fbpx

ประเทศไทยไม่ต้องการศาลรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาตั้งแต่ พ.ศ. 2560 ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับคนในสังคมแม้แต่น้อย คนส่วนใหญ่สามารถคาดการณ์ผลของคดีได้อย่างแม่นยำ โดยไม่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญใดๆ ในทางกฎหมาย สถิติผลคดีของศาลรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่การรัฐประหาร พ.ศ. 2549 เป็นต้นมาก็บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า ผู้ที่ได้อำนาจรัฐมาโดยวิถีเผด็จการจะอยู่รอดปลอดภัยเสมอ ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะต้องมีอันเป็นไปในทางใดทางหนึ่ง

ผลของคดีสร้างความชาชินให้กับคนในสังคมจนมองเห็นความไม่ปกติเป็นความเป็นปกติของสังคมไทย แต่ไม่ว่าคนไทยจะรู้สึกเบื่อหน่ายและชินชากับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแค่ไหน เราควรต้องตระหนักว่าคำวินิจฉัยวาระ 8 ปีของนายกรัฐมนตรีได้ส่งสัญญาณเตือนภัยขั้นร้ายแรงที่สุดทั้งในทางการเมืองและในทางกฎหมายว่า ความพยายามใดๆ ในการฟื้นฟูประชาธิปไตยในสังคมไทยที่กำลังเกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นในอนาคตมีแนวโน้มที่จะประสบกับความล้มเหลวซ้ำซากด้วยอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลพิทักษ์คุณธรรมความดีหรือสิทธิเสรีภาพของประชาชน?

ศาลรัฐธรรมนูญได้รับการสถาปนาขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ 2540 ด้วยความหวังสูงสุดที่จะให้เป็นองค์กรพิทักษ์คุณค่าสูงสุดที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน อย่างไรก็ตามการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองอย่างเอาเป็นเอาตายโดยไม่สนใจวิธีการในเวลาต่อมา ทำให้กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือในการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ การบังคับใช้กฎหมายถูกบิดเบือน มีความพยายามของฝ่ายการเมืองในการแทรกแซงและครอบงำองค์กรบังคับใช้และตีความกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญหรือองค์กรในกระบวนการยุติธรรม ด้วยเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจยุบพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดจากประชาชนและวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งได้อย่างง่ายดาย ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจสูงสุดในทางการเมือง ความสำเร็จในการครอบงำศาลรัฐธรรมนูญ คือความสำเร็จในการครอบครองอำนาจสูงสุดของรัฐ

เมื่อใดที่นักการเมืองเล่นการเมืองโดยพยายามหาช่องโหว่เพื่อแหกกติกาทางกฎหมายและพยายามครอบงำองค์กรอิสระและองค์กรในกระบวนการยุติธรรม เมื่อนั้นฝ่ายตรงข้ามจะทำแบบเดียวกันและจะทำมากยิ่งกว่าเดิม สังคมไทยเห็นพัฒนาการของความพยายามในการทำลายนิติรัฐมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นการฉีกกติกากฎหมายครั้งสำคัญ สร้างรอยโหว่ใหญ่ให้กับนิติรัฐ และทำให้อำนาจเผด็จการหลั่งไหลเข้ามาทำลายทุกองคาพยพของนิติรัฐ ซึ่งแม้แต่เจตจำนงของประชาชนก็ไม่อาจควบคุมหรือต้านทานได้

การรัฐประหาร 2557 และรัฐธรรมนูญ 2560 คือพยานหลักฐานของความล่มสลายโดยอย่างสมบูรณ์แบบของนิติรัฐในประเทศไทย องค์กรต่างๆ ที่ถูกสถาปนาขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ต่างก็ถูกตั้งโปรแกรมให้เป็นฟันเฟืองเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ คือการรักษาอำนาจเผด็จการ ในนามของการปกป้องคุณธรรมความดีในสังคมไทย

พัฒนาการของกฎหมายตั้งแต่ พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา คือพัฒนาการของการทำให้เผด็จการกลายเป็นสัญลักษณ์ของคุณธรรมความดีและจารีตประเพณีที่ดีงามในสังคมไทย ในขณะที่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนกลายเป็นตัวแทนของความชั่วร้ายและการทุจริตคอร์รัปชัน การพิทักษ์ระบอบเผด็จการ คือการพิทักษ์คุณธรรมความดีและคุณค่าในทางจารีตประเพณี และอำนาจเผด็จการจะช่วยควบคุมนักการเมืองที่ถูกตราหน้าว่าเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย รัฐธรรมนูญ 2560 คือสุดยอดแห่งนวัตกรรมทางกฎหมายที่เกิดจากการตกผลึกทางความคิดและการเรียนรู้ในห้วงพัฒนาการของการทำให้เผด็จการกลายเป็นสัญลักษณ์ของคุณธรรมความดี และองค์กรที่ทรงอำนาจที่สุดในการปกป้องรัฐธรรมนูญนี้ ก็คือศาลรัฐธรรมนูญ

ประเทศไทยไม่ต้องการศาลรัฐธรรมนูญ

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีอยู่เพียงแค่ปกป้องรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ไม่ได้ปกป้องคุณค่าของประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน สังคมไทยก็ไม่จำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญประกอบไปด้วยสมาชิกส่วนใหญ่ที่เป็นอดีตผู้พิพากษาหรือตุลาการที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในคุณค่าของประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน สังคมไทยก็ไม่จำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยที่บ่งบอกถึงความเข้าใจในหลักการทางรัฐธรรมนูญ ตลอดจนคุณค่าสูงสุดทั้งหลายในทางรัฐธรรมนูญ สังคมไทยก็ไม่จำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับการสรรหาจากองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน สังคมไทยก็ไม่จำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ

สังคมไทยต้องการศาลรัฐธรรมนูญที่ประกอบไปด้วยตุลาการมีความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างยิ่งทางด้านรัฐธรรมนูญ สิทธิมนุษยชน รัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ เป็นตุลาการที่เป็นที่ยอมรับนับถืออย่างยิ่งในความสุจริตและความเป็นกลาง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องสามารถแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยที่มีคุณภาพสูงสุดสมกับการเป็นสุดยอดของผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา และที่สำคัญตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องได้รับการรับรองจากตัวแทนของประชาชนเพื่อให้มีความชอบธรรมในเชิงสัญลักษณ์เพื่อพิทักษ์อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชนชาวไทย ถ้าศาลรัฐธรรมนูญของไทยไม่ได้ประกอบไปด้วยตุลาการที่มีคุณสมบัติเช่นว่านั้น สังคมไทยจะต้องการศาลรัฐธรรมนูญที่สุดแสนจะธรรมดาในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญไปทำไม ในเมื่อศาลยุติธรรมและศาลปกครองก็สามารถปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ดีอยู่แล้ว

ประเทศไทยต้องการศาลสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สังคมไทยในเวลานี้ไม่ได้ต้องการองค์กรตุลาการในการทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นมรดกของเผด็จการ หากแต่ต้องการศาลสูงสุดในการทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิมนุษยชนของปวงชนชาวไทยในทำนองเดียวกับศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป สังคมไทยต้องการศาลที่มีตุลาการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างยิ่งในทางสิทธิมนุษยชน เป็นผู้ที่สามารถยุติปัญหาการปะทะกันระหว่างคุณค่าต่างๆ ในทางรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลแห่งวินิจฉัยที่ลึกซึ้ง แต่หนักแน่นและชัดเจน

ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทยในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านและการต่อสู้กันระหว่างคุณค่าในทางจารีตประเพณีกับคุณค่าของสิทธิขั้นพื้นฐาน และในสังคมที่ผู้คนจำนวนมากพร้อมที่จะสละสิทธิเสรีภาพของตัวเองและสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นตามคำล่อลวงของเผด็จการ เป็นสังคมที่ต้องการศาลสิทธิมนุษยชนอยู่เสมอเพื่อคอยปกป้องคุ้มครองในยามที่อ่อนแอและคอยเตือนภัยไม่ให้ประชาชนตกหลุมพรางของเผด็จการ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตอนลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญ 2560

ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะช่วยยืนยันได้ว่าประเทศไทยสามารถปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องจำคุกหรือดำเนินคดีกับผู้คนที่แสดงออกซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะต้องปฏิเสธวิถีแห่งอำนาจนิยมที่รัฐและหน่วยงานของรัฐเคยใช้ได้ผลมาในสังคมไทยในการปิดหูปิดตาและกดทับสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะต้องส่งเสริมให้เกิดเวทีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้คนในสังคมได้อย่างอิสระและปลอดภัย และศาลสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะต้องทำหน้าที่เป็นเกราะกำบังให้กับประชาชนจากการใช้อำนาจเผด็จการทุกรูปแบบ

องค์กรสูงสุดในการพิทักษ์คุณค่าในทางรัฐธรรมนูญคือประชาชน

ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยได้เรียนรู้ว่า เราไม่มีคุณค่าประชาธิปไตยใดๆ ให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิทักษ์ มีแต่ความพยายามในการสืบทอดอำนาจของเผด็จการซึ่งคนไทยควรจะต้องทำลายให้สิ้นซาก การฟื้นฟูและพิทักษ์ประชาธิปไตยในสังคมไทยในเวลานี้และในอนาคตข้างหน้าไม่ใช่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญอีกต่อไป แต่เป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยทุกคนที่ต้องแสดงออกผ่านการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ผู้แทนที่ประชาชนเลือกจะทำหน้าที่ฟื้นฟูประชาธิปไตย พิทักษ์คุณค่าสูงสุดในทางรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ยุติและแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และไม่ว่าเราจะเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เลวร้ายขนาดไหน ชะตากรรมของสังคมไทยไม่ควรตกอยู่ในมือของผู้พิพากษาตุลาการไม่กี่คนอีกต่อไป ประชาชนแต่ละคนจะต้องเป็นผู้ตัดสินชะตาชีวิตของตัวเองผ่านการเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นมรดกของการรัฐประหาร 2557 และเป็นอุปสรรคของการฟื้นฟูประชาธิปไตยในสังคมไทย การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นในสังคมไทย หากมีองค์กรอิสระใดตามรัฐธรรมนูญใดที่ถูกตั้งโปรแกรมให้คอยปกป้องรัฐธรรมนูญ 2560 และเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูประชาธิปไตย การกำจัดองค์กรนั้นเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อให้การปฏิรูปเกิดขึ้นได้จริง สังคมไทยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาองค์กรตุลาการหรือองค์กรอิสระอื่นใดในการพิทักษ์คุณค่าสูงสุดในทางรัฐธรรมนูญอีกแล้ว เพราะองค์กรสูงสุดในการพิทักษ์คุณค่าในทางรัฐธรรมนูญก็คือประชาชนคนไทยทุกคนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดนั่นเอง

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save