fbpx

มองการเมือง 2021 : ถึงเวลาพูดเรื่อง ‘ช้างในห้อง’

หากเปรียบเทียบว่าปี 2020 เป็นปีแห่ง ‘การทะลุเพดาน’ จากการชุมนุมทางการเมืองของนักศึกษา คนรุ่นใหม่ และประชาชนที่มีข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รวมถึงข้อเสนออื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาสังคมในเชิงโครงสร้าง ให้ปัญหาที่เรื้อรัง ‘จบที่รุ่นเรา’ แต่เมื่อมองไปยังตลอดปี 2021 ที่ผ่านมา แม้การเมืองอาจไม่ดุเดือดเท่าปีก่อนหน้า แต่ก็เป็นปีที่ทำให้สังคมไทยได้ร่วมกัน ‘รื้อพรม’ และพูดคุยถึงปัญหาที่พยายามหลบเลี่ยงมาตลอด

ภาพกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยตู้คอนเทนเนอร์เป็นสัญลักษณ์ของท่าทีรัฐบาลที่มีต่อประชาชนตลอดปีที่ผ่านมา จากการปิดกั้นจับกุมประชาชนที่ออกมาเรียกร้องเรื่องการเมือง จนตัวเลขผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมพุ่งขึ้นสูง

ต้องยอมรับว่าการชุมนุมของประชาชนหดตัวลง โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลังที่โรคระบาดรุนแรงขึ้น ประกอบกับการไล่สลายม็อบที่เข้มงวดขึ้น ในทางหนึ่งอาจมองได้ว่าม็อบคนรุ่นใหม่มาถึงช่วงขาลง แต่อีกทางหนึ่งอาจมองได้ว่าเมื่อภาคประชาชนมองเห็นร่วมกันแล้วว่าปัญหาที่แท้จริงของสังคมไทยคืออะไร ความจำเป็นต้องลงถนนก็ลดน้อยลง

สิ่งหนึ่งที่อาจมองได้ว่าเป็นความสำเร็จ คือการทำให้สังคมไทยสามารถนำ ‘เรื่องต้องห้าม’ ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาพูดคุยกันอย่างเปิดเผย เพื่อหาหนทางเดินไปข้างหน้าร่วมกัน

ประสบการณ์จากการเมืองในอดีตบ่งชี้ว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยขาดการพูดคุยกันมากพอ ทำให้เรามองไม่เห็นอนาคตร่วมกัน เพราะทุกครั้งที่มีการหยิบยกเรื่องที่จะทำให้ฝ่ายผู้มีอำนาจอึดอัดใจ ผลที่ตามมาคือการปิดกั้นจับกุมเพื่อปิดปากไม่ให้ปัญหาถูกเอื้อนเอ่ย

ในวันนี้เรายังมองไม่เห็นอนาคต เพราะเราไม่เคยแก้ปัญหาในอดีต

การเกิดขึ้นของม็อบคนรุ่นใหม่ คือความพยายามต่อสู้กับมือที่ปิดปากเพื่อชี้ให้เห็น ‘ช้างในห้อง’ ที่ทุกคนทำเป็นไม่เห็น แม้จะตามมาด้วยการปิดกั้นจับกุมเช่นเคย แต่ครั้งนี้ผลกลับต่างออกไป เมื่อทุกคน ‘ได้ยิน’ เสียงร้องเตือนและ ‘มองเห็น’ ช้างตัวนั้น

สิ่งที่สังคมไทยสมควรทำเพื่อเดินไปข้างหน้าคือการพูดคุยถึงความเป็นไปได้อันหลากหลาย สนทนาถึงการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันทางการเมืองต่างๆ ในสังคมไทย และมีภาพจินตนาการร่วมกันถึงสังคมในอนาคตที่คนทุกกลุ่มอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ต้องกดปราบคนบางกลุ่มเพื่อความสงบเรียบร้อยที่ไม่มีจริง

‘ปฏิรูป’ ย่อมไม่ใช่ ‘ล้มล้าง’

การประกาศข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อของผู้ชุมนุม นับเป็นจุดสำคัญหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่นำพาไปสังคมไปในทิศทางใหม่ๆ และเป็นเส้นทางที่ไม่อาจหวนกลับ เมื่อเราหยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุยกันในระดับที่กว้างขวางขึ้นแล้ว แม้มีการปิดกั้นก็ไม่อาจขัดขวางความคิดที่เติบโตขึ้นของผู้คนได้

ในช่วงครบรอบหนึ่งปีข้อเรียกร้องดังกล่าว 101 จึงทำผลงานชุด 1 ปีข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ชวนนักคิด นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองพูดคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทยในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่เราจะก้าวผ่านไปด้วยการพูดคุยกันอย่างเข้มข้น

สำหรับคนที่ศึกษาเรื่องเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ในช่วงรัชกาลที่ 9 อย่าง อาสา คำภา จากสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย

“คนรุ่นใหม่ไม่อินและกล้าตั้งคำถามกลับ ย้อนกลับไปรัชกาลที่แล้ว พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจนำจนกลายเป็นภาวะ The king can do something. ได้อยู่กลายๆ ในสังคมการเมืองแบบไทยๆ…คนรุ่นใหม่ไม่ยอมรับอะไรแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว จะ can do something ได้อย่างไรในเมื่อขัดกับหลักการพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” อาสากล่าว

เช่นเดียวกับ ทอม กินสเบิร์ก (Tom Ginsburg) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์แห่ง University of Chicago ผู้เขียนหนังสือ How to Save a Constitutional Democracy ที่มองว่าสถาบันกษัตริย์ไม่สามารถเล่นบทบาทเดิมได้อีกต่อไป

“ในสถานการณ์ปัจจุบันสถาบันกษัตริย์ไม่สามารถเล่นบทบาท ‘คนกลาง’ ท่ามกลางความขัดแย้งได้อย่างที่เคยเป็นมา และยังถูกทำให้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเสียเอง นี่เป็นความท้าทายที่น่ากังวลอย่างยิ่งของสังคมไทย”

เขายืนยันว่า สถาบันกษัตริย์สามารถดำรงอยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญได้เป็นอย่างดี โดยสามารถมีบทบาทสำคัญสองประการคือ การเป็นที่พึ่งสุดท้ายในภาวะวิกฤตและการเป็นเกราะปกป้องประชาชนจากกระแสประชานิยม (populism) ซึ่งเป็นการเกิดขึ้นของกลุ่มที่อ้างว่าเป็นตัวแทนประชาชน

ทอมบอกว่า อย่างไรก็ตามสถาบันฯ ต้องเล่นบทบาทที่กำหนดไว้ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งมีเงื่อนไขคือ การถูกจำกัดภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับสถาบันและองคาพยพอื่นของสังคม

หลักการราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) เป็นเส้นที่สังคมไทยขีดไว้หลังการอภิวัฒน์สยาม ปี 2475 แต่เมื่อเวลาผ่านไป สถานะและพระราชอำนาจของสถาบันฯ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนออกจากหลักการดังกล่าว ซึ่ง ปราการ กลิ่นฟุ้ง จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เจ้าของงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง ‘Crown Property and Constitutional Monarchy in Thailand, 1932-1948’ มองว่า ปัญหาเกี่ยวกับสถานะและบทบาทของสถาบันฯ มีรากฐานมาจากสมัยรัชกาลที่ 9

ประเด็นสำคัญที่ปราการเห็นว่าสังคมต้องหาความกระจ่างคือเรื่องทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และการจัดการราชสำนักโดยรวมว่าจะจัดการในฐานะที่เป็นกิจการสาธารณะหรือกิจการส่วนพระองค์

“ผมยังเชื่อว่าน่าจะยังพอมีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลงโดยไม่ต้องนองเลือดนะ ถ้าพูดอย่างเป็นรูปธรรม ผมหวังว่าสถาบันรัฐสภาจะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นโดยที่ไม่ทะเลาะกันแบบหัวร้างข้างแตก รัฐสภาคือที่ที่ความขัดแย้งต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องความคิดทางการเมือง เรื่องการจัดการทรัพยากร รวมอยู่ในนั้น ก็ให้คนข้างในเถียงกันไป” ปราการกล่าว

อีกหนึ่งคำถามที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนคือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และทุน ประเด็นนี้ ปวงชน อุนจะนำ จากภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้เขียนหนังสือ Royal Capitalism: Wealth, Class, and Monarchy in Thailand มองว่า หากไม่มองกษัตริย์ผ่านกรอบการวิเคราะห์ทุนนิยม มีแนวโน้มว่าเราจะมองกษัตริย์แค่ในมิติการเมืองและวัฒนธรรมเท่านั้น และจะพลาดการมองสถาบันกษัตริย์ในมิติเศรษฐกิจไป ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างทุนและกษัตริย์นั้นไปไกลกว่าแค่สำนักงานทรัพย์สินฯ กล่าวคือสถาบันฯ ยังมีการลงทุนส่วนพระองค์ การถือหุ้นของสมาชิกราชวงศ์ในตลาดหลักทรัพย์ การบริจาคของภาคเอกชนให้กับสถาบันฯ รวมไปถึงงบประมาณที่สถาบันฯ ได้รับจากภาครัฐ

“อย่างน้อยสิ่งที่เราพอจะทำได้ในระยะสั้นก็คือ การสร้างกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุล งบประมาณสถาบันกษัตริย์ต้องผ่านรัฐสภา ให้รัฐสภามีสิทธิเพิ่มงบ-ตัดงบกษัตริย์ หรือหากจะมีการประกาศใช้กฎหมายฉบับไหนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ก็ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภาเสมอ” ปวงชนกล่าว

เมื่อมองไปยังความเคลื่อนไหวในสภา เหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญคือการอภิปรายเรื่องงบประมาณโครงการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดย เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล หยิบยกขึ้นมาระหว่างการพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565

เบญจายืนยันว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่สามารถพูดถึงเพื่อให้มีการแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงได้ การพูดเรื่องนี้เป็นการตั้งข้อสังเกตว่าหน่วยงานรับงบได้นำเงินงบประมาณแผ่นดินไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะ ‘โครงการที่มีนามสกุล’ 

“งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ควรมีการใช้คำว่าประเพณีและวัฒนธรรมที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมา เพราะงบประมาณมาจากภาษีประชาชน มาจากเลือดเนื้อหยาดเหงื่อแรงกายของประชาชน”

เธอเห็นว่าการท้วงติงเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติที่ควรพูดถึงได้ในสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกต่อเรื่องนี้อย่างมีวุฒิภาวะของประชาชนเองก็ควรทำได้ แต่ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา สังคมถูกปิดกั้นและกดทับ ผู้คนจึงตั้งคำถามและสงสัยเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก

เหล่านี้เป็นเพียงเสียงบางส่วนที่มองถึงการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์เพื่อการเปลี่ยนแปลงให้อยู่ร่วมกับสังคมไทยได้ดียิ่งขึ้น และมีความจำเป็นที่เราต้องร่วมกันพิจารณาเรื่องนี้ให้เห็นหนทางไปต่อในอนาคต แม้ว่ามีความพยายามทำให้เรื่องนี้หายไปจากสังคมผ่านอำนาจตุลาการ แต่เป็นไปไม่ได้ที่คนในประเทศจะแสร้งหลับตาทำเป็นไม่เห็น ‘ช้างในห้อง’ ที่เคยเห็นมาแล้วด้วยตาตัวเอง

ล้มเลิกกองทัพที่มองประชาชนเป็นศัตรู

ปมปัญหาใหญ่ที่ทำให้การเมืองไทยติดหล่มไปข้างหน้าต่อไม่ได้ คือการรัฐประหารที่เกิดขึ้นเพื่อขัดขวางกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย

ตัวละครหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการรัฐประหารคือ ‘กองทัพ’ ซึ่งกลายมาเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในเกมการเมืองไทย ขัดกับบทบาทหน้าที่ที่ควรจะเป็นเช่นในสังคมประชาธิปไตยอื่นๆ เมื่อกองทัพไม่วางบทบาทตัวเองให้อยู่ภายใต้ภาคการเมืองที่เป็นตัวแทนประชาชน แต่มีการดำเนินการและตัดสินใจภายใต้อำนาจอื่นที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

‘ปฏิรูปกองทัพ’ จึงเป็นเรื่องที่สังคมไทยพูดคุยกันมายาวนาน

สำหรับ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าการแทรกแซงการเมืองของกองทัพไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะช่วงรัฐประหารเท่านั้น แต่กองทัพมีอำนาจแทรกซึมในระบบการเมืองและสังคมตลอดเวลา รวมทั้งในยามที่ทหารไม่ได้เป็นรัฐบาล โดยเฉพาะการทำงานผ่าน กอ.รมน.

“เราต้องมอง กอ.รมน.ในฐานะเครื่องมือทางการเมืองของรัฐไทยที่มีทหารครอบงำอยู่ เอาไว้รับมือกับกลุ่มคนที่รัฐนิยามว่าเป็นศัตรูหรือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงแห่งรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยคุกคามที่เกิดขึ้นภายในสังคมไทย รวมทั้งในฐานะเครื่องมือที่รัฐหวังใช้เพื่อที่จะแทรกซึมเข้าสู่สังคม”

พวงทองมองว่า บทบาทของกองทัพและ กอ.รมน. ในกิจการความมั่นคงภายใน อยู่ภายใต้อุดมการณ์ชาตินิยมและกษัตริย์นิยม (หรืออุดมการณ์ราชาชาตินิยม ตามนิยามของธงชัย วินิจจะกูล) และใช้สายตาที่มองว่าความแตกแยกในสังคมเกิดจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่พยายามล้มล้างสถาบันหลักของชาติซึ่งเท่ากับการทำลายความมั่นคงของชาติไปด้วย

การจะรับมือภัยชนิดนี้ ทำให้กองทัพต้องมีกลไกควบคุมสังคม พร้อมกับการลดทอนความเป็นมนุษย์ (dehumanize) และสร้างความเป็นปีศาจ (demonize) ให้กลุ่มคนที่กองทัพนิยามว่าเป็นภัยคุกคาม เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปราบปราม

พวงทองเสนอว่า หากจะปฏิรูปกองทัพต้องเริ่มจากการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองทัพใหม่ว่าภารกิจเกี่ยวกับความมั่นคงมิติไหนบ้างที่ควรหรือไม่ควรอยู่ในมือกองทัพ โดยต้องนำทหารออกไปจากภารกิจความมั่นคงรูปแบบใหม่ทั้งหมด กองทัพเป็นได้แค่ผู้ช่วยที่จะถูกสั่งการจากหน่วยงานพลเรือนที่มีความเชี่ยวชาญในการรับมือต่อภัยความมั่นคงนั้นๆ ซึ่งหมายความว่าภัยคุกคามความมั่นคง 10 ประการที่กองทัพและ กอ.รมน. ระบุไว้แทบจะไม่มีอะไรที่ควรเหลือเลยที่อยู่ในภารกิจของกองทัพ กองทัพต้องเหลือเพียงแค่หน้าที่ในการปกป้องประเทศชาติเท่านั้น หรือแม้กระทั่งปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ถึงเวลาแล้วที่ต้องนำทหารออกไป

นอกจากนี้ พวงทองเสนอว่าต้องตัดโครงการหน่วยงานกิจการพลเรือนในกองทัพและงบประมาณจำนวนมหาศาลที่เกี่ยวข้องกับกิจการความมั่นคงภายใน ซึ่งจะนำไปสู่การลดตำแหน่งนายพลและกำลังพลจำนวนมากที่รับผิดชอบงานความมั่นคงภายใน

“นอกจากนี้ โครงการอบรมเชิงอุดมการณ์โดยกองทัพต้องถูกยกเลิกและห้ามกระทำต่อไปโดยเด็ดขาด เพื่อหยุดกระบวนการบ่อนเซาะของประชาธิปไตยลงด้วย” พวงทองกล่าว

ขณะที่ในมุมมองของ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี สื่อมวลชนและนักวิจัยอิสระ ผู้เกาะติดเรื่องกองทัพ ความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มองว่า สังคมไทยตกอยู่ภายใต้ ระบอบแบบแผนทางการเมืองที่สร้างบนฐานของสายสัมพันธ์ช่วงชั้นระหว่างสถาบันกษัตริย์และกองทัพ ซึ่งระบอบการเมืองนี้มีทั้ง hard power และ soft power ครอบคลุมทั้งสังคมไทย โดยมีกองทัพเป็นกลไกหลักที่ใช้สร้างความแข็งแกร่งให้กับ ‘พระราชอำนาจนำ’ ทั้งในเชิงรากฐานทางอุดมการณ์ ความชอบธรรมตามประเพณีและกฎหมาย รวมตลอดไปถึงความนิยมของระบอบ

“ผมเสนอว่าการรัฐประหารที่ไม่ได้รับความยินยอมจากสถาบันกษัตริย์จะไม่มีทางสำเร็จ ในทางกลับกัน หากกษัตริย์จะใช้ความสัมพันธ์เช่นนี้ในการแทรกแซงทางการเมืองหรือบริหารประเทศผ่านกองทัพ ก็ย่อมทำได้เสมอ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม

“ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อประชาธิปไตยและการเมืองการปกครองในระบบรัฐสภา เพราะส่วนที่มีอำนาจแข็งแรงและแกร่งที่สุดในสนามการเมืองไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง”

ดังนั้น สุภลักษณ์มองว่า หากจะปฏิรูปกองทัพจะต้องจัดความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และกองทัพเสียใหม่ โดยมี 5 ประเด็นย่อยต้องพิจารณา

1. ต้องตัดถ้อยคำในรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ‘พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย’ เพราะพระมหากษัตริย์ในโลกยุคสมัยใหม่ไม่มีความจำเป็นต้องบังคับบัญชากองทัพ

2. เปลี่ยนแปลงอุดมการณ์กองทัพจาก Royal Army เป็น People’s Army

3. เปลี่ยนแปลงโครงสร้างและสายการบังคับบัญชาระหว่างพระมหากษัตริย์และกองทัพให้ชัดเจนมากขึ้น 

4. ต้องมีการยกเลิกการระบุว่ารักษาพระองค์ (รอ.) ต่อท้ายชื่อหน่วยทหาร 

5. จัดลดงบประมาณของกองทัพในการเชิดชูและถวายความปลอดภัยสถาบันกษัตริย์

นอกจากนี้ยังมีโจทย์เรื่องการปรับความสัมพันธ์ของกองทัพกับฝ่ายการเมือง รวมถึงการจัดภารกิจและโครงสร้างของกองทัพใหม่ที่สังคมต้องขบคิด

สุภลักษณ์เห็นว่าเงื่อนไขที่จะทำให้การปฏิรูปกองทัพเกิดขึ้นได้ ต้องเกิดขึ้นจากทั้งภายในกองทัพเอง ฝ่ายการเมือง และประชาชน

“ประชาชนทั้งหลายพึงรู้ว่าเราสิทธิอันชอบธรรมที่จะได้กองทัพที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันประเทศและปกป้องประชาชน ไม่ใช่กองทัพที่เอาแต่ข่มเหงรังแก ข่มขู่คุกคามประชาชนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้”

ความรุนแรงบนอำนาจที่ไม่เท่ากัน

เหตุการณ์สำคัญของการเมืองภาคประชาชนในช่วงปีที่ผ่านมาคือการเกิดขึ้นของม็อบดินแดง ที่เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมบ่อยครั้ง จนทำให้สังคมตั้งคำถามว่าคนกลุ่มนี้มาจากไหน จุดมุ่งหมายของพวกเขาคืออะไร และที่ไปไกลกว่านั้นคือการได้กลับมาทบทวนนิยามของสันติวิธีและบทบาทที่เป็นไปได้ในการต่อสู้ภาคประชาชนในรูปแบบที่ไม่อยู่จินตนาการของสังคมไทย

การทำความเข้าใจปรากฏการณ์นี้ปรากฏผ่านงานวิจัย ‘การก่อตัว พัฒนาการ และพลวัตการชุมนุมบริเวณแยกดินแดงช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564’ โดยกนกรัตน์ เลิศชูสกุล จากภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ ผู้ช่วยวิจัยและผู้สื่อข่าวจาก Plus Seven ซึ่งพบว่าผู้ชุมนุมจำนวนมากเป็นเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ส่วนอีกกลุ่มคือวัยเริ่มทำงานและกำลังตั้งตัว 

“คนที่มาร่วมชุมนุมในม็อบทะลุแก๊สอาจจะเรียกได้ว่าเป็นลูกหลานของชนชั้นล่างในทุกมิติ ทว่าพวกเขาไม่ใช่เด็กไม่มีอนาคต แต่เป็นหัวกะทิระดับต้นๆ ของชนชั้นล่าง ประสบความสำเร็จระดับหนึ่งก่อนที่โควิด-19 จะแพร่ระบาด อาจจะเริ่มลืมตาอ้าปากได้ เริ่มมีเงินลงทุน แต่ทุกอย่างหายไป พวกเขาถูกดึงกลับไปสู่เส้นความยากจนอีกครั้งเมื่อเกิดโควิดและได้รับผลกระทบจากนโยบายการแก้ปัญหาโควิด” กนกรัตน์กล่าว

ปัจจัยที่ทำให้เยาวชนเหล่านี้มาลงถนนร่วมชุมนุมที่ดินแดงคือ ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาโควิดของรัฐบาล การไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของประชาชนในปีก่อนหน้า โดยมองว่าสันติวิธีแบบเดิมไม่ได้ผล นอกจากนี้คือภาพที่เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทำร้ายเด็กและผู้หญิง

น่าสนใจว่า คนที่เข้าชุมนุม 60-70% เพิ่งสนใจการเมืองปีนี้เป็นปีแรก ชี้ให้เห็นว่าพวกเขาไม่ใช่กลุ่มคนที่ตามการเมืองจริงจังมาก่อน แต่สาเหตุที่ผลักดันให้พวกเขาเข้าร่วมการชุมนุมคือการที่เจ้าหน้าที่รัฐห้ามการแสดงออกทางการเมือง

ด้าน แอดมินเพจ ‘ทะลุแก๊ซ – Thalugaz’ ให้สัมภาษณ์ 101 ว่า “ผมขอยืนยันว่าม็อบทะลุแก๊ซสนับสนุนแนวทางสันติวิธี แต่ไม่ใช่สันติวิธีอหิงสา สันติวิธีในนิยามของพวกเราคือการไม่มุ่งเน้นที่จะเอาชีวิตใคร เราเพียงแค่จะทำลายทรัพย์สินที่เป็นของรัฐ หรือทรัพย์สินของชนชั้นนายทุนที่สนับสนุนการมีอยู่ของรัฐเผด็จการเท่านั้น แต่ก็ยังไปไม่ถึงขั้นนั้น ตอนนี้เรายังมีเป้าหมายเดียวคือการทำลายอำนาจรัฐ” และ “จริงๆ แล้วผู้ชุมนุมม็อบทะลุแก๊ซมีเพดานของพวกเขา…ผมให้ทีมงานลงไปสำรวจในพื้นที่ว่าแต่ละกลุ่มมีการเตรียมอาวุธมาตอบโต้เจ้าหน้าที่รูปแบบไหนบ้าง เท่าที่ผมรู้บางคนก็พกปืนไทยประดิษฐ์มา แต่ผมเคยถามน้องๆ นะว่าถ้ามีขนาดนี้ ทำไมถึงยังไม่ใช้ เขาตอบกลับมาว่า ที่ยังไม่ใช้ก็เพราะพวกผมไม่เอากันถึงตายไงพี่ พวกผมยังเห็นพวกเขา (คฝ.) เป็นมนุษย์อยู่”

แม้ว่าแนวทางดังกล่าวถูกคนจำนวนมากในสังคมมองว่าเป็นความรุนแรงที่จะทำลายความชอบธรรมของการต่อสู้ประชาชน แต่ในทัศนะของ ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักวิชาการอิสระ ผู้ศึกษาการต่อสู้ด้วยสันติวิธีของขบวนการภาคประชาชนทั้งในและนอกประเทศ เห็นว่าสันติวิธีเป็นเครื่องมือของคนที่อ่อนแอกว่าในการต่อสู้ โดยทั่วไป นักสันติวิธีสายปฏิบัติจึงพยายามนิยามสันติวิธีให้กว้างที่สุดเพื่อเพิ่มอำนาจให้คนอ่อนแอ ในเบื้องต้นจะนิยามว่าเป็นวิธีที่ไม่ทำร้ายร่างกายสิ่งมีชีวิต ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ และไม่ทำลายทรัพย์สินของคนที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่คู่กรณีกัน

“บางครั้งสังคมไทยเข้าใจว่าสันติวิธีต้องไม่ตอบโต้อะไรเลย…ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐยิงกระสุนยางมา เราโมโห ขว้างขวดน้ำกลับไป ซึ่งทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่คุณจะไม่นับว่าเป็นสันติวิธีหรือ? การตอบโต้เพราะความโกรธจากการถูกกระทำเป็นความรุนแรงในสายตาคุณหรือ?

“ถ้าสังคมนิยามความรุนแรงแคบแค่นี้ ผู้ชุมนุมคงทำอะไรไม่ได้เลย และมันจะเป็นการลิดรอนอำนาจของคนอ่อนแอให้ไร้อำนาจยิ่งขึ้นไปอีก ฝ่ายที่มีอำนาจอยู่แล้วก็ยิ่งมีอำนาจเพิ่มขึ้นอีก” ภัควดีกล่าวและให้ความเห็นเรื่องผู้ชุมนุมดินแดงว่าเป็นเรื่องดีที่พวกเขาได้นิยามสันติวิธีของตัวเอง ซึ่งสังคมก็ถกเถียงกันต่อไปได้

“สังคมไทยเป็นสังคมที่นิยมในความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่นิยมอะไรก็ตามที่มาท้าทายระเบียบ แต่ในการต่อสู้ก็มีการท้าทายเกิดขึ้นบ่อย พอเกิดบ่อยคนก็เคยชิน และรู้สึกว่าบางครั้งการท้าทายระเบียบไม่ได้ทำให้สังคมล่มสลาย แต่ช่วยทำให้เสียงของคนที่ต่อสู้อยู่มีผู้ได้ยินมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากลัวกว่าคือการใช้ความรุนแรงจากภาครัฐซึ่งเป็นผู้ถือครองอาวุธและอำนาจ และประสบการณ์จากประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็ให้บทเรียนแล้วว่า รัฐไทยสามารถใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่ต่อต้านได้ถึงระดับการระดมฆ่าผู้ชุมนุมกลางเมือง

“มันอาจมีบางช่วงเวลาที่สังคมเราเป็นประชาธิปไตย มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่ยึดโยงกับประชาชนพอสมควร ช่วงนั้นสภาพชีวิตของคนไทยอาจดีขึ้นมาหน่อย แต่มันก็เป็นแค่ช่วงสั้นๆ เพราะเกิดการรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำอีก รัฐประหารเสร็จก็กลับไปเป็นแบบเดิม ประชาชนคือชีวิตที่ไม่ได้มีความหมายต่อผู้ปกครอง 

“ตราบใดที่เรายังตกอยู่ภายใต้สภาพที่สถาบันในสังคมไม่ยึดโยงกับประชาชน มีความเป็นอาณานิคมภายในเช่นนี้ ก็ไม่แปลกที่จะเกิดความรุนแรงเป็นระยะเมื่อเกิดการต่อต้าน นายทาสต้องฆ่าทาสทิ้งเพื่อให้ทาสคนอื่นเห็นเป็นตัวอย่างว่าอย่าได้คิดขัดขืน วนซ้ำกันไปมา” ภัควดีกล่าว

เหตุการณ์ทางการเมืองที่ต่อเนื่องในช่วงสองปีที่ผ่านมาทำให้ภูมิทัศน์ทางการเมืองเปลี่ยนไป จากปี 2020 ที่มีการยกระดับการต่อสู้ภาคประชาชนจนมีการชุมนุมล้นหลามทั่วประเทศและเกิดข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ นำพาให้ปี 2021 เป็นห้วงเวลาที่ทำให้สังคมต้องพูดคุยกันถึงเรื่องใหญ่ๆ ที่เคยหลีกเลี่ยงมาตลอด ซึ่งเกิดขึ้นบนเงื่อนไขที่ว่าผู้มีอำนาจยังคงต้องการกดปราบผู้ชุมนุมอย่างถึงที่สุด จนการชุมนุมของผู้ชุมนุมกลุ่มเดิมทำได้ยากลำบากยิ่งขึ้น แต่ในความบีบคั้นกดดันนี้ก็ทำให้เกิดม็อบดินแดง อันเป็นการรวมตัวแบบไม่มีแกนนำของกลุ่มคนที่บอกว่าจะไม่ยอมนิ่งเฉยเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายอีกต่อไป

แน่นอนว่าการขยับตัวของสถาบันตุลาการในช่วงปลายปีที่มีการตัดสินคดีล้มล้างการปกครองจะส่งผลถึงการเมืองภาคประชาชนในก้าวต่อไปไม่น้อย แต่ในช่วงสองปีที่ผ่านมาภาคประชาชนได้ลองผิดลองถูกและยกระดับการต่อสู้เรียกร้องให้กว้างขวางขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

การกดปราบจากรัฐไทยย่อมดำเนินต่อไปอย่างเช่นที่เคยเป็นมา แต่ที่เปลี่ยนไปคือการเกิดขึ้นของ ‘สปิริตการต่อสู้’ ที่ทำให้คนจำนวนมากแสดงจุดยืนถึงหลักการเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ

ท่ามกลางอันตรายและความเสี่ยงที่สร้างโดยรัฐไทย ประชาชนยังคงยืนยันว่าจะไม่สยบยอมต่อโครงสร้างและแสร้งว่ามองไม่เห็นปัญหาใหญ่เหมือนที่ผ่านมา

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save