fbpx

สูญเสียไปเท่าไหร่แล้วกับคำว่า ‘เกณฑ์ทหาร’

ในทุกๆ วันที่ 1 เมษายนของทุกปีเป็นวันเริ่มต้นฤดูกาลที่ชายไทยหลายคนต่างพะวักพะวนไม่อยากให้มาถึง เพราะกระทรวงกลาโหมได้กำหนดให้เป็นวันเริ่มต้นการเกณฑ์ทหารทั่วประเทศไทย โดยผู้ที่มีบัตรประจำตัวประชาชนระบุว่าเป็นเพศชายและไม่ได้ผ่านการฝึกวิชาทหาร (เรียน รด.) ทุกคนจะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารเมื่ออายุถึง 21 ปี

หากจับได้ใบดำหรือคุณลักษณะไม่ตรงตามความต้องการของกองทัพก็จะสามารถกลับบ้านไปใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่หากจับได้ใบแดง พวกเขาเหล่านั้นก็จะต้องรับภารกิจรับใช้ชาติในกองทัพไทยเป็นระยะเวลา 1 ถึง 2 ปี

บรรยากาศของการเกณฑ์ทหารในทุกๆ ปีเป็นเรื่องชินตาสำหรับสังคมไทย ไม่ว่าผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารจะจับได้ใบดำหรือใบแดง ต่างก็มีเสียงโห่ร้อง หากแต่เสียงเหล่านี้อาจมีทั้งความยินดีและความผิดหวังปะปนกันไป ซึ่งดูเหมือนว่าความผิดหวังจากการเกณฑ์ทหารในทุกๆ ปี ส่วนใหญ่มักจะเป็นเพราะพวกเขาจับได้ใบแดง          

101 Public Policy Think Tank (101 PUB) ชวนทบทวนดูว่าการเกณฑ์ทหารเป็นสิ่งที่คุ้มค่าและจำเป็นต่อประเทศหรือไม่? การเกณฑ์ทหารหนึ่งครั้งประเทศไทยจะต้องเสียต้นทุนใดบ้างที่สามารถคิดเป็นตัวเงินได้นอกเหนือจากงบประมาณจากภาษีประชาชนที่จะต้องจ่ายให้แก่ทหารที่ถูกเกณฑ์เข้ากองทัพไทย

การเกณฑ์ทหารมี ‘ค่า’ มากกว่าที่คิด

หากต้องการดูว่าการเกณฑ์ทหารมีต้นทุนใดบ้างนอกเหนือจากต้นทุนด้านงบประมาณของรัฐบาล ก็ควรต้องพิจารณาถึงต้นทุนส่วนตัวของผู้ที่ถูกเกณฑ์ให้ไปเป็นทหารโดยไม่สมัครใจ และต้นทุนทางเศรษฐกิจที่จะต้องเสียไปจากการเกณฑ์คนเหล่านี้ไปเป็นทหาร

ต้นทุนส่วนตัวของผู้ที่จับได้ใบแดงนั้น สามารถมองได้ว่าเป็นค่าเสียโอกาสที่พวกเขาต้องเสียไปจากการถูกเรียกเกณฑ์ไปเป็นทหารโดยไม่สมัครใจ ซึ่งก็คือโอกาสการทำงานและค่าจ้างที่หายไปในช่วงที่ต้องไปเป็นทหาร โดยระยะเวลาของการถูกเรียกไปเป็นทหารก็ขึ้นอยู่กับวุฒิการศึกษาของผู้ถูกเกณฑ์ หากมีวุฒิการศึกษาระดับอุดมศึกษาก็จะถูกเรียกเกณฑ์เพียงหนึ่งปี ในทางกลับกัน หากมีวุฒิการศึกษาในระดับที่ต่ำกว่านั้นก็จะต้อง ‘รับใช้ชาติ’ นานถึงสองปี

101 PUB คำนวณค่าจ้างที่หายไป จากค่าจ้างโดยเฉลี่ยของคนทำงานที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับผู้ถูกเกณฑ์ทหาร กล่าวคือ กลุ่มคนทำงานที่มีอายุระหว่าง 21 ถึง 26 ปีในแต่ละวุฒิการศึกษา ด้วยข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ[1]

กลุ่มที่มีค่าเสียโอกาสจากการจับได้ใบแดงมากที่สุดคือกลุ่มวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือ ปวช. ซึ่งเสียไปราว 5.4 แสนบาท ขณะที่กลุ่มที่มีค่าเสียโอกาสน้อยที่สุดคือกลุ่มวุฒิการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ซึ่งเสียไปราว 2.2 แสนบาท นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าหากกลุ่มวุฒิการศึกษาระดับมัธยมต้นและกลุ่มวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือ ปวส. จับได้ใบแดงจะมีค่าเสียโอกาสที่ไม่ต่างกัน ซึ่งก็คือประมาณ 2.6 แสนบาท อย่างไรก็ดี ต้นทุนด้านเวลาของสองกลุ่มนี้มีไม่เท่ากัน เพราะกลุ่มที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าระดับอุดมศึกษาจะต้องรับใช้ชาตินานถึงสองปี

เมื่อนำค่าเสียโอกาสที่เกิดจากการจับได้ใบแดงของกลุ่มผู้ถูกเกณฑ์ตามวุฒิการศึกษาต่างๆ มาเฉลี่ยแล้ว พบว่าใบแดง 1 ใบจะมีค่าเสียโอกาสโดยเฉลี่ยราว 3.4 แสนบาท (ตารางที่ 1)

วุฒิการศึกษาระยะเวลาประจำการค่าเสียโอกาส
ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า2 ปี218,690 บาท
มัธยมศึกษาตอนต้น2 ปี266,376 บาท
มัธยมศึกษาตอนปลายหรือ ปวช.2 ปี542,620 บาท
ปริญญาตรีหรือ ปวส.1 ปี265,367 บาท
เฉลี่ย337,616 บาท
ตารางที่ 1: ประมาณการค่าเสียโอกาสของผู้ที่จับได้ใบแดงจำแนกตามวุฒิการศึกษา
ที่มา: 101 PUB คำนวณจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2021)

ในปี 2022 กองทัพไทยมียอดความต้องการทหารทั้งหมด 58,330 คน โดยมีผู้สมัครกว่า 27,147 คน ซึ่งอาจมีทั้งผู้ที่สมัครด้วยความสมัครใจจริงและกลุ่มที่สมัครเพื่อต้องการระยะเวลาประจำการในกองทัพที่สั้นกว่ากรณีที่จับได้ใบแดง เมื่อมีผู้สมัครเข้ามาน้อยกว่ายอดความต้องการ ทำให้มีจำนวนใบแดงทั้งสิ้น 30,646 ใบ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือต้องมีผู้ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารโดยไม่สมัครใจอย่างน้อย 30,646 คน[2]

เมื่อนำ ‘ค่าจ้างที่สูญไป’ โดยเฉลี่ยมาคูณกับจำนวนผู้ที่ถูกเกณฑ์ทหารโดยไม่สมัครใจขั้นต่ำ จะพบว่าการเกณฑ์ทหารครั้งนี้สร้างค่าเสียโอกาสในการหารายได้ของแรงงานอย่างน้อย 1.04 หมื่นล้านบาท ขณะที่รัฐบาลจะจ่ายค่าแรงของการเป็นทหารเกณฑ์เพียงประมาณ 6 พันล้านบาท[3]

อย่างไรก็ตาม แรงงานที่หายไปจากระบบเศรษฐกิจ ย่อมหมายถึงการผลิตสินค้าและบริการที่หายไปด้วยเช่นกัน จากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตในปี 2015 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดพบว่า ค่าจ้างแรงงานคิดเป็น 34.5% ของมูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจไทย[4] ดังนั้น มูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญไปจริงจะมีค่ามากกว่าค่าจ้างที่สูญไปราว 3 เท่า หรืออย่างน้อย 3 หมื่นล้านบาท

ต้นทุนแฝงของการเกณฑ์ทหาร

ตัวเลขประมาณการต้นทุนที่เกิดจากการเกณฑ์ทหารที่กล่าวไปข้างต้นอาจยังน้อยกว่าความเป็นจริง เพราะมีต้นทุนแฝงที่เกิดจากการเกณฑ์ทหาร ซึ่งไม่สามารถประเมินออกมาเป็นตัวเลขได้อย่างแน่ชัด อาทิ ต้นทุนที่เกิดจากการที่ผู้ถูกเกณฑ์ต้องไปทำงานใช้ทักษะไม่ตรงกับที่ตนเคยฝึกมาหรือมีอยู่ ทำให้การเกณฑ์ทหารไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าการรับสมัครผู้ที่มีความเชี่ยวชาญหรือมีความพร้อมมากกว่า[5] ต้นทุนที่ต้องเสียโอกาสในการฝึกฝนเก็บเกี่ยวทักษะเพิ่มเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน ต้นทุนที่ต้องห่างไกลจากบ้าน ซึ่งไม่สามารถดูแลคนในครอบครัวได้ นอกจากนี้ต้นทุนแฝงอาจรวมไปถึงด้านสุขภาพจิตของผู้ถูกเกณฑ์เองอีกด้วย

แม้ระบบเกณฑ์ทหารแบบบังคับจะทำให้รัฐบาลต้องเสียงบประมาณสำหรับค่าจ้างทหารเกณฑ์น้อยกว่าระบบสมัครใจที่ต้องเพิ่มค่าตอบแทนให้ทัดเทียมกับค่าจ้างในตลาดแรงงานเพื่อดึงดูดคนที่มีความสามารถเข้ามาในกองทัพ แต่ก็เป็นที่เห็นชัดแล้วว่าต้นทุนของการเกณฑ์ทหารแบบบังคับไม่ได้มีแค่ด้านงบประมาณ หากแต่มีทั้งต้นทุนต่อตัวผู้ถูกเกณฑ์ ต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม และต่อกองทัพเองอีกด้วย

ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องเร่งทบทวนตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารเสียใหม่ เพราะกฎหมายฉบับล่าสุดที่ระบุเกี่ยวกับการรับราชการทหารนี้ออกมาเมื่อเกือบ 70 ปีที่แล้ว[6] ซึ่งยังคงอยู่ในบริบทที่มีศึกสงครามบ่อยครั้ง การเกณฑ์ทหารจึงดูเหมือนจะมีความชอบธรรมและเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของประเทศ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันบริบทได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว การเกณฑ์ทหารจึงเป็นเรื่องที่น่าถกเถียงว่ายังควรมีอยู่หรือไม่ มีความคุ้มค่ากว่าการรับสมัครทหารหรือไม่ อีกทั้งกำลังพลที่ถูกเกณฑ์มาจะมีประสิทธิภาพต่อการป้องกันประเทศมากกว่าทหารอาชีพหรือเปล่า

References
1 ค่าเสียโอกาสจึงคำนวณจากค่าจ้างของแรงงานนอกภาคเกษตรที่หายไประหว่างช่วงระยะเวลาที่ต้องประจำการอยู่ในกองทัพ
2 “ทบ. ตั้งเป้าปี 66 ต่อยอดเลิก “เกณฑ์ทหาร” พบปี 65 ยอดเรียกเกณฑ์ลด 18,749 นาย,” กรุงเทพธุรกิจ, กันยายน 29, 2022, https://www.bangkokbiznews.com/politics/1029595.
3 ประมาณการค่าจ้างทหารเกณฑ์กลุ่มที่จับได้ใบแดงในปี 2022 โดยคำนวณบนฐานคิดที่ว่าทหารเกณฑ์จะได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 1 หมื่นบาท และจะมีทั้งกลุ่มที่มีระยะเวลาประจำการเพียงปีเดียวและสองปี
4 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
5 Poutvaara, Panu, and Wagener, Andreas. “Conscription: economic costs and political allure,” The Economics of Peace and Security Journal 2, no. 1 (2007): 6-15.
6 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

101PUB

2 Feb 2023

เปิดใต้พรมหนี้สาธารณะไทย ‘หนี้’ อะไรซุกซ่อนอยู่บ้าง ?

101 PUB ชวนสำรวจว่าตัวเลข ‘หนี้สาธารณะ’ ที่ถูกรายงานทุกเดือน มีความครบถ้วนและสะท้อนหนี้ของประเทศที่แท้จริงหรือไม่

กษิดิ์เดช คำพุช

2 Feb 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save