fbpx
THE BELIEVERS ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ : “ด้วยความอดทนอดกลั้นและประนีประนอม”

THE BELIEVERS ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ : “ด้วยความอดทนอดกลั้นและประนีประนอม”

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

อดีตประธานรัฐสภาชาวยะลา เข้าสู่การเมืองตั้งแต่ปี 2522 ผ่านการเป็นรัฐมนตรี 2 กระทรวงคือคมนาคมและมหาดไทย

40 ปีบนถนนการเมืองไทยยาวนานพอที่จะถูกเรียกว่าผู้อาวุโส แต่ในทัศนะและจุดยืนที่สนับสนุนประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการอย่างเปิดเผย ทำให้ประชาชนที่เชื่อในจุดยืนเดียวกันมอบความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรในนามหัวหน้าพรรคประชาชาติ 1 ใน 7 ผู้นำพรรคฝ่ายค้านต่อ แม้อายุอานามจะล่วงเข้าสู่วัย 75 ปีแล้วก็ตาม

อะไรทำให้คนๆ หนึ่งที่เกิดมาบนแผ่นดินชาติพันธุ์มลายู เลือกเข้าสู่สภาเพราะอยากเห็นชีวิตคนบ้านเดียวกันหลุดพ้นจากความไร้ราคา แต่จนบั้นปลายชีวิตแล้ว ยังต้องกลับมาพูดเรื่องพื้นฐานที่สุดนั่นคือ “สิทธิและความเสมอภาค” – นี่เป็นความรู้สึกที่หลายคนยังสงสัยซึ่งสะท้อนยุคสมัยของสังคมไทยไว้อย่างน่าฉงน

คำตอบเบื้องต้นอาจอยู่ในบางช่วงของการกล่าวปาฐกถาเปิดงานครบรอบ1 ปีพรรคประชาชาติ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี

“…พี่น้องที่เคารพครับ ความจริงวันนี้เรามาแสดงความยินดีต่อกันในโอกาสครบรอบ 1 ปีพรรคประชาชาติ แต่สถานการณ์ในช่วงนี้ก็ยังมีคนกล่าวร้าย ในท่ามกลางความยินดีกับพรรคประชาชาติ ผมจึงต้องขอเวลาในโอกาสสำคัญนี้กล่าวความเห็นในเรื่องนี้เล็กน้อย

“เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ณ จังหวัดปัตตานีนี้เช่นเดียวกัน วันนั้นมีหัวหน้าพรรคการเมืองรวมทั้งผมด้วย ผู้แทนพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายค้าน 7 พรรคการเมืองเดินทางมาเยี่ยมพี่น้องประชาชนเพื่อพูดคุยกันถึงเรื่องปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้และพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังมีความบกพร่องบางประการ แต่ละคนก็เดินทางมาด้วยความรับผิดชอบเสียสละเสียค่าเครื่องบินเอง ค่าเดินทางเองและมาด้วยความสมัครใจ

“…น่าประหลาดใจและน่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง มันเกิดเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น มีทหารกลุ่มหนึ่งอันเป็นตัวแทน กอ.รมน. ที่มีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีภูธรจังหวัดปัตตานีว่าพวกเราที่มาปราศรัยในวันนั้นได้กระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา116 หมายถึงว่าที่เรามาวันนั้นเพื่อยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ กระด้างกระเดื่อง หรืออันตรายต่อความมั่นคงของประเทศชาติ

“ความผิดตามกฎหมายนี้อาจจะติดคุก ประหารชีวิต ผมไม่ทราบว่ามันจะเกิดขึ้นอะไรขึ้นต่อข้อหาเช่นนี้ ผมจึงไม่แปลกใจเลยว่าเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ทำไมท่านหะยีสุหลง นักต่อสู้เพื่อประชาชนชาวปัตตานีคนหนึ่งจึงถูกข้อกล่าวหาว่าเป็นกบฏ ข้อเรียกร้องของเขา 7ข้อที่เสนอต่อรัฐบาลเพื่อเรียกร้องความเสมอภาค เสรีภาพทางศาสนา การศึกษาและการมีส่วนร่วมในการปกครอง แต่ถูกข้อหาว่าเป็นกบฏ และเรียกให้ไปชี้แจงได้หายสาบสูญไปพร้อมกับผู้ติดตามจำนวนหนึ่ง 60 ปีแล้ว จนบัดนี้เรายังไม่พบศพของท่านเลย”

น้ำเสียงสั่นเครือบนเวทีของชายวัย 75 ทำให้ห้องประชุมที่จุคนราวหนึ่งพันคนเงียบงันลง ราวกับพวกเขาสามารถจูนความรู้สึกร่วมกันได้

และอีกบางตอน เขากล่าวต่อไปว่า

“…ผมรู้สึกเสียใจและอับอายเป็นอย่างยิ่งที่เพื่อนๆ มาเยี่ยมบ้านเรา มาพูดถึงเรื่องประชาธิปไตย มาพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่ได้รับข้อครหากลับไปบ้าน ไปเป็นของขวัญฝากให้กับประชาชนภูมิภาคอื่นๆ หลายแห่งด้วยกัน แทนที่จะกลับไปบอกเล่าให้พี่น้องของเขาว่าได้มาเยือน 3 จังหวัดแล้วน่าอยู่ น่ามาเที่ยวและได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดียิ่ง

“อย่างไรก็ตามถ้ามองอีกมิติหนึ่งก็อาจจะเป็นเรื่องที่ทำให้ประชาชนในภูมิภาคอื่นๆ เข้าใจว่า พื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ที่เราอยู่นั้นเป็นพื้นที่หวงห้าม คล้ายๆ กับมีประกาศว่า เหตุการณ์ความขัดแย้ง คนภายนอกห้ามมาเยือน หรืออาจจะหมายถึงพวกประชาธิปไตยห้ามเข้า

“พี่น้องที่เคารพครับ เราจำเป็นต้องอยู่บนผืนแผ่นดินนี้ซึ่งเป็นที่บรรพบุรุษเราอยู่กันมานาน สืบทอดกันอยู่หลายชั่วคนด้วยความอดทนอดกลั้นและประนีประนอม เพราะเรารักความสงบ เราจำเป็นต้องบอกกล่าวและต่อสู้กันต่อไปเพื่อที่จะทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองไทยตามกฎหมายเช่นเดียวกับประชาชนในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ

“แต่ละพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้นี้ถูกแยกเป็นกรณีพิเศษ ใช้กฎหมายหลายฉบับที่ไม่ได้ใช้ในพื้นที่อื่นๆ เช่น พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อ 105 ปีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อมีศึกสงครามโลกครั้งที่ 1

“นอกจากพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกแล้ว เรายังต้องใช้พระราชบัญญัติสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่อื่นเขาไม่มีหรอกครับ ตอนปฏิวัติ 57 ก็ใช้ในกรุงเทพฯ ไม่ถึงเดือนก็ยกเลิก แต่เราใช้มา 10 กว่าปีแล้ว พระราชบัญญัติฉุกเฉินนี้เขาให้ใช้แค่ 3 เดือน แต่เป็นยังไงครับ 3 เดือนต่ออีก 3 เดือน ไอ้พวกที่ขยันต่อ ต่อแล้วต่ออีก ไอ้พวกขยันต่อไม่ว่าครับ ไอ้พวกที่ไม่ขยันอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ ต้องจำใจต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้เป็น 10 ปี ทั้งๆ ที่เขาควรจะอยู่แค่ 3 เดือน มันคืออะไรกันครับพี่น้องครับ”

101 ถามไถ่ตั้งแต่ความรู้สึกที่กดทับอยู่บนบ่าไปจนถึงภาระที่เขาอาจวางลงในอนาคต แต่ทั้งหมดทั้งปวงเมื่อภารกิจเฉพาะหน้าคือการแสวงหาฉันทามติใหม่เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ บทเรียนทางการเมืองที่ผ่านมาสอนอะไรบ้าง ก้าวย่างต่อไปจะเป็นอย่างไร

วันมูหะมัดนอร์ มะทา กำลังอธิบาย…

วันมูหะมัดนอร์ มะทา

คุณอยู่ในการเมืองไทยมานานกว่า 40 ปี วันดีคืนดีถูกฝ่ายความมั่นคงฟ้องในข้อหายุยง ปลุกปั่น สร้างความกระด้างกระเดื่องแล้วรู้สึกอย่างไร

สำหรับคนเป็นนักการเมือง มันเป็นเรื่องธรรมดาที่จะถูกฟ้องร้องคดีเหล่านี้ แต่อย่าไปติดคุกติดตารางเพราะโกงประชาชนหรือไปทุจริตคอร์รัปชัน แบบนั้นมันน่าละอาย ถ้าติดคุกเพราะสู้เพื่อประชาชน สู้ในระบบรัฐสภา สู้เพราะการปราศรัยที่เขากล่าวหาเรา ผมว่าไม่ควรไปกลัวหรือหวั่นไหวต่อข้อกล่าวหาเหล่านั้น

วันนี้ผมว่าเป็นเรื่องตลก เด็กๆ เขายังบอกเลยว่าตลก ไม่เห็นมีใครไปแบ่งแยกดินแดนหรือสร้างความปั่นป่วน ประชาชนที่นั่งฟังอยู่วันนั้นเขาหัวเราะตบมือกันปกติ หลานผมถามว่าทำไมต้องผิดด้วย ไม่เห็นคุณปู่พูดถึงเรื่องแบ่งแยกดินแดน หรือไปปลุกระดมลงถนนอะไร ทำไมต้องถูกฟ้องด้วย นี่ขนาดเด็กมัธยม เพราะฉะนั้นคนที่ฟ้องไม่รู้เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เด็ก ม.2 เขาไม่ตกใจอะไรเลย

จริงๆ คือ กอ.รมน. ควรถูกยกเลิกไปนานแล้ว แต่มันมีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในช่วงรัฐประหาร 2549 เมื่อก่อนที่ไทยยังมีภัยคอมมิวนิสต์ เขาอาศัย กอ.รมน. เข้าไปทำงานกับคนที่มีความเห็นต่างกัน พอหลังจากที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ใช้นโยบาย 66/23 กอ.รมน. ก็แทบไม่มีบทบาทอะไร มีแต่องค์กรคงอยู่ต่อไป

จนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ทำปฏิวัติปี 2557 แล้วก็สืบทอดอำนาจมาถึงปัจจุบัน ก่อนที่จะยกเลิก คสช. คงคิดว่าควรเอา กอ.รมน. มาเสริมเขี้ยวเล็บแทน แล้วก็ให้บทบาทมาดูแลพวกนักการเมืองด้วย ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ถูกต้องกับเวลาที่เราควรเป็นประชาธิปไตย

ทำไมบทบาทของฝ่ายความมั่นคงถึงสวนทางกับวิถีประชาธิปไตย

เพราะความมั่นคงที่พูดถึงกันน่าจะไปจัดการกับศัตรูหรือผู้ก่อการร้ายมากกว่า ไม่ใช่จัดการประชาชนหรือนักการเมือง นักการเมืองถ้าเขาทำผิด กฎหมายปกติก็เอาผิดได้ ตำรวจดำเนินการได้ ไม่ควรที่จะใช้ กอ.รมน. เพราะมันเกินเลยกว่าบทบาทในยามที่ประเทศต้องการเป็นประชาธิปไตย

ประสบการณ์ผมบอกว่าบทบาทที่คุณประยุทธ์สืบทอดอำนาจโดยรัฐธรรมนูญก็ดี เลือกตั้งก็ดี ความพยายามรักษาอำนาจไว้นานๆ นั้น อำนาจอยู่กับใครก็เป็นอันตราย ยิ่งไปใช้อำนาจมาก ยิ่งไปฟ้องนักการเมือง จับนักศึกษา อำนาจนั้นอาจจะหลุดไปเร็วกว่าที่คิด

อย่าไปคิดว่าประชาชนโง่แล้วจะเห็นด้วยกับการกระทำทุกอย่างของผู้มีอำนาจ เพราะฉะนั้นคนที่มีอำนาจควรใช้อำนาจให้น้อยที่สุด ซอฟท์ที่สุด แล้วก็ใช้นโยบายทางด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ มีรัฐธรรมนูญที่ดี ความมั่นคงจะเกิดขึ้นมาเอง

ตอนนี้พรรคฝ่ายค้านเดินหน้าผลักดันแก้รัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง กระบวนการแก้จะเป็นอย่างไร

วาระการแก้รัฐธรรมนูญนั้นเป็นวาระของนักการเมืองเกือบทุกพรรคนะ มีไม่กี่พรรคเท่านั้นแหละที่บอกว่าไม่อยากแก้ แต่ต้องการให้เกิดการปฏิรูปก่อน ผมเห็นว่าเกือบทุกพรรคการเมืองตอนหาเสียงก็บอกว่าสิ่งแรกหลังการเลือกตั้งแล้วอยากจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้อยู่มีข้อบกพร่องหลายประการด้วยกัน เพราะฉะนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นถ้าจะพูดว่าเป็นวาระแห่งชาติก็ไม่ผิด แล้วถ้าถามประชาชน ผมคิดว่าส่วนใหญ่คงอยากเห็นการแก้กันทั้งนั้น เพียงแต่ยังไม่มีการพูดกันในรายละเอียด

7 พรรคฝ่ายค้านตกลงอะไรกันไว้บ้าง

สำหรับผมในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ 7 พรรคฝ่ายค้าน เราก็ตกลงกันไว้ก่อนแล้วว่า 1. รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องแก้ไข 2. การแก้ไขนั้นจะไม่ไปแตะต้องหมวดที่ 1 ว่าด้วยบททั่วไปของการปกครองประเทศ และหมวดที่ 2 ว่าด้วยหมวดของพระมหากษัตริย์ 3. มีการตกลงกันว่าจะไม่พูดเรื่องรายละเอียดของการแก้ไขในระหว่างที่หาฉันทามติจากประชาชนว่าจะแก้ตรงไหนบ้าง เพราะเกรงว่าจะเกิดความขัดแย้ง ขอให้เดินหน้าอธิบายให้ประชาชนเข้าใจเสียก่อนสักระยะหนึ่งแล้วถึงจะมาตกลงกันว่าควรจะแก้อะไรบ้าง

นอกจากนั้นคราวนี้มีหลายคนเห็นว่าควรจะแก้เป็นรายมาตรา แล้วหลายคนก็เห็นว่าควรจะให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เหมือนปี 2540 ซึ่งมีแนวโน้มที่เห็นด้วยกันค่อนข้างมาก ผมเองในฐานะที่เป็นประธานรัฐสภาในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มี ส.ส.ร. อยู่ ผมก็ได้สนับสนุนการทำงานของ ส.ส.ร. เต็มที่ใน 1 ปีนั้น แล้วตอนเขาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ประชาชนก็สนับสนุนเป็นอย่างมาก

บรรยากาศในสภาตอนร่างรัฐธรรมนูญ 40 เป็นอย่างไรบ้าง

ตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญปี 40 ผมอยู่ในลิสต์ว่าค่อนข้างจะเป็นหัวขบวนด้วย เพราะเป็นประธานรัฐสภาพอดี ถึงแม้ไม่ได้เป็นคนร่างแต่ผมก็อยู่เบื้องหลังตลอดเวลา อำนวยความสะดวกให้ทุกอย่าง ส.ส.ร. ต้องการอะไร ผมจัดให้ ต้องการงบประมาณออกไปประชาสัมพันธ์ขอประชามติประชาชน สภาก็อำนวยความสะดวกงบประมาณให้ แล้วช่วงท้ายๆ ก่อนการยกร่างฯ บรรดา ส.ส. เริ่มลังเลเหมือนกัน พรรคการเมืองหลายพรรคลังเลเพราะว่า ส.ส.ร. แก้เยอะ เช่น ลดอำนาจของ ส.ส. บ้าง ให้มีองค์กร ป.ป.ช.มาตรวจสอบบ้าง ส.ส.หลายคนคิดว่าเรื่องอะไรจะยื่นดาบให้เขามาฟันเรา

แต่ผมเป็นคนยืนยันตลอดเวลาว่าอย่างน้อยอย่างที่สุดถ้าไม่มีใครสนับสนุน ผมคนหนึ่งสนับสนุน เพราะมันทำท่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน ส่วนพรรคการเมืองจะตัดสินใจยังไงเป็นเรื่องของพรรค แต่ผมเห็นด้วยว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดกว่าทุกฉบับที่ผ่านมา เราควรจะสนับสนุน

ผมในฐานะประธานรัฐสภาต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่ในนามพรรค แต่เป็นในนามรัฐสภา ผมบอกหัวหน้าพรรคซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ) ว่าอย่างน้อยที่สุดประธานรัฐสภาต้องลาออกหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน เพราะประธานรัฐสภาเป็นคนรับสนองพระราชโองการ ไม่ใช่นายกฯ

ตอนอภิปรายในปี 40 วันนั้น ครึ่งวันแรกมีท่าทีจะไม่ผ่านเหมือนกัน ผมก็ยังยืนยันจุดเดิมว่าเย็นนี้ถ้าลงมติเมื่อไหร่ไม่ผ่าน ผมก็จะลาออกวันนั้นเลย บรรดาหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านก็ไปหารือตอนพักเที่ยง พอบ่าย 2 โมง ท่าทีเริ่มดีเพราะมีขบวนธงเขียวจากภาคประชาชนมาที่สภา พอลงมติสรุปว่าผ่าน แล้วผมก็เป็นคนรับสนองพระบรมราชโองการจากในหลวงรัชกาลที่ 9

วันมูหะมัดนอร์ มะทา

จากฉบับปี 40 มาถึงฉบับปี 60 คุณเห็นประเด็นไหนที่ถอยหลังและควรแก้บ้าง

ถ้าถามว่าจะแก้อะไรบ้าง ผมคงต้องพูดในนามส่วนตัวก่อน ในฐานะที่อยู่ในวงการการเมืองมา 40 ปี ประเด็นแรกคือเรื่องของรัฐสภา บทบาทสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและบทบาทวุฒิสมาชิก บทบาทของ ส.ส. ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้ค่อนข้างมอง ส.ส. ในแง่ร้าย เช่น ห้าม ส.ส. ไปรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนมาเสนอหน่วยงานของรัฐ คล้ายๆ ว่ารับมาได้ แต่ต้องพูดในสภาอย่างเดียว หรือเอาไปให้หน่วยงานโดยตรง เช่น กระทรวงต่างๆ

รัฐธรรมนูญเขาห้าม ส.ส. ไปก้าวก่าย หรือพูดง่ายๆ ว่า ส.ส.มีหน้าที่ในการออกกฎหมายแล้วก็ตรวจสอบรัฐบาลเท่านั้น แต่คนไทยเนี่ย เขาเลือกผู้แทนมาทั้งทีไม่ใช่ว่าอยากให้ไปนั่งในสภาออกกฎหมาย หรือว่าอภิปรายตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเท่านั้น เขาอยากจะสัมผัสผู้แทนด้วย เขาอยากให้ไปดูปัญหาและความต้องการของเขา แล้วเขาก็อาจจะขอไฟฟ้า ขอถนน ขอน้ำประปา ขอโรงพยาบาลผ่านผู้แทนในเขตพื้นที่ตัวเอง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เอื้อให้ทำเช่นนั้น เพราะจะเป็นการไปก้าวก่ายงานของข้าราชการประจำ ให้เป็นเรื่องของข้าราชการประจำบริหารงานไป

แม้แต่ขอโรงเรียนก็ไม่ได้ ขอวัด ขอมัสยิดอะไรไม่ได้เลย แล้วผู้แทนจะมาของบประมาณเอาไปลงให้ก็ไม่ได้ ต้องเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร แบบนี้ผมคิดว่ามันผิดธรรมชาติอยู่ เพราะฉะนั้นพวกคนที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่เคยลำบาก พวกนั้นร่างรัฐธรรมนูญแบบที่ตัวเองไม่เคยสัมผัส ผมว่ามันผิด บทบาทของ ส.ส. ควรจะกว้างมากกว่านี้ ไม่งั้นทำอะไรไม่ได้ แล้วอาจทำให้เกิดคาดหวังที่ผิดของชาวบ้านว่า “เฮ้ย ส.ส.ไม่สนใจ”

แล้วบทบาทของ ส.ว. เนี่ย ตอนนี้มาจากการได้รับการแต่งตั้งจากนายกฯ เสร็จแล้วก็เลือกคุณประยุทธ์มา แล้วต่อไปถึงแม้ว่าคุณประยุทธ์ไม่ได้เป็นคนเลือก แต่ให้องค์กรต่างๆ เช่นมาจากสมาคมชาวนาชาวไร่ อะไรต่างๆ เลือกเข้ามา แต่ก็ยังมีบทบาทเลือกนายกฯ ได้เท่ากับ ส.ส. ซึ่งเป็นผู้แทนจากประชาชนโดยตรงด้วย ส่วน ส.ว. เป็นผู้แทนของกลุ่มคนอาชีพต่างๆ ทางอ้อม บทบาทควรจะแตกต่างกัน

ส.ว. เมื่อเป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพ กลุ่มคนหรือสมาคมต่างๆ เขาควรจะมีหน้าที่ในการที่จะดูแลความต้องการขององค์กรของเขาที่มาเสนอต่อรัฐสภา ส่วนการเลือกผู้บริหารโดยตรงคือการเลือกตั้งส.ส. แล้วให้ ส.ส. เลือกนายกฯ แต่ที่เป็นอยู่มันตรงกันข้ามกับระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่ควรจะเชื่อมโยงกับประชาชน

ส.ว. ควรมาจากการเลือกตั้ง ส่วนบทบาทจะปรับปรุงยังไงไม่ให้ว่าเป็นสภาผัวเมียนั้นก็ไปคิดได้ เพราะเราเห็นตรงนั้นว่าไม่เหมาะสม อาจจะเป็นปัญหาอยู่

แล้วก็องค์กรอิสระต่างๆ วิธีการสรรหาหรือการได้มานั้นควรจะยึดโยงกับประชาชนด้วย ส่วนใหญ่เป็นตัวแทนของศาลฎีกา ศาลปกครอง แล้วก็ศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นคนเลือกมา ผมไม่ได้บอกว่าคนเหล่านี้ไม่ดี แต่ความเชื่อมโยงกับประชาชนอาจจะน้อยไป ผมไม่ได้บอกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ในการสรรหาองค์กรอิสระนั้นดีแล้ว ควรจะมีการแก้ไขบ้างเพื่อให้มันไม่เชื่อมโยงกับฝ่ายการเมืองมากเกินไป

นอกจากนั้นคือเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่ให้สิทธิกับประชาชนอย่างกว้างขวางเท่าที่ควรจะเป็น แล้วหมวดว่าด้วยนโยบายแห่งรัฐที่กำหนดให้มียุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปีเป็นแนวทางการปฏิรูปที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเลย อันนี้ควรจะเปิดกว้างให้สภาเขาทำหน้าที่เอง 20 ปียาวไปเพราะว่าหลังจาก 5 ปี ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะ โลกปัจจุบันมันเปลี่ยนแปลงเร็ว เราไม่ควรจะเสียเวลากับแผน 20 ปี แล้วไม่ได้ใช้ทั้งหมด

แทนที่จะพักผ่อนหรืออาจจะแค่เป็นที่ปรึกษาทางการเมือง ทำไมคนอายุ 75 อย่างคุณถึงต้องลงสนามใหม่ท่ามกลางขวากหนาม หลายคนก็คิดว่าไม่อยากเจ็บตัว

ใช่ ตอนแรกผมคิดว่าคนอายุ 75 อย่างผมควรจะพักได้แล้ว แต่บังเอิญว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้หลายคนคิดว่าน่าจะตั้งพรรคการเมืองใหม่ได้ และน่าจะมีผู้แทนใหม่ๆ ได้ โดยเฉพาะพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้เราเห็นว่าถ้ามีพรรคการเมืองที่รู้ปัญหาของชายแดนภาคใต้มากที่สุดเกิดขึ้นมาก็น่าตอบสนองการแก้ปัญหาของประชาชนได้ดีกว่าพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นจากส่วนกลางหรือที่อื่น ซึ่งผมยินดีสนับสนุน

ตอนแรกคิดว่าอยากเข้าไปร่วมกับเขาเฉยๆ อาจจะเป็นกรรมการพรรคหรือเป็นสมาชิกพรรค ไม่คิดว่าจะมาเป็นหัวหน้าพรรค แต่ทุกคนเห็นตรงกันว่าในระยะแรกควรจะมีผู้มีประสบการณ์อาวุโสอย่างผมเพื่อสร้างความเชื่อถือไปก่อน ผมเลยต้องรับเป็น แต่ผมคิดตลอดเวลาว่าในระยะหนึ่งเท่านั้นคือไม่น่าจะเกิน 4 ปี หรือสักครึ่งเทอมก็พอ แล้วจะพยายามค่อยๆ ถอยให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน ผมอาจจะไปเป็นที่ปรึกษาเพราะรู้ตัวว่าอายุมาก ถึงแม้ว่าจะไม่มีโรคประจำตัว ค่อนข้างแข็งแรงอยู่ แต่ความคิดอาจจะช้ากว่าคนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้นก็ต้องปั้นคนรุ่นใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่หัวหน้าพรรคเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งครั้งต่อไป แล้วผมมองเห็นตลอดเวลาว่าคนที่อยู่ในการเมือง อายุที่เหมาะสมที่สุดต้องไม่เกิน 60

ทำไมต้องไม่เกิน 60

ผมว่าช่วงวัยที่ดีที่สุดคือช่วง 40-55 เพราะมันกระฉับกระเฉง สมองไว ทันสถานการณ์ต่างๆ การเลือกตั้งคราวหน้าคนที่อายุเกิน 60 จะน้อยลงตามลำดับ นอกจากบางคน (หัวเราะ) เพราะว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็มีคนรุ่นใหม่เยอะขึ้น แม้แต่คนรุ่นเก่าก็อยากได้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน นี่เป็นเทรนด์ของโลกปัจจุบัน

ผมหวังว่าในช่วงชีวิตของผมจะเห็นการเมืองที่เปลี่ยนไปในเทรนด์ใหม่ เพราะการเมืองของโลกมันเปลี่ยนเยอะ ผู้นำของประเทศต้องเป็นผู้นำที่เป็นประชาธิปไตย ต้องเป็นคนที่มีความน่าเชื่อถือ สามารถสื่อสารกับประชาชนในประเทศและต่างประเทศได้ แล้วผู้นำของประเทศต่อไปนี้ ผมว่า 40 ไม่เกิน 55 นี่แหละ แม้แต่ประเทศคอมมิวนิสต์อย่างจีนเดี๋ยวนี้คนอายุ 40-50 ก็เป็นนักบริหารเยอะ

สำหรับประเทศไทยวันนี้ มีโอกาสไหมที่คนอายุ 40-50 จะได้เป็นผู้นำประเทศ

ผมมีความหวัง เอาง่ายๆ ดูจากการเลือกตั้งคราวนี้ ใครจะคิดว่าพรรคอนาคตใหม่ที่เพิ่งลงเลือกตั้งครั้งแรก ไม่มีอดีต ส.ส. ในพรรคเลย เลือกตั้งมาได้ตั้ง 80 กว่าคน ในสภาพที่ไม่มีประสบการณ์ลงเลือกตั้งเลย แปลว่าความต้องการของประชาชนที่เลือกมาส่วนใหญ่ก็ต้องการคนรุ่นใหม่ นี่เป็นตัวอย่างว่าการเมืองกำลังเปลี่ยนไป และถ้าเขาไม่ถูกทำลายด้วยหมากการเมืองที่ไม่ค่อยแฟร์ ผมเชื่อว่าพรรคอนาคตใหม่จะเป็นพรรคที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งหรือสองได้เลย เพราะประชาชนรอติดตามและให้กำลังใจ

พรรคอนาคตใหม่มีแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศ ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงการปกครองนะ แต่เปลี่ยนแปลงระบบการคิด และระบบของเศรษฐกิจให้ประโยชน์มาสู่คนรากหญ้ามากขึ้น ขจัดการผูกขาด กระจายอำนาจ ที่พูดเนี่ยไม่ได้หมายความว่าทำไมผมเชียร์พรรคอนาคตใหม่ ทั้งๆ ที่อยู่คนละพรรคกับผม ความจริงคือแม้แต่พรรคประชาชาติ เทรนด์ก็ต้องเป็นไปแบบเดียวกัน ต้องคิดถึงเรื่องกระจายอำนาจ กระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เพิ่มศักยภาพคน

นี่เป็นสิ่งที่คนสามจังหวัดภาคใต้ต้องการด้วยไหม

แน่นอน เขาอยากเห็นการพัฒนาและการเมืองที่ประชาชนมีส่วนในการบริหารจัดการมากกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ส่วนจะเป็นรูปแบบของการถ่ายโอนอำนาจให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นหรือจัดการปกครองในรูปแบบพิเศษเหมือนพัทยาหรือกรุงเทพฯ ต้องไปคิดกันดูอีกทีว่าแบบไหนเหมาะสม แต่ถ้าพูดโดยภาพรวม คงไม่ใช่เฉพาะในสามจังหวัดเท่านั้นที่ประชาชนต้องการมีส่วนร่วมในการบริหาร อย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต สงขลา ขอนแก่น จังหวัดชายแดนต่างๆ ก็ต้องให้เขาเป็นจังหวัดบริหารจัดการตนเองมากขึ้น ถ้าทุกอย่างขึ้นอยู่กับส่วนกลางนี่คือระบบโบราณและเป็นปัญหามากเพราะแก้ไขปัญหาไม่ทันและไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน

อีกอย่างคือเรื่องความยุติธรรม อย่างกรณีของผู้พิพากษา ‘คณากร เพียรชนะ’ ที่ยิงตัวเองหรือกรณี ‘อับดุลเลาะ อีซอมูซอ’ ที่สมองบวมหลังจากฝ่ายความมั่นคงเอาตัวไปซักถามแล้วก็มาตายที่โรงพยาบาล มันสะท้อนให้เห็นว่าระบบความยุติธรรมและกฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นสร้างความไม่เป็นธรรมและกดทับประชาชนมาก แม้แต่ผู้พิพากษาเองก็ถูกกดดันจนต้องยิงตัวเองแล้วเขียนจดหมายประท้วงบอกว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร ถูกแทรกแซงอย่างไร

กรณีของอับดุลเลาะก็สะท้อนถึงกรณีที่ผู้พิพากษาไม่สามารถเอาผิดกับผู้ต้องหาที่ถูกคุมตัวอยู่ในศูนย์ซักถามตั้ง 7 วัน แล้วมาสารภาพทีหลังได้ เพราะพยานหลักฐานไม่น่าเชื่อถือ เราไม่สามารถแน่ใจได้ว่าศูนย์ซักถามไปบีบบังคับให้คนต้องสารภาพหรือไม่ นี่ทำให้เห็นถึงกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายพิเศษมีปัญหาและต้องทบทวนปรับปรุงใหม่อย่างเร่งด่วน

วันมูหะมัดนอร์ มะทา

ในฐานะผู้แทนประชาชนต้องขึ้นมาทำงานการเมืองที่ส่วนกลาง ต้องสู้ในเกมใหญ่ที่เข้มข้นและขัดแย้งมาก ขณะที่การเมืองท้องถิ่นในสามจังหวัดก็ซับซ้อนและอ่อนไหวมาก คุณรู้สึกอย่างไร

ผมตัดสินใจออกจากอาชีพเดิมที่เป็นอาจารย์ราชภัฏมาเล่นการเมืองเพราะผมเห็นความไม่เป็นธรรมในการปกครองของประชาชน สมัยเมื่อ 40 ปีที่แล้วเราขึ้นไปบนศาลากลาง ขึ้นไปบนอำเภอ หรือขึ้นไปสถานีตำรวจภูธร มีคนพื้นที่ไม่ถึง 2-3 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเป็นคนต่างถิ่น วัฒนธรรมก็แตกต่างกัน พูดภาษาก็ต่างกัน ศาสนาก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นประชาชนในพื้นที่ก็คิดว่าเราถูกคนอื่นปกครองอยู่ทำนองนั้น ทั้งๆ ที่เราอยู่ในประเทศเดียวกัน

สิ่งที่ผมอยากจะเห็นคือจะทำยังไงให้ผู้บริหารมาจากท้องถิ่นบ้าง ซึ่งตอนนี้ 40 ปีให้หลังมาก็มีคนมุสลิมมลายูที่เป็นนายอำเภอ เป็นผู้ว่าฯ ผู้กำกับ ผู้การ บ้างแล้วแต่ก็ถือว่ายังน้อย

ที่พูดนี่ไม่ใช่คิดแบ่งแยกว่าไม่ต้องการให้คนนอกเข้ามา ผมไม่มีปัญหา แต่ประชาชนที่อยู่ตามบ้านนอก เขาพูดคนละภาษา แต่งตัวก็ต่างกัน วัฒนธรรมต่างกัน เขามีความรู้สึกน้อยใจ จริงๆ สมัยก่อนมันโหดร้ายกว่านี้เยอะ ต้องใช้คำว่าโหดร้ายหรือเลวร้ายกว่านี้

โหดร้ายแบบไหน

ถ้าเป็นแถวบ้านผม สมัยก่อนบ้านเมืองยังไม่ค่อยเจริญขนาดนี้ แล้วคนส่วนใหญ่ก็อาศัยแม่น้ำเป็นที่ดำรงชีวิตทั้งกินทั้งอาบ แม้แต่ห้องน้ำก็ยังต้องใช้ริมแม่น้ำเลย ค้าขายก็มากับแพเรือ

สมัยผมเด็กๆ อยู่บ้านแม่ที่ปัตตานี เป็นบ้านริมแม่น้ำ นอกจากจะเห็นชีวิตการค้าขายแล้ว ในสัปดาห์นึงอย่างน้อยสองถึงสามวันจะเห็นศพลอยน้ำมาเรื่อยๆ แล้วก็มาชะลออยู่ตรงหน้าบ้าน เพราะว่าหน้าบ้านผมเป็นคุ้งน้ำก่อนจะไปถึงปากน้ำ ผมก็ตั้งคำถามว่าศพมาจากไหน ส่วนใหญ่ก็ไม่มีใครรู้ พอมาดูถ้าเป็นมุสลิมก็นำไปทำพิธี ถ้าเป็นคนพุทธก็นำส่งวัด แล้วส่วนใหญ่เวลาผู้ใหญ่พูดคุยกันเขาจะบอกว่ายิงกันตายมา โจรยิงบ้าง ตำรวจยิงบ้าง เท็จจริงยังไงเราไม่รู้ เพราะยังเด็ก แต่มีความรู้สึกว่าชีวิตคนทำไมไม่ค่อยมีค่า น่าจะต้องมีคนคอยดูแลไม่ให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

จากวันนั้นผมเลยคิดว่าเราน่าจะเป็นผู้นำชุมชนเพื่อที่จะหาคำตอบให้ได้ว่าทำไมชีวิตมนุษย์จึงไม่ค่อยมีคุณค่าหรือได้รับการดูแลสมควรแก่การเกิดมา เพราะพระเจ้าสร้างมาก็ลำบากอยู่แล้ว เมื่อเรามีชีวิตอยู่ ทำไมเราไม่ช่วยกันดูแล แน่นอนการเกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ไม่ควรจะมีการตายที่ไม่ใช่เป็นธรรมชาติ

หลังจากวันนั้นบอกตัวเองยังไงว่าต่อไปนี้จะทำเพื่อชุมชน

ผมคิดแค่ว่าเราต้องเป็นผู้นำ เพราะรู้สึกว่าที่บ้านของเรายังขาดอยู่ ผมคิดแบบเด็กๆ ว่าเราควรมีวีรบุรุษหรือต้องมีผู้นำที่ต่อสู้แทนประชาชน บางครั้งไปดูหนังในโรงก็มีความรู้สึกว่าเราจะต้องมีพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วย ที่สำคัญคือคนที่จะได้รับการนับถือต้องเป็นคนที่มีความรู้ มีความเสียสละ เพราะฉะนั้นเราก็ฝึกฝนให้เกิดขึ้นกับตัวเองเรา ตั้งใจเรียนให้ดี

แล้วชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการศึกษา คนที่สามารถเรียนในระดับมหาวิทยาลัยมีไม่กี่คน อย่างผมนี่เล็ดลอดมาได้ จะพูดยังไงดีล่ะ คือชีวิตคนไม่ค่อยมีราคา ไม่ใช่ว่าใส่ร้ายนะ แต่ว่าชีวิตไม่ค่อยมีราคาจริงๆ คนในรุ่นราวคราวเดียวกับผมที่เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่ชั้นประถม อาจจะพูดได้ว่ามีผมที่สามารถเรียนจบปริญญาตรีได้ หลายคนเรียนแค่ประถมแล้วก็เลิกไป หรือจบมัธยมก็มาเป็นครูเท่านั้น บ้านเกิดผมที่ยะลาสมัยก่อน คนจบปริญญาตรีแทบไม่มีเลย

ปัญหาหลักคืออะไร ทำไมรู้สึกว่าชีวิตคนสามจังหวัดไม่ค่อยมีราคา

ปัญหาหลักคือเรื่องการศึกษาที่ยังไม่ทั่วถึง เดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเยอะ แต่ถ้าเทียบกับคนในกรุงเทพฯ ก็ยังมีความแตกต่างกัน ยังเหลื่อมล้ำอยู่ ที่ดีขึ้นก็ไม่ใช่เพราะรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลก่อนเท่านั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการเรียกร้องของชาวบ้านที่อยากเห็นการพัฒนาเองด้วย

นอกจากการศึกษา อะไรคือเงื่อนไขที่ท้องถิ่นยังไม่ได้รับอำนาจให้ดูแลจัดการตัวเองทั้งในทางเศรษฐกิจและการปกครอง

อำนาจนิยม จารีตนิยม (ตอบทันที) ความเชื่อเก่าๆ ของผู้มีอำนาจว่าท้องถิ่นทำงานไม่เป็น ไม่มีศักยภาพ สู้ส่วนกลางไม่ได้ ปัญหาคือใครเป็นรัฐบาลก็อยากจะถืออำนาจนั้นไว้ อยากจะตัดสินใจเอง อยากถืองบประมาณ ใครอยากได้ก็มาขอแล้วจะรู้สึกมีเพาเวอร์ เวลาอยู่ใกล้เงินก็มีโอกาสที่จะหาเศษหาเลยจากงบประมาณแผ่นดิน เหล่านี้เป็นอันตรายกับประเทศ

เดี๋ยวนี้จะบอกว่าท้องถิ่นไม่เก่งไม่ได้ คนที่จบด็อกเตอร์เยอะมาก ถ้าหากว่าส่วนกลางลดความเป็นอำนาจนิยมลง ตัวรัฐบาลยังมีอำนาจอยู่แต่ทำเรื่องนโยบายเท่านั้นและให้ท้องถิ่นบริหารงบประมาณเองจะพัฒนากว่านี้มาก ระบบที่ไม่กระจายอำนาจมันขาดประสิทธิภาพและคุณภาพ ที่สำคัญคือขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

แน่นอน ใหม่ๆ อาจจะมีข้อบกพร่อง แต่ในระยะหนึ่งก็จะดีขึ้นเพราะคนเรียนรู้และพัฒนาได้ ประเทศอื่นๆ ก็กระจายกันทั้งนั้น มาเลเซียเขามีระบบกษัตริย์ แต่รัฐบาลกลางมีหน้าที่แค่ดูแลนโยบาย ผู้ว่าฯ รัฐต่างๆ มาจากการเลือกตั้ง เขาก็มีความเจริญรุ่งเรืองดี ที่ญี่ปุ่นก็กระจายอำนาจ นายกรัฐมนตรีมาจากสภา ผู้ว่าแต่ละเมืองทั้งโตเกียว โอซาก้า มีผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราไม่ควรที่จะดื้อรั้นต่อไปในสภาพนี้

วันมูหะมัดนอร์ มะทา

บางคนกลัวว่าถ้าทำแบบนั้นแล้วประเทศจะไม่เป็นปึกแผ่น

ถ้าเรากระจายอำนาจออกไปแล้วบ้านเมืองจะแตกเป็นเสี่ยง ขาดความมั่นคง ก็ให้ดูประเทศต่างๆ ที่เขากระจายอำนาจอินโดนีเซียเป็นเกาะเกือบ 3,000 เกาะ ใช้ภาษาเกือบ 50 ภาษา คนกว่า 200 ล้านคน แต่ผู้ว่าฯ เขาก็มาจากการเลือกตั้งก็ไม่เห็นจะมีปัญหาเรื่องความมั่นคง อุตสาหกรรมต่างๆ ก็ย้ายจากบ้านเราไปลงทุนที่อินโดนีเซียเยอะ

ที่ลาว ถึงแม้ผู้ว่าฯ จะแต่งตั้งมาจากรัฐบาลกลาง แต่ผู้ว่าฯ ที่เขาเรียกว่าเจ้าแขวงนั้น กิจการภายในแขวงนั้นรัฐมนตรีไปยุ่งไม่ได้ ผมเคยไปในฐานะรัฐมนตรีคมนาคมบ้าง รัฐมนตรีมหาดไทยบ้าง ผมเห็นว่าผู้ว่าฯ เขาไม่แยแสรัฐมนตรีเลย เพราะในเขตเขา เขาเป็นคนตัดสินใจ รัฐมนตรีจะทำถนนหรือทำอะไรในเขตของผู้ว่าฯ ต้องเชิญมานั่งคุยกัน บางทีรัฐมนตรีไป ผู้ว่าฯ ยังไม่มารับด้วยซ้ำ เพราะเขาไม่ว่างเขาต้องไปดูแลประชาชน รัฐมนตรีก็ต้องดูแลตัวเอง ทั้งนี้ผู้ว่าฯ ก็ต้องมีความรับผิดชอบสูง ถ้าทำอะไรไม่ดี รัฐบาลกลางสอบสวนแล้วผิดก็ติดคุกติดตะรางไปก็เยอะ

แต่ผู้มีอำนาจบ้านเราคิดแต่เรื่องความมั่นคง ผมพูดเสมอว่าเดี๋ยวนี้เราไม่ได้แข่งกันรบกันด้วยอาวุธสงคราม เรารบกันด้วยเศรษฐกิจและเทคโนโลยี

สมัยที่ผมเป็นประธานรัฐสภา ไต้หวันเขาเชิญเราไปร่วมงานวันชาติ เพราะเขาเป็นสมาชิกของรัฐสภาเอเชียด้วย ผู้นำเขาให้เกียรติมาก เขาเรียกผมไปคุยเป็นการส่วนตัว เขาบอกว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องพัฒนาเทคโนโลยี เราปลูกข้าวปลูกมันปลูกยางเราส่งออกกี่ลำเรือกว่าจะได้เงินมา บางทีส่งยางส่งข้าวไป 100 ลำเรือ ซื้อเครื่องบินได้ถึง 2 ลำไหมยังไม่รู้ เขาแนะนำให้เราเปลี่ยนจากภาคเกษตรทั่วไปมาเป็นเกษตรอุตสาหกรรม

เขาบอกที่ไต้หวันทำคือผลิตชิ้นส่วนเล็กๆ ของคอมพิวเตอร์ ทีวี กล้องถ่ายรูป เขาชี้ให้ผมดูลังชิ้นส่วน เขาบอกลังเดียวมีค่าเท่ากับสินค้าที่ท่านขาย 10 ลำเรือ เขาทำให้เห็นว่าเราต้องเปลี่ยนประเทศเป็นเรื่องของเทคโนโลยี ส่วนการเกษตรนั้นผลิตเอาไว้เพื่อกินมันก็ไม่ล้นตลาด ราคาก็จะดีเหมือนกับที่ญี่ปุ่น เขาไม่เลิกทำนานะ แต่มีไว้สำหรับเลี้ยงประชาชนก่อน พอเหลือก็ขายแพงได้

เขาทำให้ผมรู้สึกว่าเมื่อคนสนใจเทคโนโลยี สนใจเรื่องเศรษฐกิจแล้ว ใครจะไปคิดเรื่องแบ่งแยกดินแดน อย่าว่าแต่แยกประเทศเลย สมัยนี้ประเทศเดียวไม่พอ ยังต้องรวมเป็นอาเซียน เป็นภูมิภาคด้วยซ้ำ เพราะลำพังตัวคนเดียวมันสู้ไม่ได้ การค้าขายต้องหาตลาด ถ้าตลาดคุณเล็กคุณจะอยู่ได้ยังไง

 

เพราะฉะนั้นถ้าจะลดอำนาจนิยมลงก็ต้องมาพร้อมการกระจายอำนาจ คนสามจังหวัดภาคใต้พูดเรื่องนี้กันเยอะ สาระสำคัญของการกระจายอำนาจคืออะไร ต้องทำอะไรบ้าง

หัวใจของประชาธิปไตยคือการปกครองโดยประชาชนเพื่อประชาชน เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่ามีรัฐธรรมนูญ มีสภา มีรัฐบาลแล้วจบ อันนั้นเป็นองค์ประกอบ แต่หัวใจที่สำคัญอยู่ที่ For The People ประชาชนทั้งประเทศไม่ว่ารวยหรือจน ไม่ว่าจะอยู่ในภูมิภาคใดนับถือศาสนาใด ประชาชนทั้งหมดต้องมีส่วนในการปกครองของประเทศ

ทีนี้จะทำอย่างไร ผมคิดว่าท้องถิ่นมีส่วนสำคัญ เพราะอยู่กันตั้งแต่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด พูดง่ายๆ ว่ารัฐบาลก็เป็นแค่ส่วนกลางไป แล้วส่วนภูมิภาคกับท้องถิ่นก็ดูแลตัวเอง แต่ตอนนี้ตัวแทนของส่วนกลางกลับเลือกคนมาเป็นผู้ว่าฯ ที่คุมอำเภอ คุมตำบลอีกที กลายเป็นระบบทั้งประเทศนี้เป็นของส่วนกลาง

สิ่งที่รัฐบาลกลางต้องทำคือ 1. เป็นผู้กำหนดนโยบายเรื่องใหญ่ๆ 2. สร้างสัมพันธ์กับต่างประเทศ 3. มีหน้าที่การป้องกันประเทศจากภัยสงคราม ส่วนงานอื่นๆ เช่น สร้างถนน สร้างโรงพยาบาล ดูแลการศึกษา สร้างอาชีพควรจะเป็นท้องถิ่นทำ

ทีนี้ถ้าถามว่าทำไมถึงมาคิดกันตอนนี้ เราอยู่กันมาหลายปี ก็ต้องบอกว่าสมัยก่อนที่เราเป็นประชาธิปไตยใหม่ๆ เรามีปัญหาเรื่องบูรณาการ มีปัญหาการล่าอาณานิคม มีสงครามโลก มันจำเป็นจะต้องมีความเข้มแข็งของรัฐบาลกลาง แต่ปัจจุบันนี้สถานการณ์ของโลกมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

 

ในคำแถลงส่วนหนึ่งตอนเปิดตัวพรรคประชาชาติ มีการใช้คำว่าส่งเสริมสังคม ‘พหุวัฒนธรรม’ ทำไมถึงใช้คำนี้

สำหรับผมเป็นเรื่องปกตินะ แต่มันแปลกสำหรับประเทศไทย เพราะไทยเรามักสร้างความคิดเชิงเดี่ยว วัฒนธรรมเดี่ยว อำนาจเดี่ยว เป็นความคิดที่เขาเรียกว่าชาตินิยม ชาตินิยมมันสำคัญแค่ยุคล่าอาณานิคม แต่เวลานี้ควรจะเป็นเสรีนิยมมากกว่า ทำให้ทุกคนเสมอภาคกัน ที่สำคัญคือไม่ว่าจะไทยหรือประเทศต่างๆ ในโลกนี้ไม่มีชาติใดที่มีคนวัฒนธรรมเดียว เชื้อชาติเดียว ศาสนาเดียว ภาษาเดียว สีผิวเดียว หรือรูปร่างหน้าตาเหมือนกันทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นพรรคประชาชาติเห็นว่าเราควรจะส่งเสริมทุกชาติพันธุ์ ทุกภาษา ทุกศาสนาในประเทศนี้ควรเป็นเจ้าของประเทศโดยเท่าเทียมกัน

เพราะความรู้สึกว่าการเป็นเจ้าของประเทศอย่างเท่าเทียมกันมันช่วยให้เกิดพลังในการสร้างชาติ ดูอย่างอเมริกา มีความหลากหลายทางศาสนา หลากหลายความคิด หลากหลายสีผิว คนมาจากเอเชียบ้าง แอฟริกาบ้าง อเมริกาใต้บ้าง แต่ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน

เราต้องการจะให้ทุกสังคมทุกชาติพันธุ์ได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ไม่อยากให้เกิดความรู้สึกว่าชาติพันธุ์นั้นไม่มีราคา ไม่อยากให้คนมอญรู้สึกว่าเป็นคนที่มาพึ่งประเทศนี้ รวมทั้งกะเหรี่ยง มลายู จีนที่อพยพมา ทั้งหมดเป็นคนสัญชาติไทยที่ควรได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม

พหุวัฒนธรรมจะได้รับการส่งเสริมได้อย่างไร หากชาตินิยมยังถูกปลูกฝังอยู่

ช่วงปี 2516 ผมเรียนที่จุฬาฯ ใกล้จบปริญญาตรี พอปี 2519 ผมเรียนต่อปริญญาโท ยุคนั้นผมเห็นความเลวร้ายของการปลุกระดมให้คนแตกแยกทางความคิดของคนไทย ซึ่งวันนี้มันควรหมดสภาพนั้นไปแล้ว แต่ก็ยังมีพวกเดิมๆ ที่ไม่เคยเปลี่ยนความคิด และเป็นความคิดที่อันตราย ผมก็กลัวๆ เหมือนกันถ้ายังคิดจะเอาชาตินิยมมาขาย แล้วก็ปลุกผีคอมมิวนิสต์ขึ้นมาเพื่อจะจัดการกับคนคิดต่าง

การให้ทหารมาแก้ไขปัญหาประเทศมันหมดยุคแล้ว แต่ว่าทหารเขาได้รับการฝึกอย่างนั้นมา เขาเรียนการใช้อาวุธและใช้ความมั่นคงในการแก้ไขปัญหาประเทศอย่างเดียว แต่จริงๆ เราไม่มีอำนาจพอที่จะไปทำลายคนอื่นเขาได้ เพราะเขาแข่งขันกันด้วยความรู้ความสามารถ และชนะกันด้วยความคิด

ตอนปี 2549 ผมไม่เคยคิดว่าจะเกิดการปฏิวัติอีก เพราะว่าหลังจากที่เราเป็นประชาธิปไตยมา ได้ใช้รัฐธรรมนูญปี 40 มาประเทศก็เจริญรุ่งเรือง แก้ปัญหาหนี้ IMF ได้ ผมก็คิดว่าน่าจะก้าวหน้าไปเรื่อยๆ แต่พอเกิดปี 49 ประเทศเราก็ถอยหลังไปเรื่อยๆ จนกระทั่งปฏิวัติปี 57 ยิ่งย้ำว่าเราอยู่ในวงจรการปฏิวัติ ซึ่งมันจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้

คุณเห็นความเป็นไปได้ยังไงที่ทหารจะถอยกลับกรมกอง ซึ่งหลายคนรู้สึกว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้

ในประเทศต่างๆ ไม่ใช่ทหารไม่อยากมีอำนาจนะ คนที่มีอาวุธอยากมีอำนาจบริหารประเทศทั้งนั้น แต่ประชาชนเขาไม่ยอม แม้แต่มาเลเซีย สิงคโปร์ หรืออเมริกาเนี่ย ทหารเขาใหญ่จริง แต่ถ้าจะเอาอาวุธมาปฏิวัติรัฐประหาร ผมว่าประชาชนเขาไม่ยอม ทหารต้องอยู่ส่วนทหาร หน้าที่ทหารคือรักษาความมั่นคงปกป้องประเทศ ไม่ใช่หน้าที่บริหารจัดการปกครอง ความมั่นคงมันจะดีได้ ประชาชนต้องมีความสุขด้วย ไม่ใช่ประชาชนถูกกดไว้ เหมือนกับปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนนี้

ในฐานะที่เป็นนักการเมืองและอยู่ในพื้นที่ ผมไม่เห็นด้วยกับการฆ่าฟันกัน ดักยิง วางระเบิด เราอยากจะเห็นการแก้ไขปัญหาให้เกิดความสงบเรียบร้อย ความปรองดองจะเกิดได้ ความยากจนต้องได้รับการแก้ปัญหา สันติสุขจะเกิดขึ้นมาได้เพราะการเจรจาพูดคุย ไม่ใช่ใช้กำลัง เพราะมันสูญเสียทุกฝ่าย

ผมไม่ได้เห็นด้วยกับการก่อการร้าย แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการให้ทหารเข้าไปจัดการทุกอย่าง ขณะนี้มันไม่มีความสมดุลกันในการแก้ปัญหา เพราะใช้กำลังจัดการมากกว่าใช้การเมือง ถ้าไม่สมดุล มันฝืนธรรมชาติ ไม่มีทางแก้ปัญหาได้

วันมูหะมัดนอร์ มะทา

คุณเห็นข้อด้อยของฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยบ้างไหม ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเงื่อนไขให้สังคมไทยอยู่ในวังวนเดิม

ประชาธิปไตยมันจึงต้องมีความสมดุล ไม่ใช่พอฝ่ายชนะแล้วจะได้ทุกอย่าง ต้องรู้จักใช้อำนาจ อันนี้คือสปิริตของประชาธิปไตย เราควรให้การศึกษากันว่าความพอดีของอำนาจอยู่ตรงไหน เสียดายว่าการศึกษาของประเทศเราไม่ค่อยเน้นเรื่องใหญ่ๆ เช่น ระบอบการปกครองประเทศ หรือประชาธิปไตยในชีวิตประจำวันและความมีเหตุผลของคน

วัยนิสิตนักศึกษา ต้องเป็นวัยที่ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ อย่ายอมให้เขาปลุกปั่นอย่างเดียว ต้องเป็นคนรักเหตุรักผล มันควรจะมีการพูดจากันทั้งในโรงเรียนและในครอบครัว นี่เป็นสปิริตของสังคมประชาธิปไตย

ผมเสียดายที่เรากำลังเดินไปข้างหน้าได้ดีแล้วหลังจากที่มีรัฐธรรมนูญปี 40 เสียดายที่มันต้องหยุดชะงักลง ความจริงถ้าใจเย็นๆ หน่อย หลายคนไม่พอใจพรรคไทยรักไทยที่เลือกตั้งได้เสียงมากเกินไป แม้จะได้สภาที่เข้มแข็ง แต่แข็งเกินไปคนอื่นอาจจะไม่พอใจ แต่จริงๆ ถ้าอดทนความไม่พอใจนี้ได้ ผมเชื่อว่าถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ พรรคไทยรักไทยคงได้เสียงน้อยลง แล้วรัฐประหาร 49 ก็จะไม่เกิด แต่สปิริตประชาธิปไตยของสังคมไทยมันไม่มากพอ

เราไม่ค่อยมองเห็นกันว่าทุกอย่างมันเป็นสัจธรรมที่ต้องเปลี่ยนแปลง คนรุ่นผมต้องยอมรับคนรุ่นใหม่ให้ได้ ไม่ใช่อวดเก่งว่าถ้าไม่มีเราแล้วประเทศนี้อยู่ไม่ได้ ถึงไม่มีเรา คนรุ่นต่อจากเราเขาอาจจะทำได้ดีกว่าก็ได้

คนรุ่นคุณกำลังฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่ แล้วอะไรคือสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องเจอเหมือนสมัยที่คุณผ่านมาบ้าง

ต้องอาศัยประสบการณ์ ไม่ใช่ว่าคนอายุมากคิดดีกว่านะ แต่คนอย่างผมเรียนรู้ว่าการเมืองต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ว่าพอเข้ามาแล้วจะได้ดั่งใจทุกอย่าง อย่าเป็นคนใจร้อน วัยรุ่นใจร้อนอยู่ไม่ยาว อย่างผมต้องเรียนรู้เหมือนกันว่าสังคมของประเทศนี้บางทีมันมีเรื่องกิริยามารยาท ความถ่อมตน การให้ความเคารพต่อความเป็นอาวุโส เราต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แล้วหาความพอดีให้ได้

ผมเชียร์คนรุ่นใหม่นะ แต่ไม่อยากให้ล้มลงไปเร็วเหมือนคนรุ่น 14 ตุลาฯ ที่ถูกทำลายลงในเวลาอันสั้น คนเหล่านี้เป็นนักต่อสู้ เป็นคนมีอุดมการณ์ แต่เนื่องจากขาดประสบการณ์ทำให้ถูกทำลายด้วยอะไรบางอย่างอย่างรวดเร็ว บ้านเราเขาเรียกว่าพวกอำนาจนิยมไม่ค่อยปล่อยมือ ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมา ผมคิดว่ายังเป็นตัวถ่วงอยู่

ทั้งในฐานะที่เป็นคนมุสลิมมลายูและเป็นนักการเมืองมา 40 ปี การเมืองไทยสอนอะไรคุณ

บทเรียนหนึ่งคือถ้าเราไม่ทิ้งประชาชน เราจะอยู่ได้นาน ต้องยอมรับว่าประชาชนคือเจ้าของอำนาจ เวลาที่ผมไปคุยกับประชาชน บางทีก็รู้สึกว่าเขาไม่ได้เก่งกว่าเรา แต่หน้าที่ของเราคือต้องรับฟัง จะเอาไปใช้มากน้อยแค่ไหนต้องฟัง นักการเมืองถ้าไม่ฟังประชาชนเมื่อไหร่ก็จบ หลายคนที่อยู่ไม่นานเพราะโอ้อวดว่าเก่งกว่าเหนือกว่าประชาชน แต่ลืมไปว่าประชาชนคือเจ้าของอำนาจและเราเป็นเพียงตัวแทน

บทเรียนที่สอง สิ่งที่ผมย้ำกับตัวเองเสมอ อิสลามเขาเรียกว่ามี ‘อะมานะฮ์’ ภาษาไทยเรียกว่าความซื่อสัตย์ ความไว้วางใจ หรือพูดคำไหนคำนั้น ถ้าเราบอกว่าไม่สนับสนุนการยึดอำนาจ แต่พอเขาให้เป็นรัฐบาลเราก็เข้าไปร่วมด้วย อย่างนี้คือไม่มี ‘อะมานะฮ์’ เพราะเราหาเสียงกับประชาชนไว้ว่าเราไม่เอาคนที่สืบทอดอำนาจ คสช. นี่คือคำมั่นสัญญา นักการเมืองต้องรักษาคำมั่นสัญญากับประชาชน แม้ผมเป็นฝ่ายค้านก็มีความสุขเพราะผมปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา ไม่มีใครมาชี้หน้าว่าเราโกหก

การเมืองอาจจะทำให้บางคนคิดท้อถอย แต่ผมถือว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน ผมเป็นคนธรรมดาคนนึง ได้เคยเป็นประธานรัฐสภามา เป็นรัฐมนตรีมา ผมก็คาดไม่ถึงเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าวันหนึ่งจะต้องถูกกวาดเข้าคุกเข้าตะรางเพราะทำงานเพื่อประชาชนก็น่าจะรับได้

ผมไม่ได้คิดว่าเป็นประธานสภาแล้วจะใหญ่ เป็นรัฐมนตรีจะโก้หรู ตำแหน่งหน้าที่มันเป็นสิ่งชั่วคราว พอหมดหน้าที่มันก็ปุถุชนธรรมดาเหมือนกันหมด พอตายแล้วตำแหน่ง เงินทอง ลาภยศ เอาไปไม่ได้สักอย่าง แม้แต่ลูกเมียเราเองก็เอาไปไม่ได้ สิ่งที่ยั่งยืนกว่าคือความศรัทธาของประชาชนที่เขามีให้ ตายไปคนก็ยังคิดถึง

วันมูหะมัดนอร์ มะทา

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save