“เบอร์ 8 ไม่เหมาะที่จะเป็นผู้ว่า คุณควรไปเป็นดารา”, “เบอร์ 8 เค้ามาหาเสียงหรือมาแจกลายเซ็นกันแน่”, “มีใครเคยเห็นเบอร์ 8 ทำอะไรบ้างอะ”, เบอร์ 8 ไม่ผ่านเลย” ฯลฯ
วันที่ 26-27 เมษายนที่ผ่านมา ข้อความเหล่านี้ปรากฏขึ้นบนทวิตเตอร์ (Twitter) โดยเป็นข้อความรีพลาย (reply – ตอบกลับ) ของทวีต (tweet) ลิงก์ข่าวหนึ่งที่เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ แต่ข้อความพวกนี้กลับสร้างเสียงหัวเราะให้ชาวโซเชียลไม่น้อย เมื่อเลื่อนขึ้นไปเห็นว่าลิงก์ข่าวนั้นไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องใดๆ เลยกับผู้สมัครหมายเลข 8 คือชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แต่เป็นข่าวการหาเสียงของผู้สมัครหมายเลข 3 คือสกลธี ภัททิยกุล

ที่มาทวีต: https://twitter.com/news1005fm/status/1515911824100655109
ในทวีตข่าวดังกล่าว มีบัญชีผู้ใช้ที่เข้าไปส่งความตอบกลับโจมตีผู้สมัครเบอร์ 8 อยู่อย่างน้อย 81 บัญชี เมื่อ 101 ลองตรวจสอบเจาะลึกถึงรูปแบบการทวีตข้อความในทวีตดังกล่าว รวมถึงการเข้าไปสืบค้นข้อมูลโปรไฟล์ของแต่ละบัญชี ก็พบได้ว่าบัญชีเหล่านี้มีแนวโน้มสูงมากว่ากำลังมีพฤติกรรมร่วมกันในการสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวตน (Coordinated Inauthentic Behavior – CIB)
CIB คือการสร้างเครือข่ายบัญชีปลอมซึ่งมีพฤติกรรม ‘ร่วมกัน’ ทำปฏิบัติการชักจูงความคิดผู้คน เพื่อหวังผลในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งพบได้มากบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ในประเทศไทยอาจเป็นที่รู้จักกันว่านี่คือ ‘ไอโอ’ (IO – Information Operation)
สิ่งหนึ่งที่บ่งชี้ได้ในเบื้องต้นว่าพฤติกรรมของบัญชีที่เข้าไปโจมตีชัชชาติในทวีตข่าวดังกล่าวเข้าข่าย CIB นั่นคือการรีพลายล้วนเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน แม้ทวีตข่าวจะถูกเผยแพร่มานานก่อนหน้าตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน โดยมีการใช้วาทกรรมในการโจมตีซ้ำๆ ไม่กี่แบบ แถมบางบัญชียังทวีตข้อความที่เหมือนกันทุกตัวอักษร
101 ยังสืบค้นลึกเข้าไปยังประวัติการทวีตและรีพลายของแต่ละบัญชี ก็พบว่านอกจากลิงก์ข่าวดังกล่าวแล้ว ในช่วงเดียวกันระหว่าง 26-27 เมษายน บัญชีเหล่านี้ยังเข้าไปรีพลายโจมตีชัชชาติในอีกหลายทวีตที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ แม้ทวีตเหล่านั้นจะถูกเผยแพร่มาก่อนหน้านั้นหลายวันแล้ว และยังพบว่าแต่ละบัญชีมักรีพลายด้วยข้อความเดียวกันในทุกทวีต



101 เข้าไปรวบรวมข้อมูลการรีพลายของทวีตเหล่านี้ ทำให้พบว่านอกจาก 81 บัญชีที่เราพบในขั้นแรกแล้ว ยังมีบัญชีที่ต้องสงสัยว่าทำงานอยู่ภายใต้ปฏิบัติเดียวกันอีกจำนวนมาก และยิ่งสืบเสาะขยายผลกว้างขึ้นเรื่อยๆ ก็พบบัญชีทวิตเตอร์ต้องสงสัยรวมกันทั้งสิ้น 447 บัญชี ซึ่งเชื่อได้ว่ากำลังเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่หวังผลชักจูงความคิดคนในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งนี้ และที่สำคัญ 101 ยังพบด้วยว่าปฏิบัติการมีแนวโน้มเชื่อมโยงกับเครือข่ายปฏิบัติการไอโอ ที่มีพฤติกรรมต้องสงสัยว่ากำลังพยายามโปรโมตภาพลักษณ์ให้กับพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่ง รวมถึงบุคคลระดับรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติท่านหนึ่ง
ชัชชาติ-อัศวิน เป้าโจมตีหลัก
ในระหว่างการสืบเสาะประวัติการทวีตและรีพลายของบัญชีทวิตเตอร์ต้องสงสัยเหล่านั้น ก็เจอเรื่องน่าแปลกใจว่า บัญชีเหล่านั้นไม่ได้โจมตีเพียงชัชชาติ แต่ยังพุ่งโจมตีตรงไปที่ผู้สมัครเบอร์ 6 อย่าง พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่ากรุงเทพฯ ไปควบคู่กัน ด้วยรูปแบบปฏิบัติการที่คล้ายกัน นั่นคือการเข้าไปถล่มรีพลายในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยเกิดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน พร้อมๆ กับการโจมตีชัชชาติ


ลักษณะวาทกรรมที่บัญชีเหล่านี้ใช้โจมตีอัศวิน คือการค่อนขอดผลงานการเป็นผู้ว่าฯ ของเขาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และการขอไม่ให้กลับมารับตำแหน่งต่อ ขณะที่ฝั่งชัชชาติมักโดนวาทกรรมเช่นว่า ไม่เคยเห็นผลงานเป็นที่ประจักษ์ ทำตัวเป็นเหมือนดารามากกว่าจะลงสมัครผู้ว่าฯ และไม่เหมาะสมที่จะรับตำแหน่งนี้
หลังจากที่ความเคลื่อนไหวคึกคักมากในช่วง 26-27 เมษายน บัญชีเหล่านี้แทบไม่มีการเคลื่อนไหวในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ อีก จนกระทั่งเข้าสู่วันที่ 10-11 พฤษภาคม เราถึงได้เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวใหม่ นั่นคือการทวีตลิงก์วิดีโอหาเสียงของผู้สมัครเบอร์ 3 สกลธี ภัททิยกุล ในหัวข้อ ‘1 คืนกับสกลธี’ ตามด้วยวันที่ 13 พฤษภาคม ที่มีการทวีตคลิป ‘ให้โอกาสสกลธี เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้ดีกว่านี้ได้’ โดยในการทวีตทั้งสองคลิปของแต่ละบัญชีเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน

จากการรวบรวมและเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของบัญชีเหล่านี้ 101 พบว่ามีบัญชีที่ส่อว่ากำลังทำปฏิบัติการใต้ร่มเครือข่ายเดียวกันนี้อยู่อย่างน้อย 382 บัญชี โดยแต่ละบัญชีอาจมีรายละเอียดความเคลื่อนไหวที่แตกต่างกัน เช่น บางบัญชีโจมตีเพียงชัชชาติ บางบัญชีโจมตีเพียงอัศวิน บ้างโจมตีทั้งสองผู้สมัครพร้อมกัน บ้างมีเพียงการแชร์ลิงก์วิดีโอของสกลธี และบ้างก็ไม่ได้แสดงความเห็นที่เข้าข้างหรือโจมตีผู้สมัครคนใด โดยมีเพียงการเข้าไปรีพลายหรือโควตทวีต (quote tweet) แล้วติดเพียงแฮชแท็ก เช่น #เลือกตั้งผู้ว่ากทม หรือ #ผู้ว่ากทม เท่านั้นโดยไม่ได้พิมพ์ข้อความใดๆ เพิ่มเติม แต่เมื่อดูจากหลายปัจจัยแล้ว ทำให้ปฏิเสธได้ยากว่าบัญชีทั้งหมดเหล่านี้ยังคงอยู่ภายใต้ร่มปฏิบัติการเดียวกัน เนื่องจากเมื่อสืบค้นลึกเข้าไปยังโปรโฟล์ของแต่ละบัญชี ทำให้พบว่ามีลักษณะร่วมกันที่น่าสนใจคือ
1. จากการค้นหาวันที่บัญชีเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นด้วยเครื่องมือของเว็บไซต์ accountanalysis.app พบว่าบัญชีเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นในหลายวัน ตั้งแต่ 25 สิงหาคม 2010 ถึง 10 พฤษภาคม 2022 แต่หลายบัญชีถูกสร้างในวันเดียวกัน และส่วนมากมักกระจุกอยู่ในช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2022 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่การรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ สิ้นสุดลง
2. รูปโปรไฟล์ไม่ได้บ่งบอกถึงตัวตนที่แท้จริงของเจ้าของบัญชี โดยส่วนมากมักใช้รูปการ์ตูน เน็ตไอดอล (net idol) หรือดารานักแสดง
3. หลายบัญชีฟอลโลว์ (follow) กันเอง
4. บนหน้ากิจกรรมมักมีการรีทวีต (retweet) หรือรีพลายข้อความที่เหมือนกัน ในเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งมักเป็นข้อความประเภทรีวิวสินค้า โฆษณา เว็บพนันออนไลน์ สลากออนไลน์ กิจกรรมร่วมสนุกชิงรางวัล ทวีตเกี่ยวกับดารานักร้อง รวมถึงคลิปลามกอนาจาร
5. ในเชิงการเมือง ส่วนมากมีเพียงการรีทวีตและโต้ตอบในทวีตที่เนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เท่านั้น โดยแทบไม่ได้มีเนื้อหาทางการเมืองอื่นๆ มาก่อน
ทั้งหมดนี้อาจทำให้ตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่า เครือข่ายปฏิบัติการนี้อาจไม่ได้มีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองหรืออาจไม่ได้มีขึ้นเพื่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยเฉพาะมาแต่เริ่มแรก เพราะหลายบัญชีก็ถูกสร้างขึ้นมาแล้วหลายปี แต่เป็นไปได้ว่าอาจมีเพียงจุดประสงค์ในเชิงพาณิชย์ อย่างการช่วยปั่นยอดการมีส่วนร่วม (engagement) ให้กับบางทวีต หรือไม่ก็อาจเพียงเพื่อพยายามรีทวีตเนื้อหาให้หน้าบัญชีดูไม่ว่างเปล่า ไม่ให้ดูออกว่าบัญชีอวตาร
อย่างไรก็ตามในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เครือข่ายนี้อาจได้รับการว่าจ้างให้ทำปฏิบัติการ และยังมีการสร้างบัญชีใหม่ขึ้นมาอีกจำนวนหนึ่งเพื่อเข้าร่วมปฏิบัติการเพิ่มเติม เห็นได้จากหลายบัญชีที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2022 โดยที่บนหน้ากิจกรรมก็ยังมีเพียงเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เท่านั้น

#เลือกอัศวินได้ธรรมนัส
สู่ #สกลธีเบอร์3 #จักรทิพย์คนทำงาน และ #บิ๊กป้อม
ท่ามกลางการเคลื่อนไหวของทั้ง 382 บัญชีทวิตเตอร์ หนึ่งความเคลื่อนไหวที่สะดุดตาที่สุดคือหลายบัญชีในกลุ่มนี้โควตทวีต รวมถึงรีพลายจากทวีตหนึ่ง ซึ่งระบุข้อความว่า “กระจ่าง #เลือกอัศวินได้ธรรมนัส” พร้อมแนบภาพประกอบซึ่งแคป (capture) มาจากกล่องความคิดเห็นหนึ่งบนเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ Pantip.com โดยเป็นภาพการโยงใยสายสัมพันธ์ระหว่างอัศวินและ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย และอดีตรัฐมนตรีช่วยในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งตกเป็นประเด็นฉาวหลายเรื่อง ภาพดังกล่าวมีเนื้อหาที่ชัดเจนว่าเป็นผลลบต่อภาพลักษณ์ของอัศวิน และยังไม่มีการพิสูจน์แน่ชัดว่าข้อมูลในภาพนั้นจริงหรือเท็จประการใดบ้าง
ทวีตดังกล่าวถูกทวีตโดยบัญชีผู้ใช้ @e90FCP6WHdX0ypJ ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน ไล่เลี่ยกับการดำเนินปฏิบัติการถล่มโจมตีอัศวินและชัชชาติตามทวีตต่างๆ ของ 382 บัญชีนี้ โดยเจ้าของทวีตอย่าง @e90FCP6WHdX0ypJ ก็จัดว่าเป็นหนึ่งในบัญชีต้องสงสัยใต้เครือข่ายนี้เช่นกัน ด้วยประวัติกิจกรรมบนหน้าโปรไฟล์ที่ส่อว่ามีพฤติกรรม CIB ร่วมกับอีกหลายบัญชีที่เหลือ
ทวีตดังกล่าวถูกรีทวีตไปสูงถึง 454 ครั้ง และมียอดรีพลายทั้งสิ้น 103 รีพลาย (ข้อมูลวันที่ 12 พ.ค. 2022 เวลา 15.50 น.) โดยเมื่อเข้าไปเก็บรวบรวมข้อมูล ก็พบว่าบัญชีผู้ใช้ที่รีทวิตและรีพลายส่วนมากก็ล้วนเป็นหนึ่งใน 382 บัญชีที่อยู่ในข่ายต้องสงสัย
101 ติดตามความเคลื่อนไหวในการสนทนาบนแฮชแท็ก #เลือกอัศวินได้ธรรมนัส ผ่าน Zocial Eye ซึ่งเป็นเครื่องมือฟังเสียงและวิเคราะห์ข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย จนพบว่ามีทวีตอื่นที่ใช้แฮชแท็กนี้ นอกเหนือจากทวีตของ @e90FCP6WHdX0ypJ อยู่อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันที่ 1 พฤษภาคม และเมื่อค้นเข้าไปดูยังโปรไฟล์ของแต่ละบัญชีเจ้าของทวีต ก็ทำให้ 101 ได้ค้นพบเครือข่ายที่ต้องสงสัยว่ามีพฤติกรรม CIB อีกเครือข่ายหนึ่ง ซึ่งมีอย่างน้อย 51 บัญชีที่กำลังเคลื่อนไหวร่วมกันเพื่อหวังผลในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เมื่อตรวจสอบโปรไฟล์ของทั้ง 51 บัญชีนี้ก็พบว่าเกือบทั้งหมดถูกสร้างขึ้นมาในวันเดียวกัน คือวันที่ 9 เมษายน 2022 นั่นแปลว่าเพิ่งเริ่มปฏิบัติการได้เดือนเศษ และแต่ละบัญชีก็ยังฟอลโลว์กันเองอีกด้วย
กิจกรรมของบัญชีกลุ่มนี้แตกต่างกลับกลุ่ม 382 บัญชีก่อนหน้าอย่างสิ้นเชิง โดยเนื้อหาที่เครือข่ายนี้ทวีตโดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางการเมือง แต่ก็ยังหนีไม่พ้นธรรมชาติของความเป็นไอโอ คือบัญชีเหล่านี้มักจะทวีต/รีทวีตเนื้อหาเหมือนกันหรือคล้ายกันในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน อย่างเรื่อง #เลือกอัศวินได้ธรรมนัส ก็พบว่าบัญชีกลุ่มนี้เคลื่อนไหวพร้อมกันในวันที่ 1 พฤษภาคม ด้วยแคปชันและภาพประกอบที่แตกต่างกันไป บางบัญชีก็ทวีตภาพประกอบเดียวกันเป๊ะ เพียงแต่เขียนแคปชันแตกต่างกัน ขณะที่บางภาพแม้จะมีความแตกต่างกัน แต่ก็พบว่าตัวหนังสือข้อความที่อยู่บนภาพมีการใช้คีย์เวิร์ดซ้ำๆ กัน เช่น “วัวลืมตีน” และ “ธรรมนัส = เทวทัต”



ก่อนหน้าการเคลื่อนไหวในแฮชแท็ก #เลือกอัศวินได้ธรรมนัส ได้ 2 วัน คือวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา 101 ก็สังเกตพบอีกความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของ 51 บัญชีกลุ่มนี้ โดยเป็นทวีตเชียร์ผู้สมัครหมายเลข 3 อย่างสกลธี ซึ่งเกิดขึ้นภายในวันเดียวกัน โดยมีข้อความแตกต่างกันไป แต่ที่เหมือนกันคือล้วนติดแฮชแท็ก #สกลธีเบอร์3 #ผู้ว่ากรุงเทพ และ #ทำทันธี



ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือบนหน้ากิจกรรมของของกลุ่มนี้ไม่ได้ปรากฏเพียงเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เท่านั้น แต่ยังมีเนื้อหาในเชิงสนับสนุนบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับชาติอยู่ 2 คน
1. วันที่ 9 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่บัญชีส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ถูกสร้างขึ้น ปรากฏทวีตและรีทวีตภาพถ่ายป้ายอวยพรวันสงกรานต์ตามถนนทางหลวง ของรองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยมีรูปภาพหลากหลาย พร้อมด้วยแคปชันที่เป็นการอวยพรหรือชื่นชมประวิตร ตามด้วยแฮชแท็ก #บิ๊กป้อม #ประวิตร #ประวิตรวงษ์สุวรรณ #รองนายก



2. ในช่วงเดือนเมษายนจนถึงต้นพฤษภาคมที่ผ่านมา บัญชีเหล่านี้ล้วนรีทวีตและรีพลายจากบัญชีผู้ใช้ @CC_Kontumngan ซึ่งใช้ชื่อโปรไฟล์ว่า ‘จักรทิพย์คนทำงาน’ โดยเป็นบัญชีทวิตเตอร์ทางการของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีกระแสข่าวว่าจะลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ แต่ได้ถอนตัวในเวลาต่อมา โดยเนื้อหาที่ถูกรีทวีตส่วนมากเกี่ยวกับภารกิจทั่วไปและชีวิตประจำวันของจักรทิพย์ และทั้ง 51 บัญชีก็ยังล้วนเป็นผู้ติดตาม (followers) ของบัญชี ‘จักรทิพย์คนทำงาน’ ด้วย

#บิ๊กป้อม #พลังประชารัฐเพื่อประชาชน สู่ อัศวิน ขวัญเมือง
101 ลองสืบค้นสำรวจบทสนทนาบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับประวิตรและจักรทิพย์ต่อไป จนพบความน่าสนใจในฝั่งประวิตร หลังจากที่ 101 ลองติดตามความเคลื่อนไหวบนแฮชแท็กต่างๆ เกี่ยวกับประวิตรที่ปรากฏบนหน้ากิจกรรมของ 51 บัญชี โดยใช้ Zocial Eye เป็นตัวช่วย จึงได้เห็นว่ายังมีบัญชีอื่นอีกมากที่คอยทวีตในเชิงให้การสนับสนุนประวิตร นอกเหนือจาก 51 บัญชีนั้น ด้วยความเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในงานสืบสวนชิ้นนี้ 101 ให้ความสนใจไปที่บัญชีที่ปรากฏเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เท่านั้น
จากการสำรวจความเคลื่อนไหวของการทวีตเนื้อหาเกี่ยวกับประวิตรทั้งหมด 101 ยังสามารถค้นพบจนเจอเพิ่มอีกอย่างน้อย 14 บัญชีที่คล้ายว่ากำลังเคลื่อนไหวร่วมกันในการส่งเสริมภาพลักษณ์ประวิตร พร้อมๆ ไปกับที่พบความเคลื่อนไหวเกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ สอดแทรกเข้ามา แต่มีรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ต่างไปจากกลุ่ม 51 บัญชีก่อนหน้า
ทวีตที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวิตรที่ปรากฏบนหน้ากิจกรรมของ 14 บัญชีกลุ่มนี้ มักเป็นทวีตเกี่ยวกับภารกิจต่างๆ โดยมักจะตามด้วยแฮชแท็ก เช่น #บิ๊กป้อม #ลุงป้อมใจดี #รักลุงป้อม และ #สิ่งที่ลุงป้อมทำ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าบัญชีเหล่านี้ไม่ได้เคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนประวิตรโดยเฉพาะเจาะจงเพียงคนเดียว เพราะบนหน้ากิจกรรมของบัญชีเหล่านี้ยังเต็มไปด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับภารกิจและผลงานของบรรดารัฐมนตรีและนักการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ โดยบางทวีตมีการติดแฮชแท็กอย่าง #พรรคพลังประชารัฐ #พลังประชารัฐ #พปชร และ #พลังประชารัฐเพื่อประชาชน

101 ยังพบว่า ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา บัญชีเหล่านี้ทยอยทวีตเนื้อหาโปรโมตหนึ่งในผู้สมัครอย่างอัศวิน ซึ่งมีทั้งเรื่องการลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนระหว่างหาเสียง ผลงานในสมัยเป็นผู้ว่าฯ รวมถึงโควตคำพูดเด็ดจากการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว โดยมีข้อสังเกตคือหลายทวีตใช้ภาพประกอบและข้อความซ้ำกัน แม้จะทวีตคนละวันและเวลากันก็ตาม

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้เชื่อได้ว่าทั้ง 14 บัญชีนี้ทำงานใต้เครือข่ายเดียวกัน อย่างแรกคือบัญชีทวีตส่วนมากถูกสร้างขึ้นในวันเดียวกัน โดยเฉพาะวันที่ 21 กันยายน 2021 และ 101 ยังสามารถจับสังเกตได้อีกด้วยว่าบัญชีในกลุ่มนี้พยายามทำตัวให้ดูเป็นมนุษย์ทั่วไปจริง โดยมักจะทวีตภาพอาหารแทรกอยู่เรื่อยๆ และเขียนแคปชันให้เข้าใจว่าเป็นอาหารที่ทำเอง หรือได้กินเอง แต่เมื่อลองนำภาพเหล่านี้ไปค้นหาด้วย Google Reverse Image Search ก็พบว่าล้วนเป็นภาพที่ดึงมาจากแหล่งอื่นทั้งสิ้น
เรายังไม่พบสิ่งบ่งชี้ชัดเจนว่าเครือข่ายไอโอ 14 บัญชีนี้มีความสัมพันธ์โยงใยใดๆ กับเครือข่ายก่อนหน้าที่มี 51 บัญชีหรือไม่ นอกจากจุดร่วมเพียงจุดเดียวคือการแสดงการสนับสนุนอย่างเปิดเผยต่อประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ในประเด็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ สองเครือข่ายนี้เชียร์ผู้สมัครคนละคนกัน ขณะที่เครือข่าย 51 บัญชีก่อนหน้า มีท่าทีสนับสนุนสกลธี ภัททิยกุล เครือข่าย 14 บัญชีหลังกลับแสดงท่าทีสนับสนุนอัศวิน ขวัญเมือง

ไอโอกรุงเทพฯ กำลังพลสำคัญใน ‘สงครามตัวแทน’ การเมืองใหญ่
การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ นับเป็นหมุดหมายสำคัญหนึ่งทางการเมือง ไม่เพียงแค่การเมืองในสนามกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังสำคัญยิ่งต่อทิศทางการเมืองระดับชาติ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ไม่ต่างจาก ‘สงครามตัวแทน’ ระหว่างแต่ละฝักฝ่ายการเมือง ท่ามกลางสังคมที่กำลังแบ่งขั้วอย่างดุเดือด ด้วยเดิมพันอันสูงยิ่ง จึงไม่น่าแปลกใจที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้จะได้เห็นการใช้ไอโอพยายามโน้มน้าวใจประชาชนกันอย่างแพร่สะพัด และก็ไม่น่าแปลกใจเช่นกันที่ได้เห็นเครือข่ายไอโอที่ต้องสงสัยว่ากำลังเคลื่อนไหวในเชิงสนับสนุนนักการเมืองและพรรคการเมืองระดับชาติ ลงมาเป็นผู้เล่นด้วย
กว่า 400 บัญชีไอโอที่งานสืบสวนของ 101 ชิ้นนี้สามารถค้นพบ แม้จะดูเป็นจำนวนที่ไม่น้อย แต่ก็เชื่อได้ว่าเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของมวลมหาบัญชีไอโออีกหลายเครือข่ายที่กำลังเดินหน้าทำปฏิบัติการเพื่อหวังผลในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ใครที่ได้ติดตามเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ บนแพลตฟอร์มโซเชียลต่างๆ อย่างใกล้ชิด ก็คงเคยเห็นผ่านตากันไม่น้อยว่ายังมีบัญชีไอโอที่คอยสนับสนุนและโจมตีผู้สมัครคนอื่นๆ อยู่อีกเยอะเช่นกัน เพียงแต่การจะสืบสวนจนครบทุกเครือข่าย ทุกแพลตฟอร์มนั้น ต้องใช้เวลาและทรัพยากรสูงกว่านี้มาก งานสืบสวนชิ้นนี้จึงถือว่าเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ช่วยพิสูจน์ให้สังคมได้รู้เท่าทันว่าการใช้ไอโอเป็นอาวุธหนึ่งในการสู้ศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่ากรุงเทพฯ ครั้งนี้มีอยู่จริง
เรายังไม่อาจรู้ได้แน่ชัดว่าใครหรือองค์กรไหนที่อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการไอโอในเครือข่ายที่เราค้นพบเหล่านี้ แต่ไม่ว่าจะเป็นคนไหนหรือองค์กรไหนก็ตาม ก็เป็นที่น่าฉุกคิดว่าการลงทุนของพวกเขาครั้งนี้คุ้มค่าหรือไม่ เพราะสังเกตได้ว่าความเคลื่อนไหวของพวกเขาแทบจะไม่สามารถถูกส่งออกไปถึงผู้คนนอกเครือข่าย เนื้อหาส่วนมากแทบจะไม่ได้รับการโต้ตอบใดๆ หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นการโต้ตอบระหว่างกันของบัญชีเครือข่ายเดียวกันเองเท่านั้น และที่สำคัญ รูปแบบการทำงานที่ดู ‘สุกเอาเผากิน’ ยังทำให้บัญชีเหล่านั้นถูกคนทั่วไปจับสังเกตว่าเป็นบัญชีไอโอได้อย่างง่ายดาย จึงยากที่เชื่อได้ว่าความเห็นพวกนั้นจะโน้มน้าวเปลี่ยนแปลงใจคนได้จริง
แต่ถึงอย่างไร เราก็ไม่สามารถสบประมาทปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ได้ อย่างแรกคือ ไม่ใช่ว่าผู้ใช้โซเชียลมีเดียทุกคนจะมีทักษะการรู้เท่าทันการจับผิดไอโอ อย่างที่สองคือ อาจมีปฏิบัติการเครือข่ายอื่นหรือรูปแบบอื่นที่เรายังมองไม่เห็น แต่อาจประสบความสำเร็จมากกว่าที่คิด แบบที่ว่ากว่าเราจะรู้ตัว ก็อาจสายเกินไป และสุดท้ายคือ ต้องอย่าลืมว่าโลกเคยได้เห็นปรากฏการณ์ที่ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารทางออนไลน์ส่งผลต่อการตัดสินใจของคนในการเลือกตั้งมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการลงประชามติเบร็กซิต (BREXIT) เมื่อปี 2016 หรือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2016
และเช่นกัน เราไม่สามารถมองข้ามอิทธิพลของไอโอในสนามเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ เพราะนี่คือสนามเดิมพันอันใหญ่ยิ่งของหลายขั้วการเมืองในประเทศไทย
หมายเหตุ: วิธีการสืบสวนปฏิบัติการไอโอในบทความชิ้นนี้ เป็นวิธีการที่ 101 ได้เรียนรู้และดัดแปลงบางส่วนมาจาก Rappler สำนักข่าวออนไลน์ชื่อดังของฟิลิปปินส์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในผลงานข่าวสืบสวนการเผยแพร่ข่าวปลอมและปฏิบัติการไอโอบนโลกออนไลน์ ซึ่ง 101 เคยมีโอกาสได้ร่วมมือผลิตผลงานสืบสวนปฏิบัติการไอโอด้วย โดยวิธีการที่ว่านั้นมีหลักการพื้นฐานคือ การใช้เครื่องมือวิเคราะห์และฟังเสียงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ หรือการใช้เครื่องมือค้นหา (search tab) ของแพลตฟอร์มนั้นๆ เอง ในการติดตามรวบรวมข้อมูลการสนทนาในประเด็นที่เราสนใจสืบสวน จากนั้นเมื่อพบความเคลื่อนไหวในการสนทนาที่ผิดปกติ เช่น มีการเผยแพร่ข้อความซ้ำหรือคล้ายกันในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ก็จะต้องรวบรวมรายชื่อบัญชีที่โพสต์ข้อความกลุ่มดังกล่าว ก่อนเข้าไปยังหน้าโปรไฟล์ของแต่ละบัญชีเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของโปรไฟล์ รวมถึงความเคลื่อนไหวบนหน้ากิจกรรม โดยในการวิเคราะห์ข้อมูลความผิดปกติของบัญชีเหล่านั้น อาจใช้เครื่องมือทางออนไลน์ต่างๆ เข้าช่วย เช่น Tweetdeck, Account Analysis, Botometer หรือ Google Reverse Image Search ผสมผสานกับการสังเกตด้วยตาเปล่า จนสามารถจับสังเกตเห็นได้ว่าแต่ละบัญชีมีพฤติกรรมที่ส่อว่า ‘ร่วมกัน’ ทำปฏิบัติข้อมูลข่าวสาร เช่น มีความเคลื่อนไหวบนหน้ากิจกรรมที่เหมือนๆ กัน หรือมีการสร้างบัญชีในวันเวลาเดียวกันหรือไล่เลี่ยกัน เป็นต้น