fbpx
การเมืองภาคประชาชน 2020 : ปีแห่งการทำลายเพดาน

การเมืองภาคประชาชน 2020 : ปีแห่งการทำลายเพดาน

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

2020 กลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์มนุษย์จากโรคระบาดที่แพร่ไปทั่วโลก สำหรับประเทศไทยนอกจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากโรคระบาดแล้ว เหตุการณ์สำคัญอีกแง่มุมหนึ่งที่จะทำให้ปี 2020 ถูกจดจำในประวัติศาสตร์ไทยคือความเคลื่อนไหวในการเมืองภาคประชาชน นับแต่การประท้วงหลังคำตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ที่เป็นชนวนให้เกิดการประท้วงในหลายสถานศึกษา ก่อนเงียบลงเพราะมาตรการควบคุมโรคระบาด และขยายไปสู่กระแสความไม่พอใจทางออนไลน์บ่อยครั้งขึ้น ผ่านหลายเหตุการณ์ที่ทำให้ความไม่พอใจต่อรัฐบาลขยายวงกว้าง เช่น การหายตัวไปของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยในประเทศกัมพูชา การควบคุมตัวทิวากร วิถีตน การจับกุมผู้ใช้ทวิตเตอร์ ‘นิรนาม_’ เป็นต้น

ช่วงครึ่งปีหลัง ความไม่พอใจต่อรัฐบาลทวีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการคุกคามและจับกุมผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง ความอยุติธรรมที่ปรากฏผ่านการพ้นความผิดหลายกรณีของคณะรัฐบาลและเครือข่าย ผสานกับความไม่พอใจในมาตรการจัดการโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ การประท้วงในไทยระลอกใหม่เริ่มต้นในช่วงเวลาที่หลายประเทศทั่วโลกเกิดการประท้วง ทั้งการประท้วงต่อต้านการเหยียดผิวและการประท้วงการรับมือโรคระบาดของรัฐบาล

การต่อสู้บนถนนของประชาชนไทยชัดเจนขึ้นหลังวันที่ 18 กรกฎาคม เมื่อเกิด 3 ข้อเรียกร้องที่นำโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก คือ ให้ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตามมาด้วยการประท้วงที่ลุกลามไปทั่วประเทศ ขยายจากแวดวงนิสิตนักศึกษาคนรุ่นใหม่ออกไปนอกรั้วสถานศึกษา เกิดการรวมตัวของประชาชนทั่วไปในทุกช่วงวัย

ทว่า การประท้วงกลับไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล จนวันที่ 10 สิงหาคม แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเสนอ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อันสั่นสะเทือนทุกภาคส่วน เนื่องจากเป็นข้อเสนอที่พูดต่อสาธารณะชัดเจนว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาทางการเมือง ทำให้สังคมต้องนำเรื่องนี้มาถกเถียงกันในที่สาธารณะมากขึ้น ไปจนถึงการพูดคุยเรื่องความเป็นไปได้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1 และ 2 รวมถึงการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112

101 ชวนย้อนมองการเมืองภาคประชาชนในปี 2020 ที่ผ่านมา ผ่านผลงานที่เผยแพร่ทาง The101.world ทั้งบทสัมภาษณ์ คลิปวิดีโอ บทความ สารคดี รายการสด ที่มุ่งทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อันเป็นทางแยกสำคัญทางการเมืองไทย เพื่อมองไปยังปี 2021 และอนาคตหลังจากนี้ว่าจะสร้างผลสะเทือนอย่างไรต่อไป

 

การตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ในการประท้วงอันหลากหลาย

 

ความโดดเด่นหนึ่งของการประท้วงปี 2020 ในช่วงเริ่มต้นคือการมีสัดส่วนคนรุ่นใหม่และเพศหลากหลายจำนวนมากอย่างเด่นชัด จนถึงมีการจัดประท้วงโดยกลุ่ม LGBT หลายครั้ง

วาดดาว-ชุมาพร แต่งเกลี้ยง นักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศและโฆษกพรรคสามัญชน มองว่า การประท้วงที่มีผู้หญิงและเพศหลากหลายออกมาจำนวนมาก เป็นการสะท้อนรูปแบบของการกดขี่ในประเทศไทยที่ผู้หญิงและเพศหลากหลายจำนวนมากอยู่ภายใต้การกดขี่ที่ทับซ้อนหลายมิติ ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องลุกขึ้นมาส่งเสียงผ่านการประท้วง โดยปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นควบคู่กับการประท้วงของผู้หญิงทั่วโลกที่มีมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

อีกลักษณะของการประท้วงที่เกิดขึ้นมีความโดดเด่นอยู่ที่การไม่มีแกนนำและองค์กรในการนำขบวนชัดเจน จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิจัยประจำสถาบัน German Institute of Global and Area Studies (GIGA) และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้สัมภาษณ์ 101 ในช่วงเริ่มต้นการประท้วงว่า การประท้วงครั้งนี้มีลักษณะ networked protest มีการแตกออกเป็นดอกเห็ด ใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวในต่างประเทศตั้งแต่ช่วงปี 2010 เป็นต้นมา เป็นการเคลื่อนไหวแบบแนวระนาบ อาศัยเครือข่ายที่มีอยู่เดิมเพื่อกระจายกลุ่มการประท้วงต่อๆ ไปในระดับประเทศ ขณะเดียวกันก็มีคนมาเข้าร่วมการประท้วงจากการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อระดมพลังสมองและพลังคน

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองเห็นจุดเด่นของม็อบคนรุ่นใหม่ว่า ในสายตาคนรุ่นใหม่แล้ว พวกเขามองว่าแกนนำเป็นเพียงคนริเริ่มกลุ่มแรกในพื้นที่สาธารณะและเป็นเพียงคนปราศรัยหลัก แต่แกนนำไม่ใช่ผู้นำของเขา

“คนรุ่นใหม่พอใจที่จะจัดการชุมนุมด้วยตัวเองมากกว่าการเคลื่อนไหวที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบระเบียบโดยแกนนำด้วยซ้ำ การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นสร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้ที่เข้าร่วมขบวนการ เพราะมันเป็นขบวนการที่เติบโตขึ้นท่ามกลางความเป็นปัจเจกบุคคลของพวกเขาเอง” กนกรัตน์กล่าว

ด้าน สายชล สัตยานุรักษ์ มองคนรุ่นใหม่ที่ออกมาประท้วงว่าพวกเขาตกอยู่ในสภาวะ ‘ทุกข์ทนทางอารมณ์ความรู้สึก’ เพราะถูกบังคับให้ทำตัวเป็น ‘เด็กดี’ ตามมาตรฐานทางอารมณ์ความรู้สึกเดิมที่อยู่ในกรอบ ‘ความเป็นไทย’

“พวกเขาประจักษ์ว่าระบบคุณค่าและความรู้แบบเดิมนั้นล้าสมัย ยิ่งไปเจอความรู้ชุดอื่นในโลกออนไลน์ที่ตอบโจทย์ในชีวิตมากกว่า ก็ยิ่งปฏิเสธความรู้ชุดเดิม อยากให้ปฏิรูปการศึกษา อยากมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสวงหาความรู้ คิดเอง เลือกเอง ตัดสินใจเอง อยากลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ถ้าต้องล้มเหลวพวกเขาก็อยากจะมีศักยภาพที่จะเรียนรู้ และลุกขึ้นมาใหม่อย่างคนที่พึ่งตัวเองได้ โดยมีเป้าหมายในชีวิตที่พวกเขาเลือกเอง ไม่ใช่การท่องจำเป้าหมายนามธรรมที่ ‘ดี’ หรือ ‘งาม’ หรือ ‘สูงส่ง’ ตามที่คนรุ่นเก่า ซึ่งมักจะแก่และอนุรักษนิยมอย่างสุดโต่ง พยายามบีบบังคับหรือกล่อมเกลาให้พวกเขาเชื่อ และลงโทษเมื่อพวกเขาเชื่อไม่ลง หรือตัดสินว่าพวกเขาเป็น ‘เด็กเลว’ อย่างที่เป็นอยู่” สายชลกล่าว

เพื่อหาคำตอบถึงการเกิดขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวครั้งนี้ 101 ได้ไปสำรวจเบื้องหลังวิธีคิด วิธีทำงาน ของขบวนการนักศึกษา ท่ามกลางคำครหาที่ว่า “ม็อบมีท่อน้ำเลี้ยง/เผด็จการม็อบ/ม็อบมีเบื้องหลัง/ต่างชาติแทรกแซงม็อบ/ม็อบชังชาติ/ม็อบล้มเจ้า” ซึ่งทำให้เห็นเบื้องหลังวิธีคิดจากแกนนำแต่ละกลุ่ม เช่นที่ ฟอร์ด – ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี ผู้ร่วมก่อตั้งคณะประชาชนปลดแอก และเลขาธิการกลุ่มเยาวชนปลดแอก บอกว่า “การมีคนหลากหลายเข้ามา ทำให้ขบวนการไม่ล้มง่ายๆ สมมติผมถูกสอยไป อั๋วถูกสอยไป แกนนำคนอื่นถูกสอยไป ขบวนการก็ไม่หยุด ไปต่อแน่นอน เพราะมีคนพร้อมจะทำตรงนี้เยอะมากๆ จนนับไม่ถ้วนเลย ทำให้รัฐงง รัฐไม่รู้จะจัดการอะไร รัฐหัวหมุน ทำได้แค่ปูพรมคุกคาม เพราะทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว นอกจากจะตอบสนองข้อเรียกร้องเรา ซึ่งเขาก็คงไม่ยอมง่ายๆ”

รวมถึงบทสัมภาษณ์แกนนำนักศึกษาคนอื่นๆ เช่น มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, อั๋ว-จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ และผู้คนที่ร่วมขบวนการ เช่น หน่วยซัพพอร์ตม็อบ, การ์ดอาชีวะ, ทราย เจริญปุระ ที่รับบทท่อน้ำเลี้ยงคนสำคัญ, คณพศ แย้มสงวนศักดิ์ นักเรียนที่เป็นผู้ฝังหมุดคณะราษฎร 2563

และบทสัมภาษณ์ผู้ที่ไม่ได้ร่วมอยู่ในขบวนการแต่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวครั้งนี้ อย่าง อดิศร จันทรสุข ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่รับบทบาทประกันตัวนักศึกษา และประสานการช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมุมมองจากเจ้าหน้าที่ พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 (บก.น.1) ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘นักเจรจาม็อบ’

น่าสังเกตว่าประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดบนเวทีการประท้วงนั้นมีความหลากหลายมาก ทำให้ผู้คนแต่ละกลุ่มได้สะท้อนเสียงของตัวเองและส่งต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มตนไปสู่สังคม ขบวนการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจึงมีพันธมิตรเข้าร่วมอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มแรงงาน, ข้าราชการปลดแอก, ทูตนอกแถว หรือกระทั่งตำรวจประชาธิปไตยที่เห็นการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วยอมรับว่าต้องมีการปฏิรูปตำรวจเพื่อให้สามารถทำหน้าที่รับใช้ประชาชนได้อย่างแท้จริง

ในเชิงพื้นที่นอกจากการประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วประเทศจะยืนยันข้อเรียกร้องหลักร่วมกับขบวนการในกรุงเทพฯ แล้ว แต่ละพื้นที่ยังมีการสะท้อนความต้องการของตัวเอง เช่นที่ 101 ได้คุยกับ เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และผู้อำนวยการปาตานีฟอรั่ม ที่มองว่าข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้คือ 1.ไม่เอาความรุนแรงจากการก่อเหตุความไม่สงบ และ 2.ไม่เอาทหารที่เป็นเผด็จการแบบปัจจุบัน

“เด็กรุ่นใหม่ผูกโยงตัวเองกับความเป็นสากลมากขึ้น ยอมรับความแตกต่างทางเพศเยอะขึ้น…ขบวนการติดอาวุธเป็นเพียงกลุ่มๆ หนึ่งเท่านั้นที่มีความคิดความฝันในเรื่องเอกราช ซึ่งยังมีความย้อนแย้งทั้งวิธีการและข้อเสนอพอสมควร แต่ในสังคมประชาธิปไตยยุคสมัยใหม่ ความรุนแรงมันถูกปฏิเสธจากคนรุ่นใหม่ ถูกปฏิเสธจากคนที่เขาเชื่อในการไม่ใช้อาวุธสู้” เอกรินทร์กล่าว

ส่วนพื้นที่ภาคเหนือ เพ็ญสุภา สุขคตะ อาจารย์พิเศษ สาขาวิชาสื่อ ศิลปะ และการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชวนมองการประท้วงผ่านวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น การปรากฏตัวของสะตวง คำเมือง ข้อความเขียนด้วยอักษรธรรมล้านนา และตุงสามหางที่ปรากฏในการชุมนุมทั่วภาคเหนือ ซึ่งเพ็ญสุภามองว่า มีนัยของการทวงคืนอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของล้านนาว่าครั้งหนึ่งล้านนาเคยเป็นอาณาจักรหรือรัฐอิสระ หลังมีความพยายามทำลายอัตลักษณ์ท้องถิ่นและปกครองแบบรวมศูนย์ที่กรุงเทพฯ

 

โซเชียลมีเดีย’ พื้นที่ใหม่ในการต่อสู้ของการเมืองภาคประชาชน

 

แม้ว่าโซเชียลมีเดียจะเข้ามามีบทบาทต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชนเป็นเวลานานแล้ว แต่ขบวนการภาคประชาชนปี 2020 ที่นำโดยคนรุ่นใหม่มีการใช้โซเชียลมีเดียเป็นส่วนหลักในการเคลื่อนไหวจนเป็นหนึ่งในยุทธวิธีในการต่อสู้กับภาครัฐ และเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ขณะที่การปิดกั้นช่องทางต่างๆ จากภาครัฐยังทำได้ยาก

เอม สินเพ็ง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ผู้ศึกษาความเคลื่อนไหวของการเมืองและสื่อใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มองว่า การใช้สื่อโซเชียลเป็นหลักในการประสานงานมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

“ข้อดีคือใครก็ได้เข้ามารับรู้ข่าวสาร สามารถกระจายข่าวได้เร็ว ลงมือทำได้เร็ว แต่ข้อเสียคือเวลาคนเข้ามาร่วมออกความเห็นเยอะ ขับเคลื่อนเยอะ อย่างไรก็ต้องมีคนคอยจัดระเบียบ ทำให้ไม่สามารถ crowdsource ทุกอย่างได้ นอกจากอาจจะใช้แอปพลิเคชันเข้ามาช่วย” เอมกล่าว

แม้การใช้สื่อโซเชียลอย่างเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์สามารถช่วยกระจายข่าวว่าจะเกิดการรวมตัวประท้วงที่ใดที่หนึ่งได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาอันสั้น ทั้งยังเข้าถึงคนได้จำนวนมาก แต่ในบทความของ จันจิรา สมบัติพูนศิริ ชี้ให้เห็นว่าการพึ่งสื่อโซเชียลมากไปก็ส่งผลทางลบได้เช่นกัน เช่น ผู้จัดกิจกรรมขาดประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับเครือข่ายที่หลากหลาย ขาดประสบการณ์ในการสื่อสาร ต่อรอง และเรียนรู้ที่จะจัดการความขัดแย้งภายในขบวนการเคลื่อนไหวโดยมิให้เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวร่วมกัน รวมถึงยังไม่สามารถก่อฐานของขบวนการเคลื่อนไหวให้มั่นคงและต่อสู้ในระยะยาวได้

นอกจากนี้ อัลกอริทึมยังช่วยคัดกรองให้กลุ่มคนที่เห็นคล้ายๆ กันให้มาอยู่ในวังวนเดียวกัน ทำให้นักกิจกรรมที่รับฟังความเห็นผ่านชุมชนโซเชียลฯ ของตัวเอง ไม่ได้พยายามสื่อสารกับคนอื่นที่คิดต่างจากขบวนการ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ขบวนการไม่อาจขยายเครือข่ายผู้สนับสนุนไปยังกลุ่มคนในสังคมที่หลากหลายได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลหรือระบอบที่ขบวนการต้องการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ดี โซเชียลมีเดียทำให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ๆ ในการเคลื่อนไหวการเมืองไทย โดยเฉพาะการใช้มีมและอารมณ์ขันในการยั่วล้อผู้มีอำนาจ

อาจินต์ ทองอยู่คง อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองการใช้มีมบนโลกออนไลน์ของคนรุ่นใหม่ว่า ประเด็นทางการเมืองบางประเด็นเป็นเรื่องอ่อนไหวหรือมีข้อห้ามบางอย่างทางกฎหมายหรือวัฒนธรรม เช่นการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ในพื้นที่สาธารณะที่ยังเป็นเรื่องต้องห้าม รวมทั้งยังมีกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่สร้างข้อจำกัดในการกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ แต่คนรุ่นใหม่สามารถใช้สัญญะของมีมพูดแทนได้

“มีมคือระบบสัญญะที่ผู้รับสารจำเป็นต้องมีความเข้าใจรหัสทางวัฒนธรรม มีมจึง ‘ซ่อน’ ความตรงไปตรงมาของการเสนอไอเดียทางการเมือง และค่อยๆ ช่วยดันเพดานเรื่องที่พูดได้ยากให้กลายเป็นเรื่องพูดได้ง่าย รวมทั้งพูดได้เป็นวงกว้างมากขึ้นอีกด้วย” อาจินต์กล่าว

อีกลักษณะหนึ่งของการใช้โซเชียลมีเดียในการเคลื่อนไหว คือป้องกันการคุกคามจากรัฐ บทความของ สุรัชนี ศรีใย  อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า เมื่อมีการจับกุมนักศึกษาและนักกิจกรรมก็จะไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก เพื่อให้คนจำนวนมากรับรู้ว่ารัฐกำลังคุกคามพวกเขาและทำให้รัฐต้องปฏิบัติการโดยระมัดระวังมากยิ่งขึ้น แต่ประสิทธิภาพของบทบาทในการสร้างแรงกดดันต่อรัฐเช่นนี้ก็ขึ้นอยู่กับระบอบการปกครองด้วย เพราะประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมักอ่อนไหวต่อแรงกดดันและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้เห็นต่างมากกว่าประเทศที่ปกครองโดยระบอบอื่นๆ

“เราไม่ได้ถูกปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยที่มีกลไกเชิงสถาบันที่สามารถควบคุมหรือคานอำนาจกับฝ่ายบริหารได้ หนำซ้ำการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ไม่ได้โปร่งใสเท่าที่ควรเสียด้วย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะยังพบเห็นการแทรกแซงของรัฐกับการดำเนินกิจกรรมของผู้เห็นต่างอยู่ แม้ว่าประเทศไทยจะมีอัตราผู้ใช้สื่อโซเชียลเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชียและของโลก” สุรัชนีระบุ

 

ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์: เพดานที่ถูกทำลาย

 

การพูดถึงพระราชอำนาจของผู้ประท้วงเริ่มต้นในวันที่ 3 สิงหาคม เมื่ออานนท์ นำภา นักกิจกรรมและทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขึ้นเวทีปราศรัยในม็อบ #เสกคาถาไล่คนที่คุณก็รู้ว่าใคร และพูดถึงการเพิ่มพระราชอำนาจในรัชกาลปัจจุบัน

อานนท์เคยให้สัมภาษณ์ 101 ถึงการปราศรัยครั้งนั้นว่า “ผมตั้งใจพูดด้วยความเคารพ เคารพต่อตัวเอง ต่อผู้ฟัง และต่อสถาบันฯ ไม่อย่างนั้นจะเป็นการซุกปัญหาไว้ใต้พรม เรื่องนี้ไม่มีทางแก้ได้ถ้าไม่พูดกันตรงๆ”

อานนท์เป็นทนายความที่มีโอกาสทำคดี 112 เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาเห็นปัญหานี้

“เรารู้ว่าบทบาทของสถาบันฯ ต่อการเมืองไทยมีเรื่องไหนที่ไม่ปกติบ้าง หลายเรื่องที่เรายังไม่พูดถึงก็เป็นเรื่องที่สังคมไทยรับรู้อยู่แล้ว แต่ผมพูดให้ชัดลงไปในบทบาทของรัชสมัยปัจจุบัน เช่น การที่พระองค์ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แต่ไปอยู่ที่เยอรมนีเสียส่วนใหญ่ ซึ่งส่งผลต่อการปกครองพอสมควร

“อย่างการขยายพระราชอำนาจโดยรัฐบาลทหาร ด้วยการออกกฎหมายแต่ละฉบับที่เปลี่ยนโฉมหน้าของสถาบันฯ ไป เช่น เรื่องการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เรื่องการโอนย้ายกำลังพลทหารส่วนหนึ่งซึ่งเป็นจำนวนมากด้วย ทำให้สถาบันฯ มีพระราชอำนาจกว้างขึ้นจนหลายคนคิดว่านี่เกือบจะเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซ่อนรูป” อานนท์กล่าว

การปราศรัยในวันนั้นของอานนท์ไม่ถูกพูดถึงผ่านสื่อกระแสหลักนัก เมื่อบรรยากาศในสังคมยังเห็นว่าเรื่องนี้มีลักษณะ ‘ต้องห้าม’ และมีกฎหมายต่างๆ ที่มุ่งเอาผิดเพื่อไม่ให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ นั่นเป็นเหตุที่ให้อานนท์ถูกดำเนินคดีและถูกจับเข้าเรือนจำในเวลาต่อมา

การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกหยิบขึ้นมาสู่สาธารณะมากขึ้นจากการจัดม็อบของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่มีข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

เพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์ หนึ่งในแกนนำบอกว่า คนไทยไม่ใช่ไม่รู้เรื่องสถาบันฯ ส่วนใหญ่เป็นความจริงที่ทุกคนรู้กันอยู่แล้ว แต่พวกเราแค่เอามาพูดบนเวที พวกเราแค่เป็นปากเป็นเสียงแต่ไม่ได้ชี้นำทางความคิด เพราะทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเองอยู่แล้ว

ในมุมมองของ ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมที่เคยต้องโทษจำคุกตามความผิดมาตรา 112 มองว่าการพูดเรื่องข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่ต้องทำในห้วงเวลานี้

“เราไม่สามารถรู้ได้จนกว่าจะพูดออกมา จึงจะรู้ว่าพร้อมหรือไม่พร้อม เราจะรู้ว่าเราทำได้หรือไม่ ต่อเมื่อเราลองทำดู ถ้าเราบอกว่าสังคมไม่พร้อมโดยที่เราไม่พูด มันก็ไม่มีทางพร้อม

“การที่ผมโดน 112 มันเป็นปัญหาจริงๆ มันเป็นความอยุติธรรมที่ฝังใจแต่เราไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ พอสังคมเริ่มพูดถึงปัญหาที่แท้จริง ผมคิดว่าเราก็ควรพูดถึง ไม่ควรมีใครโดนกฎหมายแบบนี้ ไม่ควรมีใครโดนทำแบบนี้อีกแล้ว” จตุภัทร์กล่าว

ต่อมาวันที่ 19 กันยายน แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดการประท้วงครั้งใหญ่ที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อรำลึกการรัฐประหาร 2549 ก่อนเคลื่อนไปยังท้องสนามหลวงเพื่อประกาศให้เป็น ‘สนามราษฎร’ อันเป็นการแย่งชิงพื้นที่เพื่อต่อสู้ทางอุดมการณ์

พริษฐ์ มองว่าการมีคนมาร่วมชุมนุมที่สนามหลวงเป็นหนึ่งในสัญญาณของการสนับสนุนข้อเรียกร้องของพวกเขา

“ในวันที่ 19 กันยายน คนต้องรู้อยู่แล้วว่าจะมีการพูดเรื่องสถาบันฯ แต่คนก็มากันเรือนแสน ในทางตรงกันข้ามเมื่อบางเวทีเลือกที่จะไม่พูดถึงสถาบันกษัตริย์กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยซ้ำว่าทำไมถึงลดเพดาน มีแฮชแท็กในทวิตเตอร์สนับสนุน 10 ข้อเรียกร้อง คือทุกคนมองเห็นชัดว่าปัญหาที่แท้จริงของการเมืองไทยคืออะไร ทุกคนมองไปไกลกว่าพลเอกประยุทธ์ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่” พริษฐ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวก็สั่นสะเทือนสังคมไทยไม่น้อย โดยเฉพาะภาครัฐและฝ่ายอนุรักษนิยมสุดโต่งที่มองว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นสิ่งไม่บังควร

ขณะที่ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิชาการอาวุโส เจ้าของฉายา ‘ปัญญาชนสยาม’ ผู้ได้รับการยอมรับว่าเป็นฝ่ายกษัตริย์นิยม (royalist) คนสำคัญ ให้สัมภาษณ์ว่า 10 ข้อเรียกร้องนั้นเป็นเรื่องสมเหตุสมผล

“สถาบันพระมหากษัตริย์จะอยู่ได้ต้องเปิดเผยโปร่งใส พระมหากษัตริย์ต้องมีพระราชจริยวัตรเพื่อความสุขสวัสดีของราษฎร ไม่ใช่ราษฎรทำอะไรต่างๆ เพื่อพระมหากษัตริย์อย่างเดียว ผมเชื่อว่าพระเจ้าอยู่หัวท่านรับฟังข้อความที่เอ่ยถึงท่านและสถาบันของท่าน ท่านมีใจกว้างพอสมควร แต่ที่น่ากลัวคือพวกที่ทำตัวเป็นพระราชายิ่งกว่าพระราชา ไปอ้างอะไรต่างๆ ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย เขาอ้างว่าจงรักภักดี แต่เป็นการจงรักภักดีแบบเอาดีให้ตัวเอง เอาความชั่วให้คนอื่น พวกนี้อันตรายมาก” สุลักษณ์กล่าว

สำหรับการเมืองในสภา พรรคก้าวไกลหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดโดยใช้คำว่า ‘inconvenient truths’ หรือความจริงที่น่ากระอักกระอ่วนใจ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อธิบายเรื่องนี้ผ่านรายการ 101 One-On-One ไว้ว่า “มีผู้ใหญ่หลายๆ คน ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. พูดว่านี่เป็นการจาบจ้วง จะเกิดความรุนแรง นองเลือด และเกิดรัฐประหารในที่สุด ซึ่งผมเห็นแย้ง จุดยืนของพรรคก้าวไกลคือ เราไม่เชื่อว่าต้องลงเอยด้วยการนองเลือดหรือความรุนแรงเสมอไป ความรุนแรงเกิดจากผู้มีอำนาจ ถ้าคนที่มีปืนอยู่ในมือ ไม่คิดที่จะทำรุนแรงกับอนาคตของชาติตัวเอง เพิ่มความอดทนอดกลั้นว่าจะไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อฆ่าอนาคตของคนที่ต่างยุคต่างสมัยจากเรา ก็สามารถทำให้ประวัติศาสตร์ไม่ซ้ำรอยได้”

โดยเขายืนยันว่าสังคมไม่ควรผลักคนที่พูดเรื่องปฏิรูปสถาบันฯ ออกจากพื้นที่ปลอดภัยด้วยการบอกว่าสิ่งที่เขาพูดเท่ากับการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์โดยทันที

“นี่เป็นสิ่งที่อันตรายมาก และอาจทำให้ประเทศถึงทางตัน” พิธาเน้นย้ำ

สถานการณ์การเมืองในปี 2020 มิใช่สิ่งที่ใครคาดหมายมาก่อน แต่เพียงสี่ปีหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 9 ภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยก็เปลี่ยนแปลงจนถึงวันที่เกิดสัญญาณว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องปรับตัวเพื่อให้คงอยู่คู่กับสังคมไทยอย่างได้รับการยอมรับทั้งจากในและนอกประเทศ

เกษียร เตชะพีระ ศาสตราจารย์แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เคยเสนอคำว่า The Bhumibol Consensus หรือ ฉันทมติภูมิพล มองว่า ตั้งแต่คสช.ยึดอำนาจก็ได้ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตยห่างจากกันมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นที่พูดได้ว่าเราอยู่ในระบอบที่เป็น ‘virtual absolutism’ คือระบอบสัมบูรณาญาสิทธิ์เสมือน

“ตอนนี้สังเกตเห็นบรรยากาศและจังหวะก้าวที่แตกต่างกันของการเมืองในระบบ การเมืองภาคประชาชน และการเมืองวัฒนธรรม เมื่อการเมืองในระบบเป็น ‘ปฏิกิริยา’ การเมืองภาคประชาชนเป็น ‘ปฏิรูป’ แต่การเมืองวัฒนธรรมเป็น ‘ปฏิวัติ’ ไปแล้ว” เกษียรกล่าว

ด้วยจังหวะก้าวที่แตกต่างกันนี้ทำให้ยากจะคาดการณ์ก้าวต่อไปในอนาคตของการเมืองไทย แต่เกษียรมองว่าต้นทุนที่ถูกที่สุดในสถานการณ์นี้คือ ‘ปฏิรูป’ แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำยากที่สุด เพราะต้องการฉันทมติระหว่างชนชั้นนำกับประชาชนชั้นล่าง

“ตอนนี้เส้นทางปฏิรูปดูจะยากขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายชนชั้นนำไม่ค่อยยอมหรือยอมช้าเหลือเกิน อย่างที่บอกว่าการเมือง 3 อำนาจมันไปไม่เท่ากัน คุณยอมช้าเลยติดอยู่แค่ปฏิกิริยา ขณะที่วิธีคิดของอำนาจการเมืองวัฒนธรรมไปปฏิวัติแล้ว แล้วจะคุยกันยังไง จะเริ่มคุยก็ระแวงกันก่อนแล้วกว่าจะบรรจบกันตรงกลาง

“…ผมไม่รู้ อย่าฆ่ากันก็แล้วกัน คนตายปฏิรูปไม่ได้ คนตายปฏิวัติไม่ได้ คนตายปฏิกิริยาไม่ได้ เก็บชีวิตเอาไว้ เผื่อวันหนึ่งอาจจะรู้ตัวว่าผิด” เกษียรกล่าว

ขณะนี้แม้ว่าเวลาล่วงข้ามปีมาแล้ว ก็ยังไม่มีสัญญาณว่าการปฏิรูปเพื่อให้เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริงจะเกิดขึ้น แต่เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นทำให้การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เคยอยู่ภายใต้บรรยากาศแห่งความกลัว ค่อยๆ สามารถพูดถึงโดยใช้เหตุผลโต้แย้งกันในที่เปิดเผยได้มากขึ้น อันเป็นการทำลาย ‘เพดาน’ ที่เคยกดทับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของคนไทยเรื่อยมา

ในภาวการณ์เช่นนี้การคุกคามประชาชนด้วยการดำเนินคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้มาตลอดไม่ได้ลดน้อยลง มากกว่านั้นเจ้าหน้าที่ยังนำมาตรา 112 ที่เคยหยุดใช้ กลับมาดำเนินคดีกับผู้ประท้วงจำนวนมากอีกครั้ง ต่างกันที่ครั้งนี้ความกลัวที่ประชาชนเคยมีถูกขจัดลงพร้อมการลุกขึ้นยืนหยัดของประชาชนจำนวนมากที่ออกมาส่งเสียงให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาทางการเมืองอย่างจริงจัง มิใช่มุ่งใช้อำนาจควบคุมโดยไม่สนใจเจ้าของอำนาจอธิปไตย

 

ปราบปรามยื้อยุด ก้าวต่อไปสู่การต่อสู้ระยะยาว

 

ความน่ากังวลหนึ่งของการเมืองไทยในปีที่ผ่านมาคือความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง แน่นอนว่าฝ่ายที่มีอำนาจและอาวุธที่พร้อมใช้ได้ทุกเมื่อ คือฝ่ายรัฐที่มีประวัติการใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนกลางเมืองอย่างลอยนวลพ้นผิดมาหลายครั้ง

ข้อเรียกร้องที่จะไม่ให้เกิดเงื่อนไขความรุนแรงส่วนใหญ่กลับตกอยู่ที่ฝ่ายผู้ประท้วงที่แสดงออกอย่างสันติวิธีว่าอย่าสร้างเงื่อนไขให้รัฐใช้ความรุนแรงหรือกระทั่งหยิบยกเรื่องการใช้คำหยาบในที่ชุมนุมมาเป็นข้ออ้างในการสนับสนุนให้รัฐปราบปราม

“ทางฝ่ายรัฐจะไปโทษผู้ชุมนุมฝ่ายเดียวว่าไปสรรหาคำหยาบมาก็กระไรอยู่ เพราะตอนที่เขาไม่ได้พูดคำหยาบ พูดเป็นเหตุเป็นผล นอกจากไม่ฟังแล้วคุณยังจับพวกเขาไปหมด จนเหลือคนที่สามารถพูดเป็นเรื่องเป็นราวได้น้อยลงจึงจำเป็นต้องหาคำบางคำมาสื่อสารด้วยกันระหว่างผู้ชุมนุม เผอิญคำนั้นอาจไม่เป็นที่พออกพอใจของผู้ที่สนับสนุนรัฐบาล” คือความเห็นของ เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการด้านสันติภาพ

เอกพันธุ์มองว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงต่อประชาชนมานับครั้งไม่ถ้วน จึงมีโอกาสที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมอีก

“การบอกว่าผู้ชุมนุมเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องใช้ความรุนแรง อาจมีนัยยะว่าเจ้าหน้าที่รัฐเตรียมใช้ความรุนแรงอยู่แล้วหรือเปล่า ผมไม่ค่อยเชื่อใจว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่ใช้ความรุนแรง เพราะประสบการณ์ในอดีตของเราที่ผ่านมาในการชุมนุมต่างๆ ก็จบลงที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงเกือบทั้งนั้น” เอกพันธุ์กล่าว

สิ่งสำคัญที่คนทั้งสังคมควรเห็นร่วมกันในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือการเปิดพื้นที่ให้การพูดคุยด้วยเหตุผลเป็นไปได้อย่างปลอดภัย มิใช่การกดขี่ปราบปรามผู้ประท้วงด้วยการตั้งข้อหาหรือการคุกคามกดดัน ซึ่งชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ มองว่าหากรัฐเลือกแนวทางนี้จะยิ่งทำให้ขบวนการประชาชนยิ่งเติบโต กระทั่งอาจย้อนกลับมาบั่นทอนทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลเองในที่สุด

ในมุมมองของ สนิทสุดา เอกชัย หากสังคมจะพูดคุยเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างปลอดภัย จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สังคมได้เปิดรับฟังเหตุผลกัน

“ถ้าอยากให้มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการพูดคุย มีวิธีเดียว ต้องแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 มาตรา 116 และกฎหมายอีกหลายอันที่คุกคามคนเห็นต่าง หลังจากนั้นค่อยมาพูดถึงวิธีการพูดคุย การเรียกร้องให้ ‘พูดดีๆ’ โดยยังอยู่ใต้กรงเล็บของกฎหมายเผด็จการเหล่านี้ เป็นการก้าวข้ามขั้นตอน อย่ามาหลอกกันดีกว่า

“การแก้กฎหมายนี้แท้จริงจะเป็นคุณกับฝ่ายอนุรักษนิยมด้วยซ้ำ ต้องถามว่าทุกวันนี้ที่ไม่มีใครกล้าออกมาพูดโต้ คำกล่าวหา’ ต่างๆ ด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์และด้วยเหตุและผล เพราะการทำเช่นนั้นจำเป็นต้องอ้างถึงสิ่งที่กลัวว่าจะโดนตีความว่าละเมิด 112 ใช่หรือไม่” เป็นคำถามจากสนิทสุดา

แม้ว่าภาครัฐจะมีท่าทีไม่ยอมพูดคุยเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการต่อสู้ภาคประชาชนที่ผ่านมาได้ขยายเส้นขอบความกลัวในสังคมให้กว้างออกไป จันจิรา สมบัติพูนศิริ เขียนไว้ในบทความ ปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรง : บทเรียนจากไทยสู่โลก ว่าข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ ได้ผลักเพดานให้คนไทยเริ่มมีพื้นที่พูดถึงสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาและมีเหตุผลข้อมูลรองรับ แม้ว่าจะมีการใช้กฎหมายลงโทษแกนนำผู้เปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมให้ผู้คนอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่สามารถหยุดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมนี้ได้ กระทั่งฝ่ายขวาที่ไม่ชอบการ ‘จาบจ้วง’ ของผู้ชุมนุมก็ถูกดึงมาสนทนาเรื่องสถาบันกษัตริย์ในที่แจ้งอย่างรายการถามตรงๆ กับจอมขวัญ ช่องไทยรัฐได้

และคำถามสำคัญคือ “โจทย์ที่ผู้ชุมนุมอาจต้องคิดต่อไปคือ จะแปลงพลังทางวัฒนธรรมเป็นต้นทุนทางการเมืองเพื่อให้ขับเคลื่อนการต่อสู้อันยาวนานข้างหน้าได้อย่างไร”

แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้เพียงชั่วข้ามคืน หากหวังเห็นการเปลี่ยนแปลง ขบวนการภาคประชาชนจำเป็นต้องคิดถึงการต่อสู้ระยะยาว

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่เข้าไปสำรวจการประท้วงของนักเรียนนักศึกษาในช่วงที่ผ่านมาพบว่าผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวเองก็คิดว่า ‘การต่อสู้ไม่มีม้วนเดียวจบแน่นอน’

“การเคลื่อนไหวของพวกเขาเป็นการทำแฟลชม็อบ ผู้ใหญ่ที่เข้าร่วมขบวนการก่อนหน้านี้อาจรู้สึกว่าจะทำแฟลชม็อบไปได้อีกนานแค่ไหน ทำแล้วได้อะไร เพียงแค่สองเดือน แฟลชม็อบนำมาซึ่งการเรียนรู้ของคนจำนวนมากมาย ประเด็นกว้างขวางขึ้น มันไม่เร็ว ไม่ทันใจ แต่ชัยชนะที่ดิฉันคิดเอาเองคือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

“ถึงแม้สโลแกนของเขาคือ ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’ ซึ่งหลายคนกังวลว่ามันไม่จบในรุ่นพวกเธอหรอก ปัญหาในสังคมมันสะสมมาหลายสิบปี คงแก้วันเดียวไม่ได้ แต่การเคลื่อนไหวของพวกเขาไม่เหมือนการเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ที่มองว่าชัยชนะคือล้มรัฐบาลแล้วทุกอย่างจบ เราจะ happily ever after เหมือนในเทพนิยาย มันไม่มีสำหรับพวกเขา” กนกรัตน์กล่าว

ก้าวหนึ่งสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในขณะนี้คือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อลบล้างโครงสร้างที่รัฐบาลเผด็จการวางไว้ให้สังคมตกอยู่ภายใต้การควบคุมของคนบางกลุ่ม หากสังคมสามารถสร้างพื้นที่ประชาธิปไตยเต็มใบได้จริง เมื่อนั้นการพูดคุยถึงการเปลี่ยนแปลงที่ประชาชนฝันถึงจึงจะมีความหวังขึ้นมา โดยทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดแรงผลักดันจากประชาชนที่ออกมาแสดงเจตจำนงว่าพวกเขาไม่พอใจกับสภาพบ้านเมืองที่เป็นอยู่

แม้ว่า 2020 จะเป็นปีที่ปัญหาทางการเมืองไทยซับซ้อนขึ้นและสุ่มเสี่ยงที่รัฐจะใช้ความรุนแรงมากขึ้น แต่ก็เป็นปีที่ภาคประชาชนได้รวมตัวกันแสดงพลังอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

พลังประชาชนถั่งโถมลงถนนสุดลูกหูลูกตา เพื่อบอกผู้มีอำนาจว่าพวกเขาจะไม่ยอมถูกกดขี่อีกต่อไป 2021 จึงจะเป็นปีที่น่าจับตามากยิ่งขึ้นด้วยประการทั้งปวง เมื่อความกลัวไม่สามารถใช้ควบคุมพลเมืองให้สยบยอมได้อีกต่อไป

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save