fbpx

อดีตอันเป็นนิรันดร์ในกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ไทย

ชีวิตของนักวิชาการนิติศาสตร์ (และรัฐศาสตร์) ในช่วงนิติสงครามที่รัฐไทยดำเนินการยกระดับการกวาดล้างผู้เห็นต่างผ่านคดีความทั้งหลายนั้น ได้รับมอบหน้าที่ที่ไม่คาดคิดมาก่อนคือเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญคดีความมั่นคงทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดีมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวกับการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ที่สร้างความประหลาดใจคือ ข้อเท็จจริงในหลายคดีนั้นไม่ได้พาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันแต่เป็นรัชกาลที่ 9 ทั้งที่ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอาญานั้นเห็นตรงกันแล้วว่า มาตรา 112 นั้นครอบคลุมเฉพาะบุคคลสี่คนเท่านั้น คือ พระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน พระราชินี รัชทายาทที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถ้อยคำในฉบับภาษาอังกฤษยิ่งชัด เพราะระบุถึง The King ไม่ใช่ The Kings จึงเจาะจงพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว

เป็นที่รู้กันดีว่าการตีความมาตรา 112 ของรัฐไทยนั้นออกจะกว้างขวางไร้ขอบเขต แต่ถึงกระนั้น คนขี้สงสัยก็ยังทักถามพนักงานสอบสวนและอัยการไปว่าทำไมบรรดาคุณท่านถึงได้สั่งฟ้องไปเช่นนั้น

รายไหนรายนั้น ต้องอ้างถึงคำพิพากษาฎีกาที่ 6374/2556 ซึ่งลงโทษจำเลยเนื่องจากหมิ่นรัชกาลที่ 4

รายละเอียดแห่งคดีนั้นผู้สนใจสามารถติดตามได้ไม่ยากเนื่องจากเป็นคดีที่มีบันทึกไว้โดยละเอียด หลักๆ คือผู้ถูกกล่าวหาเป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่พาดพิงถึงสมัยรัชกาลที่ 4 และถูกฝ่ายตรงข้ามฟ้องร้องเป็นคดี ผู้ถูกกล่าวหาปรึกษาทนายความแล้วเห็นว่าควรรับสารภาพว่ากระทำการดังกล่าวจริง

คดีนี้ศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องเนื่องจากเห็นว่า แม้จำเลยจะรับสารภาพก็จริง แต่การกระทำขาดองค์ประกอบความผิด อย่างไรก็ดี ทางอัยการอุทธรณ์และศาลฎีกากลับ โดยให้เหตุผลว่า “การหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่” จึงพิพากษาลงโทษจำคุกโดยรอลงอาญา

การตีความขยายไปเช่นนี้ขัดกับหลักการพื้นฐานของกฎหมายอาญา ที่ต้องตีความโดยเคร่งครัดเนื่องจากมีโทษร้ายแรงต่อเนื้อตัวร่างกายผู้ถูกกล่าวหา

คำพิพากษาฎีกาที่ 6374/2556 จึงขัดแย้งกับถ้อยคำมาตรา 112 โดยตรง คำถามคือผู้ใช้กฎหมายไทยจะเลือกเดินตามฎีกา หรือยึดลายลักษณ์อักษร

ปัญหาคือ ประเทศไทยนั้น แม้จะใช้ระบบประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งโดยทฤษฎีแล้วควรจะตีความโดยยึดลายลักษณ์อักษรของกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติ นักกฎหมายไทยยึดมั่นในคำพิพากษาฎีกาเป็นบรรทัดฐาน ความยึดมั่นในคำพิพากษาฎีกาของไทยนั้น เอาเข้าจริงรุนแรงยิ่งกว่าในระบบกฎหมายจารีตประเพณีซึ่งเป็นต้นทางของนิติวิธีนี้เสียอีก เนื่องจากนักกฎหมายไม่น้อยต่างท่องจำบรรทัดฐานในลักษณะของสูตรคาถามากกว่าจะวิเคราะห์ข้อเหมือนข้อต่างของคำพิพากษาเหล่านั้นอย่างจริงจังเพื่อสกัดหลักกฎหมายออกมา ‘หมิ่นรัชกาลที่ 4 เป็น 112’ จึงกลายเป็นสูตรมนตร์คาถาที่ผู้ใช้กฎหมายไทยท่องจำต่อมาจนถึงทุกวันนี้

ถ้าถามว่า ผู้ใช้กฎหมายทราบไหมว่าคำพิพากษานี้ผิดปกติ คำตอบคือทราบกันดี แต่หลายคนยินดีที่จะเดินตามฎีกานี้ไปก่อนจนกว่าบรรทัดฐานนี้จะเปลี่ยนแปลง แต่หนทางการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษานี้ช่างยากเย็น

ปัจจุบัน แม้ศาลชั้นต้นหลายแห่งจะยึดตามหลักกฎหมาย ตีความมาตรา 112 โดยเคร่งครัดแล้ว และยกฟ้องประชาชนจำนวนมากเนื่องเพราะเป็นการพูดถึงพระมหากษัตริย์ในอดีต แต่คำพิพากษาเหล่านี้เป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้น ใช้เป็นบรรทัดฐานกลับคำพิพากษาฎีกาไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าดูแนวโน้มศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา กลับมีแนวโน้มจะตีความตามแนวเดิม คือยึดฎีกา 6374/2556 เจ้าปัญหา ล่าสุด ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเพราะหมิ่นเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 ดังนั้น ประชาชนจึงต้องเฝ้าคอยไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีความหวัง แม้ศาลเองจะเริ่มรับว่าฎีกานี้ผิดพลาด แต่ก็ไม่มีทางที่จะแก้ไขบรรทัดฐานนี้ได้จนกว่าศาลฎีกาจะขยับ ซึ่งนั่นหมายถึงการเฝ้ารอของคนหลายร้อยคนเป็นเวลากี่เดือนกี่ปีก็ไม่ทราบ แต่ก็ต้องรอ

แต่ถ้าคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้วยืนตามแนวเดิม นักกฎหมายจำนวนไม่น้อยก็ยินดียึดแนวฎีกาแม้จะขัดกับถ้อยคำตัวบทก็ตามที มโนคติของนักกฎหมายไทยนั้นบิดเบี้ยวอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาสำนวน คนก็กลายเป็นโจทย์ตุ๊กตาเหมือนที่เคยเรียนเคยสอบ จำนวนเดือนปีที่พิพากษาจำคุกก็เป็นแค่ตัวเลขระวาง

ศาลยุติธรรมนั้นเน้นหนักหนาเรื่องมาตรฐานผู้พิพากษา ทั้งด้านความรู้และจริยธรรม ผ่านการสอบคัดเลือกสุดเข้มงวดและการอบรมเรื่องการวางตัว เรื่องตุลาการในอุดมคติ แต่กลับสกัดกั้นการตีความมาตรา 112 แบบเลยเถิดไม่ได้ แม้สุดท้ายผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีนี้ก็ประสบเภทภัยในหน้าที่การงานไป ปิดฉากการเป็นดาวรุ่งตัวเต็งตำแหน่งสำคัญในศาลยุติธรรม แต่คำพิพากษาที่ไม่ยึดหลักกฎหมายที่บุคคลคนนี้เป็นผู้วางทิ้งไว้ กลายเป็นยาพิษในระบบกฎหมายต่อมา

อันที่จริง การขยายความรวมอดีตกษัตริย์เข้าไปไว้ในมาตรา 112 นั้นอาจจะทำให้เกิดผลแปลกประหลาด คือวิจารณ์ประวัติศาสตร์ไทยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพระนเรศวร พระเจ้าเอกทัศน์ หรือใครใดๆ ไม่ได้เลย อันตรายข้อนี้มีนักนิติศาสตร์พยายามชี้ให้เห็นบ้าง แต่ระบบยุติธรรมก็แก้ไขปัญหาพิสดารนี้ได้อย่างสวยงาม ด้วยการใช้มาตรา 112 เฉพาะกับผู้เห็นต่างกับรัฐบาลเท่านั้น แต่ไม่ใช้มาตรฐานนี้กับฝ่ายผู้สนับสนุนรัฐบาล

ครั้นจะแก้ไขกฎหมายผ่านกระบวนการรัฐสภาเพื่อให้ถ้อยคำของมาตรา 112 ชัดเจนขึ้น ก็ตีบตันเสียแล้ว เสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาไม่อยากแตะเรื่องนี้ ประธานรัฐสภาไม่อนุญาตให้พูดถึงหรืออภิปรายเกี่ยวกับกรณีมาตรา 112 เลย ใครที่พูดก็อาจจะเจอมวลชนขวาจัดมอบคดี 112 ให้เสียเอง

ดูเหมือนประเทศไทยจะไม่มีทางออกจากปัญหาฎีกาหมิ่นรัชกาลที่ 4 ที่หลอกหลอนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยอยู่ แต่ถ้าคิดให้ดี นี่คือประเทศที่มีกฎ Must Have – Must Carry ก็ไม่ได้ดูฟุตบอล แต่พอยกเลิกกฎก็ไม่มีทางได้ดูฟุตบอลอยู่ดี การมีปัญหาที่ไม่มีวิธีแก้ไข หรือปัญหาที่ไม่พยายามแก้ไข ดูจะเป็นซิกเนเจอร์ของประเทศไทยในปี 2565 เราทุกคนต่างตกค้างอยู่ในประเทศไร้กาลเวลา ไม่มีวันก้าวไปข้างหน้าให้พ้นจากปัญหาอะไรได้เลย ทุกวันเราเจอปัญหาเดิมและน่าจะเจอปัญหาเดิมจนชั่วฟ้าดินสลาย

MOST READ

Politics

31 Jul 2018

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม

ธนาพล อิ๋วสกุล ย้อนสำรวจระบอบเปรมาธิปไตยและปัจจัยสำคัญเบื้องหลัง รวมทั้งถอดรื้ออภิมหาเรื่องเล่าของนายกฯ เปรม เพื่อรู้จัก “นักการเมืองชื่อเปรม” ให้มากขึ้น

ธนาพล อิ๋วสกุล

31 Jul 2018

Politics

12 Sep 2018

ความจริง ความเชื่อ และความเจ็บป่วยของ ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เขียนถึงชะตากรรมของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในฐานะนักวิชาการผู้ยืนหยัดในอุดมการณ์มาร่วม 40 ปี แต่กลับต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย (และล้มป่วย) อยู่ในต่างแดน

อายุษ ประทีป ณ ถลาง

12 Sep 2018

Politics

14 Jul 2020

การเกิดอีกครั้งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ธนาพล อิ๋วสกุล เขียนถึงการเปลี่ยนความหมายของจอมพล ป. พิบูลสงครามจาก ‘ผู้ร้ายในประวัติศาตร์การเมืองไทย’ มาเป็นนายทหารฝ่ายคณะราษฎรที่สามารถกำราบฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติอย่างราบคาบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแหลมคมการเมืองร่วมสมัยของไทย

ธนาพล อิ๋วสกุล

14 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save