fbpx

แพงทั้งแผ่นดิน ถูกอย่างเดียวคือค่าแรง: เสียงจากคนขับรถ ชาวนา และชาวประมง

เข้าสู่ปีที่ 3 ที่โลกต้องต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 และนับเป็นปีที่ 8 ที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา – ในช่วงเวลาที่เหมือนจะยาวนานไม่สิ้นสุดนี้ หลายคนบอกว่านี่เป็นช่วงเวลาเลวร้ายที่สุดของพวกเขา

ภาพคนไร้บ้านหน้าใหม่ปรากฏให้เห็นตั้งแต่ช่วงปีแรกของการระบาด คนจำนวนมากถูกไล่ออกจากงานและไม่มีเงินจ่ายค่าที่พัก ธุรกิจท่องเที่ยวพังราบเป็นหน้ากลองจากการปิดประเทศ รถแท็กซี่จอดนิ่งในอู่เพราะไม่มีผู้โดยสาร คนจำนวนมากต้องกลับบ้านไปโดยไม่เหลือที่นาให้ทำ

เรื่องราวเหล่านี้ถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาอีกหลากหลาย ทั้งปัญหาราคาข้าว-ราคายางตกต่ำ ชาวประมงหาปลาไม่ได้เหมือนเดิม และยังถูกซ้ำเติมจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่ระยอง ยังไม่รวมว่าเกิดโรคระบาดในหมูที่ภาครัฐปกปิดอยู่นาน จนทำให้หมูราคาแพงเป็นประวัติการณ์ ส่วนภาคการขนส่งและรถแท็กซี่ต้องเผชิญกับราคาน้ำมัน-แก๊สแพง สวนทางกับค่าแรงที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน – ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาคการเกษตร ภาคการประมง ภาคการขนส่ง ภาคการท่องเที่ยว ฯลฯ ไม่มีใครหลุดรอดจากสถานการณ์ที่เลวร้ายครั้งนี้ แน่นอนว่าคนที่ต้องถูกตั้งคำถามและเรียกร้องความรับผิดชอบมากที่สุดคือรัฐบาล

ความอดทนที่สั่งสมมามาหลายปีแตกกระจายออกเป็นการชุมนุม ‘เล็กๆ’ ทั่วกรุงเทพฯ เช่น ม็อบชาวนาข้างกระทรวงการคลัง, ม็อบรถบรรทุก-แท็กซี่ข้างกระทรวงพลังงาน ฯลฯ ยังไม่นับว่ามีการชุมนุมหน้าศาลากลางในหลายจังหวัดทั่วประเทศ

ผู้คนมาด้วยปัญหาที่หลากหลาย และเรื่องนี้เป็นเรื่องของชีวิต

ม็อบชาวนา – ภาพสะท้อนเมื่อรัฐละเลยกระดูกสันหลัง

เป็นเวลากว่าสองสัปดาห์แล้วที่ถนนพระราม 6 หน้ากระทรวงการคลัง เนืองแน่นด้วยผู้คนหลากใบหน้า หลากที่มา หากแต่มีข้อเรียกร้องเดียวกันนั่นคือขอให้รัฐบาลช่วยแก้ไข – หรืออย่างน้อยที่สุด – ช่วยเยียวยา บรรเทาปัญหาหนี้สินของแรงงานภาคเกษตรกรรมที่เดือดร้อนอย่างหนัก จนไม่เกินเลยนักหากจะนิยามว่า ปัญหาปากท้องของพวกเขานั้นอยู่ในห้วงวิกฤตถึงที่สุด

“คนเรานี่นะ ถ้าไม่ถึงที่จริงๆ คงไม่ลำบากลำบนห่างบ้านมากันแบบนี้หรอก” พนม อันโอ่น ชาวนาวัย 58 ปีบอกเราเช่นนั้น เธอกับเพื่อนร่วมอาชีพอีกกลุ่มใหญ่จ่ายเงินค่าเดินทางตกคนละ 400 บาทจากพิษณุโลกเพื่อมากางเต็นต์คับแคบนอนอยู่หน้ากระทรวงการคลัง หวังให้รัฐบาลได้เห็นและได้ยินสิ่งที่พวกเธอต้องเผชิญบ้าง

ทั้งพนมและเกษตรกรชาวนาอีก 36 จังหวัดเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) ซึ่งส่วนหนึ่งออกเดินทางมาปักหลักประท้วงที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องของพวกเขานั้นมีเพียงสามประการ ได้แก่

1.ขอให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ ชะลอการฟ้องบังคับคดี ยึดทรัพย์ ขายทอดตลาด ทรัพย์สินของสมาชิก เร่งดำเนินการโอนหนี้สิน เข้าสู่กระบวนการการจัดการหนี้สินของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) พร้อมกับขยายเพดานวงเงินการซื้อหนี้ NPA จาก 2.5 ล้านบาท ขยายเป็น 5 ล้านบาท รวมทั้งเสนอเข้าสู่มติ ครม. ผลักดันให้ออกเป็นมติ

2.ขอให้ลดหนี้ ปลดหนี้ให้กับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กรณีที่ตาย พิการ ทุพพลภาพ ชราภาพ เจ็บป่วยเป็นโรค ให้เหลือไม่เกิน 25% ตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563

3.ขอให้ตรวจสอบปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน พร้อมกับปฏิรูปการบริหารงานของสำนักกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เนื่องจากปัจจุบัน ราคาปุ๋ย น้ำมันรวมถึงวัตถุดิบต่างๆ ในท้องตลาดมีราคาแพงขึ้น แต่ราคาพืชผลในปัจจุบันกลับตกต่ำลง

“รัฐไม่ปล่อยน้ำ ก็เลยทำนาไม่ได้ แล้วคิดดูสิว่าชาวนาจะอยู่จะกินกันอย่างไร เราเป็นหนี้ธนาคารแต่ที่ผ่านมาก็ยังทำนาพอให้มีเงินหมุนไปได้ ข้าวจะราคาไม่ดีอย่างไรก็ยังพอมีทางไป แต่รอบนี้รัฐไม่ยอมปล่อยน้ำ เราจะเอาน้ำที่ไหนมาทำนา พอไม่ได้ทำนาก็ไม่มีเงินไปจ่ายค่าธนาคารเขาสิ” พนมเล่าอย่างอัดอั้น

“เราเป็นชาวนา เราก็ต้องทำนา ที่ผ่านมาราคาข้าวก็ย่ำแย่ ขายได้เกวียนละ 4,000-6,000 บาท แต่ก็ยังดีกว่าไม่มี ขณะที่ค่าปุ๋ยขึ้นไปถึง 1,500 บาทแล้ว เราจะเอาที่ไหนกิน”

ช่วงเวลารุ่งโรจน์ของพนมคือช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เธอว่าช่วงนั้นขายข้าวได้เกวียนละ 15,000 บาท ชีวิตชาวนาจึงมั่งมี แม้ไม่ถึงกับร่ำรวยแต่ก็ห่างไกลจากคำว่าขัดสน และไม่เพียงแต่เอาเงินมาหมุนจ่ายหนี้ธนาคารได้เท่านั้น แต่ยังเป็นรายได้ที่มากพอให้เธอเอาไปต่อยอด ทำมาหากินหรือใช้สอยในมิติอื่นๆ ของชีวิตได้อีกมาก

“พอเป็นหนี้ธนาคาร แล้วทำนาไม่ได้ก็ไม่มีเงินไปหมุน ถามหน่อยว่าเราจะอยู่กันอย่างไร เป็นคุณ คุณอยู่ได้หรือ นี่พูดถึงแค่เงินใช้หนี้ธนาคารอย่างเดียวเท่านั้นเลยนะ ไม่ได้พูดถึงค่ากิน ค่าอยู่ ค่าส่งลูกเลย”

“เราถึงต้องมาเรียกร้องให้รัฐบาลพักชำระหนี้ ช่วยเยียวยาชาวนาบ้าง ถ้าไม่ลำบากจริง ชาวนาก็ไม่ออกมาอย่างนี้หรอก”

ภาคประมงทรุดหนัก

ติดกันกับกลุ่มม็อบของชาวนา หน้ากระทรวงการคลังยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมภาคการประมงมาด้วย เมตตา บัวชู เจ้าของกิจการประมงจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์วัย 63 ปี เป็นหนึ่งในคนที่เข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องความช่วยเหลือจากรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2565 เช่นเดียวกับภาคเกษตรกร ชาวประมงหลายชีวิตเรียกร้องให้รัฐช่วยปลดหนี้หรือชะลอ บรรเทาหนี้จากธนาคารให้พวกเขาในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากเช่นนี้ รวมทั้งแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการทำประมง ที่รัฐระบุให้ชาวประมงออกเรือได้ปีละ 220 วันซึ่งถือว่าน้อยจนรายได้ไม่พอจุนเจือครอบครัว

“รัฐเขาออกแต่กฎกติกาโดยไม่รู้เลยว่าคนทำมาหากินต้องเจออะไรบ้าง เมื่อก่อนเราอยากออกเรือเมื่อไหร่เราก็ออกได้ แต่ตอนนี้ออกได้แค่ 220 วัน แล้วบางวันที่เขากำหนดให้เราออกเรือ ก็เป็นวันที่ไม่มีปลาหรือเป็นวันที่พายุเข้า ไหนจะยังมีวันที่เราต้องหลบลมอีก มันเสียเวลาและค่าใช้จ่าย” เธอว่า

“แล้วตอนนี้เศรษฐกิจก็แย่เหลือเกิน เราได้ค่าแรงวันละ 300 บาท ค่าเนื้อหมูก็ไปแล้ว 220 บาท เอาเงินที่เหลือไปซื้อน้ำมันทำอาหารก็หมดแล้ว ไม่ต้องทำอย่างอื่น ถามว่าแบบนี้มันพออยู่พอกินได้ไหม”

“นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เรามาประท้วง ทั้งชีวิตในฐานะชาวประมงนี่ก็มาประท้วงนับร้อยนับพันครั้งแล้ว แต่รัฐบาลประยุทธ์นี่ไม่เคยเชื่อถือหรือวางใจได้เลย ที่ผ่านมาเขาก็สัญญาเป็นมั่นเป็นหมายกับเราว่าจะช่วยแก้ไข ช่วยเยียวยาให้ พูดให้เรากลับบ้านไปได้อย่างสบายใจ แต่ถึงเวลาก็ไม่เคยทำได้จริงสักที เราถึงต้องกลับมาประท้วงอยู่บ่อยๆ”

“รัฐบาลนั้นเชื่อไม่ได้หรอก แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังต้องมาหาเขา เพราะมันไม่มีทางอื่นให้ทำแล้ว”

Truck Power: บรรทุก(ข์)เชื้อเพลิงแห่งความหวัง

เสียงเพลงดังกระหึ่มจากรถบรรทุกบนถนนวิภาวดีรังสิต แว่วเนื้อร้องไม่ชัดเจนนัก แต่ในทำนองโจ๊ะพรึ่มๆ นั้น เนื้อหาดูจะไม่ได้สนุกเหมือนทำนอง – ขบวนรถบรรทุกกว่าร้อยคันเรียงกันมาไม่ขาดสาย หากดูจากชื่อบริษัทหลากหลายที่ติดอยู่หน้ารถ ก็พออนุมานได้ว่ารถเหล่านี้มาจากทั่วสารทิศ

พวกเขาไม่ได้มาเพื่อความรื่นเริง และไม่ใช่เพื่อขนส่งสินค้าไปที่ไหน แต่พวกเขามาเพื่อเรียกร้องการตรึงราคาน้ำมัน – น้ำมันที่เป็นเชื้อเพลิงของรถบรรทุก และเปรียบเสมือนเชื้อเพลิงของชีวิต-การงาน

เป้าหมายของพวกเขาคือกระทรวงพลังงาน

“ครั้งนี้เรามาในชื่อ Truck Power Final Season มาเพื่อเรียกร้องให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลในราคา 25 บาทต่อลิตร และเรียกร้องให้สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลาออก” อภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยประกาศก้องบนเวทีข้างกระทรวงพลังงาน

คำว่า final season อาจนับเป็นเรื่องดี หากข้อเรียกร้องทั้งหลายเป็นไปได้จริง แต่ในความเป็นจริง ข้อเรียกร้องเหล่านี้อาจไม่เคยมี final season อยู่เลย

ก่อนหน้านี้สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยเคยเข้ามายื่นเรื่องกับกระทรวงพลังงานแล้วเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564 และมาอีกครั้งในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ก่อนที่กระทรวงพลังงานจะรับเรื่อง และขอให้กลุ่มรถบรรทุก ‘ชะลอ’ การเคลื่อนไหวในช่วงเจรจาประมาณ 20 วัน แต่แล้วเมื่อถึงเวลา คำตอบที่ต้องการก็ไม่มาตามนัด อภิชาติใช้คำว่าทางการ “Say no.” และไม่มีการแก้ไขหรือช่วยเหลือทั้งภาคประชาชนและภาคการขนส่ง

จนมาถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 พวกเขาจึงจำเป็นต้องจัดกิจกรรม ‘Truck Power Final Season พลังของคนรถบรรทุกครั้งสุดท้าย’ โดยมีกลุ่มคนขับรถบรรทุกเข้าร่วมจากทุกภาค มุ่งหน้าเรียกร้องร่วมกัน

“ผมขอประกาศดังๆ ว่า รัฐมนตรีที่ชื่อสุพัฒนพงษ์ไม่สมควรอยู่ในตำแหน่งนี้แล้ว เพราะท่านเข้ามาดูแลกระทรวงพลังงาน และเป็นรองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านเศรษฐกิจ แล้วตอนนี้มีผลงานอะไรไหม มองไปเห็นแต่แพงทั้งแผ่นดิน” อภิชาติกล่าว และหลังคำว่า ‘แพงทั้งแผ่นดิน’ สมาชิกสหพันธ์ฯ ขานรับอย่างพร้อมเพรียง จนทำให้คำว่า ‘แพงทั้งแผ่นดิน’ ดังซ้ำๆ หน้ากระทรวงฯ

อย่างที่เรารู้กันว่าภาคการขนส่งเป็นเส้นเลือดหลักของประเทศ ทั้งขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคและหินดินทรายเพื่อการก่อสร้าง ไม่ว่าจะกินข้าวหรือสร้างถนน รถบรรทุกล้วนเป็นตัวละครสำคัญ แต่คล้ายว่าพวกเขาไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐเท่าที่ควรจะเป็น

“เราถูกเลือกปฏิบัติ เปรียบเสมือนเราเป็นพลเมืองชั้นสอง เมื่อ 7 เดือนที่แล้ว รัฐลดภาษีน้ำมันสรรพสามิตให้กลุ่มเครื่องบิน จาก 4.7 บาทต่อลิตร ลงมาเหลือ 20 สตางค์ต่อลิตร แต่ในทางตรงกันข้ามที่เขามองลงมาที่พลเมืองชั้นสอง เราไม่ได้รับการชดเชยหรืออุ้มชูเลย ขณะนี้น้ำมันดีเซลซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทย ถูกเก็บภาษีน้ำมันสรรพสามิตอยู่ที่ 5.99 บาทต่อลิตร ไม่ได้ถูกปรับลงมาเลยแม้แต่สตางค์แดงเดียว ท่านดูสิครับว่ามีความชอบธรรมหรือไม่ ฉะนั้นวันนี้เราจำเป็นต้องออกมาแสดงสัญลักษณ์” อภิชาติกล่าว ก่อนกล่าวทิ้งท้ายการปราศรัยว่า

“คณะรัฐบาลนี้ไม่มีธรรมาภิบาล บริหารงานมีแต่บานๆๆ และตอนนี้แพงทั้งแผ่นดิน”

แท็กซี่ขอลดราคาแก๊ส NGV และ LPG

ไม่ใช่แค่รถบรรทุกเท่านั้นที่เผชิญกับเชื้อเพลิงแพง กลุ่มคนขับแท็กซี่เองก็ต้องรับภาระไม่ต่างกัน แม้จะใช้แก๊ส NGV และ LPG ที่มีราคาถูกกว่าน้ำมันก็ตาม

หลังการระบาดของโควิด-19 แท็กซี่กว่าครึ่งหนึ่งหายไปจากท้องถนน เพราะไม่อาจสู้กับค่าครองชีพแสนแพงเมื่อเทียบกับรายได้ที่ได้รับ

“เมื่อก่อนรถแท็กซี่ราคาคันละประมาณ 4 แสนบาท ตอนนี้ขึ้นไปคันละล้านกว่า เมื่อก่อนเติมแก๊ส 8.50 บาทต่อกิโลกรัม วันนี้ต้องเติมแก๊ส 15.60 บาทต่อกิโลกรัม อัตราค่าโดยสารไม่ขึ้น แต่ราคาเชื้อเพลิงขึ้น เราไม่สามารถอยู่ได้ จึงมายื่นข้อเรียกร้อง

“ทุกวันนี้แท็กซี่ใช้เวลาขับรถ 13-14 ชั่วโมง ได้ค่าโดยสารไม่เกิน 800 บาท ใน 800 บาท ต้องเติมแก๊สมากกว่า 500 บาท เหลือเงิน 200-300 บาทไว้ใช้อยู่กิน ข้าวแกงเมื่อก่อนจานละ 20-25 บาท เดี๋ยวนี้ 35-40 บาท กินใช้ระหว่างที่ขับก็หมดไปแล้วร้อยกว่าบาท เหลือเงินอยู่ร้อยกว่าบาท ยังมีภาระค่าซ่อมรถ ค่าผ่อนรถอีกมากมาย เราจึงไม่สามารถอยู่ได้ในอาชีพนี้

“ก่อนหน้านี้เราอยู่กันแสนกว่าชีวิต ตอนนี้ 5 หมื่นชีวิตไม่สามารถไปต่อในอาชีพนี้ได้ ต้องกลับสู่ภูมิลำเนา แต่ที่ยังอดทนอยู่ 5 หมื่นคนขณะนี้ เพราะไม่มีที่ไป บ้านนอกก็ไม่มี ขายนาเพื่อมาดาวน์รถ ตอนนี้จะกลับไปนาก็ไม่มี บ้านก็ไม่มีแล้ว จึงต้องทนอยู่ นอนอยู่กับรถ” วิฑูรย์ แนวพานิช นายกสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย อธิบายถึงปัญหาที่แท็กซี่ต้องพบเจอ

ข้อเรียกร้องสำคัญของพวกเขาคือขอให้ลดราคา LPG และ NGV ลงมาเหลือกิโลกรัมละ 9-10 บาท เพื่อประคองคนขับแท็กซี่ในช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่นี้ไปก่อน ถ้าหากเศรษฐกิจฟื้นตัว แท็กซี่วิ่งหาเงินได้ประมาณวันละ 2,000 บาทเช่นเดิม จึงค่อยเพิ่มราคากลับมาได้

โดยข้อเรียกร้องรวมของพวกเขามีทั้งหมด 4 ข้อ คือ

1.ลดราคาแก๊สทั้ง NGV และ LPG จนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติโดยยึดราคาเดิมที่ NGV ราคากิโลกรัมละ 10 บาท LPG ราคาลิตรละไม่เกิน 9 บาท

2.จัดหาสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูกให้กับผู้ขับรถแท็กซี่และครอบครัว

3.จัดหาถุงยังชีพเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ขับรถแท็กซี่มากว่า 50,000 ครอบครัว เพื่อการยังชีพในระยะสั้น

4.จัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยถูก เพื่อการส่งเสริมการลงทุนรถใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทนรถในปัจจุบันที่ใช้พลังงานธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง

“การที่รัฐบาลบอกว่าขอให้เห็นใจรัฐบาล เพราะรัฐบาลเองไม่สามารถลดราคาน้ำมันได้ เนื่องจากว่าถ้าลดภาษีแล้ว รัฐบาลเองก็ไม่มีงบประมาณไปบริหารประเทศได้ ผมคิดว่าถ้าปัญญาท่านมีอยู่แค่นี้ ท่านอย่าอยู่บริหารเลยครับ ให้คนจบ ป.4 อย่างพวกผมบริหาร ผมคิดว่ามีประสิทธิภาพดีกว่าพวกท่านอีก” วิฑูรย์กล่าวทิ้งท้าย

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save