fbpx

การเมืองไทย 2022 : ปีที่ประชาธิปไตยเริ่มเบ่งบาน ดุจดอกไม้ไฟ

การเมืองไทย 2022

ความยากลำบากของการหานิยามให้การเมืองไทยปี 2022 คือ หนึ่ง มันเป็นภาวะที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ส่วนมากจะร้ายมากกว่าดี สอง ในบรรดาเรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้นในปีนี้ สามารถเปลี่ยนคนดีๆ ให้รู้สึกชินและชา และมองว่า ‘นี่ก็เป็นอีกหนึ่งปีที่การเมืองห่วยๆ ดำเนินไปอย่างเป็นปกติ’ ได้ไม่ยาก

ถ้าเทียบกับช่วงสองปีที่ผ่านมา 2022 คงถือว่าไม่มีปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ หรือการเคลื่อนไหวบนท้องถนนอันครึกโครมให้เห็น ถึงการเมืองภาคประชาชนจะไม่ได้สูญสิ้นไปเสียทีเดียว แต่ลำพังการประท้วงจากม็อบชาวนา ม็อบต้าน 8 ปีนายกฯ ประยุทธ์ หรือกระทั่งม็อบราษฎรหยุด APEC ที่แลดูเหมือนเป็นการรวมตัวในวาระยิ่งใหญ่ที่สุด กลับทำได้เพียงยึดครองพื้นที่สื่อชั่วครั้งชั่วคราว

นั่นอาจเป็นเพราะเพดานที่เคยมีอยู่ล้วนถูกทะลุไปจนพรุนแล้ว ปัญหาซุกใต้พรมที่ควรหยิบมาพูด คนก็ทั้งรื้อทั้งคุ้ยออกมาพูดไปจนแทบหมดสิ้น แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อ ‘ช้าง’ ในห้องยังคงนั่งอยู่ที่เดิม ไม่มีวี่แววผู้มีอำนาจจะลงมาจัดการ นอกเสียจากการใช้มาตรการกดปราบและกฎหมายเล่นงานคนร้องเตือนให้เงียบเสียง ซึ่งนับวันจะยิ่งรุนแรงและเชี่ยวชาญมากขึ้นทุกที

ด้านการเมืองในสภา ปีนี้เราได้ชมสารพัดกลยุทธ์จากฝ่ายค้าน ทั้งยุทธการ ‘เด็ดหัว สอยนั่งร้าน’ ของพรรคเพื่อไทย และมหากาพย์ตั๋วช้าง ภาค 2 โดย ส.ส.รังสิมันต์ โรม จากพรรคก้าวไกล ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และคณะรัฐมนตรี ไปจนถึงการรวมตัวของ ส.ส.ฝ่ายค้านยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมนายกฯ ครบวาระ 8 ปีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ฯลฯ

ทว่า ผลสุดท้ายกลับลงเอยด้วยการยกพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (ผู้แข็งแรงกระฉับกระเฉงขึ้นมาทันตา) เป็นนายกฯ รักษาการชั่วคราว ก่อนส่งคืนตำแหน่งแก่น้องรักในเวลาต่อมา ส่วนบทอภิปรายในสภาก็ไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อการเมืองภาพรวมอย่างที่หวังไว้

เรื่องน่าขัดใจทำนองนี้ดำเนินไปตลอดทั้งปี รู้ตัวอีกทีก็กาปฏิทินจนครบทุกช่อง ถึงกระนั้นพอลองมองย้อนเหตุการณ์ต่างๆ เรื่องที่น่ายินดี สีสันของความเป็นประชาธิปไตยยังพอกล่าวได้ว่ามีปรากฏอยู่บ้าง อย่างความคึกคักของสนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผลสืบเนื่องถึงท้องถิ่นแห่งอื่นๆ  

เราจึงตั้งชื่อให้การเมืองปีนี้ว่าเป็นปีที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน — เหมือนกับดอกไม้ไฟ

ลุกไหม้สว่างจ้าในค่ำคืนอันมืดมิด มอบความสุขและขวัญกำลังใจให้ผู้คน แม้จะเปล่งแสงอยู่เพียงชั่วครู่ชั่วยามก็ตามที


สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ –
ความรื่นเริงของคนกรุงเทพฯ เสียงเรียกร้องของคนต่างจังหวัด


‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’

‘วิโรจน์ ก้าวไกล วิโรจน์ ก้าวไกล’

‘เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้’

เปิดปีมาได้ไม่นาน เทศกาลหาเสียงจากบรรดาแคนดิเดตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็เปิดฉากอย่างคึกครื้น และได้รับความสนใจจากสื่อกระแสหลักอย่างล้นหลาม ชนิดที่ไม่ว่าคุณจะมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ เป็นคนจังหวัดใด อย่างน้อยต้องได้ยินชื่อเสียงเรียงนามผู้สมัครมาบ้าง ทั้งชัชชาติ สิทธิพันธุ์ผู้สมัครอิสระ, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล, สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์, ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย, สกลธี ภัททิยกุล, รสนา โตสิตระกูล และพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ จากการแต่งตั้ง จนอาจกล่าวได้ว่าถ้าเทียบกับเทศกาลเลือกตั้งผู้ว่าฯ คราวที่ผ่านๆ มา นี่น่าจะเป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่ น่าตื่นเต้นเร้าใจมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

จะไม่ชวนตื่นเต้นได้อย่างไร ในเมื่อคนกรุงเทพฯ เว้นว่างห่างหายจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ไปนานถึง 9 ปี นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ‘เด้ง’ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ ผ่านการใช้มาตรา 44 กรุงเทพฯ ก็ตกอยู่ภายใต้การบริหาร (อย่างเรียบเรื่อยเอื่อยเฉื่อย) ของผู้ว่าฯ ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยตลอด พอได้กลับมาใช้สิทธิเลือกตั้งอีกครั้ง แถมวันหย่อนบัตรยังเป็นวันครบรอบ 8 ปี รัฐประหาร 22 พฤษภาคม ชาวเมืองกรุงจะคาดหวังรอคอยก็คงไม่แปลก

ในทำนองเดียวกัน ฝ่ายนักวิชาการเองต่างจับตามองผลลัพธ์และภาพสะท้อนจากการเมืองท้องถิ่นสู่ระดับชาติไปพร้อมกัน ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ จากภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ 101 One-on-One Ep.261 ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัครอิสระหลายคน ซึ่งเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ เพราะโดยปกติการสังกัดพรรคการเมืองน่าจะมีภาษีดีกว่า และผู้สมัครอิสระที่เคยชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ในประวัติศาสตร์มีเพียงแค่สองครั้ง คือพลตรีจำลอง ศรีเมือง และพิจิตต รัตนกุล ต้องรอดูว่าผู้สมัครอิสระคราวนี้จะชนะเลือกตั้งเป็นครั้งที่สามหรือไม่ — ยิ่งไปกว่านั้น คือผู้ชนะจะกวาดคะแนนเสียงเกินหนึ่งล้านเสียงเป็นคนที่สาม ถัดจากสมัคร สุนทรเวช และหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ บริพัตร ได้หรือเปล่า

ผลคือสถิติมีไว้ให้ทำลาย โดยผู้สมัครที่ได้รับสมญานามจากประชาชนว่า ‘แข็งแกร่งที่สุด’ – ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

“ชัชชาติสร้างสถิติใหม่หลายต่อหลายเรื่อง ทั้งที่ถือเป็นการลงสนามเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิต” คือถ้อยคำตอนหนึ่งจากบทความ ‘อ่านปรากฏการณ์ชัชชาติผ่านสถิติ ตัวตน และยุทธศาสตร์การเมือง’ ของ ดร.ณัฐกรท่านเดิม หากเราดูชัยชนะแบบ ‘Super-landslide’ จะเห็นว่าชัชชาติได้คะแนนไป 1.3 ล้านคะแนนของจำนวนผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 2.6 ล้านคน คิดเป็น 51.84% ท่ามกลางผู้สมัครทั้งสิ้น 31 คน ทิ้งห่างอันดับสองอย่างสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์นับล้านคะแนน จนกวาดชัยชนะครบทุก 50 เขตและถือว่าได้คะแนนเสียงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ



บุคคลที่ได้รับความนิยมถล่มทลายขนาดนี้ (แม้ถูกโจมตีทำลายภาพลักษณ์จาก ‘ไอโอ’ จำนวนมาก) ใช่ว่าจะมีให้เห็นบนสนามการเมืองได้บ่อยๆ หลายคนจึงพยายามถอดรหัส ‘ปรากฏการณ์ชัชชาติ’ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ในวงสนทนา 101 Public Forum : การบ้าน – การเมืองของผู้ว่าฯ กทม. ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี วิเคราะห์ว่าคะแนนของชัชชาติ “เกิดจากการรวมกันของแม่น้ำ 3 สายที่สู้กับลำธาร 4 แหล่ง” แม่น้ำสายแรกคือฐานเสียงจากพรรคเพื่อไทย สายที่สองมาจากคนชอบพรรคก้าวไกล เลือก ส.ก. ก้าวไกล แต่ไม่เลือกวิโรจน์ ส่วนสายสุดท้าย คือกลุ่มอนุรักษนิยมที่ไม่เลือกเพื่อไทย ไม่ชอบก้าวไกล แต่เลือกชัชชาติ ทั้งหมดนี้สู้กับลำธารทั้งสี่ ได้แก่ พันธมิตร กปปส. ประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ ที่แม้จะเทคะแนนให้ใครสักคนหนึ่งเป็นตัวแทนจากกลุ่มเหล่านี้ก็ยังสู้ชัชชาติไม่ได้

นอกจากชัชชาติจะมีบุคลิกเป็นที่ชื่นชอบจากฝ่ายเสรีประชาธิปไตยและฝ่ายอนุรักษนิยมแล้ว การเลือกลงสมัครในนามอิสระก็ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง เพราะข้อมูลจากโพลสำรวจบ่งบอกว่าคนกรุงเทพฯ ส่วนมากเชื่อมั่นในผู้สมัครอิสระมากกว่าผู้สมัครจากพรรคการเมือง เมื่อผนวกรวมกับการครองตนที่เหมาะสมระหว่างหาเสียง ไม่เล่นการเมืองแบบ ‘สาดโคลน’ การลงพื้นที่เตรียมตัวมากว่าสองปีเต็ม และนโยบายพัฒนาเมืองสองร้อยกว่าข้อ ก็ย่อมถูกจริตถูกใจคนกรุงเทพฯ เป็นธรรมดา

“คุณสมบัติสำคัญของคุณชัชชาติคือเป็นผู้นำที่ไม่เอาประเด็นทางการเมืองมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว และไม่เอามาขยี้ แต่จะเป็นผู้นำสำหรับทุกคน เป็นคุณสมบัติที่สามารถประสานทั้งฝ่ายประชาธิปไตยก้าวหน้าและอนุรักษนิยมเข้ามาไว้ด้วยกันได้ และส่วนหนึ่งคุณชัชชาติมีบุคลิกที่มีความเป็นอนุรักษนิยมสูง แต่เป็นอนุรักษนิยมที่เคารพกติกาประชาธิปไตย และเข้ามาด้วยวิถีทางประชาธิปไตย” สิริพรรณกล่าว

สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้ ‘ปรากฏการณ์ชัชชาติ’ คือคะแนนการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าน่าจะสะท้อนถึงความนิยมของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งระดับชาติครั้งหน้าได้ส่วนหนึ่ง โดยสิริพรรณระบุว่า “พอดูผลก็จะเห็นตัวเลขที่น่าสนใจ การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเพื่อไทยได้สัดส่วนคะแนน 26% ใกล้เคียงกับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2562 ที่มีฐานเสียงในกรุงเทพฯ 25 – 26% พรรคก้าวไกลก็เช่นเดียวกันที่มีฐานเสียงอยู่ที่ 20% ซึ่งตรงกับพรรคอนาคตใหม่เมื่อปี 2562 และพรรคประชาธิปัตย์ที่ปี 2562 ได้สัดส่วนคะแนน 15% การเลือกครั้งนี้ก็ได้ 15% เหมือนเดิม ส่วนพรรคใหญ่อีกหนึ่งพรรคคือพลังประชารัฐ เดิมเมื่อปี 2562 ได้คะแนนประมาณ 25% ครั้งนี้เหลือ 11% หายไป 14%

“พออนุมานได้ว่าฝ่ายค้านในปัจจุบันได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น 3 – 4% ส่วนฝั่งรัฐบาลคะแนนความนิยมลดไปประมาณ 4% โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคพลังประชารัฐ”

จริงเท็จประการใดอาจต้องรอดูผลคะแนนจากเขตกรุงเทพฯ ในการเลือกตั้งระดับชาติปี 2023 พร้อมๆ กับรอชมว่าวิธีการหาเสียงแบบ ‘ขาวสะอาด ไม่สาดโคลน’ เน้นต่อสู้ด้วยนโยบายและวิสัยทัศน์เป็นหลักที่คนต่างชื่นชมในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ นั้นจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการหาเสียงในอนาคตด้วยหรือไม่

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากความชื่นมื่นถ้วนหน้าหลังได้ผู้ว่าฯ คนใหม่ จนเกิดกระแส ‘ชัชชาติฟีเวอร์’ ค้างฟ้าไปอีกหลายเดือนให้หลัง และการจับตามองถึงแรงสั่นสะเทือนถึงการเมืองระดับชาติ อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ต้องพูดถึง คือกระแสเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ นำโดยเพจเฟซบุ๊ก ‘We’re all voter : เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง’ (ภายหลังพลิกบทบาทกลายเป็นสื่อในชื่อ ‘The Voters’) และแคมเปญบนเว็บไซต์ change.org ของสันติสุข กาญจนประกร ตั้งแต่ช่วงที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพยังเดินสายหาเสียง



ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวพันกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นโดยตรง เพราะเป็นที่รู้กันดีว่านอกจากกรุงเทพฯ และพัทยา จังหวัดอื่นๆ ล้วนได้ผู้ว่าฯ มาจากการแต่งตั้ง ภายใต้สังกัดราชการส่วนภูมิภาคทั้งสิ้น นำมาสู่ปัญหาตามที่ รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ให้สัมภาษณ์แก่ 101 ไว้ว่า “โดยตัวโครงสร้างราชการส่วนภูมิภาคจังหวัดทำหน้าที่รับนโยบายมาปฏิบัติ คำว่ารับนโยบายมาปฏิบัติแปลว่าสร้างเองยาก หัวใจคือการทำตามหน้าที่ ผู้ว่าฯ จะมีงานประจำเป็นงาน routine ปกติและงานที่ถูกสั่งมาตามนโยบายแต่ละยุค … ขณะที่ฟังก์ชันการบริการประชาชนของผู้ว่าฯ และภูมิภาคมีข้อจำกัด ส่วนท้องถิ่นที่อยากบริการบ้างกลับไม่มีอำนาจ ไม่มีงบประมาณ บุคลากรเพียงพอ มันก็หัวมังกุท้ายมังกร อิหลักอิเหลื่อกันหมด จนสุดท้ายประชาชนก็เสียประโยชน์

“ปัญหาเรื่องความก้าวหน้าและการทำงาน ประชาชนตรวจสอบอะไรไม่ได้เลย ข้าราชการเวลามีปัญหาก็ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกันเอง ย้ายไปที่อื่นก่อน พอประชาชนลืมค่อยกลับมาทำงานที่เดิม เรื่องการย้ายตำแหน่งนี่เป็นปัญหาที่ทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ ผู้ว่าฯ บางจังหวัดย้ายมาอยู่แค่ปีเดียวเพื่อรอขึ้นเป็นอธิบดี ปลัดกระทรวง พอย้ายไปแล้วแนวทางพัฒนาจังหวัดต่างๆ ก็ถูกทิ้งขว้าง คนใหม่มาไม่สานต่อ ทำให้เสียทรัพยากรเยอะมาก”

หัวใจสำคัญในการบริหารท้องถิ่นจึงเป็นการเพิ่มอำนาจ เพิ่มงบประมาณ และเลือกคนทำงานที่ยึดโยงกับประชาชน ซึ่งอันที่จริง ใช่ว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ นอกเหนือจากกรุงเทพฯ และพัทยา รวมถึงข้อเสนอการกระจายอำนาจจะไม่เคยถูกพูดถึงเลย แต่ที่ผ่านมา ยังคงประสบปัญหา ‘มายาคติ’ ตามคำของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ผู้ผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น หรือร่าง ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ ว่า “คำถามที่เป็นมายาคติต่อการกระจายอำนาจมีสองเรื่อง คือหนึ่ง ท้องถิ่นทุจริต สอง ท้องถิ่นไม่มีศักยภาพ

“ปรัชญาในการบริหารองค์กรทั่วไป ไม่ว่าจะในองค์กรการเมืองหรือองค์กรธุรกิจ คุณจะมีศักยภาพต่อเมื่อมีอำนาจและงบประมาณ แล้วได้ลงมือทำใช่ไหม นี่คือศักยภาพคน ไม่ใช่เกิดมาปุ๊บมีศักยภาพ แต่เกิดจากการลงมือทำ ลองผิดลองถูก ดังนั้นถ้าคุณเอาส่วนกลางออกไป ให้งบประมาณและอำนาจท้องถิ่น ผมว่าเลือกตั้งสองรอบ ใช้เวลา 8 ปี ศักยภาพท้องถิ่นมาเลย

“ประเด็นเรื่องทุจริตคอร์รัปชันเป็นประเด็นของโครงสร้าง ทุกคนในประเทศพูดเหมือนกันหมดว่าเสียงของเขาไม่มีความหมาย เพราะกลไกออกแบบมาให้คนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่มีอำนาจในการบริหารงาน เลือกตั้งทุกครั้ง ชีวิตคุณไม่ดีขึ้นเลย เลือก ส.ส. แล้ว ส.ส. แก้ปัญหาสะพานขาดให้ไม่ได้ เพราะ ส.ส. ไม่มีหน้าที่บริหารราชการ แต่เข้าไปเป็นปากเสียงให้ประชาชนในสภาในการออกกฎหมายต่างๆ ซึ่งหน้าที่บริหารและแก้ไขปัญหาท้องถิ่นอยู่ที่ อบต. แต่ถามว่านายก อบต. แก้ปัญหาให้คุณได้ไหม ไม่ได้อีก เพราะไม่มีงบประมาณ

“ถ้าเอางบเข้าไปในท้องถิ่นได้ ท้องถิ่นแก้ปัญหาในท้องที่ได้เอง ไม่ต้องไปวิ่งของบใคร คนจะรู้สึกเปลี่ยนไป เราต้องปล่อยให้กลไกแบบนี้ทำงาน แล้วคนจะเริ่มรู้ความสำคัญของงบประมาณ เริ่มรู้ว่าบัตรเลือกตั้งทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีได้จริง … คนจะให้ความสำคัญกับการตรวจสอบคอร์รัปชันแล้ว เพราะเขาจะรู้สึกว่าเป็นเงินของเขา เกิดการตรวจสอบ ทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้น

“นี่คือวิธีขจัดการคอร์รัปชัน ไม่ใช่เอาประชาธิปไตยออก แต่เอาประชาธิปไตยยัดใส่เข้าไป”

อีกหนึ่ง ‘มายาคติ’ ยอดนิยมที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจคือคนต่างจังหวัดไม่พร้อมสำหรับการเลือกตั้ง แต่ถ้าดูจากจำนวนจำนวนผู้เข้าร่วมลงแคมเปญสนับสนุนเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศในเว็บไซต์ change.org 1.6 หมื่นคนของสันติสุข และอีก 80,000 กว่ารายชื่อในแคมเปญปลดล็อกท้องถิ่นของคณะก้าวหน้า ย่อมให้คำตอบได้อย่างดีว่าหลายคนเริ่มตื่นตัว มองเห็นความสำคัญของกระบวนการประชาธิปไตย และต้องการมีส่วนร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นกว่าอดีต

น่าเสียดายที่แม้ข้อเรียกร้องจากแคมเปญของสันติสุขจะได้ยื่นต่อประธานคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ และร่างปลดล็อกท้องถิ่นมีโอกาสเข้าไปเป็นญัตติอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรในเวลาต่อมา แต่สุดท้ายกลับถูกปัดตก ยังไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมอันใด 

และแล้วดอกไม้ไฟประชาธิปไตยในปีนี้ของเราก็หมดเวลาฉายแสงไปอย่างรวดเร็ว


นอกจากกัญชาเสรี ก็ไม่มีความหวังเรื่องอื่นในสภาเลย(?)


ว่ากันว่าทุกความเปลี่ยนแปลงในประเทศจะเกิดขึ้นได้จริง อย่างน้อยก็ต้องผ่านกระบวนการตามครรลองภายในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อหมดปี 2022 เราจึงอยากชวนย้อนทบทวนว่าสภาปีนี้มีผลงานอะไรน่าชื่นใจบ้าง นอกจากการ ‘ปัดตก’ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปลดล็อกท้องถิ่นดังที่ได้กล่าวไป

จะเห็นว่าไม่ใช่แค่ร่างปลดล็อกท้องถิ่นของคณะก้าวหน้าเท่านั้น แต่ ‘ร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า’ จากพรรคก้าวไกลยังมีชะตากรรมไม่ต่างกัน ความหวังของผู้ผลิตสุรารายย่อยทยอยมอดดับ กระทั่งประกาศกฎกระทรวงอนุญาตผลิตสุราฉบับใหม่ (ที่ประกาศใช้ 1 วันก่อนร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะได้รับการโหวตในสภา) ก็ไม่สามารถกู้คืนกลับมาได้  

“ในกฎกระทรวงใหม่นี้ยังมีอะไรอยู่ข้างในอยู่ เขาทำให้ดูเหมือนกับว่าเปิดให้ อย่างเช่น ทำให้ brewpub (โรงเบียร์ที่ผลิตในร้าน ขายในร้านเท่านั้น ห้ามบรรจุขวดขาย) ทำได้ง่ายขึ้น ทำให้เปิดทำที่บ้านได้ บริโภคได้ 200 ลิตรต่อปี มันก็ไม่ได้มากมายอะไร และต้องไปขออนุญาตกันวุ่นวาย หรือเรื่องของการผลิตเบียร์ที่บอกว่าต้องผลิต 10 ล้านลิตรต่อปี เขาเอาออก เพราะแรงกดดัน แต่ก็ใส่อย่างอื่นเข้ามาแทน เช่น ต้องทำผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต้องมีเครื่องมือในการพิมพ์หลักฐานการเสียภาษีอัตโนมัติ ส่งข้อมูลไปที่คอมพิวเตอร์กรมสรรพสามิต ถามว่าโรงเล็กๆ โรงไหนจะทำได้ ก็ต้องเป็นโรงใหญ่ลงทุนอยู่ดี ถึงทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาทไม่มี มันก็ต้องลงทุนเรื่องนี้อยู่ดี เพื่อจะทำระบบตามที่เขากำหนด”

ข้างต้นนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของกฎกระทรวงที่ ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และเจ้าของเพจ Surathai ให้สัมภาษณ์แก่ 101 วิจารณ์ว่า ‘ยัดไส้’ และให้ประโยชน์ไม่เหมือนกับร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้าที่กลุ่มผู้ผลิตสุราผลักดัน

“ถ้าจะมองว่าเป็นเรื่องการเมือง ฝ่ายรัฐบาลไม่อยากให้กฎหมายฝ่ายค้านผ่านก็อาจจะมองได้ แต่ผมมองว่าเรื่องการกีดกันรายย่อยยังคงอยู่ เพราะถ้าหากกฏกระทรวงนี้ตั้งใจจะช่วยจริงหรือตั้งใจจะปลดล็อกจริง มันต้องไม่มีการล็อกสเป็กหรือเอาอะไรไปยัดไส้เอาไว้”

เหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนในกรณีของ ‘ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม’ เสนอโดยพรรคก้าวไกลเช่นกัน ครั้งนั้นก่อนร่าง พ.ร.บ. จะเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณา ครม.ก็ประกาศเห็นชอบ ‘ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต’ ซึ่งเสนอโดยกระทรวงยุติธรรม พร้อมระบุว่าเป็น ‘ของขวัญ’ แด่ผู้มีความหลากหลายทางเพศในช่วงเทศกาล Pride Month ทั้งๆ ที่ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.ผู้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ยืนยันหนักแน่นในรายการ 101 One-on-One ว่าทั้งสองร่างไม่มีทางเหมือนกัน

“ถ้าเป็นสมรสเท่าเทียม เราจะไม่ต้องมาถามว่าประชาชนจะได้อะไรหรือไม่ได้อะไรบ้าง เพราะทุกคนจะได้ทุกอย่างตามที่คู่สมรสได้รับ ไม่ต้องมีคำถามต่อ และหลักการสำคัญคือคู่ชีวิตไม่เหมือนสมรสเท่าเทียม เพราะกฎหมายคู่ชีวิตมีข้ออนุโลมมากมาย สุดท้ายทุกอย่างจะตกไปเป็นภาระของประชาชน แค่เอากฎหมายสมรสเท่าเทียมก็จบ

“ถ้าคุณโหวตสมรสเท่าเทียม แปลว่าคุณจริงใจและยอมรับกลุ่ม LGBT แบบไม่มีเงื่อนไข แต่ถ้าคุณโหวตคู่ชีวิต แปลว่าคุณยังยอมรับกลุ่ม LGBT แบบมีเงื่อนไข และมองแต่เรื่องการเมือง กลัวว่ามันจะเป็นผลงานของก้าวไกล แต่เราบอกเสมอว่าสุดท้ายสมรสเท่าเทียมจะเป็นผลงานของรัฐสภาชุดนี้ ไม่ใช่แค่ของก้าวไกล ส.ส.ทุกคนมีสิทธิเข้าไปแก้ไขกฎหมายอยู่แล้ว มันเป็นเรื่องของเราทุกคน”



โชคดีที่บรรดา ส.ส. ในสภาน่าจะมีความจริงใจกับชาว LGBTQ+ อยู่บ้าง ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม จึงผ่านการโหวตในวาระแรก แม้ด้วยคะแนนเฉียดฉิวที่ 212 ต่อ 180 อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตเองกลับผ่านวาระแรกด้วยเช่นกัน ดังนั้นก่อนจะก้าวข้ามการพิจารณาในสภาวาระ 2 และ 3 จนประกาศใช้กฎหมายอย่างเป็นรูปเป็นร่าง เราคงไม่อาจนิ่งนอนใจได้ว่าหลักการสมรสเท่าเทียมดังกล่าวจะมีหน้าตาเหมือนที่ประชาชนหวังไว้ทุกประการ

ตรงกันข้ามกับร่างกฎหมายที่เสนอโดยฝ่ายค้าน ดูเหมือนนโยบาย ‘กัญชาเสรี’ ของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทยเคยหาเสียงจะดำเนินการได้อย่างราบรื่นไร้อุปสรรค ถึง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง จะยังคงต้องรอคิวพิจารณา แต่ทว่าประกาศกระทรวงสาธารณสุขกลับเดินหน้าปลดกัญชาออกจากยาเสพติดประเภทที่ 5 อันทำให้ทุกส่วนของกัญชาและกัญชงไม่ถือเป็นยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มี THC มากกว่า 0.2% ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2022 ทำให้เกิดภาวะสุญญากาศไร้มาตรการควบคุม จนปรากฏภาพคนเสพกัญชาในที่สาธารณะ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จนคนมองกระอักกระอ่วน

ยิ่งไปกว่านั้น ในสายตาของ ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิทยาศาสตร์ Centre for Addiction and Mental Health แคนาดา ยังมองเนื้อหาร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับพรรคภูมิใจไทยที่กำลังจะตามมาว่าเป็นการควบคุมที่ ‘แทบไม่ได้ควบคุมอะไรเลย’

“ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับพรรคภูมิใจไทย ถ้าอ่านอย่างละเอียด เรียกได้ว่าแทบไม่ได้ควบคุมอะไรเลย มีการควบคุมในกรณีการทำธุรกิจ ได้แก่ การปลูก ผลิต แปรรูป นำเข้า ส่งออกหรือจำหน่ายต้องขออนุญาต แต่ยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดและยังเปิดให้รัฐมนตรีสาธารณสุขสามารถประกาศยกเว้นการควบคุมการจำหน่ายและการโฆษณาของชิ้นส่วนของกัญชา กัญชง และสารสกัดหรือกากจากการสกัดได้ในภายหลัง หมายความว่าให้ควบคุมน้อยลงได้ในอนาคต เพราะฉะนั้นแม้จะอ้างว่าจะต้องออก พ.ร.บ. มาควบคุมในเร็วๆ นี้ ก็ไม่ใช่ว่า พ.ร.บ. จะช่วยคุมอะไรได้

“ส่วนเรื่องการปลูกในบ้านโดยไม่จำกัดจำนวน ทั้งที่ถ้าเทียบกับประเทศที่อนุญาตให้ปลูกกัญชาได้นั้น ในประเทศอุรุกวัยก็ห้ามปลูกเกิน 6 ต้น ในแคนาดาห้ามปลูกเกิน 4 ต้น และยังกำหนดว่าห้ามปลูกให้สาธารณะมองเห็นจากข้างนอก แต่นโยบายของประเทศไทยคือปลูกเท่าไรก็ได้ ปลูกอย่างไรก็ได้ ส่วนที่น่ากังวลคือ พ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่ได้มีการควบคุมการใช้ช่อดอกที่เพียงพอ ทั้งๆ ที่ช่อดอกมีสาร THC สูง เป็นสารเมา และช่อดอกคือส่วนที่คนจะสูบเพื่อความบันเทิง

“มาตรการเดียวที่ชัดเจนใน พ.ร.บ.นี้คือห้ามจำหน่ายแก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร แต่ถ้าเด็กได้มาฟรีหรือไปเด็ดดอกมาจากหลังบ้านหรือไปขโมยมาล่ะ ก็คุมไม่ได้ ดังนั้นมาตรการเพียงเท่านี้จึงไม่ต่างจากการไม่มีมาตรการควบคุมเลย”

แม้ว่าศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) โดย 101 PUB และ สสส. จะพยายามเสนอแนวทางควบคุมกัญชาเพื่อที่อย่างน้อยที่สุดจะได้ไม่เกิดผลร้ายแก่เด็กและเยาวชน แต่เมื่อดูจากตัวอย่างกระบวนการผลักดันกัญชาแบบเร่งรีบที่ผ่านมาและทิศทางลมของการเมืองในสภาที่มักโน้มเอียงไปหาฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลด้วยแล้ว

ไม่มีใครกล้าพูดเต็มปากสักเท่าไหร่ว่ารัฐสภาไทยจะให้ความสำคัญแก่ผลประโยชน์ของประชาชนเป็นอันดับแรก



ประยุทธ์รอด เอเปกไม่ล่ม –
ว่าด้วยผลงานของนายกฯ และรัฐบาลประจำปี (?)


ถึงหลายคนอาจจะมองรัฐสภาเป็นเวทีละครฉากหนึ่งที่ให้นักการเมืองขึ้นแสดง แต่การกล่าวเหมารวมว่า ส.ส. ทุกคนไม่มีผลงานใดถูกใจประชาชนเลยก็คงเป็นคำกล่าวที่ไม่ยุติธรรมนัก เพราะอย่างน้อยในปีที่ผ่านมา เรายังได้เห็น ส.ส. ฝ่ายค้านพยายามร่วมมือกันตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและการใช้อำนาจของพลเอกประยุทธ์พร้อมเครือข่ายไปไม่น้อย ไม่ว่าจะในวาระอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือการอภิปรายแทรกตามวาระอื่นๆ

ด้านเหตุการณ์สำคัญที่ควรค่าแก่การกล่าวถึงในปีนี้ คือการที่บรรดา ส.ส.ฝ่ายค้าน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยื่นคำร้องถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอส่งคำร้องไปศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าสถานะนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงเนื่องจากดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลาเกินกว่า 8 ปี นับตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป ตามที่กำหนดในมาตรา 170 ประกอบกับมาตรา 158 วรรคสี่แห่งรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และเป็นเหตุให้ในเวลาต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติสั่งพลเอกประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว คนไทยจึงได้เห็นพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ขึ้นมารั้งตำแหน่งรักษาการ พร้อมแผลงอิทธิฤทธิ์ ‘ใจบันดาลแรง’ เดินเหินคล่องแคล่ว ปราศจากอาการง่วงงุนจากรองนายกฯ คนนี้เป็นครั้งแรก

กระนั้น เราคงพูดได้ไม่เต็มปากเช่นกันว่ากรณีข้างต้นเป็นผลงานของฝ่ายค้าน ในเมื่อสุดท้ายแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าความเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ยังไม่สิ้นสุดลง เพราะช่วงเวลาการดำรงตำแหน่ง 8 ปีต้องเริ่มนับจาก 6 เมษายน พ.ศ. 2560 หรือวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 – กล่าวให้ชัดคือนี่น่าจะเป็นผลงานของพลเอกประยุทธ์เสียมากกว่าที่เอาตัวรอดจากสถานการณ์คับขันได้ แถมยังสามารถไปต่อกับเส้นทางการเมืองอีก 2 ปี ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากนักนิติศาสตร์

“การชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นปัญหาว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี อันเป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 170 ประกอบกับมาตรา 158 วรรคสี่แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (รัฐธรรมนูญ 2560) หรือไม่ อาจจะไม่ได้เปลี่ยนฉากทัศน์ทางการเมืองของไทยมากนัก แต่สำหรับวงการนิติศาสตร์แล้ว คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญอาจจะเป็นบทสรุปของระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยซึ่งถูกกระทำย่ำยีครั้งแล้วครั้งเล่าจนยากที่จะเชื่อว่าไทยมีระบบกฎหมายแบบตะวันตกมากกว่าร้อยปีและเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อเก้าสิบปีก่อน”

รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นในบทความ ‘ตีความอย่างไรให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้เกิน 8 ปี’ พร้อมชี้ว่าจากกรณีดังกล่าว “เราได้เห็นปรากฏการณ์ที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญออกมาแสดงความคิดเสนอแนะแนวทางในการตีความการนับระยะเวลา 8 ปี มาตรา 158 ทั้งที่ไม่ได้แสดงความคิดเห็นเอาไว้ในเวลาที่ควรแสดงความคิดเห็น คือ ในเวลาที่มีการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งประธานได้หยิบยกปัญหาเดียวกันเพื่อหารือ เราได้เห็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่เคยแสดงความเห็นอย่างหนึ่งไว้ในที่ประชุม แต่เปลี่ยนความคิดเห็นเป็นอีกอย่างหนึ่งในภายหลัง และเราได้ยินข่าวลือว่าประธานคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญให้ความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าความเห็นของตนที่ได้บันทึกไว้ในรายงานการประชุมของ กรธ. เป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ผู้จดบันทึกรายงานการประชุมซึ่งยังไม่มีการรับรองโดยคณะกรรมการแต่อย่างใด

“แนวทางการตีความกฎหมายและการโต้แย้งข้อเท็จจริงที่พิสดารเหล่านี้ ไม่มีฐานทฤษฎีในทางนิติศาสตร์รองรับอย่างชัดเจน และวางอยู่บนข้อเท็จจริงที่อาจจะไม่ครบถ้วนหรือถูกบิดเบือนเพื่อให้คำอธิบายของตนมีน้ำหนักและน่าเชื่อถือ”

มุนินทร์เน้นย้ำว่าหากจะตีความการนับเวลา 8 ปีตามมาตรา 158 วรรคสี่ ให้สอดคล้องตามหลักนิติศาสตร์อย่างที่ควรจะเป็นจริงๆ ควรตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่ง “เจตนารมณ์ของมาตรา 158 วรรคสี่ในการนับเวลา 8 ปีของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีเพียงเจตนารมณ์เดียวเท่านั้น คือการเริ่มนับตั้งแต่ พ.ศ. 2557 แต่ถ้าอยากตีความให้นายกรัฐมนตรีอยู่เกิน 8 ปี ก็ต้องตีความตามอำเภอใจ ซึ่งเป็นการตีความแบบไทยๆ ที่มีให้เห็นอยู่เสมอ

แน่นอนว่าผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ กลายเป็นสิ่งตอกย้ำถึงความพิลึกพิลั่นในกระบวนการยุติธรรมไทยอีกหนึ่งกรณี จนไม่น่าแปลกใจถ้าจะมีใครตั้งคำถามถึงการดำรงอยู่ของศาลรัฐธรรมนูญว่าจำเป็นต่อสังคมไทยแค่ไหน มุนินทร์เองก็เช่นกัน เขาวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนในบทความชื่อ ‘ประเทศไทยไม่ต้องการศาลรัฐธรรมนูญ’ ว่า

“ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีอยู่เพียงแค่ปกป้องรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ไม่ได้ปกป้องคุณค่าของประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน สังคมไทยก็ไม่จำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ

“ถ้าศาลรัฐธรรมนูญประกอบไปด้วยสมาชิกส่วนใหญ่ที่เป็นอดีตผู้พิพากษาหรือตุลาการที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในคุณค่าของประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน สังคมไทยก็ไม่จำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ

“ถ้าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยที่บ่งบอกถึงความเข้าใจในหลักการทางรัฐธรรมนูญ ตลอดจนคุณค่าสูงสุดทั้งหลายในทางรัฐธรรมนูญ สังคมไทยก็ไม่จำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ

“ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับการสรรหาจากองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน สังคมไทยก็ไม่จำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ”

เพราะในสายตาของมุนินทร์ สังคมไทยในเวลานี้ไม่ได้ต้องการศาลรัฐธรรมนูญอันเป็นมรดกของเผด็จการอีกต่อไป “หากแต่ต้องการศาลสูงสุดในการทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิมนุษยชนของปวงชนชาวไทยในทำนองเดียวกับศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป”

“ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทยในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านและการต่อสู้กันระหว่างคุณค่าในทางจารีตประเพณีกับคุณค่าของสิทธิขั้นพื้นฐาน และในสังคมที่ผู้คนจำนวนมากพร้อมที่จะสละสิทธิเสรีภาพของตัวเองและสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นตามคำล่อลวงของเผด็จการ เป็นสังคมที่ต้องการศาลสิทธิมนุษยชนอยู่เสมอเพื่อคอยปกป้องคุ้มครองในยามที่อ่อนแอและคอยเตือนภัยไม่ให้ประชาชนตกหลุมพรางของเผด็จการ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตอนลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญ 2560

“ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะช่วยยืนยันได้ว่าประเทศไทยสามารถปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องจำคุกหรือดำเนินคดีกับผู้คนที่แสดงออกซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะต้องปฏิเสธวิถีแห่งอำนาจนิยมที่รัฐและหน่วยงานของรัฐเคยใช้ได้ผลมาในสังคมไทยในการปิดหูปิดตาและกดทับสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะต้องส่งเสริมให้เกิดเวทีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้คนในสังคมได้อย่างอิสระและปลอดภัย และศาลสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะต้องทำหน้าที่เป็นเกราะกำบังให้กับประชาชนจากการใช้อำนาจเผด็จการทุกรูปแบบ

ความฝันเรื่องการตั้งศาลสิทธิมนุษยชนที่ช่วยคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยจะสำเร็จวันไหนอาจไม่มีใครหยั่งรู้ — แต่สำหรับความฝันของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะถึงฝั่งจนรู้สึก ‘ฟิน’ ไปเรียบร้อย

ในแวดวงคอการเมืองที่ติดตามสถานการณ์อย่างเหนียวแน่นต่างรับทราบกันดีว่า หนึ่งในความมุ่งมาดของนายกฯ ผู้มีประวัติรัฐประหาร จนถึงขั้นปีนกลับขึ้นมาจากขอบเหว 8 ปีคนนี้ คือการนั่งเก้าอี้เจ้าบ้านประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก (APEC) ครั้งที่ 29 ช่วงวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2022

ถ้าไม่นับว่านี่จะเป็นผลงานที่พลเอกประยุทธ์สามารถคุยโวได้เต็มปากเต็มคำ อย่างน้อยสำหรับ รศ.ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็มองว่าผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการประชุมภายใต้ธีม ‘เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยง สู่สมดุล’ (Open Connect Balance) นี้ ได้แก่ ผู้เข้าร่วมประชุมและสื่อต่างชาติที่ติดตามการประชุมของบรรดาคณะทำงานมาตั้งแต่เดือนมกราคมน่าจะทำให้การท่องเที่ยวของไทยคึกคักขึ้นได้ในระยะสั้น ส่วนระยะยาว หากไทยผลักดัน FTAAP (Free Trade Area of the Asia-Pacific) ที่ควรสำเร็จมาตั้งแต่ปี 2020 ให้มีความก้าวหน้าเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมถึงการผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) ให้เป็นที่ประจักษ์ ยอมรับในเวทีสากลได้ น่าจะเป็นประโยชน์แก่ความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ฟากฝ่ายรัฐบาลจะมองว่าการประชุมเอเปก (และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องตามมา เช่นการเชิญแขกพิเศษอย่างประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส และมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียหลังมีเรื่องบาดหมางกันมากว่า 32 ปีมาเยือนประเทศไทย) เป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ แต่เบื้องหลังฉากหน้าอันสวยหรู คือการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม ‘ราษฎรหยุดเอเปก’ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2022 จนในมุมมองของประชาชนเรียกการประชุมครั้งนี้ว่า ‘เอเปกเลือด’  



“เราไม่ได้จะขับไล่รัฐบาลหรือล้มเอเปก แต่จะประจานรัฐบาลต่างหาก เพราะโครงการที่รัฐบาลผลักดันผ่านเอเปกนั้นไม่ชอบธรรมและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน นายกฯ อาศัยโอกาสนี้ผลักดันนโยบายของตัวเองเป็นนโยบายของเอเปก คุณตั้งใจจะใช้เอเปกอนุมัตินโยบายและปิดปากประชาชน เราไม่ได้มีความคิดจะปิดศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์หรือก่อความวุ่นวายเลย”

บารมี ชัยรัตน์ ตัวแทนจากสมัชชาคนจน ผู้ร่วมเหตุการณ์การปะทะระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐเล่าให้ฟังในรายการ 101 One-on-One Ep.283 เขายังคงจำได้ดีว่าตนแจ้งจัดการชุมนุมอย่างถูกต้องต่อสถานีตำรวจในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องและน่าจะเกี่ยวข้องแล้ว กระนั้นเจ้าหน้าที่ก็ยังอ้างว่าไม่อนุญาต รวมถึงนำรถมากั้นฝูงชนไว้ ใช้ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้ามาตี ยิงกระสุนยางใส่ บานปลายกลายเป็นเหตุรุนแรงที่ไม่มีใครคาดหวังให้เกิดขึ้น

ในช่วงตอนหนึ่งของการสัมภาษณ์ พิธีกรถามบารมีว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจะส่งผลต่อการเลือกตั้งปีหน้าบ้างหรือไม่

เขาตอบอย่างเรียบง่ายว่าการตัดสินใจเช่นนี้ “เป็นเรื่องปกติสำหรับรัฐบาลและผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง พวกเขาไม่มีอะไรต้องรับผิดชอบหรือยึดโยงกับประชาชน”


สืบสานปณิธาน ปฏิบัติการขจัดผู้เห็นต่างดำเนินต่อ


ไม่เพียงแค่การปรามผู้ชุมนุมทางการเมืองด้วยความรุนแรงเท่านั้นที่ยังคงบังเกิดขึ้นเรื่อยๆ การปราบผู้เห็นต่างทางการเมืองด้วยกฎหมายก็ยังคงดำเนินต่อไป กลายเป็น ‘นิติสงคราม’ ที่ยังไม่มีทีท่าว่ารัฐจะอ่อนข้อหรือรับเสียงเรียกร้องจากขบวนการภาคประชาชน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น นับวันยิ่งจะพิสดารและกว้างขวางเกินกว่านักนิติศาสตร์จะทำความเข้าใจ จากเดิมมาตราดังกล่าวครอบคลุมถึงการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายแค่สี่บุคคล อันได้แก่พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ในปีนี้ เราได้เห็นว่าการพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลก่อนๆ อย่างรัชกาลที่ 4 หรือกระทั่งวิจารณ์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 ก็ยังมีสิทธิ์ได้รับโทษเช่นกัน

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ภาวะปกติสำหรับนักกฎหมาย ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ด้านกฎหมายมหาชนจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแสดงความเห็นไว้ในบทความ ‘อดีตอันเป็นนิรันดร์ในกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ไทย’ ของตนว่า “ประเทศไทยนั้น แม้จะใช้ระบบประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งโดยทฤษฎีแล้วควรจะตีความโดยยึดลายลักษณ์อักษรของกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติ นักกฎหมายไทยยึดมั่นในคำพิพากษาฎีกาเป็นบรรทัดฐาน ความยึดมั่นในคำพิพากษาฎีกาของไทยนั้น เอาเข้าจริงรุนแรงยิ่งกว่าในระบบกฎหมายจารีตประเพณีซึ่งเป็นต้นทางของนิติวิธีนี้เสียอีก เนื่องจากนักกฎหมายไม่น้อยต่างท่องจำบรรทัดฐานในลักษณะของสูตรคาถามากกว่าจะวิเคราะห์ข้อเหมือนข้อต่างของคำพิพากษาเหล่านั้นอย่างจริงจังเพื่อสกัดหลักกฎหมายออกมา

“อันที่จริง การขยายความรวมอดีตกษัตริย์เข้าไปไว้ในมาตรา 112 นั้นอาจจะทำให้เกิดผลแปลกประหลาด คือวิจารณ์ประวัติศาสตร์ไทยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพระนเรศวร พระเจ้าเอกทัศน์ หรือใครใดๆ ไม่ได้เลย อันตรายข้อนี้มีนักนิติศาสตร์พยายามชี้ให้เห็นบ้าง แต่ระบบยุติธรรมก็แก้ไขปัญหาพิสดารนี้ได้อย่างสวยงาม ด้วยการใช้มาตรา 112 เฉพาะกับผู้เห็นต่างกับรัฐบาลเท่านั้น แต่ไม่ใช้มาตรฐานนี้กับฝ่ายผู้สนับสนุนรัฐบาล”

ทำนองเดียวกัน มุนินทร์ พงศาปานเองก็ชวนตั้งคำถามผ่านบทความ ‘คำวินิจฉัยที่ทำให้พระมหากษัตริย์เดือดร้อน’ ว่า “พระราชดำรัสตอนหนึ่งของรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พระราชทานเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ความว่า “…นักกฎหมายชอบให้ฟ้อง ให้จับเข้าคุก…” และ “…ใครบอกให้ลงโทษ อย่าให้ลงโทษเขา ลงโทษไม่ดี…”

“หากสรุปและแปลความจากพระราชดำรัสส่วนนี้ทั้งหมด คือ ทรงเห็นว่าการบังคับใช้มาตรา 112 ไม่ได้ช่วยปกป้องพระมหากษัตริย์ แต่กลับทำให้พระมหากษัตริย์เดือดร้อน ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 มีการดำเนินคดีตามมาตรา 112 เพียงไม่กี่คดียังทำให้พระมหากษัตริย์รู้สึกเดือดร้อนได้ขนาดนั้น ปัจจุบันการดำเนินคดีตามมาตรานี้ที่เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณจะระคายเคืองต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ขนาดไหน?

ทั้งนี้ มุนินทร์มองว่าช่วงที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรมไทยที่เกี่ยวข้องกับคดีมาตรา 112 เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงที่ดีมากขึ้น อาทิ ศาลอนุญาตให้มีการประกันตัวผู้ต้องหา พยายามตีความองค์ประกอบของมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับหลักทฤษฎีทางกฎหมาย รวมถึงยกฟ้องในบางกรณี สิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นความกล้าหาญ มีความซื่อตรงต่อหลักการกฎหมาย (integrity) แสดงถึงความเข้าใจต่อ ‘เทศกาลบ้านเมือง’ ของผู้พิพากษาและผู้ที่เกี่ยวข้อง

แต่ความเปลี่ยนแปลงที่ดีดังกล่าว อาจไม่ได้หมายความว่า ‘ดีที่สุด’

จริงอยู่ที่ศาลอนุญาตมีแนวโน้มให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 และคดีทางการเมืองมากขึ้น ทว่าเงื่อนไขบางประการ เช่น ต้องสวมกำไลอีเอ็มที่ข้อเท้าตลอดเวลา ก็ถือว่าพรากเสรีภาพจากผู้ต้องหาเหล่านั้นไปไม่น้อย สุ้มเสียงส่วนหนึ่งของพวกเขาสะท้อนผ่านผลงานของพิมพ์ชนก พุกสุข ที่คุยกับ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, บีม-ณัฐกรณ์ ชูเสนาะ, ลูกเกด-ชลธิชา แจ้งเร็ว และเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ทำให้เราเห็นปัญหาของ ‘การจองจำรูปแบบใหม่’ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามออกจากบ้าน ยกเว้นได้รับอนุญาตจากศาล เดินทางไปต่างประเทศไม่ได้  ไม่อาจสมัครงานได้ ห้ามถอดและต้องชาร์จแบตเตอรี่ให้กำไลอีเอ็มอยู่เสมอ จนเกิดปัญหาด้านสุขภาพ

“กำไลอีเอ็มจึงไม่เพียงเป็นภาพแทนของการติดตามจากรัฐ หากแต่มันยังเป็นเสมือนหลักฐานที่บอกถึงความย้อนแย้งของกระบวนการยุติธรรมไทย”



นอกเสียจากการดำเนินคดีและสร้างเงื่อนไขในการปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่รัฐกระทำต่อนักกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเสมอมาคือการเฝ้าจับตามอง รวมถึงอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงใช้ ‘อำนาจนอกกฎหมาย’ ควบคุมตัวเมื่อต้องการ ชนิดไม่สนว่าเป็นเยาวชนหรือผู้ใหญ่ ตามคำบอกเล่าของเหล่านักเคลื่อนไหววัยรุ่นในบทความ ‘การคุกคามใต้ความสงบเงียบ : ชีวิตที่ไม่ปลอดภัย เมื่อรัฐไทยไม่ปล่อยให้เยาวชนส่งเสียง’

“ปกติที่เราโดนคือมีพี่ทหารทักมาถามว่าอยู่ไหน ถามข้อมูลของเรา ทักมาบ่อยจนเรานับรอบไม่ได้แล้ว ซึ่งบางทีเราก็ไม่ได้ตอบตรงๆ เพราะเราห่วงเรื่องความเป็นส่วนตัวของตัวเอง … สังเกตว่าช่วงที่มีงานสำคัญๆ เกี่ยวกับราชวงศ์ เขาก็จะทักมาบ่อย เริ่มมาติดตามเรา” จิ๋วจิ๋ว (นามสมมติ) วัย 16 ปีกล่าว ประสบการณ์ของเธอคล้ายคลึงกับ กันต์ – กันตพัฒน์ มาตรบรรเทา วัย 18 ปี ที่บอกว่าเจอการคุกคามมาตลอดตั้งแต่อายุ 15 หลังเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง หนักข้อถึงขั้นเคยคิดฆ่าตัวตายเสียด้วยซ้ำ

“หลายเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเยาวชนแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้สังคม แค่พูดถึงอำนาจรัฐที่คุกคามเราอยู่ กลับทำให้ชีวิตของเขาต้องเจอปัญหาหลายอย่างจากเจ้าหน้าที่รัฐ”

ยิ่งไปกว่านั้น ดูเหมือนว่ารัฐไทยจะพยายามสอดส่องจับตาประชาชนประหนึ่ง ‘พี่เบิ้ม’ ในนวนิยายดิสโทเปียเรื่องดัง ‘1984’ ของจอร์จ ออร์เวล ผ่านเทคโนโลยีสปายแวร์ชื่อว่า ‘เปกาซัส’ (Pegasus) อีกด้วย – ที่น่ากลัวคือโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์ – iLaw) เปิดเผยว่ามีนักวิชาการ นักกิจกรรมการเมือง และเอ็นจีโอไทยอย่างน้อย 30 คนถูกเปกาซัสสอดแนมข้อมูลส่วนตัวในโทรศัพท์มือถือ โดยตรวจพบครั้งแรกเมื่อ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2563 และ ณ ตอนนี้ สามารถตรวจได้แค่มือถือที่มีปฏิบัติการไอโอเอส (iOS) เท่านั้น จึงยังไม่แน่ชัดว่าแท้จริงแล้วมีผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพในไทยกี่คนกันแน่

“สิ่งที่เปกาซัสต่างออกไป (จากสปายแวร์ตัวอื่น) แล้วก็ทำให้มันน่ากลัวมากๆ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในอาวุธไซเบอร์ที่น่ากลัวที่สุดในโลกเลยก็คือว่า มันมีความสามารถในสิ่งที่เราเรียกว่า zero-click ไม่ต้องคลิกอะไรเลยนะครับ แล้วมันสามารถเข้ามาได้โดยที่เราไม่รู้ตัว อยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว เอาข้อมูลไปโดยที่เราไม่รู้ตัว และก็ออกไปโดยที่เราไม่รู้ตัวด้วย มันสามารถที่จะเอาข้อมูลของเราไปได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่ายวิดีโอ แชท พาสเวิร์ดเข้าโซเชียลมีเดีย ไฟล์ต่างๆ เปิดไมค์ เปิดกล้อง”

รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล เจ้าหน้าที่ iLaw อธิบายรายละเอียดการทำงานของสปายแวร์เปกาซัสส่วนหนึ่งในสารคดี ‘From Trojan Horse to Pegasus: When the Big Brother is watching you’



“อันนี้คือความน่ากลัวที่ทำให้เปกาซัสต่างจากสปายแวร์อื่นและมีราคาแพงมาก มีการอ้างว่าเปกาซัสถูกใช้เพื่อต่อต้านการก่อการร้าย ต่อต้านการค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด แต่ว่าหลักฐานที่มันออกมาเรื่อยๆ มันกลับทำให้เห็นว่า มากกว่าการใช้ต่อต้านขบวนการยาเสพติดคือการเอาไปใช้กับนักสิทธิมนุษยชน การเอาไปใช้กับนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม การเอาไปใช้กับศัตรูทางการเมือง อันนี้เป็นแพทเทิร์นที่เราเห็นมาทั่วโลก”

แม้ภายหลัง ตัวแทนจากฝั่งรัฐบาล ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และพลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม จะออกมาปฏิเสธว่า “ทางกระทรวงดิจิทัลไม่ได้เป็นคนทำเรื่องนี้ เพราะเราไม่มีอำนาจ … เท่าที่ผมทราบ มันจะเป็นงานด้านความมั่นคงหรือด้านยาเสพติด” หรือ “รัฐบาลนั้นขอเรียนยืนยันว่า ไม่ได้มีนโยบายที่จะไปใช้สปายแวร์อะไรที่จะไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใด ไม่มีนโยบาย ไม่เคยกำหนดนโยบายที่จะใช้สปายแวร์หรือปฏิบัติการข่าวสารนั้นไปดำเนินการที่จะไปกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลหรือประชาชนโดยทั่วไป” แต่ดูเหมือนประชาชนก็ยังไม่เชื่อถือคำกล่าวอ้างนั้นเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

“ทำไมเราถึงชี้นิ้วไปที่รัฐบาลไทยนะครับ หนึ่ง ที่สำคัญที่สุดคือ บริษัท NSO จะขายเปกาซัสให้แก่หน่วยงานของรัฐบาลเท่านั้น ประการที่สองก็คือว่า ทุกคนที่ถูกเจาะมีประวัติในการทำกิจกรรมที่เห็นต่างจากรัฐบาลทั้งหมด ซึ่งอันนี้มันก็ชี้ไปที่รัฐบาลไทยอีกนะครับ ข้อที่สามก็คือว่า ไม่มีรัฐบาลต่างชาติรัฐบาลไหนที่มีเหตุผลมากพอ หรือมีผลประโยชน์มากพอที่จะมีเจาะนักกิจกรรมไทย แล้วก็ข้อที่สี่ ก็คือว่ารัฐบาลไทยเองก็มีประวัติในการติดต่อทำธุรกิจกับบริษัท NSO มานานอยู่แล้วนะครับ”

รัชพงศ์โต้ตอบการแก้ตัวของรัฐบาลข้างต้น และเน้นย้ำว่า “ถ้าเกิดว่ารัฐบาลไทยใสสะอาด ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้จริง เขาจะต้องรีบสอบสวน คิดดูว่าถ้าเกิดว่าการโจมตีมันมาจากต่างประเทศ ถ้าเจาะนักกิจกรรมไทย แล้วคุณไม่คิดเหรอว่าเขาจะไม่เจาะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลไทย นี่คือเรื่องของความมั่นคงของประเทศนะครับ

“ยิ่งเขาเงียบนานเท่าไหร่ ยิ่งทำให้หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น”

ความเงียบที่ว่าดำเนินมาจวบจนสิ้นปี นี่อาจจะทำให้เราและท่านพอเดาคำตอบได้บ้าง ไม่มากก็น้อย


อนาคตบทถัดไปของประเทศไทย ในการเลือกตั้ง 2023


หลายคนกล่าวว่า คลื่นลมการเมืองไทยในปี 2022 ค่อนไปทางสงบเงียบและไม่หวือหวา เนื่องจากเป็นโค้งสุดท้ายภายใต้การบริหารของรัฐบาลนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะครบวาระราวเดือนมีนาคม 2023 หลังจากนั้นคนไทยจะมีโอกาสเข้าคูหา กาบัตรเลือกผู้แทนราษฎรเข้าสภาอีกครั้งไม่เกินเดือนพฤษภาคม ปีหน้า ทุกสายตาจึงจับจ้องรอคอยการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะตามมาในสนามเลือกตั้งมากกว่าเร่งให้เกิด ‘อุบัติเหตุทางการเมือง’ เสียตอนนี้

กระนั้น ก็มีอีกไม่น้อยที่ตั้งคำถามว่าสรุปแล้ว การเลือกตั้ง 2023 จะเป็นหมุดหมายของความหวังได้แค่ไหน? ถ้าอ้างอิงจากบทความของชัยพงษ์ สำเนียง ชื่อ ‘การเมืองการเลือกตั้ง: พื้นที่แห่ง ‘ความไม่แน่นอน’ ของเผด็จการและชนชั้นนำไทย’ ที่เสนอว่า “การเลือกตั้งนั้นไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือของผู้ปกครองในการสืบทอดอำนาจและเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองเท่านั้น หากแต่ยังเป็นพื้นที่ที่มีคุณลักษณะกำกวม เปิดโอกาสให้กับการท้าทายอำนาจจากฝ่ายตรงข้ามผู้ปกครอง กลายเป็นพื้นที่แห่งความไม่แน่นอนที่ฝ่ายครองอำนาจไม่สามารถควบคุมได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แม้จะตกอยู่ในภาวะความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียม ไม่เป็นอิสระ และขาดความยุติธรรมก็ตาม” แล้ว การเลือกตั้งคงเป็นช่องทางหนึ่งสำหรับประชาชนผู้อัดอั้นจากการบริหารอันล้มเหลวและการใช้กฎหมายเล่นงานผู้เห็นต่างตลอดหลายปีที่ผ่านมา ได้แสดงพลังท้าทายและยุติการสืบทอดอำนาจตามครรลองประชาธิปไตยอย่างชัดเจนที่สุด


ก็ได้แต่หวังว่ามันคงจะไม่ใช่ดอกไม้ไฟประชาธิปไตยอีกชุดหนึ่ง ซึ่งมาปรากฏให้พอยินดีแล้วจากไป  

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save