fbpx

คำแห่งปี 2022 บันทึกประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัย

เมื่อถึงช่วงสิ้นปี ในต่างประเทศก็จะมีสำนักต่างๆ ออกมาประกาศผลการคัดเลือก ‘คำแห่งปี (Word of the Year)’ กันเป็นเรื่องปกติ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นค่ายพจนานุกรมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นพจนานุกรมฉบับออกซฟอร์ด, เคมบริดจ์, เมอร์เรียม–เว็บสเตอร์ (Merriam-Webster) หรือคอลลินส์ (Collins Dictionary) ฯลฯ 

หรืออาจมี ‘ขาใหญ่’ ผู้ทรงอิทธิพลบนอินเทอร์เน็ตมาร่วมแจมด้วย เช่น Google Zeitgeist ที่จัดคำแห่งปีเช่นกัน โดยตามดูสถิติการค้นหาและข้อมูลที่สร้างขึ้นในช่วงเวลา 1 ปี ซึ่งก็สร้างความฮือฮาได้ตลอดทุกปี แต่เสียดายที่เลิกทำไปแล้วตั้งแต่ 2007 พวกเขาหันมาทำ Google Trends แทน[1]

หากมองในแง่หนึ่ง ‘คำแห่งปี’ ไม่ได้เป็นเรื่องที่นักภาษาศาสตร์เท่านั้นที่สนใจ เพราะคำที่โดดเด่นขึ้นในแต่ละปี มีคนใช้เยอะหรือค้นหาความหมายกันมาก นั่นย่อมแสดงว่าเป็นคำที่ส่งผลกระทบในเชิงสังคมอย่างกว้างขวาง โดยอาจเป็นคำในหมวดเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ การเมือง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ ก็ได้ทั้งนั้น 

บัญชีคำแห่งปีจึงเป็นเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัยแบบหนึ่งทีเดียว!

นอกจากเลือกคำที่ใช้กันบ่อยขึ้นมาเป็นคำแห่งปีแล้ว บางรายยังใช้วิธีโหวต โดยมีทั้งที่ให้คนทางบ้านโหวต และที่ใช้วิธีตั้งกรรมการขึ้นเพื่อคัดเลือกคำโดยเฉพาะอีกต่างหาก 

ลองมาดูคำแห่งปี 2022 ที่สำนักต่างๆ สรุปกันไว้นะครับ โดยขอเริ่มจากพจนานุกรมออกซฟอร์ดครับ[2]

สำนักนี้เพิ่งเปิดให้มีการโหวตโดยสาธารณชนเป็นปีแรก ซึ่งก็มีคนเข้ามาเสนอคำและลงคะแนนอย่างล้นหลามถึงมากกว่า 300,000 คน ตามประสาพจนานุกรมที่ดี ก็ต้องนิยามทุกสิ่งอย่างเพื่อให้เข้าใจตรงกันมากที่สุด The Oxford Word of the Year จึงมีข้อกำหนดว่าต้องเป็น “คำที่สะท้อนให้เห็นถึงความคิดร่วม (ethos) อารมณ์ หรือสิ่งที่เข้ามาครอบงำความคิดของคนในสังคมในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยต้องเป็นสิ่งที่มีศักยภาพและยังคงส่งผลกระทบต่อสังคมในเชิงวัฒนธรรมต่อไป” 

ตัวอย่างในปีที่ผ่านๆ มาได้แก่ คำว่า vax (2021) climate emergency (2019) และ selfie (2013) 

ส่วนปี 2022 คำที่ได้รับเลือกคือ Goblin mode 

หลายคนคงงงว่ามันคืออะไรกันแน่ และคงมีคนไทยจำนวนมากไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย คำว่า Goblin mode เป็นสแลง (slang) ใช้เรียกพฤติกรรมการทำตัวขี้เกียจ เลอะเทอะ ไม่เอาไหน หรือเห็นแก่ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำตัวแบบที่ปฏิเสธธรรมเนียมปฏิบัติหรือความคาดหวังของสังคม โดยคำว่า Goblin หมายถึง ผีหรือปีศาจ   

แม้ว่าคำนี้จะเริ่มมีคนนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2009 แต่ก็มีเริ่มเป็นไวรัลบนโซเชียลมีเดียในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ก่อนลามไปยังหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ ซึ่งเป็นไปได้ว่าเกิดผลกระทบมาจากการล็อกดาวน์จากโควิดเป็นเวลานาน จึงทำให้คนรู้สึกอึดอัดและเก็บกดมาก จนไม่อยากกลับสู่ ‘ชีวิตปกติ’ แบบเดิมๆ 

ส่วนคำที่ได้ที่ 2 และ 3 คือ metaverse และ #IStandWith ตามลำดับ

คำว่า metaverse หรือที่ราชบัณฑิตยสภาบัญญัติศัพท์เป็น ‘จักรวาลนฤมิต’ (อาจเขียนทับศัพท์ว่า ‘เมตาเวิร์ส’ ได้เช่นกัน) ก็เป็นคำศัพท์ที่ฮือฮาในหมู่คนไทยเช่นกัน สืบเสาะการนำคำนี้มาใช้ในภาษาอังกฤษครั้งแรกได้ไกลถึงปี 1992 ในนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องสโนว์ แคลช (Snow Crash) โดยนีล สตีเฟนสัน (Neal Stephenson) 

แต่มาดังโครมครามเมื่อเฟซบุ๊กประกาศว่า จะเอาดีด้านเมตาเวิร์สในเดือนตุลาคม 2021 ถึงกับเปลี่ยนชื่อบริษัทแม่ใหม่เป็น ‘เมตา (Meta)’ แต่ดูผลประกอบการไม่ดีสักเท่าไหร่ เพราะลงทุนไปเยอะ แต่ยังไม่ค่อยฮิต คนยังไม่นิยมใช้กันนัก 

นอกจากคำว่า metaverse แล้ว ยังมีชุดคำที่พ่วงมากับมันอีกมาก ไม่ว่าจะเป็น Web3, virtual, NFT, crypto, build (ในความหมายว่าสร้างเมตาเวิร์ส) และ vision 

ส่วนคำว่า #IStandWith มาดังโครมครามจากสถานการณ์ทางการเมืองการทหารระหว่างประเทศ เมื่อรัสเซียส่งกองกำลังพิเศษรุกเข้าไปในยูเครน และคนจำนวนมากแสดงความไม่เห็นด้วยกับปฏิบัติการทางทหารดังกล่าว จึงพิมพ์ #IStandWithUkraine และ #StandWithUkraine กันบนโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง 

ในทำนองเดียวกัน พจนานุกรมเมอร์เรียม–เว็บสเตอร์ (Merriam–Webster Dictionary) ก็มีคำศัพท์ที่สืบเนื่องกับรัสเซียและยูเครน คือคำว่า Oligarch ที่มาจาก Oligarchy (คณาธิปไตย) หรือการปกครองโดยคนหมู่คณะหนึ่ง เพราะมองว่ารัสเซียปกครองโดยคนกลุ่มเดียวที่มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับประธานาธิบดี วิธีการแทกแซงให้หยุดการโจมตียูเครนคือ ต้องอาศัยการแทรกแซงกับคนในกลุ่มนี้และคนในครอบครัวของพวกเขา[3] ซึ่งก็กระจายตัวอยู่ในประเทศตะวันตกหลายประเทศ 

นอกจากนี้ เมอร์เรียม–เว็บสเตอร์ยังนำเสนอคำเกี่ยวเนื่องที่มีคนใช้มากขึ้นอย่างชัดเจนได้แก่ sanction (การแทรกแซง) Armageddon (วันสิ้นโลก) และ conscript (ทหารเกณฑ์)

แต่คำที่สำนักนี้ยกให้เป็นคำศัพท์แห่งปีได้แก่คำว่า gaslighting 

นิยามของคำว่า gaslighting คือ “การทำให้ใครก็ตามเข้าใจผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อประโยชน์บางอย่างของตัวเอง” อาจจะถือว่าเป็นคำศัพท์ของยุคสมัย เพราะเราอยู่ในยุคที่ข่าวเท็จ ข่าวลวง ข่าวที่เชื่อถือไม่ได้ ข่าวที่ให้ข้อมูลผิดๆ มีอยู่เป็นจำนวนมากมายและแพร่ไปได้เร็วและไกลมาก บางครั้งคนเชื่อถือมากกว่าข่าวที่มีข้อมูลถูกต้องเสียอีก เพราะสอดคล้องกับ ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ ที่คนทั่วไปคิดอยากให้เป็นหรือเชื่อว่าต้องมีเบื้องหน้าเบื้องหลังบางอย่างที่ซับซ้อนอยู่ 

คำนี้สืบย้อนกลับไปถึงการใช้คำในการแสดงปี 1938 ซึ่งต่อมาก็นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อีกด้วย โดยมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับชายผู้หนึ่งที่ต้องการทำให้ภรรยาของตนเองเชื่อว่า ตัวเองเป็นบ้า โดยอาศัยการหรี่ไฟในบ้านให้ทึมลง ซึ่งในยุคนั้นใช้ไฟตะเกียงจากแก๊ส แต่ยืนกรานกับภรรยาว่า ไฟยังสว่างเป็นปกติและเธอไม่สามารถเชื่อถือการรับรู้ของตัวเองได้ 

ปัจจุบันคำว่า gaslighting มีความหมายที่ยืดขยายจนครอบคลุมเรื่องข่าวปลอมหรือเฟกนิวส์ (fake news) โปรแกรมสร้างวิดีโอปลอม เช่น ดีปเฟก (deepfake) และแม้แต่ AI แน่นอนว่าครอบคลุมกับเรื่องการเมืองและนักการเมืองด้วย ซึ่งแตกต่างจากคำว่า โกหก (lying) ที่มักจะใช้ในกรณีคนแต่ละคนโกหกหลอกลวงกัน คำว่า ฉ้อฉล (fraud) ที่มักใช้กับบริษัทหรือหน่วยงาน 

ในภาษาอังกฤษยังมีคำที่แสดงถึงความไม่จริงและหลอกลวงอีกมาก แต่จะหนักไปทางภาษาศาสตร์เกินไป เลยจะขอแค่ยกตัวอย่างส่วนหนึ่งไว้ในที่นี้ แต่จะไม่ลงในรายละเอียด อาทิ falsehood, untruth, deceitfulness, prevarication, dissemble, fib และ disinformation ฯลฯ

ส่วนสำนักพจนานุกรมสุดท้าย เนื่องจากลงศัพท์แห่งปีของพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดไว้ จะไม่ลงของพจนานุกรมเคมบริดจ์ด้วยก็กระไรอยู่ สำนักนี้ยกให้คำว่า homer ครับ โดยมาจากคำว่า home run นั่นเอง[4]

ประเด็นสุดท้ายที่จะขอตั้งเป็นข้อสังเกตไว้คือ ศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดใหญ่ยังคงปรากฏอยู่อย่างประปรายนะครับ เช่น พจนานุกรมเมอร์เรียม–เว็บสเตอร์เก็บคำว่า Omicron (โอมิครอน) ที่เป็นสายพันธุ์กลาย (variant) ของไวรัสที่ทำให้เป็นโควิด ไว้ในกลุ่มคำที่ค้นกันเยอะ เช่นเดียวกับคำว่า endemic (โรคประจำถิ่น) ในทำนองเดียวกัน พจนานุกรมแมกควอรี (Macquarie Dictionary) ก็เก็บคำว่า spicy cough (ไออย่างหนักหน่วง) ไว้[5]

ขณะที่พจนานุกรมคอลลินส์ (Collins Dictionary) ยกคำว่า permacrisis ขึ้นมาเป็นคำแห่งปี[6] เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงช่วงเวลาแห่งความไม่มั่นคงและไม่ปลอดภัย จากทั้งโรคภัย การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สงคราม ภาวะเศรษฐกิจ ฯลฯ   

คำว่า perma- แปลว่า ถาวร เช่น permafrost คือ คำที่นักวิทยาศาสตร์ใช้เรียกชั้นดินที่เยือกแข็งทั้งปีทั้งชาติ ไม่เคยหลอมละลายเลย เป็นแหล่งเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์โลกในรูปน้ำแข็งได้เป็นอย่างดี แต่น่าเสียดายว่า permafrost จำนวนหนึ่งเริ่ม ‘ละลาย’ บ้างแล้วในรอบหลายปีที่ผ่านมา ทั้งส่วนที่อยู่ในขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้  

เราจึงไม่ควรดำรงตนอยู่ในความประมาท แต่ก็ต้องไม่ต้องเครียดกับทุกเรื่องรอบตัวจนเกินไป เพราะมันเกิดขึ้นไล่เรียงมาอย่างไม่หยุดหย่อน และ permafrost อีกจำนวนมากก็น่าจะอยู่กับเราอีกนานไม่ไปไหนง่ายๆ 

 นี่เองอาจจะเป็นประโยชน์ที่แท้จริงที่ได้จากการหันกลับมาสรุป ‘คำแห่งปี’ กันในแต่ละปี

References
1 https://th.go-travels.com/20368-google-zeitgeist-3481903-6866830
2 https://languages.oup.com/word-of-the-year/2022/
3 https://www.merriam-webster.com/words-at-play/word-of-the-year
4 https://dictionary.cambridge.org/editorial/woty
5 https://www.macquariedictionary.com.au/resources/view/word/of/the/year/2022
6 https://www.collinsdictionary.com/woty

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save