fbpx

ASEAN Summit – G20 – APEC โลกได้อะไร? ไทยได้อะไร? กับ ปิติ ศรีแสงนาม

ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน กลายเป็นภูมิภาคสำคัญของการเมืองโลก สังเกตจากการประชุมสำคัญถึงสามการประชุมถูกจัดขึ้นในภูมิภาคนี้ ตั้งแต่การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา วันที่ 10-13 พฤศจิกายน 2565 ต่อด้วยการประชุมกลุ่ม 20 (G20) ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย วันที่ 15-16 พฤศจิกายน ก่อนมาสิ้นสุดที่การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific Economic Cooperation – APEC) ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

ทั้งสามการประชุมทำให้ผู้นำมหาอำนาจโลกโคจรมาพบกัน จนหลายฝ่ายหวังว่าการประชุมทั้งสามจะสามารถหาทางออกให้แก่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบนโลก ทั้งจากสงครามทางการเมือง สงครามทางการค้า และส่งผลให้สถานการณ์ความตึงเครียดระดับโลกผ่อนคลายลง

101 จึงชวน รศ.ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาสรุปและมองทิศทางภูมิรัฐศาสตร์โลกผ่านสามการประชุมใหญ่ ทั้ง ASEAN Summit, G20 และ APEC ว่าทั้งสามการประชุมจะนำพาโลกไปในทิศทางไหน เราต้องสนใจประเด็นอะไรในการประชุม และไทยอยู่ตรงไหนในภูมิรัฐศาสตร์โลก

หมายเหตุ : เก็บความบางส่วนจาก 101 One-on-One Ep. 282 ‘ASEAN – G20 – APEC ไทยอยู่ตรงไหนในภูมิรัฐศาสตร์โลก?’ กับ ปิติ ศรีแสงนาม ออกอากาศเมื่อวันพุธที่ 16 พฤศจิกายน 2565 ดำเนินรายการโดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

ASEAN Summit : การประชุมครั้งใหญ่ที่ไร้พม่า
และการโอบรับประเทศติมอร์-เลสเตในฐานะสมาชิกใหม่

การที่ทั้งสามการประชุมใหญ่ถูกจัดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ปิติมองว่า ‘ไม่ใช่ความบังเอิญ’ เพราะอันที่จริง เจ้าภาพการประชุม G20 ในปีนี้คือประเทศอินเดีย แล้วค่อยส่งไม้ต่อให้อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพในปีหน้า แต่เนื่องด้วยอีกการประชุมหนึ่งคือ ASEAN Summit มีอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพในปีหน้าเช่นกัน ส่งผลให้ประเทศอินโดนีเซียอาจต้องเป็นเจ้าภาพทั้งสองการประชุมใหญ่พร้อมกัน เมื่อประเมินแล้วอินโดนีเซียไม่สามารถรับไหว จึงสลับกับอินเดีย เป็นเหตุผลว่าทำไมการประชุมใหญ่ทั้งสามที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

“ด้วยการวางตัวของอาเซียนที่ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ภูมิภาคนี้จึงกลายเป็นพื้นที่กลางและไม่ได้อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของเวทีภูมิรัฐศาสตร์ ผู้นำพร้อมที่จะเข้ามาเจรจา ปรึกษาหารือกัน” ปิติเสนอถึงความสำคัญของอาเซียนในเวทีโลก

การประชุมทั้งสามนี้ มีเพียงประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) เวทีเดียวเท่านั้นที่มีผลผูกพัน ส่วนที่เหลือจะเป็นลักษณะการประชุมเพื่อปรึกษาหารือเท่านั้น กล่าวคือการผลักดันต่อเป็นเรื่องของแต่ละประเทศ  ทั้งนี้โดยปกติแล้วการประชุมอาเซียนเป็นการประชุมสองครั้ง ในครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 40 และ 41 โดยวันแรกของการประชุมจะเป็นการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 40 ที่เป็นการพูดคุยในกลุ่มของผู้นำในประเทศอาเซียน และครั้งที่ 41 เป็นการพูดคุยระดับผู้นำประเทศในอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา

การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 40 วาระหลักคือประเด็นการเมืองจากการรัฐประหารในประเทศพม่า โดยอาเซียนเคยมีฉันทามติร่วมกันที่เรียกว่า ‘Five-Point Consensus’ เพื่อแก้ปัญหาในประเทศพม่า แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้นำพม่า อาเซียนจึงต้องมีท่าทีโต้กลับด้วยการไม่เชิญผู้นำพม่าเข้าร่วมการประชุม ส่งผลให้การประชุมครั้งนี้มีเพียง 9 ประเทศที่เข้าร่วม ซึ่งปิติมองว่าการออกมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมเช่นนี้ของอาเซียนเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะหากปล่อยให้ปัญหาของประเทศพม่าดำเนินต่อไป ในอนาคตอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ของภูมิภาค เช่น ปัญหาผู้อพยพ ไปจนถึงปัญหายาเสพติด

นอกจากวาระสถานการณ์การเมืองในประเทศพม่าแล้ว อาเซียนยังเริ่มต้นกระบวนการรับติมอร์-เลสเต เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 11 ของอาเซียน เนื่องจากติมอร์-เลสเต เป็นประเทศสังเกตการณ์และยื่นความจำนงเข้าร่วมเป็นสมาชิกของอาเซียนมาเป็นระยะเวลานาน แต่เหตุผลที่ยังไม่รับเข้าเป็นสมาชิกเนื่องจากความแตกต่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ผู้นำอาเซียนจึงมองว่าหากไม่ทำอะไร ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจก็จะแตกต่างกันไปเรื่อยๆ ในครั้งนี้จึงมีการตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศติมอร์-เลสเต ให้ดียิ่งขึ้นก่อนจะเข้ามาเป็นสมาชิกลำดับที่ 11 ของอาเซียน

การประชุมต่อมาคือการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 41 ซึ่งต่อเนื่องจากการประชุมครั้งที่ 40 เป็นการเจรจาระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา โดยเวทีหลักในการประชุมคือ East Asia Summit ผู้เข้าร่วมการประชุมมีทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย นายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่น จีน และประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 

ปิติชี้ให้เห็นว่าการประชุมครั้งนี้เกิดปัญหาความขัดแย้งมากมาย รัสเซียเองมองว่าสหรัฐอเมริกาควรหยุดแทรกแซงทางการเมือง เพราะที่ผ่านมามีการสร้างภาพของประเทศจีนและรัสเซียที่ไม่ดีในภูมิภาค ซึ่งภาพลักษณ์ดังกล่าวส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ในขณะที่สหรัฐอเมริกาต่างชี้ว่ารัสเซียเองก็ละเมิดบูรณภาพแห่งดินแดนในยูเครน และประเทศจีนก็มีแนวโน้มที่จะขยายอิทธิพลในรูปแบบที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อประเทศสหรัฐอเมริกา จากปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวท้ายที่สุดส่งผลให้การประชุม East Asia Summit ก็ไม่สามารถหาแถลงการณ์ร่วมกันได้

G20 : จีน-อเมริกา การขยายอำนาจในภูมิภาคอาเซียน

ภาพสำคัญที่ทั่วโลกต่างเห็นและให้ความสนใจในการประชุม G20 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย คือภาพการพบกันแบบทวิภาคีของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กับ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน

“สหรัฐอเมริกาเองก็มองตำแหน่งของอาเซียนว่าเป็นจุดศูนย์กลางของการดำเนินนโยบายปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของจีน หรือที่เรียกยุทธศาสตร์นี้ว่า ‘อินโดแปซิฟิก’ ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดอาเซียนที่เป็นจุดศูนย์กลางของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก” ปิติขยายความถึงมุมมองของสหรัฐอเมริกาที่มีต่ออาเซียน

ปิติเห็นว่าการพบกันของโจ ไบเดนและสี จิ้นผิง เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนพัฒนาไปทิศทางที่ผ่อนคลายมากขึ้น นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายสามารถประกาศ ‘red line’ ที่ไม่อยากให้อีกฝ่ายยุ่ง ทางฝ่ายจีนคือประเด็นความขัดแย้งในไต้หวันและหลักการจีนเดียว ซึ่งสหรัฐอเมริกาแสดงความต้องการรักษาสถานภาพปัจจุบันของช่องแคบไต้หวันในลักษณะนี้อย่างชัดเจน

ส่วน red line ของสหรัฐอเมริกา คือการไม่อยากเสียความเป็นเจ้า โดยทางจีนเองก็ไม่ได้ต้องการเป็นเจ้า ปิติบอกเล่าถึงประโยคสำคัญของผู้นำจีนที่แสดงถึงมุมมองดังกล่าวว่า “โลกนี้มันใหญ่พอที่จะทำให้ทุกคนสามารถแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันได้ ไม่จำเป็นต้องมีใครคนนึงเป็นคู่แข่ง เพราะเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของจีน คือการหาพื้นที่ในการแสวงหากำไรอย่างยั่งยืนได้” ทำให้เป้าหมายของทั้งสองประเทศไม่ได้ขัดแย้งกัน ปิติเสนอว่าทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสัญญาณบวกและจะส่งผลดีต่อการเมืองโลก

ทั้งนี้การประชุม G20 เรายังได้เห็นท่าทีของประธานการประชุมที่ได้หยิบประเด็นการเมืองและความมั่นคงมาร่วมหาทางออกในที่ประชุม เราได้เห็น โจโค วิโดโด เดินสายไปพบผู้นำอย่างวลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และ โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน อีกทั้งยังให้ โวโลดีมีร์ เซเลนสกี กล่าวเปิดการประชุม G20 ถึงแนวทางการสร้างสันติภาพ

ปิติกล่าวถึงความเสี่ยงในการนำประเด็นการเมืองและความมั่นคงมาในเวทีการประชุมว่า “สิ่งที่เราต้องยอมรับว่าหากนำประเด็นการเมือง ความมั่นคงมาหารือในเวทีเศรษฐกิจมันมีความเสี่ยง คือไม่มีใครพูดถึงวาระหลักของการประชุม เพราะความสนใจของการประชุมไปตกอยู่ที่เรื่องการเมืองและความมั่นคง ในที่สุดไม่มีใครพูดถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจเลย แต่อย่างน้อยการประชุมดังกล่าวก็ได้พูดเรื่องความขัดแย้งหลักของโลก”

APEC : ประยุทธ์ดันอะไร และไทยได้อะไร

“ประเทศไทยเองก็พยายามอย่างยิ่งที่ให้การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปกครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก เพราะเป็นเศรษฐกิจสองในสามของทั้งโลก เมื่อทำสำเร็จจะส่งผลต่อคนสามพันล้านคน” ปิติกล่าว

โดยปกตินั้นการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก จะเป็นเวทีที่พูดคุยถึงสิ่งอำนวยทางการค้าและการลงทุน การสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม การพัฒนาอย่างยั่งยืน ดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน และการเชื่อมโยงกันและกัน ประเทศที่เสนอประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปนั้น คือประเทศไทย ในปีที่เป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2003 เพราะฉะนั้นในการกลับมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้งของประเทศไทย จึงมีสองประเด็นหลักที่พยายามขับเคลื่อนในฐานะเจ้าภาพ คือ หนึ่ง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในมิติการแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน การประชุมครั้งนี้จึงผลักดัน FTAAP (Free Trade Area of the Asia-Pacific) ที่ควรสำเร็จตั้งแต่ปี 2020 ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสทางการค้าของทุกคน

ประเด็นที่สองที่ไทยพยายามผลักดันคือการค้าและนโยบายทางเศรษฐกิจที่มีความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น เพื่อสอดคล้องกับแนวทางนโยบายรัฐบาลอย่าง โมเดลเศรษฐกิจ BCG และไทยได้ตั้ง ‘เป้าหมายกรุงเทพฯ’ เพื่อให้ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจร่วมกันออกแบบเป้าหมายและกลไกอย่างเป็นรูปธรรม ว่าเราจะร่วมกันช่วยเหลือ เดินหน้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 อย่างไร

คำถามสำคัญที่คนไทยหลายคนมีต่อการเป็นเจ้าภาพของประเทศไทยคือเราได้อะไร ปิติกล่าวว่าการประชุมครั้งนี้ไทยได้ประโยชน์ทั้งระยะสั้น และระยะยาว

ระยะสั้น คือการประชุมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในเดือนพฤศจิกายน แต่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพตั้งแต่เดือนมกราคม มีการประชุมตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีจนไปถึงคณะทำงานและภาคเอกชนด้วย ซึ่งการประชุมก็จะกระจายตามภูมิภาคต่างๆ ผลที่ตามมาคือจะมีผู้เข้าร่วมประชุมและสื่อจำนวนมากที่จะเข้ามาใช้บริการในประเทศไทย ส่งผลให้เราสามารถประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และจะเกิดรายได้แก่ประชาชนทันที

ส่วนประโยชน์ระยะยาวนั้น ปิติมองว่าหากไทยผลักดัน FTAAP สำเร็จ จะเกิดผลประโยชน์ระยะยาวกับทุกคน เนื่องจากทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการจ้างงาน และลดความยากจน นอกจากนี้ หากประเทศไทยส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG สำเร็จ จะทำให้เวทีสากลรับรู้ถึงแนวคิดนี้ ยอมรับในหลักการ BCG รวมถึงเข้ามาทำงานร่วมกันได้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save