fbpx
เลือกตั้ง​ครั้งแรก หัวใจก็แตกสลาย : สำรวจความหวังหลังเลือกตั้งของคนรุ่นใหม่

เลือกตั้ง​ครั้งแรก หัวใจก็แตกสลาย : สำรวจความหวังหลังเลือกตั้งของคนรุ่นใหม่

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่องและภาพ

ว่ากันว่ารักครั้งแรกมักไม่สมหวัง คล้ายใจความในบทเพลงที่ว่า ‘รักครั้งแรก หัวใจก็แตกสลาย’

แล้วรักในความหมายของชีวิต เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ และอนาคตของประเทศอย่างการเลือกตั้งครั้งแรกล่ะ จะทำให้คนรุ่นใหม่ New Voter รู้สึกอย่างไร

หลังการเลือกตั้งมาพักใหญ่ ล่าสุดเราเริ่มได้เห็นโฉมหน้าแง้มๆ ของผลลัพธ์ ผ่านวิธีการคิดคะแนนที่ผันผวน นอกจากจะสร้างความงงงันแล้ว ก็น่าจะย่ำหัวใจที่แตกสลายของวัยรุ่นได้ไม่น้อย โอกาสนี้ 101 จึงไปพูดคุยกับวัยรุ่นจำนวนหนึ่งที่เพิ่งผ่านการเลือกตั้งครั้งแรก สอบถามทั้งความรู้สึก ความคิดเห็น และมองหาร่องรอยความหวัง ที่หวังว่าจะไม่ริบหรี่

ไม่ใช่เพื่อซ้ำแผล แต่เพื่อยืนยันว่าประเทศไทยยังไม่ถึงเวลา End Game แม้ว่าศึกครานี้จะหนักหนาอย่างไร

 

ชนะชัย ประมวลทรัพย์

ชนะชัย ประมวลทรัพย์

ในท่าทีที่ไม่ยี่หระของชนะชัย เขาแสดงความเห็นถึงการเลือกตั้ง 2562 ด้วยมุมมองภาพกว้างว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาคือการปะทะกันระหว่างคนสองกลุ่มคือคนรุ่นเก่าเบบี้บูมเมอร์ กับคนรุ่นใหม่เจนวาย ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีการเข้าถึงข้อมูลและการสื่อสารที่ไม่เหมือนกันเลย

“บทบาทของคนรุ่นใหม่กับมูฟเมนท์ทางการเมืองตอนนี้อาจจะเห็นน้อย เมื่อเทียบกับประสบการณ์ของคนต่างช่วงอายุ แต่สำหรับเด็กรุ่นใหม่ สิ่งที่เราเห็นมีสองโลก คือโลกออนไลน์ กับโลกเสมือนจริง ส่วนมากเราจะเน้นการเคลื่อนไหวผ่านโซเชียล สร้างเอฟเฟกต์หรือกระแสไวรัล ซึ่งก็เป็นการเคลื่อนไหวรูปแบบหนึ่งที่อาจจะไม่ใช่หลักปฏิบัติการเหมือนที่ผ่านมา”

เมื่อเอ่ยถามถึงสถานการณ์หลังเลือกตั้ง ชัยชนะกลับไม่ได้มีท่าทีผิดหวังนักแต่ประเมินสถานการณ์ผ่านมุมมองของตัวเองให้ฟังว่า

“ที่สถานการณ์หลังเลือกตั้งเป็นอย่างนี้ ผมว่า ‘เขา’ ตั้งใจให้มันเป็น คนที่ดูแลการเลือกตั้งไม่ใช่ว่าเพิ่งทำงานครั้งแรก กกต. ดูแลการเลือกตั้งมาตั้งนานแล้ว เขาเป็นหน่วยงานกลาง หน่วยงานที่ควรจะน่าเชื่อถือและน่าจะเที่ยงธรรม ดังนั้นการที่ กกต. ขาดความน่าเชื่อถือก็เหมือนบอกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ชอบธรรม”

“โดยส่วนตัวคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คงยังชี้ชัดอะไรไม่ได้ แต่เป็นการแสดงพลังให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่อย่างเราจะก้าวไปทางฝั่งไหน มีแนวคิดไปในทิศทางไหน

“คนรุ่นใหม่อาจจะมีประสบการณ์ยังไม่มากเท่ากับผู้ใหญ่ที่โตกว่า แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นได้ชัดมากคือ การขวนขวาย การต่อสู้เพื่อให้ได้ซึ่งข้อมูลมา เวลาสงสัยอะไร ก็จะไปเสิร์ชตามกูเกิล และถกเถียงตามสื่อออนไลน์”

แม้ท่าทีและคำพูดเขาจะดูเชื่อมั่นในพลังของคนรุ่นใหม่ แต่ชนะชัยก็ยังมีข้อกังวลต่อการเสพข่าวและใช้สื่อของเพื่อนในวัยเดียวกันด้วย

“สิ่งที่ผมอยากจะบอกไปถึงเพื่อนๆ คนรุ่นใหม่คือ ความรู้ข้อมูลที่ได้มานั้น เราน่าจะไตร่ตรองดูก่อน และควรจะมีวิจารณญาณว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือเปล่า น่าเชื่อถือไหม เพราะว่าตอนนี้ทั้ง IO หรือทั้ง Fake News เยอะไปหมดเลย ไม่ใช่แค่คนรุ่นเก่าที่จะหลงเชื่อ แต่คนรุ่นใหม่เองก็หลง ผมเห็นเพื่อนบางคนที่หลงเชื่อ มีลักษณะความเป็น influencer ในตัวด้วย คือรู้จักความเร็วไวของข้อมูล รู้จักการไลก์ แชร์ วิธีใช้สื่อ ซึ่งเมื่อรวมกับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง มันอาจจะกระจายไปในวงกว้างได้ ฉะนั้นก็อยากชวนกันไตร่ตรองให้มากๆ ก่อนที่จะโพสต์หรือแชร์อะไรครับ”

ธเนศพล ผาตะเนตร

ธเนศพล ผาตะเนตร

ธเนศพล กล่าวว่าในการเลือกตั้งที่ผ่านมาเกิดขึ้นบนสนามอุดมการณ์ ตัวเขาเองก็เลือกพรรคการเมืองจากอุดมการณ์เป็นหลัก และแม้สถานการณ์การเลือกตั้งจะน่าผิดหวังเพียงไร อย่างน้อยๆ คนรุ่นใหม่ก็ได้ยืนอยู่บนอุดมการณ์ที่เด่นชัดแล้ว

“การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่านโยบายของแต่ละพรรคจะเป็นอย่างไร แต่ขึ้นอยู่กับว่าอุดมการณ์ของเราตรงกับใคร หลังจากผ่านเลือกตั้งไปได้เดือนกว่าแล้วสถานการณ์คลุมเครือแบบนี้ ผมรู้สึกว่าอีกไม่นานอาจจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่

“แต่ไม่ใช่ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไร้ประโยชน์นะ มันเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้สังคมเห็นว่าคนรุ่นใหม่ใส่ใจการเมืองและการเลือกตั้ง เราแอคทีฟ หาข้อมูล เราถกเถียงกัน มันบ่งบอกว่าก่อนจะตัดสินใจอะไรไป เรามีข้อมูล ไม่ได้นิ่งดูดาย เชื่ออะไรง่ายๆ หรือนั่งรอให้ใครป้อนข้อมูลแล้วทำตามอย่างเดียว”

“แม้สถานการณ์จะไม่ถูกใจนัก แต่การเลือกตั้งรอบนี้จะเห็นว่าคนรุ่นใหม่เป็นคะแนนเสียงที่ประมาทไม่ได้ การโหวตครั้งแรกของเราเป็นเป้าหมายหนึ่งที่นักการเมืองให้ความสำคัญ แสดงว่าเราก็มีบทบาทในการเมืองมากขึ้น และพลังของเราจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อย”

 

ฟารีฮาท เจะอาลี

ฟารีฮาท เจะอาลี

ในฐานะนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ฟารีฮาทตั้งความคาดหวังไปที่นโยบายที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจ หรือลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

“หลายปีที่ผ่านมาผมมองว่าธุรกิจต่างๆ ซบเซามากขึ้น ธุรกิจเล็กๆ ก็มีปัญหา ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผมเลยจับตาและคาดหวังว่าพรรคที่จะมาเป็นรัฐบาลจะสามารถแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ ช่วงที่การเมืองค่อนข้างวุ่นวาย เรื่องนโยบายอาจจะถูกลดความสำคัญไป มีสถานการณ์น่าเอะใจเกิดขึ้นมากมายในการเลือกตั้ง ซึ่งมันไม่ควรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยที่มีความเชื่อมั่นระดับนี้ ประเทศที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจค่อนข้างใหญ่พอสมควรถ้าเปรียบเทียบกับหลายๆ ที่”

การจับตามองนโยบายเศรษฐกิจของฟารีฮาทดำเนินต่อไป พร้อมกับความตั้งใจของเขาที่จะมีส่วนร่วม ในฐานะคนรุ่นใหม่และประชาชนของประเทศ

“ก่อนหน้านี้เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่สามารถทำอะไรได้มากนักตามที่มีการควบคุมจากรัฐบาล หรือด้วยความที่คนรุ่นใหม่เพิ่งได้เจอสถานการณ์การเมืองแบบนี้กับตัวครั้งแรก แต่หลังจากนี้ผมเชื่อว่าเราจะมีส่วนร่วมมากกว่าเดิม และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเราก็อยู่ในระบอบประชาธิปไตย ระบอบที่คนหนึ่งคนควรจะมีเสียงเท่าๆ กัน แม้นโยบายจะถูกกำหนดโดยคนไม่กี่กลุ่ม แต่ว่าเสียงของคนรุ่นใหม่น่าจะส่งผลกระทบได้บ้างในอนาคต”

บุษยา อุ่นพัฒนาศิลป์

บุษยา อุ่นพัฒนาศิลป์

บุษยาคือผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่เดินไปเดินมาทั่วงาน  Young Government’s Policy Design(YGPD)  งานประกวดนโนบายสาธารณะออกแบบโดยนักศึกษาที่จัดโดย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเธอหยุดพักและพูดคุยกับเรา ก็ทราบว่างานนี้เกิดขึ้นได้เพราะความอัดอั้นทางการเมืองของเธอเอง ความต้องการที่จะเห็นกระบวนการนำเสนอนโยบายที่ครบถ้วน ทำให้เธอจำลองภาพจริงในสังคม ให้เกิดขึ้นในห้องเสวนาเล็กๆ ร่วมกับเพื่อนพ้องนักศึกษา

“เวลาเราเห็นพรรคการเมืองขายนโยบาย เรารู้สึกว่าข้อมูลที่ประชาชนจะใช้ในการตัดสินใจมีไม่เพียงพอ เขาบอกว่าเขาจะทำอันนี้ ทำกับใคร ทำแล้วจะได้ผลลัพธ์ยังไง บอกแค่ผลลัพธ์ปลายทาง เช่น GDP เพิ่ม อัตราการจ้างงานเพิ่ม แต่น้อยมากที่จะบอกว่าวิธีการทำของมันเป็นอย่างไรบ้าง ถ้านโยบายจะสำเร็จจริงๆ มันจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ตัวชี้วัดคืออะไร ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราเขียนบ่นในสเตตัสเฟซบุ๊ก แต่บังเอิญมีอาจารย์ผ่านมาเห็นและแท็กคณบดี แท็กรองฝ่ายการมาอ่าน สิบเอ็ดโมงของอีกวันรองคณบดีก็ทักมาหาเราให้ลองจัดแข่งขันนโนบายตามที่เราบ่นไว้ดู

“เราทำโครงการนี้ทั้งในฐานะนักศึกษา และประชาชน เสียใจนิดหน่อยที่มันเกิดขึ้นหลังเลือกตั้ง ถ้าเกิดก่อนเลือกตั้ง นักศึกษาที่ทำโครงการหรือคนที่ได้มาดูการแข่งขันก็จะสามารถเอาสิ่งที่นักศึกษาพรีเซนต์ คอมเมนต์จากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ กลับไปเป็นตัวช่วยวิเคราะห์นโยบายที่นักการเมืองนำเสนอได้”

เราสอบถามเธอถึงความรู้สึกหลังผ่านเลือกตั้งมาเป็นเวลากว่าหนึ่งเดือน แต่ยังไม่ทันเอ่ยคำถามจบ เธอก็ส่งเสียงแทรกจำนวนวันหลังการเลือกตั้งออกมาด้วยท่าทีอัดอั้น ราวกับผ่านการนับและตั้งตารออย่างจดจ่อ

“หลังเลือกตั้งเราอยากเห็นประเทศไทยที่ดีกว่านี้ รู้สึกว่าปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างการคอร์รัปชัน ถ้าแก้ไม่ได้ในเร็ววัน ถ้าต้องอาศัยเวลา อย่างน้อยๆ ตอนนี้เราก็ควรจะมีคนเก่งที่สามารถทำให้ประเทศไทยพ้นภัยหรือดีขึ้นกว่านี้ได้ ซึ่งคนที่เก่งในที่นี้ไม่รู้ว่าเขาจะเป็นคนดีหรือเปล่า แต่ในระยะสั้นเราต้องการคนที่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้ได้”

“เราต้องการคนเก่ง” เธอย้ำ

จากท่าทีของบุษยา เดาได้ไม่ยากว่าเธอใช้พลังงานจำนวนมากไปกับการติดตามการเมือง ด้วยบรรยากาศการเมืองเช่นนี้เราจึงถามถึงความรู้สึกของเธอ หลังเลือกตั้งแล้วหมดหวังหรือไม่

“ผ่านมาเดือนกว่าแล้ว สิ้นหวังนะคะ ถ้าพูดถึงประเทศไทย สิ่งแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรในสังคมก็แล้วแต่ คำว่า ‘สิ้นหวัง’ เป็นสิ่งที่คิดออกกัน แต่ยังไงเราก็ยังเชื่อในการเปลี่ยนแปลง เมื่อเจเนอเรชั่นที่มีพฤติกรรม ทัศนคติทางการเมือง และการรับข่าวต่างจากเรา ผลัดเปลี่ยนเป็นคนรุ่นใหม่ที่อยากรู้อะไรก็หาคำตอบ หาข้อมูลได้ มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้แน่ๆ เพียงแค่ต้องใช้เวลา และการรวมพลังกัน

ขณะเดียวกันเราก็เชื่อว่าในที่สุด กลไกของความจริงก็จะทำให้อะไรที่มาอย่างไม่ถูกต้องหายไป ไม่ว่าจะโดยกระบวนการตรวจสอบ พลังของความคิดเห็น หรืออะไรก็ตาม แต่มันจะต้องหายไป”

ณัฐพงศ์ คงลำธาร

ณัฐพงศ์ คงลำธาร

ณัฐพงศ์ไล่เรียงความรู้สึกตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งมาจนปัจจุบันให้เราฟัง ไม่ผิดคาด เขาไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่หวัง แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยอมรับและเชื่อมั่นว่านี่ไม่ใช่ตอนจบของการเมืองไทย

“ความรู้สึกแรกเลยคือเบื่อระบบเดิมๆ การบริหารประเทศของรัฐบาลชุดก่อนหน้า ทำให้มีหลายอย่างที่ Trade off ไปแล้วไม่คุ้ม เราอยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างน้อยก็เป็นอีกหนึ่งเสียงที่ออกไปเข้าคูหา แต่พอช่วงใกล้ๆ ก็มีหลายอย่างที่ดูเหมือนจะไม่โปร่งใส หรือตรวจสอบไม่ได้ เราก็เริ่มทำใจแล้วว่าผลคงจะเอื้อให้บางฝ่ายที่เป็นคนเขียนกติกามากกว่า ซึ่งเราก็รับได้นะ อย่างน้อยถ้าเกิดได้คนที่ไม่เก่งจริงมาบริหารก็มีฝ่ายค้านที่เก่ง อย่างน้อยก็ยอมๆ ให้เป็นไปตามระบบ

“ความรู้สึกก่อนไปเลือกตั้งกับหลังเลือกตั้งมันคนละเรื่องเลย ก่อนเลือกตั้งเราฮึกเหิม จะออกไปจับปากกาฆ่าเผด็จการ แต่ว่าพอผลออกมา เราก็ต้องรับให้ได้ เข้าใจว่า process ของประเทศเราเป็นแบบนี้ ไม่เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว การที่เราจะพัฒนาขึ้นไปอยู่ในจุดเดียวกับประเทศอื่นๆ เช่นอเมริกา หรือญี่ปุ่น มันก็ต้องค่อยๆ ดำเนินไปตามขั้นตอน ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เป็นหนึ่งในขั้นตอน มันไม่ใช่ผลลัพธ์ที่สิ้นสุด แต่เป็นการเริ่มต้น เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืนจริงๆ เราต้องออกไปมีส่วนร่วมกับขั้นตอนนี้ และหลังจากนี้ เราก็จะมีส่วนร่วมกับขั้นตอนถัดไปอีก ผลักดันแนวคิดของเราต่อไปเรื่อยๆ”

เมื่อถามถึงการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่หลังจากนี้ เขากล่าวถึงการต่อสู้ของคนรุ่นเดียวกันเพื่อให้ได้ชัยชนะที่มีรางวัลเป็นประชาธิปไตยในอนาคต และยังหมายรวมไปถึงสังคมที่พร้อมจะรับฟังความเห็นซึ่งกันและกันตามที่เขาคาดหวังไว้ว่า

“ผมก็ผิดหวังนิดหน่อย แต่ไม่ได้สิ้นหวัง เพราะรู้ว่าพวกเราจะเป็นกลุ่มคนส่วนมากของประเทศในอนาคต เราเป็นคนที่จะสร้างประเทศนี้ต่อไป เราก็ต้องกลับมาตั้งสติ กลับมาคิดว่าเราทำอะไรได้บ้าง แล้วก็เข้าไปอยู่ในจุดหรือกิจกรรมที่เราทำได้ ไม่นั่งจมอยู่กับตัวเอง เราต้องช่วยกันทั้งกับคนในเจเนอเรชั่นของเรา หรือกับกลุ่มคนในช่วงอายุใกล้เคียง ช่วยสร้างประเทศ ต่อให้ผิดหวัง แต่ก็ต้องสู้แหละครับ ใช้คำว่า micro winning situation แล้วกัน เราชนะเป็นจุดเล็กๆ ไป ไม่ใช่เดินไปตะโกนหน้าสภา ก็โดนจับ เราต้องค่อยๆ แก้ จากแต่ละภาคส่วน และเมื่อเราชนะแบบ micro ได้แล้ว สุดท้ายภาพรวมเราก็ต้องชนะ

“มักจะมีคำพูดว่าถ้าไม่อยากเสียเพื่อน ห้ามพูดเรื่องศาสนาหรือการเมือง แต่จริงๆ แล้ว การเมืองเป็นเรื่องที่ต้องพูด คิดต่างก็ต้องพูด ไม่มีใครที่ถูกต้องที่สุดในการบริหารประเทศ ทุกคนมี objective ในการใช้ชีวิตต่างกัน เราต้องคุยกันว่าคุณคิดยังไง แล้วสุดท้ายเราจะพัฒนาสิ่งที่ดีในส่วนรวมได้จริงๆ

“เดี๋ยวนี้คนที่ออกมาพูดว่าดีต่อส่วนรวมคือชนชั้นนำในสังคม เป็นคนชั้นบน เขาคิดว่าความคิดเขาดี แต่ไม่ได้ลงมาพูดคุยกับคนชั้นล่าง ซึ่งผมมองว่าถ้าเราอยากเปลี่ยนแปลงก็ต้องทำให้คนรอบตัวทั้งหมดรู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ต้องแลกเปลี่ยนเพื่อที่จะหาจุดร่วม ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะเกรงใจกัน และต้องยินดีถ้าจะมีคนบอกว่า สิ่งที่เราคิดมันไม่ใช่นะ มันมีมุมอื่นด้วย”

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save