ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง
ธิติ มีแต้ม ภาพ
ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังจะมีเลือกตั้งในรอบ 8 ปี ผู้คนต่างตื่นตัวทางการเมือง ขณะที่พรรคการเมืองเสนอนโยบายหลากหลาย ทั้งเรื่องปากท้อง การศึกษา คมนาคม และมีเรื่อง ‘ก้าวหน้า’ อย่างส่งเสริมรัฐสวัสดิการ ปฏิรูปกองทัพ ทลายทุนผูกขาด และการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศในหลายรูปแบบ
หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจ และเป็นเรื่องที่ทั่วโลกกำลังเดินหน้าอย่างรวดเร็ว คือธุรกิจดิจิทัล และการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพ เว็บไซต์ยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง เฟซบุ๊ก แอมาซอน ทวิตเตอร์ ฯลฯ ก็มาจากสตาร์ทอัพที่กล้าคิดและลุกขึ้นมาเปลี่ยนโลก หรือแม้แต่ Grab ก็เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตคนเมืองอย่างเห็นได้ชัด
ในไทยเอง ก็มีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เกิดขึ้นมากมาย รวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพที่พยายามสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ โดยใช้เครื่องมือดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ ในวันที่เส้นแบ่งของโลกพร่าเลือน และดูเหมือนธุรกิจเล็กๆ อาจมีทางเติบโตได้โดยไม่ต้องเช่าห้องแถวหรือสร้างโรงงานเอง
101 Roundtable นัด 3 นักธุรกิจที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสตาร์ทอัพและธุรกิจดิจิทัล มาพูดคุยในประเด็นธุรกิจและการเมือง ว่านอกจากการผลักดันกันเองในภาคเอกชนแล้ว รัฐควรเข้ามีบทบาทในการช่วยพัฒนาแค่ไหน ประกอบด้วย
จักรพงษ์ คงมาลัย ผู้ก่อตั้ง Moonshot บริษัททำ Content Agency และ Digital PR อดีตนักข่าว ที่ตอนนี้ช่วยเป็นสื่อกลางระหว่างคนทำธุรกิจและกลุ่มลูกค้า โดยใช้ความเข้าใจเรื่องคอนเทนต์ในโลกออนไลน์มาผลักดัน
อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ techsauce.co ศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารของสตาร์ทอัพไทย รวมถึงช่วยประสานงานระหว่างสตาร์ทอัพกับกลุ่มทุนต่างๆ เพื่อเปิดช่องธุรกิจให้เติบโตไปได้
ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์ ผู้ก่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน Treasurist และเพจ Thailand Investment Forum ผู้คร่ำหวอดในวงการการเงินมายาวนาน และขยับมาเป็นผู้ให้บริการแนะนำการลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์ หนึ่งในธุรกิจ FinTech (Financial Technology) ที่น่าจับตามอง
บทสนทนาต่อไปนี้ ว่าด้วยความหวัง ธุรกิจ การเงิน และการเมือง
ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ของสตาร์ทอัพไทยเป็นอย่างไรบ้าง
อรนุช : ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตค่อนข้างก้าวกระโดดเยอะ แต่เยอะในที่นี้ก็ยังน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอยู่ดี เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และอาจจะเวียดนามด้วยซ้ำ
ในปีนึงจะมีดีลที่ทำให้ยอดก้าวกระโดดอยู่ประมาณรายสองราย เช่น เมื่อปี 2017 ก็จะมีดีลใหญ่ๆ ที่มาจากสาย e-commerce แต่ถ้าไม่มีดีลนั้นขึ้นมา ยอดก็จะน้อย ความหมายก็คือว่า คนที่เป็นคนระดมทุนเยอะจริงๆ และระดมทุนได้เรื่อยๆ มีอยู่ไม่น่าจะเกิน 3-5 รายเท่านั้น
พอปีที่แล้วยอดระดมทุนที่ได้รับการเปิดเผยข้อมูลตกลงมานิดนึง เพราะไม่มีดีลใหญ่มากในไทย สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อหลายปีก่อน e-commerce และกลุ่ม market place ดูจะแอคทีฟมาก แต่ตอนนี้มีผู้เล่นรายใหญ่เข้ามา อย่าง Lazada ก็ถูก Alibaba ซื้อไป อย่าง Shopee ตอนนี้ก็รุกหนัก อีกรายก็ JD Central ที่เพิ่งมา เลยทำให้คนที่ทำ e-commerce ในเชิงกว้าง อาจสู้กลุ่มทุนหนาไม่ได้
ดังนั้นจะเห็นว่า ทิศทางของ e-commerce จะมีกลุ่มที่ทำ vertical e-commerce เจาะไปแบบ Pomelo คนทำแฟชั่น ทำอะไรที่เฉพาะทางไป หรืออีกทางก็คือ ฉันไม่แข่งกับเธอตรงๆ ก็ได้ แต่ฉันทำอะไรที่ซัพพอร์ต e-commerce อีกทีนึง นี่คือภาพรวมของ e-commerce
ถ้าเป็นสายอื่นๆ ธุรกิจที่มี business model แนว B2B (Business-to-Business) หรือจะเป็น B2B2C (Business-to-Business-to-Consumer) ก็ได้ คนกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะสร้างธุรกิจที่ยังเติบโตอยู่ได้ เพราะเมืองไทยการทำ B2C (Business-to-Consumer) ค่อนข้างท้าทาย ถ้าไม่ใช่เกม หรือคอนเทนต์แนวเอนเตอร์เทนเมนต์ คนไทยจะไม่ค่อย subscribe ใช้บริการ
จักรพงษ์ : ประเภทอย่าง Netflix คนจะจ่าย แต่แอพฯ ที่ให้อ่านหนังสือพิมพ์เดือนละ 10 บาท จะไม่ยอมจ่าย รายการข่าวก็ทำเงินยาก แต่ถ้าเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์จะพุ่งมาก
ศกุนพัฒน์ : ถ้าเป็นในเชิง FinTech ของผมเป็น B2C แต่ต้องมีพาร์ทเนอร์ มี B2B ขานึง เพื่อร่วมให้บริการ B2C อีกขานึง ฝั่ง B2C เห็นด้วยว่าต้องออกแรงเยอะ เราอยากให้คนลงทุน ทำให้คนเข้าใจว่าการลงทุนสำคัญยังไง ก็ยากอย่างนึงแล้ว แล้วต้องให้เขาเชื่อมั่นด้วยว่า แพลตฟอร์มออนไลน์ก็ใช้ได้ดีเลยนะ แค่เปลี่ยนจากการมานั่งคุยข้างๆ กัน มาอ่านหน้าจอแทน ต้องใช้เวลาเพื่อให้คนเข้าใจว่ามันไม่ต่างกัน
เราเริ่มลองที่ออนไลน์ล้วนๆ แต่เราก็เรียนรู้ว่า การขยายมาทางออฟไลน์ด้วยก็มีความจำเป็นมากขึ้น เราก็เลยขยายทีมที่ทำงานออฟไลน์ด้วย
จักรพงษ์ : จากที่ทั้งสองท่านบอกมา ถูกเลย เป็นอย่างนั้นอยู่ แต่อีกส่วนหนึ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนวงการสตาร์ทอัพไทยอยู่ เป็นเรื่องของ corporate innovation ที่มาค่อนข้างแรง ก็คือพวกองค์กรใหญ่ๆ ที่เขาพยายามเอาตัวเข้ามา plug-in กับคนที่เป็นสตาร์ทอัพ ทำงานร่วมกัน
ในบ้านเราระบบของ Tech Startup ขับเคลื่อนด้วยแกนของภาคเอกชน ในขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ควรจะรองรับให้ตรงนี้ดียิ่งขึ้น ซึ่งคงต้องคุยกันอีกเยอะเลย แต่ผมคิดว่าภาคเอกชนทำได้ดีแล้วประมาณนึง
อรนุช : CVC (Corporate Venture Capital – การลงทุนของบริษัทใหญ่) ที่แอคทีฟมากๆ ในภูมิภาคนี้ ก็น่าจะอยู่ที่เมืองไทย มันมาเป็นคลื่น เป็น Telco เป็นแบงค์ ประกันภัย แล้วก็อสังหาริมทรัพย์ สายพลังงาน เป็นต้น ประเทศอื่นก็มี แต่ที่ไทยจะมีความตื่นตัวเยอะหน่อย
CVC หลายรายเน้นลงทุนระดับ Series A ขึ้นไป ลงทุนในธุรกิจสตาร์อัพที่มีโอกาสนำเทคโนโลยีมาเป็น strategic partner นำกลับมาใช้ได้จริงๆ และเราก็เห็นว่าทิศทางเน้นลงทุนในเทคโนโลยีเชิงลึก (DeepTech) ซึ่งบางทีหาที่ไทยไม่ได้ ก็ต้องไปลงทุนในต่างประเทศ หลายดีลแค่ดีลเดียวที่ลงในต่างประเทศ อาจเยอะกว่าหลายๆ ดีลในไทยที่รวมกันเสียอีก และประเทศที่ CVC สนใจลงทุนในเทคโนโลยีเชิงลึก จะอยู่ในประเทศเหล่านี้ อาทิ อิสราเอล จีน และที่สหรัฐฯ เป็นต้น
ถ้ามองในอาเซียน สตาร์ทอัพไทยอยู่ตรงไหน
อรนุช : ตามหลังเยอะมากเลยค่ะ ตอนนี้ที่โดดเด่นคือสิงคโปร์กับอินโดนีเซีย แล้วก็มี Grab ของมาเลเซียที่มาชูหน้าชูตา แต่ตอนนี้คนก็ไปคุยกันที่เวียดนามเยอะ เพราะ talent เยอะ แล้วเป็นเจเนเรชั่นคนที่เพิ่งเรียนจบจากต่างประเทศกลับมาพัฒนาประเทศตัวเอง
ปัญหาของไทยคืออะไร ที่ทำให้เราไม่สามารถขึ้นไปยืนทัดเทียมประเทศอื่นๆ ในอาเซียนได้
อรนุช : บ้านเรามีบางดีลที่เคยเป็นไทย เช่น อาจจะเป็น expat ในไทย แต่พอโตถึงจุดนึงก็จะถูกนักลงทุนขอให้ไป register ที่สิงคโปร์ แล้วก็เปลี่ยนสัญชาติไปเลย เนื่องด้วยความน่าเชื่อถือแล้วก็เสถียรภาพของประเทศด้วย เขามีการสนับสนุนเรื่อง Capital gains tax (การเก็บภาษีจากผลกำไรส่วนต่างจากราคาหลักทรัพย์) แต่บ้านเราเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน
พอสตาร์ทอัพอยู่ในระดับที่โตขึ้น นักลงทุนก็อยากให้ไปอยู่ที่สิงคโปร์เถอะ ในขณะที่ตลาดไทยก็ไม่ได้ใหญ่ขนาดอินโดฯ บางรายติดกับดักทางความคิด คิดว่าตลาดเราใหญ่พอ คิดว่าครองตลาดตัวเองได้แล้วพอ คือถ้าไม่ได้คิดจะเติบโตแบบสตาร์ทอัพที่พร้อม scale (ขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ) ก็อาจจะใช่ แต่ถ้าต้องการ scale และเติบโตแบบวิถีสตาร์ทอัพแบบนั้น พอเอาเข้าจริงๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ต้องระดมทุนเพื่อไปต่อ อย่างระดับ series B ส่วนใหญ่ต้องคิดถึงโอกาสการขยายสู่ต่างประเทศ เพราะยังไงนักลงทุนก็ต้องดูว่ามีศักยภาพถึงจุดนั้นไหม เราไม่ได้มองว่าให้คิดเพ้อฝัน หรือคิดเกินตัว จริงอยู่เราต้องครองตลาดตัวเอง ตลาดบ้านเรา สร้างรากฐานให้แข็งแรงก่อนให้ได้ แต่ก็ต้องมี mindset คิดเผื่อถึงโอกาสการขยายออกไปต่างประเทศด้วย
นอกจากเรื่องของ mindset ของคนที่ทำธุรกิจเอง ถ้าจะให้รัฐบาลเข้ามาช่วยอะไรสักอย่าง ควรจะให้รัฐบาลออกนโยบายอะไรที่จะช่วยส่งเสริม ผลักสตาร์ทอัพให้ไปไกลกว่านี้
ศกุนพัฒน์ : จริงๆ ประเด็นที่เสนอต่อภาครัฐ ปลายปีที่แล้ว ที่มี STARTUP Thailand League ที่สตาร์ทอัพ 600 ราย ยื่นข้อเสนอ 7 ข้อ แล้วภาครัฐรับลูก แต่ว่าจะเอาลูกไปปั้น แล้วเตะกลับรึเปล่า ต้องลุ้นอยู่เหมือนกัน ถ้า 7 ข้อนั้นเกิด ก็ตอบโจทย์ได้มากขึ้นเยอะในระดับมหภาค
หรือถ้าระดับจุลภาค ถ้าพูดถึง FinTech ก็มีความยากลำบากเหมือนกัน ที่จะทำธุรกิจแข่งกับรายใหญ่ และในภาพรวมเขาก็มีความเป็น oligopoly (ตลาดผู้แข่งขันน้อยราย) อยู่ด้วย
อย่างเราเป็นบริษัทหลักทรัพย์ ที่ขนาดยังไม่ใหญ่ ถ้าเราอยากจะ scale up เราอาจจะต้องอัพเกรดเป็น license อย่างอื่น เพื่อที่จะทำอะไรได้มากขึ้น แต่ในเชิงกฎระเบียบก็ต้องการ capital มาก ต้องการกระบวนการทำงานเพิ่มขึ้น ตอนนี้เราแตะเข้าไปจนได้ license ซึ่งอยู่ในวิสัยที่มีกำลังทำได้ ซึ่งหากจะขยับขึ้นไปอีก แม้เราจะมีศักยภาพ แต่ความคุ้มได้คุ้มเสียก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้ครบก่อน จะเห็นว่าเมืองไทยหลายคนทำ FinTech ที่เกี่ยวกับการเงินการลงทุน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ไปขอ license เพราะมีต้นทุนหลายมิติที่เพิ่มขึ้น
สิ่งนี้กำลังสะท้อนอะไร ถือเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำมั้ย เช่น ประเด็นเงินกู้ที่ดอกเบี้ยสูงมาก ซึ่งแง่หนึ่งอาจเป็นการจำกัดคนที่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งส่งผลให้คนที่จะเกิดใหม่ เกิดยากขึ้น
ศกุนพัฒน์ : เราจะเห็นว่า ดอกเบี้ยเงินกู้ในไทยสูง อยู่ที่ประมาณ 7% กว่า ขณะที่ด้านเงินฝาก ที่ส่วนใหญ่เป็นแบบออมทรัพย์ ได้ดอกเบี้ยไม่ถึง 1%
ผมเคยทำรีเสิร์ชย้อนหลังไปหลายปี เทียบกันว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน กับดอกเบี้ย MRR (ลูกค้ารายย่อยชั้นดี – Minimum Retail Rate) ของธนาคารหลายแห่งในประเทศไทย อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ตอนที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้มีแนวโน้มกว้างขึ้น แปลว่าฝั่งดอกเบี้ยเงินฝากคุณลดลงนะ คือคนมีเงินออมได้ผลตอบแทนน้อยลง แต่คนที่ต้องกู้ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยเยอะอยู่
จริงๆ เรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ไม่ค่อยกระทบกับสตาร์ทอัพเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เราก็ระดมทุนเข้ามา แต่ประเด็นของผมคือเรื่อง well being ทางการเงินของคน คุณมีทางเลือกน้อย รายได้ที่หามา ต้องจ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ไปเยอะ ถ้าจะพูดผลกระทบในภาพที่กว้างขึ้น ก็คือคนต้องเอาเงินไปจ่ายดอกเบี้ยเป็นสัดส่วนเยอะๆ ของรายได้ ก็จะเหลือเงินมาลงทุนน้อยลง เป็นต้น
แต่ถ้ายังยืนยันว่าจะคงดอกเบี้ยสูงขนาดนี้ ก็เหมือนทำแท้งสตาร์ทอัพไปโดยปริยาย ส่วนใครที่โตไปแล้ว ก็ยิ่งโต เพราะว่าช่องว่างมันถ่างมาก
ศกุนพัฒน์ : ก็เป็นไปได้ ถ้าองค์กรขนาดใหญ่เค้าจะระดมทุน ก็มีทางเลือกตั้งแต่การทำหุ้นมาขายในตลาด หรือไม่ก็ใช้การออกหุ้นกู้ หรือไม่ก็กู้แบงก์ ซึ่งถ้าเป็นบริษัทใหญ่จริงๆ ดอกเบี้ยจะต่ำมาก เช่น ผมเคยดูการลงทุนของสถาบันการเงิน บริษัทใหญ่ๆ เครดิตดีๆ ที่เราไปลงทุนในหุ้นกู้ จ่ายดอกเบี้ยแค่ 2-3% แต่คนธรรมดาจ่ายบัตรเครดิตเท่าไหร่ 28% ส่วนองค์กรใหญ่กู้ได้ 2% ต่อปี clean loan (สินเชื่อไม่มีหลักประกัน)
สมมติเด็กจบใหม่มา อยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง แต่มีเงินทุนแค่หลักแสน มีช่องทางให้คนได้เข้าไปเติบโตได้มากน้อยแค่ไหน
ศกุนพัฒน์ : ผมเล่าของผมก่อนแล้วกัน เอาชีวิตส่วนตัวเลยนะ ผมก็เริ่มมาจากมนุษย์เงินเดือนนี่แหละ แต่อาจโชคดีที่ได้อยู่ในสถาบันการเงิน แล้วเจ้านายให้โอกาสทำงานเยอะ ก็เลยโตเร็ว เป็นมนุษย์เงินเดือนที่โตเร็ว ได้ทำหลายอย่างในฝั่งการเงินการลงทุน ทำหมดเลย ตั้งแต่การบริหารสภาพคล่อง ดูแลการลงทุนของสถาบันการเงิน ของบริษัทประกัน แต่วันหนึ่งรู้สึกขึ้นมาว่า แล้วจะยังไงต่อ เราจะเป็นมนุษย์เงินเดือนไปอีกกี่ปี เงินเดือนก็เยอะขึ้น แต่ว่าโหมดของชีวิตไม่สนุก สุดท้ายก็เป็นมนุษย์เงินเดือนที่เกษียณแล้วก็มีเงินใช้สบาย แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ให้กับตัวเองและประเทศชาติ
มีบางอย่างที่เราอยากทำ แต่ถ้าเราอยู่ใต้องค์กร เราก็ต้องผ่านขั้นตอนว่าจะเอามั้ย แต่ถ้าเราออกมาทำเอง เราก็กำหนดได้เป็นหลักว่าจะเอาแบบนี้ แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ผมทำงานประจำมาสิบกว่าปี แต่ถ้าน้องจบใหม่จะมาเริ่มแบบนี้เลย ก็อาจเป็นวิธีที่ดีเหมือนกันนะ คือได้ลุยและเรียนรู้ด้วยตัวเองเร็วหน่อย แต่ความเสี่ยงจากประสบการณ์ที่จำกัด และการที่เขาจะไม่ได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากการสวมหมวกเป็นพนักงาน ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีก่อน
อย่างผมที่เริ่มจากการทำงานประจำก่อน พอรู้สึกว่าพร้อมแล้ว อิ่มตัวกับโหมดเดิมแล้ว ต้องไปแล้ว ก็เปลี่ยนโหมดออกมาตั้งบริษัทหลักทรัพย์เอง ก็เป็นทางที่เป็นไปได้ ซึ่งแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน อย่างทางที่ผมเลือก ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ กระโดดมาทำเลย แต่เราเตรียมตัวมาก่อน
ก็คือเราต้องจัดการชีวิตตัวเอง แต่ไม่มีระบบมาโอบอุ้มเรา?
ศกุนพัฒน์ : ส่วนใหญ่ก็จะดิ้นรนเองเป็นหลัก
จักรพงษ์ : ผมมองอีกมุมนึง ถ้าเทียบกับเมื่อสักประมาณ 7-8 ปีก่อน ตอนนี้ดีกว่าเมื่อก่อนเยอะมากแล้ว รัฐบาลออกมาจัดงานเต็มไปหมดเลย มีการมอบเงินทุน มีความตื่นเต้นในตลาด เกิดสื่อสายนี้ขึ้น มี VC (Venture Capital) ทั้งในและต่างประเทศเดินเข้ามาเรื่อยๆ จำนวนสตาร์ทอัพเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผมกลับมองว่า กลับไปที่จุดเดิมที่เราคุยกันอยู่เมื่อสักครู่ ก็คือเรื่องของ mindset ของการสเกล
อรนุช : เราพยายามสังเกตดู pattern ของคนที่อยู่ในตลาด ไม่เชิงว่าสำเร็จ แต่เห็นว่าเขามีโอกาสเติบโตได้จริงๆ เราจัดกลุ่มมาทั้งหมด 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก โดยเฉลี่ยส่วนใหญ่แล้ว อายุจะประมาณ 30-35 ที่ทำแล้วก็มีประสบการณ์ อาจจะเคยทำงานประจำมา มี domain expertise ระดับนึง เข้าใจในเรื่องอุตสาหกรรมนั้นๆ พอเราหลงใหล เราชอบในเรื่องนั้น เข้าใจ pain point ในธุรกิจนั้นๆ เห็นโอกาส ก็ออกมาทำ คนพวกนี้จะเป็นคนที่มีโอกาสโตได้อย่างเต็มที่ เขาเรียกว่าพื้นฐานแข็งแรงแล้ว
กลุ่มที่ 2 ไม่เคยทำงานประจำมาก่อนเลย แล้วอยู่ดีๆ มาทำสตาร์ทอัพก็มี คือที่บ้านอาจมีธุรกิจครอบครัว แล้วตัวเองพยายามจะผันธุรกิจที่มีอยู่เดิมด้วยการหา Business Model ใหม่ๆ มาต่อยอด นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ก็ต้องยอมรับว่าคนกลุ่มนี้พอมีฐานะ มีแต้มต่อทางสังคมอยู่พอสมควร ยังพอรับความเสี่ยงได้ ไม่ใช่ว่าถ้าเขาเจ๊ง จะกลายเป็นหนี้เป็นสิน แล้วสุดท้ายไม่มีอะไรจะทำ คือที่บ้านก็ยังอยู่ได้ ไม่ได้แบกรับภาระเยอะ
ส่วนกลุ่มที่อยู่ดีๆ ดุ่ยๆ เรียนจบใหม่มาเปิดมาตู้มทำเลย ฉันจะเป็นมาร์ก ซักเคอเบิร์ก เอาตรงๆ ไม่ค่อยเห็นนะคะ
เราควรสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่มี Entrepreneurial Mindset ซึ่งไม่ได้หมายถึงการเรียนจบมาแล้วมีธุรกิจตัวเองเลยทันที แต่หมายถึงการฝึกให้มีความรับผิดชอบ ฝึกความอดทน จบมาใหม่ๆ ควรออกไปเรียนรู้ ไปฝึกงานกับบริษัทอื่นๆ เพิ่มพูนประสบการณ์ พัฒนา softskill แล้วค่อยออกมาทำเองในอนาคตก็ยังไม่สาย
จักรพงษ์ : ก็อย่างที่เรารู้กันว่า อัตราส่วนของความล้มเหลวมันสูง เพราะฉะนั้นก็ต้องมี backup plan เพียงแต่ว่าทำกันเยอะๆ เหอะ เพราะตอนนี้ที่เห็นจำนวนมันน้อย
เมื่อปีที่แล้ว ผมไปดูงานที่เสิ่นเจิ้น เข้าไปที่ co-working space ที่นึง เทียบกับเวลาเราเดินเข้า Hubba ที่จะเห็นจำนวนสตาร์ทอัพไทยอยู่สักประมาณ 10 กว่าแห่ง แต่ที่เสิ่นเจิ้นผมเจอประมาณ 140 แห่ง เอาเข้าจริงๆ ประชากรเรา 60-70 ล้าน ถึงแม้เราจะบอกว่ามีคนใช้เฟซบุ๊กกว่า 58 ล้านคน แต่แล้วไง อะไรบ้างที่เราสามารถจะสเกลได้ในประเทศ นอกประเทศ ก็ต้องคุยกันอีกเยอะ
พอพูดอย่างนี้ จะไม่มีโมเดลแบบว่าเป็นเถ้าแก่ที่มาถางรกถางพง กลายเป็นนักธุรกิจระดับเจ้าสัวขึ้นมา ในยุคสมัยนี้เป็นไปได้มั้ยที่คนตัวเล็กๆ จะทำธุรกิจแล้วใหญ่ขึ้นมาได้
จักรพงษ์ : เจฟฟ์ เบซอส ทำได้ เราก็น่าจะทำได้มั้ย ไม่รู้สิ ไม่รู้จะไกลไปรึเปล่า แต่อันนั้นมองในแง่ของต่างประเทศนะ สเกลใหญ่มาก ของเราไม่รู้ อาจเป็นไปได้ก็ได้
ศกุนพัฒน์ : ผมมองอีกมุมว่า ประเทศไทยอาจเหมาะที่จะเป็นตลาดที่ถูกสเกลมา มากกว่าจะเป็นตลาดที่เริ่มต้นแล้ว scale out ถ้านับสตาร์ทอัพที่โตจากไทย ด้วยบริบทแบบไทย แล้วโตพอที่จะสเกลไปต่างประเทศได้ ถือว่ามีน้อยมาก
อรนุช : ก็อาจเป็นไปได้ แต่ยังอยู่ในธุรกิจรูปแบบอื่นๆ แต่กับสตาร์ทอัพก็ยังเห็นไม่ชัดในเวลานี้
คิดว่าภาครัฐควรเข้ามามีส่วนร่วมอะไร ในการผลักให้วงการสตาร์ทอัพพัฒนาขึ้นไปได้ เห็นศักยภาพอะไรของรัฐบ้างมั้ย
จักรพงษ์ : การวางกฎกติกานั่นแหละ เอาให้ผ่านก่อน
อรนุช : ใช่ เราว่าอันนี้สำคัญ การตลาด การโปรโมต จริงอยู่มันต้องมี แต่เป็นเรื่องทีหลัง คีย์สำคัญคือต้องแก้เรื่องพื้นฐานให้ได้ก่อน
จักรพงษ์ : บทบาทของเขาคือแก้กฎหมาย
อรนุช : ใช่ เพราะว่าเขาเป็นคนเดียวที่ทำได้ คนอื่นทำไม่ได้
จากที่ดูหาเสียงกันมา มีนโยบายไหนของพรรคไหนที่พอจะเข้าเค้ามั้ย
ศกุนพัฒน์ : เขาก็พูดถึงเกือบทุกพรรคนะ แต่แบบที่เห็นเลยว่า ถ้าคนนี้ได้รับเลือกจะเกิดสิ่งนี้ ยังไม่เห็นชัดเจน จะเป็นคำทางการตลาดมากกว่า buzzword ต่างๆ มีครบ แต่เรายังไม่เห็นว่า ถ้าเราเลือกพรรคนี้แล้ว ชีวิตเราจะดีขึ้น ไม่มี action plan แต่มีของบางพรรคอาจจะชัดเจนหน่อย บอกเป็นข้อๆ ได้ว่าจะมีอะไรบ้าง
พรรคที่ว่านั้นบอกอะไรบ้าง
ศกุนพัฒน์ : เขาบอกว่าจะโปรโมตสตาร์ทอัพ แล้วก็มีเรื่อง Open Data ภาครัฐ ซึ่งเราเป็น FinTech เราก็อยากได้เรื่อง e-KYC (Electronic-Know Your Customer) การยืนยันตัวตนทางออนไลน์ เปิดบัญชีทางออนไลน์ วันนี้ผมเป็น FinTech แต่เปิดบัญชีทุกวันนี้ยังเป็นกระดาษอยู่ อาจจะมีเพื่อนๆ ในวงการบางคนที่เริ่มทำแบบไม่ใช้กระดาษ แต่ก็จะมีการถกเถียงกันว่าทำแบบนี้ได้รึเปล่า แต่ถ้ามีกฎหมายประกาศออกมาชัดเจนเป็นมาตรฐานสาธารณะ ว่าถ้าคุณจะเปิดบัญชีออนไลน์ ทำแบบนี้คือได้เลย ไม่ติดเกณฑ์ อันนี้ก็จะง่าย แต่กฎหมายยังไม่ออก กฎหมาย National Digital ID ก็ยังอยู่ในท่อ เราอยากให้ออกมาก ก็หวังให้รัฐบาลผลักดันต่อไปจนจบ
ถ้าจะขยายต่อ เรื่อง National Digital ID กฎหมายก็ส่วนหนึ่ง แต่ต้องมีสิ่งที่ไปแตะกับผู้เล่นรายใหญ่ เช่น ธนาคาร ซึ่งมีเครือข่ายสาขาเยอะ ถ้ากลุ่มนี้สามารถเป็นกลไกสำคัญในการให้บริการบางส่วน ก็จะช่วยสนับสนุนเรื่องนี้ในภาพรวมได้เป็นอย่างดี
จักรพงษ์ : ผมเป็นคนที่ตามดูดีเบตของทุกๆ ช่อง ดูทุกอันที่มี เพราะอยากแน่ใจว่าสิทธิ์ของเราที่มีครั้งนี้เลือกไปถูกต้อง จะได้ไม่ต้องมาเสียใจทีหลัง เห็นด้วยกับทางคุณศกุนพัฒน์ว่ามันไม่ชัดเจน ตอนนี้คำว่า สตาร์ทอัพ กลายเป็น buzzword ที่ทุกพรรคจะต้องพูดว่าฉันจะทำ เพราะยังไงก็ได้ฐานเสียงคนรุ่นใหม่แน่นอน แต่ว่าเข้าใจไม่เข้าใจอีกเรื่องนึงนะ
แต่มองในแง่ดี ผมว่าอย่างน้อยทุกๆ พรรคก็มีความรู้สึกบวก แล้วให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่สิ่งที่เห็นอย่างหนึ่งก็คือ ผมว่าน่าจะมองที่ตัวคนของพรรคนั้นๆ ว่ามีใครที่มีความสนใจเอนมาทางนี้บ้าง ผมไปเจอในงานฟอรัมทางด้านดิจิทัล มีพรรคของคนรุ่นใหม่ส่งคนไปเข้าร่วม แล้วเขาพูดเรื่อง Data ได้ลุ่มลึกกว่าที่ผมคิด
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การแสดงความสนใจเมื่ออยู่ในห้องนั้น แล้วจะผลักดันสำเร็จนะ เพราะเอาเข้าจริงๆ อย่างที่คุณศกุนพัฒน์บอก ผมว่าในบ้านเราและทั่วโลกเลย อยู่ในช่วงการเซ็ตกติกาโลกกันใหม่ คงฝุ่นตลบกันอีกนาน กว่าทุกอย่างจะลงตัว แต่รัฐบาล เอาเรื่องกฎระเบียบให้ชัด ถ้าหากว่าชัด คนจะเดินหน้าได้
ศกุนพัฒน์ : จะบอกว่าภาครัฐไม่ทำอะไรทั้งหมดก็ไม่ถูก จริงๆ กลต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ช่วงที่ผ่านมาเขามีเปิดรับฟังหลายๆ เรื่องในการสนับสนุนรูปแบบการลงทุนที่มี Automation มากขึ้น รวมถึงการผ่อนปรนเกณฑ์ และเพิ่มมาตรฐานให้คนเดินตามได้ชัดเจนขึ้น กลต. ถือว่าโอเคที่เปิดด้านนี้ขึ้นมาให้สตาร์ทอัพหายใจได้คล่องขึ้น เช่น อาจมีเกณฑ์รองรับว่า systematic trading เมื่อก่อน ไม่ชัดว่าทำแบบนี้ถูกหรือผิด เขาก็กำลังเปิดพื้นที่ว่า ถ้าจะถูก เขาจะให้เป็นแบบนี้นะ ถ้าผู้เล่นคิดว่าจะปรับเปลี่ยน หรือทำอยากให้ดีขึ้น เขาเปิดให้
แต่ว่ากฎหมายบางอย่าง กลต. เป็นผู้เสนอ แต่ไม่ได้เป็นผู้เคาะ ผู้เคาะคือกระทรวงการคลัง บางอย่างก็ผ่านออกมา บางอย่างก็อาจจะพิจารณาอยู่ว่าจะเป็นยังไง ก็รออยู่เหมือนกัน
จักรพงษ์ : น่าสนใจมากนะ มีทั้งผู้เสนอและผู้เคาะ
ศกุนพัฒน์ : ถ้าจะแก้กฎหมาย ก็ต้องเสนอเข้า ครม. ไปจนถึงสภานิติบัญญัติ แต่ถ้าเป็นประกาศของ กลต. บางอัน กลต. ก็ประกาศเองได้ มีผสมกัน บางเรื่องจบที่ กลต. ก็ได้ เช่น มาตรฐานการทำงาน แต่เรื่องว่าต้องมี license ประเภทใหม่ ต้องกำหนดระดับทุนจดทะเบียน จะไปเคาะที่ระดับสูงขึ้นไป ถ้าเคาะออกมาในเชิงผ่อนปรน ก็จะเริ่มธุรกิจหรือขยายได้ง่ายขึ้น แล้วคนใหม่ก็เกิดง่าย เช่น ธุรกิจหลักทรัพย์บางรูปแบบ วันนี้ยังกำหนดทุนระดับร้อยล้านอยู่ แต่เทคโนโลยีปัจจุบัน การจะทำให้ได้บริการที่เหมือนกัน อาจจะไม่ต้องใช้ทุนถึงหลักร้อยล้านแล้ว
อรนุช : เราเห็นด้วยกับคุณจักรพงษ์ตรงที่เขาจะพยายามเอาคนใน community startup เข้าไปอยู่ในหน่วยงาน นอกจากสีส้ม ก็เห็นค่ายสีฟ้า ทุกคนจะมีการเอา startup entrepreneur หรือคนที่อยู่ใน community เข้าไปเป็นหนึ่งในทีมงาน ส่วนหนึ่งก็คืออาจคุยง่ายขึ้น เขาจะเอาคนที่เป็น young blood เข้าไป
ช่วงที่ผ่านมาในรัฐบาล คสช. มีการเคาะกฎหมายที่น่าสนใจออกมาแล้วเป็นประโยชน์แก่ผู้เล่นรายเล็กบ้างมั้ย หรือมีอะไรที่มาขัดขวางกันอยู่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ศกุนพัฒน์ : ถ้าพูดถึง คสช. ผมไม่รู้สึกว่าเขาค้านหรือสนับสนุน อาจจะไม่ได้อยู่ในเรดาร์ที่เขาสนใจตอนนี้
จักรพงษ์ : เขาให้เงินจัดงานสนับสนุนอยู่บ้าง
ศกุนพัฒน์ : เราเองก็ได้เงินสนับสนุนจาก สวทช. แต่เป็นทุนที่มีมาก่อนที่จะมีคณะนี้แล้ว
จักรพงษ์ : เอาน่ะ อย่างน้อยก็ซัพพอร์ต
ศกุนพัฒน์ : ต้องขอบคุณด้วยเหมือนกัน จริงๆ ต้องบอกว่ามีหลายทุน จากหลายหน่วยงานภาครัฐที่ให้สตาร์ทอัพ แต่วันที่ผมไปคุยกับ สวทช. จบ แล้วจะหาข้อมูลทุนด้านอื่นๆ ต่อ ยังต้องอีกเดินหลายตึกมาก กว่าจะพอรู้ว่ามีทุนอะไรบ้าง
อรนุช : ไม่ใช่รัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหน ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร แต่ละกระทรวงไม่คุยกัน ทำงานแบบ silo มานาน เป็นทุกรัฐบาล เป็นมาอย่างยาวนาน
ศกุนพัฒน์ : ถ้าเรา to be fair กับนักการเมืองนะ ถ้าเรียง agenda ผมว่าเรื่องสตาร์ทอัพไม่ใช่เรื่อง top 3 หรือ top 5 แน่นอน คำว่าปากท้องชัดเจนกว่า ปัญหาของประเทศไทยในภาพรวม ไม่ใช่เรื่องว่าสตาร์ทอัพจะโตมั้ย ปัญหาคือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้คนลืมตาอ้าปากได้ ถ้าผมเป็นนักการเมืองนะ ผมพูดเรื่องพวกนี้ก่อน เพราะเกี่ยวกับคนเยอะ ผมคงไม่พูดสตาร์ทอัพอันแรกหรอก เพราะเวลามีจำกัด จะเลือกตั้งอยู่แล้ว
ฐานสตาร์ทอัพ กับฐานเศรษฐกิจระดับล่าง อยู่คนละสเกล?
ศกุนพัฒน์ : จริงครับ ผมเคยคุยกับรุ่นพี่ที่เป็นผู้บริหารบริษัทในตลาด ว่ามีมุมมองกับสตาร์ทอัพยังไง แกว่า ออกไปแค่สมุทรปราการ คำว่าสตาร์ทอัพไม่มีใครพูดแล้ว มันอยู่แค่ในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ไม่กี่แห่ง พอพี่เขาบอกแบบนั้น เออ ก็จริง มันกระจุกตัวอยู่ในเมือง ก็เหมือนโตในบับเบิ้ลของเรา อยู่ในครอบแก้วของเรา เราระดมทุนได้ มีความเท่ แต่ความจริงในระดับประเทศ โดยเฉพาะในชนบท สตาร์ทอัพคืออะไร เขาไม่เข้าใจ
พูดถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีหน่อย ถ้า คสช. ได้เป็นรัฐบาลต่อหลังเลือกตั้ง รู้สึกว่ากระทบหรือไม่กระทบยังไง จะไปต่อได้ยังไง ทั้งวงการสตาร์ทอัพ เห็นข้อจำกัดอะไรบ้าง เห็นความเป็นไปได้อะไรบ้าง
ศกุนพัฒน์ : ผมเพิ่งไปนั่งไล่อ่านยุทธศาสตร์ชาติ 74 หน้ามา ส่วนที่ดีมีนะ มีแตะประเด็นที่สำคัญ เขาจะแบ่งเป็น 6 ยุทธศาสตร์หลัก ยุทธศาสตร์เรื่องความสามารถในการแข่งขัน เขา cover อุตสาหกรรมที่น่าสนใจ มีเรื่องชีวภาพ ดิจิทัล ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ ขนส่งและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ ก็โอเค แต่อยากเห็นเห็น action plan ด้วย จะมีอะไรเป็นขั้นตอนออกมาบ้าง หรือจะมีเกณฑ์อะไรมาสนับสนุนตามยุทธศาสตร์นี้ เรายังอยากเห็นเพิ่ม แล้วก็อยากเห็นวิธีการรีวิวตัวยุทธศาสตร์เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก เช่น 5 ปี เพื่อให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนไปเร็วมาก
จักรพงษ์ : โลกมันอาจหมุนเร็วเกินกว่าที่จะมียุทธศาสตร์ 20 ปี แต่มีไว้ก็ดีกว่าไม่มี เป็นเหมือนแกนให้เกาะเดินไปแล้วกัน แล้วเราก็รู้สึกว่าจริงๆ สิ่งที่อยู่ข้างในนี้เข้าใจได้หลายอย่าง เพียงแต่ถ้าเทียบกันว่านี่คือ OKR อาจจะมีแค่ O (Objective) ไม่มี KR (Key Result) ให้จับต่อ
อรนุช : เราไม่ค่อยเห็นการ mention ถึงเรื่องระบบการศึกษาว่าทำยังไง เพื่อให้ได้ผลที่อยากได้ เพราะเวลา 20 ปี มันต้องคำนึงคนที่กำลังจะเข้ามาใหม่ คนที่จะเป็น work force ในอนาคต สะท้อนมาถึงระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ตอนนี้ โครงสร้างยังไม่เปลี่ยนไปจริงๆ จังๆ แล้วผลจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร
ศกุนพัฒน์ : ผมจะเสริมอย่างนึง ที่คุณอรนุชพูดมา มันอยู่ในยุทธศาสตร์ข้อ 3 คือการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์
จักรพงษ์ : อันนี้ลองพูดเป็น action plan สิ สมมติง่ายๆ นะ ส่งเสริม นั่นหมายความว่า เด็กมัธยมต้อง coding เป็นใช่มั้ย คุณก็บอกไปเลย เด็กต้อง coding เป็น เหมือนสิงคโปร์เขาไปแล้ว อันนี้มีกรอบ แต่ไม่มี action
สมมติเลือกตั้งเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนได้จัดตั้ง แต่ถ้าต้องทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มองว่าทิศทางจะเป็นยังไงบ้าง
จักรพงษ์ : เราเห็นด้วยกับคุณศกุนพัฒน์ คือต้องมีการรีวิวบ่อยๆ เพราะถึงเวลาล้าสมัยแน่นอน 5 ปีผ่านไปเกี่ยวเนื่องกันมั้ย หรือไม่เกี่ยวแล้ว
อรนุช : การมีแผนภาพใหญ่ตั้งเอาไว้ก็ดี แต่ช่วงระหว่างทาง ถ้าจุดไหนไม่เวิร์ก เราก็ต้องรู้จักปรับแผนกระบวนการทำงานให้ได้เช่นกัน อย่างโลกธุรกิจ ตอนนี้เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ตั้งแผนการทำงานระยะยาวไว้ เอาเข้าจริงๆ เดี๋ยวก็เปลี่ยนอีก ดังนั้นการรีวิวทุกๆ 6 เดือน 3 เดือน 1 เดือน เป็นเรื่องสำคัญ กระบวนการการปรับตัวก็ต้องรวดเร็ว เราก็คาดหวังว่าภาครัฐฯ จะคำนึงถึงส่วนนี้
ศกุนพัฒน์ : แม้แต่องค์กรก็ตาม ถ้าไม่ใช่องค์กรที่ท็อปจริงๆ การตั้ง plan ก็อาจเป็นการตั้งว่าถึงเวลาที่ต้องทำ ถ้าพูดถึงเจ้าภาพที่ดูแล จุดสำคัญก็อาจฝากไว้ที่กระทรวงและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องว่ามีแนวคิดยังไง ในภาพรวมเราเข้าใจว่าเรื่องปากท้องประชาชนยังไงก็มีความสำคัญอันดับต้นๆ แต่ในด้านอื่นๆ ก็จะมีหน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจนอยู่แล้ว
มีประเด็นเรื่องเรื่องการกระจายอำนาจ ถ้าเกิดการกระจายอำนาจลงไปมากขึ้น เช่น ถ้าจะมีกฎหมายสักตัว อาจไม่ต้องรอให้กระทรวงการคลังเคาะ จะเสริมให้ธุรกิจดิจิทัล หรือสตาร์ทอัพเติบโตขึ้นมั้ย
ศกุนพัฒน์ : ในเชิงกระบวนการออกกฎหมาย อาจจะยากเหมือนกัน เพราะบางทีอาจจะมีหลักการของประเทศอยู่แล้ว ว่าถ้าเป็น พ.ร.บ. จะออกอย่างไร หรือเป็นกฎกระทรวง ขั้นตอนเป็นยังไง คือมีหลายเลเวล ถ้าจะกระจายก็ต้องขึ้นไปถามกระบวนการออกกฎหมายในภาพรวมว่าจะตั้งโหมดในการออกกฎหมาย กฎเกณฑ์ภาครัฐว่ายังไง คือทุกอย่างต้องรวมข้างบนหมด หรือถ้าจะให้องค์กรที่เกี่ยวข้องมีสิทธิ์ตัดสินใจได้ ก็ต้องให้ถึงข้างบนก่อนแล้วค่อยส่งลงมา
ก่อนหน้านี้ คสช. ชูประเด็น Thailand 4.0 อย่างมาก ว่าเรากำลังจะไปทิศทางนั้น อยากทราบว่าในแง่คนทำงานในวงการธุรกิจดิจิทัล Thailand 4.0 ได้ผลักดันอะไรในวงการบ้างมั้ย
จักรพงษ์ : 1.0 คืออะไร 2.0 คืออะไร 3.0 คืออะไร 4.0 คืออะไร คุยกันให้เข้าใจก่อน ถ้าบอกว่า 1.0 คือเกษตร 2.0 คืออุตสาหกรรม 3.0 คือ ข้อมูลข่าวสาร แล้ว 4.0 คืออะไร 3 หรือ 4 ชัดมั้ย หรือก็เหมือนๆ กัน หรือจะบอกว่าคือเศรษฐกิจเชิงความคิดสร้างสรรค์ที่ออกมาก่อนหน้านี้ก็เหมือนกัน เพียงแต่วาทกรรมแตกต่าง แต่อย่างน้อยก็เป็นวาทกรรมที่รุดหน้า
พอถึงเวลาจริงๆ Thailand 4.0 ก็ไม่ได้ช่วยผลักดันให้วงการสตาร์ทอัพ หรือธุรกิจดิจิทัลไปได้ หรือดีไปมากกว่าเดิมที่เป็นอยู่ ?
อรนุช : จริงๆ ทำให้คนตื่นตัวมากขึ้น เหมือนมีกรอบคุยกันว่าต้องสร้างธุรกิจที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ นะ แต่เวลาอยู่ในวงการสตาร์ทอัพ เราไม่ได้ใช้คำว่า Thailand 4.0 เราจะคุยก็ต่อเมื่อขึ้นเวที มีเรื่องที่เป็น agenda หรือ topic ที่เกี่ยวข้องกับภาพใหญ่หรือภาครัฐ แต่ปรกติไม่มีใครมานั่งคุยว่าเรื่องเป็นอย่างนี้ เหมือนเป็นคำคำนึง จริงๆ ก็ดีที่ช่วยกระตุ้นให้คนตื่นตัว ว่าต้องมีนวัตกรรมให้คนอื่นๆ ที่อาจไม่ได้อยู่ในกลุ่มสตาร์ทอัพด้วย อาจจะสื่อกับคนหมู่มากให้มากขึ้น
จักรพงษ์ : แต่เอาจริงๆ ก็ไม่มีผลเสียนะครับ ก็ทำให้เรารู้ว่าเราติดกับดักรายได้ปานกลางมานานมากแล้ว แล้วเราควรมีนวัตกรรมในทุกส่วนของเรา ไม่ว่าคุณจะเป็นสตาร์ทอัพหรือไม่ คุณเป็นองค์กรประเภทไหนก็ควรจะมีนวัตกรรม
หลังเลือกตั้งแล้ว เห็นว่าอะไรที่ควรจะปรับ จะปลดล็อค เพื่อไม่ให้แค่วงการสตาร์ทอัพไปด้วยกันได้ แต่คือระดับทั้งฐานรากของสังคม
ศกุนพัฒน์ : ผมเห็นว่าต้องมีกระบวนการปลูกฝังจิตวิญญาณการเป็นผู้ประกอบการให้คนไทย วันนี้ผมอาจผิดก็ได้นะ แต่ mindset คนไทยเรียนจบมา ก็จะมีภาพการเป็นพนักงานบริษัท แล้วคุณก็เกษียณ ถ้าคุณโชคดีมีเงินเก็บมากพอ ก็ไม่ต้องลำบาก แต่ถ้าเงินคุณไม่พอ คุณก็ต้องพึ่งภาครัฐ เป็นคลิเช่พาร์ทของชีวิต
ต่อให้คุณจะไม่เอาถึงขนาดตั้งบริษัทเอง แต่อย่างน้อยคุณมี mindset ว่าจะต้องทำให้ดีขึ้น มีความเป็น craftmanship ในสิ่งที่ทำ ถ้าปลูกฝังอันนี้ จะไม่ใช่แค่เรื่องสตาร์ทอัพ แต่จะทำให้เศรษฐกิจเราเปลี่ยนรูปไปเลย เมื่อทุกคนมีแนวคิดอัตโนมัติว่าฉันต้องเก่งขึ้น ฉันต้องทำสิ่งที่ดีขึ้น แต่ถามว่าทำไง ก็ยากนะ แต่ผมว่าถ้าเป็นหลักสูตรอะไรบางอย่างที่ต่อเนื่องในการศึกษาภาคบังคับ ผมก็ฝันอยากให้มี อาจไม่ได้ใช้ชื่อว่าสตาร์ทอัพ แต่เป็นวิชาผู้ประกอบการ 101 ถ้าภาครัฐเห็นว่าเรื่องจิตวิญญาณผู้ประกอบการเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับคนรุ่นใหม่ ผมว่าจะช่วยได้ตั้งแต่ฐานราก
จักรพงษ์ : ผมว่าหลังเลือกตั้งเป็นเรื่องการเมือง เพราะฉะนั้นการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน การเมืองถ้าแบ่งคร่าวๆ มากๆ มีเรื่องการแก้ปัญหาเชิงประเด็น กับเชิงระบบ ระบบใหญ่มาก เป็นสิ่งที่ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ ทำรัฐบาลนี้อาจจะเกิดอีก 2-3 รัฐบาลข้างหน้า นี่คือเชิงระบบที่จะต้องแก้กันไป เพราะฉะนั้นแผนยุทธศาสตร์ชาติก็สำคัญ ดังนั้นมี O แล้วขอให้มี KR
แต่ในเชิงประเด็น เช่น ตอนนี้ยกกันขึ้นมาว่า เราต้องจัดการเรื่องปากท้องก่อน เราต้องจัดการเรื่องกัญชาก่อนมั้ย หรือจะจัดการอะไรก่อน ต้องจัดลำดับความสำคัญ เพราะประเด็นมีเยอะมาก แต่ผมว่าการจัดการในเชิงระบบกับเชิงประเด็น น่าจะชัด
การเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ที่จะร่วมกันกำหนด priority นี้ด้วย แต่เอาจริงๆ พอดูแต่ละพรรค เขาก็จะพูดกันคลุมๆ ว่าการทหาร การศึกษาจะเป็นยังไง ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ถามว่า มีที่ฉีกมากมั้ย ก็ไม่ถึงกับฉีกขนาดนั้น ตอนนี้กลายเป็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็น agenda อื่นมากกว่า ไม่เชิงเป็นสิ่งที่รัฐบาลจัดทำร้อยเปอร์เซ็นต์
ศกุนพัฒน์ : ผมเสริมว่า รอบนี้ไม่ใช่การเลือกตั้งปรกติที่จะมีขึ้นเพื่อกำหนดทิศทางพัฒนาประเทศล้วนๆ แต่เป็นการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มแนวทางหลักๆ
อรนุช : เรื่องที่จะพูดนี้ยังไม่รู้ว่าจะปรับยังไงเหมือนกันนะคะ เราก็ไม่มี solution ให้เหมือนกัน แต่เห็นว่ามันเริ่มฝังลึกลงไปในสังคมไทยมากขึ้นทุกๆ วัน และคิดว่าสังคมควรช่วยกันเพื่อแก้ปัญหานี้
นอกจากความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เป็นปัญหาใหญ่แล้ว คนชนชั้นกลางทุกวันนี้ แตกความสามัคคีมากจนเกินไป ถูกแยกแบ่งฝักฝ่ายกันมานานมาก แล้วอีกหนึ่งปัญหาที่สังเกตเห็นก็คือ ทุกครั้งที่มีปัญหาเกิดขึ้นมาบนโซเชียลฯ ทุกคนก็รุม คือไม่มีใครที่จะช่วยกันเพื่อที่จะทำให้ดีขึ้น แต่กลับชอบไปตีประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ เราไม่รู้ว่าต่างประเทศเป็นยังไง แต่สังคมไทย พอเห็นฝั่งนึงแล้วสะกิดใจไม่โอเคปุ๊บ ก็เข้าไปปู้ยี้ปู้ยำ ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้รู้จักเขามาก่อน เหมือนไปตัดสินเขาโดยอัตโนมัติจากเสียงที่เห็น
มีประโยคที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาล คสช. เป็นรัฐบาลเผด็จการ แล้วในอนาคตเราจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งหมายความเป็นประชาธิปไตย การที่ประเทศเราอยู่ในภาวะเผด็จการ ส่งผลอะไรต่อการทำงานกับต่างประเทศไหม แค่ไหนอย่างไร
ศกุนพัฒน์ : อาจไม่เกี่ยวโดยตรงกับสตาร์ทอัพนะ แต่ในเชิงการลงทุนในตลาดหุ้น ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติเป็นฝั่งขายสุทธิมาตลอด รวมกันมากกว่าแสนล้านบาท ผมไม่มีเปเปอร์ซัพพอร์ตนะ แต่เชื่อว่าอาจมีองค์กรการลงทุนบางส่วนที่ตั้งเกณฑ์ไว้ว่าจะจำกัดหรือจะไม่ลงทุนในประเทศที่ยังไม่ใช่ประชาธิปไตยสมบูรณ์
เราก็ไม่รู้ว่าคนที่กำหนดนโยบายลงทุนของเขาจะมองยังไง แต่ในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้น คือมี net sale จากต่างชาติตลอด ตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้ แต่อาจจะมีปัจจัยต่างประเทศมาดึงไปด้วย เช่น ถ้าอเมริกาดีขึ้น ถ้าญี่ปุ่นดีขึ้น เงินก็ไหลไป โดยที่เราไม่ได้แย่อะไร
แต่ในช่วงกำลังเปลี่ยนผ่านแบบนี้ ก็อาจจะยังมีความไม่มั่นใจจากนักลงทุนต่างชาติว่าหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร แต่ถ้าเลือกตั้งไปแล้ว มีความชัดเจนขึ้น ก็หวังว่ามุมมองของต่างประเทศที่มีต่อไทยก็น่าจะสดใสขึ้นเรื่อยๆ
อรนุช : เราขอพูดแค่นักลงทุนที่ลงทุนในสตาร์ทอัพแล้วกัน จริงๆ ที่เขาไม่ลงทุนอันนี้ตั้งแต่แรก ไม่ได้เกี่ยวกับเป็นรัฐบาลชุดไหน เป็นเรื่องไม่มีสตาร์ทอัพที่ตรงตามที่เขาต้องการอยากลงทุนมากกว่า
ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนก็ตาม ถ้ากรณีของสตาร์ทอัพ เป็นเรื่องของกฎระเบียบหลายอันถ้ายังไม่ได้ถูกปรับแก้ หรือสตาร์ทอัพยังไปไม่ถึงจุดที่เขารู้สึกว่าน่าลงทุนหรือมีคุณภาพพอ เขาก็ยังไม่ลงทุนอยู่ดี แต่แน่นอนช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือช่วงที่ยังเห็นอะไรที่ไม่ชัดเจน ก็คงต้องมีขรุขระบ้าง เป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจ
จักรพงษ์ : ผมว่ามีผลโดยตรงอยู่แล้ว เพราะถ้ามองมาจากข้างนอก ก็กลายเป็นรัฐบาลทหาร ความเป็นรัฐบาลทหาร และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีศักดิ์และสิทธิ์ต่างกันโดยสิ้นเชิง การเลือกตั้งครั้งนี้ก็เลยเป็นการชี้ชะตาประเทศมากๆ แต่อาจมีคนเห็นด้วยกับรัฐบาลปัจจุบัน เพราะมีคนมองหลากหลายแง่มุม แต่ละคนก็มีสิทธิ์มีเสียงที่จะเลือก ครั้งนี้ก็ขอให้ใช้สิทธิ์อย่างระมัดระวัง