกว่าให้โรงเรียนไปจัดการงบประมาณของตัวเองได้ อันนี้แทบทุกพรรค อย่างของอนาคตใหม่บอกว่าจะให้งบประมาณกับโรงเรียนโดยตรง มีคณะกรรมการโรงเรียนมาบริหารงบ พร้อมเปิดเผยข้อมูลให้ทุกคนตรวจสอบได้ แล้วคณะกรรมการที่มาบริหารงบ กำหนดว่าต้องมีนักเรียน ครู นักการศึกษา ผู้อำนวยการ ผู้ปกครอง เราว่ามันแฟร์ที่เขาเห็นหัวนักเรียนว่าต้องมีส่วนในการจัดการงบด้วย

พอลลีน อันที่ชอบเลย แล้วไม่มีใครกล้าพูดคือทลายทุนผูกขาด รู้ว่ายากมากๆ และโอกาสทำได้น้อยมากๆ แต่เราแค่รู้สึกว่าตั้งแต่เกิดมา ตามเรื่องการเมือง ไม่มีใครเคยชูประเด็นนี้เลย

แบม ชูขึ้นมาก็โดนนายทุนรุมยำพอดี (หัวเราะ)

พอลลีน ใช่ๆ แต่อย่างน้อยมันมีคนกล้าพูด แล้วก็เรื่องปฏิรูปกองทัพ รู้สึกว่าหลายพรรคมีเรื่องนี้ สวัสดิการเท่ากัน อันนี้ก็น่าสนใจว่าพวกข้าราชการจะยอมเหรอ ถ้าอยากให้มันเป็นรัฐสวัสดิการที่เวิร์ค ต้องเริ่มจากจุดนี้แหละ แต่ถ้าเอาที่จี๊ดใจสุดคือทลายทุนผูกขาด

อาร์ต เท่าที่ผมดูมา ผมรู้สึกว่านโยบายของหลายๆ พรรคโดยเฉพาะพรรคใหญ่ๆ มันทับซ้อนกันพอสมควร อย่างที่แบมพูดเลยเรื่องกระจายอำนาจ เรารู้สึกว่ามันเป็นปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่ควรจะแก้ไขได้แล้ว แต่ประเด็นคือมันไม่ใช่เรื่องที่แก้ได้ง่าย เพราะการคืนอำนาจให้ท้องถิ่น เราไม่สามารถแค่โยนอำนาจไปเฉยๆ ได้ เพราะมันไม่ใช่การจัดการที่ดีพอ

การจะทำแบบนั้นมันต้องค่อยเป็นค่อยไป ผมเลยมองว่าเรื่องนี้ควรจัดการเป็นอันดับแรก แต่หมายความว่าต้องเริ่มจากการจัดการก่อน ไม่ใช่เพราะว่ามันสำคัญ แต่เพราะต้องใช้เวลา กว่าที่มันจะไปถึงจุดนั้นได้จริงๆ

ปัญหาเชิงโครงสร้างมันไม่ใช่แค่เราให้อำนาจคุณไปบริหาร แล้วคุณเอาไปเลย จบ ต้องดูความพร้อมของแต่ละท้องถิ่นที่จะรับอำนาจนั้นไปว่ามีมากน้อยแค่ไหนด้วย ผมมองว่าควรมีขั้นก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น ต้องผ่านการสอน ผ่านการอบรมมาก่อน เพราะการจัดการอำนาจมันไม่ใช่เรื่องที่ใครๆ ก็ทำได้ จะทำได้ดี ต้องฝึก แต่ยังไงก็ควรทำเลย

ส่วนถ้าผมเป็นรัฐมนตรีแล้วจะทำเรื่องไหนก่อน ผมจะทำเรื่องการศึกษา การเป็นรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาได้ดี ต้องมีการวางรากฐานและเริ่มที่การมองปัญหาระยะยาว ถ้าเรามีการแก้ปัญหาที่ดีพอ เราจะสามารถแบ่งคนไปช่วยในเรื่องที่เป็นปัญหาระยะสั้นได้ด้วย

อะไรทำให้แต่ละคนคิดว่าการกระจายอำนาจเป็นเรื่องสำคัญ

อาร์ต ผมมองว่าการกระจายอำนาจเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าการให้แต่ละพื้นที่มีอำนาจในการจัดการ เหมือนเป็นการให้อำนาจคืนสู่ประชาชน น่าจะทำให้แต่ละพื้นที่สามารถปรับแต่งการใช้อำนาจให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่จริงๆ มากกว่าแค่ให้ระบบส่วนกลางเป็นการจัดการ

พอลลีน เราว่าประชาธิปไตยคือทุกคนมีสิทธิออกเสียงใช่ไหมคะ แต่พอมันรวมอยู่ที่ศูนย์กลาง เหมือนพีระมิด มันไม่มีทางที่คนๆ เดียวจะฟังเสียง 60 กว่าล้านคนได้

แบม : รู้สึกว่าความยากมันอยู่ที่ท้องถิ่นอาจยังไม่ชินกับการที่ตัวเองต้องบริหารจัดการตัวเอง เพราะว่าถูกสั่งมาตลอด จริงๆ แล้วการกระจายอำนาจมันเคยมีมาก่อนในยุคทักษิณ แต่คนที่เขาต้องบริหารจัดการ เหมือนมีอะไรก็ต้องมาถามข้างบนตลอดว่าอย่างนี้ถูกไหม อย่างนั้นได้หรือเปล่า คือมันมีที่พร้อมและก็ไม่พร้อม ก็เลยเป็นปัญหาของภาครัฐว่าต้องลงไปช่วยอยู่ดี ทั้งๆ ที่มีการกระจายออกไปแล้ว

คงต้องใช้เวลาในการทำให้คนเริ่มชินกับระบบการจัดการตัวเอง เราเชื่อว่าในระยะยาวมันจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการรวมศูนย์

พอลลีน ขอเสริมนิดนึง แถวบ้านเราชอบมีมุกกันว่า อบจ.ใครก็อยากเข้าไป เพราะว่าเงินดี เรารู้สึกว่าสิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยคือการตรวจสอบ และความเป็น Active Citizen อันนี้คนไทยยังขาด ไม่ได้ขาดเพราะว่าคนไทยไม่มีความรู้ แต่ขาดเพราะว่าเราไม่ตื่นตัว มันไม่มีวัฒนธรรมนี้อยู่

ซู ฟังแบบนี้แล้วเก็ตเลย การกระจายอำนาจเป็นสิ่งสำคัญมากๆ กับทุกพื้นที่ เพราะคนแต่ละพื้นที่จะรู้ปัญหาของตัวเอง แล้วเขาจะแก้ได้ตรงจุดที่สุด แต่สิ่งที่จะต้องทำควบคู่ไปด้วยคือการตรวจสอบถ่วงดุล

ส่วนตัวชอบนโยบายนี้ที่สุดเหมือนกัน รองลงมาก็เป็นเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ด้วยความที่เศรษฐกิจตอนนี้มันซบเซามากจริงๆ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ พอถึงเวลาช่วงเทศกาลวันรายอ แต่ก่อนจะเห็นว่าพอช่วงใกล้เทศกาล คนจะเยอะมาก เขาจะแห่กันไปซื้อของเตรียมเทศกาล แต่พักหลังมานี้แทบไม่มีคนออกมา หรือถ้ามีเขาจะเก็บตังค์ตั้งแต่ช่วงต้นปีก่อนที่จะมีเทศกาล ลำพังจะไปเก็บช่วงนั้นมันไม่ทันแน่ๆ เขาจะไม่มีเงิน

เรื่องการปฏิรูปกองทัพ ลดจำนวนพลทหารในพื้นที่ก็สำคัญ ยกตัวอย่างเคสหนึ่งที่นราธิวาส บางที่เคยเป็นเขตพื้นที่สีแดง หลังจากนั้นมีการยกเลิกด่านความมั่นคงไป จากนั้นก็ไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเลย เหมือนว่าที่มันเป็นพื้นที่สีแดงก็เพราะว่ามีเจ้าหน้าที่อยู่

แล้วก็นโยบายการยกเลิกเกณฑ์ทหาร ใช้การรับสมัครแทน เรามองว่ามันดีมากๆ เพราะในช่วงเวลาที่ผู้ชายเข้าไปเกณฑ์ทหาร ใครจะไปรู้ว่าเขาอาจเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวที่ต้องหาเงินเลี้ยงครอบครัว ถ้าเขาหายไปมันจะส่งผลกระทบแค่ไหนกับครอบครัวของเขา พ่อแม่อาจจะป่วยอยู่ก็ได้

“อยากให้ลุงตู่ไปนั่งรถเมล์ ทำยังไงก็ได้ให้มาขึ้นรถเมล์ที่รังสิต สาย 29 ช่วงไพร์มไทม์ตอนเช้า แล้วก็มารอรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ พอหมดวันกินข้าวแบบถูกๆ เลย เท่าที่คนๆ นึงจะกินได้ แล้วก็ขึ้นรถเมล์ช่วงไพร์มไทม์กลับบ้าน” – พอลลีน

“พอลลีน” เทวรักษ์ รุ่งเรืองวิรัชกิจ
“พอลลีน” เทวรักษ์ รุ่งเรืองวิรัชกิจ

มีนโยบายไหนที่ดูแล้วขัดใจไหม

พอลลีน : ที่พรรคพลังประชารัฐบอกจะมีสวัสดิการประชารัฐ สร้างความสามัคคี ประชาชนกินอิ่มนอนหลับ สังคมสีขาว บางกอก 5.0 อันนี้ฟังดูมันก็ดีนะ แต่มันนามธรรมสุดๆ เหมือนฟังนิทานก่อนนอน แล้วคุณจะทำให้สังคมสีขาวยังไง ประชาชนจะกินอิ่มนอนหลับยังไง 5.0 คืออะไร 4.0 ยังไม่รอดเลย ความสามัคคีมาอีกละ

อาร์ต อย่างถ้าที่ดูมาบ่อยๆ จะมีเรื่องสาธารณสุข เห็นอันหนึ่งของเพื่อไทยที่เขียนว่า จะให้เงินค่าตอบแทนกับหมอหรือพยาบาลตามคุณภาพของการรักษาที่คนไข้ได้รับ อันนี้ฟังแล้วเหมือนจะดูดี แต่ในความเป็นจริงเคสในทางการแพทย์มันทำไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเขาไม่พยายาม เขาอาจพยายามเต็มที่แล้ว แต่สุดท้ายมันอาจไม่สำเร็จ เพราะว่าเรื่องของการแพทย์มันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากๆ ผมมองว่ามันเป็นนโยบายที่แปลก เราไม่สามารถเอาผลลัพธ์มาตัดสินได้

เท่าที่ดูบรรยากาศการหาเสียงเป็นยังไง มองป้ายพรรคการเมืองแต่ละพรรคแล้วรู้สึกยังไงบ้าง

พอลลีน : เพื่อไทยเป็นพรรคที่ใช้คำดีมาก เป็นประโยคแบบปังๆๆ ฟังแล้วจบ แล้วตัวอักษรป้ายพรรคเพื่อไทยจะใหญ่ที่สุด แต่ก็อยากชมอนาคตใหม่ที่ใส่ใจเรื่องฟอนต์ รู้สึกว่าเขาฉลาดที่เล่นเรื่องนี้ เล่นสนามออนไลน์ อย่างกระแสฟ้ารักพ่อ สนามออนไลน์จะเป็นอีกหนึ่งตัวชี้ขาดของการเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้งในแง่คนรุ่นใหม่กับในแง่เสียงที่เราอาจไม่รู้ ส่วนคุณไพบูลย์เราก็เชื่อว่าจะมีคนเลือกจริงๆ นะ (หัวเราะ)

แบม ญาติเราคนหนึ่ง ขับรถผ่านป้ายคุณไพบูลย์ เขาบอกว่าคนนี้รู้ผิดชอบชั่วดี

พอลลีน อีกอย่างที่ชอบมากคือ เริ่มเห็นคนที่อินบ็อกซ์ไปถามในเฟซบุ๊กพรรคต่างๆ ว่าคุณคิดยังไงเกี่ยวกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วมันมีน้อยพรรคที่จะตอบ ซึ่งหนึ่งในนั้นคืออนาคตใหม่ อนาคตใหม่ตอบมาแบบเรียงความหนึ่งเรียงความ

แบม แล้วตอบเร็วด้วยนะ

พอลลีน : ใช่ แล้วมันกลายจากจุดด้อยเป็นจุดแข็ง เหมือนจะมีคนอินบ็อกซ์ไปถามว่า ทำไมต่างจังหวัดป้ายหาเสียงพรรคอนาคตใหม่น้อยมาก แล้วเขาตอบกลับมาว่า ป้ายหาเสียงมันก็มีมูลค่าค่อนข้างสูง ถ้าทุ่มเงินไปเยอะ นั่นแสดงว่าเราต้องเรียกทุนคืน เลยรู้สึกว่าคนที่แคร์แบบ two way communication มันเป็นคนยุคนี้

เรารู้สึกว่าสนามออนไลน์ นอกจากเป็นจุดเปลี่ยนของคนรุ่นใหม่ มันยังทำให้เรารู้ข้อมูลบางอย่าง อย่างกรณี ‘เหตุการณ์ 8 กุมภาฯ’ ทำให้รู้สึกว่าถ้าไม่มีวันนั้น คนรุ่นเราคงไม่ตื่นตัวกันขนาดนี้ เพราะที่ผ่านมาคนอาจยังงงๆ แต่พอมีวันนั้นวันเดียว มันเหมือนจุดประกายเลย รู้สึกว่าสนามออนไลน์สนุก

ซู เรามองเห็นอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนั้น ฝั่งประชาธิปไตยหลายคนเหมือนกับอกหักไปเลย แล้วทำให้วันนั้นพรรคอนาคตใหม่สามารถเรียกคะแนนกลับมาได้เยอะมาก

อาร์ต ผมมองว่ามันเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสังคมไทยมากๆ ตอนนั้นในโซเชียลมีเดียโกลาหลพอสมควร เราเห็นความคิดเห็นที่หลากหลาย

ส่วนตัวผมรู้สึกว่าไม่ควรดึงมาเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้น ในขณะเดียวกันก็ไม่โทษอะไรกับคนที่เพิ่งรู้ ถ้าถามว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่จะตัดสินใจเลือกเขาเพราะสถานะมีไหม เราปฏิเสธไม่ได้ว่าก็มีจริงๆ ซึ่งมันอาจจะส่งผลต่อการเลือกตั้งจริงๆ แต่คนที่เลือกเพราะการศึกษาของเขาก็มี เพราะเขาเป็นคนที่มีพื้นฐานการศึกษาที่ดีมากๆ โดยเฉพาะเรื่องสาธารณสุข คนอาจมองได้ว่าในรัฐบาลก็ควรจะมีคนที่เชี่ยวชาญในหลายๆ ด้าน เพราะว่าการบริหารประเทศ เราไม่ได้ต้องการแค่คนที่จบด้านการเมืองอย่างเดียว

แบม จริงๆ ตอนที่มีประกาศเรื่องนี้ออกมา รู้สึกเหมือนโมโห เพราะว่าทำไมทุกคนเหมือนดูมีความหวัง จริงๆ ก็เข้าใจ แต่ยิ่งเหมือนตอกย้ำว่าประชาชนคนไทยไม่ได้มีอำนาจอะไร มาถึงตอนดึก ยิ่งรู้สึกว่าเราไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจอะไรเลย ชนชั้นนำเป็นคนจัดการทั้งหมด เราไม่ได้อยู่ในสมการใดๆ ของการเมืองไทยเลย

ซู เหตุการณ์วันที่ 8 กุมภาฯ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างการเมืองกับประชาชนเยอะมากๆ แทนที่การเมืองจะต้องยึดโยงกับประชาชน

พอลลีน เข้าใจนะว่าทำไมคนถึงอยากเลือกเขา แต่เรามองว่าวันนั้นเราสิ้นหวังมากเลย เรารู้สึกว่าถ้าประเทศไทยจะไม่เอาทหารแล้วต้องมีทางเลือกแค่นี้เหรอ

 

เคยรู้สึกไหมว่าความตื่นตัวทางการเมืองของแต่ละคน วันดีคืนดีจะกลายเป็นคนที่ไม่สนใจการเมืองอีกแล้ว

ซู ถ้าถามในปัจจุบัน ก็ไม่อยากให้มันเกิดขึ้น ไม่อยากเป็นในจุดๆ นั้น มีความรู้สึกว่าปัญหาเดิมๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศ มันจะ ignore ต่อไปไม่ได้ แม้ว่าเราจะเป็นแค่หยดน้ำในมหาสมุทร แต่อย่างน้อยเราก็ต้องทำอะไรบ้าง มันมีความรู้สึกว่าเหมือนการเมืองมันเข้าไปในเส้นเลือดของเราแล้ว มันกลายเป็นส่วนหนึ่งในความรับผิดชอบไปแล้ว

แบม เราว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะเราเห็นปัญหามาเยอะขนาดนี้แล้ว เราไม่อยากจะปล่อยให้มันดำเนินต่อไปและตกไปอยู่กับคนรุ่นลูกรุ่นหลานหรือกับใครอีกแล้ว แต่ว่ามันคงมีท้อ ทุกวันนี้ยังท้อเลยว่าทำไมมันถึงรู้สึกสิ้นหวังเหลือเกิน เราพยายามที่จะสู้เพื่ออะไรบางอย่าง แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับเรา แล้วก็พยายามจะขัดขวางเราทุกอย่าง เรารู้สึกจนมุมกับการต่อสู้เพื่อสิ่งที่เราต้องการ

ถ้าเกิดว่าจะ fade ตัวออกไปจากวงการการเมือง อันนี้เป็นไปได้ แต่ถ้าจะ ignorance ไปเลย คงทำไม่ได้ เราอาจจะไปทำธุรกิจหรือว่าย้ายไปต่างประเทศ แต่ก็รู้สึกว่าเราจะตามการเมืองอยู่เรื่อยๆ พยายามจะช่วยเหลือเท่าที่ช่วยได้

พอลลีน เราร็สึกกลับกัน ถ้าเราได้ลุงตู่ต่ออีก 4 ปี คงสิ้นหวังมากๆ อย่างตอนแรกที่บอกว่ากราฟเราจะมีสิ้นหวัง เดือดดาล สิ้นหวัง เดือดดาล ไอ้จุดที่สิ้นหวังมากๆ คือเรื่อง “นาฬิกาเพื่อน” มีพี่คนหนึ่งบอกว่าการที่เขาออกมาพูดแบบนี้ มันไม่ใช่แค่การโกหก แต่มันคือการดูถูกเรา มันทำให้เรารู้สึกตัวเล็กเหมือนแพลงก์ตอนในมหาสมุทร ถ้าซูบอกว่าเป็นหยดน้ำ เราว่าตัวเองเป็นแพลงก์ตอน

เราไม่ใช่คนที่แบบไม่สนใจไม่ตามข่าว แต่เป็นคนที่จะตามข่าวแล้วก็รู้สึกว่ามันเป็นเช่นนั้นแหละ เราว่ามันเป็นอาการแบบนี้เลย เราไม่สามารถ take action ใดๆ ได้เลย เพราะเราไม่มีอำนาจใดๆทั้งสิ้น

ตั้งแต่เกิดมา เราเจอรัฐประหาร 2 รอบ จำได้ว่าเป็นวันที่ไม่ต้องไปโรงเรียน แล้วมันเหมือน Play ซ้ำ ถ้าสมมติว่าเจอครั้งเดียวคงโอเค แต่ตอนนี้มันกลายเป็น Play ซ้ำ แต่สิ่งที่กระทบจิตใจมากที่สุดคือการมีคนเสียชีวิต ไม่ว่าจะเกลียดหรือว่าจะไม่ชอบอีกฝั่ง มันเกิดคำถามเรื่องคุณค่าความเป็นมนุษย์ว่าเราอยู่กันแค่ไหน

คนๆ หนึ่งที่เขาเอ็นดูหมา ดูเป็นคนดีมากๆ แต่เขาเป็นคนไปยิงคนอีกฝั่งหนึ่ง แล้วคุณค่าของคนๆ นั้นยังเป็นคนดีอยู่ไหม เราอาจจะเจอคนที่ดีมากๆ แต่สนับสนุนลุงตู่ คุณค่าที่เรายึดถือมันสั่นคลอนมาก ตอนเด็กๆ ถูกสอนมาว่าดำไม่ดี ขาวดี พอโตมาได้เรียนเกี่ยวกับมาร์ติน ลูเธอร์ คิง บอกว่ากฎหมายที่อยุติธรรมอย่าไป follow

อาร์ต ผมไม่ค่อย ignore เรื่องการเมืองอยู่แล้ว ผมไม่รู้ว่าอะไรมันจะทำให้คนๆ หนึ่งสามารถเดินออกจากเรื่องนี้ไปได้เพราะว่าถ้าสมมติว่าความรู้สึกว่าเสียงของเรามันไม่มีผล มันวนลูปไปเรื่อยๆ ผมก็ไม่มั่นใจหรอกว่าถึงตอนนั้นจะอยู่กับเรื่องแบบนี้ได้อีกนานแค่ไหน

ถ้าให้พูดถึงพรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ คิดแบบไวๆ แต่ละคนนึกถึงอะไรเป็นสิ่งแรก

อาร์ต พรรคประชารัฐสิ่งแรกที่นึกถึงก็คือ 4-5 ปีที่ผ่านมาโดยลุงตู่ เหมือนการสืบทอดอำนาจ ผมรู้สึกว่าเขายังอยู่เหมือนเดิม แผนที่เขาวางไว้ทุกอย่างยังอยู่

อนาคตใหม่ ผมนึกถึงคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ที่เหมาะกับปัจจุบัน แต่ว่าอาจจะยังไม่มีประสบการณ์การทำงานเท่ากับคนที่อยู่มาก่อน

พรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ ผมมองว่าทั้งสองพรรคเป็นพรรคหน้าเก่าที่ถ่วงดุลอำนาจมานานแล้ว ทั้งสองพรรคดูมีฐานเสียงประมาณหนึ่ง แล้วก็มีประสบการณ์การทำงานที่มากกว่า แต่ก็สร้างประสบการณ์ให้คนไทยหลายๆ คนเข็ดไปบ้าง

ซู พรรคประชารัฐการสืบทอดอำนาจ คสช. เห็นได้ชัดมาก เขาจะทำให้ระบบเผด็จการชอบธรรมมากขึ้น และเราก็จะอยู่ในวังวนเดิม

พรรคอนาคตใหม่ เราเห็นความประชาธิปไตยของเขา

พรรคเพื่อไทย เอาจริงๆ ตามแค่ชัชชาติ เรารู้สึกว่าเขาเป็นผู้บริหารหน้าใหม่ที่เรามองเห็นวิสัยทัศน์

พรรคประชาธิปัตย์ สิ่งที่มองเห็นคือมันจะมีวาทกรรมหนึ่งที่เขาบอกว่า พรรคประชาธิปัตย์มีฐานเสียงมากที่สุดในภาคใต้ ถึงกับขนาดที่ว่าถ้าหากส่งเสาไฟฟ้าลงสมัครคนก็เลือก แต่เราเฉยๆ กับพรรคนี้ แต่ว่ากลุ่ม NewDem เขาอยากปฏิรูปพรรค มันก็น่าสนใจในจุดๆ นี้ แต่ตราบใดที่คนเก่าๆ ยังเป็นผู้บริหารอยู่ เรารู้สึกว่ามันไม่ได้น่าสนใจ

แบม พรรคประชารัฐชั่วร้าย ลุงตู่ คสช. จะกลับมา สิ้นหวัง

อนาคตใหม่ คนรุ่นใหม่ มีอุดมการณ์ หัวก้าวหน้า

พรรคเพื่อไทย ทำเพื่อคนรากหญ้า สุดารัตน์ ผู้บริหาร

พรรคประชาธิปัตย์ นักการทูต ครึ่งๆ กลางๆ แล้วก็เฉยๆ

อาร์ต จริงๆ เราเห็นด้วยกับที่แบมพูด ถ้าทางประชาธิปัตย์คนจะติดภาพที่เขาดูเป็นคนที่หลักการแน่น แต่ว่าพอทำจริงแล้วหลายๆ อย่างไม่ค่อยสำเร็จ ถ้าเป็นของทางเพื่อไทย ผมว่าเขาค่อนข้างที่จะเป็นกึ่งๆ Conservative ถ้าไม่รวมชัชชาติ มีความเก่าหลายๆ อย่างไว้

พอลลีน พรรคประชารัฐนึกถึงคำว่า ตู่ ตู่ ตู่ คำว่าตู่นี่ครอบคลุมทุกอย่างแล้ว

เพื่อไทย นึกถึงสามสิบบาท

ประชาธิปัตย์ นึกถึงประกันราคาข้าว นโยบายอะไรก็ตามที่ใช้ศัพท์ยากๆ แล้วดูดี แต่เราไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร แต่อย่างเกิดปั๊บรับแสน เรารู้สึกดีใจมากว่าประชาธิปัตย์จ้าง copy writer แล้ว

อนาคตใหม่นึกถึงปฏิรูปทหาร

ถ้าวันนี้มีโอกาสได้เจอหน้าบิ๊กตู่จะพูดอะไร จะขออะไร

อาร์ต เราไม่ควรขออะไรที่เป็นไปไม่ได้จากเขา ซึ่งมันก็ดูไม่มีอะไรเลย อย่างถ้าจะพูดว่าขอประชาธิปไตย มันก็เป็นไปไม่ได้

ซู อยากถามว่าคิดอะไรอยู่ อยากรู้ว่าฐานคิดของเขาคืออะไร ทำไมเขาถึงเลือกที่จะบริหารประเทศแบบนี้

แบม อยากจะบอกลุงตู่ว่าลาออกเหอะ แล้วก็กลับไปบอกเพื่อนๆ ว่าอย่ารัฐประหารอีก

พอลลีน เราคิดเป็น action เลย อยากให้ลุงตู่ไปนั่งรถเมล์ ทำยังไงก็ได้ให้มาขึ้นรถเมล์ที่รังสิต สาย 29 ช่วงไพร์มไทม์ตอนเช้า แล้วก็มารอรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ พอหมดวันกินข้าวแบบถูกๆ เลย เท่าที่คนๆ นึงจะกินได้ แล้วก็ขึ้นรถเมล์ช่วงไพร์มไทม์กลับบ้าน จบ

 

ถ้ามีผู้หลักผู้ใหญ่อยากให้ฟังเพลงหนักแผ่นดิน แต่ละคนอยากให้พวกเขาได้เพลงอะไร

แบม ภาพจำ ของป๊อบ ปองกูล

พอลลีน อยากเปิดเพลงบทสวดให้ “องค์ใดพระสัมพุทธ…” ตอนแรกคิดว่าอยากให้ฟัง Imagine ของจอห์น เลนนอน แต่รู้สึกว่าทำอะไรเขาไม่ได้ เปิดเพลงบทสวดแล้วกัน

 

มีแอปพลิเคชันใหม่ๆ เกมใหม่ๆ ที่อยากแนะนำให้ คสช. เล่นบ้างไหม ถ้าเผื่อเขาจะอยู่ในอำนาจต่อ

อาร์ต เอาอย่างที่พอลลีนพูดก่อนหน้านี้ได้ อยากให้ลองโหลด Google Map มาใช้ เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะให้ทั่วกรุงเทพฯ

แบม : อยากให้เขาเล่นเกม ROV จะได้ติด แล้วปล่อยให้งานบริหารประเทศเป็นหน้าที่ของคนอื่นไป

ซู : อยากให้เขาไปเล่นบอร์ดเกม จะทำให้การทดสอบว่าสามารถทำได้แค่ไหน มันจะมีพวกบอร์ดเกมจัดสรรทรัพยากรที่เรามีอยู่ว่าเราจะจัดการยังไงกับมัน

พอลลีน เกมชาเย็น Chayen สมมติว่าให้บิ๊กตู่ยกป้าย แล้วให้ผู้สื่อข่าวใบ้ หรือไม่ก็ให้ทางบ้านส่งคำมาว่าจะให้ใบ้คำไหน

หลังเลือกตั้ง ไม่ว่าใครก็ตามที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี อยากให้เขาได้อ่านหนังสืออะไรบ้าง

อาร์ต 1984 เพราะมันเป็นดิสโทเปียยุคแรกๆ ที่เกี่ยวกับการเมือง

พอลลีน คำพิพากษา ของชาติ กอบจิตติ กับ คิดถึงทุกปี ของบินหลา สันกาลาคีรี เราอยากให้นายกฯ คนต่อไปมีความเป็นมนุษย์เอามากๆ อยากให้เขารู้สึกว่าในการที่เขาจะตัดสินใจอะไร คุณต้องคิดแทนคน 60 กว่าล้านคน

อาร์ต ผมนึกถึงอีกเล่มคือ Fahrenheit 451 มันพูดถึงเกี่ยวกับความสำคัญเกี่ยวกับการอ่านหนังสือ กับความสำคัญของการส่งต่อเรื่องราว มันเป็นดิสโทเปียเหมือนกัน มีรัฐบาลที่พยายามจะเผาหนังสือทุกเล่มทิ้งเพื่อที่จะสามารถควบคุมคน เราอยากให้เขาเห็นว่าจริงๆ แล้วการศึกษาเป็นทางออก

แล้วก็ ฟ้าบ่กั้น รู้สึกว่ามันเป็นหนังสือของคนธรรมดามากๆ ที่กลั่นกรองมาจากประชาชนที่อยู่ภายใต้ผลกระทบจากการกระทำของของรัฐบาล

ซู เรื่องหิมะ ของออร์ฮาน ปามุก มันแสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ เห็นการใช้ชีวิตของคน บางครั้งผู้บริหารต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์ พื้นฐานของความเป็นมนุษย์มันเป็นยังไง ความต้องการของเขามันเป็นยังไง

แบม Game of Thrones อ่านไปเลยยาวๆ สนุกมาก เราได้เห็นมุมของคนของนักปกครองแต่ละแบบ เขาอยากจะเป็นคนแบบไหนในเรื่อง อะไรคือความพอดีของการเป็นนักปกครอง

พอลลีน ขอเสริมอีกเรื่อง Human of New York เคยมีพี่คนหนึ่งพูดว่า “ถ้ารู้สึกว่าชีวิตตัวเองเหี้ย ให้ไปอ่านเรื่องนี้”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023