fbpx
ประชาธิปัตย์กลางมรสุมเศรษฐกิจการเมืองไทย กับ กรณ์ จาติกวณิช

ประชาธิปัตย์กลางมรสุมเศรษฐกิจการเมืองไทย กับ กรณ์ จาติกวณิช

 

ในห้วงยามที่เสียงวิจารณ์นโยบายฝีมือการบริหารและธรรมาภิบาลของรัฐบาลพลังประชารัฐดังขึ้นเรื่อยๆ ‘ประชาธิปัตย์’ ย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยงคำถามได้ เพราะไม่เพียงแต่คุมกระทรวงสำคัญเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลตั้งแต่ต้น

รวมถึงคำถามใหญ่ๆ อย่างเช่น ก้าวต่อไปประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร และมรสุมเศรษฐกิจการเมืองไทยจะคลี่คลายไปแบบไหน

ต่อไปนี้เป็นทัศนะบางส่วนจาก ‘กรณ์ จาติกวณิช’ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้เคยเป็นประธานนโยบายพรรคฯ และเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ให้สัมภาษณ์ไว้ผ่านรายการ 101 One-On-One EP.90

 

:: ประชาธิปัตย์หลังเลือกตั้ง ::  

 

 

การตัดสินร่วมรัฐบาลส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายในพรรค ตลอดช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมาของผมในการเป็น ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ มีการถกกันอย่างเข้มข้นประมาณ 2 ครั้ง ในอดีตก็คือการคว่ำบาตรไม่ส่งสมาชิกลงเลือกตั้ง และครั้งนี้คือการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ

ในช่วงก่อนเลือกตั้ง เราจับกระแสได้ว่ากระแสพรรคเราไม่ค่อยดี แต่จริงๆ แทบไม่มีพรรคไหนเลยมีกระแสดี นอกจากพรรคอนาคตใหม่ ปัญหาของเราคือเกิดจากการเมืองที่มันแบ่งขั้วอยู่ และ 5 ปีที่รัฐประหาร แทนที่จะมีการสลายขั้ว ผมกลับเห็นว่ายิ่งมีความห่างของขั้วการเมืองมากขึ้น

เดิมที การเลือกตั้งที่ผ่านมา เราคิดว่าประชาชนน่าจะสนใจปัญหาปากท้องมากที่สุด เพราะเป็นช่วง 5 ปีที่ราคาพืชผลตกต่ำมาก เราจึงให้ความสำคัญกับนโยบายที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาหนี้สิน ปรากฏว่าเวลาผ่านไปกลายเป็นการเลือกข้าง และเราก็ติดอยู่ตรงกลาง ถ้าใช้ภาษาฝรั่งคือ no man’s land และจะเห็นได้ว่าคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคในขณะนั้นต้องรับคำถามว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมกับคนนั้นคนนี้ เลยไม่ค่อยมีโอกาสได้พูดสิ่งที่อยากพูด หรือถ้าอยากพูดก็ไม่มีคนสนใจ พอช่วงโค้งสุดท้ายคุณอภิสิทธิ์ก็ต้องตัดสินใจเลือกไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

ปรากฏว่าแฟนคลับของเราช็อก เพราะว่าเขามีสมมติฐานมาตลอดว่าการที่เขาจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ก็เพราะเขาคิดว่าประชาธิปัตย์จะไปร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะฉะนั้นก็มีข้อสรุปว่าเขาเลือก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เลือกคุณอภิสิทธิ์

หลังคุณอภิสิทธิ์ลาออกจากหัวหน้าพรรค ตอนนั้นทุกคนที่ลงชิงหัวหน้าพรรคพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดให้ชัดว่าถ้าเราได้เป็นหัวหน้าพรรคแล้วจะร่วมหรือไม่ร่วมกับพลังประชารัฐ แต่ผมคิดว่าคนที่พูดชัดที่สุดคือผม เพราะผมเห็นต่างจากคุณอภิสิทธิ์ ผมคิดว่าสุดท้ายแล้วประชาชนเลือกตั้งเพราะต้องการรัฐบาล ถ้าเกิดเรารักษาสถานะความเป็นฝ่ายค้านอิสระ ผมคิดว่ารัฐบาลจัดตั้งไม่ได้ รัฐบาลเสียงข้างน้อย ใครๆ ก็รู้ว่ามันไปต่อไม่ได้

 

:: 3 เดือนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ น่าผิดหวัง :: 

 

 

ถามว่าประเมินการทำงานของรัฐบาลอย่างไร ผมตอบว่าผมผิดหวัง เป็นเรื่องแปลกที่เราเป็นรัฐบาลแรกที่มีแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ชัดเจนที่สุด แต่กลับรู้สึกว่าการบริหารเป็นไปแบบวันต่อวัน ไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ถ้าถามประชาชนเรื่องนี้ว่ารัฐบาลมีทิศทางที่ชัดเจนไหม ผมว่าคนตอบยาก

สมมติย้อนเวลาไป 30 ปีที่แล้ว ผมคิดว่าทุกคนตอบได้ว่าเรากำลังจะเปลี่ยนประเทศเกษตรกรรมให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม แต่วันนี้เรายังขาดทิศทางที่ชัดเจน ผมผิดหวังในเชิงการนำและการเสนอแนวทางที่มีความชัดเจนให้ประชาชนสนับสนุน หรือเดินไปด้วยกันได้ แล้วผมมีความรู้สึกว่าแต่ละพรรค แต่ละรัฐมนตรีก็ทำงานในส่วนของตัวเอง ไม่ได้มีแนวทางร่วมกัน ไม่มีการประสานงานกันอย่างชัดเจน

อย่างกรณีสารพิษ (พาราควอต) ทั้ง 3 กระทรวงก็ไปคนละทิศคนละทาง การเสนอข่าวก็ยังมีการโทษกันไปโทษกันมาด้วยซ้ำ ระหว่างภาคอุตสาหกรรมการเกษตรกับสาธารณสุข ในขณะที่ไม่มีการฟันธงชัดเจนของนายกรัฐมนตรี สำหรับผมจึงเป็นเรื่องแปลก เพราะจริงๆ ความเป็นผู้นำของ พล.อ.ประยุทธ์ สูงมาก แต่เราไม่เห็นบทบาทการเป็นผู้นำเท่ากับสมัยที่แล้วที่มีอำนาจเด็ดขาด

 

:: เปรียบเทียบนโยบายรัฐบาล ::

 

 

การเปรียบเทียบนโยบายระหว่างรัฐบาล ใช้ได้ระดับหนึ่ง แต่ใช้ไม่ได้ทั้งหมด เพราะสภาพแวดล้อมมันเปลี่ยนเสมอ อย่างเช่น นโยบาย ‘ชิม ช้อป ใช้’ ถ้าจะเปรียบเทียบนโยบายเมื่อ 10 ปีที่แล้วที่ผมเคยใช้คือ ‘เช็คช่วยชาติ’ หลักคิดของเราสมัยนั้นคือมันมีวิกฤตเศรษฐกิจโลก แล้ว GDP ก็ติดลบอยู่ 7 % มีแรงงานไทยที่ถูกปลดออกจากงานเฉลี่ยเดือนละ 5 หมื่นคน กำลังซื้อภายนอกหายไปหมด ก็ต้องพึ่งกำลังซื้อภายในประเทศอย่างเดียว นั่นคือที่มาของ ‘เช็คช่วยชาติ’ หรือโครงการไทยเข้มแข็ง

สมัยนั้นมีผู้สื่อข่าวถามผมว่า หลังจากแจกไปแล้ว จะมีแจกอีกไหม ผมให้สัมภาษณ์ชัดเจนเลยว่าไม่มี นโยบายแบบนี้ต้องใช้ครั้งเดียว ถ้าใช้บ่อยๆ คนจะดื้อยา หลังจากนั้นเศรษฐกิจก็ฟื้นตัว แต่พอมาครั้งนี้ก็มีการแจกเงินต่อเนื่องกันมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วตั้งแต่บัตรคนจน เบี้ย อสม. และอีกหลายประเภท ซึ่งถ้าถามผม ผมคิดว่าเสี่ยงที่จะดื้อยา แต่ถามว่าผมชอบวิธีการไหม ผมชอบ ประชาชนได้คุ้นเคยกับร้านค้าทั้งเล็กทั้งใหญ่ คุ้นเคยกับการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในโลกของ FinTech ผมสนับสนุนอยู่แล้ว แต่เราหวังผลมากต่อระบบเศรษฐกิจไม่ได้

เราต้องมองประเด็นปัญหาว่าคืออะไร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคนพูดกันเยอะว่าคนที่ได้ประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้น เป็นคนกลุ่มน้อยมากแค่ 1 % นโยบายเอื้อให้กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่มากกว่าประชาชนผู้ประกอบการขนาดเล็ก นี่จึงเป็นสาเหตุให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ได้ดีขึ้น รัฐบาลบอก GDP ดีขึ้น แต่ต้องดูว่ามันขึ้นให้กับใคร ส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรมส่งออก แล้วถามว่ามีใครส่งออกบ้างในประเทศไทย มีสักกี่คน หรืออย่างโครงการขนาดใหญ่ EEC แน่นอนว่าคนได้ประโยชน์คือผู้ประกอบการขนาดยักษ์เท่านั้น

 

:: ถึงเวลาประชาธิปัตย์ปรับตัว ::

 

 

แนวทางของพรรคขึ้นอยู่กับเป้าหมายของพรรคด้วย อยากจะเป็นพรรคใหญ่ หรือเป็นพรรคขนาดกลางที่ได้ร่วมรัฐบาลทุกครั้ง ขึ้นอยู่กับความทะเยอทะยานของผู้บริหารพรรคด้วย ถ้าต้องการเป็นพรรคใหญ่ ผมมองว่าแนวทางปัจจุบันไม่ได้ตอบโจทย์นั้น แต่ถ้าอยู่ในโหมดรักษาสถานภาพ ประคองตัว แนวทางที่เป็นอยู่ก็ไปได้

ถ้าเราพอใจที่จะเป็นพรรคขนาดกลาง มี ส.ส. จากภาคใต้ก็เพียงพอแล้วที่จะเป็นพรรคขนาดกลาง แต่ถ้าเราต้องการเป็นแกนนำในการเปลี่ยนประเทศ แค่นั้นมันไม่พอ แต่ในโลกยุคสมัยปัจจุบัน ผมมองว่าการหยุดอยู่กับที่ก็มีความเสี่ยงจะถูกแซงและถอยหลังมากกว่า ยุทธศาสตร์แบบนี้ประสบความสำเร็จยาก

จริงๆ แล้วพรรคประชาธิปัตย์ ควรจะเป็นพรรคที่คนแบบ ‘ไอติม’ พริษฐ์ วัชรสินธุ อยู่ได้ ผมเองก็เสียดาย เช่น แนวคิดเรื่องสิทธิ LGBT ต้องยอมรับว่าถ้าไม่มีกลุ่มนิวเด็มเป็นผู้เสนอผลักดัน มันอาจจะเป็นเรื่องที่คนรุ่นผมไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร การปฏิรูประบบการเกณฑ์ทหาร ถ้าปล่อยให้คนรุ่นผมทำ ผมอาจจะไม่คิดเรื่องนี้ เพราะมันไม่ใช่ปัญหาของเราแล้ว

แต่ตอนนิวเด็มเสนอเป็นนโยบาย ประชาธิปัตย์ก็รับ เพราะมันมีเหตุผล น่าจะทำให้กองทัพเข้มแข็งและมีเกียรติมากกว่าเดิมด้วยซ้ำไป แต่ปัจจุบันช่องทางการนำเสนอแนวคิดของคนรุ่นใหม่ประเภทนี้มีน้อยมาก ซึ่งพรรคก็รู้ว่าเป็นปัญหา ต้องยอมรับว่าที่พรรคประชาธิปัตย์อยู่มาได้ 70 กว่าปี เพราะเราเป็นพรรคที่เปิดรับคนรุ่นใหม่มากที่สุด ไม่งั้นเราอยู่ไม่ได้ มันต้องมีเลือดใหม่เข้ามาสมทบตลอดเวลา แต่ปัญหาตอนนี้คือมันขาดช่วง

 

:: การยอมรับในรัฐบาลทหาร ::

 

 

 

ผมขอย้อนไปปี 2557 ในจังหวะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยึดอำนาจ ผมมองด้วยความเศร้าว่าเราไม่มีทางเลือกอื่นเลย เวลานั้นผมคิดแบบนั้น เพราะว่าในจังหวะนั้นนักการเมืองเสียอีกที่เป็นปัญหาที่สร้างเงื่อนไขสร้างอุปสรรคขึ้นมาให้สังคมไปสู่ทางตัน หรือมองอีกมุมก็คือเป็นการเปิดโอกาสให้ทหารสามารถเข้ามาได้ แต่ผมไม่ชอบพูดแบบนี้ เพราะผมไม่เชื่อว่าทหารจะตั้งใจเข้ามาตั้งแต่แรก ผมคิดว่าวันนั้น ถ้ามีโพลล์สอบถามประชาชนว่าคิดอย่างไรที่มีการยึดอำนาจเพื่อสลายการชุมนุม ยุติความขัดแย้งที่ปรากฏบนท้องถนน ผมคิดว่า 80 % รับได้ในวันนั้น

ถามต่อว่าที่วิจารณ์รัฐบาลทักษิณ แต่ทำไมยอมรับรัฐบาลทหารได้ ผมก็ต้องบอกว่าผมไม่ได้ยอมรับ และต้องบอกว่าตอนนี้เรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะหาว่าผมเล่นคำยังไงก็แล้วแต่ เราปฏิเสธข้อเท็จจริงไม่ได้ว่าพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนเสียงเหนือความคาดหมายของทุกคน เหนือความคาดหมายของประชาธิปัตย์ เรายังช็อกเลยที่มีประชาชนไปกาให้เขาจริง เราปฏิเสธความชอบธรรมของเขาไม่ได้ แล้วจะเรียกว่าเขาเป็นรัฐบาลทหารต่อเนื่อง ก็ไม่แฟร์กับเขาทีเดียว

 

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save