fbpx

“ผมไม่ได้ฝันไกลเกินกว่าสิ่งที่มนุษย์เคยทำมา” ความหวังในท้องถิ่นและบทเรียนการเมืองของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

2 ปี คืออายุของคณะก้าวหน้า องค์กรการเมืองที่ ‘เกิดใหม่’ หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่

4 ปี คืออายุทางการเมืองของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นับตั้งแต่วันเขาเริ่มตั้งพรรคอนาคตใหม่

ช่วงเวลาสั้นๆ นี้ ทาบทับกับเหตุการณ์การเมืองในประเทศไทยที่แหลมคมที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ และแน่นอนว่า ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ เป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญของการเมืองไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา

การประกาศจะล้มอำนาจ คสช. และการพูดถึง ‘เรื่องใหญ่ๆ’ อย่างปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูประบบราชการ ฯลฯ ของพรรคอนาคตใหม่ สั่นสะเทือนอำนาจเดิม และนั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้อายุทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคสั้นอย่างที่เห็น

ในช่วงเวลา 2 ปีหลังยุบพรรคอนาคตใหม่ ‘ธนาธร’ ในนามประธานคณะก้าวหน้า ขยับไปทำงานทางความคิดมากขึ้น และ ‘เอาจริงเอาจัง’ กับการเมืองท้องถิ่น จนเขาแทบจะหายไปจากหน้าสื่อในเรื่องการเมืองระดับประเทศ ในการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลที่ผ่านมา คณะก้าวหน้าส่งผู้สมัครไป 196 แห่งทั่วประเทศ (อบต. ทั่วประเทศมี 5,300 แห่ง) ได้รับชัยชนะมา 38 อบต. ว่ากันทางคณิตศาสตร์ก็อยู่ที่ประมาณ 20% จากที่ส่งไป

มองจากข้างนอก หลายเสียงอาจวิจารณ์ว่าคณะก้าวหน้า ‘ล้มเหลว’ กับการเมืองท้องถิ่น แต่สำหรับธนาธรและทีมมองว่าเป็นการเริ่มต้นที่ ‘สำเร็จ’ แล้ว เมื่อนับว่าพวกเขาเริ่มต้นจากศูนย์ ทุกวันนี้คณะก้าวหน้ายังลงทำงานกับ อบต. และเทศบาลในหลายพื้นที่อย่างใกล้ชิด และเริ่มผลักดันการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญหมวด 14 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น

ในช่วงเวลาที่คลื่นลมสงบและ ‘นิ่ง’ พอจะได้ทบทวนตัวเองเช่นนี้ 101 ชวนธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มาคุยยาวๆ ว่าด้วยบทเรียนทางการเมืองที่ผ่านมา เรื่องใหม่ที่เรียนรู้จากการเมืองท้องถิ่น การคาดเดาทิศทางการเมือง และ ‘ที่ทาง’ ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจในอนาคต

สองปีหลังยุบพรรคอนาคตใหม่และขยับมาทำงานท้องถิ่นในนามคณะก้าวหน้า ชีวิตคุณตอนนี้เป็นอย่างไร

ตื่นเต้นทุกวัน ตื่นมายังสนุกกับการทำงาน ขวัญกำลังใจยังดีมากอยู่ ไม่ว่าทำงานการเมืองท้องถิ่นหรือการทำงานการเมืองระดับชาติ ก็ยังเหมือนเดิม มีความหวังขึ้นทุกวัน

ตอนนี้คณะก้าวหน้าทำงานหลักๆ อยู่สามอย่าง คือบริหารงานท้องถิ่น รณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 เรื่องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และทำงานเชิงความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เราเข้าไปช่วยให้คำปรึกษางานท้องถิ่นอยู่เกือบ 60 ที่ แต่ละที่แตกต่างหลากหลาย บางที่ไปทำเรื่องท่องเที่ยว เรื่องน้ำประปา เรื่องขยะ ช่วยออกแบบงบประมาณ ฯลฯ

การทำงานท้องถิ่นทำให้ผมกลมกล่อมมากขึ้น ก่อนหน้านี้ไม่ได้สัมผัสคนใกล้ชิดแบบนี้ ไม่ได้มองเห็นปัญหาระดับย่อยแบบนี้ ก่อนหน้านี้เรามองปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูประบบราชการ การจัดการงบประมาณ ฯลฯ แต่การมาทำงานการเมืองท้องถิ่น นอกจากจะได้ช่วยผลักดันโครงการเพื่อการพัฒนาเมืองแล้ว ยังทำให้ผมลึกซึ้งกับปัญหาในประเทศไทยมากกว่าเดิมอีก

ผมยกตัวอย่างเรื่องขยะเรื่องเดียว ผมพูดได้เป็นชั่วโมง เล่าได้เลยว่ากระบวนการจัดการขยะมีกี่แบบ หรืออย่างเรื่องน้ำประปา ผมเล่าได้เลยว่ากระบวนการจัดการน้ำประปาในประเทศไทยมีปัญหาอะไร สองปีที่แล้วผมพูดไม่ได้ว่าการจัดการขยะมีปัญหาอะไรบ้างและทางออกควรจะเป็นอย่างไร แต่วันนี้ผมกล้าพูดว่าผมเป็นหนึ่งคนที่ดูบ่อขยะมาเยอะไม่แพ้ใคร ดังนั้นทุกวันนี้ผมพูดเรื่องขยะได้แล้ว

เรื่องขยะคุณเห็นอะไร จากที่บอกว่าตอนแรกไม่รู้ไม่เข้าใจ แต่พอไปเห็นกับตาแล้วมีอะไรน่าสนใจบ้าง

คุณเชื่อไหมในหลาย อบต. ไม่มีรถขยะสักคัน ยังมีพื้นที่ที่ไม่มีการจัดเก็บขยะ ไม่มีบ่อขยะ ปล่อยให้ประชาชนจัดการกันเองตามยถากรรม

คุณเคยขับรถไปตามทางเปลี่ยวๆ ในต่างจังหวัดไหม ข้างทางจะมีขยะทิ้งอยู่เต็มไปหมดเลย เป็นกองใหญ่ๆ เกิดจากการที่ประชาชนไม่มีที่ทิ้งขยะ อบต. ไม่มาจัดการขยะให้ ประชาชนก็ไปทิ้งตามป่าไม้ ตามข้างทาง ซึ่งถ้าเราไปดูข้อเท็จจริง ถามว่าเป็นความผิด อบต. หรือเปล่าที่ไม่จัดการขยะ ไม่ใช่ แต่ปัญหาคือเขากลัวว่าเมื่อไหร่ที่เริ่มจัดการปุ๊บ จะต้องทำตลอดไป พอต้องทำตลอดไป เขาก็ไม่มีงบประมาณพอ

อบต. โดยทั่วไปมีงบลงทุน 3 ล้านบาทต่อปี ซึ่ง 3 ล้านนี่ทำทุกเรื่องนะ ถนนก็ต้องทำ ขยายเขตไฟฟ้าเพื่อการเกษตรก็ต้องทำ น้ำประปา ศูนย์เด็กเล็ก สวนสาธารณะก็ต้องดูแล จัดงานบุญงานบวชตามวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ด้วย แล้วถ้าต้องเพิ่มเรื่องขยะขึ้นมาอีก คุณต้องมีรถขยะก่อนแล้ว ราคาล้านสองล้าน

แล้วคุณรู้ไหม ใน อบต. ต่างจังหวัด ถ้าเขาอยากได้รถขยะต้องทำอย่างไร เขามาขอรถขยะมือสองที่กรุงเทพฯ เลิกใช้ รถที่กรุงเทพฯ ใช้ 10-20 ปี ก็เอาไปใช้ต่อในต่างจังหวัด เพราะ อบต. ไม่มีเงินแม้แต่จะซื้อรถขยะ ซื้อรถมาแล้วก็ต้องจ้างคนทำงานประจำอีก ซึ่งก็ไปกินงบลงทุน 3 ล้านที่น้อยอยู่แล้วให้น้อยไปอีก

นี่เรื่องขยะเรื่องเดียว ปัญหาใหญ่มาก ซึ่งก่อนหน้านี้ตอนที่ทำงานการเมืองระดับชาติ คุณจะไม่มีทางเข้าใจปัญหาขยะเลยว่าในชุมชนจริงๆ เกิดอะไรขึ้นบ้าง

เรื่องงบประมาณท้องถิ่นก็เป็นประเด็นที่คนพูดถึงกันเยอะเหมือนกัน

เรื่องงบประมาณนี่สำคัญ ก่อนหน้านี้คนพูดถึงการกระจายอำนาจงบประมาณ เราเข้าใจแต่ในเชิงหลักการ แต่พอมาทำงานจริง เข้าใจเลยว่าเป็นอย่างไร

หนึ่งในหน้าที่หลักของนายก อบต. หรือนายกเทศบาลขนาดกลาง-เล็กคือการเขียนโครงการของบ เพราะตังค์ตัวเองไม่พอ ซึ่งเกิดจากการจัดสรรภาษีไม่เป็นธรรม ให้งบส่วนกลางเยอะ ให้ส่วนท้องถิ่นน้อย แต่ให้งานท้องถิ่นเยอะ คือให้งานไป แต่ไม่ให้เงิน ตัวท้องถิ่นเขาทำงานไม่ได้ ก็ไม่มีเงินจะไปทำงานได้อย่างไร

ในปีหนึ่งเขาต้องเขียนโครงการขอกรมนั่นกรมนี่ เหมือนแทงหวยน่ะ ได้ไม่ได้ก็ไม่รู้ นายกฯ ที่เก่งหน่อย อยากจะมีผลงานหน่อย ทำไงรู้ไหม กินเหล้าครับ วิ่งเต้นครับ ต้องแข็งแรงนะครับ ต้องวิ่ง ต้องเต้น ไม่อย่างนั้นคุณจะไม่ได้งบมาพัฒนาท้องที่

ก่อนหน้านี้เราอ่านเรื่องพวกนี้ในหนังสือ เราไม่เข้าใจ มาวันนี้ต้องไปนั่งช่วยนายกฯ เราเขียนโครงการเองถึงจะเข้าใจว่าการไม่มีงบ แต่ความคาดหวังจากประชาชนเยอะเป็นอย่างไร คือความรับผิดชอบต่อผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเยอะและมีภารกิจเยอะ แต่อำนาจน้อย งบประมาณน้อย

คุณเห็นวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ไหม

โครงการรณรงค์ที่คณะก้าวหน้าทำอยู่คือการแก้ไขหมวด 14 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น พูดง่ายๆ คือให้งบประมาณและอำนาจท้องถิ่นมากขึ้น

โดยหลักการก็คือกฎหมายปัจจุบันเขียนไว้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำอะไรได้บ้าง มี 1-20 ข้อว่าไป ปัญหาก็คือเขียนไว้เยอะ แต่จริงๆ น้อย มีอะไรขึ้นมาต้องส่ง สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) เสร็จแล้ว สตง. ก็เข้ามาตรวจสอบเยอะแยะไปหมด แต่ร่างของเรากลับด้าน เขียนไว้ว่าห้ามทำอะไรบ้าง จบเลย 4-5 อย่าง เช่น ห้ามออกเงินตรา ห้ามมีกองทัพของตัวเอง ห้ามทำนโยบายต่างประเทศของตัวเอง คือคุณจะให้สุโขทัยกับแม่ฮ่องสอนมีนโยบายกับพม่าคนละแบบไม่ได้ หรือเชียงใหม่กับสงขลาจะมีกองทัพของตัวเองไม่ได้ ดังนั้นหลักการง่ายๆ คือ ส่วนกลางทำอะไรบ้าง ท้องถิ่นห้ามทำอะไรบ้าง สิ่งที่ไม่ได้เขียนทำได้หมดเลย คราวนี้ไม่ต้องมานั่งตรวจสอบแล้วว่ามีอำนาจทำได้ไหม

เรื่องที่สองที่อยู่ในหมวดรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ของเราคือเรื่องการจัดการภาษีให้เป็นธรรมมากขึ้น ปัจจุบันส่วนกลางได้ 70% ท้องถิ่นได้ 30% ซึ่งท้องถิ่นที่เอาไป 30% ยังมีงบฝากที่กำหนดมาจากส่วนกลางด้วย เช่น นมโรงเรียนกำหนดมาจากส่วนกลาง แต่ให้ท้องถิ่นเป็นคนทำ เสมือนว่าเป็นงบท้องถิ่น แต่จริงๆ เขาจัดการเองไม่ได้ ของเราเสนอเปลี่ยนใหม่เป็น 50-50 ส่วนกลางจัดสรรภาษีทั้งประเทศได้เท่าไหร่ ส่วนกลางเอาไป 50% ท้องถิ่นเอาไป 50% เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เพื่อให้ท้องถิ่นที่ภารกิจเยอะสามารถจัดการภารกิจต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องไปวิ่งของบ

คุณลองนึกดูสิว่าผลิตภาพของทั้งประเทศจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ถ้านายกฯ และข้าราชการท้องถิ่นทั้งหมดไม่ต้องมานั่งเขียนโครงการ ไม่ต้องมานั่งวิ่งหาปลัดจังหวัด นายอำเภอ หรือผู้ว่าฯ เขาจะมีอิสระทางการเมืองมากขึ้น ไม่ต้องขึ้นอยู่กับระบบอุปถัมภ์ เพราะการที่คุณต้องไปเขียนงบขอโครงการแบบนี้ คุณต้องเสียความเป็นอิสระทางการเมืองไป นี่คือต้นทุนที่คุณต้องจ่าย แต่ถ้าจัดการภาษีให้เป็นธรรม ส่วนกลางเอามา 50% ท้องถิ่นเอามา 50% ท้องถิ่นจะมีงบเพิ่มขึ้นที่ละ 20-30 ล้าน ซึ่งโครงการท้องถิ่นโครงการหนึ่งก็ 3 ล้าน 5 ล้าน น้อยมากที่จะเจอโครงการที่จะใช้เงิน 20-30 ล้าน แล้วถ้าได้เงิน 20-30 ล้านเพิ่มขึ้นต่อปี คราวนี้คุณจะเห็นท้องถิ่นแข่งกันพัฒนาบริการของตัวเอง แข่งกันแล้วจะได้ประโยชน์

คุณมองประเด็นการกำกับดูแลอย่างไร กระจายเงินไปแล้วจะควบคุมหรือกำกับดูแลความโปร่งใสอย่างไร

คำถามที่เป็นมายาคติต่อการกระจายอำนาจมีสองเรื่อง คือหนึ่ง ท้องถิ่นทุจริต สอง ท้องถิ่นไม่มีศักยภาพ

เอาประเด็นเรื่องศักยภาพก่อน ปรัชญาในการบริหารองค์กรทั่วไป ไม่ว่าจะในองค์กรการเมืองหรือองค์กรธุรกิจ คุณจะมีศักยภาพต่อเมื่อมีอำนาจและงบประมาณ แล้วได้ลงมือทำใช่ไหม นี่คือศักยภาพคน ไม่ใช่เกิดมาปุ๊บมีศักยภาพ แต่เกิดจากการลงมือทำ ลองผิดลองถูก ดังนั้นถ้าคุณเอาส่วนกลางออกไป ให้งบประมาณและอำนาจท้องถิ่น ผมว่าเลือกตั้งสองรอบ ใช้เวลา 8 ปี ศักยภาพท้องถิ่นมาเลย

คุณมีศักยภาพเพราะอะไร คุณเคยเห็นส่วนกลางเขียนงบประมาณแล้วไปจ้างมหาวิทยาลัยให้ศึกษาโครงการต่างๆ ไหม เช่น โครงการนี้จ้างมหาวิทยาลัยศึกษา 30 ล้าน จ้างองค์กรเอกชนเขียนแบบอีก 50 ล้าน ถามว่าถ้าไม่มีงบจ้าง ส่วนกลางมีประสิทธิภาพไหม ไม่มีเหมือนกัน คุณมีศักยภาพเพราะอะไร เพราะมีงบจ้างที่ปรึกษาไง ลองให้ท้องถิ่นมีเงินจ้างที่ปรึกษาสิ  

สำหรับผมที่ผ่านงานธุรกิจมา ผมรู้เลย คนจะเติบโตมีศักยภาพมากขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ให้อำนาจและงบประมาณ แล้วให้เขาลองผิดลองถูก อาจจะมีโครงการที่งบประมาณถูกใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ แต่นั่นก็คือกระบวนการเรียนรู้ มีไหมที่ส่วนกลางลงทุนไปแล้วใช้งบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ เยอะแยะไปหมด แล้วทำไมท้องถิ่นทำนิดเดียวคุณจะเป็นจะตาย สตง. ตรวจอย่างกับเป็นอาชญากรรม

โครงการจะมีประสิทธิภาพหรือไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าไม่มีการคอร์รัปชันผมถือว่าเป็นการตัดสินใจทางการเมือง ดังนั้นให้ลงโทษกันด้วยการเมือง ลงโทษกันด้วยบัตรเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ใช่โทษอาชญากรรม ผมย้ำอีกครั้ง

ให้เวลาเขาเรียนรู้ ให้เงิน ให้อำนาจเขา ทุกคนเติบโตหมด นี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์

แล้วมายาคติที่ว่าท้องถิ่นทุจริตล่ะ คุณมองอย่างไร

ประเด็นเรื่องทุจริตคอร์รัปชันเป็นประเด็นของโครงสร้าง ทุกคนในประเทศพูดเหมือนกันหมดว่าเสียงของเขาไม่มีความหมาย เพราะกลไกออกแบบมาให้คนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่มีอำนาจในการบริหารงาน เลือกตั้งทุกครั้ง ชีวิตคุณไม่ดีขึ้นเลย เลือก ส.ส. แล้ว ส.ส. แก้ปัญหาสะพานขาดให้ไม่ได้ เพราะ ส.ส. ไม่มีหน้าที่บริหารราชการ แต่เข้าไปเป็นปากเสียงให้ประชาชนในสภาในการออกกฎหมายต่างๆ ซึ่งหน้าที่บริหารและแก้ไขปัญหาท้องถิ่นอยู่ที่ อบต. แต่ถามว่านายก อบต. แก้ปัญหาให้คุณได้ไหม ไม่ได้อีก เพราะไม่มีงบประมาณ

แต่ถ้าเอางบเข้าไปในท้องถิ่นได้ ท้องถิ่นแก้ปัญหาในท้องที่ได้เอง ไม่ต้องไปวิ่งของบใคร คนจะรู้สึกเปลี่ยนไป เราต้องปล่อยให้กลไกแบบนี้ทำงาน แล้วคนจะเริ่มรู้ความสำคัญของงบประมาณ เริ่มรู้ว่าบัตรเลือกตั้งทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีได้จริง แต่ตอนนี้งบไกลมาก ถ้าเราเอางบที่มาจากภาษีมาใกล้กับประชาชนมากขึ้น ปล่อยให้กลไกเดินสักรอบสองรอบ คนจะให้ความสำคัญกับการตรวจสอบคอร์รัปชันแล้ว เพราะเขาจะรู้สึกว่าเป็นเงินของเขา เกิดการตรวจสอบ ทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้น

นี่คือวิธีขจัดการคอร์รัปชัน ไม่ใช่เอาประชาธิปไตยออก แต่เอาประชาธิปไตยยัดใส่เข้าไป ถ้าคนเข้าใจถึงสิทธิ เข้าใจถึงความสำคัญของการจัดสรรงบประมาณ เขาจะตื่นตัวกับการคอร์รัปชัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในพื้นที่ คุณจะคอร์รัปชันมาทำไมถ้าคุณซื้อรถหรูซื้อบ้านหลังใหญ่ไม่ได้ เพราะชาวบ้านเห็นว่าคุณคอร์รัปชันมา

ในความเป็นจริงก็ยังมีการคอร์รัปชันในการเมืองท้องถิ่นอยู่ หลายคนหมดหวังกับการเมืองท้องถิ่นไทยไปแล้ว และมองว่าการเมืองแบบที่คณะก้าวหน้าพูดเป็นการเมืองแบบอุดมคติ

เอาอย่างนี้ดีกว่า ประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูงกว่าเราหรือเท่าเรา ไม่มีประเทศไหนที่มีอำนาจอยู่ศูนย์กลางมากขนาดนี้ อุดมคติไหม ในเมื่อมีคนทำแล้วในความเป็นจริง ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่นก็เป็นแบบนี้ ยุโรปตะวันตกเป็นอย่างนี้หมด

ดังนั้นที่ผมบอกว่าไม่ใช่อุดมคติ เพราะในหลายประเทศทำสิ่งนี้แล้ว ไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ เราไม่ได้ฝันไกลหรือทะเยอทะยานกว่าสิ่งที่มนุษย์คนอื่นเคยทำมาแล้ว เราฝันแค่ไปให้ถึงสิ่งที่มนุษย์คนอื่นทำก่อนหน้าเราในสังคมอื่น ไม่ใช่ผมฝันว่าจะไปเหยียบพระอาทิตย์เสียหน่อย การจัดการงบประมาณและอำนาจแบบนี้ เขาทำมาทั่วโลกที่พัฒนาแล้ว ถ้าคุณจะพัฒนา คุณกักขังความสามารถของคนไทยไว้ที่กรุงเทพฯ ไม่ได้

เราทำแล้วหวังในเชิงสัมฤทธิ์ด้วย ถ้าเราเข็นเรื่องกระจายอำนาจ ปฏิรูประบบราชการรวมศูนย์หมวด 14 เข้าสภาได้แล้ว ผมก็อยากรู้เหมือนกันว่าใครไม่เห็นด้วยบ้าง เพราะทุกพรรคพูดเรื่องกระจายอำนาจหมด ประชาธิปัตย์เขียนเรื่องกระจายอำนาจไว้ในอุดมการณ์พรรคเลย ภูมิใจไทย เพื่อไทยก็พูดเรื่องนี้

แต่ในกรณีเลวร้ายที่สุด ต่อให้ร่างไม่ผ่าน อย่างน้อยเราได้ทำงานความคิดกับพี่น้องประชาชนว่าเรื่องกระจายอำนาจสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ของสิ่งที่ประเทศไทยควรจะทำ นี่คือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยการกระจายเม็ดเงินออกไปให้ทุกคนแก้ปัญหาตัวเอง ไม่ต้องติดคอขวด งบประมาณปัจจุบันเป็นคอขวด ทั้งในเชิงประสิทธิภาพการใช้จ่ายและในเชิงของความคิดสร้างสรรค์

ถ้าหลายคนเห็นตรงกันว่าควรกระจายอำนาจ แล้วเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย ทำไมเรายังติดล็อกอยู่ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไม่ได้เสียที

โจทย์ใหญ่ของประเทศไทยวันนี้คืออะไร อำนาจเป็นของใครในประเทศนี้

การปฏิรูปการรวมศูนย์กลายเป็นการลดทอนเสาค้ำยันอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน วันนี้ศูนย์กลางปัญหาหลักของความขัดแย้งในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2549 คือ ‘อำนาจจารีต’ ปะทะกับ ‘อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน’

หนึ่งในกลไกของอำนาจจารีตคือผู้ใหญ่บ้าน-กำนัน คุณเคยได้ยินเพลงใช่ไหม “พ..2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ชาวบ้านต่างมาชุมนุม มาประชุมที่บ้านผู้ใหญ่ลีต่อไปนี้ผู้ใหญ่ลีจะขอกล่าว ถึงเรื่องราวที่ได้ประชุมมา ทางการเขาสั่งมาว่า

คำว่า “ทางการเขาสั่งมาว่า” สะท้อนว่าผู้ใหญ่บ้านคือหน่วยเล็กสุดที่จะเอาสิ่งที่ส่วนกลางต้องการไปส่งต่อถึงประชาชน บอกกันมาเป็นทอดๆ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีจนถึงผู้ใหญ่บ้าน แต่ถ้าไม่มีกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านล่ะ ถ้าอำนาจในพื้นที่อยู่กับคนที่มาจากการเลือกตั้งแล้วมีอิสระในการทำงานล่ะ สิ่งที่เกิดขึ้นคือจะไม่มีกลไกในการผลิตซ้ำค่านิยมอนุรักษนิยม ระบบราชการกับฝ่ายอนุรักษนิยมผลิตซ้ำเรื่องท้องถิ่นโกงกับท้องถิ่นไม่มีศักยภาพมาตลอดเพื่อไม่ให้เกิดการกระจายอำนาจ

การกระจายอำนาจจึงเป็นหนึ่งในวาระที่ตกอยู่ภายใต้บริบทการเมืองใหญ่ กับคำถามว่าอำนาจในประเทศนี้เป็นของใคร เป็นของประชาชนหรืออำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน

พูดในเชิงรูปธรรม ถ้าจะเปลี่ยนโครงสร้างในการบริหารท้องถิ่น ควรเปลี่ยนอย่างไร

ถ้าพูดในทางทฤษฎี ในร่างหมวด 14 ของเราไม่ได้เขียนว่าให้ยกเลิกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านนะ เรื่องนี้ใหญ่เกินไป สังคมต้องถกเถียงกันอีกเยอะ เราเขียนว่าต้องทำประชามติภายใน 5 ปี ถามประชาชนว่ายกเลิกไหม เพื่อให้เกิดการถกเถียง ทั้งที่ข้อเสนอยกเลิกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านมีมานานนมมากแล้ว และถูกบังคับใช้แล้วในเทศบาลเมือง เทศบาลนคร แต่เราคิดว่าสังคมไทยยังถกเถียงไม่พอ ดังนั้นในร่างรัฐธรรมนูญหมวด 14 ของเราประนีประนอมมาก ทำประชามติ ให้คนรณรงค์กัน ซึ่งอาจจะแพ้ก็ได้นะ

ถ้าชวนย้อนกลับไปมองเรื่องเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมา คุณประเมินความผิดพลาด-ความสำเร็จของคณะก้าวหน้าอย่างไรบ้าง

ในการเลือกตั้งท้องถิ่นต้องยอมรับว่าตัวผู้สมัครมีผลมากกว่า เปรียบเทียบกับเลือกตั้งระดับชาติที่ในแง่หนึ่งคือการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ดังนั้นผู้นำพรรคที่อยู่ส่วนกลางและแคนดิเดตนายกฯ จึงมีอิทธิพล แต่ท้องถิ่นไม่ใช่ ผู้นำประเทศอยู่ไกลมาก ดังนั้นกระแสช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่จะชนะได้หรือไม่ได้ ปัจจัยอยู่ที่พื้นที่

แต่ถ้าถามว่าประสบความสำเร็จไหม ผมว่าประสบความสำเร็จมากนะ ในแง่ที่เราเริ่มจากศูนย์ ไม่มีอะไรเลย วันนี้เรามีสมาชิกสภาทั่วประเทศมากกว่า 200 คน เรามีนายกเทศบาลที่ทำงานร่วมกับเรา 17 ที่ มีนายก อบต. ที่ทำงานร่วมกับเรา 38 ที่ ดังนั้น ถ้ามองว่าเริ่มจากศูนย์มาถึงตรงนี้ สำหรับผมมองว่าประสบความสำเร็จมาก

การไปติดต่อทำงานร่วมกับแต่ละหน่วยงานท้องถิ่น คณะก้าวหน้าเลือกอย่างไรว่าจะติดต่อที่ไหน ทำงานกับใคร และโดนต่อต้านบ้างไหม

ไม่มีๆ ก็น่าภูมิใจนะ มีคนมาขอร่วมงานกับเราเยอะขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเดือนที่แล้วมี อบต. จากภูเก็ตมาขอร่วมงานกับเรา หรือเราไปพัฒนาเรื่องน้ำประปาที่หลาย อบต. สำเร็จ หลังจากนั้นหลาย อบต. ที่เห็นก็อยากทำด้วย เข้ามาคุยกับเรา

อย่างแรก เรามีเทศบาลกับ อบต. ที่เป็นออริจินอลในความหมายว่าลงสมัครในนามคณะก้าวหน้า ทำงานกับเรามาตั้งแต่ต้น แล้วก็มีเทศบาลกับ อบต. ที่ขอเข้ามาทำงานเพิ่มขึ้นระหว่างทาง ซึ่งก็มีแต่เพิ่มขึ้นน่ะ ผมคิดว่าปัญหาตอนนี้คือเราไม่มีทรัพยากรเพียงพอ ทีมนโยบายของเราก็มีแค่ 7-8 คน ตอนนี้เป็นการรักษาระดับคุณภาพ ทำอย่างไรที่เราจะรักษาพลังและคุณภาพได้ เพราะตอนนี้จำนวนงานเยอะมาก เวลาแทบจะไม่พอเลย

ถามว่าติดต่ออย่างไร อย่างแรกที่สุดต้องเริ่มที่ความสัมพันธ์ ให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เวลาเราไปทำงานกับที่ไหน อย่างแรกคือต้องทำอย่างที่พูด เวลาคุณไปติดต่อกับหน่วยงานอื่น อย่างแรกที่เขาดูคือมีความน่าเชื่อถือหรือเปล่า ถ้ามีความน่าเชื่อถือ โอเค ผ่านด่านแรก ด่านที่สองลองทำงานร่วมกัน คุณทำได้อย่างที่พูดหรือเปล่า คุณบอกว่ามาประชุม 9 โมงเช้า คุณมาประชุม 9 โมงจริงหรือเปล่า

ถ้าไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ทำงานด้วยกันลำบาก ช่วงแรกๆ เราจะเน้นงานทำงานน้อย แต่เน้นความเข้าใจ คุณอยากทำอะไร คุณมาดูสิ่งที่เราทำ สร้างความสัมพันธ์กัน กินข้าวกินเหล้ากัน พยายามเข้าใจกัน ดูหัวจิตหัวใจกัน พอได้อย่างนี้ปุ๊บ เราค่อยเริ่มเข้าไปผลักดันการเมือง

เราค่อยๆ สร้าง ผมเชื่ออย่างยิ่งเลยว่าให้เวลา 8 ปี เลือกตั้งสองรอบ สิ่งที่เราทำจะออกดอกผลและงอกเงย

ดอกผลที่ว่าคืออะไร

มีอยู่ 3-4 อย่าง อย่างแรกคือแรงบันดาลใจ เราจะสร้าง อบต. และเทศบาลให้เป็นแรงบันดาลใจสำหรับที่อื่น เราทำเรื่องน้ำประปาปี 2564 ไปที่หนึ่ง ปีนี้ทำที่ใหญ่อีก 6 ที่ และยังมีที่เล็กๆ อีกหลายที่ แล้วยังมีไปให้คำปรึกษาอีกเยอะไปหมด ค่อยๆ ทำแล้วจะค่อยๆ เป็นแรงบันดาลใจ

อย่างที่สอง ผมอยากทำให้คนหันกลับมาสนใจการเมืองท้องถิ่น ผมขอเล่าเรื่องหนึ่ง ผมไปเซ็นหนังสือที่งานสัปดาห์หนังสือ มีคนหนึ่งมาให้ผมเซ็น ผมก็ถามชีวิตเขาแล้วได้ฟังเรื่องที่ทำให้หัวใจพองโตมากเลย เขาเป็นคนพิจิตร ขับรถมาจากบ้าน ก่อนหน้านี้ทำงานกรุงเทพฯ ไม่สนใจการเมืองท้องถิ่นเลย เพราะไม่ได้อยู่บ้าน แต่พอเขามาฟังที่ผมพูดเรื่องการเมืองท้องถิ่น เขาเข้าใจ จนเลือกตั้งเทศบาลที่ผ่านมา เขาไปลงสมัครสมาชิกสภาเทศบาล และตอนนี้ได้เป็นแล้ว ตอนนี้กลับไปทำงานที่บ้าน เขาบอกว่าได้เป็นสมาชิกสภาเทศบาลเพราะฟังผมพูด เขาอยากเข้าไปทำงานพัฒนาบ้านตัวเอง ผมก็…โอ้โห แจ๋วว่ะ

อย่างที่สาม ผมหวังว่าประชาชนจะเห็นความตั้งใจและเห็นฝีมือของเรา ผมถูกค่อนแคะมาตลอดว่าไม่มีผลงานเลย ก็ผมไม่เคยมีอำนาจ จะมีผลงานได้อย่างไร ตอนนี้ผมทำให้ดูเลย ผมไม่มีอำนาจยังทำได้ขนาดนี้ ผมก็หวังว่าประชาชนจะเห็นฝีไม้ลายมือพวกเรา แล้วส่งผลให้เพื่อนของพวกเราที่อยู่ก้าวไกลได้อานิสงส์

เพื่อนของเราที่อยู่พรรคก้าวไกล อาจจะมีเดินผิดเดินถูกบ้างอย่างที่พวกเราเห็น แต่ผมไม่มีข้อสงสัยในความแน่วแน่ของพวกเขาเลยว่าถ้าพวกเขาได้อำนาจ พวกเขาจะพาความฝันของผมไปด้วย

มองไปที่เลือกตั้ง 2566 คุณประเมินทิศทางการเมืองของพรรคก้าวไกลไว้อย่างไรบ้าง

อันนี้ต้องถามพรรคก้าวไกลนะ ผมก็ไม่สามารถกำหนดแทนเขาได้ แต่สิ่งที่ผมเห็นคือตัวผู้สมัครก้าวไกลดีกว่าสมัยอนาคตใหม่เยอะมาก อนาคตใหม่เริ่มเป็นพรรคเมื่อตุลาคม 2561 เรามีเวลาสรรหาผู้สมัคร 3-4 เดือนหลังจากประกาศว่ามีเลือกตั้ง พูดง่ายๆ ว่าเราต้องหาผู้สมัครให้ได้วันละ 3 คนเพื่อลง 350 เขต พูดกันตรงๆ ว่า รอบนั้นการคัดกรองผู้สมัครมีเวลากระชั้นชิดมาก และไม่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน

แต่พรรคก้าวไกลมีเวลาคัดสรรผู้สมัครเยอะกว่ามาก มีเวลาทำงานร่วมกันเยอะ และผ่านสนามเลือกตั้งมาพอสมควร เขาน่าจะพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้งมากกว่าสมัยอนาคตใหม่เยอะมาก

คุณทำงานการเมืองมา 4 ปี โดนอะไรมาเยอะมาก มีจังหวะเหนื่อยบ้างไหม เลิกแล้ว ไม่เอาแล้ว

ต้องบอกว่าฝั่งเขาทำสำเร็จนะ ในแง่หนึ่งคือการทำลายชื่อเสียงของผม นักการเมืองอย่างผมที่ไม่มีหัวคะแนน ต้นทุนที่สำคัญที่สุดคือความน่าเชื่อถือ เขาทำสำเร็จในแง่ที่ว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่ยึดโยงกับเครือข่ายอนุรักษนิยมด่าผมทุกวัน พูดจาถึงผมและครอบครัวเสียๆ หายๆ ทุกวัน ดังนั้นสำหรับคนกลุ่มหนึ่งในสังคมที่รับฟังข่าวสารเรื่องนี้ข้างเดียวทุกวัน เชื่อไปแล้วว่าผมเป็นปีศาจ

สำหรับคนอีกกลุ่มหนึ่ง จากที่เคยสนับสนุน ปัจจุบันก็ตั้งคำถาม แล้วที่เขาทำสำเร็จมากคือทำให้คนไม่กล้าเชียร์พวกเราในที่สาธารณะ ไม่ใช่แค่ผมคนเดียวนะ คนอื่นก็โดน แต่พวกเราอาจจะโดนหนักหน่อย

ที่บอกว่าเขาทำสำเร็จในแง่ที่ทำให้เราเป็นปีศาจกับคนกลุ่มหนึ่ง ถามว่ารู้สึกอย่างไรกับคนกลุ่มนี้ เสียดายจริงๆ ผมเป็นคนหน้าบางมั้ง ไม่ใช่คนที่จะไปอธิบายตัวเองเยอะแยะ แต่ในแง่หนึ่งก็ไม่ได้เสียขวัญกำลังใจ อย่างที่ผมบอก ถึงวันนี้ผมยังตื่นเช้าแล้วสนุกกับการทำงานทุกวัน

นอนหลับสนิททุกคืน?

มีบ้างบางวันนอนไม่หลับ พูดตรงๆ เรื่องตัวเองไม่เท่าไหร่หรอก สำหรับผมเรื่องคดีความเหมือนเป็นก้อนกรวดในรองเท้า รำคาญๆ เจ็บบ้าง แต่ก็ไม่ทำให้หยุดเดิน แต่กับครอบครัวไม่ใช่ เนื่องจากครอบครัวผมสนิทกันทุกคน แล้วเราไปทำให้เขาลำบาก ผมก็รู้สึกว่า โอ๊ย ไม่รู้จะทำอย่างไรที่จะไปชดเชยความผิดของเราได้ ที่ไปทำให้สมาชิกในครอบครัวลำบาก แต่โชคดีจริงๆ ที่ครอบครัวผม ตั้งแต่คุณแม่ พี่น้องผมทุกคน พวกเขาไม่เคยโทษผม ไม่เคยด่าทอผมว่าเพราะคุณทำอย่างนี้เขาเลยโดน ทุกคนมีแต่ให้กำลังใจให้ผมตั้งใจทำต่อไป

กำลังใจจากครอบครัว จากภรรยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประชาชนทำให้เรายังยืนหยัดได้ มีหลายคนเหลือเกินที่เราไม่รู้จัก เดินไปตามถนน เข้ามาให้กำลังใจ ขอจับไม้จับมือ พูดกับเราว่าอย่าท้อถอยนะ เป็นผนังให้เราพิง เวลาเราเหนื่อย เจอคนให้กำลังใจก็เป็นแรงบันดาลใจให้เราเดินต่อไป

เอาจริงๆ แล้วเป้าหมายในชีวิตของคุณคืออะไร ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ มีภาพฝันแบบไหน จุดที่อยากจะไปถึงคืออะไร

ผมอยากเห็นสังคมไทยเป็นประชาธิปไตย เข้าใจและยอมรับหลักสิทธิมนุษยชนสากล อยากเห็นประเทศที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจน้อยลง ทุกคนมีงานที่ดีมีคุณภาพ อยากเห็นประเทศไทยรักษาสิ่งแวดล้อม ส่งต่อสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ลูกหลานของเรา อยากเห็นสังคมที่คนเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย ไม่ว่าจะคนรวยคนจน นามสกุลใหญ่โตแค่ไหน อยากเห็นประเทศไทยที่ไม่มีรัฐประหารอีก อยากเห็นสังคมไทยที่ไม่มีการใช้อำนาจนิยมในโรงเรียน อยากเห็นความสัมพันธ์ของครูกับนักเรียนแบบเพื่อนแบบมิตร ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบผู้มีอำนาจกับผู้ถูกลงโทษ เพื่อที่จะทำให้เด็กๆ มีความกล้าหาญ กล้าแสดงความคิดเห็น เป็นตัวของตัวเอง ผมคิดว่าสังคมแบบนี้ก็เป็นสังคมที่ทุกคนใฝ่หาหรือเปล่า

ข้อเสนอผมไม่ได้ก้าวร้าวขนาดนั้น เป็นข้อเสนอที่สามัญธรรมดามาก แต่คุณลองคิดดูสิว่าสังคมนี้อนุรักษนิยมขนาดไหน ที่การฝันถึงสังคมที่ก้าวหน้าแค่นี้แล้วถูกตราหน้าว่าเป็นหัวรุนแรง คุณต้องขวาขนาดไหน ที่การเสนอเรื่องที่ซ้ายกว่าตรงกลางนิดเดียวกลายเป็นหัวรุนแรง

ถามว่าโดนคดีเยอะแยะ คุ้มไหมกับสิ่งที่เกิดขึ้นในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ผมว่าคุ้มมหาศาลเลย ถ้าย้อนเวลากลับไปก็ยังจะตั้งพรรคการเมืองอยู่ดี ถึงแม้รู้ว่าจะเป็นอย่างนี้ ผมอยากเห็นสังคมไทยแบบนั้น แล้วผมอยู่ตรงไหนก็ได้ ผมไม่ได้อยากเป็นนายกฯ เป็น ส.ส. หรือรัฐมนตรี ผมเฉยๆ กับเรื่องพวกนั้นมาก ถ้าวันใดสังคมเป็นอย่างนั้นได้ ผมอยู่ที่ไหนผมก็จะรีไทร์ ผมพร้อมที่จะรีไทร์ตัวเองตลอดเวลา ถ้าสังคมไทยเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเมื่อไหร่ ปฏิรูปกองทัพได้เมื่อไหร่ แก้รัฐธรรมนูญได้เมื่อไหร่ เป็นประชาธิปไตย เป็นการเมืองปกติได้เมื่อไหร่ ผมก็หมดนัยสำคัญทางการเมืองไปแล้ว จะมีคนมีความรู้ความสามารถมากกว่าผมมาทำงานการเมือง

ผมมีความทะเยอทะยานทางการเมืองที่อยากจะเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย แต่ไม่ได้อยากมีตำแหน่งมีอำนาจใหญ่โต ไม่ใช่ว่ามีอำนาจไม่ดี ไม่ใช่ว่าอยากเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ดีนะ แต่ผมอยากกลับไปอยู่กับลูก อยากกลับไปปีนเขา อยากอ่านหนังสือ คุณรู้ไหมเดี๋ยวนี้ผมอ่านหนังสือน้อยลงสิบเท่า แต่ก่อนเสาร์อาทิตย์ มีเวลา ผมก็จะไปนั่งอ่านหนังสือร้านกาแฟ เดี๋ยวนี้ผมอ่านหนังสือน้อยลงเยอะ ปีที่แล้วทั้งปีผมอ่านหนังสือไป 3-4 เล่มเอง น้อยมาก

เรามีอะไรที่อยากทำเยอะแยะไปหมด ดังนั้นถ้าเราชนะทางการเมืองแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีผม

คุณประเมินทิศทางการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่อย่างไร และคนที่ไม่ชอบคุณมักจะพูดว่าทำไมธนาธรแอบอยู่หลังเด็ก ไม่ออกมาขึ้นเวทีสักที จะตอบคำถามนี้อย่างไร

ผมคิดว่านี่เป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจที่สุด สมัยเป็นพรรคอนาคตใหม่เราไม่ได้พูดถึงเรื่องสถาบันฯ ในฐานะที่เป็นวาระหลักของพรรคขนาดนั้น ที่ปิยบุตร (แสงกนกกุล) พูดเรื่องสถาบันฯ คือเรื่อง พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบฯ ที่โอนกรมทหารราบที่ 1 และ 11 เข้าไปเป็นส่วนราชการในพระองค์

แต่ผมคิดว่าช่วงเวลานี้คือการเปลี่ยนแปลงในฐานะสำนึกคิดของสังคมที่แหลมคมที่สุดในรอบหลายสิบปี การรณรงค์ไม่รับปริญญาไม่เคยเกิดขึ้นนะ เรื่องใหญ่มาก ไม่ยืนในโรงหนังนี่เหลือเชื่อมากนะ เป็นปรากฏการณ์ที่สิบปีที่แล้วไม่มีใครคิดว่าจะเกิด ดังนั้นผมคิดว่าพวกเขากล้าหาญมาก ผลักดันเพดานในสังคมไกลมาก

ผมเป็นกรรมาธิการงบฯ ปีหลังๆ เราพูดถึงงบส่วนราชการในพระองค์ การที่เราพูดอย่างต่อเนื่อง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปีนี้งบประมาณส่วนราชการในพระองค์ลดลงแล้ว ถ้าคนไม่สังเกตไม่รู้ งบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ลดลงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากการพูดติดกัน 2-3 ปี แล้วกลุ่มคนที่สร้างบรรยากาศให้เกิดการพูดคุยเรื่องนี้ได้อย่างไม่เป็นอันตรายเกินไปก็คือพวกเขา ไม่มีใครรู้หรอกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ผมนับถือหัวจิตหัวใจของคนที่กล้าหาญทุกคน

ตอบคำถามที่สอง ทำไมไม่ไปนำม็อบ ผมต้องย้อนไปตั้งแต่ตอนก่อนตั้งพรรคอนาคตใหม่ว่าวันที่ตัดสินใจว่าจะต้องทำอะไรสักอย่าง ตัวเลือกบนโต๊ะคือจะเป็นขบวนการทางสังคมหรือเป็นพรรคการเมือง นี่คือสิ่งที่ผมกับปิยบุตรคุยกันตั้งแต่วันแรกว่าเอาแบบไหน แต่เราเห็นว่าการทำพรรคการเมืองตอบโจทย์สังคม ณ ขณะนั้นมากกว่า

พอมาถึงวันยุบพรรค โจทย์ก็กลับมาอีกว่าจะเคลื่อนไหวทางสังคมไหม ซึ่งในระหว่างที่ชุลมุนวุ่นวาย น้องๆ เขาก็จัดกิจกรรมพึ่บพั่บไปหมด พูดง่ายๆ ก็คือมีคนทำไปแล้ว แล้วเขาทำได้สวยงาม ทำได้ดีกว่าและกล้าหาญกว่าพวกเราด้วย ดังนั้นผมคิดว่าตอนนี้เลยเวลาไปแล้ว ผ่านหน้าต่างแห่งโอกาสไปแล้ว

แต่ถ้าเกิดรัฐประหารอีกครั้งสิ ผมขึ้นเองแน่นอน ถ้าไม่โดนจับไปก่อนวันรัฐประหารนะ

คุณคิดว่ามีโอกาสเกิดรัฐประหารอีกรอบ?

มีตัวเลขสนุกๆ เล่าให้ฟัง คือ 3 กับ 13

3 คือ จำนวนการต่อสู้เรียกร้องของประชาชนที่นำมาซึ่งการเข้าใกล้ประชาธิปไตยคือ 2475, 2516, 2535

13 คือ จำนวนการรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย

คุณคิดว่าจะเกิด 4 หรือ 14 ก่อน ผมว่าต้องมี 14

ตอนนี้รัฐจัดการไม่ได้ ก่อนหน้านี้อาจมีกลไกผู้ใหญ่บ้านไปถึงทุกหมู่บ้าน คุมช่องวิทยุโทรทัศน์ คนแทบไม่มีโอกาสเข้าถึงข่าวสารความรู้อื่นที่ไม่ใช่แบบที่รัฐต้องการให้ดูเลย แต่ทุกวันนี้รัฐคุมไม่ได้ เนื่องจากมีโซเชียลมีเดียด้วย แล้วต้องยอมรับกลุ่มคนรุ่นใหม่จริงๆ เขาสู้ด้วยบัตรเลือกตั้งที่กติกาไม่เป็นธรรมไม่ได้ เขาสู้บนถนนไม่ได้ วันนี้เลยไปรบกันที่แนวรบวัฒนธรรม คุณเจอตั้งแต่พิธีไหว้ครู ลอยกระทง ทรงผมในโรงเรียน โรงหนัง จนถึงงานรับปริญญา ฯลฯ

แนวรบบนถนน รัฐจัดการได้ ยิงเสื้อแดงก็ยิงมาแล้ว พฤษภาฯ 35 ก็ยิงมาแล้ว แนวรบทางการเมือง รัฐจัดการได้ คุมกลไกกฎกติกาการเลือกตั้งไว้หมด แต่แนวรบด้านวัฒนธรรมไม่เคยถูกท้าทายเช่นนี้มาก่อน อำนาจนำทางสังคม เรื่องเล่าหลักของชาติไม่เคยถูกท้าทายขนาดนี้มาก่อน และมีแต่แนวโน้มเพิ่มขึ้น ถ้ายังคิดจะควบคุม คำตอบมีอยู่ทางเดียวคือต้องรัฐประหารอีกครั้ง ดังนั้นผมคิดว่าต้องมี 14 แน่

ถ้ามี 14 ก็ต้องมี 4 ตามมา?

ถ้ามี 14 จะไม่มี 15

แล้วคิดว่า 14 จะมาตอนไหน

ไม่รู้เหมือนกัน แต่คุณลองจินตนาการว่าตัวเองเป็นฝั่งนู้น โจทย์เขายากกว่าเยอะ

ผมยังยืนยันว่าในสังคมที่เป็นสมัยใหม่แบบนี้ ฆ่าล้างกันไม่ได้เหมือนสมัยก่อน คุณเป็น 1917 (ปฏิวัติรัสเซีย) เป็น 1789 (ปฏิวัติฝรั่งเศส) ไม่ได้แน่ๆ คุณจะเอาประเทศกลับไปเป็นร้อยปีก็ไม่ได้เหมือนกัน เหลือทางเดียวก็คือประนีประนอม เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียเลือดเสียเนื้อ เพื่อให้สังคมไปต่อได้ การเมืองจะเป็นปกติ คุณไม่ต้องคิดเลย ถ้าเป็นอย่างนั้น ธนาธรก็จะรีไทร์ ไม่มีความจำเป็นต้องมีผมแล้ว

ประเทศไทยไม่ได้พัฒนามานานเท่าไหร่แล้ว อำนาจงบประมาณถูกใช้เพื่อต่ออายุทางการเมืองของคนบางกลุ่ม ไม่ได้ถูกใช้เพื่อพัฒนาประเทศหรือพัฒนานวัตกรรม คุณคิดว่าคนมีอำนาจเขาจะคิดอะไร ระหว่างทำอย่างไรไทยจะแข่งกับสิงคโปร์ได้ หรือทำอย่างไรจะชนะเลือกตั้งครั้งหน้าแล้วไม่โดนเช็กบิล เพราะระบบการเมืองเป็นแบบนี้ใช่ไหม คุณเลยกลัวว่าเมื่อไหร่ที่คุณเสียอำนาจไปแล้วจะโดนเช็กบิล

นี่คือความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ คนรุ่นใหม่จะมีงานทำได้อย่างไร ผมยังนึกไม่ออกเลย ดังนั้นเพื่อทำให้สังคมเดินหน้าเป็นปกติ ต้องประนีประนอม ต้องช่วยกันพูดดังๆ ให้กลุ่มคนมีอำนาจทั้งหมดเข้าใจว่าการกลับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยคือทางออกเดียวที่เหลืออยู่

ถ้ามองในระยะใกล้อย่างการเลือกตั้ง 2566 คุณคิดว่า ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ จะชนะไหม

ต้องบอกกับประชาชนที่ศรัทธาในประชาธิปไตยที่อยากเห็นประเทศไทยพัฒนาให้ชัดว่าเรื่องนี้ใช้เวลา มันไม่ได้เกิดได้ด้วยการหย่อนบัตรเลือกตั้งครั้งเดียว มันต้องเดินทาง เติบโต สะสมเวลาร่วมกัน ถ้าถามผม การเลือกตั้งที่จะเป็นความหวังได้จริงๆ คือเลือกตั้ง 2570

ถ้าให้คุณให้คะแนนตัวเองในการทำงานการเมืองที่ผ่านมา คุณจะให้เท่าไหร่

โอย มีคนบอกว่าผมเป็นนักการเมืองที่ไม่ได้เรื่อง

ผมอาจจะแข็งเกินไปเรื่องจุดยืนทางการเมือง หรือไร้เดียงสาทางการเมืองหรือเปล่าไม่รู้นะ พูดตรงๆ ว่าผมไม่ใช่คนที่ถูกยอมรับว่ามีเขี้ยวเล็บทางการเมือง ไม่ใช่คนที่คิดการเมืองสามสี่ชั้น ไม่ใช่นักยุทธศาสตร์การเมือง ผมตรงๆ น่ะ หมดเรื่องพูดแล้วด้วยซ้ำไป คุณเอาเรื่องที่ผมพูดตั้งแต่วันตั้งพรรคมาจนวันนี้ก็พูดเรื่องเดิม เปลี่ยนไปในรายละเอียดเท่านั้นเอง ใจความหลักก็เหมือนเดิม คุณอยากเห็นประเทศเป็นแบบไหน คุณบอกกับประชาชน คุณได้เสียงเขามาแล้ว คุณทำแบบนั้น ผมว่าการเมืองมันสั้นๆ แค่นี้

ดังนั้นถ้าจะให้คะแนนตัวเองในฐานะนักการเมืองที่ต้องมีเขี้ยวเล็บ ผมอาจจะสอบตก

แล้วถ้าให้คะแนนในแง่การขับเคลื่อนสังคมที่อยากเห็นล่ะ

ผมไม่กล้าให้เลย ให้อนาคตเป็นคนตอบดีกว่า

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save