fbpx
“ใครๆ ก็เป็น ส.ส. เหมือนผมได้” : คราฟต์การเมืองกับ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร

“ใครๆ ก็เป็น ส.ส. เหมือนผมได้” : คราฟต์การเมืองกับ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

ถ้าจำกันได้ เมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว มีข่าวฮือฮาขึ้นมาช่วงหนึ่งที่ว่า หนุ่มนิติฯ ธรรมศาสตร์ โดนจับข้อหาหมักเบียร์ขายโดยไม่มีใบอนุญาต จากประเด็นเล็กๆ ขยายวงกว้างออกไปเมื่อคนถกเถียงกันว่าการทำคราฟต์เบียร์ผิดตรงไหน และข้อกฎหมายเป็นกำแพงกั้นโอกาสของคนตัวเล็กหรือไม่ แรงกระเพื่อมเล็กๆ นี้ ทำให้ชื่อของ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ปรากฏขึ้นมาในบรรณพิภพคนรักเบียร์

ผ่านไปปีกว่า เท่าพิภพ สร้างแรงสะเทือนอีกครั้ง ด้วยการปรากฏตัวเป็นผู้ลงสมัคร ส.ส. กรุงเทพฯ เขต 22 ของพรรคอนาคตใหม่ ภาพเขาสวมเสื้อสีส้ม ปั่นจักรยาน เลาะไปตามตรอกซอกซอยในเขตบางกอกใหญ่ เขตคลองสานและเขตธนบุรี ก็ชิงพื้นที่สื่อได้อย่างน่าจับตามอง

จริงอยู่ การปรากฏตัวของเขาน่าตื่นเต้น แต่ ณ ตอนนั้นคนก็ยังคิดว่าเท่าพิภพเป็นแค่ ‘สีสัน’ ของการเลือกตั้งครั้งนี้ จนกระทั่งผลเลือกตั้งออกมา ชื่อของ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ ก็ขึ้นไปอยู่บนสุดของตารางคะแนน เขาได้คะแนน 34,368 เสียง จากผู้มาใช้สิทธิ์ในเขต 104,543 คน โค่นผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็น ‘เจ้าถิ่น’ เดิมในเขตนี้

จากเด็กเฝ้าร้านเกม นิติกร ไกด์นำเที่ยว คนขายเบียร์ และอื่นๆ อีกมากมายที่เท่าพิภพเคยทำมา วันนี้เขาเป็น ส.ส. เต็มตัว หอบอุดมการณ์และความเชื่อลงมาทำงานการเมือง เรานัดคุยกับเขาที่ร้านกาแฟด้านล่างพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน พื้นที่แรกๆ ที่เขาเริ่มหาเสียง

เราคุยกันถึงบทบาททางการเมืองของเขา ความฝันตรงกับความจริงหรือไม่ เขาสู้อย่างไรในสนามการเมืองไทยที่เคี่ยวยิ่งกว่าเคี่ยว ท่ามกลางคำปรามาส และข้อขัดแย้งทางการเมือง เขารับมืออย่างไรในฐานะคนหนุ่ม และ ส.ส. หน้าใหม่

“ใครๆ ก็เป็น ส.ส. เหมือนผมได้” คือประโยคติดปากของเท่าพิภพ บทสนทนาด้านล่างว่าด้วยการเมืองของคนธรรมดาอย่างที่เขามักยืนยัน

คราฟต์การเมืองกับ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร

 

เป็น ส.ส. ใหม่ชีวิตเปลี่ยนไหม

เปลี่ยนนะ เป็นอาชีพใหม่ บทบาทหนึ่ง แต่เราก็เป็นเท่าพิภพเหมือนเดิม ก็มีบทบาทหรืองานที่แปลกๆ เข้ามา มีน้อยคนนะที่เคยทำอะไรอย่างนี้ เป็นอาชีพที่ไปถามใครไม่ได้ แต่ก่อนเราเป็นทนาย เป็นไกด์ ก็ไปถามรุ่นพี่ที่เคยทำ ก็มีคนสอน แต่ด้วยความที่เราเป็นพรรคใหม่ด้วย เพิ่งทำการเมืองแบบจริงจังแค่ปีกว่า ก็เลยต้องศึกษาเยอะ เราก็พยายามตั้งแต่หาเสียง ลงพื้นที่ เป็นการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง

สุดท้ายก็ต้องตีโจทย์ว่า ผู้แทนราษฎรคืออะไร การที่เราไม่มีประสบการณ์ก็เป็นข้อดีนะ เพราะเราดีไซน์ได้ว่าควรจะเป็นผู้แทนแบบไหน ต้องถามตัวเองว่าอยากได้ผู้แทนแบบไหน เราก็ต้องเป็นผู้แทนแบบที่เราอยากได้เมื่อมีโอกาสนี้

ตอนนี้เราก็ลงพื้นที่ปกติเหมือนตอนหาเสียง รับฟัง ดูว่าทำอะไรได้บ้าง ก็ต้องมาดูอำนาจเรา คือ ส.ส. เป็นคนออกกฎหมายในสภา แต่เราเป็น ส.ส. เขต ก็ต้องดูแลคนในพื้นที่ เป็นหน้าที่ตามประเพณี แต่จริงๆ แล้ว ส.ส. เป็นผู้แทนประชาชนทุกคนในประเทศไทย เราก็ต้องรักษาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่

แต่ถ้าเราจะทิ้งพื้นที่เลย ครั้งหน้าเราก็อาจจะไม่ได้เป็น ส.ส. ต่อ ก็เป็นพันธะ แต่ถามว่างานประเพณีเราจะทำอย่างไร จะทำเหมือนเดิมไหม เราจะไปงานศพ งานบวช หรือจะใส่ซองเป็นการตอบแทนอย่างนั้นไหม เราก็ไม่อยากทำ

ถ้าช่วยเล็กๆ น้อยๆ น่ะได้ เช่น ไปงานบวช บางทีผมก็ไปยกโต๊ะยกเก้าอี้นะ ไปงานศพผมก็ไปเสิร์ฟน้ำ ผมอยากช่วยอย่างนั้นมากกว่า อย่างน้อยผมมองว่า เวลาไปแล้วคนเจอเรา เขาก็ดีใจแล้วที่เราไป แต่เราไม่มีตังค์ไปใส่ซอง แล้วผมก็ไม่เข้าใจนักการเมืองหลายๆ คนที่ใส่ซองได้ตลอดเวลา ไม่รู้ว่าเอาเงินมาจากไหน

เราได้เงินเดือนจากประชาชน ได้รับความไว้วางใจ มีหน้าที่ต้องทำ ก็เป็นส่วนของพื้นที่ที่เราดีไซน์ว่าอยากเป็นแบบไหน

พอเป็น ส.ส. แล้วผมก็โดนเรียกท่านเยอะ เข้าไปในสภา ข้าราชการแต่งชุดมารายงานก็เรียกท่าน ผมก็ “อย่าเรียกท่านเลยครับ’” เขาก็บอกว่า “แล้วให้เรียกว่าอะไร” ผมก็ “เรียกคุณเท่าก็ได้ครับ” ให้เกียรติพอแล้ว คนเรียกคุณก็โอเคแล้ว

ย้อนเส้นทางการเมืองหน่อย คุณอยู่ในรุ่นที่ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่เลยใช่ไหม

เป็นรุ่นแรกที่โดนหลอกไปจดจัดตั้งชื่อ (หัวเราะ) ตอนแรกผมไม่รู้จักคุณธนาธร แต่รู้จักกับกลุ่ม NGN (New Gen Network) แต่ก่อนเคยเป็นลูกค้าที่ร้านเบียร์ เขาก็ชวนไปร่วมวงคุยพรรคการเมือง ว่าต้องการอะไร อยากทำพรรคแบบไหน ตอนนั้นมีประมาณ 50-60 คน จำได้เลย อาจารย์ปิยบุตรมาทัก “เท่าเป็นไงบ้าง” ผมก็งงว่าใคร

ไม่เคยเรียนกับอาจารย์ปิยบุตร ?

เหมือนคลาดกันตอนเรียน แล้วผมก็ไม่ได้เข้าเรียนอยู่แล้ว มีหลายเซคให้เลือก อาจจะเคยเรียนแต่ไม่แน่ใจ เพราะไม่เคยจำ บางทีผมยังไปสอบผิดอาจารย์เลย ทำกิจกรรมเยอะไม่ได้สนใจเรียน เจ๊ง เรียกว่าเจ๊ง (หัวเราะ)

สุดท้ายเห็นเขาเรียกอาจารย์ปิยบุตร ก็รู้แล้ว ผมเข้าไปในห้องไม่รู้จักใคร แต่ดูทุกคนในห้องก็รู้จักกัน บางคนเป็นนักกิจกรรม LGBT บางคนก็เคยเจออยู่ร้านเหล้าของตัวเอง บางคนก็เคยเห็นในทีวี บางคนก็เห็นในข่าว อาจารย์ปิยบุตรนั่งทางซ้าย คนถัดมาใส่เสื้อเชิ้ตขาว กางเกงสแลคสีเทา ผมก็ไม่รู้ว่าใคร เขาก็ให้แนะนำตัวรอบวง

เริ่มที่อาจารย์ปิยบุตรแนะนำตัวว่า “ผมชื่อปิยบุตรครับ เป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่ธรรมศาสตร์นะครับ”

พอมาถึงผู้ชายเสื้อเชิ้ตขาว เขาก็บอกว่า “เรียกพี่ว่าเอกแล้วกัน เอาเป็นว่าเป็นนักธุรกิจแล้วกัน” ก็คือคุณธนาธร

พอถึงตาผม ผมก็แนะนำตัวว่า “ชื่อเท่าครับ ที่ทำเบียร์แล้วโดนจับ” ก็ฮาทั้งวง กลายเป็นภาพจำของเราไปแล้ว

ทำมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ตอนนั้น แต่ก่อนทำนโยบาย ทำกิจกรรมรับฟังความคิดเห็น ไม่ได้มีบทบาทที่ชัดเจน อยู่ในพรรคก็ช่วยแสดงความคิดเห็นไป อย่างพวกจัดแข่ง ROV ผมพูดเล่นๆ เขาก็เอาไปทำกันจริงๆ พรรคนี้ผู้ใหญ่ไม่ได้เป็นผู้ใหญ่นะ เป็นพรรคของทุกคนจริงๆ เป็นพรรคที่ฟังเยอะ

ตั้งแต่ถูกจับเรื่องคราฟต์เบียร์ จนถึงตอนนี้ที่เป็น ส.ส. แล้ว มองตัวเองต่างไปจากเดิมไหม

ก็ต้องเปลี่ยนไปแหละ ผมใช้ชีวิตแบบโคตรพลวัต เป็นคน Yes Man เคยดูหนัง Yes Man ไหม เรา Yes! เอา! ทำ! เลยอยู่กับปัจจุบันและอนาคตมากกว่าอดีต ปล่อยให้มันไหลไป

ผมว่าคนเราโตขึ้น ก็แหลมคมทางความคิดมากขึ้น เจอคนเก่งๆ มากขึ้นในพรรค เปิดโลกมากขึ้น ผมเข้าไปในพรรคนี่กระจอกมาก ความรู้สู้คนอื่นไม่ได้ แต่ผมก็มีข้อดีคือเบียร์นี่แหละ คนก็จะเข้ามาบอกว่า แนะนำเบียร์หน่อยเท่า ผมก็แชร์ประสบการณ์การทำธุรกิจเล็กๆ เรื่องความยากลำบากเราก็เข้าใจ

พรรคการเมืองก็เหมือนไซบอร์กร่างหนึ่ง ไม่มีใครทำคนเดียวได้ ถ้าพี่เอก (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ) ไม่มีพี่ช่อ (พรรณิการ์ วานิช) ก็อาจจะไม่มีภาพลักษณ์ของพรรคแบบนี้ หรือถ้าไม่มีอาจารย์ปิยบุตร พี่เอกก็อาจจะไม่รอดตายมาถึงขนาดนี้ ทุกคนมีความเป็นหน่วยรบพิเศษ มีความเป็นหัวหน้าเผ่าของตัวเอง เราก็ได้ซึมซับกับคนรอบข้าง แล้วมาปรับใช้ อย่างประสบการณ์ในการหาเสียง หรือให้สัมภาษณ์บ่อยๆ ทำให้เราพูดเก่งขึ้น เรียบเรียงความคิดดีๆ ก่อนพูด

คราฟต์การเมืองกับ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร

คุณโผล่มาจากการเป็นหนุ่มคราฟต์เบียร์โดนจับ มาสมัคร ส.ส. จนชนะ เล่าให้ฟังหน่อยว่าคุณเจาะพื้นที่มาได้อย่างไร

เราก็ไม่รู้นะ จำได้ว่าแคมเปญวันแรกจัดที่กุฎีจีนเลย มาลองเดินดู เพราะเราคุ้นชินกับพื้นที่ตรงนี้ แล้วมีคนรู้จักอยู่บ้าง

ปกติผมจะปั่นจักรยาน ทำทัวร์ ใส่เสื้อเขียวของบริษัทมาจอดกินกาแฟ แต่วันนั้นผมมาอีกลุค อีกบทบาท คนก็ตกใจว่าไม่เอาจักรยานมาเหรอ เราก็บอกว่าลงเป็นผู้แทนเขต เขาก็ อ๋อเหรอ อาจจะงงๆ

ไม่มีใครเชื่อหรอกว่าเราจะชนะ เราก็ไม่ได้หวังชนะ แค่ทำเต็มที่ ทำเพื่อพรรค คือเราไม่ได้อยากเป็น ส.ส. ไม่ใช่ความฝันอะไรขนาดนั้น แต่เป็นความจำเป็น เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะว่าเราไม่เห็นผู้แทนคนไหนที่เป็นตัวแทนเราได้จริงๆ ก็เลยต้องมาเป็นเอง

ผมถึงบอกว่า อยากให้ทุกคนมาทำงานการเมือง อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเลวร้าย มันเป็นเรื่องสนุก แล้วก็เครียดดี

ถ้าคุณยิ่งเป็นนักการเมืองที่เครียดนี่ยิ่งดีนะ เรารู้ว่าต้องรับผิดชอบ มีภาระ แบกความหวังของคน มันก็จะผลักดันเรา ผมพิสูจน์แล้วว่าคนธรรมดาก็ทำได้ เดินไปรู้จักทุกบ้านเพราะเราไม่มีฐานเสียง ไม่มีหัวคะแนน หาเสียงสองคนก็ได้ ไม่ต้องมีรถก็ได้ โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว วิธีทำงานการเมืองก็จะใหม่ขึ้น เป็นเรื่องของโซเชียลมีเดีย หรือการ door knocking มากขึ้น คนมีข้อมูลมากขึ้น

ผมไปตอนแรกก็เดินแล้วเคาะประตูเลย สวัสดี ให้โบรชัวร์ วันไหนคุยเยอะก็คุย ผลเลือกตั้งออกมาก็หักปากกาเซียนทุกคนบนโลกนี้

 

เคยคิดไหมว่าอะไรที่ทำให้ชนะ

สถานการณ์หลายอย่าง เป็นคณิตศาสตร์การเมือง ตอนแรกคำนวณคะแนนเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์เลยนะ ที่ชนะต้องขอบคุณพลังประชารัฐเลยที่ทำให้ชนะ เพราะแย่งฐานเสียงประชาธิปัตย์มา แล้วไทยรักษาชาติไม่อยู่ และลักษณะประชากรที่เปลี่ยนไป มีคนย้ายเข้ามาอยู่คอนโดฯ เยอะ ไม่ใช่ฐานเสียงเก่าของพรรคดั้งเดิมคือประชาธิปัตย์ ผมก็ได้ยินหลายคนที่เคยเป็นหัวคะแนนบอกว่าสุดท้ายก็ไม่มีใครการันตีได้ว่าใครจะเลือกใคร

เราชนะเพราะทุกคนดูถูกอนาคตใหม่ ตอนหลังนี่ช็อกกันหมดเลย แล้วพยายามเล่นคุณธนาธร เพราะกลัวมาก เราก็มาแบบม้ามืด เขาคงเจ็บใจ “บ้าเอ๊ย อุตส่าห์มีรถแห่ มีป้ายทุกซอยเลย ดันมาแพ้คนปั่นจักรยาน” อะไรอย่างนี้

สุดท้ายความพยายามของเราก็สัมฤทธิ์ผล การที่เราเข้าไปมองหน้าคนทุกบ้าน การที่เราตากแดด เหงื่อไหล แล้วเราไม่หยุด ทำเต็มที่ เราไม่รู้ว่าจะเลือกตั้งได้หรือไม่ แต่ที่สำคัญคือเราไม่ได้คิดว่าการเลือกตั้งคือคีย์ เราออกไปเพื่อสื่อสารอุดมการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ ไม่ว่าเขาจะเป็นคนอีสานที่มาทำงานในเขตเรา ไม่ว่าเขาจะเป็นคนใต้ที่มาขายข้าวแกงข้างๆ วัดในเขต ก็อยากให้เขาสนับสนุนพรรคเรา แค่นั้นเอง

เป้าหมายตอนนั้นพรรคไม่ได้หวังผลเลือกตั้งเท่าไหร่ ถ้าได้ก็เป็นปาฏิหาริย์ทางการเมือง คือผมจะใช้คำนี้แล้วกันว่า ที่ผมได้เป็น ส.ส. และผลเลือกตั้งของพรรคอนาคตใหม่เป็นปาฏิหาริย์ทางการเมือง

หลังผ่านปาฏิหาริย์ทางการเมืองมา พอมองไปที่พื้นที่คลองสาน บางกอกใหญ่ ธนบุรี คุณเห็นปัญหาอะไรที่ตัวเองจะเข้าไปช่วยได้บ้าง

โห ร้อยแปดพันเก้า ปัญหาหลักๆ ตอนนี้ แบ่งเป็นระดับตามรายได้ ถ้าคนรายได้น้อยอยู่ในชุมชนที่ไม่ได้ติดถนนใหญ่ ไม่ได้เป็นตึกแถว คนที่อยู่อย่างนั้น เขารับจ้างหาบเร่ ไม่ได้เป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นวินมอ’ไซค์ เป็นแรงงาน เขาก็จะมีปัญหาว่ารายได้ไม่ดี ขายของไม่ได้ โดนจัดระเบียบไม่มีที่ทำกิน ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั้น

ส่วนที่เป็นตึกแถว ก็จะเป็นเรื่องเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน ย่านนี้ วงเวียนใหญ่ ถนนเจริญรัถ จะมีโรงงานผลิตเล็กๆ คล้ายโมเดลแบบเยอรมัน เขาเรียกว่า Mittelstand เหมือน SMEs พวกนี้จะโดนผลกระทบมาก โดยเฉพาะธุรกิจเครื่องหนังและกระเป๋า เพราะโดนจีนตีตลาด จีนทำเป้มาขายใบละสองร้อย

วงเวียนใหญ่ที่เคยคึกคักกำลังตาย เป็นย่านคล้าย Williamsburg แต่ก่อนที่มีห้องแถวเยอะๆ แต่ตอนนี้ปิดตัวลงไปเรื่อยๆ เราต้องทำอย่างไรให้ฟื้นฟูย่านนี้ขึ้นมาได้ สิบกว่าปีมานี้ คนหายไปแสนคน

คนออกไปจากพื้นที่แสนคนเพราะอะไร

เป็นการเปลี่ยนเจเนอเรชันของคน ย่านนี้เป็นสังคมคนแก่เยอะ ต้องเข้าใจว่ายุคเฟื่องฟูตอนนั้นคนเหล่านี้แหละที่ทำงานแล้วสร้างย่านขึ้นมา พอมีลูก ลูกก็ย้ายออกไปอยู่ชานเมือง ไม่ได้รับธุรกิจของครอบครัวสืบต่อไป

แต่กลับกัน ก็มีการย้ายเข้ามาของคนกลุ่มใหม่ ก็คือที่อยู่คอนโดฯ ตามเส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งอันนี้ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้คะแนนโหวตพลิกด้วย เพราะว่าคนใหม่เข้ามา คนเก่าๆ ก็เสียชีวิตไปบ้าง ย้ายออกไปบ้าง ค่อนข้างเปลี่ยนไปเยอะ แต่คนที่อยู่ดั้งเดิมแล้วสืบทอดต่อก็ลำบาก เพราะคนน้อยลง ยอดขายน้อย แต่สุดท้ายแล้ว เราจะทำอะไรเพื่อเก็บรักษาความดั้งเดิมไว้ บางคนขายก๋วยเตี๋ยวมา 60-70 ปี หลายร้านโคตรทีวีแชมเปี้ยนเลย ทำมา 3 รุ่น ตรงนี้ผมว่าควรอนุรักษ์ให้อยู่ต่อไป

ในใจผมคิดว่าเป็นวัฏจักรของการพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ คือพอที่ว่าง ราคาถูกลง พวกศิลปิน อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ก็เข้ามา ผมพยายามเอาโมเดลของ Williamsburg มาดู ที่เกาหลีก็มี แต่ก่อนเป็นโรงเหล็ก แต่เขาไม่ทำแล้ว เพราะเลิกผลิตของในประเทศ ก็กลายเป็นย่านให้คนไปเที่ยว เป็น creative district ได้ ตรงนี้ผมว่าต้องมีคนหน้าใหม่เข้ามาอยู่ สร้าง traffic ให้คนนอกพื้นที่เข้ามาเที่ยว

ผมมองว่าย่านนี้มีศักยภาพ คือย่านนี้เป็นกรุงเทพฯ ดั้งเดิมจริงๆ อย่างสาธรก็เป็น modern metropolitan ไปแล้ว ถ้าเราดึงแคมเปญอย่าง ‘บางกอกใหญ่ is real Bangkok’ มาใช้ ฝรั่งก็อาจจะพูด “แบง-คอก-ใหญ่ อิส เรียล แบงก์-คอก” เราก็บอกว่า ไม่ใช่ ต้อง “บางกอกใหญ่”

การทำงานของผมก็จะพยายามดึงให้คนเข้ามา พยายามขับเคลื่อนผ่านภาคประชาสังคม เอกชนต่างๆ คนที่ทำกิจกรรมของฝั่งธนฯ ก็จะพยายามดึงมารวมกัน คุณติดปัญหาอะไร อยากให้เราช่วยก็บอก

คราฟต์การเมืองกับ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร

แล้วถ้าบทบาทด้านอื่นของ ส.ส. ล่ะ มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับอะไรที่ต้องทำบ้าง

ผมมีสองบทบาท หนึ่งคือนักการเมือง สองคือผู้แทนราษฎร การเป็นนักการเมืองคุณต้องปรับเปลี่ยนความคิดของสังคมให้ได้ ให้เขาเห็นตรงกับคุณ ให้มาร่วมเส้นทางอุดมการณ์ของเรา ต้องทำ เลี่ยงไม่ได้ ก็มีเทคนิคหลายอย่าง บางทีก็ฟังแล้วเอาเหตุผลมาหักด้วยการให้เหตุผลที่ดี ซึ่งเรื่องนี้พรรคอนาคตใหม่ก็เทรน ส.ส. เยอะมาก ให้ดูตัวอย่างการอภิปรายในสภา ดูการใช้เหตุผล ให้ดูสารคดี Knock Down The House นั่นคือชีวิตของ ส.ส. อนาคตใหม่ ดูแล้วเห็นชีวิตตัวเอง

อาจารย์ป๊อกจะดูเรื่อง Political Correctness (PC) ในพรรค ระวังมาก แล้วก็ดูแก๊งพวกผมเยอะ วัยรุ่นไง ดื้อ คุมไม่ค่อยได้ ผมเป็น ส.ส. ที่โชคดีนะ ถ้ามีรูปผมกินเหล้ากินเบียร์คือโคตรธรรมดา ก็เป็น ส.ส. คราฟต์เบียร์

คือเราห้ามโฆษณา แต่เราไม่ใช่พระ เรากินเหล้าได้ตราบใดที่ถูกกฎหมาย แต่ค้ายาไม่ได้ โกงไม่ได้ ฟอกเงินไม่ได้ รับของราคาเกินกว่าสามพันบาทโดยไม่มีที่มาไม่ได้

มีเรื่องไหนที่กังวลเป็นพิเศษไหม

เป็น ส.ส. ก็กลัวต้องเข้าคุก พ่อแม่ก็คุยๆ กันว่า มีนักการเมืองเข้าคุกหลายรอบแล้วนะ นี่แหละเส้นทางการเมือง เข้าคุกถึงจะสุด ผมก็แบบ เอางั้นเหรอ ใช่เหรอ

คือกลัวนะ โดนตรวจสอบเยอะ ถ้ามาเป็นจะรู้เลยว่ายากมาก ทำอันนี้ก็ไม่ได้ ทำอันนู้นก็ไม่ได้ ให้ข้อมูลทรัพย์สินน้อยไปก็ไม่ได้ เผื่อไม่ได้แสดงบัญชีที่ฝากอั่งเปาตอนเด็กแบบนี้ ซวยเลย เป็นไปได้หมด แต่โชคดีหน่อยที่ผมไม่ค่อยมีตังค์ ไม่มีทรัพย์สิน เป็นความรู้สึกที่ดีมาก ตอนอบรม ทุกคนเครียดมากในห้อง เราก็แบบ เครียดกันทำไมวะ (หัวเราะ)

นี่เป็นประโยชน์ของความจนนี่เอง เราไม่ได้มีเยอะ คนรวยก็ลำบากไป

พ่อแม่ก็สนับสนุน ?

เห่อมาก ก็สนับสนุน เขาไม่ค่อยค้านที่เราทำอะไรหรอก แล้วแต่เราจะทำอะไรก็ได้ คืออายุสามสิบแล้ว เขาก็มาเปิดห้องทุกวัน บอกไปทำงานแล้วนะ วันนี้ไปไหนอะไรอย่างนี้ บางทีเรารำคาญพ่อแม่ตามสไตล์ รำคาญแม่ถามเยอะ แต่เขาก็อยากรู้ เราก็เข้าใจ กลับกันเรามาตอบนักข่าวได้ ก็รู้สึกแย่เหมือนกัน

เราถูกสอนให้โตมาแบบอยู่คนเดียว เอาตัวรอดได้ ก็เป็นดาบสองคมเหมือนกัน ทุกคนไม่เพอร์เฟ็กต์ ผมก็มีหลายเรื่องที่ไม่ได้ดีกว่าคนอื่น แย่ด้วยซ้ำ แต่ทุกคนต้องยอมรับและเข้าใจนะว่า ส.ส. ก็คือคนใช่ไหม ก็พยายามทำให้ดีที่สุด เท่าที่เวลาเรามีเหลือ

ชีวิตเสี่ยงขึ้นเยอะไหม ทำให้พ่อแม่เป็นห่วงขึ้นเยอะไหม

เขาดูไม่ค่อยเป็นห่วงเท่าไหร่นะ ถามว่าผมกลัวอะไรไหม ก็รู้นะว่าการเมืองไทยเป็นอย่างนี้ นักการเมืองไทยไม่ได้ปลอดภัยเหมือนนักการเมืองประเทศอื่น เขาไม่ได้เข้าคุกกันง่ายขนาดนี้

บางทีก็รู้สึกว่าประเทศเราผิดเพี้ยนมาก ทั้งโครงสร้างของรัฐจนถึงโครงสร้างทางความคิดของคนในรัฐไทย บางทีเราไม่ได้ทำอะไรผิด เราก็กลัวว่าใครสักคนจะมาทำให้เราผิดได้ ผมขี่มอเตอร์ไซค์ เจอตำรวจนี่ตกใจ ทั้งที่ยังไม่ได้ทำอะไรผิด เคยถามเพื่อนฝรั่งว่า “คุณเจอ police คุณรู้สึกยังไง” เขาตอบมาว่าก็รู้สึกเซฟ รู้สึกเฟรนด์ลี่ แต่ของเมืองไทยนี่รู้สึกไม่ดี ยิ่งมอ’ไซค์ด้วย ต้องโดนอะไรสักอย่าง ซึ่งมันผิดไง ต้องปรับ mindset กันใหญ่หลวง

ผมพยายามตอบโต้อยู่ ความหมายของคำว่าสาธารณะต้องดีขึ้น ทุกอย่างที่เป็นสาธารณะคือของเรา ถนนเป็นของเรา ทำไมเราต้องขออนุญาตไปใช้พื้นที่ในสวน ทำไมต้องปิด มันเป็นของเรา ข้าราชการควรให้บริการเรา แต่ทำไมประเทศไทยกลับกัน ไปแล้วไม่อยากบริการเราเลย ก็แปลกๆ ทำไมเป็นอย่างนี้ได้

ประชาชนต้องมีความรู้สึกว่าทุกอย่างในประเทศนี้เป็นของเรา เงินของเรา เราใช้ประโยชน์ได้ เรามีสิทธิ์มีเสียง รถถังก็เป็นของเรา ปืนของนายพล ดาวของนายพลก็เป็นของเรา นายพลก็เป็นลูกน้องเรา แค่นั้นเอง

ส.ส. ก็คือผู้รับใช้ทุกคนเช่นกัน ถ้าเราเปลี่ยน mindset นี้ได้ ประเทศไทยเปลี่ยนเลย

เราจะเปลี่ยน mindset ในสังคมได้อยู่ใช่ไหม และจะทำอย่างไร

เปลี่ยนได้เสมอ เราก็พูดไปเรื่อยๆ เขายังพูดว่ารัฐประหารเป็นสิ่งที่ดีได้ บ้าไปแล้ว คือการนำความคิดคนทางสังคมมันทำได้ ต้องค่อยๆ ทำ ทำไม่ยาก ถ้าคนเรียกร้องจริงๆ จนเป็นกระแสสังคม ถ้าทุกพรรคการเมือง คนทุกภาคส่วนช่วยกันผลักดัน ก็ทำได้

สำคัญที่สุด เราอย่าสิ้นหวังในการเปลี่ยนแปลง มันมาอยู่แล้ว อยู่ที่จะมาในรูปแบบไหน ยิ่งเราสิ้นหวัง อีกฝ่ายเขาก็ยิ่งแข็งแกร่ง จะมีอำนาจต้านกันเสมอ เราก็ต้องผลักไปให้ไกล และสร้างสรรค์กว่าเท่านั้นเอง

คราฟต์การเมืองกับ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า พรรคอนาคตใหม่เป็นเด็กไม่รู้เรื่องการเมือง ที่เพิ่งเข้ามาในสนามการเมือง คุณจะตอบโต้คำครหานี้อย่างไร

คือตั้งแต่ 2475 มีประชาธิปไตยมา ผมก็รู้เรื่อง มาคุยกันได้ มาดีเบต ในพรรคเองก็มีการเทรน เราก็ไม่อยากแก้ตัว พิสูจน์​กันยาก ก็พยายามเอาข้อติหรือคำสบประมาทมาพัฒนา มีอาจารย์หรือนักคิดชั้นนำมาอบรมคนในพรรคผ่านกิจกรรมต่างๆ

มีการพูดคุยกันเองระหว่างเพื่อนสมาชิกในพรรค เป็นสังคมดีเบต เราเดินเจอกัน คุยกันตลอดเวลา ว่างๆ ผมก็ชอบไปพรรค ไปคุยกับคนนู้นคนนี้บ้าง เรียนรู้เรื่องการเมืองไปเรื่อยๆ

เรื่องการเมืองผมไม่เป็นห่วง คือคนเก่งเยอะ คนที่รู้จริงก็เยอะ ผมไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่าง คนก็ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่าง โดยรวมพรรค ทุกคนรู้เรื่องการเมือง ที่ผมเป็นห่วงก็เรื่องในสภา อาจจะยากหน่อย เราก็สื่อสารกัน อ่านข้อบังคับสภาต่างๆ พยายามศึกษาจากคลิปยูทูบ

แต่ถ้าดูสภาไทยก็จะเจอตัวอย่างที่ไม่ดี ซึ่งเราจะไม่ทำ เราอยากทำสภาให้กลับมาน่าศรัทธา เป็นที่พึ่งของประชาชนอีกครั้ง ไม่ใช่ว่าเปิดมาแล้วแบบ อะไรเนี่ย นี่คือความล้มเหลวของประชาธิปไตยไทยในอดีต อาจจะเป็นเพราะสภาไทยในอดีตเลยทำให้ผมลงการเมืองด้วย งง มีแย่งเก้าอี้กันด้วย ซึ่งเป็นการทำลายภาพของผู้แทน เราก็จะเห็นแล้วว่า อีกฝ่ายก็พยายามทำลายภาพลักษณ์ที่ดีโดยการเอาตัวโจ๊กมาเป็นตัวป่วน เราก็แบบ เฮ้อ

แต่ไม่เป็นไร ตามหลักอนาคตใหม่ก็ให้ความสำคัญกับความหลากหลาย สภารวมเอาคนหลากหลายมาบ้างก็ได้

หลายคนบอกว่า อนาคตใหม่ไปเจอเสือ สิงห์​ กระทิง แรด ในสภาก็สู้ไม่ไหว

เราอาจจะสู้ในเกมเขาไม่ไหว แต่เราต้องทำเกมใหม่มาสู้ ให้เขามาเล่นเกมเรา ผมดูพวกรัฐสภาเมืองนอกเยอะ ของอังกฤษ​ อเมริกา มันมากเลยนะ สุดยอดมาก ของอังกฤษนี่ใส่กันมันมาก ผมชอบ John Bercow เขาเป็น speaker of the house หรือประธานสภา พอเห็นคนนี้ อยากเป็นประธานสภามากเลย เป็นความฝัน

อีกคนที่ชอบเป็นตัวอย่าง ก็คือ AOC (Alexandria Ocasio-Cortez) เป็น ส.ส. ที่นิวยอร์ก เป็น Congresswoman คนนี้ชอบ ตามแบบส่วนตัว แทบจะลอกแคมเปญหาเสียงมาเลย หรือมีคนที่เป็น ส.ส.มา 20 ปี มีเส้นทางชีวิตคล้ายๆ เราเลย ทำงานอยู่ในบาร์ แล้วก็พลิกมาเป็น ส.ส.

ผมไม่ได้ชอบพูดว่าสภาอันทรงเกียรติ แต่คือคนเขาดูอยู่ พูดอะไรออกไปสู่สาธารณะก็ควรมีอะไรที่น่าฟัง น่าศรัทธา ผมไม่เชื่อว่าความคิดจะเอาชนะกันด้วยโวหาร หักล้างกันด้วยคำพูด ไม่มีเหตุผลเลย ยิ่งผลักให้เขาไม่เชื่อเรา ต้องโน้มน้าวสิ ให้เขามาโหวตแบบเรา

พรรคอนาคตใหม่โดนหลายทิศหลายทาง ในฐานะที่คุณเป็นคนรุ่นใหม่ เป็น ส.ส. สมัยแรก คุณจัดการกับความรู้สึกตัวเองอย่างไร

เหมือนเขาให้ยาแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากเราต้องเดินหน้าต่อ เพราะเรายังเชื่อเหมือนเดิม เราก็ต้องถามตัวเองว่าเราอยู่ตรงนี้ เราทำอะไรอยู่ และทำเพื่ออะไร

เหมือนเราพยายามทำให้ทุกฝ่ายพอใจ ก็รู้ว่ายาก แต่ก็พยายาม ทางพรรคก็ไม่ได้บอกให้ทำอะไรอยู่แล้ว ก็อยู่ด้วยกัน ให้กำลังใจกัน ทำงานกันไป เพราะก็เป็นทางออกเดียวที่เราต้องพิสูจน์กับทุกคนว่าเรายืนหยัดอยู่ด้วยอุดมการณ์ที่ถูกต้อง

ก็มีเหนื่อยแหละ แต่ไม่ท้อนะ ทำไปเรื่อยๆ รู้อยู่แล้วว่าต้องเป็นแบบนี้ พอคาดเดาได้ เราก็พยายามเต็มที่ เรามีสองมือ สองเท้า หนึ่งหัว คนธรรมดาก็มีแค่นี้แหละครับ สู้ไป ถามว่าถอยแล้วจะไปไหน ก็มีแต่เดินหน้า ไม่ได้ทำให้ความเชื่อเราสั่นคลอน ไม่ได้กลัวอยู่แล้ว

คนมองว่ายุทธศาสตร์ของพรรคอนาคตใหม่ จะมาในรูปแบบยอมหัก ไม่ยอมงอ ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดผลเสียในการทำงานทางการเมืองไหม

ผมว่าประเทศไทยมีคนที่ต่อสู้แบบ ‘ยอมงอ ขอไม่ให้หัก’ เยอะแล้วครับ ถ้าอยู่ดีๆ ผมเปลี่ยนจุดยืน แล้วถ้าคนที่เขาชอบเราเพราะเราเป็นแบบนี้ล่ะ จะรู้สึกยังไง ผมว่าก็มีคนหลากหลาย ทั้งเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ก็ห้ามไม่ได้ การเป็นนักการเมืองหรือเป็นคน ถ้าไม่ซื่อตรงต่อหลักการ วันหนึ่งเราก็จะกลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ เหมือนหลายๆ ตัวอย่างที่เราเคยเห็นมาในประเทศไทย

ทุกคนต่างมีความเชื่อของตัวเอง บางคนก็อาจจะสุดโต่ง บางคนก็อาจจะอยู่ตรงกลาง มีหลายเฉด ในพรรคเองก็มีหลายเฉด แต่สุดท้ายสิ่งที่ทำให้เราอยู่ด้วยกันคือความเคารพในหลักการของประชาธิปไตย ทุกคนต้องมีสิทธิ์มีเสียงเท่ากัน เป็นเสียงส่วนใหญ่ที่เคารพเสียงส่วนน้อย ยังเป็นองค์กรเดียวกัน ก็อยู่ด้วยกันไป มีบ้างวันที่เราเป็นเสียงส่วนน้อย ทำให้ใครไม่พอใจ แต่สุดท้าย ถามว่าเส้นอยู่ตรงไหน ก็คือต้องไม่ขัดหลักการที่เราเชื่อ

คราฟต์การเมืองกับ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร

หลังๆ มีข่าวว่าพรรคอนาคตใหม่วงแตก มีคนลาออก มีคนโหวตสวนมติพรรค คุณมองอย่างไรกับประเด็นนี้

ตั้งแต่ผมอยู่พรรคมา เกือบจะ 2 ปีแล้ว เราเริ่มจาก 26 คน ตอนนี้เป็น 6 หมื่น มีคนโหวต 6 ล้าน อยากให้มองว่า พรรคการเมืองเป็นพลวัต เหมือนบริษัทแหละ มีคนเข้า มีคนออก เป็นเรื่องธรรมดา การบริหารงานหรือความคาดหวังของคนก็เป็นเรื่องยาก ก็ยอมรับ ต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ พรรคเราไม่มีทางสำเร็จหรือเพอร์เฟ็กต์หรอก แต่มันคือพลวัต คือการพัฒนาไปเรื่อยๆ

เราอย่ามองว่าพรรคการเมืองเป็นสิ่งตายตัว ก็เหมือนร่างกายที่เติบโตไปตามกาลเวลา คนมีความคิดเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่อยู่ที่ว่าเราถูกปลูกฝังยังไง เราก็เดินตามเส้นทางนั้นไปเรื่อยๆ เลยไม่ค่อยแปลกใจเท่าไหร่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงบุคคล แต่ขอให้จิตวิญญาณของพรรคยังสิงสถิตอยู่ ยังมีการหล่อเลี้ยงด้วยอุดมการณ์และศรัทธาต่อไป ก็อยู่ได้เรื่อยๆ แล้วก็มีการเปลี่ยนคนไปเรื่อยๆ

พรรคเราออกแบบมาไม่ยึดติดกับตัวบุคคลอยู่แล้ว ถามว่าวันหนึ่งถ้าไม่มีพรรคอนาคตใหม่ ผมก็ยังมองว่า สุดท้ายจิตวิญญาณ ความเป็นอนาคตใหม่ ความรักยุติธรรมก็จะยังสืบต่อไป อาจจะมีวันที่คนตั้งพรรคใหม่ที่มีอุดมการณ์คล้ายกันขึ้นมา ผมว่าเป็นเรื่องธรรมดา ผมคิดว่าพรรคอนาคตใหม่น่าจะเป็นพรรคการเมืองแรกๆ ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ค่อนข้างเป็นหลักสากล ก็มีคนที่ต้องการเปลี่ยนประเทศไปตามอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยแบบนี้เยอะ ที่อยากเห็นความเท่าเทียม มีสวัสดิการถ้วนหน้า แล้วก็เคารพทุกคน

มีคำพูดที่ว่า อนาคตใหม่เข้าสภาก็อยากจะแก้แต่รัฐธรรมนูญ ไม่เห็นพูดเรื่องปากท้องชาวบ้านเลย ?

รัฐธรรมนูญก็มีปัญหาหลายข้อ เราก็ยืนหยัดที่จะแก้ต่อไป แต่ถ้าบอกว่าไม่สนใจเรื่องประชาชนเลยก็ไม่ถูกนะ ถ้าไปดูกระทู้ที่ผมถาม หรือเพื่อนสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ได้ลงพื้นที่แก้ไขไป เยอะมากนะครับ เราก็ใช้สิทธิ์เต็มที่ในการเป็น ส.ส. พรรคอนาคตใหม่

อย่างผมเองก็ตั้งกระทู้ถามหรือปรึกษาหารือในสภา ล่าสุดก็ได้ประชุมกับทางตำรวจนครบาล เพราะผมยื่นกระทู้เรื่องรถติดหน้าไอคอนสยามไป มากันยิ่งใหญ่เลย ทุกคนก็หันมาแก้ปัญหา เพราะเขาก็ให้เกียรติเรา ทุกคนก็อยากทำเพื่อประชาชน ผมว่าก็น่าจะแก้ไขรถติดตรงเส้นคลองสาน – เจริญนครได้ เรียกทุกฝ่ายมาดูแล้ว อันนี้ก็เป็นอย่างนึงนะ แต่คนก็ไม่ค่อยอยากจะอ่านรึเปล่า อยากอ่านแต่ดราม่ามันๆ

เราก็ยืนยันว่าทำอยู่แล้ว มันทำได้หลายอย่าง เราไม่ได้มีแค่ธนาธรหรือปิยบุตร แต่เรามีเท่าพิภพอีกคน หรือมี ส.ส. หลายท่านที่ลงพื้นที่อย่างเข้มแข็ง แล้วก็นำเรื่องเข้าสู่สภา เพื่อส่งต่อไปยังหน่วยราชการหรือผู้มีอำนาจให้เขาได้ลงมาแก้ไข ก็เป็นช่วงปรับตัวนะ ปัญหาก็เยอะ เพราะว่าไม่มีสภามานาน

ทุกวันนี้ชีวิตประจำวันทำอะไรบ้าง

ทำทุกอย่าง ยกเว้นพักผ่อน (หัวเราะ)

ตอนนี้มีศูนย์ฝั่งธนฯ อยู่ ก็คือบ้านผมนี่แหละครับ ตอนกลางวันด้านล่างเปิดเป็นศูนย์ ถ้าวันไหนผมอยู่ ใครก็มานั่งคุยได้ กินกาแฟได้ ตอนกลางวันรับเรื่องร้องทุกข์ ส่วนตอนกลางคืนใครจะมาคลายทุกข์ก็ได้ ส่วนใหญ่ก็ดีนะ เพราะคนก็มาคุยเรื่องการเมือง สัปดาห์ก่อน คนเดินผ่านมาเปิดประตูให้กำลังใจก็มี เราอยากเป็น ส.ส. ที่เข้าถึงง่าย

ผมทำเรื่องประเด็นด้วย ก็มีลงพื้นที่ ไปเสวนา เป็นงานทางความคิดซะเยอะ วันอังคารไปประชุมที่พรรค ใครจะอภิปรายเรื่องอะไร ถ้าสัปดาห์ไหนมีอภิปราย ผมก็จะเตรียมอภิปรายตั้งแต่สัปดาห์ก่อนหน้าเลย หาข้อมูล ทำรีเสิร์ช แล้ววันพุธก็ประชุม วันพฤหัสก็ประชุม ประชุมเยอะ เสาร์-อาทิตย์ ก็พยายามไปตามที่ต่างๆ ที่นัดไว้ ใครอยากเจอ ผมก็อยากขอโทษด้วย เราไปหาทุกคนไม่ได้ ใครอยากเจอก็นัดวันมา เข้ามาที่ศูนย์ก็ได้ แต่ผมแยกร่างไม่ได้จริงๆ ไม่ได้เป็นนารูโตะ อยากฝากทุกคนให้เข้าใจตรงนี้ด้วยครับ วันนึงเราจะได้เจอกัน

ตั้งแต่ทำงานมา ถ้าให้มองเท่าพิภพคนก่อนที่จะมาทำงานการเมือง กับเท่าพิภพคนนี้ คุณมองตัวเองต่างกันแค่ไหน อย่างไรบ้าง

คนอยู่รอบตัวก็คิดว่าผมเหมือนเดิมนะ แต่ถ้าผมมองตัวเอง ผมคิดว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรตลอดสองปีนี้เยอะมาก ผมรู้สึกว่าผมเป็นผู้ใหญ่ขึ้นจริงๆ มีความรับผิดชอบในเชิงการงานและความคิดด้วย แล้วก็เรื่องจัดการความกดดัน ตอนนี้ผม expert มากเลย แกร่งขึ้นเรื่อยๆ ถ้าจะให้นิยามก็คือเป็นเท่าพิภพที่นิสัยใจคอเป็นคนชิลล์ๆ เป็นพี่เป็นน้องของทุกคนเหมือนเดิมแหละครับ แต่ก็เต็มไปด้วยร่องรอยบาดแผลที่เป็นเครื่องยืนยันว่าผ่านสมรภูมิอะไรมาบ้าง ที่ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นมา

ประสบการณ์ต่างๆ กับการเจอผู้คน ความเข้าใจสังคมก็มีเยอะขึ้น ซับซ้อนขึ้นเยอะมาก ก็ขอบคุณพรรคอนาคตใหม่และประชาชนที่ให้โอกาสผมได้เรียนรู้และประสบการณ์ตรงนี้ ผมมองว่า การเมืองไม่ยากเลย ทุกคนทำได้ ทุกคนเป็น ส.ส. ได้ เราไม่ได้ต้องการแค่นักการเมืองอายุเยอะ เก๋าๆ หรอกครับ แต่ต้องการเลือดใหม่จากทุกคน อยากให้เชื่อว่าทุกคนก็ทำแบบผมได้ เป็นคนธรรมดาที่มาทำงานการเมือง ที่มีสไตล์หาเสียงของตัวเอง มีความคิดของตัวเอง

ที่เหลือก็อยากให้ประชาชนช่วยตรวจสอบผมต่อไปนะว่าผมต่างไปจากเดิมมั้ย ก็อย่าวางใจว่าเลือกตั้งเสร็จแล้วก็จบ ประชาธิปไตยของทุกคนมีมากกว่านี้นะครับ ถ้าผมเฉไฉเปลี่ยนไปก็สะกิดกันแรงๆ เตะขาผมได้

ถัดจากนี้ มองอนาคตทางการเมืองของตัวเองยังไงบ้าง

จะเอาแบบไหน แบบตามความเป็นจริงหรือเพ้อฝัน

ถ้าแบบเพ้อฝันนะ ผมอยากเป็นประธานสภา อยากทำให้สภามีประสิทธิภาพกว่านี้ อยากให้สภาพิจารณาเรื่องให้เร็วกว่านี้ อภิปรายกระชับขึ้น แต่อันนี้ก็อยากให้ทุกคนช่วย เพราะอนาคตใหม่ก็อภิปรายรูปแบบใหม่ พยายามทำให้มีสาระ มีเรื่องราวที่ง่ายขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ที่สุด หลายๆ พรรคก็มากระซิบนะว่าชื่นชมเรา ก็อยากให้ทุกคนพัฒนาไปด้วยกัน ว่าจะมีรูปแบบใหม่ๆ มา สุดท้ายประโยชน์ก็ตกอยู่กับประชาชน อันนี้เพ้อฝันหนึ่งนะ

ส่วนเพ้อฝันสอง ผมอยากเป็นแคนดิเดตนายก คือตอนนี้ผมมีนโยบายของผม เลือกตั้งครั้งหน้าถ้าผมอายุถึง 35 ผมจะทำนโยบายแข่งกับคุณธนาธร ให้ลองโหวตในพรรคดูก็ได้ แล้วผมก็อยากเห็นพรรคอนาคตใหม่ไม่มีหัวหน้าพรรค คือเป็นพรรคอุดมการณ์ เหมือนพรรคเดโมแครต รีพลับลีกัน ถามว่าใครคือหัวหน้าพรรคเดโมแครต รีพลับลิกัน ไม่มี

นี่แหละครับ ความฝันในเชิงส่วนตัวจริงๆ คืออยากเป็นประธานสภา ชิงแคนดิเดตนายกในพรรค และอยากเห็นพรรคอนาคตใหม่มีระบบที่ดีขึ้น

แต่ถ้าเอาตามความเป็นจริงเลยนะ ผมไม่ได้กังวลว่าอนาคตทางการเมืองผมจะเป็นยังไง ผมพูดตรงๆ เลยว่าไม่ได้ยี่หระหรือยึดติดกับการที่จะเป็น ส.ส. หรอก ตั้งแต่แรกที่ผมลงเขต ผมก็ไม่ได้หวังว่าผมจะชนะ แต่ผมก็ทำให้ดีที่สุด ผมสนใจวิธีการที่ผมทำ ผมไม่ได้แคร์เรื่องผลลัพธ์ว่าต้องได้นะ

ถ้าวันหนึ่งอนาคตใหม่โดนยุบ ผมบอกเลยว่ามองไปรอบๆ ตอนนี้ก็ยังไม่เห็นพรรคไหนที่เหมาะสม ถ้าผมรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นต้องทำงานการเมืองแล้ว ถ้าไม่มีพรรคที่รองรับความต้องการและอุดมการณ์ของผม คำว่าเป็น ส.ส. ผมก็ไม่ได้แคร์ แต่ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่ว่าจะทิ้งหน้าที่ ส.ส. นะครับ ก็ยังตั้งใจทำงานต่อไป

พอเรามาเป็น ส.ส. รู้เลยว่าตัวเราเล็กมาก รู้สึกถึงประชาธิปไตยว่าเราก็เป็นแค่ 1 ใน 500 คนนั้น จริงๆ ส.ส. ไม่ได้มีอำนาจเลย ต้องหาเพื่อนอีก 251 คน กว่าจะได้อะไร ยากมากนะ ผมก็เลยมองว่า จริงๆ แล้วนี่แหละประชาธิปไตย ก็ถือว่าได้เห็นกับตาตัวเอง เป็นสิ่งที่อึดอัดนะแต่ก็สวยงาม

คราฟต์การเมืองกับ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save