fbpx

“การกีดกันการค้ายังฝังรากในผู้บริหารบ้านเมือง” คุยกับเจ้าของเพจ Surathai เมื่อกฎกระทรวงผลิตสุราไม่เท่ากับสุราก้าวหน้า

การประชุมสภาพิจารณา พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า วาระ 2 และ 3 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สิ้นสุดลงด้วยกฎหมายถูกตีตก ตามการคาดการณ์ของใครหลายคน ท่ามกลางกระแสข่าวลือในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้าว่ารัฐบาลจะโหวตคว่ำกฎหมายฉบับนี้

และเพียง 1 วันก่อนการประชุมสภา ประกาศกฎกระทรวงอนุญาตผลิตสุราใหม่ก็ถูกบังคับใช้แทบจะทันทีภายหลังจากที่ประชุม ครม. ลงมติอนุมัติ โดยเป็นการแก้ไขจากกฎกระทรวงอนุญาตผลิตสุราปี 2560 ระบุให้มีการปรับแนวทางการผลิตที่ ‘เปิด’ ให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเดินหน้าผลิตสุราด้วยตัวเองมากขึ้น 

แม้ดูเหมือนมีความหวัง แต่กลุ่มผู้ผลิตสุราต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่ไม่ใช่ความหวังแบบเดียวกับ พ.ร.บ. สุราก้าวหน้ามอบให้ ข้อสำคัญคือความหนักแน่นของกฎกระทรวงมีน้อยกว่าการตราเป็นพระราชบัญญัติ เพราะกฎกระทรวงมีโอกาสแก้ไขได้ง่ายกว่า พ.ร.บ. พวกเขาจึงไม่ไว้วางใจท่าทีการออกกฎกระทรวงมากนัก

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยืนยันว่าการแก้ไขกฎกระทรวงนี้มีการศึกษาและทำงานมากว่า 6 เดือน ก่อนจะเกิดการเสนอ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า จากพรรคก้าวไกล และยืนยันว่าการปลดล็อกเป็นไปตามการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว แต่เมื่อกลุ่มผู้ผลิตสุราสำรวจไส้ในของกฎกระทรวง พบว่ายังมีบางส่วนที่ยังคงปิดล็อกไว้ตามเดิม บางส่วนเปิดล็อกบ้าง แต่มีเงื่อนไขอื่นเข้ามาให้พิจารณาแทน อีกทั้งก่อนหน้านี้เคยมีประชาชนยื่นขอแก้ไขกฎกระทรวงเมื่อ 2 ปีที่แล้ว จึงเกิดคำถามว่าทำไมรัฐบาลถึงตัดสินใจประกาศก่อนวันประชุมสภาเพียงวันเดียว

101 ชวน ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เจ้าของเพจ Surathai พูดคุยถึงกฎกระทรวงอนุญาตผลิตสุราฉบับใหม่ที่อาจทำให้สุราชุมชนหยุดนิ่งอยู่กับที่ พร้อมมองความหวังของสุราไทยที่รอโอกาสเติบโตสร้างรายได้ให้ประเทศ

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว อาจารย์ได้ยื่นแก้กฎกระทรวงเกี่ยวกับการผลิตสุรา ตอนนั้นกระบวนการเป็นอย่างไร ทำไมถึงเกิดการยื่นขอแก้ไข

กฎกระทรวงมีปัญหามานานแล้ว ก่อนหน้าจะมีการประกาศใช้กฎกระทรวงปี 2560 เขาใช้หลักเกณฑ์เดิมของประกาศกระทรวงการคลังปี 2543, 2544, 2546 ซึ่งหลักเกณฑ์นี้เคยถูกศาลปกครองเพิกถอนไปแล้ว เนื่องจากเป็นเพียงประกาศกระทรวง มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ไม่เท่ากฎกระทรวง ดังนั้นเมื่อประกาศกระทรวงการคลัง 3 ฉบับนี้ถูกยกเลิกไป ก็ควรจะออกกฎกระทรวงที่สอดคล้องมา ซึ่งผมคาดเดาไว้แล้วว่ากฎหระทรวงของปี 2560 ยังมีเกณฑ์กีดกันออกมาอยู่ดี คือกำหนดให้มีการผลิตขั้นต่ำและมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ

เราเลยหาทางแก้ไข ตอนนั้นเท่าพิภพ (ลิ้มจิตรกร) ก็เข้าไปคุยกับกรมสรรพสามิตแล้ว แต่ก็ยังไม่เกิดการแก้ไข เราเลยคิดว่าต้องใช้หลักเกณฑ์กฎหมายบังคับแล้วล่ะ พอดีเจอช่องทางในมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญบอกว่า กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือการประกอบอาชีพจะต้องถูกแก้ไข 

ในการไปร้องเรียนตามมาตรา 77 ต้องไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พวกเราก็ไปยื่นเรื่องกันเมื่อกลางปี 2563 ในที่สุด ท่านก็เชิญเราเข้าไปชี้แจงว่าเพราะอะไรเราถึงอยากขอให้ตัดกำลังผลิตขั้นต่ำ เราก็แจงไปว่ารายเล็กรายน้อยจะได้ขยายให้กำลังผลิตกันขึ้นมาได้ แล้วคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของกฤษฎีกาก็ส่งหนังสือไปที่กรมสรรพสามิตว่าเรื่องนี้เห็นควรว่าจะต้องมีการแก้ไขกฎกระทรวงนะ แต่สรรพสามิตไม่ตอบกลับมา เขาทวงถามหลายครั้งหลายหนเลย แต่สรรพสามิตก็ไม่ยอมแก้กฎกระทรวง

ในที่สุด กรมสรรพสามิตส่งรายละเอียดมาว่า มี 11 ขั้นตอนในการแก้กฎกระทรวงนี้ ซึ่งจะแล้วเสร็จเดือนมิถุนายนปี 2564 เราก็ตามกระบวนการมาเรื่อยๆ ซึ่งมันมีขั้นตอนท้ายๆ คือรับฟังความคิดเห็นของหน่วยราชการและภาคเอกชน แต่เขาบอกว่ายังรับฟังความเห็นไม่ได้ เพราะติดสถานการณ์โควิด เราก็บอกว่าโรงเรียนอนุบาลยังสอนออนไลน์กันได้ แล้วการรับฟังความคิดเห็นจะทำผ่านออนไลน์ไม่ได้หรือ

ที่คุณบอกในสภากันว่ามันแก้ไขง่ายๆ แต่มันก็ไม่ง่าย จนกระทั่งเข้าปี 2565 ก็ยังไม่แก้ พวกเราเลยคุยกันว่า ถ้าเขาแก้กฎกระทรวง กระบวนการสภาของ พ.ร.บ. สุราก้าวหน้าก็ไม่จำเป็นต้องเกิด จะได้ช่วยประหยัดงบประมาณต่างๆ ในการประชุมของ ส.ส. เราไม่ต้องไปตั้งกรรมการวิสามัญที่จะต้องมาพิจารณาร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า เขาก็จะได้ไม่ต้องมานั่งประชุมกัน แล้วสุดท้ายเขาก็ต้องมาประชุมกรรมาธิการ มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายเข้ามาคุย

จนในที่สุดเมื่อกฎหมายเข้าสู่ประชุมสภาวาระ 2 กับ 3 กฎกระทรวงเสร็จก่อนหน้านั้น 1 วันเลย ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ทำไมเสร็จเร็วมาก แล้วพอรัฐบาลมาบอกว่าไม่ได้จะแก้เสร็จทันที เราทำล่วงหน้ามา 6 เดือน คือประชุม ครม. กันตอนเช้า ตอนบ่ายมีราชกิจจานุเบกษา ประกาศใช้บังคับที่เข้าสภาพอดี มันมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากหาเหตุผลให้ ส.ส. ฝั่งรัฐบาลและพรรคร่วมคว่ำร่างนี้ เราก็เกิดคำถามว่าเป็นการปกป้องสุขภาพประชาชนจริงหรือเปล่า เป็นการไม่ให้เกิดสุราที่คุณภาพไม่ดีจริงหรือเปล่า เป็นการไม่ต้องการให้มีสุราเข้าถึงประชาชนมากมายมหาศาลไปทั่วทุกหนแห่งหรือเปล่า

ทำไมตอนนั้นอาจารย์ถึงเลือกแก้ไขกฎกระทรวงแทนการเสนอ พ.ร.บ. สุราแบบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

จริงๆ คือพวกผมเป็นประชาชน ไม่สามารถจะแก้ พ.ร.บ. ได้ง่ายๆ แต่ว่าเรามี ส.ส. ที่ทำอยู่แล้ว เราก็ทำไปคนละทาง ใครถนัดหรือมีหน้าที่แก้ พ.ร.บ. เขาก็ทำไปในทางที่เขามีสิทธิหรือมีอำนาจหน้าที่ ส่วนเราเป็นประชาชน เราก็ขอแก้กฎกระทรวง 

แล้วผมมองเหมือนรัฐบาลว่าเรื่องนี้อยู่ในกฎกระทรวง เราแก้ที่กฎกระทรวงก็จบ เพราะว่ามันแก้ง่ายอยู่แล้ว แค่ทางกรมร่างกฎกระทรวงตามที่เราต้องการคือปลดล็อกอะไรต่างๆ แล้วก็ส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบก็ประกาศได้ เห็นไหมครับว่าเขาประกาศได้ภายในวันเดียว การประกาศในราชกิจจาฯ ไม่ได้ยากเย็นอะไร 

แต่กฎกระทรวงที่ใช้เวลา 2 ปีกว่าก็ยังไม่ออกมา น่าสงสัยนะครับ เพราะนี่ไม่ใช่ประชาชนธรรมดาไปเคาะประตูให้แก้ แต่สำนักงานกฤษฎีกาส่งหนังสือถึงกรมสรรพสามิตว่าให้แก้ไข

กฎกระทรวงที่อาจารย์ยื่นขอแก้ไขเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แตกต่างจากกฎกระทรวงที่รัฐบาลแก้ไขอย่างไรบ้าง

เยอะแยะเลย ในกฎกระทรวงใหม่นี้ยังมีอะไรอยู่ข้างในอยู่ เขาทำให้ดูเหมือนกับว่าเปิดให้ อย่างเช่น ทำให้ brewpub (โรงเบียร์ที่ผลิตในร้าน ขายในร้านเท่านั้น ห้ามบรรจุขวดขาย) ทำได้ง่ายขึ้น ทำให้เปิดทำที่บ้านได้ บริโภคได้ 200 ลิตรต่อปี มันก็ไม่ได้มากมายอะไร และต้องไปขออนุญาตกันวุ่นวาย หรือเรื่องของการผลิตเบียร์ที่บอกว่าต้องผลิต 10 ล้านลิตรต่อปี เขาเอาออก เพราะแรงกดดัน แต่ก็ใส่อย่างอื่นเข้ามาแทน เช่น ต้องทำผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต้องมีเครื่องมือในการพิมพ์หลักฐานการเสียภาษีอัตโนมัติ ส่งข้อมูลไปที่คอมพิวเตอร์กรมสรรพสามิต ถามว่าโรงเล็กๆ โรงไหนจะทำได้ ก็ต้องเป็นโรงใหญ่ลงทุนอยู่ดี ถึงทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาทไม่มี มันก็ต้องลงทุนเรื่องนี้อยู่ดี เพื่อจะทำระบบตามที่เขากำหนด

แล้วที่บอกว่ายกเลิกกำลังผลิตขั้นต่ำไปแล้ว จริงๆ ในส่วนสุราสีหรือสุราขาวที่เป็นโรงงานผลิต ก็ยังมีกำหนดให้สุราสีต้องผลิต 30,000 ลิตรต่อวัน และสุราขาวต้องผลิต 90,000 ลิตรต่อวันอยู่เหมือนเดิม ถ้าหากว่าตั้งใจจะช่วยจริง ก็ต้องไม่มีแล้ว แต่ก็ยังมีอยู่ ซึ่งในปัจจุบันนี้เรามีเหล้าดีๆ ของชุมชนที่ทำจากเหล้าข้าว เหล้าอ้อย เหล้าลำไย เหล้าลิ้นจี่ หรือจากผลไม้ต่างๆ แล้วเขาอยากทำเป็นเหล้าวิสกี้ บรั่นดี แต่ไม่สามารถเอาไปบ่มในไม้โอ๊กเพื่อให้ออกมาเป็นเหล้าคุณภาพสูงได้ เพราะว่าจะต้องมีกำลังการผลิตขั้นต่ำ 30,000 ลิตรต่อวัน ซึ่งต้องเป็นโรงใหญ่เท่านั้นที่จะทำกันได้ แล้วถามว่าโรงใหญ่เขามีเหล้าลิ้นจี่ ลำไย สับปะรด อ้อย อะไรต่างๆ ออกมาจำหน่ายให้เราไหม 

ทุกวันนี้สุราชุมชนที่ทำเหล้าสีต้องใช้ชื่อที่ไม่สื่อในตัวเอง เช่น ผมจะทำเหล้ายิน (gin) ก็ไม่สามารถเขียนว่าเหล้ายินได้ ต้องใช้ตัว G สื่อสารแทน เพราะเขาไม่ให้ทำ เหล้ารัมที่ทำจากอ้อยก็ใช้ตัว R ถามว่าทำไมทำเหล้ารัมไม่ได้ ก็เพราะต้องผลิต 30,000 ลิตรต่อวัน

ตอนเราเสนอแก้ไข เราบอกว่าให้เอากำลังการผลิตขั้นต่ำออกไป เราขอให้ชุมชนทำเหล้าสีได้ พวกเขาจะได้เกิด อีกข้อเสนอของผมคือ ทำไมคุณต้องเอาสุราแช่ชนิดเบียร์แยกออกมาจากสุราแช่ชนิดอื่นๆ อย่างเช่น พวก RTD (Ready To Drink) เครื่องดื่มที่พร้อมดื่ม มีแอลกอฮอล์ 5% เหมือนกับกับเบียร์ทุกประการ แต่เป็นน้ำผลไม้ที่มีสี ซ่าๆ แต่ทำไมถึงใช้เกณฑ์ต่างกับเบียร์ มันมีเหตุผลอะไร ผมมองว่าเรื่องของสุราแช่ชนิดเบียร์ต้องเอาออกไป แล้วให้ใช้เกณฑ์เดียวกันหมด สุราแช่ก็คือสุราแช่ ไม่ใช่ว่าทำสุราแช่ชนิดเบียร์ 

เมื่อเห็นท่าทีของรัฐบาลแก้ไขกฎกระทรวงก่อนจะมีการประชุมสภาเพื่อโหวต พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า อาจารย์คิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

ถ้าจะมองว่าเป็นเรื่องการเมือง ฝ่ายรัฐบาลไม่อยากให้กฎหมายฝ่ายค้านผ่านก็อาจจะมองได้ แต่ผมมองว่าเรื่องการกีดกันรายย่อยยังคงอยู่ เพราะถ้าหากกฏกระทรวงนี้ตั้งใจจะช่วยจริงหรือตั้งใจจะปลดล็อกจริง มันต้องไม่มีการล็อกสเป็กหรือเอาอะไรไปยัดไส้เอาไว้ 

ดูจากท่าทีเหมือนเขาทำออกมาเพื่อให้สามารถพูดกันได้ว่ามีกฎกระทรวงแล้วจะได้ไม่ต้องให้ พ.ร.บ. ผ่าน คือเอาไปเป็นตัวประกันหรือข้ออ้างของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลที่จะลงมติคว่ำ ตอนนี้ (วันที่ 2 พฤศจิกายน ขณะลงเสียงมติในสภา) ผมเห็นผลก็ทำท่าจะรอดไม่รอดแหล่ ผมอาจจะไม่ได้มองในเชิงการเมืองว่าฝ่ายค้านจะเอาความดีความชอบไปคนเดียว แต่ผมมองเป็นเรื่องการกีดกันทางการค้าที่ยังคงฝังอยู่ในรากฐานของผู้บริหารของบ้านเมืองเรา เพราะต้องการจะโอบอุ้มใครไว้ มันมองเป็นอย่างอื่นไม่ค่อยได้ ผมอยากหาเหตุผลเหมือนกันว่า การทำกฎกระทรวงนี้มาโดยมีซ่อนๆ หลบๆ มียัดไส้อะไรไว้ต่างๆ ไม่ได้ปลดกันจริงจัง เขาทำเพื่ออะไร ทั้งๆ ที่เวลาอภิปราย เขาพูดกันอย่างชัดเจนว่ามีประโยชน์อะไรกันบ้าง

บางคนมองว่า ถ้าปล่อย พ.ร.บ. นี้ผ่านไป เท่ากับว่าอิสระเสรีเกินไป หรือไม่ก็บอกว่า พ.ร.บ. นี้เป็นการมอมเมาประชาชน แต่เขาไม่ได้มาดูรายละเอียดว่า พ.ร.บ. นี้ไม่ได้เปิดให้จนสุดโต่ง เพราะอย่างไรก็ตามต้องมีกฎกระทรวงมาครอบคลุมอยู่ดี 

ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีท่าทีกังวลว่า ถ้าหากปล่อยให้เกิด พ.ร.บ. สุราก้าวหน้าแล้ว จะเกิดปัญหาแบบกัญชา อาจารย์มีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร

สุรามีกฎเกณฑ์ต่างๆ ชัดเจนกว่าเยอะ ในเรื่องการควบคุมการบริโภคก็มี พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ฝั่งการบริโภคกัญชายังไม่มีอะไรควบคุมเลย 

นี่เป็นเรื่องที่จะไม่ให้คนสุราน้อยใจได้อย่างไร เพราะคุณเปิดอย่างอื่นได้หมดเลย แต่กับสุรา คุณยังคงมีกฎเกณฑ์มากมาย ยกตัวอย่างว่า ต่อให้เปิดมากกว่านี้ เจ้าหน้าที่ก็ยังคงใช้หลักการไม่ไว้ใจผู้ประกอบการ ผมเปรียบว่าเขาใช้วิธีการเหมือนทหารโรมันเข้าไปทำร้ายคนของโมเสส คือต้องไปตรวจสอบ เคร่งครัด ลองนึกภาพว่าเขานึกจะเข้าโรงงานก็เข้า เพราะฉะนั้น นี่เป็นเหตุผลที่ผู้ประกอบการที่ทำงานผลิตจริงๆ ไม่ออกมาเรียกร้องเรื่องนี้มากเท่าไหร่ คนที่ออกมาเรียกร้องไม่ใช่ผู้ผลิต เพราะคนผลิตถูกเพ่งเล็งอยู่ 

อย่าคิดว่ากลุ่มสุราชุมชนไม่ได้อยากแก้ไขอะไรต่างๆ เขาก็อยากนะครับ แต่เขาไม่สามารถแสดงตัวได้ เขาทำสุราคุณภาพแต่อยู่ในตลาดล่าง แต่พอจะขึ้นข้างบนก็ติดนู่นติดนี่ เราก็อยากให้เขาได้พัฒนาขึ้น พวกเราเคยพาเขาไปเรียนรู้เพิ่มเติม ทำงานวิจัยพัฒนาให้เขาได้พัฒนาสุรา แต่ตอนนี้เขาไปไหนไม่ได้เลย

เมื่อพูดถึงสุราชุมชน ที่ผ่านมามักได้รับการมองเป็นสินค้าโอทอป มีการนำมาจัดแสดงงานในสินค้าโอทอประดับประเทศด้วย กลุ่มเหล่านี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐให้ทำงานอย่างสะดวกหรือ พวกเขาเจอข้อจำกัดในการทำงานอย่างไรบ้าง

พวกนี้เป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่เขียนในกฎหมายระดับรอง เช่น ประกาศกรมสรรพสามิต หรือระเบียบของกรม ซึ่งระเบียบเอาไว้บังคับให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ เช่น สุราชุมชนต้องทำบัญชีวัตถุดิบที่ซื้อของเข้ามากับผลิตภัณฑ์ที่ทำออกไป เขาก็ใช้วิธีคำนวณว่าเราใช้วัตถุดิบทำเหล้า 100 กิโลกรัม คุณก็ต้องได้เหล้าออกไป 50 ลิตร แต่ถ้ามันไม่ถึง เช่น มันเกิดการหมักเสีย อากาศร้อน หมักไม่ดีก็มีบูดเน่า มันก็ได้เหล้าไม่ถึง 50 ลิตร เขาจะบอกว่าที่คุณหายไป คุณเอาแอบไปขายโดยไม่เสียภาษี เพราะฉะนั้น เราจะปรับคุณย้อนหลัง มีทั้งค่าโทษปรับและภาษีมูลค่าย้อนหลัง พอทบทวีคูณเข้าไปแล้วมันก็หลายหมื่น โดนครั้งเดียวแทบปิดโรงงานเล็กๆ แล้ว 

หรือต่อให้ทำตัวเรียบร้อยอย่างไร เกิดสินค้าคุณดีทะลุเป้าขึ้นมา มีสินค้าขายทั่วไป ก็โดนเพ่งเล็งอีกนะครับ กลุ่มสุราชุมชนเลยบอกว่าเอาแค่พอขายได้ ไม่มีใครอยากดัง พอดังเข้ามาแล้วก็มีเจ้าหน้าที่เข้าไป เคยมีเพจดังๆ ที่เขาเอาเหล้ามารีวิว พอรีวิวแล้วเจ้าหน้าที่เข้าโรงงานเลย เขาถามว่า เอาเหล้าตัวนี้ไปให้เขารีวิวแต่ว่าขวดที่เอาไปเป็นคนละไซส์กับที่เขาขออนุญาตนะ มันไม่มีแสตมป์ติด คุณเอาเหล้าออกจากโรงงานไม่มีแสตมป์ ไม่เสียภาษีออกไปให้เขาชิมได้ยังไง 

ยังไม่นับเรื่องบริการบางอย่างของเจ้าหน้าที่ ต้องบอกว่าบริการข้าราชการไทยที่มีดีก็มีนะครับ แต่ต้องยอมรับว่าบางหน่วยก็เคร่งครัดเยอะมากจนชาวบ้านกลัว ลองนึกภาพนะครับ ข้าราชการต่างจังหวัดใส่ชุดเครื่องแบบนั่งรถตู้ 2 คันไปจอดหน้าบ้าน คุณเป็นโรงงานผลิตเล็กๆ แล้วมีเจ้าหน้าที่เข้ามาทำแบบนี้ ไม่ต้องแปลกใจที่ผู้ประกอบการไม่อยากให้สัมภาษณ์กับสื่อไหน ต่อให้เป็นเพจเล็กๆ อย่างผมจะสัมภาษณ์ เขายังไม่กล้าออกเลยนะครับ เจ้าหน้าที่สามารถมาดูได้ทุกเมื่อ  

ดังนั้น นอกจากปัญหาหลักการของกฎกระทรวงที่ไม่เอื้อแล้ว ยังมีกฎระเบียบไปกดดันผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยอีก แต่เรายังไม่ได้ไปแตะเรื่องพวกนี้ เช่น ภาษีที่แพงกว่าชาวบ้าน ไม่ว่าประเทศไหนๆ ก็ไม่เก็บภาษีกันขนาดนี้ เราจึงต้องค่อยๆ แก้ไปทีละเรื่อง อย่างตอนนี้เราพยายามแก้เรื่องการผลิต ถ้าเสร็จแล้วค่อยว่ากันต่อไปว่าภาษีจะเปลี่ยนได้ไหม 

กฎหมายพวกนี้ทำให้สุราชุมชนขยับตัวไม่ได้ คนก็เริ่มหายไป ไม่ทำแล้ว เมื่อก่อนสุราชุมชนถูกจัดอยู่ในโอทอป มีงานเทศกาลสุราแช่ไทยที่ศูนย์สิริกิติ์ คนมางานกันระเบิดระเบ้อยิ่งใหญ่มาก มีการสนับสนุนโดยกรมการพัฒนาชุมชน ไปสอนให้ชาวบ้านผลิตสุรา เอานักวิชาการเข้าไปสอน เป็นช่วงที่บูม เกิดผู้ผลิตจำนวนมาก แล้วก็ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าโอทอป 

ทุกวันนี้ก็ยังมีการคัดสรร การจัดอันดับให้ 4-5 ดาว ก็ยังมีสุรา แต่มันน้อยลงมากๆ เลย เพราะว่าเขาล้มหายตายจากนโยบายที่เปลี่ยนไป ไม่มีการสนับสนุน แต่ว่ายังมีการคัดสรรอยู่โดยโอทอป ซึ่งก็เหลือน้อยลงมากๆ เมื่อก่อนที่เขาจัดงานในเมืองทองธานี มีโซนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นบริเวณใหญ่ๆ เลย แต่ตอนนี้เหลือแค่ซอยเดียว

การติดข้อจำกัดของกฎหมายส่งผลกระทบอะไรกับภูมิปัญญาการทำเหล้าของชาวบ้านไหม

มันมีทั้งภูมิปัญญาที่จะต่อยอดเป็นงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในอนาคตได้ ซึ่งมันสูญหายไปแล้ว ยกตัวอย่างชัดเจนคือ เหล้าอยุธยาที่ใช้ข้าวเจ้าทำ เนื่องจากการหมักข้าวเจ้าหมักยาก ก็ไม่มีคนทำแล้ว แต่มีเหล้าคล้ายกันแบบนี้ที่เมืองโอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น เขามารับถ่ายทอดเทคโนโลยีไปในสมัยอยุธยา พวกผมไปดูงานมาแล้ว 2 รอบ คนที่นู่นพูดด้วยความภาคภูมิใจว่าเขาได้รับเทคโนโลยีมาจากอยุธยา และทุกวันนี้เขาก็สืบทอดมาโดยใช้ข้าวที่นำเข้าจากประเทศไทย เขาหมักในโอ่ง ในไห ลักษณะเหมือนบ้านเราเลย ลองนึกภาพละครเรื่องบุพเพสันนิวาส พระเอกกินเหล้าเป็นจอกๆ จากไห แม้เราจะไม่รู้ว่าเป็นเหล้าอะไร แต่สมัยนั้นเขาก็กินแบบนั้น เมืองโอกินาว่าก็อนุรักษ์เอาไว้ แต่ของเราแทบจะไม่เหลือแล้ว โดยเฉพาะภาคกลางที่เป็นต้นตำรับ ตอนนี้เปลี่ยนไปใช้ข้าวเหนียวหมดแล้ว ภูมิปัญญาต่างๆ เหล่านี้ก็หายไป

หรืออย่างเรื่องเหล้าอุกับกระแช่ กระแช่คือน้ำตาลเมาที่ทำมาจากน้ำตาลโตนด น้ำตาลต้นตาล น้ำตาลมะพร้าว กระแช่ก็แทบจะหายไปแล้วเหมือนกัน มีคนถามมาตลอดเลย จะหาน้ำตาลเมาไปถวายกรมหลวงชุมพร เพราะว่าท่านได้ประทานพรตามที่ได้ไปขอไว้เลยจะตามไปแก้บน เขาหาซื้อไม่ได้นะครับ เพราะไม่มีคนจะทำกันแล้ว นี่คือภูมิปัญญาที่สูญหายไป ต่อไปต้นตาลจะถูกโค่นลงไปเรื่อยๆ เพราะไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว ส่วนที่เอามาทำน้ำตาลปี๊บหรือน้ำตาลก้อนก็ขายในปริมาณนิดเดียว มันไม่คุ้มกับที่เขาจะเสี่ยงชีวิตปีนต้นตาลขึ้นไป 

สมมติถ้าเขาปีนต้นตาลขึ้นไปเอามาทำเป็นเหล้า แล้วขายนานาชาติว่านี่คือเหล้าที่ทำมาจากต้นตาล ต้องเก็บอย่างนี้นะ ฝรั่งต้องบินมาดู เหมือนเราบินไปดูเขาทำเตกีลา (tequila) กับต้นหัวอากาเว่ใต้ดิน แต่ของเราไม่ได้เอามาทำอะไรได้เลย เพราะว่ามีข้อจำกัด แค่พูดถึงก็ผิดกฎหมายแล้ว สมมติว่าผมเอาเหล้าขึ้นมาสักขวดแล้วบอกว่ามาชิมสิ แค่นี้เขาสามารถเรียกให้ผมไปชี้แจง ถ้าชี้แจงไม่เป็นที่พอใจก็เรียกเก็บค่าปรับ 50,000 บาท ซึ่งผมก็เสนอขอแก้ไข พ.ร.บ. นี้อยู่ ตอนนี้มีคิวที่จะเข้าพิจารณาในรัฐสภา แต่ว่าเป็นคิวท้ายๆ คิดว่าจะไม่ทันรัฐบาลสมัยนี้

เมื่อ พ.ร.บ. สุราก้าวหน้าโดนตีตกแล้ว และกฎกระทรวงที่แก้ใหม่ก็ยังไม่เอื้อต่อการพัฒนาของกลุ่มสุรา อาจารย์คิดว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร กลุ่มสุราจะทำงานอย่างไรต่อไปบ้าง

เท่าที่มองคือ เมื่อ พ.ร.บ. ไม่ผ่าน แต่เขาแก้กฎกระทรวงให้แล้ว โดยที่สาระสำคัญยังไม่ไปถึง จะมีบางกลุ่มที่ได้ประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ เช่น brewpub อาจจะเปิดได้ง่ายขึ้น พวกต้มเบียร์กินที่บ้านอาจจะได้ประโยชน์ด้วย แต่เท่าที่อ่านในกระแส หลายคนบอกว่าต้องไปขออนุญาตยุ่งยาก ต้องไปวิเคราะห์คุณภาพด้วย ต้องลงทุนขนาดนั้นเพื่อต้มเบียร์ไม่กี่ลิตรเพื่อกิน 1-2 วัน มันก็ไม่คุ้ม 

ดังนั้น ในอนาคตเราจะแก้กฎกระทรวงต่ออยู่นะครับ อย่างเช่น ในเมื่อกฎกระทรวงยังมีการล็อกสเป็กต่างๆ และผู้ตรวจการแผ่นดินเคยวินิจฉัยไว้แล้วว่ากฎกระทรวงปี 2560 ยังมีการกีดกันอยู่ เพียงแต่ว่าไม่วินิจฉัยเนื่องจากมี พ.ร.บ. จ่อเข้าสภา ทีนี้เมื่อมันไม่ผ่าน เราก็จะเอาเรื่องนี้กลับไปให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณากันใหม่อีกครั้ง แล้วถ้าท่านวินิจฉัยอย่างไร น่าจะส่งต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อไปเรื่อยๆ เรามีทีมงานบางคนเป็นทนายก็อยากจะช่วยทำเรื่องพวกนี้ให้องค์กรที่เป็นคนกลางอย่างเช่น ศาลได้ช่วยพิพากษา เราไม่รู้ว่าจะผ่านไปได้แค่ไหน แต่เราก็ทำต่อไปนะครับ มีช่องไหนก็ไปทำ หาช่องไปเรื่อยๆ ไม่เป็นไร ตอนนี้เปิดให้แค่ไหนก็ทำไปแค่นั้นก่อน

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save