fbpx

กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ได้? คุยกับสกลธี ภัททิยกุล

‘กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ได้’ คือแคมเปญที่ สกลธี ภัททิยกุล ยกขึ้นมาเพื่อลงสู้ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่เขาเลือกลงในนามอิสระ

จากเส้นทางการเมืองที่คร่ำหวอดในพื้นที่กรุงเทพมหานครมาอย่างยาว ทั้งบทบาท ส.ส. กรุงเทพมหานครเขต 4 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ขยับมาสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองในฐานะแนวร่วมคนสำคัญของ กปปส. จนมาถึงการดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. เป็นระยะเวลาเกือบสี่ปี ไล่เลี่ยกับการเป็นผู้ร่วมเปิดตัวพรรคพลังประชารัฐ ล่าสุด สกลธี ภัททิยกุล สลัดทั้งตำแหน่งดังกล่าว และสังกัดพรรคพลังประชารัฐ เพื่อเข้ามาเป็นแคนดิเดตผู้ว่าฯ ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะเป็นการแข่งขันที่ดุเดือด หลังกรุงเทพฯ ว่างเว้นจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ มานาน

อะไรที่ทำให้เขาตัดสินใจลงจากตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เขามองเห็นว่ากรุงเทพฯ จะดีกว่านี้ได้อย่างไร และนโยบายแบบไหนที่เขาจะเลือกใช้เพื่อแก้ปัญหา

101 ชวนหาคำตอบผ่านบทสนทนากับสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครชิงผู้ว่ากรุงเทพฯ ในนามอิสระถึงแนวคิดการพัฒนากรุงเทพมหานคร สิ่งที่ยังไม่ได้ทำในตำแหน่งรองผู้ว่าฯ และภาพเมืองในอนาคตที่เขาฝันอยากเห็น

หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนและเรียบเรียงจากรายการ One-on-One Ep.259 กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ได้ (ยังไง?) กับ สกลธี ภัททิยกุล ออกอากาศเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565

จากประสบการณ์ทั้งการเมืองระดับชาติและทำงานในตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม.ถึงเกือบสี่ปี ทำไมถึงตัดสินใจมาลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร

สกลธี: ผมเป็นมาทั้งสองแบบ ตอนเป็นส.ส. เขตก็เป็นงานลงพื้นที่และงานด้านนิติบัญญัติ พอมีโอกาสได้มาเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ผมก็ชอบลงไปลุยหน้างาน มันต่างกันตรงที่ตอนผมเป็น ส.ส. เวลาจะแก้ไขอะไร ประสานจนหมดสมัยแล้วก็ยังไม่จบ เพราะไม่ได้มีอำนาจตรง แต่พอมาเป็นรองผู้ว่าฯ เราได้มาแก้ปัญหาและเห็นผลการแก้ปัญหาได้เลย ทำให้ติดใจและเป็นที่มาที่ชอบทางนี้ครับ

เดิมผมคิดอยู่แล้วว่าสักวันหนึ่งก็อยากจะเสนอตัวลงมาเป็นผู้ว่าฯ แต่คิดว่าอาจจะใช้เวลาอีกสักหน่อยดีกว่า แต่พอมีหลายๆ เหตุการณ์มาประกอบกันก็เลยตัดสินใจ ‘โอเค มันต้องคราวนี้แล้ว’ ซึ่งใช้เวลาตัดสินใจไม่นานเลย พอตัดสินใจแล้ว ผมอาจจะอยู่ตำแหน่ง แต่ผมแน่วแน่ และก็คิดมาตลอดจนกระทั่งวันที่ตัดสินใจลาออก

หลายคนบอกว่าเดิมทีคุณสกลธีไม่ได้คิดจะลงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. แต่คุณไชยา เทพสุวรรณเจอคดีทางการเมืองแล้วต้องว่างเว้นทางการเมืองไป คุณสกลธีจึงลงแทนในนามของกลุ่ม ไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่ากลุ่ม กปปส. เก่าได้ไหม ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

สกลธี:  พูดเหมือนอยู่ในเหตุการณ์ (หัวเราะ) มีมูลอย่างยิ่งเลย เดิมวางตัวพี่ไชยาไว้ว่าจะลงผู้ว่าฯ แล้วตัวผมอยากจะซ้อมเป็นรองผู้ว่าฯ อีกสมัยนึงก่อน เพราะผมอาจจะเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.มาสี่ปี แต่ก็ไม่ได้คุมทุกด้าน ผมคุมเป็นบางหน่วยงาน และบางโซนเท่านั้น ผมดูสำนักเทศกิจ สำนักพัฒนาสังคม สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักจราจรและขนส่ง รวมถึงเรื่องกฎหมาย และดูในกลุ่มเขตกรุงเทพฯ เหนือเจ็ดเขต ได้แก่ บางเขน บางซื่อ จตุจักร หลักสี่ สายไหม ดอนเมือง ลาดพร้าว ผมก็คิดว่าถ้าผมเป็นรองผู้ว่าฯ อีกสมัยนึงน่าจะพร้อม แต่ด้วยอุบัติเหตุทางการเมืองและหลายๆ อย่างประจวบเหมาะพอดี ผมเลยตัดสินใจลงสมัคร

ทำงานในฐานะรองผู้ว่าฯ กทม. กับผู้ว่าฯ อัศวินมาหลายปี มีแนวทางตรงไหนที่ไม่ตรงกันเลยตัดสินใจออกมาลงสมัครเอง

สกลธี:  หลายคนถามผมว่าคุณเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.มาตั้งสี่ปี ทำไมไม่ทำตอนเป็นรองผู้ว่าฯ คือบางทีการเป็นรองผู้ว่าฯ ไม่ได้แปลว่าทำได้ทุกอย่างนะครับ หน้าที่ของผมก็จะทำเฉพาะที่ท่านผู้ว่าฯ มอบอำนาจ หรือว่าตามที่ผมมีอำนาจกำกับเท่านั้น แต่หลายอย่างที่ผมอยากทำตอนเป็นรองผู้ว่าฯ ผมทำไม่ได้ เนื่องจากมันจะเสียมารยาท ถ้าจะข้ามสำนักหรือจะไปดูในส่วนที่ผมไม่ได้คุม ทำให้ผมคิดว่าถ้าเป็นผู้ว่าฯ เอง เราคงได้ทำทุกอย่างที่ผมอยากทำ

การลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ คงไม่ใช่เรื่องความขัดแย้ง มันเป็นสไตล์การทำงานอาจจะไม่ค่อยเหมือนกัน หรือแนวในการวางงบประมาณของผู้ว่าฯ แต่ละคนมันไม่เหมือนกัน และผมคิดว่าแนวของผมอาจจะเป็นอีกแนวนึง

ทำไมตัดสินใจลงในนามของผู้สมัครชิงผู้ว่าฯ ในนามของอิสระ

สกลธี: ผมเป็นคนมีเพื่อนเยอะ ทั้งในพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐมาและเพื่อนพรรคอื่น ผมมองว่าตัวผู้ว่าฯ กทม. ต้องได้รับความช่วยเหลือจากด้านต่างๆ จะไม่เหมือนการเมืองระดับชาติที่อุดมการณ์ อาจจะเป็นสีพรรคมีบทบาทมาก การทำงานผู้ว่าฯ จะเป็นเหมือนการแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนในท้องถิ่น ผมเลยมองว่าการเป็นอิสระจริงๆ มันคล่องตัวกว่า ได้รับการช่วยเหลือจากคนได้ง่ายกว่า หลายคนที่มาช่วยผมก็มีบางคนที่อาจจะคิดเห็นทางการเมืองไม่เหมือนผม แต่เขาอยากจะแก้ปัญหากรุงเทพฯ ที่เขาอยู่มาตั้งแต่เกิดเหมือนกันเลยคุยกันรู้เรื่อง

ถาม-ตอบถึงนโยบายที่จะทำให้กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ได้

สกลธี:  “กทmore” มันคือกรุงเทพฯ ดีได้มากกว่านี้อีก ผมมองว่าสิ่งที่ผู้ว่าฯ ท่านเดิมหรือข้าราชการทำมาดีหมด เพราะเขาทำอย่างเต็มที่ เพียงแต่ว่าในช่วงเวลาที่มันผ่านไป มันอาจจะมีการบริหารจัดการหรือว่าเทคโนโลยีที่มาปรับใช้และทำให้การทำงานดีขึ้นมากกว่านี้ได้อีก

ความปลอดภัยในเมือง – บางทีคนหาเสียงเยอะมาก แต่จริงๆ ทำไม่ได้ เพราะว่ากทม.ไม่ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนนายกเทศมนตรีของต่างประเทศที่ควบคุมทุกอย่าง สมมติจะติดไฟ กทม.ต้องขอการไฟฟ้าฯ ถ้ากทม. สามารถทำได้เองก็ติดเป็นเสาไฟอัจฉริยะ (smart pole) พลังแสงอาทิตย์ และมีกล้อง CCTV อยู่ด้วยกัน เพื่อช่วยในเรื่องอาชญากรรมและการติดตามคนร้ายเยอะ ผมคิดว่าจุดสำคัญๆ เช่น ข้าวสาร ราชประสงค์ นานา ทองหล่อ ที่เป็นจุดเที่ยว ควรจะเป็นกล้องที่เป็นระบบ AI สามารถจับใบหน้าได้ และสามารถแจ้งเตือนมาที่ศูนย์บัญชาการ (war room) ได้ว่าวัตถุที่ต้องสงสัยวางไว้เกินกี่นาที เพื่อจะให้เป็นมหานครที่ปลอดภัยในการท่องเที่ยว

ระบบสาธารณสุข – กรุงเทพฯ มีศูนย์สาธารณสุขใกล้ชิดกับชุมชน 69 ศูนย์ แต่ว่าศักยภาพยังไปไม่ถึงไหน ผมอยากทำเป็นสมาร์ทคลินิก จองคิวมาจากบ้านผ่านแอปพลิเคชันได้ พัฒนาศูนย์สาธารณสุขชุมชนให้มีการรักษาทางไกล (telemedicine) ทำให้คนสะดวกกับการใช้ชีวิตมากขึ้น นอกจากนี้กรุงเทพฯ มีโรงพยาบาล 11 โรง แต่ว่ายังไม่มีจุดเด่น มีโรงพยาบาลบางขุนเทียนที่เดียวที่เป็นโรงพยาบาลผู้สูงอายุ ผมอยากทำให้เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง เสริมจุดเด่น โดยเราบริหารจัดการเอาหมอเฉพาะทางมาไว้แล้วก็รวมถึงเรื่องอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือมาเพิ่ม

การคมนาคม – กทม. ทำงานเกี่ยวกับจราจรได้แค่ขีดสี ตีเส้น ติดป้ายทางเลี้ยวซ้าย-เลี้ยวขวา ป้ายจราจรกับเซ็ตสัญญาณนับถอยหลังไฟแดง และให้ตำรวจจราจรเป็นคนเปิดสัญญาณไฟ การแก้ปัญหาคือต้องใช้ระบบ ATC (Actual Traffic Control) เอา AI มาบริหารสัญญาณไฟจราจร  รวมถึงทำให้คนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากที่สุด หน้าที่ของกทม.คือทำระบบฟีดเดอร์ (feeder) อาจจะทำเป็นรถบัส EV ที่มาเกี่ยวคนจากป้ายรถเมล์หน้าบ้านเขาไปขนส่งสาธารณะไปใส่สถานีรถไฟฟ้า ทำให้เขาเดินทางง่ายขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าตอนนี้ขสมก. ยังเดินรถไม่ครอบคลุมในหลายๆ พื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงพัฒนาเรื่องเรือ เพื่อจะแก้รถติด ถ้าทำระบบฟีดเดอร์แล้วคนก็อาจจะหันมาใช้บริการสาธารณะมากขึ้น จำนวนรถมันก็จะลดลงโดยปริยาย คือทำยังไงก็ได้ให้ระบบล้อ ราง เรือ มันเป็นโครงข่ายใยแมงมุมให้คนขึ้นสะดวกที่สุด

การศึกษา  โรงเรียนกทม. ใกล้บ้าน ใกล้ชุมชนมี 437 โรง แต่เอาเข้าจริงมีกี่โรงเรียนที่ที่ผู้ปกครองพร้อมใจจะส่งบุตรหลานเข้าเรียน เพราะฉะนั้นต้องพัฒนา เปลี่ยนมายเซตของคุณครูหรือระบบการเรียนการสอนให้ใช้หลักคิดมากกว่าท่องจำ เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถส่งนักเรียนไปที่ไหนก็ได้ที่ใกล้บ้าน ซึ่งผมมีคนช่วยผมอยู่ เดี๋ยวผมก็จะค่อยๆ เปิดตัวออกมา

ขยะ –ปัญหาคือกทม.คือไม่มีรถเก็บขยะที่แยกขยะ จริงๆ สามารถปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นได้ ถ้าไปหาซื้อรถที่เก็บขยะแยก หรือ outsource ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม แต่ว่าอาจจะติดปัญหาเรื่องสัญญาที่เขาเคยทำผูกพันกันมา ถ้าแก้ตรงนั้นได้ ผมว่ากทม.ไม่ต้องออกเงินค่าซื้อถังขยะเลย เอกชนพร้อมที่จะมาจ่ายค่าถังขยะให้ เพื่อเก็บขยะไปทำลายหรือขายต่อ ถึงเวลาประชาชนก็มาทิ้งและอาจจะได้ค่าตอบแทนในการแยกขยะ ซึ่งอันนี้วินทุกฝ่าย บ้านเมืองสะอาด เราไม่ต้องซื้อรถขยะและถังขยะ เอกชนก็ได้ขยะไปทำ

น้ำท่วม ร้อยละ 80-90% ท่อในกรุงเทพฯ เป็นท่อแบบเดิมที่เส้นผ่านศูนย์กลาง 60 เซนติเมตร ทำให้น้ำลงช้า ถ้าปริมาณฝนตกหนักยังไงก็ต้องรอระบาย เหมือนที่พี่ชัชชาติพูดระบบเส้นเลือดฝอยไม่เอื้อกับการไปสู่ระบบที่ดี สมมติเรามีอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ ท่อทางด่วนระบายน้ำ (pipe jacking) ธนาคารเก็บน้ำ (water bank) แต่ว่าน้ำจากท่อจากบ้านเรือนคนอาจจะน้ำไหลช้า ลอกไม่ดีก็ทำให้ประสิทธิภาพในการระบายมันดีไม่พอ ต้องไปเคลียร์ตัวที่เป็นท่อเล็ก สายย่อย

เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงค่อนข้างมากในการเลือกตั้งครั้งนี้ คุณสกลธีคิดเห็นอย่างไร

สกลธี: รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่คุยกันอยู่ว่าจะทำ 65 บาทตลอดสาย วิ่งจากคูคตผ่านกรุงเทพฯ ไปสมุทรปราการสามจังหวัด ระยะทางประมาณ 50 กว่ากิโลเมตร 65 บาท จะว่าแพงก็แพง จะว่าไม่แพงมันก็ไม่แพง เพราะถ้าคุณนั่งแท็กซี่หรือเดินทางระบบอื่น มันเกิน 100-200 อยู่แล้ว ถามว่าจะลดได้มากน้อยแค่ไหนก็ต้องไปกางสัญญาดู มันจะมีสองส่วนคือ 1) เงินของเอกชนที่เขาจะได้ ต้องไปคุยกับเขาว่าลดอีกได้ไหมหรือเอาสิทธิ์ตัวอื่นไป เช่น โฆษณาตรงนั้นเยอะหน่อยแล้วคุณลดเงินได้ไหมก็ต้องไปดูว่าเขาไหวแค่ไหน เพราะเขาค่อนข้างใช้เงินลงทุนไปเยอะ 2) ในแง่การเงินของกทม. ถ้าผมจำไม่ผิดตัวเลขกลมๆ ประมาณ 200,000 ล้านบาท คือตัวเลขที่กทม. จะได้เข้ามาตลอดอายุ 30 ปีหน้า แต่เกือบครึ่งต้องคืนให้กระทรวงการคลังในฐานะเงินกู้ เพราะฉะนั้นจะเหลือประมาณ 100,000 ล้านบาท เงินส่วนนี้ผมว่าเอามาลดค่าโดยสารได้ แต่ก็ต้องยอมที่จะได้เงินเข้ากทม. น้อยหน่อย อันนี้ก็ต้องไปวัดกันดูว่าผู้ว่าฯ จะเห็นยังไง เพราะเป็นเงินอนาคตในอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่รู้ว่าในอนาคตผู้โดยสารจะถึงเป้าตามที่เขาประเมินไว้หรือไม่ มันก็ต้องวัดดูว่าถ้าเราเอามาแล้วสถานะการเงินของกทม. จะเหนื่อยไหม อันนี้ก็ต้องดูสองข้อ

อย่างไรก็ตามเกิดเราไปดูแล้วลดราคารถไฟฟ้าไม่ได้จริงๆ อาจจะลดในส่วนอื่น เพราะว่ากทม. ก็มีบริการหลายอย่างที่ไม่เก็บตัง หรือเก็บถูก เช่น เรือโดยสารอาจจะเก็บแค่ 10 บาทตลอดสาย หรือช่วงแรกเราอาจจะช่วยประชาชนไม่เก็บค่าโดยสารหนึ่งปี ซึ่งเราทำตรงนั้นได้ก็จะไปลดในส่วนอื่นที่ทำให้การเชื่อมเครือข่ายโครงข่ายคมนาคมมันง่ายขึ้นครับ

ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. หลายท่านประกาศชัดเจนว่าไม่ต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว คุณสกลธีมีจุดยืนอย่างไร

สกลธี: สมมติว่าเรื่องนี้เข้าครม. ไปก่อนเลือกตั้ง คุณอยากจะไม่ต่อก็ไม่ได้ เพราะมันจบไปแล้ว แต่ถ้า ณ วันเลือกตั้งยังไม่ต่อ ผมคงต้องเอามาดู เพราะยอมรับตรงๆ ว่า ผมยังไม่เคยเห็นการเจรจาข้างในว่าเป็นอย่างไร ซึ่งผมก็ตอบตรงนั้นไม่ได้ว่าการต่อมันถูกไหม ถ้าผมไปดูแล้ว มันได้สุดแค่นี้จริงๆ ผมก็จะยันว่ามันสุดแค่นี้ แต่ถ้าผมดูแล้วมันมีช่องที่ทำให้ลดค่าโดยสารลงได้อีก ผมก็จะพยายามลดตรงนั้นให้ได้ แต่อย่างที่ผมบอกว่ามันขึ้นอยู่ด้วยว่าสถานการณ์อีกสองเดือนข้างหน้าถ้าเข้า ครม. จนจบไปแล้ว ต่อให้ผู้ว่าฯ ใหม่มาอยากจะลดยังไงก็ทำไม่ได้ เพราะมันจบไปแล้วครับผม

คุณสกลธีเคยเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน ถ้าสมมติคุณได้รับโอกาสเป็นผู้ว่าฯ กทม. และมีม็อบมาขอใช้พื้นที่ชุมนุม เช่น สนามหลวง คุณจะตัดสินใจอย่างไร และจะอำนวยความสะดวกหรือไม่

สกลธี: สมัยก่อนที่มีม็อบเยอะๆ ม็อบเสื้อแดง ม็อบ กปปส. อาจจะยังไม่มีกฎหมายเรื่องการชุมนุม มันยังจัดที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องขออนุญาต พอกฎหมายเรื่องการชุมนุมบังคับใช้แล้ว ผมจำตัวพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะไม่ได้ แต่เขาก็เขียนชัดนะว่าพื้นที่ไหนที่ใกล้บริเวณสำคัญจะใช้จัดชุมนุมไม่ได้ ถ้าสนามหลวงอยู่ในนั้นก็คงใช้ไม่ได้และอาจจะต้องดูความเหมาะสมของการจัด

ผมว่ามันอยู่ที่จุดด้วย ผมคงสามารถอนุญาตได้นะครับถ้าจุดไหนไม่เป็นภัยต่อสาธารณะหรือไม่ได้เดือดร้อนประชาชนมาก ส่วนเรื่องการบริการ ผมว่าทางกรุงเทพมหานครก็คงต้องบริการอยู่แล้ว เรื่องห้องน้ำ ความสะอาด หรืออะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งก็คงต้องให้สิทธิ์กับทุกกลุ่มเท่าเทียมกัน เสมอกันครับ

ปัจจุบันอำนาจดูแลสนามหลวงเป็นของกทม. เขตพระนคร หากคุณสกลธีเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะบริหารสนามหลวงอย่างไร

สกลธี: ผมคิดว่าอาจจะแบ่งพื้นที่ได้ พื้นที่พระราชพิธีจริงๆ ที่เก็บเอาไว้ใช้ประกอบงานสำคัญต่างๆ ก็กันไว้ คือถ้าปล่อยให้เป็นสาธารณะแบบเต็มที่ อาจจะทำให้ชำรุดทรุดโทรม แต่ผมก็คิดว่าส่วนไหนที่สามารถให้ประชาชนใช้ก็เปิดได้ ซึ่งไม่น่าจะเยอะ เพราะเวลาเราวิ่งออกกำลังกายอาจจะใช้แค่รอบนอก

การที่กำนันสุเทพ เทือกสุเทพและฝ่าย กปปส. เดิม สนับสนุนคุณในการเลือกตั้งครั้งนี้ ภาพของคุณที่ผูกติดกับความเป็นกปปส. จะส่งผลต่อการหาเสียงหรือไม่ อย่างไร

สกลธี: ผมมองว่ามันสองทาง ต้องเรียนว่าสิ่งใดก็ตามในโลกมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ เพราะงั้นพอกำนันสุเทพเชียร์ คนที่เขาชอบและศรัทธา เขาเชียร์ตามก็มี ส่วนคนที่เขาไม่ชอบยังไงเขาก็ไม่ชอบ ในส่วนนี้ผมว่ามันมีทั้งบวกและลบก็ต้องยอมรับตรงนั้น เพราะเราคงทำให้ทุกคนชอบเหมือนกันไม่ได้ครับ

ต้องเรียนว่า กปปส. เป็นช่วงเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง และมันก็จบไปแล้ว ตอนนั้นก็เป็นอุดมการณ์ ณ ขณะนั้นเป็นตัวตนของเรา พอจบแล้วผมก็เหมือนทุกคนเข้าสู่กระบวนการขึ้นศาลอยู่หลายปีก็จบตรงนั้นไป แต่บทบาทที่เป็นรองผู้ว่าฯ กทม.ก็แยกกัน บางทีต่อให้เราทำงานยังไงก็ตาม มันก็จะมีเสียงมาแบบ ‘กปปส.’ ผมก็ทำใจ เราก็เป็นตรงนั้นจริงๆ เพียงแต่ว่าอยากให้มองที่การทำงาน โอเคผมอาจจะไปเวทีม็อบมาแล้วผมได้โอกาสมาทำงาน แต่ถ้าผมทำไม่ได้ดี หรือผมไม่ตั้งใจทำงานอันนี้ผมรับได้ถ้ามาว่า แต่วันแรกถึงวันสุดท้ายผมทำงานเต็มที่มาโดยตลอด และคิดว่าทำเต็มที่ไม่น้อยกว่าใครก็อยากให้เขามองในด้านการทำงานด้วย

อยากให้คุณอธิบายจุดแข็ง ในฐานะอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. และจุดอ่อนในฐานะผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

สกลธี: จุดแข็งของผมคือได้ลองงานมาสี่ปีแล้ว ผมรู้จักสายสนกลในกทม. เยอะพอสมควร รู้จักข้าราชการว่าคนไหนทำอะไรได้ ศักยภาพแค่ไหนแล้วก็ความสัมพันธ์อันดี ผมสามารถทำงานต่อได้เลยและมีความคิดอะไรที่จะทำต่ออยู่ในหัว พร้อมจะทำหมดแล้ว ส่วนจุดอ่อนในฐานะผู้สมัครนั้น ผมว่ามันเป็นทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน ถ้าเป็นจุดอ่อนอาจจะเพราะว่าการเมืองบ้านเราแบ่งกันมากเสียจนไม่สนใจดูหรอกว่าคนเขาทำอะไร คนพร้อมตัดสินจากสีเสื้อที่ใส่ โดยที่ไม่ได้ดูว่าสิ่งที่เราตั้งใจทำ ต้องการที่จะปรับเปลี่ยน แก้ไขปัญหามันเป็นยังไง ผมว่ามันเป็นจุดอ่อนที่คนอาจจะไม่เลือกผมแล้ว เพราะเห็นว่าสกลธีเคยไปนั้นมา ไม่เอาดีกว่า

ถ้าผิดหวังจากการเลือกตั้งจะเดินหน้าต่ออย่างไร และถ้าสมหวังจะวางอนาคตทางการเมืองยาวๆ อย่างไร

สกลธี: ผมอยู่ในวงการเมืองกรุงเทพฯ มา 15 ปี มีทั้งผิดหวัง สมหวัง สอบตก สอบได้ ผ่านมาหมดแล้ว เพราะงั้นก็คงจะทำงานต่อไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่นหรือระดับชาตินะครับ แต่ว่าถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ ผมคงทำงานแบบถวายหัวเลย ผมคิดว่าโอกาสไม่ได้มาบ่อย ผมยอมรับเลยว่าอยากทำงานเป็นรองผู้ว่าฯ มาก ตั้งแต่เป็น ส.ส.ประชาธิปัตย์ เพราะอยากจะเข้ามาบริหารสี่ปีที่ผ่านมาผมคิดว่าผมทำได้เต็มที่จนผมไม่เสียใจแม้แต่วันเดียว และถ้าผมลงผู้ว่าฯ คราวนี้แล้วประชาชนไว้วางใจเลือกผม ผมก็คงทำงานแบบให้สุดๆ ไปเลย ผมจะทำได้เต็มที่ครับผม

ทำไมต้องเลือกคุณสกลธีเป็นผู้ว่าฯ กทม.

สกลธี:  ถ้าคนเลือกอยากเห็นคนหนุ่มที่มีไฟในการทำงาน พร้อมที่จะตอบรับทุกความเห็น และถ้าได้เป็นก็จะทำงานเหมือนกับถวายชีวิตให้คนกรุงเทพฯ รวมถึงถ้าคิดว่าชอบสไตล์ทำงานของผมที่ไม่ได้นั่งในห้องแอร์อย่างเดียว ลงไปลุยปัญหา พร้อมลุยก็เลือกผมครับ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save