fbpx

เปลี่ยนเมืองบริหารยาก กลายเป็น ‘เมืองแห่งความหวัง’ กับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

กว่า 2 ปีครึ่งที่ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ประกาศลงชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำให้ชื่อของเขากลายเป็นตัวเต็งลำดับต้นๆ และเป็นแคนดิเดตที่มีความพร้อมด้านนโยบายมากที่สุดคนหนึ่ง ถึงอย่างนั้น กรุงเทพฯ และสนามเลือกตั้งกรุงเทพฯ ก็ไม่เคยง่าย ความพร้อมและนโยบายของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จึงอยู่ในช่วงเผชิญบททดสอบท้าทายสำคัญ

101 ชวน ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพฯ พูดคุยถึงความท้าทายในสนามเลือกตั้งกรุงเทพฯ กลยุทธ์หาเสียง การปรับนโยบายระหว่างทาง และนโยบายทีเด็ดที่จะเปลี่ยนกรุงเทพฯ ได้จริง



เตรียมตัวมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว เท่าที่เตรียมแผนมากับการลงสนามจริงแตกต่างกันมากแค่ไหน

เมื่อก่อนตอนลงแคนดิเดตนายกฯ ก็ลงในนามพรรค มีทีมงานมืออาชีพคอยช่วยเหลือ เราแค่ไปปราศรัย แต่พอมาเป็นผู้สมัครอิสระมีแต่มือใหม่หัดขับ มีเรื่องที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นบ่อย เหนื่อยเหมือนกันแต่ก็ถือว่าเป็นบทเรียนและได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำ เราสามารถทำนโยบายได้ตามใจเรา สนุกดี


2 เดือนที่ผ่านมาลงพื้นที่แทบทุกวัน มีปัญหาไหนที่ได้รับฟังมาแล้วต้องปรับนโยบายตามเสียงประชาชนบ้าง

โจทย์แต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกันเลย กรุงเทพฯ มี 1,600 ตารางกิโลเมตร นโยบายของผู้ว่าฯ ต้องตอบโจทย์ทุกคน เพราะฉะนั้นนโยบายย่อยก็จะเพิ่มมาเรื่อยๆ ตามสิ่งที่เราไปพบมา ทำให้จากแต่เดิมมี 200 Action Plan จากการลงพื้นที่เราจึงเพิ่มนโยบายเข้าไปเป็น 213 ข้อ

โจทย์แรก คือเราอยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน อันนี้คือคีย์เวิร์ด แล้วอะไรคือตัวชี้วัดของคำว่า ‘น่าอยู่’? เราก็ไปดู EIU Index คนทำประเมิน liberal city ของทั่วโลกซึ่งมีอยู่ 30 ตัวชี้วัด เราก็ทอนมาเป็น 9 ตัวชี้วัดเป็นนโยบายแก่นหลัก (Core Policy) มีเรื่องความปลอดภัย เรื่องสุขภาพ  เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการเรียน เรื่องการจัดการ เรื่องการเดินทาง โครงสร้างพื้นฐาน เรื่องเศรษฐกิจและเรื่องความสร้างสรรค์ ทั้งหมด 9 เรื่อง ซึ่งแต่ละเรื่องจะมีนโยบายสำคัญ (Key Policy) ต่างกันไป เช่น การเดินเท้าข้ามทางม้าลายก็จะจำกัดความเร็วรถในกรุงเทพฯ ของแต่ละโซนที่เป็นชุมชน ซึ่งไม่ต้องใช้การลงทุนมากแต่ต้องใช้อำนาจที่มีคุยกับตำรวจนครบาล ผมว่านโยบายพวกนี้ดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่จะช่วยเรื่องความปลอดภัยของคนในกรุงเทพฯ ได้มากขึ้น

ส่วนเรื่องสุขภาพ เราจะเอาหมอไปใกล้คนโดยขยายบริการศูนย์สาธารณสุขให้ครอบคลุมมากขึ้น เปิดเวลาให้บริการมากขึ้น ถ้าเป็นเรื่องการเดินทาง เราก็จะลงทุนเรื่องเทคโนโลยีที่สามารถบริหารจัดการถนนโดยใช้เทคโนโลยีจำกัดปริมาณรถ จัดการไฟจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยร่วมมือกับตำรวจหรือการเดินรถเมล์เสริมในบางจุดที่ไม่มี ต้องมีฟุตปาธที่ดี 1,000 กิโลเมตร ต้องลอกท่ออย่างน้อย 3,000 กิโลเมตร

เรื่องการเรียนดีคือ ‘โรงเรียนสามภาษา’ วันเสาร์อาทิตย์เปิดโรงเรียนเพื่อให้นักเรียนได้เข้ามาทำกิจกรรม เช่น ศิลปะ งานแสดง มีพี่สอนน้อง อาสาสมัครจากเอกชนมาช่วย เรื่องบริหารจัดการก็คือ Open Bangkok เลย ต้องเปิดเผยข้อมูล 200 Data Set เลียนแบบจากไต้หวันเพื่อให้คนเข้าถึงได้ ทุกอย่างทำบนแพลตฟอร์มออนไลน์หมด สุดท้ายแล้วมันจะได้เมืองที่น่าอยู่ขึ้นสำหรับทุกคนในแต่ละมิติ


หลายคนอาจมองว่า 200 นโยบายมันเยอะเกินไปและถ้าไม่ชูนโยบายใดอาจจะไม่กินใจคนกรุงเทพฯ มองเรื่องนี้อย่างไร

ตอนแรกก็คิดว่าเราควรมี Killer Policy เมกะโปรเจกต์ใหญ่ๆ เหมือนสมัยก่อนที่มีรถรางเลียบคลองให้คนจำได้แล้วก็ต้องใช้เงินเป็นหมื่นล้าน แต่จริงๆ แล้วถ้าพูดถึงความเป็นจริง ชาวบ้านต้องการชีวิตที่ดีขึ้นในมิติของเขา ดังนั้นหนึ่งนโยบายไม่ได้ตอบโจทย์คนกรุงเทพ 6 ล้านคน อันนี้ผมยืนยัน เพราะฉะนั้นเราถึงเอา 200 นโยบายขึ้นเว็บไซต์ให้ชัดเจนว่าเราจะทำอะไรบ้าง ถ้าทุกคนมีโอกาสเข้าไปดู ผมเชื่อว่ามันต้องแตะชีวิตเราด้านใดด้านหนึ่งแน่นอน แต่ก็แล้วแต่ประชาชนจะตัดสินใจ


ทุกเรื่องฟังดูสำคัญหมด แต่ถามว่า 4 ปีไหวไหม

4 ปีไหว เพราะเรามีลูกจ้างข้าราชการ 8 หมื่นคน เรามี 16 สำนัก 50 เขต ทุกอย่างสามารถเดินในวันแรกได้ สมมติมีโครงการกรุงเทพฯ 15 นาทีให้ถึงพื้นที่สีเขียว เริ่มวันแรกต้องพล็อตเลยว่าตรงไหนมีพื้นที่ที่พอจะทำได้บ้าง เพราะฉะนั้นในทุกพื้นที่ 4 ปีอาจจะไม่เสร็จหรอก แต่มีความก้าวหน้าขึ้น หรือเราจะทำแพทย์ทางไกลเราก็ทำได้เลย เพราะเราทำรถที่สามารถเชื่อมต่อได้แล้ว

ผมว่าโครงการมันต้องเดินหน้าไปพร้อมๆ กัน โครงการระยะยาวอาจจะใช้ 2-3 เทอม ส่วนโครงการระยะสั้นอาจจะ 100 วันเห็นผล ทีนี้เวลาเราพูดนโยบายเราชอบพูดว่าโครงการไหนสำคัญที่สุด ผมว่าในแต่ละโครงการมันสำคัญในบริบทของตัวเองเหมือนเราบอกว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวสำคัญ แต่พี่น้องลาดกระบังกลับไม่ได้ต้องการเรื่องนี้เลย หัวใจสำคัญคือเราต้องตอบโจทย์คนจำนวนมากในหลายๆ มิติ แล้วก็เดินไปพร้อมกัน


เมื่อ 2 ปีที่แล้วเคยคุยกันเรื่อง Trust Economy หรือเศรษฐกิจที่ดูจากต้นทุนที่เรามี นโยบายนี้มีความเกี่ยวข้องกับอำนาจผู้ว่าฯ อย่างไรและสามารถนำไปปรับใช้อย่างไรได้บ้าง

Trust Economy เป็นเรื่องสำคัญเพราะองค์กรไหนที่มีความไว้ใจกันงานจะเร็วขึ้นและถูกลง ส่วนองค์กรไหนที่ไม่มีความไว้ใจกันต้องตรวจสอบทุกขั้นตอน สุดท้ายราคาแพงขึ้นและช้าลง ดังนั้นหัวใจของการบริหารเมือง คือรัฐต้องเอาประชนชนเข้ามามีส่วนร่วมทำให้ชุมชนมีพลัง แล้วเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาเมืองได้ ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนจะได้เงินสนับสนุนแต่ละเดือน 5,000–10,000 บาทซึ่งรัฐจะให้กรรมการชุมชนเป็นคนเบิก แต่เบิกยากมาก เขาอยากจะไปทำเสียงตามสายในชุมชนก็ทำไม่ได้เพราะรัฐไม่ไว้ใจประชาชน แต่เราลองเปลี่ยนให้เงินเป็นรายปี จากเดือนละ 1 หมื่นบาทเป็นปีละแสนกว่าบาทและให้ชุมชนมีอำนาจในการบริหารเงินก้อนนี้ เขาอาจจะไปซื้ออุปกรณ์ เช่น คอมพิวเตอร์มาติดในชุมชน กล้อง CCTV ลำโพงเสียงตามสาย

เรากระจายอำนาจลงไปเพราะเราไว้ใจเค้า พอเขาได้รับความไว้ใจเขาก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาเมือง มันใช้งบประมาณเท่ากันแต่มันตอบโจทย์คนได้มากขึ้น เหมือนนโยบายเราที่ให้ประชาชนกำหนดงบประมาณอย่างที่ต่างประเทศทำ มันคือการไว้ใจซึ่งกันและกัน อันนี้มันจะช่วยแก้ปัญหาเมืองได้ ส่วนเราก็ต้องทำตามในสิ่งที่พูดตอนหาเสียง เขาก็จะไว้ใจเรา จริงๆ มันต้องไปด้วยกันทั้ง รัฐ เอกชน ประชาชน เมืองมันถึงจะดีขึ้นได้


เห็นด้วยหรือไม่ที่คนมองว่ากรุงเทพฯ บริหารยาก

ผมว่าบริหารความคาดหวังยากด้วย กรุงเทพฯ มีงบประมาณ 8 หมื่นล้านบาท เทียบกับงบประมาณของรัฐบาลแล้ว ของเราแค่ 3.1% แต่เราดูแลประชากร 15% แล้วเงินที่เหลือในการใช้บริหารกรุงเทพฯ จริงๆ ก็เหลือไม่ได้เยอะ ผมเลยไม่มีนโยบายที่ต้องลงทุนหมื่นล้านพันล้านเพราะเราไม่มีงบประมาณพอ 

ผมว่าการคิดนโยบายมันต้องฉลาด พยายามคิดแบบทำน้อยแต่ได้เยอะ อย่างเช่นเราไปเจอแม่ค้าแถวสุเหร่าลาดกระบังเยอะมากที่ใช้แอปพลิเคชันไม่เป็น เอาของที่ขายขึ้นไปขายบนแอปพลิเคชันไม่ได้ เราเลยมีแนวคิดจะทำอาสาสมัครเทคโนโลยีประจำชุมชน แล้วเอาข้อมูลในชุมชนขึ้นให้กับกรุงเทพฯ ซึ่งอันนี้ไม่ได้ใช้เงินเยอะเลย แต่มันทำให้คนในชุมชนเข้าใจเข้าถึงเทคโนโลยีได้เยอะขึ้น ในขณะที่กทม. เองก็มีข้อมูลในชุมชนอยู่ในดิจิทัลมากขึ้นและเชื่อว่ามันจะมีผลในระยะยาว

อีกตัวอย่างคือเรื่องฝุ่น ถามว่าเราจะไปกำจัดฝุ่นอย่างไร เราต้องไปร่วมมือกับขนส่งทางบก เขาควบคุมเรื่องรถบรรทุก เพราะฉะนั้นขนส่งทางบกมีอำนาจ แต่ถามว่า กทม. มีอำนาจหรือไม่ ถ้าไปดูอย่างละเอียดในเรื่องของกรอบกฎหมายก็อาจจะมีวิธีอื่น เช่น เรามีกฎหมายควบคุมอาคาร เราสามารถไปกำหนดได้ว่าการก่อสร้างอาคารไม่ควรมีรถที่ทำให้เกิด PM 2.5 ถ้าไซต์งานก่อสร้างนี้ทำให้เกิด PM 2.5 เราต้องให้หยุดการก่อสร้างชั่วคราว เพราะฉะนั้นเราต้องไปหากรอบอำนาจที่เรามีและต้องใช้ความคิดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด


การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ จะเป็นแนวทางให้จังหวัดอื่นๆ มีโอกาสได้เลือกผู้นำของตัวเอง เหมือนกรุงเทพฯ กับเมืองพัทยาได้บ้างหรือไม่

ถามว่าเมืองคืออะไร? เมืองก็คือคน ดังนั้นเมืองต้องตอบสนองต่อคน วิธีที่จะตอบสนองต่อคนได้ดีที่สุดคือการกระจายอำนาจลงไป ผมมองว่าถ้าเป็นไปได้ในอนาคตเราควรเอาคนเป็นตัวตั้ง การกระจายอำนาจคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ในต่างจังหวัดก็เช่นกัน บางพื้นที่ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ใช่คนในพื้นที่มาเป็นแค่ผู้บริหาร 3-4 ปีก็ย้ายไป ไม่ได้มีความผูกพันกับพื้นที่นั้นตั้งแต่เกิด ไม่ได้มีความเข้าใจคนในพื้นที่

ผมมองว่าการกระจายอำนาจการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นเรื่องมีประโยชน์ ไม่ต้องมองอื่นไกล ผมว่าผู้อำนวยการเขตก็เหมือนกัน เรามีเขต 50 เขต แต่ผอ.เขตก็ถูกแต่งตั้งมาจากผู้ว่าฯ มีแนวคิดเยอะเลยที่มองว่าทำไมผอ.เขตไม่เลือกตั้งบ้าง ซึ่งตรงนี้มันต้องไปแก้ที่พ.ร.บ. แต่เรามีนโยบายให้ประชาชนประเมิน ผอ.เขต เลยจะได้ตอบสนองต่อประชาชนมากขึ้นและสนับสนุนให้จังหวัดอื่นๆ ได้มีการเลือกตั้งผู้ว่าจังหวัดแบบกรุงเทพบ้าง ผู้ว่าทุกจังหวัดจะได้ลงไปดูรายละเอียดแล้วคิดนโยบายเพื่อตอบโจทย์คนด้วย


ผู้ว่ากรุงเทพฯ สามารถเป็นความหวังให้ประเทศไทยที่กำลังซบเซาตอนนี้หรือไม่ หรือมีอำนาจแค่ในกรุงเทพฯ อย่าไปคาดหวังอะไรมาก

ที่ผ่านมาลงพื้นที่เยอะหลายคนพูดว่าฝากกรุงเทพฯ ไว้ด้วย เพราะคนหมดหวังกันเยอะจากปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า เรื่องโควิด เรื่องการรับฟัง มันจึงเป็นภาระที่เรารู้สึกว่าอย่าทำให้คนอื่นผิดหวัง ซึ่งผมมองว่าหน้าที่ผู้ว่าฯ มี 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่ง คือผู้จัดการเมือง ทำงาน routine เช่น ลอกท่อ เก็บขยะ และอีกส่วนที่ผู้ว่าฯ ต้องคิดด้วย คืองานยุทธศาสตร์ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ว่าหลายคนอาจจะไม่ได้คิดเรื่องนี้เพราะทำแต่งานรูทีน แต่สุดท้ายต้องตั้งคำถามว่าอีก 10 ปี กรุงเทพฯ จะเป็นอย่างไร เรื่องเศษฐศาสตร์ของเมืองในอนาคต ผมว่าผู้ว่าฯ ต้องคิดเรื่องนี้ด้วย แม้ว่าผู้ว่าฯ จะไม่มีอำนาจในการทำ แต่ผู้ว่าฯ ควรหาแนวร่วม เช่น อนาคตกรุงเทพฯ ผมมองเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เราต้องเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาคให้ได้ เราต้องเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยว ต้องวางตำแหน่งของเมืองให้ดี ถามว่าผู้ว่าฯ มีอำนาจหรือไม่ ผู้ว่าอาจไม่มีอำนาจ 100% แต่ผู้ว่าต้องสร้างระบบนิเวศตรงนี้เพื่อสร้างโอกาสของคน ผมว่าหน้าที่ของผู้ว่าฯ ต้องสร้างความหวังให้เมืองด้วย

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save