fbpx

เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว: แลนด์สไลด์ ‘ชัชชาติ’ ปรากฏการณ์สะท้อนนัยการเมืองไทย

แม้ชัยชนะอย่างถล่มทลายของชัชชาติ สิทธิพันธ์ในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย แต่นัยสำคัญของผลการเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีหลายเรื่องที่เราอาจยังคาดไม่ถึง

หลังฝุ่นหายตลบ 101 ชวนวิเคราะห์สนามเลือกตั้ง กทม. อย่างละเอียดอีกครั้ง อะไรคือโจทย์ท้าทายของผู้ว่าชื่อ ‘ชัชชาติ’ ผลเลือกตั้งสะท้อนดุลอำนาจของการเมืองใน กทม. และระดับชาติแค่ไหน และเราเห็นอะไรจากสนามเลือกตั้งตลอดกว่าสองเดือนที่ผ่านมา

101 เปิดวงสนทนา ชวน รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการบริหาร workpointTODAY พูดคุยและวิเคราะห์ถึงผลการเลือกตั้ง แนวโน้ม และสิ่งที่สะท้อนออกมาจากสนามการเมืองครั้งนี้

หมายเหตุ – เรียบเรียงเนื้อหาจากรายการ 101 Public Forum : การบ้าน – การเมืองของผู้ว่าฯ กทม. วันพุธที่ 25 พฤษภาคม 2565 เวลา 19.30 – 21.30 น. 

‘แม่น้ำ 3 สายสู้กับลำธาร 4 แหล่ง’

ชัยชนะท่ามกลางสมรภูมิการเมืองที่แบ่งขั้วชัดเจน

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าปรากฏการณ์ชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ของชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ เป็นเหมือนการปักหมุดผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนครั้งแรกในรอบ 9 ปี ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีของผู้นิยมเสรีประชาธิปไตย ทั้งนี้คะแนนเสียงถล่มทลายของชัชชาติยังเป็นคะแนนที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ของการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. อีกด้วย 

ปัจจัยที่ทำให้ชัชชาติได้คะแนนถล่มทลายในสถานการณ์การเมืองที่แบ่งขั้วชัดเจนในประเทศไทย สิริพรรณมองว่าเป็นการทำงานร่วมกันจากหลายฝ่าย เนื่องจากชัชชาติมีคุณสมบัติที่เรียกคะแนนเสียงได้ทั้งกับฝ่ายเสรีประชาธิปไตยและฝ่ายอนุรักษนิยม ทั้งยังมีฐานเสียงเดิมจากพรรคเพื่อไทยที่ไม่ได้ส่งผู้สมัครมาในปีนี้ รวมถึงข้อมูลจากโพลสำรวจที่ระบุว่าคนกรุงเทพฯ เชื่อมั่นในผู้สมัครอิสระมากกว่าผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมือง

“คะแนนที่เยอะมากขนาดนี้เกิดจากการรวมกันของแม่น้ำ 3 สายที่สู้กับลำธาร 4 แหล่ง ได้แก่ แม่น้ำสายแรกคือ เพื่อไทย ที่มีฐานเสียงอยู่แล้ว แม่น้ำสายที่สองคือ ก้าวไกล โดยคนที่เลือก ส.ก. พรรคก้าวไกลจำนวนหนึ่งไม่เลือกวิโรจน์เป็นผู้ว่าฯ แต่มาเลือกชัชชาติ แม่น้ำสายที่สาม ที่น่าสนใจที่สุดคือ กลุ่มอนุรักษนิยมก้าวหน้าหรืออนุรักษ์นิยมกลางๆ คือไม่เลือกเพื่อไทยและไม่ไว้วางใจก้าวไกล แต่ข้ามมาเลือกชัชชาติ ส่วนลำธาร 4 แหล่ง ได้แก่ พันธมิตร กปปส. ประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ ที่ต่อให้เทคะแนนมาที่ใครสักคนหนึ่งในกลุ่มนี้ก็ยังสู้ชัชชาติไม่ได้” 

ทั้งนี้ สิริพรรณกล่าวว่าโดยส่วนตัวเชื่อมาตลอดว่าชัชชาติจะชนะการเลือกตั้งอย่างแน่นอน และเชื่อว่าจะชนะขาด เพียงแต่คาดไม่ถึงว่าคะแนนที่ออกมาจะห่างจากอันดับสองและอันดับรองลงมามากขนาดนี้ 

“คุณชัชชาติเลือกยุทธศาสตร์ถูกในการลงสมัครอิสระเพื่อดึงคะแนนจากกลุ่มอนุรักษนิยมกลางๆ มาได้ รวมถึงต้องให้เครดิตตัวคุณชัชชาติและทีมงานด้วย เพราะคุณชัชชาติเดินทุกตรอกออกทุกซอยมาสองปี เตรียมตัวพร้อมมาก เป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ มีความสามารถ มีประสบการณ์ มีวิธีการครองตัวที่เหมาะสมในระหว่างหาเสียง แม้จะถูกโจมตีจากหลายฝ่ายในจุดอ่อนที่ตนเองมีแต่ก็ไม่สร้างความขัดแย้ง เป็นคุณสมบัติที่ถูกใจคนกรุงเทพฯ” 

“คุณสมบัติสำคัญของคุณชัชชาติคือเป็นผู้นำที่ไม่เอาประเด็นทางการเมืองมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว และไม่เอามาขยี้ แต่จะเป็นผู้นำสำหรับทุกคน เป็นคุณสมบัติที่สามารถประสานทั้งฝ่ายประชาธิปไตยก้าวหน้าและอนุรักษนิยมเข้ามาไว้ด้วยกันได้ และส่วนหนึ่งคุณชัชชาติมีบุคลิกที่มีความเป็นอนุรักษนิยมสูง แต่เป็นอนุรักษนิยมที่เคารพกติกาประชาธิปไตย และเข้ามาด้วยวิถีทางประชาธิปไตย” สิริพรรณกล่าว

หากมองประเด็นคะแนนการเลือกตั้งของ ส.ก. สิริพรรณวิเคราะห์ถึงสิ่งที่สะท้อนออกมาว่าคะแนนของ ส.ก. สามารถแสดงฐานเสียงของพรรคการเมืองได้ดีกว่าคะแนนของผู้ว่าฯ เพราะแน่นอนว่า ส.ก. ต้องสังกัดพรรคการเมือง ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงฐานเสียงที่ค่อนข้างนิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากของ 3 พรรคหลักที่มีพื้นที่แข่งขันในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งยังสามารถนำมาประเมินความเข้มแข็งและความนิยมของพรรคการเมืองของประเทศไทยในขณะนี้ได้

“พอดูผลก็จะเห็นตัวเลขที่น่าสนใจ การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเพื่อไทยได้สัดส่วนคะแนน 26% ใกล้เคียงกับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2562 ที่มีฐานเสียงในกรุงเทพฯ 25 – 26% พรรคก้าวไกลก็เช่นเดียวกันที่มีฐานเสียงอยู่ที่ 20% ซึ่งตรงกับพรรคอนาคตใหม่เมื่อปี 2562 และพรรคประชาธิปัตย์ที่ปี 2562 ได้สัดส่วนคะแนน 15% การเลือกครั้งนี้ก็ได้ 15% เหมือนเดิม ส่วนพรรคใหญ่อีกหนึ่งพรรคคือพลังประชารัฐ เดิมเมื่อปี 2562 ได้คะแนนประมาณ 25% ครั้งนี้เหลือ 11% หายไป 14% พออนุมานได้ว่าฝ่ายค้านในปัจจุบันได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น 3 – 4% ส่วนฝั่งรัฐบาลคะแนนความนิยมลดไปประมาณ 4% โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคพลังประชารัฐ”

อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนไปในการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2562 การเลือกตั้งครั้งนั้นพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ ส.ส. เข้าสภาแม้แต่คนเดียว ในขณะที่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งล่าสุด พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ก. ถึง 9 เขต จึงมีแนวโน้มที่จะเกิดการรีเทิร์นของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะมาทวงพื้นที่ของ ส.ส. บางเขตในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า ซึ่งมีตัวแปรสำคัญคือการปรับปรุงองค์กรภายในของพรรค

“พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ก. ของพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในและทางฝั่งธน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นฐานเสียงหลักของคุณองอาจ คล้ามไพบูลย์ มองได้ว่ามีแนวโน้มที่ประชาธิปัตย์จะกลับมาทวง ส.ส. บางท่านคืนได้ เพราะคะแนนเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่หายไปของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ถูกขอยืมไปโดยพรรคพลังประชารัฐ แต่ตอนนี้พลังประชารัฐอ่อนระโหยโรยแรงลง ดังนั้นถ้าคนบางส่วนไม่เลือก ส.ส. พรรคพลังประชารัฐแล้ว มีความเป็นไปได้ที่จะกลับมาเลือกประชาธิปัตย์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าประชาธิปัตย์จะปรับองค์กรพรรคอย่างไร ใครจะเป็นหัวหน้าพรรค ดังนั้นจึงมีโอกาสที่คะแนนเสียงจะกลับมา แต่จะเห็นว่าคนที่เลือกประชาธิปัตย์ตอนเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 น่าจะเป็นฐานเสียงสายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะในตอนนั้นอภิสิทธิ์ประกาศว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพลเอกประยุทธ์ คนที่ไม่เห็นด้วยกับจุดยืนนี้จึงไหลไปเลือกพลังประชารัฐแทน”

หากมองไปถึงการเมืองระดับชาติในเชิงยุทธศาสตร์ สิริพรรณมองว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อาจนำมาเป็นโมเดลให้จังหวัดอื่นไม่ได้ทั้งหมด แต่คุณภาพของการหาเสียงของผู้สมัครสามารถนำมาเป็นบรรทัดฐานได้ เปรียบเทียบกับคนที่ทานอาหารคลีนที่มีสิ่งปลอมแปลงและปนเปื้อนน้อยมาก เมื่อคนเสพเข้าไปก็รู้สึกสบายกายสบายใจ แต่ถึงอย่างไรผลการเลือกตั้งของแต่ละพื้นที่ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการส่วนตัวของคนในพื้นที่นั้นๆ เป็นหลัก

“พอจริตของคนต่างกัน ความต้องการนโยบายต่างๆ ก็จะต่างกันด้วย”

“ผลการเลือกตั้งครั้งนี้จริตของคนกรุงเทพฯ ก็มีส่วน ยกตัวอย่างการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ป้ายหาเสียงในกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดจะต่างกัน ในกรุงเทพฯ ผู้สมัครส่วนใหญ่จะแต่งกายเรียบง่าย ใส่เสื้อเชิ้ตสีขาว แต่พอเป็นต่างจังหวัดจะต้องแต่งชุดข้าราชการ มีตราเครื่องหมาย ซึ่งสะท้อนถึงความคาดหวังและมุมมองที่แตกต่างกัน”

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาอย่างแน่นอนจากผลการเลือกตั้งครั้งนี้คือการอ่อนกำลังลงของพรรคพลังประชารัฐในพื้นที่กรุงเทพฯ ทว่ายังไม่อาจอนุมานได้ในระดับต่างจังหวัด ทั้งนี้ แม้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งนี้จะไม่ได้เป็นกระจกสะท้อนว่าในสนามการเลือกตั้งใหญ่ฐานคะแนนเสียงของพรรคพลังประชารัฐในต่างจังหวัดจะลดลงหรือไม่ แต่ก็แสดงให้เห็นได้ว่าพรรคพลังประชารัฐเริ่มมีความระส่ำระสายแล้ว 

“ต่างจังหวัดจะมีพรรคที่เป็นบ้านใหญ่ประจำจังหวัด มีฐานเสียงในแต่ละภาค การแข่งขันจึงเข้มข้นขึ้นและมีความเป็นภูมิภาคสูง แต่สิ่งที่จะส่งผลกระทบอย่างแน่นอนของการเลือกตั้งครั้งนี้ อย่างน้อยที่สุดคือในแง่ของจิตวิทยาและขวัญกำลังใจ พอพลังประชารัฐความนิยมหายไปค่อนข้างมาก ริบหรี่เต็มที ก็จะเกิดคำถามไปถึงผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐในจังหวัดอื่นๆ ว่ายังอยากสมัครการเมืองภายใต้เสื้อของพลังประชารัฐอยู่หรือเปล่า ยังขายได้ไหม โดยภาพรวมคงคาดหวังไม่ได้ว่าพลังประชารัฐจะยังยิ่งใหญ่แบบในอดีต”

ในส่วนคะแนน ส.ก. พรรคเพื่อไทย สิริพรรณกล่าวว่าส่วนหนึ่งมาจากนโยบายภาพรวมของพรรค รวมถึงกรณีของอุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ที่ประกาศเข้าร่วมเกมการเมืองกับพรรคเพื่อไทย ทำให้ฐานดั้งเดิมของเพื่อไทยกลับมาเชื่อมั่นในตระกูลชินวัตร และประเด็นสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ขึ้นอยู่กับการทำงานและผลงานส่วนบุคคล ไม่ว่าจะมาจากสังกัดพรรคการเมืองไหน การออกมาทำงานให้ประชาชนเห็นหน้าค่าตาก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ

“เช่นในเขตที่ค่อนข้างอำนาจนิยม แต่กลับเลือก ส.ก. พรรคก้าวไกล ปรากฏว่าเขาเป็นกลุ่มเส้นด้ายที่มาช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิด ปัจจัยของการตัดสินใจจึงไม่ได้มีแค่ตัวเดียว แม้เราจะคิดว่าตัวแปรหลักเป็นเรื่องจุดยืนทางการเมือง แต่ตัวแปรที่สำคัญอีกอย่างก็คือ คุณทำงานจริงหรือเปล่า คุณได้ดูแลในยามที่เขาต้องการหรือเปล่า ซึ่งกรณีกลุ่มเส้นด้ายของก้าวไกลถือเป็นบทเรียนที่ดี”

ในแง่ของการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์สำหรับการเลือกตั้งสนามใหญ่ ปัญหาที่เจอมาตลอดคือการตัดคะแนนกันเอง การแข่งขันครั้งหน้านั้นค่อนข้างเข้มข้น คงน่าเสียดายหากนโยบายดีๆ ของผู้สมัครจะแพ้ให้กับการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ เช่น ฝ่ายประชาธิปไตยแพ้เพราะเพื่อไทยกับก้าวไกลคะแนนตัดกันเองจนทำให้พลังประชารัฐชนะ สิริพรรณมองว่าเพื่อไทยควรใช้ยุทธศาสตร์หลักคือต้องมีผู้ลงสมัครตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เข้มแข็ง และเป็นแม่เหล็กดึงฐานเสียงกลับมา

“ด้วยความที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดโอกาสให้เสนอได้ 3 ชื่อ ซึ่งจะทำให้เพื่อไทยมีความยืดหยุ่นมาก อาจจะเสนอ 1 คนเป็นกุนซือทางเศรษฐกิจ เสนอคนที่ 2 ดึงคะแนนของคนรุ่นใหม่ที่เอาประเด็นก้าวหน้าทางการเมืองมาใช้ และคนที่ 3 อาจจะเป็นคนที่เป็นสัญลักษณ์ของชินวัตร”

สำหรับพรรคก้าวไกล เนื่องจากสังคมไทยมีความอนุรักษนิยมค่อนข้างสูง ก้าวไกลจึงต้องตระหนักว่าจะเลือกวางจุดยืนของพรรคไว้ตรงไหนของเส้นสเปกตรัม ทั้งยังต้องประเมินให้ดีว่าตอนนี้ควรอยู่ตรงไหน กลุ่มคนที่เรียกร้องเรื่องการปฏิรูปในระดับเข้มข้นมีมากน้อยแค่ไหน และพรรคต้องการเน้นไปที่กลุ่มนั้นหรือจะเลือกกลุ่มกลางๆ เพื่อขยายฐานเสียง ส่วนหนึ่งที่ทำให้ฐานเสียงของพรรคหายไปเป็นเพราะยังไม่สามารถขยายฐานไปได้มากกว่านี้ รวมถึงผู้นำของพรรคที่เปลี่ยนแปลงไป ในแง่ของภาพกว้าง จุดยืนของพรรคจะเป็นอย่างไรต่อไป ก้าวไกลจะเจาะฐานเสียงเพียงกลุ่มเดียวหรือต้องการขยายฐานเสียง เป็นเรื่องที่ก้าวไกลต้องไปทำการบ้าน นอกจากนี้ สิริพรรณยังมองว่านโยบายก้าวไกลมีความย้อนแย้งในตนเอง คือมีฐานเสียงเป็นกลุ่มชนชั้นกลาง แต่หลังๆ กลับหาเสียงเข้าหาชนชั้นล่าง ซึ่งเป็นโจทย์ที่ก้าวไกลต้องตีให้แตก

“ปัญหาหนึ่งของก้าวไกลตอนนี้คือมีความย้อนแย้งกันในตัวเอง ด้วยความที่ฐานของพรรคคือคนชนชั้นกลาง แต่นโยบายของพรรคหลายอย่างมุ่งไปหาคนชนชั้นล่าง เพราะเอาจริงๆ แล้วฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยคือชนชั้นล่าง แต่ก้าวไกลเป็นพรรคที่ตอนหลังหาเสียงเรื่องสวัสดิการเพื่อชนชั้นล่าง ซึ่งเป็นความย้อนแย้งที่ไม่รู้พรรคจะหาทางออกอย่างไร”

นอกจากนี้ สิริพรรณยังชวนตั้งคำถามต่อประเด็นของประชากรแฝงในกรุงเทพฯ ที่ไม่เห็นผู้สมัครคนไหนหยิบยกมาพูดในการหาเสียงที่ผ่านมา ซึ่งหากแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ จะช่วยเปลี่ยนฉากทัศน์และภูมิทัศน์ของกรุงเทพฯ ในระยะยาว และเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นของทุกคน ไม่ใช่แค่คนชนชั้นกลางหรืออนุรักษนิยม

“กรุงเทพฯ มีประชากรประมาณ 1 ล้านคน แต่คนมีสิทธิเลือกตั้งแค่ 5 แสน แต่กลับไม่มีการพูดถึงเลยว่าจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้มีสิทธิมีเสียงที่จะเลือกผู้ว่าฯ ตราบใดที่คนเหล่านี้ซึ่งเป็นฟันเฟือง ทั้งคนชนชั้นล่าง คนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำมาหากินในกรุงเทพฯ ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง จริตของการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ก็จะเป็นชนชั้นกลางอยู่อย่างนั้น” สิริพรรณกล่าว

‘ความหวัง’ ของคนเมืองในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและโจทย์เมืองของมหานครกรุงเทพฯ

นโยบายของผู้ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. เป็นประเด็นสำคัญที่คนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะคนทำงานด้านเมือง มองว่าการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมา มีแง่มุมการแข่งขันทำนโยบายเมืองอย่างเข้มข้นมากขึ้น มีความหลากหลายและทันสมัยมากกว่านโยบายของการเลือกตั้งปีก่อนๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพลตฟอร์มนโยบาย (policy platform) ที่มีการผูกโยงปัญหาเชิงระบบของกรุงเทพฯ มากขึ้น

“แคมเปญของผู้สมัครหลายๆ ท่านมีแพลตฟอร์มของนโยบายที่ชัดขึ้น เห็นชัดเจนจากมุมมองของด้านเมือง แม้ว่าผู้สมัครบางท่านยังคงมีความดั้งเดิมในนโยบายที่นำเสนอเรื่องการพัฒนาและการบริหารจัดการเมือง อย่างเช่นการขุดลอกคูคลอง การจราจร หรือสาธารณสุข ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายที่ไม่แปลกใหม่มาก แต่ครั้งนี้ก็มีนโยบายที่อัพเดตมากขึ้น เช่น ความหลากหลายทางเพศ ความเป็นธรรมในการบริหารจัดการเมือง ที่ในยุคก่อนอาจจะไม่ค่อยได้ยินคำพวกนี้มากนัก ในภาพใหญ่ก็จะมีความแตกต่างกันในข้อเสนอเชิงนโยบาย ตัวอย่างเช่น นโยบายของคุณวิโรจน์และคุณชัชชาติที่มีประเด็นเรื่องของกลไกในการบริหารจัดการเมือง

“ยกตัวอย่างปกติเวลาบริษัทหนึ่งจะมาขายของให้เรา เขาก็จะบอกว่าของชิ้นนี้ดีอย่างนั้นอย่างนี้ นี่คือฟังก์ชันของสินค้า ถ้าเป็นเมื่อก่อนเขาจะไม่บอกเราว่าของชิ้นนี้มีกระบวนการการผลิตดีอย่างนั้นอย่างนี้ หรือเป็นธรรมอย่างไร ของจึงออกมาดี แต่คราวนี้น่าสนใจตรงที่เขาไม่เพียงบอกลูกค้าว่าของที่จะให้เป็นของที่ตอบโจทย์ความต้องการของคุณนะ แต่ยังมีกระบวนการที่ดี เช่น การจัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรม มีการตรวจสอบผู้ว่าฯ และข้าราชการ มีความโปร่งใส ซึ่งมีทั้งประเด็นที่ว่าฉันจะได้อะไรในฐานะที่เป็นพลเมืองของกรุงเทพฯ และอีกประเด็นคือสิ่งที่ฉันจะได้มาจากกระบวนการที่ฉันรับได้หรือเปล่า” อภิวัฒน์กล่าว

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อภิวัฒน์มองว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าในปัจจุบันเมืองไม่ได้เกิดความแตกต่างแค่ในเชิงของการเมืองการปกครอง ทว่ายังมีความแตกต่างในการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของคนแต่ละกลุ่มที่มีความแตกต่างกันสูงมาก ปัญหานี้สะท้อนออกมาจากข้อเสนอเชิงนโยบายของผู้สมัครหลายคน ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายอันดีที่นโยบายของผู้สมัครให้ความสนใจปัญหาในแง่ของความเหลื่อมล้ำมากขึ้น และมีนโยบายที่แตกต่างจากการเลือกตั้งปีก่อนๆ รวมถึง policy platform ที่ถูกนำมาใช้ในการนำเสนอนโยบายในปีนี้

“จากที่เคยฟังมา ลักษณะของการเสนอทางออกมักจะเริ่มที่ปัญหาก่อน เช่น ปัญหารถติด เราจะแก้รถติด ปัญหาน้ำเสีย เราจะทำให้น้ำสะอาดขึ้น ปกติเราก็จะบอกว่าปัญหาคืออะไร และเราจะแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร เช่น พูดถึงการแก้ปัญหารถติดภายใน 3 – 6 เดือน แต่ไม่พูดถึงตำแหน่งที่อยู่อาศัยของชนชั้นกลาง หรือพูดถึงการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด แต่กลับไม่พูดถึงเรื่องของรายได้และฐานเศรษฐกิจ แต่คราวนี้มีนโยบายมีความเชื่อมโยงของปัญหามากขึ้น มีการพูดถึงปัญหาเชิงระบบมากขึ้น เช่น ความเชื่อมโยงระหว่างรถติดกับที่อยู่อาศัย หรืออากาศกับการจราจร ข้อเสนอมีความน่าสนใจในการผูกโยงกับปัญหาเชิงระบบของกรุงเทพฯ มากขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนไม่มีการผสมผสานกันเชิงนโยบายแบบนี้”

นอกจากนี้ จากนโยบายทั้งหมด 9 ด้าน 214 นโยบายของชัชาติ สิทธิพันธ์ อภิวัฒน์เสนอความเห็นว่าเป็นนโยบายที่มีละเอียดดีแล้ว เพียงแต่ว่าปัญหาในกรุงเทพฯ รวมถึงสิ่งที่คนเมืองต้องการคงไม่ได้จบที่ 214 ข้อ ทว่าสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือนโยบายในเชิงกลไกที่จะทำให้ 214 นโยบายที่เสนอมาทำได้จริง รวมถึงนโยบายเรื่องงบประมาณของ กทม. ที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การดำเนินนโยบายทั้ง 214 ประการเป็นไปได้อย่างราบรื่น

“นโยบายที่เสนอว่ารถเมล์จะเป็นของ กทม. ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะการจะให้รถเมล์บริหารจัดการและดำเนินการโดย กทม. มีนัยในเชิงองค์กรและมีนัยยะในเชิงงบประมาณของ กทม. ค่อนข้างใหญ่มาก อย่างที่ทราบว่าตอนนี้รถเมล์ส่วนมากจัดการโดย ขสมก. ทีนี้พอเป็นเชิงนโยบายว่ารถเมล์จะเป็นของ กทม. ก็ต้องพูดถึงว่าต่อจากนี้ไป กทม. จะมีรูปแบบของการบริหารจัดการอย่างไรที่จะรับการบริการพื้นฐานที่ใหญ่ขนาดนี้เข้ามา เพราะกรุงเทพฯ ไม่ได้จัดการไฟฟ้าหรือประปาด้วยตัวเอง แต่มีองค์กรอื่นจัดการให้”

“ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องเงิน นโยบายเรื่องงบประมาณของ กทม. จะเอาอย่างไรในการจะจัดการกับ 214 นโยบาย หลายนโยบายอาจจะพอใช้งบประมาณที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ แต่พอเป็นเรื่องใหญ่ๆ เช่น เรื่องรถเมล์ การบริหารจัดการสต็อกของบ้านเช่า พวกนี้อาจจำเป็นต้องใช้เงินหลายหมื่นล้านด้วยซ้ำ หมายความว่าสิ่งที่ กทม. จะต้องมีคือการระดมทุน เช่น การออกพันธบัตรของท้องถิ่น ดังนั้น ถ้าจะทำงานในเชิงโครงสร้างที่ดีดังที่ได้เสนอมา สิ่งหนึ่งที่เป็นโจทย์ใหญ่มากคือการศึกษาและการหาวิธีการในการระดมทุนเพื่อหางบประมาณของ กทม. ที่นอกเหนือจากการเก็บภาษีกับการรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลาง”

แม้ปัญหาเชิงโครงสร้างในกรุงเทพมหานครจะมีมาก แต่หากมองจากในมุมของนักผังเมือง อภิวัฒน์ยืนยันว่ายังคงมี ‘ความหวัง’ ในแง่ของความเป็นธรรมและมองเมืองจากมุมมองของคนด้อยโอกาสมากขึ้น ส่วนการเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานโดยส่วนตัวไม่ค่อยหวังมาก เพราะอาจเป็นโจทย์ใหญ่เกินกว่าอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ ในฐานะการปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้นแล้วความหวังที่ได้จากทีมของชัชชาติจึงมาจากการที่ประเด็นของวิถีชีวิตของคนด้อยโอกาสในสังคมได้รับความสนใจมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่การแก้ปัญหารถติดหรือการแก้ปัญหาน้ำเสีย แต่ยังรวมถึงนโยบายที่มองเห็นคนมากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นความหวังมากกว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างต่างๆ 

“หวังว่าถ้ามีชัชชาติ 2 น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างองค์กรของ กทม. ซึ่งแน่นอนว่าเกินขอบเขตของผู้ว่าฯ แต่คิดว่าผู้ว่าฯ ก็น่าจะช่วยผลักดันได้ว่าจะทำอย่างไรในเชิงรัฐประศาสนศาสตร์ให้มหานครกรุงเทพฯ ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สิ่งนี้คงเป็นความหวังสำหรับชัชชาติ 2 หรือผู้ว่าคนถัดไป”

ในแง่ของโจทย์แห่งอนาคตของเมืองกรุงเทพฯ อภิวัฒน์มองว่าแต่เดิมนโยบายหลักที่ผู้สมัครฯ ขายให้คนเมืองคือการแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่รอบนี้มีความทันสมัยมากขึ้น รวมถึงสะท้อนความต้องการของคนในปัจจุบัน และสิ่งที่น่าสนใจของทีมชัชชาติคือ ‘สีเขียว’ ในความหมายของการใช้ EV (electric vehicle) และการเข้าถึงสวนสาธารณะ ซึ่งเป็นนโยบายมีตอบโจทย์ชนชั้นกลางอย่างมาก เป็น ‘เขียวดูดี’ แต่ไม่ใช่ ‘เขียวกินได้’ ที่ตอบโจทย์ชนชั้นล่าง ในอนาคต เรื่องของ ‘สีเขียว’ เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเกี่ยวข้องกับคำว่า green party และการเมืองของชนชั้นกลาง กรุงเทพฯ จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และเข้าถึงคนทุกชนชั้น 

“ตอนนี้สิ่งต่างๆ ที่เราต้องการจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเน้นสำหรับชนชั้นกลางเป็นหลัก แต่ในอนาคตถ้าจะยกนโยบายเขียวกินได้สำหรับชนชั้นล่างจะทำอย่างไร เพราะนี่เป็นการเชื่อมโจทย์หรือแพลตฟอร์มของชนชั้นกลางเข้ากับแพลตฟอร์มของคนที่ยังต้องดิ้นรนอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งการเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล”

ทั้งนี้ ปัญหาในอนาคตไกลๆ ของกรุงเทพฯ คือการกระจุกตัว ซึ่งไม่ใช่ประเด็นของความแออัด หรือจำนวนของประชากร แต่เป็นประเด็นของความสามารถในการบริหารจัดการเมืองกับขนาดของเมือง รวมถึงความสามารถในการบริการจัดการของภาครัฐและเอกชนที่อาจไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนเมือง 

“ถ้ามองเป็นกราฟก็คือเมืองสูงขึ้น แต่ความสามารถในการจัดการคงที่ gap ยิ่งเพิ่มขึ้น ซึ่ง gap ที่เพิ่มขึ้นคือ ความเสี่ยงเชิงระบบที่น่ากลัวและใหญ่มากของประเทศไทยที่อาจทำให้ไม่สามารถรับมือกับสภาพภูมิอากาศได้ เช่น ปัญหาน้ำท่วม ตราบใดที่เราไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการได้เท่ากับความเร็วในการเติบโตของเมือง ยิ่งกรุงเทพฯ โตขึ้นไปเรื่อยๆ มากขึ้นเท่าไร ความเสี่ยงเชิงระบบ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่มากระจุกตัวกันอยู่ก็จะเป็นปัญหา เราจึงต้องกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่นอื่นของประเทศไทย” อภิวัฒน์กล่าว

เพื่อไทย-ก้าวไกล: 2 ขั้วอำนาจสำคัญในสนามการเลือกตั้งใหญ่

จากการศึกษาผลคะแนนการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการบริหาร workpointTODAY ในฐานะคนทำสื่อที่ติดตามการเมืองมาโดยตลอด มองว่าการเมืองการปกครองของประเทศไทยในช่วง 10 ที่ผ่านมาผิดเพี้ยนไปมาก ทั้งกฎกติกาการเลือกตั้งต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 อย่างไรก็ดี เนื่องจากพื้นฐานของคนไทยมีความเป็นอนุรักษนิยมสูงมาก ชัชชาติซึ่งเป็นคนที่มีคาแรกเตอร์พิเศษ รวมถึงมีคุณสมบัติและคุณค่าต่างๆ ที่ฝ่ายอนุรักษนิยมชื่นชอบอย่างมาก มีคุณสมบัติที่ทุกคนคาดหวังจากผู้นำครบถ้วน จึงสามารถเรียกคะแนนจากแต่ละฝ่ายจนได้รับคะแนนอย่างถล่มทลาย 

“บุคลิกแบบนี้จะโผล่มาสิบปีครั้ง อย่างเช่นคุณทักษิณ ถัดมาก็คุณอภิสิทธิ์ คุณธนาธร แล้วก็มาเป็นคุณชัชชาติ เอาจริงๆ ถ้าศึกษาพื้นเพ ประวัติ ฐานความคิดและวิธีการทำงานของอาจารย์ชัชชาติ นี่เป็นแบบอย่างของอนุรักษนิยมด้วยซ้ำ แต่ประเด็นคือการเมืองไทยผิดเพี้ยนเยอะมาก จนทำให้คนที่ควรจะเป็นแบบอย่างของอนุรักษนิยมถูกถีบมาอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย”

“ชวนคิดอีกฝั่งหนึ่งคือพรรคอนาคตใหม่หรือก้าวไกล เพราะเป็นตัวชี้วัดดัชนีได้ ถ้ายึด ส.ก. เป็นหลัก ก้าวไกลได้คะแนน 20% เทียบกับอนาคตใหม่ที่ได้ 26% คะแนนก็หายไป 6% ตรงนี้วิเคราะห์ว่ามาจาก 3 ส่วน อันแรกคือคะแนนของไทยรักษาชาติที่ยืมมา สองคือแม่เหล็กของพรรคหายไป ได้แก่ คุณธนาธร คุณปิยบุตร คุณพรรณิการ์ และสาม ผมประเมินว่าพรรคก้าวไกลอยู่กับที่นานเกินไป ในขณะที่เพื่อไทยเริ่มทำโซเชียลมีเดียและสื่อต่างๆ แซงหน้าก้าวไกลได้แล้ว ยังไม่นับคุณชัชชาติที่ปิดได้ทุกรูจริงๆ มาครบทุกแพ็กเกจ”

ยิ่งไปกว่านั้น นภพัฒน์จักษ์กล่าวว่าโจทย์สำคัญของพรรคก้าวไกลคือจุดยืนของพรรคที่ต้องการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งนับเป็นโชคดีของพรรคที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้คนมองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างและให้ความสนใจมากขึ้น ทว่าโชคร้ายที่ตามมาคือเศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่มากเสียจนคนต้องการการช่วยเหลือเรื่องของปากท้องแบบทันทีทันใดมากกว่ารอคอยการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ใช้เวลานานและไม่รู้จะสำเร็จเมื่อไร ปัญหาตรงนี้จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ก้าวไกลต้องกลับไปคิดให้ถี่ถ้วน

“หลายคนต้องการการช่วยเหลือวันนี้ ปัญหาของก้าวไกลคือคุณจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง รัฐสวัสดิการ กฎหมายของกลุ่ม LGBT กว่าจะสำเร็จก็อีก 5 – 10 ปี ทำให้คนจำนวนมากที่ต้องการการแก้ปัญหาวันนี้ แล้วพรุ่งนี้ตื่นมาเขาจะทำอย่างไร ปัญหาตรงนี้จึงไปตอบโจทย์ฝั่งเพื่อไทยมากกว่า นี่คือโจทย์ที่ก้าวไกลต้องคิดให้หนักว่าจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างไร และพรุ่งนี้ประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้เลือกเรา เรามีอะไรเสนอให้เขา”

“เลือกตั้งผู้ว่าฯ รอบนี้ก้าวไกลตีตลาดคนจนเมือง ซึ่งอาจไม่ถูกจริตชนชั้นกลาง แต่ต้องไม่ลืมว่าคนที่แชร์กันในโซเชียลมีเดียก็คือชนชั้นกลาง และอนาคตใหม่ก็เกิดจากชนชั้นกลาง ในเรื่องของการสื่อสารก้าวไกลต้องไปตีโจทย์ให้แตก”

นอกจากนี้ แม้ว่าการเลือกตั้งรอบนี้จะมีกิมมิกของสื่อออนไลน์เยอะมาก เช่น คลิปที่อัศวิน ขวัญเมืองเต้นในแอปฯ TikTok หรือเกมโชว์ต่างๆ แต่นภพัฒน์จักษ์มองว่าคอนเทนต์ออนไลน์เหล่านี้ไม่ได้มาแย่งพื้นที่ของแกนหลักทางการเมืองแต่อย่างใด แต่เป็นเครื่องมือดึงความสนใจจากคนในแพลตฟอร์มต่างๆ ก่อนจะนำผู้ชมเข้าไปสู่แก่นสารทางการเมืองของการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างแท้จริง ทั้งนโยบายของผู้ลงสมัครหรือการดีเบตต่างๆ 

“ลักษณะการทำงานของสื่อยุคนี้คือเราต้องมีเหยื่อไปล่อให้คนเข้ามาสนใจ ก่อนจะเข้าไปโฟกัสแก่นสารของมันจริงๆ ผมมองว่าไม่เป็นปัญหาเลยที่สื่อจะแข่งกันทำคอนเทนต์ เช่น workpointTODAY ทำเกมโชว์ คุณจอมขวัญเล่น role play ยิ่งถ้าศึกษาอัลกอริทึมจริงๆ ของยูทูบจะเข้าใจว่าถ้าคุณคลิกไปวิดีโอหนึ่งของช่องใดช่องหนึ่ง มันจะเสิร์ฟวิดีโอต่อมาให้คุณเอง แปลว่าฝั่งคนทำสื่อ ถ้าทำอย่างฉลาดก็ควรจะมีสักคลิปที่ดึงให้คนเข้าไปคลิกดูเยอะๆ หลังจากนั้นอัลกอริทึมก็จะเสิร์ฟตัวนโยบาย ตัว hard talk เข้าไปเอง

“อย่างที่ workpointTODAY ทำ เราก็มีคลิปเต้น คลิปหาเสียง พอล่อให้คนได้ดูคลิปแรกก็จะมีโอกาสมากกว่าที่เขาจะไปดูดีเบต ไปดูตัวนโยบาย นี่คือธรรมชาติของสื่อออนไลน์ที่เราก็ต้องแลกกับการยอมให้มีบางคลิปที่อาจจะวาไรตี้บ้าง ซึ่งดีด้วยซ้ำที่เราแข่งกันผลิตงานที่สร้างสรรค์”

เรียกได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ สื่อออนไลน์มีบทบาทสำคัญมาก และผู้สมัครหลายคนก็พยายามแข่งกันในทุกแพลตฟอร์มเท่าที่ทำได้ นภพัฒน์จักษ์มองภาพปรากฏการณ์นี้ว่าสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือคำว่า democratize กับคำว่า decentralized จากเดิมที่สื่อออนไลน์จะรวมกันอยู่แค่ในโทรทัศน์ไม่กี่ช่องหรือหนังสือพิมพ์ไม่กี่เจ้า แต่ตอนนี้ประชาชนธรรมดาทั่วไปสามารถผลิตสื่อได้เอง โดยเฉพาะในแอปพลิเคชัน TikTok ที่เข้าถึงผู้คนได้แทบทุกกลุ่ม ทั้งยังทำให้ผู้สมัครหลายคนรู้จักปรับตัวมาใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น

“สำหรับผม ออนไลน์กับออฟไลฟ์เชื่อมกันหมดแล้ว ชาวบ้านที่รายได้ต่ำที่สุดเขาอาจจะไม่ได้ดูรายการที่ยาวมาก แต่เขาก็จะได้ดูคลิป 1 นาทีเวลาที่ไถ TikTok ก็ได้ เพราะตอนที่เข้าไปดูเขาก็รู้สึกว่ามันบันเทิง แล้วพอมีคำว่า democratize ทุกอย่างก็จะ customize ไปเอง ถ้าชาวบ้านคนนั้นชอบคลิปเต้น คลิปที่ทีมของผมไปชวนคุณอัศวินเต้นก็อาจจะไปอยู่ในฟีดเขาก็ได้”

“สื่อออนไลน์สำคัญมาก เอาแค่ว่าคนที่ชนะแบบแลนด์สไลด์มีป้ายหาเสียงน้อยที่สุด สิ่งนี้ก็เป็นคำตอบในตัวมันเอง”

อย่างไรก็ตาม นภพัฒน์จักษ์กล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้คือมีการจัดเวทีดีเบตมากเกินไป สืบเนื่องมาจากประเด็น 3 ประการ 

ประการแรก ไม่มีกฎของ กกต. กำหนดไว้ว่าสามารถจัดดีเบตได้สูงสุดกี่ครั้ง ซึ่งมองว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าควรจะกำหนดกฎกติกาการดีเบตให้ชัดเจน เพื่อให้การทำงานเป็นระบบมากขึ้น

ประการที่สอง เวลาจัดการดีเบตมักจะมีผู้สมัครที่ไม่มาตามนัด จึงทำให้จัดดีเบตออกมาไม่สนุกเท่าที่ควร 

ประการที่สาม ผู้สมัครบางคนลงสมัครอิสระ ทำให้ต้องดีเบตคนเดียวแข่งกับผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมือง 

ในฐานะคนทำงานสื่อ นภพัฒน์จักษ์รู้สึกว่าการทำงานในการเลือกตั้งรอบนี้เป็นระบบระเบียบดี ผู้สมัครทุกคนให้ความร่วมมือกับสื่อดีในการตอบคำถามต่างๆ แตกต่างจากนักการเมืองสมัยก่อนที่ไม่ให้ความร่วมมือกับสื่อเท่าที่ควร มักจะตอบไม่ตรงคำถาม ซึ่งปัญหานี้ไม่มีในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ในแง่หนึ่งก็มองว่าบรรยากาศในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็น ‘จริตคนกรุงเทพฯ’ ที่นิยมผู้นำวางตัวดี พึ่งพาอาศัยได้ 

“เป็นมติเอกฉันท์ว่าคนต้องการการเปลี่ยนแปลง คีย์เวิร์ดอีกคำหนึ่งก็คงจะเป็น ‘มันมีหวัง’ ทั้งคนที่ไปใช้สิทธิใช้เสียง บรรยากาศที่เป็น positive campaign น้อยมากที่จะมีการว่าร้ายกัน ราวกับว่าใครที่เริ่มว่าร้ายคนอื่นก่อนจะเป็นฝ่ายแพ้ จนบางทีผมก็คิดว่ามันโรแมนติกเกินไปหรือเปล่าด้วยซ้ำ ถึงขั้นมีการทำคำคมสร้างแรงบันดาลใจแล้ว”

นภพัฒน์จักษ์เสริมว่าสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า หากยึดจากผลของ ส.ก. สองพรรคใหญ่สุดในกรุงเทพฯ คือเพื่อไทยกับก้าวไกล ต้องรอดูว่าต่อไปทั้งสองพรรคจะส่งใครลงสมัครนายกรัฐมนตรี การขยายพรรคจะดึงคนกลับมาได้มากน้อยแค่ไหน และจะได้หรือจะเสียฐานเสียงที่ไหนไป ความพอดีของพรรคคือโจทย์สำคัญสำหรับการเลือกตั้งสนามใหญ่ครั้งหน้า

“เพื่อไทยก็ต้องดู 2 -3 ดัชนี อย่างแรกคือแคนดิเดต สมมติส่งคุณแพทองธารมาก็ต้องยอมรับว่าต่างจากคุณชัชชาติเยอะมาก ปัจจัยฐานคะแนนจากคุณชัชชาติก็จะเสียไป แต่อาจจะได้คะแนนจากภาคเหนือและภาคอีสานที่รักคุณทักษิณมากมาแทน ก็ต้องชั่งตวงวัดเอาเอง ข้อสองคือการขยายบ้านของพรรคเพื่อไทยจะดึงคนกลับมาได้มากน้อยแค่ไหน อย่างที่เกิดขึ้นกับคุณบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ พอไปเอาคนนี้กลับมาบ้าน ปรากฏว่าคนนี้อาจจะได้ฐานเสียงจากภาคอีสาน แต่แฟนคลับกลุ่มคนรุ่นใหม่ในเมืองก็ไม่เอาอีก กลายเป็นสองนคราประชาธิปไตยเวอร์ชัน 2022 พรรคเพื่อไทยก็คงจะต้องออกแบบแผนการสื่อสารให้ดี” นภพัฒน์จักษ์ กล่าวสรุป

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save