fbpx
คิดใหญ่-ไซส์เล็ก : คุยกับพรรคการเมืองขนาดย่อม ที่อยากพลิกโฉมประเทศด้วยการเลือกตั้ง

คิดใหญ่-ไซส์เล็ก : คุยกับพรรคการเมืองขนาดย่อม ที่อยากพลิกโฉมประเทศด้วยการเลือกตั้ง

ธิติ มีแต้ม ,ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

ธิติ มีแต้ม ภาพ

 

ในอาทิตย์สุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้ง ลองหลับตานึกถึงพรรคการเมืองที่ผ่านหูผ่านตาคุณดูสักที เชื่อว่าชื่อแรกๆ ที่โฉบเข้ามาในใจคือพรรคใหญ่ที่ออกสื่อไม่เว้นวัน แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้เฟ้นหาพรรคที่ครองพื้นที่สื่อเพียงอย่างเดียว พื้นที่ใจประชาชนต่างหากที่เราต้องจับตา

เมื่อมาตรวัดคือพื้นที่ในใจของประชาชน ผู้สมัครที่ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ผู้คนอย่างพรรคขนาดย่อมถือเป็นคู่ต่อสู้ที่สบประมาทไม่ได้ ในสนามการเลือกตั้งนี้ พวกเขากำลังเดินหน้าอย่างแข็งขันเพื่อขับเคลื่อนประเด็นปัญหาที่ผลักดันมาตั้งแต่ยังไม่เป็นพรรคการเมือง เช่นนี้แล้ว 101 ขอชวนคุณมาอ่านเสียงของพรรคการเมืองขนาดย่อมดูสักครั้ง

พงศา ชูแนม หัวหน้าพรรคกรีน

ชาลี ลอยสูง หัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย

พาลินี งามพริ้ง แคนดิเดตนายกฯ พรรคมหาชน

และ ปกรณ์ อารีกุล โฆษกพรรคสามัญชน

สี่นักสู้ในสนามเลือกตั้งที่วิ่งเต้นเพื่อปัญหาสังคมมาโดยตลอด จะมาเจาะลึกประเด็นปัญหาเฉพาะทางซึ่งนำไปสู่นโยบายที่เข้มข้น สะท้อนสปิริตของคนการเมือง ที่ไม่มีเค้าภาพของ ‘นักการเมือง’ ตามที่เราคุ้นชิน

บทสนทนาต่อไปนี้ จะช่วยย้ำจุดยืนของพรรคการเมืองเล็กท่ามกลางพรรคใหญ่ ความจำเป็นของการเลือกฝักฝ่ายในสนาม ความ ‘ไม่แฟร์’ ในการเลือกตั้ง 62 ไปจนถึงจุดแข็งของพรรคเล็กที่เราไม่ควรมองข้าม และไม่ควรสบประมาทแม้แต่น้อย

พาลินี งามพริ้ง, ปกรณ์ อารีกุล, ชาลี ลอยสูง, พงศา ชูแนม
พาลินี งามพริ้ง, ปกรณ์ อารีกุล, ชาลี ลอยสูง, พงศา ชูแนม

 

เหตุผลในการตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคของตัวเองคืออะไร

ชาลี : ส่วนตัวผมทำงานด้านกิจกรรมแรงงานมานานแล้ว ในปีนี้รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ปราชญ์ชาวบ้านได้มีโอกาสเข้าร่วมในการเลือกตั้ง ผมมองว่านักการเมืองทั่วไปเขาไม่ได้ทำงานในเรื่องเฉพาะด้านอย่างเรา ทำให้เขาไม่เข้าใจ และส่งผลให้การผลักดันเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับแรงงานเป็นไปได้ยาก ในวันนี้เมื่อมีโอกาสให้กับคนฐานล่างหรือประชาชนทั่วไปเข้ามาทำงานตามกระบวนการ ผมจึงเข้าร่วมพรรคเพื่อผลักดันนโยบายด้วยตัวเอง ด้านหนึ่งเราก็ทำงานขับเคลื่อนสิทธิไป อีกด้านหนึ่งเราต้องการผลักดันกฎหมายโดยมีตัวแทนของเราเอง

ปกรณ์ : ของผมก็คล้ายๆ พี่ชาลีครับ คือช่วงที่เป็นนักศึกษาเราทำกิจกรรมทางสังคมทางการเมืองมาอยู่แล้ว เรียกได้ว่าทำตั้งแต่งานเย็นสุด แบบปลูกป่าทำฝาย คล้ายๆ พี่พงศา จนถึงร้อนสุดแบบบุกทำเนียบ ปีนสภา ชุมนุมปิดถนน บางช่วงเมื่อบ้านเมืองมีสถานการณ์เกิดขึ้น เราก็จะถูกเรียกว่าเป็นเสื้อสีหนึ่ง พอบางช่วงเราพูดอีกประเด็นหนึ่ง คนก็ตีความว่าเราเป็นอีกสีหนึ่ง

ยกตัวอย่างตอนที่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ประกาศว่าจะมีนโยบายค่าแรง 300 แต่กว่าที่เขาจะเคาะ 300 จริงๆ ก็ใช้เวลาเกือบปี ผมก็ไปร่วมกับพี่ชาลีเพื่อบอกว่ามันต้อง 300 บาททั่วประเทศทันที ตอนนั้นเราถูกคนกลุ่มหนึ่งเรียกเราว่าเป็นเสื้อเหลือง เพราะประท้วงรัฐบาลเพื่อไทย แต่ในขณะเดียวกัน พอเราพูดเรื่องหลักการประชาธิปไตย หรือลงไปรำลึกเหตุการณ์ราชประสงค์ปี 53 เพราะไม่อยากให้มีการนำกำลังทหารไปฆ่าประชาชน เราก็ถูกเรียกว่าเป็นเสื้อแดง

พรรคสามัญชนก็เลยคุยกันว่า เราต้องเป็นพรรคที่เสาร์อาทิตย์ไปปลูกป่า ทำฝาย สายลมแสงแดดได้ แต่ขณะเดียวกันในเชิงการใช้ชีวิตกับสังคม ก็ยังยึดกับกระบวนการประชาธิปไตย เลยมีการจัดตั้งพรรคสามัญชนขึ้นมา พรรคซึ่งเป็นคน เป็นสามัญชนทั่วไป

พาลินี : เมื่อก่อนนี้ชื่อพินิจ งามพริ้ง เราทำเรื่องของฟุตบอลมานานในภาคประชาสังคม ก่อตั้งชมรม Cheerthai Power และทำงานเป็นนักกิจกรรมในวงการกีฬา เวลาที่ใครทำอะไรไม่ถูกต้องก็ประท้วงและแสดงความเห็นผ่านสื่อ ฟุตบอลเป็นภาพสะท้อนประเทศไทยเหมือนกัน เพราะเกี่ยวข้องกับนักการเมืองเยอะแยะไปหมด และหลังจากที่เราต่อสู้กับตัวเองในเรื่องการเปลี่ยนแปลงเพศสภาพ จนกระทั่งมาเป็น ‘พอลลีน งามพริ้ง’ สื่อและผู้คนก็สนใจกันเยอะว่า ผู้ชายคนนึงที่ไปประท้วงไล่นายกสมาคม สุดท้ายกลายเป็นผู้หญิงไปได้ยังไง แต่มันก็เป็นไปแล้วนะคะ (หัวเราะ) ทำให้จากเดิมที่คนรู้จักผ่านวงการฟุตบอล ก็เริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น ทั้งกลุ่ม LGBT กลุ่มความหลากหลายทางเพศ

บวกกับการที่เราแสดงความเห็นในเรื่องการเมืองมาตลอด ทั้งในฐานะพินิจและพอลลีน ทำให้ได้พบกับคุณนาดา ไชยจิตต์ ซึ่งเป็นผู้หญิงข้ามเพศอีกท่านหนึ่ง คุณนาดาเป็นนักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานกับเครือข่ายความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ความหลากหลายทางเพศ แรงงานต่างด้าว และแรงงานนอกระบบ คุณนาดาได้เชิญชวนให้เข้ามาทำงานร่วมกันในพรรค โดยที่คุณนาดาเป็นคนนำในเรื่องนโยบาย ส่วนพอลลีนนำเรื่องของยุทธศาสตร์

พรรคมหาชนจึงมีจุดโฟกัสเป็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่มากไปกว่านั้น เราเน้นในเรื่องของความเท่าเทียมในทุกมิติของสังคม เพศ การเงิน และเศรษฐกิจ ทั้งหมดนั้นก็คือเรื่องสิทธิในความเป็นมนุษย์นั่นเอง

พงศา : ผมคิดว่าระบบประชาธิปไตยที่ระบุว่ามีการเสนอกฎหมายเป็นขั้นเป็นตอน ประชาชนมีสิทธิทุกอย่าง เอาเข้าจริงมันแทบจะไม่มี เราไม่เคยคิดจะเป็นนักการเมือง แต่ก็ไปยุ่งเรื่องการเมืองมาตลอด เพราะเชื่อว่าเราต้องมีส่วนในการจัดการประเทศนี้ แต่เดิมเราคิดว่าใช้วิธีสร้างมวลชนให้มีความรู้ พึ่งพาทางสื่อ สังคมมันคงเปลี่ยนได้

แต่ในความเป็นจริง ทฤษฎีนี้น่าจะใช้ไม่ได้แล้ว เพราะในยุคปัจจุบันสื่อเองก็เหมือนพิกลพิการไปหมด ผมจึงเริ่มชวนผู้คนมาหาทางออกร่วมกัน เราก็ตัดสินใจว่าต้องทำพรรคการเมือง โดยตั้งพรรคกรีนขึ้นมา พรรคกรีนมีเครือข่ายในโลก 60 กว่าประเทศ จุดประสงค์คือการใช้ต้นไม้เป็นเครื่องมือสำคัญ ผ่านการเสนอกฎหมาย ‘ธนาคารต้นไม้’ ซึ่งยังไม่มีในโลก เพื่อรับรองต้นไม้ที่มีชีวิตให้มีมูลค่าเป็นทรัพย์

เรายังพูดถึงเรื่องที่ดินด้วย เพราะว่าคนจำนวนมากมีที่ดินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเรื่องสุขภาวะของคน เช่น การผลิตอาหารที่ปนเปื้อนด้วยสารพิษ และเรื่องสุดท้ายที่พรรคกรีนสากลให้ความสำคัญคือ เรื่องสันติภาพและชาติพันธุ์

พงศา ชูแนม หัวหน้าพรรคกรีน
พงศา ชูแนม หัวหน้าพรรคกรีน

ณ วินาทีนี้ซึ่งใกล้เลือกตั้งเต็มที คิดว่าจุดแข็งของแต่ละพรรคคืออะไร

ชาลี : ในส่วนของพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย เป็นพรรคของคนงาน เกษตรกรชาวไร่ชาวนา คนฐานล่าง เราจึงเน้นหนักในเรื่องของคนงาน ตอนนี้คนงานที่อยู่ในประเทศไทยมีประมาณ 38-39 ล้านคน ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งถูกกลุ่มทุนเอารัดเอาเปรียบ มีความกดดันเรื่องของการทำงานและค่าจ้าง คือค่าจ้างมันน้อย แต่เขาจะเอากำไรเยอะๆ เหตุผลที่ต่างชาติเขามาลงทุนเยอะๆ ในบ้านเราเพราะเขาหนีค่าจ้างแพงมา แล้วเราก็ดันไปเชิญเขาให้มาลงทุนอีก ปรากฏว่ามีอุตสาหกรรมมาลงทุนเยอะ แต่ประโยชน์ที่คนไทยได้กลับน้อยมาก

เมื่อเรามองดูต่างประเทศที่เขาเจริญแล้ว จะเห็นว่าเงินเดือนของเขามากกว่าเราเกือบ 50 เท่า เงินทั้งเดือนของบ้านเราอาจเท่ากับวันเดียวของเขา เพราะฉะนั้นเราจึงมองว่าคนงานไทยถูกนายทุนกดค่าจ้าง และโดนรัฐบาลครอบงำว่าแรงงานห้ามยุ่งการเมือง พอเราไปยื่นข้อเรียกร้อง เขาก็ไม่ทำตาม เพราะรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยถูกครอบงำด้วยกลุ่มทุน

ผมคิดว่าวันนี้ แรงงานควรก้าวข้ามคำว่า ‘แรงงานห้ามยุ่งการเมือง’ ได้แล้ว คุณจะบอกว่าไม่ให้เขาเล่นการเมือง แต่ให้เขาไปเลือกตั้งอย่างเดียว มันถูกที่ไหนล่ะ ใช่ไหม? (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นจุดแข็งของเราคือเรื่องของกระบวนการแรงงาน

ส่วนในเรื่องอื่นๆ เช่น รัฐสวัสดิการ เราก็สมควรทำ เพราะวันนี้พี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานหรือประชาชนฐานล่าง ยังต้องพึ่งพาสวัสดิการต่างๆ และสวัสดิการบ้านเรา มันแปลกกว่าหลายๆ ประเทศในโลก คือมันเป็นกลุ่มย่อยไปหมด ทั้งที่จริงๆ มันน่าจะรวมศูนย์ได้ ไม่ใช่ว่าเอาเงินมาแจกแล้วก็หมดไป แต่ต้องทำให้ยั่งยืน สิ่งที่เราต้องการทำก็คือ แก้ไขกฎหมายว่าด้วยสิทธิการรวมตัว ซึ่งรัฐพยายามกีดกัน เพราะประชาชนจะสร้างอำนาจการต่อรองได้ มันต้องรวมตัว

ปกรณ์ : ผมพูดจุดแข็ง 3 ด้านแล้วกัน ด้านแรกก็คือด้านตัวตน ผมว่าสามัญชนเป็นบุคคลที่ดื้อต่อผู้มีอำนาจ และต่อการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของผู้มีอำนาจทุกยุคทุกสมัย เราจึงเปลี่ยนความดื้อที่เคยอยู่นอกสภา เข้าไปดื้อในสภา เพราะฉะนั้นถ้าประชาชนเลือกเรา 1 คนเข้าสภาเนี่ย ตอนนี้ party list อันดับหนึ่งก็คือคุณเลิศศักดิ์ แกก็จะใส่เสื้อยืดที่สกรีนข้อความ หยุดเหมืองหยุดเขื่อน หรือ ยกเลิก EEC เข้าสภา แล้วก็มีหน้าที่จูงใจ ส.ส.พรรคกรีน พรรคมหาชน ให้สนใจเรื่องที่เราอยากจะเสนอ นอกจากนั้นเราจะตั้งกระทู้ถามรัฐบาลในประเด็นปัญหาต่างๆ ของพี่น้อง

จุดแข็งด้านที่ 2 คือนโยบาย ผมคิดว่าพรรคสามัญชนชัดมากในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เราเสนอนโยบายสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นและสุดขั้ว เช่น ยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สร้างใหม่ แล้วก็ค่อยๆ เลิกโรงงานไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่แล้ว ยกเลิกการสร้างเขื่อน เขื่อนที่สร้างไปแล้วแบบเขื่อนปากมูลก็ต้องทุบได้ ไปจนถึงการปิดเหมืองถาวร ซึ่งผมคิดว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมที่พรรคกรีน และหลายพรรคเสนอ พรรคใหญ่ที่มีโอกาสเป็นรัฐบาลเขาก็ไม่ได้เห็นต่างจากเรามากนะ

นานมาแล้วที่เราดึงดูดทุนต่างชาติเข้ามา โดยส่งเสริมการลงทุนด้วยการยกเว้นภาษี ทั้งที่กลุ่มทุนเหล่านี้ใช้ทรัพยากรในประเทศของเรามากกว่าเราอีก ถึงเวลาเขาก็เอากำไรกลับไป แล้วก็จ่ายแค่ค่าแรงวันละ 300 บาทให้กับผู้ใช้แรงงานซึ่งถูกละเมิดสิทธิต่างๆ นานา แถมทิ้งปัญหาสิ่งแวดล้อมไว้ให้เรา เพราะฉะนั้นปัญหาสิ่งแวดล้อม เอาเข้าจริงมันคือความเหลื่อมล้ำ เราต้องมองปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นการเมือง

ผมคิดว่าซุ่มเสียงของสื่อหรือคนไทยที่รับรู้ผ่านสื่อ มักจะแยกปัญหาสิ่งแวดล้อมออกจากการเมือง แต่พรรคสามัญชนมองสิ่งแวดล้อมเป็นความเหลื่อมล้ำ เพราะคนรวยใช้ทรัพยากรแล้วก็ทิ้งปัญหาสิ่งแวดล้อมไว้ให้คนส่วนใหญ่ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม กลับไม่ได้อะไรจากการล้างผลาญเลย เพราะฉะนั้นจุดแข็งในเรื่องของสิ่งแวดล้อมก็คือ ถ้าเลือกสามัญชนเข้าไป ก็จะมีคนปักหลักยืนยันว่า ถึงเวลาแล้วที่จะสนใจสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

จุดแข็งสุดท้ายก็คือ ความเป็นประชาธิปไตยในพรรค เช่น ผมจะพูดความเห็นของตัวเองแบบฉีกไปจากมติของพรรคไม่ได้เลย หลายครั้งเราไปเวทีที่มีคำถามใหม่ๆ บางทีเราอยากจะตอบนะ เพราะเรามีความเห็นของตัวเอง แต่ว่าเราไม่กล้าตอบ เพราะว่ามันเป็นการตอบในนามพรรค ซึ่งแต่ละเวที เราก็พยายามจัดให้คนที่ถนัดเรื่องนั้นๆ ไปพูด

หลังเลือกตั้ง ไม่ว่าเราจะเข้าสภาได้หรือไม่ก็ตาม กรรมการพรรคสามัญชนอาจเปลี่ยนยกชุดก็ได้ หากสมาชิกเห็นว่าไม่เวิร์ค เราก็เตรียมที่จะลาออกเพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นๆ ได้เข้ามาบริหารพรรค ซึ่งการกระทำเหล่านี้มาจากหลักการประชาธิปไตยฐานราก และหลักการสิทธิมนุษยชน

พงศา : จุดแข็งหนึ่งคือเราเป็นสากล สอง เราเป็นพรรคที่สร้างจุดเริ่มต้น สาม เราอยู่ข้างคนที่รัฐบอกว่าผิด อยู่ข้างคนเดือดร้อน ตอนนี้ในเรื่องของจุดเริ่มต้น หลายพรรคก็ลอกนโยบายเรื่องต้นไม้และที่ดินของเราไป เราก็ยินดี เพราะเขาเอาไปทำเพื่อบ้านเพื่อเมือง นโยบายของพรรคกรีนเหมือนกับของแจก บางพรรคขโมยไปแจกก็ไม่เป็นไร แต่ขโมยของแจกไปขายแบบผิดที่ผิดทาง มันบ้าไปแล้ว

พรรคกรีนเป็นจุดเริ่มต้นเรื่องทำต้นไม้ให้เป็นทรัพย์สิน ส่วนเรื่องที่ดิน เราจะทำที่ดินทุกตารางนิ้วให้ชอบโดยกฎหมาย ปัญหาที่ดินจริงๆ เป็นเรื่องใหญ่ คน 18 ล้านคนอยู่ในเขตที่บอกว่าผิดกฎหมาย คิดเป็น 2 เท่าของประชากรภาคใต้ และเป็น 1 ใน 4 ของประชากรไทย พูดง่ายๆ คือเดินในตลาด หยิบคนมา 4 คน จะเจอคนผิดกฎหมายแล้วหนึ่งคน คนที่พ่อแม่อยู่ในป่าสงวน ลูกคลอดมาก็ผิดด้วย ประเทศไทยเป็นประเทศที่สามารถถ่ายทอดความผิดทางพันธุกรรมได้ (หัวเราะ)

ผมคิดว่าที่ทำกินต้องถูกต้องตามกฎหมายทุกตารางนิ้ว มีคนถามผมว่า “ทำไมต้องทุกตารางนิ้ว” ผมก็ถามว่า “แล้วมึงจะเว้นไว้ทำไม? ถูกทั้งหมดมันจะยากอะไร ทั่วโลกเขาเป็นแบบนี้หมดแล้วนะ” ที่ชุมพรชัดเลยว่าคนที่ปลูกต้นไม้ในที่ของตัวเอง ปลูกจนโตแล้วก็แปรรูปขาย กลับถูกตำรวจจับ แบบนี้เรายืนยันว่ากฎหมายผิด ไม่ใช่เราผิดกฎหมาย เราจึงส่งคนที่ผิดกฎหมายลงเลือกตั้งเยอะมาก กะเหรี่ยง 10 คนเป็นคนผิดกฎหมายหมดเลย แล้วเราก็ยืนยันทันทีว่า ถ้ากะเหรี่ยงตั้งแต่เชียงใหม่จนถึงเพชรบุรี ได้ 70,000 เสียง เราได้ปาร์ตี้ลิสต์คนหนึ่งแน่นอน จุดยืนเราคืออยู่ข้างคนเดือดร้อน

จุดเริ่มต้นอีกอย่างที่เราสร้างคือ สมการราคา แบบที่ต่างประเทศใช้ เช่น ข้าวสารกิโลกรัมละ 250 ข้าวเปลือกกิโลละ 80 บาท ข้าวสารมีราคาเป็น 3 เท่าของราคาข้าวเปลือก ผมถามว่าทำไมต้องเป็น 3 เท่า ข้าวสารไม่ได้ทำมาจากเพชรนิลจินดาอะไร ก็ทำมาจากข้าวเปลือกนั่นแหละ เพราะฉะนั้นราคาของข้าวสารกับข้าวเปลือกต้องสัมพันธ์กัน หรือน้ำมันปาล์มในขวดขาย 40 บาท ราคาสูงเป็น 8 เท่าของปาล์มสด เพื่อจะได้สมการ 8 ต่อ 1 หรือมะพร้าวกะทิ 1 กิโลกรัมเท่ากับมะพร้าวสด 1.5 กิโล ให้มีสมการแบบนี้ทุกอย่าง ซึ่งหลักนี้เขาใช้กันทั่วโลก แต่บ้านเราเชื่อกลไกการตลาด แล้วแต่พ่อค้าคนกลางจะกด กดทั้งผู้ผลิต กดทั้งผู้บริโภค แค่ทำให้มันเป็นสมการที่สัมพันธ์กันทุกอย่างก็จบ

ลองดูโลโก้ของพรรค มีต้นไม้ 4 ต้น 1. ต้นพยุงที่ผิดกฎหมาย 2. ต้นยางพาราที่รัฐบาลโค่นมูลค่า 10 กว่าล้าน 3. ต้นกระท่อมแทนนโยบายเกษตรกร และ 4. ต้นกัญชาและใบกระท่อม ผมเชื่อว่าพืชพรรณทุกชนิดเกิดขึ้นมาบนโลกนี้อย่างถูกต้อง ไม่มีพืชพันธุ์ที่ผิดเลย เราไปใส่ให้มันเอง ถ้ากัญชาผิด พริกขี้หนูน่าจะผิดกว่า กัญชาเอามาขยี้ใส่ตรงไหนก็ไม่เป็นไร แต่พริกขี้หนูเข้าตามันแสบนะ ถ้ากระท่อมผิดมะกรูดผิดกว่า ล้มใส่ต้นกระท่อมไม่เป็นไร ล้มใส่ต้นมะกรูดแทงตาย

พาลินี : หมามุ่ยก็ผิด แต่ตอนนี้ไม่ผิดแล้ว เพราะว่าเอาไปช่วยปลุกเซ็กซ์ได้ (หัวเราะ)

พงศา : เห็นไหมล่ะ ต้นไม้มันไม่ผิด เราไปใส่ความผิดให้มันเอง นี่แหละเป็นเหตุผลที่ผมจะยืนข้างคนผิด ยืนข้างต้นไม้ทุกต้นที่เขาบอกว่าผิด

พาลินี : จุดแข็งของพรรคมหาชน เรามีแตกต่างอย่างชัดเจนในเรื่องของคนทำงาน ผู้สมัครประมาณ 20% เป็นคนหลากหลายทางเพศ ซึ่งในประเทศไทยมีกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่ประมาณ 6-7 ล้านคน ที่ยังไม่เปิดเผยก็มีอีกเยอะ เพราะฉะนั้นนี่คือจุดแข็งที่คนจะเลือกเรา ขณะนี้ทุกพรรคมีนโยบายเรื่องความหลากหลายทางเพศใกล้เคียงกัน ส่วนใหญ่ก็จะเน้นในเรื่องของสิทธิที่เท่ากันในเพศต่างๆ แต่เรื่องความรู้ความเข้าใจ และการให้ความสำคัญกับปัญหาตรงนี้ ยังไม่ค่อยมีในพรรคอื่นๆ

อย่างเรื่องความหลากหลายทางเพศ เราก็ต่อสู้เรื่องการสมรสเพศเดียวกันที่ได้สิทธิเท่าเทียมกันเสมือนชายหญิง รายละเอียดก็จะมีเรื่องของการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งมันผ่าน ครม.ไปแล้ว แต่ว่ายังมีความน่าเกลียดน่ากลัวอยู่ในกฎหมายนั้น ซึ่งเราจะแก้ให้สมบูรณ์ขึ้น รวมถึงการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่ว่าด้วยการสมรสระหว่างบุคคล คือไม่ต้องไประบุว่าชายและหญิง

อีกเรื่องหนึ่งก็คือการรับรองเพศสภาพของตัวเอง คนเราเกิดมามีจิตใจกับร่างกาย ซึ่งบางครั้งมันไม่ตรงกัน เวลาเกิดมาหมอก็ดูจากร่างกายแล้วก็ระบุเพศไป แต่เมื่อเติบโตขึ้นมา อายุ 18 บุคคลควรมีสิทธิในการรับรองเพศสภาพของตัวเอง ทั้งสำนึกของความเป็นชายหรือเป็นหญิง หรือสำนึกที่ไม่เป็นชายและเป็นหญิงเลย พูดง่ายๆ ก็คือการเปลี่ยนคำนำหน้านามนั่นแหละค่ะ นอกจากนี้ก็มีเรื่องของการให้ความรู้และช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในความมืดมน ไม่รู้จะข้ามผ่านความไม่รู้จักตัวเองยังไง เกรงกลัวครอบครัวและสังคมจะไม่ยอมรับ โดยให้ความรู้กับครอบครัวและสังคม เปิดโอกาสในการเข้าทำงาน เข้าศึกษา และเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น

มันจะต้องมีหน่วยงานหนึ่งที่ทั้งให้ความรู้และช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ อาจจะอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข หรืออาจจะอยู่ในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็ได้ คือดูแลสุขภาพ ให้ความรู้ เช่น การเทคฮอร์โมนมีความเสี่ยงอะไรบ้างที่เยาวชนเราไม่รู้ รวมถึงการให้ความรู้เรื่องเพศในโรงเรียน ซึ่งปัจจุบันนี้ทางสมาคมฟ้าสีรุ้งก็มีส่วนในการแก้ไขหลักสูตรการศึกษาแล้ว แต่ก็ยังต้องทำให้ชัดเจนมากขึ้น หรือเรื่อง Suicide ฮอตไลน์ ที่ให้คำปรึกษาเรื่องการฆ่าตัวตายที่เกี่ยวโยงกับความไม่เข้าใจตัวเอง ไม่กล้าเปิดเผยตัวเองเพราะว่าถูกกดทับจากสังคม มันต้องมีหน่วยงานนี้เข้ามาดูแล

คนส่วนใหญ่อาจถามว่ามันสำคัญยังไง? เพราะว่าตอนนี้เศรษฐกิจมันไม่ดี มันแย่ มันดูเหมือนไม่สำคัญ ถ้าคุณไม่คิดถึงมิติที่ว่า ต่อไปคุณพงศาหรือใครก็แล้วแต่ มีโอกาสจะมีลูกหลานที่เป็นคนหลากหลายทางเพศ เพราะฉะนั้นวันนึงหากเขาไม่มีความสุขและฆ่าตัวตาย เขาไม่สามารถเปิดเผยตัวเองได้ สิ่งเหล่านี้มันก็เป็นปัญหา แล้วหลายคนที่มีความกดดันโดยไม่รู้ตัว เช่น ผู้ชายหลายคน ไปลงกับเรื่องแอลกอฮอล์ ไปลงกับเรื่องการพนัน หรือไปลงกับการทำตัวเป็นแมน ไปล่าแต้ม หาผู้หญิงนอนทุกวัน โดยที่ไม่รู้ว่าจริงๆ ตัวเองมีความสับสนเรื่องทางเพศแล้วไปแสดงออกในรูปแบบนั้น เพราะฉะนั้น แก่นแท้ของมนุษย์คือสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยแก้ปัญหาได้

ยังไงก็ตาม เวลาที่เราเข้าไปอยู่ในสภา เราคงไม่สามารถจะทำงานตอบสนองกลุ่มความหลากหลายทางเพศอย่างเดียว นอกเหนือจากเรื่องความหลากหลายทางเพศแล้วเรายังทำงานเรื่องนโยบาย ที่เน้นความเท่าเทียมในมิติต่างๆ เช่น เรื่องประชาธิปไตยที่ต้องไม่ตีตรา ไม่ต้องแบ่งความคิดออกเป็น 2 ฝ่าย เรื่องความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ  ทำไมคนถึงจน? ก็เพราะโอกาสในทางเศรษฐกิจมันไม่เท่ากัน พรรคมหาชนก็มีนโยบายในเรื่องของการทำเศรษฐกิจออนไลน์ SME ออนไลน์ ก็คือเอา OTOP นี่แหละขึ้นแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตทั่วโลก โดยไม่ต้องไปขึ้นอยู่กับพ่อค้าคนกลางหรือไปขึ้นอยู่กับเว็บท่าของต่างประเทศ เอาเรื่องของเศรษฐกิจออนไลน์เข้าสู่ชุมชนทุกคน

ความเท่าเทียมทางสังคมเป็นเรื่องของการเติมเต็มต้นทุนมนุษย์ ทุกวันนี้มีพรรคการเมืองใหญ่ๆ ที่พูดเรื่องรัฐสวัสดิการ แต่เป็นการเอาเงินไปให้เขา แต่ในความเป็นจริง รัฐสวัสดิการควรจะเป็นการเติมต้นทุนมนุษย์ให้คนมีศักยภาพที่จะแข่งขันได้ ตั้งแต่เยาวชนจนกระทั่งวัยเจริญพันธุ์ ถ้าคนมีศักยภาพในการทำงานก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐสวัสดิการลงได้ แถมยังเป็นคนนำเงินคืนกลับมาสู่ระบบด้วย

เรื่องสำคัญอีกเรื่องคือการดูแลคนชายขอบ ปัจจุบันมีคนจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ เช่น พนักงานบริการ หรือ sex worker ซึ่งปัจจุบันนี้ พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณี ทำให้พวกเขาเป็นอาชญากร และเจ้าหน้าที่รัฐใช้เป็นเครื่องมือเรียกหาประโยชน์ ทั้งที่พวกเขาทำรายได้มหาศาลเข้าประเทศ เพราะฉะนั้นเราจะยกเลิก พ.ร.บ. นี้ แล้วทำให้ sex worker เข้าถึงของสวัสดิการของรัฐ

พาลินี งามพริ้ง ตัวแทนพรรคมหาชน
พาลินี งามพริ้ง ตัวแทนพรรคมหาชน

ถ้ามี transgender อยู่ที่สภา คุณพอลลีนจินตนาการออกไหมว่าสังคมจะเปิดรับขนาดไหน

พาลินี : ไม่เป็นไรค่ะ เปิดไม่เปิดเราก็ทำได้ ปัญหาไม่ใช่ตัวเรา แต่เป็นความคิดของคนอื่น เราโฟกัสในเรื่องที่เราจะทำ เรื่องที่เราจะพูด เรื่องที่เราจะต่อสู้ เพศสภาพเป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง สมัยก่อนที่เราเป็นยังเป็นผู้ชาย ก็อภิปรายกับคนมาเยอะแยะ เพราะฉะนั้นมันไม่ได้เปลี่ยนอะไรมากมายเลย (หัวเราะ)

ถ้าคุณยกเพศสภาพมาล้อเลียน คุณก็จะเจอสังคมประณามเอง เราแค่ยิ้มสวยๆ แล้วก็ ‘ขอบคุณค่ะ’ แค่นั้นก็พอแล้ว ถามว่าจินตนาการยังไง มันก็คงจะเท่ดีนะ ถ้าเราได้เข้าไปอภิปรายในสภา สื่อมวลชนต่างประเทศให้ความสนใจมากกับการที่พอลลีนมาลงการเมืองครั้งนี้ วันนี้ Time Magazine ก็จะตามไปลงพื้นที่ตอนบ่าย ถือเป็นมิติใหม่ของการเมืองเหมือนกัน

คุณพงศาล่ะ โอเคไหมถ้ามีคุณพอลลีนยืนอภิปรายในสภา

พงศา : ฟังดูดีออก ผมจะขอเข้าไปอยู่ใกล้ๆ ด้วยเลย

ความเป็นไปได้ของพรรคขนาดเล็กแต่คิดใหญ่ใจถึง มีมากแค่ไหน คนส่วนใหญ่มองว่าพรรคใหญ่น่าจะได้เป็นพรรครัฐบาล เพราะฉะนั้นก็ควรเลือกพรรคใหญ่ ความท้าทายของพรรคเล็กในเรื่องนี้คืออะไร?

พงศา : ผมว่าขั้นแรกเลย สื่อนั่นแหละผิด สื่อชอบให้พรรคใหญ่ออกตัว แล้วค่อยถามพรรคเล็กว่าจะอยู่ฝ่ายไหน ในโลกนี้มีแค่สองฝ่ายหรอ? จุดประสงค์ครั้งนี้คือต้องการให้มีหลายฝ่ายถูกไหม ถ้าการที่พรรคเล็กๆ รวมตัวกันได้สักร้อยกว่าคน รวมกันสัก 3 พรรค แล้วผมเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรี มันไม่ดีตรงไหน หลายคนเขาก็เสนอมุมนี้ว่ามีคนปรามาส ถ้าคุณได้ไปสัก 4-5 คนจะทำอะไรได้ ผมก็ขอถามกลับว่า ที่คุณเข้าไปเยอะๆ แต่เวลายกมือโหวต ต้องผ่านคำสั่งใครคนใดคนหนึ่ง แล้วมันจะมีความหมายอะไร?

พวกเรานี่แหละทำอะไรได้ เพราะเราทำเชิงประเด็น นี่ทำเรื่องเพศ (ชี้คุณพาลินี) นี่ทำเรื่องแรงงาน (ชี้คุณชาลี) นี่ทำเรื่องคนด้นคนสู้ (ชี้คุณปกรณ์) แบบนี้แหละที่สังคมควรจะเป็น พวกเราไม่มีวันทะเลาะกัน เราต้องรวมกันช่วยกัน พรรคเล็กๆ ต้องใจใหญ่ๆ กล้าเสนอนโยบายที่เป็นสัจจะวิถี ไม่แจกตามเพื่อน ผมไม่มีนโยบายแจกสักข้อเดียว แน่นอนพรรคใหญ่ๆ ทำอะไรแล้วคนจะเชื่อมากกว่า แต่วันหนึ่งถ้าเขาสืบค้นว่าพวกนี้มันทำมากี่ปีแล้ว มันโกหกทั้งนั้น ถ้าอยากให้ลึกจริงๆ ต้องดูพรรคเล็กๆ อย่างพวกเรา

พาลินี : ประเทศไทยยังหลุดไม่พ้นจากกับดักความขัดแย้งทางการเมือง มันก็เหมือนดูฟุตบอล ก็คือจะดูการแข่งขันกัน 2 ขั้ว แต่ในความเป็นจริง มันมีพรรคการเมืองอีกเยอะแยะที่มีแนวความคิดที่ดีๆ ในการพัฒนาประเทศ สิ่งที่เรามุ่งมั่นและหลายพรรคมุ่งมั่นก็คือการแก้ปัญหา ไม่ใช่การเลือกตั้งแล้วฉันอยู่ฝั่งนี้ ฉันอยู่ฝั่งนั้น สิ่งที่น่ากังวลคือประเทศไทยยังมีการตีตรากันอยู่ว่า นี่เผด็จการ นี่ประชาธิปไตย ถ้าเป็นไปได้คุณพงศาก็อยากเป็นนายก ถ้าเป็นไปได้พอลลีนก็อยากเป็นนายก แต่สุดท้ายมันตัดสินกันด้วยจำนวน ใช่ไหมคะ

ชาลี : เราไม่ชอบวาทกรรมฝ่ายโน้นฝ่ายนี้เลย เวลาคุณไปชุมนุมบนถนน บางทีคนก็บอกว่าคุณชุมนุมเพื่อประชาธิปไตย บางทีก็บอกว่าเป็นชุมนุมเรียกทหาร ผมเคารพทุกคนที่ไปชุมนุมไปต่อสู้ แต่พอชุมนุมเสร็จ จะมีการผูกขาดทันทีว่าชุมนุมแบบคุณเป็นฝ่ายไหน ซึ่งไม่ใช่ ผมไม่ใช่แบบนั้น เราต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ไม่เคยเรียกทหาร เขามาเอง

ปกรณ์ อารีกุล โฆษกพรรคสามัญชน
ปกรณ์ อารีกุล โฆษกพรรคสามัญชน

พรรคสามัญชนวางบทบาทตัวเองท่ามกลางพรรคใหญ่ยังไง ต้องบวกลบคูณหารจำนวน ส.ส. ไหม

ปกรณ์ : ถ้านับจำนวน ส.ส.เขตที่ส่ง ในบรรดา 4 พรรคเราน่าจะน้อยสุด ส่งได้แค่ 16 เขต ซึ่งในเชิงผลลัพธ์ 16 เขตเราต้องได้อย่างน้อยเขตละ 5,000 คะแนน บางเขตเราอาจจะเกิน 5,000 นะครับ อย่างเช่นที่จังหวัดเลย หรือสกลนคร แต่แน่นอนว่าในกรุงเทพฯ 3 เขตที่เราส่ง ต้องบอกว่าพรรคใหญ่ 2 พรรคเขาแข่งกัน พรรคเราก็คุยกันว่า เราทำเต็มที่นะ หมายถึงว่าเขตที่เราน่าจะหวังคะแนนได้ เราก็ไปทำ อย่างตอนนี้หัวหน้าพรรค กรรมการพรรค ก็ลงพื้นที่เพื่อที่จะเอาคะแนนที่นับได้ ผมก็คล้ายๆ พรรคกรีน คือมีคะแนนที่นับได้จริงๆ ว่ามันอยู่ตรงไหนบ้าง หมู่บ้านไหนบ้าง กลุ่มอนุรักษ์อะไร กลุ่มคัดค้านอะไร ที่อยู่บนถนนร่วมกันมาบ้าง เราไม่หาเสียงสะเปะสะปะ

หนึ่งคนที่เราหวังไว้ ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ที่มีพรรคการเมืองหนึ่งถูกยุบ คะแนนมันก็อาจพลิกมาที่เราก็ได้ ในแง่ที่ไม่มีตัวเลือกพรรคในเขตนั้นๆ แล้วถ้าเราเข้าสภา เราจะสนับสนุนนายกที่มาจากการเลือกตั้ง นายกที่เป็น ส.ส. เท่านั้น บังเอิญว่ามีแคนดิเดตของบางพรรคที่ไม่ได้ลงปาร์ตี้ลิสต์ เราก็ถูกวิจารณ์ว่าทำไมถึงประกาศแบบนั้น ซึ่งเรามองว่าอะไรก็ตามที่เป็นหลักการ เราก็ควรทำให้ถูกต้อง ถ้าเราเข้าสภาแล้วพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ เราก็จะเป็นฝ่ายค้าน ขณะเดียวกันแม้เราจะเข้าสภาแค่ 1 คน ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลแล้วแคนดิเดตนายกไม่ได้เป็น ส.ส. เราก็ไม่ร่วมรัฐบาล ผมคิดว่าโดยสถานการณ์ปัจจุบัน การเมืองมันอยู่ในระดับที่เป็นสองขั้วอยู่แล้ว ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม โจทย์คือเราจะเป็นเรายังไงใต้ขั้วนี้

ถ้าตอบจากประสบการณ์ผม 10 ปีที่ผ่านมา ช่วงที่เราไปประท้วงนโยบายนอกระบบในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพื่อนๆ ฝั่งเสื้อแดงก็จะบอกว่า มึงอย่าไปประท้วงให้แรงมาก เดี๋ยวตอนเลือกตั้งลำบาก ผมก็บอกว่า มันไม่มีทางเลือก เรื่องนี้มันต้องประท้วง พอเป็นรัฐบาลคุณประยุทธ์ เราก็ทำเหมือนเดิม คนก็บอกว่าอย่าไปประท้วงให้มาก เดี๋ยวไม่ได้เลือกตั้ง ผมก็ตอบเหมือนเดิมว่า มันต้องทำ การยืนอยู่ตรงนี้มันถูกเลือกตลอดเวลานะครับ ผมคิดว่าบางช่วงบางตอน เวลาออกไปชุมนุมทางการเมือง โดยเฉพาะในรัฐบาลคุณประยุทธ์ บางคนด่าผมลามไปถึงพ่อถึงแม่ “มึงอะเสื้อแดงมาตั้งแต่รุ่นพ่อ” ทั้งๆ ที่พ่อผมนี่โคตรจะประชาธิปัตย์เลยนะ (หัวเราะ)

หลายครั้งที่เราตอบกลับไปว่า ผมเป็นอะไรก็ได้ที่พี่อยากให้ผมเป็น คุณป้ายมาเลย แต่ผมอยากจะบอกว่าทุกครั้ง 10 ปีที่ผ่านมาที่ผมไปทำเนียบ ไปประท้วงอยู่ที่สภา ผมไม่เคยเห็นพี่เลยนะ วันนี้พี่เรียกผมเป็นแบบนี้ แต่วันหน้าถ้าผมอยู่ข้างพี่ ก็ให้ทักผมด้วยแล้วกัน คือผมเบื่อแล้วที่ถูกนิยามว่าเป็นอะไร สามัญชนก็คือสามัญชน สามัญชนก็คือคนที่ค้านโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรม ถามว่าจะแข่งกับพรรคใหญ่ยังไง เราไม่แข่งเลย เพราะว่าคนที่เลือกเรา เขาจะเลือกเพราะเราเป็นสามัญชน

แปลว่าคนที่จะกาสามัญชน ไม่ใช่คนที่เคยมีใจให้บางพรรคมาก่อน

ปกรณ์ : ผมคิดว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของชาวบ้าน เช่น ที่จังหวัดแห่งหนึ่งในภาคเหนือ หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนา ปรากฏว่าสุดท้าย ส.ส.ที่ชาวบ้านเลือก กลับไปดันโครงการพัฒนาที่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ปี 54 ชาวบ้านก็ประชุมกันในประชาคมว่า งั้นคราวนี้เราไม่เลือกเขา เพื่อสั่งสอนเขา สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือหมู่บ้านนั้นทั้งหมู่บ้านไปเลือกพรรคคู่แข่งเพื่อสั่งสอน แต่ในวันนี้หมู่บ้านนี้เป็นสมาชิกพรรคสามัญชนทั้งหมู่บ้าน นี่คือการการันตีว่าสามัญชนคือสามัญชนที่ทำงานทางการเมืองกับพี่น้องจริงๆ ถ้าเขาเลือกสามัญชนเพิ่มขึ้น ก็แสดงว่าประเด็นที่เขาให้ความสำคัญ มันตรงกับสิ่งที่พรรคผลักดันมาตลอด

พรรคเล็กทั้งหลายพยายามจะยืนยันตัวตน และไม่ได้ทำนโยบายให้พรรคใหญ่เอาไปใช้ แต่ว่าในเชิงกระบวนการมันเห็นรูปธรรมเรื่องการจัดตั้งชัดเจน แล้วจะต้องทำยังไงให้พรรคเล็กมีตัวตน ทำยังไงไม่ให้ชาวบ้านคิดว่าพรรคใหญ่น่าจะได้เป็นรัฐบาล งั้นไปเลือกพรรคใหญ่แล้วกัน

ตอนนี้สังคมถูกบีบให้คนเลือกระหว่างฝ่ายที่เอากับไม่เอาคุณประยุทธ์ มันก็เลยยังขมวดอยู่ แต่สุดท้ายแล้วคะแนนเสียงจริงๆ มันไม่ได้มีพรรคใหญ่เป็นเจ้าของอย่างเดียว ประชาชนเป็นเจ้าของเสียงตัวเอง แล้วก็เลือกจากผลประโยชน์ในแง่สิ่งที่เขาจะได้รับ ถ้าเขาเลือกพรรคกรีน เขาได้ธนาคารต้นไม้แน่นอน ถ้าเลือกพรรคมหาชน ก็จะนำไปสู่รูปธรรมของการแก้ปัญหาความหลากหลายทางเพศแน่นอน

พาลินี : คนไทยชอบการแข่งขันและชอบเป็นผู้ชนะ อยากเชียร์ข้างชนะ ทำไมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดแฟนคลับเยอะที่สุด เพราะมันชนะตลอด เป็นแชมป์บ่อยที่สุด การเมืองก็เหมือนการแข่งขันว่าเอาใคร ไม่เอาใคร หรือว่าจะอยู่ฝั่งไหน จะเอาแมนยูหรือจะเอาลิเวอร์พูล แล้วทีมที่มีสไตล์การเล่นที่ดีมาก มีความหลากหลายของเกม มีการแก้ปัญหาอะไรเยอะแยะไปหมดอย่างน็อตติ้งแฮมฟอเรสต์ หรือนิวคาสเซิลล่ะ พรรคเล็กๆ ก็ไม่ต่างกับสโมสรเหล่านี้

จริงๆ หัวใจของการเมืองมันไม่ใช่เรื่องการแข่งขันหรอก แต่คือการต่อสู้กันในเชิงความคิด แล้วก็ตัดสินด้วยการลงคะแนน แต่การแข่งขันมันไม่ได้ชัดเจนแบบที่มีแค่ 2 ทีม เหมือนเวลาแทงบอล ถ้าตามปกติก็เลือกแมนยูนะ เพราะน่าจะชนะ แต่ถ้าเกิดดูแล้วเพลี่ยงพล้ำว่าจะแพ้ ก็ไปเลือกลิเวอร์พูลแทน

แต่การเมืองมันมีมิติของนโยบาย มีปัญหาเยอะแยะไปหมดที่ทำให้ไม่สามารถพิจารณาแค่สองทีมได้ ใช่ไหมคะ?

การแบ่งทีมเป็นสองฝ่ายว่าจะเอาหรือไม่เอาเผด็จการ ส่งผลต่อพรรคเล็กไหม หรือว่าสุดท้ายแล้วแล้วมันจำเป็นต้องเลือกจริงๆ

พาลินี : จริงๆ ระบบการปกครองมันไม่ได้เป็นจุดชัดเจนว่า อันนี้ประชาธิปไตย อันนี้เผด็จการฟาสซิสต์ แต่มันเป็นเส้น เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่มันอยู่ใกล้จุดกึ่งกลาง มันก็เป็นประชาธิปไตย เพียงแต่จะซ้ายหน่อย ขวาหน่อย ยังไงก็ว่ากันไป รัฐธรรมนูญนี้มันไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เป็นจุดกึ่งกลางอยู่แล้ว มันเอียงไปทางฝั่งขวา แต่เราก็ยังมีการเลือกตั้ง และเราหวังว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา เพราะถ้ามันไม่ตรงไปตรงมา มันก็จะเขยิบขวาไปอีก

โดยส่วนตัวเราเอง ก็ประกาศชัดเจนว่าไม่เอาเผด็จการ เพราะมันเหมือนการล้างผิดแบบง่ายเกินไป แต่เวลาทำงานกับพรรค มันประกอบไปด้วยคนหลายคน เราจึงไม่เอาแนวความคิดส่วนตัวมาเป็นจุดเรียกคะแนน อย่าตีตราว่าเราเป็นเผด็จการ หรือเราเป็นซ้ายตกขอบ เราอยู่ตรงกลางนี่แหละ เพียงแต่ความคิดของคนในพรรคก็มีทั้งซ้ายทั้งขวา

ปกรณ์ : ผมว่าเวลาลงไปในพื้นที่ ถ้าพูดว่าเอาเผด็จการกับประชาธิปไตย อาจต้องพูดซ้ำ ต้องอธิบายเพิ่ม แต่ถ้าบอกว่าเลือกสามัญชน ไม่เอาลุงตู่เป็นนายกต่อแน่นอน จบ สามัญชนไม่เอาการสืบทอดอำนาจแน่นอนครับ ก็คือไม่เอาประยุทธ์ และไม่สามารถจะจับกับพรรคพลังประชารัฐได้ด้วย

ทีนี้เวลาที่ถามว่ามันต้องเลือกไหม ผมคิดว่ามันต้องเลือก เป็นเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ เพราะว่ารัฐธรรมนูญเปิดช่องอย่างที่คุณพอลลีนบอก กลายเป็นว่าการสืบทอดอำนาจทำได้ตามกฎหมายเลย ฉะนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 62 ก็จะต่างจากปี 34-35 แล้วคุณประยุทธ์ก็ไม่เคยปฏิเสธเลยว่าจะไม่เป็นนายก ถูกไหม ซึ่งโอกาสที่พอเลือกตั้งไปแล้วคุณประยุทธ์ได้เป็นนายก แล้วประชาชนจะออกมาชุมนุม ก็อาจจะมีน้อย ยกเว้นเสียแต่ว่าฝ่ายที่เขาไม่เอาคุณประยุทธ์จะเข้ามาเต็มสภา

สำหรับพรรคสามัญชน มันไม่จำเป็นต้องเลือก เพราะเรายืนยันมาตลอดอยู่แล้วว่า เราเป็นคนที่ไล่รัฐบาลนี้ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามา เรามีปัญหารูปธรรมของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากคุณประยุทธ์ เราติดคุกเพราะคุณประยุทธ์เป็นนายก คุณประยุทธ์ร่างรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่บอกว่าคุณประยุทธ์จะเป็นนายกแบบชอบธรรม เพราะ ส.ว. 250 ได้ผ่านประชามติมา อย่างการบอกว่า “แล้วมันผิดตรงไหน” แสดงว่าคนเหล่านี้ไม่ได้รู้เลยว่ามีคนจำนวนมาก รวมถึงผมเอง ที่ถูกจับดำเนินคดี มีอัตราโทษสูงสุด 10 ปี ในการรณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญ ผมก็ขอถามคุณไพบูลย์ (นิติตะวัน) กลับไปว่าการรณรงค์วันนั้นมันผิดตรงไหน?

เรื่องนี้สำหรับสามัญชน มันคุยกันอย่างตกผลึกมาก เพราะวันที่โหวตโนแพ้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน สามัญชนคุยกัน 3 วัน 3 คืนว่าเราจะตั้งพรรคในรัฐธรรมนูญนี้ยังไง คำตอบที่ได้ก็คือ มันเป็นทางเลือกที่ราคาถูกที่สุดในการที่จะเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง จังหวะที่เวลามือถือไมค์ไฟส่องหน้า ยืนบนหลังรถสิบล้อ มันห้าวหาญมากนะ แต่ขาก็สั่น เพราะมองไปเห็นทหารถือปืนอยู่สามกองร้อย แล้วมันก็ไม่รู้ว่าทางออกคืออะไร นอกจากการดันไปข้างหน้า

ชาลี : มันมีวาทกรรมอยู่สองอย่างคือ พรรคใหญ่ และ พรรคเล็ก แต่ว่าผมไม่เคยคิดว่าเราเป็นพรรคเล็ก เพียงแต่เป็นพรรคที่เกิดมาทีหลัง ในพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย ที่เราเน้นหนักก็คือเรื่องของเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา แล้วก็พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ถูกกระทำมาตลอด

พูดตรงๆ ในส่วนของพรรคสังคมประชาธิปไตยไทยที่จัดตั้งพรรคมา วันนี้แค่เราได้ลงสมัคร เราคิดว่าก็คุ้มค่าแล้ว เพราะในอดีตที่ผ่านมา ‘แรงงานห้ามยุ่งเกี่ยวการเมือง’ แต่ถ้ามี ส.ส. ที่เป็นแรงงานขึ้นมาสักคนหรือสองคน ผมคิดว่ามันเป็นกำไรในส่วนของการเข้ามาเป็นปากเป็นเสียง

ส่วนที่คุยกันว่าจะเอาฝ่ายประชาธิปไตย หรือไม่เอาฝ่ายประชาธิปไตย เราจะไม่พูดวาทกรรมนี้ เพราะก่อให้เกิดความแตกแยก เราพูดถึงความถูกต้องดีกว่า ว่าวันนี้เราเข้าไปแล้วจะทำอะไรบ้างให้เกิดประโยชน์กับสังคม โดยตั้งอยู่บนความถูกต้อง ใครทำความดีก็สนับสนุน ถ้าไม่ดีเราก็ค้านไปเท่านั้นเอง แต่ถ้าเราไปตั้งวาทกรรมฝักฝ่าย ผมเชื่อว่าหลังเลือกตั้งก็ต้องทะเลาะกันอีก แล้วเมื่อไหร่เราจะก้าวข้ามตรงนี้ไปซะที

ทุกคนก็มีจุดแข็งของตัวเอง เข้ามาแล้วก็เอามาผสมกัน ถึงแม้จะอยู่คนละพรรคก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะตอนนี้พรรคการเมืองมันมีเยอะ ตัวเลือกก็เยอะตามไปด้วย เท่าที่ลงพื้นที่และสัมผัสกับพี่น้องชาวบ้าน เขาก็เบื่อการทะเลาะกัน เขาอยากจะได้อะไรใหม่ๆ มาบ้าง ดังนั้น เราก็รอดูว่าหลังวันที่ 24 มี.ค.อะไรจะเกิด ถ้าเกิดได้คะแนนเข้ามา เราก็ต้องทำเต็มที่ ถ้าเผื่อไม่ได้ เราก็ต้องเดินหน้าในเรื่องการสร้างความมั่นคงเข้มแข็งให้กับพรรคของเราในอีก 4 ปีข้างหน้าต่อไป เพราะวันนี้เราถือว่าแจ้งเกิดแล้ว ทำให้พี่น้องชาวไร่ชาวนา เกษตรกร คนหลากหลายชาติพันธุ์ได้รู้แล้วว่าเรามีอยู่

แรงงานมีทั้งหมด 39-40 ล้านคน ในอนาคตเราหวังว่า ถ้าเขาเข้าใจเรา เข้ามาร่วมกับเรา และสร้างอุดมการณ์อะไรด้วยกันมันก็อาจจะโตขึ้น และมีโอกาสได้เข้าไปบริหารประเทศชาติเหมือนกับพรรคใหญ่ๆ ที่เขาทำกันอยู่ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราคิด แต่ไม่คิดจะทะเลาะกับใคร

ชาลี ลอยสูง หัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย
ชาลี ลอยสูง หัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย

ในเชิงรูปธรรม หลังวันที่ 24 มี.ค. ถ้าต้องเข้าไปโหวตเลือกนายกฯ คิดว่าเรื่องพวกนี้เป็นปัจจัยหลักที่ต้องนำมาคิดไหม

พงศา : ตอนนี้สื่อก็เป็นตัวกระตุ้นอารมณ์สังคมให้ไปในทางนั้น จริงๆ ที่ผมไปสัมผัส อารมณ์ประเทศตอนนี้ คนเบื่อการเมืองเก่าไม่เอาทหาร นี่เป็นอารมณ์ที่เราสัมผัสได้ เผด็จการไม่เผด็จการไม่รู้ แต่ไม่เอาทหาร อารมณ์นี้แหละมันเป็นอารมณ์จริง แต่สื่อไม่ต้องการอารมณ์นี้ สื่อต้องการว่าคุณอยู่ฝ่ายไหน แล้วก็ไปกระตุ้นอารมณ์เขา เรามองว่าไม่ใช่

ที่ประเทศอังกฤษ ตอนที่ วินสตัน เชอร์ชิล ลงนายก ช่วงหลังสงครามโลก ในสงครามโลกทุกคนทราบดีว่า เชอร์ชิล เป็นวีรบุรุษ ไปที่ไหนใครก็พูดถึง แต่ปรากฏว่ามันแพ้โดยไม่รู้ว่าตัวเองแพ้ยังไง เพราะอะไรรู้ไหม พรรคเลเบอร์ชนะครั้งแรก โยนวาทกรรมว่า “เราเหนื่อยกันพอหรือยังกับสงคราม” เพราะเขารู้ว่าเชอร์ชิลเป็นวีรบุรุษ แต่แน่นอนว่าเขาเป็นวีรบุรษสงคราม ย่อมพาประเทศเข้าสงครามอีก ดังนั้น เราเหนื่อยกันพอแล้วหรือยัง คนหนุ่มสาวของเราตายกันมากพอแล้วหรือยัง คนอังกฤษคิดได้ปุ๊บก็ตื่นเลย

อีกสัปดาห์ต่อมา พรรคเลเบอร์โยนอีกว่า “เราจะสร้างสุขภาพถ้วนหน้า ให้เรียนฟรีมีรัฐสวัสดิการ” เชอร์ชิลถามว่าอังกฤษจะเอาเงินมากมายมหาศาลมาจากไหนไปให้คนเรียนฟรี หรือรักษาสุขภาพ พรรคเลเบอร์บอกว่า แค่คุณหยุดสงคราม เงินมหาศาลเราก็ได้แล้ว คืนเดียว แพ้แบบไม่รู้จะแพ้ยังไงเลย ที่ผมพูดอย่างนี้เพราะว่า วันนี้เรามีวีรบุรุษเยอะ อภิสิทธิ์ก็เป็นวีรบุรุษคนนึง ทักษิณก็เป็นวีรบุรุษคนนึง ลุงตู่ก็เป็นวีรบุรษ แม้แต่ธนาธรก็เป็นวีรบุรุษ แต่ถ้าคนไทยคิดว่า เฮ้ย เราเหนื่อยกันพอแล้วนะ เรามาฟื้นฟูประเทศดีกว่า จะแก้ปัญหาประเทศนี้ยังไง ก้าวข้ามสิ่งที่เราทะเลาะกันมายังไง เพื่อจะพาประเทศรอด

ชาลี : ยิ่งเราเข้าไปเฮโลกับวีรบุรุษทั้งหลาย มันก็เหมือนกับไม่มีตัวเลือกอื่นแล้ว เพราะมันเข้าไปรวมตัวกันอยู่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นเราจะทำยังไงต่อมา พรรคที่เกิดใหม่ทั้งหมดควรมาร่วมกันเป็นทางเลือกที่สาม

ในบรรยากาศการหาเสียงครั้งนี้ เห็นความแฟร์หรือไม่แฟร์อย่างไรบ้าง จากการลงพื้นที่ ได้เจออะไรที่ท้าทายไหม มีใครถามว่า ‘คุณเป็นใครวะ’ บ้างไหม

ชาลี : มีครับ พรรคเราเป็นพรรคเกิดใหม่ พอเราไปถึงปุ๊บเขาถามว่าพรรคอะไร ไม่เคยได้ยินเลย ผมคิดว่า ‘บุญคุณ’ ยังคงมีอยู่ในพื้นที่นะ คล้ายๆ ว่าเป็นฐานความเคารพนับถือ ตอนเข้าไปหาเสียง เราก็บอกว่าผมมาดี ไม่ว่าจะเป็นใครที่ไหน ถ้าพูดในลักษณะนี้ รู้สึกเขาแผ่วลงมาเยอะ เพราะเราไม่เคยเป็นปฏิปักษ์กับใคร ทั้งฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายตรงข้าม

เมื่อก่อนผมอยู่ในโรงงาน ลูกน้องผมเยอะ เวลามีการเลือกตั้ง แม่โทรมาแล้ว หนูต้องกลับมาเลือกพรรคนี้นะลูก เพราะแม่รับเงินเขามาแล้ว ถ้าหนูไม่ไปแม่แย่แน่ๆ คือเขากดดันพ่อแม่ให้มาดึงลูกไปลงคะแนนเสียง แต่เดี๋ยวนี้ ลูกเข้าใจอะไรมากขึ้นแล้ว ก็ไปบอกแม่ว่าอย่าไปทำแบบนั้นนะ ในอนาคต ถ้าเราปลูกฝังเด็กรุ่นใหม่ตั้งแต่วันนี้ ผมคิดว่าประเทศชาติเราน่าจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือแน่นอนเลย เรื่องการโกง การทุจริตคอร์รัปชัน มันจะต้องมีคนตรวจสอบ แล้วถามว่าเราจะเข้าไปตรวจสอบได้ยังไง เราต้องมีกฎหมายมาซัพพอร์ต อีกอย่างนึงคือเราต้องมีองค์กรตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชันของภาคประชาชน คู่ขนานกันไป

พงศา : ผมพูดตั้งแต่ต้นว่านี่เป็นการเลือกตั้งของเดรัจฉาน เพราะว่าตามหลักการแข่งขัน กติกามันต้องเท่าเทียมกัน วิ่งแข่งยังต้องมีอายุเท่ากัน วัวชนยังต้องมีน้ำหนักเท่ากัน แต่ครั้งนี้กลับให้คนแข็งแรงเข้าสนามก่อน การที่ประกาศเลือกตั้งแบบนี้ มันตัดโอกาสหลายพรรค บางคนพร้อมเข้าไปอยู่ในสนามแล้ว ขณะที่กรรมการยังตรวจรองเท้าเราอยู่เลย ซึ่งการแข่งขันแบบนี้ เหมือนกับการให้สัตว์ตัวที่แข็งแรงเอาเปรียบตัวที่อ่อนแอได้ ซึ่งเป็นกฎการดำรงอยู่ของเดรัจฉาน มนุษย์เขาไม่ใช้กัน

ความไม่แฟร์เรื่องที่สอง ผมก็ลงที่สื่ออีกแหละ สื่อไม่ก้าวหน้าในการนำให้เกิดความเท่าเทียม แล้ว กกต. ก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่ากฎการเลือกตั้งครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อนยังไง พอไม่ต่าง ก็จะทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ แล้วพรรคใหญ่ก็ไปอธิบายปิดเลยว่ามันยังเหมือนคราวก่อน เลือกไปก็สูญเปล่า นี่ก็เป็นความไม่แฟร์

ประเทศเรายังเลือกนักการเมืองระดับชาติภายใต้สังกัดบ้านใหญ่ ซึ่งเราเสนอว่าให้เผาบ้านใหญ่ให้หมด ญี่ปุ่นสมัยก่อนมีก๊กมีก๊วนการเมือง ก็คือ โชกุน ที่มีบ้านใหญ่อยู่ทั่ว ร้อยกว่าจังหวัด ประชาชนเดือดร้อนมากแต่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้บ้านใหญ่เหล่านี้ คนญี่ปุ่นเมื่อ 70-80 ปีที่แล้ว ลุกขึ้นสู้ เผาบ้านใหญ่จนเหลือแค่ 4 บ้านเอง แต่ขณะที่ญี่ปุ่นเลิกเผาบ้านโชกุนไปเมื่อ 70-80 ปีที่แล้ว บ้านเราเพิ่งจะสร้างบ้านใหญ่ขึ้นมา เป็นความล้าหลังมาก สร้างบ้านใหญ่แล้วก็เลือกบ้านใหญ่เป็นบุญคุณ เป็นอย่างนี้ตลอด ผมเสนอทฤษฎีเผาบ้านใหญ่ แต่ไม่ต้องเผาจริง เราเผาในนามธรรม คือไม่ต้องเคารพ เพราะมันคือระบบอุปถัมภ์จอมปลอม เมตตาธรรมเทียมๆ เท่านั้นแหละ

ปกรณ์ : ความไม่แฟร์แรกก็คือว่า ถ้าเป็นบรรยากาศของการหาเสียงก็มี กอ.รมน. มีสันติบาลมาคอยตามอยู่ ผมก็ไม่รู้ว่าเขาไปตามทุกพรรคไหม แล้วก็สิ่งที่รู้สึกไม่แฟร์มากๆ ก็คือการที่พรรคพลังประชารัฐเลือก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายก ถ้าเลือกตั้งครั้งนี้ คสช.ไม่เข้ามามีบทบาท รัฐธรรมนูญไม่วางกลไกให้พลเอกประยุทธ์ลงเลือกตั้ง มันจะสนุกมากเลย ไม่ว่าจะพรรคเล็ก พรรคใหญ่

แต่พอพลเอกประยุทธ์กลายเป็นแคนดิเดตของพรรคพลังประชารัฐ แค่เรื่องเจ้าหน้าที่รัฐ หรือบุคคลของสาธารณะ ก็มีการตีความกันมากมายมหาศาล ถ้าเราบอกว่าแคนดิเดตของพรรคไทยรักษาชาติมีปัญหาในทางรัฐธรรมนูญ ในทางวิชาการ ในทางประเพณีการปกครอง แคนดิเดตของพลังประชารัฐก็มีปัญหา

การชนะด้วยกติกาการเลือกตั้ง น่าจะดีกว่าใครยุบพรรคไหนเก่งกว่า เมื่อเราพูดเรื่องที่ไม่แฟร์ออกไป กลับมีคนบอกว่ามันแฟร์ เพราะอย่างนี้มันจึงน่าเบื่อหน่ายกับการที่ต้องมานั่งบอกว่าทำไม ส.ว. 250 คน ถึงไม่ชอบธรรม โดยที่ก็ยังมีคนบอกว่ามันชอบธรรมอยู่นั่นแหละ เพราะฉะนั้น ความไม่แฟร์มันคือการที่คุณมีทุกอย่าง มีกฎหมาย มีแต้มต่อ 250 เสียง

คุณมีลูกน้องที่สามารถสั่งให้ไปตามดูว่า วันนี้ปกรณ์มันทำอะไร มาให้สัมภาษณ์ 101 เหรอ พรรคเล็กๆ อย่างเรารู้สึกว่า โอ้โห มันขนาดนี้เลยเหรอ คุณอยากจะปกครองประเทศนี้ซะเหลือเกิน มันหอมหวนเหลือเกินใช่ไหมอำนาจเนี่ย คุณถึงต้องอยู่ต่อ แล้วก็มีบางประโยคที่เราลงพื้นที่ แล้ว กอ.รมน. พูดว่า คุณน่ะ สู้ไปก็แพ้ ยังไงเลือกตั้งคราวนี้ พลเอกประยุทธ์ก็เป็นนายก นี่คือคำพูดของเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วผมเอาเทปพวกนี้ไปร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชารัฐบ้างได้ไหม

จริงๆ เมื่อคลี่ลงไปในเกม เมื่อกี้คุณพอลลีนบอกว่า ฟุตบอลเนี่ย ต่อให้เป็นทีมเล็ก คริสตัลพาเลซ ก็ยังพลิกเอาชนะ แมนซิตี้ ได้ สัปดาห์ก่อนโน้น เบิร์นลีย์ ก็ยังชนะ สเปอร์ส เพราะมันเตะด้วยกติกาเดียวกัน 11 คนเหมือนกัน ความสามารถเฉพาะตัวของนักเตะอาจจะเก่งกว่าหรือด้อยกว่า แต่ว่ายังไงมันก็ยังมีกติกาที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีโอกาสชนะได้ แต่กติกาเลือกตั้งครั้งนี้ ฝ่ายนั้นเขาได้เปรียบ กรรมการก็ของเขา สนามก็สนามเขา แต่ที่เรายืนหยัด เพราะถ้าอยากจะชูถ้วยแชมป์ก็ต้องลงแข่ง แม้ว่าจะเสียเปรียบทุกทาง

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save