แม้ว่าจะยังไม่มีประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการ แต่ผู้สมัครต่างก็เริ่มเปิดหน้า ปลุกสนามการเมืองให้ร้อนฉ่าและคึกคักขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ ‘พี่เอ้ – สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ ประกาศลงรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครในนามพรรคประชาธิปัตย์
ด้านหนึ่ง ‘สุชัชวีร์’ คือเดิมพันครั้งสำคัญของประชาธิปัตย์ที่เพิ่งล้มเหลวครั้งใหญ่ในการเลือกตั้ง ส.ส. ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2562 ขณะที่อีกด้าน ชื่อเสียงจากเมื่อครั้งเป็นอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและเรื่องราวส่วนตัวอันเปี่ยมไปด้วยสีสันก็ทำให้เขาถูกจับตามองและตั้งคำถามมากเป็นพิเศษ
101 ชวนหาคำตอบผ่านบทสนทนากับ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครชิงผู้ว่ากรุงเทพฯ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ถึงวิสัยทัศน์ นโยบาย ความท้าทายพร้อมตอบทุกข้อวิจารณ์ในสนามการเมืองที่เป็นเดิมพันใหญ่ของทั้งเขาและพรรค
หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนและเรียบเรียงจากรายการ 101 One-on-One Ep.257 “เปลี่ยนผู้ว่า – เปลี่ยนกรุงเทพฯ” กับ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ออกอากาศเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565
จากหน้าข่าวที่มีทั้งประเด็นส่วนตัวและประเด็นการตรวจสอบความร่ำรวยผิดปกติ คุณถือเป็นผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่ได้รับทั้งก้อนหินและดอกไม้ คุณรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร
ต้องทนให้ได้นะครับ สมมติผมได้มีโอกาสเป็นผู้ว่า กทม. เชื่อได้ว่าจะต้องมากกว่านี้แน่นอน ภาษาที่คุยกันสนุกๆ ก็หมายถึงเป็นออเดิร์ฟ ยังไม่ได้เจออาหารเมนคอร์ส เพราะว่าหน้าที่ผู้ว่ากรุงเทพฯ มีรายละเอียดและหลากหลายมาก เมื่อไปทำจริงๆ คงต้องเจอการถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อให้เราทำดีแค่ไหน เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมแค่ไหน มันก็ต้องมีบางคนเสียประโยชน์หรือไม่พอใจ สโลแกนที่ตั้งใจก็คือ ‘เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้’ ก่อนจะได้ไปเปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้ เราต้องทนให้ได้ก่อน
ส่วนประเด็นความร่ำรวยผิดปกติ อันดับแรกยืนยันว่าแสดงบัญชีทรัพย์สินมาในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐมาตลอด เราก็รู้นะว่าวันนึงเราต้องมาอยู่ตรงนี้ เพราฉะนั้นแล้วอยากจะรับรองทุกคนจริงๆ ว่าชีวิตของผม เอ้ – สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เป็นชีวิตที่โปร่งใส เปิดเผยและเราทำหน้าที่ด้วยความเสียสละและซื่อสัตย์สุจริต จากที่มีข่าวก็ไปยื่นจดหมายกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตอนนี้อยู่ในมือป.ป.ช. แล้ว ซึ่งผมมีความมั่นใจครับ
อะไรเป็นเบื้องหลังการตัดสินใจก้าวสู่สนามผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร
เป็นเรื่องที่ตั้งใจมา 30 ปี สมัยที่ผมเรียนอยู่ปี 3-4 ที่วิศวะ ลาดกระบัง มีโอกาสทำโปรเจกต์เรื่องวิธีการออกแบบอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินและผมไปรอพบผู้ว่ากฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอวิธีการออกแบบอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งท่านก็เขียนจดหมายแนะนำ (Recommendation Letter) ให้ผมไปเรียนต่อจนจบปริญญาเอกทางด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวกับการก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์
ผมก็จดจำ ณ วันนั้นเลยว่าอยากจะกลับมาช่วยแก้ปัญหา กทม. ในใจคิดว่าอยากจะมาทำหน้าที่ผู้ว่าฯ แต่ก็ไม่กล้าบอกใคร เพราะสังคมไทยเรายังไม่เปิดโอกาสให้คนพูดแบบนี้ เราใช้เวลา 30 ปีในการพัฒนาตัวเอง ไม่ว่าจะไปเรียนต่อจนจบปริญญาเอก กลับมาทำงานวิชาการ กลับมาจนเป็นผู้บริหาร ทั้งด้านวิชาการ การศึกษา ด้านวิศวกรรม ซึ่งมันตรงกับสายที่จะมาทำหน้าที่ผู้ว่า กทม. และจังหวะเปิดพอดี เพราะเราไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. มา 8-9 ปีแล้ว
จากความฝัน 30 ปีทำไมมาสังกัดที่พรรคประชาธิปัตย์
ผมคิดว่าการที่จะเป็นผู้ว่า กทม.ให้สำเร็จ มันไม่ใช่ทำงานคนเดียวได้ เพราะงั้นแล้วเราควรจะกลัดกระดุมให้ถูกเม็ด การสังกัดพรรคทำให้เราได้คุยกับทีมงานอย่างสมาชิกสภา กทม. (สก.) เรื่องอุดมการณ์ในการเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองสวัสดิการที่ทันสมัย ต้นแบบของอาเซียนตั้งแต่วันแรกเลย ทำให้การดำเนินงานก็จะได้ไปตามนโยบายอุดมการณ์ที่เราสัญญาไว้กับประชาชน และทำไมต้องเป็นประชาธิปัตย์ หนึ่ง – ตอนนี้ได้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์มีกระแสของการเปลี่ยนแปลงจริงๆ สอง – พรรคประชาธิปัตย์ให้โอกาสผม ซึ่งเป็นคนนอกพรรคและไม่เคยมีอะไรทางการเมืองมาก่อน และสาม – ถ้าหากเรามีคนที่เขาทำงานในพื้นที่มาอย่างยาวนาน เขาชี้ปัญหาที่แท้จริงและถูกจุดเลย
ผู้ว่า กทม. จากการเลือกตั้งคนก่อนหน้านี้ก็สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แต่หลายคนก็มองว่าไม่ได้ทำผลงานที่น่าประทับใจเท่าใดนัก มองประเด็นนี้อย่างไรบ้าง
พูดกันแบบกลางๆ มันไม่ค่อยแฟร์นะ ในสังคมทางการเมืองมักจะหยิบยกเรื่องที่เขาอาจจะทำพลาดมาเป็นประเด็นมากกว่าที่เขาทำดี การเมืองมันคือการแข่งขัน ห้ำหั่นกัน แต่อย่างน้อยที่สุดเราควรจะยึดถือให้เกียรติกับคนที่เคยทำงาน อันนี้ผมพูดถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทุกพรรคว่าเขาก็ทำความดีเยอะนะ อยากจะบอกว่าต่อให้วันนี้ผมมีโอกาสไปเป็นผู้ว่า ซึ่งแน่นอนก็พยายามเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ ให้ดีที่สุด สุดท้ายลงจากตำแหน่งบางทีคนอาจจะไม่ได้พูดถึงเราในแง่ในสิ่งที่เราทำมากมายก็ได้ อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำใจนะครับ แต่ก็อยากจะขอความเป็นธรรมกับผู้ว่าทุกๆ คน ไม่ว่าจะมาจากพรรคใดก็ตาม
กรุงเทพฯ ในฝันที่คุณอาสาอยากมาเปลี่ยนแปลงเป็นแบบไหน
กรุงเทพฯ จะต้องเปลี่ยนเป็นเมืองสวัสดิการ ทันสมัย และเป็นต้นแบบของอาเซียน
คำว่า ‘สวัสดิการ’ แสดงว่าต้องเน้นที่คนและคนต้องใช้บริการฟรี มีคุณภาพ ‘ทันสมัย’ คือรู้จักใช้เทคโนโลยี และ ‘ต้นแบบของอาเซียน’ เราอยากจะเป็นต้นแบบแสดงว่าต้องเป็นมาตรฐานที่ดี ไม่ต้องมาปะผุ นั่นคือวิสัยทัศน์ให้ชัด ทีนี้ลงมาเป็นนโยบาย ผมบอกชัดเจนเลยว่า 2 เปลี่ยน เปลี่ยนแรกคือเปลี่ยนชีวิตคน และเปลี่ยนที่สองคือเปลี่ยนเมือง
เปลี่ยนชีวิตคน 3 อย่าง (1) เปลี่ยนเรื่องเศรษฐกิจ ให้เงินเต็มบ้านงานเต็มมือจะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น กทม. มีงบประมาณอยู่แล้วสามารถอัดฉีดสร้างเป็นกองทุนสร้างงานชุมชน จ้างอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุและเด็กเล็ก เพิ่มจำนวนอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) จากเดิม 10,000 คนเป็น 20,000-30,000 คน จัดให้อินเทอร์เน็ตเป็นบริการสวัสดิการพื้นฐาน และปิดท้ายด้วยการฟื้นเทศกาล 12 เทศกาลใหญ่ 50 เทศกาลเขต
(2) เปลี่ยนเรื่องสาธารณสุข กทม.มีศูนย์บริการสาธารณสุขหน้าปากซอยเลย 69 แห่ง และมีศูนย์ย่อยๆ แต่ไม่มีหมอครับ หรือมีก็ไม่มีหมอเฉพาะทาง ตรงนี้จะจัดหมอให้มีตลอดทั้งวัน และจัดให้มีเครื่องมือแพทย์ดีๆ ที่คนไทยทำเองให้อยู่ในศูนย์บริการสาธารณสุขทั่วไปของ กทม. ปิดท้ายด้วยระบบการแจ้งเหตุ ถ้าเกิดอินเทอร์เน็ตติดทั่วเมือง การแจ้งเหตุฉุกเฉิน โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องสาธารณสุขต้องรวดเร็วทันใจกว่านี้
(3) เปลี่ยนการศึกษา เพิ่มงบประมาณศูนย์บริการเด็กเล็กจาก 20 บาทเป็น 40 บาท เพราะถ้าเกิดไม่แข็งแรง หรือสมองตอนเด็กๆ ไม่ได้อาหารหลัก 5 หมู่ มีครูดี โรงเรียนดียังไงก็ยาก และที่อยากทำมากคือต้องมีโรงเรียนต้นแบบ 50 เขต 50 โรงเรียน เป็นโรงเรียนที่คนอยากจะมาเรียน เรียนได้ถึง 3 ภาษา มีวิชาอนาคตและมีอาจารย์สอนภาษามาจากประเทศที่เป็นภาษาแม่
ในส่วนนโยบายเปลี่ยนเมืองสนใจประเด็นอะไรเป็นพิเศษ
(1) น้ำเน่า น้ำท่วม น้ำทะเลหนุน ต้องให้จบในรุ่นเราครับ อย่างน้อย 4 ปีต้องเห็นความเปลี่ยนแปลง เรื่องน้ำมี 3 ขั้น ขั้นแรก กรุงเทพฯ ไม่สามารถระบายน้ำตามธรรมชาติได้เลยอยู่ได้ด้วยระบบปั๊ม ปั๊มจากซอยขึ้นมาบนถนน ปั๊มถนนขึ้นมาคลอง จากคลองถึงจะเข้าไปที่เจ้าพระยา แล้วก็มีการระบายโดยใช้การเปิด-ปิดประตูน้ำ เพราะงั้นแล้วระบบปั๊มต้องเป็นอัตโนมัติ ประตูน้ำเป็นอัตโนมัติ ให้สอดประสานกับเรื่องของน้ำขึ้น-น้ำลง ให้สอดประสานกับฝนที่ตกลงมา
ขั้นที่สอง แทนที่จะเอาน้ำรอระบายมารอที่ในซอยถนน ผมเสนอว่าเราต้องทำแก้มลิงใต้ดินเป็นบ่อพักน้ำรอระบายในพื้นที่ชั้นใน ไม่ว่าจะเป็นช่วงสุขุมวิท ช่วงจตุจักร หรือรามคำแหง ซึ่งเป็นที่ต่ำที่สุดใน กทม. เวลาฝนหยุดตกก็ค่อยๆ สูบออกไป
และขั้นสุดท้าย น่ากลัวสุดๆ คือน้ำหนุน ทุกสำนักในโลกบอกชัดเจนว่าในอีก 10 ปีถ้าเกิดกรุงเทพไม่ทำอะไรจมแน่นอน ต้องเริ่มโครงการป้องกันแม่น้ำเจ้าพระยาจากน้ำทะเลหนุน
(2) ขนส่งสาธารณะและการจราจร ถนนในกรุงเทพฯ มี 7% ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งน้อยมาก ขณะที่โตเกียวมีถนน 20% กรุงปารีสมีถนน 40% แสดงว่ากรุงเทพฯ ต้องตัดถนนเพิ่มและขยายช่องทางจราจร เดี๋ยวนี้การตัดถนนเพิ่มทำไม่ง่ายเพราะการเวนคืนที่ดินเป็นภาระ แต่ตัดตามซอยให้เชื่อมกันหรือทะลุราชการช่วยเพิ่มพื้นที่ถนน ชีวิตเปลี่ยนเลย
ข้อที่สอง ในซอยรถจอดหมดเลย ถ้าเกิดผมเป็นผู้ว่า กทม. จะลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อทำที่จอดรถ แต่ขอให้ท่านเก็บค่าจอดรถราคาถูก ก็จะทำให้รถออกจากซอย เพิ่มพื้นที่ในซอยได้แล้ว ช่วยทั้งเรื่องความปลอดภัยและการสัญจรในซอย
ข้อที่สาม ถนนใหญ่ คุณเจอเขตก่อสร้างรถไฟฟ้าใช่ไหม ไปดูแถวศรีนครินทร์ มีแต่หญ้าขึ้นกับที่เก็บของก่อสร้าง ที่จริงในต่างประเทศไม่ให้ทำอย่างนั้นนะครับ ผมเป็นผู้ว่า กทม. ผมเป็นเจ้าของพื้นที่ ขอร้องเถอะครับ ทำอะไรเสร็จแล้วคืนพื้นที่บางส่วน รถจะได้ไม่ติด แล้วเวลาคืนพื้นที่ขั้นสุดท้ายซึ่งผมและตัวแทนเขตต้องเซ็นจะได้รีบเซ็นให้ ผู้รับเหมาก็จะได้เงินงวดสุดท้าย กทม. มีอำนาจตรงนี้อยู่แล้วถึงแม้ไม่ใช่อำนาจโดยตรง แต่เป็นอำนาจในฐานะเจ้าภาพ เจ้าของพื้นที่
ข้อที่สี่ จะสังคายนาให้กล้อง 63,000-64,000 ตัวใน กทม. เชื่อมโยงกันได้สักทีและมาช่วยเรื่องการจราจรก็จะได้เห็นภายใน 4 ปีว่ามีแยกที่สามารถควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติเหมือนกับในลอนดอน
และข้อที่ห้า สร้างทางจักรยานลอยฟ้าให้คนได้ใช้จักรยานไปทำงานจริงๆ เมื่อใดก็ตามที่รถกับจักรยานอยู่ระนาบเดียวกันยังไงก็เสี่ยง ยกทางจักรยานขึ้นมาประกบตรงที่มีตอม่อรถไฟฟ้า แล้วจากทางลงสถานีก็เชื่อมโยงเข้าไปในชุมชนต่างๆ หรือทางเลียบคลองได้
และสุดท้าย (3) ฝุ่น pm 2.5 พูดจริงๆ เลยคือเกิดจากรถบรรทุกและรถขนส่งขนาดใหญ่ จุดหมายปลายทางของรถบรรทุกที่ปล่อยควันดำไปสถานที่ก่อสร้าง ซึ่งผู้ว่า กทม. เป็นคนอนุญาตให้ตึก อาคารต่างๆ ก่อสร้างได้ เพราะงั้นผมจะใช้กฎหมายของ กทม. เรื่องความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมจัดการกับเจ้าของตึก ถ้าเกิดมีรถปล่อย pm 2.5 ผมสามารถเพิกถอนใบอนุญาตตึกได้
สอง ตึกที่ก่อสร้างในกรุงเทพมีไม่กี่ตึกที่ห่อ (wrap) ไม่ให้มีฝุ่นออก ถ้าเกิดสร้างตึกแล้วห่อ (wrap) เอาค่าใช้จ่ายห่อหุ้มตึกมาลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ แต่ถ้าเกิดไม่ทำเจอผมถอนใบอนุญาต เดือดร้อนนะ
และสุดท้ายคือสวนสาธารณะกรุงเทพฯ คนเข้าถึงไม่ได้ แต่ในกรุงโตเกียวมีพันสวนสาธารณะ เพราะใช้พื้นที่เล็กๆ เป็นสวนสาธารณะฉบับกระเป๋าหรือ pocket park ตรงนี้เราใช้อาวุธหนักทางด้านภาษีครับ ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถ้าเกิดคุณมีที่และให้เราเข้าไปใช้ทำสวนสาธารณะ เป็นลานกิจกรรมต่างๆ
หลายคนมองว่าการเมืองไทยยังเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ การเมืองภาพใหญ่จะกระทบนโยบายต่างๆ ใน กทม. ที่คุณนำเสนอมาหรือไม่ มองอย่างไร
การเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เป็นการเลือกไปทำงานเฉพาะหน้าที่ ถ้าเกิดบอกเป็นนักการเมืองก็อาจจะมองในมุมที่ต้องเลือกตั้ง แต่อาชีพ(ผู้ว่าฯ)มันไม่ใช่นักการเมื๊องนักการเมืองนะ มันเป็นอาชีพแบบหัวหน้าช่างกับพ่อบ้าน ปะผุ ซ่อมให้ถูกที่ ซ่อมให้ถูกจุด ดูแลเรื่องการศึกษา ดูแลเรื่องปากท้องคนในบ้าน ในครอบครัว กทม. เพราะงั้นความเป็นจริงมันไม่ได้เชื่อมโยงกับการเมืองของประเทศโดยตรงสักทีเดียวนะครับ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาชนก็จะเอามาเป็นปัจจัยในการตัดสินใจเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ซึ่งผมพยายามสื่อสารว่าไม่ใช่นะ คุณอาจจะไม่ชอบพรรคผม คุณอาจจะไม่ชอบผม แต่คุณเห็นว่าเจ้าหมอนี่ทำงานได้ คุณน่าจะเลือกคนที่ทำงานได้ เอาล่ะ พอเป็นไปแล้วมันจะเกี่ยวอะไรกับการเมืองภาพใหญ่ไหม ถ้าสมมติว่า(รัฐบาล)ไม่ใช่พรรคเดียวกัน การแทรกแซงในงาน กทม. มีได้ แต่ว่ามันไม่ได้เยอะมากจนกระทบ พูดง่ายๆ ว่ามีเรื่องให้ทำได้มากกว่าเรื่องที่ทำไม่ได้ ไม่มีจนถึงขนาดที่เราจะมาอ้าง มาแก้ตัว
คิดอย่างไรกับโครงสร้างการปกครองของ กทม. มีอะไรที่เป็นปัญหาและควรได้รับการปฏิรูปหรือแก้ไขอย่างไร
การดูแลสาธารณูปโภคหลายๆ อย่าง ระบบขนส่งมวลชน ระบบรถเมล์หรือระบบที่ดูแลประชาชน ไม่ว่าจะเป็นน้ำ เป็นไฟ กทม.ควรจะมีบทบาทบ้างใช่ไหม เพราะงั้นยืนยันเลยครับ อยากปฏิรูปให้รัฐธรรมนูญหรืออาจจะไม่ถึงระดับรัฐธรรมนูญก็ได้เป็นกฎหมายออกมาให้มีการกระจายอำนาจหน้าที่สู่ท้องถิ่น ให้อำนาจการบริหารจัดการของท้องถิ่นให้เบ็ดเสร็จมากยิ่งขึ้น
หลายเสียงไม่อยากต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว คุณสนับสนุนต่อสัญญาหรือไม่ ในฐานะที่ประชาธิปัตย์เป็นผู้เสนอการขยายสัญญามาก่อนหน้านี้
ผมมาจากการเลือกตั้งประชาชน ประชาชนต้องการอย่างไร ผมบอกอย่างงั้นเลย ผมบอกชัดเจนนะว่าสัมปทานจะต่อได้หรือไม่ต่อก็ได้ แต่ประเด็นสำคัญก็คือคนกรุงเทพต้องได้ใช้รถไฟฟ้าในราคาที่ทุกคนใช้ได้
ในช่วงที่ผ่านมามีการเรียกร้องต่อสู้ของประชาชนบนท้องถนนในประเด็นที่แหลมคม ถ้าคุณได้เป็นผู้ว่า กทม.จะส่งเสริมการใช้เสรีภาพในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนหรือไม่ และถ้าต่อไปมีคนอยากจัดชุมนุมที่สนามหลวงจะอนุมัติให้ใช้สถานที่ไหม มองเรื่องนี้อย่างไร
จัดเลยครับ เพราะว่าเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนเป็นสิทธิอยู่แล้ว เป็นผู้ว่า กทม. จะต้องปฏิบัติให้มันเท่าเทียมนะ คือไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนมาก็ต้องดูแลเต็มที่ หนึ่ง – ต้องดูแลเรื่องความปลอดภัย สอง – ต้องดูแลความสะอาด สุขอนามัย สุขลักษณะของประชาชนอย่างเต็มที่ตลอดการชุมนุมครับ สาม – ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามต้องดูแลอย่างเท่าเทียม ต้องดูแลอย่าให้พี่น้องประชาชนคนอื่นๆ ที่อยู่รอบๆ ได้รับความเดือดร้อน
หลังจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ คุณวางอนาคตของตัวเองต่อไปไว้อย่างไร
เราอย่าไปคิดว่ามันจะได้หรือไม่ได้ ห้ามคิดเด็ดขาด คุณจะทำอะไรก็ตาม คุณต้องมั่นใจในสิ่งที่นำเสนอและคุณต้องมั่นใจว่าคุณต้องทำให้สำเร็จ โดยที่คุณต้องไม่เจือปนในสิ่งที่เป็นลบ จะบอกว่าวันนี้คิดอย่างเดียวว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อที่จะรับใช้พี่น้องประชาชน รักษาร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง รักษาจิตใจให้นิ่ง มั่นคง สมองให้แจ่มใส คิดเฉพาะทำหน้าที่วันนี้ให้ดีที่สุด