fbpx
4 คำถาม – 4 คำตอบจากพรรคการเมือง : เมื่อผู้ลี้ภัยไม่อาจกลับมาเลือกตั้ง

4 คำถาม – 4 คำตอบจากพรรคการเมือง : เมื่อผู้ลี้ภัยไม่อาจกลับมาเลือกตั้ง

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ศพชายที่ปรากฏอยู่ริมแม่น้ำโขง จ.นครพนม เมื่อปลายปี 2561 กลายเป็นภาพจำของการเปิดศักราชใหม่การเมืองไทย 2562

หลังจากผลตรวจ DNA ของ 2 ศพ พบว่าตรงกันกับญาติของผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทยที่ต้องหลบออกนอกประเทศช่วงรัฐประหาร 2557 ได้แก่ ‘กาสะลอง’ หรือ ไกรเดช ลือเลิศ และ ‘ภูชนะ’ หรือ ชัชชาญ บุปผาวัลย์ ซึ่งทั้งคู่เป็นคนสนิทของ สุรชัย แซ่ด่าน ผู้ลี้ภัยอีกคนที่คาดว่าถูกฆาตกรรมและอำพรางศพไปแล้ว

ที่กลายเป็นภาพจำ เพราะวันที่ผลดีเอ็นเอศพออกมา อีกเพียง 2 วันต่อมาคือวันที่ 23 มกราคม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็มีมติให้วันที่ 24 มีนาคม เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

ท่ามกลางเสียงปี่กลองอันอึกทึกครึกโครมเพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ดูเหมือนว่าเสียงของผู้ลี้ภัยจะถูกกลบให้แผ่วเบา จางหาย

หากบั้นปลายของการเลือกตั้งคือหนทางของการสร้างสังคมประชาธิปไตย แล้วสังคมไทยจะละผู้ลี้ภัยไว้ตรงไหนได้

ถ้าวิกฤตจากรัฐประหารได้ขับไล่ประชาชนให้แตกกระสานซ่านเซ็น พลัดบ้าน พลัดครอบครัว การเลือกตั้งที่เป็นความหวังในการยุติวงจรรัฐประหาร พรรคการเมืองจะมีนโยบายอะไร เพื่อสังคมไทยในอนาคตจะไม่ต้องสร้างผู้ลี้ภัยทางการเมืองขึ้นมาอีก

101 สัมภาษณ์นักการเมืองหน้าใหม่จาก 4 พรรคการเมือง ได้แก่ ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 22 และรองหัวหน้าพรรคสามัญชน นักกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ และเคยทำงานรณรงค์แก้ไขกฎหมายมาตรา 112 มาก่อน, พล.ท.พงศกร รอดชมภู ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่เคยขับเคี่ยวงานด้านความมั่นคงมาก่อนในฐานะรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

อีก 2 คน ได้แก่ รยุศด์ บุญทัน ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคเพื่อชาติ ผู้เคยเป็นประธานสภาเยาวชน ยุวทูตสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ และทำงานวิชาการด้านรัฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศมาก่อน, รอมือละห์ แซเยะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และกรรมการบริหารพรรคประชาชาติ นักเคลื่อนไหวสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

เพื่อหาประตูบานใหญ่ในการเปิดรับผู้ลี้ภัยทางการเมืองให้ได้กลับสู่ครอบครัว – สู่แผ่นดินแม่ แม้ว่าจะไม่ทันการเลือกตั้งใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์นี้

 

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง รองหัวหน้าพรรคสามัญชน | ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก ชุมาพร แต่งเกลี้ยง

รู้สึกอย่างไรกับกรณีศพผู้ลี้ภัยที่พบอยู่ริมแม่น้ำโขง ซึ่งถูกทรมานอย่างโหดเหี้ยม

ชุมาพร พรรคสามัญชนรู้สึกเสียใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่คนธรรมดาที่จะทำ ต้องเป็นคนที่มีอำนาจอยู่ในมือและเกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ

เราอยากให้ผู้ลี้ภัยไทยที่อยู่ต่างประเทศได้กลับบ้านมาอย่างปลอดภัย เราต้องเรียกร้องเรื่องเหล่านี้ เราไม่คิดว่าความโหดเหี้ยมนี้จะหมดไปง่ายๆ จากประสบการณ์การทำงานของเรา ทั้งในต่างประเทศและในพื้นที่ เห็นมาตลอดว่ารัฐมองประชาชนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเป็นศัตรูเสมอ มีทั้งกรณีทารุณกรรมและอุ้มหาย

ตราบใดที่กลไกทางกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติป้องกันการอุ้มหายสาบสูญและป้องกันการซ้อมทรมาน ยังไม่เกิดขึ้น พรรคการเมืองที่ชูนโยบายการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต้องผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง เราจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับพวกเขา ส่วนคนที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องให้พวกเขากลับมาอยู่กับครอบครัว

พล.ท.พงศกร มันเป็นการลอบสังหาร แต่เราไม่สามารถพูดอะไรได้มากกว่านี้ เพราะไม่สามารถหาหลักฐานได้เพิ่ม แต่สิ่งที่รัฐทำได้คืออะไร ศพนั้นเป็นคนไทย ถ้าเป็นคนอเมริกัน คนชาติเขาถูกฆ่าตายมันเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าผมทำงานด้านความมั่นคงผมต้องทำให้เต็มที่ รัฐต้องทำให้ได้มาซึ่งความจริง นั่นคือหน้าที่ของรัฐ

แต่ทำไมไทยถึงไม่แสดงบทบาท เพราะคนที่มีอำนาจหน้าที่ของรัฐคิดว่าไม่ควรที่จะแสดงบทบาท แล้วอะไรทำให้เขาคิดว่าไม่ควรทำ เพราะคุณสมรู้ร่วมคิดหรือเพราะเห็นว่าคนเหล่านี้สมควรตาย หรือเห็นว่าคนที่หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้วไม่ใช่คนไทย ต้องถามคนที่มีอำนาจ

เพราะฝ่ายอำนาจรัฐมองประชาชนไม่เท่ากัน รัฐมองว่าไม่สำคัญพอ ถ้าเรามองคุณค่าความเป็นพลเมืองเท่ากัน สิ่งเหล่านี้มันจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเรามองว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ มันจะไม่เป็นแบบนี้

รยุศด์ : ภายใต้รัฐธรรมนูญ คนไทยทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองตั้งแต่เกิดจนตาย สิทธิมนุษยชน คุณค่าความเป็นมนุษย์ ต้องเป็นที่ยอมรับ สังคมโลกที่เป็นประชาธิปไตยเขายอมรับเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นเหตุการณ์นี้มันบ่งบอกว่าประเทศไทยกำลังถูกเจือจางสิทธิมนุษยชน

ประเทศที่เจริญแล้ว ไม่ต้องถึงสามศพ แค่คนๆ เดียวเขาก็ต้องรักษาชีวิตไว้ให้ได้ แม้ในยามศึกสงคราม เขาก็ต้องช่วยชีวิตคนเหล่านี้ เพราะพลเมืองของประเทศคือทรัพยากรบุคคลที่สำคัญ รัฐบาลต้องเห็นคุณค่าพลเมืองของตัวเอง ไม่ใช่เห็นคนเหมือนผักเหมือนปลา เหมือนเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ๆ ที่ผ่านมา คนถูกยิงถูกฆ่าเหมือนผักปลา

ประเทศจะเดินหน้าไปอย่างไร ถ้ารัฐบาลนิ่งเฉย เพราะองคาพยพเหล่านี้คือกลไกสำคัญของประเทศ คือคนที่จะมาเติมเต็มสังคมให้เดินหน้าต่อไปได้ ทุกคนคือจิ๊กซอว์ที่เติมเต็มให้กับประเทศชาติ เป็นจิ๊กซอว์ที่จะนำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต้องได้รับความคุ้มครองด้วยกฎหมาย ประเทศไม่มีทางเดินหน้าได้ ถ้าประชาชนยังถูกมองเป็นผักปลา

รอมือละห์ : ส่วนตัวรู้สึกหดหู่เมื่อได้ยินข่าว เพราะสะท้อนเรื่องราวคล้ายกับในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่มักมีข่าวให้ได้ยินเรื่องประชาชนถูกทรมานอย่างโหดเหี้ยมตลอด เช่น เรื่องราวของหะยีสุหลง อับดุลการเดร์ เมื่อปี 2494 หะยีสุหลงก็ถูกจับไปถ่วงน้ำบริเวณเกาะในจังหวัดสงขลา วิธีการทรมานอย่างโหดเหี้ยมมีความคล้ายกันมาก แม้จะเกิดต่างยุคสมัยก็ตาม แต่ผ่านมา 60 กว่าปีแล้ว วิธีการทรมานในแบบเดิมยังคงปรากฏให้ได้ยินจนถึงปัจจุบัน

 

พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ | ภาพจากเพจเฟซชุ๊ก พล.ท.พงศกร รอดชมภู

ปัญหาของผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทยอยู่ตรงไหน

ชุมาพร ตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา มีกรณีที่คนไทยต้องลี้ภัยไปต่างแดนเกิดขึ้นตลอดเวลา เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง ศาสนา และวัฒนธรรม และเมื่อกระบวนการยุติธรรมในประเทศไม่เกิดขึ้น คนเหล่านั้นก็ต้องตายอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันการรื้อฟื้นกระบวนการยุติธรรมยังไม่เคยมี

กรณีที่รู้จักกันดี เช่น ปรีดี พนมยงค์, ป๋วย อึ๊งภากรณ์, กุหลาบ สายประดิษฐ์ กระทั่งเกิดการสู้รบกันระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับรัฐไทย มีการปราบปรามนักศึกษา มีประชาชนต้องหลบหนีไปจำนวนมาก

ขณะที่ในปัจจุบัน เราเห็นชัดเจนว่ากฎหมายไทยยังมีหลายมาตราที่ผูกโยงกับความมั่นคงของรัฐ ซึ่งปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี เช่น มาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา เราพบว่าคนที่ถูกฟ้องด้วยมาตรา 112 จนต้องลี้ภัยไปต่างแดน มีเป็นจำนวนมาก พวกเขาเหล่านั้นเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยไม่สามารถคุ้มครองเขาได้ ประชาชนที่ออกมาชุมนุมทางการเมืองกลับต้องถูกแบล็คลิสต์จากฝ่ายความมั่นคงไทย ซึ่งสร้างภาวะความหวาดกลัวให้กับเขา มันจึงผลักให้เขาต้องออกไปใช้ชีวิตในต่างแดน

ประชาชนที่ถูกบันทึกจากฝ่ายความมั่นคง ไม่ได้ถูกบันทึกเพื่อการคุ้มครองความเป็นบุคคล แต่กลับถูกบันทึกเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับหน่วยงานความมั่นคง เพื่อง่ายต่อการสอดส่องสอดแนม โดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคงที่อยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร จะจับตาประชาชนเป็นพิเศษ ซึ่งมักจะเป็นประชาชนที่เป็นสามัญชนมากกว่าบุคคลสำคัญด้วย

ส่วนประชาชนที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลพลเรือน เมื่อออกมาชุมนุมทางการเมืองและต้องคดี พวกเขาจะได้รับการคุ้มครองจากกระบวนการยุติธรรมปกติ หลายคนได้ประกันตัวในชั้นศาล พวกเขาไม่จำเป็นต้องหนีไปไหน ต่างจากสามัญชนที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลทหารที่มักถูกข่มขู่คุกคาม ต้องขึ้นศาลทหาร ถูกยัดข้อหาต่างๆ จนอยู่ในไทยไม่ได้ ถ้าสรุปสั้นที่สุด คือสังคมไทยสองมาตรฐานด้านความยุติธรรม มันเป็นต้นธารของปัญหาผู้ลี้ภัยทางการเมือง

พล.ท.พงศกร ปัญหาหลักของประเทศไทยคือรัฐปกครองประชาชน ซึ่งปกติในประเทศที่เจริญแล้ว ประชาชนต้องไม่รู้สึกว่าถูกปกครอง รัฐที่ดีคือประชาชนไม่รู้สึกว่ามีรัฐอยู่ นี่คือหลักการใหญ่ แต่สังคมไทยชินกับการควบคุม เราพบว่าช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยทำรัฐประหารบ่อยมาก เรามีระบบราชการที่รวมศูนย์และไม่ยอมปล่อยอำนาจให้ถึงมือประชาชน

การปกครองด้วยรัฐ เมื่อมีอะไรที่ทำให้รัฐรู้สึกสะเทือนหรือเสียผลประโยชน์ รัฐก็จะใช้มาตรการบังคับ ประเทศไทยเกิดอะไรขึ้นมาก็จะบอกให้รัฐมาดูแล นี่คือรัฐไทยในอดีต แต่ทุกอย่างมันเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อประชาชนมีความรู้มากขึ้น มีการตั้งข้อสังเกตมากขึ้น รัฐก็เกิดความหวั่นไหว จึงเกิดกฎหมายต่างๆ ที่จะมาปิดปากประชาชน เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งโดยหลักการเราเอามาจากต่างประเทศ

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในอเมริกา กฎหมายเขาวางหลักให้บริษัทเอกชนตั้งระบบป้องกันภัยจากการโจมตีทางไซเบอร์ แต่ประเทศไทยกลับให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปยึดคอมพิวเตอร์ของประชาชน นี่คือความต่าง กฎหมายชื่อเดียวกัน แต่วิธีการปฏิบัติต่างกัน เพราะทัศนคติของผู้เขียนกฎหมายอยู่กับการบังคับ ไม่ใช่การส่งเสริมหรือกำกับดูแล

ในส่วนของผู้ลี้ภัย ไทยมีกฎหมายจัดการผู้เห็นต่างจากรัฐ และมีการสร้างเงื่อนไขที่เกินเลยไปมาก เวลาที่เกิดการลี้ภัย ส่วนใหญ่จะเกิดตามมาจากการรัฐประหาร และมีการปราบปรามโดยใช้กฎหมายพิเศษ ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่

จริงๆ แล้วประชาชนควรจะต้องรู้สึกว่าปลอดภัยเสมอ และจะทำอะไรก็ได้ที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ต้องมีกฎหมายพิเศษมาบังคับ หากเขาไม่ได้ไปฆ่าใคร หรือไม่ได้ไปดูหมิ่นใครซึ่งหน้า แต่ถ้าประชาชนอยู่เฉยๆ แล้วยังรู้สึกไม่ปลอดภัย แปลว่าปัญหาอยู่ที่กฎหมายต่างๆ กำลังละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเสียเอง

ไทยมีการรัฐประหารมากเกินไป ทำให้ความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจกลายเป็นเรื่องปกติ มันจึงต้องสร้างระบบห้ามคนมาตรวจสอบหรือตั้งคำถาม รัฐที่มาจากรัฐประหารจึงต้องเขียนกฎหมายให้ผู้สืบทอดอำนาจปลอดภัยจากการตั้งคำถามของประชาชน

เพราะฉะนั้นการพยายามรักษาอำนาจของฝ่ายทำรัฐประหาร จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดผู้ลี้ภัย เพราะกลไกในการรักษาอำนาจมันไปกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน พอมีเหตุขึ้นมานิดหน่อย มันก็ทำให้คนต้องหลบหนี เพราะเขาเห็นว่ากฎหมายมันมีความเสี่ยง ไม่เป็นธรรม เช่น การไปยืนประท้วงเฉยๆ ก็ยังถูกจับ เพราะเวลาคุณมีผลประโยชน์มาก แล้วมีใครไปตั้งคำถาม มันเสี่ยงที่ระบบที่ไม่ชอบธรรมนั้นจะพังทลายลง อำนาจเด็ดขาดมันเหมือนเขื่อน ถ้ามีรูแม้แต่นิดเดียวมันจะแตกหมด

ผู้ลี้ภัยหลายคนเป็นคนที่มีคุณภาพ ไทยต้องเสียความสามารถของพวกเขาเหล่านั้นไปเปล่าๆ เพียงแค่ผู้มีอำนาจต้องการจะรักษาอำนาจของตัวเอง ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ลงมือจับกุมปราบปราม ก็ต้องการเอาใจเจ้านาย มันเป็นการบีบให้เพื่อนร่วมประเทศอยู่ไม่ได้ เพราะเขาไม่สามารถตอบโต้ได้ด้วยเหตุผล จนกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐไปเลย

รยุศด์ รากเหง้าของปัญหาผู้ลี้ภัยเกิดจากความไม่เท่าเทียมของระบบสังคมไทย มันจึงเกิดความรู้สึกของฝ่ายที่เสียเปรียบ เขาต้องออกมาเรียกร้อง ขณะเดียวกันฝ่ายที่เป็นกลุ่มอำนาจเดิม กลุ่มทุนเดิม ที่เขาใช้คำว่าอำมาตย์หรืออะไรก็แล้วแต่ กลุ่มเหล่านี้ต้องการรักษาอำนาจของตัวเอง ไม่ยอมแชร์อำนาจให้กับประชาชน

เราต้องยอมรับว่า สังคมไทยมีไม่กี่ตระกูลที่มีมรดกทรัพย์สินที่ดินมากขนาดที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำล่าสุดของไทยอยู่ในอันดับ 7 ของโลก นี่เป็นส่วนหนึ่งของรากเหง้าที่นำไปสู่ความขัดแย้ง และเมื่อความเห็นต่างทางการเมืองทวีความรุนแรงขึ้น เกิดกลุ่มคนชั้นล่างมากขึ้น ความขัดแย้งมันก็ขยายจากเมืองไปสู่ตำบล ไปสู่หมู่บ้าน เพราะประชาชนเห็นว่าตัวเองถูกปฏิบัติจากรัฐอย่างไม่เท่าเทียม จนท้ายที่สุด ความขัดแย้งก็กลายเป็นข้ออ้างและถูกจัดการด้วยการยึดอำนาจรัฐประหาร เพื่อที่จะปิดปากประชาชนผู้เสียเปรียบที่เขาออกมาตั้งคำถามหรือเรียกร้องความเป็นธรรม

คนที่ลี้ภัยทางการเมืองส่วนมากคือคนที่รัฐบอกว่าเขาผิด ตอนที่ คสช. ทำรัฐประหาร คำสั่งต่างๆ ที่ประกาศจาก คสช. มันมีผลทางกฎหมาย เพราะถือว่า คสช. เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ใครที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งถือว่ามีความผิด ทั้งๆ ที่คำสั่งหรือประกาศเหล่านั้นลิดรอนสิทธิมนุษยชน บางคนที่เลือกไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. ก็ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศไป

พูดง่ายๆ ว่าพอกฎหมายยิ่งกด แล้วคนมันไม่มีทางออก สุดท้ายก็ต้องหนี เพราะว่าผู้มีอำนาจใช้ปืนควบคุมกฎหมายอีกที

รอมือละห์ : การเมืองไทยไม่เปิดพื้นที่อย่างเสรีให้ผู้คนได้แสดงออกในทุกความเห็นอยู่แล้ว โดยเฉพาะการเมืองภายใต้การปกครองโดยทหาร ประเทศอยู่ในภาวะไม่ปกติ ประชาชนไม่มีอำนาจเป็นของตัวเอง ทั้งที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันมากมาย แต่ยังถูกกีดกันไม่ให้มีสิทธิเสรีภาพ ทั้งการพูดคุย ทำกิจกรรม รัฐบาลไม่เปิดพื้นที่ในการรับรู้รับฟัง เพราะฉะนั้นมันจึงเกิดผู้ลี้ภัยขึ้นมา เพราะเขาต้องการใช้สิทธิเสรีภาพที่อยู่ในตัวเขาจากข้างนอกประเทศตัวเอง

สิ่งที่เห็นมาตลอดคือ ไทยจัดการกับผู้ลี้ภัยโดยการส่งไปอยู่ในค่าย เพื่อรอส่งไปประเทศที่สาม หรือไม่ก็ส่งกลับไปยังประเทศที่จากมา และผู้ลี้ภัยมักถูกมองว่าเป็นภาระของประเทศ

ประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐจำเป็นต้องผลัดถิ่น ต้องทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง จากครอบครัวไปเนื่องจากความหวาดกลัวภัยคุกคามต่อชีวิต

 

รยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ | ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก รยุศด์ บุญทัน

ในฐานะพรรคการเมืองที่เชื่อในประชาธิปไตย ยึดหลักสิทธิมนุษยชน จะมีนโยบายอย่างไรในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย

ชุมาพร :ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือทุน ล้วนแต่ดำเนินนโยบายที่ขัดกับความเป็นมนุษย์ (humanity) เรามองเห็นประชาชนที่ถูกผลักให้ไปเป็นชายขอบเสมอมา

พรรคสามัญชนก่อตั้งมาจากนักกิจกรรมที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ เพื่อปากท้อง สมาชิกพรรคเองก็เผชิญหน้ากับการดำเนินคดีจากภาครัฐอยู่ตลอดเวลา และเราไม่รู้เลยว่าวันไหนสมาชิกพรรคสามัญชนจะต้องเผชิญหน้ากับผู้มีอำนาจ จนกระทั่งตัวเองถูกดำเนินคดีและต้องลี้ภัย เพราะการข่มขู่คุกคาม การใช้กระบวนทางกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม การซ้อมทรมาน เป็นความเสี่ยงสำหรับนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทุกคน

ในฐานะพรรคการเมือง เราจึงคิดว่าต้องนำเสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องกับคนไทยที่ลี้ภัย หรือสิทธิของผู้ลี้ภัย ซึ่งรูปธรรมที่ประชาชนจะไม่ต้องลี้ภัยอีกมีทั้งส่วนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

ในระยะสั้นคือเรื่องของผลกระทบจากประกาศคำสั่ง คสช. ทุกฉบับ ต้องถูกยกเลิก เพื่อให้คนที่ถูกดำเนินคดีรู้สึกว่าเขาสามารถกลับมาในประเทศได้

ในระยะกลาง ต้องคืนความยุติธรรม สำหรับคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรม รัฐบาลพลเรือนต้องออกนโยบายในการเยียวยา เพราะบางคนต้องทิ้งครอบครัวไปเป็น 5 ปี บางคนเป็น 10 ปี บางคนเสียชีวิตระหว่างลี้ภัย รัฐบาลต้องมีการเยียวยาค่าเสียโอกาส และมอบความยุติธรรมคืนให้กับผู้ลี้ภัยทางการเมือง

ส่วนในระยะยาว ต้องแก้ไขกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ต้องแก้ไขกฎหมายที่ขัดขวางการใช้สิทธิและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในทุกมิติ กฎหมายไหนที่ยังไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิเสรีภาพ โดยอาศัยวัฒนธรรมประเพณีความเชื่อมาเป็นเหตุผล กฎหมายเหล่านั้นต้องแก้ไข เพื่อที่จะคืนสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคน ทุกขั้วการเมือง

จริงๆ พรรคเราเสนอให้ยกเลิกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ด้วย หากทำได้จริงถือเป็นการป้องกันไม่ให้มีผู้ลี้ภัยเกิดขึ้นอีก รวมถึงการเข้าเป็นภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศที่รัฐไทยจะต้องให้สัตยาบัน เช่น ปฏิญญากรุงโรม เพื่อป้องกันการที่รัฐบาลทหารหรือรัฐบาลพลเรือนใช้อำนาจรัฐปราบปรามประชาชน และอีกข้อคือ ไทยจะต้องเข้าร่วมสนธิสัญญาเรื่องบังคับใช้กฎหมายอุ้มหายและการซ้อมทรมาน สิ่งเหล่านั้นจะเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญที่ทำให้รัฐไทยไม่กล้าละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน

พล.ท.พงศกร เราต้องตั้งต้นใหม่ว่าประชาชนคือชาติ ในเมื่อประชาชนคือชาติ ความมั่นคงของชาติคือความมั่นคงของประชาชน ความมั่นคงของชาติไม่ใช่ความมั่นคงของรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ ดังนั้นประชาชนต้องมีเสรีภาพเต็มที่ หากฝ่ายไหนใช้ความรุนแรงก็ต้องถูกจัดการไปตามกฎหมาย

ปัญหาคือรัฐเผด็จการกำลังสร้างเงื่อนไขในการควบคุมประชาชน เพราะคุณได้อำนาจมาอย่างไม่ชอบธรรม มันทำให้คนตั้งคำถามกับความผิดปกติ คนที่ต้องหนีออกไปต่างประเทศก็เพราะเหตุนี้ แต่ถ้าเรายอมมานั่งคุยกันและแชร์ผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งสามารถทำได้โดยการลดจุดยืนที่แตกต่างกัน และพูดคุยกันในเรื่องปัจจัยสี่กับผลประโยชน์ มันจะคุยกันได้ สิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากเราไม่แก้รัฐธรรมนูญ

สิ่งที่พรรคอนาคตใหม่พูดชัดเจนมาตลอดคือเราจะยุติวงจรรัฐประหาร ตั้งแต่ลบล้างผลพวงรัฐประหาร ปฏิรูปกองทัพให้ทหารกลับเข้ากรมกอง และได้รับการศึกษาใหม่ ให้ทหารปฏิบัติตัวเป็นไปตามหลักสากลที่เคารพสิทธิมนุษยชน หากคุณไปดูวิธีของประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นต้นแบบที่สหประชาชาตินำไปเป็นบทเรียน และสร้างสิ่งที่เรียกว่าความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน (transitional justice) ก็คือการให้ทุกฝ่ายมาแสดงตัวว่าทำผิดอะไรไปบ้าง และไปดูอีกฝ่ายว่าเขาได้รับผลกระทบอะไรจากการกระทำความผิดของเรา

กระบวนการนี้จะทำให้เห็นว่าบางการกระทำ เราทำไปโดยไม่ได้ตั้งใจ และบางการกระทำมันเกิดผลไม่ดีอย่างไร เอามาเปิดเผยต่อสาธารณะ คนที่เป็นผู้สั่งการต้องเข้ากระบวนการตามกฎหมาย นี่คือนโยบายของ Nelson Mandela

รยุศด์ เราจะเปิดพรรคให้เป็นพื้นที่ talking area เหมือนที่หลายๆ ประเทศในสหประชาชาติมี เมื่อเขาเกิดปัญหาข้อพิพาทกัน สหประชาชาติก็จะเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย

ส่วนประเทศไทย ไม่ว่าจะอยู่ฝั่งเสื้อไหน สีไหน ถ้าจะมาตั้งแง่ว่าต้องให้กลับมารับโทษก่อน อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าตัวเองไม่ผิด มันไม่มีทางคุยกันได้ ดังนั้นจำเป็นต้องมาคุยกันก่อน เอาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาคุยกัน ไม่ต้องสร้างเงื่อนไขกัน

หากพรรคเพื่อชาติได้ร่วมรัฐบาล เราจะเป็นเจ้าภาพการพูดคุยเรื่องนี้ เราต้องสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ให้ได้ พรรคเพื่อชาติเองก็เป็นพรรคหนึ่งที่พยายามสร้างนักการเมืองหน้าใหม่ เราคาดหวังว่าเราต้องการเปลี่ยนภาพของผู้แทนในสภาฯ ให้คนใหม่ๆ เข้าไปทำงานมาในสภา การเมืองไทยจะเปลี่ยนโฉมหน้าได้ อันดับแรกต้องลบภาพของนักการเมืองเก่าๆ ออกไปก่อน

เราต้องสร้างบรรยากาศและมุมมองทางการเมืองใหม่ๆ ให้เกิดกับความรู้สึกของประชาชน ผมเชื่อว่าในช่วงอีก 5 ปีข้างหน้า ความรู้สึกถึงบรรยากาศความขัดแย้งมันจะเริ่มจางหายไป เพราะผู้แทนราษฎรจะมีคนหลากหลายมากขึ้น และคำว่าเสื้อสีต่างๆ จะค่อยๆ จางหายไป

ความขัดแย้งในอดีตต้องกลายเป็นบทเรียน เพราะสังคมไทยได้รับรู้แล้วว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมา ไม่ได้สูญเสียเรื่องชีวิตและทรัพย์สินอย่างเดียว แต่มันทำให้ประเทศชาติล้าหลัง การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมถดถอย และท้ายที่สุดถ้าหากเกิดความขัดแย้งอีก วังวนเดิมคือการทำรัฐประหารก็จะกลับมา

ผู้แทนราษฎรต้องทำให้การเมืองสร้างสรรค์ ต้องยึดหลักการใช้สิทธิเสรีภาพแสดงออกทางความคิด และไม่ทำให้เกิดกับดักจนฝ่ายอำนาจนิยมเข้ามาฉวยขโมยไป สิ่งนี้คือส่วนหนึ่งของการยุติปัญหาผู้ลี้ภัยทางการเมือง

รอมือละห์ : ในฐานะพรรคการเมือง นโยบายเฉพาะของพรรคคือส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม เคารพในความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ถิ่นกำเนิด ความเชื่อ และอุดมการณ์ ที่จะนำไปสู่ความเป็น ‘ประชาชาติ’ ที่ชาติคือประชาชนที่มีความแตกต่างหลากหลาย

เรามีคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคประชาชาติ ที่เขียนไว้ในหน้าที่ 1 ของนโยบายพรรคว่า พรรคประชาชาติเป็นพรรคการเมืองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน พรรคเชื่อว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน จึงต้องส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ประชาชนอย่างสมดุล และเชื่อว่าประโยชน์สูงสุดของประชาชนและความมั่นคงของประเทศชาติเป็นสิ่งเดียวกัน

เราจะขจัดความเหลื่อมล้ำทั้งด้านสิทธิ โอกาส อำนาจ และศักดิ์ศรี ตลอดจนลดปัจจัยเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งเสริมสร้างระบบสวัสดิการทางสังคมแก่ประชาชน และเชื่อว่าการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม ต้องใช้กระบวนการประชาธิปไตยและความยุติธรรมบนฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ตามแนวทางสันติวิธี

รัฐต้องมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม ต้องไม่ใช้วิธีการแก้ไขโดยใช้กำลังหรืออำนาจเผด็จการที่ไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย หรือกระทำการใดๆ ให้ประชาชนหวาดกลัวและจำยอม

 

รอมือละห์ แซเยะ กรรมการบริหารพรรคประชาชาติ | ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก รอมือละห์ แซเยะ

อะไรคือความยากและท้าทายที่สุด ในการผลักดันนโยบายเรื่องผู้ลี้ภัยให้สังคมไทยยอมรับ

ชุมาพร อย่างแรกคือเราไม่สามารถที่จะเสนอการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคของสิทธิเสรีภาพได้ โดยปราศจากความเข้าใจของสมาชิก เราต้องกลับมาทำงานกับสมาชิกเพื่อให้เกิดการผลักดันสู่สาธารณะร่วมกันอย่างมีพลัง

อย่างที่สอง คือความไม่เข้าใจของสังคมที่มีต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ในฐานะพลเมืองไทยที่เรื่องสิทธิเสรีภาพอ่อนแอ มันทำให้เกิดภาวะของความเกลียดชัง การใช้ Hate speech ต้องเผชิญหน้ากับการล่าแม่มด การบอยคอทต่างๆ

อย่างที่สาม เราคิดว่าถ้าหากเราเข้าไปในสภาฯ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย เราจะเข้าไปยืนยันหลักการนี้ในสภา การพูดในสภาจะทำให้สาธารณะชนตระหนักเรื่องนี้มากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีผู้แทนราษฎรพูดเรื่องนี้ เพราะถูกปิดปากด้วยภาวะความหวัดกลัว เราคิดว่าการทำงานโดยไม่ยอมสยบต่ออำนาจรัฐจะทำให้ประชาชนมีความหวัง และกล้าหาญในการเป็นพลเมืองที่มีศักดิ์ศรี

แม้ว่าตอนนี้สังคมไทยไม่มีความหวังอะไร เพราะกฎหมายและนโยบายจากอำนาจรัฐยังเป็นสองมาตรฐาน มันจึงเป็นความท้าทายของสังคมที่จะทำให้คนได้ตระหนักว่า ทุกคนล้วนมีโอกาสที่จะตกเป็นเหยื่อของอำนาจรัฐได้เหมือนๆ กัน ทุกคนมีสิทธิถูกคุกคามได้เท่าๆ กัน

พรรคการเมืองไทยหลายๆ พรรคที่บอกว่าตัวเองเป็นพรรคการเมืองของประชาชน ต้องกล้าลุกขึ้นมาเคียงข้างในการต่อสู้เรื่องนี้ด้วย พรรคสามัญชนพรรคเดียวไม่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้

พรรคการเมืองที่บอกว่าตัวเองยึดมั่นในสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต้องกล้าที่จะลุกขึ้นมา ใช้กลไกระบบรัฐสภาแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ได้ ต้องไม่ใช่รัฐบาลงี่เง่า ต้องหยุดวงจรรัฐประหารให้ได้

พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยต้องเสนอกฎหมายที่สามารถลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิด โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจ ทำให้เกิดการเสียชีวิตของประชาชน เราต้องมีมาตรการการลงโทษที่รุนแรงมากพอที่จะทำให้เขาไม่กล้ากระทำผิด ซึ่งไม่ใช่การแก้แค้น แต่เป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายหรือต้องลี้ภัย

ทั้งหมดนี้เป็นความท้าทายที่สังคมไทยกำลังเผชิญร่วมกัน

พล.ท.พงศกร เงื่อนไขหลักจริงๆ เมื่อเราบอกว่าจะให้คนลี้ภัยทางการเมืองกลับเข้ามาประเทศไทย จะถูกบอกว่าคนพวกนี้เป็นพวกล้มเจ้า บางครั้งเงื่อนไขเหล่านี้เป็นสิ่งที่ฝ่ายผู้มีอำนาจสร้างขึ้นมาเอง ซึ่งมันไม่ใช่ความจริง แต่มันเป็นการบังคับให้คนไม่สามารถคุยกันได้ เพราะเป็นการใช้วิธีแบ่งเขาแบ่งเรา มันไม่จบ ตอนนี้เราไม่คุยกัน เพราะมันมีมายาคติว่าอีกฝ่ายจะมาล้มเรา ทำลายเรา ไม่รักชาติ ขายชาติ

ตอนนี้เราอยู่ในบรรยากาศแบ่งเขาแบ่งเรา บรรยากาศเหล่านี้จะนำไปสู่ Hate Speech และกดอีกฝ่ายให้ต่ำกว่าตัวเอง นี่เป็นสเต็ปของหลายประเทศที่สุดท้ายคนต้องมาฆ่ากัน

วิธีการมี ผมยกตัวอย่างกรณีสามจังหวัดใช้แดนภาคใต้ที่มีความขัดแย้งรุนแรงเรื้อรังมานาน ถ้าเป็นผมจะทำให้เป็น smart city ให้ท้องถิ่นได้จัดการตัวเองมากขึ้น ทุกคนอยู่ในระบบไฮเทค รัฐเข้าไปควบคุมเหมือนเดิมไม่ได้ เราไม่ต้องเถียงกันว่าใครศาสนาไหน แต่คนทุกคนสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพ ประชาชนสามารถทำงานได้เต็มรูปแบบ พอคนเริ่มเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ เขาจะไม่คุยกันเรื่องเดิมๆ แล้ว

เมื่อเป็นอย่างนั้นได้ บทบาทของรัฐที่คอยเข้าไปยุ่งกับชีวิตประชาชนก็จะลดลงไปเอง รัฐควรไปจัดการเรื่องงบประมาณ และเน้นการกระจายอำนาจให้ลงไปที่ประชาชน เมื่อประชาชนมีอำนาจ สามารถจัดการกับชีวิตตัวเองได้เต็มศักยภาพ รัฐมองประชาชนอย่างเท่าเทียม เคารพศักดิ์ศรีและสิทธิเสรีภาพ ความหวาดระแวงและขัดแย้งก็จะน้อยลง ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องมีการสูญเสียอีก

รยุศด์ : โจทย์ใหญ่ของการพาผู้ลี้ภัยกลับบ้านคือ ตราบใดก็ตามถ้ารัฏฐาธิปัตย์ยังเป็นทหาร คสช. อยู่ หรือเป็นใครก็ตามที่มีอำนาจโดยไม่ได้มาจากประชาชน ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน มันเป็นเรื่องยาก

ทหารที่มาปกครองประเทศ เขาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เขาไม่มี ส.ส. ที่ลงพื้นที่พบปะประชาชน เขาไม่รู้ว่าสิ่งที่ประชาชนต้องการคืออะไร ต่างจากพรรคการเมืองที่มีการแข่งขันกันอย่างเสรีและแฟร์บนพื้นฐานของนโยบาย

ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคได้มีโอกาสเดินพบปะพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ประชาชนก็จะสะท้อนความต้องการให้กับพรรคการเมือง พรรคการเมืองก็ทำนโยบายออกไป แล้วก็แข่งขันด้วยนโยบาย เลือกตั้งมาได้ผู้นำรัฐบาล แล้วผู้นำรัฐบาลเหล่านั้นก็ต้องมาทำตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา

เพราะฉะนั้นข้อท้าทายที่สุดของการนำผู้ลี้ภัยกลับบ้าน อย่างแรกคือต้องมีรัฐบาลเป็นประชาธิปไตย ถ้ารัฐบาลไม่ได้มาจากประชาธิปไตย มันไม่มีโอกาส

ถ้ามีรัฐบาลพลเรือนเข้ามาทำหน้าที่ ก็จะสามารถรับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาจากทุกภาคส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยได้ รัฐบาลสามารถเป็นเจ้าภาพและเปิดกว้างในการเจรจาได้ นี่คือสิ่งสำคัญที่รัฐบาลประชาธิปไตยจะทำได้

แต่ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร สิ่งที่เขาพยายามอย่างเดียวคือการคิดที่จะสืบทอดอำนาจและจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ความท้าทายอีกเรื่องคือสังคมไทยต้องเรียนรู้ว่ายิ่งสังคมปิดเท่าไหร่ คนก็ยิ่งเครียดกันมาก และจะกลายเป็นสังคมที่หาทางออกด้วยการใช้ความรุนแรง

รอมือละห์ ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาคีหรืออนุสัญญาว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัยใดๆ ทั้งยังไม่มีกฎหมายที่จะให้การคุ้มครองให้แก่กลุ่มคนดังกล่าว สถานะของพวกเขาเหล่านั้นจึงถือว่าเป็นคนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ต้องใช้ชีวิตหลบซ่อนหวาดกลัว เพราะเสี่ยงโดนจับกุม กักขัง และส่งกลับไปยังประเทศของตน ส่วนคนไทยที่ลี้ภัยไปอยู่ประเทศอื่นก็ตกอยู่ในสภาพเฉกเช่นเดียวกัน นี่เป็นความท้าทายในปัจจุบัน

หากพรรคประชาชาติได้เป็นรัฐบาล ต้องผลักดันนโยบายส่งเสริมสัมพันธไมตรีและความร่วมมือกับนานาประเทศ และถือหลักในการปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอภาค ตลอดจนปฏิบัติตามสนธิสัญญา อนุสัญญา และความตกลงว่าด้วยเรื่องต่างๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี รวมทั้งตามพันธกรณีที่ได้กระทำไว้กับนานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ พร้อมกับให้ความคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศ ตลอดจนสร้างความสามารถทางเศรษฐกิจให้ไทยได้รับการยอมรับ มีเกียรติและศักดิ์ศรีในสายตานานาชาติ

วิธีแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ  มีนโยบายเปลี่ยนจากสนามรบเป็นสนามการค้า ถือว่าช่วยคลี่คลายความขัดแย้งของสังคมได้ นโยบายนี้พิสูจน์ว่าการจัดการปัญหาผู้ลี้ภัยด้วยการใช้นโยบายการต่างประเทศ สร้างความมั่นคงในภูมิภาคโดยประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม ให้มีเสถียรภาพทางการเมือง โดยทำให้คนอาศัยอยู่ในประเทศของตัวเองได้ ทำให้รัฐบาลพลเรือนเข้มแข็ง รัฐบาลทำงานในฐานะผู้ที่ต้องดูแลและส่งเสริมความอยู่ดีกินดีของประชาชนในประเทศได้

สังคมไทยต้องเปลี่ยนความคิดและมุมมองต่อผู้ลี้ภัย ต้องเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีคุณค่าและมีศักยภาพ มนุษย์จึงเป็นเป้าหมายหลักที่จะต้องได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม ทั่วถึง และมีอิสระ เพื่อจะได้เป็นทรัพยากรสำคัญในการพัฒนาประเทศและสังคมโลก

เราต้องอยู่ร่วมกันอย่างเคารพในสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีของบุคคลอื่น เคารพในกติกาที่ร่วมกันสร้าง และทำประโยชน์ให้กับสังคมส่วนรวม มนุษย์จำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นปรากฏการณ์ปกติของสังคม โดยการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ การศึกษาวิจัย และการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่ความเจริญผาสุกของชาติที่มีประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ

อย่าลืมว่าประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก เราจึงต้องมุ่งส่งเสริมและแสวงหาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งระดับภูมิภาค อนุภูมิภาค เพื่อสร้างความเข้มแข็งของพหุวัฒนธรรมในบริบทโลกให้ได้

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save