fbpx

คู่ชีวิตฤาจะสู้สมรสเท่าเทียม: การต่อสู้เพื่อสิทธิที่ถูกพรากไปกับคู่แข่งใหม่ในรัฐสภา กับ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ครม. เห็นชอบ ‘ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต’ ที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม ระบุว่าเป็น ‘ของขวัญ’ แด่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นล่วงหน้าไม่กี่วันที่ ‘ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม’ โดยพรรคก้าวไกลจะมีวาระถูกพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร

ที่ผ่านมาผู้เรียกร้องสิทธิความหลากหลายทางเพศสนับสนุนการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งตรงกับข้อเสนอของพรรคก้าวไกล เพื่อให้การสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่าเทียมกับการสมรสชาย-หญิงในทุกๆ ด้าน

101 ชวนคุยกับ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ในรายการ 101 One-on-One Ep.267: สมรสเท่าเทียม ความฝันที่เป็นไปได้? กับ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ว่าเหตุใด ‘พ.ร.บ.คู่ชีวิต’ จึงไม่สามารถทดแทน ‘พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม’ ได้ ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในสภาสะท้อนอะไร สังคมไทยเปิดกว้างแค่ไหนต่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และข้อเสนอเรื่องสมรสเท่าเทียมมีโอกาสกลายเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน



‘สมรสเท่าเทียม’ การต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางเพศอันแสนยาวนาน


ธัญวัจน์เผยว่าจริงๆ แล้วมีการยื่นร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมมาตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2563 ซึ่งอีกเพียงไม่กี่วันก็จะครบ 2 ปี เป็นการรอคอยที่ยาวนาน เนื่องด้วยหลายสาเหตุ ทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ประกอบกับสภาช่วงครึ่งปีแรกยังไม่มีห้องกรรมาธิการ จึงทำให้ยังไม่มีการทำงานแบบเต็มระบบ 

ทั้งนี้ ในช่วงที่ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยพรรคก้าวไกลจะมีวาระถูกพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นห้วงยาม Pride Month พอดิบพอดี ทั้งยังเพิ่งมีการจัดกิจกรรมบางกอกนฤมิตรไพรด์ไปไม่นาน ธัญวัจน์เล่าว่าแม้ประเทศไทยจะเคยมีพาเหรดของผู้มีความหลากหลายทางเพศตั้งแต่เมื่อ 16 ปีก่อน แต่งานดังกล่าวเรียกว่า ‘เกย์พาเหรด’ และไม่ได้มีผู้เข้าร่วมมหาศาลแบบบางกอกนฤมิตรไพรด์ ประเด็นในพาเหรดก็มีการพูดถึงการ coming out เป็นหลัก ครั้นผ่านมา 16 ปี บางกอกนฤมิตรไพรด์ปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่ผู้คนมีความตื่นตัวทางการเมืองมากมาย ออกมาสนับสนุนสิทธิต่างๆ ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และที่สำคัญคือมีการพูดถึง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมอย่างกว้างขวาง หลายคนและหลายหน่วยงานผนึกกำลังผลักดันร่างกฎหมายนี้

ธัญวัจน์กล่าวว่า วันพุธที่ 15 มิถุนายน 2565 จะมีการหารือของ ส.ส. ในประเด็นพื้นที่ของตนเองประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นจึงจะเริ่มเข้าสู่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งเดิมทีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตนได้อภิปรายเปิดร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมไปแล้ว ทว่าคณะรัฐมนตรีขอเวลาไปศึกษารายละเอียดของกฎหมายก่อน และล่าสุดก็ได้รับข่าวจาก ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ว่าตอนนี้วิปรัฐบาล (สมาชิกผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล) มีมติไม่รับร่าง ซึ่งการที่มีมติเช่นนี้เท่ากับว่าคณะรัฐมนตรีต้องมีคำชี้แจงถึงเหตุผลที่ไม่รับร่าง ธัญวัจน์คาดว่าน่าจะเป็นกรมคุ้มครองสิทธิและสำนักงานกฤษฎีกามาชี้แจง วันพุธนี้คงจะได้เห็นข้อโต้เถียงว่าไม่เห็นด้วยตรงไหน อย่างไร ต้องอภิปรายให้ประชาชนรับทราบ

ด้านวิปรัฐบาลที่ลือว่าจะไม่รับ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมนั้น ธัญวัจน์กล่าวว่าแท้จริงแล้ว ส.ส. ทุกคนมีเอกสิทธิ์ของตนเอง ยกตัวอย่างเช่นกรณีร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่ตอนแรกคณะรัฐมนตรีมีมติไม่รับร่าง แต่สุดท้ายร่างกฎหมายนี้ก็ผ่านโหวต แปลว่าทุกอย่างเกิดขึ้นได้ในวันพุธนี้ (15 มิ.ย.) ช่วงที่ผ่านมา ส.ส.พรรคก้าวไกลทุกท่านก็พยายามสื่อสารเพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าใจถึงความสำคัญของ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมมากที่สุด

“เรายืนยันว่าสมรสเท่าเทียมเป็นเรื่องที่เราถูกพรากไป เราไม่ได้ขอ ไม่ได้ต้องการสิ่งที่ใกล้เคียง ไม่ต้องการสิ่งที่คล้ายคลึง แต่เรากำลังขอคืนความเท่ากัน เพราะมันเป็นสิทธิที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดว่าจะตัดสินใจสร้างครอบครัวกับใคร ปัญหาของเรื่องสมรสเท่าเทียมคือการเขียนกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่วิธีคิดเรื่องเพศยังไม่ก้าวหน้า 

“การมีมติไม่รับร่างแสดงให้เห็นว่ารัฐไม่มีเลนส์ในเรื่องของเพศวิถี กฎหมายของเรายังไม่ได้พัฒนาไปสู่เรื่องของอัตลักษณ์ทางเพศ มันยังคงยึดติดอยู่กับเรื่องของเพศตรงข้าม ทำให้เป็นเหมือนเสรีภาพที่ยังไม่เต็ม 100%” ธัญวัจน์ย้ำ

นอกจากนี้ ธัญวัจน์ยังเล่าว่ามีโอกาสได้พูดคุยกับ ส.ส.หลายท่าน โดยเฉพาะ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย เมื่อเข้าไปถามทางพรรคภูมิใจไทย คำตอบที่ได้รับคือจะ ‘ฟรีโหวต’ (การโหวตที่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของตนเอง) อีกทั้ง ส.ส.พรรคภูมิใจไทยยังเคยอภิปรายสนับสนุนสมรสเท่าเทียม ส่วนตัวมองว่าเมื่อ ส.ส.ได้ให้คำสัญญาหรือแสดงจุดยืนสนับสนุนในสภาไปแล้ว ย่อมนำมาซึ่งแรงกดดัน หากสุดท้ายโหวตไม่รับรองก็อาจจะมีผลกระทบต่อคะแนนความนิยมของพรรคการเมืองตามมาในภายหลัง อีกทั้งยังจะเป็นการโหวตที่สะท้อนให้เห็นถึงเกมการเมืองและความจริงใจที่นักการเมืองมีต่อประชาชนอีกด้วย

“การที่ ส.ส. ไม่โหวตสมรสเท่าเทียม มี 2 ประเด็น คือความจริงใจต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศว่าสุดท้ายมีพรรคการเมืองไหนที่จริงใจบ้าง คุณจริงใจหรือสนใจแค่เรื่องการเมือง การเมืองในที่นี้คือกังวลว่าถ้าร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมผ่านจะกลายเป็นผลงานของพรรคก้าวไกล แต่ความจริงที่เราตัดสินใจยื่นกฎหมายนี้ เพราะเราเชื่อว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องของทุกคน ทุกพรรคก็มีกลุ่ม LGBTQ ที่รอความเท่าเทียมอยู่เช่นกัน 

“เราไม่ได้ไปผูกขาดหรือมัดมือมัดเท้าไม่ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกฎหมายสมรสเท่าเทียม จริงๆ ฝ่ายรัฐบาลก็เสนอกฎหมายนี้ได้ แต่คำถามคือทำไมเขาไม่เสนอล่ะ ถ้าพรรคก้าวไกลไม่ยื่น ประชาชนก็จะเข้าใจว่ากฎหมายคู่ชีวิตคือสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว สมรสเท่าเทียมและคู่ชีวิตคือกฎหมายที่สะท้อนให้เห็นวิธีคิดของรัฐที่มีต่อประชาชนและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และฝ่ายค้านที่พยายามจะต่อสู้เพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางเพศ

“เรายังเคยไปบอกท่านรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเลยว่าประชาชนต้องการสมรสเท่าเทียม ยื่นร่างของกฎหมายของภาคประชาชนให้ท่านรัฐมนตรีกับมือ แต่เขาก็ไม่เสนอเข้าสู่สภา” ธัญวัจน์เสริม


เมื่อ ‘สมรสเท่าเทียม’ กลายเป็นส่วนหนึ่งของเกมการเมืองไทย


จากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพุธที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา ธัญวัจน์มองว่ามีการถ่วงเวลาไม่ให้ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเข้าสภา ประชาชนจำนวนไม่น้อยคงรู้และดูออก เนื่องจากมีการอภิปรายหัวข้อวนซ้ำกันไปมาจนมีเวลาไม่เพียงพอต่อการพิจารณารับหลักการของร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ทั้งยังมีการยื่นร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตของฝ่ายรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นสู้ เป็นนัยว่าไม่สนับสนุนสมรสเท่าเทียม แต่เลือกกฎหมายคู่ชีวิต 

“เวลาคุณขึ้นสีสายรุ้งในเพจเฟซบุ๊ก หรือเวลาที่คุณบอกว่าคุณเคารพความหลากหลายทางเพศ ตอนนี้แหละที่ประชาชนจะมองเห็นความจริงใจของคุณเอง”

นอกจากนี้ ธัญวัจน์สังเกตว่าเวลากรมคุ้มครองสิทธินำเสนอร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต จะไม่มีการนำรายละเอียดมาเปรียบเทียบกับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม การสื่อสารเช่นนี้ทำให้ประชาชนสับสนว่าสุดท้ายแล้วกฎหมายทั้ง 2 ตัวต่างกันอย่างไร และประชาชนจะได้สิทธิอะไรบ้าง ในการออกกฎหมายใดๆ รัฐบาลไม่ควรทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและมีคำถามมากมายเช่นนี้ 

“ถ้าเป็นสมรสเท่าเทียม เราจะไม่ต้องมาถามว่าประชาชนจะได้อะไรหรือไม่ได้อะไรบ้าง เพราะทุกคนจะได้ทุกอย่างตามที่คู่สมรสได้รับ ไม่ต้องมีคำถามต่อ และหลักการสำคัญคือคู่ชีวิตไม่เหมือนสมรสเท่าเทียม เพราะกฎหมายคู่ชีวิตมีข้ออนุโลมมากมาย สุดท้ายทุกอย่างจะตกไปเป็นภาระของประชาชน แค่เอากฎหมายสมรสเท่าเทียมก็จบ” ธัญวัจน์ว่า

“อยากให้ประชาชนได้ยินว่าร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตไม่เท่าเทียมอย่างไร เขามีหน้าที่ต้องอธิบาย และเรามีหน้าที่ต้องอภิปราย เพราะถ้าร่างกฎหมายมีเนื้อหาใกล้เคียงกันจะยกมาพิจารณาต่อกันได้เลย อาจจะมีการแยกโหวตทีละร่างหรืออาจจะโหวตรวมขึ้นอยู่กับวันนั้น และถ้าใครจะไม่เอาสมรสเท่าเทียม เอาแค่กฎหมายคู่ชีวิตก็ต้องอธิบายเหตุผลให้ได้”


สมรสเท่าเทียม VS คู่ชีวิต ใครจะอยู่ ใครจะไป


ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันพุธที่ 15 มิถุนายนนี้ หากที่ประชุมมีมติรับทั้ง 2 ร่าง คือทั้งร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตและสมรสเท่าเทียม ก็จะมีการตั้งกรรมาธิการเพื่อเลือกร่างหลักต่อไป ซึ่งธัญวัจน์มองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ร่างหลักจะเป็นร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตของฝ่ายรัฐบาล หากเป็นเช่นนั้นคงต้องพยายามต่อสู้กันต่อไปเพื่อผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม พร้อมเสริมว่าในบางประเทศที่เคยมีหลักการคู่ชีวิตมาก่อน ไม่นานก็เกิดสมรสเท่าเทียมตามมาอยู่ดี เนื่องจากหลักการคู่ชีวิตเป็นกฎหมายที่มีความสัมพันธ์แบบหลวมๆ  แต่สมรสเท่าเทียมมีเรื่องของการหมั้น การสมรส บทบาทหน้าที่ของผู้ปกครองของเด็ก การจัดการทรัพย์สิน เหตุแห่งการฟ้องหย่าต่างๆ 

“เราจะสู้เต็มที่ เหยียบแค่คันเร่ง ไม่เหยียบเบรกแน่นอน แต่แน่นอนว่าเสียงเราน้อย ถ้าร่างหลักเป็น พ.ร.บ.คู่ชีวิต ปัญหาคือมันเป็นกฎหมายที่มองกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศแปลกแยกออกไป ที่สุดแล้วมันก็ไม่เท่าเทียม คำถามที่จะตามมาคือทำไมคุณไม่ใช้สมรสเท่าเทียมแต่แรก”

ยิ่งไปกว่านั้น การพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวอาจมีเรื่องของเกมการเมืองเข้ามา บางพรรคอาจตั้งเงื่อนไขว่าหากอีกฝ่ายไม่โหวตรับร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ก็จะไม่ขอไม่โหวตรับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเช่นกัน และหากร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมถูกโหวตคว่ำ มีแค่ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่ผ่าน การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็จะยากลำบากกว่าเดิม

“สมมติคู่ชีวิตผ่าน แต่สมรสเท่าเทียมไม่ผ่าน ก็อยากบอกคนที่ร่างกฎหมายคู่ชีวิตในยุครัฐบาลทหารทุกท่านว่า คำนี้จะฝังอยู่กับตัวคุณไปตลอดกาล มันจะเป็นชัยชนะของประยุทธ์ท่ามกลางความพ่ายแพ้ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ คุณจะดังในทางที่ไม่ดี ดังแบบมีแต่คนด่า เพราะฉะนั้นอย่าไปยึดว่ารัฐบาลต้องเป็นร่างหลัก พูดง่ายๆ ว่าอย่างน้อยเอาคำว่า ‘สมรส’ ให้ได้ ดีกว่าคำว่า ‘คู่ชีวิต’ เพราะจะเอาไปต่อสู้ในสมัยหน้าได้” 

ในประเด็นที่คนกังวลว่าอาจมีการยุบสภาก่อนกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะออกมา ธัญวัจน์คาดว่ายังไม่น่ามีการยุบสภาเร็วๆ นี้ เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งยังไม่ออกมา และร่างกฎหมายหลายๆ ฉบับยังไม่ลงตัว ส่วนตัวจึงคิดว่าภายใน 6 เดือนนี้กฎหมายสมรสเท่าเทียมน่าจะออกมาทัน และมีสัญญาณหลายอย่างว่ารัฐบาลน่าจะอยู่ถึงตอนนั้น

ความน่าสนใจคือการโหวตรับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมครั้งนี้อาจมีทั้งกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเท่าไรนัก แต่ยอมโหวตรับร่างเพราะแคร์คะแนนความนิยมในสมัยหน้า เช่น พรรคภูมิใจไทยที่บอกว่าจะฟรีโหวต มีพรรคประชาธิปัตย์ที่เลือก พ.ร.บ. ร่างคู่ชีวิตของพรรคตนเองแน่นอน และพรรคพลังประชารัฐที่เสียงแตกไปในหลายทิศทาง เนื่องจากการเลือกผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครที่ผ่านมาสะท้อนคะแนนความนิยมที่ลดลงไป ดังนั้นหากโหวตรับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเพื่อผลักดันสิทธิของประชาชน ทางพรรคก็อาจจะได้ประโยชน์ไปด้วย

“ถ้าคุณโหวตสมรสเท่าเทียม แปลว่าคุณจริงใจและยอมรับกลุ่ม LGBT แบบไม่มีเงื่อนไข แต่ถ้าคุณโหวตคู่ชีวิต แปลว่าคุณยังยอมรับกลุ่ม LGBT แบบมีเงื่อนไข และมองแต่เรื่องการเมือง กลัวว่ามันจะเป็นผลงานของก้าวไกล แต่เราบอกเสมอว่าสุดท้ายสมรสเท่าเทียมจะเป็นผลงานของรัฐสภาชุดนี้ ไม่ใช่แค่ของก้าวไกล ส.ส.ทุกคนมีสิทธิเข้าไปแก้ไขกฎหมายอยู่แล้ว มันเป็นเรื่องของเราทุกคน” ธัญวัจน์ยืนยัน


สมรสเท่าเทียมกับหลักมนุษยนิยมที่ขัดต่อระบบเทวนิยม


ท่ามกลางแรงต้านที่มีต่อ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม หนึ่งในกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยคือกลุ่มศาสนา ต่อประเด็นนี้ ธัญวัจน์ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาจะโจมตีศาสนาใด เพียงแค่อยากจะบอกว่าเราไม่อาจใช้หลักศาสนามาคิดในเรื่องนี้ได้ ไม่อย่างนั้นประเทศไทยจะมีประเด็นอื่นๆ อีกมากมายที่ขัดต่อคำสอนของศาสนา ที่สำคัญคือกฎหมายเป็นเรื่องของรัฐกับประชาชนทั้งประเทศ ไม่ได้เป็นเรื่องของความศรัทธา พร้อมเสริมว่าบางประเทศที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็มีชุมชนที่เคร่งศาสนาเช่นกัน แต่ปัจจุบันยังพบว่ามีนักเคลื่อนไหวหลายคนเอาประเด็นทางศาสนามาเป็นเงื่อนไขทางการเมืองด้วย

“ยังมีบางคนอ้างเรื่องของศาสนาว่าชาวมุสลิมเห็นด้วยกับการผลักดันให้เป็นคำว่า ‘คู่ชีวิต’ มากกว่า จึงเห็นได้ชัดว่ามีอุดมการณ์ทางศาสนาแฝงอยู่ในร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต”

นอกจากนี้ ธัญวัจน์เผยว่าในช่วงเตรียมจัดทำร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม มีการแทรกซึมจากฝ่ายตรงข้าม ทั้งการล็อกข้อมูลในการประชุม มีล็อบบี้ในขั้นตอนการทำงาน อาจเป็นเพราะอีกฝ่ายรู้ว่าหากร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมออกมา หลักการคู่ชีวิตจะสู้ไม่ได้แน่นอน ทั้งยังเป็นกฎหมายที่ขัดขวาง road map ของฝ่ายรัฐบาล จึงมีกระบวนการต่างๆ ออกมาต้านไว้ รวมถึงมี NGO บางกลุ่มที่ทำงานกับหน่วยงานรัฐไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม 

“ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมมีคนสนับสนุนเยอะมากและเป็นร่างกฎหมายที่มีคนมาให้ความเห็นเยอะที่สุดในประวัติศาสตร์ เราได้พูดคุยให้ความเห็นกับหลายหน่วยงาน ขนาดกองบำเหน็จบำนาญยังสนับสนุนและยินดีอย่างมาก แทบทุกหน่วยงานเห็นด้วยหมด มีแค่กฤษฎีกาและกรมคุ้มครองสิทธิที่อ้างเหตุผลว่าอะไรที่ผิดธรรมชาติควรจะเป็นกฎหมายแยกออกไป

“มันเป็นสงครามโลกครั้งที่สองสำหรับเรา เป็นการต่อสู้เพื่อการยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศที่ต่อสู้กันทั้งโลก และมีคนได้ประโยชน์จากการที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมออกช้า เพราะถ้าไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายคู่ชีวิตจะผ่านอย่างง่ายดาย ทั้งยังมีความกังวลของบางศาสนา เนื่องจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่เป็นเรื่องของมนุษยนิยมที่อาจไปกระทบกับระบบเทวนิยม” ธัญวัจน์สรุป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save