fbpx

“อาหารข้าวปลาคือเนื้อหาของประชาธิปไตย” บารมี ชัยรัตน์ วันที่ม็อบคนจนถูกตอบกลับด้วยเสียงปืน

ฉากความรุนแรงที่ดำเนินไประหว่างการสลายการชุมนุม ‘ราษฎรหยุดเอเปก’ ในวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ช่างขัดกับภาพข่าวอาหารจานเด็ดที่เหล่าผู้นำต่างชาติได้ลิ้มรส และความชื่นมื่นที่ปรากฏในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific Economic Cooperation – APEC) มีผู้ชุมนุมหลายคนได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการใช้กำลังของตำรวจควบคุมฝูงชน โดยมีการยิงกระสุนยางจนทำให้ผู้ชุมนุมตาบอด หลังคลื่นความโกลาหลสงบลง มีมวลชนถึง 25 คนถูกควบคุมตัว หนึ่งในนั้นคือบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ผู้ต่อสู้บนเส้นทางการเรียกร้องประชาธิปไตยมาแสนนาน

การใช้ความรุนแรงอย่างไม่ได้สัดส่วนกับสถานการณ์ของตำรวจควบคุมฝูงชนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวาง เหตุใดรัฐจึงเลือกใช้ ‘ไม้แข็ง’ ต่อประชาชน โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังจะปรับสู่โหมดการเลือกตั้ง แล้วการเลือกตั้งที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่นี้จะบรรเทาปัญหาและข้อเรียกร้องต่างๆ ได้อย่างไร บารมี ชัยรัตน์ จากสมัชชาคนจน จะตอบคำถามทั้งหมดนี้ด้วยมุมมองของผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวทางการเมืองอย่างแท้จริง


หมายเหตุ : เก็บความบางส่วนจาก 101 One-on-One Ep. 283 ‘จากม็อบเอเปกเลือด สู่โจทย์ใหญ่การเมืองภาคประชาชน’ กับ บารมี ชัยรัตน์ ออกอากาศเมื่อวันพุธที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ดำเนินรายการโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

ไขความจริง: เกิดอะไรขึ้นในวันที่ 18 พฤศจิกายน

“วันนี้ก็ไปสภามาด้วยใช่ไหม” 

แม้ความรุนแรงในวันที่ 18 พฤศจิกายนจะเพิ่งผ่านพ้นไป แต่ในวันที่มาพูดคุยกับ 101 นั้น บารมีเพิ่งกลับจากการต่อสู้อีกหนหนึ่งของชีวิตการเมือง เขาเล่าว่ากลุ่มผู้มีฐานะยากจนในภาคใต้ต้องการให้เขาเสนอความเห็นต่อประเด็นการขุดดินในที่ดินทำกินและที่ดินสาธารณประโยชน์เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาของกรมทรัพยากรน้ำ โดยชาวบ้านเชื่อว่าการกระทำนี้เป็นการทำลายระบบนิเวศและสาธารณสมบัติ

เมื่อถามถึงการชุมนุมครั้งที่ผ่านมา บารมีถึงกับออกปากว่า ตลอดระยะเวลาที่ได้ต่อสู้มานั้น ไม่เคยมีการต่อสู้ครั้งใดรุนแรงเหมือนครั้งนี้

“เมื่อสมัชชาคนจนถอดบทเรียนกัน แม่ๆ ที่ผ่านการต่อสู้ในประเด็นเขื่อนปากมูล เขื่อนแก่งเสือเต้น หรือเขื่อนราษีไศล ถึงกับออกปากเหมือนๆ กันว่าเจอความรุนแรงมานักต่อนักจนไม่ยี่หระอะไรแล้ว ทั้งกระบอง โล่ แก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย เพิ่งวันที่ 18 นี้เองที่ได้ยินเสียงปืน การชุมนุมของเราร้ายแรงถึงขั้นที่ต้องใช้ปืนยิงกันเลยหรือ”

บารมีบอกว่า ‘ม็อบ’ ที่เผชิญความรุนแรงในวันนั้นเป็นม็อบผสม คือผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นชาวบ้าน โดยมีคนรุ่นใหม่และกลุ่มราษฎรเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือในการจัดกิจกรรม

อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่า “เราไม่ได้จะขับไล่รัฐบาลหรือล้มเอเปก แต่จะประจานรัฐบาลต่างหาก เพราะโครงการที่รัฐบาลผลักดันผ่านเอเปกนั้นไม่ชอบธรรมและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน นายกฯ อาศัยโอกาสนี้ผลักดันนโยบายของตัวเองเป็นนโยบายของเอเปก คุณตั้งใจจะใช้เอเปกอนุมัตินโยบายและปิดปากประชาชน เราไม่ได้มีความคิดจะปิดศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์หรือก่อความวุ่นวายเลย”

ดูเหมือนชนวนความรุนแรงจะมาจากความสับสนในการประสานงานและการบังคับบัญชา เพราะบารมียืนยันว่าเขาแจ้งการชุมนุมอย่างถูกต้องถึงสามครั้งต่อสี่สถานีตำรวจนครบาล ได้แก่ สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม นางเลิ้ง ดุสิต และสำราญราษฎร์ ว่าจะใช้พื้นที่โดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงทำเนียบรัฐบาล เพราะยังไม่ได้ตกลงใจว่าจะทำอะไรแน่ 

แต่เมื่อตกลงใจได้และแจ้งการชุมนุมที่ลานคนเมือง ตำรวจให้ชี้แจงเส้นทางการเดินทางด้วย เมื่อบารมีชี้แจงแล้ว อีกฝ่ายก็ไม่อนุญาต โดยแจ้งว่าไม่อนุญาตในเวลา 02.00 น. ของเช้าวันที่ 18 พฤศจิกายน ซึ่งเขาเห็นว่ากระชั้นชิดเกินไป “หน้าที่ของเจ้าหน้าที่คือจัดการกับการชุมนุมด้วยกฎหมายการชุมนุมฯ ต้องไปฟ้องศาล ถ้าเราไม่เห็นด้วยก็อุทธรณ์กันไป แต่นี่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย”

ดูเหมือนเหตุการณ์ไม่ควรบานปลายไปถึงจุดที่เป็นอยู่ได้เลย เพราะม็อบอยู่ไกลจากศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์พอสมควร ซึ่งบารมีก็สงสัยประเด็นดังกล่าวเช่นกัน เขาเล่าว่ามีเค้าลางความรุนแรงตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน เมื่อกลุ่มคนรุ่นใหม่ไปจัดกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแล้วถูกจับกุมพร้อมยึดป้ายผ้า เมื่อสอบถามว่าเขียนอะไรผิด พาดพิงสถาบันกษัตริย์หรือไม่ ก็พบว่าไม่มีแม้แต่ผืนเดียว 

“ตำรวจพยายามบอกว่าพวกเราไม่ได้แจ้งการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่แจ้งที่เมธาวลัย ศรแดง ผมก็เถียงว่าเราไม่ได้แจ้งอย่างนั้น เราแจ้งการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ฯ ฝั่งเมธาวลัย ศรแดงและแมคโดนัลด์ เว้นแต่ว่าคุณตีความโดยกะล่อน” 

เมื่อมีเหตุไม่ปกติเช่นนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมจึงเห็นว่าต้องกลับไปจัดกิจกรรมประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอีกครั้ง ก่อนจะเดินทางต่อไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แต่บารมีคิดว่าคงไปไม่ถึงแน่เพราะระยะทางค่อนข้างไกล โดยเขาตั้งใจจะตั้งเวทีการชุมนุมบริเวณหอศิลปและวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปัญหาคือตำรวจไม่อนุญาตให้ผู้ชุมนุมไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยอธิบายว่าเป็น ‘พื้นที่พิเศษ’ ซึ่งบารมีไม่ยินยอม 

“ปรากฏว่ายังไม่พ้นศาลาว่าการกรุงเทพมหานครก็เจอเจ้าหน้าที่ชุดหนึ่ง เราเจรจาขอให้เปิดทาง เจ้าหน้าที่ชุดนั้นก็ถอยไป ต่อมาอีกชุดหนึ่งนำรถมากั้นไว้ พยายามพูดคุยด้วยก็เงียบ ทีมการ์ดเลยบอกว่าจะดันรถ จังหวะที่ดันอยู่ ตำรวจควบคุมฝูงชนก็เข้ามาตี ตีไม่เท่าไรหรอก แต่มีกระสุนยางเข้ามาด้วยนัดหนึ่ง ทั้งที่เพิ่งดันกันเดี๋ยวเดียว เราก็ตกใจ น้องๆ ก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นหาสลิงมาลากรถดีกว่า เพราะตำรวจไม่เปิดทางให้ พอนำสลิงมาลากรถ ทางนั้นก็เข้ามาตีอีก มีกระสุนยางประปราย เราก็พยายามเจรจากับเจ้าหน้าที่อีกครั้งว่า ต่างฝ่ายต่างอยู่ในที่มั่นของตัวเองเถอะ การ์ดจะถอยออกมาห้าเมตร พี่น้องที่ชุมนุมก็ถอยออกมาร่วมร้อยเมตร ผมผละจากเวทีมานั่งที่จุดแจกอาหาร ไม่ได้คิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตกลงกันแล้วด้วยซ้ำว่าถ้าอิ่มแล้วจะถอยลงมาอีกหน่อยหนึ่ง แล้วตั้งเวทีตรงนั้น ออกแถลงการณ์ แล้วเลิกภายในบ่ายสามโมง”

เพียงแต่ระหว่างที่นั่งรับประทานอาหารอยู่นั้นก็มีเสียงปืน ก่อนผู้ชุมนุมจะแตกฮือมาถึงจุดที่บารมีนั่งอยู่ ขณะนั้นบารมีรู้แต่ว่าเพื่อนร่วมงานของเขาถูกยิงที่ท้อง ก่อนเขาจะถูกควบคุมตัวไปที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง

เบื้องหลังความรุนแรง และการเลือกตั้งในฐานะหนทางแก้ไข

บารมีคาดว่ามีตำรวจชั้นผู้ใหญ่ฉวยโอกาสใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม เพราะมีคำสั่งสับเปลี่ยนชุดตำรวจควบคุมฝูงชนกลางคัน

“ตำรวจ คฝ. ที่เข้ามาตีเราสองครั้งแรกนั้นไม่มีผ้าพันคอสีเขียว แต่ชุดที่เข้ามาจับกุมผมมีผ้าพันคอสีเขียว ชุดนี้พูดกับผมด้วยน้ำเสียงกระด้างเหมือนผมเป็นข้าศึก เป็นคนที่ต้องฆ่าให้ตาย เขาพูดทำนองว่า ‘เฮ้ย! กูนี่ละของจริง เมื่อกี้นี้ไม่ใช่’ ผมได้ยินกับหูเลย”

บารมีอธิบายต่อไปว่า ตำรวจควบคุมฝูงชนชุดแรกนั้นยังเน้นตีผู้ชุมนุมที่ลำตัวหรือแขนขา แต่ชุดหลังนี้มุ่งตีที่ศีรษะ “ใครคือคนที่ออกคำสั่งกองกำลัง คฝ. ชุดนั้น ผมว่าคนคนนั้นเองที่ต้องการให้เกิดเหตุรุนแรง”

ระหว่างที่สถานการณ์ภายนอกทะลุจุดเดือด สถานการณ์ภายในสถานีตำรวจนครบาลก็คุกรุ่น บารมีเจรจาให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมทุกคนในคืนนั้นโดยไม่ดำเนินคดี ให้ดำเนินคดีกับเขาเพียงคนเดียว แต่ตำรวจปฏิเสธ บารมีจึงยื่นข้อเสนอให้จับเขาไว้เป็นตัวประกันแล้วปล่อยในวันรุ่งขึ้น เหตุการณ์ดูจะลงเอยด้วยดี แต่แล้วก็มีคำสั่งให้ควบคุมตัวผู้ชุมนุมไว้สี่คนแทน จน ส.ส.รังสิมันต์ โรม เข้ามาไกล่เกลี่ย จึงตกลงกันได้ว่าจะควบคุมตัวไว้สองคนเท่านั้น

น่าเศร้าที่เมื่อถามว่าการตัดสินใจเช่นนี้ของเจ้าหน้าที่รัฐจะส่งผลต่อการเลือกตั้งหรือไม่ บารมีตอบว่าการตัดสินใจนี้ “เป็นเรื่องปกติสำหรับรัฐบาลและผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง พวกเขาไม่มีอะไรต้องรับผิดชอบหรือยึดโยงกับประชาชน”

กระนั้น เขาก็คิดว่านักการเมืองคนอื่นๆ อาจกังวลอยู่บ้าง “ถ้าผมเป็นคุณพีระพันธ์ (พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ) ก็คงกังวลถ้าคุณประยุทธ์จะมาอยู่ในพรรค เพราะคงทำให้เสียคะแนนไปมาก ผมก็ไม่รู้ว่าจะหาเสียงกันอย่างไร ถ้าคุณเลือกพรรคเรา ก็จะได้ประยุทธ์ที่จะมาทำร้ายประชาชนเหมือนเคย พูดอะไรก็ไม่ฟัง อย่างนั้นหรือ”

“ทั้งหมดนี้เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เปิดโอกาสให้ผู้นำอย่างนี้เข้ามาดำรงตำแหน่งได้ ถ้าถามว่าจะเอาอย่างไรต่อไป ผมว่าต้องรื้อ ต้องแก้ไข ปรับเปลี่ยนให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นฉบับของประชาชน อย่างน้อยก็ต้องดีเท่ากับรัฐธรรมนูญ ปี 2540” เขายืนกราน “ผมว่าทั้งรัฐบาลและตำรวจมีวิธีคิดเหมือนกัน เจ้าหน้าที่ก็อ้างว่าใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ คุณรู้ไหม แต่ก่อนไม่มีการใช้กระสุนยาง แต่พอมี พ.ร.บ. นี้ ก็เหมือนมีช่องทางให้ตำรวจฉวยโอกาสทำร้ายประชาชนได้ พ.ร.บ. นี้ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มี ดร.อมรา พงศาพิชญ์ เป็นประธาน ซึ่งผมก็แปลกใจว่าทำไมกรรมการสิทธิฯ จึงสนับสนุนกฎหมายที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิฯ อย่างนี้ได้ พ.ร.บ. นี้ก็ควรถูกยกเลิกเหมือนกัน”

และก็เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นี่เองทำให้บารมีเห็นว่าการเลือกตั้งในปี 2566 จะไม่ใช่เครื่องมือแก้ไขปัญหา “ตราบใดที่มี ส.ว. 250 คนพร้อมเลือกนายกฯ ของตัวเอง และนายกฯ ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง” 

หนทางเดียวที่การเลือกตั้งนี้จะทำให้ลมเปลี่ยนทิศได้ คือพรรคการเมืองทุกพรรคต้องทำ ‘สัญญาประชาคม’ กับประชาชนว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ปรับโครงสร้างทางการเมืองใหม่ “ที่สำคัญที่สุดคือจะทำอย่างไรให้ฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบฝ่ายบริหารได้อย่างจริงๆ จังๆ ไม่ใช่ลิ่วล้อหรือลูกไล่ของฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการก็ต้องมีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชน องค์กรอิสระทั้งหลายก็ควรจะเป็นอิสระอย่างแท้จริง และจะต้องมีอำนาจรองรับเพื่อกำกับอำนาจอื่น รวมถึงต้องตรวจสอบได้ด้วย ไม่ใช่ตัดสินอะไรมาก็ตรวจสอบไม่ได้เลย”

แน่นอนว่าในมุมมองของสมัชชาคนจน ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่บารมีไม่เคยมองข้ามคือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและชุมชน “การกระจายอำนาจเป็นวิธีเดียวที่จะยับยั้งความขัดแย้งไม่ให้เดินทางมาถึงส่วนกลาง เพราะท้องถิ่นหรือชุมชนจัดการกันเองได้ ไม่ต้องวิ่งมาหารัฐบาลเสียหมด ทางสมัชชาคนจนเองได้เขียนรัฐธรรมนูญคนจนขึ้นมาด้วย เพราะเราเห็นตั้งแต่ปี 2559 แล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะมาถึงนี้เลวร้ายมาก โดยจะนำเสนอรัฐธรรมนูญคนจนในวันที่ 10-11 ธ.ค. นี้ ขอเชิญชวนหัวหน้าพรรคการเมืองมาทำสัญญาประชาคมร่วมกับเราด้วย”

ทบทวนเรื่องราวการต่อสู้ และมองต่อไปข้างหน้า

บารมีเชื่อว่าหากมวลชนรวมตัวกันได้มากเพียงพอย่อมจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมและการเมืองได้ แต่ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีบนถนนการเมืองของเขา บารมียอมรับว่าการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนเหนียวแน่นของภาคประชาชนนั้นทำได้ยาก แต่ถึงอย่างไรก็ต้องพยายาม เพื่อออกแบบรัฐธรรมนูญที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

“ต้องมีพลังอื่นๆ เข้ามาช่วยเหลือเรา ทั้งคนรุ่นใหม่ที่ตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพ ทั้งพลังของพวกนักวิชาการที่อยากเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย รวมถึงพลังของสื่อมวลชน ตอนนี้ผมร่างรัฐธรรมนูญฉบับคนจน เพราะนี่คือความต้องการของเรา แต่ผมพร้อมจะถกเถียงกับทุกฝ่ายเพื่อให้มันกลายเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง จะมีฉบับนายทุน ฉบับพระสงฆ์ก็ได้ แล้วมาพูดคุยกัน ดีกว่าให้คนไม่กี่คนร่างกฎหมายอะไรไม่รู้เพื่อรับใช้ชนชั้นปกครอง”

เหตุที่บารมียังมีศรัทธาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นนี้ เพราะบนถนนการเมืองของเขานั้น รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เป็นสิ่งเดียวที่จุดประกายความหวังให้เขา

“ปี 2540 เป็นปีที่ผมมีความหวังที่สุด สมัชชาคนจนจัดการชุมนุม 99 วันที่ทำเนียบรัฐบาล ไม่ใช่แค่ชุมนุมได้ แต่ ส.ส.ร. (สภาร่างรัฐธรรมนูญ) มารับฟังความเห็นของเราด้วย เราได้แสดงความเห็นหลายเรื่องทีเดียว ทั้งประเด็นกรรมการสิทธิฯ ศาลปกครอง การกระจายอำนาจ ระบบประกันสุขภาพ และสื่อ ตอนนั้นวิทยุชุมชนผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เราถือว่านั่นเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนฉบับแรก และเราใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นเป็นเครื่องมือเจรจากับระบบราชการให้แก้ไขปัญหาให้เรา”

“สิ่งที่เห็นในตอนนั้นคือความเสมอหน้าระหว่างชาวบ้านกับข้าราชการ จากต้องไปประชุมกับผู้ว่าฯ ในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศจนเย็น นั่งหนาวสั่นกดไมโครโฟนถูกๆ ผิดๆ จะพูดก็ไม่กล้าพูด กลายเป็นประชุมที่วัดบ้าง ใต้ต้นไม้บ้าง ผู้ว่าฯ ก็ถลกแขนเสื้อ ถอดเนกไท ใส่ผ้าขาวม้ามาพูดคุย คุยกันแบบที่ไม่ต้องคลานเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ เราเดินไปหานายอำเภอได้เหมือนไปบ้านเพื่อนคนหนึ่งด้วยซ้ำ ข้าราชการก็เข้าใจและเข้าหาชาวบ้านมากขึ้น สถานการณ์นี้คงอยู่ได้ระยะหนึ่งจนเกิดรัฐประหาร โดยเฉพาะรัฐประหารปี 2557 ที่ทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง” 

ถึงอย่างนั้น บารมีก็ยังมองไปข้างหน้าอย่างมีหวัง “สิ่งที่เป็นความหวังในปี 2540 ถูกคณะรัฐประหารทำลายไปแล้ว แต่ถามว่ามีหวังไหม ผมว่ามี ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่เป็นความหวัง คนที่ต่อสู้กับเผด็จการในโรงเรียน และความไม่เป็นธรรมที่ลิดรอนเสรีภาพของพวกเขา นี่ละพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง มันคงจบในรุ่นผมนี่เอง”

เมื่อถามว่าในฐานะกระบอกเสียงของคนยากจน เขาต้องการฝากอะไรถึงพรรคการเมืองทั้งหลายในการเลือกตั้งครั้งหน้าบ้าง บารมีแยกคำตอบเป็นสองประเด็นใหญ่ คือการปฏิรูปที่ดินและการยกเลิกหนี้สิน

“ตอนนี้การจัดการที่ดินของไทยวุ่นวายมาก กรมที่ดินมีเอกสารสิทธิ์หลายชนิด มีแผนที่และฐานข้อมูลที่ไม่เป็นปัจจุบันมากมาย เกิดข้อพิพาทที่ดินทับซ้อนไม่น้อย ขณะเดียวกัน พื้นที่ป่าหรือที่ดินของรัฐอื่นก็ถูกขีดเอาในแผนที่เป็นเขตป่าโดยไม่มีการสำรวจอย่างจริงจัง ทั้งที่มีคนอยู่จำนวนมากในที่เหล่านี้ กลายเป็นว่าพวกเขาอยู่อย่างไม่ถูกกฎหมาย ต้องอพยพออกเพื่อนำที่ดินไปปลูกป่าเป็นคาร์บอนเครดิต นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เราต้องออกมาประท้วงเอเปก สิ่งนี้อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วย”

เขาเชื่อว่าอำนาจการจัดการที่ดินนั้นต้องถูกจัดสรรใหม่ หน่วยงานและกฎหมายที่ทับซ้อนกันต้องถูกชำระให้เรียบร้อย ประชาชนต้องรับรู้ว่าตนมีอำนาจจัดการที่ดินมากน้อยเพียงใด และรัฐมีอำนาจจัดการป่ารวมถึงที่สาธารณประโยชน์อย่างไรด้วย 

“ต้องตกลงกันใหม่ทั้งหมด ถ้าตกลงกันได้ก็กระจายการถือครองที่ดินได้ ถ้าที่ดินยังกระจุกอยู่ในมือของคนไม่กี่ตระกูลอย่างนี้คนก็ไม่กล้าทำอะไร ดังนั้นอีกประเด็นที่ผมคิดถึงคือต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ด้วย ทำอย่างไรให้เป็นที่เคารพสักการะของประชาชน อยู่ได้โดยไม่ต้องลงมาข้องเกี่ยวกับการเมืองหรือมาทำธุรกิจที่ดิน”

นอกจากนี้ บารมียังแจกแจงปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวของคนยากจนที่หลายคนอาจไม่เคยทำความเข้าใจ “หนี้สินไม่ใช่เรื่องระหว่างปัจเจกต่อปัจเจก เพราะการจะไปขอกู้เงินจาก ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) นั้นต้องกู้เป็นกลุ่ม ใครไม่จดทะเบียนสมรสก็ต้องไปจด เพราะ ธ.ก.ส. ก็กลัวจะเสียประโยชน์ จะให้คนโสดไปกู้ก็ยากหน่อย ต้องหาคนร่วมใช้หนี้ กลายเป็นจะเป็นหนี้ทีก็เป็นกันทั้งยวง จะฟ้องก็ต้องฟ้องกันทั้งยวง กู้ก็ต้องกู้กันทั้งยวง ถ้าเราเลิกกู้ไปสักคน คนอื่นก็กู้ไม่ได้ ต้องหาทางจัดการปัญหานี้ให้ได้ ให้ ธ.ก.ส. เป็นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรอย่างแท้จริง”

บารมียืนยันว่าปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรื้อรังที่สุดปัญหาหนึ่ง และไม่ได้เกิดจากความฟุ้งเฟ้อของประชาชนแต่อย่างใด “ยกตัวอย่าง ทำไมเราต้องซื้อมอเตอร์ไซค์ให้ลูกขับไปโรงเรียน เพราะโรงเรียนดีๆ ไม่ไปตั้งที่บ้านเราน่ะสิ ถ้าอยากให้ลูกอ่านหนังสือออกก็มีแต่ต้องส่งลูกเข้าไปเรียนในเมือง ก็มีค่าใช้จ่ายอีก กรุงเทพฯ ว่ารอรถเมล์นานแล้ว ชนบทรอนานกว่านั้นไม่รู้กี่เท่า ตกรถเมล์สักเที่ยวอาจไม่ได้ไปโรงเรียนเลย ก็ไม่แปลกที่ต้องซื้อรถมอเตอร์ไซค์ให้ลูกขับไปโรงเรียน”

โดยหนี้สินที่หนักหน่วงกว่านั้นคือหนี้สินจากการซื้อรถยนต์ ซึ่งหลายคนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องซื้อ “โรงพยาบาลดีๆ ก็กระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งนั้นเลย คนในอำเภออมก๋อยแค่จะไปโรงพยาบาลประจำอำเภอก็ใช้เวลาสามชั่วโมงแล้ว บางบ้านในอีสานต้องซื้อรถยนต์เพียงเพื่อให้พาคนเจ็บไปโรงพยาบาลได้เท่านั้นเอง หนี้สินมากมายเกิดขึ้นเพราะอย่างนี้ ไม่รวมหนี้สินที่เกิดจากโครงการพัฒนาของรัฐ เวลารัฐสนับสนุนโครงการต่างๆ แล้วเจ๊ง รัฐไม่ได้เจ๊งด้วย ชาวบ้านต่างหากที่เป็นหนี้สินและรัฐก็ไม่ได้มาชดใช้ให้ ดังนั้นต้องมีกฎหมายยกเลิกหนี้สิน ถ้าแก้ไขปัญหาหนี้สินและที่ดินได้ เราก็คงลืมตาอ้าปากได้”

“อาหารข้าวปลาคือเนื้อหาของประชาธิปไตย” ผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและการกินดีอยู่ดีตลอด 30 ปีย้ำ “ถ้าแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างได้ บ้านเมืองก็เป็นประชาธิปไตยได้ และต้องเป็นประชาธิปไตยด้วย ท้องจึงจะอิ่มได้”

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save