fbpx

ก้าวใหม่ – อนาคตใหม่ : ถอดรหัสกรุงเทพฯ ในสายตา ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.

นับแต่การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2556 จนถึงตอนนี้เป็นเวลา 9 ปีที่คนกรุงเทพฯ ยังไม่ได้เข้าคูหาเลือกผู้ว่าฯ กทม. จากเสียงของตัวเอง เพราะตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2559 เรื่อง การให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพ้นจากตําแหน่งและมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนใหม่

ช่วงเวลาเกือบทศวรรษนี้ นี่จึงเป็นระยะเวลาที่คนกรุงเทพฯ รอคอยที่จะได้คืนมาซึ่งสิทธิอันชอบธรรมในการเลือกผู้ว่ากรุงเทพมหานครด้วยตนเอง และดูเหมือนว่าสมรภูมิการเลือกตั้งจะยิ่งค่อย ๆ ยกระดับความร้อนแรงขึ้นเมื่อแต่ละพรรคประกาศตัวแทนลงสู้ศึกในครั้งนี้ โดยเฉพาะเมื่อพรรคก้าวไกลประกาศชื่อของ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร เป็นตัวแทนพรรคลงสู้ศึก 

จากบทบาท ส.ส. ฝีปากกล้าแห่งรัฐสภา สู่สนามการเมืองท้องถิ่นกรุงเทพฯ เขาตีโจทย์สนามเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไร? และปัญหาอะไรบ้างที่เขา ‘พร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพฯ’

101 ชวนมาแลกเปลี่ยนผ่านคำถาม – คำตอบ กับ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคก้าวไกล

หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนและเรียบเรียงจากรายการ 101 One-on-One Ep.256  ‘ผู้ว่าฯ ก้าวไกล – อนาคตใหม่ กรุงเทพฯ’ กับ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกอากาศเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565

หนึ่งเดือนกับบทบาทในการเป็นผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ความรู้สึกเป็นอย่างไร?

หนึ่งเดือนที่ได้มีโอกาสพบประชาชน เราพบว่าความทุกข์ของคนกรุงเทพฯ มันไม่ได้ไกลเลย มันอยู่ใกล้ๆ เช่น ทางเท้าที่สัญจรทุกวัน หรือเรื่องน้ำท่วมขังซึ่งเขาไม่ได้พูดถึงอุโมงค์ยักษ์หรือระบบขนาดใหญ่เลย แต่เขาพูดถึงท่อหน้าบ้าน หน้าปากซอยของตัวเอง เขานึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าการลอกท่อบริเวณหน้าบ้านของเขามันเกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อไหร่

ปัญหาที่พูดตรงกันหมดคือปัญหาปากท้อง หลายคนค้าขายไม่ดี รายได้น้อยต้องกระเบียดกระเสียร แต่อย่าลืมว่าความกระเบียดกระเสียรไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ ในขณะที่เขาแก่ลงทุกวัน เขาก็เริ่มกังวลว่าปลายทางพวกเขาอาจกลายเป็นคนแก่ที่ไม่มีรายได้ หรือเด็กรุ่นใหม่ก็กังวลว่าจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดโอกาสในการมีอาชีพที่ดีหรือตามหาความฝันแบบที่เขาเคยฝันไว้ในวัยเด็ก มันเป็นการสูญเสียเวลาและโอกาสที่หลายคนเริ่มกังวล

จากการพูดคุยกับประชาชนหลายคน จำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าตัวเองเป็นแค่ผู้ถูกปกครอง เขารู้สึกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมันเป็นธรรมเนียมความปกติ เป็นเงื่อนไขที่เขาต้องรับให้ได้เมื่ออยู่ในเมืองนี้ กรุงเทพฯ มันจึงเป็นเมืองที่ผลักภาระให้เป็นหน้าที่ของประชาชนไปเสียทั้งหมด

ความรู้สึกของการเป็น ส.ส. กับ ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ต่างกันอย่างไร?

จุดต่างคือเราเห็นความทุกข์ที่เป็นหน้าตา เห็นสีหน้า แววตา เห็นความทุกข์ที่มันเป็นของเขาจริงๆ แต่ในบทบาท ส.ส. เราอยู่ในสภาฯ จากการที่ประชาชนอยากพบเรา รวมถึงที่เราลงไปพบปะเอง ล้วนแต่เป็นการพบปะที่ประชาชนสรุปข้อมูลมาให้ แต่การที่เราลงไปพบปะประชาชนในฐานะผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ เราเห็นประชาชนแต่ละคน เห็นความทุกข์ ความคิด สีหน้าที่แตกต่างกันออกไป เรารับรู้ถึงความทุกข์ในใจเขาจริงๆ

เบื้องหลังการตัดสินใจทิ้งตำแหน่ง ส.ส. แล้วเลือกเส้นทางการเป็นว่าที่ผู้สมัครฯ คืออะไร?

งานในรัฐสภาก็สำคัญในการอภิปรายและตรวจสอบรัฐบาลแต่พรรคก้าวไกลเราทำงานเป็นทีม ที่ผ่านมาเราก็เห็นบทบาทที่แข็งขันของเพื่อน ส.ส. ของผม ในขณะที่บทบาทการบริหารงบประมาณหนึ่งแสนล้านกับคนเกือบหกล้านคนในกรุงเทพฯ มันก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เป็นบทพิสูจน์และมีคุณูปการต่อประชาชนมากไม่แพ้กัน และการจัดการงบประมาณที่ผ่านมา เราพบว่างบประมาณ 70 – 80 ล้านที่เอาดอกไม้มาเรียงตามเกาะกลางถนน พอดอกไม้เหี่ยวก็เปลี่ยนกับงบประมาณการลอกท่อที่ประชาชนเขาบอกว่าไม่เห็นการลอกคลองหน้าบ้านเขามานานแล้ว 

ผมว่าบทบาทในการจัดสรรงบประมาณและใช้อำนาจบริหารที่เรามี ในงบประมาณหนึ่งแสนล้านบาทมันไม่น้อยที่จะทำให้ประชาชนได้รับรู้ว่า เงินภาษีของพวกเขาทำอะไรเพื่อเขาได้มากกว่านั้น

คุณเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เห็นผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครมาตลอดชีวิต มองเห็นอะไรในผู้ว่ากรุงเทพฯ ที่ผ่านมาบ้าง

มุมของพรรคก้าวไกล เรามองการจัดการเมืองในลักษณะ 3 ประสาน คือผู้ว่าขับเคลื่อนนโยบาย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ก็ทำงานร่วมกับประชาชนและทำงานในส่วนการจัดสรรงบประมาณ ถ้า ส.ก. ไม่อนุมัติงบให้ผู้ว่าฯ ก็ดำเนินนโยบายไม่ได้

ที่ผ่านมาข้ออ้างของผู้ว่าฯ ที่เราได้ยินเสมอว่ามีอำนาจเท่านี้ จึงจัดการได้แค่นี้ มันหมายความว่า เราก็ต้องถามต่อว่า แล้วถ้าเป็นเรื่องของการปกป้องผลประโยชน์ของคนกรุงเทพฯทำไมไม่แก้กฎหมายล่ะ? เราก็ให้ ส.ส. ที่ทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติแก้กฎหมายให้ผู้ว่าได้มีอำนาจดูแลงานในกรุงเทพฯ ได้มากขึ้น ทำไมไม่เคยขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น

เพื่อน ส.ส. คอยปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ผู้ว่าฯ มีอำนาจในการทำงานให้คนกรุงเทพฯ ได้ดีขึ้น นี่คือหลัก 3 ประสานที่ผมว่า

จัดลำดับความสำคัญของปัญหาอย่างไร?

ถ้าเปรียบกรุงเทพฯ เป็นเหมือนบ้าน บ้านต้องมีความปลอดภัย เมืองก็ต้องมีความปลอดภัย การเดินทางข้ามถนนหรือจุดเปลี่ยวต่างๆ มันไม่ลำบากที่เราจะจัดจุดตรวจเสียใหม่หรือบังคับใช้ พรบ. จราจรฯ ให้คนปลอดภัยมากขึ้นในการใช้ถนน เราต้องยอมรับจริงๆ ว่าปัญหาวันนี้มาจากการบังคับใช้กฎหมาย

เรื่องที่สอง–ความสะอาดของบ้าน เราถึงพูดเรื่องส่วยและการรีดไถประชาชน ผมว่าถ้าบ้านเราสกปรกเพราะคนไม่กี่คน ต่อให้เราซื้อเฟอร์นิเจอร์มาเติมคุณก็จะรู้สึกว่าสกปรก และเรามองการรีดไถเป็นเรื่องปกติไม่ได้ เช่น เรื่องป้าย เสียภาษีกันครบไหม? หรือการออกใบอนุญาตต่างๆ เรียกกันหลักหมื่นหลักแสน ซ้ำเติมการทำมาหากินของพี่น้องแบบนี้ เรายอมไม่ได้

เรื่องที่สาม–ผมว่ามันเป็นหน้าที่ไม่ใช่นโยบาย คือ ปัญหาน้ำท่วมขังที่เกิดขึ้นทุกปีมันเกิดจากพื้นที่ต่ำ ท่อตันหรือท่อแตก มันถึงเวลาที่เราต้องแก้ปัญหาแบบรวบรัดตัดตอนโดยลอกท่อทั่วเมืองให้ได้ ที่ตรงไหนยังท่วมอยู่มันจะทุเลาลงแต่เราจะรู้แล้วว่านี่ไม่ใช่ปัญหาการระบายน้ำแต่มันเกิดขึ้นจากปัญหาอื่น มันจะแก้ปัญหาแต่ละเฟสไปได้และเราจะได้รู้ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร

เรื่องที่สี่–การเสริมหรือการปรับปรุงคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ ส่วนแรก ตอนนี้รัฐบาลมีสวัสดิการเบี้ยผู้สูงอายุ 600 บาท เราสามารถใช้ภาษีที่เก็บได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเก็บได้ 1 หมื่นล้านบาทมาทบกับเงินที่รัฐบาลให้อีก 400 บาทเป็น 1,000 บาทและผู้สูงอายุสามารถรับเงินได้โดยตรง เงินส่วนนี้ก็จะช่วยเหลือคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางได้ทันที ส่วนที่สอง พ่อแม่ที่มีลูกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบ เราสามารถจัดงบประมาณเดือนละ 1,200 บาทเป็นค่าเลี้ยงดูให้พ่อแม่ได้ซึ่งจะช่วยพยุงคุณภาพชีวิตของเด็กได้ดีขึ้นทันที

คนกรุงเทพที่มีกำลังแล้วสิ่งที่เขาไม่อยากเห็นมีอยู่ 2 เรื่อง คือ เขาไม่อยากเห็นผู้สูงอายุที่ไม่มีเงินและไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดี กับการที่เห็นเด็กคนหนึ่งซึ่งเขารู้อยู่แล้วว่าถ้าปล่อยให้อยู่กับสภาพชีวิตเช่นนั้น เด็กคนนี้จะมีโอกาสน้อยมากที่เขาจะมีศักยภาพวิ่งตามความฝันของตัวเอง ถ้าปล่อยเขาไป เขาจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไร้ศักยภาพและพอแก่ตัวเขาก็จะกลายเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีเงินอีก มันเป็นวงเวียนความยากจนเช่นนี้ นี่คือสี่เรื่องที่เราทำได้ทันที

ถามปุ๊บ – ตอบปั๊บ กับปัญหากรุงเทพฯ ที่ต้องแก้

ปัญหารถติด – การแก้รถติดต้องปรับที่รถโดยสารสาธารณะ ผมเคยคิดเล่นๆ ว่าถ้าจะให้รถไม่ติด ต้องเพิ่มพื้นที่ถนนอีก 7 เท่าตัวจากที่เป็นอยู่ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่นี่เป็นโอกาสอันดี เพราะแต่เดิมรถเมล์เป็นรถร่วมคือไปร่วมวิ่งภายใต้ใบอนุญาตขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) แต่ปัจจุบันสามารถให้เอกชนขอใบอนุญาตเพื่อเดินรถเองได้ แต่พอเราผลักภาระทั้งหมดให้เอกชนเพื่อหากำไร ทำให้ค่ารถเมล์เลยแพง แต่ถ้ากรุงเทพฯ ทำตั๋วอุดหนุนจะทำให้ค่าโดยสารถูกลง ตั๋วอุดหนุนคือจ่ายในราคา 70 – 80 บาท แต่ใช้ได้ 100 บาทเพื่อทำให้คนกรุงเทพฯ สามารถนั่งรถเมล์คุณภาพดีในราคาที่เอื้อมถึง โดยเฉพาะในสายที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ซึ่งจะนำคนมาป้อนกับรถไฟฟ้า ในส่วนของสายฟันหลอ เช่น เขตสายไหม แขวงคลองถนน ที่ไม่มีบริษัทเดินรถไปขอใบอนุญาต กรุงเทพมหานครสามารถไปขอใบอนุญาตแล้วจ้างเดินรถเองได้เลย

ปัญหารถไฟฟ้าแพง – สายสีเขียวต้องไม่ต่อสัมปทานและต้องเปิดเงื่อนไข เงื่อนไขสำคัญคือต้องมีตั๋วร่วมและค่าโดยสารร่วม และสิ่งที่น่าจะทำต่อจากนี้คือผู้ว่าฯ ต้องเป็นกรรมการหรืออยู่ในวงเจรจาเกี่ยวกับค่าโดยสารด้วย จะต้องไม่มีวาระลับหรือช็อกคนกรุงเทพฯ ที่ต้องจำนนกับค่าโดยสารที่แพงขึ้น อย่างน้อยๆ ประชาชนมีสิทธิจะรู้ว่าคุยกันยังไง และมีแนวโน้มค่าโดยสารจะแพงยังไง ไม่ใช่ผู้ว่าฯ บอกว่าไม่มีอำนาจแล้วรอรับสภาพพร้อมกับคนกรุงเทพฯ

ปัญหาฝุ่น PM2.5 – ผู้ว่าฯ คนไหนบอกว่าแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้คนนั้นโกหก ผู้ว่าฯ ทำได้แค่ทุเลา เช่น ปัญหาที่มาจากสันดาปภายใน ผู้ว่าฯ ต้องทำงานร่วมกับกรมการขนส่งทางบก มลพิษที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรมที่เราเห็นเป็น PM2.5 จริงๆ หรือสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) กันแน่ นั่นก็ต้องทำงานคู่กับกรมควบคุมมลพิษ แต่สิ่งที่เราปกป้องได้คือ เป้าหมาย ซึ่งหมายถึงกลุ่มประชาชนผู้เปราะบาง เช่น ในโรงเรียนเราอาจสามารถติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ หรือปรับเปลี่ยนเวลาเปิดเรียนช่วงฝุ่นมากๆ หรือในโรงพยาบาลก็เช่นเดียวกัน ผมว่าปัญหาเรื่องนี้เราทำได้แค่ทุเลาแต่ผู้ว่าฯ ต้องไม่หยุดทำ

พื้นที่สาธารณะ – กรุงเทพมหานครมีพื้นที่รกร้างประมาณ 4 พันไร่ 7 พันแปลง และเรามีภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้างกรุงเทพมหานครสามารถไปเลือกทำเลที่เหมาะกับการเป็นสวนสาธารณะแล้วขอใช้ประโยชน์หรือขอเช่าก็ได้ และเวลาเราพูดถึงสวนสาธารณะข้างในเราสามารถใส่สนามเด็กเล่นหรืออาจเป็นตลาด อย่าลืมว่ากรุงเทพฯ ไม่มีตลาดในระยะสัญจร 5 กิโลเมตร เราสามารถพัฒนาพื้นที่ตลาดให้เป็นพื้นที่ค้าขายของพี่น้องได้อีกด้วย

ความพร้อมในการลงสนามครั้งนี้

คนกรุงเทพฯ เวลามีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ หลายคนมักคิดว่าเป็นการเลือกหัวหน้า ที่จริงการเลือกผู้ว่าฯ ไม่ได้เลือกหัวหน้าแต่เลือกลูกน้อง ผมคือคนที่มาสมัครงาน ดังนั้นความพร้อมไม่ใช่แค่ตัวเอง แต่หมายถึงความพร้อมของทีมด้วย ผมพูดถึงการทำงาน 3 ประสาน คือ ตัวผู้ว่าที่ต้องดำเนินนโยบาย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่ทำงานกับประชาชนในแต่ละเขตและควบคุมเรื่องงบประมาณ ซึ่งเพื่อนๆ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. ของผมทำงานในเขตพื้นที่มากว่าสองปีแล้ว ความพร้อมเรามีมากกว่าหนึ่งปีแน่ๆ และ ส.ส. ของเราก็ศึกษากฎหมายที่ทำให้มันเป็นอุปสรรคในการทำงานของผู้ว่าฯ และเราก็พร้อมแก้แล้ว ผมคิดว่าเรามีความพร้อมและเราทำงานเป็นทีม

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save