fbpx

‘ทำไมคนจังหวัดอื่นจะเลือกตั้งผู้ว่าฯ เองไม่ได้’ คืนอำนาจสู่ท้องถิ่นไทย กับ โอฬาร ถิ่นบางเตียว  

เมษายน 2565 – เพจเฟซบุ๊ก ‘We’re all voter : เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง’ ถือกำเนิดขึ้นมาระหว่างที่บรรดาผู้สมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครกำลังเดินสายหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งในรอบเก้าปี คำถามที่ สันติสุข กาญจนประกร ผู้สร้างเพจและเจ้าของแคมเปญลงชื่อสนับสนุนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศในเว็บไซต์ change.org เสนอต่อสังคมคือ ‘ทำไม’ คนต่างจังหวัดจึงไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ของตัวเอง และ ‘เมื่อไหร่’ ที่ประเทศไทยจะเกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริงเสียที

คำถามของเขาภายใต้การขับเคลื่อนด้วยชื่อเพจ We’re all voter และแคมเปญล่ารายชื่อผู้สนับสนุนได้รับความสนใจจากคนหลากหลายกลุ่ม บ้างเป็นเสียงชื่นชม บ้างเข้ามาเสนอความเห็นเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างการปกครองท้องถิ่น และแน่นอนว่าย่อมมีบางคนต่อต้าน (ด้วยเหตุผลนานาประการอย่างสุ่มเสี่ยงจะเกิดการ ‘แบ่งแยกดินแดน’ หรือเป็นแนวคิด ‘กบฏ’ ต่อการปกครอง)

แม้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ จะจบลงด้วยชัยชนะอย่างถล่มทลายของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ราวกับว่าเสียงเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ รวมถึงกระจายอำนาจสู่ประชาชนในต่างจังหวัดจะดังก้องยิ่งกว่าเดิม เห็นได้จากการร่วมลงรายชื่อในแคมเปญของ We’re all voter เพิ่มขึ้นจนถึง 1.6 หมื่นรายชื่อในวันที่สันติสุขยื่นต่อสภา (1 มิถุนายน 2565) เพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอีกหลายหมื่นรายชื่อที่สนับสนุนการปลดล็อกท้องถิ่นของคณะก้าวหน้า – บางทีนี่อาจจะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดของการ ‘ปักธงผืนแรก’ สร้างหมุดหมายความเปลี่ยนแปลงในเนื้อดินสังคมไทยตามคำบอกกล่าวของสันติสุขก็เป็นได้


YouTube video


อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแนวคิดการกระจายอำนาจที่มีความพยายามขับเคลื่อนกันมานานหลายปี หลังการปักธงคราวนี้ยังมีเส้นทางอีกยาวไกล รวมถึงข้อถกเถียงมากมายที่ต้องว่ากันต่อไป ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นที่อาจต้องปรับเปลี่ยนใหม่ การแก้ไขในเชิงกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ความรู้ความเข้าใจของชาวบ้านในจังหวัดต่างๆ ฯลฯ

101 หยิบยกคำถามส่วนหนึ่งที่น่าสนใจไปคุยกับ รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ว่าด้วยเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการปกครองท้องถิ่นในปัจจุบัน ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเด็นเลือกตั้งผู้ว่าฯ และการกระจายอำนาจ สารพัดความกังวลที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ไปจนถึงจินตนาการระบบการปกครองท้องถิ่นใหม่ในอนาคตข้างหน้า

ตลอดเวลาของการสนทนา หนึ่งสิ่งที่โอฬารย้ำแก่เราอยู่เสมอ คือทุกการเปลี่ยนแปลงอาจต้องใช้เวลาและต้องมีที่มาจากการฟังเสียงคนในท้องถิ่นจริง


โอฬาร ถิ่นบางเตียว
โอฬาร ถิ่นบางเตียว

จากกระแสการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพครั้งล่าสุด ทำให้เมื่อไม่นานมานี้เกิดแคมเปญเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ดังที่เราเห็นในเพจเฟซบุ๊ก We’re all voter รวมถึงการเสนอชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปลดล็อกท้องถิ่นของคณะก้าวหน้า ยิ่งหลังจากคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ชนะการเลือกตั้ง ดูเหมือนว่าจะกระแสความต้องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในจังหวัดตนเองยิ่งมาแรง อาจารย์มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร

เรื่องนี้มีสองส่วนที่ต้องชวนกันพิจารณา เรื่องแรกคือการพิจารณาในแง่หลักการว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ มีความจำเป็นและมีความสำคัญกับกระบวนการบริหารประเทศขณะนี้อย่างไร หลักการนี้ดี มีความจำเป็น เท่าที่ผมทันนะครับ เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ มีการพูดกันมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่หลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 มีการพูดถึงเป็นแคมเปญใหญ่ๆ ของบรรดาพรรคการเมืองระหว่างการเลือกตั้งในขณะนั้น เช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังธรรม รณรงค์ให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นนโยบายหาเสียง แต่สุดท้ายก็หลอกลวงประชาชนทั้งประเทศ เพราะหลังพรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งกลับไม่สามารถทำตามสัญญาประชาคม โดยโยนความผิดไปให้กระทรวงมหาดไทย อ้างว่ากระทรวงมหาดไทยยังไม่พร้อม หรือไม่ยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของประชาชนคนไทย ฝ่ายมหาดไทยยังหวงอำนาจของตนเองและผลประโยชน์ของเหล่าข้าราชการชนชั้นนำ อ้างเหตุผลที่เลื่อนลอยแต่ใช้ได้กับสังคมไทย คือผู้คนในสังคมยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ ประชาชนยังขาดการศึกษา กลัวอิทธิพลท้องถิ่น หรือพวกเจ้าพ่อท้องถิ่นจะมีอำนาจในจังหวัด เป็นต้น

สุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์ก็ทำได้เพียงแค่จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเพิ่มบทบาทผู้หญิงในการบริหารระดับสูง แล้วเรื่องนี้ก็หายไปในการเมืองของการกระจายอำนาจในประเทศไทย ส่วนหนึ่งเพราะรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ได้เพิ่มบทบัญญัติสาระสำคัญเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่น ทำให้เกิดบรรยากาศการตื่นตัวเรื่องการกระจายอำนาจ การปกครองท้องถิ่น มีการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาโดยตรงจากประชาชน องค์กรปกครองท้องถิ่นมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการดูแลประชาชน เป็นผลให้ประเด็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เงียบหายไป

มาวันนี้หลังจากเหตุการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง ทำให้เราเห็นข้อจำกัดที่ชัดเจนของรัฐราชการว่ามีปัญหาในการบริหารจัดการดูแลประชาชน ติดกับดักของกฎระเบียบจนกีดขวางการพัฒนาประเทศและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน อย่างเรื่องผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้ง ประชาชนไม่ได้อะไรเลยนอกจากคนที่มานั่งขี่คอประชาชน มาแสดงอำนาจบาตรใหญ่ มาเป็นเจ้าเมือง และต้องคอยต้อนรับ จัดผักชีโรยหน้าเอาใจนักการเมือง รัฐมนตรีที่จะให้ตนเองได้เลื่อนขั้นเป็นอธิบดี หรือปลัดกระทรวง  ระบบราชการไทยและผู้ว่าราชการที่มาจากการแต่งตั้งมันสิ้นหวังและล้าหลังไม่ทันโลกในศตวรรษที่ 21 

สภาพเช่นนี้ทำให้ประชาชนกลุ่มใหญ่ที่เห็นปัญหาของระบบราชการไทยและพฤติกรรมบ้าอำนาจของข้าราชการระดับสูงคิดว่าคงคิดว่าการเลือกตั้งผู้นำที่สัมพันธ์กับเขาน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า หรืออย่างน้อยก็ดีกว่าผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้งของนักการเมือง เด็กเส้น สิงห์สีต่างๆ หรือกลุ่มชนชั้นนำที่ทรงอำนาจในประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับนายก อบจ. ที่มาจากการเลือกตั้ง เทศบาล อบต. เมืองพัทยา ยิ่งทำให้เห็นว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเห็นหัวประชาชน สร้างคุณภาพชีวิต ดูแลประชาชนได้ดีกว่า

เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ จึงน่าจะเป็นทางออกของข้อจำกัดในการบริหารราชการแบบเดิมที่ล้าหลังไม่ทันโลก ไม่ทันการเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกาภิวัตน์ กลายเป็นแคมเปญนี้ขึ้น และเติบโตไวมากพร้อมๆ กับกระแสของการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ของ อาจารย์ชัชชาติ พร้อมกับเกิดคำถามง่ายๆ ที่ท้าทายโครงสร้างอำนาจรัฐ และ ชนชั้นนำข้าราชการว่า คนกรุงเทพฯ เลือกผู้ว่าฯ ได้ ทำไมคนต่างจังหวัดเลือกตั้งผู้ว่าฯ ไม่ได้

เรื่องที่สองที่เราต้องพิจารณาคือการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างกระแสในสังคม ปรากฏว่าผมเห็นกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนเรื่องนี้เป็นกลุ่มแรกๆ (2565) คือคณะก้าวหน้า แม้ว่าจริงๆ แล้วข้อเรียกร้องเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ จะมีมาอย่างต่อเนื่องในกลุ่มนักวิชาการด้านการปกครองท้องถิ่น เช่น ศ.ดร.ธเนศร์ เจริญเมือง หรือกลุ่มทำงานภาคประชาสังคมด้านการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น แต่การเคลื่อนขยับในนาม ‘คณะก้าวหน้า’ ก็เป็นการจุดประกายความหวังเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ให้เป็นที่สนใจของสังคมอีกครั้ง

ประเด็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นสิ่งที่ดี มีความจำเป็น และมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศจากฐานรากรวมถึงการพัฒนาประชาธิปไตยระยะยาวของประเทศ อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขทางการเมืองของคณะก้าวหน้าอาจทำให้เกิดการต่อต้านคัดค้านจากประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ปฏิเสธทุกข้อเสนอของคณะก้าวหน้า จนกลายเป็นประเด็นการเมืองระหว่างผู้สนับสนุนคณะก้าวหน้าและกลุ่มผู้ไม่สนับสนุนคณะก้าวหน้าก็เป็นได้

สิ่งที่ผมกังวลใจ คือแม้ว่าประเด็นข้อเสนอการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของคณะก้าวหน้าจะเป็นสิ่งที่มีเหตุผล มีความจำเป็นต่ออนาคตของประเทศ  แต่เหรียญอีกด้านของข้อเสนอ คือประชาชนอีกฝั่งที่ปฏิเสธคณะก้าวหน้าทุกข้อเสนอ ซึ่งจะมีผลต่อการผลักดันขับเคลื่อนประเด็นข้อเสนอการเลือกตั้งผู้ว่าฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะเกิดแนวร่วมมุมกลับที่หันมาเป็นพันธมิตรกับกลุ่มประชาชนฝ่ายตรงข้ามคณะก้าวหน้า คือ กระทรวงมหาดไทย ราชการส่วนภูมิภาค บรรดาชนชั้นนำราชการที่เห็นประโยชน์จากผู้ว่าฯ แต่งตั้ง รวมไปถึง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ เราอาจจะเห็นการยื้อกัน การขยายประเด็น ปลุกกระแสต่อต้านโดยนำเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ มาเชื่อมโยงกับการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย เรื่องเอกภาพรัฐชาติ รัฐเดี่ยวแบ่งแยกไม่ได้ ลามไปถึงเป็นแนวคิดกบฏต่อราชอาณาจักร ซึ่งจริงๆ เป็นเรื่องไร้สาระไม่เกี่ยวกันเลย

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นประเด็นใหญ่ ท้าทาย แหลมคม และมีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศ ในการขับเคลื่อนจะทำให้กลายเป็นแค่เกมการเมืองไม่ได้ จะเสียโอกาสไปไม่ได้อีกแล้ว ในการผลักดันขับเคลื่อนเราควรจะขยายแนวร่วมรอบด้านทุกภูมิภาค ทุกจังหวัด เชิญชวนนักวิชาการ  นักกิจกรรมทางสังคม แกนนำภาคประชาชนที่ทำงานในประเด็นการกระจายอำนาจ หรือเครือข่ายภาคีที่ทำงานด้านชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง รวมผู้คนในสังคมออกมาพูดคุยเรื่องนี้ให้ขยายวงกว้างมากขึ้น เชิญชวนพี่น้องสื่อมวลชนช่วยปลุกกระแสสร้างการตื่นตัวของประชาชน

เราต้องก้าวข้ามเงื่อนไขทางการเมืองเข้ามาสู่เงื่อนไขเชิงหลักการที่เป็นความจำเป็นร่วมกันของอนาคตประเทศในเวลานี้ รณรงค์ให้เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ และการปฏิรูปราชการส่วนภูมิภาคกลายเป็นกระแสในเชิงนโยบายเพื่อให้พรรคการเมืองต้องรับเป็นนโยบาย ถ้าพรรคใดชนะการเมืองตั้งให้ถือเป็นสัญญาประชาคมในการนำไปปฏิบัติ ถ้าพรรคการเมืองไหนไม่มีนโยบายการเลือกตั้งผู้ว่าฯ และการปฏิรูปราชการส่วนภูมิภาคก็สนับสนุนให้ประชาชนไม่เลือกพรรคการเมืองนั้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ในแง่ยุทธศาสตร์การเคลื่อนประเด็นเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศไม่ควรมีหัวหอกเป็นพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองหรือเปล่า

โดยหลักการ ถ้าต้องการเคลื่อนให้ได้ผลควรมาจากประชาชน ต้องมาจากกระแสเรียกร้อง ความต้องการของประชาชน แต่สุดท้ายเมื่อเข้าสู่กระบวนการผ่านกฎหมายที่ต้องผ่านสภา ต้องผ่านพรรคการเมือง ผ่านรัฐบาล เราก็เห็นตัวอย่างมามากว่ากฎหมายดีๆ ที่มาจากประชาชน ให้ความเป็นธรรมกับทุกกลุ่มในสังคม อย่างกฎหมายปฏิรูปที่ดิน กฎหมายโฉนดชุมชน กฎหมายสวัสดิการต่างๆ ไม่ผ่านในสภา เพราะนักการเมืองไม่เอาด้วย ดังนั้นถ้าไม่ผ่านพรรคการเมืองเลย โอกาสสำเร็จมีน้อยมาก

ในทางยุทธศาสตร์ เราจึงต้องร่วมไม้ร่วมมือกันกับนักวิชาการที่เห็นด้วยกับการปฏิรูปราชการส่วนภูมิภาค นักวิชาการที่สนใจเรื่องงานพื้นที่ มีข้อมูลทางวิชาการ คนหนุ่มสาวสร้างกระแสสังคมเพื่อสร้างข้อต่อรองกับพรรคการเมือง เช่น ถ้าเราเห็นด้วยกับประเด็นนี้สักสิบล้านคน เสียงสิบล้านเสียงเทไปที่ไหน พรรคนั้นกลายเป็นรัฐบาลได้เลยนะ และร่วมกันกดดันว่าถ้าพรรคไม่ทำเรื่องนี้จะทำให้รัฐบาลมีปัญหาทันที นี่คือการทำให้ความต้องการของประชาชนเข้าสู่ระบบการเมือง สร้างพันธะระหว่างประชาชนกับพรรคที่ต้องการเป็นรัฐบาล

มองเผินๆ คล้ายกับว่ากระแสการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศจะเกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ แต่อาจารย์เกริ่นมาแล้วว่ามีความเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ช่วงโควิดระบาดหนัก ส่วนตัวอาจารย์เห็นภาพปัจจัยอะไรบ้างที่นำมาสู่กระแสข้อเรียกร้องดังกล่าว

หากย้อนกลับไปในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่มาของกระแสในยุคนั้นคือบริบทที่คนรู้สึกว่าการเมืองไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วม มีการรวบอำนาจ ไม่มีเสถียรภาพ และถ้าจะทำให้การเมืองคลายอำนาจที่มีอยู่ ต้องเกิดการกระจายอำนาจออกไปผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เพราะตอนนั้นการปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่เติบโต

ปัจจุบัน ในช่วงโควิดที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังมีการล็อกดาวน์ เราเห็นได้ชัดว่ากลไกการขับเคลื่อนต่างๆ อยู่ที่ระบบราชการ เวลาคนต้องการติดต่อธุระก็ต้องไปกระจุกตัวอยู่ที่ศูนย์ราชการประจำจังหวัดต่างๆ ทั้งที่ควรใช้ไลน์ ใช้แอปพลิเคชันแทนได้ แต่ราชการยังใช้ระบบเดิม ให้คนไปเซ็นชื่อ เขียนแบบฟอร์ม กลายเป็นคำถามว่าการแก้ปัญหาในโลกสมัยใหม่ภายใต้ระบบเดิมมันจะไปไหวหรือ

ยิ่งตอนเริ่มมีวัคซีน อบจ.หลายจังหวัดบอกว่าเขาสามารถซื้อได้ มีเงินมากพอจะหาวัคซีนให้แก่ประชาชนทุกคน แต่กระทรวงมหาดไทยไม่อนุญาต อ้างว่าต้องทำเรื่องผ่านกระทรวงมหาดไทยก่อน ปัญหาคือคนที่เจ็บป่วย ทุกข์ทนกับปัญหาไม่ใช่ปลัดกระทรวง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น คนเหล่านี้สามารถไปฉีดวัคซีน VIP ตอนไหนก็ได้ แต่กลับเอาอำนาจตัวเองไปจำกัดโอกาสคนในท้องถิ่นที่มีศักยภาพ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องวัคซีน มีคนเข้าไม่ถึง มีวัคซีน VIP เกิดขึ้น นำมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ มันสะท้อนว่าระบบราชการสร้างข้อจำกัดในการดูแลประชาชน  

อันที่จริง ระบบราชการไทยเรามีปัญหามานาน เราตั้งมาประมาณปี 2435 พยายามปฏิรูปครั้งใหญ่ปี 2540 แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก ราชการเป็นสถาบันหลักที่มีหน้าที่นำนโยบายไปปฏิบัติ ให้บริการกับประชาชน แต่ตัวระเบียบ ข้อบังคับ แบบแผน และวัฒนธรรมของราชการไม่ได้ฟังก์ชันต่อหน้าที่ที่แท้จริงเลย หลายครั้งวิถีปฏิบัติก็ไม่ตรงกับนโยบายของรัฐ เช่น ทุกวันนี้รัฐบาลยกเลิกการใช้สำเนาบัตรประชาชน แต่ศูนย์ราชการหลายที่ก็ยังใช้อยู่ เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วรัฐบาลไม่ได้มีอำนาจ คนมีอำนาจคือระบบราชการต่างหาก

ด้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทยเริ่มครั้งแรกเมื่อปี 2440 พร้อมกันกับระบบราชการ แต่อยู่ใต้ระบบราชการมาตลอด 100 ปี เพิ่งมาเติบโตได้ในปี 2540 แบบก้าวกระโดด ช่วงปี 2540 ถึงปี 2557 ราชการส่วนภูมิภาคและกระทรวงมหาดไทยถูกลดบทบาทไปเยอะ แต่หลังจากรัฐประหารปี 2557 กลับมีการฟื้นฟูระบบราชการขึ้นมาในรัฐบาล คสช. รวมถึงเปิดรับข้าราชการเพิ่มขึ้นแบบมีนัยยะผิดปกติในรอบ 7-8 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าขณะที่ส่วนอื่นนิ่ง ถูกแช่แข็ง ถูกครอบงำควบคุม ราชการส่วนภูมิภาคกลับโตมโหฬาร

นอกจากนี้ เราต้องเข้าใจว่าทำไมราชการส่วนภูมิภาคจึงทำงานไม่ตอบโจทย์คนในท้องถิ่น รู้ใช่ไหมว่าโครงสร้างราชการของเราแบ่งเป็นสามส่วน คือส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ส่วนกลางมีหลักคิดเรื่องการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง รวมอำนาจการตัดสินใจทั้งหมดไว้ที่รัฐบาลและมอบหมายผ่านกระทรวง ส่วนภูมิภาคคือจังหวัดกับอำเภอเป็นการแบ่งอำนาจ แต่การแบ่งนั้นไม่ได้หมายความว่าจังหวัดจะทำอะไรได้ สถานะของจังหวัดตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 เป็นเพียงแค่ผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ คิดเองไม่ได้

เมื่อบวกกับการได้มาซึ่งข้าราชการระดับสูงของส่วนภูมิภาคไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ประชาชนไม่มีสิทธิ์ให้ความก้าวหน้า เพราะฉะนั้นข้าราชการระดับสูง ปลัด นายอำเภอ รองผู้ว่าฯ ผู้ว่าฯ ต่างก็ต้องเอาใจนายเพื่อการเติบโต ไม่ใช่เอาใจประชาชน เราล้วนรู้ว่าการเป็นผู้ว่าฯ จังหวัดหนึ่งได้ต้องมีเส้น จะได้เป็นนายอำเภอต้องวิ่งเต้น มีเรื่องไม่ชอบมาพากล ในความเป็นสถาบันของระบบราชการที่อยู่มาเป็นร้อยปียังมีวัฒนธรรมอำนาจนิยม ข้าราชการหลายคนเกษียณแล้วยังมีคนขับรถให้ ข้าราชการระดับล่างต้องดูแลข้าราชการระดับสูงขึ้นไป เป็นวัฒนธรรมที่ย้อนแย้งกับหลักการที่ว่าต้องดูแลประชาชน ด้วยโครงสร้างของราชการส่วนจังหวัด บวกกับที่โลกเปลี่ยน เศรษฐกิจเปลี่ยน ก็เกิดการตั้งคำถามอยู่เรื่อยๆ ว่ายังมีความจำเป็นอยู่ไหม

ขณะที่ส่วนท้องถิ่นเองเกิดจากหลักการกระจายอำนาจ คนทำงานยึดโยงกับประชาชนผ่านการเลือกตั้ง แต่ก็ทำอะไรมากไม่ได้ เพราะมีผู้ว่าฯ จากการแต่งตั้งคอยควบคุมการบริหารในท้องถิ่นให้สอดคล้องกับนโยบาย งบประมาณตั้งเองไม่ได้ ทำหน้าที่แค่ดูแลกิจการบางอย่างที่องค์การอื่นๆ ทำไม่ได้ เช่น โครงการขนาดใหญ่ โครงการคาบเกี่ยวหลายๆ พื้นที่ แค่นั้นเอง

ถ้าเจาะลึกเฉพาะตำแหน่งผู้ว่าฯ อาจารย์มองว่าปัญหาของผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบันคืออะไร

โดยตัวโครงสร้างราชการส่วนภูมิภาคจังหวัดทำหน้าที่รับนโยบายมาปฏิบัติ คำว่ารับนโยบายมาปฏิบัติแปลว่าสร้างเองยาก หัวใจคือการทำตามหน้าที่ ผู้ว่าฯ จะมีงานประจำเป็นงาน routine ปกติและงานที่ถูกสั่งมาตามนโยบายแต่ละยุค ตอนนี้ก็เป็นพวกโครงการเราชนะทั้งหลาย นอกจากนี้ยังมีโครงการฝังฝากอีกมากมายในรูปแบบของฝ่ายความมั่นคงบ้าง สถาบันฯ บ้าง มีงานให้ปฏิบัติเยอะไปหมด ขณะที่ฟังก์ชันการบริการประชาชนของผู้ว่าฯ และภูมิภาคมีข้อจำกัด ส่วนท้องถิ่นที่อยากบริการบ้างกลับไม่มีอำนาจ ไม่มีงบประมาณ บุคลากรเพียงพอ มันก็หัวมังกุท้ายมังกร อิหลักอิเหลื่อกันหมด จนสุดท้ายประชาชนก็เสียประโยชน์

ปัญหาเรื่องความก้าวหน้าและการทำงาน ประชาชนตรวจสอบอะไรไม่ได้เลย ข้าราชการเวลามีปัญหาก็ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกันเอง ย้ายไปที่อื่นก่อน พอประชาชนลืมค่อยกลับมาทำงานที่เดิม เรื่องการย้ายตำแหน่งนี่เป็นปัญหาที่ทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ ผู้ว่าฯ บางจังหวัดย้ายมาอยู่แค่ปีเดียวเพื่อรอขึ้นเป็นอธิบดี ปลัดกระทรวง พอย้ายไปแล้วแนวทางพัฒนาจังหวัดต่างๆ ก็ถูกทิ้งขว้าง คนใหม่มาไม่สานต่อ ทำให้เสียทรัพยากรเยอะมาก และทั้งหมดคืองบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน ระหว่างที่ผู้ว่าฯ ดำรงตำแหน่งส่วนใหญ่ก็ทำงานตามนโยบายให้พอผ่าน KPI (Key Performance Indicator -ดัลนีชี้วัดผลงาน) พอเจ้าใหญ่นายโตมาก็จัดฉากเป็นผักชีโรยหน้าพอให้ผ่าน ทำทุกอย่างเพื่อความเติบโตก้าวหน้าของตัวเอง

สิ่งที่น่ากลัวมากคือระยะหลังนักการเมืองเข้ามาแทรกแซงเยอะ ยิ่งตอนนี้ข้าราชการส่วนภูมิภาคระดับสูงหลายคนอิงกับพรรคการเมืองทั้งสิ้น พรรคต่างๆ โยกย้ายคนของตัวเองขึ้นมาเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในสนามการเมือง ผู้ว่าฯ กลายเป็นข้าราชการจากกลไกที่ไม่ค่อยถูกต้องสง่างามแล้ว ถูกใบสั่งทางการเมืองให้ช่วยพรรคนั้นพรรคนี้ และไม่ได้เกิดแค่เฉพาะรัฐบาลยุคนี้ แต่เกิดมานานเพราะรูปแบบของระบบราชการที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน นี่คือเหตุผลว่าถ้าจะเป็นถูกแทรกแซงทางการเมืองแบบนี้ก็ทำให้ตำแหน่งผู้ว่าฯ มาจากเลือกตั้งไปเลย มาเสนอนโยบายดีๆ ให้ประชาชนได้เลือก มีภาคพลเมืองคอยร่วมติดตามการทำงาน

ข้อเสนอเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศเป็นข้อเสนอที่มีมานานแล้วแต่ไม่เคยสำเร็จ ในยุคนี้จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปไหม

สิ่งที่ผมจับตาคือปกติเรามักบอกว่าท้องถิ่นถูก top-down ทางความคิด ถูกส่วนกลางกำหนดทุกอย่าง แล้วการเคลื่อนไหวครั้งนี้เรากำลัง top-down ทางความคิดโดยคนกลุ่มเดียวหรือเปล่า นี่ไม่ได้หมายความว่าผมไม่เห็นด้วย ผมเห็นด้วย แต่วิธีการต่างหาก ผมกลัวว่าจะกลายเป็นการ top-down โดยที่ประชาชนในท้องถิ่นยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร

ผมคิดว่าถ้าเราจะเคลื่อนเรื่องนี้ ต้องสร้างเครือข่ายที่มีพลัง เริ่มต้นมาจากส่วนกลางได้ จากนักกิจกรรมได้ จากแคมเปญของคนกลุ่มหนึ่งได้ แต่ต้องประสานกับจังหวัดต่างๆ ประสานกับคนในพื้นที่ ถ้าเราต้องการการปกครองที่คนท้องถิ่นมีอำนาจจริงๆ ไม่ใช่สั่งจากกรุงเทพฯ หรือออกแบบโดยมหาวิทยาลัยแห่งเดียว หนึ่ง เราต้องคุยกับชาวบ้าน กับชุมชน กับคนหน้างานที่ทำงานอยู่ว่ามันเกิดปัญหาอะไร คนที่เคลื่อนเรื่องนี้รู้ไหมว่าหลายจังหวัดเริ่มทำ ‘จังหวัดจัดการตนเอง’ (Self-governing province) แล้ว เราควรจะคุยกับเขาว่าจังหวัดจัดการตนเองมีโครงสร้างอย่างไร ถ้ามีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ จะทำให้โครงสร้างที่มีอยู่เคลื่อนไปอย่างไรบ้าง

สอง ต้องคุยกับบรรดาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดว่าถ้าเลือกตั้งผู้ว่าฯ เห็นด้วยไหม จะจัดวาง อบจ. อบต. เทศบาลอย่างไร

สาม เราต้องเข้าใจวัฒนธรรม โครงสร้างอำนาจ ว่ายังมีกลไกอย่างอื่นในท้องถิ่น เช่น สภาของชุมชนที่อยู่ภายใต้หลักคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ มีปราชญ์ชาวบ้าน กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน จะให้เขาวางตำแหน่งของตัวเองอย่างไร

ผมอยากสร้างการปกครองท้องถิ่นที่เริ่มต้นมาจากคนในชุมชน เพราะการปกครองท้องถิ่นไทยร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ชาวบ้านไม่มีโอกาสคิดเองเลย เทศบาลก็อาจารย์ปรีดี (พนมยงค์) คิด อบจ. ก็จอมพล ป. คิด นี่เป็นโอกาสดีที่จะเข้ามาทำงานร่วมกันกับทุกฝ่าย สร้างพลังเชื่อมร้อยประสาน ออกแบบกันว่าถ้าจะมีการเลือกตั้ง เราจะบูรณาการทั้งหมด ไม่ทิ้งขบวนการทำงานท้องถิ่นไว้ได้อย่างไร 

เวลาเราพูดถึงข้อเสนอเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ มักจะได้เห็นกระแสคัดค้านตลอด หากไม่นับเรื่องที่กลุ่มขับเคลื่อนอาจเป็นกลุ่มทางการเมือง ทำไมคนบางส่วนจึงไม่เห็นด้วย

ถ้าตัดเรื่องการเมืองออกไป ก็มีกลุ่มข้าราชการกระทรวงมหาดไทยนี่ล่ะที่ไม่เห็นด้วย อย่าลืมว่าคนที่อยู่ในระบบข้าราชการมีความฝัน นายอำเภออยากเป็นผู้ว่าฯ ผู้ว่าฯ อยากเป็นอธิบดีหรือปลัดกระทรวง ระบบทุกวันนี้ทำให้เกิดกลุ่มผลประโยชน์ขนาดใหญ่ ไม่แปลกที่จะตอบโต้กับอะไรที่ทำให้เขาเสียผลประโยชน์ เสียโอกาสความก้าวหน้า ความมั่นคง และวาทกรรมการตอบโต้ที่ดีที่สุดคือสังคมไทยยังไม่พร้อมจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เพราะประชาชนยังไม่มีความรู้ ยังไม่มีคุณภาพพอจะเลือกตั้ง

พวกข้าราชการเหล่านี้บางทีก็ไปปลุกปั่นพวกกำนันผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นปลาสองน้ำ คือเป็นข้าราชการส่วนที่ทำงานอยู่กับส่วนภูมิภาค แต่ชีวิตจริงอยู่กับชาวบ้าน ให้ไม่ยอม เพราะจะเสียประโยชน์เช่นเดียวกัน พอเป็นแบบนี้ พรรคการเมืองจะเริ่มเข้ามาแทรก ถ้าเอานโยบายไม่เลือกตั้งผู้ว่าฯ จะมีข้าราชการ และกำนันผู้ใหญ่บ้านที่เป็นหัวคะแนนเอาด้วย เป็นผลประโยชน์ทางการเมือง

ถ้าเราดูตามหลักการ ราชการส่วนภูมิภาคมีหน้าที่แค่กำกับ ติดตาม และนำนโยบายไปปฏิบัติ ดังนั้นถ้าท้องถิ่นโต โลกมันเปลี่ยน เอาจริงๆ ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ เราแปรสภาพราชการส่วนภูมิภาคที่มีอยู่มาเป็นราชการส่วนท้องถิ่นเลย ให้รัฐบาลส่วนกลางทำหน้าที่ใหญ่ 4 เรื่อง คือดูแลภาพรวมของประเทศ ความมั่นคงของรัฐ การคลัง และเป็นตัวแทนระหว่างประเทศ ที่เหลือให้การปกครองท้องถิ่นดูแลก็ได้

เวลาพูดถึงการเลือกตั้งและกระจายอำนาจ ตามทฤษฎีการปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีอยู่ 3 หลักใหญ่ๆ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่เห็นด้วย สนับสนุนการกระจายอำนาจสุดขั้ว คิดว่าประชาชนในท้องถิ่นบริหารจัดการกำหนดอนาคตชีวิตตัวเองได้ และคงไม่มีใครอยากสร้างชุมชนที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งหรือมรดกบาปให้ลูกหลานหรอก นอกจากนี้ มันยังช่วยพัฒนาประชาธิปไตย สร้างประชาธิปไตยจากสำนึกของพลเมืองในท้องถิ่น คนอาจจะบอกว่าการกระจายอำนาจอาจทำให้รัฐเสียดุลอำนาจ แต่ผมคิดว่านั่นเป็นมุมมองแบบคับแคบ วิวัฒนาการของรัฐกับสังคมย่อมเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โจทย์สำคัญคือจะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งได้อย่างไรต่างหาก

กลุ่มที่สอง เป็นพวกที่พยายามประนีประนอม เข้าใจว่าไทยใช้โมเดลนี้ประนีประนอมระหว่างท้องถิ่นและส่วนกลาง แต่การประนีประนอมของเราไม่ปกติ มันทำให้ส่วนกลางล้วงลูบทั้งหมด จนท้องถิ่นมีแค่ชื่อที่เป็นท้องถิ่น แต่จิตสำนึก ระเบียบวิธีการ เสื้อผ้าหน้าผมการแต่งตัวเป็นราชการส่วนภูมิภาคไปแล้ว ถูกครอบด้วยสัญลักษณ์ของสิงห์ ซึ่งอันที่จริงการปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเป็นหมาเฝ้าบ้าน ดีไม่ดีต้องเป็นหมาขี้เรื้อน เป็นพื้นที่ให้ประชาชนเกาะกินด้วย แต่สำนึกของนักการเมืองท้องถิ่นหลังเลือกตั้งกลับเป็นราชสีห์ไปแล้ว

กลุ่มที่สาม คือกลุ่มของพวกประเทศที่ค่อนข้างเป็นเผด็จการจะไม่เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจเลย เพราะกลัวว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน เขาจะเอาหลักการข้อนี้พยายามตอบโต้คนที่เห็นด้วย

เรื่องที่เขาว่าประชาชนยังไม่มีความรู้ ชาวบ้านยังไม่พร้อมต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ จริงเท็จแค่ไหน

ผมไม่ค่อยเชื่อนะว่าไม่พร้อม เป็นการทึกทักกันเองทั้งนั้น เพราะเราเลือกตั้ง อบจ. กันมาตั้งหลายครั้งแล้ว คงเป็นความไม่พร้อมของตัวข้าราชการในจังหวัดต่างหาก ที่เห็นว่าตัวเองยังมีความสำคัญ เป็นกลไกขับเคลื่อนหลัก คิดเฉพาะในมุมของตัวเอง

แต่ส่วนตัวผมยังไม่อยากเห็นเลือกตั้งผู้ว่าฯ พร้อมกันทั้ง 77 จังหวัด เพราะมันเป็นสิ่งที่ใหม่มาก ผมอยากเห็นการนำร่องในบางจังหวัดที่มีความพร้อม เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต นนทบุรี ทำแล้วถอดบทเรียนก่อน ทดลองกันสัก 1-2 ปี รณรงค์ให้ข้อมูลความรู้ ซึ่งการเลือกตั้งจะทำให้คนในจังหวัดใกล้เคียงตื่นตัวกระตือรือร้นเรื่องการเมืองโดยอัตโนมัติ ส่วนรูปแบบการเลือกตั้ง ผมว่าให้คนในจังหวัดออกแบบเลยว่าต้องการแบบไหน เช่น เลือกตัวแทนจากอำเภอ แล้วให้ตัวแทนอำเภอไปเลือกผู้ว่าฯ หรือจะเลือกผู้ว่าฯ ทางตรง และมีสมาชิกสภาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีสภาพลเมืองที่มีตัวแทนจากกลุ่มสาขาต่างๆ เป็นบอร์ดอีกที ก็แล้วแต่เขา

เหตุผลที่ผมอยากให้มีจังหวัดนำร่องก่อน เพราะถ้าทำเดียว 77 จังหวัดแล้วพลาด ราชการฟื้นแล้วเล่นยับแน่ครับ เขาจะบอกว่านี่ไง มันไม่เวิร์ค กลับมาเป็นแบบเดิมดีกว่า เราต้องมีศิลปะทางการเมืองในการขยับด้วย ไม่ใช่เอาแค่หลักการอย่างเดียว ต้องประเมินฝ่ายตรงข้ามด้วย

เลือกตั้งผู้ว่าฯ อย่างเดียว พอไหม

เลือกตั้งผู้ว่าฯ อย่างเดียวไม่พอ ผมอยากเห็นสิ่งที่ตามมาคือสภาประชาชน สภาพลเมืองจังหวัดควบคู่ไปกับการเลือกตั้ง กระบวนการเลือกตั้งเป็นกระบวนการเข้าสู่อำนาจที่มีเงื่อนไขที่สังคมยอมรับ แต่มันต้องสมดุลกับสภาพประชาชนในจังหวัดนั้นๆ ที่ได้ยกระดับตนเองเป็นพลเมืองด้วย การกระจายอำนาจต้องใช้คอนเซปต์ของประชาธิปไตยเยอะๆ ซึ่งสภาพลเมืองก็เป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยทางตรง คู่ขนานไปกับประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่มาจากเลือกตั้ง ให้คนที่มีความรู้ อยากมีส่วนช่วยในการพัฒนาจังหวัดเข้ามาคุยกัน

มันอันตรายนะครับถ้าเราเลือกตั้งไปแล้วไม่เพิ่มอำนาจประชาชนในจังหวัด บทเรียนที่ผ่านมาทำให้เราเห็นว่าตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งบางคนใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ไม่ฟังเสียงประชาชนที่เลือกตนเข้าไปทำงาน เพราะฉะนั้นต้องสร้างกลไกการถ่วงดุลอำนาจ ทั้งจากสภาที่มาจากการเลือกตั้งสมาชิกนิติบัญญัติในจังหวัด และสภาพลเมืองที่สามารถกำหนดนโยบาย เสนอนโยบายได้ สะท้อนปัญหาได้ สามารถเรียกผู้ว่าฯ ข้าราชการระดับสูง ผู้กำกับการมาตรวจสอบถ้าทำอะไรไม่ถูกต้อง นี่คือการเอาอำนาจมาไว้ที่ประชาชน

นอกจากนี้ สภาพลเมืองจังหวัดจะช่วยพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนฐานราก ทำให้ชาวบ้านเกิดการเรียนรู้ ยกระดับตนเองจากประชาชนสู่สถานะพลเมืองที่กระตือรือร้น ตระหนักต่อปัญหาสาธารณะในชุมชนท้องถิ่น เป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศในระยะยาว หลักการของสภาพลเมืองคือเป็นสภาของทุกคน ทุกคนใช้อำนาจของตนผ่านสภา ไม่ต้องผ่านตัวแทน เป็นเวทีหารือ พื้นที่กลางในการแสดงเจตจำนง หาทางออกเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะ ติดตามการทำงานของหน่วยงานต่างๆ มีฐานะเป็นกลไกเชื่อมต่อระหว่างประชาชน สภาท้องถิ่น ฝ่ายบริหารของท้องถิ่น รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการทำงานที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน สร้างภาคีเครือข่ายพัฒนาท้องถิ่นที่ร่วมมือกันทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม ชุมชน สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองท้องถิ่น ฯลฯ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและพลเมือง

หัวใจสำคัญคือเราต้องสร้างประชาชนให้เติบโตพร้อมๆ กับกระบวนการเปลี่ยนแปลงด้วย ประเด็นนี้ยังไม่ได้เริ่มต้นคุยกันในขบวนการขับเคลื่อนเท่าไหร่ เท่าที่ผมติดตามดูยังเห็นแค่กระแสต้องการเลือกตั้ง เรายังต้องคุยกันอีกเยอะ เรื่องผลลัพธ์ของราชการส่วนภูมิภาค ว่าจะให้อยู่ต่อหรือไม่มีเลย จะปรับบทบาทอย่างไร ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ข้าราชการ กำนันผู้ใหญ่บ้าน จะดึงภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดมาทำงานร่วมกันอย่างไร

ข้อเสนอเรื่องการกระจายอำนาจที่ตามมากับกระแสเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศมีหลากหลายมาก บ้างว่า ให้ยุบราชการส่วนภูมิภาค เปลี่ยนนายก อบจ. เป็นผู้ว่าฯ บ้างก็ว่าให้ภูมิภาคกับ อบจ. ทำงานร่วมกันตามเดิม แต่เพิ่มอำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น ส่วนตัวอาจารย์มองข้อเสนอต่างๆ อย่างไร

ส่วนตัวผมมองว่าหลักการพวกนี้เราอาจจะทึกทักกันเองจากวงเหล้าหรือจากความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ถ้าเราต้องการเปลี่ยนแปลงจริงๆ สิ่งสำคัญคือต้องถามชาวบ้าน เพราะตัวแบบการปกครองท้องถิ่นที่ดีที่สุดคือตัวแบบที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมมากที่สุด

อันดับแรกเราต้องฟังทุกฝ่าย ว่าจะจัดการอย่างไรกับท้องถิ่น จะปฏิรูปราชการส่วนภูมิภาคอย่างไร คำว่าปฏิรูปไม่ได้หมายความว่าจะตัดสินให้อยู่หรือไป แต่เราจะร่วมกันพัฒนามันอย่างไร เพราะในระยะต้น เราต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของคนที่อยู่ในระบบแล้วมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง การจะไปยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคทันที พวกข้าราชการคงไม่ยอมและจะเกิดแรงต้าน ดังนั้นเราต้องไม่ใช้อำนาจเปลี่ยนทันที แต่ต้องทำให้คนรู้สึกว่าตนเองเสียอำนาจและผลประโยชน์น้อยที่สุด หรือทุกคนไม่เสียเลย เป็น win-win solution ที่ทุกคนได้ประโยชน์ และรู้สึกว่าเป็นโอกาสในการทำงานรูปแบบใหม่

สมมติว่าให้ข้าราชการส่วนภูมิภาคทุกคนยังอยู่ แต่เปลี่ยนมาเป็นบุคลากรของท้องถิ่น ระยะต้นถ้ายังมีผู้ว่าฯ ก็ให้ผู้ว่าฯ อยู่จนครบวาระ ปลัดทั้งหมดเปลี่ยนมาเป็นปลัดนายก อบจ. ดูแลรับผิดชอบเรื่องที่แตกต่างกัน เช่น ดูแลเรื่องการศึกษาคนหนึ่ง ดูแลเศรษฐกิจคนหนึ่ง ดูแลวัฒนธรรมอีกคนหนึ่ง ทำให้คนที่จะเป็นนายก อบจ. หรือผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งรู้ว่าหากต้องการพัฒนาเรื่องการศึกษาควรคุยกับใคร ควรมอบหมายให้ปลัดคนไหน แล้วให้ความเติบโตก้าวหน้าแก่ข้าราชการทั้งหมด นี่ก็ถือเป็นการประนีประนอมกัน

บทบาทราชการก็ไม่ต้องรับนโยบายจากส่วนกลางแล้ว นโยบายทั้งหมดมาจากผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง เรื่องงบประมาณ รัฐบาลกลางก็มาสนับสนุนเงินเดือนข้าราชการ ส่วนอื่นๆ อบจ. เป็นคนหา แล้วเพิ่มบทบาทภาคประชาสังคมเข้ามาเป็นเวทีตรวจสอบ เป็นสภาพลเมือง ในระยะต้นทำแบบนี้ก่อน เป็นการเปลี่ยนแค่เอาคนมารวมกัน ทำความเข้าใจกันให้ดีว่าไม่ได้มีใครหายไป มีผู้ว่าฯ คนเดียวที่ต้องโยกย้ายตามวาระ ส่วนในระยะยาว 5-10 ปีจะว่าอย่างไรต่อเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

อันที่จริง เรื่องการกระจายอำนาจ ผมอยากให้เราเปลี่ยนตั้งแต่ชื่อโครงสร้างการปกครองเลยด้วยซ้ำ เพราะชื่อมาพร้อมกับระบบความคิดชุดหนึ่งที่มีโครงสร้างแบบแผนบางอย่าง ตามที่ฟูโกต์บอกว่าภาษามีอำนาจ ถ้าเราอยากเปลี่ยนต้องเปลี่ยนที่หัวใจคือภาษา คำว่า ‘จังหวัด’ มีคำว่าผู้ว่าฯ ข้าราชการจังหวัด คำว่า ‘อำเภอ’ มีนายอำเภอ คำว่า ‘อบจ.’ มีนายก อบจ. ตามมา เราสร้างชื่อใหม่ได้ไหม

สมมติว่าผมอยู่ชลบุรี จะไม่มีแล้วจังหวัดชลบุรี เปลี่ยนเป็น ‘นครชลบุรี’ แทน ให้ความรู้สึกเป็นเมือง เป็นมหานครที่มีผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ข้าราชการเดิมในส่วนจังหวัดก็เปลี่ยนเป็นบุคลากรของนครชลบุรี อำเภอก็ไม่มีแล้ว เปลี่ยนเป็นเมืองแทน เช่น จากอำเภอบ้านบึงเป็นเมืองบ้านบึง ผู้ว่าฯ เมืองก็มาจากเลือกตั้ง และมีสมาชิกสภาเมืองคอยตรวจสอบ โครงสร้างมีแค่นครกับเมืองมาจากจังหวัดกับอำเภอเดิม ไม่มีอบต. ไม่มีเทศบาล ชื่อใหม่จะมาพร้อมกับจิตสำนึกและระบบระเบียบใหม่ ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าไม่มีใครเสียผลประโยชน์เพราะทุกอย่างจะเป็นสิ่งที่สร้างใหม่ขึ้นมา แต่ในระยะต้น ถ้าคนยังไม่ค่อยเข้าใจคอนเซปต์นี้ก็ต้องคุยกันให้ตกผลึก

ในสังคมไทย เวลาจะเปลี่ยนแปลงอะไรใหญ่ๆ ต้องใช้เวลาและใช้ความร่วมมือพอสมควร โอกาสนี้เป็นอกาสที่จะใช้กระแสของแคมเปญสร้างการพูดคุยกับหลายๆ ฝ่าย จัดงานเสวนา ใช้ความรู้ งานวิจัย ทำเป็นโมเดล ที่สำคัญคือคืนอำนาจให้ชาวบ้าน คุยกันว่าต้องการแบบไหน เพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุด 

อยากให้อาจารย์อธิบายแนวคิดการปกครองท้องถิ่นแบบ ‘นคร’ ที่อาจารย์ออกแบบเพิ่มอีกสักหน่อย

ผมไม่ได้เขียนไว้เป็นระบบมากนัก ยังคิดอย่างกระจัดกระจาย แต่มีคอนเซปต์ว่ารูปแบบจังหวัดในปัจจุบันคือไม่เอาแล้ว เพราะมีวัฒนธรรมแบบเดิม ผมต้องการนคร ต้องการความหมายใหม่ ต้องโครงสร้างใหม่ที่ผู้ว่าฯ นครมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และตัวอำเภอเปลี่ยนเป็นเมือง มีนายกเมืองเป็นผู้นำจากการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน ไม่มีอบต. ไม่มีอบจ.

ผู้ว่าฯ นครทุกนครจะอยู่ในสมาพันธ์ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค วางแผนพัฒนาภูมิภาคร่วมกัน แล้วจัดทำแผนพัฒนาภูมิภาคเสนอต่อรัฐบาล รัฐบาลไม่ต้องคิด เราคิดเอง แล้วแผนเหล่านี้จะมาจากข้อเสนอของพวกนายกเมืองทั้งหมด ซึ่งนายกเมืองจะเป็นกรรมการบริหารนครด้วย มีหน้าที่เอาปัญหาของประชาชนในเขตอำเภอมาอยู่ในแผนพัฒนานคร และคอยกำกับติดตามการทำงานของผู้ว่าฯ อีกทีหนึ่ง

ที่ผ่านมา เราต้องผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณ โครงการแยกย่อยเต็มไปหมด แต่ต่อไปจะแบ่งงบประมาณตามที่สมาพันธ์ภูมิภาคเสนอมาว่าต้องการอะไรบ้าง รัฐบาลแค่สนับสนุน แต่เราทำของเราเอง

อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในนครที่อาจารย์คิดไว้ควรมีเรื่องอะไรบ้าง

หมดเลย สำหรับผมคือการดูแลคนตั้งแต่เกิดจนตาย วัยเด็กก็ดูแล มีโรงเรียน สถานพยาบาล มีสวัสดิการ มีงาน มีบ้าน มีความมั่นคง คอนเซปต์คือท้องถิ่นนิยม ดูแลกันในท้องถิ่น แต่ยังอยู่ภายใต้รัฐเดี่ยว อยู่บนเอกภาพของความหลากหลาย เป็นรัฐเดี่ยวที่มีความหลากหลายในแต่ละภูมิภาคที่มีความแตกต่างด้านบริบทประวัติศาสตร์ เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ การเมือง

อาจารย์กล่าวว่าตัวแบบการปกครองท้องถิ่นที่ดีที่สุดต้องให้คนในพื้นที่ออกแบบเอง ถ้าสุดท้ายแล้ว ชาวบ้านต้องการระบบการปกครองท้องถิ่นที่ไม่เหมือนกันสักที่ ผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร

ที่ผ่านมาเราวางระบบไว้เป็นแบบเดียวกัน แต่การปกครองท้องถิ่นมันเป็นแบบเดียวกันไม่ได้โดยธรรมชาติ เพราะบริบทวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ภาคเหนือต่างจากภาคใต้ ภาคใต้ต่างจากภาคกลาง เราต้องคำนึงถึงรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ ทุกวันนี้เราเหมือนตัดเสื้อจากตลาดโบ๊เบ๊

ผมคิดว่าเรามีความแตกต่างกันได้นะ รัฐธรรมนูญก็เขียนกว้างๆ สิ หลักการของรัฐไทยคือเป็นรัฐเดี่ยวที่มีการปกครองท้องถิ่นภายใต้บริบทของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ อะไรก็ว่าไป เปิดโอกาสให้คนออกแบบได้ มีเพียงคอนเซปต์บางอย่างที่เหมือนกัน เช่น ทุกจังหวัดเปลี่ยนเป็นนคร อำเภอเปลี่ยนเป็นเมือง ส่วนรูปแบบขึ้นอยู่กับว่าท้องถิ่นต้องการผสมผสานแบบไหน เช่น บางท้องถิ่นบอกว่าตนเองเป็นชุมชนเมืองแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีประชาธิปไตยทางตรงแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีสภาที่ประชาชนมีส่วนร่วม ใช้ระบบตัวแทนเลยก็ได้ แล้วเน้นพัฒนาให้ประชาชนเป็น active citizen ที่เข้มแข็ง แบบนี้ก็ได้ ชุมชนที่มีอัตลักษณ์ด้านภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ อย่างปัตตานี เราก็ต้องมีเวทีให้เขาแสดงหรือมีส่วนร่วมบางอย่างบนพื้นฐานของเขา  อย่าไปจำกัด ให้ท้องถิ่นออกแบบเอง ลองผิดลองถูก เพราะมันเป็นการเรียนรู้ของระบอบประชาธิปไตยปกติ

มีคนตั้งข้อสังเกตว่าแนวโน้มการกระจายอำนาจลดลงในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 หรือนับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร 2557 ถ้าเราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ส่งเสริมการกระจายอำนาจ ควรมีหน้าตาแบบไหน

รัฐธรรมนูญปี 2560 มันเขียนสั้น และสาระของมันไปให้ความสำคัญกับการปกครองท้องถิ่นที่เป็นทางการ ลดทอนอำนาจของประชาชนในท้องถิ่น กล่าวคือเขียนแค่ว่าส่งเสริมให้ประชาชนปกครองท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

อันที่จริง รัฐธรรมนูญควรเขียนกว้างๆ เพื่อให้ประชาชนมีความใฝ่ฝัน เช่น รัฐธรรมนูญปี 2540 เขียนไว้เลยว่าถ้าประชาชนในจังหวัดต้องการปกครองอย่างอื่นก็ได้ ขอเพียงเป็นความต้องการของประชาชน นี่แหละ เปิดกว้างให้ประชาชนเลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้ แต่เจตนาของฉบับปี 2560 เป็นเจตนาที่ไม่ต้องการให้กระบวนการการปกครองท้องถิ่นโต ถ้ากลับไปดูประวัติศาสตร์ปี 2540 จะเห็นว่าประชาชนโต แล้วราชการดรอป พอมาปี 2560 เขาอยากให้ท้องถิ่นดรอป ราชการโต จึงเขียนเฉพาะสิ่งที่จำเป็นแล้วไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องอื่น

ถ้าจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมเสนอว่าเอาฉบับปี 2540 ปี 2550 และร่างปี 2558 ที่ตกไปมารวมกัน ถามว่าทำไมร่าง 2558 จึงสำคัญ ร่างนี้มาจากอาจารย์บวรศักดิ์ อุวัณโณ ซึ่งเป็นฉบับที่สะท้อนผลประโยชน์ทางการเมืองได้ดีมาก คืออาจารย์บวรศักดิ์รู้ดีว่าคณะรัฐประหารอยากอยู่ต่อ ชนชั้นนำอยากอยู่ต่อ ถ้าจะสร้างประชาธิปไตยเราปฏิเสธสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีพื้นที่อำนาจด้วย

ร่างปี 2558 เป็นร่างที่พยายามทำให้การปกครองส่วนท้องถิ่นโต โตในมิติประชาชนโต พยายามปรับบทบาทขององค์กรท้องถิ่นเป็นแบบที่ผมเรียกว่าไม่ใช่การปกครอง แต่เป็นการบริหารจัดการท้องถิ่น พยายามปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์แนวดิ่งมาเป็นแนวราบ แล้วสร้างสภาพลเมืองเข้าไปมีบทบาทด้วย อาจารย์บวรศักดิ์มองว่าการเมืองเป็นเรื่องของการต่อรอง ในเมื่อชนชั้นนำได้ผลประโยชน์ทางการเมืองไปแล้ว ชาวบ้านต้องได้ด้วยในพื้นที่ของรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องนี้ถูกผลักออกไป พอมาปี 2560 เจตจำนงของคนร่างต้องการเพียงรักษาอำนาจ ไม่ต้องการให้ประชาชนโต จึงร่างกันออกมาแบบนี้

นอกจากรัฐธรรมนูญแล้ว ประเทศไทยยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปกครองส่วนท้องถิ่นอีกจำนวนมาก ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องโครงสร้างการกระจายอำนาจขึ้นจริง คงถือว่าเป็นเรื่องใหญ่

ใหญ่ครับ และส่วนหนึ่งก็เป็นปัญหา ผมคิดว่าไม่ใช่แค่การปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ประเทศไทยเราอยู่ภายใต้อิทธิพลของนักกฎหมายและกฎหมายจำนวนมากที่เขียนไว้เป็นแบบแผนปฏิบัติ อะไรที่ไม่เป็นไปตามแบบแผนปฏิบัติทำไม่ได้ เช่น โดยหลักการแล้ว ท้องถิ่นสามารถสนับสนุนให้บุคลากรคนในท้องถิ่นมีการศึกษาที่สูงขึ้น สมมติผมเป็นนายก อบจ. ในจังหวัดคนที่จนมากแต่มีลูกเรียนแพทย์ได้ ทำไม อบจ. จะส่งให้เขาไปเรียนแพทย์เพื่อกลับมาเป็นแพทย์ในจังหวัดของผมไม่ได้ การลงทุนเพื่อดูแลคนในจังหวัดมันผิดตรงไหนในแง่กระบวนการพัฒนา แต่ปรากฏว่าตามกฎหมายไทยทำไม่ได้ บอกว่าห้ามนายก อบจ. เอาเงินไปให้นาย ก นาง ข เพราะเขามองเป็นการให้ในแง่ปัจเจก นี่คือตัวอย่างที่กฎหมายไทยทำให้การปกครองส่วนท้องถิ่นไทยทำงานยาก

เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ผมเคยทำการประเมินผลข้อจำกัดของการปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่าท้องถิ่นทำงานยากเพราะมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องเกือบร้อยฉบับ หนึ่งองค์กรมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย มีส่วนราชการเข้ามาติดตามตรวจสอบมากมาย จนสุดท้ายการปกครองส่วนท้องถิ่นกลายเป็นส่วนราชการดีๆ นี่เอง แค่มีผู้บริหารมาจากการเลือกตั้ง นอกนั้นเดินตามรอยราชการหมดเลย

กฎหมายที่มีอยู่บางครั้งก็ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ถ้าจะแก้คงต้องมัดรวมกัน ดีไม่ดีต้องร่างใหม่เลยถ้าต้องการคอนเซปต์เลือกตั้ง เราต้องมาวางกติกากันแล้วเขียนกฎหมายที่ชาวบ้านอ่านรู้เรื่อง มีความยืดหยุ่นในการทำงาน

ตอนนี้กลไกทางการเมืองหรือกลไกทางกฎหมาย เปิดโอกาสให้เราปรับเปลี่ยนโครงสร้างการปกครองส่วนท้องถิ่นมากน้อยแค่ไหน

เรื่องนี้ผมไม่มั่นใจ มันเคยมีเมื่อปี 2540 ที่บอกว่าประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมาย หรือเข้าชื่อถอดถอนผู้นำท้องถิ่นได้ แต่เอาเข้าจริงนี่คือความคิดแบบชนชั้นกลางที่มองว่าประชาชนเป็น active citizen เป็นคนที่มีสนใจการเมืองเหมือนพวกเรา ชาวบ้านจริงๆ เขาทำมาหากิน ไม่มีเวลาสนใจเรื่องพวกนี้นักหรอกครับ มันเคยมีกรณีถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นเกิดขึ้นที่อีสานเหมือนกันนะ แต่เป็นเรื่องการเมืองที่ฝ่ายตรงข้ามใช้กฎหมายไปหาคนมาลงชื่อเพื่อถอดถอน แค่นั้นเอง

หลังจากนั้นไม่เคยมีเรื่องการเข้าชื่อเสนอกฎหมายอีกเลย โดยหลักการมีนะ แต่วิธีปฏิบัติยังไม่เป็นรูปธรรมมาก นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ผมพยายามเสนอเรื่องสภาประชาชนพลเมือง เพราะผมไม่อยากให้ผลักภาระไปยังประชาชนที่เป็นปัจเจก แต่ต้องการผลักภาระไปยังสภาหรือเวทีประชาชนในการชูประเด็นเหล่านี้แทนประชาชน ทั้งเรื่องการร่างกฎหมาย ติดตามตรวจสอบ ผลักดันกฎหมายสำคัญๆ ในท้องถิ่น เราต้องพยายามผลักดันผ่านสถาบัน องค์กรที่อยู่ในระบบ หรือที่อาจจะถูกตั้งขึ้นใหม่ ผมยังคุยกับตัวแทนภาคประชาสังคมเลยว่าเราต้องจัดตั้งสภาพลเมืองจังหวัดรอไว้ เลือกตั้งผู้ว่าฯ จะมีไม่มีไม่รู้ แต่สภาพลเมืองเป็นเรื่องสำคัญ

ต่างประเทศมีโมเดลการกระจายอำนาจหลายแห่งที่ขึ้นชื่อ อาจารย์มองว่ามีที่ไหนพอจะเป็นต้นแบบให้ไทยได้บ้าง หรือไทยควรออกแบบเอง

เราเรียนรู้จุดอ่อนจุดแข็งได้ แต่ไม่ควรเอาที่ไหนมาเป็นต้นแบบ เราชอบพูดถึงญี่ปุ่น เพราะเปรียบเทียบกันจากโครงสร้างรัฐเดี่ยว ก็เปรียบเทียบได้ แต่ไม่ใช่ไปเอาของเขามาทั้งหมด อย่างที่อาจารย์ปรีดีเคยพูด เราต้องตัดรองเท้าให้เท่ากับตีน ไม่ใช่ตัดตีนให้เท่ากับรองเท้า เราเรียนรู้ประสบการณ์ จุดอ่อนจุดแข็งจากที่อื่นแล้วมาประยุกต์กับเรา

ที่สำคัญ สิ่งที่ต้องพัฒนาคู่กันกับการยกระดับการเลือกตั้งหรือปรับโครงสร้าง คือการยกระดับพลเมือง เราจะสร้างประชาชนแบบนี้ต่อไปไม่ได้ ต้องยกระดับประชาชนเป็น active citizen คือไม่ใช่แค่คิดถึงสิทธิเสรีภาพของตนเองเท่านั้น แต่คำนึงถึงเรื่องบ้านเมือง ตระหนักถึงปัญหาของชุมชนด้วย จะไม่นิ่งเฉยดูดาย ไปเลือกตั้งแล้วจบกันไป เราต้องพัฒนาประชาชนไปเป็นพลเมืองของเมืองนั้นๆ ด้วย

เรามักอธิบายว่าแนวคิดการรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางคือปัญหาใหญ่ที่ทำให้ไม่เกิดการกระจายอำนาจ ถ้ามองให้ลึกลงไปกว่านั้น ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกไหมที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจ

เรื่องนายทุน ตอนนี้มีสิ่งที่เรียกว่าระบบธุรกิจการเมืองท้องถิ่น ลงทุนกันมโหฬาร อย่างนายก อบจ. ลงทุนกันเกือบร้อยล้าน นายกเทศมนตรีลงทุนทีละ 30-40 ล้าน เป็นสิ่งที่น่ากังวลอยู่

ส่วนเรื่องชาตินิยม กลัวว่าการกระจายอำนาจจะเกิดการแบ่งแยกดินแดน หลายคนกลัวว่าจะเกิดพื้นที่เปราะบางอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ที่ผ่านมาเราก็มีตัวแบบของการปกครองท้องถิ่นพิเศษที่มีลักษณะเป็นพื้นที่วัฒนธรรม พื้นที่ประวัติศาสตร์อยู่นะ พื้นที่ชายแดนจะมีคอนเซปต์เรื่องการกระจายอำนาจแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิเศษบนพื้นที่วัฒนธรรม เช่น พื้นที่ชายแดนแม่สอด หรือพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังก็มี ขนาดพื้นที่เกาะยังมีเลย ฉะนั้นอย่ากลัว มันมีโมเดลของมันอยู่

สิ่งที่น่ากลัวตอนนี้คือระบบธุรกิจการเมือง กับปัญหาระบบราชการที่ร่วมมือกันกับนักธุรกิจการเมืองเพื่อคอร์รัปชัน เราจึงต้องเพิ่มอำนาจประชาชนให้เป็น active citizen ส่วนเรื่องชนกลุ่มน้อย ความแตกต่างทางภาษา รัฐประเพณี อย่ากังวลใจครับ

บางคนกังวลว่าถ้าให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ จังหวัดอื่นๆ การบริหารงานของรัฐบาลอาจขาดความเป็นเอกภาพและความคล่องตัว หรืออาจเกิดกรณีที่ผู้ว่าฯ ขัดขวางการทำงาน อาจารย์มีความเห็นอย่างไร

ไร้สาระมากเลย ถ้าท้องถิ่นทำงานได้ รัฐบาลจะคล่องตัวด้วย เอาง่ายๆ ทุกวันนี้ คนที่จะนะต้องไปประท้วงรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ถ้าเกิดการกระจายอำนาจจริงๆ ปัญหาที่จะนะมันจบที่จะนะ ปัญหา EEC ก็จบที่ภาคตะวันออก ปัญหาเหมืองแร่ภาคเหนือก็จบที่ภูมิภาคของเขา อันที่จริงจะทำให้ประเทศมั่นคงมากขึ้นด้วย สมมติว่าเรามีการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดอาจจะรวมกันเป็นสมาพันธ์การพัฒนาภูมิภาค ทิศทางในการพัฒนาจะเริ่มมาจากชาวบ้าน เป็นการสร้างนโยบายจากข้างล่าง (bottom-up policy) แต่ละภูมิภาคทำงานได้เองเพราะมีเงินของเขาอยู่แล้ว และทำงานตรงกับความต้องการของชาวบ้านด้วย เช่น ภาคเหนืออาจจะเป็นภูมิภาคแห่งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ภาคใต้เป็นการท่องเที่ยวบริการ เน้นพัฒนาเกษตร อุตสาหกรรม อะไรก็ว่าไป รัฐบาลทำงานสบาย ดูแต่เรื่องภาพรวมหลักๆ เรื่องความมั่นคง การเงินการคลัง มันช่วยแบ่งเบาภาระรัฐบาล ไม่ต้องให้รัฐบาลยุ่งทุกเรื่อง คนก็จะไม่มาประท้วงด้วย

ถ้าเราตีโจทย์ว่าคนแต่ละจังหวัดอยากมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น อยากเห็นจังหวัดของตัวเองพัฒนา เราอาจจะพัฒนาการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่มีอยู่แต่เดิมโดยไม่ต้องมีผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งได้หรือเปล่า

ทำได้ครับ แต่ต้องแก้ระบบ แก้กฎหมายและวัฒนธรรม อย่างที่ผมบอกว่าระบบราชการมีความหมายสองอย่างคือระเบียบกับวัฒนธรรมในแง่ตัวบุคคล นี่คือคอขวดของปัญหา ถ้าเป็นอย่างทุกวันนี้ พัฒนายากมากครับ

เบื้องต้น ถ้ายังทำอะไรไม่ได้ ขอให้ประชาชนเติบโต อยู่กันแบบนี้โดยให้ทุกคนมีธรรมนูญในการพัฒนาจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นส่วนงานไหน คุณต้องคำนึงถึงธรรมนูญ กติกาของจังหวัด และมีสภาพลเมืองของจังหวัดซึ่งอย่างน้อยก็มีอำนาจเรียกนายก อบจ. ผู้ว่าฯ คนทำงานไม่ดีมาชี้แจงได้ ตั้งกรรมการสอบสวนได้ ถ้าตัดสินว่าผิดจะมีผลต่อความก้าวหน้าของข้าราชการคนนั้น โดยสภาพลเมืองไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากตัวแทนที่หลากหลายรวมถึงประชาชนปกติด้วย นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำได้ ถ้าสิ่งที่ผมหวังอาจจะยังไกลไป อย่างน้อยก็สร้างสภาพลเมืองให้ดี หลายที่ก็กำลังเริ่มทำ

บางคนเกรงว่าการเมืองท้องถิ่นมักมีเจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพลมากมาย การเลือกตั้งและกระจายอำนาจจะเข้าทางคนเหล่านี้ อาจารย์มองประเด็นนี้อย่างไร

จากประสบการณ์ของผม ตอนแรกผมก็ยังไม่ค่อยโอเคกับเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด คือผมเห็นด้วย แต่คิดว่าต้องใช้เวลา อย่างผมอยู่ในชลบุรี อยู่ในช่วงจังหวะที่กำนันเป๊าะ (สมชาย คุณปลื้ม) มีอำนาจ กำนันเป๊าะสามารถกดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแทบทั้งหมดได้ ผมก็กลัวว่าถ้าเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในจังหวะแบบนี้ ทีมกำนันเป๊าะต้องได้แน่ๆ แต่ 10 ปีที่ผ่านมา ประชาชนโตไวมาก เวลาที่ผมคาดหวังมันมาถึงเร็วกว่าที่คิด

สิ่งที่หลายคนกังวลคือถ้าท้องถิ่นไม่พร้อม จะเกิดระบบเจ้าพ่อมาเฟีย เกิดผู้มีอิทธิพล ซึ่งถามว่ามีจริงไหม จริง แต่ตอนนี้มันไม่ได้เข้มข้นรุนแรงขนาดนั้นแล้ว ในระยะหลัง ชนชั้นนำผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นเขาปรับตัวเพื่อให้อยู่กับสังคมได้ จะใช้อำนาจดิบถ่อยแบบสมัยก่อนไม่ได้ คุณจะเป็นเจ้าพ่อ ก็ต้องเป็นเจ้าพ่อที่สร้างคุณงามความดีด้วยถึงจะอยู่ได้ ต้องทำงานกับประชาชน พัฒนาเมือง เขาอาจจะได้ประโยชน์ ได้เปรียบในการเลือกตั้ง แต่ประชาชนเองก็จะได้ประโยชน์เช่นกัน 

เราปฏิเสธชนชั้นนำทางการเมืองไม่ได้ สิ่งสำคัญคือเราต้องทำให้ประชาชนยกระดับตัวเองมาเป็นพลเมืองเพื่อติดตามตรวจสอบ กำกับให้เขาอยู่ในร่องในรอย ทำธุรกิจหรือคอร์รัปชันยากขึ้น

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนโตไวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

โซเชียลมีเดียสำคัญมาก เวลาคนด่าในโลกออนไลน์ เราเห็นหลายครั้งว่านักการเมืองต้องออกมาขอโทษประชาชน การขอโทษแสดงว่าเขาฟังประชาชนมากขึ้น และโซเชียลมีเดียทำให้ประชาชนสามารถสั่งนักการเมืองได้ มีปัญหาคนทิ้งขยะที่บางแสน ประชาชนก็ไปอัดนายกตุ้ย (ณรงค์ชัย คุณปลื้ม) ให้ต้องสั่งคนไปแก้ปัญหาตอนนั้น

นอกจากนี้ โซเชียลมีเดียยังทำให้การเมืองเปลี่ยนได้ ถ้าคุณเคยอ่านบทความของผมวิเคราะห์ความพ่ายแพ้ของตระกูลคุณปลื้ม ข้อสังเกตหนึ่งของผมคือเขาไม่ทำงานด้านมวลชนและเทคโนโลยี ปรากฏคุณสนธยาให้เลขาไปอ่าน แล้วมาปรับตัว ตั้งเด็กรุ่นใหม่เป็นเลขา ทำงานเชิงนโยบายให้เขา ตอนเลือกตั้งนายก อบจ. จึงชนะกลุ่มก้าวไกล อนาคตใหม่ ถล่มทลายเลย ล่าสุดวันที่ 9 พ.ค. ผมเพิ่งชวนเขามาทำ MOU กับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นี่ก็เป็นมิติใหม่ที่ อบจ. ต้องเข้าหาองค์กรภาคประชาสังคม ทั้งหมดมาจากความคิดของคนอายุประมาณ 30 กว่า เป็นหัวเรือวางยุทธศาสตร์การเลือกตั้งนายกอบจ.ที่ผ่านมา

พอได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเติบโตของประชาชนมาสักพัก ผมก็อยากลองเชื่อสักครั้งว่าการเมืองท้องถิ่นจะเปลี่ยนไปได้

ถ้ามีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ อยากให้อาจารย์ลอง ‘เดาใจ’ จากประสบการณ์หน่อยว่าคนต่างจังหวัดน่าจะเลือกผู้ว่าฯ จากอะไร นโยบาย? หรือคนที่มีอิทธิพลในท้องถิ่น?

อย่าเลย เราชอบทึกทักจากมุมมองของชนชั้นกลาง จากมุมมองนักวิชาการ คิดว่าความรู้เรากับชาวบ้านเป็นความรู้เดียวกัน ผมทำงานเรื่องพวกนี้ ก็มีชาวบ้านที่เป็นชนชั้นกลางนะครับ กลุ่มที่ไม่อยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์ก็อาจเลือกจากนโยบาย แต่ชาวบ้านที่อยู่ภายใต้เครือข่ายความสัมพันธ์เครือญาติพรรคพวก ความสัมพันธ์พวกนี้สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจได้ดีกว่านโยบายอีกนะครับ เราต้องเข้าใจบริบทจริงๆ อย่าเพิ่งด่วนสรุป ผมไม่ค่อยเชื่อว่าคนจะเลือกจากนโยบายทั้งหมด เพราะมันยังมีกลไกหัวคะแนนในพื้นที่

ถ้าเราอยากให้เลือกกันที่นโยบาย ไม่ใช่ความสัมพันธ์ อาจจะต้องเริ่มในเมืองใหญ่ที่มีชนชั้นกลาง มี active citizen เยอะๆ อย่างเชียง พิษณุโลก อุดร ขอนแก่น อุบลนี่ยังไม่ได้ ยังมีตระกูลการเมืองที่แข็งแกร่งอยู่

แสดงว่าถ้าจะมีเลือกตั้งในจังหวัดนำร่อง ก็อาจจะต้องเลือกจังหวัดที่พร้อมและไม่มีตระกูลการเมืองที่แข็งแกร่ง

ใช่ ส่วนตัวผมต้องการบรรยากาศการแข่งขันของผู้สมัครที่เอื้อต่อการพัฒนาจังหวัด แต่ถ้ามีตระกูลที่เข้มแข็งก็ลองเอามาเปรียบเทียบกันได้ว่าจะเป็นอย่างไร เอามาถอดบทเรียนดูกัน

ถ้าเกิดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศจะส่งผลการเมืองระดับชาติอย่างไรบ้าง

เรื่องนี้ถ้าทำแคมเปญดีๆ พรรคการเมืองไหนทำเป็นนโยบายการเลือกตั้งผู้ว่าฯ  สร้างยุทธศาสตร์ดีๆ อาจจะได้คะแนนจากประชาชนเยอะพอสมควร โดยเฉพาะประชาชนที่เห็นสภาพปัญหาท้องถิ่นจริงของผู้ว่าฯ จากการแต่งตั้ง จะเลือก ส.ส. ในพื้นที่แบบคู่ขนานระหว่างนโยบายของพรรคในภาพรวมที่สัมพันธ์กับประชาชนจริงๆไม่ใช่เพ้อฝันเลื่อนลอย กับ ส.ส. ที่เป็นตัวกลางเพื่อแก้ปัญหาจากระบบราชการในพื้นที่ได้ 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ในการเลือกตั้งครั้งหน้าของผม  ภายใต้ระบบราชการแบบอำนาจนิยม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจการเมืองแบบนี้ ผมก็จะมีวิธีคิดไม่ต่างจากชาวบ้าน คือจะเลือก ส.ส.เขตที่สามารถดูแลผมได้ เพราะผมเองก็ต้องการหวังพึ่งคนกลางเมื่อระบบราชการไร้ประสิทธิภาพในการดูแลคนอย่างเสมอหน้าและเป็นธรรม ส่วนระบบบัญชีรายชื่อ ผมจะเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายส่งเสริมการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น หรือมีนโยบายการเลือกตั้งผู้ว่าฯ พรรคไหนไม่รู้ แต่ถ้ามีก็จะเลือกอย่างไม่ลังเลใจ เพราะเรื่องนี้สำคัญกับอนาคตของผม ลูกหลานของผม และประเทศชาติของผม

ประเด็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ถ้ามีการผลักดันเป็นนโนบายของพรรคการเมืองจะเป็นเรื่องใหญ่ที่อาจส่งผลสะเทือนต่อการเมืองระดับชาติ  มันเป็นเรื่องที่ต้องฉวยโอกาสจากกระแสแลนด์สไลด์ของอาจารย์ชัชชาติประกอบด้วย เลี้ยงกระแสการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ให้ถึงการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2566 ที่จะถึงนี้

สุดท้ายนี้ นิยามภาพการเมืองท้องถิ่นในอุดมคติของอาจารย์เป็นอย่างไร

นิยามง่ายๆ ว่าการกระจายอำนาจการเมืองท้องถิ่นและการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น คือการสร้างชีวิตและพัฒนาประชาธิปไตยฐานรากของประเทศที่จะรองรับประชาธิปไตยในระดับชาติ การให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอำนาจเพื่อให้เขาสามารถบริหารจัดการชีวิตความเป็นอยู่ วางเป้าหมายอนาคตของตัวเองได้ และสร้างท้องถิ่นที่ดีเป็นมรดกให้แก่ลูกหลาน แค่นี้เองครับ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save