fbpx

‘ไทยสร้างไทย’ ในสนามเลือกตั้งผู้ว่ากทม. กับ ศิธา ทิวารี

แม้จะเป็นพรรคการเมืองที่เพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน แต่ประสบการณ์ทางการเมืองของคนในพรรคล้วนเข้มข้น-ยาวนาน จึงมิใช่เรื่องแปลกที่เมื่อ ‘ไทยสร้างไทย’ ตัดสินใจลงสนาม กทม. หลายสื่อหลายสำนักต่างก็จับตาหนึ่งในตัวละครสำคัญที่ส่งผลต่อการชิงชัยในสนามเมืองหลวง

น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตโฆษกรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร อดีต ส.ส.เขตคลองเตย พรรคไทยรักไทย เป็นชื่อที่พรรคไทยสร้างไทยส่งลงชิงเก้าอี้ผู้ว่า กทม. แม้จะห่างหายไปจากการเลือกตั้งยาวนานจากการถูกตัดสิทธิทางการเมืองกว่า 5 ปี แต่ศิธาและไทยสร้างไทยยังคงเชื่อมั่นในความเชี่ยวชาญทางการเมือง ผ่านประสบการณ์ในยุคที่ยังคงดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผันตัวมาทำงานเบื้องหลังร่วมกับพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทยกว่าทศวรรษ

101 ชวน น.ต.ศิธา ทิวารี แคนดิเดตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคไทยสร้างไทย พูดคุยว่าด้วยเรื่องความคิด ความหวังและความฝันใหม่ทางการเมืองของตัวเขาและพรรค ทั้งในสนามกรุงเทพฯและการเมืองภาพใหญ่

หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนและเรียบเรียงจากรายการ One-on-One Ep.260 ไทยสร้างไทยในสนาม กทม. กับ ศิธา ทิวารี ออกอากาศเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2565

หายหน้าหายตาไปนับสิบปี อะไรที่ทำให้ตัดสินใจกลับมาสู่วงการการเมือง?

ผมโดนรัฐประหาร 2549 และถูกตัดสินให้ยุบพรรคและตัดสิทธิ์คณะกรรมการพรรคไปด้วย ผมจึงถูกตัดสิทธิ์ไป 5 ปี แต่กฎหมายเพียงแค่ตัดสิทธิลงสมัครเลือกตั้ง ไม่ได้ห้ามให้เข้ามาช่วยพรรคการเมือง ซึ่งตอนนั้นพอยุบพรรคไทยรักไทยไปก็กลายเป็นพรรคพลังประชาชน ผมก็เข้ามาช่วยพรรค แต่ไม่ได้สมัครเป็นสมาชิก หลังจากนั้นพรรคพลังประชาชนก็โดนยุบมาเป็นพรรคเพื่อไทย ตอนนั้นผมได้สิทธิคืนแล้วหลังพ้น 5 ปีจึงมาสมัครเป็นสมาชิกพรรค แต่ไม่ได้ทำหน้าฉากเพียงแค่ช่วยอยู่เบื้องหลัง เพราะฉะนั้นแม้ตลอดสิบปีจะไม่มีตำแหน่งทางการเมือง แต่เราทำงานอยู่ตลอด

เหตุผลที่กลับมาเพราะคุณหญิงหน่อย (สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์) เนื่องจากช่วงหนึ่งเราเป็นส่วนช่วยในยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยแต่ยอมรับว่าข้อดีของพรรคใหญ่คือ ในการเลือกตั้งมันจะง่าย เรามีกองเชียร์ มีคะแนนเสียง และยอมรับว่าอดีตนายกฯ ทักษิณเป็นแม่เหล็กสำคัญให้คนตามมาเชียร์ แต่ข้อเสียของพรรคใหญ่ คือไม่มีความเป็นหนึ่งเดียว มันมีความแตกต่างหลากหลายอยู่เยอะ แม้จะเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่ไม่สนับสนุนเผด็จการเหมือนกัน แต่ในรายละเอียดปลีกย่อยก็ต่างกัน ว่าในความเป็นประชาธิปไตยเรายืนจุดไหน เขาจุดไหน แม้แต่เรื่องการลงผู้ว่าฯ ก็ต่างกันอีก

จนถึงจุดหนึ่งที่คิดว่าควรขยับมาทำของตัวเองดีกว่า แม้พรรคจะเล็กหน่อยแต่ได้คนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ประจวบเหมาะที่คุณหญิงหน่อยมาชวน ผมจึงตอบรับแต่ขอไม่ออกหน้า เพราะเมื่อก่อนผมมองว่าการเมืองควรตรงไปตรงมา ผิดคือผิด ถูกคือถูก แต่ช่วงที่ผ่านมากลับพบว่า การเมืองเป็นเรื่องที่ถึงแม้จะผิด แต่ถ้าเขาจะช่วยกันให้ถูกเขาก็ทำได้ การเมืองจึงไม่ใช่สิ่งที่น่าพิสมัย ผมจึงอยากช่วยอยู่เบื้องหลัง

อย่างไรก็ตามสุดท้ายคุณหญิงหน่อยก็ยกเหตุผลเรื่องดีเอ็นเอของพรรคขึ้นมา หมายถึง คนที่รู้ในนโยบายของพรรค รู้ในสิ่งที่ไทยสร้างไทยจะทำให้คนกรุงเทพฯ และประเทศชาติ ดังนั้น จึงคิดว่าถ้าส่งผู้ว่าฯ คนที่มีดีเอ็นเอของพรรคจะสามารถชี้แจงให้ประชาชนได้ทราบว่าเราจะทำอะไรให้ประเทศ โดยใช้กรุงเทพเป็นโมเดลตัวอย่างให้เห็นได้

หลายคนมองว่าพรรคไทยสร้างไทยมีเงาที่แยกไม่ออกจากพรรคเพื่อไทยเดิม ดังนั้นพรรคไทยสร้างไทยวางตำแหน่งแห่งที่ของตนเองในสนามการเมืองอย่างไร และมีจุดเด่นที่ต่างจากพรรคอื่นอย่างไร?

บางพรรคการเมืองจะวางตำแหน่งในจุดที่จะสู้ จะชนกับทุกปัญหา หรืออีกฝั่งก็อาจจะต่างมุมไป อย่างไรก็ตามการเมืองในภาพรวมที่ผ่านมาทุกพรรคจะยึดบนจุดยืนของตัวเอง แต่ไม่ร่วมมือกัน ไม่ปรองดองกัน และต้องการแค่จะชูในประเด็นที่ต้องการ ซึ่งหลายประเด็นที่เอามาชูเป็นนโยบายมันไม่ใช่สิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องทำในประเทศนี้

แต่ผมและพรรคบอกว่าปัญหาไหนที่เป็นปัญหาจำเป็นเร่งด่วน เราจะเอามาทำ ดังนั้น จุดแข็งของเรา คือ เราจะทำการเมืองที่ไม่ได้ไปเผชิญหน้า เช่น ฝั่งขวาสุดก็ทำในมุมที่ไม่ได้สนใจกติกา ไม่สนสิทธิเสรีภาพ แต่อีกฝั่งก็ยึดสิทธิเสรีภาพมากจนกลายมาเป็นเผชิญหน้ากัน ซึ่งหากมันเป็นแบบนี้ เรามองว่าแค่วิกฤตการเมืองที่ผ่านมาแล้วมาเจอวิกฤตเศรษฐกิจ ซ้ำด้วยวิกฤตโควิด-19 เราแทบไม่ต้องแก้อย่างอื่นกันแล้ว

ถ้าเราลองลงไปคุยกับพี่น้องประชาชนจะเห็นว่าปัญหาต่างๆ มากมายตอนนี้ มีปัญหาเดียวที่พูดถึงมากที่สุด คือ ปัญหาปากท้อง ปัจจุบันไม่มีใครพูดเลยว่าต้องประชาธิปไตยหรือนั่นนี่ แต่เป็นใครก็ได้ที่แก้ปัญหาให้เขาได้ ดังนั้นเราจะชูจุดแข็งตรงนี้ แก้ในสิ่งที่ประชาชนเดือดร้อนและเมื่อเขาอยู่ดีกินดี เขาจะกลับมาสนับสนุนการเมืองเอง

ตอนนี้คนรุ่นใหม่แอคทีฟมากในการเมือง อ่านคนรุ่นใหม่ใน กทม. อย่างไร?

ปัจจุบันรัฐบาลยังมองเศรษฐกิจแบบเดิม แต่คนรุ่นใหม่มองเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลทั้งหมดแล้ว ในการลงทุนต่างๆ คนรุ่นเก่าฝากเงินดอกเบี้ยน้อยนิด แต่คนรุ่นใหม่เขาลงทุนกับสินทรัพย์ดิจิทัล คนรุ่นเก่าบอกว่าเสี่ยง หวือหวา ซึ่งความจริงระบบมันเสถียรมากที่สุด แต่ความหวือหวามาจากการเก็งกำไรของคนเท่านั้นเอง

ถ้านักการเมืองจะเข้ามาขอคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่แล้วไม่เข้าใจจุดต่างๆ เหล่านี้จะไม่สามารถทำได้เลย ซึ่งตอนนี้ผมอยู่ในช่วงที่พูดสื่อสารกับผู้ใหญ่และเตรียมข้อมูลสำหรับคนรุ่นใหม่ เพื่อบอกว่ากทม. ต้องเป็นเมืองที่ต้อนรับและเป็นมิตรกับเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น เรื่องการคิดภาษีคริปโต ตัวผมเองเข้าใจและรู้ว่าจะทำอย่างไรให้กรุงเทพฯ มีความเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับเศรษฐกิจดิจิทัล และจะทำอย่างไรให้คนทั่วโลกอยาก Work from here มีแค่โน๊ตบุ๊คเครื่องหนึ่งแล้วมาทำงานที่บ้านเรา สร้างแอพลิเคชั่นที่ส่งขายทั่วโลก เราสามารถสร้างเมืองแบบนั้นได้ แต่ต้องเข้าใจกระแสโลกว่ามันเปลี่ยนสู่เศรษฐกิจดิจิทัลกันหมดแล้ว

แม้ต้องชนะใจคนรุ่นใหม่ให้ได้ แต่คนในกรุงเทพมีกลุ่มคนหลากหลายมาก ในภาพกว้าง ท่ามกลางภูมิทัศน์ กทม. โจทย์การเอาชนะการเลือกตั้งเป็นอย่างไร? 

ต้องเรียนว่าเราให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้สูงวัย เรามีนโยบายบำนาญประชาชน ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงให้คนสูงวัย และสร้างความมั่นใจให้ลูกหลาน เนื่องจากลูกหลานที่ออกไปทำงานนอกบ้านและมีผู้สูงอายุอยู่ที่บ้าน เขาไม่สามารถดูแลได้ ถ้ารัฐหรือ กทม. ยื่นมือไปช่วยดูแล จะทำให้เขาสามารถไปทำงานได้อย่างสบายใจ และคนแก่ก็รู้สึกมั่นคงว่ามีคนดูแลในขณะที่ลูกออกไปทำงาน

เรื่องการศึกษาทุกคนบอกว่าเราต้องมีความเป็นเลิศทางด้านการศึกษา แต่เราลืมไปว่าความเป็นเลิศทางการศึกษามันพ่วงมาด้วยความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ดังนั้นก่อนไปถึงความเป็นเลิศ เราต้องมาดูก่อนว่าทำไมโรงเรียนใน กทม. ถึงด้อยกว่าโรงเรียนรัฐบาลอื่น แล้วทำไมโรงเรียนรัฐถึงด้อยกว่าโรงเรียนเอกชน และทำไมโรงเรียนเอกชนถึงด้อยกว่าโรงเรียนอินเตอร์ เราถึงต้องมาดูกันว่าการเรียนการสอนในบ้านของเราเป็นอย่างไร ฉะนั้น ก่อนจะทำเรื่องความเป็นเลิศทางกากรศึกษา ผมจะทำให้โรงเรียนใน กทม. มีมาตรฐานเช่นเดียวกับโรงเรียนรัฐและโรงเรียนเอกชนก่อน เมื่อโรงเรียนในชุมชนทุกโรงเรียนดีเท่ากันหมด พ่อแม่ก็ไม่ต้องส่งลูกไปเรียนไกลบ้าน เราจะลดปัญหารถติด เด็กไม่ต้องไปโตในรถ ไม่ต้องไปกินข้าวในรถ แต่สามารถไปวิ่งเล่นได้

สุดท้ายคือ กลุ่มพ่อค้าแม่ขายที่เล็กกว่ากลุ่ม SME แต่เป็น Nano SME ซึ่งอาจจะรวมถึงหาบเร่แผงลอย ห้องแถวเล็กๆ ที่ขาดเงินทุนในการไปซื้อทรัพยากรมาประกอบอาชีพ โดยจะตั้งกองทุนเครดิตประชาชน เราจะให้ประชาชนทุกคนมีเครดิตเป็นของตัวเอง เป็นเครดิตที่เขามีอยู่ในชุมชนที่คนในชุมชนรู้ โดยจะมีคณะกรรมการของเขาเอง ทำหน้าที่ดูแลเงินกู้ ซึ่งกทม. ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเข้าไปทำกระบวนการชาวบ้านให้มาเป็นกรรมการคัดกรองคนที่มากู้ และถ้าเป็นหนี้เสียไม่จ่ายเงินก็มีการคิดดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือคนตัวเล็กให้สามารถไปสู้ในสังคมได้

 

ปัญหาเรื่องเทศกิจ ถ้าจะเข้าไปแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องทำอย่างไร?

ถ้าเข้าไปผมจะเปลี่ยนมายด์เซ็ต (mindset) ของเทศกิจจากผู้ตรวจ (inspector) เป็น ผู้ให้บริการ (facilitator) เทศกิจต้องเป็นผู้สนับสนุนให้คนหาบเร่แผงลอยได้ค้าขาย โดย หนึ่ง–ต้องสนับสนุนพ่อค้าแม่ค้าที่ลงทะเบียนไว้แล้วให้เขาสามารถค้าขายได้ สอง–แต่จะต้องไม่ขัดต่อระเบียบการจราจรและไม่กีดขวางการสัญจรไป-มา เป็นการตกลงร่วมกันของคนที่สัญจร รวมถึงหน่วยงานของรัฐในการจัดหาพื้นที่ให้

และผมจะนำเอาระบบเทคโนโลยีหนึ่งชื่อ Decentralized Autonomous Organization มีตัวย่อว่า DAO (ดาว) คือองค์กรที่มีการกระจายอำนาจให้แก่ประชาชนอย่างอัตโนมัติโดยที่ไม่สามารถไปแก้ไขข้อมูลได้เพราะว่าเป็นระบบบล็อกเชน ระบบ DAO จะช่วยหลักๆ ใน 2-3 เรื่อง 

เรื่องแรกคือ การใช้งบประมาณของภาครัฐ ประชาชนจะสามารถเข้าระบบเพื่อไปดู วิพากษ์วิจารณ์ เข้าไปโหวต โดยตัวบุคคลต้องทำการยืนยันตัวตน แล้วระบบจะรู้เลยว่าคนนี้อยู่ในพื้นที่นี้เขตนี้เป็นผู้ที่มีส่วนได้เสีย เขามีสิทธิที่จะโหวต เพราะเป็นเงินภาษีของเขา   

เรื่องที่สอง บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวพัน บางคนเกี่ยวพันในเรื่องของการศึกษา บางคนเกี่ยวพันในเรื่องสิทธิสตรี บางคนเป็น NGO ที่รณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม คนเหล่านี้สามารถเข้าระบบ DAO แล้วไปออกเสียงว่า งบประมาณที่ได้มาสมควรที่จะเอาไปใช้แก้ปัญหาเรื่องอะไร เป็นการรวมเอาสมรรถภาพของทุกคนที่มีความรู้ แล้วตัวผู้ว่าก็จะเช็กการใช้งบประมาณผ่านระบบนี้ด้วยเพื่อรับฟังเสียงประชาชนตรงนี้มากขึ้น 

เรื่องที่สาม ในส่วนของราชการ กทม. สามาถใช้ระบบ DAO มากำกับดูแลและใช้ประโยชน์ในการเลื่อน ลด ปลด ย้ายข้าราชการกทม. ได้ เช่น เทศกิจในพื้นที่มีอยู่กี่คนก็ตาม แต่พ่อค้าแม่ขายชาวบ้านก็จะรู้จัก คนเหล่านี้ก็จะโหวตคุณ ดังนั้นเวลาทำงาน คุณไม่ต้องมาเอาอกเอาใจผู้บังคับบัญชา คุณไปเอาอกเอาใจชาวบ้าน ไปทำให้ดีแล้วถึงเวลาชาวบ้านจะโหวต ผมจะรู้เลยว่าสิ่งที่คุณทำเป็นยังไง ชาวบ้านคือคนที่จ่ายภาษีอาการ เป็นคนที่จ่ายเงินเดือนข้าราชการ เพราะฉะนั้นเขาต้องมีสิทธิมีเสียง แล้วก็ไม่ต้องกลัวว่าจะโดนหาบเร่แผงลอยมากลั่นแกล้ง เช็คตรงนั้นไม่ยาก แต่ทุกวันนี้ที่จะไปเช็คว่าคุณทำดีหรือเปล่า คุณทำงานสมเงินเดือนเปล่า หรือแม้กระทั่งคุณไปเบียดเบียนรายได้ของเขาหรือเปล่า ตรงนั้นเช็คยากมาก แต่ถ้าทำแบบนี้ทุกคนจะเปลี่ยนมายด์เซ็ตได้เลยภายใต้เทคโนโลยีปัจจุบันที่เกิดขึ้น 

เนื่องจากคุณศิธาเป็น ส.ส.คลองเตยมาก่อน พอพูดถึงเขตนี้ทุกคนต้องนึกถึงเรื่องชุมชนแออัด ถ้าคุณศิธาเป็นผู้ว่าจะมีแนวคิดต่อการจัดการปัญหาสลัมอย่างไร?

ชุมชนแออัดคือพื้นที่ที่คนยากคนจนเข้าไปอยู่ แต่เขามีสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ผมคิดว่าเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องหนึ่งของปัจจัยสี่ ในส่วนของชุมชนแออัดคลองเตยอยู่มาตั้งแต่ก่อนผมเกิด อยู่ในที่ดินซึ่งเป็นพื้นที่กรรมสิทธิของท่าเรือคลองเตย ซึ่งที่ดินการท่าเรือมีทั้งหมด 2,000 กว่าไร่ ที่ใช้จริงๆ รวมพื้นที่ตลาดท่าเรือ พื้นที่ในเชิงพานิชย์ที่ให้คนอื่นเช่าประมาณสัก 1,200 ไร่ ดังนั้น ต้องมาจัดสรรแบ่งแปลงทำที่ใหม่

ถ้าจะให้อยู่เป็นแฟลตแล้วชาวบ้านโอเคไหม แฟลตขนาดเท่านี้กับจำนวนคนที่อยู่มีเท่านี้ มีสวนหย่อมเพื่อคุณภาพชีวิตให้ดี ชาวบ้านอาจจะอยู่โดยใช้พื้นที่ 300 ไร่ที่เหลือพื้นที่อีกเกือบ 2,000 ไร่ สามารถที่จะเอาไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้ เพราะฉะนั้น ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจ มีความมุ่งมั่นที่จะทำโดยที่ไม่ไปคิดเอารัดเอาเปรียบ หรือไม่มีความคิดจะอุ้มคนรวย ไม่ช่วยคนจนผมว่าสามารถทำได้ ซึ่งผมในฐานะที่เป็น ส.ส.คลองเตยรู้จักกับชาวบ้านอยู่แล้ว รู้จักผู้นำชุมชนอยู่แล้ว ผมเชื่อว่าจะสามารถพูดคุยให้ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเป็นการยินยอมของทั้งสองฝ่าย

ปัญหาคลาสสิกเรื่องรถติด คิดว่าจะแก้อย่างไร?

ผมเรียนว่ารถติดเป็นเรื่องของตำรวจจราจร ไม่ได้จะปัดนะครับ จะช่วยทำ ซึ่งทุกคนจะด่าผู้ว่าฯ ถามว่าด่าได้ไหม ด่าได้ เพราะว่าเป็นเจ้าของบ้าน แต่มีคนอื่นร่วมรับผิดชอบอยู่ แต่เจ้าของบ้านไม่สามารถทำอะไรได้ ตามระเบียบข้อกฎหมาย การบังคับบัญชาไม่สามารถจะไปกำกับดูแลได้ ตรงนี้ต้องคุยกับหน่วยงานรัฐบาลว่า ตำรวจจราจร ผู้ว่าฯ จะเข้าไปเกี่ยวข้องกันยังไง จะเข้าไปสั่งการกันยังไง หรือเขาจะสั่งการกันเอง

จริงๆ ถ้าเปลี่ยนโครงสร้างทั้งระบบ อย่างเช่น รถไฟฟ้า ถ้าเราทำให้เป็น Mass Transit อย่างแท้จริง การจราจรก็จะเบาบางลง การแก้ปัญหาการจราจรโดยการเพิ่มพื้นที่ถนนโดยที่รถยังเยอะอย่างทุกวันนี้ ไม่ว่าอย่างไรก็แก้ลำบาก จะไปเวนคืนก็ใช้งบประมาณมหาศาล เพราะว่าที่ดินบางที่ราคาต่อตารางวามันเป็นล้านไปแล้วไม่สามารถที่จะไปขยายถนนได้ ส่วนผังเมืองเราก็วางมาแบบไทยๆ เพราะฉะนั้นถ้าเราทำให้ Mass people สามารถไปใช้ Mass transit ได้ เราจะสามารถลดการจราจรที่คับคั่งได้เยอะมาก

เมืองอื่นที่เขาเจริญแล้วผมยกตัวอย่าง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ประชากรเขาก็อยู่แบบแออัดไม่แพ้เรา อาจจะมากกว่าเราด้วยซ้ำ แต่เขาสามารถทำระบบขนส่งสาธารณะที่ดีได้ คนก็ไปใช้การขนส่งสาธารณะที่ดีหมด แล้วต้องทำอะไรบ้าง 

หนึ่ง–ค่าโดยสารเฉลี่ยของคน กทม. มากถึง 30% ของรายได้ เดือนหนึ่งต้องมาจ่ายค่าโดยสาร 1 ใน 3 ของเงินเดือน เขาทำไม่ได้ ค่าโดยสารต้องลดลงมาให้เท่ากับค่าเฉลี่ยของคนกรุงเทพฯ ราคาปัจจุบันอาจจะคำนวณประมาณ 30 บาท เอกชนอยู่ได้ เอาคนที่มีความชำนาญในเรื่องการเงิน เอา FA เข้ามาตรวจสอบ แล้วบอกว่าคุณจะไปขายตั๋ว 40 บาทไม่ได้ ต้องลดเหลือ 25-30 บาท คิดให้ถูกต้อง เพราะเขามีกำไรในเกณฑ์ที่ควรจะได้ 

สอง–กลับมาดูว่าประชาชนจ่ายได้เท่าไหร่ ถ้าจ่ายได้ 15 บาท ส่วน 15 บาทที่เหลือจะทำอย่างไร ผมบอกว่ารัฐบาลสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานให้กับประชาชนเยอะแยะ โดยที่เอาภาษีของประชาชนมาสร้างแล้วก็ไม่ได้ต้องการให้เกิดรายได้ แล้วทำไมรถไฟฟ้าจะทำให้ไม่ได้ ถนนให้รถวิ่งก็ไม่ได้เก็บเงินตั้งหลายสายมีเก็บเงินแค่โทลเวย์ ค่าทางด่วน เพราะฉะนั้น ในส่วนของรถไฟฟ้า ถ้าประชาชนจ่ายได้ในราคา 15 บาท ความคุ้มทุนอยู่ที่ 30 บาท รัฐบาลอาจจำเป็นต้องมาดู กทม.ต้องมาดูว่าทำยังไงให้เขาขึ้นไปได้ พ่อค้าแม่ขายต้องสามารถขึ้นได้ แล้วก็มีการขยายโครงข่ายไปให้ยาวทั่วทุกมุมเมือง ถ้าทำแบบนั้นคนก็จะใช้ขนส่งสาธารณะเยอะขึ้น อัตราค่าใช้จ่ายต่อหัวก็จะถูกลง ตรงนี้จะเป็นการแก้ไขปัญหาจราจรอย่างดี   

คิดว่าผู้ว่าที่คนกรุงเทพฯ ต้องการเป็นคนแบบไหน? แล้วคุณศิธามีคุณสมบัติที่จะเป็นแบบนั้นหรือไม่?

ผมคิดว่าผู้ว่า กทม.ต้องรู้จักการประยุกต์ใช้ รู้จักการแก้ปัญหา รู้จักการประนีประนอม (compromise) ในขณะเดียวกันต้องรู้จักกลไกของระบบราชการในการที่จะเข้าไปทำ ตัวผมเองผมเป็นข้าราชการและเป็นนักบิน ผมเป็นข้าราชการมาก่อน ตั้งแต่อายุ 18 ผมเข้าใจระบบราชการดีว่าเป็นยังไง เข้าใจกฎระเบียบดีว่าข้าราชการจะไม่คิดนอกกรอบและจะทำในสิ่งที่ตัวเองได้รับมอบหมาย ในขณะที่นักบินจะมีการคิดนอกกรอบบ้าง เพราะว่าต้องเอาวัตถุประสงค์และภารกิจเป็นตัวตั้งแล้วทำให้สำเร็จและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ได้

ผมเคยเป็น ส.ส.เขตคลองเตย ซึ่งคลุกคลีกับกรุงเทพมหานครมา 20 กว่าปี ผมเรียนรู้ในการที่จะไปร่วมคิดร่วมทำกับชาวบ้าน ผมเคยเป็นโฆษกรัฐบาลจึงเข้าใจการบริหารของกระทรวงต่างๆ ซึ่งในระเบียบ กทม. ทุกส่วนราชการของกทม. ล้อจากระเบียบกระทรวงทบวงกรมมาทั้งหมดไม่ผิดเพี้ยนกันเลย 

ผมยกตัวอย่าง ผมเคยเป็นประธานบอร์ดการท่าผมทำสนามบิน องค์กรเล็กๆ เมื่อเทียบกับ กทม. แต่สิ่งที่ผมทำคือ มีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ ผมนำเอาพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในสนามบินสุวรรณภูมิมาทำเป็นพื้นที่ปั่นจักรยาน สนามจักรยานที่ทำไปตอนนี้มีเอกชนมาร่วมลงทุน แล้วก็ไประดมทุนจากเอกชนเจ้าอื่นมาได้ ผมว่าน่าจะประมาณ 2,000 ล้าน แล้วเขาลงทุนพัฒนาสนามโดยที่องค์กรการท่าไม่ต้องเสียเงินของหน่วยงานตัวเองเลยแม้แต่บาทเดียว ซึ่งตอนแรกไม่มีใครเห็นด้วยเลย เพราะมันเป็นการคิดนอกกรอบ แต่ผมคิดว่าคุณสมบัตินี้มันมาประยุกต์ใช้กับกทม. ได้ 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save